A Portrait of Bhutan..เอาอักษรมาวาดภาพ

ในห้อง 'ข่าวทั่วไป' ตั้งกระทู้โดย NoOTa, 19 พฤศจิกายน 2006.

  1. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,492
    A Portrait of Bhutan... เอาอักษรมาวาดภาพ

    [​IMG]

    อาจารย์อมร แสงมณี เป็นอาจารย์สอนทางด้านภาษาและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้แปลหนังสือ A Portrait of Bhutan Treasures of The Thunder Dragon : ภาพสวรรค์ภูฏาน สมบัติล้ำค่าแห่งแดนมังกรสายฟ้า พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระราชินีแห่งราชอาณาจักรภูฏาน อาชิ โดร์จี วังโม วังชุก และได้มีโอกาสไปสอนภาษาไทยให้กับชาวภูฏานเป็นเวลา 4 สัปดาห์ เป็นการสอนคลาสระดับกลาง (intermediate) มีผู้เรียน 3 ท่าน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือพระมาตุฉา (น้า) ขององค์มกุฎราชกุมารแห่งภูฏาน จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ส่วนอีก 2 ท่านเป็นนักธุรกิจและเจ้าหน้าที่กงสุล ส่วนอีกคลาสเป็นผู้เรียนใหม่ (beginner) มี 17 คน

    อาจารย์อมรเล่าถึงชีวิตที่ไม่ปรุงแต่งของชาวภูฏานที่พบเจอว่าเป็นสภาพวิถีชีวิตที่เป็นธรรมชาติ การภาวนาเป็นชีวิตของผู้สูงอายุ เป็นการทำให้จิตใจสะอาด ไม่มีอะไรเข้ามาข้องแวะในหัวใจคุณเลย มีแต่มนตรากับมนตรา ในมือขวาของเขาถือกงล้อภาวนา มือซ้ายถือประคำ เขาเดินภาวนาอยู่สองข้างทางถนนหลวง ซึ่งมีรถวิ่งขวักไขว่ไปมา แต่เขาสงบ พอฝนตกเราวิ่งหน้าตั้ง แต่เขาก็ยังเดินย่างก้าวของเขา เหมือนกับฝนเป็นส่วนหนึ่งของตัวเขา ..เราเลยได้สติเลยว่า มันก็แค่เปียก

    บางคนมีหลานสะพายอยู่ที่หลัง ก็ยังเดินไปภาวนาไป เหมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ส่วนนี้อาจจะทำให้จิตใจเขาเข้มแข็ง เป็นปัจจุบันขณะเขาไม่สนใจว่า ต้องรวยแค่ไหน แต่ภารกิจของเขาคือภาวนา

    ได้ถามชาวภูฏานว่า คนหนุ่มคนสาวเขาสวดภาวนาหรือไม่ เขาก็บอกว่าแบบนี้คนหนุ่มสาวไม่ทำกัน แต่การไปวัดเขาก็ยังไปกันอยู่เป็นปกติวิสัย แต่สถานการณ์ที่เราเห็น มันไม่ใช่ช่วงอายุ ไม่ใช่วิถีของคนหนุ่มสาวที่จะไปเดินภาวนาอยู่บนถนนหลวง แต่เขาก็มีจิตสำนึกทางศาสนาที่เข้มข้นของเขา

    ถ้าเราไปบ้านชาวบ้านจริงๆ เราแทบจะไม่เห็นอะไรที่มันเกินเลย ทุกอย่างมันพอดีหมดคือ พวกเขาจะเคร่งครัด อย่างในหนังสือที่แปล เขาเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ เขาถือว่า ธรรมชาติคือ เขา เขาคือ ธรรมชาติ เขาจะปลูกบ้านสักหลัง จะต้องมีการประชุมในหมู่บ้านว่า คนนี้จะปลูกบ้านขนาดเท่าใด ต้องการไม้กี่ต้น เขาจะลงความเห็นกันว่า ควรจะเป็นกี่ต้นถึงจะพอ เมื่อตัดเสร็จแล้ว ต้องปลูกทดแทน ทำให้คิดว่า นี่อะไร...มีอย่างนี้ด้วยหรือ

    "มีศิลปินแห่งชาติอยู่คนหนึ่ง เขาคิดที่จะตั้งทีมแสดงศิลปะวัฒนธรรมด้วยทุนส่วนตัว ความที่เป็นคนมีฐานะ จนกระทั่งได้รับเกียรติบัตร เชาบอกว่า ผมจะต้องกลับบ้านชนบท เราก็เลยถามว่า อ้าวไปทำเหรอ เขาบอกว่า บ้านเขาที่กลางเมืองได้สร้างเป็น theatre จะเสร็จอยู่แล้ว ซึ่งเขาอยากได้หินมาประดับ ในหมู่บ้านของเขามีภูเขาหินธรรมชาติ มีหินที่สวยมาก เขาบอกว่า เขาจะต้องไปที่หมู่บ้านเขา เพื่อทำหนังสือถึงทางการ จะขอหินเหล่านั้นมาที่เมือง มาประดับที่ theatre ได้ไหม... คิดดูสิ หินเหล่านั้นอยู่ในที่ของเขา แต่เขายังต้องทำหนังสือถาม หากทางการตอบว่า ไม่ได้ เขาก็จะไม่เคลื่อนย้าย...มันบ่งชี้ถึงระดับจิตใจ หน้าที่การงานเขาก็สูง แล้วก็ร่ำรวย แต่ก็ทำตัวเหมือนเขาเป็นสามัญธรรมดา"

    ....

    สำหรับหนังสือเล่มนี้ A Portrait of Bhutan เป็นบันทึกของสมเด็จพระราชินีอาวุโสสูงสุดตั้งแต่ชีวิตในวัยเด็ก จนกระทั่งชีวิตท่านเปลี่ยนผ่านจากลูกพ่อค้าที่มีวิสัยทัศน์ เป็นผู้บุกเบิกกิจการหลายอย่างและพัฒนาไปพร้อมๆ กับประเทศภูฏาน

    ประสบการณ์ในชีวิตของท่าน ท่านจะไปทำอะไรต่ออะไรจะจดบันทึกมาเล่าให้เราฟัง ความสามารถของท่านเทียบว่าเหมือนเป็นจิตรกร เอาตัวอักษรมาวาดภาพ บอกกับตัวเองเลยนะว่า หากว่าฉันได้มีโอกาสกลับไปภูฏานอีก ฉันจะต้องไปแช่น้ำพุร้อนที่พระราชินีท่านเขียนถึง มันน่าแช่เหลือเกิน ซึ่งท่านช่างพรรณนาจนเรานั่งแปล ยังเคลิ้มไปเลย เรามองเห็นภาพทำเลติดตั้งน้ำพุร้อน แล้วก็มีดอกไม้ห้อยลงมา แล้วก็ประสิทธิภาพประสิทธิผลของน้ำพุร้อนสามารถรักษาโรคหาย พรรณาจนเห็นภาพไปหมด

    "มาย เอดิเตอร์ที่เพนกวินน์ ถึงกับสบถออกมา เพราะเธอหายจากอาการไหล่เจ็บ" วิธีการบรรยาย บอกได้เลยว่า เด็ดขาด และมีท่วงทำนอง และในการแปล ไม่ใช่ว่า เสร็จงานนี้แล้ว แค่ฉันทำงานเสร็จ เพราะได้เรียนรู้ว่า นี่เป็นควีนจริงๆ หรือ ท่านเดินเท้าเปล่า เท้าเป็นเม็ดพองระบมก็ยังสู้ว่า เพราะจิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว ฉันจะต้องไปให้ได้อะไรทำนองนี้ พอทำสำเร็จ ก็จะสอนเราต่อว่า เรามักจะไปได้ไกลน้อยกว่าที่เราไปได้เสมอ แต่ละตอนสอนเราหมดเลย

    เป็นการสอนชีวิต แล้ววิธีการสะพายแบ็คแพ็ก ไปนอนกับชาวบ้าน คิดดูนะว่า ท่านเป็นควีนนะ ซึ่งเขาไม่ได้มาโอ้อวดเลยนะว่า เขาติดดิน ไม่

    เลือกที่จะสบาย ไปนอนกับชาวบ้านเพื่อที่จะได้ข้อมูลว่า ชาวบ้านต้องการอะไร โครงการต่างๆ ที่พระเจ้าอยู่หัวท่านทรงริเริ่มเอาไว้ ชาวบ้านพอใจไหม มีความก้าวหน้าอย่างไร

    ถ้าเราไม่ได้ทำงานนี้ ก็จะไม่ได้สัมผัสว่า ผู้เขียน เขาอยากจะบอกอะไรกับผู้อ่าน มันเป็นภาพไปหมด เห็นกระทั่งว่า ตอนที่ท่านยังเล็กๆ แล้วต้องไปเรียนต่อที่อินเดีย ต้องมีช่วงหนึ่งที่เดินทางบนหลังม้า ม้าไปเจอตอไม้ที่ไหม้ แล้วมันตกใจ ทำให้ท่านและน้องสาวตกไปอยู่ใต้ท้องม้า บรรยายแล้วเห็นภาพ เรื่องราวต่างๆ เป็นข้อมูลที่ดี สะท้อนทั้งวิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ เบ็ดเสร็จเลย

    ไม่มีใครเคยทำหนังสือแบบนี้มาก่อน โดยเฉพาะคนทำเป็นสมเด็จพระราชินี ทุกอย่างมันชัดเจนหมด แม้กระทั่งเรื่องการสร้างเขื่อน ก็ทรงอุตส่าห์ไปศึกษามานะ แล้วใช้คำแบบเทคนิเคิล เป็นชื่อเฉพาะแบบเขื่อนเลย เขื่อนที่ภูฏานสำหรับทำไฟฟ้าพลังน้ำ จะไม่ก่อปัญหาแบบเช่นยายฮายของไทย เพราะเขาเลือกที่จะใช้ระบบที่ไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อมและผู้คน ท่านก็อุตส่าห์ไปศึกษามา เขื่อนนี้ใช้แบบไหน แล้วพอเข้ามาในเรื่องภาพของศาสนา ก็จะเล่าว่า เจดีย์ที่สร้างในภูฏานมีกี่แบบ กระบวนการของการสร้างมีอะไร พรรณนาไว้หมด มีสีสัน

    เมื่อพูดถึงชีวิตคนเลี้ยงจามารี ในหมู่บ้านที่ท่านไป ซึ่งมีหลายหมู่บ้าน ก็ให้ภาพว่า คนเลี้ยงเขาจะผูกพันกับจามารีทุกตัวมาก มีชื่อ คนเลี้ยงจะพูดด้วยถ้อยคำอันไพเราะ ในยามค่ำจะร้องเพลงลอยมาไกลๆ เป็นเพลงโศก ร้องแทนจามารี

    เพราะว่า ทุกๆ เดือนตุลาคม กับพฤศจิกายน จะมีการคัดจามารีแก่ๆ มันเป็นแต่ภาระ ต้องพาขึ้นเนินไปกินหญ้าที่ทุ่งหญ้า ก็เลยต้องมีรายการคัดเพื่อฆ่า แต่ในการฆ่าก็สงสาร คนเลี้ยงก็เลยจินตนาการ ร้องเป็นเพลงออกมาแทนจามารี ซึ่งเป็นเพลงที่กินใจ ว่าทำไมไม่ให้ฉันจบชีวิตบนทุ่งหญ้า อย่าฆ่าฉันเลย แล้วก็บอกว่า พญามัจจุราช เขาก็ลงมาจากสรวงสวรรค์ เพื่อมาปลิดชีพ เลือดจะต้องชะโลมหน้าผา

    สมเด็จพระราชินีเป็นทุกอย่างในตัวเอง เป็นทั้งกวี นักพัฒนา เป็นผู้นำมีวิสัยทัศน์ และเป็นนักเขียนที่มีอารมณ์ขันมากเลย ซึ่งท่านมีวิธีเขียน เช่นที่ท่านไปหมู่บ้านหนึ่ง มีคำถามอยู่คำถามหนึ่ง ซึ่งท่านไม่คิดว่าจะถูกถาม ขอโทษนะ คุณเป็นใคร...ซึ่งท่านพูดตอบไปว่า นี่เป็นคำถามที่ดีที่สุด ในการเดินทางของข้าพเจ้า ซึ่งเป็นอารมณ์ขัน และสะท้อนอะไรที่เป็นตัวตนที่น่ารัก บอกว่า เดินๆ ไปเห็นต้นกระวาน ก็ไม่รู้ว่า เป็นต้นอะไร แต่จริงๆ แล้วคนส่วนมากในที่นี้ จะต้องรู้ แต่ชาวบ้านก็มีน้ำใจมาก ไม่อยากจะให้ท่านเขิน เลยยกตัวอย่างฝรั่งที่เชี่ยวชาญเรื่องจามารี แต่ไม่รู้จัก มาถึงวันแรก ก็ถามว่า ไอ้สัตว์ที่มีขนยุ่งเหยิงนั่นคือ ตัวอะไร

    ชาวบ้านเขาน่ารัก ช่วยลดทอนความอายของท่าน ซึ่งมันมีวิธีเขียนที่ทำให้เรารู้สึกว่า มันสนุกนะ มันมีมุมมองที่ไม่ใช่สักแต่ว่าไป มุมมอง ประเด็นทุกอย่างเก็บไว้หมด จะรู้หมดว่าไอ้นั่นคืออะไร ไอ้นี่คืออะไร มีอยู่ที่ที่หนึ่ง ซึ่งมีบ่อน้ำพุร้อน เป็นที่เดียวในโลกที่เขาเตรียมไว้ให้สัตว์ ใหญ่มากเป็นพิเศษ ฝ่ายนักท่องเที่ยวพอมาเห็น ก็กระดี๊กระด๊า เพราะมันทั้งใหญ่ทั้งว่าง ขอลงไปแช่ หารู้ไม่ว่า เป็นของสัตว์ เขาเตรียมไว้ให้สัตว์ ท่านก็เห็นนะว่า ชาวบ้านก็ช่างสุภาพเหลือเกิน เพราะไม่เคยมีใครเคยลงไปในสระเหล่านี้มาก่อน อ่านแล้วก็ขำ นึกภาพไปด้วย

    การเดินทางขึ้นเขาจะลงเขา จะขึ้นจะลงไปถึงไหน บันทึกไว้หมดว่า ภูเขาที่ขึ้นสูงกี่เมตร ลงมากี่ชั่วโมง ไปถึงไหน ถึงไหนแล้วทำอะไร ทำอะไรแล้วก็พัก มันมีความเป็นภูฏานอยู่ในนั้นอย่างสมบูรณ์แบบ ท่านพูดหลายตอนในมุมส่วนตัวว่า บ้านนี้เมืองนี้ มันมีเรื่องของโหราศาสตร์อยู่อย่างเหนียวแน่นมากๆ

    เช่น เขาจะเดินทางไปต่างประเทศ ได้ตั๋วเครื่องบิน ไฟล์จะต้องไปวันนั้น แต่ชาวภูฏานเขาจะมีปฏิทินปูมโหร อาจจะไปปรึกษาโหร อาจจะปรึกษาพระสงฆ์ ว่าวันที่จะเดินทางเป็นวันไม่ดี แต่ซื้อตั๋วแล้ว เขาทำอย่างไร วิธีแก้คือแพ็กกระเป๋าออกจากบ้านไป หายไปพักใหญ่ ว่าฉันไปแล้วนะ แล้วก็กลับมาบ้าน เท่ากับว่าได้เดินทางจริง ไปแล้ว ส่วนวันที่เดินทางตามตั๋วก็ไม่ใช่ ขนาดนี้เลย...

    อย่างทีวี วันหนึ่งออกอากาศแค่ 1 ชั่วโมง ก่อนจะปิดสถานี พรุ่งนี้เป็นวันศุกร์ ไม่เหมาะแก่การทำงานมงคล เป็นประกาศอย่างเป็นทางการ พอประกาศเสร็จ ก็เปิดเสียงพระสวดมนต์ พอพระสวดมนต์เสร็จ 3 นาที ก็ปิดสถานี ทุกอย่างไปคู่กัน ทั้งโหราศาสตร์ และไสยศาสตร์ ทุกอย่างจะต้องดูวัน ดูฤกษ์ เทพยดา ฟ้าดิน อยู่ในจิตวิญญาณ

    ทุกหย่อมหญ้าของบ้านเมืองเขา และทุกระดับในสังคม ทุกคนจะเคร่งครัดหมด จะต้องมีจิตสำนึกตรงนี้ว่า จะต้องไม่มีการละเมิด เขาเชื่อถึงการสิงสถิตของปวงเทพ ในภูเขา ถ้ำ ต้นไม้ ก้อนหิน สายน้ำ คือ เรานั่งรถไปผ่านพื้นที่ที่เป็นป่า ถนนเลาะเขา เราจะเห็นพวกธงมน แขวนอยู่ทั่วไป เพื่อบูชาเทพ เจ้าป่าเจ้าเขา เป็นอะไรที่คู่กัน จนกระทั่งเราไม่สามารถที่จะนิ่งอยู่ได้ ต้องถามว่าทำไมคุณถึงแขวนไว้ขนาดนี้ เขาบอกว่า บูชาเทพ แต่ถ้าไม่บูชาเทพ ก็จะทำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้เสียชีวิต ทุกสิ่งทุกอย่างจะนำเข้าสู่เรื่องทางจิตใจ เพราะฉะนั้น ไม่ค่อยเดือดร้อนทางวัตถุ

    เขามีจารีต เช่น เขาจะไม่ฆ่าสัตว์แบบสุมสี่สุ่มห้า เขาจะไม่ฆ่าสัตว์แบบไร้เหตุผล หรือหาคำอธิบายไม่ได้ กรณีเดียวที่เขาจะยอมคือการป้องกันตัว แม้กระทั่งหมีป่าที่มาทำลายผลผลิต เขาก็ยอมเป็น dilemma ที่ทารุณ เพราะทำอะไรไม่ได้ ทั้งๆ ที่มันจะมาทำลายข้าวของ แต่มันก็ยังเป็นอยู่อย่างนั้น แม้กระทั่งหมาจรจัดในเมืองหลวง ซึ่งมีเยอะมาก จนลงหนังสือพิมพ์ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ คือ บังเอิญมีอยู่วันหนึ่ง ไปเห็นภาพหมา 2-3 นอนอยู่กลางถนน รถต้องหลบ ตรงนี้คือ เสน่ห์ เรารู้สึกว่าผู้คนไม่ต้องการอะไร มันไปเรื่อยๆ สบายๆ แต่ไม่ถึงกับเฉื่อยนะ ทุกอย่างมันไปเนิบๆ เป็นไปโดยวิถีแห่งธรรมชาติ ให้ความเคารพธรรมชาติ เหมือนกับพวกเขาผนึกเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ

    การพัฒนาทุกอย่างไม่ผลีผลาม ไม่ได้คิดว่าจะสู้ใครไม่ได้ ต้องแข่งกับใครให้ทัน เขาระวังทุกอย่างก้าว ต้องนึกถึงภูฏานไว้เป็นอันดับแรก รักษาความเป็นตัวตนของเขาไว้ให้มากที่สุด แต่มันก็จะมีบางส่วน ซึ่งช่วยไม่ได้ เพราะมันเหมือนกับถูกกดมานาน พอมีการเปิดประเทศ ก็จะทะลัก แต่เขาก็จะมีความระแวดระวัง

    จากการหาข้อมูลในบางเว็บไซต์ พวกเขามีความตระหนักรู้ ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาในขณะนี้ คนลุกขึ้นมาพูดภาษาอังกฤษ จนภาษาของเขาอ่อนแอลง รัฐบาลก็ตระหนักรู้ในเรื่องนี้ มีการตั้งเป็นคณะอนุกรรมการขึ้นมา เพื่อจะทำให้ภาษาของเขากลับมาแข็งแรงอีกครั้ง ทุกปัญหาเขาไม่เคยทิ้ง

    ชาวภูฏานเองมีความสุข เพราะบ้านทุกหลัง โรงแรมทุกแห่งจะต้องสร้างแบบภูฏานเท่านั้น จะไปกลางเมืองหลวง หรือชนบท ก็จะออกมาเหมือนกันคือ คงภาพเดิมๆ ชาวภูฏานก็ไม่เดือดร้อนว่า มาบังคับฉันทำไม เขาก็ภูมิใจในความเป็นเขา



    ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ
    http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02spe02161149&day=2006/11/16
     

แชร์หน้านี้

Loading...