๗ วันบรรลุธรรม ปุจฉา – วิสัชนา ว่าด้วยการปฏิบัติธรรม

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย wisarn, 16 มิถุนายน 2009.

  1. wisarn

    wisarn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    741
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +2,505
    <center>ธรรมพจน์

    </center> “คนฉลาดปกครองตนให้มีความสุขและปลอดภัย ไม่จำต้องเที่ยวแสวงหาทรัพย์มากมาย หรือเที่ยวกอบโกยเงินเป็นล้านๆ มาเป็นเครื่องบำรุงจึงมีความสุข ผู้มีสมบัติพอประมาณในทางที่ชอบ มีความสุขมากกว่าผู้ได้มาในทางมิชอบเสียอีก เพราะนั่นไม่ใช่สมบัติของตนอย่างแท้จริง ทั้งๆ ที่อยู่ในกรรมสิทธิ์ แต่กฏความจริง คือกรรมสาปแช่งไม่เห็นด้วย และให้ผลเป็นทุกข์ไม่สิ้นสุด นักปราชญ์ท่านจึงกลัวกันนักหนา แต่คนโง่อย่างพวกเรา ผู้ชอบสุกเอาเผากิน และชอบเห็นแก่ตัว ไม่มีวันอิ่มพอ ไม่ประสบผล คือความสุขดังใจหมาย”

    พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
    (จากหนังสือขันธะวิมุติสะมังคีธรรมะ)


    <center>สารบัญ</center>
    ชุดปุจฉาวิสัชนา ว่าด้วย การปฏิบัติธรรม

    ๑. ปฏิปัตติวิภัชน์
    ๒. ปฏิปัตติวิภาค
    ๓. ปฏิปัตตินิเทศ
    ๔. ปฏิปัตติวิภังค์
    ๕. ปฏิปัตติปุจฉาวิสัชนา
    สังคหทิฏฐิ
    โดยพระอาจารย์ลี ธัมมธโร
    ปัจฉิมพจน์


    <center>
    “ผู้ให้สิ่งดีเลิศ ย่อมได้สิ่งดีเลิศ”


    <center>หน้าที่ของเราในการทำสมาธิมีอยู่ ๔ อย่างคือ</center>
    ๑. รู้ลมเข้า ออก
    ๒. รู้จักปรับปรุงลมหายใจ
    ๓. รู้จักเลือกว่าลมอย่างไหนสบาย ไม่สบาย
    ๔. ใช้ลมที่สบายสังหารเวทนาที่เกิดขึ้น

    พระอาจารย์ลี ธัมมธโร


    </center>
    <center>คำนำ</center>
    หนังสือนี้ สำเร็จได้ด้วยกุศลเจตนาของผู้ใฝ่ธรรมผู้หนึ่งที่อยู่ทางเหนือ ผู้นี้สำนึกในความยากลำบากของผู้สนใจในทางธรรม ที่มักจะหาหนังสือเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมที่ดีๆ อ่านได้โดยยาก อนึ่ง หนังสือเช่นนี้นับวันจะหาได้โดยยากขึ้นทุกที ถ้าไม่มีผู้ใดพิมพ์ขึ้นไว้น่ากลัวว่าไม่ช้าก็จะสูญหาย หาต้นฉบับไม่ได้เป็นแน่ๆ จะเป็นที่น่าเสียดายมาก ด้วยเหตุนี้ ประจวบกับได้มีท่านผู้กรุณาเมตตาช่ายเหลือให้ยืม และช่วยเหลือหาต้นฉบับหนังสือที่พิมพ์นี้ได้จนครบบริบูรณ์ การพิมพ์นี้จึงได้อุบัติขึ้น โดยท่านผู้ริเริ่มได้ชักชวนผู้ที่เห็นอย่างเดียวกันอีก ๔ ท่านพิมพ์ขึ้นและขอให้ข้าพเจ้าเขียนคำนำ

    ข้าพเจ้าจึงขอถือ โอกาสนี้ ขออนุโมทนากุศลเจตนาของท่านผู้ริเริ่มและชักชวนกันพิมพ์ขึ้น รวมทั้งขอบคุณในความเมตตาอารีของท่านผู้ที่ได้มีส่วนช่วยเหลือหาต้นฉบับให้ ยืมกับผู้มีส่วนเสียเวลาในการช่วยเหลือจัดพิมพ์อันเป็นงานที่จะต้องเสียเวลา อีกด้วย อย่างน้อยหนังสือที่พิมพ์ขึ้นนี้ จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจเดินทางนี้ จะได้ใช้เป็นเครื่องพึ่งพิงอาศัย ในการที่จะไต่เต้าเดินทางในมรรคาอันแสนไกลและแสนยากเต็มไปด้วยอุปสรรคนานา ประการนี้ต่อไป เช่นเดียวกันกับคนเดินทางในป่าเปลี่ยวที่ยังไม่มีมนุษย์ใดๆ เดิน อันน่ากลัว แม้จะเห็นหรือได้ยินเสียงแต่ฝูงวิหคก็ยังยินดีฉันนั้น

    ขอความสำเร็จสมปรารถนา จงเป็นของผู้ที่มองเห็นธรรม และใฝ่ในธรรม รวมตลอดทั้งผู้ที่พากเพียรเอาจริงเอาจังไม่ท้อถอย

    ล.พ.
    วันที่ ๑๓ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๙๘


    <center>อีกไม่นาน ตัวเราก็จะตายแล้วใช่ไหมเล่า? </center>
    ท่าน ทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าการเวียนเกิดเวียนตายในวัฏสงสารที่จะหาขอบเขตเที่ยงแท้แน่นอน นั้นมิได้เลย ย่อมจะต้องท่องเที่ยวไปเกิดในโลกดีบ้าง ชั่วบ้าง สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ปะปนกันไปอยู่เช่นนี้ ถ้าไปเกิดในโลกที่ดีมีความสุข เช่น เทวโลก พรหมโลก ก็นับว่าดี แต่ถ้าพลาดพลั้งลงไปเกิดในโลกชั่ว เช่น อบายภูมิแล้ว ย่อมเป็นการยากนักหนาที่จะยกตนขึ้นมาจากโลกชั้นต่ำได้ ต้องเสวยทุกขเวทนาไปแสนนาน อีกประการหนึ่งการท่องเที่ยวในวัฏสงสารนี้ ยังเป็นการท่องเที่ยวไปไม่มีวันสิ้นสุดอีกด้วย ข้อนี้สิร้ายมาก ลองหลับตานึกภาพดูเถิดว่า ตัวเรานี้ต้องเวียนเกิด เวียนตาย ซ้ำๆ ซากๆ อยู่อย่างนี้ไม่มีวันหยุดยั้ง ตัวเรานี้แหละเกิดตายมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน แต่ไม่รู้ตัวมาหลงลืมเสีย เพราะชาติภพมันปิดเท่านั้นเอง และอีกไม่นาน ตัวเราก็จะตายแล้ว ใช่ใหม่เล่า? ตายแล้วก็เกิดอีก เฝ้าตาย เฝ้าเกิด อยู่อย่างนี้ตลอดไปไม่มีวันสิ้นสุดลงได้นี้แหละ ท่านจึงว่าวัฏสงสารนั้นเป็นภัยที่ร้ายน่ากลัวกว่าสิ่งที่น่ากลัวทั้งหลายใน โลกนี้ ทางที่จะออกจากวัฏสงสารนั้น ในโลกนี้ก็มีอยู่ทางเดียวเท่านั้น คือทางพระพุทธศาสนา ความวิเศษสุดของพระพุทธศาสนาก็อยู่ตรงนี้ ตรงที่บอกทางออกจากวัฏสงสารให้ถึงพระนิพพานนี่แหละ

    หลวงปู่วัย จตตาลโย



    <center>ปฏิปัตติวิภัชน์</center>
    (ผ) เป็นผู้ปฏิบัติยินดีในที่สงัด ชอบอยู่คนเดียวเงียบๆ บนเขา วันหนึ่ง เวลากลางคืนเดือนหงาย คิดถึง ฝ. ซึ่งเป็นเพื่อนปฏิบัติมาด้วยกัน อันสำนักอยู่ในถ้ำบริเวณนั้น เวลากลางคืนไม่มีคนเดิน เพราะเงียบ และเปลี่ยว แต่ถ้ำนั้นอยู่ใกล้ไม่ไกลมากนัก ผ.ลงจากเขาอาศัยแสงเดือนแล้วเดินไป พอถึงถ้ำประมาณ ๒๐ นาฬิกา คือ ๒ ทุ่ม

    (ฝ) เห็น ผ. มา จึงพูดว่า ท่านอุตส่าห์มาหาข้าพเจ้ากลางคืน ไม่กลัวเสือหรือ

    (ผ) ว่า ข้าพเจ้าไม่กลัว เพราะอาศัยอำนาจพระรัตนตรัย ที่เรามีใจมั่นคงอยู่ในสรณะทั้งสาม

    (ฝ) รับว่าถูกแล้ว ข้าพเจ้าอยู่ในถ้ำ เวลานี้ก็เป็นที่ป่าทางเปลี่ยว ที่ไม่มีความหวาดเสียวก็เพราะมั่นคงอยู่ในสรณะทั้งสาม ดังมีพระพุทธภาษิตในธชัคคสูตร ซึ่งตรัสสอนภิกษุผู้มีราคะยังไม่ไปปราศจากสันดานว่า ท่านทั้งหลายไปอยู่ในป่าหรือโคนไม้หรือเรือนว่างเปล่า ถ้าความกลัวเกิดขึ้นก็ให้ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า ถ้าไม่ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า ก็ให้ระลึกถึงคุณพระธรรม ถ้าไม่ระลึกถึงคุณพระธรรม ก็ให้ระลึกถึงคุณพระสงฆ์ ความกลัวและความหวาดเสียวก็จะหายไป พระภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น ก็ปฏิบัติตามพระบรมพุทโธวาทโดยเคารพ

    (ผ) พูดว่า น่าเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้า เช่นคราวเสด็จไปห้ามพระญาติไม่ให้เกิดทะเลาะวิวาทในการแย่งน้ำกัน พระญาติเหล่านั้นเกิดความเลื่อมใส จึงแบ่งเจ้านายศากยะ และโกลิยะถวายฝ่ายละ ๒๕๐ องค์ รวมกันเป็น ๕๐๐ พระองค์จะนำไปบวช แต่เจ้านายเหล่านั้น บางองค์มิได้มีศรัทธาออกบวช เช่น พระนนท์เริ่มจะแต่งงานก็ทรงนำไปบวชเสีย ภิกษุเหล่านั้นยังไม่เห็นภัยในโลกโดยแท้จริง จึงมีความหมายอาลัยในมาตุคามอาศัยพระมหากรุณาของพระผู้มีพระภาคที่ทรงอบรม ฝึกหัดและทรมาน ภิกษุเหล่านั้นจึงถึงซึ่งความสิ้นไปแห่งอาสวะ คือ อนุปาทิเสสปรินิพพาน


    (ฝ) รับว่า ถูกแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นผู้ฝึกหัดคนที่ควรทรมานไม่มีใครสู้ ดังนี้ จึงได้ทรงพระนามว่า ปุริสทมฺสารถิ

    (ผ) ถามว่า การอยู่ในที่สงัดกับอยู่ในหมู่นั้น ต่างกันอย่างไร เหตุไฉน พระศาสดาจึงทรงสั่งสอนให้ยินดีในที่สงัด


    (ฝ) ตอบว่า ต่างกัน คือ ความไม่ระคนด้วยหมู่ ไม่เกี่ยวกับหมู่ เป็นกายวิเวก ชื่อว่าการอยู่ในที่สงัด ส่วนที่ตรงกัน ชื่อว่าอยู่ในหมู่กายวิเวก อยู่ในที่สงัดเป็นอุปการะแก่จิตวิเวก และเป็นไปเพื่ออุปธิวิเวก เพราะเหตุนี้ พระศาสดาจึงทรงสั่งสอนให้ยินดีในที่สงัด


    (ผ) ถามว่า อะไรเป็นเหตุไม่ให้ยินดีในที่สงัด


    (ฝ) ตอบว่า ความหมกมุ่นกำหนัดยินดีติดอยู่ในกามทั้งหลายเป็นเหตุ เพราะการอยู่ในที่สงัด ปราศจากอารมณ์เกรียวกราวเซ็งแซ่เช่นนั้น ย่อมไม่มีประชุมชนหรือกามารมณ์ที่ดีๆ ซึ่งจะยั่วยวนใจให้กำหนดยินดีได้ จึงมีความเปลี่ยวเปล่าเหงาหงอยและหวาดกลัวต่อภัยอันตราย เพราะฉะนั้นจึงไม่ยินดีในที่สงัด


    (ผ) พูดว่า ผู้ที่ไม่ยินดีในที่สงัดนั้น ยังไม่เห็นภัยในโลก และยังไม่ได้ความอบอุ่นใจในธรรม

    (ฝ) รับว่า ถูกแล้วเพราะยังไม่เห็นภัยในโลก และไม่มีความอุ่นใจในธรรม เหมือนปลาที่เขานำขึ้นมาไว้บนบกฉันนั้น

    (ผ) ถามว่า จิตวิเวกนั้น หมายถึงฌานชั้นไหน

    (ฝ) ตอบว่า ตั้งแต่อุปจารสมาธิ ตลอดกระทั่งรูปฌานสี่ อรูปฌานสี่ เหล่านี้เป็นจิตวิเวก

    (ผ) ถามว่า อุปธิวิเวก สงัดจากกิเลส สงัดจากกรรมและสงัดจากขันธ์นั้นเป็นอย่างไร ขอท่านจงอธิบายให้ข้าพเจ้าเข้าใจ

    (ฝ) ตอบว่า ได้แก่พระอรหันต์ ที่ท่านตัดไตรวัฏได้เพราะละอาสวะ ๓ คือ กามาสวะ ภวาสวะ อวิชฺชาสวะ ชื่อว่าอาสวะสงัดจากกิเลส ทำอะไรไม่เป็นกรรม เป็นแต่กิริยาชื่อว่า สงัดจากกรรมและหมดวิบาก ไม่มีปฏิสนธิในภพที่จะเกิดเบญจขันธ์ต่อไป ชื่อว่าสงัดจากขันธ์

    (ผ) พูดว่า ข้าพเจ้านึกถึงความยินดีพัวพันยึดถือสิ่งใดไว้ก็เป็นภพขึ้นในที่นั้น ถ้ายังมีความยินดีในกาม ก็ต้องเกิดในกามธาตุและพระอรหันต์ละความยินดียึดถือในเบญจขันธ์ได้ก็ ปรินิพพาน ท่านจึงไม่เกิดต่อไป เพราะฉะนั้น พระศาสดาจึงตรัสสอนให้ละความกำหนัดยินดีในกาม และละความยินดียึดถือในเบญจขันธ์

    (ฝ) รับว่า ถูกแล้ว ถ้าเราจะไม่ละความกำหนัดยินดีในกาม และไม่ละความยินดียึดถือในเบญจขันธ์ ก็ชื่อว่าไม่ได้ทำตามคำสอนของพระศาสดา

    (ผ) ถามว่า การปฏิบัติก็มุ่งต่อความพ้นจากกิเลส แต่ทำไมตั้งใจละอาสวะให้หมดไป จึงไม่หมดไปได้อย่างใจ

    (ฝ) ตอบว่า อาสวะเป็นกิเลสที่ไม่ประกอบด้วยเจตนา ต้องอาศัยอริยมรรคที่เป็นกุศลพ้นเจตนา จึงละไว้ได้ การตั้งใจละนั้นเป็นกุศลที่ประกอบด้วยเจตนา เพราะฉะนั้นจึงละอาสวะไม่ได้ คงละได้แต่กิเลสที่ประกอบด้วยเจตนา แต่ก็ละได้ชั่วคราว ภายหลังอาจเกิดขึ้นได้อีก เพราะเป็นโลกิยกุศล

    (ผ) พูดว่า อ้ออย่างนี้นี่เล่า ข้าพเจ้าไม่รู้ว่ากิเลสที่ไม่ประกอบด้วยเจตนา ต้องละด้วยกุศลที่พ้นจากเจตนา คือ อริยมรรค ส่วนกิเลสที่ประกอบด้วยเจตนา เป็นกัมมวัฏฝ่ายบาป ต้องละด้วยกุศลที่ประกอบด้วยเจตนา ซึ่งเป็นกัมวัฏฝ่ายบุญ

    (ฝ) พูดว่า ถ้าตั้งใจละอาสวะได้ง่ายๆ เหมือนอย่างตั้งใจทำกัมวัฏฝ่ายบุญแล้ว พระอรหันต์ก็คงหาได้ง่ายๆ ในโลก พระอริยสงฆ์คงไม่น่าอัศจรรย์อะไร แม้พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี เสขบุคคล สามจำพวกนี้ก็ต้องอาศัยอริยมรรค ซึ่งเป็นกุศลที่พ้นจากเจตนา จึงจะฆ่าสังโยชน์ได้

    (ผ) ถามว่า เมื่อกุศลที่พ้นจากเจตนายังไม่เกิดขึ้นเราจะทำอย่างไร เพราะท่านอธิบายว่ากุศลที่ประกอบด้วยเจตนานั้น ฆ่าสังโยชน์ไม่ได้ต้องอาศัยอริยมรรคที่เป็นกุศลพ้นจากเจตนา จึงจะฆ่าสังโยชน์ได้ ขอท่านจงอธิบายในเรื่องกุศลที่พ้นจากเจตนาคืออริยมรรคให้ข้าพเจ้าเข้าใจ

    (ฝ) ตอบว่า ท่านถามปัญหาถึงเรื่องรู้เห็น ในอริยมรรคอย่างนี้ ข้าพเจ้าไม่มีปัญญาจะตอบ เพราะผู้บรรลุอริยมรรคนั้นต้องเป็นพระอริยตั้งแต่ชั้นโสดาบันขึ้นไปจึงจะตอบ ถูก เพราะท่านเคยบรรลุอริยมรรค แต่ถึงเช่นนั้นท่านก็ปิดคุณธรรมของท่าน

    (ผ) พูดว่า เมื่อตอบตัดปัญหาเช่นนี้ ก็ไม่มีเค้าเงื่อนว่าจะทำในใจอย่างไรถูก ขอท่านจงอธิบายไปตามแนวพระพุทธภาษิต จะได้เป็นปฏิปทาให้ถึงซึ่งมรรคและผล เสียแรงอุตส่าห์เดินมาหาในเวลากลางคืน ขอท่านจงอธิบายในเรื่องอริยมรรคให้ข้าพเจ้าเข้าใจ

    (ฝ) พูดว่า ท่านจะมาเค้นถามในเรื่องอริยมรรคเหมือนจะมาเอาหนวดเต่าเขากระต่ายในข้าพเจ้า ให้ได้ จะต้องค่อยๆ นึกถึงพระพุทธภาษิตที่ได้สดับมาเสียก่อน ท่านจงมีสติสงบใจให้พ้นนิวรณ์ที่เรียกว่า สมาธิ และพิจารณาธาตุ ๖ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ วิญญาณ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ตามความเป็นจริง คือ ธาตุดิน ๑๙ มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น แยกออกไปให้เป็นส่วนๆ ธาตุน้ำ ๑๒ แยกออกไปให้เป็นส่วนๆ ธาตุลม ๖ แยกออกไปให้เป็นส่วนๆ ธาตุไฟ ๔ ก็แยกออกไปให้เป็นส่วนๆ และอากาศธาตุ วิญญาณธาตุ เมื่อแยกกระจายออกไปเป็นส่วนๆ แล้ว พึงพิจารณาดูตามความเป็นจริงให้เห็นเป็นสักแต่ว่าดิน สักแต่ว่าน้ำ สักแต่ว่าไฟ สักแต่ว่าลม สักแต่ว่าอากาศ และสักแต่ว่าวิญญาณ ทั้ง ๖ อย่างนี้ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ คน เราเขา ใครๆ ไม่มี ให้เห็นชัดตามความเป็นจริงอย่างไร และธาตุ ๖ นี้เป็นแต่กองสังขาร อาศัยปัจจัย คือ อวิชชา ตัณหา กรรม อาหาร และนามรูปจึงเกิดขึ้น เมื่อปัจจัยเหล่านี้ดับไป ธาตุ ๖ ก็ย่อมดับไป เมื่อพิจารณาไปๆ ก็จะเกิดความเบื่อหน่ายในธาตุเหล่านั้น และเมื่อเบื่อหน่ายแล้วก็จะคลายจากความกำหนัด ในธาตุทั้ง ๖ นี่แหละ คือ อริยมรรคพ้นจากอาสวะ คือ วิมุตติอริยผล ข้าพเจ้าอธิบายให้ท่านฟังตามแบบที่ได้สดับมา จงทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ ตามพระพุทธภาษิตที่ข้าพเจ้าบรรยายให้ฟังนี้ จะได้ไม่เสียเวลาที่ท่านอุตส่าห์มาหาในเวลากลางคืน

    (ผ) ถามว่า ท่านอธิบายเรื่องสงบใจให้พ้นนิวรณ์จนเป็นอารมณ์เดียวแล้ว จะพิจารณาอย่างไรได้ เพราะเวลาที่พิจารณานั้นใจยังคงไม่สงบ จึงคิดถึงธาตุได้หลายๆ อย่าง เวลาที่อยู่บนเขาข้าพเจ้าปรารภความเพียรมีสติรู้สึกตัวอยู่ไม่ส่งใจไปคิด อย่างอื่น มีอารมณ์อันเดียวจนลืมกายไม่รู้สึกตัว เสวยสุขอันเกิดแต่วิเวก จะคิดอะไรๆ ก็คิดไม่ออกคงมีแต่รู้กับเฉย เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่เข้าใจในเรื่องพิจารณาธาตุ ๖ ของท่าน ขอท่านจงอธิบายให้ให้ข้าพเจ้าเข้าใจ

    (ฝ) ตอบว่า การพิจารณานั้น ไม่ใช่นึกหรือคิด คือมีสติสงบใจให้เป็นอารมณ์เดียวแล้ว จึงสังเกตดูว่าอย่างนี้ธาตุดิน อย่างนี้ธาตุน้ำ อย่างนี้ธาตุไฟ อย่างนี้ธาตุลม อย่างนี้อากาศธาตุ อย่างนี้วิญญาณธาตุแล้ว สังเกตดูความเกิดขึ้นของธาตุทั้ง ๖ และความดับไปของธาตุทั้ง ๖ ให้เห็นชัดตามความเป็นจริงอย่างไร ไม่ใช่นึกหรือคิด เพราะความคิดนั้นปิดความเห็น เพราะฉะนั้นจึงต้องสงบใจ ไม่ให้มีนึกมีคิด วิธีพิจารณานั้น ท่านคงเข้าใจว่า ใช้ความนึกความคิด เพราะใจท่านยังไม่สงบนั้น การปฏิบัติจึงใช้นึกใช้คิดก็เป็นชั้นสัญญาไม่ใช่ชั้นปัญญา เพราะปัญญานั้นไม่ใช่คิดหรือนึกเอา เป็นความเห็นที่เกิดขึ้นต่อจากจิตที่สงบแล้ว และพ้นจากเจตนาด้วย ข้าพเจ้าอธิบายให้ละเอียดเช่นนี้ท่านเข้าใจได้ความหรือยัง ถ้าไม่เข้าใจ ถามต่อไปอีกก็ได้


     
  2. wisarn

    wisarn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    741
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +2,505
    (ผ) ถามว่า ความคิดที่ปิดความเห็นนั้น เป็นอย่างไร ส่วนจินตามัยปัญญานั้นก็ต้องคิด ทำไมความคิดจึงไม่ปิดความเห็น ขอท่านจงอธิบายลักษณะจินตามัยปัญญาให้ข้าพเจ้าเข้าใจ

    (ฝ) ตอบว่า คือความปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ไม่มีสติ ครั้นรู้ตัวขึ้นจึงมีสติแล้วเปลี่ยนใจให้มาคิดอยู่ในขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ หรือธาตุ ๖ ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา ระหว่างที่คิดถึงไตรลักษณ์อยู่นั้น ใจก็ยังไม่สงบ ถ้าจะสงบลงบ้างก็เป็นเพียงสมถะ จึงเป็นชั้นสัญญา มิใช่ชั้นปัญญา นี่แหละความคิดที่ปิดความเห็น ส่วนจินตามัยปัญญานั้น คือทำในใจ โดยแยบคายเป็นมัมมาสังกัปโป ส่วนความเห็นที่ชัดเจนขึ้นเป็นสัมมาทิฏฐิ นี่เป็นลักษณะของจินตามัยปัญญา เพราะฉะนั้น สุตมัยปัญญา จินตามัยปัญญา ภาวนามัยปัญญา ทั้งสามอย่างนี้เวลาที่เกิดขึ้นนั้นพ้นเจตนา เป็นสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบทั้งนั้น

    (ผ) พูดว่า ข้าพเจ้าพึ่งเข้าใจในเรื่องความคิดที่ปิดความเห็น ลักษณะของใจยังไม่สงบ การปฏิบัติจึงต้องใช้คิดใช้นึก และประกอบด้วยเจตนาทั้งนั้น แม้สงบลงได้ก็เป็นชั้นสมถะ ไม่ใช่ชั้นปัญญา เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ปฏิบัติมุ่งต่อความพ้นจากกิเลส ไม่ควรส่งใจให้ออกไปนอกสติปัฏฐาน จะได้ไม่มีความคิดที่ปิดความเห็น เพราะมีวิริยะ สติ สมาธิบริบูรณ์ขึ้นแล้ว จะได้พิจารณาธาตุ ๖ เป็นอนัตตา เมื่อความเห็นชัดเจนขึ้นเป็นอริยมรรค จะได้ถ่ายสังโยชน์ธรรมเบื้องต่ำและเบื้องบนให้หมดไปจากสันดาน

    (ฝ) กล่าวว่า สาธุ ข้าพเจ้าขออนุโมธนาการปฏิบัติเช่นนั้นเป็นสัมมาปฏิปทาอย่างดีทีเดียว สมด้วยพระพุทธภาษิตที่ตรัสสอนภิกษุว่า

    <center>กุมฺโมว องคานิ สเก กปาเล
    เต่าหดอวัยวะไว้ในกระดองของตนฉันใด

    สโมทหํ ภิกฺขุ มโนวิตกฺเก
    ภิกษุสะกดวิตกในใจไว้ฉันนั้น

    อนิสฺสิโต อญฺญมเหฐยาโน
    ไม่อาศัยอะไรหมดมิได้เบียดเบียนผู้อื่น

    ปรินิพฺพุโต นูปวเทยฺย กญฺจิ
    เป็นผู้ดับกิเลสหมดไม่พึงพูดกระทบซึ่งใครๆ</center>
    (ผ) พูดว่า ถ้าจะไม่รีบปฏิบัติให้อริยมรรคเกิดขึ้น เมื่อความตายมาถึงเข้า เราจะเหลว เพราะยังไม่ได้ความอุ่นใจในธรรม คือยังไม่ปิดอบาย เพราะยังไม่ได้บรรลุโสดาปัตติผล

    (ฝ) รับว่า ถูกแล้ว ข้อนี้มีพระพุทธภาษิตในสุตตนิบาตรสัลลสูตร หน้า ๓๖๔ ว่า

    <center>นครํ ยถา ปจฺจนฺตธํ
    เมื่องที่ตั้งอยู่สุดแดนอันชน

    คุตฺตํสนฺตรพาหิรํ
    ทั้งหลาย รักษาแล้วทั้งภายในและภายนอก ฉันใด

    เอวํ โคเปถ อตฺตานํ
    ท่านทั้งหลายจงรักษาตน ฉันนั้น

    ขโณ มาโว อุปจฺจจคา
    ขณะคราว อย่าได้ล่วงท่านทั้งหลายไปเสีย

    ขณาตีตา หิ โสจนฺติ
    เพราะว่าชนทั้งหลายอันคราวล่วงไปเสียย่อมโศกเศร้า

    นิรอมฺหิ สมปฺปิตา
    ไปเต็มแน่นอยู่ในนิรยาบายดั่งนี้</center>
    (ผ) พูดว่า ข้าพเจ้าได้ฟังคาถาพระพุทธภาษิตตรัสสอนดังที่ท่านบรรยายมานี้ รู้สึกทำใจให้คิดถึงพระมหากรุณาธิคุณของผู้มีพระภาคเจ้านั้น ไม่มีอาจารย์ผู้ใดผู้หนึ่งในโลกนี้ที่จะแนะนำพร่ำสอนให้เราทั้งหลาย ได้รู้ทางที่จะดำเนินใจให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ ถ้าเราจะประพฤติปฏิบัติตามธรรมคำสอนของพระองค์ ก็จะไม่เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา

    (ฝ) รับว่า ถูกแล้ว ความดำริเช่นนั้นเป็นการสมควรทีเดียว

    (ผ) ถามว่า ปัญญา วิชชา ญาณ ๓ อย่างนี้เหมือนกันหรือต่างกัน ขอท่านจงอธิบายให้ข้าพเจ้าเข้าใจ

    (ฝ) ตอบว่า ต่างกัน ถ้าจัดตามอริยสัจ ปัญญานั้นเป็นมรรควิชชานั้นเป็นนิโรธ ส่วนญาณนั้นเป็นได้ทั้ง ๒ อย่าง คือ วิปัสสนาญาณ นิพพิทาญาณ เช่นนี้เป็นมรรค ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ จุตูปปตญาณ อาสวักขยญาณ ๓ อย่างนี้เป็นนิโรธ แม้ญาณอื่นๆ ที่เป็นมรรคก็เป็นปัญญา ส่วนที่เป็นผลก็เป็นวิชชา หรือนิโรธ

    (ผ) พูดว่า แต่เดิมข้าพเจ้าเข้าใจว่า ญาณนั้นเป็นปัญญาได้อย่างเดียว ไม่เข้าใจว่าเป็นได้ทั้ง ๒ อย่าง

    (ฝ) พูดว่า ที่ข้าพเจ้ากล่าวนี้ อธิบายไปตามที่ท่านสงเคราะห์ไว้ในแบบ

    (ผ) พูดว่า ไม่ควรปรารถนากามารมณ์ที่ดีๆ ทั้งหลายในโลกซึ่งเป็นสามิสสุข เพราะใจที่เข้าไปยินดีในกามนั้นไม่ใช่ความสำราญอะไร มีแต่ความหมกมุ่นขุ่นหมองตลอดเวลาไปจนกว่าจะตาย แม้จะแสวงหามาได้ ก็ปกครองเอาไว้ไม่ได้เพราะกามารมณ์เหล่านั้นเป็นสังขาร ไม่เที่ยงมีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา และเป็นทุกข์เหลือทนๆ อยู่ไม่ได้ จะต้องแตกดับไปเป็นแน่แท้ เมื่อมาประพฤติปฏิบัติละเอียดเข้าจึงรู้สึกได้ว่าสามิสสุขทั้งหลาย ห่างไกลกลับนิรามิสสุขนัก

    (ฝ) พูดว่า ผู้ที่หวังสามิสสุขนั้น มิใช่จะสำเร็จแก่ผู้หวังทั่วไปได้ เพราะสามิสสุขทั้งหลายเป็นส่วนของกุศลวิบากเกิดสำหรับผู้มีบุญ ส่วนผู้ที่ไม่มีบุญ แม้จะหวังก็ไม่สมประสงค์ ถ้าปรารถนากันได้ตามชอบใจแล้ว ก็คงจะไม่มีคนจนคนลำบาก อารมณ์ทั้งหลายในโลก ทั้งที่ดีและที่ไม่ดีเหล่านั้น ล้วนเป็นสังขาร สังขารกับสังขารจะพึ่งกันอย่างไรได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่วุ่นวายอยู่กับสังขารจึงเป็นผู้หลง เพราะไม่รู้ความจริงนิรามิสทุกข์ก็ยังดี เพราะเป็นความเย็น ส่วนมิสสุขนั้นเป็นความร้อน ผู้มีปัญญาพิจารณาเห็นแล้ว จึงละอามิสในโลกเสีย

    (ผ) ถามว่า อริยมรรคนั้นเป็นสังขารหรือวิสังขาร

    (ฝ) ตอบว่า อริยมรรคนั้นเป็นสังขาร แต่เป็นยอดสังขาร สมด้วยพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ในอัคคัปปสาทสูตรว่า

    <center>ยาวตา ภิกฺขเว ธมฺมา สงฺตา
    ดูก่อน ภิกษุทั้งหลายธรรมทั้งหลายเหล่าใดอันปัจจัยปรุงแต่ง

    อริโย อฏฐงฺคิโก มคฺโค
    อริยมรรคที่ประกอบ

    เตสํ อคฺคมกฺขายาติ
    ด้วยองค์แปดประการ เราตถาคตกล่าวว่า เป็นยอดของสังขตธรรมทั้งหลาย เหล่านี้ดังนี้</center>
    (ผ) พูดว่า สิ่งอะไรๆ ในโลกนี้ที่มีวิญญาณครองและไม่มีวิญญาณครอง ตลอดจนกระทั่งตัวของเราเองก็เป็นสังขารไม่เที่ยงมีความแปรปรวน และเป็นทุกข์ทั้งสิ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ เราควรเลือกเอายอดสังขาร คือ อริยมรรคเพราะไปต่อกันได้กับอริยผล ถัดจากอริยผลก็นิพพาน ซึ่งเป็นวิสังขารทีเดียว

    (ฝ) รับว่า ถูกแล้ว เพราะฉะนั้นจึงต้องละความยินดีในสังขารทั้งหลายให้หมด ถ้าไปชอบสังขารอย่างใดไว้ ก็ต้องได้สังขารอีกนั่นแหละ

    (ผ) ถามว่า จะปฏิบัติอย่างไร จึงจะหายจาก ที่เพ่งโทษผู้อื่นได้ขาด เช่นในเวลาที่เห็นคนทั้งหลายประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต ก็ทำใจให้ประกอบด้วยเมตตากรุณา ใจที่เพ่งโทษอาจหายไปได้ชั่วคราว แต่พอเมตตากรุณาเสื่อมไป ใจชนิดนั้นอาจเกิดขึ้นได้อีก ข้าพเจ้าไม่มีอุบายที่จะละได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องหนีจากหมู่ขึ้นมาอยู่บนเขา ขอท่านจงช่วยบอกอุบายให้ด้วย

    (ฝ) ว่า การเพ่งโทษคนอื่นนั้นสำคัญนัก เพราะขาดเมตตากรุณา เป็นไปเพื่อความเบียดเบียนตนและคนอื่นสมด้วยพระพุทธภาษิตว่า

    <center>ปรวชฺชานุปสฺสิสฺส
    เมื่อบุคคล มักตามมองดูซึ่งโทษของผู้อื่น

    นิจฺจํ อุชฺฌานนสญฺญิโน
    เป็นผู้มีความหมายจะยกโทษอยู่เป็นนิจ

    อาสวา ตสฺส วฑฺฒนฺติ
    อาสวะทั้งหลาย ย่อมเจริญขึ้นแก่บุคคลนั้น

    อารา โส อาสวกฺขยา
    บุคคลนั้น เป็นผู้ห่างไกลจากธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะ</center>
    เพราะ ฉะนั้น ควรทำในใจให้แยกออกไป เป็นอริยสัจ ๔ ส่วน บุคคลนั้นต้องทำความเห็นว่า เป็นขันธ์ ๕ หรืออายตนะ ๖ เป็นประเภททุกขสัจ ความประพฤติชั่วด้วยกาย วาจา ใจของบุคคลนั้นเป็นสมุทัย เพราะเขาไม่ได้เจริญมรรคจึงไม่ถึงนิโรธ เพราะฉะนั้นถ้าจะไม่ชอบ หรือเพ่งโทษว่าไม่ดี ก็ต้องเพ่งส่วนสมุทัย ส่วนคนนั้นเป็นขันธ์ ๕ หรือ อายตนะ ๖ กลับจะน่าสงสาร เพราะความทำผิดเช่นนั้น เป็นส่วนสมุทัย ให้ทำเพราะผู้ที่ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติก็มีอริยสัจ ๒ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ นั้นเป็นทุกขสัจ กิเลสความอยากนั้นเป็นสมุทัย จึงได้ประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เหมือนทารกไม่รู้จักไฟจึงได้จับ เพราะไม่ทราบว่าร้อน ส่วนผู้ใหญ่เขาไม่จับ เพราะเขาทราบว่าร้อนข้อนี้ฉันใด ผู้ที่ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติก็ฉันนั้น


    (ผ) ถามว่า ถ้าเช่นนั้นผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติมีอริยสัจ ๒ คือ ทุกข์กับสมุทัย เวลาที่เราเข้าไปเพ่งโทษ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ ของเราเป็นทุกขสัจ การเพ่งโทษเขานั้นเป็นสมุทัย เวลานั้น เรากับเขาก็ไม่แปลกอะไรกัน เพราะมีแต่ทุกข์กับสมุทัย ๒ อย่างเท่านั้น

    (ฝ) รับว่า ถูกแล้ว ถ้าไม่ทำความเห็นให้เป็นอริยสัจ ๔ ก็ยากที่จะหายจากใจที่เพ่งโทษคนอื่น

    (ผ) ถามว่า ถ้าเช่นนั้น พระเสขบุคคลทั้งหลายผู้ทำกิจของอริยสัจ ๔ ท่านคงไม่มีความเพ่งโทษผู้อื่นกระมัง

    (ฝ) ตอบว่า แน่ทีเดียว ข้าพเจ้าเข้าใจว่าพระเสขบุคคลทั้งหลาย ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป ย่อมไม่เพ่งโทษคนอื่นจึงพ้นจากความเบียดเบียน เพราะพ้นจากความเบียดเบียนจึงพ้นจากบาป เพราะพ้นจากบาปจึงพ้นจากทุคติ คือได้ทำกิจของอริยสัจ ๔ ท่านจึงไม่มีความเพ่งโทษใครๆ อาสวะทั้งหลายจึงไม่เจริญขึ้น ถึงซึ่งความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย จนเป็นพระอเสขบุคคล

    (ผ) ถามว่า ผู้ปฏิบัติ เช่นกัลยาณชน พระเสขบุคคล พระอเสขบุคคล ก็มีสติปัฏฐานด้วยกันทั้งนั้น สติปัฏฐานของท่านเหล่านั้น จะเหมือนกันหรือต่างกัน

    (ฝ) ตอบว่า ต่างกัน ถ้าคิดตามแบบกัลยาณชน เจริญสติปัฏฐานเพื่อจะรู้จริง เพราะไม่เห็นอริยสัจ ๔ ยังไม่ได้ทำหน้าที่กำหนดทุกข์ ละสมุทัย ทำนิโรธให้แจ้ง และยังไม่ได้เจริญมรรคให้บริบูรณ์ ส่วนพระเสขบุคคล กำหนดสติปัฏฐานตามความเป็นจริง คือสติสัมปชัญญะ เพื่อจะละสังโยชน์ที่ยังไม่หมด ให้หมดไป สติปัฏฐานของท่านั้นเป็นมรรค พระเสขบุคคลละสังโยชน์ได้ทั้ง ๑๐ สติปัฏฐานนั้นเป็นผล เพราะฉะนั้นจึงบริบูรณ์ด้วยสติ สติของท่านนั้นเป็นเอง มิใช่ทำให้เป็นขึ้นคือฉฬังคุเบกขา

    (ผ) ถามว่า ทำไมธาตุทั้ง ๖ ไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา ตามความเป็นจริง เมื่อพิจารณาดูก็น่าจะเห็นได้ง่าย ส่วนการเห็นว่าธาตุทั้ง ๖ เป็นของเที่ยง สุข ตัวตนนั้นน่าจะเห็นได้ยากเพราะฝืนธรรมดา แต่ทำไมจึงได้เห็นผิดตรงกันข้ามกับความจริง ข้อนี้น่าอัศจรรย์นัก ขอท่านจงอธิบายให้ข้าพเจ้าเข้าใจ

    (ฝ) ตอบว่า ความเห็นผิดชนิดนี้ลึกซึ้งมีมากหลายชั้น คือ ทิฏฐานุสัย และอัตตานุทิฏฐิ หรือสักกายทิฏฐิ และทิฏฐิวิปลาส คือเห็นผิดจากความจริง

    (ผ) ถามว่า ความทำในใจอย่างไรทิฏฐิทั้งหลายเหล่านี้จึงมีขึ้นได้

    (ฝ) ตอบว่า เพราะอวิชชาความไม่รู้ ไม่ได้ส้องเสพสัตบุรุษ ไม่ได้ฟังธรรมของสัตบุรุษ และไม่ได้ฝึกใจในธรรมของสัตบุรุษ จึงไม่รู้จักไตรลักษณ์ และอริยสัจ ๔ ทิฏฐิเหล่านี้จึงมีได้มาก เพราะธรรมดาของสังขาร ไม่เที่ยง ไม่คงที่ ไม่ยั่งยืน เป็นทุกข์เหลือทนๆ อยู่ไม่ได้จะต้องดับไปเป็นธรรมดา และเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำจาจบังคับบัญชาของใคร ส่วนผู้ที่ไม่รู้ความจริง ไม่เห็นไตรลักษณ์ จึงไม่ใส่ใจไว้ข้างเกิด เห็นเป็นของเที่ยงเป็นสุข และเห็นเป็นตัวตนแก่นสาร

    (ผ) ถามว่า การใส่ใจไว้ข้างเกิด ไม่ได้ใส่ใจไว้ข้างดับนั้นมีลักษณะอย่างไร

    (ฝ) ตอบว่า ธาตุ ๖ นั้นคือ ธารุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อากาศ ธาตุ ๕ อย่างนี้ เป็นรูปวิญญาณ ธาตุเป็นนาม เมื่อย่นลงเป็นนามเป็นรูปอย่างนี้แล้ว ส่วนรูปนั้นมีความแปรปรวนเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เช่นของเก่าดับไป ของใหม่เกิดขึ้นแทน แล้วก็ดับไปอีก ส่วนวิญญาณธาตุ คือความรู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ๖ อย่างนี้เช่น เห็นเป็นรูปทางตา เกิดความรู้ขึ้นแล้วก็ดับไป ได้ฟังเสียงทางหู เกิดความรู้ขึ้นแล้วก็ดับไป หรือได้รู้กลิ่นทางจมูก รู้รสทางลิ้น รู้โผฏฐัพพะทางกาย แล้วก็ดับไป รู้ธัมมารมณ์ทางใจแล้วก็ดับไป เช่นนี้ทุกอารมณ์ แต่เราไม่ได้ใส่ใจไว้ข้างดับ ใส่ใจไว้แต่ข้างเกิด จึงเห็นธาตุ ๖ เป็นของเที่ยงเป็นสุข เป็นตัวตนสาระเป็นแก่นสาร เป็นสุภะสวยงามที่เรียกว่าทิฏฐิวิปลาสอย่างนี้แหละ ชื่อว่าการใส่ใจไว้ข้างเกิด ไม่ได้ใส่ใจไว้ข้างดับ

    (ผ) ถามว่า จะประพฤติปฏิบัติอย่างไร จึงจะใส่ใจไว้ข้างดับ ไม่ได้ใส่ใจไว้ข้างเกิด ขอท่านจงอธิบายให้ข้าพเจ้าเข้าใจ

    (ฝ) ตอบว่า การใส่ใจไว้ข้างเกิดนั้นชำนาญคุ้นเคยกันมานานแล้ว ตั้งแต่เกิดมาพอรู้ภาษาคนก็ใส่ใจไว้ข้างเกิด ไม่เคยใส่ใจไว้ข้างดับ เพราะฉะนั้นการใส่ใจไว้ข้างดับ จึงต้องฝึกใหม่ให้ชำนาญและยังต้องอาศัยความเห็นที่ชัดเจนขึ้นด้วย ที่เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ

    (ผ) ถามว่า ความทำในใจอย่างไร ความเห็นที่ชัดเจนคือ สัมมาทิฏฐิจึงจะเกิดขึ้นได้ ขอท่านจงอธิบายให้ข้าพเจ้าฟังจะได้ดำเนินใจไปตามคำแนะนำของท่าน

    (ฝ) ตอบว่า คือมีสติสงบใจให้พ้นนิวรณ์แล้ว จึงสะกดรอยดูความจริงของธาตุทั้ง ๖ มีลักษณะเกิดขึ้นและเสื่อมไปตามความเป็นจริงอย่างไร ที่เรียกว่าสติสัมปชัญญะ

    (ผ) พูดว่า น่าใจหาย ตั้งแต่เกิดมาเป็นคนก็ใส่ใจไว้ข้างเกิด ไม่ได้ใส่ใจไว้ข้างดับ เพราะฉะนั้นอัธยาศัยใจคอจึงประกอบด้วยความประมาท และไม่รู้ตัวด้วยว่าเป็นผู้ประมาท สำคัญว่าไม่ประมาท ก็ตั้งนับปีอายุว่า เข้าวัดมาได้ตั้งหลายๆ สิบปี

    (ฝ) รับว่า ถูกแล้ว เข้าวัดมาได้มากปี แต่ใจยังไม่รู้ความจริง และประกอบด้วยความประมาทปราศจากสติสัมปชัญญะ ไม่ได้ใส่ใจในการพิจารณาสังขารธรรมทั้งหลายว่ามีความเกิดขึ้นแล้ว และเสื่อมไปเป็นธรรมดา แม้จะมีเวลาสงบระงับบ้างบางคราว ก็มีส่วนน้อยเต็มที ใจที่ไม่มีสติมีส่วนมากกว่า เพราะฉะนั้นจึงไม่มีความเจริญในสัมมาปฏิบัติ สมด้วยพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ในพระธรรมบท ตอนทัณฑวรรค หน้า ๒๘ ว่า

    <center>โย จ วสฺสสตํ ชีเว
    ก็ผู้ใด เมื่อไม่เห็นความ

    อปฺปสสํ อุทยพฺพยํ
    เกิดขึ้น และความเสื่อมไปพึงเป็นอยู่ตลอดร้อยปี

    เอกาหํ ชีวิตํ เสยุโย
    ความเป็นอยู่ชั่ววันเดียว

    ปสฺสโต อุทยพฺพยํ
    ของผู้ที่เห็นความเกิดขึ้น และความเสื่อมไปประเสริฐกว่า

    (ผ) ถามว่า จะประพฤติปฏิบัติอย่างไร จึงจะเป็นผู้ไกลจากกิเลสตามเสด็จพระศาสดา

    (ฝ) ตอบว่า ต้องประพฤติปฏิบัติให้เป็นธรรมเป็นวินัย เช่นของที่ภิกษุได้มาในทางที่ไม่ควร ของนั้นเป็นนิสสัคคีย์ก็ต้องเสียสละตามพระวินัยฉันใด เราก็ต้องตั้งใจปฏิบัติให้แข็งแรงว่า จะเป็นผู้ไกลจากกิเลส กิเลสจะต้องไกลจากเรา ถ้าเผลอไปกิเลสเกิดขึ้นอีกเวลาใด ก็ต้องเสียสละ คือละเสียเวลานั้น เหมือนอย่างภิกษุได้สิ่งของที่ไม่ควร เป็นนิสสัคคีย์ ท่านต้องเสียสละตามพระวินัย ทำตนให้บริสุทธิ์ฉันนั้น นี่แหละชื่อว่าปหานะกิจ เป็นทางไกลจากกิเลส ตามเสด็จพระศาสดา

    (ผ) พูดว่า ข้าพเจ้าฟังท่านบรรยายถึงปฏิปทาที่จะให้ไกลจากกิเลส รู้สึกมีกำลังใจในการละกิเลส ดูไม่เหลือวิสัยที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำของท่าน

    (ฝ) รับว่า ถูกแล้ว กิเลสที่ยังเกิดอยู่ได้ เพราะไม่ได้ตั้งใจละให้แข็งแรง จึงเกิดขึ้นครอบงำใจได้ เพราะฉะนั้นพระอริยสาวกในธรรมวินัยนี้ จึงไม่ทอดธุระในการละกิเลสพากเพียรพยายามมีสติสัมปชัญญะอยู่ ท่านจึงถึงซึ่งความบริสุทธิ์ได้ และเป็นผู้ไกลจากกิเลสตามเสด็จพระบรมศาสดา

    (ผ) ถามว่า วิธีปฏิบัติทำใจให้สงบจากนิวรณ์ ๕ ทำไมจึงได้ยากนัก ต้องฝึกหัดอบรมพากเพียรพยายามมีสติไม่ส่งใจไปคิดถึงอย่างอื่น และต้องอยู่ในที่สงัดด้วย กว่าจะสงบระงับได้ตั้งหลายๆ ปี ส่วนใจที่ประกอบด้วยนิวรณ์ ๕ นั้นไม่ต้องฝึกหัดอบรมก็มีขึ้นได้ อาศัยเหตุปัจจัยอะไรจึงได้เป็นเช่นนั้น ขอท่านจงอธิบายให้ข้าพเจ้าเข้าใจในเรื่องนี้

    (ฝ) ตอบว่า อนุสัยและสังโยชน์ที่ยังละไม่ได้นั้นเป็นกิเลสวัฏเป็นปัจจัยให้เกิดกัมมวัฏ ฝ่ายอกุศล คือนิวรณ์ ๕ เพราะฉะนั้นการปฏิบัติทำใจให้เป็นสมาธิ จึงต้องอาศัยสติและวิริยะ คือความระวังอย่างแข็งแรง ถ้าเผลอสติหรือขาดวิริยะไปเวลาไร ก็เป็นโอกาสที่จะให้นิวรณ์ ๕ เกิดขึ้นครอบงำใจได้อีก เพราะฉะนั้นการปฏิบัติจึงไม่แล้วไม่เสร็จ เพราะไม่ได้ละอนุสัยและสังโยชน์ให้หมดไปจากสันดาน

    (ผ) พูดว่า ถ้าเช่นนั้น วิธีปฏิบัติทำใจให้เป็นสมาธิเหมือนพายเรือทวนน้ำ พอเผลอสติหรือขาดความเพียรเข้าเวลาไร ก็ไหลเข้าไปทางเก่า คือนิวรณ์ ๕ เพราะใจที่อยู่ในสมาธินั้น เป็นแต่สงบนิวรณ์เอาไว้ ยังไม่ได้ละให้หมดไปด้วยอำนาจอริยมรรค บรรดากิเลสที่เป็นเหล่าอนุสัย และสังโยชน์จึงเป็นปัจจัยให้เกิดนิวรณ์ ๕ ขึ้นได้อีก

    (ฝ) รับว่า ถูกแล้ว พระอริยสาวกตั้งแต่ชั้นโสดาบันขึ้นไปได้ละสังโยชน์ให้หมดไปตามกำลังแห่งข้อ ปฏิบัติ เพราะฉะนั้นการปฏิบัติทางพระนิพพานของท่านจึงง่ายเหมือนพายเรือตามน้ำฉะนั้น

    (ผ) ว่า ข้าพเจ้าเคยได้ยินเขาพูดกันถึงเรื่องพระนิพพานว่า อายตนะอันหนึ่งมีอยู่ แต่ไม่ใช่ดิน ไม่ใช่น้ำ ไม่ใช่ไฟ ไม่ใช่ลม ไม่ใช่อากาศ ไม่ใช่วิญญาณ ไม่ใช่ตัวตนเช่นนั้น พระนิพพานก็สูญเปล่า เขาจึงไม่อยากไปพระนิพพาน

    (ฝ) พูดว่า กามทั้งหลายไม่มีในพระนิพพาน ผู้ที่กำหนัดในกาม ยังมีความพอใจในรูปเป็นต้น จึงไม่ยินดีในพระนิพพาน นิพพานคือ ความสิ้นราคะ โทสะ โมหะ และดับตัณหาที่เป็นเหตุให้ทุกข์เกิดขึ้นเสียได้ ทุกข์เป็นผลมีชาติเป็นต้นก็ดับไป เพราะฉะนั้นพระนิพพานแม้จะชื่อว่าเป็นอนัตตา แต่คงสูญเพราะกิเลสกับทุกข์เท่านั้น ส่วนนิพพานธรรม ซึ่งเป็นธรรมที่เที่ยงที่สุขนั้นยังคงมีอยู่

    (ผ) พูดว่า นึกๆ ก็น่าอัศจรรย์ในเรื่องพระนิพพาน สังขารทั้งหลายดับไปหมดแล้ว จะไม่มีอะไรที่ไม่ใช่สังขาร คือสิ่งที่เหลืออยู่ เพราะพระนิพพานนั้นเป็นวิสังขาร ข้าพเจ้าไม่ใส่ใจในเรื่องพระนิพพาน เพราะนึกถึงแล้วทำใจให้ฉงนสนเท่ห์ ตกลงประพฤติปฏิบัติเรื่อยๆ ไป ถึงพระนิพพานเมื่อไรก็รู้ได้เอง

    (ฝ) พูดว่า พระนิพพานไม่ใช่สูญ คือของเก่าดับไปของใหม่เกิดขึ้นแทน เช่นพระโสดาบันละสังโยชน์ ๓ ได้หมดทุกข์ มีชาติเป็นต้นก็ดับไปได้มาก ที่เหลืออยู่ก็น้อยคือ ๑ ชาติ ๓ ชาติ หรือย่างช้าเพียง ๗ ชาติ และมีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้มีอริยมรรคกำหนดแน่แล้ว มีอันจะตรัสรู้ได้เองในเบื้องหน้า เพราะละสักกายทิฏฐิหมดไป จึงมีสัมมาทิฏฐิเกิดขึ้นแทน และละวิจิกิจฉาหรือสีลัพพัตหมดไป จึงมีอจลสัทธามาแทน เช่นพระสกทาคามีทำราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาบางจะมาเกิดในโลกนี้อีกคราวเดียวเท่านั้น ก็จะถึงที่สุดแห่งทุกข์นี่เรียกว่าทำของเก่าให้หมดไป จึงมีของใหม่เกิดขึ้นแทน คือ คุณธรรมที่ยิ่งกว่าพระโสดาบันขึ้นไป ส่วนพระอนาคามีละสังโยชน์ ๕ เบื้องต่ำได้แล้ว เกิดในสุทธาวาสพรหมโลกและจักปรินิพพานในที่นั่น นี้เรียกว่าทำกิเลสและชาติภพ ซึ่งเป็นของเก่าให้หมดไป ของใหม่เกิดขึ้นแทน คือเพราะท่านสิ้นไปจากกามราคะสังโยชน์ จึงถึงพร้อมด้วยองค์คุณ กล่าวคือใจที่สงัดจากกามมาแทน และท่านสิ้นไปจากปฏิฆะสังโยชน์ จึงถึงพร้อมด้วยองค์คือเมตตากรุณามาเกิดแทน พระอริยสาวกที่ได้บรรลุเสขคุณแล้ว ชื่อว่าอุปาทิเสสนิพพาน ส่วนพระอรหันต์ละตัณหาความอยากสิ้นแล้ว สิ้นอาสวะอยู่จบพรหมจรรย์แล้วมีกิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้วปลงภาระแล้ว มีประโยชน์ตนถึงโดยลำดับแล้ว มีสังโยชน์ในภพสิ้นแล้วพ้นวิเศษแล้ว เพราะรู้ทั่วถึงด้วยอาการอันชอบ ส่วนกิเลสอาสวะที่พระอรหันต์ได้ละหมดสิ้นเชิงและสิ้นชาติ ไม่มีปฏิสนธิในภพ คืออนุปาทิเสสปรินิพพาน นี้ชื่อว่าทำของเก่า คือสมุทัยกับทุกข์ให้หมดไป ของใหม่เกิดแทนนั้น คือถึงพร้อมด้วยคุณธรรมที่เรียกว่าอริยวาสธรรม คือธรรมเป็นที่อยู่ของพระอริยเจ้า ๑๐ ประการ

    ๑. ปญฺจงฺควิปฺปฮีโน มีองค์ ๕ คือนิวรณ์อันละเสียแล้ว

    ๒. ฉฬงฺคสมนฺนาคโต ประกอบด้วยองค์ ๖ คือฉฬังคุเบกขา

    ๓. เอการกฺโข มีธรรมรักษาทั่วกันอันหนึ่งคือสติ

    ๔. จตุราปสฺเสโน มีธรรมดั่งพนัก เป็นที่อิง ๔ อย่าง คือ พิจารณาแล้วจึงส้องเสพ อดทน หลบหลีก ถ่ายถอน

    ๕. ปนุณฺณปจฺเสกสจฺโจ มีของจริงเฉพาะอันๆ หนึ่ง บรรเทาเสียแล้ว คือละมิจฉาทิฏฐิ ๑๐ อันเป็นอพยาตวัตถุ มีเห็นรูปเที่ยง เป็นต้น

    ๖. สมวยสฏเฐสโน มีความแสวงหาอันให้สะเทือนละเสียโดยชอบแล้ว คือละความแสวงหา ๓ อย่าง กาม ๑ ภพ ๑ พรหมจรรย์ ๑

    ๗. อนาวิลสงฺกปฺโป มีความดำริอันไม่ขุ่นมัว คือละความดำริที่ประกอบด้วยกิเลสกาม วัตถุกาม และวิตกที่ประกอบด้วยพยาบาทและวิเหสา

    ๘. ปสฺสทฺธกายสงฺขาโร มีกายสังขาร คือลมอัสสาสะระงับแล้ว คือ บรรลุจตุตถฌาณ

    ๙. สุวิมุตฺตจิตฺโต มีจิตพ้นวิเศษดีแล้ว คือมีจิตพ้นจากราคะ โทสะ โมหะ

    ๑๐. สุวิมุตฺตปญฺโญ มีปัญญาพ้นวิเศษแล้ว คือรู้ชัดว่า ราคะ โทสะ โมหะ เราละเสียแล้วดั่งนี้


    (ผ) กล่าวว่า สาธุ ท่านอธิบายธรรมชั้นสูงให้ข้าพเจ้าเข้าใจได้แจ่มแจ้งดีในเรื่องพระนิพพาน คือของเก่าได้แก่สมุทัยกับทุกข์ดับไป จึงมีคุณธรรมของใหม่เกิดขึ้นแทน ซึ่งเป็นธรรมที่ไม่กำเริบเพราะมิใช่สังขาร เพราะฉะนั้นพระนิพพานจึงไม่สูญ ข้าพเจ้าขออนุโมทนาความสามารถรอบรู้ในธรรมที่ละเอียดเหล่านั้นกะท่านด้วย.


    <!--emo&:72:-->
    [​IMG]<!--endemo--> <!--emo&:72:-->[​IMG]<!--endemo--> <!--emo&:72:-->[​IMG]


    ดูท่อนไม้นี้ซิ.....สั้นหรือยาว
    สมมติว่า คุณอยากได้ไม้ที่ยาว
    กว่านี้ ไม้ท่อนนี้มันก็สั้น
    แต่ถ้าคุณอยากได้ไม้สั้นกว่านี้.....
    ไม้ท่อนนี้มันก็ยาว
    .....หมายความว่า “ตัณหา”
    ของคุณต่างหากที่ทำให้มีสั้นมียาว
    มีดี มีชั่ว มีทุกข์ มีสุข ขึ้นมา

    (หลวงพ่อชา สุภัทโท)

    </center>
     
  3. wisarn

    wisarn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    741
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +2,505
    <center> ปฏิปัตติวิภาค
    (ฉบับเดิมพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕) </center>

    ถ. กับ ต. เป็นผู้ปฏิบัติเข้าวัดมานานแล้ว วันหนึ่งมาพบกันเข้า มีความยินดีด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย

    ถ. ถามว่า ข้าพเจ้าไม่ได้พบท่านนานแล้ว ท่านเป็นสุขสบายดีหรือ

    ต. ตอบว่า พูดตามสมมติก็ว่าเป็นสุข แต่ส่วนปัญจขันธ์เป็นทุกข์ จะตอบว่าสุขก็ขัดกับความจริง

    ถ. ว่า ข้าพเจ้าถามความสมมติของโลกที่เขาปราศัยกันอยู่ในผู้ที่ได้จากกันไปนานๆ เมื่อตอบอย่างนี้ก็ไม่ได้ความในคำตอบของท่านว่า เป็นสุขหรือเป็นทุกข์

    ต. ตอบว่า สุขเวทนาก็คือสังขาร ทุกขเวทนาก็คือสังขาร เพราะฉะนั้นจึงเป็นทุกข์ด้วยกันทั้งคู่ ข้าพเจ้าไม่เห็นสังขารชนิดใดที่จะเที่ยงหรือสุข เห็นมีแต่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ข้าพเจ้ากับท่านเป็นผู้ปฏิบัติเข้าวัดมานานแล้ว จึงตอบให้ตรงความจริง

    ถ. ว่า ท่านไม่ชอบพูดเรื่องโลกเลยแม้แต่คำเดียว ต่อนี้ไปข้าพเจ้าจะถามท่านในทางสัมมาปฏิบัติ

    ต. ว่า ข้าพเจ้ายินดีจะตอบกับท่านในทางสัมมาปฏิบัติ เรื่องโลกนั้นเราควรเบื่อกันเสียที ยิ่งเวลานี้เศรษฐกิจของโลกตกต่ำ ผู้ที่ยงกำหนัดยินดีหมกมุ่นพัวพันติดอยู่ในโลก จึงมีความร้อนใจไปทุกคน ส่วนผู้ปฏิบัติก็มีแต่สังเวชสลดใจ เพราะได้เห็นคนทั้งหลายทุกข์ยาก ลำบากเศร้าโศกเดือดร้อนอยู่ เพราะไม่รู้ความจริงของโลกธรรม ที่มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา จึงตรงกันข้ามกับพระอริยสาวก ที่ท่านเห็นความจริงแล้ว กำหนดรู้โลกธรรมทั้ง ๘ ว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ใจของพระอริยสาวกนั้นมีความจริงเป็นอารมณ์ จึงไม่ยินดียินร้ายไปตามโลกธรรมทั้ง ๘

    ถ. ถามว่า อริยสาวกที่เป็นพระอเสขบุคคล ท่านละความยินดียินร้ายในโลกธรรมทั้ง ๘ ได้ ส่วนพระเสขบุคคลท่านยังละวามยินดียินร้ายในโลกธรรมทั้ง ๘ ไม่ได้ เมื่อเวลาโลกธรรมทั้ง ๘ อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น เสขบุคลลกับปุถุชนนั้นจะต่างกันอย่างไร

    ต. ตอบว่า ตามความเห็นของข้าพเจ้าว่า พระเสขบุคลลเวลาที่โลกธรรม ๘ เกิดขึ้น สมัยที่ท่านมีสติสัมปชัญญะกำหนดรู้โลกธรรมตามความเป็นจริง ความยินดียินร้ายในโลกธรรม ๘ ก็ไม่เกิดขึ้นในใจได้ สมัยที่เผลอสติเวลาที่โลกธรรมทั้ง ๘ อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ก็มีความยินดียินร้าย แต่ว่าคงน้อยแล้วก็ละได้ง่าย ไม่ครอบงำใจเหมือนปุถุชน เพราะท่านได้เห็นความจริงแล้ว นี่เป็นส่วนความเข้าใจ ถ้าต้องการจะรู้ให้แน่ ก็จงประพฤติปฏิบัติทำตนให้เป็นพระเสขบุคคลจึงจะรู้ได้ว่าอัธยาศัยใจคอท่าน เป็นอย่างไร ส่วนปุถุชนนั้นมี ๓ จำพวกที่เป็นกัลยาณชนมีศีลมีธรรมอันงาม ประพฤติปฏิบัติละเอียดมากขึ้น และทำในใจให้แยบคาย เวลาโลกธรรมทั้ง ๘ อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ก็มีความยินดียินร้ายน้อย ส่วนผู้ที่ถึงสรณะแล้ว แต่ประพฤติปฏิบัติน้อย เวลาโลกธรรมทั้ง ๘ อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ก็มีความยินดียินร้ายในโลกธรรมนั้นมาก ส่วนปุถุชนที่ยังไม่ถึงสรณะไม่มีศีลศรัทธาแล้วนั้น เวลาโลกธรรมทั้ง ๘ ฝ่ายข้างดี ๔ อย่างเกิดขึ้น ก็กำหนัดยินดีหมกมุ่นพัวพันไปตามโลกธรรมนั้น หรือโลกธรรมฝ่ายข้างไม่ดี ๔ อย่างเกิดขึ้นก็ยินร้ายไม่ชอบ เศร้าโศกเดือดร้อน เพราะปุถุชนที่ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติก็ทำใจไม่แยบคาย เพราะยินดียินร้ายจึงเกิดขึ้นครอบงำใจของปุถุชนนั้นได้

    ถ. ถามว่าเสขบุคคลมีหลายจำพวก คือพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี เวลาที่โลกธรรมทั้ง ๘ อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ความยินดียินร้ายของพระเสขบุคคลเหล่านั้นจะเท่ากันหรือไม่เท่ากัน

    ต. ตอบว่า ก็ใครจะรู้ใจของท่าน

    ถ. ถามว่า ข้าพเจ้านึกว่าท่านต่างชั้นกัน จึงคิดว่าความยินดียินร้ายคงจะไม่เท่ากัน

    ต. ตอบว่า นั่นเป็นธรรมดา สังโยชน์ยังอยู่ทั้ง ๗ ความยินดียินร้ายก็มีมาก สังโยชน์เหลืออยู่ ๕ ความยินดียินร้ายก็มีน้อย ตามแบบที่เราได้ฟังมาว่า พระอเสขบุคคลละสังโยชน์ได้หมดทั้ง ๑๐ ความยินดียินร้ายจึงไม่มี ใจของท่านนั้นเป็นฉฬังคุเบกขา เพราะความยินดียินร้ายนั้นเกิดมาจากปัจจัย คือ อวิชชา สังโยชน์

    ถ.ถามว่า โลกธรรมฝ่ายดี เช่น ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ๔ อย่างนี้ เป็นกุศลวิบาก คือ ผลของกุศลกรรมส่งให้ ส่วนโลกธรรมฝ่ายข้างไม่ดี คือ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ๔ อย่างนี้ เป็นอกุศลวิบาก คือผลของกุศลกรรมส่งให้เขาใช่ไหม

    ต. ตอบว่า ใช่ ถูกแล้ว

    ถ. ถามว่า เวลาโลกธรรมทั้ง ๘ อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นผู้ที่ได้สดับแล้วเช่นข้าพเจ้าก็จำไว้ได้ดีว่า โลกธรรมทั้ง ๘ นี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา แต่ทำไม ในเวลาโลกธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ใจข้าพเจ้าจึงยินดียินร้ายไปตามโลกธรรมทั้ง ๘ นั้น

    ต. ตอบว่า ผู้สดับฟังที่จำทรงปริยัติธรรมไว้ได้มากนั้น เป็นแต่จำเรื่องราวในพระพุทธศาสนาที่จะนำมาประพฤติปฏิบัติ แต่ยังไม่ได้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติอย่างที่พระอริยสาวก จึงละความยินดียินร้ายในโลกธรรมทั้ง ๘ ไม่ได้

    ถ. ถามว่า ข้าพเจ้าก็ปฏิบัติอยู่ คือเป็นผู้มีศีล มีธรรม และรู้เรื่องราวเข้าใจในคำสอนทั้งหลาย แต่ทำไม จึงละความยินดียินร้ายในโลกธรรมไม่ได้

    ต. ตอบว่า ท่านรู้แต่ชั้นสัญญาไม่รู้เห็นในชั้นปัญญา แต่สำคัญตนว่ารู้แล้ว เพราะนึกถึงธรรมเหล่าใดที่ได้จำทรงไว้ ก็ได้ความแจ่มแจ้งในชั้นสัญญา ไม่ใช่รู้เห็นตามความเป็นจริงซึ่งเป็นชั้นปัญญา เหมือนอย่างพระอริยสาวกที่ท่านได้เห็นความจริง คือไตรลักษณ์หรืออริยสัจ และได้ทำกิจตามหน้าที่ของอริยสัจทั้ง ๔ ด้วย จึงละความยินดียินร้ายในโลกธรรมทั้ง ๘ ได้

    ถ. ถามว่า ไตรลักษณ์และอริยสัจนั้นข้าพเจ้าเข้าใจดี และอธิบายให้คนอื่นฟังอีกก็ได้ ทำไมจึงว่าข้าพเจ้าไม่รู้ หรือจะให้ข้าพเจ้าเทศน์ไตรลักษณ์และอริยสัจ ๔ ให้ท่านฟังสักกัณฑ์ใหญ่ก็ได้

    ต. หัวเราะแล้วตอบว่า ข้าพเจ้าพูดถึงชั้นปัญญาของพระอริยสาวก ท่านก็พูดแต่ชั้นสัญญาอีกร่ำไป ท่านจงใคร่ครวญพิจารณาดูเองเถิด ถ้าความรู้ความเห็นของท่านไม่ใช่สัญญา เป็นชั้นปัญญาแล้ว ก็คงละความยินดียินร้าย ในโลกธรรมทั้ง ๘ ได้ เหมือนพระอริยสาวก ที่ไหนเป็นปุถุชน

    ถ.พูดว่า ข้าพเจ้าไม่เข้าใจว่า ความรู้ชนิดไหนเป็นชั้นปัญญา เพราะข้าพเจ้านึกถึงธรรมทั้งหลายที่จำทรงไว้นั้นก็ได้ความในคำสอนทั้งหลาย ชัดเจนแจ่มแจ้ง จึงสำคัญว่าเป็นชั้นปัญญา

    ต. พูดว่า ความจำทรงทั้งหลายไว้ได้มาก นี่เรียกว่าชั้นปริยัติ และนำคำสอนมาประพฤติปฏิบัติเจริญจรณะ ๑๕ จนแก่กล้าบริบูรณ์ขึ้นอีกแล้ว นี่เรียกว่าชั้นปฏิบัติ เมื่อวิชชาและวิมุตติเกิดขึ้น นี่เรียกว่าชั้นปฏิเวธ

    ถ. พูดว่า ข้าพเจ้าเข้าใจผิด และเป็นผู้ประมาทมาก ไม่ได้เจริญจรณะ ๑๕ ให้บริบูรณ์ขึ้นในตน จึงไม่ถึงซึ่งวิชชาและวิมุตติ ความศึกษาของข้าพเจ้านั้นคงเป็นหมันเสียแล้ว

    ต. พูดว่า เมื่อท่านรู้ตัวได้เช่นนี้เป็นความดีสำคัญทีเดียว จะได้ตั้งใจเจริญจรณะ ๑๕ ให้แก่กล้าบริบูรณ์ จะได้ถึงซึ่งวิชชาและวิมุตติ

    ถ. ถามว่า จะทำในใจแยบคายอย่างไร จึงจะไม่ประมาท และมีความเพียรตั้งใจเจริญจรณะ ๑๕ ให้แก่กล้าบริบูรณ์ขึ้น

    ต. ตอบว่า ความไม่ประมาทก็มีอยู่ในจรณะ ๑๕ คือ ศรัทธา ศีล วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ก็พอครบสิกขา ๓ อยู่แล้ว แต่ท่านไม่เจริญให้มากขึ้น จึงไม่มีบริบูรณ์ในตน

    ถ. พูดว่า ข้อนั้นจริงอยู่ แต่ข้าพเจ้าคิดว่าจะต้องทำในใจให้แยบคายอย่างไรอีก เพื่อให้มีกำลังใจแข็งแรงและพากเพียรให้ยิ่งขึ้น ขอท่านจงแนะนำให้ข้าพเจ้ายินดีในความไม่ประมาท และเห็นภัยในความประมาท

    ต. ตอบว่า ต้องพิจารณาให้เห็นภัยในสังสารวัฏหรือพิจารณาเห็นภัยในทุคติและกำเนิดสัตว์ ดิรัจฉานว่า ผู้ที่ไม่ประมาทแล้วนั้นต้องเวียนเกิดในวัฏฏะ ๓ เป็นเขตแดนแห่งมัจจุราชคือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ตายแล้วไปเกิด เกิดแล้วก็แก่เจ็บตายไม่มีที่สุด เวียนอยู่ใน ๓ ภพ ภพนั้นลำบากมาก เพราะประกอบด้วยชาติ ชรา มรณะ สมัยใดเสพสัตบุรุษและฟังธรรมก็ทำกรรมเป็นบุญจึงได้เกิดในสุคติ สมัยใดเสพอสัตบุรุษก็ทำกรรมเป็นบาป เพราะผู้ที่ยังละอาสวะไม่ได้ก็ทำกรรมเป็นบาป ต้องไปเกิดในทุคติและกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานเสวยทุกขเวทนาหยาบกล้าเผ็ดร้อน เหลือที่จะพรรณา เพราะยังไม่ปิดประตูอบายคือยังไม่บรรลุโสดาปัตติผล เราจะประพฤติปฏิบัติได้ก็ในเวลายังมีชีวิตอยู่เท่านั้น ถ้าความตายมาถึงเข้าก็ไม่มีโอกาสที่จะทำความดีได้ และลมหายใจก็ไม่ได้นัดกับเราว่าจะหยุดลงวันใด เพราะฉะนั้นเราจึงควรพากเพียรให้ถึงซึ่งมรรคและผล จะได้พ้นภัยในอบายและภัยในสังสารวัฏ ดังพระพุทธภาษิตในเทวตาสํยุตฺต วิตฺตสูตร หน้า ๕๕ ว่า

    <center>อชฺเชว กิจฺจมาตปฺปํ
    ควรรีบทำความเพียรในวันนี้ทีเดียว

    โก ชญฺญา มรณํ สุเว
    ใครเล่าจะรู้ว่าความตายจะมีมาในวันพรุ่งนี้

    น หิ โน สงฺครนฺเตน มหาเสเนน มจฺจุนา
    ความผัดเพี้ยนด้วยพญามัจจุราช ผู้มีเสนาน้อยใหญ่นั้นย่อมไม่ได้เลยทีเดียว</center>ถ. พูดว่า ข้าพเจ้าฟังท่านบรรยายถึงภัยในสังสารวัฏและภัยในอบายทำให้ข้าพเจ้าสะดุ้ง กลัวและตั้งใจละความประมาทเจริญความไม่ประมาทให้สมบูรณ์ในตน เพื่อให้ถึงซึ่งมรรคและผล

    ต. กล่าวว่า สาธุ ข้าพเจ้าขออนุโมทนาความตั้งใจชอบเช่นนั้นของท่านด้วย

    ถ. ว่า ข้าพเจ้าเห็นว่า ความประมาทนั้นเป็นข้อสำคัญของผู้ปฏิบัติผู้เดียว เพราะขาดสติในสมัยนั้น ไม่มีโอกาสที่จะทำความดีได้ คงมีแต่ใจที่เป็นอัญญสมานา คือเป็นกลางๆ ไม่ใช่บาป แต่ก็ไม่เป็นบุญ ได้เห็นรูปฟังเสียงที่ดีก็เกิดความกำหนัดยินดีได้ง่ายๆ แล้วก็ดูเป็นคนโลเลและมีความหลับมาก เมื่อตื่นนอนขึ้นก็คิดฟุ้งซ่านไปในกามารมณ์ ข้อปฏิบัติที่จะตั้งอยู่ได้แต่ชั้นศีล ก็ยากที่จะทำให้บริบูรณ์ ส่วนสมาธิและปัญญานั้นยากที่จะเกิดขึ้นได้ในใจของผู้ประมาท ส่วนมรรคผลนิพพานนั้นไม่ต้องพูดถึงเสียเลย ต้องห่างไกลกันทีเดียว

    ต. พูดว่า ถูกแล้ว ส่วนท่านผู้ไม่ประมาทและเห็นภัยในความประมาท จึงเป็นผู้ใกล้พระนิพพานทีดียว ดังพระพุทธภาษิตในคาถาธรรมบทจิตตวรรคที่ ๓ ว่า

    <center>อปฺปมาทรโต ภิกฺขุ
    ภิกษุผู้ยินดีในความไม่ประมาท

    ปมาเท ภยสทฺสิ วา
    หรือเป็นผู้มีปกติเห็นภัยในความประมาท

    อภพฺโพ ปริหานาย
    เป็นผู้ไม่ควรเพื่อความเสื่อมรอบ

    นิพฺพานสฺเสว สนฺติเก
    เป็นผู้ตั้งอยู่ที่ใกล้แห่งพระนิพพานนั่นเทียว

    ถ. ถามว่า จรณะ ๑๕ นั้น คือ
    ๑. ศีลสังวร (สำรวมกายวาจาเรียบร้อย)
    ๒. อินทรียสังวร (สำรวมอินทรีย์ทั้ง ๖)
    ๓. โภชนมัตตัญญุตา (ความเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ)
    ๔. ชาคริยานุโยค (ประกอบตามซึ่งความเพียรไม่เห็นแก่นอนมากนัก)
    ๕. ศรัทธา (เชื่อต่อสิ่งที่ควรเชื่อ)
    ๖. หิริ (ละอาบต่อบาปทุจริต)
    ๗. โอตตัปปะ (สะดุ้งต่อบาปทุจริต)
    ๘. พาหุสัจจะ (ความเป็นผู้สดับมาก)
    ๙. วิริยะ (ความเพียรละบาปเจริญบุญ)
    ๑๐. สติ (ความระลึกอยู่ในอารมณ์ที่เป็นกุศล)
    ๑๑. ปัญญา (ที่เห็นความเกิดขึ้นและดับไป)
    ๑๒. ปฐมฌาน (ละนิวรณ์ ๕ ประกอบด้วยองค์ ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคตา)
    ๑๓. ทุติยฌาน (ละวิตกวิจาร ประกอบด้วยปีติ สุข เอกัคตา)
    ๑๔. ตติยฌาน (ละปีติประกอบด้วยสุข เอกัคตา)
    ๑๕. จตุตถฌาน (ละสุข ประกอบด้วยเอกัคตา อุเบกขา)

    <center>ข้อปฏิบัติ ๑๕ อย่างนี้ ต้องทำให้บริบูรณ์อย่างนั้นหรือ</center>


    ต. ตอบว่า ถ้าเจริญให้บริบูรณ์เต็มที่แล้ว ก็ถึงซึ่งวิชชาและวิมุตติ ดังเสขปฏิปทาสูตรที่ ๓ ในครปติวรรคที่ ๑ มัชฌมนิกาย มัมฌิมปัณณาสก์ หน้า ๒๕ ความสังเขปว่า ศากยราชชาวเมืองกบิลพัสดุ์ สร้างศาลาใหญ่ขึ้นใหม่ยังไม่เคยมีใครบริโภคนั่งนอน จึงเชิญเสด็จพระผู้มีพระภาคให้ประทับก่อน เพื่อให้เป็นมงคล พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์และกษัตริย์ศากยราชทั้งหลาย มีท้าวมหานามเป็นประธาน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมสิ้นเวลาเป็นอันมาก จนเมื่อยพระปฤษฎางค์ จึงตรัสเรียกพระอานนท์ให้แสดงข้อปฏิบัติของเสขบุคคล พระองค์ทรงปูลาดสังฆาฏิสำเร็จสีหไสยา มีพระสติสัมปชัญญะกำหนดหมายจะลุกขึ้น พระอานนท์จึงแสดงเสขปฏิบัติ ท้าวมหานามเป็นผู้รับธรรมเทศนา คือ จรณะ ๑๕ อย่างนั้น เมื่อจบแล้วจึงอุปมาว่าเหมือนแม่ไก่ไข่ออกมา ๘ ฟอง หรือ ๑๐ ฟอง ๑๒ ฟอง แม่ไก่นั้นกกไว้ให้อบอุ่น ไม่ต้องปรารถนาว่า ขอให้ลูกน้อยของเราจงเจาะกะเปาะฟองออกมา ลูกไก่ก็ต้องทำลายกะเปาะฟองด้วยปลายเล็บ หรือจงอยปากออกมาเป็นตัวได้เพราะเหตุที่แม่ไก่กกไว้เสมอข้อนี้ฉันใดอริยสาวก ในธรรมวินัยผู้บริบูรณ์ด้วยจรณะ ๑๕ นั้น ก็อาจทำลายกะเปาะฟอง คืออวิชชาและบรรลุวิชชา ๓ คือ

    ๑. ปุพเพสิวาสานุสสติญาน (รำลึกชาติหนหลังของตนได้)
    ๒. จุตุปปาตญาณ (เห็นสัตว์จุติและปฏิสนธิ)
    ๓. อาสวักขยญาณ (รู้จักทำอาสวะให้สิ้น)

    เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จลุกขึ้นแล้ว จึงประทานสาธุการแก่พระอานนท์


    ถ. พูดว่า เรายังกังวลอยู่ด้วยกิจธุระการงานเป็นส่วนตัว และของผู้อื่นบ้าง การที่จะประพฤติปฏิบัติในจรณะ ๑๕ กลัวจะไม่บริบูรณ์ หรือจะต้องหลักไปในที่สงัด แต่ในเวลานี้ก็ยังไม่มีโอกาสที่หลีกไปได้ ข้าพเจ้าตั้งใจปฏิบัติจริงๆ ท่านจงช่วยบอกอุบายให้ข้าพเจ้าด้วย

    ต. พูดว่า ที่หลีกไปในที่สงัดนั้นเป็นการสะดวกมากแต่เมื่อยังไม่มีโอกาสที่จะหลีกไปได้ เราอยู่ที่ไหนก็ต้องตั้งใจปฏิบัติที่นั่น ที่สงัดมี ๓ คือป่า ๑ โคนไม้ เรือนว่างเปล่า ๑ ตามสะดวก จะคอยให้ได้ที่สงัดเช่นป่านั้นก็ยังไปไม่ได้ ถ้าความตายมาถึงเข้าก็จะเสียที

    ถ. ถามว่า ข้าพเจ้ายังมีกังวลด้วยกิจการงาน และยังไม่มีโอกาสจะหลีกไปในที่สงัด เราจะประพฤติปฏิบัติในจรณะ ๑๕ ให้บริบูรณ์ได้ไหม

    ต. ตอบว่า ได้ตามกำลังใจของผู้ปฏิบัติ ส่วนกังวลที่จะต้องละนั้นคือ

    <center>ราคกิญฺจนํ
    กังวลเพราะความกำหนัดยินดีหรือหมกมุ่นติดอยู่ในกาม

    โทสกิญฺจนํ
    กังวลเพราะความประทุษร้าย หรือโกรธเคืองและริษยาพยาบาทเกลียดชังตลอดกระทั่งความเพ่งโทษใครๆ หรือปฏิฆะอรติ

    โมหกิญฺจนํ
    กังวลเพราะความหลง หรืออุทธัจจะความฟุ้งซ่าน และวิจิกิจฉาความสงสัย
    ความกังวลเพราะอกุศลทั้งหลายเหล่านี้ นี่แหละเป็นส่วนควรละ</center>
    ถ. ถามว่า กังวลที่จะต้องละนั้นมีเท่านี้หรือ หรือยังมีอย่างอื่นอีก ขอท่านจงอธิบายให้ข้าพเจ้าเข้าใจ

    ต. ตอบว่า ไม่ใช่เท่านี้ ยังมีอีกมาก แต่ยากที่จะบรรยายให้สิ้นเชิง ข้าพเจ้าจะกล่าวโดยย่อพอให้ท่านเข้าใจ คือ
    สังโยชน์ ๑๐
    โอฆะ ๔
    โยคะ ๔
    อนุสัย ๗
    อาสวะ ๓
    ตัณหา ๓
    อุปาทาน ๔
    นิวรณ์ ๕
    อุปกิเลส ๑๖
    อกุศลวิตก ๓
    อกุศลกรรมบท ๑๐
    กิเลสทั้งหลายเหล่านี้ นี่แหละกังวลเป็นส่วนควรละ


    ถ. ถามว่า กิเลสทั้งหลายที่ท่านบรรยายให้ข้าพเจ้าฟังนี้ ต้องละให้หมดทั้งสิ้นหรือ หรือเหลืออยู่บ้างนิดหน่อยก็ได้

    ต. ตอบว่า กิเลสทั้งหลายเหล่านี้ พระผู้มีพระภาคสอนให้ละให้หมดมิให้มีส่วนเหลือไว้ เพราะเป็นปัจจัยให้เกิดภพชาติ ไม่ให้ถึงนิพพาน เพราะฉะนั้นพระอรหันต์ละกิเลสอาสวะทั้งหลายเหล่านี้สิ้นเชิงไม่มีส่วนเหลือ จึงถึงซึ่งอนุปาทิเสสนิพพาน

    ถ. ถามว่า ความทำในใจอย่างไรกิเลสทั้งหลายเหล่านี้จึงมีได้มาก ข้าพเจ้าอยากทราบ จะได้ตัดกำลังกิเลสเสียแต่ต้นทีเดียว

    ต. ตอบว่า เช่นเวลาตาเห็นรูปที่ดีก็ไม่มีสติสัมปชัญญะ ไม่รู้จักตาไม่รู้จักรูป ไม่รู้จักจักขุวิญญาณตามความเป็นจริง เกิดความยินดี แต่ไม่ประกอบด้วยเจตนา จึงเป็นกามราคสังโยชน์ ไม่รู้ว่าเป็นโทษ ก็มิได้ละ ปล่อยให้ดับไปเอง ภายหลังมานึกคิดถึงรูปที่ได้เห็นไว้ จึงเป็นรูปสัญญาปรากฏขึ้นทางใจก็ไม่รู้จักใจ ไม่รู้จักธัมมารมณ์ ไม่รู้จักมโนวิญญาณตามความเป็นจริง จึงเกิดความยินดีทางใจขึ้น ประกอบด้วยเจตนา จึงเป็นกามราคสังโยชน์ไม่รู้ว่าเป็นโทษ มิได้ละความยินดีทางใจปล่อยให้ดับไปเอง ภายหลังนึกมาคิดถึงรูปที่เข้าไปชอบคิดกำหนัดยินดีพัวพันอยู่นั้นและทำในใจ ไม่แยบคาย ประกอบด้วยเจตนา คิดยืดยาวออกไปจึงเป็นกามวิตกคือมโนกรรมฝ่ายอกุศล

    ถ. ถามว่า ส่วนกิเลสประเภทรัก ข้าพเจ้าเข้าใจได้ความชัดเจนดีแล้ว แต่กิเลสประเภทโกรธ เวลาที่เกิดขึ้นในใจก็อาศัยอายตนะ ๖ ใช่ไหม ขอท่านจงอธิบายให้ข้าพเจ้าเข้าใจ

    ต. ตอบว่า ใช่ เช่นหูได้ยินเสียงที่ไม่ดี ก็ไม่มีสติปัมปชัญญะ ไม่รู้จักหูไม่รู้จักเสียง ไม่รู้โสตวิญาณตามความเป็นจริง เกิดความไม่ชอบไม่ถูกใจ เป็นโทมนัสหรือปฏิฆะขึ้น ไม่ประกอบด้วยเจตนา จึงเป็นปฏิฆสังโยชน์ไม่รู้ว่าเป็นโทษก็มิได้ละ ปล่อยให้ดับไปเอง ภายหลังมานึกคิดถึงเสียงที่ได้ยินไว้ จึงเป็นสัททสัญญาปรากฏขึ้นทางใจไม่รู้จักใจ ไม่รู้จักธรรมมารมณ์ ไม่รู้จักมโนวิญญาณตามความเป็นจริง จึงเป็นโทมนัสหรือปฏิฆสังโยชน์เกิดขึ้นทางใจ ไม่ประกอบด้วยเจตนา ไม่รู้ว่าเป็นโทษ ก็มิได้ละปล่อยให้ดับไปเอง ภายหลังมานึกคิดถึงเสียงที่ไม่ชอบไม่ถูกใจ จึงเกิดโทมนัสหรือความโกรธประกอบด้วยเจตนา คือยืดยาวออกไปจึงเป็นพยาบาทวิตก หรือในกรรมในอกุศลกรรมบท ๑๐ แม้กิเลสอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในใจ ก็อาศัยอายตนะภายนอก ๖ กระทบกันเข้า แล้วก็เกิดวิญญาณ ๖ ที่เรียกว่าผัสสะ ๖ เป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา ผู้ที่ไม่มีสติหรือไม่รู้ความจริงไม่ประกอบด้วยเจตนา อาสวะหรืออนุสัยโอฆะโยคะตัณหาอุปทานและสังโยชน์จึงเกิดขึ้นในใจได้ กิเลสวัฏเป็นมัคคาวรณ์ห้ามมรรค ถ้าประกอบด้วยเจตนาก็เป็นนิวรณ์ ๕ อุปกิเลส ๑๖ อกุศลวิตก ๓ อกุศลกรรมบถ ๑๐ ชนิดนี้ประกอบด้วยเจตนาคือกรรมวัฏฝ่ายบาปเป็นสัคคาวรณ์ห้ามสวรรค์

    ถ. พูดว่า ข้าพเจ้าฟังท่านบรรยายถึงกิเลสทั้งหลายแรกที่จะเกิดขึ้น คือความไม่รู้จักอายตนะภายใน ๖ ภายนอก ๖ วิญญาณ ๖ ผัสสะ ๖ เวทนา ๖ ตามความเป็นจริง ดูอวิชชาช่างหนาแน่นมาก ปิดบังความจริงเสียหมดทีเดียว อ้อเช่นนี้นี่เองจึงเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา ๓ ขึ้นทางอายตนะ ๖ ที่ได้เห็นและได้ฟังหรือได้ทราบด้วยจมูกลิ้นกายและได้รู้ด้วยใจ สมุทัยจึงไม่ขาดสายลงได้

    ต. พูดว่า ถูกแล้ว เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงไว้ในมหาปฏิจสมุปบาทว่า อวิชชาเป็นหัวหน้าสมุทัย

    ถ. พูดว่า น่าเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาค ที่ทรงสั่งสอนไว้ในมหาสิตปัฏฐานสูตร ให้เป็นผู้พิจารณาเห็นธรรมในธรรมคือ อายตนะ ภายใน ๖ ภายนอก ๖ อนึ่งสังโยชน์เครื่องผูกย่อมเกิดขึ้น อาศัยนัยน์ตากับรูป หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กายกับโผฏฐัพพะ ใจกับธรรมารมณ์อันใด ย่อมรู้จักอันนั้นด้วย อนึ่งความที่สังโยชน์ที่ยังไม่เกิดขึ้นย่อมเกิดขึ้นด้วยประการใด ก็รู้ประการนั้นด้วย อนึ่งความละสังโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้วเสียได้ด้วยประการใดก็รู้ประการนั้นด้วย อนึ่งความที่สังโยชน์อันตนละเสียแล้วย่อมไม่เกิดขึ้นต่อไปได้ด้วยประการใด ก็รู้ประการนั้นด้วย นี่พระองค์ทรงแสดงเพื่อจะแก้ความไม่รู้ของผู้ปฏิบัติ

    ต. พูดว่า ถูกแล้ว แต่เดิมข้าพเจ้าไม่เข้าใจยังเคยนึกว่านี่ทำไมพระผู้มีพระภาคจึงตรัสสอนสาวก ให้รู้จักตา ให้รู้จักรูป ให้รู้จักหู ให้รู้เสียงราวกับสอนเด็กๆ ครั้นภายหลังมาได้ความในธรรมที่ละเอียดจึงทราบว่าเมื่อไม่ศึกษาก็ไม่รู้ความ จริงของอายตนะกิเลสทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นในใจได้

    ถ. ถามว่า สังโยชน์เกิดขึ้นก็ไม่รู้ว่าเป็นโทษก็มิได้ละปล่อยให้ดับไปเอง นี่อย่างหนึ่ง สังโยชน์เกิดขึ้นก็รู้ว่าเป็นโทษและละเสีย ไม่ปล่อยให้ครอบงำใจ นี่อย่างหนึ่ง ๒ อย่างนี้จะต่างกันอย่างไร

    ต. ตอบว่า ต่างกันมาก ตรงกันข้ามทีเดียว สังโยชน์เกิดขึ้นก็ไม่รู้ว่าเป็นโทษ ก็มิได้ละ ปล่อยให้ดับไปเอง ชนิดนี้ไม่ใช่ผู้ปฏิบัติไม่ได้มีส่วนปหานะ เหมือนพระจันทร์ในปักษ์ข้างแรม มีแต่จะมืดไปทุกที และเป็นปัจจัยให้เกิดมโนกรรมฝ่ายบาปหรือเลยไปถึง กายทุจริต วจีทุจริต ก็ยิ่งร้ายใหญ่ นรกจึงเป็นบ้านอยู่อู่นอนของคนเช่นนั้น สังโยชน์เกิดขึ้นก็รู้จึงละเสีย ไม่ปล่อยให้ครอบงำใจ นี่เป็นผู้ปฏิบัติ มีส่วนปหานะอย่างดีทีเดียว นับว่าควรสรรเสริญเพราะไม่ปล่อยให้เลยไปถึงกรรมวัฏฝ่ายบาป เหมือนพระจันทร์ในปักษ์ข้างขึ้น มีแต่จะแจ่มใสขึ้นทุกที แม้เป็นโลกีย์ก็ยังดี เมื่ออบรมให้แก่ขึ้นก็เป็นปัจจัยให้ถึงโลกุตระได้

    ถ. ถามว่า ความละสังโยชน์มี ๒ อย่าง อย่างหนึ่งว่าความละสังโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้วเสียได้ด้วยประการใด ก็รู้ประการนั้นด้วย อย่างหนึ่งว่าความที่สังโยชน์อันตนละเสียแล้วย่อมไม่เกิดขึ้นต่อไม่ได้ ด้วยประการใดก็รู้ประการนั้นด้วยความละสังโยชน์ทั้ง ๒ อย่างนี้ เหมือนกันหรือต่างกัน

    ต. ตอบว่า ต่างกัน การที่ละสังโยชน์เสียได้ด้วยประการใดก็รู้ประการนั้นด้วย นี่เป็นส่วนโลกีย์คือมีสติสัมปชัญญะ และรู้จักอาการของสังโยชน์ สังโยชน์เกิดขึ้นก็รู้จัก จึงละเสีย ไม่ปล่อยให้ครอบงำใจ แต่ละได้ชั่วคราวไม่ขาดแล้วก็เกิดขึ้นได้อีกอย่างหนึ่งว่าความที่สังโยชน์ อันตนละเสียแล้วย่อมไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปด้วยประการใด ก็รู้ประการนั้นด้วย นี่เป็นส่วนโลกุตระคือละได้ขาดด้วยอำนาจอริยมรรคไม่มีโอกาสจะเกิดต่อไปได้ อีก เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงไว้ในมหาสิตปัฏฐานเป็น ๒ ตอน

    ถ. ถามว่าความละสังโยชน์ที่เป็นส่วนโลกีย์นั้นละได้ไม่ขาด แต่ส่วนความละสังโยชน์ด้วยอริยมรรค คือละได้ขาดเป็นโลกุตระนั้น ทำไมการละสังโยชน์จึงได้ต่างกัน เหตุอันใดจึงเป็นโลกีย์และโลกุตระมี ๒ อย่าง ขอท่านจงอธิบายให้ข้าพเจ้าเข้าใจ

    ต. ตอบว่า สังโยชน์เป็นกิเลสที่ไม่ประกอบด้วยเจตนา ผู้ปฏิบัติเมื่อศึกษารู้จักสังโยชน์แล้วทราบว่าเป็นโทษ จึงตั้งใจละไม่ให้เกิดขึ้นครอบงำใจ นี่ประกอบด้วยเจตนาเป็นกรรมวัฏฝ่ายบุญ จึงละไม่ได้ขาด เมื่ออบรมในการละสังโยชน์อย่างนี้มากขึ้น พอสังโยชน์เกิดขึ้นก็ละได้ทุกคราวไปคือไม่เข้ากับตัวไม่เข้ากับกิเลสจึง ชำนาญในส่วนปหานะและเวลาสังโยชน์ยังไม่เกิด ก็มีสติสัมปชัญญะเจริญสมถะวิปัสสนาให้มากขึ้น เมื่อชำนาญในส่วนปหานะและบริบูรณ์ด้วยภาวนาเช่นนี้ อริยมรรคจึงเกิดขึ้น ไม่ประกอบด้วยเจตนาละสังโยชน์ได้ขาดตามกำลังแห่งมรรค คือ โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตมรรค

    ถ. ถามว่า อายตนะภายใน ๖ ภายนอก ๖ กระทบกันเข้า เช่นเห็นรูป ฟังเสียงที่ดีหรือไม่ดี ก็มีสติระวังไว้ไม่ให้ความยินดียินร้ายเกิดขึ้นครอบงำใจได้ แต่ไม่มีปัญญาที่รู้เห็นความจริงคือไตรลักษณ์ แต่ความยินดียินร้ายก็ไม่เกิดขึ้นในใจได้เช่นนี้ จะชื่อว่าเป็นการละกิเลสได้ไหม

    ต. ตอบ ไม่ได้ละ เป็นแต่กั้นกิเลสเอาไว้ด้วยอำนาจอธิจิตอย่างอ่อนๆ ที่เรียกว่าอินทรียสังวรเป็นข้อปฏิบัติที่ต่อจากศีล ควรสงเคราะห์เข้าใจกองสมาธิ แต่ก็เป็นข้อปฏิบัตินับเข้าในจรณะ ๑๕ ด้วย

    ถ. ถามว่า เช่นเวลาตาเห็นรูป หูได้ยินเสียงที่ดีหรือที่ไม่ดี ก็รู้ว่าความยินดียินร้ายนั้นเป็นโทษ แต่ทำไมจึงคอยจะเข้าไปยินดียินร้ายได้บ่อยๆ ต้องคอยระวังไว้เสมอ แต่ถึงเช่นนั้นเวลาตาเห็นรูป หูได้ยินเสียงที่ดีหรือไม่ดี พอเผลอไปเวลาใดความยินดียินร้ายก็เกิดขึ้นในใจได้ทีเดียว ท่านจงบอกอุบายให้ข้าพเจ้าด้วย

    ต. ตอบว่า เช่น เวลาตาเห็นรูปที่ดีควรทำในใจว่า รูปมาปรากฏแก่ตาแล้ว เราจะเข้าไปกำหนัดยินดีในรูปที่ดี รูปนี้ก็ได้เห็นแล้ว หรือจะไม่กำหนัดยินดีในรูปที่ดี รูปนี้ก็ได้เห็นแล้ว เพราะฉะนั้นความเข้าไปกำหนัดยินดีในรูปที่ดี จึงเป็นการเติมกิเลสเข้าไปเปล่าๆ หรือได้ฟังเสียงที่ไม่ดี ควรทำในใจว่าเสียงที่ไม่ดีซึ่งเราได้ฟังนี้ เราจะเข้าไปมีปฏิฆะหรือโทสะเสียงที่ไม่ดีเราได้ฟังแล้ว เราจะไม่ให้เกิดปฏิฆะหรือโทสะเสียงที่ไม่ดีเราก็ได้ฟังแล้ว เพราะฉะนั้นการปล่อยให้ปฏิฆะหรือโทสะเกิดขึ้น จึงเป็นการเติมกิเลสเข้าไปเปล่า อารมณ์ ๖ ส่วนที่ดี คือ อิฏฐารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดยินดี อารมณ์ ๖ ส่วนที่ไม่ดีคือ อนิฏฐารมณ์ เป็นที่ตั้งแห่งความยินร้าย ไม่ชอบ โกรธเคือง ควรทำในใจแยบคายเช่นนี้ทุกๆ อารมณ์

    ถ. ถามว่า ความทำในใจโดยวิธีที่ท่านอธิบายให้ข้าพเจ้าฟังนี้ คือ พิจารณาเห็นอารมณ์ ๖ ที่ดีหรือไม่ดี ก็มากระทบเข้าแล้ว เราจะไปชอบหรือไม่ชอบก็มากระทบเข้าแล้ว เพราะฉะนั้นการที่เข้าไปชอบหรือไม่ชอบ จึงเป็นการเติมกิเลสเข้าไปเปล่าๆ ถ้าใจยังไม่เห็นด้วย เป็นแต่แกล้งขืนใจพิจารณา ความยินดียินร้ายก็ยังเกิดขึ้นได้ เมื่อเป็นเช่นนี้จักทำในใจแยบคายอย่างไรต่อไป

    ต. ตอบว่า ถ้าความยินดียินร้ายบังเกิดขึ้นได้นั่นก็คือ อัธยาศัยใจคอของเรายังหนักอยู่ข้างกิเลส คือ ความเข้าไปติดใจไว้ในอารมณ์ที่ดี หรือเข้าไปผูกใจไว้ในอารมณ์ที่ไม่ดี จึงหมกมุ่นพัวพันอยู่ในอารมณ์เหล่านั้น นี่แหละเรียกว่าสังโยชน์เครื่องผูกคือ กิเลสที่เข้าไปขมวดอารมณ์ที่ดีหรือที่ไม่ดีไว้ เพราะฉะนั้นจึงต้องพากเพียรเจริญสมถะและวิปัสสนาให้บริบูรณ์ขึ้น คือพิจารณาอายตนะภายใน ๖ ภายนอก ๖ ที่มากระทบกันเข้าแล้วให้เกิดวิญญาณ ๖ จึงเกิดผัสสะ ๖ และเวทนา ๖ ที่เกิดแต่ผัสสะ ๖ เช่น ตากับรูปกระทบกันเข้าแล้วก็เกิดจักขุวิญญาณชื่อว่า จักขุสัมผัส คือ สุข ๑ ทุกข์ ๑ ไม่ทุกข์ไม่สุข ๑ ท่านจงมีสติพิจารณษดูตามความเป็นจริงว่า ตาก็หมดไปสิ้นไปไม่ใช่ตัวตน รูปก็หมดไปสิ้นไปไม่ใช่ตัวตน ความรู้ทางตาก็หมดสิ้นไปไม่ใช่ตัวตน จักขุสัมผัสความกระทบถูกต้องทางตาก็หมดไปสิ้นไปไม่ใช่ตัวตน และเวทนาที่เกิดแต่จักขุสัมผัสก็หมดไปสิ้นไปไม่ใช่ตัวตน ตลอดถึงหูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กายกับโผฏฐัพพะ ใจกับธรรมารมณ์ ให้เกิดความเห็นชัดตามความเป็นจริงอย่างไรและสังเกตอารมณ์ ๖ ว่าเหมือนขบวนแห่ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปๆ เช่น เวลาเราเคยดูขบวนแห่ผ่านตาเรามาแล้วก็เดินเลยไปๆ จนหมดขบวนฉันใด อารมณ์ ๖ ก็ฉันนั้นนั่นเทียว ตั้งแต่เราเกิดมาได้เห็นและได้ฟัง หรือได้ทราบด้วยจมูก ลิ้น กาย และรู้ด้วยใจมากครั้งเหลือที่จะนับ อารมณ์ทั้งหลายเหล่านั้นก็ดับไปสิ้นไปไม่ใช่ตัวตน ไม่มีส่วนเหลืออยู่เลยแม้แต่อารมณ์เดียว ที่เราพูดกันอยู่เดี๋ยวนี้ นี่เป็นปัจจุบัน พูดออกไปคำหนึ่งเสียงก็หมดสิ้นไป หูที่ได้ฟังเสียงก็หมดสิ้นไป ความรู้ทางหูก็หมดไปสิ้น ไม่มีส่วนเหลืออยู่เลยแม้แต่คำเดียว ดูเปล่าเงียบดับไปหมดไม่มีอะไร ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้นการที่เข้าไปกำหนัดยินดียึดถือในอารมณ์ ๖ ที่ดี จึงเป็นการกำหนัดยินดียึดถือในสิ่งที่เปล่าๆ ไม่มีอะไร ไม่ใช่ตัวตน เมื่อพิจารณาไปก็จะเห็นความจริงชัดเจนขึ้น ก็จะรู้ด้วยใจว่าตัวเรานี้เท่ากับบ้าในเวลาที่เข้าไปยินดียินร้ายในอารมณ์ ๖ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงสั่งสอนให้พิจารณาขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ ให้เห็นเป็นอนัตตาด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างไร เพื่อให้ถ่ายถอนความเห็นผิด คือ อัตตานุทิฏฐิ

    ถ. พูดว่า สาธุ ข้าพเจ้าได้ฟังท่านบรรยายในส่วนอารมณ์ ๖ ว่า เป็นอนัตตาชัดเจนแจ่มแจ้งดีจริง เป็นการสะดวกแก่สัมมาปฏิบัติ ที่จะดำเนินใจไปตามคำแนะนำของท่าน และรู้สึกเห็นคุณของพระผู้มีพระภาคว่า เป็นอัศจรรย์ที่พระองค์ตรัสรู้เองชอบแล้ว และพระธรรมคำสอนของพระองค์ เป็นนิยยานิกธรรม นำผู้ปฏิบัติออกจากทุกข์ได้จริง และพระอริยสงฆ์หมู่ที่ฟังคำสั่งสอนของท่านปฏิบัติชอบแล้ว ตนทำให้พ้นทุกข์ได้จริง

    ต. ตอบว่า ถูกแล้ว เพราะฉะนั้นพระรัตนตรัยจึงเป็นที่เลื่อมใสกราบไหว้ เคารพนับถือบูชาสักการะของโลก เพียงแต่เกิดความเชื่อความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยก็ยังเป็นทางไปสุคติ

    ถ. พูดว่า ผู้ปฏิบัติที่ยังไม่ได้เจริญปัญญา ดูไม่สมกับที่ได้พบศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะการบำเพ็ญกุศลส่วนอื่นๆ เช่น ทานศีลภาวนา ที่เป็นกามาวจรกุศล แม้นอกศาสนาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่เกิดขึ้นในโลก เขาก็ทำกันได้ ตลอดกระทั่งรูปาวจร และอรูปาวจร เช่น ฤาษีทั้งหลายได้บรรลุรูปฌานและอรูปฌานนอกพุทธกาลก็มีโดย แต่ไม่มีปัญญาที่เป็นส่วนอริยมรรค เพื่อจะละสังโยชน์ธรรมเบื้องต่ำและเบื้องบนให้ขาดได้

    ต. พุดว่า อย่างนั้นนะซี ผู้ที่ไม่ได้เจริญปัญญาจึงทำแต่กุศลที่วนเวียนอยู่ในโลก ไม่สามารถจะตัดกิเลสวัฏได้ กรรมวัฏ วิบากวัฏ จึงไม่ขาดลงได้ เพราะการที่จะตัดกิเลสวัฏนั้น ก็ต้องอาศัยอริยมรรค บรรดากุศลส่วนอื่นๆ ไม่มีอำนาจที่จะตัดกิเลสวัฏได้ เพราะโลกิยกุศลทั้งหลายนั้นประกอบด้วยเจตนาเป็นกรรมวัฏฝ่ายบุญสำหรับละกิเลส ที่ประกอบด้วยเจตนา ซึ่งเป็นกรรมวัฏฝ่ายบาป แล้วก็ละได้ชั่วคราวไม่ขาด เช่นกับตัดต้นไม้ที่ลิดใบหรือกิ่งลงเสียได้ แต่ส่วนลำต้นและรากแก้วนั้นยังอยู่จึงงอกงามขึ้นอีกได้ฉันใด รากแก้วคือกิเลสวัฏ เช่นอนุสัยหรือสังโยชน์นั้นยังอยู่ เพราะกรรมวัฏฝ่ายบุญที่ประกอบด้วยเจตนา ไม่สามารถละและตัดกิเลสวัฏได้ขาดก็ฉันนั้น เพราะฉะนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นแล้วในโลกนี้ ทรงแสดงธรรมในทางปัญญาให้พิจารณาขันธ์อายตนะธาตุตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นปฏิปทาที่จะให้อริยมรรคเกิดขึ้น จึงได้ละกิเลสวัฏ เช่นอนุสัยหรือสังโยชน์ให้หมดไปจากสันดาน กรรมวัฏวิบากวัฏจึงดับไป เพราะไม่มีปัจจัยกัน คือกิเลสวัฏ ที่เรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพาน เพาะหมดปัจจัยทั้งหลายทั้งปวง

    ถ. พูดว่า เป็นลาภมากที่เราได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนาได้ฟังธรรมซึ่งเป็นปฏิปทาให้เกิด ปัญญาที่พระศาสดาสอนไว้ ถ้าเราจะไม่ประพฤติปฏิบัติเจริญศีล สมาธิ ปัญญาให้ครบสิกขา ๓ ก็จะไม่เป็นปฏิปทาให้ถึงซึ่งนิพพาน เพราะการปฏิบัติเพียงทาน ศีล ภาวนา หรือvอย่างดีเพียงศีลกับสมาธิ ก็ยังเป็นกุศลที่วนอยู่ในโลก ไม่สามารถจะตัดกิเลสวัฏได้ เพราะอย่างนี้นี่เองพระอริยสาวกผู้ดำเนินครบสิกขา ๓ ตามคำสอนของพระศาสดาจึงดัดกิเลสวัฏเช่นอนุสัยหรือสังโยชน์ให้หมดไปจากสันดาน ได้ จึงบริบูรณ์ด้วยความเชื่อความเลื่อมใสจนเป็นอจลศรัทธา ไม่มีฐานะที่จะอุททิศศาสดาอื่นได้ เพราะคำสอนของครูและอาจารย์เหล่าอื่นในโลก ไม่มีปฏิปทาที่จะให้เกิดอริยมรรคมาตัดกิเลสวัฏให้ขาดได้

    ต. พูดว่า ถูกแล้วสมด้วยพระพุทธภาษิตในจุฬโคปาสูตรในมัชฌิมนิกายมูลปัณณาสก์ หน้า ๓๙๗ ใจความว่าพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา ใกล้เมืองอุกกเวลา ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า เรื่องนี้เคยมีมาแล้ว คนเลี้ยงโคชาวมคธราษฏร์เป็นคนเขลาไม่มีปัญญา พอถึงฤดูสารทเดือนท้ายฤดูฝน ไม่ได้พิจารณาเสียก่อน พาฝูงโคข้ามฟากไปฝั่งวิเทหราษฏร์โดยมิใช่ท่าทีควรข้าม จึงพาฝูงโคไปตายเสียที่กลางกระแสแม่น้ำคงคา เพราะเหตุที่คนเลี้ยงโคเป็นคนเขลา ข้อนี้ฉันใดสมณะหรือพรหมณ์เหล่าใดไม่ฉลาดในโลกนี้โลกหน้า ไม่ฉลาดในวัฏ ๓ ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งมารและมัจจุราช ชนนั้นจักเป็นไปเพื่อทุกข์มิใช่ประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนเหล่านั้นสิ้นกาลนาน ภิกษุทั้งหลายเรื่องนี้เคยมีแล้ว คนเลี้ยงโคชาวมคธราษฏร์ เป็นผู้ฉลาดมีปัญญา พอถึงฤดูสารทเดือนท้ายฤดูฝน จึงพิจารณาดูเสียก่อนแล้วจึงพาโคพ่อฝูงและโคที่กำลังที่ฝึกแล้ว และโคผู้โคเมียที่รุ่นและลูกโคผอม ทั้งลูกโคเล็กที่เกิดใหม่ในวันนั้น ข้ามไปถึงฝั่งวิเทหราษฏร์ฟากโน้นโดยท่าทีควรข้ามได้สะดวก เพราะเหตุที่คนเลี้ยงเป็นผู้ฉลาดฉันใด สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเป็นผู้ฉลาดในโลกนี้โลกหน้า เป็นผู้ฉลาดในวัฏฏะ ๓ อันเป็นที่ตั้งแห่งมารและมัจจุราช และฉลาดในวัฏฏะซึ่งไม่เป็นที่ตั้งแห่งมารและมัจจุราช ชนทั้งหลายเหล่าใด จักเชื่อถือถ้อยคำของสมณพราหมณ์เหล่านั้น ข้อนี้จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ชนเหล่านั้นสิ้นกาลนาน และทรงแสดงว่า โคพ่อฝูงตัดขวางกระแสแม่น้ำคงคาไปถึงฝั่งฟากโน้นได้โดยสะดวกแม้ฉันใด ภิกษุเหล่าใดเป็นอรหันต์สิ้นอาสวะแล้วอยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่ควรทำได้สำเร็จแล้ว ปลงภาระลงแล้ว มีประโยชน์ตนถึงโดยลำดับแล้ว มีสังโยชน์ในภพสิ้นแล้ว พ้นวิเศษแล้วเพราะรู้ทั่วถึงด้วยอาการอันชอบ ภิกษุเหล่านั้นตัดขวางกระแสแห่งมารไปถึงฝั่งฟากโน้นได้โดยสะดวกแม้ฉันใด ภิกษุเหล่าใดเป็นอนาคามีละสังโยชน์ ๕ เบื้องต่ำได้แล้ว คือ เกิดในสุทธาวาสพรหมโลก จักปรินิพพานในที่นั้น เป็นผู้ไม่กลับมาจากโลกนั้น ภิกษุเหล่านั้นตัดขวางกระแสแห่งมารไป จักถึงฝั่งพระนิพพานได้โดยสะดวกฉันนั้นเทียวแล โคผู้เมียที่รุ่นทั้งหลายได้ตัดขวางกระแสแม่น้ำคงคาไป ถึงฝั่งฟากโน้นโดยสะดวกแม้ฉันใด ภิกษุเหล่าใดเป็นสกทาคามี เพราะละสังโยชน์ ๓ ได้และทำราคะโทสะโมหะให้เบาบางลง จะมาเกิดโลกนี้อีกคราวเดียวเท่านั้น จักถึงที่สุดแห่งทุกข์ ภิกษุเหล่านั้นตัดขวางกระแสแห่งมารไป จักถึงฝั่งนิพพานได้โดยสะดวกฉันนั้นเทียวแล ลูกโคผอมมีกำลังน้อยตัดขวางกระแสแม่น้ำคงคาไปถึงฝั่งฟากโน้นได้โดยสะดวกแม้ ฉันใด ภิกษุเหล่าใดเป็นโสดาบัน เพราะละสังโยชน์ ๓ ได้ มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้อันอริยมรรคกำหนดแน่แล้ว จะตรัสรู้ได้เองในเบื้องหน้า ตัดขวางกระแสแห่งมารไป จักถึงฝั่งพระนิพพานได้โดยสะดวกฉันนั้นเทียวแล ลูกโคอ่อนแต่พอเกิดใหม่ในวันนั้น เมื่อลอยตามเสียงแม่ได้ ตัดขวางกระแสแม่น้ำคงคาไป ถึงฝั่งได้โดยสะดวกแม้ฉันใด ภิกษุเหล่าใดมีปกติแล่นไปตามธรรม มีปกติแล่นไปตามศรัทธา แม้ภิกษุเหล่านั้นก็ตัดขวางกระแสแห่งมารไป จักถึงฝั่งพระนิพพานได้โดยสะดวกฉันนั้นเทียวแล ภิกษุทั้งหลายเราตถาคตเป็นผู้ฉลาดในโลกนี้ และเป็นผู้ฉลาดในโลกหน้า เป็นผู้ฉลาดในวัฏฏะ ๓ ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งมารและมัจจุราช ชนเหล่าใดจักเชื่อฟังเราตถาคต ข้อนั้นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ชนเหล่านั้นสิ้นกาลนาน
    พระองค์ ตรัสพระสูตรนี้จบแล้ว จึงตรัสนิคมคาถามีเนื้อความว่า โลกนี้โลกหน้าอันเราตถาคตผู้ตรัสรู้ได้เอง ผู้รู้ทั่วถึง รู้ยิ่งซึ่งโลกทั้งหมดที่มารถึงพร้อมแล้ว ทั้งที่มัจจุราชยังมาไม่ถึง (เรา) เปิดไว้แล้ว เพื่อให้สัตว์ทั้งหลายถึงพระนิพพานอันเกษม กระแสแห่งมารเราตถาคตปิดแล้ว กำจัดแล้วทำให้เหือดแห้งหมดไป ภิกษุทั้งหลายเธอทั้งหลาย พึงมีความปราโมทย์มาก พึงปรารถนานิพพานอันเกษมเถิดฯ.


    <!--emo&:72:-->
    [​IMG]<!--endemo--> <!--emo&:72:-->[​IMG]<!--endemo--> <!--emo&:72:-->[​IMG]


    “เมื่อมีผู้เตือนสติ ควรยึดมาเป็นธรรมคำสอน จะเป็นคนที่มีขอบเขตมีเหตุผล ไม่ทำตามความอยาก เมื่อพยายามฝ่าฝืนให้เป็นไปตามทางของนักปราชญ์ได้ จะประสบผลคือความสุขในปัจจุบันทันตา แม้มิได้เป็นเจ้าของเงินล้าน แต่มีทางได้รับความสุข จากสมบัติและความประพฤติดีของตน”

    (พระอาจารย์มั่น ภูริฑัตโต)
    </center>
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 16 มิถุนายน 2009
  4. wisarn

    wisarn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    741
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +2,505
    “ผู้ใดกำลังถูกความตายครอบงำอยู่นั้น บุตรธิดา บิดามารดา ญาติพี่น้องทั้งหลายที่จะช่วยต้านทานความตายย่อมไม่มี”

    พุทธภาษิต

    <center>ปฏิปัตตินิเทศ</center><center>(ฉบับเดิมพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕)</center>

    จ. ถามว่า ท่านนับถือศาสนาอะไร

    ฉ. ตอบว่า นับถือพระพุทธศาสนา

    จ. ถามว่า ข้าพเจ้าก็ถือพระพุทธศาสนา แต่ยังไม่ทราบละเอียดว่า อะไรเป็นพระพุทธ ขอท่านจงอธิบายในเรื่องราวของพระพุทธเจ้าให้ข้าพเจ้าเข้าใจ

    ฉ. ตอบว่า ท่านผู้ตรัสรู้ธรรมก่อนผู้อื่นไม่มีใครเป็นครูเป็นอาจารย์ ท่านนั้นชื่อว่าพระพุทธเจ้า

    จ. ถามว่า เมื่อตรัสรู้แล้ว ทรงคุณอย่างไรบ้างเล่า พวกเราจึงต้องนับถือ

    ฉ. ตอบว่า เมื่อท่านไม่รู้จักคุณของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ท่านนำเอาอะไรมาถือเล่า ข้าพเจ้าเกือบไม่อยากตอบกับท่านหรือท่านแกล้งถาม

    จ. บอกว่า ข้าพเจ้าไม่ทราบจริงๆ เป็นแต่ได้ยินพระนามของพระพุทธเจ้า และคนทั้งหลายเขาพากันเลื่อมใส ข้าพเจ้าก็พลอยเลื่อมใสไปด้วย ไม่ใช่แกล้งถาม ขอท่านจงกรุณาอธิบายพุทธคุณให้ข้าพเจ้าเข้าใจ ท่านก็จะได้บุญในส่วนธรรมทานด้วย

    ฉ. ตอบว่า เมื่อท่านไม่เข้าใจจริงๆ ข้าพเจ้าจะพรรณาคุณของพระพุทธเจ้าให้ท่านเข้าใจโดยย่อ เพราะว่าคุณของพระพุทธเจ้านั้นมากไม่มีที่สุด เหลือที่จะพรรณา แต่ถ้าย่อเข้าก็มี ๓ ประการ คือ

    ๑. พระปัญญาธิคุณ เพราะพระองค์ตรัสรู้ธรรมอย่างเยี่ยมมีอริยสัจ ๔ และปฏิจสมุปบาทเป็นต้น จึงได้ทรงพระนามว่า สมฺมา สมฺพุทฺโธ ผู้ตรัสรู้เองชอบแล้ว

    ๒. พระปริสุทธิคุณ เพราะ พระองค์ไกลจากกิเลส มีพระสันดานบริสุทธิ์ เช่น ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เกิดขึ้นควรจะเป็นที่ตั้งแห่งโสมนัสยินดี ก็ทรงทราบว่า โลกธรรมฝ่ายดี ๔ อย่างนั้นไม่เที่ยงเป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา โสมนัสยินดีเพราะโลกธรรมที่ดีทั้ง ๔ อย่างนั้น ไม่เกิดขึ้นครอบงำทำพระหฤทัยพระองค์ให้แปรผันไปได้ หรือความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ เกิดขึ้น ควรจะเป็นที่ตั้งแห่งโทมนัสเสียใจ ก็ทรงทราบว่า โลกธรรมฝ่ายข้างไม่ดีทั้ง ๔ นั้น ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา โทมนัสเสียใจเพราะโลกธรรมฝ่ายข้างไม่ดีทั้ง ๔ อย่างนั้น ไม่เกิดขึ้นครอบงำทำพระหฤทัยพระองค์ให้ผันแปรไปได้ และพระสารีบุตรได้เคยแสดงแก่ภิกษุทั้งหลายให้ทราบพระคุณของพระผู้มีพระภาค เจ้านั้น คือ ฉฬังคุเบกขา ๖ ความสังเขปว่า พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นมีอายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เหมือนอย่างเราทั้งหลายนี้แหละ พระองค์ก็ได้ทอดพระเนตรเห็นรูปารมณ์รู้จักรูปที่ดีและไม่ดี และได้ทรงสดับสัททารมณ์ รู้จักเสียงที่ดีและไม่ดี และได้ทรงสูดดมคันธารมณ์ รู้จักกลิ่นที่ดีและไม่ดี และได้เสวยพระกระยาหาร รู้จักรสที่ดีและไม่ดี และได้ทรงกระทบโผฏฐัพพารมณ์ รู้จักกายสัมผัสที่ดีและไม่ดี และได้ทรงทราบธรรมารมณ์ อารมณ์ของใจที่ดีและไม่ดี อารมณ์ ๖ ส่วนที่ดีควรจะเป็นที่ตั้งแห่งความยินดี อารมณ์ ๖ ส่วนที่ไม่ดีจะเป็นที่ตั้งแห่งความยินร้าย พระองค์ก็ไม่ทรงยินดียินร้าย พระหฤทัยเฉยเป็นกลางด้วยฉฬังคุเบกขา จึงได้ทรงพระนามว่า อรหํ ผู้ไกลจากกิเลส ผู้ควรรับบูชาสักการะเคารพนับถือของโลก

    ๓. พระกรุณาธิคุณ ที่ พระองค์ทรงแสดงธรรมสั่งสอนโดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยากลำบาก และไม่ได้ทรงมุ่งหวังต่อลาภสักการะ ทรงสอนไม่เลือกหน้าว่า กษัตริย์ พราหมณ์ เศรษฐีคฤหบดี หรือคนยากจนเข็ญใจ ผู้ใหญ่และเด็กตลอดถึง เทวดา อินทร์ พรหม พระองค์มีพระหฤทัยประกอบด้วยพระมหากรุณาธิคุณ แผ่ไปในหมู่สัตว์ไม่มีประมาณ แม้ที่สุดอยู่ในที่ไกลๆ ก็อุตส่าห์เสด็จไปสอนพระองค์ทรงบำเพ็ญพุทธกิจ ๕ อย่าง จนตลอดดับขันธปรินิพพาน

    พุทธกิจ ๕ อย่างนั้น คือ

    ๑. ปุพฺพณฺเห ปิณฺฑปตาญฺจ เวลาเช้าบิณฑบาต
    ๒. สายณฺเห ธมฺมเทสนํ เวลาเย็นทรงแสดงธรรม
    ๓. ปโทเส ภิกฺขุโอวาทํ เวลาค่ำประทานโอวาทแก่ภิกษุ
    ๔. อฑฺฒรตฺเต เทวปญฺหนํ เวลาเที่ยงคืนพยากรณ์ปัญหาแก่เทวดา
    ๕. ปจฺจูเส ว คเต กาเล ภพฺพาภพเพ วิโลกนํ เอเต ปญฺจวิเธ กิจฺเจ วิโสเธติ มุนิปุงฺค โว เวลาใกล้รุ่งทอดพระเนตรสัตว์ที่ควรตรัสรู้และไม่ควรตรัสรู้ พระพุทธเจ้าเป็นมุนีผู้ประเสริฐ ได้ทรงยังกิจ ๕ อย่างนี้ให้หมดจด
    ดังนี้จึงได้ทรงพระนามว่า สตฺถา เทวมนุสสานํ พระองค์เป็นครูสั่งสอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย


    จ. ชมว่า ข้าพเจ้าได้ฟังคำอธิบายพระคุณ ๓ ประการ ของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น รู้สึกปิติ ยินดีเลื่อมใส ควรไหว้ ควรบูชา แต่เดิมข้าพเจ้าไม่เข้าใจในพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ถึงเวลาไหว้พระสวดมนต์ก็ไม่ได้เกิดความเลื่อมใสเหมือนอย่างได้ฟังคำอธิบายใน วันนี้

    ฉ. รับว่า ถูกแล้ว ผู้ที่ไม่รู้จักเรื่องราวของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น แม้ถึงจะกราบไหว้ก็ดำเนินใจไปตามพุทธคุณไม่ถูกจึงไม่เกิดความเลื่อมใส

    จ. ถามว่า เมื่อทราบพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างนี้ วิธีที่จะถึงพระองค์เป็นสรณะที่พึ่งนั้น จะถึงอย่างไร

    ฉ. ตอบว่า วิธีถึงนั้นมี ๓ ชั้น ถ้ากราบไหว้ก็ถึงด้วยกาย ถ้าพรรณาพุทธคุณมีบทอิติปิโสเป็นต้น ก็ถึงด้วยวาจา ถ้าระลึกพระพุทธคุณตามบทอิติปิโส หรือพระคุณ ๓ ประการที่ได้อธิบายมาแล้วก็ถึงด้วยใจ นี่แลเรียกว่าถึงพระพุทธเจ้า

    จ. ถามว่า ผู้ที่ถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกนั้นก็มีมากคนด้วยกัน แต่การเห็นคุณของพระพุทธเจ้านั้นจะเท่ากันหรือไม่เท่ากัน

    ฉ. ตอบว่า ไม่เท่ากัน ใครประพฤติปฏิบัติน้อยก็เห็นคุณน้อย ประพฤติปฏิบัติมากก็เห็นคุณมาก เพราะพระองค์ตรัสไว้ว่า โย ธมฺมํ ปสฺสติ โส มํ ปสฺสติ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นเรา ดังนี้

    จ. ถามว่า วิธีบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น มีกี่อย่าง

    ฉ. ตอบว่า มี ๒ อย่าง คือ บูชาสักการะด้วยดอกไม้ธูปเทียนเป็นต้น ชื่อว่าอามิสบูชา การประพฤติปฏิบัติทำตนของตนให้เป็นผู้มีศีล สมาธิ ปัญญา ชื่อว่าปฏิบัติบูชา พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสรรเสริญปฏิบัติบูชาว่า ประเสริฐกว่าอามิสบูชา

    จ. ถามว่า เช่นนั้นพระพุทธประสงค์ ทรงมุ่งให้พุทธบริษัทตั้งใจประพฤติปฏิบัติในสิกขา ๓ ให้บริบูรณ์อย่างนั้นหรือ

    ฉ. ตอบว่า ถูกแล้ว

    จ. ถามว่า พระธรรมนั้นมีกี่อย่าง คืออะไรบ้าง

    ฉ. ตอบว่า พระธรรมนั้นมี ๓ อย่างคือ ปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ พระ ธรรมคือคำสอน ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ประกาศข้อปฏิบัติคือศีล สมาธิ ปัญญา ที่ต้องศึกษาเล่าเรียนและแนะนำให้ประพฤติปฏิบัตินี่แหละเรียกว่าพระ ปริยัติธรรม เมื่อผู้ศึกษาปริยัติธรรมเข้าใจได้ความในคำสอนทั้งหลายชัดเจนดีแล้ว ก็นำคำสอนนั้นมาประพฤติปฏิบัติ ทำศีล สมาธิ ปัญญา ให้มีขึ้นในตน เรียกว่าปฏิบัติธรรม เมื่อปฏิบัตธรรมคือศีล สมาธิ ปัญญาแก่กล้าบริบูรณ์ขึ้นแล้ว ก็ถึงซึ่งมรรคและผล ทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน นี่แหละชื่อว่าปฏิเวธธรรม เพราะฉะนั้น ปริยัติธรรม ปฏิบัติธรรม ปฏิเวธธรรม ๓ อย่างนี้ จึงชื่อว่า พระธรรม เพราะเกี่ยวเนื่องกัน

    จ. ถามว่า วิธีที่จะถึงพระธรรม และเห็นคุณพระธรรมนั้นจะทำอย่างไรดี เพราะว่าพระธรรมนั้นเป็นธัมมาทิฏฐานส่วนเดียวไม่เกี่ยวด้วยปุคคลาทิฏฐาน เหมือนอย่างพระพุทธหรือพระสงฆ์

    ฉ. ตอบว่า วิธีถึงพระธรรมนั้น คือ ถึงโดยปริยัติเพราะได้ฟังคำสอนทั้งหลายที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้นั้น มีมากมายหลายประการ ล้วนแต่เป็นนิยยานิกธรรมนำผู้ปฏิบัติให้ออกจากทุกข์ได้ เกิดความเลื่อมใสในคำสอนและเคารพนับถือ นี่เรียกว่าถึงชั้นปริยัติ เมื่อได้นำคำสอนมาประพฤติปฏิบัติก็ได้รับความสงบระงับร่มเย็นเป็นสุข นี่เรียกว่าถึงชั้นปฏิบัติ เมื่ออริยมรรคเกิดขึ้นฆ่าสังโยชน์ธรรมเบื้องต่ำเบื้องบนให้หมดไป ตามกำลังแห่งข้อปฏิบัติ นี่เรียกว่าถึงชั้นปฏิเวธ ส่วนการเห็นคุณพระธรรมนั้น ถ้าศึกษาอยู่เพียงปริยัติก็เห็นคุณในชั้นปริยัติ เมื่อมาประพฤติปฏิบัติอยู่ในชั้นศีล ก็จะเห็นคุณได้ในชั้นศีล ถ้าปฏิบัติให้ถึงสมาธิก็จะเห็นคุณในชั้นสมาธิ หรือปฏิบัติให้ถึงปัญญา ก็จะเห็นคุณได้ในชั้นปัญญา เพราะฉะนั้นการเห็นคุณในศีล สมาธิ ปัญญา นี่เรียกว่าเห็นคุณในชั้นปฏิบัติ ส่วนปฏิเวธธรรมนั้นท่านผู้บรรลุโสดาปัตติผล หรือสกทาคามิผล และอนาคามิผล หรือบรรลุอรหัตผล ก็จะเห็นคุณในปฏิเวธธรรมตามผลที่ท่านได้บรรลุนั่นแหละ นี่เรียกว่าเห็นคุณในชั้นปฏิเวธ

    จ. พูดว่า ในส่วนพระธรรม และการถึงพระธรรมและเห็นคุณพระธรรมเป็น ๓ ชั้นด้วยกันนั้น ข้าพเจ้าเข้าใจได้ความแจ่มแจ้งดีแล้ว แต่ส่วนของพระสงฆ์ยังไม่เข้าใจ ขอท่านจงอธิบายในส่วนของสังฆคุณให้ข้าพเจ้าเข้าใจจะได้เกิดความเลื่อมใสใน พระรัตนตรัย

    ฉ. พูดว่า พระสงฆ์หมู่ผู้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า คือ ภิกษุที่บวชในพระศาสนา แต่ยังไม่ได้บรรลุมรรคและผล ชื่อว่าสมมติสงฆ์จำพวกหนึ่ง และพระอริยสาวกที่ได้บรรลุเสขคุณแล้ว คือพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ๓ จำพวกนี้ เป็นพระเสขบุคคล และพระอเสขบุคคล พระอรหันต์จำพวกหนึ่ง รวมเป็น ๔ จำพวกด้วยกัน แม้จะเป็นคฤหัสถ์หรือบรรชิต สตรี บุรุษ เทวดา อินทร์ พรหมก็ดี เหล่านี้เป็นพระอริยสงฆ์ สมมติสงฆ์ และพระอรยิสงฆ์ หมู่ผู้ฟังคำสั่งสอน ๒ จำพวกชื่อว่าพระสงฆ์

    จ. ถามว่า เมื่อพระอริยสงฆ์ทรงคุณดังที่ท่านได้บรรยายมานี้ นั่นก็เป็นส่วนความดีของพระอริยสงฆ์ วิธีที่จะถึงพระอริยสงฆ์นั้นจะถึงได้อย่างไร เพราะว่าเราไม่ได้เห็นพระอริยเจ้าหรือเห็นเข้าไม่รู้จัก และวิธีจะเห็นคุณของพระอริยนั้นจะเห็นได้อย่างไร เพราะว่าเราก็ไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า จะได้มีเครื่องวัดให้เรารู้ได้ว่าพระอริยสงฆ์ทรงคุณอย่างนี้

    ฉ. ตอบว่า วิธีที่จะถึงพระสงฆ์ก็น้อมใจไหว้กราบและระลึกถึงพระอริยเจ้าเหล่านี้ ชื่อว่าถึงพระสงฆ์ แต่การที่จะเห็นคุณหรือรู้จักคุณพระอริยสงฆ์นั้นรู้ได้ยาก จะต้องประพฤติปฏิบัติ เจริญ ศีล สมาธิ ปัญญาให้บริบูรณ์ขึ้นในตน และสังโยชน์ธรรมเบื้องต่ำหรือเบื้องบน เช่นสังโยชน์ ๓ หรือสังโยชน์ ๕ หรือสังโยชน์ ๑๐ ให้หมดไปจากสันดานจะรู้ได้ว่าพระอริยสงฆ์ชั้นนั้นทรงคุณค่าอย่างนั้น ชั้นนั้นทรงคุณค่าอย่างนั้น และพระอริยสงฆ์เป็นตัวอย่างที่ดี ให้ผู้ปฏิบัติประพฤติตาม เพื่อจะเป็นเช่นท่านบ้าง

    จ. ถามว่า รวมความที่ท่านได้อธิบายให้ข้าพเจ้าฟังคือ พระพุทธเจ้าท่านผู้ตรัสรู้ธรรมก่อนผู้อื่น และพระธรรม คือคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ได้ตรัสรู้แล้ว และนำออกมาสั่งสอน พระสงฆ์คือหมู่ผู้ฟังคำสั่งสอนและประพฤติปฏิบัติทำตนให้เป็นพระอริยบุคคล ตามผลที่ท่านได้บรรลุนั่นแหละ นี่เรียกว่ารัตนะทั้ง ๓ ใช่ไหม

    ฉ. ตอบว่า ถูกแล้ว

    จ. ถามวา วิธีถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตามที่ท่านอธิบายให้ข้าพเจ้าฟัง นี่เรียกว่าถึงไตรสรณคมน์ใช่ไหม

    ฉ. ตอบว่า ถูกแล้ว

    จ. ถามว่า การเห็นคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นั้นต้องเห็นตามชั้นของผู้ปฏิบัติใช่ไหม

    ฉ. ตอบว่า ถูกแล้ว ท่านเข้าใจได้ความในเรื่องราวของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ รวดเร็มแจ่มแจ้งดีจริง ข้าพเจ้าขออนุโมทนาความเชื่อความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยของท่านด้วย

    จ. ถามว่า วิธีบูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียน และไหว้พระสวดมนต์เช่นทำวัตรเช้าค่ำ และสวดมนต์อื่นๆ ที่เป็นพระสูตรพุทธภาษิตจะมิเป็นอามิสบูชาไปหมดหรือ เพราะไม่ใช่ ศีล สมาธิ ปัญญา

    ฉ. ตอบว่า อย่าเข้าใจให้ผิดว่าไม่ใช่สิกขา ๓ เช่นเวลาไหว้พระ กราบพระ นั่นเป็น สมฺมาวาจา ควรสงเคราะห์เข้าในกองสมาธิ ส่วนทำวัตรเช้าที่พรรณาพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ นั้นเป็น สมฺมาวาจา ควรสงเคราะห์เข้าในกองศีล ส่วนใจที่ระลึกพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ควรสงเคราะห์เข้าในกองสมาธิ ส่วนทำวัตรเช้าที่พรรณาด้วยเรื่องขันธ์ ๕ ว่าเป็น อนิจฺจํ หรือ อนตฺตา และสวดมนต์พระสูตรอื่นๆ ที่มีไตรลักษณ์อยู่ในสูตรนั้น เวลาที่สวดไปใจก็กำหนดตาม เกิดความเห็นชัดว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์หรือเป็นอนัตตา ในเวลาที่สวดอยู่นั้น ควรสงเคราะห์เข้าใจกองปัญญา ก็พอครบสิกขา ๓ ตามแบบปฏิบัติบูชา ส่วนดอกไม้ธูปเทียนและภาชนะที่ใส่ดอกไม้วางอยู่หน้าพระพุทธรูป ก็เป็นอามิสบูชา ข้าพเจ้าแยกเป็น ๒ ส่วนให้ท่านฟังนี้ ขอท่านจงจำไว้จะได้ไม่เห็นผิดท่า การไหว้พระสวดมนต์เป็นอามิสบูชา

    จ. ถามว่า ข้าพเจ้าเคยฟังมาว่า สมฺมาวาจา เว้นจากวจีทุจริต ๔ สมฺมากมฺมนฺโต เว้นจากกายทุจริต ๓ นี่ทำไมการไหว้พระสวดมนต์จึงเป็นสมฺมาวาจา สมฺมากมฺมนฺโตด้วยเล่า

    ฉ. ตอบว่า กิจในศาสนามี ๒ อย่าง คือ ปหานะอย่างหนึ่ง ภาวนาอย่างหนึ่ง ส่วนการละวจีทุจริต ๔ หรือกายทุจริต ๓ นั้นเป็นส่วนปหานะ สมด้วยพุทธภาษิตในพุทธวรรคธรรมบทว่า สพฺพปาปสฺส อกรณํ ความไม่ทำบาปทั้งปวง ฝ่ายการไหว้พระสวดมนต์หรือการรำลึกถึงคุณพระรัตนตรัย และเกิดความเห็นชอบในธรรมทั้งหลายที่สวดอยู่นั้น เป็นส่วนภาวนา สมด้วยพระพุทธภาษิตว่า กุสลสฺสูป สมฺปทา ความทำกุศลให้สมบูรณ์

    จ. ถามว่า ในพุทธกิจข้อ ๕ ที่ว่าเวลาใกล้รุ่งทอดพระเนตรสัตว์ที่ควรตรัสรู้แลไม่ควรตรัสรู้แลไม่ควร ตรัสรู้ ท่านทรงทราบด้วยพระญาณหรือจึงได้ทรงแสดงธรรมตามควรแก่อัธยาศัยของสัตว์

    ฉ. ตอบว่า ถูกแล้ว พระพุทธเจ้าท่านบริบูรณ์ด้วยทศพลญาณ ๑๐ แลเวสารัชญาณ ๔

    จ. ถามว่า ทศพลญาณ ๑๐ นั้น คืออะไรบ้าง

    ฉ. ตอบว่า คือ ๑. ฐานาฐานญาณ ปรีชา กำหนดรู้ฐานะ คือ เหตุที่ควรเป็นได้ แลอฐานะคือมิใช่เหตุที่ควรเป็นได้เช่นปุถุชนแม้ถึงสรณะแล้ว และกลับกลายไปอุทิศศาสดาอื่นหรือทำอนันตริยกรรม ๕ ได้ ส่วนพระอริยสาวก ตั้งแต่พระโสดาบันแล้วไปไม่ใช่ฐานะที่จะอุทิศศาสนาอื่น และไม่ทำอนันตริยกรรม ๕ ได้ ๒. กัมมวิปากญาณ ปรีชากำหนดรู้ผล แห่งกรรม เช่นฤาษีทั้งหลายผู้บรรลุสมาบัติและทิพยจักษุ ได้เห็นสัตว์ทั้งหลายทำบาปให้เกิดในสุคติ สัตว์ทั้งหลายที่ทำบุญไปเกิดในทุคติ ก็สำคัญว่าผู้ที่ทำบาปก็ไปสุคติได้ ผู้ที่ทำบุญก็ไปทุคติได้ เพราะไม่มีกัมมวิปากญาณ ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นมีกรรมวิปากญาณทรงทราบว่าสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น แม้ประพฤติทุจริต แต่ก็ไม่ได้ทำอนันตริยกรรม ๕ เวลาตายมีใจเป็นกุศล หรืออกุศลใดมาให้ช่องก็ไปสุคติ ไม่ได้บรรลุรูปฌานหรืออรูปฌาณและไม่ได้บรรลุโลกุตรธรรม เวลาตายมีใจเศร้าหมองก็ต้องไปทุคติ ๓. สัพพัตถคามินีปฏิปทาญาณ ปรีชา กำหนดรู้ทางไปสู่ภูมิทั้งปวงทรงทราบว่าสัตว์ทั้งหลายประพฤติทุจริตด้วย กาย วาจา ใจ เป็นทางไปอบาย และสัตว์ที่ประพฤติสุจริตด้วยกาย วาจา ใจ เป็นกามาวจรกุศล เป็นทางให้ไปสวรรค์ หรือบรรลุรูปฌาณเป็นทางที่จะให้ไปเกิดในรูปภพ และบรรลุเป็นทางที่จะให้ไปเกิดในอรูปภพ หรือผู้ที่ดำเนินในองค์มรรค ๘ เป็นทางไปยังพระนิพพาน ๔. นานาธาตุญาณ ปรีชากำหนดรู้ธาตุต่างๆ ๕. นานาธิมุตติญาณ ปรีชากำหนดรู้อธิมุตติ คืออัธยาศัยของสัตว์ว่าจำพวกนี้เป็นปณีตาธิมุตติพอใจในกัลยาณคุณการบุญที่ประณีต . อินทรียปโรปริยัติญาณ ปรีชากำหนดรู้ว่าสัตว์จำพวกนี้มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา แก่กล้าควรจะตรัสรู้ สัตว์จำพวกนี้อินทรีย์อ่อนยังไม่ควรจะตรัสรู้ ๗. ฌานาทิสังกิเลสาทิญาณ ปรีชาทรงทราบธรรมเป็นเครื่องเศร้าหมองของฌาณเป็นต้น ๘. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ปรีชากำหนดรู้ระลึกชาติได้ ๙. จุตูปปาตญาณ ปรีชากำหนดรู้จุติและปฏิสนธิของสัตว์ทั้งหลายผู้เป็นต่างๆ กันโดยกรรม ๑๐. อาสวักขยญาณ ปรีชารู้จักทำอาสวะให้สิ้น ด้วยเจโตวิมุตติและปํญญาวิมุตติ

    จ.ถามว่า เวสารัชญาณ ๔ ประการนั้น คืออะไรบ้าง

    ฉ. ตอบว่า
    ๑. สมฺมาสมฺพุทฺโธ พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง ไม่มีใครเป็นครูเป็นอาจารย์สั่งสอนและไม่มีใครจะคัดค้านได้ว่า พระองค์ไม่ได้ตรัสรู้ ๒. ขีณาสโว พระองค์สิ้นอาสวะแล้ว คือละกิเลสกับวาสนาได้ไม่มีใครจะคัดค้านได้ว่าพระองค์ยังไม่สิ้นกิเลส ๓. พระองค์ทรงทราบด้วยพระญาณแสดงว่าธรรมเหล่านี้เป็นอันตรายแก่สวรรค์มรรคผลนิพพาน ไม่มีใครจะคัดค้านได้ว่าไม่เป็นอันตราย ๔. ทรงแสดงธรรมเป็นนิยยานิกธรรมนำ ผู้ปฏิบัติออกจากทุกข์ได้ ไม่มีใครจะคัดค้านได้ว่าไม่เป็นนิยยานิกธรรม เพราะฉะนั้นพระองค์ทรงพิจารณาไม่เห็นว่าใครจะมาคัดค้านในความตรัสรู้และสิ้น กิเลส และทรงแสดงธรรมของพระองค์ได้ จึงเป็นผู้แกล้วกล้าในธรรมทั้งหลาย เช่น ทรงแสดงธรรมหรือตอบปัญหาในเวลามีผู้มาทูลถาม นี่แหละชื่อว่าเวสารัชญาณ ๔ ประการ


    จ. พูดว่า น่าเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นสมควรเป็นศาสดา ไม่มีศาสดาอื่นจะยิ่งกว่า

    ฉ. รับว่า ถูกแล้ว เมื่อเรารู้ได้อย่างนี้ว่า เราได้ครูผู้ประเสริฐผิดกับครูของใครๆ ในโลก เราก็ควรจะประพฤติปฏิบัติให้เป็นศิษย์สาวกที่ดี จะได้สมกับคราวที่เราได้เกิดเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา และได้ถึงสรณะว่าพระองค์เป็นที่พึ่งที่ระลึกนั้น แม้พระองค์ปรินิพพานนานแล้ว แต่คำสอนทั้งหลายยังมีอยู่ เมื่อเราได้สดับแล้วฝึกใจไปตามคำสอนก็พอจะประพฤติปฏิบัติทำตนให้พ้นทุกข์ได้ ดังพระพุทธภาษิตที่ทรงแสดงไว้ว่า

    <center>กิจฺโฉ มนุสฺสปฏิลาโภ
    การได้อัตภาพเป็นมนุษย์เป็นของยาก
    กิจฺฉํ มจฺจาน ชีวิตํ
    ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายเป็นการยาก
    กิจฺฉํ สทฺธมฺมสฺสวนํ
    ความได้ฟังซึ่งพระสัทธรรมเป็นการยาก
    กิจฺโฉ พุทฺธาน มุปฺปาโท
    ความเกิดขึ้น แห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นการยาก</center>


    จ. ถามว่า ที่ว่าถึงพระธรรมชั้นปฏิเวธ คำที่ว่าอริยมรรคเกิดขึ้นฆ่าสังโยชน์ธรรมเบื้องต่ำหรือเบื้องบน ให้หมดไปตามกำลังแห่งข้อปฏิบัตินั้น ข้าพเจ้ายังไม่เข้าใจว่าใครเป็นคนฆ่ากิเลส เพราะวิธีเจริญวิปัสสนาก็ต้องแยกขันธ์ ๕ และอายตนะ ๖ ธาตุ ๖ หรือนามรูป ให้เห็นว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่มีตัวตนคนสัตว์ เมื่อเป็นเช่นนี้ใครจะฆ่ากิเลส

    ฉ. ตอบว่า ถ้าเห็นเป็นตัวตนคนสัตว์ไปหมดก็ฆ่ากิเลสไม่ได้

    จ. ถามว่า ก็เช่นนั้นที่ว่าอริยมรรคเกิดขึ้น ฆ่าสังโยชน์ธรรมเบื้องต่ำหรือเบื้องบนนั้นฆ่าอย่างไร ขอท่านจงอธิบายให้ข้าพเจ้าเข้าใจ

    ฉ. ตอบว่า
    สมฺมาทิฏฐิ (ความเห็นชอบ) ก็ฆ่า มิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิด)

    สมฺมาสงฺกปฺโป (ความดำริชอบ) ก็ฆ่า มิจฉาสังกัปปะ (ความดำริผิด)

    สมฺมาวาจา (เจรจาชอบ) ก็ฆ่า มิจฉาวาจา (เจรจาผิด)

    สมฺมากมฺมนฺโต(การงานชอบ) ก็ฆ่า มิจฉากัมมันตะ (การงานผิด)

    สมฺมาอาชีโว (ความเลี้ยงชีวิตชอบ) ก็ฆ่า มิจฉาอาชีวะ (ความเลี้ยงชีวิตผิด)

    สมฺมาวายาโม (ความพยายามชอบ) ก็ฆ่า มิจฉาวายามะ (ความพยายามผิด)

    สมฺมาสติ (ความระลึกชอบ) ก็ฆ่า มิจฉาสติ (ความระลึกผิด)

    สมฺมาสมาธิ (ความตั้งใจชอบ) ก็ฆ่า มิจฉาสมาธิ (ความตั้งใจผิด)


    จ. ถามว่า ข้าพเจ้าถามถึงอริยมรรคที่เกิดขึ้น ฆ่าสังโยชน์ธรรมเบื้องต่ำหรือเบื้องบนให้หมดไปตามกำลังแห่งข้อปฏิบัติ ท่านกลับมาตอบว่า องค์มรรคทั้ง ๘ ซึ่งเป็นสัมมาปฏิปทามาฆ่ามิจฉาปฏิปทา ๘ อย่าง ให้ข้าพเจ้าฟังจึงไม่เข้าใจ เพราะไม่ใช่ฆ่าสังโยชน์ที่ข้าพเจ้าถาม ขอท่านจงอธิบายให้ข้าพเจ้าเข้าใจ จะได้ตรงกับคำถาม

    ฉ. ตอบว่า ก็ท่านถามว่าใคเป็นคนฆ่ากิเลส ข้าพเจ้าหาคนฆ่ากิเลสให้ท่านไม่ได้จึงตอบไปอย่างนั้น เพราะว่าองค์มรรคทั้ง ๘ เป็นธัมมาธิษฐานส่วนเดียว ไม่เกี่ยวด้วยบุคคลาธิษฐาน

    จ. พูดว่า ข้าพเจ้าเข้าใจผิด เพราะเห็นว่าต้องมีคนปฏิบัติจึงฆ่ากิเลสได้ ก็ถามไปอย่างนั้น เพราะข้าพเจ้าเห็นเป็นตัวตนคนสัตว์อยู่เสมอ เวลาที่ทำความดีก็นึกว่าเราเป็นคนดี เวลาที่ทำความชั่ว ก็เห็นว่าเราเป็นคนชั่ว ขอท่าจงอธิบายสังโยชน์ ๑๐ ให้ข้าพเจ้าเข้าใจ

    ฉ. ตอบว่า สังโยชน์ ๑๐ นั้น คือสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ พยาบาท นี่เป็นสังโยชน์เบื้องต่ำ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา นี่เป็นสังโยชน์เบื้องบน

    จ. ถามว่า สักกายทิฏฐิ คืออะไร

    ฉ. ตอบว่า ก็ที่ท่านเห็นว่าเป็นตัวตนคนสัตว์ หรือเที่ยงสุขนั่นแหละเป็นสักกายทิฏฐิ คือเห็นผิดจากความจริง

    จ. ถามว่า ความเห็นผิดนั้นจะมีสักกี่ชั้น

    ฉ. ตอบว่ามี ๓ ชั้น

    จ. ถามว่า ชั้นไหนบ้าง

    ฉ. ตอบว่า ความเห็นผิดในอกุศลธรรมบถ ๑๐ เป็นมโนกรรมฝ่ายบาปนั้นอย่างหนึ่งต้องละด้วยสัมมาทิฏฐิ ในมโนกรรมกุศลกรรมบท ๑๐ นี่เป็นส่วนโลกีย์ ส่วนสักกายทิฏฐินั้นเป็นสังโยชน์เบื้องต่ำ ที่พระโสดาบันละได้นี่เป็นโลกุตระ ส่วนอัตตานุทิฏฐินั้นเป็นสังโยชน์เบื้องบนที่พระอรหันต์ละได้ เช่น พระโมฆราชมีมาในโสฬสปัญหาที่ ๑๕ แม้พระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านก็ละได้ทุกๆ พระองค์

    จ. ถามว่า เช่นนั้นผู้ปฏิบัติที่ละความเห็นผิด ๓ ชั้นนั้นได้ ส่วนสังโยชน์อื่นๆ ก็หมดไปด้วยหรือ เพราะเป็นพระอรหันต์แล้ว

    ฉ. ตอบว่า ถูกแล้ว ถ้าความเห็นผิด ๓ ชั้นนั้นหมด สังโยชน์ธรรมเบื้องต่ำและเบื้องบนก็เหลืออยู่ไม่ได้ ต้องหมดไปตามกัน

    จ. ถามว่า สักกายทิฏฐิกับอัตตานุทิฏฐินั้น จะต่างกันอย่างไร

    ฉ. ตอบว่า ความเห็นว่าปัญจขันธ์เป็นของเที่ยงสุขตัวตนแก่นสาร หรือเป็นสุภะสวยงามที่เรียกว่าทิฏฐิวิปลาส นี่แหละเป็นสักกายทิฏฐิ ส่วนอัตตานุทิฏฐินั้น ความเห็นปัญจขันธ์ว่าเป็นเรา นี่แหละเป็นอัตตานุทิฏฐิ เพราะฉะนั้นจึงต่างกัน

    จ. พูดว่า ความเห็นผิด ๓ ชั้น ดังที่ท่านอธิบายให้ข้าพเจ้าฟังนี้ดูเป็นของน่ากลัวน่าหนักใจในการที่จะละ

    ฉ.พูดว่า ไม่ควรกลัวไม่ควรหนักใจ เพราะธรรมทั้งหลายที่เป็นคู่ปรับสำหรับละกันพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้แล้ว

    จ. ถามว่า ธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้นั้นมีมากมายหลายอย่าง ข้าพเจ้าไม่เข้าใจไม่ทราบว่า จะได้ธรรมอย่างไหนมาเป็นคู่ปรับ สำหรับละความเห็นผิด ๓ ชั้นดังที่ท่านได้บรรยายให้ข้าพเจ้าฟังนี้

    ฉ. ตอบว่า ความเห็นชอบว่า มารดาบิดาที่เป็นผู้ก่อเกิดและได้เลี้ยงดูเรามา กว่าจะโตใหญ่ท่านก็ได้รับความลำบากเป็นอันมากและมีใจเป็นห่วงดูแลพิทักษ์ รักษาประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นพรหมของบุตร จึงเป็นผู้มีคุณอย่างยิ่ง และได้ความเห็นชอบตามพระพุทธภาษิต ที่ตรัสตอบสุภมานพที่ทูลถามความสังเขปว่า สัตว์ทั้งหลายทำไมจึงต่างกัน บางพวกอายุยืน โรคน้อย ผิวพรรณผ่องใสงดงาม มีอำนาจวาสนามาก บริบูรณ์ด้วยสมบัติ เกิดในชาติสกุลสูง และมีปัญญาเฉลียวฉลาด ตรัสตอบว่าเหล่านี้เป็นผลของกุศลกรรมส่งให้ และบางพวกอายุสั้น โรคมาก ผิวพรรณเลวไม่งาม ไม่มีอำนาจวาสนา ยากจน ไร้ทรัพย์เกิดในชาติสกุลต่ำ โง่เขลาไม่มีปัญญา เหล่านี้เป็นผลของอกุศลกรรมส่งให้ และทรงแสดงกรรมที่สัตว์ทำทั้งดีและชั่ว ๑๔ อย่าง ให้ตรงกับผลที่ได้รับ ความเห็นชอบเหล่านี้เป็นสัมมาทิฏฐิในกุศลกรรมบถ ๑๐ จึงเป็นคู่ปรับสำหรับละความเห็นผิดในกุศลกรรมบถ ๑๐ นี่เป็นส่วนโลกิยกุศล

    จ. ถามว่า ความเห็นชอบในกุศลกรรมบถ ๑๐ จะกลับไปเห็นผิดเป็นอย่างอื่นอีกได้ไหม

    ฉ. ตอบว่า ไปเห็นผิดอีกก็ได้ เพราะธรรมทั้งหลายที่เป็นฝ่ายโลกิยกุศล เป็นกุปปกรรมกำริบได้ เพราะฉะนั้นศรัทธาความเชื่อกรรมเชื่อผล และเชื่อว่าสัตว์มีกรรมเป็นของๆ ตน หรือความเชื่อความเลื่อมใสในพระตถาคตจึงเป็นจลสัทธา มีความกำเริบได้คือบางคราวก็เชื่อ บางคราวก็ไม่เชื่อ เพราะเนื่องจากสัมมาทิฏฐิที่เป็นโลกีย์นี่เอง จึงมีฐานะที่จะอุทิศศาสดาอื่น หรือทำกรรมอันหนักหรือ อนันตริยกรรม ๕ ได้ เช่น ฆ่ามารดา ฆ่าบิดา ฆ่าพระอรหันต์ และทำโลหิตุบาท คือทำร้ายพระพุทธเจ้าให้ห้อพระโลหิต และสังฆเภทยังสงฆ์ให้แตกจากกัน สมัยใดที่เสพบัณฑิตก็ทำกรรมเป็นบุญ สมัยใดที่เสพคนพาลก็ทำกรรมเป็นบาป เช่นพญาอชาตศัตรูเสพเทวทัต ก็ทำอนัตริยกรรมได้ภายหลังมาได้ความเชื่อ ความเลื่อมใสในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และถึงไตรสรณะคมฯ แต่เพราะทำอนันตริยกรรม คือปิตุฆาตเสียแล้ว จึงปิดคุณสมบัติมรรคผลของตนเสีย

    จ. พูดว่า สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบในกุศลกรรมบถ ๑๐ ที่เป็นโลกิยกุศล ก็ยังดีกว่ามิจฉาทิฏฐิ เพราะเป็นฝ่ายกุศลเป็นทางไปสุคติ แต่ถึงเช่นนั้นก็ไม่น่าอุ่นใจที่กลับไปกลับมาเพราะเป็นกุปปธรรม

    ฉ. รับว่า ถูกแล้ว

    จ. พูดว่า ข้าพเจ้านึกถึงตัวแล้วน่าสลดใจ เข้าวัดทำบุญมานานแล้ว ข้อปฏิบัติก็ยังเป็นโลกีย์ อายุก็แก่ลงไป ความตายก็ใกล้เข้ามา ขอท่านจงแนะนำ ในธรรมทั้งหลายที่เป็นฝ่ายอกุศลและธรรมทั้งหลายที่เป็นฝ่ายกุศลให้ข้าพเจ้า ฟังบ้าง

    ฉ. พูดว่า ที่ท่านปรารถเช่นนี้ก็ดีแล้ว จะได้ไม่ประมาทปรารถความเพียรให้มากขึ้น และท่านจงนึกถึงธรรมทั้งหลายที่เป็นฝ่ายอกุศลมาเทียบกันเข้ากับธรรมทั้งหลาย ที่เป็นฝ่ายกุศลว่าอย่างไหนจะดีกว่ากันและจงตั้งใจละธรรมทั้งหลายที่เป็น ฝ่ายอกุศล และตั้งใจเจริญกุศลให้มากขึ้น

    จ. ถามว่า ข้าพเจ้าไม่เข้าใจจะนำธรรมอะไรมาเปรียบกันและธรรมเหล่าใดที่เป็นฝ่ายอกุศลจะ ต้องละ และธรรมใดที่เป็นฝ่ายกุศลจะเจริญ ท่านจงชี้ตัวอย่างให้ข้าพเจ้าฟังจะได้ทำในใจไปตามคำแนะนำของท่าน

    ฉ. ตอบว่า ข้าพเจ้าจะชี้ตัวอย่างในธรรมทั้งหลายที่เป็นฝ่ายอกุศลและธรรมทั้งหลายที่เป็นฝ่ายอกุศล ท่านจงฟัง ทำในใจให้สำเร็จประโยชน์

    <center>สัทธา(ความเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ) กับ อัสสัทธา (ความไม่เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ) </center> อย่างไหนจะดีกว่ากัน

    <center>วิริยะ (ความเพียรละบาปเจริญบุญ กับ โกสัชชะ (ความเกียจคร้าน)</center> อย่างไหนจะดีกว่ากัน

    <center>สติ (ความระลึกรู้ตัวอยู่ในอารมณ์ที่เป็นกุศล) กับ ความประมาท (เลินเล่อปล่อยใจไปในอกุศล)[/center] อย่างไหนจะดีกว่ากัน

    <center>สมาธิ (ความสงบระงับ) กับ ความฟุ้งซ่าน (มีอารมณ์ปล่อยใจไปในอกุศลเป็นอันเดียว)</center> อย่างไหนจะดีกว่ากัน

    <center>ปัญญา (ที่เห็นความเกิดขึ้นและเสื่อมไปตามความเป็นจริงอย่างไร กับ โมหะ (หลงไม่รู้เห็น ตามความเป็นจริง)</center> อย่างไหนจะดีกว่ากัน

    <center>๕ อย่างนี้คืออินทรีย์ ๕ เป็นส่วนควรเจริญ </center><center>สัทธา
    วิริยะ
    สติ
    สมาธิ
    ปัญญา</center>

    ๕ อย่างนี้ คืออกุศลเป็นส่วนที่ควรละ</center><center>อัสสัทธา
    โกสัชชะ
    ความประมาท
    ความฟุ้งซ่าน
    โมหะ
    </center>
    ข้าพเจ้า ชี้ตัวอย่างให้ท่านฟังพอเป็นสังเขป ขอท่านจงใคร่ครวญพิจารณาดูว่า อย่างไหนจะดีกว่ากัน แม้ธรรมทั้งหลายที่เป็นฝ่ายกุศล และธรรมทั้งหลายที่เป็นฝ่ายอกุศล ส่วนอื่นๆ ก็พึงเทียบเคียงอย่างนี้ จะได้ละธรรมทั้งหลายที่เป็นฝ่ายอกุศลไม่ให้เกิดขึ้นครอบงำใจ และเจริญธรรมทั้งหลายที่เป็นฝ่ายกุศลให้สมบูรณ์ขึ้น

    จ. พูดว่าน่าเลื่อมใสและน่าประพฤติปฏิบัติในธรรมทั้งหลายทั้งหลายที่เป็นฝ่าย กุศล เพราะเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ตนจริงๆ และน่าอายน่ากลัวในธรรมทั้งหลาย ที่เป็นฝ่ายอกุศล เพราะเกิดขึ้นแล้วทำความฉิบหายมิใช่ประโยชน์ให้แก่ตนจริง

    ฉ. รับว่า ถูกแล้ว เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงไว้ในปหานภาวนาสูตรมีใจความว่า

    อกุสลํ ภิกฺขเว ปชหถฯ
    กุสลํ ภิกฺขเว ภาเวถฯ


    ภิกษุ ทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงละอกุศลเสีย เพราะอกุศลเป็นของละได้ เราจึงสอนให้ท่านละ ถ้าละไม่ได้หรือละแล้วเป็นไปเพื่อทุกข์ เราก็ไม่สอนให้ละ นี่ละแล้วเป็นไปเพื่อสุขฯ ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงเจริญกุศล กุศลเป็นของเจริญได้ เราจึงสอนให้ท่านทั้งหลายเจริญ ถ้าเจริญไม่ได้หรือเจริญแล้วเป็นไปเพื่อทุกข์เราก็ไม่สอนให้ท่านทั้งหลาย เจริญกุศล นี่เจริญกุศลแล้วเป็นไปเพื่อสุข

    จ. ถามว่า ในทศพลญาณข้อที่ ๖ ที่ว่าทรงทราบว่าสัตว์จำพวกนี้มีอินทรีย์แก่ควรจะตรัสรู้ สัตว์จำพวกนี้มีอินทรีย์อ่อนยังไม่ควรตรัสรู้นั้น คืออินทรีย์ ๕ ที่ท่านอธิบายให้ข้าพเจ้าเทียบกันกับธรรมที่เป็นฝ่ายอกุศล ๕ อย่างนี้หรือ

    ฉ. ตอบว่า ถูกแล้ว

    จ. ถามว่า วิธีเจริญอินทรีย์ ๕ นั้น คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ๔ อย่างนี้ ก็พอจะดำเนินใจไปตามคำอธิบายของท่านได้ แต่ส่วนปัญญาข้อที่ ๕ ที่ว่ารู้เห็นตามความเป็นจริงเมื่อผู้ที่ยังไม่เคยรู้ความจริงทำอย่างไรจึง จะรู้ได้ ขอท่านจงอธิบายในส่วนปัญญาให้ข้าพเจ้าเข้าใจ

    ฉ. ตอบว่า วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ๓ อินทรีย์ นี้ เป็นส่วนอธิจิตประกอบด้วยเจตนา ส่วนปัญญินทรีย์นั้นไม่ประกอบด้วยเจตนา คือเห็นความเกิดขึ้นและเสื่อมไปของสังขารทั้งปวงตามความเป็นจริงอย่างไร

    จ. ถามว่า ก็เมื่อไม่มีเจตนาแล้วจะเห็นความจริงอย่างไรได้ หรือความจริงมาปรากฏให้เรารู้ได้เอง

    ฉ. ตอบว่า เมื่อวิริยินทรีย์คือความเพียร หรือสตินทรีย์ความระลึกรู้ตัวและสมาธินทรีย์เกิดขึ้นแล้วก็มีอารมณ์เป็นอัน เดียว ในขณะนั้นก็ต้องสังเกตอารมณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้นและเสื่อมไปนั้นตามความเป็น จริงอย่างไร เมื่อได้เห็นอารมณ์ปัจจุบันเกิดขึ้นและดับไปเฉพาะหน้า นี่แหละชื่อว่าปัญญินทรีย์

    จ. ถามว่า อารมณ์ปัจจุบันนั้นเป็นพวกขันธ์ ๕ และอายตนะใช่ไหม

    ฉ. ตอบว่าใช่ ถูกแล้ว

    จ. ถามว่าสัทธินทรีย์นั้นสงเคราะห์เข้าในสมาธิหรือปัญญา

    ฉ. ตอบว่า สัทธินทรีย์นั้นควรสงเคราะห์เข้าในปัญญา เพราะความเชื่อนั้นเป็นคู่กับความเห็น เช่นสัมมาทิฏฐิที่เป็นโลกีย์ สัทธาก็เป็นโลกีย์ไปด้วยที่เรียกว่า จลสัทธา ส่วนสัมมาทิฏฐิที่เป็นโลกุตระ ตั้งแต่พระโสดาบันแล้วไป สัทธาก็เป็นโลกุตระที่เรียกว่า อจลสัทธา

    จ. ถามว่า สักกายทิฏฐิที่เป็นสังโยชน์เบื้องต่ำนั้น ไม่ได้ตั้งใจให้เกิดก็เกิดขึ้นได้ และไม่รู้ตัวด้วยว่าเป็นสักกายทิฏฐิ เมื่อเป็นเช่นนี้ข้าพเจ้าอยากทราบว่า ธรรมอันใดจะเป็นคู่ปรับสำหรับละกัน ท่านได้บอกข้าพเจ้าว่าไม่ควรกลัวไม่ควรหนักใจ เพราะธรรมทั้งหลายที่เป็นคู่ปรับสำหรับละกัน พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้แล้ว

    ฉ. ตอบว่า ตามแบบที่ข้าพเจ้าได้ฟังมาว่า พระอริยสาวกได้เห็นความเกิดขึ้นเสื่อมไปของสังขารทั้งปวง ตามความเป็นจริงอย่างไรท่านก็ได้ดวงตาเห็นธรรม ละสักกายทิฏฐิเสียได้ ความเห็นชอบที่ละสักกายทิฏฐิได้นี้คือปัญญินทรีย์นี่เอง สมด้วยพระพุทธภาษิตในคาถาธรรมบทพราหมณวรรคที่ ๒๖ ว่า

    <center>สงฺขารานํ ขยํ ญฺตฺวา
    ดูก่อนพราหมณ์ท่านรู้จักความสิ้นไปแห่ง
    อกตญฺญูสิ พฺราหฺมณ
    สังขารทั้งหลาย แล้วจะรู้ได้ซึ่งพระนิพพาน อันปัจจัยอะไรๆ
    ทำไม่ได้แล้ว

    จ.ถามว่าข้าพเจ้าฟังแล้วยังไม่ได้ความโปร่งใจ เพราะสักกายทิฏฐิข้าพเจ้ายังละไม่ได้การที่จะปฏิบัติไปเหมือนว่ายน้ำกลางคืน เป็นเวลาเดือนมืดไม่เห็นฝั่งที่หมายคือพระนิพพานทีเดียว

    ฉ. ตอบว่าต้องมืดไปก่อนเพราะความจริงยังไม่ปรากฏแต่ก็ต้องอุตส่าห์ว่ายไปคือ เจริญอินทรีย์๕กว่าจะได้เห็นแสงจันทร์หรือแสงอาทิตย์สว่างขึ้นคือดวงตาเห็น ธรรมต่อนั้นไปก็ง่ายเข้าในการที่จะถึงฝั่ง(คือพระนิพพาน)

    จ. พูดว่าข้าพเจ้าได้ฟังท่านอุปมาถึงเรื่องว่ายน้ำ กลางคืนเวลาเดือนมืดไม่เห็นฝั่งที่หมาย คือ พระนิพพาน ทำให้ข้าพเจ้านึกถึงพุทธภาษิตคาถาธรรมทบบัณฑิตวรรคที่ ๖ ว่า

    <center>อปฺปกา เต มนุสฺเสนุ
    ในมนุษย์ทั้งหลายชนผู้ถึงฝั่งฟากโน้น
    เย ชนา ปารคามิโน
    คือพระนิพพาน มีจำนวนน้อย
    อถายํ อิตราปชา
    ส่วนประชาชนนอกนี้มัวแต่วิ่งอยู่ตามริมตลิ่งฟากนี้ (คือ สักกายทิฏฐิ)
    เย จโข สมฺมทกฺขาเต
    ฝ่ายชนทั้งหลายเหล่าใดเป็นผู้ประพฤติ
    ธมฺเม ธมฺมานุวาตฺติโน
    ตามธรรมที่พระตถาคตสรัสชอบ
    เต ชนา ปารเมสฺสนฺติ
    แล้วจักถึงฝั่งฟากโน้น (คือ พระนิพพาน)
    มจฺจุเธยยํ สุทุตฺตรํ
    ชนทั้งหลายเหล่านั้น ข้ามแล้วซึ่งวัฏฏะ ๓ เป็นเขตแห่งมฤตยูอันบุคคลข้ามได้แสนยาก</center>
    จ. ถามว่า ท่านอุปมาการว่ายน้ำที่จะข้ามไปฝั่งพระนิพพานด้วยการเจริญอินทรีย์ ๕ เช่นนั้นผู้ที่ไม่ได้เจริญอินทรีย์ ๕ เช่นนั้นผู้ที่ไม่ได้เจริญอินทรีย์ ๕ ก็คงยังไม่ได้ลงน้ำ มัวแต่วิ่งอยู่ตามริมตลิ่ง ฟากน้ำ (คือ สักกายทิฏฐิ) อย่างนั้นหรือ

    ฉ. ตอบว่า ถูกแล้ว ผู้ที่ยังไม่ได้เจริญอินทรีย์ ๕ ไม่ใช่ฐานะที่จะถึงฝั่งพระนิพพานได้ เพราะอินทรีย์ ๕ เป็นมรรค เป็นส่วนที่ควรเจริญ

    จ. ถามว่า ที่เห็นความเกิดขึ้นเสื่อมไปของสังขารทั้งปวงตามความเป็นจริง ดังพระพุทธภาษิตที่ท่านอธิบายให้ข้าพเจ้าฟังนี่หรือเรียกว่าได้ดวงตาเห็น ธรรม จึงละสักกายทิฏฐิความเห็นผิดเสียได้ เรียกว่าพระโสดาบันใช่ไหม

    ฉ. ตอบว่า ถูกแล้ว

    จ. ถามว่า เมื่อละสักกายทิฏฐิได้แล้ว วิจิกิจฉา และสีลัพพตะก็หมดไปด้วยหรือ

    ฉ. ตอบว่าต้องหมดไปด้วย เพราะสังโยชน์ ๓ เป็นกิเลสประเภทเดียวกัน

    จ. ก็กามราคะสังโยชน์และปฏิฆะสังโยชน์อีก ๒ อย่างนั้นทำไมจึงไม่หมดไปด้วย

    ฉ. ตอบว่า เป็นสังโยชน์อย่างละประเภท ต้องละให้น้อยเบาบางด้วยสกทาคามิมรรคและละได้ขาดด้วยอนาคามิมรรค

    จ. ถามว่า เห็นสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ละสักกายทิฏฐิได้ เช่นนั้นเห็นอย่างไรจึงจะละกามราคะ และปฏิฆะสังโยชน์ได้

    ฉ. ตอบว่า ก็ต้องเห็นความจริงอีกนั่นแหละ เช่นเห็นทุกข์หรือเห็นอนัตตา เห็นอย่างอื่นก็ละกามราคะและปฏิฆะสังโยชน์ทั้ง ๒ ไม่ได้

    จ. ถามว่า เห็นอะไรที่ว่าเห็นทุกข์ หรือเห็นอนัตตา

    ฉ. ตอบว่า เห็นขันธ์ อายตนะ ธาตุ นามรูป เหล่านี้แหละ

    จ. ถามว่า เมื่อความเห็นทุกข์เห็นอนัตตายังไม่ปรากฏขึ้นจะทำในใจอย่างไรดีที่จะไม่ให้กามราคะสังโยชน์เกิดขึ้นครอบงำใจได้

    ฉ. ตอบว่า ก็ต้องเจริญสมฺมาสงฺกปฺโป ให้มากขึ้น คือ เนกฺขมฺมสงฺกปฺโป ดำริออกจากกาม

    จ. ถามว่า วิธีเจริญ เนกฺขมฺมสงฺกปฺโป จะทำในใจแยบคายอย่างไร ขอท่านจงอธิบายให้ข้าพเจ้าฟัง

    ฉ. ตอบว่า ต้องพิจารณาโทษของกามที่มีอยู่ตามความเป็นจริงให้เกิดความเห็นชัด ซึ่งโทษของกามทั้งหลายเหล่านั้น มีอัสสาทะความยินดีน้อย และมีอาทีนพโทษมาก สุขกับทุกข์ไม่พอกัน แลแป็นปัญจธรรมที่ทำสัตว์ให้เนิ่นช้าและทุกข์ยากลำบากเดือดร้อนคับแค้นเศร้า โศกหมกมุ่นขุ่นหมองเจ็บช้ำระกำใจ เพราะกามทั้งหลายเหล่านั้นนั่นแหละ เมื่อพิจารณาไปก็เห็นโทษของความกำหนัด ยินดีในกามทั้งหลายชัดเจน จนเกิดความเบื่อในกามทั้งหลายเหล่านั้น นี่แหละเป็นปฏิปทาจะละกาม ราคะสังโยชน์ที่ยังไม่เกิดขึ้นในใจไม่ให้เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วให้เสื่อมหายไป เมื่อความกำหนัดยินดีในกามทั้งหลายไม่เกิดขึ้นในใจของผู้ปฏิบัติที่เห็นโทษ แล้ว ก็จะเห็นอานิสงส์ของเนกขัมที่ปรากฏขึ้นในใจ ไม่ต้องถามใครว่าจะสุขเพียงไร เพราะเป็นของเฉพาะตัวและมีพุทธภาษิตในโสฬสปัญหาที่ ๒๑ ที่ตรัสตอบชตุกัณณีมานพ ว่า

    <center>กเมสุ วินย เคธํ
    ท่านจงนำความกำหนัดในกามทั้งหลายเสียให้สิ้น
    เนกฺขมฺมํ ทฏฐฺ เขมโต
    เห็นความออกไปจากกาม โดยความเกษมเถิด</center>
    จ. พูดว่า เข้าพเจ้าได้ฟังท่านอธิบายถึงโทษของความกำหนัดยินดีในกามทั้งหลาย ข้าพเจ้ารู้สึกสลดใจว่า เวลาที่ยังไม่รู้ก็ไม่ทราบว่าเป็นโทษ กลับเห็นเป็นตีตรงกันข้ามกับคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เช่นความกำหนัดยินดีในทรัพย์สมบัติอัฐฬสเงินทอง และตั้งใจทำมาหากิน แสวงหาลาภยศเห็นเป็นทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ตลอด กระทั่งมีสามีภรรยาบุตรหลาน กำหนัดยินดีหมกมุ่นพัวพันและตั้งบ้านเรือนให้เป็นปึกแผ่นหลักฐาน สำคัญว่าเป็นสุขจึงได้พยายามทำไป ไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ก็ยิ่งได้รับความลำบากมากขึ้น เพราะเป็นเหตุนำมาซึ่งทุกข์ และน่าเลื่อใสในพระผู้มีพระภาคเจ้าที่ทรงสั่งสอนให้นำความกำหนัดในกามทั้ง หลายเสียให้สิ้น เห็นความออกไปจากกามโดยความเกษม ข้าพเจ้าฟังแล้วเห็นชัดดังพระพุทธภาษิตที่ตรัสและตั้งใจปฏิบัติตามให้เต็ม ความสามารถ

    ฉ. ตอบว่า สาธุ ข้าพเจ้าขออนุโมทนาความเห็นชอบเช่นนั้นของท่านด้วย

    จ. ถามว่า ส่วนกามราคะสังโยชน์ ความกำหนัดยินดีในกามทั้งหลาย ข้าพเจ้าได้ความทำในใจทำถูก และอุบายวิธีที่จะละ แต่ส่วนปฏิฆะสังโยชน์ จะได้อุบายแยบคายอย่างไรที่จะไม่ให้เกิดขึ้นครอบงำใจ

    ฉ. ตอบว่า ก็ต้องเจริญสมมาสงฺกปฺโปอีกนั่นแหละ แต่ต่างอารมณ์กัน คืออพฺยาปาทสงฺกปฺโป ดำริไม่พยาบาท อวิหึสาสงฺกปฺโป ดำริในความไม่เบียดเบียน คือพิจารณาถึงสัตว์ทั้งหลาย ทั้งสิ้นในโลกนี้ต่างๆ กัน โดยกิเลสและกรรม และวิบาก ประพฤติดีบ้างจึงมีอัธยาศัยใจคอต่างๆ กัน ประพฤติชั่วบ้าง โง่บ้าง ฉลาดบ้าง มิได้เหมือนกัน แต่คงเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง คือชอบสุขไม่ชอบทุกข์ด้วยกันหมดทั้งสิ้น แล้วเทียบเข้ากับตัวเราว่าชอบสุขไม่ชอบทุกข์ฉันใด สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงก็ชอบสุข ไม่ชอบทุกข์ฉันนั้น ให้เห็นชัดว่าเป็นหัวอกเดียวกันทั้งโลก จึงไม่ควรโกรธเคืองประทุษร้ายให้ทุกข์และเบียดเบียนกัน และคิดให้เป็นสุขหรือสงสารเอ็นดูปรานีในสัตว์ทั้งหลาย ทั้งปวงนี่แหละเป็นปฏิปทาเพื่อจะละปฏิฆะสังโยชน์ที่ยังไม่เกิดขึ้นในใจไม่ ให้เกิดขึ้น ที่เกิดเกิดขึ้นแล้วให้เสื่อมหายไป เมื่อปฏิฆะสังโยชน์ไม่เกิดขึ้นครอบงำใจของผู้ปฏิบัติ แม้พยาบาทวิตก และวิหิงสาวิตกก็ไม่เกิดขึ้นได้ คงมีแต่เมตตากรุณาซึ่งตรงกันข้ามกับปฏิฆะสังโยชน์

    จ. ถามว่า อกุศลวิตก ๓ จะสงเคราะห์เข้าในจิตที่เป็นอกุศลจะสงเคราะห์เข้าอย่างไร

    ฉ. ตอบว่า กามวิตกสงเคราะห์เข้าในจิตที่เป็นโลภะราคะ พยาบาทวิตกสงเคราะห์เข้าในจิตที่เป็นโทสะ วิหิงสาวิตกสงเคราะห์เข้าในจิตที่เป็นโมหะ

    จ. ถามว่า วิหิงสาวิตกตรึกคิดในความเบียดเบียน ข้าพเจ้านึกว่าเป็นพวกโทสะ นี่ทำไมจึงเป็นโมหะ

    ฉ. ตอบว่า เช่น เห็นแก่สนุกนำเอาสัตว์มาเล่น และทรมานสัตว์ให้ลำบาก แต่ไม่มีความโกรธ แต่สัตว์นั้นต้องได้รับทุกข์ มูลมาจากความหลง เพราะฉะนั้นจิตที่ประกอบด้วยกรุณาจะนำสัตว์มาทรมานให้ลำบากเล่นเช่นนั้นไม่ ได้ เพราะมีความสงสาร จึงเป็นข้าศึกแก่วิหิงสา

    จ. ถามว่า กามราคะกับปฏิฆะสังโยชน์ กับกามวิตก พยาบาทวิตก จะเหมือนกันหรือต่างกัน

    ฉ. ตอบว่า ต่างกัน ส่วนกามราคะสังโยชน์กับปฏิฆะสังโยชน์ ๒ อย่างนั้น คือไม่ตั้งใจให้เกิดก็เกิดขึ้นได้ เช่นได้เห็นรูปฟังเสียงที่ดีก็ชอบ ได้เห็นรูปฟังเสียงที่ไม่ดีก็ไม่ชอบ ไม่ถูกใจ ไม่ประกอบด้วยเจตนาเป็นกิเลสวัฏเป็นมัคคาวรณ์ห้ามนิพพาน แต่ไปสวรรค์ได้ไม่ห้าม ส่วนกามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตกนั้นเป็นมโนกรรมฝ่ายอกุศลประกอบด้วยเจตนา เป็นกรรมวัฏฝ่ายบาปเป็นสัคคาวรณ์ห้ามสวรรค์ เพราะฉะนั้นจึงต่างกัน

    จ. ถามว่า ข้อปฏิบัติที่จะละกามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก กับข้อปฏิบัติที่จะละกามสังโยชน์กับปฏิฆะสังโยชน์ เหมือนหรือต่างกัน

    ฉ. ตอบว่า ต่างกัน สมฺมาวายาโม สมฺมาสติ สมฺมาสมาธิเป็นข้อปฏิบัติที่จะละอกุศลวิตก ๓ สมฺมาทิฏฐิ สมฺมาสงฺกปฺโป นั่นเป็นข้อปฏิบัติที่จะละกามราคะสังโยชน์ กับปฏิฆะสังโยชน์

    จ. ถามว่า สมฺมาวายาโม สมฺมาสติ สมฺมาสมาธิ ที่ว่าละอกุศลวิตก ๓ นั้น ละได้ขาดหรือละได้ชั่วคราว

    ฉ. ตอบว่า บรรดาธรรมทั้งหลายที่เป็นฝ่ายอธิจิตนั้น ละกิเลสได้ชั่วคราว แล้วก็เกิดขึ้นได้อีกไม่มีเวลาขาดเพราะเป็นกุปปธรรมต้องปฏิบัติซ้ำๆ อยู่ร่ำไป ส่วนธรรมทั้งหลายที่เป็นฝ่ายบาป เช่นสมฺมาทิฏฐิหรือสมฺมาสงฺกปฺโปที่เป็นอริยมรรค มีกำลังที่จะละสังโยชน์ธรรมเบื้องต่ำและเบื้องบนให้ขาดได้ แต่ธรรมทั้งหลายที่เป็นฝ่ายปัญญา ก็ต้องอาศัยสมาธิจึงเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่มี วิริยะ สติ สมาธิ เป็นบาทก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นสมาธิและปัญญาจึงเป็นคู่กัน

    จ. ถามว่า ข้าพเจ้าได้ฟังท่านอธิบายถึงธรรมทั้งหลายที่เป็นฝ่ายอธิจิต และธรรมทั้งหลายที่เป็นฝ่ายอธิปัญญา ว่าเป็นข้อปฏิบัติที่จะละสังโยชน์ ไม่ได้ยินพูดถึงศีลคือ สมฺมาวาจา สมฺมากมฺมนฺโต สมฺมาอาชีโว

    ฉ. ตอบว่าผู้ปฏิบัติที่มีธรรมคือ สมาธิ ปัญญา ก็ต้องมีศีลอยู่แล้ว จึงเป็นผู้มีธรรม เพราะศีลต่ำกว่าธรรม ส่วนผู้ที่ไม่มีศีล ประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต จะเป็นผู้มีธรรม คือ สมาธิ ปัญญา ข้อนั้นไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้ เพราะความประพฤติทางกายทางวาจานั้นมาจากใจ เมื่อใจเป็นกุศล กายวาจาก็เป็นกุศล ใจเป็นอกุศล กายวาจาก็เป็นอกุศล ดังสาวกภาษิตที่พระสารีบุตรแสดงไว้ใน ทสุตตรสูตรหมวด ๒ ใจความว่า

    <center>เทฺว ธมฺมา ปริญฺเญยฺยา
    ธรรม ๒ ประการ ควรกำหนดรู้ คือนาม ๑ รูป ๑
    เทฺว ธมฺมา ปหาตพฺพา
    ธรรม ๒ ประการ ควรละคือ อวิชชา ๑ ภวตัณหา ๑
    เทฺว ธมฺมา สจฉิกาตพฺพา
    ธรรม ๒ ประการ ควรทำให้แจ้งคืออวิชชา ๑ วิมุตติ ๑
    เทฺว ธมฺมา ภาเวตพฺพา
    ธรรม ๒ ประการ ควรเจริญคือ สมถะ ๑ วิปัสสนา ๑</center>
    ดังนี้ท่านก็ไม่ได้พูดถึงศีล ก็ต้องหมายความว่าผู้ที่เจริญสมถะวิปัสสนาก็ต้องเป็นผู้มีศีลอยู่แล้ว

    จ. ถามว่า ธรรมอย่างละ ๒ ประการ ๔ คู่ที่พระสารีบุตรแสดงนี้คืออริยสัจ ๔ ใช่ไหม

    ฉ. ตอบว่า ใช่ถูกแล้ว

    จ. ถามว่า สักกายทิฏฐิประกอบด้วยวิปลาส ๔ คือเห็นผิดไม่ตรงกับความจริง พระโสดาบันท่านละสักกายทิฏฐิได้แล้ว ทำไมอัตตานุทิฏฐิยังอยู่ ข้าพเจ้าฉงนนัก

    ฉ. ตอบว่า เป็นความเห็นอย่างละชั้น ถ้าเป็นชั้นเดียวกันแล้ว สังโยชน์ก็คงหมดไปทั้ง ๑๐ ที่ไหนจะเหลืออีกถึง ๗ เพราะฉะนั้นความเห็นผิดจึงมีหลายชั้น ไม่ใช่ชั้นเดียว แต่ไม่มีใครกล้าพูดว่า เป็นความเห็นผิดเพราะกลัวจะไม่ถูกมิจฉาทิฏฐิในอกุศลกรรมบถ ๑๐ เข้า

    จ. ถามว่า ชั้นไหนบ้าง ขอท่านจงอธิบายให้ข้าพเจ้าเข้าใจจะได้หายฉงน

    ฉ. ตอบว่า เช่นความเห็นผิดในมโนกรรมอกุศลบถ ๑๐ นั้นชั้นหนึ่ง ที่ข้าพเจ้าได้อธิบายให้ท่านฟังแล้ว และความเห็นผิดคือสักกายทิฏฐิชั้นหนึ่ง ที่พระโสดาบันละได้ด้วยการที่เห็นสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง และความเห็นผิดว่าสังขารทั้งหลายในโลก ส่วนที่ดีก็เห็นว่าเป็นดี ส่วนที่ไม่ดีก็เห็นว่าเป็นไม่ดี เพราะฉะนั้นความกำหนัดยินดีในสังขารที่ดีจึงเป็นกามราคะสังโยชน์ และไม่ชอบใจในสังขารที่ไม่ดีจงเป็นปฏิฆะสังโยชน์ นี่แหละต้องละด้วยความพิจารณาเห็นว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์แจ่มแจ้งชัดเจนจึงได้ละกามราคะกับปฏิฆะ สังโยชน์ได้ แต่ถึงเช่นนั้นอัตตานุทิฏฐิความเห็นผิด คือเห็นว่าปัญจขันธ์เป็นเรา คือมานะสังโยชน์ จึงมีความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ไม่ได้เกี่ยวกับเมถุน คือรูปราคะและความยินดีในสมถะและวิปัสสนา หรือยินดีในเสขคุณที่ท่านได้บรรลุแล้ว นี่ชื่อว่าอรูปราคะและอุทธัจจะความฟุ้งซ่านไปในธรรม อยากจะพากเพียรให้เสร็จกิจ เมื่อเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติยังไม่เกิดขึ้นอวิชชาจึงยังอยู่ เพราะฉะนั้นอัตตานุทิฏฐิความเห็นผิดในส่วนละเอียดเช่นนี้แหละ จึงเป็นประเภทของกิเลสที่ละเอียดคือตัณหา มานะ ทิฏฐิ ที่พระอรหันต์ละได้

    จ. ถามว่า ส่วนอัตตานุทิฏฐิความเห็นว่า ปัญจขันธ์เป็นเราที่พระอรหันต์ละได้ เช่นพระะโมฆราชในโสฬสปัญหาที่ ๑๕ ข้าพเจ้าไม่เข้าใจ ไม่ได้ความ ขอท่านจงอธิบายอัตตานุทิฏฐิในโสฬสปัญหาที่ ๑๕ ให้ข้าพเจ้าฟัง

    <center>กถํ โลกํ อเวกฺขนฺตํ
    ข้าพระองค์พิจารณาเห็นซึ่งโลกอย่างไร
    มจฺจุราชา น ปสฺสติ
    มัจจุราช (คือความตาย) จึงจะไม่เห็น

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

    สุญฺญโต โกลํ อเวกฺขสฺสุ
    ดูก่อนโมฆราชท่านจงเป็นคนมีสติถอน
    โมฆราช สทา สโต
    อัตตานุทิฏฐิ (ความตามเห็นว่าเป็นตัวตน)
    อตฺตานุทิฏฐิ อูหจฺจ
    ออกเสียพิจารณาเห็นซึ่งโลก โดยความเป็นของสูญ (คือว่างเปล่า) จากเที่ยง ตัวตนทุกเมื่อเถิด
    เอวํ มจฺจตฺตโร สิยา
    ท่านจะพึงข้ามพ้นมัจจุราชเสียได้ด้วยข้อปฏิบัติอย่างนี้
    เอวํ โลกํ อเวกฺขนฺตํ
    พระยามัจจุราชจะไม่แลเห็น
    มจฺจุราชา น ปสสติ
    ซึ่งท่านผู้พิจารณาเห็นซึ่งโลกโดยอาการอย่างนี้</center>
    จ. ถามว่า โลกนั้นคืออะไร ข้าพเจ้าไม่เข้าใจว่าอะไรเป็นโลก

    ฉ. ตอบว่า คือ ขันธโลก อายตนโลก ธาตุโลก เหล่านี้ชื่อว่าโลก

    จ. ถามว่า พิจารณาเห็นซึ่งโลกโดยความเป็นของสูญ คือว่างเปล่าจาก เที่ยง สุข ตัวตนนั้น จะพิจารณาอย่างไร จึงจะเห็นได้

    ฉ. ตอบว่า คือเห็นขันธ์หรืออายตนธาตุเป็นอนัตตา เช่น พระปัญจวัคคีย์เห็นตามในอนัตลักษณสูตร หรือเห็นว่าธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัวตนแจ่มแจ้งแล้ว ก็เบื่อหน่ายในขันธ์อายตนธาตุ ปราศจากความกำหนัดยินดีในขันธยายตนธาตุเหล่านี้ ท่านผู้เห็นเช่นนี้จิตก็พ้นวิเศษจากอาสวะ และมีพระพุทธภาษิตในปุราเภทสูตรที่ทรงแสดงเรื่องอุปสัตนบุคคลว่า

    <center>วิเวกฺทสฺสี ผสฺเสสุ
    มีปกติเห็นวิเวกเงียบสงัด (เปล่าว่าง) ในผัสสะทั้งหลาย
    ทิฏฐีสุ จ น นิยยฺติ
    และอันกิเลสย่อมนำไปไม่ได้ เพราะทิฏฐิทั้งปวง</center>

    <center> <!--emo&:72:-->[​IMG]<!--endemo--> <!--emo&:72:-->[​IMG]<!--endemo--> <!--emo&:72:-->[​IMG]

    <center>ความเป็นผู้มีอายุยืน มีวรรณะผ่องใส
    มีความสุข มียศ และการไปสวรรค์
    ย่อมไม่สามารถจะถึงได้ด้วยการอ้อนวอน
    หรือปรารถนา
    แต่บุคคลย่อมจะถึงได้ด้วยการปฏิบัติ
    อย่างถูกต้องตามเหตุนั้นๆ

    พุทธภาษิต


    <!--emo&:72:-->[​IMG]<!--endemo--> <!--emo&:72:-->[​IMG]<!--endemo--> <!--emo&:72:-->[​IMG]<!--endemo--> </center>
    ที่ หลีกไปในที่สงัดนั้นเป็นการสะดวกมาก แต่เมื่อยังไม่มีโอกาสที่จะหลีกไปได้ เราอยู่ที่ไหนก็ต้องตั้งใจปฏิบัติที่นั่น ที่สงัดมี ๓ คือ ป่า ๑ โคนไม้ ๑ เรือนว่างเปล่า ๑ ตามสะดวก จะคอยให้ได้ที่สงัดเช่นป่านั้นก็ยังไปไม่ได้ ถ้าความตายมาถึงเข้าก็จะเสียที

    ถ้าจะไม่รีบปฏิบัติให้อริยมรรคเกิด ขึ้น เมื่อความตายมาถึงเข้า เราจะเหลว เพราะยังไม่ไดความอุ่นในใจธรรม คือยังไม่ปิดอบาย เพราะยังไม่ได้บรรลุโสดาปัตติผล


    <center> <!--emo&:72:-->[​IMG]<!--endemo--> <!--emo&:72:-->[​IMG]<!--endemo--> <!--emo&:72:-->[​IMG]<!--endemo--> </center>
    ภิกษุ ทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงละอกุศลเสีย เพราะอกุศลเป็นของละได้ เราจึงสอนให้ท่านละ ถ้าละไม่ได้ หรือละแล้วเป็นไปเพื่อทุกข์ เราก็ไม่สอนให้ละ นี่ละแล้วเป็นไปเพื่อสุข

    ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงเจริญกุศลๆ เป็นของเจริญได้ เราจึงสอนให้ท่านทั้งหลายเจริญ ถ้าเจริญไม่ได้ หรือเจริญแล้วเป็นไปเพื่อทุกข์ เราก็ไม่สอนให้ท่านทั้งหลายเจริญกุศล นี่เจริญกุศลแล้วเป็นไปเพื่อสุข


    <center> "เรือนที่มุงดี ฝนรั่วไหลเข้าไปไม่ได้
    ใจที่อบรมดีแล้ว ราคะก็รั่วไหลเข้าครอบงำมิได้เช่นกัน"

    พุทธพจน์


    </center>

    </center>





    </center>

     
  5. wisarn

    wisarn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    741
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +2,505
    <center> ปฏิปัตติวิภังค์
    (ฉบับเดิมพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖) </center>

    ภ. กับ ม. วันพระไปวัดรักษาอุโบสถ เวลาเพลแล้วชวนกันไปสนทนาธรรมที่ศาลาข้างโบสถ์

    ภ. พูดว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราเป็นอัศจรรย์ พระองค์ปรินิพพานนานแล้วถึงสองพันสี่ร้อยปีเศษ ยังมีคนเลื่อมใสเคารพนับถือบูชาสักการะอยู่มาก พระธรรมคำสอนของพระองค์เป็นธรรมที่ดีเยี่ยมกว่าคำสอนของใคร ๆ หมด ธรรมเหล่าใดที่เป็นอกุศลทรงสั่งสอนให้ละ ถ้าละได้แล้วพ้นจากทุกข์และร้อนใจได้จริง ธรรมเหล่าใดที่เป็นกุศล ทรงสั่งสอนให้เจริญถ้าเจริญขึ้นแล้ว ย่อมได้รับผลสงบระงับร่มเย็นเป็นสุขได้จริง ๆ

    ม. พูดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย ปรินิพพานนานแล้ว เราไม่ได้เห็นพระองค์ คงได้ฟังแต่คำสอนประพฤติปฏิบัติตาม ได้รับความโปร่งใจ ไม่มีความร้อนเพราะเหล่าอกุศลมาครอบงำใจ คงมีแต่ใจที่เป็นกุศลรื่นเริงอยู่ในสัมมาปฏิบัติ จึงรู้สึกเห็นพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นไม่มีอะไรจะสนองพระคุณ จึงได้ตั้งใจปฏิบัติตามจนเต็มความสามารถ เพื่อเป็นปฏิบัติบูชาตามพระพุทธประสงค์ ที่พระองค์ทรงนิยม

    ภ. พูดว่า ข้าพเจ้าศึกษาน้อย และข้อปฏิบัติยังอ่อน ส่วนท่านศึกษามาก เข้าวัดมานานกว่าข้าพเจ้า เพราะฉะนั้นจึงขอโอกาสเพื่อจะถามธรรมที่ข้าพเจ้าสงสัยอยู่หลายอย่าง บางคราวถึงกับงง ไม่สามารถจะตัดสินด้วยตนเอง

    ม. พูดว่า ข้าพเจ้าเต็มใจในการที่จะตอบ ยอมให้ท่านถ่ายความรู้ที่มีอยู่ในตัว บางข้อที่ข้าพเจ้าไม่รู้ ไม่สามารถจะตอบท่าน ก็เป็นการจนใจ

    ภ. ถามว่า คนชอบสุขไม่ชอบทุกข์ด้วยกันทุกคน แต่บางคนทำเหตุของสุข บางคนทำเหตุของทุกข์ ย่อมได้รับผลต่างกัน ก็เกิดการเป็นคนมีตนเป็นที่รัก เหตุไรจึงทำกรรมที่เป็นอกุศลบ้าง กุศลบ้างต่าง ๆ กันดังนี้ ขอท่านจงอธิบายให้ข้าพเจ้าเข้าใจ

    ม. ตอบว่า เพราะความเห็นผิดดำริผิด กรรมอย่างเดียวกัน เช่นฆ่าสัตว์ขายเลี้ยงชีวิตเห็นเป็นความเจริญ หรือการลักทรัพย์ก็เห็นว่าเป็นความรวย คือได้มาเปล่า ๆ แม้ความชั่วอื่น ๆ ก็เห็นเป็นความดีจึงตั้งใจทำกรรมที่เป็นอกุศล ส่วนผู้ที่เห็นชอบดำริชอบประกอบด้วยศรัทธา จึงไม่ทำกรรมที่เป็นอกุศลมีฆ่าสัตว์ เป็นต้น และละเหล่าอกุศลส่วนอื่น ๆ ตั้งใจทำกรรมที่เป็นกุศล

    ภ. ถามว่า ข้าพเจ้าสังเกตดูท่านผู้ย้ายบ้านเข้ามาอยู่ในวัด ข้อปฏิบัติทำไมจึงต่างกัน บางท่านมีศีลอันงาม มีธรรมอันงาม เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยคุณธรรม น่านำมาซึ่งความเลื่อมใส บางท่านไม่มีศีลอันงาม ไม่มีธรรมอันงาม และทำธรรมอันไม่ควรไม่สมกับอยู่วัด ไม่น่านำมาซึ่งความเลื่อมใส

    ม. ตอบว่า ผู้ปฏิบัติดีย้ายบ้านแล้วท่านก็ย้ายใจด้วย คือ ออกจากกามด้วยกายแล้วก็ออกด้วยใจ ที่ในองค์มรรค ๘ เรียกว่า เนกฺขมฺมสงกฺปโป

    ภ. ถามว่า ก็ท่านผู้ย้ายบ้านแล้วไม่ย้ายใจ มีลักษณะอย่างไร ขอท่านจงอธิบายให้ข้าพเจ้าเข้าใจ

    ม. ตอบว่า ท่านผู้ย้ายบ้านแล้วไม่ย้ายใจ คือ อัธยาศัยใจคอเคยเป็นผู้หมกมุ่นติดอยู่ในกาม หรือเคยมีความยินดีติดอยู่ในอารมณ์อะไร ๆ ในโลกและเป็นผู้เกียจคร้านไม่ปรารภความเพียรเพื่อจะละอกุศลและไม่เจริญกุศล เป็นผู้ประมาทมาก ไม่เห็นภัยในอบาย ไม่เห็นภัยในสังสารวัฏ ไม่เห็นโทษของกาม ไม่เห็นอานิสงส์ของเนกขัมมะ เพราะฉะนั้นคงอยู่วัดแต่กาย ส่วนใจนั้นอยู่นอกวัด มีความเห็นผิดดำริผิดเป็นโคจร คืออัธยาศัยใจคอเมื่อครั้งอยู่บ้านเป็นเช่นใด ครั้นมาอยู่วัดก็เป็นเช่นนั้น นี่แหละผู้ย้ายบ้านแล้วไม่ย้ายใจ

    ภ. พูดว่าข้าพเจ้าฟังท่านอธิบายถึงผู้ย้ายบ้านแล้วไม่ย้ายใจ เช่นนั้นคงอยู่วัดไม่ได้นานต้องกลับเข้าบ้านตามเดิมนี่แหละอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งไม่ออกจากวัดก็ต้องเอาวัดทำบ้าน คือติดลาภสักการะคิดดูแล้วน่าสลดใจในการที่เห็นผิดดำริผิด เพราะอย่างนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสสอนให้ละมิจฉาทิฏฐิ มิจฉาสังกัปปะ และให้เจริญสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ นี่มาเปลี่ยนปฏิปทาเสีย ประพฤติตรงกันข้ามกับคำสอนของพระผู้มีพระภาค ธรรมเหล่าใดเป็นส่วนอกุศลทรงสั่งสอนให้ละ กลับเจริญให้มากขึ้น ธรรมเหล่าใดเป็นส่วนกุศล ทรงสอนให้เจริญ กลับละเสีย

    ม. รับว่า ถูกแล้ว เพราะฉะนั้นจึงไม่มีความเจริญงอกงามในธรรมวินัย เป็นการเสียผลของตนเอง เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าประกอบด้วยพระมหากรุณา จึงตรัสสอนสาวกใน ทสธมฺมสูตร มีเนื้อความว่า ธรรม ๑๐ เหล่านี้บรรพชิตควรพิจารณาทุก ๆ วันคือ
    ๑. บัดนี้เรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว อาการกิริยาใด ๆ ของสมณะ เราต้องทำอาการกิริยานั้น ๆ
    ๒. ความเลี้ยงชีวิตของเราเนื่องด้วยผู้อื่น เราควรทำตัวให้เขาเลี้ยงง่าย
    ๓. อาการ กาย วาจา อย่างอื่นที่เราจะต้องทำให้ดีขึ้นไปกว่านี้ยังมีอยู่อีก ไม่ใช่แต่เพียงเท่านี้
    ๔. ตัวของเราเองติเตียนตัวเราเองโดยศีล ได้หรือไม่
    ๕. ผู้รู้ใคร่ครวญแล้วติเตียนเราโดยศีล ได้หรือไม่
    ๖. เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งนั้น
    ๗. เรามีกรรมเป็นของ ๆ ตัว เราทำดี จะได้ดี เราทำชั่วจะได้ชั่ว
    ๘. วันคืนล่วงไป ๆ วันนี้เราทำอะไรอยู่
    ๙. เรายินดีในที่สงัดหรือไม่
    ๑๐. คุณวิเศษของเรามีอยู่หรือไม่ที่จะให้เราเป็นผู้ไม่เก้อเขินในเวลาเพื่อนบรรพชิตมาถามเมื่อภายหลัง


    ภ. ภามว่า ผู้ปฎิบัติบางคนได้เห็นรูปฟังเสียงที่ไม่ดีก็คิดหนีอารมณ์นั้น สำคัญว่านิพพิทา ความเบื่อหน่าย บางคนก็หมายว่าเนกขัมมะ เพราะเห็นว่าใจคิดไปจากหมู่นั้นเป็นธรรมเที่ยวหาเสนาสนะที่สงัดเช่นวัดเงียบ ๆ หรือป่า ถ้ำ เขา เป็นต้น แล้วปรารถความเพียร แต่ทำไมครั้นไปแล้ว กิเลสทั้งหลายเคยเกิดในใจอย่างใด ก็คงเกิดได้อย่างนั้น นิพพิทาทำไมจึงไม่ต่อกับวิราคะและวิมุตติ ขอท่านจงอธิบายให้ข้าพเจ้าเข้าใจ

    ม. ตอบว่า นั่นไม่ใช่นิพพิทา เป็นความยินร้ายในอารมณ์ที่ไม่ดีนั้นเป็นอภิชฌาโทมนัส ถ้าไม่ชอบใจแก่ขึ้นไปอีกหน่อยก็เป็นปฏิฆะ ถ้าเลยไปถึงโกรธก็เป็นโกธะ ความอึดอัดระอาในอารมณ์ที่ไม่ดีนั้น เป็น อฏฺฏิยานา คือ ความอิดหนาระอาใจ ก็เป็นเรื่องของกิเลสทั้งนั้น แต่ตัวสำคัญว่าเป็นธรรม จึงไม่เป็นไปเพื่อวิราคะและวิมุตติ

    ภ. พูดว่า น่าตกใจในการที่ไม่รู้จักลักษณะของกิเลสว่าเป็นเหตุของทุกข์ จึงไม่ได้ตั้งใจละ กลับเห็นเป็นมรรคซึ่งเป็นเหตุของนิโรธ เพราะเห็นผิดอย่างนี้ จึงไม่มีเวลาพ้น

    ม. พูดว่า กิเลสกับมรรคนั้นผิดกันมาก เพราะลักษณะของกิเลสประเภทโกรธ อาศัยเหตุที่ไม่ชอบใจในรูปเสียง เป็นต้น หรือในคนที่ไม่ถูกกันจึงคิดหนีไปให้พ้นก็คิดวนไปวนมาในใจไม่โปร่ง และรู้จักหนักใจในเวลาที่ยังไปไม่พ้น ผู้ปฎิบัติควรสังเกตดูใจว่ากิเลสประเภทโกรธที่ปรากฏขึ้นในใจแม้นิดหน่อย เพียงแต่ความยินร้ายไม่ชอบก็ผิดกับจิตธรรมดาที่เป็นขันธ์แท้ ส่วนมรรคที่เป็น เนกฺขมฺมสงฺกปฺโป หรือนิพพิทาละเอียดประณีตยิ่งนัก

    ภ. ถามว่า ก็เนกฺขมฺมสงฺกปฺโปกับนิพพิทานั้น มีลักษณะอย่างไร ขอท่านจงอธิบายให้ข้าพเจ้าเข้าใจจะได้เจริญถูก

    ม. ตอบว่า อารมณ์ที่ดี ๆ เช่น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ประณีต หรือ ลาภ ยศ ทรัพย์สมบัติเงินทองที่บ้านนาสวนที่เป็นส่วนดี ๆ และสามีภรรยาบุตรหลาน ที่สัตว์ยินดีปรารถนารักใคร่ห่วงใยอาลัยพัวพันติดอยู่ ผู้ปฎิบัติเห็นโทษของกามทั้งหลายเหล่านั้นเสียได้ ชื่อว่า เนกฺขมฺมสงกปฺโป ดำริออกจากกาม

    ภ. ถามว่า เนกฺขมมฺสงฺกปฺโป ดำริออกจากกามข้าพเจ้าได้ความชัดเจน แต่ส่วนนิพพิทานั้นเบื่ออะไร ขอท่านจงอธิบายในส่วนนิพพิทาให้ข้าพเจ้าฟัง

    ม. ตอบว่า นิพพิทามี ๒ ชั้น คือความเบื่อหน่ายในกามทั้งหลาย คลายความกำหนัดยินดีหลุดพ้นจากความเสียดายอาลัยพัวพันในกามเหล่านั้นสิ้น เชิง นี่เป็นชั้นละสังโยชน์เบื้องต่ำและความเบื่อหน่ายในปัญจขันธ์คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เบื่อหน่ายแล้วคลายกำหนัดในขันธ์ ๕ คือวิราคะ อริยมรรค พ้นจากอาสวะคือวิมุตติอริยผล นี่เป็นชั้นละสังโยชน์เบื้องบน

    ภ. พูดว่า น่าเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคที่ทรงแสดงธรรมมีปริยายหลายอย่างล้วนเป็น นิยยานิกธรรม ข้าเจ้าได้ฟังคำอธิบายในส่วนเนกฺขมฺมสงฺกปฺโปกับนพิพิทาเพียง ๒ อย่างเท่านั้นยังรู้สึกโปร่งใจ พระอริยสาวกในธรรมวินัยผู้บริบูรณ์ด้วยคุณธรรมท่านจะเย็นเป็นสุขสักเพียงไร

    ม. พูดว่าพระอริยสาวกบริสุทธิ์และเย็นเป็นอัศจรรย์ เพราะฉะนั้นเราระลึกถึงท่านจึงเกิดความเลื่อมใสและเย็นเป็นสุขสงบระงับที่ ตามแบบเรียกว่าสังฆานุสสติ

    ภ. ถามว่า เมตตากรุณากับรักนั้นเหมือนกันหรือต่างกัน

    ม. ตอบว่า ต่างกันมาก อย่างละอริยสัจทีเดียว ความรักนั้นเป็นสมุทัย เมตตากรุณาเป็นมรรค

    ภ. ถามว่า เช่นรักบุตรหลานญาติมิตรคิดให้เป็นสุขและให้พ้นทุกข์หรือสงสาร จะว่าเป็นสมุทัยอย่างไร รู้สึกรสชาติของใจประกอบด้วยความเอ็นดูปรานี

    ม. ตอบว่า ความรักและสงสารบุตรหลานญาติมิตรประกอบด้วยฉันทราคะอาลัยห่วงใยกังวลพัวพัน ยึดถือ หนักใจไม่โปร่ง เมื่อคนรักเหล่านั้นวิบัติไป เช่นตายเป็นต้นก็เกิดทุกขโทมนัสเศร้าโศกเสียใจอาลัยคิดถึง ถ้ารักมากก็โศกมาก สมด้วยพระพุทธภาษิตคาถาธรรมบทปิยวรรคที่ ๑๖ ว่า

    เปมโต ชายเต โสโก ความโศกย่อมเกิดแต่ความรัก
    เปมโต ชายเต ภยํ ภัยย่อมเกิดแต่ความรัก
    เปมโต วิปฺปมุตฺสตฺส ความโศกไม่มีแก่ผู้พ้นแล้ว
    นตฺถิ โสโก กุโต ภยํ จากความรัก ภัยจะมีมาแต่ที่ไหน

    เพราะ ฉะนั้น จึงผิดกับเมตตากรุณา ส่วนรักนั้นมีความชอบและสงสารบุตรหลานญาติมิตร ไม่ทั่วไปในสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงเป็นแต่พรหมวิหาร ส่วนเมตตากรุณาที่เป็นอัปมัญญานั้นทั่วไปในสัตว์ไม่มีประมาณ และไม่ประกอบด้วยความห่วงใยอาลัยพัวพันยึดถือ มีความโปร่งและเบาใจไม่หนัก มีจิตเย็นเป็นสุขและเป็นข้าศึกแก่พยาบาทโดยตรง และได้รับอานิสงส์ ๑๑ ประการด้วย ตามแบบที่ท่านแสดงไว้ในเมตตานิสํสสูตรว่า

    ๑. สุขํ สุปติ (หลับก็เป็นสุข)

    ๒. สุขํ ปฏิพุชฺฌติ (ตื่นก็เป็นสุข)

    ๓. น ปาปกํ สุปินํ ปสฺสติ (ย่อมไม่ฝันเห็นลามก)

    ๔. มนุสฺสนํ ปิโย โหติ (ย่อมเป็นที่ชอบใจของมนุษย์ทั้งหลาย)

    ๕. อมนุสฺสานํ ปิโย โหติ (ย่อมเป็นที่ชอบใจของอมนุษย์ทั้งหลาย)

    ๖. เทวตา รกขนติ (เทวดาทั้งหลายย่อมรักษา)

    ๗. นาสฺ อคคิ วาวิสํ วา สตฺถํ วา กมติ (ไฟหรือยาพิษหรือศัสตราย่อมไม่ต้อง ผู้เจริญเมตตาย่อมตั้งมั่นเป็นสมาธิเร็ว)

    ๘. ตุวฏํ จิตฺตํ สมาธยติ (จิตของผู้เจริญเมตตาย่อมตั้งมั่นเป็นสมาธิเร็ว)

    ๙. มุขวณฺโณ วิปฺปสีทติ (สีหน้าของผู้เจริญเมตตาย่อมผ่องใส)

    ๑๐. อสมฺมูโฬห กาลํ กโรติ (ย่อมมีสติไม่หลงตาย)

    ๑๑. อุตฺตรึ อปฺปฏิวิชฺฌนฺโต พรฺหมฺโลกุปโค โหติ (เมื่อยังไม่สำเร็จพระอรหันต์อันยิ่งย่อมไปเกิดในพรหมโลก)

    ภ. ถามว่า พระพุทธภาษิตบางแห่งทำไมถึงทรงแสดงโลภะ โทสะ โมหะ บางแห่งก็ทรงแสดง ราคะ โทสะ โมหะ

    ม. ตอบว่า ที่ทรงแสดง โทสะ โมหะ สังเกตดูตามแบบโดยมาก พระองค์ทรงสอนชาวบ้านเช่นทุจริต ๓ โลภะ โทสะ โมหะ ต้องมีอยู่ในที่นั้นด้วย และทรงแสดงสุจริต ๓ ความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ก็มีอยู่ในที่นั้นด้วย เพราะชาวบ้านนั้นเกี่ยวกับเงินทอง คือเนื่องด้วยการทำมาหากิน ซึ่งเป็นเหตุให้โลภอยากได้โดยไม่เป็นธรรมเอารัดเอาเปรียบก็ต้องโกรธ เพราะทรัพย์ที่เสียไป เพราะฉะนั้นพระองค์จึงทรงตรัสสอนให้ละ โลภะ โทสะ โมหะ ส่วนราคะ โทสะ โมหะนั้น โดยมากพระองค์สอนพระภิกษุ เพราะราคะมีหลายชั้น เช่นอย่างหยาบคือกามวิตก อย่างกลางเป็นกามราคะสังโยชน์เบื้องต่ำ อย่างละเอียดเป็นรูปราคะ อรูปราคะสังโยชน์เบื้องบน และเป็นชื่อของกิเลสละเอียดที่เรียกว่าฉันทราคะในปัญจขันธ์ เพราะฉะนั้นท่านผู้เพียรเพื่อพ้นอาสวะก็ต้องละราคะ โทสะ โมหะ

    ภ. ถามว่า อวิชชากับโมหะ ๒ อย่างนั้น เหมือนกันหรือต่างกัน

    ม. ตอบว่า ต่างกัน อวิชชาคือความไม่รู้อริยสัจ ๔ และปฏิจสมุปบาท ไม่ประกอบด้วยเจตนา เป็นกิเลสวัฏ โมหะ ความหลงประกอบด้วยเจตนา เป็นกรรมวัฏฝ่ายอกุศลเป็นกรรมดำ

    ภ. ถามว่า โมหะความหลงนั้นหลงอะไร ขอท่านจงอธิบายให้ข้าพเจ้าเข้าใจ

    ม. ตอบว่า อทุกขมสุขเวทนาเกิดขึ้น ผู้ที่ไม่รู้ความจริงของเวทนาขันธ์ ไม่ประกอบด้วยเจตนา อวิชชานุสัยย่อมตามนอนแค่นี้เป็นกิเลสวัฏ ต่อนี้ไปไม่มีสติประกอบด้วยเจตนา ปล่อยให้ใจฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ แค่นี้เป็นโมหะความหลงและมืดไม่เป็นธรรมความดีความชอบ ประกอบด้วยความประมาท และสงสัยในธรรมทั้งปวง ถ้าไม่สงสัยไม่ฟุ้งก็ง่วง ถ้าจะกล่าววาจาก็เป็นดิรัจฉานกถา

    ภ. ถามว่า โมหะมีลักษณะฟุ้งไปในอารมณ์ต่าง ๆ ที่จะเป็นความประมาท ก็เป็นธรรมดาของใจจะให้นึกแน่วแน่อยู่ในอารมณ์เดียวจะอยู่ได้หรือ จำเป็นจะต้องนึกถึงเรื่องโน้นบ้างเรื่องนี้บ้าง ถ้าผู้ที่มีธุระหลาย ๆ อย่าง ก็จำเป็นจะต้องนึกถึงสิ่งเหล่านั้นมิเป็นโมหะความหลง และประกอบด้วยความประมาทไปหมดหรือ ข้าพเจ้าไม่เข้าใจไม่ได้ความในคำตอบ ของท่านจงอธิบายให้ข้าพเจ้าเข้าใจจะได้หายมัวในเรื่องโมหะ

    ม. ตอบว่า โมหะความหลงฟุ้งไปในอารมณ์ต่าง ๆ และประกอบด้วยความประมาท หมายฟุ้งไปในเหล่าอกุศล เช่นกามฉันทะหรือพยาบาท ถ้าเกิดความกำหนัดยินดีก็เป็นกามฉันทนิวรณ์ ถ้าเกิดความโกรธประทุษร้าย ก็เป็นพยาบาทนิวรณ์อาการที่ฟุ้งไปในระหว่างยังไม่รักไม่โกรธนั้นแหละเป็น โมหะและเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเบียดเบียนคนอื่น ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ในโลกนี้โลกหน้า นี่แหละชื่อว่าความประมาทหรือโมหะความหลงและประพฤติกายทุจริตวจีทุจริตได้ ดังพระพุทธภาษิตที่ทรงแสดงไว้ในกาลามสูตร ส่วนความคิดที่ประกอบด้วยประโยชน์ในโลกนี้โลกหน้าหรือคิดอยู่ในอารมณ์ที่ เป็นกุศลเช่นคิดอยู่ในเรื่องสัมปทาประโยชน์โลกนี้ ๔ อย่าง โลกหน้า ๔ อย่าง บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ อนุสสติ ๑๐ สติปัฏฐาน ๔ ก็มีมากอารมณ์ แต่ก็เป็นกุศลประกอบด้วยประโยชน์โลกนี้โลกหน้า จึงไม่ชื่อว่าโมหะ ความหลงและความประมาท

    ภ. ถามว่า ข้าพเจ้าฟังท่านอธิบายในส่วนประโยชน์โลกหน้าก็พอจะเห็นด้วยว่าไม่หลงไม่ ประมาท เพราะระลึกอยู่ในส่วนกุศล แต่ประโยชน์โลกนี้ ๔ อย่างนั้น ถ้าใจไปหมกมุ่นเข้าจะไม่เป็นความหลง และความประมาทหรือ เพราะประโยชน์โลกนี้ ๔ อย่างนั้นเป็นกาม ถ้าไปกำหนัดยินดีในทรัพย์สมบัติเหล่านี้ ก็ชื่อว่ากำหนัดในวัตถุกาม ขอท่านจงอธิบายให้ข้าพเจ้าเข้าใจ

    ม. ตอบว่า พระอริยสาวกไม่ได้ประกอบแต่ประโยชน์โลกนี้ ๔ อย่างเท่านั้น ท่านถึงพร้อมด้วยประโยชน์โลกหน้า ๔ อย่างด้วย เพราะประโยชน์โลกหน้ามีปัญญาสัมปทาอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นจึงไม่หลงและไม่ประมาท ส่วนผู้ประกอบแต่ประโยชน์โลกนี้ ๔ อย่าง ไม่ถึงพร้อมด้วยประโยชน์โลกหน้า ๔ อย่าง ก็ต้องหลงและประมาท เป็นธรรมดา เพราะไม่มีสัมมาปฏิบัติ

    ภ. พูดว่า ถ้าเช่นนั้นโมหะก็หยาบมากจึงประพฤติกายทุจริต วจีทุจริตได้ แต่ทำไมจึงไม่รู้จักลักษณะของโมหะ คงรู้จักแต่โทสะ

    ม. พูดว่า ที่ไม่รู้จักลักษณะของโมหะ เพราะปล่อยสติมัวคิดเลอะพูดเลอะทำเลอะอยู่ จึงไม่รู้ว่าเป็นโทษ ถึงราคะความกำหนัดยินดีมีโทษก็ไม่รู้ เพราะเป็นสุขเวทนา คงรู้จักแต่โทสะ เพราะร้อนใจไม่มีสุข เป็นทุกขเวทนา

    ภ. พูดว่า อ้อเช่นนี้จึงไม่รู้ เพราะราคะความกำหนัดยินดีเกิดขึ้นเสวยสุขเวทนา โทสะความประทุษร้ายเกิดขึ้นเสวยทุกขเวทนา โมหะความหลงเกิดขึ้นเสวยอทุกขมสุขเวทนา เคยได้ยินเขาบ่นกันว่าเกิดกิเลสหรือร้อนใจอะไร ๆ ก็เป็นเรื่องของโทสะทั้งนั้น ส่วนราคะหรือโมหะไม่ใคร่ได้ยินใครบ่นว่าร้อนใจ

    ม. พูดว่า กิเลสที่เป็นประเภทราคะ โทสะ โมหะ ๓ อย่างนี้ท่านรวมเข้าไว้ว่า เป็นเหตุให้เกิดบาปอกุศลเหล่าอื่น ๆ มากมายหลายประการ บรรดาอกุศลทั้งหลายที่เกิดขึ้นในใจได้ก็อาศัยมูล ๓ คือโลภะ (ราคะรวมเป็นพวกเดียวกัน) โทสะ โมหะ นี้แหละเป็นรากเหง้าของเหล่าอกุศลเหล่าอื่น ๆ บรรดาที่เป็นกรรมวัฏฝ่ายบาป

    ภ. พูดว่า กิเลสมีหลายอย่าง ถ้าเราไม่รู้จักลักษณะแล้วจะละอย่างไรได้ เพราะฉะนั้นการรู้จักแต่โทสะอย่างเดียวเท่านั้นดูเป็นการบกพร่องมาก เพราะผู้ที่ไม่ได้ปฎิบัติก็รู้จักลักษณะของโทสะอย่างเดียวเหมือนกัน

    ม. รับว่า ถูกแล้ว เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงไว้ในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ให้พิจราณาเห็นจิตในจิตเนือง ๆ อยู่ จิตมีราคะก็รู้ชัดว่าจิตมีราคะ จิตมีโทสะก็รู้ชัดว่าจิตมีโทสะ หรือจิตมีโมหะก็รู้ชัดว่าจิตมีโมหะ หรือจิตหายราคะ โทสะ โมหะ ก็รู้ชัดว่าจิตหายราคะ โทสะ โมหะ นี่ข้าพเจ้ากล่าวโดยย่อเพียง ๓ อย่างเท่านั้น แต่จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานของท่านมี ๑๖ อย่าง

    ภ. พูดว่า พระผู้มีพระภาคทรงสั่งสอนสาวกในมหาสติปัฏฐานสูตร ให้รู้เรื่องในตัวคือ กาย เวทนา จิต ธรรม เช่น จิตที่เป็นอกุศลหรือกุศลก็ให้รู้ตลอดกระทั่งขันธ์อายตนธาตุ เพราะฉะนั้นพระสาวกของท่านจึงชำนาญในอริยสัจ ๔ ธรรมเหล่าใดประเภททุกข์เป็นส่วนควรกำหนดรู้ ธรรมเหล่าใดประเภทสมุทัยเป็นส่วนควรละ ธรรมเหล่าใดประเภทนิโรธเป็นส่วนควรทำให้แจ้ง ธรรมเหล่าใดประเภทมรรคเป็นส่วนควรเจริญ ท่านเข้าใจได้ความกันดี จึงทำหน้าที่ของอริยสัจ ๔ ถูก เพราะฉะนั้นท่านจึงถึงมรรคและผลโดยง่าย

    ม. รับว่า ถูกแล้ว ก็เดี๋ยวนี้เราไม่รู้ว่าการทำกิจของอริยสัจ ๔ ต้องทำที่ในตัว เช่นกำหนดทุกข์ ๆ ที่มีอยู่ในตัวตามความเป็นจริง คือขันธ์อายตนธาตุนามรูป การละสมุทัยคือกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ๓ อย่างนี้ ที่เกิดขึ้นในใจจริง ๆ การทำนิโรธให้แจ้ง คือดับสมุทัยก็ต้องดับกิเลสความอยากของตนที่เกิดขึ้นในใจให้หมดไปจริง ๆ และเจริญมรรคคือศีล สมาธิ ปัญญา ๓ สิกขานี้ ก็ต้องให้เกิดขึ้นในกาย วาจา ใจ และทิฏฐิของตนจริง ๆ อย่างนี้จึงชื่อว่าทำถูกหน้าที่ของอริยสัจ ๔ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมสั่งสอนสาวกให้ตรัสรู้อรยิสัจ ๔ ก็คือให้รู้เห็นของที่มีอยู่ในตัวจริง ๆ แต่เราไม่เข้าใจจึงคิดเห็นเป็นสูง ไม่สามารถจะทำได้จึงไม่ตรัสรู้ตาม

    ภ. พูดว่า น่าเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคที่ทรงแสดงธรรมสั่งสอนให้เจริญอสุภสัญญา ความจำหมายในการว่าไม่งาม ปฎิกูลน่าเกลียดทั้งตนและผู้อื่น หรือพิจารณาให้เห็นโทษของกาม เห็นอานิสงส์ของเนกขัมมะ นี่เป็นปฎิปทาเพื่อจะละราคะความกำหนัดยินดี ที่ยังไม่เกิดขึ้นในใจไม่ให้เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วให้เสื่อมหายไป และทรงสั่งสอนให้เจริญเมตตาทั่วไปในสัตว์ไม่มีประมาณ และเจริญอพยาบาทสังกัปปะดำริไม่พยาบาท และมีขันติความอดใจไม่โกรธ ธรรมเหล่านี้เป็นปฎิปทาเพื่อจะละโทสะ ความโกรธประทุษร้าย ที่ยังไม่เกิดขึ้นในใจไม่ให้เกิด ที่เกิดขึ้นแล้วให้เสื่อมหายไป และทรงแสดงธรรมสั่งสอนให้เจริญอินทรีย์สังวร ความระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในเวลาที่ได้เห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ รู้อารมณ์ด้วยใจ ๖ อย่างนี้ ที่ดีคืออิฏฐารมณ์ ที่ไม่ดีคืออริฏฐารมณ์ ไม่ให้อภิชชาโทมนัสคือความยินดียินร้ายเกิดขึ้นครอบงำใจได้ และเจริญสติปัฏฐาน ๔ และยินดีในความไม่ประมาท เห็นภัยในความประมาท และเจริญ อวิหิงสาสังกัปปะดำริในความไม่เบียดเบียน ธรรมเหล่านี้เป็นปฏิปทา เพื่อจะละโมหะความหลงที่ยังไม่เกิดขึ้นในใจไม่ให้เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วให้เสื่อมหายไป

    ม. กล่าวว่า สาธุ ท่านเข้าใจได้ความในคำสอนของพระผู้มีพระภาค ในการละราคะ โทสะ โมหะ ชัดเจนแจ่มแจ้งดีจริง ข้าพเจ้าขออนุโมทนาความสามารถรอบรู้ในธรรมทั้งหลายเหล่านั้นของท่านด้วย

    ภ. ถามว่า ข้าพเจ้าสังเกตดูเวลาเจ็บไข้ทำไมจึงมีสติมากแลเห็นทุกข์ชัด เวลาหายเจ็บแล้วไม่เห็นทุกข์ และสติก็น้อยต้องเพียรตั้งใจให้มีสติ แต่ถึงเช่นนั้นก็ไม่เห็นทุกข์เหมือนเวลาเจ็บ

    ม. ตอบว่า เวลาเจ็บเสวยทุกขเวทนา เวทนาที่ปรากฏอยู่นั้นเป็นธรรมารมณ์คู่กับใจ จึงเกิดมโนวิญญาณความรู้ทางใจชื่อว่ามโนสัมผัสทุกขเวทนา ผู้ที่ไม่มีสติหรือไม่รู้ความจริงปฏิฆานุสัยย่อมตามนอน ส่วนผู้ปฏิบัติทราบว่าปฏิฆะเป็นโทษจึงเป็นผู้สงบอยู่ กำหนดรู้ทุกขเวทนาที่ปรากฏอยู่นั้นเฉพาะทุกขเวทนาอารมณ์เดียว ครั้นทุกขเวทนาเหล่านั้นดับไป เปลี่ยนเป็นสุขเวทนาหรือทุกขมสุขเวทนาจึงไม่เห็นทุกข์ เพราะเป็นชั้นสมถะ ไม่ใช่เห็นทุกขอริยสัจหรือเห็นทุกข์ไตรลักษณ์ที่เป็นชั้นปัญญาจึงไม่ทั่วไป ในอารมณ์ทั้งปวง

    ภ. ถามว่า การเห็นทุกขเวทนาในเวลาเจ็บไข้ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเห็นทุกข์ในไตรลักษณ์ เพราะมีสติสงบอยู่ ผิดกับผู้ไม่ปฏิบัติแต่ไม่รู้ว่าเป็นชั้นสมถะสำคัญว่าเป็นชั้นปัญญาแต่ รู้สึกแปลกใจ มีสติสงบอยู่เป็นชั้นสมถะ และการเห็นทุกข์ที่เป็นชั้นปัญญาให้ข้าพเจ้าเข้าใจ

    ม. ตอบว่า เช่นเวลาเจ็บ ๆ นั้นเป็นธรรมารมณ์คู่กับใจ จึงเกิดความรู้ทางใจชื่อว่า มโนวิญญาณ แม้ผู้ที่ไม่ปฏิบัติเวลาเจ็บไข้เขาก็รู้ว่าเจ็บ เพราะวิญญาณขันธ์ของใคร ๆ ก็มีด้วยกันทุก ๆ คน เพราะฉะนั้นความรู้ทุกขเวทนาในเวลาเจ็บ จึงเป็นลักษณะของวิญญาณขันธ์ ผู้ปฏิบัติมีสติสงบใจไม่มีนิวรณ์มาครอบงำใจนี่เป็นชั้นสมถะ ไม่ชื่อว่าเห็นทุกข์ที่เป็นชั้นปัญญา คงได้ชื่อว่าวิริยะสติสมาธิเพราะปัญญานั้นไม่ใช่รู้อยู่เฉย ๆ เฉพาะอารมณ์เดียว คือมีสติสงบอยู่และรู้เห็นความจริง ของทุกข์ทั่วไปในขันธ์อายตนะ ธาตุนามรูปตามความเป็นจริงอย่างไร หรือเห็นว่าสังขารทั้งหลายเป็นทุกข์แจ่มแจ้งชัดเจน จึงเบื่อหน่ายในสังขารทั้งหลายเหล่านั้น นี่เป็นชั้นปัญญา

    ภ. ถามว่า รู้สุขเวทนารู้ทุกขเวทนารู้อทุกขมสุขเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เกิดขึ้นเป็นอารมณ์ปัจจุบัน และรู้สัญญาความจำรูป จำเสียง จำกลิ่น จำรสโผฏฐัพพะ จำธรรมารมณ์ ๖ อย่างนี้ ที่เกิดขึ้นเป็นอารมณ์ปัจจุบัน หรือรู้สังขารความนึกความคิดเป็นบุญเป็นบาป และไม่ใช่บุญไม่ใช่บาป ที่เกิดขึ้นเป็นอารมณ์ปัจจุบัน ความรู้ธรรมารมณ์คือ เวทนา สัญญา สังขาร เหล่านี้เป็นลักษณะของมโนวิญญาณความรู้ทางใจใช่ไหม

    ม. ตอบว่า ใช่ถูกแล้ว ท่านเข้าใจได้ความเรื่องธรรมารมณ์ถูกต้องแบบแผนดีจริง

    ภ. ถามว่า ทุกขอริยสัจกับทุกข์ในไตรลักษณ์เหมือนกันหรือต่างกัน

    ม. ตอบว่า ต่างกัน ทุกขอริยสัจนั้นแคบกว่าทุกข์ในไตรลักษณ์ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแต่ส่วนสังขารที่มีวิญญาณเช่น คน สัตว์ แบ่งเป็น ๒ ตอน ชาติความเกิดชรา ความแก่มรณะ ความตาย ทุกข์กายเหล่านี้ที่เป็นเองไม่ประกอบด้วยกิเลสนี่ตอนหนึ่ง ทุกข์ตั้งแต่โสกะ-ความโศก ปริเทวะ-ความบ่นร่ำไรรำพัน โทมนัส-ความทุกข์ใจ อุปายาส-ความคับแค้นก็ล้วนเป็นทุกข์

    อปฺปิเยหิ สมฺปโยโค ทุกฺโข
    ปิเยหิ วิปฺปโยโค ทุกฺโข
    ยมฺปิจฺฉํ น ลภติ ตมฺปิ ทุกฺขํ
    สงฺขิตฺเตน ปญฺจุปาทา นกฺขนฺธา ทุกฺขา


    ความประสบกับสัตว์และสังขารที่ไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์
    ความพลัดพรากจากสัตว์และสังขาร ซึ่งเป็นที่รักเป็นทุกข์
    ปรารถนาสิ่งใดย่อมไม่ได้แม้ข้อที่ไม่สมประสงค์นั้นเป็นทุกข์
    โดยย่ออุปาทานนักขันธ์ห้าทั้งห้าเป็นทุกข์

    ทุกข์ ทั้งหลายเหล่านี้เป็นทุกข์ของคนที่ประกอบด้วยกิเลส ทุกข์ตั้งแต่โสกะจนถึงความยึดมั่นในขันธ์ ๕ เหล่านี้ไม่มีแก่ท่านผู้ไม่มีกิเลส และสุขเวทนาไม่มีในทุกขสัจ ส่วนทุกข์ในไตรลักษณ์นั้นกว้างทั่วไปในสังขารที่มีวิญญาณครองและไม่มีวิญญาณ ครอง ส่วนเวทนาก็รวมหมดทั้งสุขเวทนา ทุกขเวทนา อกุกขมสุขเวทนา คงรวมเป็นทุกขลักษณะ ดังพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ว่า สพฺเพ สงฺขาราทุกฺขา สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์ และทุกข์ในไตรลักษณ์เป็นสภาวะทุกข์ล้วน ๆ ไม่ประกอบด้วยกิเลส


    ภ. ถามว่า ทุกขเวทนา ทุกขอริยสัจ ทุกข์ในไตรลักษณ์ก็ต่างกัน เช่นเวลาเจ็บไข้ก็เป็นทุกขเวทนา เวลาหายเจ็บสบายดีแล้วก็เปลี่ยนเป็นสุขเวทนา ส่วนทุกอริยสัจและทุกข์ในไตรลักษณ์ไม่มีเวลาเปลี่ยนเป็นสุขบ้างหรือ

    ม. ตอบว่า ไม่มีเวลาเปลี่ยนเป็นสุข คงมีแต่ทุกข์ส่วนเดียวเพราะ ชาติ ชรา มรณะ ทุกข์ ๔ อย่างนี้มีประจำอยู่ในร่างกาย เป็นประเภททุกขสัจ เพราะฉะนั้นสุขในอริยสัจจึงไม่มี คงมีแต่ทุกขสัจ ส่วนทุกข์ในไตรลักษณ์ และขันธ์ อายตนะเวทนา ทั้ง ๓ อย่างนี้ก็เป็นทุกข์ในไตรลักษณ์หมดตลอดกระทั่งสังขารที่วิญญาณครอง และสังขารที่ไม่มีวิญญาณครอง ก็เป็นทุกข์ในไตรลักษณ์ เพราะฉะนั้นสุขในไตรลักษณ์จึงไม่มี คงมีแต่ทุกข์ในไตรลักษณ์

    ภ. พูดว่า น่าอัศจรรย์ในเมื่อความจริงมีแต่ทุกข์ ทั้งสังขารที่มีวิญญาณครองและไม่มีวิญญาณครอง ทำไมจึงไม่รู้ว่าเป็นทุกข์จึงตั้งใจแสวงหาสุข

    ม. พูดว่า ก็เพราะชอบสุขเวทนา จึงเป็นเหตุให้เกิดตัณหา ๓ เพราะไม่รู้ว่าสุขเวทนาก็เป็นทุกข์ในไตรลักษณ์

    ภ. พูดว่า เพราะไม่ได้กำหนดทุกข์ตามความเป็นจริง จึงสำคัญว่าจะหาสุขได้ในเหล่าสังขาร อวิชชา ภวตัณหาจึงเกิดในใจได้มาก สังสารวัฏจึงไม่มีที่สุด

    ม. พูดว่า เพราะสังขารที่วิญญาณครอง และไม่มีวิญญาณครองเป็นทุกข์อยู่เสมอไม่มีสุข ผู้ที่ไม่รู้ความจริงอัธยาศัยใจคอนั้นชอบสุข ทุกข์ไม่ชอบ จึงแสวงหาอามิสสุข คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ดีเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา ครั้นหามาได้ก็กำหนัดยินดีติดอยู่เพลิดเพลินพัวพันเกิดสุขโสมนัสในการเหล่า นั้น ครั้นกามารมณ์ที่ตนชอบเหล่านั้นวิบัติไป จึงเกิดความเดือดร้อนเศร้าโศกเสียใจ เพราะกามารมณ์ทั้งหลายเหล่านั้นก็เป็นสังขารที่มีวิญญาณครองและไม่มีวิญญาณ ครอง

    ภ. พูดว่า สุขที่เกิดแต่ความยินดีในกาม ไม่ใช่เวทนาขันธ์ส่วนเดียว มีกิเลสเข้าประกอบอยู่ด้วย ส่วนเวทนานั้นเป็นทุกข์ ความกำหนัดยินดีนั้นเป็นสมุทัย แม้จะแสวงหากามารมณ์ในโลกที่ดี ๆ มาให้มากสักเท่าใด ก็คงได้มา ๒ อย่างคือ ทุกข์กับร้อน

    ม. รับว่า ถูกแล้ว เพราะฉะนั้นพระอริยสาวกผู้สดับแล้วฝึกใจในคำสอนของพระผู้มีพระภาค จึงไม่แสวงหากาม ไม่แสวงหาภพ เพราะความยินดีในกามในภพนั้นเป็นสมุทัย ส่วนกามและภพนั้นเป็นทุกข์เพราะสังขาร แต่ยังแสวงหาพรหมจรรย์อยู่ เพราะท่านยังไม่เสร็จกิจเช่นพระเสขบุคคล ส่วนพระอเสขบุคคลนั้นเสร็จกิจ แม้พรหมจรรย์ท่านก็ไม่แสวงหา ที่เรียกว่าอริยวาสธรรม

    ภ. พูดว่า เช่นนั้นปุถุชนที่ไม่ได้ฝึกใจในธรรมของสัตบุรุษ ไม่รู้ว่าสังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ จึงปรารถนากามารมณ์ที่ดี ๆ ชื่อว่าแสวงหากาม และปรารถนาภพชาติที่ดี ๆ ชื่อว่าแสวงหาภพ แต่ไม่ได้แสวงหาพรหมจรรย์ เช่นให้ทานรักษาศีล ก็ตั้งใจปรารถนาเพื่อจะให้ไปเกิดในสวรรค์เป็นต้น เพราะไม่รู้ว่าสวรรค์นั้นก็เป็นสังขาร ไม่เที่ยงมีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา เป็นทุกข์เหลือทนทนอยู่ไม่ได้จะต้องดับไป เพราะฉะนั้นเหล่าเทวดาทั้งหลายที่อยู่ในสุคติก็ประกอบด้วยชาติ ชรา มรณะ

    ม. พูดว่า น่าสลดใจในผู้ที่ไม่รู้ความจริงของสังขาร จะป่วยกล่าวไปใยถึงในเวลาทำความชั่ว แต่เวลาที่ทำความดีเช่นทาน ศีล ภาวนา เป็นต้น ก็ยังปรารถนากามารมณ์อยู่อีก ชาตินี้ได้รับความร้อนใจ เพราะกามทั้งหลายเหล่านั้นเชือดเฉือนใจให้เดือดร้อนมากครั้งเหลือที่จะนับ ราวกับเขียงที่ถูกสับจนนับแผลไม่ถ้วน แต่ถึงเช่นนั้นก็ยังไม่เข็ด คงมีแต่ความกำหนัดยินดีกามทั้งหลายในโลกนี้ตามเคย แม้ทำบุญทำทานอะไร ๆ มากก็ตามน้อยก็ตามยังตั้งใจปรารถนากามารมณ์ที่ดี ๆ ทั้งหลาย ให้ไปดักคอยอยู่โลกหน้าอีก เพราะเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงตรัสสอนให้ถอนใจเสียจากความกำหนัดยินดีในกาม ทั้งหลาย เหมือนกุญชรถอนตนขึ้นจากหล่มฉะนั้น สมด้วยพระพุทธภาษิตในคาถาธรรมบทนาควรรคที่ ๒๓ ว่า

    อปฺปมาทรตา โหถ
    สจิตฺตมนุรกฺขถ
    ทุคฺคาอุทฺธรถตฺตานํ
    ปงฺเก สนฺโนว กุญชโร

    ท่านทั้งหลายจงยินดีในความไม่ประมาท
    จงตามรักษาจิตของตน
    จงถอนตนขึ้นจากหล่มที่ถอนได้ยาก
    เหมือนช้างตกหล่มถอนตนขึ้นจากหล่มได้ฉะนั้น


    ภ. พูดว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง และเป็นทุกข์อยู่ตามธรรมดา เพราะฉะนั้นใครจะเห็นความจริงก็ตาม หรือไม่เห็นความจริงก็ตาม คงเป็นเช่นนั้นอยู่เสมอทุกเมื่อ

    ม. รับว่า ถูกแล้ว สังขารทั้งหลายมีลักษณะเหมือนเรือนไฟไหม้ ไม่มีเวลาหยุดพัก ไหม้นามรูปไปกว่าจะหมด ไฟที่ไหม้บ้านเรือนยังช่วยกันดับได้ ส่วนกองทุกข์คือความเกิดแก่ความตาย ไม่มีใครจะมีอำนาจบังคับได้ เพราะฉะนั้นท่านจึงเรียกว่ากองทุกข์

    ภ. ถามว่า จะทำในใจแยบคายอย่างไรที่จะไม่ให้ติดในอารมณ์ที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน

    ม. ตอบว่าก็ต้องมีสติสังเกตดูอารมณ์ที่เป็นอดีตล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็ดับไปหมดแล้ว อารมณ์ที่เป็นอนาคตยังไม่มาถึง เดี๋ยวนี้ก็ไม่มีเลยสักอารมณ์เดียว อารมณ์ที่เกิดขึ้นใหม่เป็นปัจจุบัน เกิดขึ้นครั้งใดก็ดับไปครั้งนั้นทุก ๆ อารมณ์ไป ไม่มีเหลืออยู่เลยแม้แต่อารมณ์เดียว เพราะฉะนั้นอายตนะภายในภายนอกกระทบกันเข้าครั้งใด ก็ดับไปในอารมณ์นั้น ย่อมพลัดกันกับรูป หูได้ฟังเสียงเกิดความรู้ทางหูแล้วก็ดับไป หูนั้นย่อมพลัดกันกับเสียง จมูกได้ดมกลิ่นเกิดความรู้ทางจมูกแล้วดับก็ไป จมูกนั้นย่อมพลัดกันกับกลิ่น ลิ้นได้ลิ้มรสเกิดความรู้ทางลิ้นแล้วก็ดับไป ลิ้นนั้นย่อมพลัดกันกับรส กายถูกต้องโผฏฐัพพะเกิดความรู้ทางกายแล้วก็ดับไป กายนั้นย่อมพลัดกันกับโผฏฐัพพะ ใจได้รับธรรมารมณ์เกิดความรู้ทางใจแล้วก็ดับไป ใจนั้นย่อมพลัดกันกับธรรมารมณ์

    ภ. ถามมาว่า เมื่ออารมณ์ที่เป็นอดีตก็ดับไปหมด อารมณ์ที่เป็นอนาคตก็ยังไม่มาถึง คงมีแต่อารมณ์ปัจจุบันปรากฏขึ้นครั้งใดก็ดับไปครั้งนั้น ก็เช่นนั้นความชอบใจในอารมณ์ ๖ ที่ดี หรือความอยากได้อารมณ์ ๖ ที่ดี จะได้รับประโยชน์อะไรเล่า

    ม.ตอบว่า ไม่ได้รับประโยชน์อะไร ได้รับแต่ความร้อนใจอย่างเดียวเท่านั้น เพราะความชอบความอยากนั้นเป็นสมุทัยจึงได้รับผลแก่ทุกข์

    ภ. ถามว่า เห็นอนิจจังกับเห็นทุกข์นั้นต่างกันอย่างไร

    ม. ตอบว่า เห็นอนิจจังนั้นเป็นหน้าปฏิเสธ คือเห็นขันธ์ อายตนธาตุ นาม รูป ไม่มีเที่ยง ไม่มีคงที่ยั่งยืน เห็นทุกข์นั้นมีหน้ารับคือเห็นขันธ์ อายตนะ ธาตุ นามรูปว่า เป็นทุกข์เหลือทนและทนไม่ได้จะต้องดับไปจึงได้ต่างกัน

    ภ. ถามว่า เห็นอนัตตาเป็นหน้ารับหรือหน้าปฏิเสธ

    ม. ตอบว่า เห็นอนัตตาคือเห็นขันธ์อายตนะธาตุนามรูป ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร และไม่ใช่ตัวตนเป็นหน้าปฏิเสธ แต่ละเอียดกว้างขวางกว่าเห็นอนิจจังหรือเห็นทุกข์

    ภ. ถามว่า เห็นอนัตตาละเอียดกว้างขวางกว่าเห็นอนิจจังหรือเห็นทุกข์นั้นอย่างไร ขอท่านจงอธิบายให้ข้าพเจ้าเข้าใจ

    ม. ตอบว่า เห็นอนิจจังหรือเห็นทุกข์นั้น คือเห็นแต่ฝั่งสังขารทั้งหลายที่เป็นฝ่ายสังขตะส่วนเดียว เห็นอนัตตานั้นคือเห็นสองฝั่ง คือบรรดาธรรมทั้งหลายที่เป็นฝ่ายสังขตะคือสังขารและธรรมทั้งหลายที่เป็นฝ่า ยอสังขตะที่เรียกว่าวิสังขารคือพระนิพพานดังแบบว่า สพเพ ธมมา อนัตตา ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัวตน

    ภ. พูดว่า อายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ กระทบกันเข้าแล้วก็ดับไปไม่ใช่ตัวตน แต่ใจที่ยังไม่รู้ความจริงเห็นเป็นเราเป็นเขา เป็นของเรา ที่เรียกว่าตัณหามานะทิฏฐิ จึงเกิดฉันทราคะและความอยากขึ้นในเวลาที่ได้เห็นและได้ฟัง หรือได้ทราบด้วยจมูกลิ้นกายและได้รู้ด้วยใจ ถ้าไม่ได้ฟังคำสอนและไม่ได้ฝึกใจในธรรมของพระผู้มีพระภาคก็ต้องเห็นผิดอยู่ อย่างนี้ไม่มีเวลารู้

    ม. พูดว่า ข้าพเจ้านึกถึงพระพุทธภาษิตในโสฬสปัญหาที่ตรัสตอบเหมกะมาณพว่า

    อิธ ทิฏฐสุตมุตํ
    วิญฺญาเตสุ จ เหมก
    ฉนฺทราควิโนทนํ
    นิพฺพานปทมจฺจุตํ
    เอตทญฺญาย เย สตา
    ทิฏฐธมฺมาภินิพฺพุตา
    อุปสนฺตา จ เต สทา
    ติณฺณา โลเก วิสตฺติกนฺติ


    ดู ก่อนเหมกะ ธรรมชาติคือพระนิพพาน เป็นธรรมไม่เคลื่อนคลาย เป็นที่ถ่ายความกำหนัด พอใจในอารมณ์ที่น่ารักทั้งหลาย อันตนได้เห็นแล้วได้ฟังแล้ว ได้ทราบแล้ว ด้วยจมูก ลิ้น กาย และได้รู้แล้วด้วยใจในโลกนี้ ชนเหล่าใดตรัสรู้พระนิพพานนั้นแล้ว เป็นคนที่มีสติมีธรรมได้เห็นแล้วดับกิเลสเสียได้ ชนเหล่านั้นเป็นผู้สงบระงับกิเลสได้ทุกเมื่อ ได้ข้ามพ้นตัณหาความอยากอันให้ติดอยู่ในโลกเสียได้


    <!--emo&:72:-->
    [​IMG]<!--endemo--> <!--emo&:72:-->[​IMG]<!--endemo--> <!--emo&:72:-->[​IMG]

    ๐ คนที่กลัวตาย ก็จะต้องพบกับความตายอยู่ร่ำไป
    ไม่ว่าชาตินี้หรือชาติไหน ๆ ทั้งนั้น
    ๐ คนที่หมดความรู้สึกกลัวตาย ก็คือคนที่ไม่ตาย
    ๐ การได้อัตภาพเป็นมนุษย์เป็นของยาก
    ๐ การมีชีวิตของสัตว์ทั้งหลายเป็นการยาก
    ๐ ความได้ฟังซึ่งพระสัทธรรมเป็นการยาก
    ๐ ความเกิดขึ้น แห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นการยาก



    ดู ก่อนโมฆราช ท่านจงเป็นคนมีสติถอนอัตตานุทิฏฐิ (ความตามเห็นว่าเป็นตัวตน) ออกเสีย พิจารณาเห็นซึ่งโลกโดยความเป็นของสูญ (คือว่างเปล่า จากเที่ยง ตัวตนทุกเมื่อเถิด) ท่านจะพึงข้ามพ้นมัจจุราชเสียได้ ด้วยข้อปฏิบัติอย่างนี้ พระยามัจจุราชจะไม่แลเห็น ซึ่งท่านผู้พิจารณาเห็นซึ่งโลกโดยอาการอย่างนี้


    อริยสัจ ๔
    ทุกข์::: คือ ความไม่สบายกายไม่สบายใจต่าง ๆ
    สมุทัย:: คือ เหตุทำให้เกิดทุกข์ ได้แก่ตัณหา
    นิโรธ::: คือ ความดับทุกข์ให้แก่ดับตัณหาให้หมดสิ้น
    มรรค::: คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ได้แก่มรรค ๘
     
  6. wisarn

    wisarn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    741
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +2,505
    <center> ปฎิปัตติปุจฉาวิสัชนา </center>
    <center>(ฉบับเดิมพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๖)</center>

    ก. ถามว่า ผู้ปฏิบัติศาสนาโดยมากปฏิบัติอยู่แค่ไหน?
    ข. ตอบว่า ปฏิบัติอยู่ภูมิกามาพจรกุศลโดยมาก

    ก. ถามว่า ทำไมจึงปฏิบัติอยู่เพียงนั้น
    ข. ตอบว่า อัธยาศัยของคนโดยมากยังกำหนัดอยู่ในกาม เห็นว่ากามารมณ์ที่ดีเป็นสุข ส่วนที่ไม่ดีเห็นว่าเป็นทุกข์ จึงได้ปฏิบัติในบุญกิริยาวัตถุ มีการฟังธรรม ให้ทาน รักษาศีลเป็นต้น หรือภาวนาบ้างเล็กน้อย เพราะความมุ่งเพื่อจะได้สวรรค์สมบัติ มนุษย์สมบัติเป็นต้น ก็คงเป็นภูมิกามาพจรกุศลอยู่นั่นเอง เบื้องหน้าแต่กายแตกตายไปแล้วย่อมถึงสุคติบ้างไม่ถึงบ้าง แล้วแต่วิบากจะซัดไป เพราะไม่ใช่นิยตบุคคลคือยังไม่ปิดอบายเพราะยังไม่บรรลุโสดาปัตติผล

    ก. ถามว่า ก็ท่านผู้ปฏิบัติที่ดีกว่านี้ไม่มีหรือ
    ข. ตอบว่า มี แต่ว่าน้อย

    ก. ถามว่า น้อยเพราะเหตุอะไร?
    ข. ตอบว่า น้อยเพราะกามทั้งหลายเท่ากับเลือดในอกของสัตว์ ยากที่จะละความยินดีในกามได้ เพราะการปฏิบัติธรรมละเอียด ต้องอาศัยกายวิเวก จิตวิเวก จึงจะเป็นไปเพื่ออุปธิวิเวก เพราะเหตุนี้แลจึงทำได้ด้วยยาก แต่ไม่เหลือวิสัย ต้องเป็นผู้เห็นทุกข์จริง ๆ จึงจะปฏิบัติได้

    ก. ถามว่า ถ้าจะปฏิบัติเพียงภูมิกามาพจรกุศล ดูไม่แปลกอะไร เพราะเกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นภูมิกามาพจรอยู่แล้ว ส่วนการปฏิบัติจะให้ดีกว่าเก่าก็ต้องเลื่อนชั้นเป็นภูมิรูปาวจรหรืออรูปาวจร แลโลกอุดรจะได้แปลจากเก่า?
    ข. ตอบว่า ถูกแล้วถ้าคิดดูคนนอกพุทธกาล ท่านก็ได้บรรลุฌานชั้นสูง ๆ ก็มี คนในพุทธกาลท่านก็ได้บรรลุมรรคแลผล มีพระโสดาบันแลพระอรหันต์โดยมาก นี่เราก็ไม่ได้บรรลุฌานเป็นอันสู้คนนอกพุทธกาลไม่ได้ แลไม่ได้บรรลุมรรคผล เป็นอันสู้คนในพุทธกาลไม่ได้

    ก. ถามว่า เมื่อเป็นเช่นนี้จักทำอย่างไรดี?
    ข. ตอบว่า ต้องทำในใจให้เห็นตามพระพุทธภาษิตที่ว่า

    มตฺตาสุขปริจฺจาคา ปสฺเส เจ วิปุลํ สุขํ
    ถ้าว่าบุคคลเห็นซึ่งสุขอันไพบูรณ์ เพราะบริจาคซึ่งสุขมีประมาณน้อยเสียไซร้
    จเช มตฺตาสุขํ ธีโร สมปสฺสํ วิปุลํ สุขํ
    บุคคลผู้มีปัญญาเครื่องทรงไว้ เมื่อเล็งเห็นซึ่งสุขอันไพบูรณ์ พึงละเสียซึ่งสุขมีประมาณน้อย


    ก. ถามว่า สุขมีประมาณน้อยได้แก่สุขชนิดไหน?
    ข. ตอบว่า ได้แก่สุขซึ่งเกิดแต่ความยินดีในกามที่เรียกว่าอามิสสุข นี่แหละสุขมีประมาณน้อย

    ก. ถามว่า ก็สุขอันไพบูรณ์ได้แก่สุขชนิดไหน?
    ข. ตอบว่า ได้แก่ฌาน วิปัสสนา มรรค ผล นิพพาน ที่เรียกว่านิรามิสสุขไม่เจือด้วยกาม นี่แหละสุขอันไพบูรย์

    ก. ถามว่า จะปฏิบัติให้ถึงสุขอันไพบูรณ์ จะดำเนินทางไหนดี?
    ข. ตอบว่า ก็ต้องดำเนินทางองค์มรรค ๘

    ก. ถามว่า องค์มรรค ๘ ใคร ๆ ก็รู้ ทำไมจึงเดินกันไม่ใคร่จะถูก
    ข. ตอบว่า เพราะองค์มรรค ๘ ไม่มีใครเคยเดิน จึงเดินไม่ใคร่ถูก พอถูกก็เป็นพระอริยเจ้า

    ก. ถามว่า ที่เดินไม่ถูกเพราะเหตุอะไร?
    ข. ตอบว่า เพราะชอบเดินทางเก่า ซึ่งเป็นทางชำนาญ

    ก. ทางเก่านั้นคืออะไร?
    ข. ตอบว่า ได้แก่กามสุขัลลิกานุโยค แลอัตกิลมถานุโยค

    ก. ถามว่า กามาสุขัลลิกานุโยคนั้นคืออะไร ?
    ข. ตอบว่า ความทำตนให้เป็นผู้หมกมุ่นติดอยู่ในกามสุขนี้แล ชื่อว่ากามสุขัลลิกานุโยค

    ก. ถามว่า อัตกิลมถานุโยคได้แก่ทางไหน?
    ข. ตอบว่า ได้แก่ผู้ปฏิบัติผิด แม้ประพฤติเคร่งครัดทำตนให้ลำบากสักเพียงไร ก็ไม่สำเร็จประโยชน์ ซึ่งมรรค, ผล, นิพพาน นี่แหละเรียกว่าอัตกิลมถานุโยค

    ก. ถามว่า ถ้าเช่นนั้นทางทั้ง ๒ นี้ เห็นจะมีคนเดินมากกว่ามัชฌิมาปฏิปทาหลายร้อยเท่า?
    ข. ตอบว่า แน่ทีเดียว พระพุทธเจ้าแรกตรัสรู้จึงได้ทรงแสดงก่อนธรรมอื่น ๆ ที่มาแล้วในธัมมจักกับปปวัตตนสูตร เพื่อให้สาวกเข้าใจ จะได้ไม่ดำเนินในทางทั้ง ๒ มาดำเนินในทางมัชฌิมาปฏิปทา

    ก. ถามว่า องค์มรรค ๘ ทำไมจึงยกสัมมาทิฏฐิซึ่งเป็นกองปัญญาขึ้นแสดงก่อน ส่วนการปฏิบัติของผู้ดำเนินทางมรรค ต้องทำศีลไปก่อนแล้วจึงทำสมาธิแลปัญญา ซึ่งเรียกว่าสิกขาทั้ง ๓?
    ข. ตอบว่า ตามความเห็นของข้าพเจ้าว่าจะเป็น ๒ ตอน ตอนแรกส่วนโลกิยกุศลต้องทำศีล สมาธิ ปัญญา เป็นลำดับไปปัญญาที่เกิดขึ้นยังไม่เห็นอริยสัจทั้ง ๔ สังโยชน์ ๓ ยังละไม่ได้ขีดของใจเพียงนี้เป็นโลกีย์ ตอนที่เห็นอริยสัจแล้วละสังโยชน์ ๓ ได้ตอนนี้เป็นโลกุตร

    ก. ถามว่า ศีลจะเอาศีลชนิดไหน?
    ข. ตอบว่า ศีลมีหลายอย่าง ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ แต่ในที่นี้ประสงค์ศีลที่เรียกว่า สมฺมาวาจา สมฺมากมฺมนฺโต สมมาอาชีโว แต่ต้องทำให้บริบูรณ์

    ก. ถามว่า สมฺมาวาจา คืออะไร?
    ข. ตอบว่า มุสาวาทา เวรมณี เว้นจากพูดเท็จ ปิสุณายวาจายเวรมณี เว้นจากพูดส่อเสียดให้เขาแตกร้าวกัน ผรุสายวาจาย เวรมณี เว้นจากพูดคำหยาบ สมผปปลาปา เวรมณี เว้นจากพูดโปรยประโยชน์

    ก. ถามว่า สมมฺากมฺมนฺโต การงานชอบนั้นมีกี่อย่าง
    ข. ตอบว่า มี ๓ อย่าง คือ ปาณาติปาตา เวรมณี เว้นจากการฆ่าสัตว์ อทินนาทานา เวรมณี เว้นจากการลักทรัพย์ อพรหมจริยา เวรมณี เว้นจากอสัทธรรม ไม่ใช่พรหมจรรย์

    ก. ถามว่า สมฺมากมฺมนฺโต ในที่อื่นๆ โดยมาก เว้นอพรหมส่วนในมหาสิตปัฏฐาน ทำไมจึงเว้นกาเมสุมิจฉาจาร?
    ข. ตอบว่า ความเห็นของข้าพเจ้าที่ทรงแสดงศีล อพรหมเห็นจะเป็นด้วยรับสั่งแก่ภิกษุ เพราะว่าภิกษุเป็นพรหมจารีบุคคลทั้งนั้น ส่วนในมหาสิตปัฏฐาน ๔ ก็รับสั่งแก่ภิกษุเหมือนกัน แต่ว่าเวลานั้นพระองค์เสด็จประทับอยู่ในหมู่ชาวกุรุ พวกชาวบ้านเห็นจะฟังอยู่มาก ท่านจึงสอนให้เว้นกามมิจฉาจารเพราะชาวบ้านมักเป็นคนมีคู่

    ก. ถามว่า สมฺมาอาชีโว เลี้ยงชีวิตชอบ เว้นจากมิจฉาชีพนั้นเป็นอย่างไร?
    ข. ตอบว่า บางแห่งท่านก็อธิบายไว้ว่า ขายสุรายาพิษ ศัสตราอาวุธ หรือขายสัตว์มีชีวิตต้องเอาไปฆ่าเป็นต้น เหล่านี้แหละเป็นมิจฉาชีพ

    ก. ถามว่า ถ้าคนที่ไม่ได้ขายของเหล่านี้ ก็เป็นสมมาอาชีโว อย่างนั้นหรือ?
    ข. ตอบว่า ยังเป็นไปไม่ได้ เพราะวิธีโกงของคนมีหลายอย่างนัก เช่น ค้าขายโดยไม่ซื่อ มีการโกงตาชั่งตาเต็ง หรือเอารัดเอาเปรียบอย่างใดอย่างหนึ่ง ในเวลาที่ผู้ซื้อเผลอ หรือเขาไว้ใจ รวมความพูดว่าอัธยาศัยของคนทีไม่ซื่อ คิดเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น เห็นแต่จะได้สุดแต่จะมีโอกาสจะเป็นเงินหรือของก็ดี ถึงแม้จะไม่ชอบธรรม สุดแต่จะได้เป็นอาทั้งนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าอาการเหล่านี้ก็เป็นมิจฉาชีพทั้งสิ้น สมฺมาอาชีโว จะต้องเว้นทุกอย่างเพราะเป็นสิ่งที่คดค้อม ได้มาโดยไม่ชอบธรรม

    ก. ถามว่า สมฺมาวายาโม ความเพียรชอบนั้นคือเพียรอย่างไร?
    ข. ตอบว่า สังวรปธาน เพียรระวังอกุศลวิตก ๓ ที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น ปหานปธาน เพียรละอกุศลวิตก ๓ ที่เกิดขึ้นแล้วให้หายไป ภาวนาปหาน เพียรเจริญกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น อนุรักขนาปหาน เพียรรักษากุศลที่เกิดแล้วไว้ให้บริบูรณ์

    ก. ถามว่า สมฺมาสติ ระลึกชอบนั้นระลึกอย่างไร?
    ข. ตอบว่า ระลึกอยู่ในสติปัฏฐาน ๔ คือ กายานุปัสสนา ระลึกถึงกาย เวทนานุปสฺสนา ระลึกถึงเวทนา จิตตานุปสฺสนา ระลึกถึงจิต ธมฺมานุปสฺสนา ระลึกถึงธรรม

    ก. ถามว่า สมฺมาสมาธิ ความตั้งไว้ชอบ คือตั้งใจไว้อย่างไร จึงจะเป็นสมฺมาสมาธิ?
    ข. ตอบว่า คือ ตั้งใจไว้ในองค์ฌาณทั้ง ๔ ที่เรียกว่าปฐมฌาน ติติยฌาณ จตุตถฌาน เหล่านี้แหละเป็นสมฺมาสมาธิ

    ก. ถามว่า สมฺมาสงฺกปฺโป ความดำริชอบนั้น ดำริอย่างไร?
    ข. ตอบว่า เนกฺขมฺมสงฺกปฺโป ดำริออกจากกาม อพฺยาปาทสงฺกปฺโป ดำริไม่พยาบาท อวิหึสาสงฺกปฺโป ดำริในความไม่เบียดเบียน

    ก. ถามว่า สมฺมาวายาโม ก็ละอกุศลวิตก ๓ แล้วสมฺมาสงฺกปฺโป ทำไมจึงต้องดำริอีกเล่า?
    ข. ตอบว่า ต่างกัน เพราะสมฺมาวายาโม นั้นเป็นแต่เปลี่ยนอารมณ์ เช่นจิตฟุ้งซ่านหรือเป็นอกุศล ก็เลิกนึกถึงเรื่องเก่าเสีย มามีสติระลึกอยู่ในอารมณ์ที่เป็นกุศล จึงสงเคราะห์เข้าในกองสมาธิ ส่วนสมฺมาสงฺกปฺโป มีปัญญาพิจารณาเห็นโทษของกาม เห็นอานิสงส์ของเนกขัมมะ จึงได้คิดออกจากกามด้วยอาการที่เห็นโทษ หรือเห็นโทษของพยาบาทวิหิงสา เห็นอานิสงส์ของเมตตากรุณาจึงได้คิดละพยาบาทวิหิงสา การเห็นโทษแลเห็นอานิสงส์เช่นนี้แหละ จึงผิดกับสมฺมาวายาโม ท่านจึงสงเคราะห์เข้าไว้ในกองปัญญา

    ก. ถามว่า สมฺมาทิฏฐิ ความเห็นชอบนั้นคือเห็นอย่างไร?
    ข. ตอบว่า คือเห็นทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ที่เรียกว่าอริยสัจ ๔ ความเห็นชอบอย่างนี้แหละชื่อว่า สมฺมาทิฏฐิ

    ก. ถามว่าอริยสัจ ๔ นั้น มีกิจจะต้องทำอะไรบ้าง?
    ข. ตอบว่า ตามแบบที่มีมาในธรรมจักร มีกิจ ๓ อย่าง ๔ อริยสัจรวมเป็น ๑๒ คือ สัจญาณ รู้ว่าทุกข์กิจญาณ รู้ว่าจะต้องกำหนด กตญาณรู้ว่ากำหนดเสร็จแล้ว แลรู้ว่าทุกข์ สมุทัยจะต้องละแลได้ละเสร็จแล้ว แลรู้ว่าทุกขนิโรธ จะต้องทำให้แจ้ง แลได้ทำให้แจ้งเสร็จแล้ว แลรู้ว่าทุกขนิโรธ จะต้องทำให้แจ้ง แลได้ทำให้แจ้งเสร็จแล้ว แลรู้ว่าทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา จะต้องเจริญ แลได้เจริญเสร็จแล้ว นี่แหละเรียกว่ากิจในอริยสัจทั้ง ๔

    ก. ถามว่า ทุกข์นั้นได้แก่สิ่งอะไร?
    ข. ตอบว่า ขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ ธาตุ ๖ นามรูปเหล่านี้เป็นประเภททุกขสัจ

    ก. ถามว่า ทุกข์มีหลายอย่างนักจะกำหนดอย่างไรถูก ?
    ข. ตอบว่า กำหนดอย่างเดียวก็ได้ จะเป็นขันธ์ ๕ หรืออายตนะ ๖ หรือธาตุ ๖ นามรูปอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ไม่ใช่ว่าจะต้องกำหนดทีละหลายอย่าง แต่ว่าผู้ปฏิบัติควรจะรู้ไว้ เพราะธรรมทั้งหลายเหล่านี้เป็นอารมณ์ของวิปัสสนา

    ก. ถามว่า การที่จะเห็นอริยสัจก็ต้องทำวิปัสสนาด้วยหรือ?
    ข. ตอบว่า ไม่เจริญวิปัสสนา ปัญญาจะเกิดอย่างไรได้ เมื่อปัญญาไม่มี จะเห็นอริยสัจทั้ง ๔ ได้อย่างไรได้ แต่ที่เจริญวิปัสสนากันอยู่ ผู้ที่อินทรีย์อ่อนยังไม่เห็นอริยสัจทั้ง ๔ เลย

    ก. ถามว่า ขันธ์ ๕ ใครๆ ก็รู้ ทำไมจึงกำหนดทุกข์ไม่ถูก?
    ข. ตอบว่า รู้แต่ชื่อ ไม่รู้อาการขันธ์ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นขั้นธ์ ๕ เกิดขึ้นก็ไม่รู้ว่าเกิด ขันธ์ ๕ ดับไปก็ไม่รู้ว่าดับไป แลขันธ์มีอาการสิ้นเสื่อมไปตามความเป็นจริงอย่างไรก็ไม่ทราบทั้งนั้น จึงเป็นผู้หลงประกอบด้วยวิปลาส คือไม่เที่ยงก็เห็นว่าเที่ยง เป็นทุกข์ก็เห็นว่าเป็นสุข เป็นอนัตตาก็เห็นว่าเป็นอัตตาตัวตน เป็นอสุภไม่งามก็เห็นว่าเป็นสุภะงาม เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงสั่งสอนสาวกที่แล้วมาในมหาสติปัฏฐานสูตรให้ รู้จักขันธ์ ๕ แลอายตนะ ๖ ตามความเป็นจริง จะได้กำหนดถูก

    ก. ถามว่า ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั้นมีลักษณะอย่างไร เมื่อเวลาเกิดขึ้นแลดับไปจะได้รู้?
    ข. ตอบว่า รูปคือธาตุดิน ๑๙ น้ำ ๑๒ ลม ๖ ไฟ ๔ ชื่อว่ามหาภูตรูป เป็นรูปใหญ่แลอุปาทายรูป ๒๔ เป็นรูปที่ละเอียดซึ่งอาศัยอยู่ในมหาภูตรูป ๔ เหล่านี้ชื่อว่ารูป แต่จะแจงให้ละเอียดก็มากมาย เมื่ออยากทราบให้ละเอียดก็จงไปดูเอาในแบบเถิด

    ก. ถามว่า ก็เวทนานั้นไก่สิ่งอะไร?
    ข. ตอบว่า ความเสวยอารมณ์ ซึ่งเกิดประจำอยู่ในรูปนี้แหละ คือบางคราวก็เสวยอารมณ์เป็นทุกข์ บางคราวก็ไม่เป็นทุกข์ไม่สุขนี่แหละเรียกว่าเวทนา ๑ ถ้าเติมโสมนัส โทมสัสก็เป็นเวทนา ๕

    ก. ถามว่า โสมนัส โทมนัส เวทนาดูเป็นชื่อของกิเลส ทำไมจึงเป็นขันธ์?
    ข. ตอบว่า เวทนามี ๒ อย่าง คือ กายิกะเวทนา ซึ่งเกิดทางกาย ๑ เจตสิกเวทนาๆ เกิดทางใจ ๑ สุขเวทนาเสวยอารมณ์เป็นสุข ทุกขเวทนา เสวยอารมณ์เป็นทุกข์ ๒ อย่างนี้ เกิดทางกาย โสมนัส โทมนัส อทุกขมสุขเวทนา ๓ อย่างนี้ เกิดทางใจไม่ใช่กิเลส คือ เช่นกับบางคราวอยู่ดีๆ ก็มีความสบายใจ โดยไม่ได้อาศัยความรักความชอบก็มี หรือบางคราวไม่อาศัยโทสะหรือปฏิฆะ ไม่สบายใจขึ้นเอง เช่น คนเป็นโรคหัวใจ หรือโรคเส้นประสาทก็มี อย่างนี้เป็นขันธ์แท้ ต้องกำหนดรู้ว่าเป็นทุกข์ เมื่อเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งปรากฏขึ้นนั่นแหละเป็นความเกิดขึ้นแห่งเวทนา เมื่อเวทนาเหล่านั้นดับหายไป เป็นความดับแห่งเวทนา นี่แหละเป็นขันธ์แท้ประเภททุกขสัจ

    ก. ถามว่า เวทนานั้นอาศัยอะไรจึงเกิดขึ้น?
    ข. ตอบว่า อาศัยอายตนะภายใน ๖ ภายนอก ๖ วิญญาณ ๖ กระทบกันเข้า ชื่อว่าผัสสะเป็นที่เกิดแห่งเวทนา

    ก. ถามว่า อายตนะภายใน ๖ ภายนอก ๖ วิญญาณ ๖ ผัสสะ ๖ เวทนาที่เกิดแต่ผัสสะ ๖ ก็ไม่ใช่กิเลส เป็นประเภททุกข์ทั้งนั้นไม่ใช่หรือ?
    ข. ตอบว่า ถูกแล้ว

    ก. ถามว่า แต่ทำไมคนเราเมื่อเวลาตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้ดมกลิ่น ลิ้นได้ลิ้มรสหรือถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย รู้รับอารมณ์ด้วยใจ ก็ย่อมได้เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ใช่หรือ ก็อายตนะแลผัสสะเวทนาก็ไม่ใช่กิเลส แต่ทำไมคนเราจึงเกิดกิเลสและความอยากขึ้นได้เล่า?
    ข. ตอบว่า เพราะไม่รู้ว่าเป็นขันธ์แลอายตนะ แลผัสสเวทนา สำคัญว่าเป็นผู้ เป็นคน เป็นจริงเป็นจัง จึงได้เกิดกิเลสและความอยาก เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงไว้ในฉักกะสูตรว่า บุคคลเมื่อสุขเวทนาเกิดขึ้นก็ปล่อยให้ราคานุสัยตามนอน ทุกขเวทนาเกิดขึ้นก็ปล่อยให้ปฏิฆานุสัยตามนอน อทุกขมสุขเวทนาเกิดขึ้นก็ปล่อยให้อวิชชานุสัยตามนอน การทำที่สุดแห่งทุกข์ในชาตินี้ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้เป็นได้ ถ้าบุคคลเมื่อเวทนาทั้ง ๓ เกิดขึ้นก็ไม่ปล่อยให้อนุสัยทั้ง ๓ ตามนอน การทำที่สุดแห่งทุกข์ในชาตินี้มีฐานะที่มีได้เป็นได้ นี่ก็เท่ากับตรัสไว้เป็นคำตายตัวอยู่แล้ว

    ก. ถามว่า จะปฏิบัติอย่างไรจึงจะไม่ให้อนุสัยทั้ง ๓ ตามนอน?
    ข. ตอบว่า ก็ต้องมีสติทำความรู้สึกตัวไว้ แลมีสัมปชัญญะความรู้รอบคอบในอายตนะ แลผัสสเวทนาตามความเป็นจริงอย่างไร อนุสัยทั้ง ๓ จึงจะไม่ตามนอน สมด้วยพระพุทธภาษิตในโสฬสปัญหาที่ ๑ ตรัสตอบอชิตะมาณพว่า
    <center> สติ เตสํ นิวารณํ
    สติเป็นดุจทำนบเครื่องปิดกระแสเหล่านั้น
    ปญฺญาเยเตปิถิยฺยเร
    กระแสเหล่านั้นอันผู้ปฏิบัติจะละเสียได้ด้วยปัญญา </center>
    แต่ในที่นั้นท่านประสงค์ละตัณหา แต่อนุสัยกับตัณหาก็เป็นกิเลสประเภทเดียวกัน


    ก. ถามว่า เวทนาเป็นขันธ์แท้เป็นทุกข์สัจไม่ใช่กิเลส แต่ในปฏิจสมปบาท ทำไมจึงมี เวทนาปจฺจยา ตัณหา เพราะเหตุอะไร?
    ข. ตอบว่า เพราะไม่รู้จักเวทนาตามความเป็นจริง เมื่อเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น เวทนาที่เป็นสุขก็ชอบเพลินเพลินอยากได้ หรือให้คงอยู่ไม่ให้หายไปเสีย เวทนาที่เป็นทุกข์ไม่ดีมีมาก็ไม่ชอบประกอบด้วยปฏิฆะอยากผลักไสไล่ ขับให้หายไปเสีย หรืออทุกขมสุขเวทนาที่มีมาก็ไม่รู้ อิวชชานุสัยจึงตามนอน สมด้วยพระพุทธภาษิตในโสฬสปัญหาที่ ๑๓ ที่อุทยะมาณพทูลถามว่า กลํ สตสฺส จรโต วิญฺญาณํ อุปรุชฺฌติ เมื่อบุคคลประพฤติมีสติอย่างไรปฏิสนธิวิญญาณจึงจะดับ ตรัสตอบว่า
    <center>อชฺตฺตญฺจ พหิทฺธา จ เวทนํ นาพินนฺทโต
    เมื่อบุคคลไม่เพลิดเพลินยิ่ง ซึ่งเวทนาทั้งในภายแลภายนอก
    เอวํ สตสฺส จรโต วิญฺญาณํ อุปรุชฌติ
    ประพฤติมีสติอยู่อย่างนี้ ปฏิสนธิวิญญาณจึงจะดับ</center>
    ก. ถามว่า เวทนาอย่างไรชื่อว่าเวทนาภายนอก เวทนาอย่างไรชื่อว่าเวทนาภายใน?
    ข. ตอบว่า เวทนาที่เกิดแต่จักขุสัมผัส โสตะสัมผัส ฆานะสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส ๕ อย่างนี้ชื่อว่าเวทนาที่เป็นภายนอก เวทนาที่เกิดในฌานเช่น ปีติหรือสุข เป็นต้น ชื่อว่าเวทนาภายในเกิดแต่ในมโนสัมผัส

    ก. ถามว่า ปีติและสุขเป็นเวทนาด้วยหรือ?
    ข. ตอบว่า ปีตีแลสุขนั้นเกิดขึ้นเพราะความสงบ อาศัยความเพียรของผู้ปฏิบัติ ในคิริมานทสูตร อานาปานสติหมวดที่ ๕ กับที่ ๖ ท่านสงเคราะห์เข้ามาในเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้นปีติแลสุขจึงจัดเป็นเวทนาภายในได้

    ก. ที่เรียกว่านิรามิสเวทนา เสวยเวทนาไม่มีอามิส คือไม่เจือกามคุณเห็นจะเป็นเวทนาที่เกิดขึ้นจากจิตที่สงบนี้เอง แต่ถ้าเช่นนั้นความยินดีใน รูป, เสียง, กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะที่เรียกว่ากามคุณ ๕ เวทนาที่เกิดคราวนั้น ก็เป็นอามิสเวทนาถูกไหม?
    ข. ตอบว่า ถูกแล้ว

    ก. ตอบว่า ส่วนเวทนาข้าพเจ้าเข้าใจดีแล้ว แต่ส่วนสัญญาขันธ์ ความจำรูป จำเสียง จำกลิ่น จำรส จำโผฏฐัพพะ จำธรรมารมณ์ ๖ อย่างนี้ มีลักษณะอย่างไร เมื่อรูปสัญญาความจำรูปดับไป มีอาการเช่นไร และเวลาที่ความจำรูปดับไปมีอาการเช่นไร ข้าพเจ้าอยากทราบ เพื่อจะได้กำหนดถูก?
    ข. ตอบว่า คือเราได้เห็นรูปคนหรือรูปของอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วมานึกขึ้น รูปคนหรือรูปของเหล่านั้นก็มาปรากฏขึ้นในใจ เหมือนอย่างได้เห็นจริงๆ นี่เรียกว่าความจำรูป

    ก. ถามว่า ยังไม่เข้าใจดี ขอให้ชี้ตัวอย่างให้ขาวอีกสักหน่อย
    ข. ตอบว่า เช่นกับเมื่อเช้านี้เราได้พบคนที่รู้จักกันหรือได้พูดกัน ครั้นคนนั้นไปจากเราแล้ว เมื่อเรานึกถึงคนนั้น รูปร่างคนนั้นก็ปรากฏชัดเจนเหมือนเวลาที่พบกัน หรือได้เห็นของสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้เมื่อเวลานึกขึ้นก็เห็นสิ่งนั้นชัดเจน เหมือนอย่างเวลาที่เห็น รวมเป็น ๒ อย่างคือ อุปาทินกรูป รูปที่มีวิญญาณ เช่นรูปคนหรือรูปสัตว์ อนุปาทินกรูป รูปที่ไม่มีวิญญาณครอง ได้แก่สิ่งของต่างๆ หรือต้นไม้ ดิน หิน กรวด

    ก. ถามว่า ถ้าเช่นนั้นคนเป็นก็เป็นรูปที่มีวิญญาณ คนตายก็เป็นรูปที่ไม่มีวิญญาณ อย่างนั้นหรือ?
    ข. ตอบว่า ถูกแล้วน่าสลดใจ ชาติเดียวเป็นได้ ๒ อย่าง

    ก. ถามว่า ถ้าเช่นนั้นสัญญาก็เป็นเรื่องของอดีตทั้งนั้น ไม่ใช่ปัจจุบัน?
    ข. ตอบว่า อารมณ์นั้นเป็นอดีต แต่เมื่อความจำปรากฏขึ้นในใจ เป็นสัญญาปัจจุบันนี่แหละเรียกว่าสัญญาขันธ์

    ก. ถามว่า ถ้าไม่รู้จักสัญญา เวลาที่ความจำรูปคนมาปรากฏขึ้นในใจ ก็ไม่รู้ว่าสัญญาของตัวเองสำคัญว่าเป็นคนจริงๆ หรือความจำรูปที่ไม่มีวิญญาณมาปรากฏขึ้นในใจ ก็ไม่รู้ว่าสัญญาสำคัญว่าเป็นสิ่งของจริงๆ เมื่อเป็นเช่นนี้จะมีโทษอย่างไรบ้าง ขอท่านจงอธิบายให้ข้าพเจ้าเข้าใจ?
    ข. ตอบว่า มีโทษมาก เช่นนึกถึงคนที่รัก รูปร่างของคนที่รักก็มาปรากฏกับใจ กามวิตกที่ยังไม่เกิดก็จะเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็จะงอกงาม หรือนึกถึงคนที่โกรธกัน รูปร่างของคนที่โกรธกันนั้น ก็มาปรากฏชัดเจนเหมือนได้เห็นจริงๆ พยาบาทวิตกที่ยังไม่เกิดก็จะเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็จะงอกงาม หรือนึกถึงสิ่งของสวยๆ งามๆ รูปร่างสิ่งของเหล่านั้นก็มาปรากฏในใจ เกิดความชอบใจบ้างและอยากได้บ้าง เพราะไม่รู้สัญญาขันธ์ของตัวเอง สำคัญว่าสิ่งทั้งปวงเป็นจริงเป็นจังไปหมด ที่แท้ก็เหลวทั้งนั้น

    ก. ถามว่า ก็ความเกิดขึ้นแห่งสัญญามีลักษณะอย่างไร?
    ข. ตอบว่า เมื่อความจำรูปอย่างใดอย่างหนึ่งมาปรากฏในใจ เป็นความเกิดขึ้นแห่งความจำรูป เมื่อความจำรูปเหล่านั้นดับหายไปจากใจ เป็นความดับไปแห่งความจำรูป

    ก. ถามว่า ความจำเสียงนั้น มีลักษณะอย่างไร?
    ข. ตอบว่า เช่นเวลาฟังเทศน์ เมื่อพระเทศน์จบแล้ว เรานึกขึ้นจำได้ว่าท่านแสดงว่าอย่างนั้นๆ หรือมีคนมาพูดเล่าเรื่องอะไรๆ ให้เราฟัง เมื่อเขาพูดเสร็จแล้วเรานึกขึ้นจำถ้อยคำนั้นได้ นี่เป็นลักษณะของความจำเสียง เมื่อความจำเสียงปรากฏขึ้นในใจ เป็นความเกิดขึ้นแห่งความจำเสียง เมื่อความจำเสียงเหล่านั้นดับหายไปจากใจ เป็นความดับไปแห่งสัญญา

    ก. ถามว่า คันธสัญญาความจำกลิ่นมีลักษณะอย่างไร?
    ข. ตอบว่า เช่นกับเราเคยได้กลิ่นหอมดอกไม้ หรือน้ำอบหรือกลิ่นเหม็นอย่างใดอย่างหนึ่งไว้ เมื่อนึกขึ้นก็จำกลิ่นหอม กลิ่นเหม็นนั้นได้ นี่เป็นความเกิดขึ้นของความจำกลิ่น เมื่อความจำกลิ่นเหล่านั้นหายไปจากใจ เป็นความดับไปแห่งคันธสัญญา

    ก. ถามว่า รสสัญญา ความจำรสนั้นมีลักษณะอย่างไร?
    ข. ตอบว่า ความจำรสนั้น เมื่อเรารับประทานอาหารมีรสเปรี้ยว หวาน จืด เค็ม หรือขมเป็นต้น เมื่อรับประทานเสร็จแล้วนึกขึ้นก็จำรสเหล่านั้นได้ อย่างนี้เรียกว่าความจำรส เมื่อความจำรสปรากฏขึ้นในใจ เป็นความเกิดขึ้นแห่งรสสัญญา เมื่อความจำรสเหล่านั้นดับหายไปจากใจ เป็นความดับไปแห่งรสสัญญา

    ก. ถามว่า โผฏฐัพพสัญญานั้นมีลักษณะอย่างไร?
    ข. ตอบว่า ความจำเครื่องกระทบทางกาย เช่นเราเดินไปเหยียบหนามถูกหนามยอก หรือถูกต้องเย็นร้อนอ่อนแข็ง อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อนึกขึ้นจำความถูกต้องกระทบทางกายเหล่านั้นได้ชื่อว่าโผฏฐัพพสัญญา

    ก. ถามว่า เช่นเมื่อกลางวันนี้เราเดินทางไปถูกแดดร้อนจัด ครั้นกลับมาถึงบ้านนึกถึงที่ไปถูกแดดมานั้น ก็จำได้ว่าวันนี้เราไปถูกแดดร้อนอย่างนี้ เป็นโผฏฐัพพสัญญาถูกไหม?
    ข. ตอบว่า ถูกแล้ว สิ่งใดสิ่งหนึ่งมากระทบถูกต้องทางกาย เมื่อเรานึกคิดถึงอารมณ์เหล่านั้นจำได้ เป็นโผฏฐัพพสัญญาทั้งนั้น เมื่อความจำโผฏฐัพพะเกิดขึ้นในใจ เป็นความเกิดขึ้นแห่งโผฏฐัพพสัญญา เมื่อความจำเหล่านั้นดับหายไปจากใจ เป็นความดับไปแห่งโผฏฐัพพสัญญา

    ก. ถามว่า ธัมมสัญญามีลักษณะอย่างไร?
    ข. ตอบว่า ธัมมสัญญาความจำธรรมารมณ์นั้นละเอียดยิ่งกว่าสัญญา ๕ ที่ได้อธิบายมาแล้ว

    ก. ถามว่า ธรรมารมณ์นั้นได้แก่สิ่งอะไร?
    ข. ตอบว่า เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ ๓ อย่างนี้ ชื่อว่าธรรมารมณ์ เช่นเราได้เสวยเวทนาที่เป็นสุขหรือที่เป็นทุกข์ไว้ แลเวทนาเหล่านั้นดับไปแล้ว นึกขึ้นจำได้อย่างนี้ ชื่อว่าความจำเวทนา หรือเราเคยท่องบ่นอะไรๆ จะจำได้มากก็ตาม หรือจำได้น้อยก็ตาม เมื่อความจำเหล่านั้นดับไป พอนึกขึ้นถึงความจำเก่าก็มาเป็นสัญญาปัจจุบันขึ้น อย่างนี้เรียกว่าความจำสัญญา หรือเราคิดนึกเรื่องอะไรๆ ขึ้นเองด้วยใจ เมื่อความคิดเหล่านั้นดับไป พอเรานึกถึงเรื่องที่เคยคิดเอาไว้นั้น ก็จำเรื่องนั้นได้นี่เรียกว่าความจำสังขารขันธ์ ความจำเรื่องราวของเวทนา สัญญา สังขารเหล่านี้แหละชื่อว่าธัมมสัญญา ความจำธรรมารมณ์ เมื่อความจำธัมมารมณ์มาปรากฏขึ้นในใจ เป็นความเกิดขึ้นแห่งธัมมสัญญา เมื่อความจำธรรมารมณ์เหล่านั้นดับหายไปจากใจเป็นความดับไปแห่งธัมมสัญญา

    ก. ถามว่า แหมช่างซับซ้อนจริงๆ จะสังเกตอย่างไรถูก?
    ข. ตอบว่า ถ้ายังไม่รู้จักอาการขันธ์ ก็สังเกตไม่ถูก ถ้ารู้จักแล้วก็สังเกตได้ง่าย เหมือนคนที่รู้จักตัวแลรู้จักชื่อกันถึงจะพบหรือเห็นกันมากๆ คน ก็รู้จักได้ทุกๆ คน ถ้าคนที่ไม่เคยรู้จักตัวหรือรู้จักชื่อกัน มาแต่คนเดียวก็ไม่รู้จักว่าผู้นั้นคือใครสมด้วยพระพุทธภาษิตในคุหัฏฐกสูตร หน้า ๓๙๕ ที่ว่า
    <center>สญญํ ปริญฺญา วิตเรยฺย โอฏฆํ
    สาธุชนมากำหนดรอบรู้สัญญาแล้วจะพึงข้ามโอฆะได้ </center>


    ก. ถามว่า สังขารขันธ์คืออะไร?
    ข. ตอบว่า สังขารขันธ์คือความคิดความนึก

    ก. ถามว่า สังขารขันธ์เป็นทุกขสัจหรือเป็นสมุทัย?
    ข. ตอบว่า เป็นทุกขสัจ ไม่ใช่สมุทัย

    ก. ถามว่า ก็สังขารขันธ์ตามแบบอภิธรรมสังคหะท่านแจกไว้ว่า มีบาปธรรม ๑๔ โสภณเจตสิก ๒๕ อัญญสมนา ๑๓ รวมเป็นเจตสิก ๕๒ ดวงนั้น ดูมีทั้งบุญทั้งบาป และไม่ใช่บุญไม่ใช่บาปปนกัน ทำไมจึงเป็นทุกขสัจอย่างเดียว ข้าพเจ้ายังฉงนนัก
    ข. ตอบว่า อัญญสมนา ๑๑ ยกเวทนาสัญญาออกเสีย ๒ ขันธ์ เหลืออยู่ ๑๑ นี่แหละเป็นสังขารขันธ์แท้ จะต้องกำหนดรู้ว่าเป็นทุกข์ ส่วนบาปธรรม ๑๔ นั้นเป็นสมุทัย อาศัยสังขารขันธ์เกิดขึ้น เป็นส่วนปหาตัพพธรรมจะต้องละ ส่วนโสภณเจตสิก ๒๕ นั้นเป็นกาเวตัพพธรรมจะต้องเจริญ เพราะฉะนั้นบาปธรรม ๑๕ กับโสภณเจตสิก ๒๕ ไม่ใช่สังขารแท้ เป็นแต่อาศัยสังขารขันธ์เกิดขึ้น จึงมีหน้าที่จะต้องละแลต้องเจริญความคิดความนึกอะไรๆ ที่มาปรากฏขึ้นในใจ เป็นความเกิดขึ้นแห่งสังขารขันธ์ ความคิดความนึกเหล่านั้นดับหายไปจากใจ ก็เป็นความดับไปแห่งสังขารขันธ์

    ก. ถามว่า วิญญาณขันธ์ที่รู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ๖ อย่างนี้ มีลักษณะอย่างไร และเวลาเกิดขึ้นแลดับไปมีอาการอย่างไร?
    ข. ตอบว่า คือตา ๑ รูป ๑ กระทบกันเข้าเกิดความรู้ทางตา เช่นกับเราได้เห็นคนหรือสิ่งของอะไรๆ ก็รู้ได้ว่าคนนั้นคนนี้หรือสิ่งนั้นสิ่งนี้ชื่อว่าจักขุวิญญาณ เมื่อรูปมาปรากฏกับตา เกิดความรู้ทางตา เป็นความเกิดขึ้นแห่งจักขุวิญญาณ เมื่อความรู้ทางตาดับหายไปเป็นความดับไปแห่งจักขุวิญญาณ หรือความรู้เสียงทางหู รู้กลิ่นทางจมูก รู้รสทางลิ้น รู้โผฏฐัพพะทางกายมาปรากฏขึ้น ก็เป็นความเกิดขึ้นแห่งโสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ เมื่อใจกับธรรมารมณ์มากระทบกันเข้า เกิดความรู้ทางใจ เรียกว่ามโนวิญญาณ

    ก. ถามว่า ใจนั้นได้แก่สิ่งอะไร ธรรมารมณ์ได้แก่สิ่งอะไร?
    ข. ตอบว่า ใจนั้นเป็นเครื่องรับธรรมารมณ์ให้เกิดความรู้ทางใจ เหมือนอย่างตาเป็นเครื่องรับรูปให้เกิดความรู้ทางตา

    ก. ถามว่า รู้เวทนา รู้สัญญา รู้สังขารนั้น รู้อย่างไร?
    ข. ตอบว่า รู้เวทนานั้น เช่นสุขเวทนาปัจจุบันเกิดขึ้นก็รู้ว่าเป็นสุข หรือทุกข์เวทนาเกิดขึ้นก็รู้ว่าเป็นทุกข์ อย่างนี้แลรู้เวทนา หรือสัญญาใดมาปรากฏขึ้นในใจ จะเป็นความจำรูปหรือความจำเสียงก็ดี ก็รู้สัญญานั้น อย่างนี้เรียกว่ารู้สัญญา หรือความคิดเรื่องอะไรๆ ขึ้น ก็รู้ไปในเรื่องนั้น อย่างนี้รู้สังขาร ความรู้เวทนา สัญญา สังขาร ๓ อย่างนี้ต้องรู้ทางใจเรียกว่ามโนวิญญาณ

    ก. ถามว่า มโนวิญญาณความรู้ทางใจก็เหมือนกันกับธรรมสัญญา ความจำธรรมารมณ์อย่างนั้นหรือ เพราะนี่ก็รู้ว่าเวทนา สัญญา สังขาร นั่นก็จำเวทนา สัญญา สังขาร
    ข. ตอบว่า ต่างกัน เพราะสัญญานั้นจำอารมณ์ที่ล่วงแล้ว แต่ตัวสัญญาเอง เป็นสัญญาปัจจุบัน ส่วนมโนวิญญาณนั้นก็รู้เวทนา สัญญา สังขาร ที่เป็นอารมณ์ปัจจุบัน เมื่อความรู้เวทนา สัญญาณ สังขาร มาปรากฏขึ้นในใจ เป็นความเกิดขึ้นแห่งมโนวิญญาณ เมื่อความรู้เวทนา สัญญา สังขาร ดับหายไปจากใจ เป็นความดับไปแห่งมโนวิญญาณ

    ก. ถามว่า เช่นผงเข้าตา รู้ว่าเคืองตา เป็นความรู้ทางตา ใช่ใหม?
    ข. ตอบว่า ไม่ใช่ เพราะรู้ทางตานั้น หมายรูปที่มากระทบตาเกิดความรู้ขึ้น ส่วนผงเข้าตานั้นเป็นกายสัมผัส ต้องเรียกว่ารู้โผฏฐัพพะ เพราะตานั้นเป็นกาย ผงนั้นเป็นโผฏฐัพพะเกิดความรู้ขึ้น ชื่อว่ารู้ทางกาย ถ้าผงเข้าตาคนอื่นเขาวานเราไปดู เมื่อเราได้เห็นผง เกิดความรู้ขึ้น ชื่อว่ารู้ทางตา

    ก.บอกว่า สาธุ ข้าพเจ้าเข้าใจได้ความในเรื่องนี้ชัดเจนดีแล้ว แต่ขันธ์ ๕ นั้นยังไม่ได้ความว่าจะเกิดขึ้นทีละอย่างสองอย่าง หรือว่าจะต้องเกิดพร้อมกันทั้ง ๕ ขันธ์
    ข. ตอบว่า ต้องเกิดพร้อมกันทั้ง ๕ ขันธ์

    ก. ถามว่า ขันธ์ ๕ ที่เกิดพร้อมกันนั้น มีลักษณะอย่างไร? และความดับมีอาการอย่างไร? ขอให้ชี้ตัวอย่างให้ขาวสักหน่อย
    ข. ตอบว่า เช่นเวลาเรานึกถึงรูปคนหรือรูปสิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่ง อาการที่นึกขึ้นนั้นเป็นลักษณะของสังขารขันธ์ รูปร่างหรือสิ่งของเหล่านั้นมาปรากฏขึ้นในใจ นี่เป็นลักษณะของรูปสัญญา ความรู้ที่เกิดขึ้นในเวลานั้น นี่เป็นลักษณะของมโนวิญญาณสุขหรือทุกข์หรืออุเบกขาที่เกิดขึ้นในคราวนั้น นี่เป็นลักษณะของเวทนามหาภูตรูปหรืออุปทายรูปที่ปรากฏอยู่นั้นเป็นลักษณะของ รูป อย่างนี้เรียกว่าความเกิดขึ้นแห่งขันธ์พร้อมกันทั้ง ๕ เมื่ออาการ ๕ อย่างนั้นดับไป เป็นความดับไปแห่งขันธ์ทั้ง ๕

    ก. ถามว่า ส่วนนามทั้ง ๕ เกิดขึ้นและดับไปพอจะเห็นด้วย แต่ที่ว่ารูปดับนั้นยังไม่เข้าใจ?
    ข. ตอบว่า ส่วนรูปนั้นมีความแปรปรวนอยู่เสมอ เช่นของเก่าเสื่อมไป ของใหม่เกิดขึ้น แต่ทว่าไม่เห็นเอง เพราะรูปสันตติ รูปที่ติดต่อเนื่องนั้นบังเสียจึงแลไม่เห็น แต่ก็ลองนึกดูถึงรูปตั้งแต่เกิดมาจนถึงวันนี้ เปลี่ยนไปแล้วสักเท่าไร ถ้ารูปไม่ดับก็คงไม่มีเวลาแก่แลเวลาตาย

    ก. ถามว่า ถ้าเราสังเกตขันธ์ ๕ ว่าเวลาเกิดขึ้นและดับไปนั้น จะสังเกตอย่างไรจึงจะเห็นได้ แลที่ว่าขันธ์ที่สิ้นไปเสื่อมไปนั้นมีลักษณะอย่างไร เพราะว่าเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แล้วก็เกิดขึ้นได้อีก ดูเป็นของคงที่ไม่เห็นมีความเสื่อม?
    ข. หัวเราะ แล้วตอบว่า พูดกับคนที่ไม่เคยเห็นความจริงนั้นช่างน่าขันเสียเหลือเกิน วิธีสังเกตขันธ์ ๕ นั้นก็ต้องศึกษาให้รู้จักอาการขันธ์ตามความเป็นจริง แล้วก็มีสติสงบความคิดอื่นเสียหมดแล้ว จนเป็นอารมณ์อันเดียวที่เรียกว่าสมาธิ ในเวลานั้นความคิดอะไรๆ ไม่มีแล้ว ส่วนรูปนั้นหมายลมหายใจ ส่วนเวทนาก็มีแต่ปีติหรือสุข ส่วนสัญญาก็เป็นธัมมสัญญาอย่างเดียว ส่วนสังขารเวลานั้นเป็นสติกับสมาธิหรือวิตกวิจารอยู่ ส่วนวิญญาณก็เป็นแต่ความรู้อยู่ในเรื่องที่สงบนั้น ในเวลานั้นขันธ์ ๕ เข้าไปรวมอยู่เป็นอารมณ์เดียว ในเวลานั้นต้องสังเกตอารมณ์ปัจจุบันที่ปรากฏอยู่เป็นความเกิดขึ้นแห่งขันธ์ พออารมณ์ปัจจุบันนั้นดับไปเป็นความดับไปแห่งนามขันธ์นั้น ส่วนรูปนั้นเช่นลมหายใจออกมาแล้ว พอหายใจเข้ากลับเข้าไป ลมหายใจออกนั้นก็ดับไปแล้ว ครั้นกลับมาหายใจออกอีก ลมหายใจเข้าก็ดับไปแล้ว นี่แหละเป็นความดับไปแห่งขันธ์ทั้ง ๕ แล้วปรากฏขึ้นมาอีก ก็เป็นความเกิดขึ้นทุกๆ อารมณ์ แลขันธ์ ๕ ที่เกิดขึ้นดับไป ไม่ใช่ดับไปเปล่าๆ รูปชีวิตินทรีย์ความเป็นอยู่ของรูปขันธ์ อรูปชีวิตินทรีย์ความเป็นอยู่ของนามขันธ์ทั้ง ๓ เมื่ออารมณ์ดับไปครั้งหนึ่ง ชีวิตแลอายุของขันธ์ทั้ง ๕ ก็สิ้นไปหมดไปทุกๆ อารมณ์


     
  7. wisarn

    wisarn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    741
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +2,505
    พระธรรมเจดีย์

    วิธีสังเกตอาการขันธ์ที่สิ้นไปเสื่อมไปนั้น หมายเอาหรือคิดเอา?

    พระอาจารย์มั่น


    หมายเอาก็เป็นสัญญา คิดเอาก็เป็นเจตนา เพราะฉะนั้นไม่ใช่หมายไม่ใช่คิด ต้องเข้าไปเห็นความจริงที่ปรากฎเฉพาะหน้า จึงจะเป็นปัญญาได้

    พระธรรมเจดีย์


    ถ้าเช่นนั้นจะดูความสิ้นไปเสื่อมไปของขันธ์ทั้ง 5 มิต้องตั้งพิธีทำใจให้เป็นสมาธิทุกคราวไปหรือ?

    พระอาจารย์มั่น


    ถ้ายังไม่เคยเห็นความจริง ก็ต้องตั้งพิธีเช่นนี้ร่ำไป ถ้าเคยเห็นความจริงเสียแล้วก็ไม่ต้องตั้งพิธีทำใจให้เป็นสมาธิทุกคราวก็ได้ แต่พอมีสติขึ้น ความจริงก็ปรากฎเพราะเคยเห็นแลรู้จักความจริงเสียแล้ว เมื่อมีสติรู้ตัวขึ้นมาเวลาใด ก็เป็นสมถวิปัสสนากำกับกันไปทุกคราว

    พระธรรมเจดีย์


    ที่ว่าชีวิตแลอายุขันธ์สิ้นไปเสื่อมไปนั้นคือ สิ้นไปเสื่อมไปอย่างไร?

    พระอาจารย์มั่น


    เช่นเราจะมีลมหายใจอยู่ได้สัก 100 หน ก็จะตาย ถ้าหายใจเสียหนหนึ่งแล้ว ก็คงเหลืออีก 99 หน หรือเราจะคิดจะนึกอะไรได้สัก 100 หน เมื่อคิดนึกเสียหนหนึ่งแล้ว คงเหลืออีก 99 หน ถ้าเป็นคนอายุยืนก็หายใจอยู่ได้มากหน หรือคิดนึกอะไรๆอยู่ได้มากหน ถ้าเป็นคนอายุสั้น ก็มีลมหายใจและคิดนึกอะไรๆอยู่ได้น้อยหน ที่สุดก็หมดลงวันหนึ่ง เพราะจะต้องตายเป็นธรรมดา

    พระธรรมเจดีย์


    ถ้าเราจะหมายจะคิดอยู่ในเรื่องความจริงของขันธ์อย่างนี้ จะเป็นปัญญาไหม?

    พระอาจารย์มั่น


    ถ้าคิดเอาหมายเอา ก็เป็นสมถะ ที่เรียกว่ามรณัสสติ เพราะปัญญานั้น ไม่ใช่เรื่องหมายหรือเรื่องคิด เป็นเรื่องของความเห็นอารมณ์ปัจจุบันที่ปรากฎเฉพาะหน้าราวกับตาเห็นรูปจึงจะเป็นปัญญา

    พระธรรมเจดีย์


    เมื่อจิตสงบแล้ว ก็คอยสังเกตดูอาการขันธ์ที่เป็นอารมณ์ปัจจุบัน เพื่อจะให้เห็นความจริง นั่นเป็นเจตนาใช่ไหม?

    พระอาจารย์มั่น


    เวลานั้นเป็นเจตนาจริงอยู่ แต่ความจริงก็ยังไม่ปรากฎ เวลาที่ความจริงปรากฎขึ้นนั้นพ้นเจตนาทีเดียว ไม่เจตนาเลย เป็นความเห็นที่เกิดขึ้นเป็นพิเศษต่อจากจิตที่สงบแล้ว

    พระธรรมเจดีย์


    จิตคู่กับเจตสิก ใจคู่กับธัมมารมณ์ มโนธาตุคู่กับธรรมธาตุ 3 คู่นี้เหมือนกันหรือต่างกัน?

    พระอาจารย์มั่น


    เหมือนกัน เพราะว่าจิตกับมโนธาตุกับใจนั้นอย่างเดียวกัน ส่วนใจนั้นเป็นภาษาไทย ภาษาบาลีท่านเรียกว่ามโน เจตสิกนั้นก็ได้แก่เวทนา สัญญา สังขาร ธัมมารมณ์นั้นก็คือ เวทนา สัญญา สังขาร ธรรมธาตุนั้นก็คือ เวทนา สัญญา สังขาร

    พระธรรมเจดีย์


    ใจนั้นทำไมจึงไม่ใคร่ปรากฎ เวลาที่สังเกตดูก็เห็นแต่เหล่าธัมมารมณ์ คือ เวทนาบ้าง สัญญาบ้าง สังขารบ้าง มโนวิญญาณความรู้ทางใจบ้าง เพราะเหตุไร ใจจึงไม่ปรากฎเหมือนเหล่าธัมมารมณ์ กับมโนวิญญาณ?

    พระอาจารย์มั่น


    ใจนั้นเป็นของละเอียด เห็นได้ยาก พอพวกเจตสิกธรรมที่เป็นเหล่าธัมมารมณ์มากระทบเข้าก็เกิดมโนวิญญาณ ถูกผสมเป็นมโนสัมผัสเสียทีเดียว จึงแลไม่เห็นมโนธาตุได้

    พระธรรมเจดีย์


    อุเบกขาในจตุตถฌาณ เป็นอทุกขมสุขเวทนา ใช่หรือไม่?

    พระอาจารย์มั่น


    ไม่ใช่ อทุกขมสุขเวทนานั้นเป็นเจตสิกธรรม ส่วนอุเบกขาในจตุตถฌานนั้นเป็นจิต

    พระธรรมเจดีย์


    สังโยชน์ 10 นั้น คือ สักกายทิฎฐิ วิจิกิจฉา สีลัพตปรามาส กามราคะ พยาบาท รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา ที่แบ่งเป็นสังโยชน์เบื้องต่ำ 5 เบื้องบน 5 นั้น ก็ส่วนสักกายทิฎฐิที่ท่านแจกไว้ ตามแบบขันธ์ละ 4 รวม 5 ขันธ์ เป็น 20 ที่ว่า ย่อมเห็นรูปโดยความเป็นตัวตนบ้าง ย่อมเห็นตัวตนว่ามีรูปบ้าง ย่อมเห็นรูปในตัวตนบ้าง ย่อมเห็นตัวตนในรูปบ้าง ย่อมเห็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณโดยความเป็นตัวตนบ้าง ย่อมเห็นตัวตนว่ามี เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณบ้าง ย่อมเห็น เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณในตัวตนบ้าง ย่อมเห็นตัวตนใน เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณบ้าง ถ้าฟังดูท่านที่ละสักกายทิฎฐิได้แล้ว ดูไม่เป็นตัวเป็นตน แต่ทำไมพระโสดาบันก็ละสักกายทิฎฐิได้แล้ว สังโยชน์ยังอยู่อีกถึง 7 ข้าพเจ้าฉงนนัก?

    พระอาจารย์มั่น


    สักกายทิฎฐิ ที่ท่านแปลไว้ตามแบบ ใครๆฟังก็ไม่ใคร่เข้าใจ เพราะท่านแต่ก่อน ท่านพูดภาษามคธกัน ท่านเข้าใจได้ความกันดี ส่วนเราเป็นไทย ถึงแปลแล้วก็จะไม่เข้าใจของท่าน จึงลงความเห็นว่าไม่เป็นตัวเป็นตนเสีย ดูออกจะแรงมากไป ควรจะนึกถึงพระโกณฑัญญะ ในธัมมจักรท่านได้เป็นโสดาบันก่อนคนอื่น ท่าได้ความเห็นว่า ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นล้วนมีความดับเป็นธรรมดา และพระสารีบุตรพบพระอัสสชิ ได้ฟังอริยสัจย่อว่า เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตุ ตถาคโต เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํวาที มหาสมโณ "ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตเจ้าทรงแสดงเหตุของธรรมเหล่านั้น และความดับของธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีปกติกล่าวอย่างนี้" ท่านก็ได้ดวงตาเห็นธรรม ละสักกายทิฎฐิได้

    พระธรรมเจดีย์

    ถ้าเช่นนั้นท่านก็เห็นความจริงของปัญจขันธ์ ถ่ายความเห็นผิด คือ ทิฎฐิวิปลาสเสียได้ ส่วนสีลัพพัตกับวิจิกิจฉา 2 อย่างนั้น ทำไมจึงหมดไปด้วย?

    พระอาจารย์มั่น


    สักกายทิฎฐินั้น เป็นเรื่องของความเห็นผิด ถึงสีลัพพัตก็เกี่ยวกับความเห็นว่าสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆที่มีอยู่ในโลกจะให้ดีให้ชั่วได้ วิจิกิจฉานั้นเมื่อผู้ที่ยังไม่เคยเห็นความจริง ก็ต้องสงสัยเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นท่านที่ได้ดวงตาเห็นธรรม คือ เห็นความจริงของสังขารทั้งปวง ส่วนสีลัพพัตนั้น เพราะความเห็นของท่านตรงแล้วจึงเป็นอจลสัทธา ไม่เห็นไปว่าสิ่งอื่น นอกจากธรรมที่เป็นกุศลและอกุศล จะให้ดีให้ชั่วได้ จึงเป็นอันละสีลัพพัตอยู่เอง เพราะสังโยชน์ 3 เป็นกิเลสประเภทเดียวกัน

    พระธรรมเจดีย์


    ถ้าตอบสังโยชน์ 3 อย่างนี้แล้ว มิขัดกันกับสักกายทิฎฐิตามแบบที่ว่า ไม่เป็นตัวเป็นตนหรือ?

    พระอาจารย์มั่น


    คำที่ว่าไม่เป็นตัวเป็นตนนั้น เป็นเรื่องที่เข้าใจเอาเองต่างหาก เช่น กับพระโกณฑัญญะเมื่อฟังธรรมจักร ท่านก็ละสักกายทิฎฐิได้แล้ว ทำไมจึงต้องฟังอนัตตลักขณะสูตรอีกเล่า นี่ก็ส่อให้เห็นได้ว่า ท่านผู้ที่ละสักกายทิฎฐิได้นั้น คงไม่ใช่เห็นว่าไม่เป็นตัวเป็นตน

    พระธรรมเจดีย์


    ถ้าเช่นนั้น ที่ว่าเห็นอนัตตา ก็คือเห็นว่าไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอย่างนั้นหรือ?

    พระอาจารย์มั่น


    อนัตตาในอนัตตะลักขณะสูตร ที่พระพุทธเจ้าทรงซักพระปัญจวัคคีย์ มีเนื้อความว่าขันธ์ 5 ไม่เป็นไปในอำนาจ สิ่งที่ไม่เป็นไปในอำนาจบังคับไม่ได้ จึงชื่อว่าเป็นอนัตตา ถ้าขันธ์ 5 เป็นอัตตาแล้วก็คงจะบังคับได้ เพราะฉะนั้นเราจึงควรเอาความว่าขันธ์ 5 ที่ไม่อยู่ในอำนาจ จึงเป็นอนัตตา เพราะเหตุที่บังคับไม่ได้ ถ้าขันธ์ 5 เป็นอัตตาตัวตนก็คงจะบังคับได้

    พระธรรมเจดีย์


    ถ้าเช่นนั้นเห็นอย่างไรเล่า จึงเป็นสักกายทิฎฐิ?

    พระอาจารย์มั่น


    ตามความเห็นของข้าพเจ้า ว่าไม่รู้จักขันธ์ 5 ตามความเป็นจริง เห็นปัญจขันธ์ว่าเป็นตน และเที่ยงสุข เป็นตัวตนแก่นสาร และเลยเห็นไปว่าเป็นสุภะความงามด้วย ที่เรียกว่าทิฎฐิวิปลาส นี่แหละเป็นสักกายทิฎฐิ เพราะฉะนั้นจึงเป็นคู่ปรับกับ ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ ซึ่งเป็นความเห็นถูก ความเห็นชอบ จึงถ่ายความเห็นผิดเหล่านั้นได้

    พระธรรมเจดีย์


    ถ้าเช่นนั้น ท่านที่ละสักกายทิฎฐิได้แล้ว อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา จะเป็นอัธยาศัยได้ไหม?

    พระอาจารย์มั่น


    ถ้าฟังดูตามแบบท่านเห็น ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ ชัดเจน อนิจฺจํ คงเป็นอัธยาศัย ส่วนทุกขํ กับอนตฺตา ถึงจะเห็นก็ไม่เป็นอัธยาศัย เข้าใจว่าถ้าเห็นปัญจขันธ์ เป็นทุกข์มากเข้า กามราคะพยาบาทก็คงน้อย ถ้าเห็นปัญจขันธ์เป็นอนัตตามากเข้า กามราคะพยาบาทก็คงหมด ถ้าเห็นว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ชัดเจนเข้า สังโยชน์เบื้องบนก็คงหมด นี่เป็นส่วนความเข้าใจ แต่ตามแบบท่านก็ไม่ได้อธิบายไว้

    พระธรรมเจดีย์


    ที่ว่าพระสกิทาคามี ทำการราคะพยาบาทให้น้อยนั้น ดูมัวไม่ชัดเจน เพราะไม่ทราบว่าน้อยแค่ไหน ไม่แตกหักเหมือนพระโสดาบัน พระอนาคามีและพระอรหันต์

    พระอาจารย์มั่น


    แตกหักหรือไม่แตกหัก ก็ใครจะไปรู้ของท่าน เพราะว่าเป็นของเฉพาะตัว

    พระธรรมเจดีย์

    ถ้าจะสันนิษฐานไปตามแนวพระปริยัติก็จะชี้ตัวอย่างให้เข้าใจบ้างหรือไม่?

    พระอาจารย์มั่น


    การสันนิษฐานนั้นเป็นของไม่แน่ ไม่เหมือนอย่างได้รู้เองเห็นเอง

    พระธรรมเจดีย์

    แน่หรือไม่แน่ก็เอาเถิด ข้าพเจ้าอยากฟัง?

    พระอาจารย์มั่น

    ถ้าเช่นนั้นข้าพเจ้าเห็นว่าท่านที่ได้เป็นโสดาบันเสร็จแล้ว มีอัธยาศัยใจคอซึ่งต่างกับปุถุชน ท่านได้ละกามราคะพยาบาทส่วนหยาบถึงกับล่วงทุจริตซึ่งเป็นฝ่ายอบายคามีได้ คงเหลือแต่อย่างกลาง อย่างละเอียดอีก 2 ส่วน ภายหลังท่านเจริญสมถวิปัสสนามากขึ้น ก็ละกามราคะปฏิฆะสังโยชน์อย่างกลางได้อีกส่วนหนึ่ง ข้าพเจ้าเห็นว่านี่แหละเป็นมรรคที่ 2 ต่อมาท่านประพฤติปฏิบัติละเอียดเข้า ก็ละกามราคะพยาบาทที่เป็นอย่างละเอียดได้ขาด ชื่อว่าพระอนาคามี

    พระธรรมเจดีย์

    กามราคะพยาบาทอย่างหยาบถึงกับล่วงทุจริต หมายทุจริตอย่างไหน?

    พระอาจารย์มั่น

    หมายเอาอกุศลกรรมบถ 10 ว่าเป็นทุจริตอย่างหยาบ

    พระธรรมเจดีย์

    ถ้าเช่นนั้นพระโสดาบันท่านก็ละอกุศลกรรมบถ 10 ได้ เป็นสมุจเฉทหรือ?

    พระอาจารย์มั่น


    ตามความเห็นของข้าพเจ้า เห็นว่ากายทุจริต 3 คือ ปาณา อทินนา กาเมสุมิจฉาจาร มโนทุจริต 3 อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฎฐินี้ละขาดได้เป็นสมุจเฉท ส่วนวจีกรรมที่ 4 คือ มุสาวาทก็ละได้ขาด ส่วนวจีกรรมอีก 3 ตัว คือ ปิสุณาวาจา ผรุสวาจา สัมผัปปลาป ละได้แต่ส่วนหยาบที่ปุถุชนกล่าวอยู่ แต่ส่วนละเอียดยังละไม่ได้ต้องอาศัยสังวรความระวังไว้

    พระธรรมเจดีย์


    ที่ต้องสำรวมวจีกรรม 3 เพราะเหตุอะไร ทำไมจึงไม่ขาดอย่างมุสาวาท?

    พระอาจารย์มั่น


    เป็นด้วยกามราคะ กับปฏิฆะ สังโยชน์ทั้ง 2 ยังละไม่ได้

    พระธรรมเจดีย์


    วจีกรรม 3 มาเกี่ยวอะไรกับสังโยชน์ทั้ง 2 ด้วยเล่า?

    พระอาจารย์มั่น


    บางคาบบางสมัย เป็นต้นว่ามีเรื่องที่จำเป็นเกิดขึ้น ในคนรักของท่านกับคนอีกคนหนึ่ง ซึ่งเขาทำความไม่ดีอย่างใดอย่างหนึ่ง จำเป็นที่จะต้องพูด ครั้นพูดไปแล้วเป็นเหตุให้เขาห่างจากคนนั้น จึงต้องระวัง ส่วนปิสุณาวาจา บางคราวความโกรธเกิดขึ้นที่สุดจะพูดออกไป ด้วยกำลังใจที่โกรธว่าพ่อมหาจำเริญแม่มหาจำเริญ ที่เรียกว่าประชดท่าน ก็สงเคราะห์เข้าใจผรุสวาจา เพราะเหตุนั้นจึงต้องสำรวม ส่วนสัมผัปปลาปนั้น ดิรัจฉานกถาต่างๆมีมาก ถ้าสมัยที่เผลอสติมีคนมาพูด ก็อาจจะพลอยพูดไปด้วยได้ เพราะเหตุนั้นจึงต้องสำรวม

    พระธรรมเจดีย์


    อ้อพระโสดาบันยังมีเวลาเผลอสติอยู่หรือ?

    พระอาจารย์มั่น


    ทำไมท่าจะไม่เผลอ สังโยชน์ยังอยู่อีกถึง 7 ท่านไม่ใช่พระอรหันต์จะได้บริบูรณ์ด้วยสติ

    พระธรรมเจดีย์


    กามราคะ พยาบาท อย่างกลางหมายความเอาแค่ไหน เมื่อเกิดขึ้นจะได้รู้?

    พระอาจารย์มั่น


    ความรักแลความโกรธที่ปรากฎขึ้น มีเวลาสั้นหายเร็ว ไม่ถึงกับล่วงทุจริต นี่แหละเป้นอย่างกลาง

    พระธรรมเจดีย์


    ก็กามราคะ พยาบาท อย่างละเอียดนั้นหมายเอาแค่ไหน แลเรียกว่าพยาบาทดูหยาบมาก เพราะเป็นชื่อของอกุศล?

    พระอาจารย์มั่น


    บางแห่งท่านก็เรียกว่าปฏิฆะสังโยชน์ก็มี แต่ความเห็นของข้าพเจ้าว่า ไม่ควรเรียกพยาบาท ควรจะเรียกปฏิฆะสังโยชน์ดูเหมาะดี

    พระธรรมเจดีย์


    ก็ปฏิฆะกับกามราคะที่อย่างละเอียดนั้นจะได้แก่อาการของจิตเช่นใด?

    พระอาจารย์มั่น


    ความกำหนัดที่อย่างละเอียด พอปรากฎขึ้นไม่ทันคิดออกไปก็หายทันที ส่วนปฏิฆะนั้น เช่นคนที่มีสาเหตุโกรธกันมาแต่ก่อน ครั้นนานมาความโกรธนั้นก็หายไปแล้ว และไม่ได้นึกถึงเสียเลย ครั้นไปในที่ประชุมแห่งใดแห่งหนึ่ง ไปพบคนนั้นเข้ามีอาการสะดุดใจ ไม่สนิทสนมหรือเก้อเขิน ผิดกับคนธรรมดา ซึ่งไม่เคยมีสาเหตุกัน ข้าพเจ้าเห็นว่าอาการเหล่านี้เป็นอย่างละเอียด ควรจะเรียกปฏิฆะสังโยชน์ได้ แต่ตามแบบท่านก็ไม่ได้อธิบายไว้

    พระธรรมเจดีย์


    สังโยชน์ทั้ง 2 นี้ เห็นจะเกิดจากคนโดยตรง ไม่ใช่เกิดจากสิ่งของทรัพย์สมบัติอื่นๆ?

    พระอาจารย์มั่น


    ถูกแล้ว เช่นวิสาขะอุบาสกเป็นพระอนาคามี ได้ยินว่าหลีกจากนางธัมมทินนา ไม่ได้หลีกจากสิ่งของทรัพย์สมบัติส่วนอื่นๆ ส่วนความโกรธหรือปฏิฆะที่เกิดขึ้น ก็เป็นเรื่องของคนทั้งนั้น ถึงแม้จะเป็นเรื่องสิ่งของก็เกี่ยวข้องกับคน ตกลงโกรธคนนั่นเอง

    พระธรรมเจดีย์


    ส่วนสังโยชน์เบื้องต่ำนั้น ก็ได้รับความอธิบายมามากแล้ว แต่ส่วนสังโยชน์เบื้องบน 5 ตามแบบอธิบายไว้ว่า รูปราคะ คือ ยินดีในรูปฌาน อรูปราคะยินดีในอรูปฌาน ถ้าเช่นนั้นคนที่ไม่ได้บรรลุฌานสมาบัติ 8 สังโยชน์ทั้งสองก็ไม่มีโอกาสจะเกิดได้ เมื่อเป็นเช่นนี้สังโยชน์สองอย่างนี้ ไม่มีหรือ?

    พระอาจารย์มั่น


    มี ไม่เกิดในฌาน ก็ไปเกิดในเรื่องอื่น

    พระธรรมเจดีย์


    เกิดในเรื่องไหนบ้าง ขอท่านจงอธิบายให้ข้าพเจ้าเข้าใจ?

    พระอาจารย์มั่น


    ความยินดีในรูปขันธ์ หรือความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ นั้นชื่อว่ารูปราคะ ความยินดีในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือยินดีในสมถวิปัสสนา หรือยินดีในส่วนมรรคผล ที่ได้บรรลุเสขคุณแล้ว เหล่านี้ก็เป็นอรูปราคะได้

    พระธรรมเจดีย์

    ก็ความยินดีในกาม 5 พระอนาคามีละได้แล้วไม่ใช่หรือ ทำไมจึงมาเกี่ยวกับสังโยชน์เบื้องบนอีกเล่า?

    พระอาจารย์มั่น


    กามมี 2 ชั้น ไม่ใช่ชั้นเดียว ที่พระอนาคามีละได้นั้น เป็นส่วนกำหนัดในเมถุน ซึ่งเป็นคู่กับพยาบาท ส่วนความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ที่ไม่ได้เกี่ยวกับเมถุน จึงเป็นสังโยชน์เบื้องบน คือรูปราคะ ส่วนความยินดีในนามขันธ์ทั้ง 4 หรือสมถวิปัสสนาหรือมรรคผลชั้นต้นๆเหล่านี้ ชื่อว่าอรูปราคะ ซึ่งตรงกับความยินดีในธัมมารมณ์ เพราะฉะนั้นพระอรหันต์ทั้งหลายเบื่อหน่ายในรูปขันธ์ หรือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ เป็นภายนอก จึงได้สิ้นไปแห่งรูปราคะสังโยชน์ และท่านเบื่อในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และสมถหรือวิปัสสนาที่อาศัยขันธ์ เกิดขึ้นเมื่อท่านสิ้นความยินดีในนามขันธ์แล้ว แม้ธรรมทั้งหลายอาศัยขันธ์เกิดขึ้นท่านก็ไม่ยินดี ได้ชื่อว่าละความยินดีในธัมมารมณ์ซึ่งคู่กับความยินร้าย เพราะความยินดียินร้ายในนามรูปหมดแล้ว ท่านจึงเป็นผู้พ้นแล้วจากความยินดียินร้ายในอารมณ์ 6 จึงถึงพร้อมด้วยคุณ คือ ฉะลังคุเบกขา

    พระธรรมเจดีย์


    แปลกมากยังไม่เคยได้ยินใครอธิบายอย่างนี้ ส่วนมานะสังโยชน์นั้น มีอาการอย่างไร?

    พระอาจารย์มั่น


    มานะสังโยชน์นั้นมีอาการให้วัด เช่นกับนึกถึงตัวของตัว ก็รู้สึกว่าเป็นเรา ส่วนคนอื่นก็เห็นว่าเป็นเขา แลเห็นว่าเราเสมอกับเขา หรือเราสูงกว่าเขา หรือเราต่ำกว่าเขา อาการที่วัดชนิดนี้แหละเป็นมานะสังโยชน์ ซึ่งเป็นคู่ปรับกับอนัตตา หรือ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา

    พระธรรมเจดีย์


    ก็อุทธัจจสังโยชน์นั้นมีลักษณะอย่างไร เช่น พระอนาคามีละสังโยชน์เบื้องต่ำได้หมดแล้ว ส่วนอุทธัจจสังโยชน์จะฟุ้งไปทางไหน?

    พระอาจารย์มั่น


    ตามแบบท่านอธิบายไว้ว่า ฟุ้งไปในธรรม เพราะท่านยังไม่เสร็จกิจจึงได้ฝักใฝ่อยู่ในธรรม

    พระธรรมเจดีย์


    อวิชชาสังโยชน์นั้นไม่รู้อะไร?

    พระอาจารย์มั่น


    ตามแบบท่านอธิบายไว้ว่า ไม่รู้ขันธ์ที่เป็นอดีต 1 อนาคต 1 ปัจจุบัน 1 อริยสัจ 4 ปฏิจจสมุปาท 1 ความไม่รู้ในที่ 8 อย่างนี้แหละชื่อว่าอวิชชา

    พระธรรมเจดีย์


    พระเสขบุคคลท่านก็รู้อริยสัจ 4 ด้วยกันทั้งนั้น ทำไมอวิชชาสังโยชน์จึงยังอยู่?

    พระอาจารย์มั่น


    อวิชชามีหลายชั้น เพราะฉะนั้นวิชชาก็หลายชั้น ส่วนพระเสขบุคคล มรรคแลผลชั้นใดที่ท่านได้บรรลุแล้ว ท่านก็รู้เป็นวิชชาขึ้น ชั้นใดยังไม่รู้ ก็ยังเป็นอวิชชาอยู่ เพราะฉะนั้นจึงหมดในขั้นที่สุด คือพระอรหันต์

    พระธรรมเจดีย์


    พระเสขบุคคลท่านเห็นอริยสัจ แต่ละตัณหาไม่ได้ มิไม่ได้ทำกิจในอริยสัจหรือ?

    พระอาจารย์มั่น


    ท่านก็ทำทุกชั้นนั้นแหละ แต่ก็ทำตามกำลัง

    พระธรรมเจดีย์


    ที่ว่าทำตามชั้นนั้นทำอย่างไร?

    พระอาจารย์มั่น


    เช่น พระโสดาบันได้เห็นปัญจขันธ์เกิดขึ้นดับไป ก็ชื่อว่าได้กำหนดรู้ทุกข์ และได้ละสังโยชน์ 3 หรือทุจริตส่วนหยาบๆ ก็เป็นอันละสมุทัย ความที่สังโยชน์ 3 สิ้นไปเป็นส่วนนิโรธตามชั้นของท่าน ส่วนมรรคท่านก็ได้เจริญมีกำลังพอละสังโยชน์ 3 ได้ แลท่านปิดอบายได้ ชื่อว่าท่านทำภพคือทุคติให้หมดไปที่ตามแบบเรียกว่า ขีณนิรโย มีนรกสิ้นแล้ว ส่วนพระสกิทาคามี ก็ได้กำหนดทุกข์ คือ ปัญจขันธ์แล้วละกามราคะ พยาบาทอย่างกลาง ได้ชื่อว่าละสมุทัยข้อที่ กามราคะ พยาบาท อย่างกลางหมดไป จึงเป็นนิโรธของท่าน ส่วนมรรคนั้นก็เจริญมาได้เพียงละกามราคะพยาบาทอย่างกลางนี่แหละ จึงได้ทำภพชาติให้น้อยลง ส่วนพระอนาคามีทุกข์ได้กำหนดแล้ว ละกามราคะพยาบาทส่วนละเอียดหมด ได้ชื่อว่าละสมุทัยกามราคะพยาบาทอย่างละเอียดนี่หมดไปจึงเป็นนิโรธของท่าน ส่วนมรรคนั้นก็เจริญมาเพียงละสังโยชน์ 5 ได้หมด แลได้สิ้นภพ คือ กามธาตุ

    พระธรรมเจดีย์


    ศีล สมาธิ ปัญญา ที่เป็นโลกีย์กับโลกุตตรนั้น ต่างกันอย่างไร?

    พระอาจารย์มั่น


    ศีล สมาธิ ปัญญา ของผู้ปฏิบัติในภูมิกามาพจร รูปาพจร อรูปาพจร นี่แหละเป็นโลกีย์ที่เรียกว่าวัฏฏคามีกุศล เป็นกุศลที่วนอยู่ในโลก ส่วนศีล สมาธิ ปัญญา ของท่านผู้ปฏิบัติตั้งแต่โสดาบันแล้วไป เรียกว่าวิวัฎฎคามีกุศล เป็นเครื่องข้ามขึ้นจากโลก นี่แหละเป็นโลกุตตร

    พระธรรมเจดีย์

    ท่านที่บรรลุฌานถึงอรูปสมาบัติแล้ว ก็ยังเป็นโลกีย์อยู่ ถ้าเช่นนั้นเราจะปฏิบัติให้เป็นโลกุตตรก็เห็นจะเหลือวิสัย?

    พระอาจารย์มั่น


    ไม่เหลือวิสัย พระพุทธเจ้าท่านจึงทรงแสดงธรรมสั่งสอน ถ้าเหลือวิสัยพระองค์ก็คงไม่ทรงแสดง

    พระธรรมเจดีย์


    ถ้าเราไม่ได้บรรลุฌานชั้นสูงๆจะเจริญปัญญาเพื่อให้ถึงซึ่งมรรคแลผลจะได้ไหม?

    พระอาจารย์มั่น


    ได้เพราะวิธีที่เจริญปัญญาก็ต้องอาศัยสมาธิจริงอยู่ แต่ไม่ต้องถามถึงกับฌาน อาศัยสงบจิตที่พ้นนิวรณ์ ก็พอเป็นบาทของวิปัสสนาได้

    พระธรรมเจดีย์


    ความสงัดจากกามจากอกุศลของผู้ที่บรรลุฌานโลกีย์ กับความสงัดจากกาม จากอกุศลของพระอนาคามีต่างกันอย่างไร?

    พระอาจารย์มั่น


    ต่างกันมาก ตรงกันข้ามทีเดียว

    พระธรรมเจดีย์


    ทำไมจึงได้ต่างกันถึงกับตรงกันข้ามทีเดียว

    พระอาจารย์มั่น


    ฌานที่เป็นโลกีย์ ต้องอาศัยความเพียร มีสติคอยระวังละอกุศล และความเจริญกุศลให้เกิดขึ้น มีฌานเป็นต้น และยังต้องทำกิจที่คอยรักษาฌานนั้นไว้ไม่ให้เสื่อม ถึงแม้ว่าจะเป็นอรูปฌานที่ว่าไม่เสื่อมในชาตินี้ ชาติหน้าต่อๆไปก็อาจจะเสื่อมได้ เพราะเป็นกุปปธรรม

    พระธรรมเจดีย์


    ถ้าเช่นนั้น ส่วนความสงัดจากกามจากอกุศลของพระอนาคามีท่านไม่มีเวลาเสื่อมหรือ?

    พระอาจารย์มั่น


    พระอนาคามี ท่านละกามราคะสังโยชน์กับปฏิคะสังโยชน์ได้ขาด เพราะฉะนั้นความสงัดจากการจากอกุศลของท่านเป็นอัธยาศัย ที่เป็นเองอยู่เสมอโดยไม่ต้องอาศัยความเพียรเหมือนอย่างฌานที่เป็นโลกีย์ ส่วนวิจิกิจฉาสังโยชน์นั้นหมดมาตั้งแต่เป็นโสดาบันแล้ว เพราะฉะนั้นอุทธัจจนิวรณ์ที่ฟุ้งไปหากามและพยาบาทก็ไม่มี ถึงถีนะมิทธนิวรณ์ก็ไม่มี เพราะเหตุนั้นความสงัดจากกามจากอกุศลของท่านจึงไม่เสื่อม เพราะเป็นเองไม่ใช่ทำเอาเหมือนอย่างฌานโลกีย์

    พระธรรมเจดีย์


    ถ้าเช่นนั้นผู้ที่ได้บรรลุพระอนาคามี ความสงัดจากกามจากอกุศล ที่เป็นเองมิไม่มีหรือ?

    พระอาจารย์มั่น


    ถ้านึกถึงพระสกิทาคามี ที่ว่าทำสังโยชน์ทั้งสองให้น้อยเบาบาง น่าจะมีความสงัดจากการจากอกุศลที่เป็นเองอยู่บ้าง แต่ก็คงจะอ่อน

    พระธรรมเจดีย์


    ที่ว่าพระอนาคามีม่านเป็นสมาธิบริปูริการี บริบูรณ์ด้วยสมาธิ เห็นจะเป็นอย่างนี้เอง?

    พระอาจารย์มั่น


    ไม่ใช่เป็นสมาธิ เพราะว่าสมาธินั้นเป็นมรรคต้องอาศัยเจตนา เป็นส่วนภาเวตัพพธรรมส่วนของพระอนาคามีท่านเป็นเอง ไม่มีเจตนาเป็นสัจฉิกาตัพพธรรม เพราะฉะนั้นจึงได้ต่างกันกับฌานที่เป็นโลกีย์

    พระธรรมเจดีย์


    นิวรณ์แลสังโยชน์นั้น ข้าพเจ้าทำไมจึงไม่รู้จักอาการ คงรู้จักแต่ชื่อของนิวรณ์แลสังโยชน์?

    พระอาจารย์มั่น


    ตามแบบในมหาสติปัฏฐานพระพุทธเจ้าสอนสาวก ให้รู้จักนิวรณ์แลสังโยชน์พระสาวกของท่านตั้งใจกำหนดสังเกต ก็ละนิวรณ์แลสังโยชน์ได้หมดจนเป็นพระอรหันต์โดยมาก ส่วนท่านที่อินทรีย์อ่อน ยังไม่เป็นพระอรหันต์ ก็เป็นพระเสขบุคคล ส่วนเราไม่ตั้งใจไม่สังเกตเป็นแต่จำว่านิวรณ์หรือสังโยชน์ แล้วก็ตั้งกองพูดแลคิดไปจึงไม่พบตัวจริงของนิวรณ์และสังโยชน์ เมื่ออาการของนิวรณ์แลสังโยชน์อย่างไรก็ไม่รู้จัก แล้วจะละอย่างไรได้

    พระธรรมเจดีย์


    ถ้าเช่นนั้นผู้ปฏิบัติทุกวันนี้ ที่รู้จักลักษณะแลอาการของนิวรณ์แลสังโยชน์จะมีบ้างไหม?

    พระอาจารย์มั่น


    มีถมไปชนิดที่เป็นสาวกตั้งใจรับคำสอนแลประพฤติปฏิบัติจริงๆ

    พระธรรมเจดีย์


    นิวรณ์ 5 เวลาที่เกิดขึ้นในใจมีลักษณะอย่างไร จึงจะทราบได้ว่าอย่างนี้ คือ กามฉันท์ อย่างนี้คือพยาบาท หรือถีนะมิทธะ อุทธัจจะกุกกุจจะ วิจิกิจฉา และมีชื่อเสียงเหมือนกับสังโยชน์ จะต่างกันกับสังโยชน์หรือว่าเหมือนกัน ขอท่านจงอธิบายลักษณะของนิวรณ์แลสังโยชน์ให้ข้าพเจ้าเข้าใจจะได้สังเกตถูก?

    พระอาจารย์มั่น


    กามฉันทนิวรณ์ คือ ความพอใจในกาม ส่วนกามนั้นแยกเป็นสอง คือ กิเลสกามหนึ่ง วัตถุกามอย่างหนึ่ง เช่น ความกำหนัดในเมถุนเป็นต้น ชื่อว่ากิเลสกาม ความกำหนัดในทรัพย์สมบัติเงินทองที่บ้านนาสวน และเครื่องใช้สอยหรือบุตรภรรยาพวกพ้อง และสัตว์เลี้ยงของเลี้ยงที่เรียกว่าวิญญาณกทรัพย์ อวิญญานกทรัพย์ เหล่านี้ ชื่อว่าวัตถุกาม ความคิดกำหนัดพอใจในส่วนทั้งหลายเหล่านี้ ชื่อว่ากามฉันท์นิวรณ์ ส่วนพยาบาทนิวรณ์คือ ความโกรธเคือง หรือคิดแช่งสัตว์ให้พินาศ ชื่อว่าพยาบาทนิวรณ์ ความง่วงเหงาหาวนอน ชื่อว่า ถีนะมิทธนิวรณ์ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ชื่อว่า อุธัจจกุกกุจจนิวรณ์ ความสงสัย ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แลสงสัยในกรรมที่สัตว์ทำเป็น เป็นบาป หรือสงสัยในผลกรรมเหล่านี้ เป็นต้น ชื่อว่าวิจิกิจฉารวม 5 อย่างนี้ ชื่อว่านิวรณ์ เป็นเครื่องกั้นกางหนทางดี

    เจดีย์


    กามฉันทนิวรณ์ อธิบายเกี่ยวไปตลอดกระทั่งวิญญาณกทรัพย์ อวิญญาณกทรัพย์ ว่าเป็นวัตถุกาม ถ้าเช่นนั้นผู้ที่ยังครองเรือน ซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับทรัพย์สมบัติอัฐฬสเงินทองพวกพ้อง ญาติมิตร ก็จำเป็นจะต้องนึกถึงสิ่งเหล่านั้น เพราะเกี่ยวเนื่องกับตน ก็มิเป็นกามฉันทนิวรณ์ไปหมดหรือ?

    พระอาจารย์มั่น


    ถ้านึกตามธรรมดาโดยจำเป็นของผู้ที่ยังครองเรือนอยู่ โดยไม่ได้กำหนัดยินดีก็เป็นอัญญสมนา คือเป็นกลางๆ ไม่ใช่บุญไม่ใช่บาป ถ้าคิดถึงวัตถุกามเหล่านั้นเกิดความยินดีพอใจรักใคร่เป็นห่วง ยึดถือหมกมุ่นพัวพันอยู่ในวัตถุกามเหล่านั้น จึงจะเป็นกามฉันทนิวรณ์ สมด้วยพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ว่า




    น เต กามา ยานิ จิตฺรานิ โลเก อารมณ์ที่วิจิตรงดงามเหล่าใดในโลกอารมณ์เหล่านั้นมิได้เป็นกาม




    สงฺกปฺปราโค ปุริสสฺส กาโม ความกำหนัดอันเกิดจากความดำริ นี้แหละเป็นกามของคน




    ติฏฺฐนฺติ จิตฺรานิ ตเถว โลเก อารมณ์ที่วิจิตรงดงามในโลก ก็ตั้งอยู่อย่างนั้นเอง




    อเถตฺถธีรา วินยนฺติ ฉนฺทํ เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้นักปราชญ์ทั้งหลายจึงทำลายเสียได้




    ซึ่งความพอใจในกามนั้น นี่ก็ทำให้เห็นชัดเจนได้ว่า ถ้าฟังตามคาถาพระพุทธภาษิตนี้ ถ้านึกคิดถึงวัตถุกามตามธรรมดาก็ไม่เป็นกามฉันทนิวรณ์ ถ้าคิดนึกอะไรๆ ก็เอาเป็นนิวรณ์เสียหมด ก็คงจะหลีกไม่พ้นนรก เพราะนิวรณ์เป็นอกุศล

    พระธรรมเจดีย์


    พยาบาทนิวรณ์นั้น หมายความโกรธเคือง ประทุษร้ายในคน ถ้าความกำหนัดในคน ก็เป็นกิเลสการถูกไหม?

    พระอาจารย์มั่น


    ถูกแล้ว

    พระธรรมเจดีย์


    ความง่วงเหงาหาวนอน เป็นถีนะมิทธินิวรณ์ ถ้าเช่นนั้นเวลาที่เราหาวนอนมิเป็นนิวรณ์ทุกคราวไปหรือ?

    พระอาจารย์มั่น


    หาวนอนตามธรรมดา เป็นอาการร่างกายที่จะต้องพักผ่อน ไม่เป็นถีนะมิทธนิวรณ์ กามฉันทหรือพยาบาทที่เกิดขึ้นแล้วก็อ่อนกำลังลงไป หรือดับไปในสมัยนั้นมีอาการมัวซัวแลง่วงเหงาไม่สามารถจะระลึกถึงกุศลได้ จึงเป็นถีนะมิทธนิวรณ์ ถ้าหาวนอนตามธรรมดา เรายังดำรงสติสัมปชัญญะอยู่ได้จนกว่าจะหลับไป จึงไม่ใช่นิวรณ์ เพราะถีนะมิทธนิวรณ์เป็นอกุศล ถ้าจะเอาหาวนอนตามธรรมดาเป็นถีนมิทธแล้ว เราก็คงจะพ้นจากถีนะมิทธนิวรณ์ไม่ได้ เพราะต้องมีหาวนอนทุกวันด้วยกันทุกคน

    พระธรรมเจดีย์


    ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ที่ว่าเป็นอุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์นั้น หมายฟุ้งไปในที่ใดบ้าง?

    พระอาจารย์มั่น


    ฟุ้งไปในกามฉันทบ้าง พยาบาทบ้าง แต่ในบาปธรรม 14 ท่านแยกเป็นสองอย่าง อุทธัจจะความฟุ้งซ่าน กุกกุจจ ความรำคาญใจ แต่ในนิวรณ์ 5 ท่านรวมไว้เป็นอย่างเดียวกัน

    พระธรรมเจดีย์


    นิวรณ์ 5 เป็นจิตหรือเจตสิก?

    พระอาจารย์มั่น


    เป็นเจตสิกธรรมฝ่ายอกุศลประกอบกับจิตที่เป็นอกุศล

    พระธรรมเจดีย์


    ประกอบอย่างไร?

    พระอาจารย์มั่น


    เช่นกามฉันทนิวรณ์ก็เกิดในจิต ที่เป็นพวกโลภะมูล พยาบาทกุกกุจจนิวรณ์ ก็เกิดในจิตที่เป็นโทสะมูล ถีนะมิทธอุทธัจจะ วิจิกิจฉา ก็เกิดในจิตที่เป็นโมหะมูล พระพุทธเจ้าทรงเปรียบนิวรณ์ทั้ง 5 มาในสามัญญผลสูตร ทีฆนิกายสีลักขันธวรรค หน้า 93 ว่า กามฉันทนิวรณ์ เหมือนคนเป็นหนี้, พยาบาทนิวรณ์ เหมือนคนไข้หนัก, ถีนมิทธนิวรณ์เหมืนอนคนติดในเรือนจำ, อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์เหมือนคนเป็นทาส, วิจิกิจฉานิวรณ์ เหมือนคนเดินทางกันดารมีภัยน่าหวาดเสียว เพราะฉะนั้น คนที่เขาพ้นหนี้ หรือหายเจ็บหนัก หรือออกจากเรือนจำ หรือพ้นจากทาส หรือได้เดินทางถึงที่ประสงค์พ้นภัยเกษมสำราญ เขาย่อมถึงความยินดีฉันใด ผู้ที่พ้นนิวรณ์ทั้ง 5 ก็ย่อมถึงความยินดีฉันนั้น แลในสังคารวสูตร ในปัจจกนิบาต อังคุตตรนิยาย หน้า 257 พระพุทธเจ้าทรงเปรียบนิวรณ์ด้วยน้ำ 5 อย่าง ว่าบุคคลจะส่องเงาหน้าก็ไม่เห็นฉันใด นิวรณ์ทั้ง 5 เมื่อเกิดขึ้นก็ไม่เห็นธรรมความดีความชอบฉันนั้น กามฉันทนิวรณ์ เหมือนน้ำที่ระคนด้วยสีต่างๆ เช่น สีครั่ง สีชมพู เป็นต้น พยาบาทนิวรณ์ เหมือนน้ำที่มีจอกแหนปิดเสียหมด อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์เหมือนน้ำที่คลื่นเป็นระลอก วิจิกิจฉานิวรณ์ เหมือนน้ำที่ขุ่นข้นเป็นโคลนตม เพราะฉะนั้นน้ำ 5 อย่างนี้ บุคคลไม่อาจส่งดูเงาหน้าของตนได้ฉันใด นิวรณ์ทั้ง 5 ที่เกิดขึ้นครอบงำใจของบุคคลไม่ให้เห็นธรรมความดีความชอบได้ก็ฉันนั้น
     
  8. wisarn

    wisarn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    741
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +2,505
    เจดีย์


    ทำไมคนเราเวลาไข้หนักใกล้จะตาย ก็ทำบาปกรรมความชั่วอะไรไม่ได้แล้วจะกล่าววจีทุจริต ปากก็พูดไม่ได้ จะล่วงทำกายทุจริต มือแลเท้าก็ไหวไม่ได้แล้ว ยังเหลือแต่ความคิด นึกทางใจนิดเดียวเท่านั้น ทำไมใจประกอบด้วยนิวรณ์ จึงไปทุคติได้ ดูไม่นาจะเป็นบาปกรรมโตใหญ่อะไรเลย ข้อนี้น่าอัศจรรย์นักขอท่านจงอธิบายให้ข้าพเจ้าเข้าใจ?

    พระอาจารย์มั่น


    กิเลสเป็นเหตุให้ก่อกรรมๆ เป็นเหตุให้ก่อวิบาก ที่เรียกว่าไตรวัฏนั้น เช่น อนุสัย หรือสังโยชน์ที่เกิดขึ้นในเวลานั้นชื่อว่ากิเลสวัฏ ผู้ที่ไม่เคยประพฤติปฏิบัติก็ทำในใจไม่แยบคาย ที่เรียกว่า อโยนิโส คิดต่อออกไป เป็นนิวรณ์ 5 หรืออุปกิเลส 16 จึงเป็นกรรมวัฏฝ่ายบาป ถ้าดับจิตไปในสมัยนั้น จึงได้วิบากวัฏที่เป็นส่วนทุคติ เพราะกรรมวัฏฝ่ายบาปส่งให้อุปมาเหมือนคนปลูกต้นไม้ ไปนำพืชพันธุ์ของไม้ที่เบื่อเมามาปลูกไว้ ต้นแลใบที่เกิดขึ้นนั้น ก็เป็นของเบื่อเมา แม้ผลแลดอกที่ออกมา ก็เป็นของเบื่อเมาตามพืชพันธุ์เดิมซึ่งนำมาปลูกไว้นิดเดียว แต่ก็กลายเป็นต้นโตใหญ่ไปได้เหมือนกัน ข้อนี้ฉันใด จิตที่เศร้าหมองเวลาตาย ก็ไปทุคติได้ฉันนั้น แลเหมือนพืชพันธุ์แห่งผลไม้ที่ดี มีกลิ่นหอมมีรสหวาน บุคคลไปนำพืชพันธุ์มานิดเดียวปลูกไว้แม้ต้นแลใบก็เป็นไม้ที่ดีทั้งผลแลดอกที่ออกมา ก็ใช้แลรับประทานได้ตามความประสงค์ เพราะอาศัยพืชที่ดีซึ่งนำมานิดเดียวปลูกไว้ ข้อนี้ฉันใด จิตที่เป็นกุศลผ่องใสแล้วตายในเวลานั้นจึงไปสู่สุคติได้สมด้วยพระพุทธภาษิตที่ว่า




    จิตฺเต สงฺกลิฏเฐ ทุคฺคติ ปาฏิกงฺขา เวลาตายจิตเศร้าหมอง แล้วทุคติเป็นหวังได้




    จิตฺเต อสงฺกิลิฎเฐ สุคติปาฏิกงฺขา จิตผ่องใสไม่เศร้าหมองเวลาตายสุคติเป็นหวังได้

    พระธรรมเจดีย์


    อโยนิโสมสสิกาโร ความทำในใจไม่แยบคาย โยนิโสมนสิการโร ความทำในใจแยบคาย 2 อย่างนั้นคือ ทำอย่างไรชื่อว่าไม่แยบคาย ทำอย่างไรจึงชื่อว่าแยบคาย?

    พระอาจารย์มั่น


    ความทำสุภนิมิตไว้ในใจ กามฉันทนิวรณ์ที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็งอกงาม ความทำปฏิฆะนิมิตไว้ในใจ พยาบาทนิวรณ์ที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็งอกงามอย่างนี้ ชื่อว่าทำในใจไม่แยบคาย การทำอสุภสัญญาไว้ในใจ กามฉันทนิวรณ์ที่ยังไม่เกิดก็ไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมหายไป การทำเมตตาไว้ในใจ พยาบาทนิวรณ์ที่ยังไม่เกิดก็ไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมหายไป เช่นนี้เป็นตัวอย่าง หรือความทำในใจอย่างไรก็ตาม อกุศลที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็งอกงาม ก็ชื่อว่าทำในใจไม่แยบคาย หรือจะคิดนึกอย่างไรก็ตามกุศลที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็บริบูรณ์ อย่างนี้ชื่อว่าทำในใจแยบคาย สมด้วยสาวกภาษิตที่พระสารีบุตรแสดงไว้ในพระทสุตตรสูตรหมวด 2 ว่า




    โย จ เหตุ โย จ ปจฺจโย สตฺตานํ สงฺกิลสฺสาย ความไม่ทำในใจโดยอุบายอันแยบคายเป็นเหตุด้วยเป็นปัจจัยด้วย เพื่อความเศร้าหมองแห่งสัตว์ทั้งหลาย 1




    โย จ เหตุ โย จ ปจฺจโย สตฺตานํ วิสุทฺธิยา ความทำในใจ โดยอุบายแยบคาย เป็นเหตุด้วยเป็นปัจจัยด้วย เพื่อจะได้บริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย

    พระธรรมเจดีย์


    ที่ว่า อนุสัยกับสังโยชน์เป็นกิเลสวัฏ ส่วนนิวรณ์หรืออุปกิเลส 16 ว่าเป็นกรรมวัฏเวลาที่เกิดขึ้นนั้น มีอาการต่างกันอย่างไร จึงจะทราบได้ว่า ประเภทนี้เป็นนิวรณ์ หรืออุปกิเลส 16?

    พระอาจารย์มั่น


    เช่น เวลาตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้ดมกลิ่น ลิ้นได้ลิ้มรส กายถูกต้องโผฎฐัพพะ รู้ธัมมารมณ์ด้วยใจ 6 อย่างนี้ แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ดีนั้นเป็นอิฎฐารมณ์ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ยินดีส่วนอารมณ์ 6 ที่ไม่ดีเป็นอนิฎฐารมณ์ เป็นที่ตั้งแห่งความยินร้าย, ไม่ชอบ, โกรธเคือง ผู้ที่ยังไม่รู้ความจริงหรือไม่มีสติเวลาที่ตาเห็นรูปที่ดี ยังไม่ทันคิดว่ากระไรก็เกิดความยินดีกำหนัดพอใจขึ้น แค่นี้เป็นสังโยชน์ ถ้าคิดต่อมากออกไป ก็เป็นกามฉันทนิวรณ์ หรือเรียกว่ากามวิตกก็ได้ หรือเกิดความโลภอยากได้ที่ผิดธรรม ก็เป็น อภิชฺฌาวิสมโลโภที่อยู่ในอุปกิเลส 16 หรือใน มโนกรรม อกุศลกรรมบถ 10 ชนิดนี้ ประกอบด้วยเจตนา เป็นกรรมวัฏฝ่ายบาป เวลาตาเห็นรูปที่ไม่ดีมไม่ทันคิดว่ากระไร เกิดความไม่ชอบ หรือเป็นโทมนัสปฏิฆะขึ้นไม่ประกอบด้วยเจตนาแค่นี้เป็นปฏิฆะสังโยชน์คือ กิเลสวัฏ ถ้าคิดต่อออกไปถึงโกรธเคืองประทุษร้ายก็เป็นพยาบาทนิวรณ์ หรือุปกิเลส หรืออกุศลกรรมบถ 10 ชนิดนี้ ก็เป็นกรรมวัฏฝ่ายบาป เพราะประกอบด้วยเจตนา นี่ชี้ให้ฟังเป็นตัวอย่าง แม้กิเลสอื่นๆก็พึงตัดสินใจอย่างนี้ว่ากิเลสที่ไม่ตั้งใจให้เกิดก็เกิดขึ้นได้เอง พวกนี้เป็นอนุสัยหรือสังโยชน์ เป็นกิเลสวัฏ ถ้าประกอบด้วยเจตนา คือ ยืดยาวออกไปก็กรรมวัฏ

    เจดีย์


    ถ้าเช่นนั้นเราจะตัดกิเลสวัฏ จะตัดอย่างไร?

    พระอาจารย์มั่น


    ต้องตัดได้ด้วยอริยมรรค เพราะสังโยชน์ก็ไม่มีเจตนา อริยมรรคก็ไม่มีเจตนาเหมือนกัน จึงเป็นคู่ปรับสำหรับละกัน

    พระธรรมเจดีย์


    ถ้าการปฏิบัติของผู้ดำเนินยังอ่อนอยู่ ไม่สามารถจะตัดได้ สังโยชน์ก็ยังเกิดอยู่ แล้วก็เลยเป็นกรรมวัฏฝ่ายบาปต่อออกไป มิต้องได้วิบากวัฏที่เป็นส่วนทุคติเสียหรือ?

    พระอาจารย์มั่น


    เพราะอย่างนั้นน่ะซิ ผู้ที่ยังไม่ถึงโสดาบันจึงปิดอบายไม่ได้

    พระธรรมเจดีย์


    ถ้าเช่นนั้นใครจะไปสวรรค์ได้บ้างเล่า ในชั้นผู้ปฏิบัติที่ยังไม่ถึงโสดาบัน?

    พระอาจารย์มั่น


    ไปได้เพราะอาศัยเปลี่ยนกรรม สังโยชน์ยังอยู่ก็จริง ถ้าประพฤติทุจริตกาย วาจา ใจ เวลาตายใจเศร้าหมองก็ต้องไปทุคติ ถ้ามาตั้งใจเว้นทุจริต อยู่ในสุจริตทางกาย วาจา ใจ แลเวลาตายก็ไม่เศร้าหมองก็มีสติสัมปชัญญะก็ไปสุคติได้ เพราะเจตนาเป็นตัวกรรม กรรมมี 2 อย่าง กณฺหํ เป็นกรรมดำ คือ ทุจริต กาย วาจา ใจ สุกฺกํ เป็นกรรมขาว คือ สุจริตกาย วาจา ใจ ย่อมให้ผลต่างกัน

    พระธรรมเจดีย์


    ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ประพฤติสุจริต กาย วาจา ใจ เวลาตายใจเศร้าหมอง มิต้องไปทุคติเสียหรือ หรือผู้ที่ประพฤติทุจริต กาย วาจา ใจ แต่เวลาตายใจเป็นกุศล มิไปสุคติได้หรือ?

    พระอาจารย์มั่น


    ก็ไปได้น่ะซี ได้เคยฟังหนังสือของสมเด็จพระวันรัต (ทับ) วัดโสมนัสบ้างหรือเปล่า เวลาลงโบสถ์ท่านเคยแสดงให้พระเณรฟัง ภายหลังได้มาจัดพิมพ์กันขึ้น รวมกับข้ออื่นๆท่านเคยแสดงว่าภิกษุรักษาศีลบริสุทธิ์ เวลาจะตายห่วงในจีวร ตายไปเกิดเป็นเล็น แลภิกษุอีกองค์หนึ่งเวลาใกล้จะตายนึกขึ้นได้ว่าทำใบตะไคร่น้ำขาด มองหาเพื่อนภิกษุที่จะแสดงอาบัติก็ไม่มีใคร ใจก็กังวลอยู่อย่างนั้นแหละ ครั้นตายไปก็เกิดเป็นพญานาค แลอุบาสกอีกคนหนึ่ง เจริญกายคตาสติมาถึง 30 ปี ก็ไม่ได้บรรลุคุณวิเศษอย่างใด เกิดความสงสัยในพระธรรม ตายไปเกิดเป็นจระเข้ ด้วยโทษวิจิกิจฉานิวรณ์ ส่วนโตเทยยะพราหมณ์นั้นไม่ใช่ผู้ปฏิบัติ ห่วงทรัพย์ที่ฝังไว้ ตายไปเกิดเป็นลูกสุนัขอยู่ในบ้านของตนเองด้วยโทษกามฉันทนิวรณ์เหมือนกัน แลนายพรานผู้หนึ่งเคยฆ่าสัตว์มากเวลาใกล้จะตายพระสารีบุตรไปสอนให้รับไตรสรณคมน์ จิตก็ตั้งอยู่ในกุศลยังไม่ทันจะให้ศีลนายพรานก็ตายไปสู่สุคติ ด้วยจิตที่เป็นกุศล ตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์ นี่ก็เป็นตัวอย่างของผู้ที่ตายใจเศร้าหมองหรือบริสุทธิ์ กรรมของผู้ที่กระทำในเมื่อเวลาใกล้จะตายนั้น ชื่อว่าอาสันนกรรม ต้องให้ผลก่อนกรรมอื่นๆ ท่านเปรียบว่า เหมือนโคอยู่ใกล้ประตูคอก แม้จะแก่กำลังน้อย ก็ต้องออกได้ก่อน ส่วนโคอื่นถึงจะมีกำลังมาก ที่อยู่ข้างใน ต้องออกทีหลัง ข้อนี้ฉันใด กรรมที่บุคคลทำเมื่อใกล้จะตายจึงต้องให้ผลก่อนฉันนั้น

    พระธรรมเจดีย์


    ส่วนอนุสัยแลสังโยชน์เป็นกิเลสวัฏนิวรณ์ หรืออุปกิเลส 16 หรือ อกุศลกรรมบถ 10 ว่าเป็นกรรมวัฏฝ่ายบาป ส่วนกรรมวัฏฝ่ายบุญจะได้แก่อะไร?

    พระอาจารย์มั่น


    กามาวจรกุศล รูปาวจรกุศล อรูปาวจรกุศล เหล่านี้ เป็นกรรมวัฏฝ่ายบุญส่งให้วิบากวัฏคือ มนุษยสมบัติบ้าง สวรรคสมบัติบ้าง พรหมโลกบ้าง พอเหมาะแก่กุศลกรรมที่ทำไว้

    พระธรรมเจดีย์


    ถ้าเช่นนั้นกรรมทั้งหลาย ที่สัตว์ทำเป็นบุญก็ตาม เป็นบาปก็ตาม ย่อมให้ผลเหมือนเงาที่ไม่พรากไปจากตนฉะนั้นหรือ?

    พระอาจารย์มั่น


    ถูกแล้ว สมด้วยพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ในอภิณหปัจจเวกขณ์ว่า กมฺมสฺสโกมฺหิ เราเป็นผู้มีกรรมเป็นของๆตน กมฺมทาโย เป็นผู้รับผลของกรรม กมฺมโยนิ เป็นผู้มีกรรมเป็นกำหนด กมฺมพนฺธุ เป็นผู้มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ กมฺมปฏิสรโณ เป็นผู้มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ยํ กมฺมํ กริสฺสามิ เราจักทำกรรมอันใด กลฺยาณํ ว ปาปกํ วา ดีหรือชั่ว ตสํสา ทายาโท ภวิสฺสามิ เราจักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น

    พระธรรมเจดีย์


    อนุสัยกับสังโยชน์ ใครจะละเอียดกว่ากัน?

    พระอาจารย์มั่น


    อนุสัยละเอียดกว่าสังโยชน์ เพราะสังโยชน์นั้น เวลาที่จะเกิดขึ้น อาศัยอายตนะภายในอายตนะภายนอกกระทบกันเข้าแล้วเกิดวิญญาณ 6 ชื่อว่าผัสสะ เมื่อผู้ที่ไม่มีสติ หรือไม่รู้ความจริง เช่นหูกับเสียงกระทบกันเข้า เกิดความรู้ขึ้น เสียงที่ดีก็ชอบ เกิดความยินดีพอใจ เสียงที่ไม่ดี ก็ไม่ชอบ ไม่ถูกใจ ที่โลกเรียกกันว่าพื้นเสีย เช่นนี้แหละชื่อว่าสังโยชน์ จึงหยาบกว่าอนุสัย เพราะอนุสัยนั้นย่อมตามนอนในเวทนาทั้ง 3 เช่น สุขเวทนาเกิดขึ้น ผู้ที่ไม่เคยรู้ความจริง หรือไม่มีสติ ราคานุสัยจึงตามนอน ทุกขเวทนาเกิดขึ้น ปฏิฆานุสัยย่อมตามนอน อุทกขมสุขเวทนาเกิดขึ้น อวิชชานุสัยย่อมตามนอน เพราะฉะนั้นจึงละเอียดกว่าสังโยชน์ และมีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ใน มาลุงโกฺย วาทสูตร ว่าเด็กอ่อนที่นอนหงายอยู่ในผ้าอ้อม เพียงจะรู้จักว่านี่ตานี่รูป ก็ไม่มีในเด็กนั้น เพราะฉะนั้น สังโยชน์จึงไม่มีในเด็กที่นอนอยู่ในผ้าอ้อม แต่ว่าอนุสัยย่อมตามนอนในเด็กนั้นได้

    เจดีย์


    อนุสัยนั้นมีประจำอยู่เสมอหรือ หรือมีมาเป็นครั้งเป็นคราว?

    พระอาจารย์มั่น


    มีมาเป็นครั้งคราว ถ้ามีประจำอยู่เสมอแล้วก็คงจะละไม่ได้ เช่นราคานุสัยก็เพิ่มมาตามนอนในสุขเวทนา หรือปฏิฆานุสัยก็เพิ่งมาตามนอนในทุกขเวทนา หรืออวิชชานุสัยก็เพิ่งมาตามนนในอทุกขมสุขเวทนา ตามนอนได้แต่ผู้ที่ไม่รู้ความจริง หรือมีสติก็ไม่ตามนอนได้ เรื่องนี้ได้อธิบายไว้ในเวทนาขันธ์แล้ว

    พระธรรมเจดีย์


    แต่เดิมข้าพเจ้าเข้าใจว่าอนุสัยตามนอนอยู่ในสันดานเสมอทุกเมื่อไป เหมือนอย่างขี้ตะกอนที่นอนอยู่ก้นโอ่งน้ำ ถ้ายังไม่มีใครมาคน ก็ยังไม่ขุ่นขึ้น ถ้ามีใครมาคนก็ขุ่นขึ้นได้ เวลาที่ได้รับอารมณ์ที่ดี เกิดความกำหนัดยินดีพอใจขึ้น หรือได้รับอารมณ์ที่ไม่ดีก็เกิดปฏิฆะหรือความโกรธขึ้น เข้าใจว่านี่แหละขุ่นขึ้นมา ความเข้าใจเก่าของข้าพเจ้ามิผิดไปหรือ?

    พระอาจารย์มั่น


    ก็ผิดน่ะซี เพราะเอานามไปเปรียบกับรูป คือโอ่งก็เป็นรูปที่ไม่มีวิญญาณ น้ำก็เป็นรูปที่ไม่มีวิญญาณ แลขี้ตะกอนก้นโอ่งก็เป็นรูปไม่มีวิญญาณเหมือนกัน จึงขังกันอยู่ได้ ส่วนจิตเจตสิกของเรา เกิดขึ้นแล้วดับไป จะขังเอาอะไรไว้ได้ เพราะกิเลสเช่นอนุสัยหรือสังโยชน์ ก็อาศัยจิตเจตสิกเกิดขึ้นชั่วคราวหนึ่ง เมื่อจิตเจตสิกในคราวนั้นดับไปแล้ว อนุสัยหรือสังโยชน์จะตกค้างอยู่กับใคร ลองนึกดูเมื่อเรายังไม่มีความรัก ความรักนั้นอยู่ที่ไหน ก็มีขึ้นเมื่อเกิดความรักไม่ใช่หรือ หรือเมื่อความรักนั้นดับไปแล้ว ก็ไม่มีความรักไม่ใช่หรือ และความโกรธเมื่อยังไม่เกิดขึ้นก็ไม่มีเหมือนกัน มีขึ้นเมื่อเวลาที่โกรธ เมื่อความโกรธดับแล้ว ก็ไม่มีเหมือนกัน เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดเพราะไปติดสัญญาที่จำไว้นานแล้วว่า อนุสัยนอนอยู่เหมือนขี้ตะกอนที่นอนอยู่ก้นโอ่ง

    พระธรรมเจดีย์


    ก็อนุสัยกับสังโยชน์ไม่มีแล้ว บางคราวทำไมจึงมีขึ้นอีกได้เล่า ข้าพเจ้าฉงนนัก แล้วยังอาสวะอีกอย่างหนึ่งที่ว่าดองสันดานนั้น เป็นอย่างไร?

    พระอาจารย์มั่น


    ถ้าพูดถึงอนุสัยหรืออาสวะแล้ว เราควรเอาความว่า ความเคยตัวเคยใจ ที่เรียกว่ากิเลสกับวาสนาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าละได้ทั้ง 2 อย่าง ที่พระอรหันตสาวกละได้แต่กิเลสอย่างเดียววาสนาละไม่ได้ เราควรจะเอาความว่าอาสวะหรืออนุสัยกิเลสเหล่านี้เป็นความเคยใจ เช่นได้รับอารมณ์ที่ดี เคยเกิดความกำหนัดพอใจ ได้รับอารมณ์ที่ไม่ดี เคยไม่ชอบไม่ถูกใจ เช่นนี้เป็นต้น เหล่านี้แหละควรรู้สึกว่าเป็นเหล่าอนุสัย หรืออาสวะเพราะความคุ้นเคยของใจ ส่วนวาสนานั้น คือความคุ้นเคยของ กาย วาจา ที่ติดต่อมาจากเคยแห่งอนุสัย เช่น คนราคะจริตมีมรรยาทเรียบร้อย หรือเป็นคนโทสะจริตมีมรรยาทไม่เรียบร้อย ส่วนราคะแลโทสะนั้นเป็นลักษณะของกิเลส กิริยามารยาทที่เรียบร้อยแลไม่เรียบร้อย นั่นเป็นลักษณะของวาสนานี่ก็ควรจะรู้ไว้

    พระธรรมเจดีย์


    ถ้าเช่นนั้นเราจะละความคุ้นเคยของใจ ในเวลาที่ได้รับอารมณ์ที่ดีหรือไม่ดี จะควรประพฤติปฏิบัติอย่างไรดี?

    พระอาจารย์มั่น


    วิธีปฏิบัติที่จะละความคุ้นเคยอย่างเก่า คืออนุสัยแลสังโยชน์ ก็ต้องมาฝึกหัดให้คุ้นเคยในศีลแลสมถวิปัสสนาขึ้นใหม่ จะได้ถ่ายถอนความคุ้นเคยเก่า เช่นเหล่าอนุสัยหรือสังโยชน์ให้หมดไปจากสันดาน

    พระธรรมเจดีย์


    ส่วนอนุสัยกับสังโยชน์ ข้าพเจ้าเข้าใจดีแล้ว แต่ส่วนอาสวะนั้น คือ กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ 3 อย่างนั้นเป็นเครื่องดองสันดาน ถ้าฟังดูตามชื่อ ก็ไม่น่าจะมีเวลาว่าง ดูเหมือนดองอยู่กับจิตเสมอไปหรือไม่ได้ดองอยู่เสมอ แต่ส่วนตัวข้าพเจ้าเข้าใจไว้แต่เดิมสำคัญว่าดองอยู่เสมอข้อนี้เป็นอย่างไร ขอท่านจงอธิบายให้ข้าพเจ้าเข้าใจ?

    พระอาจารย์มั่น


    ไม่รู้ว่าเอาอะไรมาซอกแซกถาม ได้ตอบไว้พร้อมกับอนุสัยแลสังโยชน์แล้ว จะให้ตอบอีกก็ต้องอธิบายกันใหญ่ คำที่ว่าอาสวะเป็นเครื่องดองนั้น ก็ต้องหมายความถึงรูปอีกนั่นแหละ เช่นกับเขาดองฝักก็ต้องมีภาชนะ เช่นผักอย่างหนึ่งหรือชามอย่างหนึ่งและน้ำอย่างหนึ่ง รวมกัน 3 อย่าง สำหรับเช่นกันหรือของที่เขาทำเป็นแช่อิ่มก็ต้องมีขวดโหลหรือน้ำเชื่อมสำหรับแช่ของ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นรูปจึงแช่แลดองกันอยู่ได้ ส่วนอาสวะนั้นอาศัยนามธรรมเกิดขึ้น นามธรรมก็เป็นสิ่งที่ไม่มีตัว อาสวะก็เป็นสิ่งที่ไม่มีตัว จะแช่แลดองกันอยู่อย่างไรได้ นั่นเป็นพระอุปมาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้นไว้ว่า อาสวะเครื่องดองสันดาน คือ กิเลสมีประเภท 3 อย่าง เราก็เลยเข้าใจผิดถือมั่นเป็นอภินิเวส เห็นเป็นแช่แลดองเป็นของจริงๆจังๆไปได้ ความจริงก็ไม่มีอะไร นามและรูปเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป อะไรจะมาแช่แลดองกันอยู่ได้ เพราะฉะนั้นขอให้เปลี่ยนความเห็นเสียใหม่ที่ว่าเป็นนั่นเป็นนี่ เป็นจริงเป็นจังเสียให้ได้ ให้หมดทุกสิ่งที่ได้เข้าใจไว้แต่เก่าๆแล้ว ก็ตั้งใจศึกษาเสียใหม่ให้ตรงกับความจริง ซึ่งเป็นสัมมาปฏิบัติ

    เจดีย์


    จะทำความเห็นอย่างไรจึงจะตรงกับความจริง?

    พระอาจารย์มั่น


    ทำความเห็นว่าไม่มีอะไร มีแต่สมมติแลบัญญัติ ถ้าถอนสมมติแลบัญญัติออกเสียแล้วก็ไม่มีอะไร หาคำพูดไม่ได้ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติ ขันธ์ 5 อายตนะ 6 ธาตุ 6 นามรูป เหล่านี้ก็เพื่อจะให้รู้เรื่องกันเท่านั้น ส่วนขันธ์แลอายตนะ ธาตุ นามรูป ผู้ปฏิบัติควรกำหนดรู้ว่าเป็นทุกข์ ส่วนอนุสัยหรือสังโยชน์ อาสวะ โยคะ โอฆะ นิวรณ์ อุปกิเลสเป็นสมุทัย อาศัยขันธ์หรืออายตนะหรือนามรูปเกิดขึ้นนั้นเป็นสมุทัยเป็นส่วนหนึ่งที่ควรละ มรรคมีองค์ 8 ย่นเข้าคือ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นส่วนที่ควรเจริญ ความสิ้นไปแห่งกิเลส คือ อนุสัยหรือสังโยชน์ ชื่อว่านิโรธ เป็นส่วนควรทำให้แจ้งเหล่านี้แหละเป็นความจริง ความรู้ความเห็นใน 4 อริยสัจนี้แหละเป็นความจริง ความรู้ความเห็นใน 4 อริยสัจนี้แหละคือเห็นความจริงละ

    พระธรรมเจดีย์


    สาธุ ข้าพเจ้าเข้าใจแจ่มแจ้งทีเดียว แต่เมื่ออาสวะไม่ได้ดองอยู่เสมอ แล้วทำไมท่านจึงกล่าวว่า เวลาที่พระอรหันต์สำเร็จขึ้นใหม่ๆ โดยมากแล้วที่ได้ฟังมาในแบบท่านรู้ว่าจิตของท่านพ้นแล้วจากกามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ ข้าพเจ้าจึงเข้าใจว่าผู้ที่ยังไม่พ้นก็ต้องมีอาสวะประจำอยู่กับจิตเป็นนิตย์ไป ไม่มีเวลาว่าง กว่าจะพ้นได้ก็ต้องเป็นพระอรหันต์?

    พระอาจารย์มั่น


    ถ้าขืนทำความเห็นอยู่อย่างนี้ ก็ไม่มีเวลาพ้นจริงด้วย เมื่ออาสวะอยู่ประจำเป็นพื้นเพของจิตแล้วก็ใครจะละได้เล่า พระอรหันต์ก็คงไม่มีในโลกได้เหมือนกัน นี่ความจริงไม่ใช่เช่นนี้ จิตนั้นส่วนหนึ่งเป็นประเภททุกขสัจ อาสวะส่วนหนึ่งเป็นประเภทสมุทัย อาศัยจิตเกิดขึ้นชั่วคราว เมื่อจิตคราวนั้นดับไปแล้ว อาสวะประกอบกับจิตในคราวนั้นก็ดับไปด้วย ส่วนอาสวะที่เกิดขึ้นได้บ่อยๆนั้น เพราะอาศัยการเพ่งโทษ ถ้าเราจักตั้งใจเพ่งโทษใครๆ อาสวะก็จะเกิดได้ด้วยยากเหมือนกัน สมด้วยพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ว่า ปรวชฺชานุปสฺสํสฺส เมื่อบุคคลตามมองดู ซึ่งโทษของผู้อื่น นิจฺจํ อชฺฌาน สญฺญิโน เป็นบุคคลมีความหมายจะยกโทษเป็นนิตย์ อาสวา ตสฺส วฑฺฒนฺติ อาสวะทั้งหลายย่อมเจริญขึ้นแก่บุคคลนั้น อารา โส อาสวกฺขยา บุคคลนั้นเป็นผู้ห่างไกลจากธรรมที่สิ้นอาสวะ ถ้าฟังตามคาถาพระพุทธภาษิตนี้ก็จะทำให้เราเห็นชัดได้ว่าอาสวะนั้นมีมาในเวลาที่เพ่งโทษ เรายังไม่เพ่งโทษอาสวะก็ยังไม่มีมาหรือเมื่อจิตที่ประกอบด้วยอาสวะคราวนั้นดับไปแล้วอาสวะก็ดับไปด้วย ก็เป็นอันไม่เหมือนกัน การที่เห็นว่าอาสวะมีอยู่เสมอจึงเป็นความเห็นผิด

    พระธรรมเจดีย์


    อาสวะ 3 นั้น กามาสวะเป็นกิเลสประเภทรัก อวิชชาสวะเป็นกิเลสประเภทไม่รู้ แต่ภวาสวะนั้นไม่ได้ความว่าเป็นกิเลสประเภทไหน เคยได้ฟังตามแบบท่านว่าเป็นภพๆอย่างไรข้าพเจ้าไม่เข้าใจ?

    พระอาจารย์มั่น


    ความไม่รู้ความจริงเป็นอวิชชาสวะ จึงได้เข้าไปชอบไว้ในอารมณ์ที่ดีมีกามเป็นต้นเป็นกามสวะ เมื่อไม่ชอบไว้ในที่ใด ก็เข้าไปยึดถือตั้งอยู่ในที่นั้น จึงเป็นภวาสวะนี่แหละ เข้าใจว่าเป็นภวาสวะ

    พระธรรมเจดีย์


    ภวะท่านหมายว่าภพ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพไม่ใช่หรือ ทำไมภพถึงจะมาอยู่ในใจของเราได้เล่า?

    พระอาจารย์มั่น


    ภพที่ในใจนี่ละซีสำคัญนัก จึงได้ต่อให้ไปเกิดในภพข้างนอก ก็ลองสังเกตดู ตามแบบที่เราได้เคยฟังมาว่า พระอรหันต์ทั้งหลายไม่มีกิเลสประเภทรัก และไม่มีอวิชชาภวะตัณหาเข้าไปเป็นอยู่ในที่ใด แลไม่มีอุปาทานความชอบความยินดียึดถือในสิ่งทั้งปวง ภพข้างนอก คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ ตลอดจนกระทั่งภพ คือ สุทธาวาสของท่านนั้นจึงไม่มี

    พระธรรมเจดีย์


    อาสวะ 3 ไม่เห็นมีกิเลสประเภทโกรธ แต่ทำไมการเพ่งโทษนั้นเป็นกิเลสเกลียดชังขาดเมตตา กรุณา เพราะอะไรจึงได้มาทำให้อาสวะเกิดขึ้น?

    พระอาจารย์มั่น


    เพราะความเข้าไปชอบไปเป็นอยู่ในสิ่งใดที่ถูกใจของตน ครั้นเขามาทำที่ไม่ชอบไม่ถูกใจจึงได้เข้าไปเพ่งโทษ เพราะสาเหตุที่เข้าไปชอบไปถูกใจเป็นอยู่ในสิ่งใดไว้ซึ่งเป็นสายชนวนเดียวกัน อาสวะทั้งหลายจึงได้เจริญแก่บุคคลนั้น

    พระธรรมเจดีย์


    ความรู้นั้นมีหลายอย่าง เช่นกับวิญญาณ 6 คือ ความรู้ทาง หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือ ความรู้ในเรื่อง โลภ โกรธ หลง ริษยา พยาบาท หรือรู้ไปในเรื่องความอยากความต้องการ หรือคนที่หยิบเล็กหยิบน้อยนิดหน่อยก็โกรธ เขาก็ว่าเขารู้ทั้งนั้น ส่วนความรู้ในรูปฌานหรืออรูปฌาน ก็เป็นความรู้ชนิดหนึ่ง ส่วนปัญญาที่รู้เห็นไตรลักษณ์แลอริยสัจก็เป็นความรู้เหมือนกัน ส่วนวิชชา 3 หรือวิชชา 8 ก็เป็นความรู้พิเศษอย่างยิ่ง เมื่อเป็นเช่นนี้ ควรจะแบ่งความรู้เหล่านี้เป็นประเภทไหนบ้าง ขอท่านจงอธิบายให้ข้าพเจ้าจะได้ไม่ปนกัน

    พระอาจารย์มั่น


    ควรแบ่งความรู้ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ว่าเป็นประเภททุกขสัจ เป็นส่วนที่ควรกำหนดรู้ว่าเป็นทุกข์ ส่วนความโลภ ความโกรธ ความหลง ริษยา พยาบาท ความอยากความต้องการเป็นสมุทัย เป็นส่วนควรละ ความรู้ในรูปฌานแลอรูปฌาน แลความรู้ในไตรลักษณ์ หรืออริยสัจเป็นมรรค เป็นส่วนที่ควรเจริญ วิชชา 3 หรือ วิชชา 8 นั้นเป็นนิโรธ เป็นส่วนที่ควรทำให้แจ้ง

    เจดีย์


    จะทำความเห็นอย่างไรจึงจะตรงกับความจริง?

    พระอาจารย์มั่น


    ทำความเห็นว่าไม่มีอะไร มีแต่สมมติแลบัญญัติ ถ้าถอนสมมติแลบัญญัติออกเสียแล้วก็ไม่มีอะไร หาคำพูดไม่ได้ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติ ขันธ์ 5 อายตนะ 6 ธาตุ 6 นามรูป เหล่านี้ก็เพื่อจะให้รู้เรื่องกันเท่านั้น ส่วนขันธ์แลอายตนะ ธาตุ นามรูป ผู้ปฏิบัติควรกำหนดรู้ว่าเป็นทุกข์ ส่วนอนุสัยหรือสังโยชน์ อาสวะ โยคะ โอฆะ นิวรณ์ อุปกิเลสเป็นสมุทัย อาศัยขันธ์หรืออายตนะหรือนามรูปเกิดขึ้นนั้นเป็นสมุทัยเป็นส่วนหนึ่งที่ควรละ มรรคมีองค์ 8 ย่นเข้าคือ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นส่วนที่ควรเจริญ ความสิ้นไปแห่งกิเลส คือ อนุสัยหรือสังโยชน์ ชื่อว่านิโรธ เป็นส่วนควรทำให้แจ้งเหล่านี้แหละเป็นความจริง ความรู้ความเห็นใน 4 อริยสัจนี้แหละเป็นความจริง ความรู้ความเห็นใน 4 อริยสัจนี้แหละคือเห็นความจริงละ

    พระธรรมเจดีย์


    สาธุ ข้าพเจ้าเข้าใจแจ่มแจ้งทีเดียว แต่เมื่ออาสวะไม่ได้ดองอยู่เสมอ แล้วทำไมท่านจึงกล่าวว่า เวลาที่พระอรหันต์สำเร็จขึ้นใหม่ๆ โดยมากแล้วที่ได้ฟังมาในแบบท่านรู้ว่าจิตของท่านพ้นแล้วจากกามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ ข้าพเจ้าจึงเข้าใจว่าผู้ที่ยังไม่พ้นก็ต้องมีอาสวะประจำอยู่กับจิตเป็นนิตย์ไป ไม่มีเวลาว่าง กว่าจะพ้นได้ก็ต้องเป็นพระอรหันต์?

    พระอาจารย์มั่น


    ถ้าขืนทำความเห็นอยู่อย่างนี้ ก็ไม่มีเวลาพ้นจริงด้วย เมื่ออาสวะอยู่ประจำเป็นพื้นเพของจิตแล้วก็ใครจะละได้เล่า พระอรหันต์ก็คงไม่มีในโลกได้เหมือนกัน นี่ความจริงไม่ใช่เช่นนี้ จิตนั้นส่วนหนึ่งเป็นประเภททุกขสัจ อาสวะส่วนหนึ่งเป็นประเภทสมุทัย อาศัยจิตเกิดขึ้นชั่วคราว เมื่อจิตคราวนั้นดับไปแล้ว อาสวะประกอบกับจิตในคราวนั้นก็ดับไปด้วย ส่วนอาสวะที่เกิดขึ้นได้บ่อยๆนั้น เพราะอาศัยการเพ่งโทษ ถ้าเราจักตั้งใจเพ่งโทษใครๆ อาสวะก็จะเกิดได้ด้วยยากเหมือนกัน สมด้วยพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ว่า ปรวชฺชานุปสฺสํสฺส เมื่อบุคคลตามมองดู ซึ่งโทษของผู้อื่น นิจฺจํ อชฺฌาน สญฺญิโน เป็นบุคคลมีความหมายจะยกโทษเป็นนิตย์ อาสวา ตสฺส วฑฺฒนฺติ อาสวะทั้งหลายย่อมเจริญขึ้นแก่บุคคลนั้น อารา โส อาสวกฺขยา บุคคลนั้นเป็นผู้ห่างไกลจากธรรมที่สิ้นอาสวะ ถ้าฟังตามคาถาพระพุทธภาษิตนี้ก็จะทำให้เราเห็นชัดได้ว่าอาสวะนั้นมีมาในเวลาที่เพ่งโทษ เรายังไม่เพ่งโทษอาสวะก็ยังไม่มีมาหรือเมื่อจิตที่ประกอบด้วยอาสวะคราวนั้นดับไปแล้วอาสวะก็ดับไปด้วย ก็เป็นอันไม่เหมือนกัน การที่เห็นว่าอาสวะมีอยู่เสมอจึงเป็นความเห็นผิด

    พระธรรมเจดีย์


    อาสวะ 3 นั้น กามาสวะเป็นกิเลสประเภทรัก อวิชชาสวะเป็นกิเลสประเภทไม่รู้ แต่ภวาสวะนั้นไม่ได้ความว่าเป็นกิเลสประเภทไหน เคยได้ฟังตามแบบท่านว่าเป็นภพๆอย่างไรข้าพเจ้าไม่เข้าใจ?

    พระอาจารย์มั่น


    ความไม่รู้ความจริงเป็นอวิชชาสวะ จึงได้เข้าไปชอบไว้ในอารมณ์ที่ดีมีกามเป็นต้นเป็นกามสวะ เมื่อไม่ชอบไว้ในที่ใด ก็เข้าไปยึดถือตั้งอยู่ในที่นั้น จึงเป็นภวาสวะนี่แหละ เข้าใจว่าเป็นภวาสวะ

    พระธรรมเจดีย์


    ภวะท่านหมายว่าภพ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพไม่ใช่หรือ ทำไมภพถึงจะมาอยู่ในใจของเราได้เล่า?

    พระอาจารย์มั่น


    ภพที่ในใจนี่ละซีสำคัญนัก จึงได้ต่อให้ไปเกิดในภพข้างนอก ก็ลองสังเกตดู ตามแบบที่เราได้เคยฟังมาว่า พระอรหันต์ทั้งหลายไม่มีกิเลสประเภทรัก และไม่มีอวิชชาภวะตัณหาเข้าไปเป็นอยู่ในที่ใด แลไม่มีอุปาทานความชอบความยินดียึดถือในสิ่งทั้งปวง ภพข้างนอก คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ ตลอดจนกระทั่งภพ คือ สุทธาวาสของท่านนั้นจึงไม่มี

    พระธรรมเจดีย์


    อาสวะ 3 ไม่เห็นมีกิเลสประเภทโกรธ แต่ทำไมการเพ่งโทษนั้นเป็นกิเลสเกลียดชังขาดเมตตา กรุณา เพราะอะไรจึงได้มาทำให้อาสวะเกิดขึ้น?

    พระอาจารย์มั่น


    เพราะความเข้าไปชอบไปเป็นอยู่ในสิ่งใดที่ถูกใจของตน ครั้นเขามาทำที่ไม่ชอบไม่ถูกใจจึงได้เข้าไปเพ่งโทษ เพราะสาเหตุที่เข้าไปชอบไปถูกใจเป็นอยู่ในสิ่งใดไว้ซึ่งเป็นสายชนวนเดียวกัน อาสวะทั้งหลายจึงได้เจริญแก่บุคคลนั้น

    พระธรรมเจดีย์


    ความรู้นั้นมีหลายอย่าง เช่นกับวิญญาณ 6 คือ ความรู้ทาง หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือ ความรู้ในเรื่อง โลภ โกรธ หลง ริษยา พยาบาท หรือรู้ไปในเรื่องความอยากความต้องการ หรือคนที่หยิบเล็กหยิบน้อยนิดหน่อยก็โกรธ เขาก็ว่าเขารู้ทั้งนั้น ส่วนความรู้ในรูปฌานหรืออรูปฌาน ก็เป็นความรู้ชนิดหนึ่ง ส่วนปัญญาที่รู้เห็นไตรลักษณ์แลอริยสัจก็เป็นความรู้เหมือนกัน ส่วนวิชชา 3 หรือวิชชา 8 ก็เป็นความรู้พิเศษอย่างยิ่ง เมื่อเป็นเช่นนี้ ควรจะแบ่งความรู้เหล่านี้เป็นประเภทไหนบ้าง ขอท่านจงอธิบายให้ข้าพเจ้าจะได้ไม่ปนกัน

    พระอาจารย์มั่น


    ควรแบ่งความรู้ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ว่าเป็นประเภททุกขสัจ เป็นส่วนที่ควรกำหนดรู้ว่าเป็นทุกข์ ส่วนความโลภ ความโกรธ ความหลง ริษยา พยาบาท ความอยากความต้องการเป็นสมุทัย เป็นส่วนควรละ ความรู้ในรูปฌานแลอรูปฌาน แลความรู้ในไตรลักษณ์ หรืออริยสัจเป็นมรรค เป็นส่วนที่ควรเจริญ วิชชา 3 หรือ วิชชา 8 นั้นเป็นนิโรธ เป็นส่วนที่ควรทำให้แจ้ง

    เจดีย์


    อะไรๆก็เอาเป็นอริยสัจ 4 เกือบจะไม่มีเรื่องอื่นพูดกัน?

    พระอาจารย์มั่น


    เพราะไม่รู้อริยสัจทั้ง 4 แลไม่ทำหน้าที่กำหนดทุกข์ ละสมุทัยแลทำนิโรธให้แจ้งแลเจริญมรรค จึงได้ร้อนใจกันไปทั่วโลก ท่านผู้ทำกิจถูกตามหน้าที่ของอริยสัจ 4 ท่านจึงไม่มีความร้อนใจ ที่พวกเราต้องกราบไหว้ทุกวัน ข้าพเจ้าจึงชอบพูดถึงอริยสัจ

    พระธรรมเจดีย์


    ตามที่ข้าพเจ้าได้ฟังมาว่า สอุปาทิเสสนิพพานนั้น ได้แก่พระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่ อนุปาทิเสสนิพพานนั้นได้แก่พระอรหันต์ที่นิพพานแล้ว ถ้าเช่นนั้นท่านคงหมายความถึงเศษนามรูป เนื้อแลกระดูกที่เหลืออยู่นี่เอง?

    พระอาจารย์มั่น


    ไม่ใช่ ถ้าเศษเนื้อเศษกระดูกที่หมดแล้วว่าเป็นอนุปาทิเสสนิพพาน เช่นนั้นใครๆตายก็คงเป็นอนุปาทิเสสนิพพานได้เหมือนกัน เพราะเนื้อแลกระดูกชีวิตจิตใจก็ต้องหมดไปเหมือนกัน

    พระธรรมเจดีย์


    ถ้าเช่นนั้นนิพพานทั้ง 2 อย่างนี้จะเอาอย่างไหนเล่า?

    พระอาจารย์มั่น


    เรื่องนี้มีพระพุทธภาษิตตรัส สอุปาทิเสสสูตรแก่พระสารีบุตร ในอังคุตตรนิกาย นวกนิบาตหน้า 31 ความสังเขปว่า วันหนึ่งเป็นเวลาเช้าพระสารีบุตรไปเที่ยวบิณฑบาตร มีพวกปริพพาชกพูดกันว่า ผู้ที่ได้บรรลุสอุปาทิเสส ตายแล้วไม่พ้นนรก กำเนิดดิรัจฉาน เปรตวิสัย อบายทุคติวินิบาต ครั้นพระสารีบุตรกลับจากบิณฑบาตรแล้วจึงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลตามเนื้อความที่พวกปริพาชกเขาพูดกันอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สอุปาทิเสสบุคคล 9 จำพวกคือ พระอนาคามี 5 จำพวก พระสกิทาคามี จำพวกหนึ่ง พระโสดาบัน 3 จำพวก ตายแล้วพ้นจากนรก กำเนิดดิรัจฉาน เปรตวิสัย อบายทุคติวินิบาต ธรรมปริยายนี้ยังไม่แจ่มแจ้ง แก่ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาเลย เพราะได้ฟังธรรมปริยายนี้แล้วจะประมาท แลธรรมปริยายนี้เราแสดงด้วยความประสงค์จะตอบปัญหาที่ถามในสอุปาทิเสสสูตรนี้ ไม่ได้ตรัสถึงอนุปาทิเสส แต่ก็พอสันนิษฐานได้ว่า อนุปาทิเสสคงเป็นส่วนของพระอรหันต์

    พระธรรมเจดีย์


    ถ้าเช่นนั้นท่านก็หมายความถึงสังโยชน์ คือกิเลสที่ยังมีเศษเหลืออยู่ว่า เป็นสอุปาทิเสนิพพาน ส่วนสังโยชน์ที่หมดแล้วไม่มีส่วนเหลืออยู่ คือพระอรหัตผล ว่าเป็นอนุปาทิเสสนิพพาน?

    พระอาจารย์มั่น


    ถูกแล้ว

    พระธรรมเจดีย์


    ถ้าเราพูดอย่างนี้ คงไม่มีใครเห็นด้วย คงว่าเราเข้าใจผิดไม่ตรงกับเขา เพราะเป็นแบบสั่งสอนกันอยู่โดยมากว่า สอุปาทิเสสนิพพานของพระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่ อนุปาทิเสสนิพพานของพระอรหันต์ที่นิพพานแล้ว?

    พระอาจารย์มั่น


    ข้าพเจ้าเห็นว่า จะเป็นอรรถกาที่ขบ พระพุทธภาษิตไม่แตกแล้ว ก็เลยถือตามกันมา จึงมีทางคัดค้านได้ไม่คมคายชัดเจน เหมือนที่ทรงแสดงแก่พระสารีบุตร ซึ่งจะไม่มีทางคัดค้านได้ หมายกิเลส นิพพานโดยตรง

    พระธรรมเจดีย์


    สอุปาทิเสสสูตรนี้ ทำไมจึงได้ตรัสหลายอย่างนัก มีทั้งนรก กำเนิดดิรัจฉาน เปรตวิสัย อบายทุคติวินิบาต ส่วนในพระสูตรอื่นๆ ถ้าตรัสถึงอบายก็ไม่ต้องกล่าวถึงนรก กำเนิดดิรัจฉาน เปรตวิสัย อบายทุคติวินิบาต?

    พระอาจารย์มั่น


    เห็นจะเป็นด้วยพระสารีบุตรมากราบทูลถามหลายอย่าง ตามถ้อยคำของพวกปริพาชกที่ได้ยินมา จึงตรัสตอบไปหลายอย่าง เพื่อให้ตรงกับคำถาม

    พระธรรมเจดีย์


    ข้างท้ายพระสูตรนี้ ทำไมจึงมีพุทธภาษิตตรัสว่า ธรรมปริยายนี้ ยังไม่แจ่มแจ้งแก่ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาเลย เพราะได้ฟังธรรมปริยายนี้แล้วจะประมาท แลธรรมปริยายนี้เราแสดงด้วยความประสงค์จะตอบปัญหาที่ถาม

    พระอาจารย์มั่น


    ตามความเข้าใจของข้าพเจ้า เห็นจะเป็นด้วยพระพุทธประสงค์ คงมุ่งถึงพระเสขบุคคล ถ้าได้ฟังธรรมปริยายนี้แล้วจะได้ความอบอุ่นใจ ที่ไม่ต้องไปทุคติแลความเพียรเพื่อพระอรหันต์จะหย่อนไป ท่านจึงได้ตรัสอย่างนี้

    พระธรรมเจดีย์


    เห็นจะเป็นเช่นนี้เอง ท่านจึงตรัสว่าถ้าได้ฟังธรรมปริยายนี้แล้วจะประมาท?

    พระอาจารย์มั่น


    ตามแบบที่ได้ฟังมาโดยมาก พระพุทธประสงค์ ทรงเร่งพระสาวก ผู้ยังไม่พ้นอาสวะ ให้รีบทำความเพียรให้ถึงที่สุด คือพระอรหันต์
     
  9. wisarn

    wisarn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    741
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +2,505
  10. pantham phuakph

    pantham phuakph เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 มีนาคม 2006
    โพสต์:
    186
    ค่าพลัง:
    +444
    ๗ วัน หรือ ๗ เดือน หรือ ๗ ปี หากบรรลุธรรม ล้วนเป็นเรื่องดีทั้งสิ้น

    แต่หากปล่อยให้ถึง ๗ ชาติ ต้องพิจารณา คำว่าประมาท ให้มากเข้าไว้

    ขออนุโมทนา กับธรรมทาน ของคุณ wisarn it
     
  11. หลบภัย

    หลบภัย เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 มิถุนายน 2009
    โพสต์:
    2,207
    ค่าพลัง:
    +3,123
    อนุโมทนา กระเจ้าของกระทู้
    การอ่านธรรม ต้องพิจารณาธรรม
    น้อมนำมาปฏิบัติ ...สาธุ...
     
  12. มโน

    มโน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2009
    โพสต์:
    316
    ค่าพลัง:
    +100
    มุตโตทัย โอวาทของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

    มุตโตทัย <!-- google_ad_section_end -->

    <HR style="COLOR: #ffffff; BACKGROUND-COLOR: #ffffff" SIZE=1><!-- google_ad_section_start -->ไฟล์แนบข้อความ <TABLE cellSpacing=3 cellPadding=0 border=0><TBODY><TR><TD width=20><INPUT id=play_19574 onclick=document.all.music.url=document.all.play_19574.value; type=radio value=attachment.php?attachmentid=19574 name=Music>ฟัง</TD><TD>[​IMG]</TD><TD>มุตโตทัย โอวาทของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต.mp3 (10.81 MB, 513 views)</TD></TR></TBODY></TABLE>
    <!-- google_ad_section_start -->มุตโตทัย


    แนวทางการปฏิบัติให้ถึงความหลุดพ้น มุตโตทัย
    บันทึกโดยพระอาจารย์วิริยังค์ สิรินฺธโร
    ณ วัดป่าบ้านนามน กิ่ง อ. โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร พ.ศ. 2486
    ซึ่งประกอบด้วยหัวข้อธรรมดังต่อไปนี้
    1. การปฏิบัติ เป็นเครื่องยังพระสัทธรรมให้บริสุทธิ์
    2. การฝึกตนดีแล้วจึงฝึกผู้อื่น ชื่อว่าทำตามพระพุทธเจ้า
    2. การฝึกตนดีแล้วจึงฝึกผู้อื่น ชื่อว่าทำตามพระพุทธเจ้า
    4. มูลฐานสำหรับทำการปฏิบัติ
    5. มูลเหตุแห่งสิ่งทั้งหลายในสากลโลกธาตุ
    6. มูลการของสังสารวัฏฏ์
    7. อรรคฐาน เป็นที่ตั้งแห่งมรรคนิพพาน
    8. สติปัฏฐาน เป็น ชัยภูมิ คือสนามฝึกฝนตน
    9. อุบายแห่งวิปัสสนา อันเป็นเครื่องถ่ายถอนกิเลส
    10. จิตเดิมเป็นธรรมชาติใสสว่าง แต่มืดมัวไปเพราะอุปกิเลส
    11. การทรมานตนของผู้บำเพ็ญเพียร ต้องให้พอเหมาะกับอุปนิสัย
    12. มูลติกสูตร
    13. วิสุทธิเทวาเท่านั้นเป็นสันตบุคคลแท้
    14. อกิริยาเป็นที่สุดในโลก - สุดสมมติบัญญัต
    15. สัตตาวาส
    16. ความสำคัญของปฐมเทศนา มัชฌิมเทศนา และปัจฉิมเทศนา
    17. พระอรหันต์ทุกประเภทบรรลุทั้งเจโตวิมุตติ ทั้งปัญญาวิมุตติ<!-- google_ad_section_end -->
     
  13. wisarn

    wisarn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    741
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +2,505
    สงคหทิฏฐิ


    พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ท่านพ่อลี ธมฺมธโร)
    วัดอโศการาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ


    ต่อไปนี้จะพรรณนาคุณของพระอรหันต์ ที่เป็นผู้รู้แจ้งโลก ละโลกขาดเป็นสมุจเฉทปหานนั้นได้แล้ว ถ้าขันธ์ ๕ ยังปรากฏแก่โลกอยู่ ก็เป็นขันธวิสุทธิหมดบุญหมดบาป เพราะดวงจิตมิได้เข้ามายึดมาเป็นกรรมสิทธิ์ จิตพันแล้วจากอาการของขันธ์ คือสังโยชน์ ๑๐ ดับสนิทมิได้มาพัวพันดวงจิตอีกได้แล้ว ที่เรียกว่า พระนิพพานธรรม คือจิตผ่องใสไม่มีราคะ โทสะ โมหะ มาปกปิดอีกได้ ถึงธรรมชาติจิตเดิมอันสว่างไม่มีสิ่งที่จะเปรียบได้ เมื่อความสว่างอันนั้นเกิดขึ้นแล้ว ย่อมทำลายความสว่างของโลกทั้ง ๓ ให้หายไปหมด ไม่ปรากฏว่ามีภพนั้น ภพนี้อีกเลย เมื่อจิตของตนยังไม่พ้นไปจากกิเลสแล้วย่อมเห็นว่าโลกทั้ง ๓ ภพ มีความสว่างอยู่หรือเป็นสุขอยู่ดังนี้

    เมื่อใดใจของตนเข้าถึงโสดาขั้นแรก แลเห็นความสว่างของโลก ๓ มืดไปบ้าง หรือให้ปรากฏมีสีแดงไปบ้าง ถ้าเข้าถึงสกิทาคาขั้นที่สอง จะปรากฏความสว่างของโลก ๓ ให้สีแดงหรี่ลงทุกที ถ้าเข้าถึงอนาคาขั้นที่สาม จะปรากฏความสว่างของโลก ๓ ให้มืดมัวลงหรี่ลงทุกที แต่ยังเหลืออยู่ ถ้าเข้าถึงอรหัตมรรคขั้นที่สี่ จะปรากฏความสว่างของโลก ๓ มัวมืดหรี่ลงเกือบจะดับ พอศีล สมาธิ ปัญญา เข้าสันนิบาตในดวงจิตได้แล้ว อวิชชากับอริยมรรค เบื้องบนดับพร้อมกันแล้ว มิได้ปรากฏโลกเลยว่ามีลักษณะสีสัณฐานอย่างไร อยู่ทิศไหนแดนใด มีแต่ใสสว่างกระจ่างแจ้งคือพระนิพพาน โลกทั้งหลายละลายสิ้นด้วยอรหัตมรรคและผล นี้ย่อมเป็นของมีจริงอยู่ แต่ไม่รู้เพราะความหลงความมืด ความสว่างอันนี้แหละ กำจัดความมืดของโลกให้หมดไป จะปรากฏได้แต่พระนิพพานธรรม ความสว่างของนิพพานบังคับ แลปิดบังความสว่างของโลกให้หมดไป

    มีข้ออุปมัยดังนี้ เปรียบประหนึ่งว่าแสงพระอาทิตย์ส่องโลกให้สว่างกลางวันในหมู่มนุษย์และสัตว์ เมื่อแสงพระอาทิตย์แผ่รัศมีมีกำลังกล้าเต็มที่แล้ว ย่อมขจัดทำลายเสียซึ่งความสว่างของดาราทั้งปวงที่มองเห็นอยู่ในท้องฟ้าใน เวลากลางคืน ถ้าพระอาทิตย์ปรากฏขึ้นมา แสงดาราคือดาวย่อมดับไป นี้อุปมาฉันใด พระนิพพานธรรมย่อมกำจัดความสว่างของโลกก็ฉันนั้น

    อีกอุปมาหนึ่งว่า เปรียบเหมือนแสงเทียนที่มนุษย์ติดไฟขึ้นย่อมทำความสว่างขึ้นแก่ตาแล้ว ถ้าหากมีแสงตะเกียงอันสว่างกล้ามาปรากฏในที่ใกล้แห่งแสงเทียน จะรู้สึกว่าแสงเทียนนั้นแดงหรือหรี่ไป เมื่อแสงกล้าจริงๆ แล้ว แสงเทียนนั้นย่อมไม่ปรากฏเสียเลย ถ้าผู้ที่มิได้สังเกตจริงๆ แล้ว จะเห็นว่าแสงเทียนไม่มีเลย แต่ที่จริงแสงเทียนนั้นคงมีแสงอยู่ตามเดิม แต่มนุษย์มิได้เอาใจใส่ในแสงเทียนนั้นเลย นี้แลฉันใด ดวงจิตที่เข้าถึงพระนิพพานธรรมอันสว่างย่อมกำจัดแสงพระอาทิตย์ แสงพระจันทร์ และฤทธิ์เดชสวรรค์ มาร พรหม ยมโลก มิให้ปรากฏขึ้นในใจได้ เพราะเหตุนี้จึงเรียกว่าพระนิพพานสูญฯ คือไม่ปรากฏโลก ๓ เป็นอารมณ์เลย คือใจมิได้เข้าสัมปยุตนั้นเอง คือสูญจากโลกต่างหาก คือไม่มีความ เกิด แก่ เจ็บ ตาย อีกแล้ว

    พระนิพพานเป็นของที่มีแท้ไม่แปรผัน เสื่อมไม่เป็น มีอยู่คงที่อย่างนั้น แต่ผู้จะทำเหตุให้รู้เห็นพระนิพพานไม่มี ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย มีอยู่ตราบใด พระนิพพานก็มีอยู่ตราบนั้น เพราะความไม่เกิดก็มาจากเกิด ความไม่ตายก็ฝังอยู่ที่ความตายนั้นเอง พระนิพพานไม่ถอยไปถอยมา แต่ผู้ปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา ถอยออกถอยเข้าเปรียบประหนึ่งว่า มนุษย์ที่ไปหัวเมืองหนึ่ง เมื่อตนเดินไปถึงครึ่งทางก็กลับมาเสียแล้ว ไปอีกเดินกลับไปกลับมาอยู่เช่นนั้น ควรจะถึงใน ๓๐ วัน จะเดินอยู่สัก ๓ ปีก็ไม่ถึง ถ้าตนไปไม่ถึงแล้ว ยังจะต้องบอกคนอื่นอีกว่าเมืองนั้นไม่มี เช่นนี้เป็นความผิดอย่างมากทีเดียว

    นี้ฉันใดผู้ปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา ถอยไปๆมาๆอยู่ ไม่รู้แจ้งความจริงแล้ว ยังจะต้องมาประกาศคนอื่นอีกว่าพระนิพพานสูญไม่มี เสื่อมไปหมดแล้ว เพราะพระพุทธเจ้านิพพานนานแล้ว ดังนี้ ผิดจากความจริงมาก เปรียบเหมือนพื้นที่บิดามารดาพาทำนามาเคยได้ผลดีเสมอ แต่ถ้าหากว่าบิดามารดาตายไป ความขี้เกียจของตนเกิดขึ้นไม่ทำแล้วความอดจะต้องมี ถ้าอดแล้วเราจะว่าบิดามารดาเอาข้าวหรือไร่นาไปตามได้ไหมเล่า นี้ฉันใด พระนิพพานมีอยู่ แต่ตนไม่ประกอบเหตุขึ้นยังจะมาตู่อีกจะมีโทษสักเพียงไรนึกดูเอาเถิด ถ้าเราไปไม่ถึงหรือไม่รู้แล้วไม่สู้อัศจรรย์ ถ้าปฏิบัติใกล้เข้าไปจริงๆ จะเห็นว่าโลกนี้คลุกคลีไปด้วยอสรพิษและกองเพลิงทั้งนั้น ถ้าตนมีญาณแล้วจะแลเห็นปราสาทและวิมานของเทวเทพราวกับว่าบ้านคนจัณฑาลไป ย่อมไม่ยินดีที่จะอยู่ เพราะได้รู้พระนิพพานแล้ว

    ที่ ว่านิพพานๆ นั้นมิใช่อื่น ก็คือจิตใจธรรมดาของเรานี้เอง แต่พ้นไปจากอาสวะทั้งปวงได้แล้ว คือถึงธรรมชาติจิตเดิม ธรรมชาติของเขาย่อมเป็นของไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ที่เกิดอยู่นั้นคือ หลงอารมณ์ต่างหาก ธรรมชาติดวงจิตย่อมเป็นของผ่องใส แต่อวิชชามาปกปิดไว้ให้ขุ่นหมอง อย่าว่าแต่ดวงจิตเลย จะพูดเสมอหยาบๆ เช่นมีคนๆ หนึ่งมาพูดว่า น้ำในทะเลเป็นธรรมชาติที่ใส ใครมีปัญญาย่อมแลเห็นดินได้ดังนี้ จะหาคนเชื่อคำพูดนั้นยากเหลือที่สุด แต่เขาพูดเป็นคำพูดที่จริง ที่คนแลไม่เห็นดินนั้น เพราะอาศัยเหตุหลายอย่าง คือเหตุที่มีดินรองพื้นและละออง และสัตว์ และลม เป็นต้น มาผสมอยู่ ถ้าใครกำจัดดินและลมและละอองอันละเอียดออกได้หมด ให้มีแต่ธรรมชาติน้ำอย่างเดียวแล้ว ย่อมใสบริสุทธิ์ รู้ได้ว่าลึกหรือตื้น ไม่ต้องไปงมดำให้เสียเวลา นี้แหละฉันใด ใจเราที่โง่ก็ไม่ควรจะไปหางมเรื่องพระนิพพานในที่อื่น ให้ชำระจิตใจตนนี้จึงจะแลเห็นได้

    โดยมากผู้ปฏิบัตินี้มักคำนวณและเดา และตัดสินเรื่องพระนิพพานอย่างนั้น อย่างนี้ แต่ความจริงนั้นพระนิพพานนี้มิใช่ของลึกลับเท่าไรนัก ที่ลึกลับนั้นอาศัยไม่มีปัญญาต่างหาก พระนิพพานเป็นของมีประจำโลก โลกมีอยู่ตราบใด พระนิพพานย่อมมีตราบนั้น แต่ไม่มีผู้ค้นหาความจริง จึงเป็นของห่างไกลลึกลับ เมื่อความไม่เข้าใจของตนมีขึ้นแล้ว ย่อมใช้สัญญาและสังขารมาคิดนึกว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ บางทีก็ว่านิพพานดับไปบ้าง นิพพานสูญไปบ้าง นิพพานไม่เกิด แก่ เจ็บ ตาย บ้าง นิพพานเป็นตัวตนบ้าง นิพพานมิใช่ตัวตนบ้าง ดังนี้เป็นต้น แต่ความจริงเรียกเช่นนั้นก็เป็นโวหารที่ไม่ผิดไม่ถูก ถูกและผิดอยู่กับบุคคลผู้เรียก เพราะพระนิพพานนั้นเป็นของผู้ที่พ้นไปจากสมมติ ใครจะเรียกอย่างไรก็คงเป็นอยู่เช่นนั้น

    นิพพานนั้นไมใช่ของขัด จะเรียกสวรรค์ มาร พรหม ก็ไม่เห็นแปลก ตัวอย่างเช่น พวกเราสมมติเรียกกันว่า พระจันทร์ พระอาทิตย์ เหล่านี้ เราจะเรียกเขาว่าดาวก็ตาม จะเรียกเขาว่าขี้เมฆก็ตาม จะเรียกเขาว่าโลกอันหนึ่งก็ตาม จะเรียกว่าแก้วก็ตามความเป็นจริงของเขามีอยู่อย่างไร ย่อมเป็นอยู่อย่างนั้น เขามิได้แปรไปตามคำพูดของคนเรา เขาเองเขาก็มิได้ประกาศตัวเขาว่าเป็นพระอาทิตย์ พระจันทร์อะไร ย่อมเป็นฐิติธรรมอยู่เช่นนั้น

    จิตใจที่บริสุทธิ์แล้ว ที่เรียกนิพพาน เราจะเรียกว่าอย่างไรเขาก็เป็นอยู่เช่นนั้น เหตุนั้นจึงให้นามว่า ไม่มีผิดไม่มีถูก ผิดถูกอยู่กับผู้เรียกต่างหาก ผู้ไม่รู้ความจริงก็เอาความผิดความถูกเหล่านี้มาพูดกัน พระนิพพานนั้น เป็นของรู้ในทางใจอย่างเดียวที่เกี่ยวข้อง ทางกาย วาจาที่พูดจากันนั้นเป็นเรื่องมรรคต่างหาก ส่วนผลนั้นพิเศษไปจากส่วนนี้ จึงให้นามว่าวิมุตติ คือพ้นจากสมมติ ถึงธรรมชาติที่เป็นแก่นแท้ คือจิตไม่หมุนไปหน้ามาหลัง เข้าถึงธรรมที่ไม่เสื่อม ไม่เจริญ ไม่ไปไม่มา มีอยู่เช่นนั้น นั่นแหละสมมติว่าฐิติธรรม ไม่นำเชื้อโรคคือกิเลสทั้งปวงเข้ามา ก็คือจิตใจเรานี่เอง คือถึงธรรมชาติจิตเดิม ธรรมชาติเขาย่อมเป็นของบริสุทธิ์จริง แต่เจือปนไปด้วยอารมณ์ต่างๆ เมื่อใครมาชำระอารมณ์ทั้งหลายออกได้แล้ว นั่นแลพระนิพพาน

    ที่ว่ารู้แจ้งพระนิพพานๆ นั้นมิใช่อื่นไกล คือให้รู้เรื่องของจิตดวงเดียวที่ไปเหนี่ยวเอาอารมณ์มาเป็นตนนั้นเอง แต่ธรรมชาติของจิตมีดวงเดียวอยู่แล้ว แต่จิตมิได้อบรมด้วยปัญญาแล้วก็น้อมไปสู่อารมณ์ต่างๆ มีอารมณ์ภายในและภายนอก แล้วก็เรียกกันว่าจิตดวงนั้นจิตดวงนี้ต่างๆ เลยกลายเห็นเป็นของมาก เลยหมดกำลังที่จะรักษาได้ ที่แท้จริงคำที่ว่ามากก็คือไปนับเอาอารมณ์มาเป็นจิตต่างหากแต่เราฟังคำพูด ของนักปราชญ์เก่าไม่เข้าใจความหมาย ก็นึกว่าจิตจะมีมาก

    ที่ว่าจิตมีดวงเดียว แต่เรียกมากนั้นจะเปรียบให้แลเห็นใกล้ๆ เช่นคนๆ เดียวทำงานได้หลายอย่าง เช่นบางทีค้าขายเรียกว่าพ่อค้าเสีย ถ้าทำนาก็เรียกชาวนาเสีย ถ้าทำราชการก็เรียกว่าขุนนางเสียตั้งเป็นขุนก็เรียกขุนไป ตั้งเป็นหลวงก็เรียกหลวงไป แต่ความจริงก็คือคนผู้เดียวนั้นเอง ที่เรียกนั้นก็ไม่ผิด แต่เขาเรียกตามการงานที่ทำคนที่ฟังไม่เข้าใจก็นึกว่ามากคนเหลือเกิน อุปมาหนึ่งเช่นเด็กที่เกิดใหม่เขาก็เรียกทารก โตขึ้นหน่อยเขาเรียกเจ้าหนู โตขึ้นอีกเรียกเจ้าหนุ่มหรือสาว ถ้าศีรษะหงอกฟันหักไปก็เรียกยายแก่ ที่เรียกนั้นมาจากไหนอีกเล่า ก็คนๆ เดียวนั้นเอง นี้ฉันใดใจเราที่สมมติว่าจิตมากดวงก็ฉันนั้น เมื่อไม่เข้าใจสมมติคำพูดกันแล้วก็จะมัวงมกันอยู่แต่เงาแห่งตนจึงปฏิบัติได้ ยาก คือไม่รู้จักจิตที่ถูกสมมติกันขึ้น จึงไม่เห็นวิมุตติจิต

    คำที่ว่าจิตมีอารมณ์มากนั้นดังนี้ คือ บางคราวเรียกว่า สราคจิต จิตรับเอาราคะ (๑) สโทสจิต จิตรับเอาโทสะ ๑ สโมหจิต จิตรับเอาอารมณ์ที่หลงมาเป็นตน ๑ นี้ฝ่ายชั่วเรียกว่า อกุศลจิตนี้ ๑ (๒) วีตราคจิต จิตที่อิ่มแล้วคลายออกซึ่งความกำหนัด ๑ วีตโทสจิต จิตที่พอแล้วหายจากความหงุดหงิด คิดประทษร้าย ๑ วีตโมหจิต จิตที่สว่างแล้วคลายออกจากความมืดราวกับจันทรคราส กับสุริยคราสที่คลายออกแล้วย่อมสว่างกระจ่างแจ้งฉันนั้นนี้ ๑ นี้ฝ่ายดีเรียกว่ากุศลจิต

    ต่อนั้นก็เข้าใจกันว่าจิตมี ๖ จิต แต่ธรรมชาติจิตจริงมีหนึ่งเท่านั้น ที่ว่า ๖ นั้นก็คือไปนับเอาอารมณ์ของจิตต่างหาก (จิตเดิมเป็นของผ่องใสด้วย) ที่ว่า ๖ นั้นก็คือไปนับเอาอารมณ์มาปนเข้าด้วยก็ว่ามากของน้อยเห็นเป็นมาก ที่มักจะเปรียบเหมือนคนที่โง่หรือจนเห็นเงินร้อยเงินพันเป็นของมาก คนที่ฉลาดหรือมั่งมีเห็นว่าน้อยนิดเดียว จ่าย ๒ วันก็หมด ส่วนคนโง่เขลาเห็นว่ารวยหนักหนาถ้าเป็นเช่นนี้ก็ยังจะต้องจนนี้ฉันใด ใจมนุษย์อันเดียว เห็นเป็นมาก ย่อมลำบากตนเพราะจนปัญญา

    ธรรมชาติจิตอันเดียวและผ่องใสนั้น เปรียบเหมือนน้ำที่ใสสะอาด แต่มีมนุษย์เอาไปใส่ในขวดที่มีสีต่างๆ แล้ว ก็เรียกกันไปตามสี มีน้ำแดง น้ำเหลือง น้ำเขียว เรียกไปตามน้ำที่ผสมสี แต่ธรรมชาติน้ำก็คงใสอยู่ตามเดิม คนที่โง่หลงสีน้ำแล้ว อยากจะกินลองดู กิน ๕ ขวด ก็เหมือนขวดเก่า ถ้ารู้เสียว่าน้ำอันเดียวเท่านั้นเอง ก็หาอยากรินขวดโน้นขวดนี้วุ่นวายไปเปล่าๆ ผู้รู้ความจริงแล้วเขารินขวดเดียวพอ นี้ฉันใด ถ้าเรารู้เห็นว่า ใจนี้แลเป็นใหญ่เป็นประธานแห่งกุศลและอกุศลมรรคผลนิพพานแล้ว ย่อมหายวุ่นที่จะไปว่าจิตอย่างนั้น จิตอย่างนี้ ที่เรียกว่าจิตมากๆ นั้นก็เพราะเข้าไปแทรกในอารมณ์ เมื่ออารมณ์มาย้อมจิตก็ไปนับเอาอารมณ์มาเป็นจิตตนเสีย

    อีกประการหนึ่ง จิตที่บริสุทธิ์นั้นเปรียบเหมือนพระอาทิตย์ที่ส่องโลกให้สว่างแจ้งถึง ๓ ฤดูกาลมิได้ขาดสักวันเดียว แต่ในฤดูฝนมีเมฆและหมอกมาปกปิดแล้ว มนุษย์ทั้งหลายที่ไม่รู้ธรรมชาติของเขาแล้ว ย่อมติและยกโทษพระอาทิตย์ไปต่างๆ คือเข้าใจเสียว่า พระอาทิตย์มืดเช่นนี้ย่อมพูดผิดจากความจริงของพระอาทิตย์แท้ๆ ตาของตนมองขี้เมฆไม่ทะลุแล้วไปติพระอาทิตย์ เพราะตนไปสมมติเอาก้อนเมฆมาเป็นพระอาทิตย์แล้วก็ติดแค่สมมติเท่านั้น หาเข้าถึงความจริงไม่ ความจริงของเขาย่อมสว่างอยู่ตามธรรมชาติไม่ว่าฤดูใด ไม่เห็นจริงแล้วขอให้ถามทหารนักบินดูก็จะรู้กันในคราวฝนตกท้องฟ้ามืดถ้าขึ้น เครื่องบินให้พ้นเมฆก็จะรู้ความจริงของพระอาทิตย์ว่าสว่างหรือมืดประการใด

    นี้แลฉันใด ใจของคนเราจะเป็นไปอย่างไรก็ตาม ย่อมเป็นธรรมชาติดวงเดียวและผ่องใสสว่างอยู่ตามธรรมชาติของเขา เมื่อไม่มีวิชาปัญญาแล้ว ย่อมปล่อยให้อารมณ์ต่างๆ ไหลเข้ามานำพาให้ทำกุศลบ้าง อกุศลบ้างแล้วก็เรียกกันตามกิริยาของจิตเสีย ถ้าหากว่าจิตดวงเดียวแล้ว เช่นนั้นอารมณ์ก็อันเดียวเหมือนกัน ถ้าอารมณ์มีอันเดียวก็ไม่สู้ยากในการปฏิบัติให้รู้ความจริงที่ว่าอารมณ์มากๆ นั้น มิใช่ว่าเข้ามาพร้อมกันทั้งหมด หนเดียวขณะเดียว จะต้องผ่านมาทีละอย่างเช่นอารมณ์ที่ดีเข้ามา อารมณ์ที่ชั่วออก สุขเข้าทุกข์ออก ฉลาดเข้าโง่ออก มืดเข้าสว่างออก คอยสับเปลี่ยนกันอยู่มิได้ขาด แต่ขณะจิตเร็วที่สุด ถ้าใครไม่มีปัญญาแล้ว ย่อมไม่รู้อารมณ์ของตนเลย เมื่อเวลากำเริบถึงกายวาจาก่อน จึงจะรู้สึกตัวกัน โดยมากจิตดวงเดียวนี้เร็วมาก เปรียบเหมือนเราติดไฟขึ้นแล้วปรากฏความสว่างขึ้นความมืดหายไปทันที เมื่อไฟดับความมืดก็ปรากฏขึ้นโดยเร็ว ดูธรรมดาแล้วจะเห็นว่าดับพร้อมกัน ราวกับเปิดสวิชท์ไฟฟ้าพรึบเดียวความสว่างปรากฏพร้อมกันทันที จิตดวงเดียวที่เปลี่ยนอารมณ์ต่างๆ นั้นก็เร็วฉันนั้น

    จิตดวงเดียวนี้แลให้เกิดภพต่างๆ เพราะมีอารมณ์เข้ามาแทรกแล้วก็พัวพันติดอยู่ คนเราคนเดียวมิใช่ว่าจะมีจิตมากจิต ตัวอย่างคนไปเกิดในสวรรค์ ก็ไปได้แต่สวรรค์เท่านั้น ถึงจะไปเกิดภพอื่นอีกก็ต้องจุติจากที่นั้นก่อน มิใช่ว่าจะไปสวรรค์แลนรกและมารพรหมพร้อมกันทีเดียว นี้ชี้ให้เห็นว่าจิตมีดวงเดียวแท้แปลกกันแต่สัญญาอารมณ์ต่างๆ กันเท่านั้น อารมณ์ โดยย่อของจิตก็คือ นามรูปเท่านี้เองที่จะเปลี่ยนให้จิตไปเกิดในภพต่างๆเพราะจิตไม่มีปัญญาไม่ รู้ความจริงของอารมณ์ก็งมงายตายเกิดในกำเนิดทั้ง ๔ ถ้าจิตมีปัญญามารู้อารมณ์ ปล่อยวางอารมณ์จนหมดไม่มีเศษแล้ว เหลือแต่ธรรมชาติจิตเดิมไม่หลงอารมณ์เป็นกามภพ รูปภพ อรูปภพ ได้แล้ว จิตย่อมพ้นจากทุกข์ได้ จิตอันใดที่ศีล สมาธิ ปัญญา มาอบรมเต็มรอบแล้วย่อมพ้นอาสวะกิเลสได้สิ้นเชิงดังนี้, ขันธกาโม ความใคร่ในขันธ์ ๕ ก็หมด ภวกาโม ความใคร่ในภพ ๓ มีกามภพ รูปภพ อรูปภพก็ดับ ภพ ๓ นั้นโดยย่อก็มีแต่ ๒ คือ รูปขันธ์ มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม นี้หนึ่ง นามขันธ์คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้หนึ่ง รวมลงก็คือ กายใจ หรือ กายจิตก็ว่า ส่วนรูปขันธ์แลเห็นด้วยตา ส่วนนามขันธ์ไม่แลเห็นด้วยตาเป็นแต่ความรู้สึกทางจิตใจ เมื่อรู้จักย่นเข้าขยายออกได้แล้ว ย่อมรู้ความจริงของขันธ์ ว่าขันธ์นี้แลตัวทุกข์ ขันธ์นี้แลเป็นสมุทัย ขันธ์นี้แลเป็นมรรค เมื่อทำความเข้าใจถูกย่อมแก้ถูก

    ถ้าใครมีปัญญาแล้วขันธ์จะเกิด ขึ้นก็ตาม ขันธ์จะตั้งอยู่ก็ตามจะเสื่อมไปก็ตาม มิให้จิตของตนเข้าไปยึดมั่นถือมั่นสำคัญผิด ทำจิตปล่อยวางเฉยอยู่ ทำความรู้อยู่ไม่หวั่นไหว ไม่ต้องไปวิตกวิจารณ์ตามอาการของขันธ์ เพราะขันธ์นั้นเป็นของแก้ไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านก็มิได้ทรงแก้ขันธ์เป็นแต่พระองค์ทำความปล่อยวางตามสภาพความ จริงของเขาเท่านั้น เพราะว่าจิตเป็นผู้สร้างขันธวัตถุ ถ้าแก้วัตถุที่สร้างยังไม่หมด ให้แก้ผู้สร้างวัตถุนั้นๆ จะหมดง่าย จิตที่มืดหลงจึงสร้างขันธ์ ๕ หรือนามรูป ก็กลายเป็นผลอีกทีหนึ่ง จนที่สุดความเกิดแก่เจ็บตายของขันธ์ก็เป็น อเตกิจฉา แก้ไม่ได้เลยเป็นอันขาด นอกจากเราจะมีปัญญาแล้วทำความปล่อยวางตามความเป็นจริงของเขาต่างหาก โดยย่อก็คือไม่ยึดถือ คำนี้มีอุทาหรณ์ที่มาในที่บางแห่ง พระองค์ออกอุทานว่า เราไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย แล้วดังนี้ แต่เราทั้งหลายมาสังเกตดูรูปขันธ์และนามขันธ์ของพระองค์แล้วก็ หากทรุดโทรมเจ็บป่วยแตกดับย่อมปรากฏอยู่ตามธรรมดา

    อันนี้แสดง ให้เห็นว่าขันธ์เป็นของควรปล่อยวางต่างหาก, ความจริงของเขาเป็นอย่างไรก็อย่าฝืน ทำจิตใจของตนให้รู้อยู่เฉยๆ อย่าไปยึดเอาอารมณ์ที่ว่าเกิด แก่ เจ็บ ตาย มาเป็นตนได้เป็นถูก มุ่งแต่ความผ่องใสของจิตใจที่เป็นของไม่ตายดวงเดียวเท่านั้น จิตที่มีความมืดปกปิดอยู่นั้นไม่มีหลักฐาน คอยแต่จะลอยไปตามขันธ์ เมื่อเขาเกิดขึ้น ว่าเราเกิดด้วย เขาแก่ไป ว่าเราแก่ด้วย เขาเจ็บเขาแตกก็เข้าไปผสมกับเขาด้วย กลายเกิดทุกข์เพราะโทษที่ลอยไปตามสมมติ ถ้าไม่ลอยไปตามเขาแล้ว ก็คงมีแต่นิโรธ คือความดับทุกข์ และเหตุให้เกิดทุกข์ก็ดับมรรคก็ดับ เหลือแต่ธรรมชาติไม่ตายคือพุทธ จิตที่บานแล้ว ตื่นแล้ว จิตที่บานได้ต้องบำรุงด้วยปุ๋ย คือ ศีล สมาธิ จิตที่จะตื่นตกใจกลัวได้อาศัยปัญญา (ปุ๋ยของสมาธิคือสมถะแลวิปัสสนากัมมัฏฐาน จิตจึงจะมีปัญญารู้รอบคอบในขันธ์ เห็นทุกข์เห็นโทษ) แล้วสลัดออกให้ห่างไกลด้วยกำลังของปัญญาว่า อรหํ ดังนี้ คือ จิตที่อิ่มแล้ว พอแล้ว หมดเชื้อแล้ว ไม่ติดไฟ คือ ราคัคคิ โทสัคคิ โมหัคคิ หมดสิ้นแล้วด้วยกำลังปัญญาญาณ เป็นนิพพานธรรมอันประเสริฐคือทำลายความเกิดให้สิ้นรอบแล้ว แต่มิใช่นิพพานสูญ ยังมีอยู่ที่เรียกว่านิพพานธรรม

    นิพพานธรรมนั้นก็คือ ดวงจิตอันเดิมนั่นเอง แต่ทำไมจึงไม่เรียกว่าจิตอีก ที่เรียกเช่นนั้นก็คือจิตหมดอารมณ์แล้ว เปรียบเหมือนคำสมมติที่พูดกันว่าต้นไม้บ้าง เหล็กบ้าง ถ้าเขาทำลายแล้วก็เรียกกันว่ากระดาน ถ้าทำเป็นบ้านก็เรียกว่าเรือน ถ้าทำเป็นโต๊ะเก้าอี้ก็เรียกกันตามนั้น แต่ไม่เห็นว่าจะเรียกว่าต้นไม้อีกตามเดิม เหล็กก็เหมือนกันทำเป็นรถทำเป็นมีดก็เรียกว่าไปตามนั้น ก็ไม่เห็นเรียกว่าเหล็กอีก เมื่อไม่เรียกว่าเหล็กแล้ว เหล็กก็คงอยู่ไม่หายไปไหน คงมีอยู่เช่นนั้น

    นี้ฉันใด ใจเราเมื่อนายช่างคือปัญญามาอบรมแล้วก็เรียกว่านิพพาน มิได้เรียกเหมือนเดิม ถ้าไม่เรียกเช่นนั้นแล้ว ก็นึกว่าจิตหายสูญ แต่ความจริงก็คือจิตอันเดิมนั่นเอง ที่เรียกว่าพระนิพพานๆ นั้น อีกประการหนึ่งก็คือจิตที่พ้นจากสมมตินั้นเอง ใครจะเรียกอย่างไรเขาก็เป็นอยู่เช่นนั้น ย่อมมิได้รับสมมติของใคร เปรียบเหมือนเพชรหรือพลอยที่เราสมมติกันก็เป็นจริง ส่วนความจริงสภาพของเขาแล้ว คือใครจะว่าอะไรเขาก็เป็นอยู่เช่นนั้น เขามิได้ประกาศตัวเขาเลยว่าเขาเป็นเพชรหรือพลอย แต่ก็มีอยู่เช่นนั้น

    นี้ฉันใด ใจที่พ้นแล้วเขาย่อมไม่ได้สมมติตัวตน ว่าเป็นนั่นเป็นนี่คงมีอยู่ไม่สูญ เปรียบเหมือนเราเรียกเขาว่าเพชรพลอยเขาก็มีอยู่ เมื่อเราไม่เรียกเขา เขาก็มีอยู่ไม่สูญหายนี้ฉันใด ใจที่เป็นนิพพานธรรมก็เป็นอยู่ฉันนั้น ใครจะว่าพระอาทิตย์ พระจันทร์ สวรรค์ มาร พรหม ดิน น้ำ ลม ไฟ หญิง ชายทั้งปวง เขาก็อยู่เช่นนั้น ไม่แปรไปไหนคงที่อยู่เป็นเอกจิตเอกธรรม ไม่นำเอาเชื้อโรคคือกิเลสเข้ามาอีกแล้ว จึงเรียกตามสมมติที่จริงว่าวิมุตติ ที่เรียกกันว่าจิตใจ มโน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้ จริง ส่วนสมมติมีที่ใด วิมุตติก็มีอยู่ที่นั้นเอง ตัวอย่างหยาบๆ เช่นเราเรียกกันว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เหล่านี้ ถ้าดูความจริงแล้วเขามิได้ประกาศตัวเขาเลยว่า ข้าเป็นขันธ์ ๕ ข้าเป็นจิตใจ นี้ฉันใด

    ใจที่เป็นนิพพานธรรมที่เข้าพระนิพพานแล้ว ย่อมมิได้ประกาศตัวว่าเป็นนั่นเป็นนี่ จึงสมมติว่าวิมุตติ ถ้าใครเข้าถึงวิมุตติตัวจริงแล้ว หมดกิริยาพูดกัน ปิดปากช่องของทวาร ปิดโลกโอฆสงสารสังขารกองทุกข์ทั้งมวล มีบรมสุขอันประเสริฐ สุขไม่เจือปน ความเกิด ความแก่ ความตาย ที่เรียกว่า นิรามิสสุข คือมิใช่อามิสสุข อามิสสุขนั้น คือสุขอาศัยกิเลส ตัณหา มานะ ทิฏฐิ ปล่อยวาง ธาตุขันธ์ อายตนะยังไม่ได้ สุขที่มีอามิสอยู่นั้น จักให้โทษได้อีก เช่น ข้าวสุก หรือผลไม้ที่สุกแล้วย่อมใกล้เข้าไปหาความบูดเน่าและเสียหายถ่ายเดียว นี้แลฉันใด สุขที่เจือปนอามิสก็ฉันนั้น อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนผลกล้วยที่สุกแล้ว มีแต่จะทำให้ลำต้นและลูกผลหลุดล่วง ให้ฝูงนกและกากินไปเท่านั้นเอง

    นี้แลฉันใด จิตใจที่เข้าไปอาศัยอารมณ์ต่างๆ ว่าเป็นตนย่อมเกิดโทษและทุกข์ ตัวอย่างเช่นคนที่กำลังเดินทางไปแวะเข้าอาศัยร่มต้นมะตูมกำลังมีผลที่ สุกอยู่บนต้น ตนไม่ได้พิจารณาก่อน ถ้าหากมีลมมาพัดเข้าแล้ว ผลที่สุกนั้นย่อมหลุดล่วงลงมาถูกศีรษะของตน ให้ได้รับความเจ็บปวดเท่านั้นเอง

    นี้แลฉันใดจิตใจที่ไม่มีธรรมอาศัยแล้ว ย่อมมีทุกข์ติดตามย่ำยีบีฑาให้ลำบาก (ที่ว่าลมพัดต้นมะตูมนั้นก็คือโลกธรรมทั้งแปด ต้นมะตูมคือกาย กิ่งก้านสาขา คืออายตนะ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ หลุดล่วงเข้ามาตกถูกหัวใจที่ขาดปัญญามานั่งเฝ้ากองธาตุขันธ์อายตนะอยู่นี้) นักปราชญ์ คือ เมธาผู้มีปัญญา ย่อมแสวงหาบรมสุขอันเอกที่ปราศจากอามิส คือ ทำจิตให้หมดจดจากอารมณ์ที่ชั่วทั้งหลายนั้นแหละพระนิพพานเป็นอมตมหานฤพาน ที่พระบรมศาสดาจารย์ทรงสรรเสริญ

    ด้วยพระคาถาว่า นิพพานัง ปรมัง สุขัง พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่งดังนี้ นิพพานัง ปรมัง สุญญัง พระนิพพานว่างจากกิเลส (คือทำใจให้หมดจากอารมณ์สูญจากธาตุ ขันธ์ อายตนะ ราคะ โทสะ โมหะ ไม่มีวงศ์และเหล่ากอ คืออวิชชา ตัณหาอีกแล้ว นี้แหละจึงเรียกว่าสูญ มิใช่สูญอย่างมนุษย์สามัญเข้าใจกัน) นิพพานัง ปรมัง วทันติ พุทธา ท่านผู้รู้ทั้งหลายกล่าวว่าพระนิพพาน เป็นธรรมอย่างยิ่ง นิพพานัง ตัณหา วิปปะหาเนนะ นิพพานัง อิติ วุจจะติ แปลความว่าเพราะละตัณหา คือความอยากเสียได้แล้ว (โดยสิ้นเชิง)

    อีกนัยหนึ่ง ท่านผู้รู้ย่อมกล่าวว่า ทวีปนั้นมิใช่อื่นคือหาห่วงมิได้ หาเครื่องยึด หาเครื่องผูก (รัดและจองจำ) มิได้ เป็นที่สิ้นรอบแห่งชราและมัจจุราช นันแหละว่านิพพาน ดังนี้ นิพพานัง โยคักเขมัง อนุตตะรัง ปราชญ์กล่าวว่า พระนิพพานธรรมอันเกษมจาก (อารมณ์) เครื่องประกอบหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ ดังนี้ เอตัง สันตัง เอตัง ปณีตัง ยะทิทัง สัพพะสังขาระสะมะโถ สัพพูปธิปฏินิสสัคโค ตัณหักขะโย วิราโค นิโรโธ นิพพานัง แปลว่า ธรรมชาตินั้นสงบแล้ว (จากคู่คืออารมณ์มีรูปารมณ์ เป็นต้น) ธรรมชาตินั้นประณีต ธรรมชาตินั้นเป็นที่สงบแห่งสังขารทั้งปวง เป็นที่สละคืน (ซึ่ง) อุปธิทั้งปวงเป็นที่สิ้น (รอบ) แห่งตัณหา คือความอยากในอารมณ์ต่างๆ เป็นที่สุดแห่งความกำหนัด (ในอารมณ์ที่รักใคร่เป็นที่ดับหมดมิได้ปรากฏซึ่งอวิชชาความมืดนั้นแล) คือนิพพานดังนี้

    นี้แหละพุทธมามกะที่เชื่อต่อโอวาทศาสนาของพระพุทธเจ้าแล้ว คือ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ มรรคผลนิพพานแล้ว สมควรที่จะหาอุบายแก้จิตใจของตนด้วยการกระทำสมถะกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ประกอบด้วยศรัทธา ความเชื่อต่อพระปริยัติธรรม ปฏิบัติธรรม ปฏิเวธธรรม ดำเนินวิริยะความเพียรบากบั่นในศีล สมาธิ ปัญญา ให้ถึงพร้อมด้วยสติ คือระวังตนเองอย่าให้ประมาทในศีล สมาธิ ปัญญา ให้อุตส่าห์บำเพ็ญสมาธิ ให้ตั้งมั่นแน่วแน่มั่นคง จนเกิดปัญญาขึ้นเฉพาะจิตใจของตน ปัญญา ใดเกิดขึ้นจากครูทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ปัญญานั้นตกอยู่ในฐานไม่เที่ยง อาจทำชั่วได้อีก ปัญญาใดเกิดขึ้นจากสมาธิ คือ ใจตั้งมั่น ปัญญานั้นย่อมแก้กิเลสภายในของตนได้ ฉะนั้นจึงสมควรอย่างยิ่งที่จะปฏิบัติบูชาคุณพระรัตนตรัยให้รู้รสของศาสนา อย่าให้เหมือนทัพพีที่คลุกคลีอยู่ด้วยหม้อแกง แต่ไม่รู้รสแกง ตัวเราฉันใดที่พากันคลุกคลีอยู่กับด้วยพระพุทธศาสนา จงศึกษาให้รู้รสของศาสนา อย่าให้เป็นเหมือนกบนั่งเฝ้ากอบัวหลวงลืมตาใสเหงี่ยว ตัวแมลงผึ้งบินมากระโดดโครม เพราะโง่ โง่ทั้งลืมๆ ตานั้นเอง คนเราก็โง่ทั้งรู้ๆ นั้นเอง

    ได้อรรถาธิบายในภาวนามัยกุศล ตั้งแต่ต้นจนอวสาน ในที่สุดของการกระทำสมถะกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐานที่พรรณนามาแล้วนั้น อุตตมัง กัมมัฏฐานัง ๒ ประการนี้ อุดมล้ำเลิศประเสริฐยิ่งเป็นอุบายที่จะยกตนข้ามทะเลโลกโอฆะกันดาร กล่าวคือวัฏฏสงสารสัมมาปัตติระสัสสาทัง ปัฏฐะยันเต บัณฑิตผู้ปรีชาญาณปรารถนาซึ่งความยินดีในรสแห่งสัมมาปฏิบัติรักใคร่ในพระ นิพพานสุข จง อุตส่าห์บำเพ็ญพรตกรรมฐานสองประการที่กล่าวมาแล้วนั้น อย่าเกียจคร้าน อย่าเบื่อหน่ายในภาวนากรรมฐานสองประการนี้ เป็นอาภรณ์เครื่องประดับอันประเสริฐสำหรับพุทธศาสนาทายาทในบวรพุทธศาสนา จงพึงปฏิบัติเป็นนิตย์นิรันดรเที่ยงแท้ จะได้เป็นเกาะ เป็นฝั่งเป็นที่พึ่งพำนักอาศัยของตน

    แม้ว่าวาสนาบารมียังน้อย ยังมิควรแก่ธรรมาพิสมัยที่จะได้ตรัสรู้มรรคผลนิพพานในปัจจุบันชาตินี้ก็ดี ยังจะเป็นอุปนิสัยปัจจัยแก่ตนต่อไปในภายภาคหน้า หรืออาจที่จะนำตนให้ล่วงพ้นจากอบายทุกข์ให้ได้โลกิยสุขเกษมศรีนิราศภัย ถ้าบารมีแก่กล้าแล้วจะได้วิมุตติสารพ้นจากเบญจพิธมาร ล่วงชาติ ชรา พยาธิ มรณะ อันกันดาร ก็เข้าสู่นิเวศมหาสถานกล่าวคืออมตมหานฤพาน ตามอริยตันติประเพณีพระอริยเจ้าในพระพุทธศาสนา ที่ได้แสดงมา ขอท่านผู้ปรีชาญาณ จงตรวจตรองดูตามให้ถี่ถ้วนนั้นเทอญ

    ในที่สุดนี้ขอให้ ท่านที่ได้อ่าน ได้จดจำ ได้ทำตาม จงให้ได้ประสบพบเห็นแต่ความสุขแช่มชื่นเกษมสำราญเบิกบานปราศจากภัยให้ได้ ความเจริญงอกงามในพระพุทธศาสนาทุกทิวาราตรี พร้อมด้วยความสวัสดีทั่วกัน เทอญฯ
    สงคหทิฏฐิ สงเคราะห์ความเห็น ความเป็นไม่พูด

    พระธัมมธโร (ลี) ผู้เขียน
    วัดเวฬุวัน (คลองกุ้ง) จันทบุรี


    [​IMG][​IMG][​IMG]
     
  14. มโน

    มโน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2009
    โพสต์:
    316
    ค่าพลัง:
    +100
    [​IMG]ขอนอบน้อมธรรมสูงสุด...กราบสักการะอาจาริยโอวาท...ท่านพ่อ
     

แชร์หน้านี้

Loading...