(๑๘) วิมุตติมรรค:ทางแห่งความหลุดพ้น(ภาคปัญญา)

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย anand, 19 กุมภาพันธ์ 2010.

  1. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
    ขอนอบน้อมแด่พระอรหันต์อุปติสะ ผู้รจนา หนังสือวิมุตติมรรค

    [๓๒] ภังคญาณ

    โยคีนั้นเพลิดเพลินอยู่กับการพิจารณาลักษณะการเกิดขึ้นและดับไปของสังขารทั้งหลาย และเมื่อพิจารณาเห็นชัดว่า สังขารทั้งหลายมีความแตกดับไปเป็นธรรมดา* เธอจึงน้อมจิตเข้าสู่สมาธิ (ปล่อยอารมณ์เดิม แล้วน้อมจิตเข้าสู่เอกคตาจิตของสมถะ) เธอย่อมเกิดญาณและเห็นการแตกดับของจิตโดยไม่ยากเลย **
    -------------
    * ปฏิสัมภิทามรรค อ้างแล้ว หน้า ๖๙๒ อธิบายวิปัสสนาญาณ (ภังคานุปัสสนา) ไว้ดังนี้ ปัญญาในการพิจารณาอารมณ์แล้วพิจารณาเห็นความแตกไป เป็นวิปัสสนาญาณอย่างไร?

    จิตมีรูป (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) เป็นอารมณ์ เกิดขึ้นแล้วย่อมแตกไป พระโยคาวจรพิจารณาอารมณ์นั้นแล้ว ย่อมพิจารณาเห็นความแตกไปแห่งจิตนั้น

    ย่อมพิจารณาเห็นอย่างไร ชื่อว่าพิจารณาเห็น? ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง ไม่พิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นทุกข์ ไม่พิจารณาเห็นโดยความเป็นสุข ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นอนัตตา ไม่พิจารณาเห็นโดยความเป็นอัตตา ย่อมเบื่อหน่าย ไม่เพลิดเพลิน ย่อมคลายกำหนัด ไม่กำหนัด ย่อมให้ดับไม่ให้เกิด ย่อมสละคืน ไม่ถือมั่น

    เมื่อพิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยง ย่อมละนิจสัญญาได้ เมื่อพิจารณาเห็นโดยความเป็นทุกข์ ย่อมละสุขสัญญาได้ เมื่อพิจารณาโดยความเป็นอนัตตา ย่อมละอัตสัญญาได้ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมสละความเพลิดเพลินได้ เมื่อคลายกำหนัด ย่อมละราคะได้ เมื่อให้ดับ ย่อมละสมุทัยได้ เมื่อสละคืน ย่อมละความยึดมั่นได้

    ----------
    **
    ปฏิสัมภิทามรรค คาถา ข้อ ๑๔๗ ใจความย่อ "เมื่อเห็นแจ้งก็น้อมจิตไปเพื่อตั้งมั่น เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ก็ถอยออกมาเพื่อพิจารณาเพื่อความรู้แจ้ง ทำดังนี้สลับกันไปรายละเอียดที่ปรากฎในปฏิสัมภิทามรรค มีดังนี้
    ... ถ้าพระโยคาวจรตั้งใจมั่นดีแล้ว ย่อมเห็นแจ้ง ฉันใด ถ้าเมื่อเห็นแจ้งก็พึงตั้งใจไว้ให้มั่นคงดี ฉันนั้น สมถะและวิปัสสนาได้มีแล้วในขณะนั้น ย่อมเป็นคู่ที่มีส่วนเสมอกัน เป็นไปอยู่...

    อรรถกถา ท่านอธิบายว่า สมาหตวา ยถา เจ ปัสสติ ถ้าพระโยคาวจรตั้งใจมั่นดีแล้วย่อมเห็นแจ้งฉันใด ความว่าพระโยคาวจรทำความตั้งจิตมั่นก่อน ด้วยสมาธิอย่างใดอย่างหนึ่ง บรรดาอัปนาสมาธิ อุปจารสมาธิ และขณิกสมาธิ แล้วเห็นแจ้งในภายหลัง เจ ศัพท์นี้มีความหมายว่าย่อมรวบรวมวิปัสสนาไว้


    บทว่า วิปัสสนาจ สมโถ ตทา อหุ สมถะและวิปัสสนาได้มีแล้วในขณะนั้น ความว่าเพราะเมื่อสมถะและวิปัสสนาเป็นธรรมคู่กัน ความปรากฏแห่งอริยมรรคย่อมมี ฉะนั้นการประกอบธรรมทั้งสองนั้นในกาลใดย่อมมี เพราะสามารถยังอริยมรรคให้เกิดขึ้น...

    บทว่า วิปัสสมาโน ตถา เจ สมาทเย ถ้าเมื่อเห็นแจ้ง ก็พึงตั้งใจไว้ให้มั่นคง ฉันนั้นอธิบายความว่า วิปัสสนานี้เป็นวิปัสสนาเศร้าหมอง ไม่มีความพอใจ อนึ่ง ชื่อว่าสมาถะนั้น เป็นสมถะที่ละเอียด มีความพอใจ เพราะฉะนั้น พระโยควจรเมื่อเห็นแจ้ง พึงตั้งจิตอันเศร้าหมองด้วยวิปัสสนานั้น เพื่อความเยื่อใย อธิบายว่า พระโยคาวจรเมื่อเห็นแจ้ง เข้าสมาธิอีก แล้วพึงทำการตั้งใจเหมือนอย่างกระทำวิปัสสนา (เจ ศัพท์ในที่นี้ย่อรวบรวมการตั้งใจมั่นไว้)

    ข้อควรศึกษาเพิ่มเติม

    คำว่า เมื่อเห็นแจ้งแล้ว พึงน้อมจิตไปเพื่อตั้งมั่น (สมาธิ) เมื่อจิตตั้งมั่นดีแล้วก็ถอยจิตกลับมาพิจารณาอีก ทำเช่นนี้สลับกันไป ผลที่ได้ก็คือจะเห็นการเกิดดับชัดเจนขึ้น
    ความเป็นของไม่เที่ยงของสังขารทั้งหลายปรากฏได้ดียิ่งขึ้น

    ท่านที่เคยศึกษาเรื่องของสมาธิและรู้จักวิธีนำเอาสมาธิไปใช้ประโยชน์ ก็จะทราบได้ดีว่า เมื่อจิตตั้งมั่นดีแล้ว ถอนจิตกลับออกมาเพื่ออธิษฐานสิ่งที่เราต้องการให้เกิดขึ้นแล้ว เข้าสมาธิซ้ำอีก ก็จะเกิดผลตามที่ตนปรารถนาว้ นี่ก็ทำนองเดียวกัน เมื่อกำหนดจิตเห็นการเกิดดับ แล้วเข้าสมาธิ ก็จะเห็นการเกิดดับได้ชัดเจนยิ่งขึ้น จนเมื่อออกจากสมาธิก็จะเห็นความไม่เี่ที่ยงของสังขารต่างๆ ได้โดยเป็นไปเอง
    ------------------

    [๓๓] เพราะอาศัยรูปารมณ์และการเกิดดับของจิต (ที่รู้รูปารมณ์นั้น) เธอก็เห็นสภาวะของจิต (การเกิดดับของจิต) ที่สัมพันธ์กับรูปารมณ์นั้นด้วย (ด้วยจิตอีกชุดหนึ่งต่อจากจิตที่รู้รูปารมณ์) ในทำนองเดียวกัน เธอจะเห็นการเกิดดับของจิตที่สัมพันธ์กับอารมณ์เหล่านี้คือ (เวทนาเป็นอารมณ์) สัญญาเป็นอารมณ์ สังขารเป็นอารมณ์ วิญญาณเป็นอารมณ์ และเห็นการดับไปของจิตนั้น (ด้วยจิตอีกชุดหนึ่ง)

    [๓๔] การดับไป ๓ วิธี

    อนึ่ง โยคีเห็นนภังคะ (การดับ) ๓ ทาง คือ โดยเป็นกลุ่ม (กลาปะ Assemblage) โดยเป็นคู่ และโดยอาศัยปัญญา (วิปัสสนาปัญญา)

    [๓๕] (ก) โดยเป็นกลุ่ม

    (ถาม) โดยเป็นกลุ่ม (โดยรวมกันไป) คืออย่างไร?

    (ตอบ) โดยเป็นกลุ่มคือว่า เธอเห็นการดับไปของอิริยาบถในท่าต่างๆ กัน และเห็น (การดับของ) จิตและเจตสิก ที่สัมพันธ์กับอิริยาบถนั้น ต่อมาเธอก็กำหนดรู้ความไม่เที่ยงของรูป ความไม่เที่ยงของเวทนา ความไม่เที่ยงของสัญญา ความไม่เที่ยงของสังขาร ความไม่เที่ยงของวิญญาณ แล้วก็เห็นการดับไปของจิตและเจตสิกที่สัมพันธ์กับอารมณ์ของความไม่เที่ยง โดยเห็นเป็นกลาปะ (กลุ่ม) ไป เรียกว่า วิธีเป็นกลาปะ แม้กับอารมณ์ที่เป็นทุกข์ อารมณ์ที่เป็นอนัตตา(๒๗) ก็ทำนองเดียวกัน ควรพิจารณาเห็นภังคะโดยเป็นกลาปะ (กลุ่ม) ดังนี้ *
    -----------------------
    *
    ตัวอย่าง เมื่อกำลังยืนเพื่อเตรียมเดินจงกรม เริ่มเดินก็จะยกเท้าซ้ายขึ้นแล้วก็ย่างเท้าซ้ายไปข้างหน้า เพื่อเตรียมเดินข้างหน้า พร้อมกับเผยอส้นเท้าขวาขึ้น ยกเท้าขวาขึ้น เมื่อเท้าซ้ายแตะพื้นเต็มที่แล้ว การเห็นการดับไปจะเห็นดังนี้ เมื่อยกเท้าซ้ายขึ้น รูปยืนย่อมดับไป พร้อมด้วยจิตและเจตสิกที่รู้ท่ายืนนั้น รูปยกเท้าซ้ายย่างก็จะเกิดขึ้น เมื่อย่างเท้าซ้ายไปข้างหน้า ท่ายกเท้าย่อมดับไปพร้อมด้วยจิตและเจตสิกที่รู้ท่ายืนนั้น รูปย่างเท้าซ้ายก็จะเกิดขึ้น เมื่อวางเท้าซ้ายลงบนพื้นพร้อมกับยกส้นเท้าขวา ท่าย่างเท้าซ้ายก็จะดับไป และเกิดรูปยกส้นเท้าขวาขึ้น (และเป็นเช่นนี้กับเท้าซ้าย)

    แต่เมื่อเห็นการดับไปของรูปในท่าต่างๆ แต่ละท่านั้น เราก็น้อมจิตไปให้เห็นว่าการดับไปของรูปและจิตนั้นเป็นลักษณะที่แสดงอาการของความไม่เที่ยง และเราก็จะรู้ได้ถึงการเกิดขึ้นและการดับไปของความรู้ในลักษณะอาการไม่เที่ยงนั้น

    โดยทำนองเดียวกันกับเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ โดยการพิจารณาเห็นว่าเป็นทุกข์และเป็นอนัตตาก็เช่นเดียวกัน

    เหล่านี้คือการเห็นการดับไปเป็นกลุ่มๆ ไป
    -----------------------

    [๓๖] (ข) เห็นการดับไปโดยเป็นคู่

    (ถาม) โดยเป็นคู่อย่างไร?

    (ตอบ) เมื่อพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงของรูป (เช่นเห็นการแปรปรวนไปของรูป) โยคีน้อมสภาวะของจิตไปในความไม่เที่ยงนั้น (รู้ว่านี้คือลักษณะของความไม่เที่ยงแห่งรูปนั้น) และโยคีจะเห็นการเกิดดับของจิตที่น้อมไปเห็นความไม่เที่ยงนั้น เธอพิจารณาความไม่เที่ยงของเวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณ เธอก็เร้าสภาวะของจิตให้คล้อยไปในความไม่เที่ยงของอารมณ์นั้นๆ และเธอก็จะเห็นการเกิดับของจิตที่น้อมไปนั้น สำหรับอารมณ์ที่เป็นทุกข์ อารมณ์ที่เป็นอนัตตาก็เช่นเดียวกัน ควรพิจารณาภังคะโดยเป็นคู่ด้วยประการฉะนี้

    [๓๗] (ค) เห็นการดับไปโดยอาศัย (วิปัสสนา) ปัญญา

    (ถาม) โดยปัญญาอย่างไร?

    (ตอบ) เมื่อเธอพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงของรูป โยครีก็เร้าจิตให้ร่วมไปกับความไม่เที่ยงของอารมณ์นั้น และเห็นการเกิดดับของจิตดวงนั้น โยคีอาศัย (วิปัสสนา) ปัญญาจึงเห็นความดับของจิตติดต่อกันไปหลายดวง เธอพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงของเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ โยคีก็เร้าจิตให้ร่วมไปในความไม่เที่ยงของอารมณ์นั้น และเห็นการเกิดับของจิตดวงนั้น เธอจะเห็นการดับไปจของจิตดวงแล้วดวงเล่าติดต่อกันไปเพราะอาศัยปัญญา เธอจึงเห็นการดับไปของจิตเหล่านั้น เมื่อเธอพิจารณาความทุกข์และความเป็นอนัตตาก็ทำนองเดียวกัน

    เมื่อเข้าใจชัดอย่างนี้ เธอก็กำหนดอยู่เฉพาะความดับ อารมณ์ที่แสดงทุกขลักษณะและความดับไปของอารมณ์นั้น เธอตั้งใจเฝ้าดูอยู่อย่างนั้น เมื่อเธอตั้งใจเฝ้าดูสังขารทั้งหลายอย่างนั้น เธอก็จะบรรลุภาวะที่เป็นสุขในทุกๆ อิริยาบถ โยคีอาศัยปัญญานี้ ย่อมไม่ต้องพึ่งผู้อื่น เธอรู้โลกทั้งปวงตามที่เป็นจริง ดุจเมล็ดผักกาดที่ปลายเหล็กแหลม (ย่อมตกไปๆ) และรู้ว่ ทุกขณะจิตที่ตั้งขึ้น จะมีการแปรปรวนด้วยการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป *
    ---------------
    *
    ปฏิสัมภิทามรรค ท่านกล่าวถึงการเจริญภังคานุปัสสนา โดยผูกเป็นคาถาไว้ดังนี้

    การก้าวไปสู่วัตถุอื่นจากวัตถุเดิม การหลีกไปด้วยปัญญาอันรู้ชอบ การคำนึงถึงอันเป็นกำลัง

    ธรรมสองประการคือการพิจารณา (ปฏิสังขา) และความเห็นแจ้ง บัณฑิตกำหนดเอาด้วยสภาพเดียวกัน โดยความเห็นไปตามอารมณ์และความน้อมจิตไปในความดับ

    ชื่อว่า วิปัสสนาอันมีความเสื่อมไป (ดับไป) เป็นลักษณะ (ภังคานุปัสสนา)

    การที่พระโยคาวจรพิจารณาอารมณ์แล้ว พิจารณาเห็นความแตกไปแห่งจิตและความปรากฏโดยความเป็นของสูญ ชื่อว่า อธิปัญญาวิปัสสนา

    พระโยคาวจรผู้ฉลาดในอนุปัสสนาสาม ในวิปัสสนาสี่ ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะทิฏบิต่างๆ เพราะความเป็นผู้ฉลาดในความปรากฏสามประการ

    วิสุทธิมรรค อ้างแล้ว หน้า ๑๓๔ อธิบายคาถานี้ว่า

    การพิจารณาที่เห็นความดับแห่งรูป แล้วเลื่อนไปสู่วัตถุอื่น โดยเห็นความดับแม้แห่งจิตดวงที่เห็นความดับอันแรกนั้นอีก เปลี่ยนสัญญาได้ด้วย คือพิจารณาละข้างความเกิดเสียแล้วตั้งแน่วอยู่ในข้างความเสื่อม มีกำลังในการนึกหน่วง (อารมณ์ เช่น รูปารมณ์) ไม่ขาดระยะ เพื่อเห็นความดับแห่งจิตดวงที่มีความดับ (ของรูป) เป็นอารมณ์อีก การพิจารณาอารมณ์นั้น ชื่อว่า ภังคานุปัสสนา การพิจารณาที่กำหนดอารมณ์ทั้งสองส่วนว่ามีสภาพเป็นอันเดียวกันตามอย่างอารมณ์ที่เห็นสังขารในปัจจุบันนี้แตกดับอยู่อย่างใด แม้สังขารในอดีตแตกดับไปแล้ว แม้สังขารในอนาคตก็จักแตกดับไปด้วย ตามอย่างอารมณ์ที่เห็นแล้วโดยประจักษ์นั่นแหละ

    ความนึกหน่วงอันมีกำลังไปในความดับ หมายความว่า เมื่อกำหนดสังขารทั้งหลายเป็นอย่างเดียวกัน ด้วยอำนาจคามแตกดับอย่างนั้นแล้ว ก็นึกหน่วงลงไปในความดับ คือ ความแตกของสังขารอย่างนั้นแล้ว ก็นึกน้อมลงไปแต่ในความดับนั้น ความพิจารณาที่เกิดจากความนึกโน้มไปเช่นนั้น ชื่อว่า วยลักขณาวิปัสสนา (เห็นแจ้งในลักษณะดับ)

    การพิจารณาอารมณ์ด้วยแล้ว (คือรู้อารมณ์แรกมีรูป เป็นต้น) การเห็นความดับด้วย (คือเห็นความดับของอารมณ์แรก แล้วตามเห็นความดับของจิตที่มีความดับของอารมณ์แรกด้วย และเมื่อตามเห็นความดับแห่งสังขารเหล่านั้นอยู่ ปรากฏโดยความเป็นของว่างเปล่า (สุญญโต คือเห็นว่าสังขารนั้นเองแตก ความแตกแห่งสังขารเหล่านั้นเรียกว่า ความตาย หามีอัตตาอะไรๆ อื่นจากขันธ์ไม่)


    การพิจารณารู้ด้วย (ปฏิสังขาร) ปัญญาตามเห็นความแตกดับด้วย ความปรากฏโดยความเป็นของว่างเปล่าด้วย วมสามประการนี้เรียกว่า อธิปัญญาวิปัสสนา

    ภิกษุผู้ฉลาดในอนุปัสสนาสาม (อนิจจา...ทุกขา...อนัตตานุปัสสนา) และในวิปัสสนาสี่ (นิพพิทานุปัสสนา วิราคานุปัสสนา นิโรธานุปัสสนา ปฏินิสสัคคานุปัสสนา) และเป็นผู้ฉลาดในความปรากฏสามสถานนี้คือ โดยความสิ้น โดยความเสื่อม และโดยความว่างเปล่า ท่านผู้นี้ย่อมไม่หวั่นไหวในเพราะทิฏฐิต่างๆ

    พระโยคาวจรนั้นไม่หวั่นไหวอยู่อย่างนั้น มีมนสิการเป็นไปโดยนัยว่า สิ่งที่ยังไม่ดับนั้นแหละกำลังดับ สิ่งที่ยังไม่แตกนั้นแหละ กำลังแตก ย่อมปล่อยนิมิตแห่งความเกิด ความตั้งอยู่ และความเป็นไปแห่งสังขารทั้งปวงเสียแลดูแต่ความแตก(ของมัน)อย่างเดียว

    (จบคำอธิบายปฏิสัมภิทามรรคจากวิสุทธิมรรค)
     
  2. deelek

    deelek เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    7 มิถุนายน 2009
    โพสต์:
    6,696
    ค่าพลัง:
    +16,255
    อนุโมทนา สาธุ ๆ กับพระธรรมคำสั่งสอนที่ดี ๆ อย่างนี้
    กับท่านทั้งหลายผู้ที่นำมาเผยแพร่ด้วยครับ
    "ทุกสรรพสิ่งทั้งหลายล้วนแล้วแต่เกิดขึ้น แล้วก็ดับไปทั้งสิ้น"
    เป็น พระไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตนที่แท้จริง
    ไม่ควรไปยึดมั่น ถือมั่น ว่าทุกสรรพสิ่งมันมี มันเป็นอะไรที่แท้จริงเลย
    มันเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปจริง ๆ เกิด-ดับ ๆๆ อย่างรวดเร็ว ต่อหน้าต่อตาเราเสมอไม่ว่า
    ตา ได้เห็น รูป,สี,แสง
    หู ได้ยิน เสียง
    จมูก ได้รับ กลิ่น
    ลิ้น ได้รับ รส
    กาย ได้รับ ความสัมผัส
    จิตใจ ได้รับ ความรู้สึกนึกคิด
    มันเกิดขึ้น แล้วก็ดับไป ๆๆ ต่อหน้าต่อตาเราจริงใหม ลองพิจารณาดูก็แล้วกัน
    จะไปให้มันอยู่กับเรานาน ๆ ก็ไม่ได้ มันเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว
    เพราะธรรมชาติมันเป็นของมันอย่างนั้น ซึ่งพระพุทธองค์ได้รู้ทันธรรมชาติ
    จึงได้นำมาสั่งสอนให้เรารู้เท่าทันธรรมชาติ
    ทั้งที่มีชีวิต และไม่มีชีวิต ไม่มีอะไรคงทนอย่างแท้จริง
    แม้แต่เพชร ที่ว่าแข็งแกร่งที่สุดในโลก ทำไมเอามาเจียรไนทำเป็นหัวแหวนได้
    สิ่งไรไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ เป็นโทษ เป็นภัย เป็นอันตราย และมันเป็นอนัตตา ไม่มีตัวตนที่แท้จริง ถ้าใครไปยึดมั่นถือมั่น ก็จะเกิดทุกข์ มันน่าเบื่อหน่าย
    ควรปล่อย ปละ ละ วาง ทุกสรรพสิ่ง เพื่อให้จิต ว่าง เบา สบาย วิมุติหลุดพ้น จากทุกสิ่ง
    (ฝึกปล่อย ปละ ละ วาง บ่อย ๆ เสมอ ๆ อย่างต่อเนื่อง ทุก ๆ วัน ว่าทุกสรรพสิ่งทั้งหลายล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปทั้งสิ้น เป็นพระไตรลักษณ์ ทั้งลืมตาและหลับตา เมื่อมีเวลาก็จะเกิดสติปัญญา เป็น วิปัสสนาปัญญาเกิดขึ้น ในตัวผู้ฝึกฝนเอง ไม่ว่าจะลึมตาหรือหลับตา ก็ฝึกได้รู้เห็นการเกิดดับได้จริง มันเป็น ปัจจตัง รู้ได้ด้วยตนเอง ก็ลองไปปฏิบัติพิจารณาดูกันเอาเอง เป็นการฝึกจิตเข้าสู่ "พระนิพพาน" แสวงหาความสุขอย่างอื่นมาก็มากแล้ว ลองมาแสวงหาความสุขจาก "พระนิพพาน" กันดูบ้าง ว่าเป็นความสุขอย่างแท้จริงอย่างไร ซึ่งพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ได้รับรองไว้ ว่าเป็นที่ บรมสุขอย่างแท้จริง)
    เมื่อยังไป "พระนิพพาน"ไม่ได้ก็ฝึกให้ ทาน รักษาศิล เจริญสมาธิ วิปัสสนาปัญญา เป็นเสบียงเอาไว้ ถ้าเรายังเวียนว่ายตายเกิดอยู่จะได้ไม่ทุกข์มาก แต่ก็ให้จิตมุ่งมั่นเพื่อจะเข้าสู่ "พระนิพพาน" ให้ได้ "จิตถึงไหนใจถึงนั้น" ถ้าไม่ท้อแท้ เราเกิดมาโชคดีแล้ว ที่มาพบพุทธศาสนา ซึ่งสอนให้ รู้จัก พระนิพพาน ซึ่งเป็นสถานที่บรมสุขอย่างยอดยิ่ง ให้รีบเร่งบำเพ็ญเพียรพยายามก่อนที่เราจะตายจากความเป็นมนุษย์ ซึ่งไม่รู้อีกว่าชาติหน้าเราจะเกิดเป็นอะไรอีก ลองตั้งใจแสวงหา "พระนิพพาน" กันดูเทอญ เมื่อพบแล้วจะคุ้มเกินคุ้ม และไม่เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์

    นิพพานัง ปัจจโย โหตุ
    นิพพานัง ปรมัง สุญญัง
    นิพพานัง ปรมัง สุขขัง
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 21 กุมภาพันธ์ 2010

แชร์หน้านี้

Loading...