เรื่องเด่น เรื่องที่มีคนเข้าใจผิดมาก เช่นเข้าใจว่าการปรารถนามรรคผลนิพพานเป็นกิเลส เพราะยังอยากจะไปพระนิพพานอยู่

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย ศิษย์วัดท่าขนุน, 17 กันยายน 2018.

  1. ศิษย์วัดท่าขนุน

    ศิษย์วัดท่าขนุน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 กันยายน 2017
    โพสต์:
    2,510
    กระทู้เรื่องเด่น:
    30
    ค่าพลัง:
    +2,945
    .jpg

    วันนี้มีโยมท่านหนึ่งมาสอบถามเรื่องของการปฏิบัติว่า อยากจะทำให้ดีกว่านี้ แต่การทำด้วยความอยาก เข้าใจว่าเป็นกิเลส จึงไม่คิดที่จะทำต่อ

    เรื่องนี้มีคนเข้าใจผิดมากต่อมากด้วยกัน อย่างเช่นเข้าใจว่าการปฏิบัติธรรม ปรารถนามรรคผลนิพพานเป็นกิเลส เพราะยังอยากจะไปพระนิพพานอยู่ เป็นต้น การเข้าใจผิดลักษณะนี้ ถ้าตัวเราเข้าใจผิดก็ไม่เป็นไร แต่ว่ามีหลายสำนักที่ไปสั่งสอนลูกศิษย์ให้เข้าใจผิดตาม ๆ กันไป เป็นจำนวนมากต่อมากด้วยกัน

    ขอให้ญาติโยมทั้งหลายพึงเข้าใจให้ถูกว่า การปฏิบัติของเรานั้น เริ่มต้นเราจำเป็นต้องอยากดีก่อน เมื่ออยากดีเราจึงต้องเกาะดี ก็คือ การที่เรามาปฏิบัติในทาน ศีล ภาวนา หรือศีล สมาธิ ปัญญา เราอยากดีเราถึงทำ ถ้าเราไม่มีความดีเหล่านี้เอาไว้ เราก็ไม่มีอะไรปล่อยที่จะไปปล่อยวางได้

    อย่างเช่น บางสำนักสอนให้ละทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าอะไรก็เอาแต่อนัตตาอย่างเดียว อาตมาอยากจะถามว่า ถ้าไม่มีอัตตาแล้วท่านจะเอาอนัตตามาจากไหน ? เหมือนกับบุคคลไม่ได้ถือของไว้ในมือ แล้วบอกว่าเราจะวาง แล้วจะเอาของที่ไหนมาวางได้ ?

    การปฏิบัติในเบื้องต้นจึงจำเป็นที่จะต้องยึดเกาะความดีก่อน เพื่อความมั่นคงของการปฏิบัติ เปรียบเหมือนบุคคลขึ้นสู่ที่สูง อย่างเช่นขึ้นบันได ก็ต้องเกาะราวบันไดเพื่อความมั่นคง เพื่อเป็นเครื่องนำเราไปสู่จุดหมายปลายทาง แต่เมื่อถึงชั้นบนแล้ว เราก็จะปล่อยราวบันไดโดยอัตโนมัติเอง

    บุคคลที่ทำถึงที่สุดแล้ว จิตใจก็จะปลดออกทั้งส่วนดีหรือส่วนชั่ว จะเป็นอัพยากฤตารมณ์ ก็คืออารมณ์ที่เป็นกลางโดยอัตโนมัติ ไม่ข้องแวะทั้งความดีความชั่ว แต่ในระยะเริ่มต้นนั้นจำเป็นที่จะต้องเกาะดีก่อน เมื่อดีถึงที่สุดแล้วจึงวางดีนั้นเสีย ซึ่งสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ถ้าว่ากล่าวไปแล้ว อาจจะพาให้ญาติโยมจำนวนมากฟุ้งซ่านเสียเปล่า ๆ เพราะว่าอาจจะนำไปคุยต่อ การคุยของเราถ้าหากว่าไม่รู้จริง ก็จะออกทะเลไปเรื่อย หาที่หมายไม่เจอ และทำให้เราฟุ้งซ่าน อารมณ์ใจไม่ตั้งมั่นเป็นหนึ่งเดียว

    จึงขอให้ทุกคนเข้าใจแค่ว่า การที่เราทำความดีนั้น เราต้องอยากดีก่อน แต่ตัวอยากตัวนี้ไม่ใช่อยากที่เป็นตัณหา เป็นตัวอยากที่เป็นธรรมฉันทะ คือความพอใจในธรรม ขอให้สังเกตว่า ตัวอยากที่เป็นตัณหานั้น มีแต่จะนำความทุกข์มาให้เรา แต่ถ้าคำว่าอยากที่เป็นธรรมฉันทะนั้น มีแต่จะนำพาเราให้พ้นทุกข์ เพียงแต่ว่าศัพท์ภาษาไทยไม่ได้แยกออกชัดเจนเหมือนบาลี

    ดังนั้น..ตัณหากับธรรมฉันทะ เราจึงไปใช้คำว่า “อยาก” เหมือนกัน ในเมื่อใช้คำว่า “อยาก” เหมือนกัน ท่านที่ต้องการจะเอาดีจริง ๆ เป็นบุคคลที่มีปัญญามาก ก็ไปคิดว่าเป็นกิเลส อาตมาอยากจะบอกว่าท่านทั้งหลายเหล่านั้นมีปัญญามาก แต่ขาดสติกำกับ ในเมื่อขาดสติกำกับ ก็ลืมไปว่าการที่เราจะข้ามน้ำนั้น อย่างไรเสียก็ต้องอาศัยเรือ อาศัยแพไปก่อน

    ถ้าเราอยู่กลางน้ำแล้ว เราบอกว่าจะสละเรือ สละแพ ก็ย่อมอยู่ในฐานะที่เป็นไปไม่ได้ เนื่องจากว่าเรือแพนั้นยังนำเราไปสู่จุดหมายไม่ได้อย่างที่เราต้องการ เราจะไปสละเรือ สละแพ ก็ต่อเมื่อเราขึ้นสู่ฝั่งแล้ว ตอนที่ยังลอยคอข้ามในวัฏสงสาร อย่างไรเสียก็ต้องอาศัยยานพาหนะเพื่อจะนำพาเราข้ามไป สิ่งทั้งหลายเหล่านี้จะว่าไปแล้วก็เป็นการถกเถียงกันมากเรื่องเสียเปล่า ๆ

    เมื่อเราเข้าใจถูกแล้วว่าตอนแรกเราต้องเกาะดีก่อน เมื่อทำความดีจนถึงที่สุด ปัญญาของเราถึง เราก็จะปล่อยวางความดีนั้นไปเองโดยอัตโนมัติ จึงขอให้ทุกท่านตั้งหน้าตั้งตาสั่งสมในสิ่งที่เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา ในสิ่งที่เป็นบุญ เป็นกุศล ของเราเอาไว้ เมื่อทำไปจนเต็มที่แล้ว เราจะปล่อยวางเรื่องทั้งหลายเหล่านี้ไปเอง

    ขอให้ทุกท่านมั่นใจว่า ตราบใดที่เรายังอยู่ในกรอบของศีล ตราบนั้นเราไม่มีทางที่จะหลุดพ้นจากความดีที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนเราได้ ยกเว้นว่าเราไปยึดมั่นถือมั่นจนเป็นสีลัพพตุปาทาน ก็แปลว่าเราอยู่ในกรอบของความดีแต่ไม่ได้ไปที่ไหน เพราะไปยึดกรอบเอาไว้ไม่ยอมปล่อยเสียแล้ว

    ลำดับต่อไปก็ขอให้ทุกท่านตั้งใจ นึกถึงลมหายใจเข้าออกพร้อมกับคำภาวนาของตนเอง ไม่ว่าท่านที่ได้มโนมยิทธิก็ตาม หรือว่าจับภาพพระอยู่ก็ตาม ถ้าสามารถกำหนดใจขึ้นไปกราบพระได้ ก็ให้ขึ้นไปกราบพระบนพระนิพพาน ท่านที่ทำไม่ได้ก็ให้ดูลมหายใจเข้าออกพร้อมกับคำภาวนาของเราเอาไว้ ตั้งใจไว้ว่าเราทำความดีทั้งหมดนี้ก็เพื่อพระนิพพาน ให้ทุกคนดูลมหายใจและคำภาวนาของตนไปตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
    วันเสาร์ที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๕

    ที่มา วัดท่าขนุน
     

แชร์หน้านี้

Loading...