เรียนรู้วิถีปราชญ์ชาวบ้าน ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย guawn, 22 กุมภาพันธ์ 2007.

  1. guawn

    guawn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    10,642
    ค่าพลัง:
    +42,113
    เรียนรู้วิถีปราชญ์ชาวบ้าน ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

    ธวัชชัย เพ็งพินิจ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์หนองคาย



    <TABLE cellSpacing=5 cellPadding=1 width="20%" align=left border=0><TBODY><TR bgColor=#f8b8cb><TD>[​IMG]
    พ่อผอง เกตพิบูลย์ บรรยาย

    </TD></TR></TBODY></TABLE>ขณะที่รัฐบาลให้การส่งเสริมแนวคิดการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงไปในระดับชาติ ถ้าย้อนกลับไปดูในด้านภาคปฏิบัติแล้วจะพบว่ามีประชาชนจำนวนมากที่เดินตามรอยพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัว โดยการทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

    วันนี้สามารถปลดเปลื้องหนี้สิน และความทุกข์ยากของเกษตรเคมีหรือเกษตรเชิงเดี่ยว มามีความสุขกับชีวิตใหม่

    หนึ่งในตัวอย่างที่ว่า คือกลุ่มที่เรียกว่า "เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านและพหุภาคีภาคอีสาน" ซึ่งรวมตัวกันเมื่อ พ.ศ.2538 ที่จังหวัดบุรีรัมย์ โดยการกระตุ้นของ ศ. เสน่ห์ จามริก เพื่อแก้ปัญหาของประชาชาติ มีการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์กันอย่างต่อเนื่องทุก 6 เดือน

    เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ.2540 คนกลุ่มนี้หันมาจัดประชุมสัญจรทุกเดือน โดยมุ่งเน้นสร้างองค์ความรู้และกระบวนการเรียนรู้ในการพึ่งตนเองและพึ่งพากันเอง เพื่อส่งเสริมปราชญ์ชาวบ้านสร้างผู้นำรุ่นใหม่ และเพื่อสร้างเครือข่ายการเรียนรู้สู่การพึ่งตนเองและพึ่งพากันเอง 1 ล้านครอบครัวในภาคอีสานภายในปี พ.ศ.2560

    ขณะเดียวกันก็ได้คิดค้นการเกษตรแผนใหม่ที่เรียกว่า "เกษตรปราณีต 1 ไร่" จนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้และฝึกประสบการณ์ที่ได้รับการยอมรับจากสังคมวงกว้าง ซึ่งปราชญ์ชาวบ้านเหล่านี้ได้ใช้พื้นที่ของตนเองเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้

    นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งชมรมอุ้มชูไทอีสาน จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เกษตรผสมผสาน และจัดตั้งโรงเรียนแก้จน ที่มีชื่อเรียกว่า "มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาไทอีสานคืนถิ่น" เป็นศูนย์การเรียนรู้ผ่านหลักสูตรวิทยากรกระบวนการเพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่การพึ่งตนเองและพึ่งพากันเองเรียกย่อว่า "วปอ.ภาคประชาชน"

    พ่อบุญเต็ม ชัยลา บ้านดงบัง ตำบลคอนฉิม อำเภอแวงใหญ่ จังหวัดขอนแก่น เล่าว่า ตนเองหลังจบ ป.4 ก็ช่วยพ่อแม่เลี้ยงวัวเลี้ยงควาย พอโตเป็นหนุ่มก็หางานตั้งแต่หาบของขาย รับเหมาสร้างบ้าน จนเข้าไปทำงานกรุงเทพฯ

    ผลคือ ยิ่งทำยิ่งจน เป็นหนี้เป็นสิน ลูกหลานแตกกระจายไปคนละทิศคนละทาง ทิ้งไว้แต่เด็กๆ และคนแก่ในหมู่บ้าน

    เมื่อปี พ.ศ.2532 พ่อบุญเต็มได้มีโอกาสไปดูงานของพ่อทองดี พ่อทัศน์ พ่อชาลี พ่อมหาอยู่ และพ่อผาย กลับมาก็เริ่มเขียนแผนโครงการพื้นฐานขึ้น จะขุดสระ ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ตรงพื้นที่ใด เขียนเสร็จแล้วก็ดำเนินการปฏิบัติ โดยเชื่อมั่นในคำสอนเรื่อง "ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน" และพึ่งพาอีก 4 แม่ คือ 1)แม่ธรณี คือ ดิน 2)แม่คงคา คือ น้ำ 3)แม่โพสพ คือ ข้าว และ 4)แม่บ้าน

    พ่อบุญเต็มกล่าวว่า "...ทุกวันนี้คนทุกข์ยากเพราะส่งลูกเรียนหนังสือ เมื่อก่อนพวกผมกลัวโจรเสื้อแดง คือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพราะเป็นหนี้กันมาก แต่ตอนนี้ต้องกลัวโจรเสื้อขาว เพราะลูกเรียนหนังสือ มีค่าใช้จ่าย

    ถ้าทำเกษตรผสมผสานเราป้องกันได้ เท่ากับว่าเรามีทหารป้องกัน เอาทหารเกณฑ์ยิงก่อน คือ พืชผักสวนครัว เอาไปขายถุงละ 5 บาท ให้ลูกช่วยขาย เหลือก็เอามาคืน ถ้าเรียนมัธยม ก็ปล้นวันละ 50-100 บาท ก็เอานายสิบป้องกัน คือ ไก่ ปลา แต่ถ้าเรียนมหาวิทยาลัย จะปล้น 3,000-5,000 บาท ก็เอานายพลทหารยิง คือ วัว ควาย หมู อย่างนี้ เรามีการป้องกัน และยังมีพอกินหรือมีเหลือกินอีกด้วย"

    พ่อบุญเต็มกล่าวชัดเจนว่า "...นี่คือการตามรอยทฤษฎีใหม่ของแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต้องเริ่มต้นจากการพัฒนาคน พัฒนาความคิด ปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีทำ การผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีสากล กับเทคโนโลยีชาวบ้านเข้าด้วยกัน เพราะปัจจุบันยังขาดการถ่ายทอดเทคโนโลยีชาวบ้าน หรือภูมิปัญญาดั้งเดิมแก่ลูกหลาน ส่วนใหญ่จะปล่อยให้โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ โดยขาดภูมิปัญญาดั้งเดิม"

    การทำเกษตรแผนใหม่ "ที่สำคัญต้องทำจริง ทำอย่างนี้มีทั้งเงินวัน เงินเดือน เงินปี และมีบำเหน็จบำนาญที่ตัวเองทำทั้งหมด ต้องทำงานทุกวัน ไม่ใช่คอร์รัปชั่นตัวเองโดยการไม่ทำงาน ส่วนมากที่จนเพราะมักคอร์รัปชั่นตัวเอง"

    จากการลงมือทำอย่างจริงจัง ทำให้พ่อบุญเต็มสามารถปลดหนี้สินจำนวน 890,000 บาทได้หมดภายในเวลาไม่ถึง 10 ปี ที่สำคัญคือ ร่ำรวยความสุขที่ได้ใช้ชีวิตแบบพอเพียง

    พ่อผอง เกตพิบูลย์ บ้านโนนพริก ตำบลโคกสง่า อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น เป็นอีกตัวอย่างของความสำเร็จที่ว่า

    พ่อผองหลังจากเกษียณอายุราชการในตำแหน่งครูใหญ่เอก เมื่อ พ.ศ.2534 ได้ร่วมแรงร่วมใจกันกับจันทราผู้เป็นภรรยา สร้างสวนจันทราขึ้น จนได้รับรางวัลพระธาตุนาดูรทองคำจากพระหัตถ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และได้รับการยกย่องให้เป็นครูภูมิปัญญาไทยจากกระทรวงศึกษาธิการ

    พ่อผองกล่าวว่า "ในการทำเกษตรเราจะต้องช่วยตัวเราเอง สิ่งแรกต้องหาแหล่งน้ำก่อน ต้องขุดสระเพื่อเก็บเอาน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง หลังจากนั้น จึงเริ่มการเพาะปลูก ปลูกสิ่งใดที่กินได้หลายๆ อย่าง เราจะได้มีกินตลอดปี ปัญหาคือการทำเกษตรจะต้องใช้เวลา ต้องกล้าทดลอง ทำผิด ทำถูก"

    พ่อผองเปลี่ยนไร่นา 42 ไร่ ให้เป็นบ่อเก็บน้ำ 11 บ่อเป็นพื้นที่ทำนา 13 ไร่ ส่วนที่เหลือเป็นปลูกผลไม้และไม้ป่า โดยปลูกพืชระยะสั้น คือพืชสวนครัวเพียงไม่กี่วันก็กินได้แล้ว ปลูกพืชระยะกลาง เช่น กล้วย มะละกอ และน้อยหน่า ที่เมื่อเหลือกินก็แจกญาติพี่น้อง และขายสู่ท้องตลาด

    ที่สำคัญ มีต้นไม้ระยะยาวที่เพียรพยายามปลูกไว้เมื่อ 8 ปีก่อน ทั้งไม้ผลและไม้ป่า 3,000 กว่าต้น เป็นบำนาญชีวิต

    เกษตรปราณีต 1 ไร่ เป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกร ซึ่งตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่าคนยากจนมีที่ทำกินน้อยจะทำอย่างไรจึงจะพึ่งพาตนเองได้ และครอบครัวมีความสุข โดยการเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ของเกษตรกร ไม่ให้คิดพื้นที่ทำกินเฉพาะแค่ที่เห็นตรงหน้า แต่ใต้ดินก็สามารถปลูกพืชได้ พื้นที่เหนือดินปลูกฟัก น้ำเต้า ในแปลงปลูกผักไม้ผล ไม้ใช้สอย พื้นที่ว่างเลี้ยงสัตว์ เพาะเห็ด เป็นต้น

    อย่างรอบๆ แปลงอาจจะปลูกชะอมได้กว่า 500 ต้น เก็บเกี่ยวแต่ละต้นแล้วจะมีกินมากมาย มีเหลือแจกเพื่อน เหลือแจกนำไปขาย

    พ่อผองกล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า "สิ่งที่พ่อได้รับคือ สุขภาพดี อารมณ์ดี บรรยากาศดีได้ออกกำลังกาย อายุยืน สิ่งที่ภูมิใจมากก็คือได้ภรรยาที่ดี ขยัน อดทน เป็นเพื่อน เป็นมิตร และได้รับความยกย่องจากสถาบันต่างๆ มากมาย"

    พ่อผองฝากให้คิดเอาไว้ว่า "พึ่งคนอื่นได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราว ถ้าพึ่งตนเองพึ่งได้สม่ำเสมอ และตลอดไป ด้วยชีวิตคนสั้นนัก ควรรวมตัว ร่วมคิด ร่วมเรียนรู้ ร่วมทำ และรีบคิดให้ได้ อยากมีความสุขตลอดกาล ให้ทำเกษตรผสมผสาน"

    ที่มาhttp://www.matichon.co.th/matichon/...g=01pra04220250&day=2007/02/22&sectionid=0131
     

แชร์หน้านี้

Loading...