เรื่องเด่น เมื่ออาตมาไปเล่าเรียนวิชากับ “หลวงพ่อเดิม” เล่าโดย หลวงพ่อจรัญ วัดอัมพวัน

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย ann, 7 พฤษภาคม 2023.

  1. ann

    ann เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 ตุลาคม 2004
    โพสต์:
    246
    กระทู้เรื่องเด่น:
    22
    ค่าพลัง:
    +2,291
    279027173_2787550801540447_5093306415781435724_n.jpg


    เมื่ออาตมาไปเล่าเรียนวิชากับ “หลวงพ่อเดิม”
    เล่าโดย หลวงพ่อจรัญ วัดอัมพวัน สิงห์บุรี

    อาตมานับถือหลวงพ่อเดิมมาก เพราะท่านให้ชีวิตอันเป็นอมตะในสมณเพศแก่อาตมา อาตมาสวดมนต์ไหว้พระแล้วก็กราบหลวงพ่อเดิมทุกวัน ระลึกถึงพระคุณของท่านที่ได้สร้างอาตมาให้เป็นสงฆ์ที่ดี อัฐิของท่านอาตมาก็แบ่งเอามากราบไหว้เพื่อเพื่อระลึกถึงพระคุณ ท่านเป็นพระที่ลึกซึ้งและเยี่ยมยอดจริง ๆ จะหาพระอาจารย์อย่างท่านได้ยาก

    ย้อนระลึกเล่าสู่กันฟัง เรื่องนี้ผ่านมาเป็นเวลา ๕๐ ปีแล้ว อาตมาได้ไปเล่าเรียนวิชากับพระครูนิวาสธรรมขันธ์ (หลวงพ่อเดิม) วัดหนองโพ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ อาตมายังรู้สึกเสียดายว่า เราน่าจะพบกับท่านก่อนหน้านี้นานแล้ว แต่กรรมของเรายังมีอยู่ พอพบท่านใกล้ชิดท่านได้เพียงหกเดือน ท่านก็มรณภาพจากไป

    ตอนนั้นอาตมาบวชเป็นพระภิกษุด้วยความจำใจ อาตมาขอบอกตรง ๆ ว่า อาตมาเกลียดพระมาตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ แล้ว อาตมาไม่ชอบเพราะพระเป็นผู้ที่ไม่ทำการงาน ได้แต่บิณฑบาตข้าวชาวบ้านไปฉัน แล้วก็สวดมนต์ ทำอะไรที่ไม่ค่อยจะเป็นที่สบอารมณ์ของอาตมา แต่เมื่อโยมบิดามารดาจะตัดแม่ตัดลูกหากไม่บวช อาตมาจึงต้องโกนหัวเข้าห่มผ้าเหลือง บวชแล้วก็ไม่ได้ใส่ใจสักเท่าใดนัก เขาห้ามอะไรก็ไม่ฟัง ให้มันนอกรีตนอกรอย รอจนรับกฐินเสร็จ อาตมาก็จะสึกให้มันพ้นภาระหน้าที่ไปเสียที อย่าลืมนะ อาตมาไม่ได้บวชเพราะศรัทธาก็หาไม่ อันนี้เป็นความสัตย์

    อาตมาตัดสินใจในเช้าวันหลังจากรับกฐินแล้ว เข้าไปกราบหลวงพ่อช่อ ท่านเป็นพระอุปัชฌาย์ ไปถึงก็กราบตรงหน้าท่าน บอกความประสงค์ไปเลยทีเดียวว่า

    “หลวงพ่อครับ กระผมขอสึกจากภิกษุสภาวะขอรับ”

    หลวงพ่อช่อ วัดพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี ท่านเป็นพระที่หลังโกง แต่ท่านเคร่งครัดในพระธรรมวินัยนัก ท่านมีกิจนิมนต์จะไปฉันเพล ท่านก็ถามว่า

    “สึกแน่หรือพระจรัญ ไม่เปลี่ยนใจอยู่ต่อนะ”

    ว่าแล้วเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา อาตมาก็กราบลาท่านกลับมากุฏิ หลวงพ่อช่อท่านก็ทำน้ำมนต์สึกเตรียมไว้ อาตมาก็เดินมาถึงกุฏิยิ้มย่องผ่องใสว่า วันนี้ล่ะจะพ้นจากภาระที่น่าเบื่อหน่ายเสียทีหนึ่ง มองไปที่กระเป๋าใส่เสื้อผ้า ที่ซื้อเตรียมไว้ใส่หลังจากสึกแล้ว ก็ดีใจเป็นล้นพ้นทีเดียว

    แต่พอเข้าไปในกุฏิก็เกิดง่วงเหงาหาวนอนขึ้นมาเฉย ๆ มันคล้ายครึ่งหลับครึ่งตื่น มักลืม ๆ หลง ๆ ไปหมด นอนอยู่ตรงนั้น พลันหูก็ได้ยินเสียงประหลาดแว่วมาที่หูเหมือนมาพูดที่ริมหูว่า

    “สึกไปหาอะไรกันเล่า นะโมยังไม่ได้เลย นะโมได้แล้วสึกก็ไม่น่าเสียดาย”

    ใจก็ค้านว่า “นะโมสวดได้จนคล่องไม่อย่างนั้นจะรับกฐินได้อย่างไรกันล่ะ”

    เสียงนั้นก็ดังขึ้นอีกว่า “นะโมได้แล้วก็ยังไม่ได้พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณน่ะซี ได้แล้วค่อยสึกดีไหมล่ะ”

    ทันใดก็มีเสียงคนตบประตูกุฏิตึง ๆ แล้วก็มีเสียงเรียกดัง ๆ ว่า

    “หลวงพี่...หลวงพี่ ท่านสมภารให้ผมมาตาม ท่านว่าอย่าโอ้เอ้อยู่ ท่านจะไปฉันเพลที่วัดหนองมน ต้องเดินเท้าไปมันจะไม่ทันการ”

    อาตมาลุกทะลึ่งพรวดพราดขึ้นมาเปิดประตู เจ้าเด็กคนนั้นไปแล้ว ก็ได้ยินเสียงสั่งสอนของยายที่สั่งไว้ว่า

    “ตอนสึกนี่สำคัญนะหลานนะ ถ้าสึกในระหว่างฤกษ์ไม่ดีล่ะก็บางคนก็ตาย บางคนก็ติดคุกติดตะราง บางคนก็เสียคนไปเลย ระวังให้ดีนะ ฤกษ์สึกนี้สำคัญนัก”

    อาตมาเดินไปหาท่านสมภารตอนนั้น พระอันดับก็มานั่งกันพร้อมแล้ว ท่านสมภารส่งเสียงเร่ง

    “เข้ามาเสียทีหนึ่ง จะได้สึกให้รู้แล้วรู้รอดไป”

    “พระเดชพระคุณที่เคารพ วันนี้กระผมไม่สึกแล้วขอรับ รอวันหลังก็ได้ขอรับ วันนี้นิมนต์ท่านไปฉันเพลก่อน”

    “แล้วกันนี่เอ้า เสียเวลาแท้ ๆ เชียว”

    ท่านสมภารเทน้ำมนต์สึกจากบาตรทิ้งดังซ่า หันไปคว้าย่ามกับตาลปัตรเดินลงจากกุฏิไปกิจนิมนต์ ส่วนอาตมากลับมากุฏิ นั่งนึกไปนึกมาว่า เราสึกที่นี่ฤกษ์ไม่ดี ก็ไปสึกที่อื่นก็ได้ ถือโอกาสเที่ยวไปด้วย ไปเหนือดีกว่า ไปสึกเอาข้างหน้า ว่าแล้วอาตมาก็เอาไตรจีวรใส่กระเป๋าใบหนึ่ง เสื้อผ้าฆราวาสใส่กระเป๋าอีกใบหนึ่ง หิ้วมาลาหลวงพ่อช่อเพื่อเดินทางไปให้พ้นจากวัดพรหมบุรี หลวงพ่อช่อท่านก็อวยชัยให้พร เพราะท่านเองก็ไม่อยากสึกให้อาตมาเหมือนกัน

    อาตมาหิ้วกระเป๋าสองใบ เดินทางมาลพบุรี ซื้อตั๋วรถไฟไปพิษณุโลก แล้วก็เตรียมออกเดินทางไปพิษณุโลก พอรถไฟมาอาตมาก็ขึ้นไปนั่งในตู้รถไฟมีคนอยู่กันเต็ม แต่เขาก็สละที่นั่งให้อาตมาที่หนึ่ง

    รถไฟแล่นมาถึงบ้านหมี่ก็เกิดเครื่องเสียกะทันหัน จอดซ่อมอยู่นานก็ไม่เสร็จ เวลาก็ผ่านไป เสียงคนในตู้รถไฟนั้นเขาก็คุยกันว่า

    “แหม! รถไฟเสียเวลาจังเลย จะไปนมัสการหลวงพ่อเดิมสักหน่อย ไม่น่ามีอุปสรรคเลยเชียว”

    อาตมาได้ยินคำว่า “หลวงพ่อเดิม” ก็หูผึ่ง หลวงพ่อเดิมนี้ อาตมาเคยได้ยินแต่ชื่อ ไม่เคยทราบว่าท่านอยู่ที่ไหน จึงถามเขาว่า

    “หลวงพ่อเดิมท่านอยู่ที่ไหนกันหรือโยม”

    “ท่านอยู่วัดหนองโพ ต้องลงรถที่สถานีหนองโพ แล้วเดินเท้าเข้าไปที่วัด ถ้าท่านต้องการจะไปนมัสการ ก็ลงรถไฟที่นั่นพร้อมกับพวกเราก็ได้”

    อาตมาก็คิดตัดสินใจเลยว่า ตั๋วรถไฟเราตีถึงพิษณุโลกก็จริงอยู่ แต่ถ้าจะลงที่หนองโพเสียก่อนก็ดี เพราะถ้าอย่างไรเสียก็สึกเสียที่วัดหนองโพเลย ไม่ต้องตะลอนไปไกล จึงตอบโยมพวกนั้นไปว่า

    “อาตมาจะไปพิษณุโลก แต่โยมว่าหลวงพ่อเดิมท่านอยู่หนองโพ เป็นทางผ่าน อาตมาก็จะเดินทางไปนมัสการหลวงพ่อเดิมพร้อม ๆ กับโยมเลยทีเดียว”

    มันเหมือนปาฏิหาริย์ พออาตมารับปากโยม รถไฟก็ติดเครื่องเปิดหวูดออกเดินทาง

    พอถึงสถานีหนองโพ อาตมาก็ลงรถไฟพร้อม ๆ ญาติโยม สถานีรถไฟหนองโพตอนนั้นเล็กนิดเดียว ไม่น่าที่ขบวนรถไฟจะจอด หากบารมีหลวงพ่อเดิมไม่ดีจริงแล้วไซร้ คงไม่มีขบวนรถไฟมาจอดเป็นแน่ แต่ด้วยบารมีเทพเจ้าแห่งสี่แควโดยแท้ รถไฟจึงจอดเพราะมีคนเดินทางไปนมัสการหลวงพ่อเดิมกันเต็มตู้รถโดยสาร

    อาตมาเดินตามญาติโยมไปตามทาง มือสองข้างก็หิ้วกระเป๋าไปด้วย ใจก็คิดว่า เอาละวะ ได้สึกเสียทีหนึ่ง จะได้พ้นจากสภาวะที่น่ารำคาญนี้เสียที ใจมันบอกว่า สึกเถอะ สึกเถอะ เป็นฆราวาสสบายกว่าเยอะ ทำอะไรตามใจชอบ ไม่มีศีล ๒๒๗ ข้อ มาคอยรั้งคอยดึง สึกนั่นแหละดีที่สุด

    คิดจะสึกมาจนถึงประตูวัดหนองโพ ญาติโยมก็นิมนต์ให้เดินไปข้างหน้า ให้ไปนมัสการหลวงพ่อเดิมก่อน อาตมาก็เดินไปถึงกุฏิของท่าน

    ภาพที่ได้เห็นก็คือ หลวงพ่อเดิมท่านนั่งตัวตรง เป็นสง่า รูปร่างท่านดูสูงใหญ่แบบคนโบราณ ผิวดำแดงมีรัศมีผ่องใส ผิวหนังเหี่ยวย่นไปทั้งตัว ท่านอยู่ในวัยชราภาพมาก นัยน์ตาของท่านดูเปล่งปลั่ง แววแจ่มใส ไม่เหมือนตาคนแก่ทั่ว ๆ ไป มีพลัง มีอำนาจ มีพลังดึงดูด เมื่อมองประสานกันแล้วทำให้เกิดความรู้สึกยำเกรงเป็นที่สุด

    อาตมาก้มลงกราบเบื้องหน้าท่านด้วยความเลื่อมใส นี่หรือหลวงพ่อเดิม แห่งวัดหนองโพที่ผู้คนนับถือ ชราภาพป่านนี้แล้วยังส่อความเข้มขลังและมีพลังอำนาจในตัว นี่เป็นเพราะอะไรกันหนอ หรือเป็นเพราะท่านมีศีลและภาวนา ตลอดจนบารมีอันสูงส่งของท่านคอยเป็นตบะและเดชะอยู่

    หลวงพ่อเดิม เทพเจ้าแห่งเมืองสี่แคว กล่าวถามอาตมาด้วยประโยคแรก น้ำเสียงของท่านไปแหบหรือเล็กเหมือนคนแก่อายุวัย ๙๐ ปีเศษ แต่แจ่มใสและกังวานเป็นยิ่งนัก

    “คุณมาจากอารามไหนกัน”

    “คุณเดินทางเพื่อจะสึกเพียงอย่างเดียวหรือ”

    อาตมาสะดุ้งเพราะไม่ได้บอกใคร แต่หลวงพ่อเดิมรู้ จึงตอบไปตามตรงว่า

    “ขอรับ ผมจะมาสึกหาลาเพศจากภิกษุสภาวะ”

    “อ้อ! อย่างนี้เอง เอาล่ะ อยู่กับฉันไปก่อนก็แล้วกัน วันนี้ไม่เหมาะสำหรับคุยเรื่องการสึกหาลาเพศ”

    ท่านเรียกมัคทายกให้นำอาตมาไปพักที่กุฏิรับรองแล้วสั่งว่า

    “ต้อนรับท่านให้ดี ท่านเป็นแขกของหลวงพ่อ อย่าให้ขาดตกบกพร่องนะ”

    อาตมามีนิสัยอยู่อย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดต้องตอบแทนคุณไม่อยู่เปล่า ๆ เมื่อหลวงพ่อเดิมท่านให้พักอยู่ด้วยในฐานะแขกของท่าน การตอบแทนพระคุณก็คือการไปนวดเฟ้นให้หลวงพ่อเดิมท่านคลายเมื่อย ซึ่งหลวงพ่อเดิมท่านก็มีเมตตากับแขกแปลกหน้าด้วยการพูดคุยเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้ฟัง

    ตอนกลางคืนอาตมานวดให้ท่าน พอเช้าก็ได้พบกับเรื่องประหลาด คือหลวงพ่อเดิมท่านฉันข้าวต้มตอนเช้า ท่านฉันอาหารแข็งไม่ได้แล้วตอนนั้นพอฉันเสร็จเขาก็พยุงท่านมานั่งเข้าที่ พอสาย ๆ หน่อยก็มีคนมาจากทั่วทุกสารทิศ มานมัสการหลวงพ่อเดิม ท่านก็เป่าหัวให้อย่างแรงทุกคน เป่าจนน่ากลัวว่าจะเป็นลมเพราะหมดแรง แต่หลวงพ่อเดิมท่านก็เป่าอย่างนั้นแหละว่า

    “เพี้ยง ดี...เพี้ยง ดี”

    คนก็ไปเช่าแหวนลงถมบ้าง มีดหมอบ้าง เหรียญบ้าง รูปหล่อบ้าง แล้วแต่จะต้องการ พอมาถึงหลวงพ่อเดิมท่านก็เป่ากำกับให้ เขาก็เอากลับไปบ้านกัน บางคนก็เอานางกวักงาช้างไปค้าขาย่ากันวุ่นไปหมด แต่ผู้คนก็ไม่ได้ขาดสาย วันทั้งวันเห็จแต่มีคนมาหลวงพ่อเดิม ศิษย์ก็ได้แต่มองตาละห้อย ห่วงหลวงพ่อเดิม ซึ่งอายุวัย ๙๐ ปีเศษ เกรงจะมรณภาพเพราะตรากตรำ แต่พูดอะไรไม่ได้ เวลาจะไปไหนมาไหน ตอนนั้นไม่ถนัดแล้ว ต้องเอาเกวียนเล็ก ๆ มาให้ท่านนั่งแล้วก็ลากไปตามทาง ท่านชราภาพจริง ๆ แต่ไม่ยอมหยุดกิจนิมนต์และการรับแขก ศิษย์ก็ไม่กล้าขัดใจท่าน เพราะท่านสั่งว่า ท่านจะสงเคราะห์ญาติโยมจนวาระสุดท้ายของชีวิตของท่าน

    เวลาตกกลางคืน อาตมาก็อดใจไม่ได้ พอนวดให้ท่าน ก็กราบเรียนถามท่านตรง ๆ ว่า

    “หลวงพ่อขอรับ เพี้ยง ดี เพี้ยง ดี ของหลวงพ่อน่ะมันดีจริงหรือครับ”

    ท่านยิ้มแล้วก็ตอบว่า

    “ดีอย่างไรฉันบอกเธอเดี๋ยวนี้ไม่ได้ ต้องอยู่กับฉันต่อไปจึงจะรู้ดี”

    พออาตมาพูพดเรื่องการสึก หลวงพ่อเดิมก็กระแอมดัง ๆ คล้ายจะดุ

    “แอ้ม อึ้ม อึ้ม อึ้อมม์”

    อาตมาก็เลยไม่ได้สึกต้องอยู่ต่อไป อาตมาเป็นคนซอกแซก มองไปมองมาก็เห็นว่าที่กุฏิหลวงพ่อเดิมด้านนอกมีปี่พาทย์ มีดาบ มีกระบี่กระบองสำหรับต่อสู้และการร่ายรำ อาตมาเป็นคนไม่ชอบเก็บความสงสัย จึงถามท่านตรง ๆ ในคืนต่อมาว่า

    “ดาบเอย กระบี่เอย มีไว้ทำไมกันครับหลวงพ่อ พระใช้ของพวกนี้ได้หรือครับหลวงพ่อ”

    หลวงพ่อเดิมหัวเราะหึ ๆ แล้วกล่าวว่า

    “ช้าไว้ ช้าไว้ เธอเป็นผู้เยาว์ บวชแค่พรรษาเดียว ก็เร่งร้อนจะสึก ฉันจะเล่าอะไรให้ฟัง ฟังแล้วคิดตามไปนะ”

    “วัดในสมัยโบราณครั้งกระโน้น เป็นแหล่งรวมสรรพวิชา เรียกกันว่า “สำนักทิศาปาโมกข์” เชียวนะจะบอกให้ บางแห่งก็เรียก “ตักศิลา” ดังนั้นผู้เข้ามาในวัดนั้นจึงไม่ได้เข้ามาทำบุญอย่างเดียว แต่เข้ามาศึกษาหาความรู้กับพระในวัดด้วย มันเป็นอย่างนี้แหละ”

    นวดไปอีกสักครู่ หลวงพ่อเดิมท่านก็เล่าเรื่องวัดในสมัยโบราณต่อไปอีก ท่านเล่าว่า

    “วัดในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น สอนอะไรบ้าง ก็สอนวิชาราชบุรุษ กฎหมาย นิติศาสตร์ต่าง ๆ เศรษฐศาสตร์ ศิลปหัตถกรรม เรียนเวชศาสตร์ เรียนดนตรีดีดสีตีเป่าต่าง ๆ พระสมันนั้นสอนได้ทั้งนั้น ทั้งยังมีตำราพิชัยสงคราม ฤกษ์ผานาทีต่าง ๆ”

    อาตมาก็สงสัย จึงถามหลวงพ่อเดิมท่านไปว่า “ราชบุรุษน่ะ เรียนอะไรขอรับหลวงพ่อ ผมไม่เคยได้ยิน”

    หลวงพ่อเดิมหัวเราะอย่างอารมณ์ดี แล้วอธิบายว่า

    “ราชบุรุษคือ วิชารัฐศาสตร์ การปกครองตนเองและผู้อื่น เข้าวัดต้องปกครองตัวได้ ต้องอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ มีระเบียบมีวินัย สามารถะอาไปใช้ในชีวิตฆราวาสได้ นี่เรียกว่า ราชบุรุษ”

    พอถึงตอนนี้อาตมาก็เลยถามเข้าจุดว่า

    “แล้วมีดพร้ากระท้าขวาน กระบี่กระบองเอาไว้ทำไมกันเล่าขอรับหลวงพ่อ”

    หลวงพ่อเดิมท่านว่า

    “ช่างสงสัยจริงนะ จะบอกให้ กระบี่กระบองคือหัวใจของการรบและการต่อสู้เพื่อป้องกันแผ่นดินไทย เป็นลูกผู้ชาย ต้องเป็นทหาร วัดหนองโพมีดีทางกระบี่กระบองและดาบต่าง ๆ ส่วนวัดอื่น ๆ ในสมัยนั้นก็เก่งไปแต่ละด้าน อักขระบ้าง การสร้างเครื่องรางของขลังบ้าง ดนตรีบ้าง ก็แล้วแต่ใครอยากเรียนอะไร ก็ไปเรียนกัน

    ดังนั้นวัดจึงเป็นตักศิลาโดยแท้ สมัยก่อนโรงเรียนแบบปัจจุบันไม่มี พ่อแม่ก็ต้องคอยดูว่าวัดไหนเก่งทางไหนก็พาลูกไปเรียน เรียนจบแล้วถ้ายังไม่พอก็ไปเรียนต่อที่วัดอื่น นี่แหละวัดในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นสำนักเรียนด้วยเหตุนี้”

    อาตมาจึงได้ถามคำถามซึ่งคิดว่าหลวงพ่อเดิมคงไม่ได้เล่าเอาไว้ว่า

    “เหตุใดวัดหนองโพจึงเก่งทางด้านกระบี่กระบอง ขอรับหลวงพ่อ”

    หลวงพ่อเดิมท่านหยุดนิดหนึ่ง แล้วเริ่มเล่าย้อนหลังขึ้นไปสมัยเมื่อกรุงศรีอยุธยาใกล้จะล่ม เหมือนท่านอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วยตัวท่านเอง

    หลวงพ่อเดิมท่านทอดสายตาออกไปนอกกุฏิสู่ความเวิ้งว้างของโลกภายนอก น้ำเสียงของท่านดูกร้าวและแกร่งขึ้นมา คล้ายกับจะรื้อฟื้นความทรงจำอันเจ็บปวดครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาต้องตกอยู่ท่ามกลางทะเลเพลิงที่พม่าข้าศึกเข้าปล้นสะดม เผาผลาญอย่างไร้ความปรานี แล้วเล่าให้ฟังว่า

    “คุณฟังให้ดี ๆ นะ ฉันจะเล่าเรื่องแต่เบื้องหลังให้คุณฟังแล้วคิดตาม ฉันไม่ค่อยจะได้เล่าให้ใครฟัง แต่สำหรับคุณ ฉันจะเผยเรื่องราวโดยไม่ปิดบัง หลวงพ่อเฒ่าแห่งวัดหนองโพ ซึ่งเป็นสมภารองค์แรกของวัดหนองโพ คุณรู้ไหมว่าท่านเป็นใคร เอาล่าฉันจะบอกให้

    ท่านเป็นขุนศึกคู่ใจของพระยาตาก ซึ่งเดินทางจากเมืองตากเข้าสู่กรุงศรีอยุธยาพร้อมกับพระยาตาก เพื่อเข้ามารับตำแหน่งเจ้าพระยาวชิรปราการ ไปครองเมืองกำแพงเพชร แต่พม่าเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ทุกด้าน พระยาตากท่านจึงต้องสู้กับพม่าข้าศึกโดยตั้งค่ายที่วัดพิชัย

    หลวงพ่อเดิมท่านได้เล่าให้อาตมาฟังต่อไปอย่างต่อเนื่อง เหมือนกับว่าท่านคืออดีตนักรบแห่งกรุงศรีอยุธยาผู้สละชีวิตเพื่อเป็นชาติพลีในครั้งกระนั้น

    ชาวบ้านบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี ตั้งค่ายเข้าต่อตีกองทัพพม่าจนแตกกระจัดกระจายไปถึง ๗ ครั้ง ๗ หน สู้อย่างกล้าหาญ คนเพียงหยิบมือเดียวเมื่อเทียบกับกองทัพพม่า แต่สามารถทำลายกำลังพม่าข้าศึกเป็นก่ายเป็นกองแล้ว ทำไมกรุงศรีอยุธยาจึงล่ม

    มันไม่ได้ล่มเพราะคนไทยไม่มีฝีมือ แต่พม่าเอาสุกี้พระนายกองมอญที่เคยพึ่งบารมีข้าวแดงแกงร้อนของไทย มาเป็นคนนำทางเข้าทำลายคนไทยประการหนึ่ง

    ประการที่สอง คนไทยเราแตกความสามัคคี เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ค่ายบางระจันสู้จนล้มตายเป็นอันมาก เพราะสุกี้พระนายกองเอาปืนใหญ่มายิงใส่ค่าย ส่งคนไปขอปืนใหญ่จากกรุงศรีอยุธยา ยังถูกคนไทยด้วยกันพูดให้ต้องน้ำตาตกว่า

    “น้ำหน้าอย่างชาวบ้านธรรมดานะหรือจะเอาปืนใหญ่ไปสู้พม่า ขืนเอาไปก็ถูกพม่ามันชิงเอามายิงกรุงศรีอยุธยาเท่านั้นเอง”

    ท่านขุนสรรค์ พันเรือง นายทองแสงใหญ่ นายจัน หนวดเขี้ยว นายทองเหม็น นายดอกแก้ว นายแท่น มาประชุมหารือกันแล้วก็ท้อแท้ใจว่า ดูหรือเราสละเลือดเนื้อกันแทบตาย แต่ผลที่ได้รับก็คือ การดูหมิ่นฝีมือและน้ำใจ พม่ามันยิงด้วยปืนใหญ่ทุกวัน ล้มตายกันวันละหลายคน อย่ากระนั้นเลยเปิดค่ายออกไปรบกับมัน ให้รู้ดีรู้ชั่วไปให้โลกเขาร่ำลือว่า ชาวบางระจันยอมสละชีวิตเพื่อรักษาแผ่นดิน

    หลวงพ่อเดิมท่านเล่าไปอีกว่า

    “คุณรู้ไหมว่า ครั้งนั้นชาวค่ายบางระจันควงมีดพร้า กระท้าขวานดาหน้าเข้าหาห่าปืนใหญ่ของพม่าข้าศึก เข้ารบกับพม่าด้วยความกล้าหาญ เอาชีวิตเข้าแลก ยอมตายกันหมดทั้งค่าย ให้พม่าเดินข้ามศพเข้าสู่กรุงศรีอยุธยาดีกว่าให้พวกมันจับไปร้อยหวายผูกเป็นพวงเอาไปเป็นขี้ข้าที่หงสาวดี

    พม่าข้ามศพชาวบ้านบางระจันเข้ามาตั้งทัพที่วัดทุ่งพระเมรุ มันจึงไม่เผาทำลาย มันล้อมกรุงเอาไว้ คนไทยมีฝีมือจะสู้พม่า แต่เจ้าบ้านผ่านเมืองสมัยนั้นกลับไม่ยอมสู้ นอนงอมืองอเท้ากะให้น้ำหลาก พม่าจะได้ยกทัพกลับ แต่คราวนี้ผิดคาด พม่ามันเตรียมตัวมาอย่างดี เอาปืนใหญ่ยิงเข้ามาทุกวัน ถูกเรือนชานชาวบ้าน ไฟไหม้วอดวายตายกันเป็นเบือ

    พระยาตากสุดจะทน ลากปืนใหญ่มายิงใส่พม่า จนล้มตายเกลื่อน กำลังจะบรรจุลูกที่สอง ก็มีคนถือดาบอาญาสิทธิ์มาบอกว่า

    “ให้พระยาตากเข้าไปรับการพิจารณาโทษที่ศาลาลูกขุน ในฐานะฝ่าฝืนกฎมณเฑียรบาล ที่ห้ามยิงปืนใหญ่ก่อนจะได้รับอนุญาต เพราะนางสนมกรมพระแม่จะตกใจ”

    เนื่องจากพระยาตากมีความดีความชอบในแผ่นดินมาก่อน ให้รอลงพระราชอาญา หากฝ่าฝืนยิงปืนอีกจะถูกตัดหัวทันที ในที่สุดพระยาตากได้ตัดสินใจตีหักแหวกวงล้อมพม่าออกจากกรุงศรีอยุธยาเพื่อไปกู้ชาติ

    หลวงพ่อเฒ่า ซึ่งเป็นหนึ่งในขุนศึกคู่ใจก็ร่วมตีหักออกมาในครั้งกระนั้น ได้ช่วยพระยาตากทำศึกกับพม่าอย่างโชกโชน จนกระทั่งพระยาตากได้รับการสถาปนาเป็นพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราช จึงได้แต่งตั้งหลวงพ่อเฒ่าจะให้เป็นคุณหลวง แต่หลวงพ่อเฒ่าท่านถวายบังคมลาออกจากการรับราชการ เพราะเห็นว่าได้ทำศึกมามากแล้ว ฆ่าคนมาก็มาก จะข้อเข้าบวชในพระพุทธศาสนา พระยาตากก็อนุญาตให้ตามที่ขอ

    หลวงพ่อเฒ่าท่านจึงเดินทางมาจังหวัดนครสวรรค์ แล้วอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ได้มาฟื้นฟูวัดหนองโพขึ้นหลังจากที่กรุงธนบุรีได้เป็นปึกแผ่นแล้ว พระยาตากยังได้ให้คนนำของมาถวายและไถ่ถามทุกข์สุขอยู่เสมอ แต่หลวงพ่อเฒ่าท่านไม่ได้บอกชาวบ้าน ชาวบ้านจึงรู้แต่เพียงว่าท่านบวชแล้วก็ลงเรือมากับเพื่อนภิกษุด้วยกันแล้วอพยพหลบนายภาษีมาตั้งวัดหนองโพ

    วัดหนองโพจึงมีการสอนวิชากระบี่ กระบอง และวิชาดาบ ได้สืบทอดกันมา หลวงพ่อเฒ่าท่านได้เคยเล่าให้ลูกหลานฟังว่า

    “สมัยกรุงศรีอยุธยานั้น คนที่จะเข้ามาเป็นนักรบชั้นแนวหน้าชั้นขุนศึกนั้น ต้องศึกษาอักขระและภาษาต่าง ๆ ไปจนถึงตำรับพิชัยสงคราม ต้องบวชเรียนวิปัสสนากรรมฐาน ฝึกรากฐานจิตใจเสียก่อนแล้วจึงจะเรียนเพลงอาวุธกันในสำนักเรียน ก็คือวัดทั้งหลายในกรุงศรีอยุธยานั่นเอง แต่ท่านไม่เคยบอกใครนะว่าท่านเป็นอดีตขุนศึกคู่พระทัยของพระเจ้าตากสินมหาราช เพราะท่านไม่ต้องการรำลึกถึงอดีต ท่านวางดาบวางมีดถวายตัวเป็นพุทธบุตรแล้ว ท่านไม่ต้องการข้องแวะอีก

    แต่การถ่ายทอดวิชานั้น ท่านต้องทำ ด้วยว่าหากไปข้างหน้าเกิดศึกสงคราม วิชาการต่อสู้จะได้ไม่สูญไป ชายไทยจะได้จับดาบจับมีดขึ้นสู้กับข้าศึกได้ ไม่ต้องเป็นขี้ข้าเขา เพราะว่าพระเจ้าตากสินมหาราชกว่าจะกู้ชาติมาได้แต่ละตารางนิ้วนั้น มันยากลำบากเหลือแสน ต้องสิ้นเปลืองชีวิตทหารเป็นก่ายกอง บางครั้งก็ต้องสละพระโลหิตของพระองค์ลงรดแผ่นดินเพื่อแลกเอกราชของชาติไทย นี่แหละคือหลวงพ่อเฒ่าแห่งวัดหนองโพ จำไว้นะคุณ ท่านคือขุนศึกคู่พระทัย หนึ่งในห้าคนของพระเจ้าตากสินมหาราช”

    สำนักวัดหนองโพนั้นมิได้สร้างแค่คนดี พระดี และศิลปินเท่านั้น ยังสร้างนักกระบี่กระบองที่ดีไว้อีกด้วย อาตมาได้เห็นการสอนกระบี่กระบองที่วัดหนองโพ มีพระสอนให้เด็กรู้จักการตี การป้องปัด และการร่ายรำ จึงได้เข้าใจว่า พระในวัดสมัยโบราณท่านไม่ได้ผลาญข้าวสุกชาวบ้านเปล่า ๆ ท่านตอบแทนด้วยการสั่งสอนอบรมลูกหลานของคนที่เอาข้าวปลาอาหารมาทำบุญกับท่านพร้อมกันไปด้วย

    วันหนึ่งหลวงพ่อเดิมท่านได้เอ่ยเล่าเรื่องวัดสมัยโบราณ สร้างปุโรหิตาจารย์ และถ่ายทอดตำราพิชัยสงคราม ปุโรหิตาจารย์นั้น สมัยนี้ก็เทียบเท่ากับเสนาธิการในการวางแผนการรบ ถ้าเสนาธิการรอบรู้พิชัยสงคราม ย่อมกำชัยชนะมาสู่ผืนปฐพีของตนได้อย่างไม่ยากนัก เพราะตำรับพิชัยสงครามก็คือการหยั่งรู้กำลังศตรูและการเดินทัพของศัตรู ท่านได้ตั้งปัญหาถามอาตมาว่า

    “นี่แน่ะเธอ ตอนกลางคืนเธอเดินอยู่ในป่า เธอรู้ไหมว่าทิศไหนเป็นทิศไหนกันแน่”

    “ไม่รู้ครับหลวงพ่อ กระผมไม่มีความรู้ด้านนี้เลย”

    หลวงพ่อเดิมหัวเราะหึ ๆ อย่างอารมณ์ดีแล้วกล่าวสอนอาตมาให้ได้รู้เคล็ดลับบางประการเอาไว้ เพื่อใช้ประดับสติปัญญา และแก้ไขสถานการณ์เมื่อคับขัน ท่านว่า

    “เมื่อจะหาทิศทางนั้น ถ้ามองไม่เห็นทิศ ให้ดูดาวเหนือ ถ้าดูดาวเหนือไม่เป็นก็ต้องใช้อย่างอื่นแทน นี่แน่ะเธอ ถ้าเธอเดินผ่านหน้าวัด เธอจะรู้ได้ทันทีว่าทิศไหนเป็นทิศไหน ถ้าไม่มีโบสถ์แล้วดูดาวไม่เป็นก็ต้องดูต้นไม้”

    “ดูต้นไม้ ต้นไม้ก็เหมือน ๆ กันนี่ครับ และมันก็ยืนต้นของมันอยู่เฉย ๆ จะไปบอกทิศทางได้อย่างไรกันครับ”

    “ฟังไว้นะเธอ เธอต้องรู้จักต้นไม้ว่า ต้นไม้แบบนี้ขึ้นอยู่ในทิศเหนือ หรือมีกิ่งก้านเอนไปทางทิศเหนือ หรือต้นไม้อย่างนี้ชอบขึ้นหรือเอนไปทางทิศใต้ เป็นต้น”

    “เข้าใจแล้วครับ แล้วไม่มีต้นไม้ ผมจะทำอย่างไรดีเล่าครับ”

    “ไม่ยากเลยนี่เธอ เรียนสมาธิ เรียนกสิณแล้ว ก็ง่ายแล้ว นอนคว่ำลงไปกางแขนทั้งสองข้างออก เจริญสมาธิจนแน่นิ่ง อธิษฐานจิตจะเกิดพลังความร้อนแผ่กระจายจากทรวงอกไปยังแขนข้างใดข้างหนึ่ง ข้างไหนร้อนนั่นแหละแขนชี้ไปทางทิศเหนือ”


    ที่มา ตำนานเล่าขานพระผู้ทรงฌานอภิญญา ครูบาอาจารย์ผู้เรืองวิชาอาคม
     
  2. บันลือธรรม

    บันลือธรรม เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    30 ธันวาคม 2009
    โพสต์:
    800
    ค่าพลัง:
    +2,370
    สาธุ สาธุ
    น่าจะมีต่อให้จบนะครับ เนื้อเรื่องน่าสนใจมากเพิ่งเคยอ่าน ประวัติของ
    พระอาจารย์ที่คนนับถือทั่วประเทศ หลวงพ่อเดิมท่านคงมีญาณหยั่งรู้ว่า
    หลวงพ่อจรัญ ต่อไปจะเป็นพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ จึงถ่ายทอดความรู้
    ต่าง ๆ ให้
     

แชร์หน้านี้

Loading...