เรื่องเด่น เจตนาแห่งทาน คือเครื่องชี้วัดกำลังบุญ แม้ไม่อยากรวยก็จะรวยจนได้

ในห้อง 'บุญ-อานิสงส์การทำบุญ' ตั้งกระทู้โดย บ้องแบ้ว, 8 กุมภาพันธ์ 2017.

  1. บ้องแบ้ว

    บ้องแบ้ว นางฟ้าผู้น่ารัก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 พฤษภาคม 2010
    โพสต์:
    3,293
    กระทู้เรื่องเด่น:
    105
    ค่าพลัง:
    +5,301
    FB_IMG_1486551607412.jpg

    เจตนาแห่งทาน คือเครื่องชี้วัดกำลังบุญ แม้ไม่อยากรวยก็จะรวยจนได้

    ในสมัยของพระพุทธเจ้าวิปัสสี ได้มีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อ มหาเอกสาฎกอาศัยอยู่ในเมืองสาวัตถี

    เหตุที่ท่านได้ชื่อนี้ก็เพราะท่านยากจนมาก ผ้าสาฎกสำหรับนุ่งของพราหมณ์นั้นมีผืนเดียว แม้ผ้าของนางพราหมณีผู้เป็นภรรยาก็มีผืนเดียว ทั้งสองคนมีผ้าห่มผืนเดียวเท่านั้นในเวลาไปภายนอก พราหมณ์หรือนางพราหมณีต้องเปลี่ยนกันห่มผ้าจึงจะสามารถออกนอกบ้านได้

    วันหนึ่ง เมื่อเขาประกาศว่าจะมีการฟังธรรมในวิหารโดยพระพุทธเจ้าจะเป็นผู้แสดงธรรม ทำให้สามีภรรยาผู้มีผ้าผืนเดียวเกิดความยินดีมาก โดยตกลงกันว่านางพราหมณีจะไปฟังธรรมเวลากลางวัน ส่วนสามีจะไปฟังธรรมในเวลากลางคืน

    เมื่อถึงเวลากลางคืนเอกสาฎกพราหมณ์ก็ได้ไปฟังธรรมต่อหน้าพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า เมื่อได้ฟังธรรมก็เกิดใจที่ปีติขึ้นมา จึงอยากจะบูชาพระพุทธเจ้าด้วยผ้าห่มของตัวเอง แต่ก็คิดว่า

    “ถ้าเราจักถวายผ้าสาฎกนี้ผ้าห่มของนางพราหมณีจักไม่มี ของเราก็จักไม่มีจะทำอย่างไรดีหนอ”

    ซึ่งในขณะนั้น จิตของพราหมณ์สองดวงจึงเกิดขึ้น คือจิตที่ประกอบด้วยความตระหนี่พันดวงจิตหนึ่งเกิดขึ้น และเกิดจิตที่ประกอบด้วยศรัทธาดวงหนึ่งเกิดขึ้นอีกต่อสู้กันเป็นเวลานาน

    เมื่อพราหมณ์กำลังคิดว่า “จักถวาย หรือ จักไม่ถวายดี” จนเวลาผ่านล่วงเลยไปแม้ช่วงปฐมยาม มัชฌิมยามนั้นก็ยังตัดสินใจไม่ได้ จนกระทั่งเมื่อถึงปัจฉิมยามจึงตัดสินใจได้สามารถเอาจิตแห่งความศรัทธาเป็นที่ตั้งเอาชนะความตระหนี่ได้แล้วถือผ้าสาฎกไปวางแทบพระบาทของพระพุทธเจ้าจากนั้นได้เปล่งเสียงดังขึ้นสามครั้งว่า

    “ข้าพเจ้าชนะแล้ว ข้าพเจ้าชนะแล้ว ข้าพเจ้าชนะแล้ว”

    ทานของพราหมณ์นั้นให้ผลทันตาเห็นทันที เมื่อพระเจ้าพันธุมราชกำลังทรงฟังธรรม ได้สดับฟังเสียงนั้นแล้ว ตรัสบอกอำมาตย์ว่า

    “พวกท่านจงถามพราหมณ์นั้นดูแล้วมาบอกเราว่า เขาชนะอะไร”

    เอกสาฎกพราหมณ์จึงได้ตอบว่า “ เหตุที่ข้ากล่าวเช่นนั้น ขอให้ท่านลองนึกถึงเวลาที่เราไปรบทัพจับศึกแล้วได้ชัยชนะกลับมา ความรู้สึกนั้นประสบชัยชนะนั้นไม่น่าอัศจรรย์หรืออย่างไร ความตระหนี่ที่มีในตัวข้าเปรียบเหมือนศัตรูที่ยากจะเอาชนะได้ แต่เมื่อข้าตัดสินใจถวายผ้าห่มแด่พระพุทธเจ้าแล้ว ความรู้สึกชนะหัวใจที่ตระหนี่ก็ได้บังเกิดขึ้น นี่เป็นเรื่องที่อัศจรรย์มากสำหรับข้า ข้าจึงได้กล่าวแสดงชัยชนะเช่นนั้น”

    พระราชาได้สดับความนั้นแล้ว ทรงดำริว่า “พราหมณ์ทำสิ่งที่บุคคลทำได้ยาก เราจักทำการสงเคราะห์เขา” จึงรับสั่งให้พระราชทานผ้าสาฎกหนึ่งคู่ให้พราหมณ์ แต่พราหมณ์กลับคิดว่า

    “ในเวลาที่ตนเองนั่งนิ่งอยู่พระราชาก็ไม่ได้ถวายสิ่งใดแก่เรา แต่กลับได้ผ้ามาเพราะเรากล่าวสรรเสริญพระพุทธคุณ เราจึงไม่ควรใช้ผ้านี้เพราะอาศัยพุทธคุณ”

    เมื่อคิดได้ดังนั้นพราหมณ์จึงได้นำผ้าทั้งสองผืนนั้นไปถวายเป็นทานแด่พระพุทธเจ้าแทน พระราชาจึงรับสั่งให้พระราชทานทำให้เป็นทวีคูณอีก คือ สองคู่ สี่คู่ แปดคู่ สิบหกคู่ แต่พราหมณ์ก็ได้ถวายผ้าทั้งหมดให้แก่พระพุทธเจ้าทั้งหมด ต่อมาพระราชาจึงรับสั่งให้พระราชทานผ้าสาฎกถึงสามสิบสองคู่แก่เขา

    พราหมณ์จึงยอมรับผ้าเพียงสองผืนเป็นครั้งสุดท้ายโดยผืนหนึ่งตนเองจะเอาไว้ใช้ อีกผืนจะให้ภรรยาใช้ เพื่อป้องกันไม่ให้ครหาว่าปฏิเสธผ้าเพื่อเรียกร้องผ้าให้ได้มากขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุด

    ต่อมาครั้งหนึ่งในฤดูหนาว พระเจ้าพันธุมราชได้พระราชทานผ้ากัมพลแดงซึ่งเป็นผ้าสักหลาดอย่างดีเพื่อให้พราหมณ์ใช้ห่มเวลาที่จะมาเข้าเฝ้า แต่พราหมณ์กลับคิดว่าผ้าผืนนี้ดีเกินไปไม่เหมาะสมกับร่างกายของตนเอง

    “ผ้ากัมพลเหล่านี้ไม่สมควรแตะต้องที่สรีระอันบูดเน่าของเรา ผ้าเหล่านั้นสมควรแก่พระพุทธศาสนาเท่านั้น”

    พราหมณ์คิดได้ดังนี้จึงได้ขึงผ้ากัมพลผืนหนึ่ง ทำให้เป็นเพดานไว้เบื้องบนที่บรรทมของพระศาสดาภายในพระคันธกุฎี แล้วขึงผืนหนึ่งทำให้เป็นเพดานในที่ทำภัตกิจของภิกษุผู้มารับบิณฑบาตในบ้านของตนเอง

    ในเวลาเย็นพระราชาเสด็จไปสู่สำนักของพระศาสดาก็ทรงจำผ้ากัมพลได้แล้วทูลถามว่า

    “ใครทำการบูชา พระเจ้าข้า”

    เมื่อพระศาสดาตรัสตอบว่า “พราหมณ์ชื่อเอกสาฎก” ดังนี้แล้ว ทรงดำริว่า “พราหมณ์เลื่อมใสในฐานะที่เราเลื่อมใสเหมือนกัน” จึงได้รับสั่งให้พระราชทานวัตถุทานทุกอย่างที่จำเป็นแก่พราหมณ์นั้นได้แก่ ช้างสี่ ม้าสี่ กหาปณะสี่พัน สตรีสี่ ทาสีสี่ บุรุษสี่ บ้านส่วยอีกสี่ ตำบลพร้อมทั้งทรงแต่งตั้งให้พราหมณ์ได้เป็นราชปุโรหิตอยู่ถวายงานใกล้ชิดพระองค์เป็นต้นมา

    เอกสาฎกพราหมณ์เมื่อสิ้นชีวิตไปแล้วได้เวียนว่ายตายเกิดอีกหลายภพชาติจนกระทั่งชาติสุดท้ายได้มาเกิดเป็น ปีปผลิมาณพ ผู้มีฐานะร่ำรวยมหาศาล ซึ่งภายหลังท่านได้ออกบวชเป็นพระอัครสาวกผู้เลิศในด้านธุดงควัตร

    "พระมหากัสสปะ" ผู้ยิ่งยงผุ้นั้นนั่นเอง

    **********
    ธ.ธรรมรักษ์
     

แชร์หน้านี้

Loading...