อุบายปฏิบัติธรรม

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย nondanun, 8 ตุลาคม 2010.

  1. nondanun

    nondanun เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    5,980
    กระทู้เรื่องเด่น:
    13
    ค่าพลัง:
    +32,612
    ธรรมเทศนา
    ระหว่างวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๕ กรกฎาคม ๒๕๔๘
    ณ ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติปฏินิสสัคโค จ.ภูเก็ต
    ธรรมบรรยายในวันที่ ๕ ของการปฏิบัติ
    วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๘
    โดย...ท่านอาจารย์ พระณรงค์ กนฺตสีโล

    ขอ โอกาสพระโยคาวจร และขอเจริญพร ไปยังโยคีผู้ประพฤติปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ผู้แสวงหาสัจจธรรมตามความเป็นจริงทุกท่าน และขออนุโมทนา ในความพากเพียรในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ของบรรดาพระโยคาวจรทั้งหลาย ตั้งแต่วันเปิดโครงการ มาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ ท่านทั้งหลายนั้นมีความพากเพียรเอาใจใส่ต่อการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามที่ คณะวิปัสสนาจารย์ทั้งหลายได้แนะนำให้ความรู้ในหลักการของการปฏิบัติ เป็นที่น่ายินดีในบรรดาเราเหล่าผู้ปฏิบัติ ที่ได้ประพฤติตามคำสอนของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะบรรดาภิกษุที่ได้เข้าร่วมโครงการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานในครั้งนี้ และคณะอุบาสก อุบาสิกา ตลอดจนสามเณรซึ่งเป็นหน่อของพระพุทธศาสนาด้วย จะเห็นว่าพระพุทธศาสนานั้นยังมีความเจริญรุ่งเรืองในหมู่ชนที่เป็นบัณฑิต เพราะฉะนั้นหลักคำสอนในพระพุทธศาสนานั้น จะไม่เจริญในหมู่ชนที่เป็นคนพาล คำว่าคนพาลก็หมายถึงคนที่ไม่รู้สัจธรรมตามความเป็นจริง ไม่มีการสดับตรับฟังคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ห่างไกลพระสัทธรรม ถึงแม้จะอยู่ใกล้พระพุทธศาสนา แต่ก็เหมือนอยู่ไกล แต่หมู่ผู้ที่เป็นบัณฑิต เป็นผู้อยู่ใกล้พระพุทธศาสนา และปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธศาสนาด้วย เพราะฉะนั้นธรรมของคนพาลและบัณฑิตจึงห่างไกลกัน ท่านอุปมาเหมือนกับ ฝั่งนี้ของมหาสมุทร ซึ่งห่างไกลกับฝั่งโน้นของมหาสมุทร หรือห่างไกลเหมือนฟ้ากับดิน ซึ่งเปรียบเทียบกันได้ยาก บรรดามหาสมุทรฝั่งโน้น กับฝั่งนี้ซึ่งนับว่าไกล แต่คนที่เป็นคนพาลนั้นก็ไกลพระสัทธรรม เปรียบเทียบไม่ได้ ถึงแม้พระพุทธศาสนาจะอุบัติขึ้นโดยการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่คนพาลนั้นกลับมองไม่เป็น ไม่รู้จักคำว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นคือใคร พระสัทธรรมจะยังประโยชน์แก่ตนนั้นอย่างไร เพราะฉะนั้น การอุบัติของพระพุทธเจ้านั้น ท่านอุปมาเหมือนกับการเกิด หรือการขึ้นของพระอาทิตย์ที่ส่องสว่างไปได้ทั่วจักรวาล บรรดาพระอาทิตย์ที่เกิดขึ้นนั้น ย่อมเป็นประโยชน์แก่สัตว์ที่มีนัยน์ตา มีตาดีฉันใด พระธรรมของพระพุทธเจ้าที่ปรากฏในโลกนี้ ก็ย่อมมีประโยชน์แก่บรรดาผู้ที่มีปัญญา คือบัณฑิตเท่านั้น แสงพระอาทิตย์นั้นย่อมไม่มีประโยชน์แก่ผู้ไม่มีดวงตา หมายความว่าบุคคลนั้นเป็นผู้มีตาบอดเสีย ก็ย่อมมองไม่เห็น แม้จะมีแสงสว่างปรากฏมากเท่าไร ก็มองไม่เห็น อุปมาคนพาลเหมือนคนตาบอด บัดนี้พระธรรมได้ส่องสว่างปรากฏขึ้นแล้ว แต่คนทั้งหลายก็ไม่เข้าใกล้ ไม่มีศรัทธา ไม่สดับตรับฟัง และไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม บุคคลนั้นก็ย่อมไม่ได้ประโยชน์ แต่ในทางกลับกัน บุคคลที่เป็นบัณฑิต ย่อมมองเห็น ว่าแสงของพระธรรมนั้นมีประโยชน์ สามารถนำชีวิตตนไปสู่ความสุขที่แท้จริงได้ จึงได้มีศรัทธาปสาทะมีความเชื่อ ความเลื่อมใส และน้อมนำตัวของตัวเองนั้น มาประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนของพระศาสดา ก็คือการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน และบรรดาท่านทั้งหลายนั้นก็ย่อมได้รับประโยชน์แห่งพระธรรม คือได้รับแสงสว่างนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ จะเห็นว่าในบรรดาท่านทั้งหลายที่ได้เคยปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานก็เริ่มที่จะ ดำเนินชีวิตไปได้ถูกตามครรลองคลองธรรมด้วยสัมมาทิฏฐิ มองเห็นประโยชน์ทั้งในโลกนี้ และในโลกหน้า และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้น เป็นการกระทำประโยชน์ยิ่ง เรียกว่าปรมัตถประโยชน์ในประโยชน์ทั้งหลาย ประโยชน์ในโลกนี้ก็เป็นไปโดยความสะดวก เป็นไปโดยความสุข เป็นไปโดยไม่มีเวรมีภัย เป็นไปโดยไม่มีทุกข์ แม้ประโยชน์หน้า ถ้าเราละชีวิตในโลกนี้แล้ว หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาสอนว่า เราจะต้องไปเกิดในสัมปรายภพ การไปของบุคคลที่ไม่มีบุญกุศล ก็ต้องได้รับความทุกข์ในสัมปรายภพนั้น แต่ถ้าเรามีความกลัวภัยในสัมปรายภพภาคหน้า แล้วก็รีบสั่งสมบุญกุศล เพราะว่าบุญกุศลนั้นเป็นเสบียงธรรม ที่จะนำเราไปสู่ความสุขในภพต่อไป เรามาจากภพก่อน ชาติก่อน มาเกิดเป็นมนุษย์ในชาตินี้ ก็ด้วยอาศัยบุญกุศล การมีอัตตภาพที่สมบูรณ์ การมีชีวิตที่เป็นสุข การอยู่ในประเทศที่เป็นมัชฌิมประเทศ มีความสงบสุข ร่มเย็น ก็ด้วยอาศัยบุญกุศลที่เราได้สั่งสมมา แต่ถ้าเราไม่สั่งสมบุญกุศลต่อ เราไปในชาติหน้าเราไม่มีเสบียงบุญกุศลไป เราก็จะได้รับความทุกข์ความเดือดร้อน แต่ถ้าเราสะสมตั้งแต่วันนี้ โดยที่เป็นผู้ประกอบด้วยปัญญา อย่างที่ได้กล่าวมา ไม่เพิกเฉย ไม่ทอดธุระ ไม่ปล่อยวางให้วันเวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ รีบขวนขวายในบุญกุศล มีการให้ทาน การรักษาศีลเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือการภาวนา ได้แก่การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้น ได้ชื่อว่าท่านทั้งหลายเตรียมเสบียง คือบุญกุศลนั้นให้เกิดขึ้นในชาตินี้ ได้ติดตามไปในชาติหน้า แล้วโดยเฉพาะวิปัสสนากรรมฐานนั้น เป็นประโยชน์ที่จะตัดสังสารวัฏฏ์ คือการเวียนว่ายตายเกิดไปในภพภูมิต่าง ๆ ในชาติต่อ ๆ ไป การเกิดของบุคคลก็อาศัยเหตุ คือกิเลสที่มีอยู่ในจิตใจ กิเลสนั้นเป็นสาเหตุให้เรานั้นมีความทุกข์ เป็นสาเหตุให้เรานั้นทำความชั่วต่าง ๆ เพราะฉะนั้นในการที่เรามาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนี้ ก็ได้ชื่อว่าเราทั้งหลายนั้นมากำจัดกิเลส เมื่อกิเลสของเราถูกประหาร ถูกกำจัดลง การที่จะไปเกิดในภพต่อไปนั้นก็ไม่มี ฉะนั้นพระอริยเจ้าทั้งหลายผู้ทำลายกิเลสแล้ว จึงได้กล่าวว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์สำเร็จแล้ว กิจอื่นที่จะต้องทำนั้นไม่มีอีกแล้ว การเกิดนั้นเป็นชาติสุดท้าย นั่นก็แปลว่าพระอริยเจ้าทั้งหลายนั้นเป็นผู้รื้อเรือน คือกิเลส เป็นผู้ทำลายกิเลสให้หมดจากใจของตนเองแล้ว บรรดาเราทั้งหลายผู้ถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ถึงพระธรรมและพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง ก็ได้ปฏิบัติตามคำของพระอริยเจ้า โดยเฉพาะศีลก็เป็นศีลของพระอริยเจ้า แม้การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นพระอริยเจ้าทั้งหลายก็ปฏิบัติแล้ว การเป็นปุถุชน ถือผู้ที่หนาแน่นด้วยกิเลส การปฏิบัติตามศีลของพระอริยบุคคล คือพระอริยเจ้า เป็นการถึงซึ่งธรรมอันประเสริฐ เพราะฉะนั้นหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา จึงสอนให้บรรดาพุทธบริษัทนั้นพึงเจริญกุศล โดยเฉพาะการปฏิบัตินั้นเป็นกุศลอย่างยิ่ง เป็นมหากุศล เป็นกุศลที่เป็นไปโดยโลกุตตระ กุศลเพื่อความหลุดพ้น กุศลที่เราทำโดยการให้ทานนั้นก็เป็นโลกียะ เป็นความสุขในชาตินี้อย่างเดียว ถ้าเราให้ทานอย่างเดียว เราก็ได้แต่โภคทรัพย์ ถ้าเรารักษาศีลอย่างเดียว เราก็อาจได้อัตภาพที่สมบูรณ์ แต่ไม่ได้ปัญญา ถ้าเรามาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ชื่อว่าเรามาเจริญปัญญา ทุกวันพระอาจารย์ต้องมาแสดงธรรมแก่โยคี ก็ชื่อว่าเรากำลังสะสมปัญญาที่ชื่อว่า สุตตมยปัญญา และการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้นก็ชื่อว่าเรากำลังเจริญปัญญาที่ชื่อว่า ภาวนาปัญญา ในปัญญาทั้งสองอย่างนี้ เป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน พระอาจารย์จะเน้นการบรรยายธรรมเกี่ยวกับการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เมื่อโยคีตั้งใจฟัง ก็สามารถนำเอาความรู้ความเข้าใจนี้ไปปฏิบัติ ถ้าโยคีไม่ตั้งใจฟัง หรือฟังไม่ดี โยคีนั้นก็จะไม่เข้าใจว่าการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้นเป็นอย่างไร ประโยชน์นั้นเป็นอย่างไร จุดหมายของการปฏิบัตินั้นเพื่ออะไร เทคนิควิธีการปฏิบัตินั้น เราจะต้องเข้าไปกำหนดรู้ในอิริยาบถต่าง ๆ นั้นอย่างไร ที่ผ่านมามีโยคีหลาย ๆ ท่านที่ยังไม่ เข้าใจว่าการปฏิบัติธรรมนั้นต้องกำหนดอย่างไร พระอาจารย์ได้ตรวจสอบจากการสอบอารมณ์ที่ผ่านมาก็ได้เข้าใจว่ามีโยคีบางท่าน ที่ไม่เข้าใจ เพราะว่านั่งกำหนดขณะฟังธรรม ซึ่งประเด็นนี้พระอาจารย์จะให้งดการกำหนด ตอนนี้เราเป็นการเจริญสุตตมยปัญญาคือตั้งใจฟังให้ดี ตั้งใจฟังว่าพระอาจารย์พูดอะไร เน้นอะไร ถ้าเราไปกำหนดได้ยินหนอ ก็จะไม่ได้ยินที่พระอาจารย์พูดตลอด ฟังไม่ปะติดปะต่อ เมื่อฟังไม่เข้าใจแล้วก็เป็นโทษ คือพระอาจารย์แก้ให้ก็กลับไปทำไม่ถูก หรือไม่นำไปใช้ ผลที่จะทำให้ก้าวหน้า หรือการปฏิบัติที่ถูกก็ไม่เกิด เพราะฉะนั้นก็ให้โยคีนั้นพึงตั้งใจฟัง อย่าได้กำหนดได้ยินหนอ ได้ยินหนอ ให้ กำหนดแต่เวลาปฏิบัติ ตอนนี้เป็นเวลาฟัง การฟังก็ได้กุศล อย่างที่พระอาจารย์ได้กล่าวในวันก่อน ๆ ย่อมได้อานิสงส์ อานิสงส์อีกอย่างที่พระอาจารย์จะกล่าวก็คือว่า ถ้าเราฟังบ่อย ๆ ละจากโลกนี้ไป ถ้าเราตาย สิ้นชีวิต ไปเกิดด้วยบุญกุศลที่เราได้ฟังธรรมนี้ จะทำให้เราไปเกิดเป็นเทวดา สติของเราระลึกได้ ถ้ามีเทพยดามาพูดธรรมะให้เราฟัง เราระลึกได้ มีสติสัมปชัญญะ เราก็จะเกิดดวงตาเห็นธรรม บรรลุได้ในขณะนั้น ถ้าไม่มีเทวดามาพูดธรรมะให้เราฟัง ภิกษุในพระพุทธศาสนาที่มีฤทธิ์ สำแดงฤทธิ์ได้ ขึ้นไปบนสวรรค์ ไปแสดงธรรมแก่เทวดาเหล่านั้น ถ้าเราได้เจริญอบรมปัญญาในขณะฟัง จะเป็นฟังธรรม หรือฟังพระสวดมนต์ สาธยายในพิธีต่าง ๆ สั่งสมอย่างนี้บ่อย ๆ บุญกุศลก็ส่งให้เรานั้นได้บรรลุธรรมในขณะนั้น จะเห็นว่าพระพุทธเจ้าได้อุบัติ ตรัสรู้ขึ้นแล้ว พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงพระธรรมจักร บรรดาปัญจวัคคีย์ทั้งห้า โกญฑัญญะได้บรรลุธรรมเป็นคนแรก แต่ว่ามีเทพยดาที่ได้บรรลุธรรมในขณะนั้น ท่านกล่าวว่า 18 โกฏิ เทวดาเหล่านั้นได้สั่งสมปัญญา บารมี สั่งสมอินทรีย์ ถึงจะไม่ได้เป็นมนุษย์ แต่ว่าทันพระพุทธเจ้า ก็สามารถมีดวงตาเห็นธรรมได้ นี่ก็เป็นข้อพิสูจน์ที่ให้พวกเราได้เห็นว่า ถ้าเราได้สั่งสมปัญญาบ่อย ๆ ในพระพุทธศาสนา ปัญญาก็จะเกิดแก่เรา ละจากโลกนี้ไป ไปเป็นเทวดา เป็นพรหม ก็สามารถที่จะบรรลุธรรมตามที่พระพุทธเจ้า หรือว่าภิกษุรูปใดรูปหนึ่งขึ้นไปแสดงธรรม จะเห็นได้ว่าพระสารีบุตรก็ขึ้นไปแสดงธรรม ก็จะเป็นประโยชน์อันนี้ก็เป็นอานิสงส์ของการฟังธรรม การฟังด้วยดีย่อมได้ปัญญา หมั่นฟังด้วยโยนิโสมนสิการ พิจารณาใคร่ครวญ ใช้ปัญญาของเรา สิ่งใดที่เป็นประโยชน์ พระอาจารย์เน้น ก็นำไปใช้
    จาก การบรรยายธรรมก็ตาม สอบอารมณ์ก็ตาม พระอาจารย์จะให้ความสำคัญที่โยคีจะต้องไปใช้ ว่าจะต้องกลับไปประพฤติอย่างไร อาจจะไม่เพิ่มบทเรียน แต่เพิ่มการกำหนด ต้องไปใส่ใจอย่างไร ต้องไปดูพองยุบอย่างไร ต้องไปดูอาการเคลื่อนไหวของเท้าอย่างไร ต้องไปดูอาการเคลื่อนไหวของพองยุบอย่างไร อิริยาบถย่อย เราทำได้มากน้อยแค่ไหน เราต้องให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน แม้แต่ในปัจจุบันนี้ ถ้าเราปล่อยให้เวลานั้นล่วงผ่านไป เวลานั้นผ่านไปจริง แต่ว่าเรานั้นมิได้กำหนดอย่างจริง ๆ เราก็จะได้ผลไม่ตรงกับที่เราได้คาดหวังไว้ แต่ถ้าเราตั้งใจกำหนดจริง แม้เวลาผ่านไปก็จริง จิตของเราก็เข้าไปสู่อารมณ์กรรมฐานด้วยความเห็นจริง เห็นสภาวธรรมด้วยความเป็นจริง ก็ชื่อว่าเราได้ไปสู่จุดหมายของการปฏิบัติ ในระดับหนึ่ง ๆ เพราะฉะนั้นการปฏิบัติวิปัสสนานี้ พระอาจารย์จะต้องให้ความสำคัญในการสอน ส่วนโยคีนั้น ทำความเข้าใจต่อการฟังแค่ไหน การเดินจงกรม พระอาจารย์จะบอกให้เดินกำหนดช้า ๆ ถ่ายน้ำหนักไปที่เท้าข้างหนึ่ง อีกข้างหนึ่งก็ค่อย ๆ เคลื่อนไป ย่างไป พระอาจารย์ได้ขึ้นมาดูโยคีเป็นประจำ ก็จะเห็นว่ามีโยคีบางคนไม่ได้ย่างเท้าไปช้า ๆ แต่ว่ากลับเดินไปเร็ว ก้าวเท้าไปอย่างรวดเร็ว อย่างนี้จะทำให้การปฏิบัติของเรานั้นไม่เป็นสติ การใส่ใจน้อยนั้น ท่านกล่าวว่าไม่เป็นสติ การใส่ใจมากเป็นสติมาก การไม่ใส่ใจเลยไม่เป็นสติ การไม่ใส่ใจเป็นการรู้แต่ไม่เป็นการรู้ด้วยวิชชาปัญญา ตัดกิเลสไม่ได้ ตัดสักกายทิฏฐิไม่ได้ แต่การใส่ใจเข้าไปรู้อย่างใกล้ชิด เป็นการให้เกิดสติสัมปชัญญะ สติสัมปชัญญะนี้เป็นไปเพื่อกำจัดกิเลส คือสักกายทิฏฐิ ได้แก่ความสำคัญว่าเป็นอัตตาตัวตน เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา อย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นหลาย ๆ ท่านอาจจะกล่าวว่า การที่เราได้กำหนดในขนาดนี้ ก็รู้สึกว่าเพียงพอต่อความรู้ อย่างที่อาตมาได้กล่าวว่า ยังไม่ใช่เป็นการรู้ที่เป็นปัญญาอันสูงสุด เพราะปัญญาอันสูงสุดนั้นจะต้องเข้าไปดูอย่างแนบแน่น อย่างใกล้ชิด คือการเข้าไปใส่ใจ สิ่งที่เราจะเข้าไปรู้อย่างใกล้ชิดได้ พระอาจารย์ก็จะเน้นว่า โยคีต้องมีการกำหนด คือการบริกรรม ถ้าเราไม่บริกรรม จิตของเราก็ไม่ไปสู่อารมณ์กรรมฐานอย่างแนบแน่น อย่างใกล้ชิดได้ มีโยคีหลายท่านที่กำหนดยังไม่ละเอียด กำหนดใส่คำบริกรรมน้อยเกินไป อย่างเช่นว่า เหยียดหนอ เหยียดหนอ เหยียดหนอ บางท่านก็กำหนดเพียงแค่สองสามคำเท่านั้น ซึ่งเป็นการกำหนดที่น้อยมาก พระอาจารย์จะเน้นให้กำหนดให้ถี่ขึ้นไป การที่เราจะก้มลงกราบ เราก็ต้องบริกรรมให้ถี่ ๆ ก้มหนอ ก้มหนอ ก้มหนอ ให้ถี่ ๆ มาก ๆ ถ้าเราตั้งใจที่จะกำหนดถี่ ๆ เราสามารถทำได้ จากแรก ๆ เรากำหนดเพียงแค่หนึ่งนาที สองนาที แต่ถ้าเราตั้งใจที่จะกำหนดถี่ ๆ เราสามารถพัฒนาไปสู่การกราบที่ห้านาที สิบนาที หรือบางท่านก็กราบได้เป็นเวลานานถึงยี่สิบนาทีได้ บางท่านก็อาจจะกราบได้นานเป็นชั่วโมง นั่นก็คือโยคีเก่า นั่นก็ด้วยอาศัยการที่เราพยายามที่จะกำหนดทีละเล็ก ทีละน้อย พยายามที่ใส่ใจในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั่นเอง เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่กำหนด หลาย ๆ ท่านอาจจะบอกว่าขี้เกียจกำหนด นั่นยิ่งเป็นโทษใหญ่ มีใครบ้างที่สำเร็จด้วยความเกียจคร้าน ไม่มี แต่ว่าจะบรรลุจุดหมายได้ด้วยความพากเพียร คือวิริยะ เพราะฉะนั้นการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ท่านว่าเป็นความเพียรของผู้ที่เพียรโดยยาก คือไม่ใช่ความเพียรธรรมดา คนทั้งหลายนั้นเพียรธรรมดา ก็ได้สิ่งที่ตนเองปรารถนาเท่านั้น แต่ว่าความเพียรในพระศาสนานี้ เป็นความเพียรอันยิ่ง เป็นความเพียรเพื่อเผากิเลส บุคคลเมื่อเพียรเผากิเลส เขาก็ย่อมได้รับความสุขที่แท้จริง เรียกว่าบรมสุข คือ ความสุขที่เกิดจากการขจัดความทุกข์ การขจัดกิเลสที่เป็นสาเหตุให้เกิดความทุกข์ เขาก็ได้รับบรมสุข ก็คือพระนิพพาน เพราะฉะนั้นถ้าเราเพียรธรรมดา เราก็ไม่ไปสู่จุดหมาย จะทำอย่างไรให้ไปสู่ความเพียรที่สูงสุด ก็ด้วยอาศัยการกำหนดทีละขณะ การเอาใจใส่แต่ละที่ ถ้าเรามองข้าม ว่าตรงนั้นไม่มีความสำคัญ ตรงนี้ก็ไม่ต้องกำหนด เราก็จะไม่ได้การพัฒนาซึ่งสติ สมาธิ และปัญญา แต่ถ้าเราให้ความสำคัญ บุคคลที่รู้ว่า ถ้าเราสะสมของที่มีอยู่น้อย ก็กลายเป็นของที่มากได้ การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานก็ถึงกำหนดทีละเล็ก ทีละน้อย เราก็จะได้มาซึ่งสติที่มีกำลัง สมาธิที่ดิ่งลึก สามารถพัฒนาปัญญาทางธรรม เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง ในทางกลับกัน ถ้าเรามองไม่เห็นว่าแต่ละขณะเป็นเหตุของสติ เป็นเหตุของสมาธิ แล้วเราก็ข้ามเสีย โดยส่วนใหญ่ที่อาตมาสอบอารมณ์ โยคีหลายท่านทำได้ดี แล้วก็จะว่าทุกท่านก็ว่าได้ ทำได้ดีตอนอยู่ในศาลาปฏิบัติ ไม่ขาดตกบกพร่องเลย แต่ว่าพอจะออกจากศาลานี่เริ่มบกพร่องในการกำหนดแล้ว จะเดินไปเปิดประตูก็ไม่กำหนด เดินลงบันไดก็ไม่กำหนด หรือกำหนดก็ใส่ใจน้อยเกินไป ยิ่งทานข้าว หลายท่านก็ยังกำหนดได้ไม่ดีพอ พระอาจารย์พยายามให้ความสำคัญในการปฏิบัติ ว่าเราควรจะเป็นโยคีให้สมบูรณ์ เราไม่ใช่แต่ว่าปฏิญาณว่าเป็นโยคีเท่านั้น แต่ว่าเราจะเป็นด้วยการกระทำ เหมือนกับการเป็นภิกษุ การเป็นภิกษุก็ไม่ใช่ว่าบวชโดยโกนผมแล้วก็ห่มผ้ากาสวพัสตร์ ก็ไม่เรียกว่าเป็นภิกษุโดยแท้ เรียกว่าเป็นสมมติสงฆ์ หรือว่าสงฆ์โดยสมมติ ถ้าจะเป็นภิกษุโดยแท้ก็ต้องปฏิบัติ เป็นไปเพื่อละโลภะ โทสะ โมหะ นี้ก็ชื่อว่าเป็นภิกษุ ปฏิญาณว่าเป็นภิกษุ แล้วก็เป็นภิกษุจริง ๆ เหมือนกับเป็นโยคี ถ้าเราสมาทานวันแรก เราก็เพียงแต่เป็นโยคีโดยสมาทาน ถ้าเราจะเป็นโยคีโดยสมบูรณ์ก็คือการกระทำของเรา เราเพียรเผากิเลสจริง ๆ ไม่ท้อแท้ต่อความเหน็ดเหนื่อย ไม่ท้อแท้ต่อความเจ็บปวด ไม่ท้อแท้ต่อความหิวกระหาย ไม่ท้อแท้ต่อความอึดอัด ฟุ้งซ่านของจิต เป็นที่น่าชื่นชม ว่าโยคีหลายท่าน เป็นผู้ที่ใหม่ แต่ว่าสามารถที่จะอดทน ปฏิบัติมาได้จนถึงทุกวันนี้ คือพ้นวิกฤติที่จะกลับไป หลายท่านก็บอกว่า “อาจารย์ โยมไม่ไหวแล้ว อยากจะกลับแล้ว” นั่นก็ชื่อว่าโยคีรู้จักที่จะอดทน เชื่อฟังพระอาจารย์ กำหนดจิต คิดหนอ คิดหนอ หรือว่าอดทนต่อจิตที่อึดอัด เรามาปฏิบัตินี้เราจะต้องอึดอัดต่อการที่จะต้องทำช้า อึดอัดต่อจิตที่เคยทำอะไรสะดวกสบาย ทำอะไรก็รู้สึกว่าจะต้องกำหนด ช้าไปหมด เราก็เลยไม่ชอบใจ ไม่ยินดีต่อการทำ แต่มาถึงวันนี้ หลาย ๆ ท่านก็เริ่มที่จะช้าได้ สามารถที่จะกำหนดได้อย่างละเอียดขึ้น นั่นก็ชื่อว่าเราสามารถที่จะอดทน นั่นก็คือคุณสมบัติที่สำคัญของโยคีอีกประการหนึ่ง ก็คือการมีขันติ ขันตินี่ท่านกล่าวว่าเป็นตบะของนักพรตผู้เพ่งเพียรเผากิเลส ถ้าพระโยคาวจรขาดขันติ ก็นำไปสู่จุดหมายไม่ได้ บรรดาท่านทั้งหลายที่มาจนถึงวันนี้ ก็นับว่ามีขันติธรรมเรียกว่าขันติบารมี กำลังสั่งสมบารมี คือความอดทนอย่างยิ่ง ซึ่งชนทั้งหลายไม่อาจอดทน และทนได้ยาก เป็นการกระทำอันยิ่ง เป็นการกระทำอันประเสริฐที่คนทั้งหลายกระทำได้ยาก เมื่อเรากระทำได้อย่างนี้ ก็เป็นการกระทำที่ประเสริฐเช่นกัน ซึ่งชนทั้งหลายก็ได้ได้ยากเช่นกัน เพราะฉะนั้นบรรดาสิ่งที่เรากำลังทำอยู่นี้ เราต้องลงทุน ลงแรง คือมีวิริยะ ความพากเพียรทางกาย และความพากเพียรทางจิต ต้องลุกขึ้นเดินจงกรม จากการที่เราไม่เคยตื่นแต่เช้า ตีสาม แต่ว่าพอเรามาเป็นโยคี เราต้องรีบตื่นขึ้น ตื่นขึ้นแล้วก็ต้องรีบที่จะลุกจากที่นอน ไม่อย่างนั้นกิเลสก็จะชักนำเรา กิเลสก็จะเผาผลาญ โลภะ โทสะ โมหะ ก็เผาเรา เป็นเหตุให้เกิดภพชาติต่อไปด้วย การไปเกิดภพใหม่ ชาติใหม่ ก็เป็นชาติ ชรา มรณะ ก็เผาเราอีก โศกะ คือความโศก ปริเทวะความร่ำไร ทุกข์ โทมนัส ทุกข์คือความไม่สบายกาย โทมนัสก็คือความไม่สบายใจ อุปายาส ความคับแค้นใจ ก็เกิดขึ้นกับเราทุก ๆ ภพ ทุก ๆ ชาติ การเกิดภพใหม่ ชาติใหม่ ก็คือการได้ขันธ์ห้ามาใหม่ ขันธ์ห้าที่เรามีอยู่ก็ทุกข์แสนสาหัสถึงเพียงนี้ ถ้าไปมีใหม่ ก็ทุกข์ใหม่อีก การปฏิบัติวิปัสสนาคือการมากำจัด ทำลายขันธ์ห้าไม่ให้เกิดขึ้นมาอีก เป็นการทำลายกิเลส สาเหตุใหญ่นั่นเอง เพราะฉะนั้นการที่เรามาอดทนอยู่นี้ การอดทนต่อการนอนสบาย ที่บ้าน สบายต่อการนอน ต่อการทำอาหาร ทำอะไรก็อิสระ แต่มาอยู่ที่นี่ไม่อิสระ เราอิสระแต่เราไม่อิสระในขณะที่เรามีชีวิตอยู่ในทางโลก แต่ที่นี่ไม่อิสระ แต่เรากำลังจะอิสระ เป็นอิสระที่ยิ่งใหญ่ นั่นก็หมายความว่าในทางโลกนั้น เราอิสระด้วยการจะไปไหนมาไหนอย่างสะดวก แต่เราไม่อิสระด้วยการถูกกิเลสครอบงำ กิเลสนั้นเป็นนายเรา สั่งให้จิตทำอย่างโน้นอย่างนี้ จิตก็สั่งให้กายไปทำอย่างนั้นอย่างนี้ คือเราไม่ได้อิสระ แต่ในทางที่เรามาปฏิบัตินี้ ถึงเราจะไม่อิสระโดยบริเวณ แต่เราก็เริ่มที่จะอิสระโดยกิเลส จิตใจของเราเริ่มที่จะปลอดโปร่ง จากโลภะ โทสะ โมหะ แม้กระทั่งมานะ ทิฐิ เมื่อก่อนนั้นมีความเห็นผิด เดี๋ยวนี้ก็มีความเห็นถูกมากขึ้น มานะ ความถือตัวก็ลดน้อยลงไป อหิริกะ อโนตตัปปะ เมื่อก่อนเรานั้นไม่เกรงกลัวต่อบาป ตอนนี้ก็เริ่มที่จะเกรงกลัว อุททัจจะกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านต่าง ๆ อวิชชา นี้เป็นกิเลส ที่มีอยู่ในจิตใจของเรา ถ้าเรามาปฏิบัติ กิเลสก็เริ่มที่จะเจือจาง แม้กามฉันทะนิวรณ์ ความยินดีในกามสุขต่าง ๆ เราก็เล็งเห็นว่า ความสุขตรงนั้นหาสาระไม่ได้ สุขที่ประกอบด้วยทุกข์มาก ความสุขที่เจือด้วยความทุกข์เราก็แสวงหาสุขที่แท้จริง คือสุขภายใน สุขภายนอกไม่ได้เป็นสุขที่เที่ยงแท้ถาวร ไม่ใช่สุขที่แท้จริง แต่ว่าสุขภายใน คือการปฏิบัติธรรมนั้น เป็นสุขที่เที่ยงแท้ ถาวร และแท้จริง บรรดาอัครสาวก หรือผู้ที่เป็นบัณฑิตทั้งหลาย พึงแสวงหาความสุขที่แท้จริง เราจะเห็นว่าพระโมคคัลลาน์-สารีบุตร ก่อนออกบวชก็มีความสุขที่เป็นโลกียะสมบูรณ์ มีทรัพย์สินเงินทองมากมาย แต่ว่าสองคนนี้เกิดความเบื่อหน่ายในความสุขนั้น ก็ตกลงกันว่าเราจะแสวงหาความสุขที่แท้จริง ก็ไปแสวงหาตามลัทธิ คณาจารย์ต่าง ๆ ที่ขณะนั้นอุบัติขึ้น และก็สอนเรื่องได้รับความสุข แต่ก็ไม่มีสิ่งที่เป็นแก่นสาร คือพระโกลิตตะ อุปัตติสะ สองคนนี้ไปแล้วก็ไม่ได้รับประโยชน์จากคำสอนของผู้เป็นเจ้าของลัทธิ ก็ไปเรื่อย ๆ จนวันหนึ่งพระสารีบุตรก็ไปเจอพระอัสสชิ และเห็นว่าสมณะรูปนี้เราไม่เคยเห็นมาก่อน น่าจะมีการปฏิบัติที่ให้ความสุข การที่ได้ฟังธรรมจากสมณะรูปนี้น่าจะเป็นประโยชน์ ก็เลยเข้าไปกราบและขอฟังธรรมจากพระอัสสชิ ท่านก็ได้แสดงธรรมให้ฟังว่า ธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุ มีเหตุเป็นแดนเกิด ถ้าจะดับก็ดับที่เหตุแห่งธรรมนั้น พระมหาสมณเจ้ากล่าวอย่างนี้ พระสารีบุตรที่ได้สั่งสมปัญญาบารมีมาตลอดช้านาน เมื่อได้ฟังแล้วก็รู้แจ่มแจ้งทันทีว่าสิ่งทั้งหลายนั้นมีเหตุเป็นแดนเกิด เมื่อสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี เมื่อสิ่งนี้ดับสิ่งนี้ก็ดับ ก็เกิดดวงตาเห็นธรรม และถามว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นอยู่ที่ไหน ตอนนี้นั้นมีเพื่อนที่ทำสัญญากับเขาไว้ ว่าถ้าใครรู้ธรรมก่อนจะต้องไปบอก ก็เลยกลับไปบอกพระโมคคัลลาน์ซึ่งตอนนั้นเป็นอุปปติสสะ โกลิตตะ เมื่อโกลิตตะเห็นเพื่อนมีสีหน้าผ่องใส ไม่เคยเป็นมาก่อน ก็รู้สึกยินดีว่าเพื่อนเราคงจะรู้ธรรมอะไรมาบ้างแล้ว พระสารีบุตรก็เข้ามาบอกว่า บัดนี้เราได้รู้ธรรมแล้ว ก็แสดงธรรมนั้นแก่พระโมคคัลลาน์ฟัง ซึ่งพอได้ฟังก็รู้ทันทีอีกเช่นกัน ก็ชักชวนกันไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ก็ชื่อว่าสองคนนี้มองเห็นว่าความสุขที่แท้จริงในโลกนั้นไม่น่าจะมี ก็ออกแสวงหาความสุขที่แท้จริง และได้ค้นพบความสุขที่แท้จริงนั้น เพราะฉะนั้นเราทั้งหลายก็เป็นผู้พิจารณาถึงความสุขที่เรามีอยู่ และที่เราจะได้รับจากการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน อัครสาวกทั้งสองก็นึกถึงครูบาอาจารย์ของตนเอง ว่าเรานั้นได้รู้ธรรมแล้ว ครูบาอาจารย์ของเราน่าจะรู้บ้าง ก็กลับไปชวนพระอาจารย์ให้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ว่าบัดนี้พระพุทธเจ้านั้นได้อุบัติขึ้นแล้ว พระธรรมเป็นที่พึ่งของสัตว์โลกจริง ๆ แต่ว่าอาจารย์คือสัญชัยนั้นกลับไม่ไป กล่าวว่า บุคคลในโลกนี้ ผู้มีปัญญากับคนโง่ อย่างไหนมากกว่ากัน พระสารีบุตรก็บอกว่าคนโง่นั้นมาก คนฉลาดนั้นน้อย ถ้าอย่างนั้น ใครฉลาดก็ไปหาพระพุทธเจ้าก็แล้วกัน คนโง่ก็มาหาเรา แม้กระทั่งคนไปบอกแล้วก็ไม่ยอมละทิษฐิ ไม่ยอมปล่อยความเชื่อที่ยึดมั่นถือมั่น ได้แต่บอกว่า ใครฉลาดก็ไปหาพระพุทธเจ้า ใครโง่ก็มาหาเรา ก็ไปกันหมด สัญชัยผู้เป็นอาจารย์ก็ไปก็ไปกันหมด สัญชัยก็เสียใจ ลูกศิษย์ที่เห็นอาจารย์เสียใจ ก็กลับมาครึ่งหนึ่ง ไปกับพระสารีบุตรอีกครึ่งหนึ่ง คนไม่มีปัญญา แม้เกิดทันสมัยที่พระพุทธเจ้ายังมีพระชนม์อยู่ แต่ว่าคนทั้งหลายที่ไม่ได้เจริญอบรมปัญญาก็ไม่ได้ไปฟังธรรม แต่คนที่เจริญอบรมปัญญามา ก็เข้าไปฟังธรรมทันที อย่างอนาถปิณฑิกเศรษฐี ก็แสวงหาพระพุทธเจ้า พอได้ยินว่าพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น ก็ตกใจว่าพระพุทธเจ้าได้เกิดขึ้นแล้ว เกิดปีติ ขนลุก ซาบซ่าน แค่ได้ยินได้ฟังคำว่า สัมมาสัมพุทโธเท่านั้น เพราะฉะนั้นบุคคลที่ไม่สั่งสม ถึงจะได้ยินคำว่าพระพุทธเจ้า ก็นิ่งเฉยเสีย ไม่สนใจว่าพระพุทธเจ้าคือใคร และก็ไม่มาสดับตรับฟัง และก็ไม่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เพราะฉะนั้นการที่เราได้สั่งสมตรงนี้มา ก็นับได้ว่าเรานั้นเป็นผู้โชคดี เป็นผู้มีลาภ การเป็นพระพุทธเจ้านับว่าเป็นภาวะอันเยี่ยม เรียกว่า ทัศนานุตริยะ การเห็นอันเยี่ยม และการปฏิบัติก็ชื่อว่าเห็นพระธรรม ก็เป็นการเห็นอันเยี่ยม การเห็นอย่างอื่นไม่ได้เป็นไปเพื่อความละ เพื่อความปล่อยวาง เพื่อความคลาย กลับเป็นไปเพื่อความยึดติด แต่การเห็นพระพุทธเจ้า เห็นพระธรรมนั้น เป็นการเห็นอันเยี่ยม การเห็นอันประเสริฐ เรียกว่าทัศนานุตริยะที่บุคคลพึงได้ แม้เราจะไม่เห็นพระพุทธเจ้า โดยพระวรกายที่ยังมีพระชนม์ชีพอยู่ แต่ถ้าเราปฏิบัติธรรม เราก็ชื่อว่าได้เห็นพระพุทธเจ้า ดังที่พระองค์ได้กล่าวว่า บุคคลเห็นธรรม ย่อมเห็นตถาคต นั่นก็หมายความว่า ถ้าเราปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานไป เราเห็นพระธรรม ก็ชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้า แล้วพระพุทธเจ้าก็ได้มีตัวแทน เมื่อพระองค์จะปรินิพพาน ก็ได้ตรัสสั่งพระอานนท์ไว้ ว่าตัวแทนของพระองค์ก็คือ พระวินัย กับพระธรรม พระองค์ไม่ได้แต่งตั้งใครมาเป็นตัวแทน เมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว พระธรรมจะเป็นตัวแทนของพระพุทธองค์ ถ้าบุคคลใดปฏิบัติตามพระธรรม พระวินัย บุคคลนั้นได้ชื่อว่าบูชาพระพุทธเจ้าโดยแท้ และบุคคลใดที่เห็นธรรม บุคคลนั้นชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้าโดยแท้ ฉะนั้นที่พวกเรามาปฏิบัติกันอยู่นั้น เราก็จะได้เห็นพระพุทธเจ้า บุคคลใดเมื่อได้เห็นพระพุทธเจ้า ก็จะจับจีวร สังฆาฏิ ติดตามพระพุทธองค์ไป แต่บุคคลนั้นยังประกอบไปด้วยโลภะ โทสะ โมหะ ยังเต็มไปด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง ยังหนาแน่นอยู่ด้วยกิเลส บุคคลนั้นพระพุทธเจ้ากล่าวว่าเป็นผู้อยู่ไกลเรา แต่ถ้าบุคคลใด แม้จะอยู่ไกลพระพุทธเจ้าร้อยโยชน์ โยชน์หนึ่งก็ 16 กิโล ลองคำนวณดูว่าเท่าไหร่ แต่บุคคลนั้นเป็นผู้เจริญ ด้วยศีล สมาธิ และปัญญา บุคคลนั้นก็ละโลภะ โทสะ โมหะ มานะทิฐิ บุคคลนั้นชื่อว่าอยู่ใกล้พระพุทธเจ้า ฉะนั้นเรามาปฏิบัติวิปัสสนา ชื่อว่าได้อยู่ใกล้ ใครที่ละโลภะ โทสะ โมหะ ก็ชื่อว่าดำเนินไปอยู่ใกล้พระพุทธเจ้า ผู้ใดเห็น ธรรม ผู้นั้นเห็นพระพุทธเจ้า ผู้ใดเห็นพระพุทธเจ้า ผู้นั้นเห็นธรรม แม้ว่าเราจะไม่ได้เห็นพระพุทธเจ้า แต่เราเห็นธรรม พระพุทธปฏิมากร ก็เป็นที่ให้เรากราบไว้ เป็นอุจเฉททิกะเจดีย์ ตัวแทนของพระพุทธเจ้า ที่เราได้กราบไว้บูชา การที่เราปฏิบัตินี้ก็เป็นการบูชา ในวันสมาทานพระกรรมฐาน เราจะกล่าวว่า อิมายะ ธัมมานุธัมมะ ปฏิปฏิยา ธัมมัง ปูเชมิ ข้าพเจ้าขอบูชาพระรัตนตรัย ด้วยการประพฤติธรรม สมควรแก่ธรรมนี้ ถ้าจะแยก ธัมมานุธัมมะ ปฏิปฏิยา พุทธัง ปูเชมิ บูชาพระพุทธเจ้า ธัมมัง ปูเชมิ บูชาพระธรรม สังฆัง ปูเชมิ ก็หมายถึง การบูชาพระสงฆ์ และการบูชาทั้งหลาย พระพุทธเจ้าแสดงไว้ การบูชาด้วยดอกไม้ ก็คืออามิสสบูชา และการปฏิบัติบูชาก็คือการปฏิบัติตามคำสั่งสอนพระพุทธเจ้า ที่พระองค์ได้ทรงแสดง ก็ชื่อว่าเป็นการบูชาอันยิ่ง ในการบูชาทั้งหลาย ปฏิบัติบูชาถือว่าเป็นการบูชาอันเลิศ เพราะฉะนั้นเราทั้งหลายนั้นอย่าได้ทำเรื่อยไป ควรใส่ใจกำหนดรู้ให้มาก การเดินจงกรมโยคีหลายท่านอาจจะยังไม่เข้าใจ ว่าพระอาจารย์ให้ไปดูที่ไหน รู้ที่เท้า แต่ว่าไม่ต้องรู้ว่าเป็นเท้า ส่วนใหญ่เราจะรู้ทั้งขา ความเด่นชัดจะรู้ทั้งขา จุดหมายนั้นไม่ใช่ดูที่ขา แต่ให้ส่งจิตไปที่เท้า ค่อย ๆ เคลื่อนไหวช้า ๆ ตั้งแต่ส้นจนปลายเท้า การเดินนั้นไม่ให้เดินเร็ว เพราะว่าถ้าเราเดินเร็วเราจะไม่เห็นอะไร สภาวะที่เป็นปรมัตถ์ ก็คือการหนักการเบา เราต้องเข้าไปรับรู้ เข้าไปสังเกต แต่ไม่ใช่เข้าไปหา ฟังจากพระอาจารย์แล้วก็ไปหา เราก็จะเกิดความเครียด ความเครียดก็จะทำให้โยคีมึน มีอาการมึนศีรษะ อาเจียน ชื่อว่าเราไปหา หรือจะกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า เราวางใจไม่ถูก เราต้องวางใจเข้าไปกำหนดรู้ สภาวะที่ชัดเจน เราต้องทำช้า ๆ ประการแรกเราต้องทำช้า ๆ ถ้าเราทำช้าแล้วเราส่งจิตไปที่เท้าได้แม่นยำ หรือว่าเราส่งจิตไปที่เท้านั้นเพียงพอแค่ไหน วิริยะทางจิตที่ส่งไปในอาการ ถ้าน้อยเกินไปก็จะไม่รู้ชัด ถ้ามากเกินไป เน้นเกินไป มุ่งเกินไป ก็จะรู้สึกว่ามึน ตึง และเครียด ถึงวันนี้อาตมาคิดว่า โยคีหลาย ๆ ท่านน่าจะปรับตัวเองได้ รู้ว่าวิริยะที่เราส่งไปนั้น ควรจะเพิ่มขึ้น หรือลดลง พอประมาณ ไม่มากเกินไป ไม่น้อย เกินไป ถ้าน้อย ไม่รู้ชัด ถ้ามากก็เคร่งตึง ซึ่งหลายคนที่เกิดอาการเคร่งตึง อาตมาเชื่อว่า เกิดจากการเข้าไปหา หาพองยุบ ว่าทำไมไม่มี มีแล้วกลับไม่มีก็ทำไมรู้สึกว่าไม่ชัดเจน พระอาจารย์พยายามอธิบายว่า ถ้าพองยุบไม่ชัด ก็ให้ไปดูนั่งหนอ ถูกหนอ บางทีก็ให้ทำตรงนั้น ซึ่งนั่งหนอ ถูกหนอก็เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เกิดสติสัมปชัญญะได้ มีโยคีบางท่านไม่กำหนด ไปนั่งดูเฉย ๆ ก็เกิดอาการโงกง่วง หลับได้ หรือหลายท่านก็ไปดูอาการเฉยนั้น เฉยหนอ เฉยหนอ ก็เป็นโมหะ การกำหนดเฉย ๆ นั้น เบื้องต้นท่านยังไม่ให้กำหนด เพราะยังไม่เป็นการเฉยแท้ แม้กระทั่งสุขเวทนาที่เราคิดว่าเราสุข ก็ไม่ใช่สุขที่แท้จริง เพราะฉะนั้นพระอาจารย์จะไม่ให้กำหนดอาการสุข แต่ให้กำหนดทุกขเวทนาที่กำหนด อทุกขมสุข ไม่สุขไม่ทุกข์ อันนี้จะแยกยาก ถ้าเรามีสติ สมาธิ ที่พอประมาณ เราจะแยกแยะได้ชัดเจน ตรงนั้นให้เรากำหนด เฉยหนอ เฉยหนอ หรือว่าสุขหนอ สุขหนอ แต่ตอนใหม่ ๆ พระอาจารย์จะให้กำหนดนั่งหนอ ถูกหนอ สลับกับพองหนอ ยุบหนอ พองหนอ ยุบหนอนี้ ไม่ใช่อารมณ์หลัก ที่เราจะต้องกำหนด หลายท่านมีความท้อแท้ว่า ถ้าเรากำหนดพองยุบไม่ได้ เราก็ปฏิบัติสติปัฏฐานไม่ได้ นี้ก็ไม่ใช่ ถ้าเรากำหนดพองยุบไม่ได้ และกายของเรานั้นอาจมีความแตกต่างกัน สภาวะก็แตกต่างกัน คนที่ธาตุลมชัด พองยุบก็จะแรง แล้วบอกจับง่าย ถ้าคนที่พองยุบชัด ชัดมาก ๆ พระอาจารย์จะให้กำหนดเบา ๆ ถ้าเราไปกำหนดพองหนอ ยุบหนอ พองยุบชัดก็จะรู้สึกเหนื่อย รู้สึกว่าตัวเรานั้นโยกโคลงไปกับอาการพองยุบ เพราะฉะนั้นให้กำหนดรู้หนอ รู้หนอ เบา ๆ หรือว่าอาการพองยุบมีอาการสั้นยาว ก็ให้กำหนดตามความเป็นจริงไป ไม่ควรที่จะให้พองยุบเกิดขึ้น โดยวิธีใดวิธีหนึ่ง บางท่านอาจจะสูดลมหายใจเข้าแรง ให้พองยุบเกิด นี้ก็จะเหนื่อย และเกิดอาการแน่นหน้าอก ต้องย้อนที่ครูบาอาจารย์พูดไว้เมื่อวันก่อน ๆ เพราะโยคีฟังแล้วไม่เข้าใจ ไปทำแล้วมีผลตรงนี้ เกิดอาการแน่น อาการตึง อาการมึนเป็นต้น พระอาจารย์ก็พยายามบอกให้โยคีเข้าใจถึงการกำหนดในเบื้องต้นว่า ให้เรารู้อาการนั่งของกายให้ตรง ต้องจัดรูปนั่งของเราในขณะที่เรานั่งหลับตาอยู่นั้น ให้ตรงจริง ๆ แล้วเราก็ส่งจิตของเราไปรู้อาการเคลื่อนไหวที่หน้าท้อง อาการเป็นจริงพองหนอ ยุบหนอเรื่อยไป ไม่ใช่เป็นการท่องนะ มีบางท่านที่ท่อง ถามว่ารู้สภาพที่เคลื่อนไหม ไม่มี แล้วกำหนดอะไร พองหนอ ยุบหนอ ก็ไม่ถูก เพราะว่าไปนั่งท่องเอา ไม่ใช่รู้สภาพที่แท้จริง พองเป็นอย่างไร กำหนดรู้อย่างนั้น ไม่ต้องบริกรรมต่อไปว่า พองหนอ รู้หนอ ยุบหนอ รู้หนอ ในขณะที่เรารู้นั้น เรารู้ด้วยจิตที่เข้าไปรู้แล้ว ไม่ต้องบริกรรมกำชับไปอีกว่า รู้หนอ ถ้าเรารู้ผิวเผิน เราจะจับอาการไม่ได้ ใหม่ ๆ พองยุบนั้นจะหยาบ แต่พอเราทำไป พองยุบนั้นจะละเอียด เราจะเห็นว่าพองยุบมีความละเอียดเพิ่มขึ้น สามารถที่จะจับได้ง่าย เราเริ่มที่จะเห็น ต้น กลาง ปลาย ของอาการพองและยุบ ใหม่ ๆ นั้นก็อาจจะเห็นแต่อาการสิ้นสุดของอาการพองและยุบ ก็ให้เรากำหนดเรื่อยไป ด้วยอาศัยที่เรานั้นพยายามกำหนดอิริยาบถย่อยให้สม่ำเสมอ สติเรานั้นก็จะพัฒนาขึ้น เมื่อสติเราพัฒนาขึ้นแล้ว จิตที่จะเข้าไปรู้อาการพองยุบก็จะชัดเจนขึ้น เพราะฉะนั้นเหตุของสติ ก็คือวิริยะในการกำหนด ก็จะทำให้เรามีการพัฒนาเห็นสภาพธรรมต่าง ๆ ได้ชัดเจน เริ่มที่จะกำหนดได้ง่าย กำหนดได้เบาสบาย กำหนดได้อย่างลงตัว ไปได้อย่างเรื่อย ๆ ไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย โดยเฉพาะความเมื่อยล้าต่าง ๆ ก็จะเป็นแต่วันแรก ๆ เราได้ผ่านตรงนั้นมาแล้วก็พยายามกำหนดให้ถี่ ๆ ใส่ใจให้เป็น วางใจให้เป็น อีกประเด็นหนึ่งก็คือการตามรู้ความคิด ซึ่งความคิดนี้ ถ้าเรามีสติ สติมีกำลัง จะเห็นความคิดได้ไวขึ้น ในวันแรก ๆ เรายังไม่เห็นความคิด คิดไปนานแล้วค่อยตามกำหนด แต่พอในปัจจุบัน ณ วันนี้เราจะเริ่มเห็นความคิดได้ไวขึ้น เมื่อเราเข้าไปกำหนด ไม่กี่คำความคิดก็หาย นับว่าเรามีความพัฒนาของสติได้ดีขึ้น สามารถที่จะรู้ความคิดได้ไว ถึงแม้ว่าจะตามหลัง แต่ก็ไม่มาก แต่ถ้าเราสติไม่ค่อยพัฒนา ก็จะตามหลัง คิดเกิดเมื่อไร เราก็จะคิดร่วมเมื่อนั้น คิดเกิดในใจ แล้วเราก็คิดร่วมไปยิ่งคิดก็เพลินไป นี้ต้องคอยระวัง ว่าเราไม่คิดร่วม ถ้าเราคิดร่วม เราก็ขาดสติ ถ้าเรากำหนด เราก็ได้สติ ความคิดนั้นเป็นอกุศล ถ้าเรากำหนดเราก็ได้กุศล ถ้าเราไม่กำหนดเราก็ได้อกุศล อกุศลนั้นก็ครอบงำเรา เราก็ได้สิ่งที่ไม่ดี เพราะฉะนั้นนำสิ่งที่ไม่ดีให้เป็นสิ่งที่ดี นำอกุศลให้เป็นกุศล เพราะฉะนั้นอุปกรณ์ในขณะที่เราปฏิบัติ ที่เกิดขึ้นกับเรานี้ จะเป็นอุปกรณ์ที่ดี ถ้าเราไม่มีความคิด การง่วงก็จะเกิดง่าย เพราะฉะนั้นความคิดนี้ก็ดีกว่า แต่ไม่ใช่ดีแท้ ถ้าดีแท้ก็คือไม่คิดเลย จะไปสู่ความไม่คิดก็ต้องบริกรรมบ่อย ๆ สำรวมตา เก็บสายตา กำหนดอิริยาบถใหญ่ อิริยาบถย่อยให้ต่อเนื่องกัน เราจะเข้าไปสู่ความไม่คิด จิตจะอยู่กับอารมณ์กรรมฐานอย่างแนบแน่นที่เป็นปัจจุบันจริง ๆ ฉะนั้น ถ้าเราคิด พระอาจารย์บอกว่าดีกว่าก็ตรงที่เราสามารถกำหนดได้ตลอดบัลลังก์แห่งการนั่ง ถ้าเราไม่ค่อยคิด กำหนดพองยุบก็ไม่ได้ นั่งหนอก็กำหนดไม่ถูก ความง่วงก็จะเข้าครอบงำ อาตมาขึ้นมาดูโยคีนี่ ต้องไปบอกหลายคนว่าให้ยืดตัวให้ตรง การนั่งนั้นเราต้องรักษาระเบียบของการนั่ง ต้องนั่งตรงอยู่เสมอ ถ้าเราย่อตัวลงไป เราต้องรีบยืดตัวทันที ถ้าย่อตัวลงไป นิวรณ์แทรกทันที ถีนมิทธะรอครอบงำเราอยู่ การนั่งนี่เราต้องนั่งตรง บางคนนั่ง ๆ ก็เอนลงไป เอนลงไป ถามว่าเอนลงไปทำไม ก็บอกว่ากำหนดเวทนา แล้วก็เพ่งลงไป ตัวก็เลยก้มลงไป ก็ให้เรานั้นถอนขึ้นมา แล้วก็นั่งตรง กำหนดนั่งหนอ ถูกหนอ หรือถ้าอาการพองยุบนี่ ถ้าเรากำหนดพองยุบไปประมาณสักสิบห้านาที เราจะรู้สึกว่าพองยุบนี้ชัดเจน แต่พอผ่านไป พองยุบนี้จะไม่ชัดเจน เราจะกำหนดอะไรต่อไป พระอาจารย์ก็แนะนำว่า ให้เรากำหนด นั่งหนอ ถูกหนอ ถ้าเราเข้าไปเพ่งต่อไป ไม่ชัดเจน เราก็เกิดอาการถูกครอบงำโดยถีนมิทธะได้โดยง่าย เพราะฉะนั้นให้เราสลับมาที่นั่งหนอ ถูกหนอ แล้วก็ย้ายจุดไป อย่าไปคาดหวังว่าเราจะต้องกำหนดพองยุบให้ได้ชัด เพื่อที่จะไปรายงานพระอาจารย์ อันนี้เรายังเข้าใจไม่ถูก โดยอารมณ์กรรมฐานจริง ๆ ไม่มีอารมณ์ใดที่เที่ยงแท้ มั่นคง และถาวร เราจะเห็นว่าพองยุบที่เราดูในวันแรก ๆ พองก็เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ยุบก็ไม่คงที่ เพราะฉะนั้นเรามาดูความไม่คงที่ ความที่เขาไม่ได้มีตลอด มีบ้างไม่มีบ้าง เราอยากให้เขามีตลอด เราก็ทุกข์ มีปฏิฆะ ไม่ชอบใจ เกิดโลภะ โทสะในขณะนั้น แทนที่จะเจริญกุศล ก็เกิดอกุศล แล้วอกุศลนั้นก็ครอบงำเราตลอดเวลา เพราะฉะนั้นก็ให้เราวางใจ เขามีก็รู้ไป ไม่มีก็ไปดูนั่งหนอ ถูกหนอ ถ้าดูนั่งหนอ ถูกหนอแล้วไม่ชอบ ก็ไปดูความเบื่อของจิต อาการทางจิตนี้สำคัญ ถ้าเราไม่กำหนด อาการ นั้นก็จะทำให้เราลุกขึ้นแล้วก็ไม่ปฏิบัติ เกิดความฟุ้งซ่าน เกิดความท้อแท้เบื่อหน่ายต่าง ๆ ตามมา เพราะฉะนั้นการกำหนดอารมณ์ เราต้องกำหนดให้ถูก โดยเฉพาะอีกอย่างหนึ่งก็คือ เวทนา เวทนานี้ หลายท่านได้ยินมาว่า ถ้าเราปฏิบัติไปแล้วจะผ่านเวทนา หลายท่านเข้าใจผิดอีกแล้ว พระอาจารย์จะเน้นมากเลยว่า การปฏิบัติเราต้องพิจารณาเวทนาอยู่ทุกขณะ โดยเฉพาะเวทนาในเบื้องต้น เรียกว่า ทุกขเวทนา หรือว่าทุกขะทุกข์ ทุกข์ในสภาพที่บีบคั้น ทนได้ยาก ทุกข์ก็เป็นลักษณะหนึ่งของอริยสัจสี่ พระพุทธเจ้าได้สอนพระสาวกให้พิจารณาทุกข์ เมื่อเราพิจารณาทุกข์อยู่เนือง ๆ ก็สามารถที่จะละทุกข์เสียได้ แต่ไม่ให้ดูสุขก่อน เพราะสุขทำให้คนติด แต่ทุกข์ทำให้หลุดพ้น ถ้าเรามีทุกข์ พระอาจารย์จะบอกว่าเราน่ะโชคดี ถ้าทุกข์ตั้งแต่ต้นบัลลังก์ยิ่งโชคดีมาก ๆ ดูทุกข์ทั้งบัลลังก์เลย ก็ให้เราภูมิใจเถิด ว่าเรานี้โชคดีมาก ก็ให้ภูมิใจไว้เลย ไม่ต้องไปถามว่าคนนั้นโชคดีกว่า ไม่ต้องแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเราดูทุกข์เวทนา ความฟุ้งซ่านก็จะไม่มี ความทุกข์ก็จะไม่มี เราจะเห็นสภาพความเป็นจริงที่บีบคั้น ทนได้ยาก ทุกข์นั้นเกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่ ทุกข์ดับไป นอกจากทุกข์แล้ว อะไรก็ตั้งอยู่ไม่ได้ ถ้าเราไม่พิจารณาแล้วก็ติดในทุกข์และสุข ติดทุกข์ก็คืออยากให้หมด ติดสุขก็คือว่าอยากให้มี แต่สุขและทุกข์ก็อาศัยปัจจัยให้เกิด เมื่อปัจจัยหมดจึงดับไป เมื่อสุขเกิดเพราะปัจจัยมี เมื่อปัจจัยหมดทุกข์ก็เกิด สุขและทุกข์นั้นคู่กัน เปลี่ยนไปอยู่อย่างนี้ ถ้าเราไม่พิจารณา เราก็ยึดติด และไม่ถูกต้อง การกำหนดอาการทุกข์นั้น โดยอย่าไปกำหนดโดยการจี้เกินไป ยิ่งจี้ยิ่งแรง เพราะฉะนั้นอย่าไปจี้ พระอาจารย์ให้กำหนดห่าง ๆ ถ้าเขาเป็นมาก ๆ ก็ให้เราดูเฉย ๆ พอเราดูเฉย ๆ ก็จะคลายลง ให้เรากำหนดตามต่อไป เราก็จะเห็นว่าเขาเปลี่ยนหายไป แล้วก็เกิดที่ใหม่ ถ้าเราเฝ้าดูได้ตลอด เราก็วางใจเป็นแล้ว ถ้าอยากให้หาย ก็ชื่อว่าวางใจไม่เป็น กำหนดทุกข์ให้หายไป ไม่พอใจในทุกข์ อยากให้ได้รับความสุขอย่างเดียว เพราะฉะนั้น การกำหนดในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน สิ่งที่พระอาจารย์เน้นมากก็คือว่า ต้องวางใจก่อน ไม่ใช่ทำเพื่อความมี ความเป็น ไม่ใช่ทำเพื่ออย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ใช่เดินจงกรมเพื่อที่จะให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ใช่เดินเพื่ออย่างนั้นอย่างนี้ แต่เดินเพื่อเข้าไปรู้อารมณ์กรรมฐาน ซึ่งเป็นอารมณ์ปัจจุบัน นั่งก็เพื่อรับรู้ปัจจุบัน เพื่อรับรู้ความคิด เวทนาตามลำดับ อย่าไปนั่งนึกว่าเวทนาจะเกิดอย่างไร บัลลังก์นี้เราจะตั้งรับเขาอย่างไร เตรียมกำลังมาเต็มที่ ก็ไม่ถูกอีก ให้วางใจกลาง ๆ อะไรจะเกิดก็เกิด อะไรไม่มีก็ไม่ต้องไปแสวงหา อย่างนี้เราชื่อว่าเรามารับความสุข ความทุกข์ได้ เรามาละตัณหา ละความทะยานอยาก กามตัณหา ความยินดีในกามคุณ ภวตัณหา ความอยากมีอยากเป็น วิภวตัณหาก็คือความไม่อยากมีไม่อยากเป็น เพราะฉะนั้นเรามาสำรอกตัณหา เรามาคลายตัณหา ไม่ใช่มาเพิ่ม ต้องเอาไปให้ถูก ต้องมาละ ละไม่ได้ ก็เอาไปไม่ถูก ให้มาละอกุศลก่อน จะได้กุศลกลับไป แต่ถ้ามาเพิ่มอกุศล กุศลจะมาตอนไหน อกุศลก็ติดตามเราไป เราต้องวางใจให้ถูก ทำความเข้าใจให้เป็น ปฏิบัติเพื่อเห็นสภาพธรรมตรงนั้น ความเป็นจริงของรูป ความเป็นจริงของเวทนา ความเป็นจริงของจิต และความเป็นจริงของธรรมารมณ์ที่เกิดขึ้นให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นกุศล หรืออกุศลก็ตาม เพราะฉะนั้นในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้น พระอาจารย์ก็พยายามทำหน้าที่ของพระอาจารย์ให้เต็มที่ ส่วนบรรดาโยคีก็ทำหน้าที่ของตนเอง พยายามตั้งใจฟังและนำไปประพฤติปฏิบัติ เราก็จะไปสู่จุดหมายของการปฏิบัติอันเป็นจุดหมายสูงสุดของพระศาสนา
    เพราะ ฉะนั้นในโอกาสที่อาตมาได้มาบรรยายธรรม ก็คิดว่าคงเป็นประโยชน์ต่อพระโยคาวจร ไม่มากก็น้อย ก็ขอให้ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้พัฒนา ก้าวหน้าในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน มีความเจริญในสติ สมาธิ ปัญญา มีความพัฒนาไปสู่อริยมรรค อริยผล ตรัสรู้ไปสู่พระนิพพาน โดยทั่วหน้ากันทุกท่านเทอญฯ

    คุณรัตชลัน จันทร์เลิศฟ้า ถอดเทปคำบรรยาย



    ขอ โอกาสต่อพระโยคาวจร และขอเจริญพรไปยังโยคีผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม ผู้แสวงหาธรรมตามความเป็นจริงทุกท่าน ขออนุโมทนาเป็นกรณีพิเศษแก่บรรดาพระโยคาวจรทั้งหลาย ที่ได้มีความพากเพียร วิริยะ อุตสาหะ ตั้งใจประพฤติปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ตามที่คณะวิปัสสนาจารย์ได้แนะนำตั้งแต่วันเริ่มโครงการจนถึงวันนี้ โดยสังเกตทั่วไป บรรดาโยคีได้มีการประพฤติปฏิบัติที่ช้าลง เป็นที่น่าพอใจ แต่ ว่ายังจะต้องปรับปรุงแก้ไข และเสริมในสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่บรรดาท่านทั้งหลายนั้นอาจจะยังบกพร่อง ฉะนั้นเป็นหน้าที่ของพระอาจารย์ทุกรูปต้องให้คำแนะนำ ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของการทำวิปัสสนากรรมฐาน ว่าทำไมเราจะต้องทำวิปัสสนากรรมฐานโดยลักษณะที่ต้องช้ามาก ๆ หรือต้องเข้ากำหนดรู้แต่ละอาการ โดยเฉพาะเทคนิคการปฏิบัติวิปัสสนานั้น ที่พระอาจารย์ได้แนะนำว่าทำไมจะต้องทำอย่างนี้ ทำไมไม่ให้ทำอย่างที่เราเคยทำ นี้ก็เป็นประเด็นสำคัญที่พระอาจารย์ได้ทำหน้าที่อธิบายในแต่ละวัน โดยเฉพาะในการที่ได้สอบอารมณ์ ซึ่งโยคีบางท่านก็ยังไม่เข้าใจ หรือยังอาจจะเคยติดกับการปฏิบัติที่ตนเองได้คุ้นเคย หรือตนเองได้ไปปฏิบัติมาในที่ต่าง ๆ อันนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ประเด็นที่พระอาจารย์ทั้งหลายที่สอนนี้ ต้องการเน้นถึงประโยชน์หรือว่าสภาวธรรมที่เราเข้าไปเห็น เพราะฉะนั้นอยากให้พวกเราทั้งหลายประพฤติปฏิบัติตามวิธีที่พระอาจารย์แนะนำ เราจะได้ผลของการทำจริง ๆ เพราะฉะนั้นในการที่เราได้มีโอกาสมาประพฤติปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานในโอกาส ที่สำนักปฏินิสสัคโคแห่งนี้ ถึงว่าเป็นโชค เป็นลาภอันดี อันประเสริฐ ที่เราได้สละเวลาที่ทำงานหน้าที่ต่าง ๆ เราเป็นผู้ประกอบด้วยปัญญา ละการงานที่เราได้ทำนั้นระยะเวลาหนึ่ง มาประพฤติปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานซึ่งถือว่าเป็นบุญกุศลอันสูงสุด ในพระพุทธศาสนา เพราะว่าคำว่าบุญนี้ เป็นเหตุนำมาเพื่อความสุข ในชีวิตของเรา ไม่มีการสร้างบุญกุศลอย่างที่ได้กล่าวในวันก่อน ๆ แม้สิ่งที่เรามี ก็ไม่อาจให้ความสุขแก่เราได้อย่างแท้จริง เพราะฉะนั้น ในหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา จึงเน้นให้พุทธบริษัทนั้นสั่งสมบุญกุศลอยู่เป็นประจำ บุญกุศลนั้นแม้เพียงเล็กน้อย ถ้าเราสั่งสมบ่อย ๆ บุญกุศลนั้นก็มีมากขึ้น และในทางกลับกัน พระพุทธองค์ก็ไม่ให้เรานั้น สั่งสมบาป ซึ่งเป็นอกุศล เพราะบาปนั้นนำมาซึ่งความทุกข์ บุญนั้นเป็นเหตุนำมาเพื่อความสุข พระพุทธองค์ได้กล่าวกับภิกษุ พุทธบริษัทว่า “ท่าน ทั้งหลายนั้นอย่าได้กลัวต่อบุญเลย เพราะคำว่าบุญนั้นเป็นเหตุนำมาเพื่อความสุข ถ้าบุคคลใดต้องการความสุข บุคคลนั้นก็ควรที่จะบำเพ็ญบุญ บุคคลใดต้องการความสุข แต่บำเพ็ญไม่ถูก กลับไปบำเพ็ญบาป หรือบำเพ็ญอกุศล คนนั้นก็ชื่อว่าเป็นการสร้างผลของการที่ทำให้ตัวเองเดือดร้อน เพราะบาปเป็นชื่อของความเดือดร้อน ส่วนบุญเป็นชื่อของความสุข ในพระพุทธศาสนา แสดงเหตุของบุญไว้ก็คือการให้ทาน รักษาศีลและการเจริญภาวนา ในบุญกิริยาวัตถุทั้งสามประการ เมื่อเราได้ทำ หรือว่าได้ประกอบการให้ทาน เราก็ได้รับหลังจากที่เราได้ให้แล้ว เราก็มีความสุข มีความยินดี เราก็ได้บุญกุศล ที่ส่งให้เราในขณะนั้น แม้การรักษาศีล เราสมาทานทุกวันก็ชื่อว่าเรา พอมีบุญกุศลในการสมาทาน เรียกว่ามีเจตนา ถ้าเราไม่สมาทาน บุญก็ไม่เกิด โดยเฉพาะการภาวนา ในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน นี้ก็เป็นไปเพื่อการหลุดพ้น จากสังสารวัฏ ในบุญทั้งสามประการ ถ้าเราจะต้องเวียนว่ายตายเกิดในภพชาติต่อ ๆ ไป บุญก็จะเป็นปัจจัยให้เราไปเกิดในที่ ๆ ดี เช่นเกิดเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา มีสัมมาทิฏฐิ แต่ถ้าเราไม่ได้บำเพ็ญบุญในสามประการนี้ ถ้าเราไปเกิดเป็นมนุษย์ ก็เป็นผู้ที่ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ และถ้าเราเป็นผู้ทุศีล การที่ประกอบไปด้วยการทุศีล นั่นก็เป็นเหตุให้ไปเกิดในอบาย ทุคติวินิบาตนรก เพราะฉะนั้นการเกิดของแต่ละคนนั้นมีความผิดแผกแตกต่างกัน เพราะแต่ละคนต่างก็บำเพ็ญมาต่างกัน คำว่าบุญก็คือการทำความดี ละเว้นจากการทำชั่ว คำว่าบาปก็คือการประกอบกรรมชั่วต่าง ๆ ถ้าจะรวมลงไปก็คือ การที่เป็นผู้ยินดีในการฆ่าสัตว์อยู่เนือง ๆ ยินดีในการฆ่าด้วย สรรเสริญในการฆ่าด้วย หรือว่าใช้ให้ผู้อื่นฆ่าด้วย ก็ได้ชื่อว่าเป็นการทำบาปอยู่เนือง ๆ ยินดีในการที่จะลักทรัพย์ของผู้อื่น ใช้ให้ผู้อื่นลักทรัพย์ สรรเสริญการลักทรัพย์ นี้ก็เป็นเหตุให้ไปสู่ความทุกข์ในชาตินี้ และความทุกข์ในชาติหน้า ก็คือต้องตกไปสู่อบาย ตกไปสู่นรก เป็นผู้ที่หาความสุขความเจริญไม่ได้ เป็นผู้ที่ประกอบการผิดศีล ผิดข้อกาเม ผิดประเวณี ตนเองกระทำเองด้วย สรรเสริญให้คนอื่นทำด้วย ชักชวนให้คนอื่นทำด้วย อย่างนี้ มีการพูดเท็จ สรรเสริญการพูดเท็จ ชักชวนให้ผู้อื่นพูดเท็จ ก็เป็นไปด้วยบาป อกุศลต่าง ๆ เพราะฉะนั้นหลักธรรมของพระพุทธเจ้า สอนให้เราบำเพ็ญเรื่องของบุญกุศล อย่างน้อยให้เรามีศีล ศีลนี้เป็นที่พึ่งของเรา ตราบเท่าที่ยังมีชีวิตอยู่ บุคคลเมื่อรักษาศีล ศีลก็รักษาบุคคลนั้น และในทางเดียวกัน บุคคลผู้ปฏิบัติธรรม ธรรมก็รักษาบุคคลนั้น มิใช้ตกไปสู่ในโลกที่ชั่ว แม้จะเป็นมนุษย์ ก็ไม่ทำให้บุคคลนั้นตกไปสู่ที่ไม่ดี ถ้าละจากมนุษย์ไปแล้ว ก็เป็นเหตุให้ไปสู่ในโลกสวรรค์ ถ้าบุคคลที่ไม่ปฏิบัติธรรม พระธรรมนั้นไม่รักษาบุคคลนั้นก็มีทุคติเป็นที่ไป ไปเกิดในอบาย ในที่ ๆ หาความเจริญไม่ได้ ดังที่ได้กล่าวมา เพราะฉะนั้นการที่เราได้สั่งสมบุญกุศลในแต่ละวัน โดยเฉพาะการที่เราเข้าอบรมปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนี้ เป็นการสั่งสมบุญบารมีให้เกิดขึ้น จะเห็นว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตาม พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ตาม หรือว่าพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็เป็นผู้ได้สั่งสมบุญกุศล อย่างที่ได้กล่าวมา ก็คือการให้ทาน การรักษาศีล การเจริญภาวนา การได้สดับตรับฟังธรรมของท่านผู้รู้ต่าง ๆ นี้ก็เป็นเหตุที่ท่านทั้งหลายเหล่านั้นได้สั่งสมแล้ว อย่างที่เป็นบารมี ก็คือ ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี เมตตาบารมี สัจจะบารมี อธิษฐานบารมี ขันติบารมี บารมีทั้งหลายเหล่านั้น พระอรหันต์ทั้งหลายก็ตาม พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายก็ตาม พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตาม เป็นผู้ที่ได้สั่งสมไว้แล้ว เราจะเห็นว่า หลังจากที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ และไปประกาศพระศาสนา ถ้าพระองค์ได้แสดงธรรมแก่ผู้ใด ผู้นั้นสามารถรู้ธรรมได้เร็ว นั่นก็หมายความว่า บุคคลนั้นได้สั่งสมบารมีมาเต็มรอบ หรือจะกล่าวได้ว่าเป็นผู้มีอินทรีย์แก่กล้า การที่จะมีอินทรีย์แก่กล้าได้ ก็ต้องสั่งสมตั้งแต่แต่ละชาติที่เกิด ถ้าเราได้ศึกษาคำสั่งสอนที่กว้างขวาง จะเห็นว่ามีพระสาวกรูปหนึ่ง คือพระโมคคัลลาน์ ผู้มีฤทธิ์ ได้ไปสู่สวรรค์ สู่นรก โดยอาศัยที่พระเถระนั้นมีฤทธิ์ สำแดงฤทธิ์ได้ก็ไปสวรรค์ เมื่อไปแล้ว ก็ไปพบบรรดาเทวดา เทพบุตรเทพธิดาต่าง ๆ พระโมคคัลลาน์ก็ได้ถามว่า ได้ทำบุญอย่างไร ถึงได้มาเกิดบนโลกสวรรค์ มีวิมานรุ่งเรือง บรรดานางเทพธิดา เทพบุตรก็ได้กล่าวว่า ตนเองเคยเป็นมนุษย์ เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือว่าภิกษุเดินมา ก็มีจิตเลื่อมใส แล้วตนเองก็ได้ถวายบิณฑบาตแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบ้าง แก่ภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์บ้าง ด้วยบุญกุศลนั้นเอง ก็ทำให้ตัวเองนั้นได้มาเกิดเป็นเทพบุตร เทพธิดา หรือว่าพระอรหันตสาวกที่เป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าในกาลก่อน เห็นพระภิกษุเดินมาบิณฑบาต ก็เกิดการเลื่อมใสศรัทธา แล้วก็ใส่บาตร ด้วยบุญกุศลนั้น ตั้งความปรารถนาไว้ ว่าถ้าพระเถระนั้นรู้ธรรมอันใด ก็ขอให้ตนนั้นได้รู้ธรรมนั้น ด้วยบุญกุศลนั้นก็ทำให้ไม่รู้จักทุคติ คือไปเกิดในสุคติ เป็นมนุษย์ เป็นเทวดา และสั่งสมปัญญา จนในชาติสุดท้าย ก็สามารถบรรลุคุณธรรมวิเศษ สามารถบรรลุธรรมจักษุ ทันพระพุทธศาสนา ได้ฟังธรรม อาจจะได้บวช หรือปฏิบัติตามสติปัฏฐาน และได้เป็นพระอรหันต์ในที่สุด ตัวอย่างที่อาตมาได้นำมากล่าวนี้ ก็เพื่อแสดงว่า สัตตบุรุษ หรือผู้บรรลุธรรมทั้งหลาย มีการสั่งสมบุญอยู่อย่างเนือง ๆ แต่ในทางกลับกัน คนที่ไม่รู้สัทธรรม ที่เป็นคนพาล ที่ไม่สั่งสมบุญกุศล ก็กลับมีชีวิตที่เปล่าประโยชน์ มีชีวิตที่ล่วงไปโดยไม่ได้สั่งสมบุญกุศลเลย พระพุทธเจ้าจึงได้กล่าวไว้ ว่าบุญที่เราทำไว้ดีแล้ว ย่อมคอยต้อนรับเรา ย่อมคอยนำมาซึ่งความสุข ความบันเทิงทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ถ้าเราทำบุญกุศลมาก ๆ ก็จะมีสีหน้าที่แจ่มใส มีจิตใจที่เริงรื่นเบิกบาน เพราะเต็มอิ่มด้วยบุญกุศลที่ตนเองนั้นได้กระทำ เพราะฉะนั้น บุญที่เราได้ทำแล้ว ย่อมคอยต้อนรับเรา ดุจญาติที่คอยต้อนรับญาติที่ออกจากบ้านไป บุญกุศลที่เราได้ทำนั้น ย่อมคอยสนับสนุนส่งเสริมให้เรานั้นมีความสุข เพราะฉะนั้นบุคคลที่ทำบุญ ที่เป็นบัณฑิต ย่อมไม่เต็มอิ่มด้วยบุญกุศล อุปมาเหมือนกันมหาสมุทร ย่อมไม่เต็มอิ่มด้วยน้ำ หรือว่าไฟไม่เต็มอิ่มด้วยเชื้อ บัณฑิตก็ไม่เต็มอิ่มด้วยบุญกุศลเช่นกัน บรรดาพระโยคาวจรทั้งหลายที่เคยประพฤติปฏิบัติก็ยินดีในการปฏิบัติยิ่ง ๆ ขึ้นไป แม้ว่าจะมาในคอร์สแต่ละคอร์สอาจจะไม่เต็ม 15 วัน ก็ยังหาโอกาสที่จะมา 7 วันบ้าง หรือว่า 8 วันบ้าง อาจจะมาในช่วงต้น หรือว่าอาจจะมาในช่วงกลาง นั่นก็หมายความว่าท่านนั้นเป็นผู้ประกอบด้วยปัญญาเป็นบัณฑิต สั่งสมบุญและก็ไม่ประมาท ถ้ากลับไป หลายท่านเริ่มที่จะถามว่าถ้ากลับไปนั้นจะต้องทำอย่างไร ซึ่งพระอาจารย์ก็ยังไม่อยากที่จะแนะนำ เพราะอยากที่จะให้บำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐาน ยิ่งขึ้นไป เราไม่ควรที่จะไปลังเลในอนาคต แต่ก็จะขอกล่าวในที่นี้ว่า กลับไปก็ขอให้เราหมั่นเจริญกุศล มีการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา มีการใส่บาตรพระ มีการสมาทานศีลห้าเป็นประจำ เป็นไปได้ขอให้เราเดินจงกรม นั่งสมาธิที่บ้าน เป็นการเจริญสติ ในชีวิตประจำวันของเรา เพราะถ้าชีวิตของเรานั้นปราศจากสติ ก็ชื่อว่า เป็นผู้ที่มีความประมาท บุคคลที่ประมาท พระพุทธเจ้ากล่าวว่า เหมือนกับคนที่ตายแล้ว แต่บุคคลที่ไม่ประมาทบุคคลนั้นได้ชื่อว่าไม่ตาย แม้จะละชีวิตไปแล้วจากโลกนี้ไป ก็เป็นผู้ที่ไม่ตาย มีสติไป ไม่หลงตาย แต่บุคคลที่ไม่เจริญสติ ก็หลงตาย เป็นผู้ประมาทในขณะที่มีชีวิตอยู่ เป็นผู้ที่ตายแล้ว หรือจะมีชีวิตอยู่ ก็เปรียบเหมือนผู้ที่ตายแล้ว ถ้าเราเป็นผู้มีสติ ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาทเป็นผู้ที่ไม่ตาย ฉะนั้นในธรรมของพระอริยเจ้าจึงสรรเสริญความไม่ประมาท บุคคลผู้มีปัญญา ไม่ประมาท ในคราวที่บุคคลประมาท บุคคลนั้นย่อมละทิ้งบุคคลผู้ประมาทเสีย ย่อมได้ประโยชน์อันยิ่ง อุปมาเหมือนกับม้าที่ฝีเท้าดี ละทิ้งม้าที่ฝีเท้าเลวไปได้ ฉะนั้นถ้าเราเป็นผู้ที่สั่งสมบุญกุศลบ่อย ๆ การพัฒนาชีวิตที่ดี การพัฒนาปัญญาที่เรากระทำอยู่ ก็จะเกิดขึ้นแก่เรา แต่ถ้าเราไม่เจริญอบรม เราก็ไม่ต่างอะไรกับม้าที่ฝีเท้าเลว จะไปไหนก็ช้า จะทำอะไรก็ไม่ทัน ถ้าจะพูดเรื่องการสั่งสมบุญกุศล ท่านอุปมาเหมือนกับบุคคลที่ในโลกนี้เป็นผู้ที่เกิดมามีทรัพย์ภายนอก แล้วไม่แสวงหาทรัพย์ภายใน บุคคลนั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ยากจนเพราะในธรรมะของพระพุทธเจ้านี้ ท่านอุปมาถึงทรัพย์อันประเสริฐก็คือปัญญา หรือทรัพย์ภายใน หรืออริยทรัพย์ บุคคลมีปัญญาแต่เพียงภายนอก แต่ไม่มีปัญญาในพระพุทธศาสนา บุคคลนั้นไม่มีปัญญาโดยแท้ บุคคลนั้นชื่อว่าไม่ใช่เป็นคนรวยแท้ บุคคลผู้ใดแม้จะไม่มีทรัพย์ภายนอก ไม่มีบ้านช่องอย่างที่คนทั้งหลายมี ไม่มีทรัพย์เงินทองที่จะจับจ่ายมากมายเหมือนคนที่เป็นเศรษฐีแต่ว่าบุคคลนั้น มีทรัพย์ภายในที่เต็มสมบูรณ์ บุคคลนั้นได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ร่ำรวย เป็นผู้ที่ไม่จน ฉะนั้นในธรรมของพระพุทธเจ้า จึงยกตัวอย่างบุคคลที่ไม่มีศรัทธาในกุศลธรรม ไม่มีศีลในกุศลธรรม ไม่มีหิริในกุศลธรรม ไม่มีโอตตัปปะในกุศลธรรม และไม่มีปัญญาในกุศลธรรม บุคคลนั้นได้ชื่อว่าเป็นคนจน บุคคลเมื่อไม่มีศรัทธา ไม่มีศีล ไม่มีหิริโอตตัปปะ บุคคลนั้นย่อมประพฤติทุจริตทางกาย วาจา ใจ ปกปิด บุคคลนั้นไม่มีทรัพย์เป็นคนจนแล้ว และไปประพฤติความชั่ว ความทุจริต บุคคลนั้นได้ชื่อว่าเป็นคนกู้หนี้ เสียดอกเบี้ย จะไปไหนก็ต้องถูกเจ้าของทรัพย์นั้นตามตัว จะไปในที่ใด ๆ ก็ตาม ถ้าเป็นพระศาสนานั้นก็ต้องถูกอุปมาเหมือนกับ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกานั้นถูกถามถึง เมื่อถูกถามถึงก็เป็นทุกข์ ไม่มีความสุข จะไปที่ป่าก็ตาม ที่โคนไม้ก็ตาม ที่เรือนว่างก็ตาม ก็ถูกถามถึง ถ้าในสุดท้ายแล้วพระพุทธเจ้าก็ทรงอุปมาว่า บุคคลที่กระทำทุจริตทางกาย วาจา ใจอยู่เนือง ๆ ถูกทวงถาม ด้วยอาศัยการปกปิด ถูกตามตัว จนสุดท้ายแล้วก็ต้องถูกจองจำ ก็หมายถึงว่าต้องถูกจองจำในทุกคติวินิบาตนรก ถ้าเปรียบกับคนทางโลกก็เหมือนบุคคลที่ไม่มีทรัพย์ ก็เรียกว่าคนจน ไม่มีทรัพย์ ก็เป็นทุกข์ เมื่อบุคคลนั้นไม่มีทรัพย์ ก็ไปกู้หนี้ยืมสินเขามา การกู้หนี้ยืมสินก็เป็นทุกข์ของคนจน การกู้หนี้เขามาแล้วก็ต้องเสียดอก การเสียดอกก็เป็นทุกข์ของคนจน เมื่อเป็นหนี้ก็ถูกทวง ถูกตามตัว ก็เป็นทุกข์ตามลำดับไป จนสุดท้าย เมื่อเขาเจอตัวแล้ว ไม่มีเงินจะให้เขา คนจนนั้นก็ต้องถูกจองจำ ถูกติดคุก ตามกฎหมายบ้านเมืองที่มีอยู่ เพราะฉะนั้นการถูกจองจำของบุคคลที่เป็นคนจนในทางโลก กับคนจนในทางธรรมนั้นก็จะแตกต่างกัน และการถูกจองจำของบุคคลที่เกิดมาในโลกนี้ก็คือสัตว์โลกทั้งหลาย ที่ถูกจองจำในสังสารวัฏเพราะเหตุที่ไม่ได้เจริญอบรมกาย ไม่ได้เจริญอบรมปัญญา ไม่ได้เจริญอบรมศีล ไม่ได้เจริญอบรมสมาธิ บุคคลนั้นก็ถูกจองจำในสังสารวัฏนั้นเรื่อยไป เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า สังสารวัฏของคนพาลนั้นย่อมยาวนาน แต่บัณฑิตนั้นย่อมปฏิบัติเพื่อตัดสังสารวัฏ เพื่อตัดภพชาติ ตัดชาติ ชรา มรณะ โศกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสต่าง ๆ ในบรรดาที่โยคีทั้งหลายได้มาประพฤติปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานก็ถือว่าเรานั้น ได้เจริญทรัพย์ภายใน ที่จะติดตามตัวไป ในบรรดาทรัพย์ทั้งหลาย ทรัพย์นั้นไม่ติดตามเราไป แต่ทรัพย์ที่เป็นศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ และปัญญา เรียกว่าอริยทรัพย์เจ็ดประการนี้จะติดตามเราไป และเป็นเหตุปัจจัยให้เรานั้นได้มีความสุขที่แท้จริง ในการที่เรามาปฏิบัตินี้ ถ้าเรามัวประมาท คือไม่มีการเอาใจใส่ในการปฏิบัติ หรือว่าใส่ใจน้อย เราก็จะไม่ได้อริยทรัพย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญญา ปัญญานี้ ท่านกล่าวว่าประเสริฐกว่าทรัพย์ทั้งหลาย ในบรรดาทรัพย์ที่มีอยู่ บุคคลที่มีทรัพย์ภายนอก การเจริญซึ่งโภคะภายนอกก็ไม่เท่าการเจริญปัญญา ในทางกลับกัน ถ้าบุคคลผู้เสื่อมจากโภคะ คือทรัพย์ภายนอก ก็ยังไม่เท่าบุคคลที่เสื่อมปัญญา บุคคลที่มียศ ก็ยังไม่เท่ากับบุคคลที่เจริญปัญญา แม้ในทางกลับกัน บุคคลผู้เสื่อมจากยศ ก็ไม่เท่าบุคคลผู้เสื่อมจากปัญญา เพราะฉะนั้น พระพุทธองค์ก็จะทรงเน้นให้พุทธบริษัทนั้นได้มีการสั่งสมปัญญา คำว่าปัญญานี้หมายถึงความรอบรู้ในกองสังขาร คำว่าปัญญาทั่วไป ที่เราได้ศึกษา ได้เล่าเรียน แต่ว่าปัญญาทางพระพุทธศาสนานี้ เป็นปัญญาที่รู้รูปธรรม นามธรรมและสามารถที่จะกำจัดกิเลส ซึ่งเป็นรากเหง้าของความทุกข์ เพราะฉะนั้นการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนี้ เราจะเน้นการเข้าไปตามรู้ ก็คือการเจริญปัญญา ถ้า เราไม่เข้าไปตามรู้ ก็เป็น อวิชชาหรือว่าโมหะ เพราะฉะนั้นขณะที่เรากำหนด จะเดินจงกรมอยู่ก็ตาม หรือว่าการนั่งดูที่อาการพองยุบของหน้าท้อง การกำหนดดูเวทนา ความรู้สึกทุกขเวทนา หรือกำหนดความคิด ในขณะนั้นชื่อว่าเราเข้าไปเจริญปัญญา หรือว่าเข้าไปกำหนดรู้ ในการที่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนี้ จะพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า การที่เรานั้นมาทำกิจในอริยสัจสี่ ซึ่งกิจในอริยสัจสี่ทั้งสี่ข้อก็คือ ข้อแรก หมายถึงทุกข์ ได้แก่ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ข้อที่สอง ได้แก่ สมุทัย สาเหตุของความทุกข์ ได้แก่ตัณหาสาม ข้อที่สามก็คือนิโรธ ได้แก่ ความดับทุกข์ สมุทัย ก็คือการทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน และข้อที่สี่หมายถึงมรรค ได้แก่ปฏิปทา หรือข้อปฏิบัติให้นำไปสู่นิพพาน คือนิโรธ จะเห็นได้ว่า กิจในอริยสัจสี่นี้ ทุกข์ต้องเข้าไปกำหนดรู้ การทำปริญญาในทุกข์ นี้เป็นหน้าที่ของพระโยคาวจร หรือว่าโยคี ทุกข์นั้นไม่สามารถที่จะไปทำอย่างอื่นได้ นอกจากกำหนดรู้ และสมุทัย กิจของสมุทัยก็คือต้องเข้าไปละ ตัณหานั้นต้องละ ตัณหานั้นเข้าไปทำอย่างอื่นไม่ได้ ส่วนนิโรธนั้นต้องทำให้แจ้ง ก็หมายถึงพระนิพพานนั้นต้องทำให้แจ้ง ข้อที่สี่ก็คือมรรค ต้องทำให้เกิดมี ก็คือภาวนา คำว่าทุกข์ ก็คือทำปริญญา คำว่า สมุทัย หมายถึงการเข้าไปประหาร การเข้าไปละ นิโรธก็คือการทำให้มี หมายถึงว่า สัจฉิกาตัพพันติ ทำให้เกิดมีขึ้น และมรรค หมายถึงภาเวตัพพะธรรม หมายถึงทำให้มีขึ้น นี้เป็นกิจในอริยสัจสี่ เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าการมปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนี้ จะเน้นก็คือการทำปริญญา หรือการทำปัญญาญาณให้เกิดขึ้น ถ้าเราไม่เข้าไปกำหนดรู้ ก็จะเกิดโมหะ หรือว่าเกิดอวิชชา แต่ถ้าเราเข้าไปกำหนดเมื่อไหร่ ญาณ ปัญญา วิชชาเกิดขึ้นทันที เข้าไปกำหนดรู้ทุกข์ ก็จะเห็นสภาพเป็นจริง
    มี โยคีหลายท่านที่ไม่กำหนดรู้ทุกข์ หรือว่ากำหนดแล้วทนไม่ได้ก็ขยับเขยื้อนหนี การขยับเขยื้อนหนีนั้น ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง เป็นการเปลี่ยนอิริยาบถ จะเห็นว่าอิริยาบถนี้ ปิดบังทุกข์มาตลอดเวลา ในชีวิตของเรานั้นจะมีทุกข์อยู่เสมอ แต่เรานั้นไม่ได้ไปตามรู้ เปลี่ยนอิริยาบถอยู่เสมอ ก็ปิดบัง ไม่สามารถทำให้เราเห็นตามความเป็นจริง นั่นก็คือ หมายความว่า เราไม่สามารถที่จะละสมุทัย และทำนิโรธให้แจ้งได้ ถ้าเราไม่กำหนดทุกขเวทนา ถ้าเราเข้าไปกำหนดรู้ ชื่อว่าเราไปทำปริญญาในขณะนั้น และเราก็สามารถที่จะเห็นสภาพตามความเป็นจริงของทุกขเวทนา สุขเวทนานี้พระอาจารย์ยังไม่ให้เข้าไปกำหนด เพราะว่ายังไม่เห็นชัด แต่ว่าในขณะที่มีสุขเวทนา พระอาจารย์จะให้กำหนดอาการพอง อาการยุบ หรือว่าอาการนั่งหนอ ถูกหนอ ไปเรื่อย ๆ ไม่ให้ไปกำหนดว่าสุขหนอ สุขหนอ ตั้งแต่ต้นบัลลังก์ เพราะการกำหนดอย่างนั้นยังไม่ใช่สุขอย่างแท้จริง หรือไม่ใช่อทุกขมสุขที่แท้จริง เรายังไม่สามารถเห็นเด่นชัด เพราะฉะนั้นในช่วงต้นของบัลลังก์ พระอาจารย์จะให้กำหนดนั่งหนอ ถูกหนอ เป็นอารมณ์เบื้องต้น และอารมณ์ที่สองเข้ามา เป็นความคิดก็ตาม หรือเป็นเวทนาก็ตาม ก็ให้ไปกำหนดอารมณ์นั้น โดยไม่ต้องไปใส่ใจอาการพองยุบ หรือว่าอาการนั่งหนอถูกหนออยู่ ถ้าเรามัวไปใส่ใจ อาการพองยุบ ถือว่าเราไปปิดบัง เลือกอารมณ์ หรือจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เราเอาอัตตาเข้าไปในธรรมที่เป็นอนัตตา เราก็ไม่เห็นอนัตตา กลับเห็นอัตตาอยู่ร่ำไป แยกแยะไม่ได้ ว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา หรือรูปกับนามนี้เป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นถ้าเราวางใจเฉย ๆ เราก็จะเห็นความเป็นอนัตตา โดยเฉพาะเวทนา จิตของเราที่เข้าไปรู้เวทนาก็สามารถแยกแยะได้ จิตที่เข้าไปรู้ก็เป็นอาการหนึ่ง เวทนานั้นก็เป็นอาการหนึ่ง ใหม่ ๆ เราจะเห็นว่าเวทนานั้นมีผลต่อเรา แต่พอเรากำหนดไปเรื่อย ๆ เวทนาก็จะไม่มีผล ความเจ็บปวดก็จะไม่มีผลต่อจิต ในขณะที่ใหม่ ๆ ถ้ามีความทุกข์ทางจิต ก็ให้กำหนดทุกข์หนอ ทุกข์หนอ เมื่อความทุกข์นั้นหายไป ก็ไปดูอาการทางกายต่อไป โดยลักษณะนี้เราก็สามารถที่จะพัฒนาสติและสมาธิต่อไป และเราก็สามารถ ที่จะแยกแยะได้โดยอำนาจของสติและสมาธิ ว่าจิตที่เข้าไปรู้เวทนา กับจิตที่เข้าไปรู้อาการของเวทนานั้นคนละอันกัน ญาณปัญญาก็จะเกิดขึ้นแก่เรา เพราะฉะนั้นการกำหนดเวทนานั้นมีผลมาก มีประโยชน์ต่อโยคี แต่โยคีมักไม่เข้าใจ ก็ไปขยับหนีเสีย หรือว่าโยกตัวไปมา เพื่อที่จะให้เวทนาหาย พระอาจารย์บอกว่าขยับเขยื้อนส่วนบนได้ โยคีก็ไปขยับเขยื้อนส่วนบน ทำแล้วรู้สึกว่าสบาย ความสบายนั้นก็ยังไม่ใช่จุดหมายของการปฏิบัติที่แท้จริง เราจะมีความสุขที่แท้จริงก็ต่อเมื่อเราละทุกข์ตรงนั้นได้ วางใจในทุกข์ได้ โดยอาศัยกำลังของสมาธิ เพราะฉะนั้นในเบื้องต้นพระอาจารย์จะแนะนำว่าให้โยคีอดทนเท่าที่จะอดทนได้ ถ้าทนไม่ไหวจริง ๆ ก็ให้หยุดบริกรรม ถ้าหยุดบริกรรมแล้ว สภาวะของทุกข์นั้นยังแรงอยู่ ยังชัดเจนอยู่ ไม่สามารถทนได้ ก็ให้เราลืมตาขึ้นแล้วลุกขึ้นไปเดินจงกรมจะดีกว่า การเดินจงกรมก็ไม่ใช่ว่าไปเดินให้หายเมื่อยเพียง ๑๐ นาที ๑๕ นาที แล้วกลับมานั่งอีก ก็ใช้ไม่ได้อีกเช่นกัน การเดินจงกรมก็ไปเดินให้ครบหนึ่งบัลลังก็อย่างที่พระอาจารย์ให้การบ้านไป ก็คือหนึ่งชั่วโมง ตอนนี้น่าจะหนึ่งชั่วโมง โยคีที่ไม่มีปัญหาเรื่องสุขภาพก็น่าจะทำได้ หลาย ๆ ท่านที่มีปัญหาทางสุขภาพก็ ๔๐ นาที หรือว่า ๔๕ นาที นี้ก็คือเหมาะแก่เรา การปฏิบัติที่เกื้อต่อเรา หรือว่าเป็นไปต่ออัตตภาพร่างกาย ถ้าเราไปฝืนตามที่พระอาจารย์แนะนำ หรือว่าตามที่เราอยากจะเดินเราก็จะเกิดความเมื่อยล้า ความทุกข์ ความท้อแท้ใจก็จะเกิดตามมา เราก็จะมีความเห็นผิดในเรื่องการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอีก เพราะฉะนั้นการทำที่เป็นไปด้วยความพอดี หรือมัชฌิมาปฏิปทา ไม่มากเกินไป และไม่น้อยเกินไป การเดินที่มากเกินไป ก็ทำให้การเจ็บปวดเกิดขึ้น การเดินที่น้อยเกินไป หรือย่อหย่อนเกินไป ก็ไม่พัฒนาญาณปัญญา หรือไม่พัฒนาสติ สมาธิ ปัญญา การปฏิบัติของเราก็จะไม่ได้ผล การกระทำที่เป็นไปโดยปานกลาง การทำความเพียรที่สม่ำเสมอ เดินจงกรมหนึ่งชั่วโมง ก็นั่งหนึ่งชั่วโมง หรือว่าหนึ่งชั่วโมงเศษ ๆ ที่เรานั่งได้ การสอบอารมณ์พระอาจารย์จะให้เทคนิคต่าง ๆ ให้โยคีนำกลับไปประพฤติปฏิบัติ อย่าไปทำเอง จะทำให้เราล่าช้าไป การที่คิดจะแก้ไขอารมณ์ต่าง ๆ เราไม่ควรที่จะแก้ไข โดยเวทนาก็ตาม พองยุบก็ตาม เราไม่ควรที่จะไปแก้ไขเขาอย่างใดอย่างหนึ่ง เรานั้นเป็นเพียงแต่คนดู หรือว่าเป็นโยคี หน้าที่กำหนดรู้เท่านั้น การที่สภาวะเขาปรากฏนั้นก็เป็นหน้าที่ของสภาวธรรม พระอาจารย์ก็ให้เทคนิค ว่าจะดูให้เป็นอย่างไร ให้เรามีการนั่งที่นานขึ้น ถ้าเราดูไม่เป็น กำหนดจี้เข้าไปในเวทนาก็รู้สึกว่า เวทนานั้นยิ่งแรงขึ้น การกำหนดแรง ๆ อาจจะมีโทสะ การไม่ชอบเวทนา เช่นว่าปวดหนอ ปวดหนอ ปวดหนอ อยากให้เขาหาย ก็อาจจะประกอบด้วยโทสะ หรือว่าโลภะ อยากให้เขาหาย เพราะฉะนั้นการกำหนดที่ปานกลาง ถ้าเวทนานั้นแรงอยู่แล้ว อาจารย์จะแนะนำให้กำหนดห่าง ๆ ไม่ต้องจี้ ถ้าเขาแรงมากก็ให้ดูเฉย ๆ อารมณ์กรรมฐาน การที่ต้องกำหนดอย่างจี้ หรือกำหนดอย่างใส่พลังเข้าไป เข้าไปก็คือความคิด และการง่วง กำหนดคิดหนอ คิดหนอ คิดหนอ ให้เรากำหนดถี่ และใส่ใจไปในอาการ ไม่ให้กำหนดสักแต่ว่าบริกรรม ถ้าเรากำหนดสักแต่ว่าบริกรรม เราก็ไม่ได้สติ สมาธิ ปัญญาเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นการกำหนดที่ตรงต่ออาการ และกำลังที่ส่งไป วิริยะที่พอประมาณ ถ้าวิริยะน้อยเกินไป คิดหนอ คิดหนอ คิดหนอ ห่าง ๆ อย่างนี้ ก็ไม่สามารถให้อาการนั้นหายไปได้ แต่ถ้าเรากำหนดอย่างมีกำลัง มีวิริยะที่พอประมาณ คิดหนอ คิดหนอ คิดหนอ กำลังของสติก็จะแหลมคม ก็สามารถที่จะกำหนดให้ความคิดนั้นหายไป ความฟุ้งซ่านก็จะน้อยลง ถ้าเราพัฒนาสติและสมาธิได้ดีขึ้น เราก็จะสามารถรู้ความคิดได้เร็ว และหายไว ถ้าเราปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่อง ไม่มีอาการรั่วเลย ความคิดฟุ้งซ่านก็ไม่มี น้อยลงมาก รู้ได้เร็ว หายเร็ว เพราะฉะนั้นการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนี้ ความตั้งใจ หรือความพากเพียรของโยคีในแต่ละวัน โยคีต้องทำความเข้าใจให้ถูกว่าพระอาจารย์ต้องการแนะนำอะไร โดยเฉพาะการเดินจงกรม พระอาจารย์ก็จะเพิ่มให้ตามแก่โยคีที่สามารถที่จะรับเทคนิคเพิ่มขึ้นไป ถ้าโยคีเก่าพระอาจารย์ก็จะเพิ่มให้ ส่วนโยคีใหม่พระอาจารย์ก็จะเพิ่มให้ ระยะสาม ระยะสี่เป็นอย่างมาก ส่วนระยะที่ห้า วันนี้ก็จะเริ่มเพิ่มให้ เพราะฉะนั้นการปฏิบัติเป็นไปโดย บางคนก็อาจจะต้องเดินระยะที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม ที่สี่ ไล่ขึ้นไป บางคนก็ไม่จำเป็นที่ต้องไล่ขึ้นไป พระอาจารย์ก็จะให้ระยะที่หนึ่ง ที่สาม ที่สี่ ที่ห้า ให้ตัดระยะสองบ้าง อาจจะเดินหนึ่งบ้าง สี่บ้าง การเดินจงกรมนี้ โยคีหลาย ๆ ท่านยังไม่เข้าใจว่า ที่พระอาจารย์ให้เข้าไปรับรู้อาการนั้น ให้เข้าไปรับรู้อะไร ไม่ใช่ให้เดินไปเรื่อย ๆ หรือว่าเดินตามที่เราได้เคยศึกษา ได้ยินได้ฟังมา มีหลายคนที่ยังเดิน เท้ายกสูง หรือว่าก้าวยาวเกินไป การยกเท้าสูง การก้าวเท้ายาวเกินไป จะทำให้เรานั้นไม่เห็นสภาวธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การก้าวเท้ายาวเกินไป จะทำให้เท้าอีกข้างยกขึ้นทันทีโดยที่เราไม่ได้เข้าไปกำหนดรู้ เพราะฉะนั้นการเดินจงกรมนี้ ตั้งแต่วันที่พระอาจารย์สาธิตให้ดู จากการสอบอารมณ์ พระอาจารย์ก็จะเดินให้ดูเช่นกัน การก้าวที่พอดีคือหนึ่งช่วงเท้า การลงของเท้าก็ลงทั้งเท้า ไม่ใช่ลงส้นเท้า หรือลงปลายเท้าก่อน ถ้าเราไปลงที่ส้นเท้า แล้วเน้นปลายเท้า ก็ไม่ถูกหลัก ไม่เห็นสภาวธรรม ในอาการลงของเท้า เราจะเห็นอาการของเท้าที่หน่วงลง เป็นสภาวธรรม ถ้าเราไปเดินลงปลายเท้า คือเราสร้างอาการ ลงหนอ ถูกหนอ กดหนอ เราจะไม่เห็นอะไร อาการย่างเท้าไป อาการย่างนั้นเป็นสภาวะที่เด่นชัด เราจะเห็นว่าเท้าที่ย่างไปนั้นประกอบด้วยลมที่ผลักดันเท้า หรือว่าเท้าที่แหวกลมหรืออากาศไป เป็นประสบการณ์พิเศษที่โยคีนั้นได้พบเห็น แต่ถ้าเราย่างเท้าไปเร็ว เราจะไม่เห็นสภาวธรรมตรงนี้ และถ้าเราย่างเท้าลงเท้า ลักษณะที่ปรกติ เราเอาส้นลงก่อน ย่างไปแล้วก็ลงลักษณะที่ไปมา แต่ที่จริง ให้เราย่างเท้าไปนิ่ง ๆ ตัวเราก็ต้องนิ่ง ไม่ใช่เดินแล้วตัวโยกตามไป นั่นเป็นอาการที่ไม่ถูกต้องนัก ควรที่จะแก้ไข ให้เรายืนตัวตรง ศีรษะตรง เหลือบตาลงต่ำ มองที่พื้น แต่ไม่ให้เพ่งที่พื้นเป็นจุดเดียว ยกส้นเท้าขึ้น ยกทั้งเท้าขึ้นมา เมื่อปลายเท้ายกขึ้นจากพื้นนิดหนึงก็พอแล้ว ไม่ต้องยกขึ้นมาสูง ในอาการยกส้นขึ้น ตั้งแต่แรกเริ่ม เราจะสามารถเห็นสภาวธรรมที่เป็นจริง เริ่มที่จะเห็นอาการหนัก อาการหน่วงของเท้า แม้จะเห็นอาการที่เป็นความสละสลวยของเท้าที่ยกขึ้นมา แม้ปลายเท้าที่ยกขึ้น ย่างไป จะเห็นลักษณะของรูป ที่เป็นลักษณะหนักเบา ลักษณะที่ที่สุขุม ลึกซึ้ง ที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน ถ้าเราเดินไม่ถูก เราจะไม่เห็นตรงนี้ พระอาจารย์จะให้เหตุผลกับโยคีอยู่เสมอ ว่าทำไมเราต้องทำอย่างนี้ ทำไมไม่ทำแบบนั้น การทำแบบนั้นก็ถูก แต่เป็นลักษณะการสอนอีกรูปแบบหนึ่ง ที่เราได้ยินได้ฟังมา แต่ของพระอาจารย์นี้ อยากจะให้โยคีเห็นสภาวธรรม การเห็นที่ประเสริฐ ก็คือการเห็นธรรม บุคคลที่มีชีวิตอยู่ ตั้งร้อยปี แต่ไม่เห็นสภาวธรรม ไม่เห็นธรรมะที่เกิดดับ บุคคลนั้นมีชีวิตที่ว่างเปล่า มีชีวิตที่เป็นโมฆะ แต่บุคคลใดที่ มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว แต่เห็นสภาพของกายที่เกิดดับ เห็นอาการทางกายที่เกิดดับ หรือว่าเห็นอาการของจิต เห็นอาการของธรรมก็ตาม บุคคลนั้นมีชีวิตที่ประเสริฐ ถ้าเราปฏิบัติไม่ถูก กำหนดไม่ตรงอาการ ก็ไม่ได้สภาวธรรม แต่กลับเห็นอะไร ก็ได้ความคิด เดินก็คิดฟุ้งซ่าน เดินไปคิดไป นั่งก็นั่งไปคิดไป คิดทีไรก็คิดต่อไป พระอาจารย์ก็บอกให้ระวังนะ ไม่ให้คิดต่อนะ คิดก็ให้กำหนดว่าคิด แต่คิดต่อไป เพราะเรานั้นเพลิดเพลินต่ออารมณ์นั้น ไม่มีสติที่มีกำลังที่จะเข้าไประงับความคิดได้ ถ้าเรากำหนดได้ตรงอาการ ความคิดนั้นก็จะน้อยลง ก็จะลดลง สติปรากฏ ก็จะเห็นธรรมที่เป็นจริง รู้ความคิดได้ไว หายไป ในการที่เราปฏิบัตินี้ การเดินจงกรม นั่งสมาธิ กำหนดอิริยาบถต่าง ๆ เน้นการเดินจงกรมอีก คือว่าการที่โยคีบางท่านอาจจะกำหนดไม่ได้ดีพอ พระอาจารย์จะให้กำหนดหลาย ๆ คำ เพื่อให้มีสติที่ดีขึ้น โดยเฉพาะโยคีที่ฟุ้งซ่านก็ตาม หรือว่าง่วงหงาวหาวนอนบ่อย ๆ พระอาจารย์ก็จะให้กำหนดขวาย่างหนอ ย่างหนอ ย่างหนอ หลาย ๆ คำ เพื่อให้จิตของเราแนบแน่นไปกับอาการของเท้าได้ดี เพราะฉะนั้น ไม่ง่วงก็อาจจะกำหนดธรรมดา ถ้าเรากำหนดมาก ๆ ไปก็อาจจะทำให้เรานั้นเกิดความเครียดหรือมึนตึงขึ้นมาได้ แต่ถ้าเรากำหนดแล้วได้แนบแน่นดี ไม่มีอาการอื่นมากระทบก็ให้กำหนดไป ระยะที่หนึ่งก็ให้กำหนดธรรมดา ระยะที่สามก็อาจจะละเอียดขึ้น โดยให้กำหนดยกหนอ ยกหนอ ยกหนอ หรือว่าย่างหนอ ย่างหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ เหยียบหนอ เหยียบหนอ ระยะที่สี่ก็ใส่ต้นจิต ก็ไม่ต้องถี่แต่ว่าอยากยกส้นหนอ ยกส้นหนอ อยากยกหนอ ยกหนอ อยากย่างหนอ ย่างหนอ อยากเหยียบหนอ เหยียบหนอ ถ้าเราไปใส่ถี่ด้วย ต้นจิตด้วย ก็อาจจะเครียดอีก มึนอีก รับไม่ไหว เราก็อาจจะเกิดอาการวิงเวียน เหล่านี้เป็นต้น พระอาจารย์ก็อาจจะบอกว่า กำหนดต้นจิตเพียงอยากยกส้นหนอไปก่อน เมื่อเราไม่มีอาการเวียนก็ใส่เพิ่ม อยากยกหนอ และอยากย่างหนอ อยากเหยียบหนอ ต่อไป การใส่ที่พอประมาณ การใส่ที่มากเกินไป โยคีก็ควรที่จะดูตัวเอง ถ้าการปฏิบัติแต่ละวันเป็นไปได้ดี ถ้าเราไปสอบอารมณ์แล้ว พระอาจารย์ให้เพิ่มเติม แต่พอเรามาทำแล้วไม่ไหว รู้สึกวิงเวียน ก็ให้เรากำหนดธรรมดาที่เราได้เคยทำ แต่ถ้าเราฝืนทำ กว่าจะไปสอบอารมณ์ใหม่ อาการก็จะเพิ่มขึ้น หรือบางทีพระอาจารย์ไม่ได้เดินขึ้นมาดู หรือว่าไม่ได้ผ่านมา เราก็ไม่ได้ถามใคร บทเรียนที่ให้ก็เพื่อให้ปฏิบัติ แต่ถ้าโยคีรับไม่ไหว หรือมากเกินไป พระอาจารย์ก็บอกให้เรากำหนดตามที่เราเคยทำ แต่สิ่งที่จะต้องทำก็คือการทำที่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอิริยาบถย่อย ให้เราเข้าไปกำหนดให้มากขึ้น หลายท่านก็ยังทำได้ช้า ได้ดี แต่ว่าไม่ต่อเนื่อง ก็ต้องให้แก้ไขตรงนี้ ต้องเข้าไปเอาใจใส่ในการทำให้มากขึ้นไป จะเห็นว่าเราสามารถพัฒนาการปฏิบัติมาจนถึงทุกวันนี้ก็ด้วยความที่เราตั้งใจ การตั้งใจของเราแต่ละที่ แต่ละขณะก็พัฒนาขึ้น ไปสู่การทำที่ละเอียดขึ้น แต่ยังไม่สมบูรณ์ทีเดียว เพราะฉะนั้นการที่เราจะเป็นโยคีสมบูรณ์ ก็ต้องอาศัยการทำซ้ำ ๆ การทำบ่อย ๆ และต้องอาศัยการฟังซ้ำ ๆ ฟังบ่อย ๆ เช่นกัน ฟังครั้งเดียวไม่ได้ ทำวันเดียวไม่ได้ ถึงวันนี้ก็ต้องอาศัยการเข้าไปกำหนดรู้ โดยเฉพาะอิริยาบถย่อย การจะเปิดปิดประตู การจะเปิดปิดไฟ การจะทำกิจส่วนตัว ดื่มน้ำ ทำกิจในห้อง โยคีบางท่านบอกว่าเข้าห้องก็ไม่ต้องกำหนดแล้ว ขาดการกำหนดแล้ว ขาดหน้าที่ตนเองนี้ก็ไม่ถูก เราควรที่จะรักษาความดีอยู่เสมอ ความดีนั้นท่านบอกว่าควรจะรักษาให้ต่อเนื่องอยู่เสมอ ความชั่วนั้นไม่ควรทำ ทั้งในที่ลับที่แจ้ง คือต่อหน้าคนทั้งหลายก็ไม่ควรทำความชั่ว ความดีต่อหน้าคนทั้งหลายก็ทำ ลับหลังคนทั้งหลายก็ทำ จึงจะเรียกว่าคนดี แต่ถ้าลับหลังแล้วเราไม่ทำ ก็ไม่ชื่อว่าเป็นคนดีแท้ แต่ที่นี้ให้เรานั้นพยายามทำ แต่ว่าอย่าไปปล่อย ถ้าเรากลับไปห้องแล้วเราไปปล่อย เราก็ขาดสติ เรามาเดินจงกรมอีก จิตก็ไม่แนบแน่น วิริยะในอาการเดินต้องมาก ต้องเพิ่มไปอีก เมื่อเรา ถ้าเรามีการทำที่ต่อเนื่องเท่าไหร่ การทำของเราจะดี ไปได้คล่องตัว มีกำลังที่เป็นภายใน คือกำลังศรัทธาที่เป็นภายในก็จะเกิดขึ้น กำลังวิริยะที่เป็นภายในก็จะไปได้เรื่อย ๆ โดยที่รู้สึกว่าทั้งวันไม่รู้สึกเหนื่อยเลย กำลังของสติเกิดขึ้น กำลังของสมาธิ ของปัญญาก็เป็นไปโดยลำดับ ถ้าเราทำโดยขาดช่วง ไม่ต่อเนื่อง กำลังต้องมารวบรวมใหม่ ต้องมาส่งแรงที่ไปในอิริยาบถ การเดินจงกรมใหม่ โดยเฉพาะอิริยาบถย่อยถ้าไม่ทำเลย ก็ไม่ต้องไปใส่ใจ ก็จะไม่เห็นอะไร อิริยาบถย่อยนี้พระอาจารย์จะเน้น คือการกราบอย่างช้า ๆ การกราบพระในศาลาปฏิบัติ ถึงวันนี้โยคีจะต้องกราบอย่างช้าที่สุด ไม่ทราบว่าเราพัฒนาได้ช้าแค่ไหน อาจจะ ๑๐ นาที ๑๕ นาที หรือ ๒๐ นาที ถ้าเราตั้งใจกราบ เป็นสติ สมาธิแนบแน่น สภาวธรรมก็จะเริ่มเห็น การก้มลงของกาย การเคลื่อนไหว เราหลับตาช้า ๆ รู้สึกว่าจิตนี้แนบแน่น จิตแทบไม่ได้คิดไปไหนเลย พอเราไปเดินจงกรมหลังจากที่กราบพระ ๑๕ นาที ๒๐ นาที ตัวเรานี้เบาสบาย จิตก็ไปสู่อารมณ์ได้อย่างแม่นยำ หมายความว่าสติของเราพัฒนาขึ้น สมาธิก็ดี ยิ่งทำสมาธิก็จะยิ่งดิ่งลึก การทำวิปัสสนากรรมฐานนี้เป็นขณิกสมาธิ สมาธิขณะหนึ่ง แต่ถ้าเราทำไปแล้วกำลังของสมาธิก็จะมากขึ้น เกือบถึงกับอุปจาระ เกือบถึงอัปปนาสมาธิ คือสมาธิที่แนบแน่น แต่ถ้าเราไม่กำหนด สมาธิก็จะไม่มีกำลังพอ อุปมาเหมือนกับคนที่ดูไปในน้ำที่ไม่ใสสะอาด ถ้าน้ำใสสะอาด เราสามารถที่จะมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในน้ำได้ ว่าในน้ำนั้นมีปลา มีสัตว์ มีเต่า มีหอย มีหินต่าง ๆ ที่เรามองไป แต่ถ้าน้ำนั้นขุ่น เราก็ไม่สามารถที่จะมองลงไปได้ฉันใด พระโยคาวจรก็เช่นกันถ้ากำลังของสติ สมาธิไม่มีกำลังพอ เราก็ไม่สามรถที่จะมองเห็นตัวเองได้ คือมองเห็นรูป นาม ที่มีความเป็นจริง คือมีการเกิดดับอยู่เนือง ๆ เราไม่สามารถที่จะกำจัดอกุศล คือกิเลส หรือกำจัดนิวรณ์ที่เป็นเครื่องกั้น จะเห็นว่านิวรณ์นี้เป็นเครื่องกั้นเรามาตั้งแต่วันแรกที่ปฏิบัติ จนมาถึงวันนี้ ถ้าเรากำหนดไม่ต่อเนื่อง หรือว่าไม่ใกล้ชิด กำหนดผิวเผิน สติก็ไม่พัฒนา กำหนดนิวรณ์ก็จะไม่หาย เพราะฉะนั้นที่เรากำหนดแต่ละขณะ เข้าไปกำจัดนิวรณ์ เข้าไปทำสติให้เกิดขึ้น กามฉันทะนิวรณ์ก็จะไม่เกิด พยาปาทนิวรณ์ ความปองร้อยก็จะไม่เกิด ถีนมิทธะ ความง่วง ความท้อแท้แห่งจิต อุททัจจะกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่าน ความรำคาญ ในอดีตในอนาคต วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยก็จะไม่เกิดขึ้น ถ้าเรากำหนดได้มากเท่าไหร่ ความใสของจิตก็เกิดได้มากขึ้น ภาษาธรรมะเรียกว่าจิตตวิสุทธิ ความบริสุทธิ์ของจิต สีลวิสุทธิเป็นเบื้องต้น จิตตวิสุทธิเป็นข้อที่สอง เมื่อจิตตวิสุทธิเกิดขึ้นแล้ว ทิฏฐิวิสุทธิก็หมายถึงความเห็นที่ถูกต้องก็ตามมา หมายถึงการเห็นสภาพความเป็นจริงของรูปนาม คือกายกับจิตนั่นเอง เพราะฉะนั้นในการปฏิบัติ ในอิริยาบถย่อยนี้เป็นเรื่องสำคัญที่โยคีทั้งหลายยังทำได้ยาก โยคีบางท่านบอกว่า พระอาจารย์ รู้สึกว่าการปฏิบัตินี้ยากจริง ๆ น่าจะง่ายกว่านี้หน่อย ถ้าเราทำเรื่อย ๆ เราจะไม่ได้อะไร ถ้าการปฏิบัตินี้ง่าย บรรดาสัตว์ในโลกนี้ก็ไปนิพพานกันง่าย เหตุว่าการทำยากนี้ พระพุทธเจ้าในคราที่พระองค์ตรัสรู้ใหม่ ๆ จึงเกิดความท้อพระทัย ว่าธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นี้มีความประณีต มีความละเอียด ยากที่บุคคลธรรมดา ที่ยังอยู่ในโลกจะรู้ตามได้ พระองค์ใช้ความพยายาม ใช้ความเพียรอยู่นาน กว่าจะได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณต้องสั่งสมบารมีอย่างยากลำบาก จึงยากที่จะมาสอนคนทั้งหลาย ต้องอาศัยท้าวสหัมบดีพรหม ที่ไปอาราธนา ว่าสัตว์ทั้งหลายมีอินทรีย์ที่แตกต่างกัน มีการสั่งสมมาต่างกัน บางคนรู้ธรรมได้ง่าย บางคนต้องขยายความ บางคนก็ต้องสาวเหตุ ขยายผล บางคนพูดแล้วไม่รู้เรื่องอะไรเลย คือ อุคติตัญญู รู้ธรรมโดยฉับพลัน วิปติตัญญู อธิบายความจึงเข้าใจ เนยยตัญญู ต้องตีความ ต้องขยายความให้แจ่มแจ้ง ส่วนปทปรมะ หมายถึงคนที่ไม่สามารถรู้ธรรม เพราะฉะนั้นถ้าเราเป็นคนที่ยังสามารถที่จะฟังแล้วเกิดศรัทธา ก็รู้ธรรมได้ แม้ว่าการปฏิบัตินั้นจะยากยิ่ง ถ้าเรามีความเพียร เราก็สามารถบรรลุธรรมได้ ธรรมะนี้เป็นธรรมของผู้มีความเพียร เป็นธรรมของผู้ที่มักน้อย สันโดษ เป็นธรรมของผู้มีสติ มีจิตตั้งมั่น และเป็นธรรมของผู้มีปัญญา ผู้ที่มีธรรมเหล่านี้ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญญา จึงจะทำได้ เพราะฉะนั้น ไม่ยากเลยสำหรับโยคีทั้งหลายที่จะทำต่อไป ถ้าเราไปว่าสิ่งนี้ยาก เราไม่ใช่บัณฑิตนะ คนพาลเท่านั้น ที่จะทำอะไรก็ว่าสิ่งนั้นยาก จะทำไอ้นั่นก็ยาก จะทำไอ้นี่ก็ยาก แต่เราเป็นผู้ประสบความสำเร็จในทางโลกแล้ว บางคนบอกว่า อาจารย์ โยมทำอะไรทางโลก สำเร็จหมดเลย แต่พอมาทำทางธรรม รู้สึกว่ายังไม่สำเร็จเลย รู้สึกว่ายากเหลือเกิน พระอาจารย์ก็ให้กำลังใจว่า ไม่มีอะไรยากหรอก ถ้าเราเพียรพยายาม แต่ถ้าเราไม่เพียรพยายาม สิ่งนั้นยากด้วย และก็ไม่ทำด้วย ไม่สำเร็จด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะได้มา ต้องอาศัยความเพียร เราต้องทำในสิ่งนั้น คนที่จะข้ามฝั่ง ก็ต้องอาศัยเรี่ยวแรงที่มีอยู่ ก็ต้องอาศัยเรี่ยวแรง คือพระธรรม ก็ต้องอาศัยการทำความเพียร ใช้มือและเท้าพายไปให้ถึงฝั่งโน้น เมื่อเราถึงฝั่งโน้น เราก็จะยินดีว่า เรามาด้วยเรี่ยวแรงของเรา ด้วยอาศัยพระธรรม ถ้าเรายังไม่ถึง เราก็ทำความเพียรต่อไป ถ้าเราเริ่มทำความเพียร เราก็จะมองเห็นฝั่งโน้น มองเห็นฝั่งนี้ว่ามีภัยเหลือเกิน ฝั่งโน้นเป็นดินแดนอันเกษม มีความสุข บางท่านอาจจะมองเห็นว่า อีกไม่กี่วันก็จะไปฝั่งเก่า พ้นจากการปฏิบัติแล้ว กลับฝั่งเดิมหรือเปล่า อันนี้ก็แล้วแต่บางท่าน แต่ว่าถ้าเราปฏิบัติไป ทำความเพียรเรื่อยไป เราก็จะไปถึงฝั่งพระนิพพาน การปฏิบัติก็ต้องทำเรื่อยไป กลับมาเน้นอีกอย่างหนึ่ง ก็คือการกำหนดอิริยาบถย่อย ในเรื่องการทานอาหาร ซึ่งโยคียังไม่กำหนด บางทียังไม่กำหนดในการทานอาหารที่จดจ่อ คือเราไม่ต้องไปรีบ การทานอาหาร เข้าไปกำหนดอิริยาบถย่อย เมื่อเราตักข้าวไปแล้ว ไปที่โต๊ะอาหาร ให้เรากำหนดมือที่จะไปจับโต๊ะ เก้าอี้ให้ช้า ๆ กำหนด ไปหนอ ๆ ให้ช้า ๆ รับรู้การรู้สึกตรงนั้น ไปหนอ ไปหนอ มา ดึงหนอ ดึงหนอ เสร็จแล้วก็ละหนอ เท้าที่ก้าวไป ก็ก้าวหนอ ก้าวหนอ หรือว่าขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ จิตที่อยากจะนั่ง ให้กำหนดนั่งหนอ นั่งหนอ ลงหนอ ลงหนอ ทำช้า ๆ เสร็จแล้ว กำหนดว่าเห็นหนอ เห็นหนอ อยากทานหนอ รู้ที่จิต ต่อจากนั้นเรากำหนดมือที่ไป ไปหนอ ไปหนอ ไปหนอ ถูกช้อนก็ถูกหนอ จับหนอ เราอาจจะไม่ต้องกำหนดว่าถึงหนอ ก็ได้ บางคนอาจจะกำหนดว่าถึงหนอ ตักหนอ มาหนอ มาหนอ มาหนอ จนถึงปาก ก็ถึงหนอ อันนี้ไม่ต้องไปใส่ก็ได้ ว่าถึงหนอ แต่ว่ามาหนอ มาหนอ อยากอ้าปาก ก็อ้าหนอ อ้าหนอ เสร็จแล้วก็ใส่หนอ ถ้าเราทำช้า เราจะเห็นต้นจิตได้ทุกอาการ มากขึ้น คือเห็นสภาพเป็นจริง จิตสั่ง แล้วกายทำ จิตเป็นเหตุ กายเป็นผล แต่ถ้าเราทำไม่ช้า หรือว่าช้าไม่พอ เราก็จะไม่สามารถเห็นต้นจิต แต่ถ้าเราเห็นบางตัว ก็ให้เราใส่ไป อาการปิดปาก กำหนดว่าอมหนอก็ได้ แล้วก็อาการดึงช้อนออก ดึงหนอ ลงหนอ ลงหนอ ลงหนอ จนวางช้อน เสร็จแล้วจึงเข้าไปเคี้ยวอาการ หลับตาแล้วเคี้ยวอาการ ทำความรู้สึกและรู้ในอาการนั้น ไม่ต้องไปรู้ว่าอาหารเป็นอะไร ไม่ต้องไปรู้ว่าเป็นฟัน ในเบื้องต้นเราอาจรู้ว่าเป็นฟัน เป็นลิ้นทำงาน พอทำไป เราก็สามารถที่จะรับรู้อากรเหล่านั้น และการทานอาหารของโยคีที่มีสติสัมปชัญญะ โยคีก็จะไม่รู้สึกว่ารสชาติอาหารนั้นเอร็ดอร่อย ยินดี ชอบใจ ไม่ชอบใจ แต่ถ้าเราไม่กำหนดอย่างนั้น เราจะมีความยินดี แล้วก็อยากที่จะหาอาหารที่มากกว่านั้น โยคีบางท่านไปสั่งอาหาร มื้อเช้า มื้อเพล ให้สั่งอาหารอย่างนี้ ๆ แสดงว่ายังติดในอาหารอยู่ แสดงว่ายังกำหนดอิริยาบถย่อยทานอาหารยังไม่ดี เพราะฉะนั้นพระอาจารย์อยากจะให้กำหนดจริง ๆ ถ้าเรากำหนดจริง ๆ เราไม่ต้องไปสั่งแม่ครัวเลยนะว่า มื้อนี้ขอเป็นอาหารอย่างนี้ ๆ ทางนี้เขาเรียกอะไร แกงไตปลาใช่ ไหม มื้อนี้ขอเป็นอะไรแต่ละอย่างที่เราไปสั่ง ไม่ถูก ถ้าเรากำหนดจิตของเรา อยากทานอะไร กำหนดจิตจนอาการอยากนั้นหายไป อาการที่เข้าไปทำก็ไม่มี อาการอยากก็ไม่มี แต่ถ้าเราไม่กำหนด เมื่อการอยาก อาการอยากเกิดขึ้น ก็จะแสวงหาทันที เมื่อไม่ได้มาก็เป็นทุกข์ เมื่อได้มาก็ฉลองกิเลส ฉลองตัณหา เป็นไปเพื่อโลภะ โทสะ ไม่ได้ก็ โทสะ ได้มาก็โลภะ ยึดติด การที่เราจะมาละ ก็กลับมาเพิ่ม ในธรรมวินัยของพระพุทธเจ้านี่เป็นไปเพื่อการขจัด เป็นไปเพื่อการกำจัดกิเลส บรรเทากิเลส เป็นไปเพื่อประหารกิเลส นี้เป็นกิเลสอย่างหยาบ ถ้าเราละไม่ได้ กิเลสอย่างละเอียดก็จะละไม่ได้ ถ้าเราละกิเลสอย่างหยาบได้ เราก็มีคติว่าจะละกิเลสอย่างละเอียดได้ เพราะฉะนั้นถ้าเรากำหนดอิริยาบถย่อยได้ดี อาตมาเชื่อว่า หลาย ๆ ท่านก็เริ่มทำได้ _ทาน ๆ ไปก็มีแต่อาการเคี้ยวอาการกลืน ตกถึงท้องก็รู้ ผ่านไปลำคอก็รู้ บางทียิ่งกำหนดละเอียด ยิ่งรู้สึกว่าจะทานข้าวไม่ได้ ยิ่งกำหนดละเอียดเท่าไหร่ ทานได้สามสี่คำ ก็อิ่มแล้ว ถ้าเป็นอย่างนั้นพระอาจารย์ก็จะให้กำหนดธรรมดาบ้าง เพื่อให้เรานั้นมีอาหาร มีกำลังที่จะทำความเพียร เพราะว่าถ้าเราไม่มีอาหาร ไม่มีกำลัง ก็ทำความเพียรไม่ได้ ยิ่งอาหารน้อย ท่านบอกว่าธาตุดินน้อย ธาตุลมก็จะกำเริบ เป็นลมวิงเวียน เดินไปไหนก็รู้สึกว่าจะล้มให้ได้ ก็ชื่อว่าเราไปลดอาหาร ก็ไม่ถูกเหมือนกัน เพราะฉะนั้นร่างกายนี้อาศัยปัจจัยคือ ข้าว น้ำ อาหาร ถ้าเราไปงดอาหาร ก็ไม่มีเรี่ยวแรงที่จะไปนิพพาน อาจจะอยู่แค่นี้ ในชาตินี้ แล้วก็ไปไหนต่อไม่รู้ เพราะฉะนั้นควรที่จะทานอย่างมีสติ ไม่ใช่เพื่อบำรุงบำเรอสังขารให้มีกำลัง กลัวจะไม่มีเรี่ยวแรง บางคนก็กลัวจะขาดสารอาหาร ก็ไม่ต้องไปคิด ไม่ต้องไปกลัวเรื่องปัญหาสุขภาพ การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนี้ ถ้าเราทำวิปัสสนาได้ถูกต้อง ชื่อว่าเรามาทำอัตภาพที่ดีให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะเมื่อจิตของเราบริสุทธิ์ผ่องใสจากกิเลสแล้ว กายก็จะผ่องใส คนที่เคยป่วยเป็นโรคเข่า โรคข้อ รู้สึกกายหนัก มาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานแล้วก็จะดีขึ้น กายเบา ไปเดินจงกรมได้หนึ่งบัลลังก์ รู้สึกว่าสบาย แต่บางครั้งขันธ์ห้าก็หนักเหลือเกิน เดินไปแทบจะไม่ไหว เดินไปรู้สึกว่าหนักมาก หนักเป็นกรณีพิเศษ ที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน นี่ก็เป็นเรื่องของการปฏิบัติ เพราะฉะนั้นในการมาปฏิบัตินี้ สิ่งที่ไม่จำเป็น พระอาจารย์ก็อยากแนะนำว่าเราไม่ควรที่จะสั่ง อาหารเราก็ไม่ควรที่จะไปสั่งเจ้าหน้าที่ แม่ครัวให้เขาทำ ควรที่จะปฏิบัติของเราไป อาหารอะไรที่มีเราก็ทานไป พระอาจารย์อาจจะเคยบอกว่า การทานอาหารเป็นไปเหมือนกับน้ำมันที่หยดเพลาล้อ ให้ล้อนั้นไปได้ หรือว่าเหมือนกับสามีภรรยาที่ไปในกลางทะเลทราย แล้วลูกตาย ก็ทานเนื้อของลูกนั้น การทานอาหารนั้นจะเกิดความอร่อยไหม ก็ไม่เกิดความอร่อย แต่ว่าทานเพื่อประทังชีวิต ให้มีกำลังที่จะเดินทางให้พ้นความทุรกันดารของทะเลทรายนั้นให้ไปได้ ชีวิตของพระโยคาวจรก็เช่นกัน ต้องการที่จะพ้นจากชาตินี้ไปสู่การที่ไม่มี ไม่สู่วัฏฏะ ไปสู่พระนิพพาน ด้วยอาศัยการทานที่พอดี ทุกขณะ ถ้าเราขาดสติเมื่อไหร่ อกุศล หรือว่ากิเลสครอบงำเรา แล้วเราก็ทำไปตามกิเลสนั้น เราก็ไม่ชื่อว่าเป็นการเจริญกุศลแท้ กลับเป็นไปให้อกุศลนั้นเจริญงอกงามไพบูลย์ ความเพียรของเรานี้ เพียรเพื่อละบาปอกุศล เพียรเพื่อทำกุศลให้เกิด เพียรเพื่อรักษากุศลที่มี ที่เกิดขึ้นแล้ว ให้อยู่ อกุศลก็หมดไป แต่ถ้าเราไม่มีความเพียรตรงนี้ อกุศลก็ครอบงำเรา เราก็ไม่ต่างกับการที่เรานั้นอยู่ที่บ้าน พระอาจารย์ก็อยากที่จะแนะนำให้โยคีทั้งหลายได้กำหนดในอิริยาบถต่าง ๆ ถ้าอกุศลเกิดเมื่อไหร่ ก็ให้กำหนดรู้ และโดยเฉพาะอารมณ์ทางจิต ตอนนี้จะเกิดแก่โยคีมาก ถ้าความท้อแท้ ความรำคาญ ความหดหู่เบื่อหน่ายเกิดขึ้น ให้เรากำหนดอาการตรงนั้น กำหนดจนหายไป ถ้าเราไม่กำหนด เราก็เป็นไปกับอาการนั้น เราก็ไม่สามารถปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานได้ตลอดวัน ฉะนั้นอกุศลเกิด ไม่ว่าจะเกิดทางกาย ทางจิต เราเอาอารมณ์เหล่านั้นให้เป็นกุศล ในขณะเดียวกัน ถ้าเราไม่กำหนด อกุศลเหล่านั้นก็จะครอบงำเราตลอดเวลา แต่ก็ไม่ได้ไม่มีสติ มองไม่เห็นประโยชน์ แม้พระอาจารย์จะบอกว่าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานแล้วมีประโยชน์อย่างนั้นอย่าง นี้ ทำให้ชีวิตเป็นสุข ทำให้กำจัดอาสวะได้ ทำให้มีสติสัมปชัญญะในแต่ละวัน เราก็มองไม่เห็น กลับเบื่อหน่าย เพราะฉะนั้นในช่วงระยะเวลาที่ยังมีอยู่ เราควรที่จะกำหนดอารมณ์ให้ตรงกับอาการ อย่าปล่อยให้ความท้อแท้หดหู่เกิดขึ้น อารมณ์ใดกำหนดแล้วเกิดรู้สึกเบื่อหน่าย ก็ให้กำหนดจิต ดูพองยุบมาก ๆ ก็รู้สึกเบื่อ ดูนั่งหนอ ถูกหนอมาก ๆ ก็รู้สึกเบื่อ แม้กระทั่งดูยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ ไม่มีอะไร ก็ไม่ต้องไปหาอะไร ก็ดูสิ่งที่เขาปรากฏนั่นแหละ นั่นเป็นสภาพธรรมที่ให้กำหนดรู้ เมื่อเราเข้าไปดูอย่างนี้เนือง ๆ จิตก็จะแนบแน่นเป็นสติปัฏฐาน คำว่าสติปัฏฐานแปลว่าสติที่แนบแน่น ระลึกไปในกาย รู้กายที่เป็นภายใน นี้เป็นสติปัฏฐาน เวทนาที่เป็นภายใน จิตที่เป็นภายใน ธรรมะที่เป็นภายใน เราก็จะเห็นได้ชัด แต่ถ้าเราไม่ส่งจิตภายใน การเห็นภายในก็ไม่เกิดขึ้น ก็เห็นผิวเผิน เห็นอาการของเท้าที่ผิวเผิน เห็นอาการของพองยุบที่ผิวเผิน เห็นอาการของทุกขเวทนาที่ผิวเผิน อย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้น ในการปฏิบัติที่เราได้ทำมาจนถึงวันนี้ พระอาจารย์ก็คิดว่า พระอาจารย์ก็ต้องทำหน้าที่ต่อไป ส่วนโยคีนั้นก็จะต้องทำหน้าที่ต่อไปเช่นเดียวกัน ด้วยอาศัยการแนะนำ การสอนของพระวิปัสสนาจารย์ ก็ขอให้โยคีจดจำ นำไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อที่จะได้พัฒนาซึ่ง สติ สมาธิ ปัญญา เจริญซึ่งอริยมรรค อริยผล
    อาตมา ก็ขออวยพรให้ท่านทั้งหลายจงเจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน บรรลุจุดหมายปลายทาง กล่าวคือได้บรรลุซึ่งพระนิพพาน โดยทั่วหน้ากันทุกท่านเทอญฯ

    คุณรัตชลัน จันทร์เลิศฟ้า ถอดเทปคำบรรยาย




    ที่มา
     

แชร์หน้านี้

Loading...