อุบายธรรมดับกิเลส รัก โลภ โกรธ หลง เพื่อพระนิพพาน โดย หลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย kengloveyou, 26 ตุลาคม 2014.

  1. kengloveyou

    kengloveyou เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    23 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    282
    ค่าพลัง:
    +2,077
    อุบายธรรมดับกิเลส รัก โลภ โกรธ หลง เพื่อพระนิพพาน โดย หลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง


    ทีนี้ถ้าหากใจเราผ่องใส คิดว่าพระนิพพานมีความสุข เกิดเป็นมนุษย์มันมีความทุกข์ เกิดเป็น
    เทวดาหรือพรหมก็ไม่พ้นจากความทุกข์ นี่ ถ้าอารมณ์คิดอย่างนี้เรียกว่าใจมันสบายใช้ได้ ใช้
    อุปสมานุสสติกรรมฐานได้ ว่าไอ้ มนุษย์มันก็ทุกข์ เป็นความสุขชั่วคราว คือ เมื่อหมดอำนาจ
    วาสนาบารมีก็ต้องกลับมาทุกข์ใหม่ เราก็ไม่เอา เราไปพระนิพพานดีกว่า


    แล้วการที่ไปพระนิพพานดีกว่ามันจะต้องคลำหาทางไปพระนิพพานได้อย่างไร ท่านบอกว่า
    ต้องตัดกิเลส ต้องขุดรากขุดเหง้าของกิเลสโยนทิ้งไป ขุดรากของความโลภ ขุดรากของความ
    โกรธ ขุดรากของความหลงทิ้งไปเสีย เมื่อทิ้งความโลภ ความโกรธ ความหลง ทั้ง ๓ ประการ
    หมดไปแล้วจะมีอะไรเหลือ เครื่องเชื่อมกิเลส ตัณหา อุปาทาน อกุศลกรรมไม่มี คือ จิตเกิด
    ความเบา กิเลสทั้งหมดดับ นิพพานแปลว่าดับ มันดับไปจริง ๆ ดับหมด เมื่อกิเลสดับหมด
    จิตมันก็มีความโปร่ง จิตมีความสบาย จิตเป็นอัปปนา จิตไม่กระทบกระทั่งทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว
    มันเต็มเสียแล้ว เข้าถึงพระนิพพาน


    เมื่อคิดอย่างนี้มันก็คิดได้ แต่ว่ายังก่อน คิดว่าเราจะตัดความโลภ ตัดความโกรธ ตัดความหลง แล้ว
    เอาอะไรมาตัด มานั่งคิด เราเอาทานเข้ามาตัดความโลภ ความโลภกับความรักมันตัวเดียวกัน
    เพราะเรารักเราจึงอยากได้ เพราะเรารักสิ่งนั้นสิ่งนี้เราจึงอยากได้ ตัวอยากได้น่ะคือตัวดึงเข้า ทีนี้
    เราต้องหาทางที่มันเป็นศัตรูกัน คือตัวดันออก ก็ได้แก่การให้ทานกันอยู่เป็นปกติ ความโลภมันจะ
    ค่อยลดน้อยลง และในที่สุดเราจะสังเกตได้ว่า โลภะที่มันจะปลดหมดไปได้ เพราะว่ากำลังใจของ
    เราไม่ติดในทรัพย์สินต่าง ๆ ได้ทรัพย์สินต่าง ๆ มาตามหน้าที่ ที่กล่าวว่าตามหน้าที่ หมายความว่า
    คนเราเกิดมาต้องทำมาหากิน จะเป็นพระเป็นเณร ก็ต้องอาศัยการอยู่ อาศัยการใช้สอยเหมือนกัน
    เมื่อได้ทรัพย์สินมาก็มีความพอใจในทรัพย์สินนั้น แต่ถึงแม้ว่าเราจะมีไว้ก็เพื่อยังอัตภาพให้เป็นไปเท่านั้น


    เราจะไม่มัวเมาในทรัพย์สินต่าง ๆ ถือว่าทรัพย์สินทั้งหลายเหล่านี้มีมาจากการหามาได้ เมื่อหามา
    ได้มันก็มีโอกาสที่จะหมดไปได้เหมือนกัน ถ้ามันไม่หมดไป ไม่สูญไปในสมัยที่เรามีชีวิตอยู่ เรา
    ตายแล้วเราก็ต้องจากมันไป หามาเกือบตายก็ไม่มีโอกาสได้เป็นเจ้าของจริงๆ เป็นอันว่าเราใช้
    อุเบกขา วางเฉย ถือว่าทรัพย์สินต่างๆ เมื่อได้มาก็ดีใจ ได้มาก็ใช้ได้ แต่ใช้ในขอบเขตของความจำ
    เป็น ถ้าบังเอิญมันหมดไปก็ไม่สะทกสะท้าน หรือว่าเราตายจากมันไปก็ไม่เป็นไร เพราะเป็นเรื่อง
    ธรรมดาใจไม่หวั่นไหว อย่างนี้เชื่อว่าโลภะ ความโลภสลายตัว นี่สังเกตได้จากการประสบพบลาภ
    สักการะ นอกจากนั้นก็มีจิตยินดีในการสงเคราะห์ เราให้ทานง่าย เราสงเคราะห์ง่าย ใครเขามีความ
    ทุกข์ความเดือดร้อน ถ้าไม่เกินวิสัยเราให้ได้ทันที และไม่มีการรีรอ มีจิตคิดอยู่เสมอตลอดกาล
    ตลอดสมัย หมายความว่าคิดให้อยู่เป็นปกติทุกลมหายใจเข้าออก เราพร้อมที่จะเสียสละเพื่อเป็น
    การสงเคราะห์ นี่แสดงว่าความโลภมันหมดไปจากใจ ต้องพิจารณาอย่างนี้นะ แต่ต้องระวังให้ดี มัน
    ต้องเป็นปกติ


    เมื่อตะกี้ว่าความโลภหมดไปแล้ว ถ้าจะถามว่าความโลภหมดไปแล้วจะรับทรัพย์สินมาทำไมเมื่อคน
    อื่นให้ ก็ต้องบอกว่าพระพุทธเจ้าเองท่านเป็นผู้หมดกิเลส หมดความโลภ มีคนถวายท่านก็ยังรับ
    เมื่อรับแล้วเราไม่เมา ไม่ติดในลาภสักการะ เมื่อมีสำหรับใช้ก็ใช้ไป เมื่อหมดแล้วก็แล้วกันไป ถือ
    ว่าเมื่อเราตายมันจะจากกันไป ก็จากกันไป ไม่มีความเสียดมเสียดาย ถือเป็นเรื่องธรรมดา แต่เวลา
    ทรงชีวิตอยู่ต้องระมัดระวังอย่าปล่อยรุ่มร่าม ตามพระวินัยจะเห็นว่าพระพุทธเจ้ามีความละเอียด
    อ่อนในการรักษาทรัพย์สินมาก นี่ไม่ใช่ว่าคนหมดโลภแล้วจะไม่เอาอะไรเลย ไม่ใช่อย่างนั้น เรา
    เขาให้ก็รับ แต่ใจมันไม่เกาะ มันไม่บ้าลาภ บ้ายศ บ้าสรรเสริญ บ้าสุข


    มาข้อที่ ๒ จะไปนิพพานนี่ อุปสมานุสสติทำอย่างไรตัดความโกรธ แต่ว่าความโลภตัดลงแล้วความ
    โกรธมันก็มีกำลังอ่อน กิเลส ๓ ตัวนี่ ลองตัวใดตัวหนึ่งพังลงไปสักตัวแล้ว อีก ๒ ตัวมันก็มีกำลัง
    อ่อนเต็มทีแล้ว ทำลายง่าย การทำลายความโกรธท่านให้ทำลายด้วยอำนาจพรหมวิหาร ๔ โดย
    เฉพาะอย่างยิ่งเมตตาจิต กรุณา เมตตาจิตแปลว่าความรัก กรุณาแปลว่าความสงสาร พอเห็นหน้า
    คนเห็นหน้าชาวบ้าน แทนที่จะเห็นว่าเป็นคนน่าเกลียด แทนที่จะเห็นเขาเป็นศัตรู กลับเห็นเป็นคนที่
    น่ารักน่าสงสาร ทั้งนี้เพราะว่าอะไร เพราะความน่ารักก็ได้แก่คนทุกคนที่มีความเกิด แก่ เจ็บ ตาย
    เหมือนกัน ถือว่าเป็นเพื่อนกัน ทีนี้ถ้าเราเห็นว่าเขามีความทุกข์ เราก็สงสาร ถ้าบังเอิญเขาทำความ
    ผิด ทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งให้เกิดขึ้น เป็นเหตุที่บางคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นที่ไม่ชอบใจ
    ของเราในอดีตกับเวลานี้ แทนที่เราจะโกรธกับสงสารเพราะว่าอะไร เพราะว่าการกระทำผิดของเขา
    เป็นการยั่วยุให้คนอื่นให้เกิดความเดือดร้อน นั่นมันเป็นอาการสร้างศัตรู สร้างความเดือดร้อนให้กับตัวเอง


    เขาทำอย่างนั้น เขาพูดอย่างนั้น คิดอย่างนั้น ความจริงจิตใจของเขาไม่มีความสุข เขาทำให้เรามี
    ความโกรธ แต่เรากลับมีความเมตตาปรานี คิดว่าไม่น่าเลยนะ อาการอย่างนี้มันเป็นอาการของ
    ความทุกข์ เป็นเหตุของความเร่าร้อน เขาไม่น่าโง่แบบนี้ ที่สร้างศัตรูให้เกิดกับตน มันเป็นอาการ
    ของความทุกข์อย่างหนึ่ง คนที่มีศัตรูมากจะกินก็ไม่ถนัด จะนอนก็ไม่ถนัด จะตื่นอยู่ก็ไม่วาย จะ
    ต้องระมัดระวังตัวอยู่ตลอดเวลา เพราะเกรงว่าจะมีคนมาทำอันตราย นี่เห็นคนอื่นทั้งหลายที่เขามี
    อารมณ์ผิด มีจริตคิดผิดไปอย่างนั้น แทนที่เราจะโกรธกลับมีความสงสาร มีความเมตตาปรานี แต่
    ทว่าถ้าเราหวังดีแล้วเขาไม่ยอมรับความหวังดีด้วยกับเรา ก็ทรงความอุเบกขา ความวางเฉยเข้าไว้
    อย่างนี้ ถ้าอารมณ์จิตปกติเป็นอย่างนี้ ไม่สามารถเข้าทำลายความโกรธได้ หรือว่าใช้พรหมวิหาร ๔
    ไม่ตรงกับอัธยาศัย สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ให้ใช้กสิณ ๔ อย่าง คือ กสิณสีแดง สีเขียว สี
    เหลือง สีขาว อย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้เป็นฌานสมาบัติ เพราะกสิณ ๔ ประการนี้ เป็นไปเพื่อการ
    ทำลายโทสะโดยเฉพาะให้หมดให้พินาศไป


    ในเมื่อเราใช้พรหมวิหารทั้ง ๔ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่งกดอารมณ์ของความโกรธหมดไปแล้ว ก็
    ใช้อารมณ์วิปัสสนาญาณ คือ สักกายทิฏฐิ พิจารณาเห็นว่าสภาพร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา
    เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา มันเป็นแต่เพียงธาตุ ๔ ที่เข้ามารวมกันเป็นเรือนร่างที่เรา
    อาศัย ชาวบ้านชาวเมืองก็เหมือนกัน สัตว์อื่นก็เหมือนกัน ทีนี้คนที่โกรธกันด่ากัน เขาไม่ได้ด่าใจนะ
    เขาด่าตัว เขาด่าธาตุ ๔ เขาด่าดินน้ำลมไฟ เขาไม่ได้ด่าเรา เพราะไอ้ตัวเราจริง ๆ นั่นคือจิต เขา
    มองไม่เห็น นี่เขาด่าธาตุ ๔ ก็ช่างเขาเป็นไร ในเมื่อเราไม่รับเสียอย่างเดียว คำด่าก็ตกอยู่กับเขา
    ความสบายใจเราก็เกิด อารมณ์จิตมันก็จะสบาย ก็คิดว่าคนเรามันจะต้องตายกันไปหมด จะไปนั่ง
    โกรธ นั่งคิดอาฆาตมาดร้ายกันเพื่อประโยชน์อะไร เราจะฆ่าเขาก็ตาย ไม่ฆ่าเขาก็ตาย เรา
    ประทุษร้ายเขา เขาก็มีความทุกข์ เราไม่ประทุษร้ายเขา เขาก็มีความทุกข์ ก็ปล่อยให้เขาทุกข์ของ
    เขาเอง เขาตายไปเองดีกว่า ไม่ต้องไปทำให้เหนื่อย ถ้าไปเจอะคนเขาทำไม่ดี เขายั่วยุด้วยประการ
    ต่าง ๆ ให้เราเกิดโทสะ เราก็ยิ้มได้ว่าคนประเภทนี้ไม่ใช่คนดี เป็นคนทำลายตัวเอง เป็นคนที่น่า
    สงสาร แทนที่จะเป็นคนที่น่าโกรธ ถ้าจิตเราคิดอย่างนี้ ความสบายมันก็เกิดขึ้นในที่สุด เราก็ทำลาย
    ความโกรธไปเสียได้ นี่เป็นก้าวที่ ๒ ที่เราเดินใกล้เข้าไปสู่พระนิพพานเพราะว่าดับไปแล้ว ความ
    โลภก็ดับ ความโกรธก็ดับ


    มันก็เหลือแต่ความหลง หลงอะไร หลงสภาพร่างกายว่าเป็นเราเป็นของเรา เรามีในร่างกาย ร่าง
    กายมีในเรา เราคิดว่าสภาพร่างกายของเราจะทรงสภาพอยู่ตลอดเวลา ไม่มีการฟัง การแก่ การ
    ตาย การเจ็บ ทั้ง ๆ ที่มันแก่ลงทุกวัน เราก็มองไม่เห็นความแก่ มีการทรุดโทรมลงทุกวัน เราก็ไม่
    เห็นอาการทรุดโทรม มันค่อยๆสลายตัว มันตายไปทุก ๆ วัน มันหมดไป ลมหายใจเข้ามาทีออกไป
    ทีชีวิตมันก็หมดไป เราก็มองไม่เห็น ไอ้ตัวมองไม่เห็นนี่มันเป็นตัวโมหะ-ความหลง


    ทีนี้เราจะมองเห็นอย่างไร เราก็ตั้งใจพิจารณาหาความจริง ที่พระพุทธเจ้ากล่าวว่าคนเกิดมาแล้วมัน
    ไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จริงไหม นั่งมองคนอื่น คนที่เด็กกว่า แล้วก็มองคนที่แก่กว่า
    สภาพเดิมของเราเป็นเด็ก มาเวลานี้เป็นอย่างนี้ อีกไม่ช้าก็แก่อย่างคนโน้น แล้วก็มองคนที่ตาย ไม่
    ช้าเราก็ตายอย่างเขานี่แหละ ทีนี้เราจะมามองว่าชีวิตนี้มันจะไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย มีประโยชน์
    อะไร ต้องเอาใจเข้าไปยอมรับนับถือตามความเป็นจริงว่าเราเกิดมาแล้ว มันต้องแก่แน่ และอาการ
    ป่วยไข้ไม่สบาย มันก็มีแน่ ทุกข์ประจำกายประจำใจมันก็มีอยู่ตลอดวัน ในที่สุดเราก็ต้องสลายตัว
    นี่เป็นเพราะอะไร เป็นเพราะความโง่ที่เราเข้ามายึดถือร่างกาย คือ ขันธ์ห้า ถ้าเราไม่ยึดร่าง คือขันธ์
    ห้าเสียอย่างเดียว ถือว่าขันธ์ห้านี่มันไม่ใช่เราไม่ใช่ของเราตามความเป็นจริง ถ้ามันเป็นเราจริงเป็น
    ของเราจริงมันต้องไม่แก่ ไม่ป่วย ไม่ตาย เพราะเราไม่ต้องการให้มันเป็นอย่างนั้น นี่เราห้ามปราม
    มันไม่ได้


    ในเมื่อขันธ์ห้ามันไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา เราควรจะทำอย่างไรเพื่อถึงพระนิพพาน ในเมื่อมันไม่ใช่
    เราไม่ใช่ของเรา เราก็ปล่อยให้เจ้าของเขาไปเสีย เจ้าของเขาคือกิเลสตัณหา อุปาทาน และ
    อกุศลกรรม เพราะว่าความโลภ ความโกรธ ความหลง นี่เป็นเจ้าของขันธ์ห้า เรากับเขาแยกกันแล้ว
    ก็ปล่อยขันธ์ห้าให้เป็นเรื่องของของเขาไปแล้วทำจิตใจของเราให้มีความสุข คิดว่าขันธ์ห้าที่
    ประกอบไปด้วยธาตุสี่นี่มันใช่ของเราไม่ใช่เรา มันเป็นเรือนร่างที่เราอาศัยชั่วคราวเหมือนบ้านเช่า
    เราเข้ามาครองบ้านหลังนี้เมื่อไรก็เต็มไปด้วยความทุกข์เมื่อนั้น นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เราไม่ต้อง
    การมันอีก เพราะบ้านหลังนี้เต็มไปด้วยความเลว มีความเสื่อมอยู่ตลอดเวลา และมีการสลายตัวไป
    ในที่สุด แล้วก็เต็มไปด้วยความทุกข์ หาความสุขอะไรไม่ได้ ขณะใดถ้าบ้านหลังนี้พังเรายังต้องการ
    สร้างใหม่อีก บ้านแบบนี้ก็มีทุกข์แบบนี้ เราไม่ต้องการมันอีก เราต้องการบ้านหลังที่ไม่มีกิจต้องทำ
    มีแต่ความสุข คือความดับจากอารมณ์ของความทุกข์ทั้งปวงได้แก่พระนิพพาน



    ที่มาจาก หนังสือ กรรมฐาน 40 เรื่อง อุปสมานุสสติ โดย หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ วัดท่าซุง
    ความดีนี้ปฏิบัติเพื่อบูชาพระรัตนตรัย อันมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ พระธรรม และหลวงพ่อฤๅษีลิงดำเป็นที่สุด
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 29 ตุลาคม 2014

แชร์หน้านี้

Loading...