อานาปานสติกรรมฐาน โดย หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย Phanudet, 6 กุมภาพันธ์ 2011.

  1. Phanudet

    Phanudet เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    8,434
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +15,647
    [​IMG]

    อานาปานสติกรรมฐาน<O:p</O:p


    หลวงพ่อพุธ ฐานิโย<O:p</O:p


    หลวงพ่อพุธ ฐานิโย -อานาปานสติกรรมฐาน<O:p</O:p




    ท่านนักปฏิบัติธรรมผู้เจริญทั้งหลาย


    วันนี้จะได้กล่าวถึงเรื่อง การเจริญอานาปานสติกรรมฐาน ซึ่งเป็นกรรมฐานประเภทหนึ่ง คือเป็นกรรมฐานที่เหมาะกับจริตของบุคคลทั่วไป



    การเจริญอานาปานสติกรรมฐานนั้นเป็น สิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งที่เราจะต้องฝึก ฝึกให้มีความรู้ความชำนาญเพราะกรรมฐานเกี่ยวกับลมหายใจนี้ เรื่องของลมหายใจ มันไปแทรกอยู่ทุกกรรมฐานเพราะทุก ๆ ครั้งที่เราสามารถทำกรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับการบริกรรมภาวนา เมื่อจิตของเราสงบลงไปแล้วจิตจะละวางคำบริกรรมนั้นเสีย แล้วลมหายใจก็จะผุดขึ้น ถ้าจิตเดินทางที่ถูกจิตจะยึดเอาลมหายใจหายขาดไป แล้วจิตจึงจะละวางลมหายใจ เมื่อลมหายใจหายขาดไปแล้วความรู้สึกในร่างกายทุกสิ่งทุกส่วนไม่ปรากฏว่ามีอยู่ กายก็ไม่มี ลมหายใจก็ไม่มีในความรู้สึกในขณะนั้นมีแต่สภาวะจิตที่นิ่ง คือ ตัวผู้รู้ปรากฏเด่นชัดอยู่จิตมีความสว่างไสวอยู่และรู้รอบคอบอยู่ที่จิตโดยเฉพาะนี้คือการภาวนาที่ถึงขั้นละเอียด







    ต่อไปนี้จะได้กล่าวถึงอานาปานสติกรรมฐาน


    อานาปานะ ก็หมายถึง ลมการเจริญอานาปานสติกรรมฐานนั้น หมายถึงการเจริญกรรมฐานเกี่ยวเนื่องด้วยการกำหนดรู้ลมหายใจ



    เมื่อนักปฏิบัติทั้งหลายนั่งคู้บัลลังก์ โดยขัดสมาธิ เอาขาขวาทับขาซ้าย มือซ้ายวางลงบนตักเอามือขวาวางทับลงไป แบบพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิ แล้วกำหนดระลึกถึงพระบรมครูโดยนัยว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ เช่นเดียวกันกับการเจริญกรรมฐานพุทโธแล้วก็กำหนดจิตของตนเองว่า จิตของตนมีความลำเอียงไปข้างรักหรือข้างชังส่งไปข้างหน้าหรือข้างหลัง ข้างซ้ายหรือข้างขวา ให้รู้ชัดลงไป แล้วก็ตั้งใจกำหนดจิตดูลมหายใจของตนเองเฉยอยู่



    ในขั้นต้น เราอาจจะแต่งลมหายใจของเราโดยกำหนดจิตให้แน่วแน่แล้วก็ ค่อยสูดลมหายใจยาวๆช้าๆ จนกระทั่งหมดแรงแล้วก็ปล่อยออกมาอย่างช้าๆจนกระทั่งหมด แล้วก็สูดเข้าไปอีกทีหนึ่งแล้วก็ปล่อยออกมาอีกทีหนึ่ง ทำอย่างนี้ถึง ๕ครั้ง เข้าออกเป็นครั้งหนึ่งต่อไปหายใจอย่างปกติไม่ต้องไปแต่งลมหายใจ



    หน้าที่ของเรามีเพียงแต่ว่ากำหนดรู้ลมหายใจที่เป็นเองโดยธรรมชาติเท่านั้นคือ ดูให้รู้ว่าการหายใจเบาหรือหายใจแรง หายใจสั้นหรือหายใจยาวก็ให้รู้อยู่ทุกจังหวะ กำหนดตัวผู้รู้ไว้ที่ลมผ่านเข้าซึ่งมีการสัมผัสอยู่ที่ปลายจมูก โดยจะนึก

    พุท พร้อมกับลมหายใจเข้า โธพร้อมกับลมหายใจออกก็ได้





    หรือหากไม่ทำอย่างนั้น ไม่ต้องนึกพุทโธพร้อมกับลมหายใจเข้า หายใจออกเพียง แต่กำหนดรู้ลมเข้าออกเฉยอยู่เมื่อจิตของเราส่งไปทางอื่น เรารู้ว่าจิตส่งไปทางอื่นก็กลับเอามารู้ไว้ที่ปลายจมูกตรงฐานที่ตั้ง กำหนดดูอยู่อย่างนั้นจนกว่าจิตของเราจะยึดเอาลมหายใจเป็นอารมณ์จริงๆคืออยู่ที่ลมหายใจซึ่งในบางครั้งเมื่อจิตมาอยู่ที่ ๆ เรากำหนดไว้แล้วบางทีจิตอาจจะวิ่งออกวิ่งเข้าตามกระแสทางเดินแห่งลมก็ปล่อยให้จิตของเราเดินออกเดินเข้าตามกระแสแห่งลม



    ในตอนนี้แสดงว่าจิตของเรายึดเอาลมหายใจเป็นอารมณ์แล้วให้ ดูลมหายใจเฉยอยู่อย่าไปทำความนึกคิดอะไรอื่น นอกจากการดูลมหายใจเท่านั้นแล้วก็กำหนดรู้อยู่อย่างนั้นตลอดไป ให้มีสติสัมปชัญญะกำหนดรู้อยู่ที่จิตกับลมหายใจลมหายใจกับจิตอย่าให้พรากจากกัน และก็พยายามทำจิตให้เป็นกลาง



    อย่าไปยินดีในความเป็นของลมหายใจ หรืออย่าไปยินร้ายในความเป็นของลมหายใจอย่าไปตกอกตกใจในอาการที่ลมหายใจมันอาจจะมีการแสดงกริยาไปต่าง ๆเช่นบางทีอาจจะมีความรู้สึกว่าหายใจแรงผิดปกติ ก็อย่าไปทำความตกใจ บางทีจะมีอาการคล้ายๆ กับว่าลมหายใจมันจะหยุด ก็อย่าไปทำความตกใจ มันจะเป็นอย่างไรก็ตามให้กำหนดรู้เฉยอยู่อย่างนั้น



    ผู้รู้คือจิตนั้นเป็นตัวสำคัญ อย่าเผลอลมหายใจเป็นเพียงแต่อารมณ์เป็นเครื่องช่วยให้จิตสงบเท่านั้นแต่ตัวจิตคือผู้รู้กับสติสัมปชัญญะนี้ ก็จะต้องประคับประคองจิตของเราไว้ให้ดีและในขณะที่เราปฏิบัติอยู่นั้น อย่าไปทำความรู้สึกว่าอยากรู้อยากเห็นหรืออยากให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เพียงแต่กำหนด รู้ลมออกลมเข้า และความเป็นไปต่างๆของลมเท่านั้นเมื่ออาการอย่างไรเกิดขึ้น ก็ให้รักษาจิตไว้ให้ดีให้มีสติสัมปชัญญะอย่าไปตื่น อย่าไปตกใจ อย่าไปมีอาการใด ๆทั้งสิ้นให้เรารู้อยู่ที่ลมหายใจอย่างเดียวเท่านั้นนี้คือการปฏิบัติเกี่ยวกับลมหายใจ



    ทีนี้ เมื่อเรากำหนดรู้อยู่อย่างนั้นถ้าหากจิตของเราเป็นไปตามแนวแห่งสมาธิ หายใจจะละเอียดเข้า ละเอียดเข้าทุกทีๆในที่สุดลมหายใจก็จะหายไปหมด



    เมื่อลมหายใจหายไปจากความรู้สึกแล้วความสว่างภายในจิตก็จักปรากฏขึ้น เมื่อความสว่างภายในจิตปรากฏขึ้นร่างกายก็หายไปในขณะนั้น



    เมื่อร่างกายหายไปแล้วก็ให้นึกว่าร่างกายยังมีอยู่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความตกใจ พอร่างกายและลมหายใจหายไปหมดแล้วจิตมันจะไปอยู่ที่ไหนตรงนี้ต้องพยายามทำสติสัมปชัญญะให้รู้เท่าทันอาการเหล่านั้นให้ดีบางทีบางท่านอาจจะเกิดความวิตกขึ้นมาว่า เมื่อร่างกายและลมหายใจหายขาดไปแล้วจิตมันจะไปอยู่ที่ไหน เมื่อเป็นเช่นนี้ ความหวั่นวิตกหรือความกลัวก็จะเกิดขึ้นแล้วจะทำให้จิตถอยจากสมาธิ ถ้าหากมีความกลัวติดอยู่ในความรู้สึกเมื่อจิตดำเนินไปถึงขั้นนี้ พอจะเข้าขั้นละเอียดกันจริงๆแล้วมักจะเกิดความกลัวขึ้นมา แล้วจิตจะถอยจากสมาธิ



    วิธีแก้ก็คือพยายามทำบ่อยๆ ทำให้มากๆอาศัยภาวิตา อบรมให้มากๆ พหุลีกตากระทำให้มากๆ และมีสติสัมปชัญญะรู้เท่าทันนี้คือเหตุผลแห่งการบำเพ็ญสมาธิขั้นสมถะ



    ความจริงการบำเพ็ญสมาธิขั้นสมถะใน เบื้องต้นเราต้องพยายามที่จะละความรู้ต่างๆ ที่เราเรียนมาเรามีความรู้เต็มภูมิก็ทำเหมือนไม่รู้ทำความรู้ให้รู้สึกว่ามีอยู่แค่บริกรรมภาวนาเท่านั้น



    การภาวนาในขั้นนี้ไม่ต้องการเหตุผลอะไรมากมายนัก เพียงแต่ต้องการให้จิตสงบตั้งมั่นลงเป็นสมาธิเพื่อให้รู้สภาพความเป็นจริงของจิตเดิมที่ไร้นิวรณ์ของเราว่าจิตเดิมของเรานั้นเป็นอยู่อย่างไรนัก ปฏิบัติจะรู้สภาพความเป็นจริงของจิตของตนต่อเมื่อสามารถทำจิตให้เป็นอัปปนาสมาธิ ทำจิตให้ว่างปราศจากความรู้สึกว่ามีกายมีลมหายใจ มีความรู้สึกคล้ายๆ กับว่า ในโลกนี้มีจิตดวงเดียวเท่านั้นนอกนั้นไม่มีอะไร เป็นธรรมชาติประภัสสร เป็นจิตที่ใสสะอาดแต่ไม่ใช่ใสสะอาดชนิดที่หมดกิเลสเป็นแต่เพียงใสสะอาดประภัสสรชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น



    ในอันดับต่อไปในเมื่อเรารู้สภาพความเป็นกลางของจิต คือความที่จิตใสสะอาดบริสุทธิ์ไม่เอนเอียงไปข้างรักไม่เอนเอียงไปข้างชัง มีแต่ความเป็นกลางในหลักธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ท่านว่า กามสุขัลลิกานุโยค ความประกอบตนให้พัวพันในกามอัตตกิลมถานุโยค ความประกอบตนให้พัวพันในสิ่งที่ทรมานตน ซึ่งหมายถึงอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์นั่นเอง ก็ไม่มีในขณะนั้นยังเหลือสภาพความเป็นกลางของจิตโดยเที่ยงธรรมปรากฏเด่นชัดอยู่ ในขณะนี้ตัวผู้รู้คือพุทโธก็ปรากฏขึ้น ผู้เบิกบานคือพุทโธก็ปรากฏขึ้นนี้คือจิตเข้าถึงพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์



    สมาธิขั้นนี้รวมเอาองค์อริยมรรคทั้ง ๗ประการรวมลงไปสู่สัมมาสมาธิตัวเดียวเท่านั้น



    ในเมื่อจิตเป็นสัมมาสมาธิ มีตัวรู้ปรากฏเด่นชัดอยู่ ต่อไปเราปฏิวัติจิตของเราให้ดำเนินไปสู่แนวทางแห่งกุศลกรรมด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะเป็นเหตุให้เกิดความสงบและความรู้แจ้งเห็นจริงเพื่อความหลุดพ้นจากอาสวกิเลสทั้งหลาย ตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าได้ชี้แนวเอาไว้ก็ย่อมเป็นจิตที่เราสามารถจะน้อมไปสู่อารมณ์ใดๆ ได้ทั้งนั้น



    แต่การน้อมจิตไปสู่อารมณ์นั้น ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องน้อมจิตในขณะที่จิตเป็นอัปปนาสมาธิ หรือระหว่างร่างกายละลมหายใจแล้วก็น้อมไปในขณะนั้น อันนี้ย่อมเป็นการเข้าใจผิดเพราะในขณะที่จิตอยู่ในอัปปนาสมาธิปราศจากความรู้สึกในทางร่างกายและลมหายใจจะนิ่งเด่นรู้อยู่เฉพาะตัวในขณะนั้นจิตมีสมรรถภาพสามารถทรงตัวอยู่ได้โดยอัตโนมัติ ไม่ได้พึ่งพาอาศัยอะไรจิตก็อันนั้น อารมณ์ก็อันนั้น สมกับคำว่า เอกัคคตาจริงๆ ก็คือไม่มี ๒มีแต่จิตดวงเดียวล้วนๆในขณะนั้นผู้ปฏิบัติไม่สามารถจะให้ความรู้สึกนึกคิดน้อมไปทางไหนได้ทั้งนั้น



    ถ้าอย่างนั้นเราจะทำอย่างไรเรา ก็ต้องคอยจนกว่าจิตมันจะออกมาจากสภาพเช่นนั้นแล้วถอยมาอยู่ในระดับอุปจารสมาธิ อุปจารสมาธิ คือจิตมีลักษณะสว่างและรู้อยู่ในบริเวณกว้างๆ สามารถที่น้อมเอาอารมณ์อื่นๆมาเป็นเครื่องพิจารณาได้



    ในตอนนี้เราก็รีบหยิบยกเอาสภาวธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งมาพิจารณา คือ พิจารณา รูป เวทนา สัญญาสังขาร วิญญาณ น้อมเข้าไปสู่พระไตรลักษณ์ โดยการน้อมนึกคิดพิจารณาเอาอย่างที่เราเคยเรียนเคยรู้มาจากตำรับตำรา เช่นว่า



    รูปํ อนิจจังรูปไม่เที่ยง

    เวทนา อนิจจา เวทนาไม่เที่ยง

    สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยงเราก็นึกเอา







    ทีนี้ในเมื่อเรานึกเอาเช่นนั้นแล้ว บางทีในขณะที่เรากำลังนึกกำลังพิจารณาอยู่นั้น จิตทำท่าจะสงบเป็นสมาธิ ก็ปล่อยให้มันสงบลึกลงไปในเมื่อมันสงบลึกลงไปแล้ว บางท่านก็ไปสงบนิ่งอยู่เฉยและบางท่านเมื่อจิตสงบไปแล้วจิตปฏิวัติตนไปสู่ความรู้ความเห็นซึ่งผุดขึ้นโดยอัตโนมัติ นี้เรียกว่าปริยัติภายในมันเกิดขึ้น



    ในเมื่อความรู้ความเห็นมันผุดขึ้นเป็นระยะๆเช่นนั้นผู้ปฏิบัติก็ตั้งสติ กำหนดจิตรู้ตามอาการเหล่านั้นมันจะเป็นไปอย่างไรก็ตามถ้าหากมันอยู่ในสายความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติก็ปล่อยให้จิตมันดำเนินไปตามวิถีทางแห่งความรู้ซึ่งมันผุดขึ้นแต่ในเมื่อรู้แล้วอย่าไปหลงในความรู้เห็น แล้วอย่าไปหลงในความเห็น



    เพียงแต่กำหนดจิตรู้ตามสิ่งที่ปรากฏขึ้นหรือความรู้ที่ปรากฏขึ้น



    ถ้าหากว่าจิตมันจะไปหลงเพลิดเพลินในสิ่งนั้นจนเกินไป



    ก็สำนึกว่ารู้ก็สักแต่ว่ารู้



    เห็นก็สักแต่ว่าเห็น



    สิ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้ ก็ล้วนแต่เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งนั้น



    ไม่มีอะไรเที่ยงแท้ แน่นอน



    อันนี้สำหรับผู้ที่มีอุปนิสัยย่อมปฏิบัติได้ง่ายอย่างนี้




    ถ้าหากผู้มีอุปนิสัยอ่อนลงมาหน่อย ในเมื่อใช้ความคิดพิจารณาตามที่กล่าวแล้วจิตไม่สามารถให้เกิดความรู้อย่างนั้น ก็หยุดพิจารณาเสียแล้วบริกรรมภาวนาอย่างใดอย่างหนึ่งเช่น จะเอาคำว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา สัพเพธัมมา อนัตตามาบริ กรรมภาวนาจนกว่าจิตจะสงบนิ่งลงไปเป็นอัปปนาสมาธิแล้วจิตถอนจากความเป็นอัปปนาสมาธิมานิดหน่อย แล้วจะเกิดผุดรู้ผุดเห็นเป็นอัตโนมัติตามที่กล่าวมาแล้ว



    อันนี้แล้วแต่ความฉลาดของนักปฏิบัติจะใช้ความสังเกตดูที่จิตของตัวเองซึ่งบางทีความรู้ความเห็นความเป็นภายในจิตนั้นอาจจะไม่ตรงกันกับตำรับตำราที่เราเคยเรียนมาก็ได้



    เพราะว่าสิ่งใดซึ่งเป็นสัจธรรม สิ่งนั้นย่อมเป็นของจริงจริง อย่างที่ใคร ๆเรียกชื่อหรือบัญญัติศัพท์ที่จะเรียกชื่อสิ่งเหล่านั้นไม่ถูกก็มีหรือแล้วแต่วาสนาบารมีของใคร เพราะฉะนั้นเราจะต้องรู้กันด้วยจิตด้วยใจตามที่กล่าวอธิบายมานี้



    ท่านผู้ฟังคงจะเข้าใจได้แล้วกระมังว่าการบำเพ็ญจิตเกี่ยวกับสมณธรรมนั้นสมถะกับวิปัสสนามันพรากจากกันไม่ออกในช่วงที่จิตไม่สงบนั้นเราก็ใช้อารมณ์มาพิจารณาตามที่กล่าวมาแล้วในช่วงที่จิตมันจะสงบเราก็ปล่อยให้มันสงบไป



    เราพิจารณาไปก่อนที่มันจะรู้จริงเห็นจริงอย่างแท้จริงนั้นจิตจะต้องหยุดนิ่งเข้าสู่อัปปนาสมาธิบ้างเพียงนิดหน่อยพอสมควรพอได้กำลังแล้วจึงจะมีอาการแวบขึ้นมาแล้วก็รู้จริงขึ้นมาว่าอะไรเป็นอะไร



    ในขณะที่เรารู้จริงเห็นจริงนั้นย่อมจะไม่มีสมมติบัญญัติ จิตก็ไม่เรียกตัวเองว่าจิตอารมณ์ที่รู้ก็ไม่เรียกว่าอารมณ์



    ที่ตัวรู้ก็เป็นแต่เพียงว่ามีสภาพผู้รู้มีอยู่ สิ่งที่ให้รู้ให้เห็นก็มีปรากฏอยู่แต่ภาษาที่จะเรียกว่าอะไรเป็นอะไรในขณะนั้นจะไม่มีโดยเด็ดขาด



    ถ้าอย่างนั้นภาษาที่พูดกันอยู่นี้มาจากไหนมันมีมาต่อเมื่อจิตถอนออกจากสมาธิแล้ว แล้วก็สามารถรับรู้อารมณ์ภายนอกสัญญาอารมณ์เก่าๆที่เราเรียนมาจากตำรับตำรา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เขาพูดมาก่อนพระพุทธเจ้าเกิด



    เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ของจริงซึ่งไม่มีภาษาสมมติบัญญัติเมื่อพระองค์จะแสดงธรรมแก่ชาวโลก พระองค์ก็เอาภาษาของชาวโลกนั้นแหละ มาสมมติบัญญัติแต่งตั้งชื่อธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้แล้วถ้าไม่เอาภาษามนุษย์ภาษาของโลกมาพูดภาษาการตรัสรู้ภาษาการเป็นพระพุทธเจ้านั้นย่อมไม่เหมือนภาษาของใคร เพราะมันไม่มีภาษาเรียกแต่พระองค์ก็มายืมเอาภาษาของโลกที่มีอยู่ก่อนแล้วนั้นแหละมาบัญญัติธรรมที่พระองค์รู้พระองค์เห็นชาวโลกเขาสมมติแต่งตั้งบัญญัติภาษาพูดกันอย่างไรพระองค์ก็บัญญัติธรรมของพระองค์ที่รู้แล้วตามภาษาของชาวโลกถ้าไม่ทำอย่างนั้นใครจะสามารถฟังภาษาของพระพุทธเจ้าออก ขอให้ท่านนักปฏิบัติทั้งหลายพึงเข้าใจอย่างนี้



    สำหรับการกล่าวธรรมเป็นการอบรมจิตใจของบรรดาท่านทั้งหลายสำหรับวันนี้ก็เห็นว่าสมควรแก่กาลเวลา จึงขอยุติลงด้วยประการฉะนี้…<O:p</O:p




    <O:p


    คัดลอกจาก.. http://www.bloggang.com/viewdiary.ph...roup=5&gblog=1<O:p</O:p
     

แชร์หน้านี้

Loading...