อานาปานสติกรรมฐาน โดย หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย jinny95, 4 สิงหาคม 2010.

  1. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    อานาปานสติกรรมฐาน

    โดย หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
    วันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๑


    ท่านนักปฏิบัติธรรมผู้เจริญทั้งหลาย


    วันนี้ จะได้กล่าวถึงเรื่อง การเจริญอานาปานสติกรรมฐาน ซึ่งเป็น กรรมฐานประเภทหนึ่ง คือเป็นกรรมฐานที่เหมาะกับจริตของบุคคลทั่วไป


    การเจริญอานาปานสติกรรมฐานนั้น เป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งที่เราจะต้องฝึก ฝึกให้มีความรู้ความชำนาญ เพราะกรรมฐานเกี่ยวกับลมหายใจนี้ เรื่องของลมหายใจมันไปแทรกอยู่ทุกกรรมฐาน เพราะทุกๆ ครั้งที่เราสามารถทำกรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เกี่ยวกับการบริกรรมภาวนา เมื่อจิตของเราสงบลงไปแล้ว จิตจะละวางคำบริกรรมนั้นเสีย แล้วลมหายใจก็จะผุดขึ้น ถ้าจิตเดินทางที่ถูก จิตจะยึดเอาลมหายใจหายขาดไป แล้วจิตจึงจะละวางลมหายใจ เมื่อลมหายใจหายขาดไปแล้ว ความรู้สึกในร่างกายทุกสิ่งทุกส่วนไม่ปรากฏว่ามีอยู่ กายก็ไม่มี ลมหายใจก็ไม่มี ในความรู้สึกในขณะนั้นมีแต่สภาวะจิตที่นิ่ง คือ ตัวผู้รู้ปรากฏเด่นชัดอยู่ จิตมีความสว่างไสวอยู่และรู้รอบคอบอยู่ที่จิตโดยเฉพาะ นี้คือการภาวนาที่ถึงขั้นละเอียด


    ทีนี้ จะได้กล่าวถึงการเริ่มต้นของการเจริญกรรมฐานว่าด้วยอานาปานสติกรรมกรรมฐาน บุรพกิจในเบื้องต้นของการเจริญนั้น ก็เช่นเดียวกันกับการเริ่มของการเจริญกรรมฐานอื่นๆ คือ มีการไหว้พระ สวดมนต์ เจริญพรหมวิหาร มีการแผ่ส่วนบุญส่วนกุศล หรือบอกกล่าวสิ่งซึ่งเราเชื่อว่าอาจมีแฝงอยู่ตามป่า ตามดง หรือตามสถานที่นั้นๆ โดยที่เราอาจจะกล่าวว่า “ข้าพเจ้ามาอยู่ที่นี้ มาเพื่อบำเพ็ญสมณธรรม มิได้มุ่งหมายที่จะมายึดครองหรือยึดกรรมสิทธิ์เอาที่ดินหรือสถานที่นี้เป็นกรรมสิทธิ์ของข้าพเจ้าแต่ประการใด เพียงแต่ มาอาศัยบำเพ็ญเพียรภาวนาอยู่ชั่วคราวเท่านั้น แล้วก็จะโยกย้ายไปที่อื่น” อันนี้เป็นกิจอันหนึ่งที่นักปฏิบัติทั้งหลายเมื่อเข้าไปสู่สถานที่แปลกๆ หรือใหม่ๆ จะต้องกล่าวให้สิ่งทั้งหลายซึ่งเราไม่สามารถที่จะมองเห็นด้วยตาให้เขาได้รับรู้


    และอีกนัยหนึ่ง ในตำนานแห่งกรณียเมตตสูตร สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็เคยสอนให้พระภิกษุที่ไปบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในป่า ซึ่งถูกภูตผีปีศาจไปรบกวนโดยพระองค์ทรงแนะนำว่า เมื่อเธอทั้งหลายเข้าไปสู่ประตูแห่งป่าแล้ว ให้ยืนกำหนดจิตระลึกถึงเราตถาคต โดยนัยแห่ง อิติปิ โส ภควา อรหํ สัมมาสัมพุทโธ... ภควาติ เจริญพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ แล้วให้สวดกรณียเมตตสูตร แล้วจึงเข้าไปในป่านั้น บรรดาภูตผีปีศาจที่คิดร้ายรบกวนต่อพระภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นก็จะหายไปและจะ ช่วยอุปการะรักษาความสงัดเงียบมิให้มีสิ่งรบกวนเกิดขึ้นแก่พระคุณเจ้าทั้ง หลายเหล่านั้น พระคุณเจ้าทั้งหลายก็เรียน พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ และกรณียเมตตสูตร จากสำนักของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ก็เข้าไปสู่ป่าแห่งนั้น ปฏิบัติตามพุทธดำรัสทุกประการ แล้วก็เข้าไปบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในป่า ภูตผีปีศาจที่เคยแสดงความน่าเกลียดน่ากลัว หรือรบกวนท่านเหล่านั้นก็สงบเงียบไป มิหนำซ้ำยังช่วยรักษาความสงบ คือมิให้เกิดมีเสียงต่างๆรบกวน แม้แต่เสียงนกเสียงกาก็ไม่มี เป็นการสะดวกแก่การเจริญสมณธรรมของท่านเหล่านั้น ซึ่งในที่สุดท่านเหล่านั้นก็สำเร็จมรรคผลนิพพานไปตามๆกัน อันนี้เป็นกิจสำคัญอย่างหนึ่ง ที่จำเป็นจะต้องกล่าวการเจริญพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ และกรณียเมตตสูตร ตามนัยตำนานแห่งกรณียเมตตสูตรที่ปรากฏอยู่แล้ว


    ต่อไปนี้ จะได้กล่าวถึง อานาปานสติกรรมฐาน


    อานาปานะ ก็หมายถึง ลม การเจริญอานาปานสติกรรมฐานนั้น หมายถึงการเจริญกรรมฐานเกี่ยวเนื่องด้วยการกำหนดรู้ลมหายใจ


    เมื่อนักปฏิบัติทั้งหลายนั่งคู้บัลลังก์ โดยขัดสมาธิเอาขาขวาทับขาซ้าย มือซ้ายวางลงบนตัก เอามือขวาวางทับลงไป แบบพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิ แล้วกำหนดระลึกถึงพระบรมครู โดยนัยว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ เช่นเดียวกันกับการเจริญกรรมฐานพุทโธ แล้วก็กำหนดจิตของตนเองว่า จิตของตนมีความลำเอียงไปข้างรักหรือข้างชัง ส่งไปข้างหน้าหรือข้างหลัง ข้างซ้ายหรือข้างขวา ให้รู้ชัดลงไปแล้วก็ตั้งใจกำหนดจิต ดูลมหายใจของตนเองเฉยอยู่


    ในขั้นต้น เราอาจจะแต่งลมหายใจของเรา โดยกำหนดจิตให้แน่วแน่แล้วก็ค่อยสูดลมหายใจยาวๆ ช้าๆ จนกระทั่งหมดแรง แล้วก็ปล่อยออกมาอย่างช้าๆจนกระทั่งหมด แล้วก็สูดเข้าไปอีกทีหนึ่ง แล้วก็ปล่อยออกมาอีกทีหนึ่ง ทำอย่างนี้ถึง๕ ครั้ง เข้าออกเป็นครั้งหนึ่ง ต่อไปหายใจอย่างปกติ ไม่ต้องไปแต่งลมหายใจหน้าที่ของเรามีเพียงแต่ว่ากำหนดรู้ลมหายใจที่เป็นเองโดยธรรมชาติเท่านั้น คือดูให้รู้ว่าการหายใจเบาหรือหายใจแรง หายใจสั้นหรือหายใจยาว ก็ให้รู้อยู่ทุกจังหวะกำหนดตัวผู้รู้ไว้ที่ลมผ่านเข้า ซึ่งมีการสัมผัสอยู่ที่ปลายจมูก โดยจะนึก พุทพร้อมกับลมหายใจเข้า โธ พร้อมกับลมหายใจออกก็ได้ หรือหากไม่ทำอย่างนั้นไม่ต้องนึกพุทโธพร้อมกับลมหายใจเข้า หายใจออก เพียงแต่กำหนดรู้ลมเข้าออกเฉยอยู่ เมื่อจิตของเราส่งไปทางอื่น เรารู้ว่าจิตส่งไปทางอื่น ก็กลับเอามารู้ไว้ที่ปลายจมูก ตรงฐานที่ตั้ง กำหนดดูอยู่อย่างนั้นจนกว่าจิตของเราจะยึดเอาลมหายใจเป็นอารมณ์จริงๆ คืออยู่ที่ลมหายใจ ซึ่งในบางครั้งเมื่อจิตมาอยู่ที่ ๆ เรากำหนดไว้แล้วบางทีจิตอาจจะวิ่งออกวิ่งเข้าตามกระแสทางเดินแห่งลม ก็ปล่อยให้จิตของเราเดินออกเดินเข้าตามกระแสแห่งลม


    ในตอนนี้แสดงว่าจิตของเรายึดเอาลมหายใจเป็นอารมณ์แล้วให้ดูลมหายใจเฉยอยู่ อย่าไปทำความนึกคิดอะไรอื่น นอกจากการดูลมหายใจเท่านั้น แล้วก็กำหนดรู้อยู่อย่างนั้นตลอดไป ให้มีสติสัมปชัญญะ กำหนดรู้อยู่ที่จิตกับลมหายใจลมหายใจกับจิตอย่าให้พรากจากกัน และก็พยายามทำจิตให้เป็นกลาง อย่าไปยินดีในความเป็นของลมหายใจ หรืออย่าไปยินร้ายในความเป็นของลมหายใจ อย่าไปตกอกตกใจในอาการที่ลมหายใจมันอาจจะมีการแสดงกริยาไปต่างๆ เช่น บางทีอาจจะมีความรู้สึกว่าหายใจแรงผิดปกติ ก็อย่าไปทำความตกใจ บางทีจะมีอาการคล้ายๆ กับว่าลมหายใจมันจะหยุด ก็อย่าไปทำความตกใจ มันจะเป็นอย่างไรก็ตามให้กำหนดรู้เฉยอยู่อย่างนั้น ผู้รู้คือจิตนั้นเป็นตัวสำคัญ อย่าเผลอ ลมหายใจเป็นเพียงแต่อารมณ์เป็นเครื่องช่วยให้จิตสงบเท่านั้น แต่ตัวจิตคือผู้รู้กับสติสัมปชัญญะนี้ก็จะต้องประคับประคองจิตของเราไว้ให้ดี และในขณะที่เราปฏิบัติอยู่นั้น อย่าไปทำความรู้สึกว่าอยากรู้อยากเห็น หรืออยากให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เพียงแต่กำหนดรู้ลมออกลมเข้า และความเป็นไปต่างๆ ของลมเท่านั้น เมื่ออาการอย่างไรเกิดขึ้นก็ให้รักษาจิตไว้ให้ดีให้มีสติสัมปชัญญะ อย่าไปตื่น อย่าไปตกใจ อย่าไปมีอาการใดๆทั้งสิ้น ให้เรารู้อยู่ที่ลมหายใจอย่างเดียวเท่านั้น นี้คือการปฏิบัติเกี่ยวกับลมหายใจ


    ทีนี้ เมื่อเรากำหนดรู้อยู่อย่างนั้น ถ้าหากจิตของเราเป็นไปตามแนวแห่งสมาธิหายใจจะละเอียดเข้า ละเอียดเข้า ทุกทีๆ ในที่สุดลมหายใจก็จะหายไปหมดเมื่อลมหายใจหายไปจากความรู้สึกแล้ว ความสว่างภายในจิตก็จักปรากฏขึ้น เมื่อความสว่างภายในจิตปรากฏขึ้น ร่างกายก็หายไปในขณะนั้น เมื่อร่างกายหายไปแล้วก็ให้นึกว่าร่างกายยังมีอยู่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความตกใจ พอร่างกายและลมหายใจหายไปหมดแล้ว จิตมันจะไปอยู่ที่ไหน ตรงนี้ต้องพยายามทำสติสัมปชัญญะให้รู้เท่าทันอาการเหล่านั้นให้ดี บางทีบางท่านอาจจะเกิดความวิตกขึ้นมาว่า เมื่อร่างกายและลมหายใจหายขาดไปแล้ว จิตมันจะไปอยู่ที่ไหน เมื่อเป็นเช่นนี้ ความหวั่นวิตกหรือความกลัวก็จะเกิดขึ้น แล้วจะทำให้จิตถอยจากสมาธิ ถ้าหากมีความกลัวติดอยู่ในความรู้สึก เมื่อจิตดำเนินไปถึงขั้นนี้ พอจะเข้าขั้นละเอียดกันจริงๆแล้วมักจะเกิดความกลัวขึ้นมา แล้วจิตจะถอยจากสมาธิ วิธีแก้ก็คือ พยายามทำบ่อยๆ ทำให้มากๆ อาศัยภาวิตา อบรมให้มากๆ พหุลีกตา กระทำให้มากๆ และมีสติสัมปชัญญะรู้เท่าทัน นี้คือเหตุผลแห่งการบำเพ็ญสมาธิขั้นสมถะ


    ความจริงการบำเพ็ญสมาธิขั้นสมถะ ในเบื้องต้นเราต้องพยายามที่จะละความรู้ต่างๆ ที่เราเรียนมา เรามีความรู้เต็มภูมิก็ทำเหมือนไม่รู้ ทำความรู้ให้รู้สึกว่ามีอยู่แค่บริกรรมภาวนาเท่านั้น การภาวนาในขั้นนี้ไม่ต้องการเหตุผลอะไรมากมายนัก เพียงแต่ต้องการให้จิตสงบ ตั้งมั่นลงเป็นสมาธิ เพื่อให้รู้สภาพความเป็นจริงของจิตเดิมที่ไร้นิวรณ์ของเราว่าจิตเดิมของเรานั้นเป็นอยู่อย่างไร นักปฏิบัติจะรู้สภาพความเป็นจริงของจิตของตนต่อเมื่อสามารถทำจิตให้เป็นอัปปนาสมาธิ ทำจิตให้ว่างปราศจากความรู้สึกว่ามีกาย มีลมหายใจ มีความรู้สึกคล้ายๆ กับว่า ในโลกนี้มีจิตดวงเดียวเท่านั้น นอกนั้นไม่มีอะไร เป็นธรรมชาติประภัสสร เป็นจิตที่ใสสะอาด แต่ไม่ใช่ใสสะอาดชนิดที่หมดกิเลส เป็นแต่เพียงใสสะอาดประภัสสรชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น


    ในอันดับต่อไป ในเมื่อเรารู้สภาพความเป็นกลางของจิต คือความที่จิตใสสะอาดบริสุทธิ์ ไม่เอนเอียงไปข้างรักไม่เอนเอียงไปข้างชัง มีแต่ความเป็นกลาง ในหลักธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ท่านว่า กามสุขัลลิกานุโยค ความประกอบตนให้พัวพันในกาม อัตตกิลมถานุโยค ความประกอบตนให้พัวพันในสิ่งที่ทรมานตน ซึ่งหมายถึงอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์นั่นเอง ก็ไม่มีในขณะนั้น ยังเหลือสภาพความเป็นกลางของจิตโดยเที่ยงธรรมปรากฏเด่นชัดอยู่ ในขณะนี้ตัวผู้รู้คือพุทโธก็ปรากฏขึ้น ผู้เบิกบานคือพุทโธก็ปรากฏขึ้น นี้คือจิตเข้าถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์สมาธิขั้นนี้ รวมเอาองค์อริยมรรคทั้ง ๗ ประการรวมลงไปสู่สัมมาสมาธิตัวเดียวเท่านั้น


    ในเมื่อจิตเป็นสัมมาสมาธิ มีตัวรู้ปรากฏเด่นชัดอยู่ ต่อไปเราปฏิวัติจิตของเราให้ดำเนินไปสู่แนวทางแห่งกุศลกรรมด้วยวิธีกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง อันจะเป็นเหตุให้เกิดความสงบและความรู้แจ้งเห็นจริง เพื่อความหลุดพ้นจากอาสวกิเลสทั้งหลายตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าได้ชี้แนวเอาไว้ ก็ย่อมเป็นจิตที่เราสามารถจะน้อมไปสู่อารมณ์ใดๆ ได้ทั้งนั้น แต่การน้อมจิตไปสู่อารมณ์นั้นไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องน้อมจิตในขณะที่จิตเป็นอัปปนาสมาธิ หรือระหว่างร่างกายละลมหายใจ แล้วก็น้อมไปในขณะนั้น อันนี้ย่อมเป็นการเข้าใจผิด เพราะในขณะที่จิตอยู่ในอัปปนาสมาธิปราศจากความรู้สึกในทางร่างกายและลมหายใจ จะนิ่งเด่นรู้อยู่เฉพาะตัว ในขณะนั้นจิตมีสมรรถภาพสามารถทรงตัวอยู่ได้โดยอัตโนมัติ ไม่ได้พึ่งพาอาศัยอะไร จิตก็อันนั้น อารมณ์ก็อันนั้น สมกับคำว่า เอกัคคตา จริงๆ ก็คือไม่มี ๒ มีแต่จิตดวงเดียวล้วนๆ ในขณะนั้น ผู้ปฏิบัติไม่สามารถจะให้ความรู้สึกนึกคิดน้อมไปทางไหนได้ทั้งนั้น


    ถ้าอย่างนั้นเราจะทำอย่างไร เราก็ต้องคอยจนกว่าจิตมันจะออกมาจากสภาพเช่นนั้นแล้ว ถอยมาอยู่ในระดับอุปจารสมาธิ อุปจารสมาธิ คือจิตมีลักษณะสว่างและรู้อยู่ในบริเวณกว้างๆ สามารถที่น้อมเอาอารมณ์อื่นๆ มาเป็นเครื่องพิจารณาได้ในตอนนี้เราก็รีบหยิบยกเอาสภาวธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งมาพิจารณา คือพิจารณา รูปเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ น้อมเข้าไปสู่พระไตรลักษณ์โดยการน้อมนึกคิดพิจารณาเอา อย่างที่เราเคยเรียนเคยรู้มาจากตำรับตำรา เช่นว่า รูปํ อนิจจัง รูปไม่เที่ยงเวทนา อนิจจา เวทนาไม่เที่ยง สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง เราก็นึกเอา ทีนี้ในเมื่อเรานึกเอาเช่นนั้นแล้ว บางทีในขณะที่ เรากำลังนึกกำลังพิจารณาอยู่นั้น จิตทำท่าจะสงบเป็นสมาธิ ก็ปล่อยให้มันสงบลึกลงไป ในเมื่อมันสงบลึกลงไปแล้ว บางท่านก็ไปสงบนิ่งอยู่เฉย และบางท่านเมื่อจิตสงบไปแล้ว จิตปฏิวัติ ตนไปสู่ความรู้ความเห็นซึ่งผุดขึ้นโดยอัตโนมัติ นี้เรียกว่า ปริยัติภายในมันเกิดขึ้น


    ในเมื่อความรู้ความเห็นมันผุดขึ้นเป็นระยะๆ เช่นนั้น ผู้ปฏิบัติก็ตั้งสติ กำหนดจิตรู้ตามอาการเหล่านั้น มันจะเป็นไปอย่างไรก็ตาม ถ้าหากมันอยู่ในสายความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติ ก็ปล่อยให้จิตมันดำเนินไปตามวิถีทางแห่งความรู้ซึ่งมันผุดขึ้น แต่ในเมื่อรู้แล้วอย่าไปหลงในความรู้ เห็นแล้วอย่า ไปหลงในความเห็น เพียงแต่กำหนดจิตรู้ตามสิ่งที่ปรากฏขึ้นหรือความรู้ที่ปรากฏขึ้น ถ้าหากว่าจิตมันจะไปหลงเพลิดเพลินในสิ่งนั้นจนเกินไป ก็สำนึกว่ารู้ก็สักแต่ว่ารู้ เห็นก็สักแต่ว่าเห็น สิ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้ ก็ล้วนแต่เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งนั้น ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน อันนี้สำหรับผู้ที่มีอุปนิสัยย่อมปฏิบัติได้ง่ายอย่างนี้ ถ้าหากผู้มีอุปนิสัยอ่อนลงมาหน่อย ในเมื่อใช้ความคิดพิจารณาตามที่กล่าวแล้ว จิตไม่สามารถให้เกิดความรู้อย่างนั้น ก็หยุดพิจารณาเสีย แล้วบริกรรมภาวนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น จะเอาคำว่า “สัพเพ ธัมมา อนัตตา สัพเพ ธัมมา อนัตตา” มาบริกรรมภาวนาจนกว่าจิตจะสงบนิ่งลงไปเป็นอัปปนาสมาธิ แล้วจิตถอนจากความเป็นอัปปนาสมาธิมานิดหน่อย แล้วจะเกิดผุดรู้ผุดเห็นเป็นอัตโนมัติ ตามที่กล่าวมาแล้ว อันนี้แล้วแต่ความฉลาดของนักปฏิบัติจะใช้ความสังเกตดูที่จิตของตัวเอง ซึ่งบางทีความรู้ความเห็นความเป็นภายในจิตนั้นอาจจะไม่ตรงกันกับตำรับตำราที่เราเคยเรียนมาก็ได้เพราะว่าสิ่งใดซึ่งเป็นสัจธรรม สิ่งนั้นย่อมเป็นของจริง จริงอย่างที่ใครๆ เรียกชื่อหรือบัญญัติศัพท์ที่จะเรียกชื่อสิ่งเหล่านั้นไม่ถูกก็มี หรือแล้วแต่วาสนาบารมีของใคร เพราะฉะนั้น เราจะต้องรู้กันด้วยจิตด้วยใจตามที่กล่าวอธิบายมานี้


    ท่านผู้ฟังคงจะเข้าใจได้แล้วกระมังว่า การบำเพ็ญจิตเกี่ยวกับสมณธรรมนั้นสมถะกับวิปัสสนามันพรากจากกันไม่ออก ในช่วงที่จิตไม่สงบนั้นเราก็ใช้อารมณ์มาพิจารณา ตามที่กล่าวมาแล้ว ในช่วงที่จิตมันจะสงบ เราก็ปล่อยให้มันสงบไปเราพิจารณาไปก่อนที่มันจะรู้จริงเห็นจริงอย่างแท้จริงนั้น จิตจะต้องหยุดนิ่งเข้าสู่อัปปนาสมาธิบ้างเพียงนิดหน่อยพอสมควร พอได้กำลังแล้วจึงจะมีอาการแวบขึ้นมาแล้วก็รู้จริงขึ้นมาว่าอะไรเป็นอะไร ในขณะที่เรารู้จริงเห็นจริงนั้นย่อมจะไม่มีสมมติบัญญัติ จิตก็ไม่เรียกตัวเองว่าจิต อารมณ์ที่รู้ก็ไม่เรียกว่าอารมณ์ ที่ตัวรู้ก็เป็นแต่เพียงว่ามีสภาพผู้รู้มีอยู่ สิ่งที่ให้รู้ ให้เห็นก็มีปรากฏอยู่ แต่ภาษาที่จะเรียกว่าอะไรเป็นอะไรในขณะนั้นจะไม่มีโดยเด็ดขาด

    ถ้าอย่างนั้นภาษาที่พูดกันอยู่นี้มาจากไหน มันมีมาต่อเมื่อจิตถอนออกจากสมาธิแล้ว แล้วก็สามารถรับรู้อารมณ์ภายนอก สัญญาอารมณ์เก่าๆ ที่เราเรียนมาจากตำรับตำรา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เขาพูดมาก่อนพระพุทธเจ้าเกิด เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ของจริงซึ่งไม่มีภาษาสมมติบัญญัติ เมื่อพระองค์จะแสดงธรรมแก่ชาวโลก พระองค์ก็เอาภาษาของชาวโลกนั้นแหละมาสมมติบัญญัติ แต่งตั้งชื่อธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว ถ้าไม่เอาภาษามนุษย์ภาษาของโลกมาพูดภาษาการตรัสรู้ ภาษาการเป็นพระพุทธเจ้านั้นย่อมไม่เหมือนภาษาของใคร เพราะมันไม่มีภาษาเรียก แต่พระองค์ก็มายืมเอาภาษาของโลกที่มีอยู่ก่อนแล้วนั้นแหละมาบัญญัติธรรมที่พระองค์รู้พระองค์เห็น ชาวโลกเขาสมมติแต่งตั้งบัญญัติภาษาพูดกันอย่างไร พระองค์ก็บัญญัติธรรมของพระองค์ที่รู้แล้วตามภาษาของชาวโลก ถ้าไม่ทำอย่างนั้นใครจะสามารถฟังภาษาของพระพุทธเจ้าออก ขอให้ท่านนักปฏิบัติทั้งหลาย พึงเข้าใจอย่างนี้ สำหรับการกล่าวธรรมเป็นการอบรมจิตใจของบรรดาท่านทั้งหลายสำหรับวันนี้ ก็เห็นว่าสมควรแก่กาลเวลา จึงขอยุติลงด้วยประการฉะนี้

    http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/lp_poot/lp-poot_24.htm
     
  2. ฅนล้านนา

    ฅนล้านนา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 พฤศจิกายน 2009
    โพสต์:
    264
    ค่าพลัง:
    +1,000
    "ขออนุโมทนา สาธุครับ"
    ทุกวันนี้ผมทำสมาธิโดยกำหนดลมหายใจเป็นหลักครับ
    ขอบคุณมากครับได้ความรู้อีกเยอะเลยครับ
     

แชร์หน้านี้

Loading...