อัตตา คือ อะไร ตอนที่ ๑,๒,

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย telwada, 9 เมษายน 2010.

  1. telwada

    telwada เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 กันยายน 2004
    โพสต์:
    1,509
    ค่าพลัง:
    +1,817
    อัตตา คือ อะไร ๑
    บทความนี้เขียนขึ้น ด้วยเมตตาต่อท่านทั้งหลาย ที่ไม่รู้ ไม่เข้าใจ ในคำว่า อัตตา อย่างแท้จริง บางคนขาดสติ พล่ามเพ้อเจ้อในเรื่องของ อัตตา อันอาจทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อศาสนา

    ข้าพเจ้าเอง ก็ไม่ได้สนใจเกี่ยวกับคำว่า "อัตตา" เพราะข้าพเจ้าถือว่า
    "สรรพสิ่งทั้งหลาย ทั้งที่มีชีวิต และไม่มีชีวิต ล้วนมีตัวตน" การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของสรรพสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น เป็นเรื่องธรรมดา อาจนำมาใช้พิจารณาเป็นครั้งคราว หรือนำมาพิจารณา ตามแต่เหตุการณ์นั้นๆ ไม่นำมาพิจารณาอยู่เนืองๆ

    ดังนั้น การอธิบายคำว่า "อัตตา" จึงเป็นการขยายความจาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับพระธรรมปิฎก ฯ ดังต่อไปนี้.-

    อัตตา คือ ตัวตน หรือในภาษา สันสกฤต ก็คือ คำว่า " อาตมัน"
    คำว่า ตัวตน นั้น หมายถึง ตัวตนทั้งหมด ของสรรพสิ่งทั้งหลาย ในที่นี้หมายเอาเฉพาะสิ่งที่มีชีวิต และหมายเอาเฉพาะมนุษย์ เพราะสามารถพิสูจน์ได้ด้วยตัวของท่านทั้งหลาย
    ตัวตน หรือ อัตตา แท้จริง ก็คือ ส่วนที่ประกอบกัน ด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือ ขันธ์ ๕ นั่นเอง เมื่อตัวตนหรือ อัตตา ประกอบด้วยขันธ์ ๕ แล้ว ยังแจกแยกออกไปอีกว่า อันใดอันหนึ่งในขันธ์ ๕ นั้น ก็คือตัวตน หรือ อัตตาเช่นกัน
    เช่น
    รูป อย่างเดียว ก็เป็น อัตตา
    สัญญา คือ ความจำ ก็เป็น อัตตา
    เวทนา คือ ความรู้สึก ก็เป็นอัตตา
    สังขาร คือ การปรุงแต่ง ก็เป็นอัตตา
    วิญญาณ หรือ จิตวิญญาณ คือ ความรับรู้ในอารมณ์ ฯ เมื่อ อายตนะภายในกระทบกับอายตนะภายนอก ก็เป็น อัตตา
    ในเรื่องของอัตตานี้ ยังสามารถอธิบายในรายละเอียด ได้อีกมากมาย เพราะการที่เราได้สัมผัสกับอายตนะภายนอก คือ รูป รส กลิ่น เสียง แสง สี โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ นั่นหมายถึง การได้สัมผัสรับรู้ ด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เพราะเรามีอัตตา คือ มีขันธ์ ๕
    ส่วนสรรพสิ่งอื่นบางชนิด อาจจะมีเพียง รูป อย่างเดียว หรืออาจจะมี ไม่ครบ ทั้ง ๕ ขันธ์ หรือ อาจมีครบทั้ง ๕ ขันธ์ แต่ขันธ์เหล่านั้นมีการทำงานที่จำกัด ดังเช่นสัตว์บางชนิด ,ต้นไม้ ฯลฯ มันก็คงไม่รู้ว่า ตันตนของมัน หรืออัตตา ของมันมีหรือไม่
    แต่เนื่องจาก มนุษย์ มีขันธ์ ๕ ครบถ้วน บริบูรณ์ เต็มพิกัด
    ความมีตัวตน หรือ อัตตาจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต ในการสังคมเป็นอยู่ร่วมกัน
    และในทางศาสนาใดใดก็ตาม อัตตา หรือตัวตน ก็เป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่จักเป็นปัจจัยในอันที่จะทำให้บุคคลนั้นๆ สามารถบรรลุมรรคผล บรรลุนิพาน ได้ฉะนี้

    จ่าสิบตรี เทวฤทธิ์ ทูลพันธ์
    เขียนเมื่อ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๓

    อัตตา คือ อะไร ๒
    ในเรื่องของอัตตา ยังคงต้องอธิบายเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ให้ท่านทั้งหลายได้ศึกษา เรียนรู้และทำความเข้าใจ ใครจะมีความคิดความเห็น ค้าน ก็ไม่เป็นไร แต่ควรจะเป็นไปตามหลักความจริง เป็นไปตามหลักธรรมชาติ
    ในตอนที่หนึ่ง ข้าพเจ้าก็บอกแล้วสอนแล้วอธิบายแล้วว่า พระพุทธพจน์ที่ปรากฏมีในพระไตรปิฎก
    อันเกี่ยวกับเรื่องของ “อนัตตา”นั้น เป็นเพียงการสอนเฉพาะเรื่อง เฉพาะกาล และให้สอนให้สำหรับพระภิกษุผู้บวชใหม่ หรือพระภิกษุ ผู้ยังติดหลงใน ลาภ ,ยศ,สรรเสริญ ยังไม่บรรลุธรรมใดใด เท่านั้น
    ดังข้าพเจ้าเขียนไว้ว่า “ข้าพเจ้าเอง ก็ไม่ได้สนใจเกี่ยวกับคำว่า "อัตตา" เพราะข้าพเจ้าถือว่า
    "สรรพสิ่งทั้งหลาย ทั้งที่มีชีวิต และไม่มีชีวิต ล้วนมีตัวตน" การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของสรรพสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น เป็นเรื่องธรรมดา อาจนำมาใช้พิจารณาเป็นครั้งคราว หรือนำมาพิจารณา ตามแต่เหตุการณ์นั้นๆ ไม่นำมาพิจารณาอยู่เนืองๆ”
    การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของสรรพสิ่ง ก็คือ ไตรลักษณ์ อันได้แก่ ความไม่เที่ยง ,เป็นทุกข์,ความไม่ใช่ตัวตน หรืออนัตตานั่นเอง หรือหากจะอธิบายความเป็นอนัตตา ตามพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับพระธรรมปิฏกฯ ได้ให้ความหมายไว้ว่า

    “อนัตตาคือ, ลักษณะที่ให้เห็นว่าเป็นของมิใช่ตัวตน ได้แก่

    ๑) เป็นของสูญ คือ เป็นเพียงการประชุมเข้าขององค์ประกอบที่เป็นส่วนย่อยๆ ทั้งหลาย ว่างเปล่าจากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา หรือการสมมติเป็นต่างๆ
    ๒) เป็นสภาพหาเจ้าของมิได้ ไม่เป็นของใครจริง
    ๓) ไม่อยู่ในอำนาจ ไม่เป็นไปตามความปรารถนา ไม่ขึ้นต่อการบังคับบัญชาของใครๆ ๔) เป็นสภาวธรรมอันเป็นไปตามเหตุปัจจัย ขึ้นต่อเหตุปัจจัย ไม่มีอยู่โดยลำพังตัว แต่เป็นไปโดยสัมพันธ์ อิงอาศัยกันอยู่กับสิ่งอื่นๆ
    ****๕) โดยสภาวะของมันเอง ก็แย้งหรือค้านต่อความเป็นอัตตา มีแต่ภาวะที่ตรงข้ามกับความเป็นอัตตา *****
    จากความหมายตามพจนานุกรมฯดังกล่าว ก็ให้ท่านทั้งหลายได้พิจารณาให้ดีว่า
    - เมื่อยังไม่สูญ คือยังไม่ถึงเวลาที่จะสูญ นั่นคือ อัตตา เมื่อสูญสลายไปแล้วนั่นคือ อนัตตา
    -เมื่อยังมีเจ้าของนั้นคือ อัตตา เมื่อพ้นจากเจ้าของไปแล้ว นั่นคือ อนัตตา
    -เมื่อยังอยู่ในอำนาจ เมื่อยังเป็นไปตามความปรารถนาจะช้าหรือเร็วก็ตามแต่ และต้องขึ้นกับการบังคับบัญชา นั่นคือ อัตตา ต่อเมื่อไม่อยู่ในอำนาจ ไม่เป็นไปตามความปรารถนา ไม่ขึ้นต่อการบังคับบัญชา นั่นคือ อนัตตา
    - สภาวธรรมทั้งหลายล้วนเป็นความคิดความรู้สึกหรือสภาพสภาวะจิตใจที่อยู่ในตัวบุคคล เป็นไปตามเหตุและปัจจัย อันหมายถึง สิ่งหรือเรื่องที่ทำให้เกิดผล (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน) และ สิ่งหรือเรื่องที่เป็นหนทางให้เกิดผล นั้นคือ อัตตา แต่หาก ความคิด ความรู้สึก หรือสภาพสภาวะจิตใจ ทั้งหลายเหล่านั้น สิ้นไปหรือสูญไป จากตัวบุคคลตามเหตุและปัจจัย นั้นคือ “อนัตตา”
    (ให้กลับขึ้นไปอ่านในตอนต้นของบทความนี้)

    ** ที่สำคัญยิ่ง **
    พระพุทธองค์สอน ให้มองดูตัวตน ให้รู้จักตัวตน และให้เข้าใจในตัวตนของตนเองและผู้อื่น พระพุทธองค์สอนให้รู้จักว่า ตัวตนทั้งหลายล้วน เป็นทุกข์ เป็นเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ เป็นเหตุที่ทำให้ถึงความดับทุกข์ และเป็นหนทางแห่งความดับทุกข์ หรือเรียกว่า “อริยสัจ ๔” อีกทั้งยังสอนในเรื่องของ “ฌาน” “โพชฌงค์ ๗” “สติปัฏฐาน๔” “อริมรรคมีองค์๘” ฯลฯ ซึ่งก็ล้วนเป็นการสอนให้ประพฤติปฏิบัติตัวตน สอนให้รู้จักตัวตน สอนให้รู้จักควบคุมตัวตน และสอนให้รู้จักสอนใจในตัวตน ทั้งสิ้น

    ข้าพเจ้าจึงได้กล่าวไว้ในตอนที่หนึ่งของเรื่อง “อัตตา คืออะไร” ว่า
    “ความมีตัวตน หรือ อัตตาจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต ในการสังคมเป็นอยู่ร่วมกัน และในทางศาสนาใดใดก็ตาม อัตตา หรือตัวตน ก็เป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่จักเป็นปัจจัยในอันที่จะทำให้บุคคลนั้นๆ สามารถบรรลุมรรคผล บรรลุนิพาน ได้ฉะนี้”

    จ่าสิบตรี เทวฤทธิ์ ทูลพันธ์
    เขียนเมื่อ ๒ เมษายน ๒๕๕๓
     

แชร์หน้านี้

Loading...