หลวงพ่อธุดงค์ กับหลวงพ่อพระราชพรหมยาน ตอน ศึกษาตามคำสอนของพระอัครสาวก

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 26 พฤษภาคม 2015.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    หลวงพ่อธุดงค์ กับหลวงพ่อพระราชพรหมยาน ตอน ศึกษาตามคำสอนของพระอัครสาวก
    [​IMG]
    ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย สำหรับวันนี้เป็น วันที่ 24 พฤษภาคม 2533 ก็มาคุยกันถึงเรื่องว่า ตอนที่พระทั้ง 2 องค์ท่านมาเตือน ท่านบอกว่า ท่านเป็นอัครสาวกซ้ายขวา ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้ง 2 องค์มีแสงสว่างออกจากกาย แต่ว่าท่านตำหนิว่า คณะที่ไปปฏิบัติทั้ง 3 องค์ หนักไปทางด้านสมถภาวนามากเกินไป สำหรับวิปัสสนาภาวนานั้นอ่อนไป และท่านกล่าวบอกว่า ครูบาอาจารย์สอนถูก แต่ทว่าลูกศิษย์ปฏิบัติผิด ไม่ครบถ้วนตามคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ หลังจากนั้นท่านก็หายไป

    ต่อมาก็มานั่งหารือกันถึงคำสอนของหลวงพ่อปาน ก็ปรึกษากันบอกว่า อันดับแรกที่เราเจริญกรรมฐาน โดยเฉพาะวันแรกจริง ๆ หลวงพ่อปานสอนตามนี้ ท่านสอนบอกว่าทุกองค์ให้รู้จัก นิวรณ์ 5 ประการก่อน ให้ศึกษา นิวรณ์ 5 ประการ ว่ามีอะไรบ้าง คือ

    1. ความรักในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ

    ประการที่ 2. อารมณ์ไม่พอใจ

    ประการที่ 3. ความง่วง

    ประการที่ 4. อารมณ์ฟุ้งซ่านเกินไป

    ประการที่ 5. สงสัยในผลของการปฏิบัติ

    ให้ทุกองค์พยายามระงับนิวรณ์ 5 ประการ ในระหว่างที่เจริญภาวนา แต่ว่าก่อนที่จะภาวนาอะไรทั้งหมด คำภาวนาในตอนต้นจริง ๆ ท่านให้ใช้คำว่า พุทโธ (เวลาหายใจเข้านึกว่า พุท เวลาหายใจออกนึกว่า โธ)

    แต่ท่านก็ย้ำอีกทีว่า คำภาวนาทิ้งไว้ก่อนอันดับแรกจับลมหายใจเข้าออกก่อน หายใจเข้ารู้อยู่ว่าหายใจเข้า หายใจออกรู้อยู่ว่าหายใจออกหายใจเข้ายาวหรือสั้น หายใจออกยาวหรือสั้นก็รู้อยู่ และหลังจากนั้น ก่อนภาวนาก็พิจารณาตามนี้ ให้พิจารณาใน ไตรลักษณญาณ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา (คำว่า อนิจจัง หมายความว่า ไม่เที่ยง ทุกขัง เป็นความทุกข์ อนัตตา มีการสลายตัวในที่สุด)

    คำว่า อนิจจัง ให้ดูร่างกายของเรา ร่างกายของคนอื่น ร่างกายของสัตว์วัตถุธาตุต่าง ๆ เมื่อเกิดขึ้นมาใหม่ ๆ มันมีสภาพใหม่ คนมีสภาพเป็นเด็ก หลังจากเด็กเล็ก ก็เป็นเด็กใหญ่ หลังจากเป็นเด็กใหญ่ ก็เป็นหนุ่มเป็นสาว เมื่อเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้ว ก็เป็นวัยกลางคนแล้ว ก็เป็นคนแก่ นี่มันเป็นอนิจจัง ถ้าเรามองดูร่างกายของเราไม่เห็น ก็ดูร่างกายคนอื่น

    สำหรับร่างกายคนอื่น ตั้งแต่สมัยหนุ่มสมัยสาว เรายังมีความสวยสดงดงาม พอเริ่มแต่งงานแล้ว ไม่ช้าไม่นาน ความเปลี่ยนแปลงก็ปรากฏชัด ในที่สุด วัยกลางคนก็เข้ามาถึง และความแก่ก็เข้ามาถึง ให้ดูสัตว์ดูบุคคล ดูวัตถุ แล้วเปรียบเทียบกับตัวเองว่า เขากับเรามีสภาพเช่นใด เขามีสภาพเช่นใด เรามีสภาพเช่นนั้น

    เมื่อความเปลี่ยนแปลงมีอย่างนี้ จงอย่ายึดถือว่า ร่างกายมันเป็นเรา เป็นของเรา ร่างกายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา ถ้าร่างกายเป็นเราจริงเป็นของเราจริง เราต้องห้ามมันได้ ถ้ามันจะแก่ เราก็ห้ามไม่ให้มันแก่ มันจะป่วย เราก็ห้ามไม่ให้มันป่วย มันก็ต้องไม่แก่ มันก็ต้องไม่ป่วย แต่อาศัยที่ร่างกายมันมีอิสระของมัน

    ในเมื่อเราจะห้ามมันขนาดไหนก็ตาม จะบำรุงบำเรอขนาดไหนก็ตาม มันต้องแก่ มันต้องป่วย มันก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงในเมื่อสภาพของร่างกาย มีสภาพเป็นตนของตนเองอย่างนี้ เราคิดว่ามันจะมีการทรงตัว ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ถ้าความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น อารมณ์เป็นทุกข์ก็เกิด (นี่จัดว่าเป็นส่วนช้า)

    สำหรับ ทุกขัง ความทุกข์ มันมีตั้งแต่วันเกิด เมื่อเกิดจากครรภ์มารดา เมื่ออยู่ในครรภ์มารดา มันมีแต่ความอบอุ่น เมื่อออกจากครรภ์มารดาแล้ว มากระทบอากาศ มันเกิดความหนาวเย็น แสบร่างกายจึงร้องจ้า หลังจากนั้น เราก็ต้องอาศัยอาหาร ความหิวมีกับเราทุกวัน ความหิวเป็นทุกข์ ในเมื่อความหิวเกิดขึ้น เราก็ต้องหาอาหาร ประกอบกิจการงานทุกอย่างเพื่อให้ทรงชีวิตอยู่ การประกอบกิจการงานทุกอย่าง เป็นอาการของความทุกข์ และในที่สุด ในเมื่อความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ความทุกข์ก็เกิด ท่านสอนถึง อนิจจัง ทุกขัง

    และในที่สุด อนัตตา ก็ปรากฏ เราทุกคนเราต้องตาย เมื่อนึกถึงความตายของเราไม่เห็น เราก็นึกถึงความตายของคนอื่น ที่เขาพูดได้ เขาเดินได้ บางคนก็สั่งสอนเราได้ เขาทำทุกสิ่งทุกอย่างได้ แต่ในที่สุดก็ตาย เมื่อตายแล้ว ความหมายมีอะไรบ้าง ร่างกายคนทั้งหลาย เมื่อสมัยที่มีชีวิตอยู่ เขามีความรัก เขามีความเคารพ เขามีความสงสาร เขามีความเกื้อกูล แต่พอตายแล้ว ทุกคนไม่อยากจะแตะต้องร่างกาย รักแสนรักขนาดไหน ก็ไม่อยากจะแตะต้องร่างกาย เขาแสดงความรังเกียจในร่างกาย

    เป็นอันว่า หลวงพ่อปานท่านแนะนำบอกว่าให้พิจารณาไปอย่างนี้เรื่อย ๆ ถ้าทุกคนพิจารณาไปโดยไม่ต้องภาวนาเลย จนกระทั้งหมดเวลา แล้วก็พักผ่อนจะดีมาก แต่ถ้าพิจารณาไปไม่ไหว จิตใจมันฟุ้งซ่าน ก็เริ่มภาวนา จับลมหายใจเข้าออก แล้วก็ภาวนาว่า พุทโธ

    แต่ว่าก่อนจะเดินไปไหน ก่อนจะตื่นใหม่ๆ ให้นึกถึงพุทโธ เสียก่อน คือพระพุทธเจ้าให้นึกถึงพระพุทธเจ้า ถ้านึกถึงพระพุทธเจ้าไม่ถนัดไม่ชัด ไม่ทราบว่ารูปร่างท่านเป็นอย่างไร ก็ให้นึกถึงพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งไว้เป็นประจำ การนึกถึงภาพพระอยู่นอกกายอย่างนี้ ถือว่าเป็นรูปฌาน เห็นภาพพระอยู่ภายในอก หรือในสมองเป็น อรูปฌาน ท่านบอกว่า จะแบบไหนก็ใช้ได้ทั้งหมด ให้จับภาพพระเป็นปกติ

    เมื่อปรึกษาหารือกันอย่างนี้แล้ว จึงได้พากันพูดขึ้นว่า พวกเราผิด ที่เราทำนี่เราเดินสมถะ ใช้สมถะกันหนักเกินไป มุ่งฌานสมาบัติ แต่ความจริงฌานสมาบัติเป็นของดี

    แต่ว่าฌานสมาบัติไม่เป็นกำลังตัดกิเลสไม่ใช่อาวุธ เป็นแต่เพียงกำลังกาย(หมายความว่า กำลังดี แต่อาวุธของเราไม่ดี) ต่อจากนี้ไปเราจะใช้ทั้งสมถะและวิปัสสนา สมถะเราจะทิ้งไม่ได้ นั่นคือ อานาปานสติกับคำภาวนาว่า พุทโธ และเมื่อจิตสบายเราจะใช้วิปัสสนาญาณ

    แต่ว่า วิปัสสนาญาณที่พระท่านมาสอน ท่านบอกว่า ให้ถือ บังสุกุลตาย และ บังสุกุลเป็น ถ้าอารมณ์เบา ๆ ให้ถือ บังสุกุลตาย คือ

    อนิจจัง วต สังขารา สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง

    อุปปาทวยธัมมิโน เกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมไป

    อุปปัชชิต์วา นิรุชฌันติ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    เตสัง วูปสโม สุโข การเข้าไปสงบกายนั่นชื่อว่า ความสุข (นั่นหมายถึง นิพพาน)

    อีกอันหนึ่งท่านใช้ บังสุกุลเป็น ว่า

    อจิรัง วตยัง กายโย ปฐวิง อธิเสสสติ ฉุฑโฑ อเปตวิญญาโณ นิรัตถังวะ กลิงครัง ร่างกายภายในไม่ช้า วิญญาณก็ไปปราศแล้ว คือหมด จิตดับ วิญญาณไม่เหลือ ในเมื่อวิญญาณไม่เหลือแล้ว ร่างกายนี้ก็ไม่เป็นที่ปรารถนาของคน คนทุกคนเขารังเกียจร่างกาย ท่อนไม้ที่ไร้ประโยชน์มันดีกว่าร่างกายของเรา

    ก็ตกลงกันบอกว่า นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เราจะเป็นผู้ไม่ประมาท เราจะทำให้ครบถ้วน ตามที่หลวงพ่อปานสอน และทำให้ครบถ้วนตามที่พระทั้ง 2 องค์ท่านสอน ในฐานะที่ท่านบอกว่า ท่านเป็นอัครสาวก ก็หมายถึงว่า พระโมคลัลลาน์ กับพระสารีบุตร จะใช่ท่านหรือไม่ก็ตาม แต่ว่าท่านสอนถูก สอนตรงตามความเป็นจริง เราต้องเอาตามนั้น

    ก็เป็นอันว่า นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ก็ใช้ทั้งกำลังสมถะ และวิปัสสนากันเรื่อยไป จะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน ก็ใช้บังสุกุลทั้งสอง ควบคู่ไปกับอารมณ์ของใจ ถ้าอารมณ์เฝือไปนิดกำลังจะส่าย ก็ใช้อานาปานสติ กับคำภาวนาว่า พุทโธ ควบคุมใจก่อน เมื่อใจสบายแล้ว ก็ใช้บังสุกุลทั้งสองเข้าควบคุมใจ

    สิ่งที่พอใจมากนั่นก็คือว่า ชีวิตนี้มันต้องตาย ร่างกายนี้ไม่ช้าก็มีวิญญาณไปปราศแล้ว (คือ ตาย) เมื่อตายแล้วร่างกายใช้อะไรไม่ได้ ก็นึกถึงร่างกายของคนที่ตาย สภาพความจริงเป็นไปตามที่พระท่านบอก ท่อนไม้ที่ไร้ประโยชน์ดีกว่าร่างกายของเรา

    ท่อนไม้ ถึงแม้ว่าไร้ประโยชน์ คนเขายังหยิบ เขายังเก็บ ดีไม่ดีถ้าขวางทาง เขาก็หยิบโยนทิ้งหรือเก็บไปกองไว้ แต่ร่างกายของเรา ในเมื่อมันเน่า อย่าว่าแต่หยิบเลย เข้าใกล้ เขายังไม่อยากเข้าใกล้ ก็ทำอย่างนี้กันตลอด

    บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย อย่าพึงหลงว่า 3 องค์ เป็นผู้วิเศษเสียแล้ว คือว่ายังมีความเลวอยู่มาก ทั้งนี้เพราะอะไรเพราะกำลังสมถะก็ดี วิปัสสนาญาณก็ดี ทั้งหมดที่ว่านี้มันต้องควบคุมอยู่ตลอดเวลา

    แต่ว่าการอยู่ในป่า เป็นความดีอย่างหนึ่ง บรรดาท่านพุทธบริษัท ที่ว่าเป็นความดีก็เพราะว่า มีความกลัวเรื่องกลัวผีเป็นของธรรมดา อย่านึกว่าไม่กลัว ความกลัว ถ้ายังไม่เป็นพระอรหันต์ ถ้าไม่ใช่พระพุทธเจ้า ถ้าไม่ใช่พระเจ้าจักรพรรดิ ถ้าไม่ใช่ม้าอาชาไนยของพระเจ้าจักรพรรดิ ก็ยังกลัวตายเหมือนกันทุกคน

    ฉะนั้นทั้ง 3 องค์ เวลานั้นก็ยังมีความกลัว คนที่ยังมีความกลัว ยังไม่ใช่คนดีถึงขั้นที่จะไปนิพพานกันได้ แต่ว่าอาศัยความกลัวเป็นเครื่องควบคุม ก็เป็นความดี ที่กลัวอันดับแรกก็คือว่า กลัวว่าตอนเช้าจะไม่มีข้าวจะกิน ตอนนี้จะต้องคุมอารมณ์ไว้ว่า นิวรณ์ทั้ง 5 ประการ อย่าเข้ามากวนใจฉัน ฉันไม่คบเธอ ทั้ง ๆ ที่ควบคุมอยู่อย่างนี้ก็อย่าลืมว่า นิวรณ์มันต้องเข้ามาสิงใจกันแน่ เผลอเมื่อไร มันเข้ามาเมื่อนั้นทั้ง 5 ตัว ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง มันเข้ามาแทรกใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อารมณ์ที่มีความฟุ้งซ่านมันก็เข้ามาแทรกใจอยู่เสมอ ๆ ต้องห้ามกัน

    ในเมื่อความฟุ้งซ่านเข้ามา เราเผลอ เราไม่รู้ตัว ก็ว่าเรื่อยไปตามเรื่องของมัน คิดโน่นคิดนี่ คิดนั่น พอรู้ตัวปั๊บว่า นิวรณ์มันเข้ามาแล้ว ก็เริ่มจับ อานาปานสติ อันดับแรก รู้ลมหายใจเข้าออกก่อน ยังไม่ภาวนา เมื่อจับลมหายใจเข้าออกได้ตามความพอใจคือ รู้ลมเข้ารู้ลมออก รู้ลมเข้ายาวหรือสั้น รู้ลมออกยาวหรือสั้นก็ทราบ อย่างนี้ก็เริ่มภาวนาควบคู่กันไป หลังจากนั้นก็จับอารมณ์วิปัสสนาญาณสลับกันไป ถึงความดีบ้าง ความชั่วบ้างแบบนี้

    ฉะนั้นท่านพุทธบริษัท จงอย่าคิดว่า ดี ยัง ยังเลวมาก ดูวันเวลาจะถึงเวลากลับเหลือเวลาอีกประมาณ 15 วัน ถึงเวลาก็เดินจงกรมบ้าง นั่งตามโคนไม้บ้าง นั่งตามเงื้อมเขาที่มีแดดร่มบ้าง แยกกันไปบ้าง เมื่อถึงเวลาก็มานั่งคุยกันถึงเรื่องสมถวิปัสสนาบ้าง คุยถึงอารมณ์ที่ผ่านมาบ้าง ใครผิดใครถูก ใครมีอารมณ์เป็นอย่างไร ปรึกษากันแบบนั้น

    ต่อมาไม่นานนัก ไม่กี่วัน คิดว่า เรามีกำลัง เกือบจะเหนือนิวรณ์แล้ว (คำว่า เกือบจะเหนือ ก็หมายความว่า นิวรณ์กวนใจน้อยเข้า) ก็มีเหตุเข้ามาขัดข้องอีก นั่นคือ พอบิณฑบาตเวลาเช้าเสร็จ เริ่มลงมือฉันข้าว

    แต่ก่อนลงมือจะฉันข้าว ที่บรรดาญาติโยมพุทธบริษัทเห็นว่าพนมมือ การพนมมือ นั่นนึกถึงพระพุทธเจ้า นึกถึงพระปัจเจกพุทธเจ้านึกถึงพระอริยะทั้งหมด มีพระอรหันต์ เป็นต้น นึกถึงเทวดา นึกถึงนางฟ้า นึกถึงพรหม ที่ท่านมีคุณ และก็นึกในใจ นึกถวายทานบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้น ที่เรียกว่าถวายข้าวพระ ทำอย่างนี้เป็นปกติ ให้จิตเป็นสุข เริ่มทำสมาธิก่อนฉัน และก็ลงมือฉันข้าว

    แต่ว่าพอไหว้พระเสร็จ หรือว่าถวายข้าวพระเสร็จ หรือว่าบูชาพระรัตนตรัยเสร็จก็ตาม จะเรียกอย่างไรก็ได้ สิ่งที่ปรากฏขึ้นมาใหม่นั้นคือ ปี่พาทย์วงใหญ่มีนักบรรเลงเป็นคนหนุ่มทั้งหมด มาตั้งวงใกล้ ๆ ที่ฉันข้าว บรรเลงเพลงไพเราะ บรรเลงเพลงไทย เท่าที่เคยฟังเพลงนั้นไพเราะจับใจมาก เมื่อฟังเสียเพลง บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย มันเป็นของใหม่แต่ความจริงเพลงนี่อยู่ที่วัดน่ะเคยฟัง แต่ว่าการอยู่ในป่า เราทิ้งเสียงเพลงมาแล้ว

    ในเมื่อเกิดฟังเพลงขึ้นอารมณ์ก็คล้อยไปตามเพลง นี่ก็เป็นนิวรณ์ตัวที่ 1 รูปสวยเสียงเพราะ ก็เป็นอันว่า เครื่องปี่พาทย์ทั้งวงเขาสวย มีทองประดับแก้วแพรวพราวเป็นระยับ เห็นรูปสวย ติดรูปเข้าไปแล้ว การบรรเลงไพเราะเพราะพริ้ง ติดในเสียงเพราะ ก็รวมความว่านิวรณ์ทั้ง 2 ตัวเข้าสิงใจทันที ขณะที่นั่งฉันข้าวอยู่ และก็ฟังเพลิน ก็ได้ยินเสียงก้องมาทางอากาศบอก นั่นจงอย่าเผลอ

    การคิดว่าเครื่องปี่พาทย์สวย คนบรรเลง ถึงแม้ว่าจะเป็นผู้ชายก็เป็นคนหนุ่ม รูปร่างหน้าตาเรียบร้อย ผิวพรรณดี แต่งตัวงาม อย่างนั้นเป็นการติดในรูปติดทั้งเสียง ติดทั้งรูป นี่เป็นนิวรณ์ นิวรณ์ แปลว่า ธรรมชาติกั้นความดี หรือว่า เป็นกิเลสหยาบที่ทำให้ปัญญาถอยหลัง ถ้าเราติดรูป เราติดเสียง เวลานี้เราเป็นคนไร้ปัญญา

    เสียงก้อง มาในอากาศเสียงนั้นจำได้ว่าเป็นเสียงของพระ 2 องค์ที่มาบอก ท่านบอกว่าเวลานี้ฉันข้าวเข้าไป หูฟังเสียงเพลง อย่าทิ้งเสียงเพลง แต่จิตใจจับภาพคน จับภาพเครื่องประดับ เครื่องปี่พาทย์ จงคิดตัดอารมณ์เป็นวิปัสสนาญาณว่า ปี่พาทย์นี่ต้องเคาะมันจึงดัง ถ้าเขาเลิกเคาะเมื่อไรมันก็สิ้นเสียงดังเมื่อนั้น

    มันก็เหมือนกับชีวิตของเรา ถ้ายังมีลมหายใจเข้าลมหายใจออกอยู่ มันก็ยังมีชีวิต ถ้าลมหายใจเข้า เข้าแล้วไม่ออก หรือออกแล้วไม่เข้า มันก็ตาย จงจับเสียงปี่พาทย์เป็นวิปัสสนาญาณ เป็น มรณัสสติกรรมฐาน เสียงเขาเคาะเป๊งลงไป มันก็มีเสียง ถ้าเขาไม่เคาะใหม่ เสียงก็ไม่มี ถ้าเราหายใจเข้าแล้วไม่หายใจออก ร่างกายก็หมดไป

    สำหรับรูปทั้งหมดเวลานี้ เครื่องปี่พาทย์ทั้งหมดใหม่ ใหม่เอี่ยมสวยสดงดงาม แต่ว่าถ้าตั้งอยู่นาน ๆ ไม่ช้ามันก็เริ่มเก่า นั่นเป็นอนิจจัง เป็นความเสื่อม คนที่บรรเลงก็เหมือนกัน เวลานี้เขาหนุ่มไม่ช้าเขาก็แก่ แต่ว่าคนที่บรรเลงทั้งหมดนี่ไม่ใช่คนเป็นเทวดา อีกสักประเดี๋ยวหนึ่ง อนัตตามันก็จะปรากฏ นั่นคือ

    เมื่อเราฉันอิ่ม เขาก็จะเลิกบรรเลง ถ้าเลิกบรรเลงเสียงไม่มี ก็เหมือนกับชีวิตของเรามันต้องตาย ในที่สุดเป็นอนัตตา ประเดี๋ยวภาพทั้งสองอย่าง ทั้งคน และเครื่องบรรเลง ก็จะหายไป ก็มีสภาพเป็นอนัตตาเช่นเดียวกัน จับภาพนี้เป็นวิปัสสนาญาณ

    ก็นึกตามท่าน เขาบรรเลงเพลงไพเราะ ก็คิดว่าเพลงไพเราะอย่างนี้ คนที่ฟังเพลงอย่างนี้ ฟังมาเยอะแยะแล้ว ตายไปไม่รู้เท่าไร เราก็ต้องตายเช่นเดียวกัน และคนที่บรรเลงหนุ่ม ๆ อย่างนี้ไม่ช้าก็เป็นคนแก่ สมัยที่เราก่อนบวชเราก็เคยฝึกปี่พาทย์ ครูของเรา สมัยก่อนท่านเป็นคนหนุ่ม แต่ว่าเวลาที่ฝึกให้ ท่านเป็นคนแก่

    และบรรดาพวกรุ่นพี่ทั้งหลายฝึกปี่พาทย์มาตั้งแต่เด็ก ๆ ตั้งแต่สมัยเด็ก ขณะที่เข้าไปศึกษา รุ่นพี่สอนให้ รุ่นพี่ก็เริ่มแก่แล้ว เราก็มีสภาพเช่นนั้น เหมือนกัน รวมความว่า พยายามทำอย่างนั้น ให้จิตไม่ติดในเสียง ฟังเสียงให้เป็นวิปัสสนาญาณ ดูรูปเป็นวิปัสสนาญาณ ก็พอดีอิ่มข้าว เมื่ออิ่มข้าว เสียงก็หายไป ภาพคนก็หายไป ก็คิดว่าเวลานี้เขาทั้งหลายเป็นอนัตตาไปแล้ว ไม่ช้าเราก็เป็นอนัตตาเช่นเดียวกัน

    แล้วก็นึกในใจว่า บรรดาเทวดาทั้งหลายทั้งหมดที่มาบรรเลงในสมัยก่อน ท่านก็เป็นมนุษย์เวลานี้สภาพความเป็นมนุษย์ของท่านหมดแล้ว ท่านตายจากความเป็นคนมีความดีจึงเป็นเทวดา เพราะอาศัย หิริ และโอตตัปปะ (หิริ ความละอายแก่ใจ โอตตัปปะ ความเกรงกลัว กลัวผลของความชั่ว อายความชั่ว)

    เราก็เช่นเดียวกัน ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เราควรจะเป็นคนมี หิริ และโอตตัปปะ หิริ กลัวว่าเราจะไม่ได้ภาวนา กลัวว่าเราจะไม่ได้รู้ลมหายใจเข้าออก กลัวว่าเราจะทิ้งอารมณ์วิปัสสนาญาณ จะหลงในรูปหลงในเสียง ก็พยายามตั้งใจฟังตั้งใจทำ ทั้งๆ ที่ตั้งใจทำ มันก็เผลอ ไป ๆ มา ๆ มันก็เผลอ นึกโน่น นึกนี่มาอีก นอกลู่นอกทาง (นี่บรรดาท่านพุทธบริษัท อย่าเพิ่งชมว่า อาตมากับเพื่อนทั้ง 2 คนดีเหลือเกิน อย่าเพิ่งยังมีความเลวอยู่มาก)

    ต่อมาก็เตรียมตัวแบบนั้น ทั้ง 2-3 วันคิดอย่างนั้น มาอีก 2-3 วันมาใหม่แล้ว ปี่พาทย์ คราวนี้เป็นวงมโหรี มีทั้งระนาด มีทั้งซอ มีทั้งพิณ มีทั้งจะเข้ อะไรต่ออะไรมีครบเสียงไพเราะเพราะพริ้ง ไม่บรรเลงอย่างเดียว ร้องส่งด้วย แต่คณะบรรเลง คณะร้องส่งทั้งหมดไม่มีผู้ชายเลย มีผู้หญิงล้วน แต่งตัวกันแบบชาวบ้านธรรมดา แต่งหน้าตาสวยเพริดพริ้ง ส่วนสัดดีทุกอย่าง เครื่องแต่งกายก็ดี เครื่องประดับก็แพรวพราวเป็นระยับ

    หลังจากบูชาข้าวพระพุทธก่อนฉันเสร็จ ภาพก็ปรากฏทันที เริ่มบรรเลง เลยมองหน้ากันทั้ง 3 องค์ ทั้ง 3 องค์ก็บอกว่า เราเริ่มชนะผู้ชาย แต่ทว่าเวลานี้ผู้หญิงมาแล้ว แต่ความจริงผู้หญิงนี่ก็เคยเป็นคนมาก่อน เคยเกิดเป็นเด็กเล็ก เคยเกิดเป็นเด็กใหญ่ เคยเป็นสาว ตอนเป็นสาวนี่ เธอมีประจำเดือน ประจำเดือนนี่มันก็น่าเกลียด ร่างกายของเธอทุกคนข้างใน มีตับไตไส้ปอด อุจจาระปัสสาวะน่าเกลียด

    แล้วต่อมาก็เป็นวัยกลางคนเป็นคนแก่ แล้วก็เป็นคนตายในสมัยที่เป็นคนแก่ คนก็เริ่มรังเกียจร่างกาย พอเป็นคนตาย ไม่มีใครปรารถนาร่างกายของเธอ แม้แต่เข้าใกล้ เวลานี้เธอเป็นนางฟ้า นางฟ้าไม่ใช่สมบัติของเรา เราเป็นมนุษย์และเสียงบรรเลงของเธอก็มีสภาพเดิม เมื่อในขณะเสียดสีไป เสียงก็ปรากฏ แต่ว่าถ้าเธอเลิกเสียดสีเมื่อไร เสียงก็หายไปเมื่อนั้น เป็นอนัตตา

    ก็เป็นอันว่า เราก็ไม่ยอมรับเสียงเป็นสรณะ ไม่ยอมรับเสียงเป็นที่พึ่ง เราก็กินข้าวของเราตามปกติ คิดว่า เธอทั้งหลายเวลานี้มาพิสูจน์ นั่นหมายความว่า มาสอบอารมณ์ของนิวรณ์ 5 ประการว่า เราจะเห็นเธอสวยไหม ความรู้สึกเวลานั้นก็คิดว่า

    ผิวพรรณของเธอดี รูปร่างดี เครื่องประดับสวย แต่ประเดี๋ยวเดียวก็สลายตัวไป ไม่เป็นประโยชน์สำหรับเรา ถ้าเราติดเธอ เราจะต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ ถ้าเราไม่ติดเธอเราก็ไม่เวียนว่าย ตายเกิดในวัฏฏะ ใจเราก็เริ่มเป็นสุข เมื่อจิตเริ่มเป็นสุข เห็นภาพเธอแล้วก็นึกถึงพระพุทธเจ้า ตามที่เคยเห็น ภาพพระพุทธเจ้าปรากฏชัด ทรงแย้มพระโอษฐ์และตรัสว่าความรู้สึกอย่างนี้ ถูกต้องดีแล้ว
    ที่มา http://palungjit.org/threads/เพียง๑๐๐บาทร่วมบุญปิดสมเด็จพระพุฒาจารย์โต๖๙นิ้ว.548123/
     

แชร์หน้านี้

Loading...