หนีนรกโดยหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ตอนที่ ๑ การปฏิบัติตนเพื่อหนีบาป

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 14 มกราคม 2016.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    หนีนรกโดยหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ตอนที่ ๑ การปฏิบัติตนเพื่อหนีบาป
    [​IMG]
    ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย
    ต่อไปนี้อาตมาจะขอปรารภ เรื่อง การปฏิบัติตนหนีบาป
    คำว่า "บาป" นี้บรรดาท่านพุทธบริษัท แปลว่า "การกระทำความชั่ว"

    ซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงยืนยันว่า
    บุคคลใดถ้าตกเป็นทาสของความชั่ว คือ บาป
    เวลาก่อนจะตายถ้ากำลังจิตเศร้าหมอง
    มีกำลังใจกังวลอยู่กับบาป ตายแล้วก็ต้องตกนรก

    ความจริงที่บางท่านคิดว่า การตายแล้วไม่เกิด
    คือว่า ตายแล้วมีสภาพสูญ
    อย่างไรก็ตามเถอะพระพุทธเจ้าทรงยืนยันว่า
    คนเราตายแล้วต้องมีการเกิด
    แต่การเกิดนั้นจะเกิดเป็นมนุษย์ หรือเกิดเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต
    เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน ก็ถือว่าเกิดทั้งหมด
    ถ้าส่วนดีก็ไปเกิดเป็นเทวดาบ้าง เป็นพรหมบ้าง
    ถ้าดีถึงที่สุดก็ไปเกิดเป็นพระอรหันต์เข้านิพพานไป

    เป็นอันว่าอาตมาเองก็ขอยืนยัน
    ตามที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า
    การตายแล้วเกิดนั้นมีจริง
    ซึ่งบรรดาท่านพุทธบริษัทชายและหญิง
    ส่วนใหญ่เวลานี้ก็ปฏิบัติในหลักสูตรของวิชชาสามบ้าง
    ในหลักสูตรของอภิญญาหกบ้าง
    สามารถระลึกชาติได้ว่า ก่อนจะเกิด เราเคยเป็นอะไรมาบ้าง
    ตายเป็นอะไรมาบ้าง อย่างนี้ทราบกันอยู่แล้ว
    ก็เป็นอันว่ายืนยันตามคำสั่งขององค์สมเด็จพระประทีปแก้วได้ว่า
    การตายแล้วต้องเกิดจริง
    การที่จะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์หรือไม่นั้น
    ก็เป็นเรื่องของบุญและบาป
    การกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ก็นำมาทั้งเศษบุญและเศษบาป

    เศษบุญ เป็นปัจจัยให้ทุกคนมีความสุขตามสมควรกับบุญนั้น

    เศษบาป เข้ามาครอบงำจิตเมื่อไหร่
    ทุกคนที่ได้รับผลนั้นก็จะมีแต่ความทุกข์ ความเร่าร้อน

    ถ้าหากว่าเราคิดว่าตายแล้วไม่เกิด
    จิตจะมีความประมาทพลาดจากความเป็นจริง
    ถ้าคิดอย่างนั้นบรรดาท่านพุทธบริษัทชายและหญิง
    ก็จะมีความประมาทในชีวิต คิดว่าการเกิดมาแล้วตายก็สูญ
    เมื่อมันจะสูญไปจากโลกนี้ ไม่มีการเกิดต่อไป
    การกระทำความดีหรือการกระทำความชั่วใดๆ
    ย่อมมีผลเฉพาะในชาติปัจจุบันเท่านั้น เพราะชาติข้างหน้าไม่มี
    ถ้าคนที่มีกำลังใจดี ก็จะสั่งสมความดี เพื่อความสุขของตน
    คนที่มีจิตหยาบบาปอกุศลก็ครอบงำ ก็จะทำแต่ความชั่ว
    สร้างความเร่าร้อนให้แก่ตัวและบุคคลอื่น
    ถ้าตายแล้ว บังเอิญที่ต้องเกิดจริงๆ
    ความจริงอาตมาใช้คำว่าบังเอิญ เฉพาะบุคคลที่คิดว่าตายแล้วสูญ
    สำหรับอาตมาเองจริงๆ ขอยืนยันว่า ตายแล้วเกิดแน่
    การระลึกชาติเราสอนกันได้
    แล้วมีญาติโยมพุทธบริษัททำได้นับแสน
    ถ้าเราไม่มีการเกิด เราจะรู้ชาติที่แล้วมาได้อย่างไร

    ก็รวมความว่า ขอยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่าการเกิดต่อไปมีจริงๆ
    ใครท่านจะว่าไม่มีก็ช่างท่านเถอะ
    เรื่องความเห็น นี่อย่าไปถือเป็นเรื่องความผิดเรื่องถูก
    ของใครก็ของมัน อาตมาบวชมาตามหลักสูตรในพระไตรปิฎก
    ซึ่งบรรดาพระทั้งหลายยอมรับว่า
    เป็นถ้อยคำที่องค์พระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสั่งสอน
    และก็ปฏิบัติตามพระไตรปิฎกก็มีผลตามนั้น จึงหมดสงสัย

    ในเมื่อเรามาพูดกันถึงเรื่องเกิดพอสมควร
    เพราะว่าเกิดแล้วตาย แล้วจะต้องไปนรกบ้าง ไปสวรรค์บ้าง
    คือไปสู่แดนของความสุขบ้าง แดนของความทุกข์บ้าง
    ทุกคนก็ไม่มีใครอยากพบกับแดนของความทุกข์
    ต้องการอย่างเดียว คือ ต้องการพบกับแดนของความสุข

    เราจะทำอย่างไรกัน ?

    ข้อนี้บรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน
    ที่มีความเคารพในพระพุทธเจ้า ฟังคำแนะนำ
    ของพระพุทธเจ้าสักหน่อยหนึ่ง แล้วลองไปปฏิบัติตาม
    ถ้าทุกท่านที่ฟังแล้วนำไปปฏิบัติได้จริง
    อาตมาก็ขอยืนยันว่าการเกิดต่อไปข้างหน้าของท่าน
    ที่มีกี่ครั้งก็ตามกี่ชาติก็ตาม
    ขอยืนยันว่าทุกท่านจะไม่พบกับอบายภูมิทั้ง ๔
    คือ การเกิดเป็นสัตว์นรกก็ดี เป็นเปรตก็ดี เป็นอสุรกายก็ดี
    เป็นเดรัจฉานก็ดี จะไม่มีแก่ท่านทุกชาติที่เกิดอีกต่อไป
    และการเกิดของบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ก็จะจำกัดการเกิด
    เอาเฉพาะการปฏิบัติอย่างหยาบๆ
    ท่านทั้งหลาย ถ้าจะมีการเกิดจริง
    ถ้ากำลังใจของท่านย่อหย่อน ปฏิบัติได้แต่ว่าไม่เคร่งเครียดนัก
    คือ ปฏิบัติได้ไม่ละเอียดนัก พอทำกันได้
    เรียกว่าประเภท "เช้าชามเย็นชาม"
    แต่ก็สามารถทรงความดีไว้ได้
    อย่างนี้ถ้าหากว่าท่านจะเกิดใหม่ก็เกิดเป็นเทวดาหรือพรหม ๗ ชาติ
    ตามหลักวิชา หลังจากนั้นก็เป็นพระอรหันต์เข้านิพพาน

    ถ้ามีกำลังใจเข้มแข็งทำได้แบบละเอียดจริงๆ
    อารมณ์สุขุมทรงตัวได้อย่างดี
    ถ้ากำลังใจประเภทนี้เราทำได้จะเกิดเป็นเทวดา
    หรือพรหมอีกชาติเดียวเท่านั้น
    กลับลงมาเกิดเป็นมนุษย์อีก ๑ ชาติ เป็นพระอรหันต์เข้านิพพาน

    หลักสูตรนี้มีในพระไตรปิฎก ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า
    ทุกคนให้ตัดสังโยชน์ สังโยชน์นี่ถ้าตัดได้ ๓ จะเป็นพระโสดาบัน
    หรือสกิทาคามี เพียงแต่เป็นพระโสดาบันอย่างหยาบ
    ที่เรียกว่า สัตตักขัตตุง ต้องเกิดอีก ๗ ชาติ
    เพียงเท่านี้ บรรดาท่านพุทธบริษัทอบายภูมิทั้ง ๔ จะเข้าไม่ถึง
    และก็ไม่พบหน้ากันแล้วก็ขอลาอบายภูมิได้

    สังโยชน์ ทั้ง ๑๐ ประการนี้มีอะไรบ้าง ?

    ๑. สักกายทิฏฐิ
    ๒. วิจิกิจฉา
    ๓. สีลัพพตปรากมาส

    สามข้อนี้อาตมาจะสอนญาติโยมพุทธบริษัทปฏิบัติกัน
    ถ้าตัด ๓ ข้อนี้ได้ อย่างหยาบ ก็สามารถหลีกนรกได้แน่นอน
    ไม่พบหน้ากันอีกแล้ว

    ข้อที่ ๑ ที่เรียกว่า สักกายทิฏิฐิ
    ซึ่งมีความเห็นว่าร่างกายนี้เป็นเราเป็นของเรา
    หรือเรามีในร่างกาย ร่างกายมีในเรา อย่างนี้เป็นต้น
    หรือว่ามีความรู้สึกว่า ร่างกายนี้มีสภาพไม่ตาย
    มันจะทรงตัวอยู่ตลอดกาลตลอดสมัย
    ไม่เสื่อมไม่ตายไปจากโลกนี้
    หรือว่ามีความเห็นว่าร่างกายนี้ นอกจากจะไม่ตายแล้ว
    มันก็มีแต่ความสะอาด เรียกว่า มีความสะอาดน่ารัก น่าชม
    น่านิยมทุกอย่าง ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นของโสโครก
    แล้วก็มีความรู้สึกว่าร่างกายนี้ เป็นเราเป็นของเรา
    เรามีในร่างกาย ร่างกายมีในเรา

    ความรู้สึกในสักกายทิฏฐิ
    อาตมาตั้งไว้ ๓ ระดับ ก็เพราะอารมณ์อย่างนี้มีความรู้สึกไม่เสมอกัน

    ถ้าอารมณ์ขั้นพระโสดาบันหรือสกิทาคามี
    จะมีความรู้สึกเป็นแต่เพียงว่าร่างกายนี้ต้องตาย

    ถ้าอารมณ์ของพระอนาคามี
    จะมีความรู้สึกว่าร่างกายนี้นอกจากจะตายแล้ว
    มีสภาพเสื่อม ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และสลายตัวไปในที่สุด
    ร่างกายของคนก็ดี ของสัตว์ก็ดี
    วัตถุธาตุใดๆ ก็ดี ไม่มีคำว่าสะอาด
    มีแต่คำว่าสกปรก น่าเกลียด น่าชังอย่างยิ่ง
    มีความรังเกียจในการที่จะมีร่างกายต่อไปอีก
    อันนี้เป็นอารมณ์ของพระอนาคามี

    ถ้าเป็นอารมณ์ของพระอรหันต์
    จะมีความรู้สึกว่าร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา
    เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา

    ฉะนั้นจึงขอชวนบรรดาท่านพุทธบริษัทปฏิบัติแค่เบื้องต้น
    ยึดอารมณ์ของพระโสดาบันเข้าไว้
    เราจะเป็นพระโสดาบันหรือสกิทาคามีหรือไม่นั้นไม่สำคัญ
    อย่าคำนึงถึงว่าเราจะต้องเป็นพระโสดาบันบ้าง เป็นสกิทาคามีบ้าง
    ถ้ามีความรู้สึกอย่างนั้นความประมาท
    จะเกิดแก่บรรดาท่านพุทธบริษัทคิดว่า "เราดีแล้ว"
    ถ้าบังเอิญเราไม่ได้เป็นจริงๆ
    ถ้าพลาดพลั้งตายไปอาจจะไปอบายภูมิได้

    ฉะนั้นการปฏิบัติจริงๆ ให้ต้องการแต่ผล
    อย่าคิดว่าตนเป็นอย่างนั้น
    คิดว่าตนเป็นอย่างนี้ จะกลายเป็นคนมีมานะทิฏฐิ
    ซึ่งเป็นกิเลสหยาบทำปัญญาให้ถอยหลัง

    รวมความว่าสังโยชน์ ๑๐ ประการก็คือ

    ๑. สักกายทิฏฐิ มีความรู้สึกว่าร่างกายนี่มันจะไม่ตาย
    ร่างกายสะอาด ร่างกายเป็นเราเป็นของเรา
    เรามีในร่างกาย ร่างกายมีในเรา

    ๒. วิจิกิจฉา มีความสงสัยในพระพุทธเจ้า
    ในพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
    สงสัยในความดีของพระอริยสงฆ์
    ไม่ตกลงว่าจะยอมรับนับถือหรือไม่

    ๓.สีลัพพตปรามาส ไม่ตั้งใจรักษาศีลอย่างจริงจัง
    รักษาศีลประเภทศีลหัวเฒ่าคือผลุบเข้าผลุบออก
    ประเดี๋ยวก็ทรงตัวบ้าง ประเดี๋ยวก็ไม่ทรงตัวบ้าง

    สังโยชน์ข้อที่ ๔ กามฉันทะ
    มีความหลงใหลใฝ่ฝันในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม
    รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ
    นี่เรียกว่าติดหลงใหลใฝ่ฝันอยู่ในกามารมณ์

    สังโยชน์ข้อที่ ๕ ปฏิฆะ มีอารมณ์ข้องใจไม่พอใจ
    คือ มีความโกรธ มีความไม่พอใจอยู่เป็นปกติยังเหลืออยู่

    สังโยชน์ข้อที่ ๖ รูปราคะ มีความหลงใหลใฝ่ฝันในรูปที่เป็นวัตถุ หรือรูปฌาน

    สังโยชน์ข้อที่ ๗ สงสัยใฝ่ฝันในอรูป หรือสิ่งที่ไม่มีรูป
    หรือ อรูปฌาน ว่าดีเลิศประเสริฐแล้ว

    สังโยชน์ข้อที่ ๘ มานะ ยังมีการถือตัวถือตน ว่าเราดีกว่าเขา
    เราเสมอเขา เราเลวกว่าเขา

    สังโยชน์ข้อที่ ๙ อุทธัจจะ ยังมีอารมณ์ฟุ้งซ่าน
    ไม่มั่นใจในตัวเองว่าเราจะไปนิพพานดีหรือไม่ไปนิพพานดี
    ไปได้แน่หรือไปไม่ได้แน่ เอาแน่นอนไม่ได้
    คือ จิตใจขาดความเข้มแข็ง

    สังโยชน์ข้อที่ ๑๐ อวิชชา อวิชชานี้ยังมีความหลงใหลใฝ่ฝัน
    ในมนุษยโลก เทวโลก และพรหมโลก
    ยังเห็นว่ามนุษยโลก เทวโลก พรหมโลกเป็นของดี
    ต้องการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ

    รวมความว่าสังโยชน์ ๑๐ ประการนี้
    เป็นเครื่องดึงเราให้เวียนว่ายตายเกิด
    ตายแล้วเกิดใหม่ เกิดแล้วตาย
    ไม่ใช่เกิดจากมนุษย์ตายเป็นมนุษย์
    ตายจากมนุษย์เกิดเป็นมนุษย์ไม่ใช่อย่างนั้น
    ตายจากมนุษย์ แล้วอาจจะเป็นสัตว์นรกก็ได้
    เปรตก็ได้ อสุรกายก็ได้ สัตว์เดรัจฉานก็ได้
    เป็นเทวดาหรือพรหมก็ได้ เป็นอะไรก็ได้
    สุดแล้วแต่ความดีหรือความชั่ว

    ถ้าบรรดาท่านพุทธบริษัท หรือบรรดาเพื่อนภิกษุสามเณร
    สามารถตัดสังโยชน์ได้ถึง ๑๐ ประการ
    พระพุทธเจ้าทรงเรียกว่า "พระอรหันต์" เป็นผู้ตัดกิเลส
    เป็น "สมุจเฉทปหาน"
    ก็รวมความว่า เราจะไม่พบกับคำว่า การเกิดเป็นสัตว์นรก
    เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน
    การเกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทวดา หรือพรหมไม่มีอีกแล้ว
    ไปอยู่นิพพานแห่งเดียวมีแต่ความสุขสำราญ
    ไม่มีความทุกข์เป็นที่ไป

    ก็รวมความว่าวันนี้หรือวันต่อไป
    ก็ยังไม่ชวนบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทและเพื่อนภิกษุสามเณร
    เป็นพระอนาคามี หรือเป็นพระอรหันต์
    ก็ยังไม่ชวนทุกท่านเป็นพระโสดาบัน หรือสกิทาคามี
    จะชวนเพียงว่า เรามาเอากันอย่างนี้ดีกว่า
    ในเมื่อพระโสดาบัน ก็ดี พระสกิทาคามีก็ดี
    ท่านสามารถหลีกนรกได้เด็ดขาด
    ถึงอย่างไรก็ตามท่านไม่มีโอกาสลงนรกได้อีก
    นรกก็ไม่เกิด เป็นเปรตก็ไม่เกิด อสุรกายก็ไม่เกิด
    เป็นสัตว์เดรัจฉานก็ไม่เกิด
    จะมีแดนที่ไปที่มาระหว่างมนุษยโลกกับเทวโลกเท่านั้น
    เป็นอันว่า "ตัดอบายภูมิได้เด็ดขาด" เราต้องการกันแค่นี้ก่อน

    ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทก็ดี
    เพื่อนภิกษุสามเณรก็ดี อาตมาเองก็ตาม
    สำหรับอาตมาจริงๆ มีความรู้สึกว่าเวลานี้ เป็นเด็กอ่อน
    ยังเป็นเด็กอ่อนอยู่ ยังไม่กล้าต่อสู้อารมณ์
    ที่เข้าไปถึงความเป็นพระอรหันต์
    เราเป็นเด็กเล็กมีกำลังน้อยๆ ยกของ เบาๆ ก่อน

    อันดับแรก ลองยกสังโยชน์ทั้ง ๓ ประการออกจากใจ
    ก็คิดว่ายังไงๆ เราก็ไม่ไปนรกกันก่อน
    ไม่เป็นเปรต ไม่เป็นอสุรกาย ไม่เป็นสัตว์เดรัจฉานกันก่อนดีกว่า
    เอายังไงก็ดี ตั้งต้นกันจุดนี้เถอะ
    บรรดาท่านพุทธบริษัทผู้ปฏิบัติพระกรรมฐาน
    การปฏิบัติกระกรรมฐานในหลักสูตรของวิชชาสามก็ดี
    อภิญญาก็ดี ปฏิสัมภิทาญาณก็ดี
    หากว่าท่านได้ ๒ ในวิชชาสาม, ๕ ในอภิญญาหก
    หรือสมาบัติ ๘ แต่ว่าท่านไม่สามารถจะตัดสังโยชน์ ๓ ประการ
    ให้พ้นจากใจได้ ท่านก็ยังเป็นเหยื่อของอบายภูมิ มีนรก เป็นต้น
    เราก็มาลองดูมันยากนักไหม ยากหรือไม่ก็ลองพิจารณากันดู

    ๑. สักกายทิฎฐิ เอาตัวนี้เข้ามาตั้งต้นก่อน
    อารมณ์ขั้นต้นของพระโสดาบันกับสกิทาคามิ
    ท่านมีความรู้สึกว่าชีวิตนี้ต้องตาย
    และบรรดาเพื่อนภิกษุสามเณรก็ดีญาติโยมพุทธบริษัทก็ดี
    มีความรู้สึกเหมือนพระโสดาบัน สกิทาคามีไหม
    ท่านมีความรู้สึกตัวท่านเอง ท่านจะตายไหม
    แต่ก็บางทีหลายๆ ท่านอาจจะลืม
    คิดว่าเราจะต้องตายเป็นปีๆ ก็ได้
    บางทีเกิดมา ๑๐ ปี ๒๐ ปี
    ลืมนึกถึงว่าชีวิตมันจะต้องตาย อันนี้เป็นของธรรมดาของพวกเรา
    ญาติโยมก็เหมือนกัน เพื่อนภิกษุสามเณรก็เหมือนกัน
    อาตมาก็เช่นเดียวกน เราก็ขี้หลงขี้ลืมเหมือนกัน

    ต่อแต่นี้ไปเรามาตั้งต้นกันใหม่ดีไหม
    ว่าต่อแต่นี้ก่อนจะหลับ เราจะคิดไว้ว่าหลับคราวนี้
    จะได้ตื่นเห็นพระอาทิตย์วันใหม่หรือไม่ก็ไม่ทราบ
    เราอาจจะต้องตายระหว่างการหลับหรือก่อนสว่างก็ได้
    พอสว่างแล้วตื่นขึ้นมา
    ก็มีความรู้สึกว่าเราจะได้เห็นกลางคืนของวันนี้หรือไม่ก็ไม่ทราบ
    เพราะชีวิตในช่วง ๑๒ ช่วงโมง ของกลางวัน
    เราอาจจะตายก่อนก็ได้ ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า
    "ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง แต่ความตายเป็นของเที่ยง"

    เรื่องความตายนี้ บรรดาท่านพุทธบริษัท
    จงอย่าคิดว่าคนคิดถึงเรื่องความตายนี้
    ต้องงอมืองอเท้าไม่ทำมาหากิน ไม่สั่งสมความดี
    อันนั้นผิด องค์สมเด็จพระธรรมสามิสร ทรงแนะนำว่า
    คนที่นึกถึงความตายนี่ เขาเป็นคนแกล้วกล้า
    ประกอบกิจการงานทุกอย่างตามหน้าที่ครบถ้วน
    เพราะไม่แน่ใจว่าจะตายเมื่อไร

    สมมุติว่า ท่านมีสามีหรือภรรยา และมีบุตร ธิดาอยู่ด้วย
    มีคนที่ต้องอุปถัมภ์ ถ้าเราประมาทในชีวิต
    คิดว่าแก่สัก ๖๐ ปีหรือ ๗๐ ปี ๘๐ ปี หรือ ๑๐๐-๒๐๐ ปี
    จะต้องตายเราก็ไม่สั่งสมทรัพย์สินไว้ เพื่อลูกเพื่อหลาน
    ยังคิดว่าอีกนานเราจะตายไม่เป็นไร
    ระหว่างนี้ทำกินพอกินไปวันๆ หนึ่งก็ได้
    ถ้าเผอิญมันปุ๊บปั๊บตายไปก่อนล่ะ
    ลูกหลานไม่ลำบากหรือ เราเองก็ลำบาก
    เพราะเรามีทรัพย์น้อย พอจะตายขึ้นมาจริงๆ
    จิตก็มีความกังวลถึงลูกถึงหลาน
    ตัวจิตกังวลนี่แหละบรรดาท่านพุทธบริษัท
    จะทำให้เราต้องลงอบายภูมิ

    หากว่าเราไม่ประมาทในชีวิต คิดว่าอาจจะตายวันนี้ไว้เสมอ
    เราก็หาทางรวบรัดสิ่งใดที่จะสร้างทรัพย์สมบัติให้เกิดขึ้น
    สำหรับทำทุนทำรอนไว้เพื่อเราในยามป่วยหรือยามแก่
    ถึงเวลาที่มันตายไปแล้วลูกหลานไม่ลำบากในการจัดการศพ
    หรือการเป็นอยู่ในเบื้องหน้า
    เราก็หาทรัพย์สมบัติมาตามกำลังที่จะพึงหาได้
    หาจนเต็มความสามารถ ด้วยความไม่ประมาทในชีวิต
    อย่างนี้ถ้าบังเอิญมันยังไม่ตาย
    ทรัพย์สินที่เราหาได้ ก็จะสร้างความสุขให้เกิดขึ้นกับเราในปัจจุบัน
    ในเมื่อเราคิดว่าเราจะตายแล้ว
    รู้ว่าตายแล้ว ถ้าทำความชั่ว จิตชั่วเราต้องไปอบายภูมิ
    มีการเกิดเป็นสัตว์นรก เป็นต้น
    เราก็จะละจากความชั่วนั้น ตั้งหน้าตั้งทำดี พูดดี คิดดี
    คนที่ทำดีพูดดีและคิดดี
    คนประเภทนี้เป็นที่รักของทุกคนในโลก
    ไม่มีคนเลวที่ไหนที่เห็นว่า คนพูดดี ทำดี คิดดี เป็นคนที่น่าเกลียด
    ที่ต้องการประกาศเป็นศัตรู
    ถ้าคนที่สติสัมปชัญญะสมบูรณ์
    บรรดาท่านพุทธบริษัทใครเขาก็รักทุกคน ที่ทำดี พูดดี และคนคิดดี
    เพราะการทำดีเป็นการกระทำที่ไม่เบียดเบียนบุคคลอื่นให้มีความทุกข์
    คนก็ดี สัตว์ก็ดี ไม่มีความทุกข์ เพราะการกระทำของเรา
    การพูดดี คนก็ดี สัตว์ก็ดี ในโลกจะไม่เกิดความลำบากเดือดร้อน
    จากคำพูดของเราคนที่คิดดี
    คนและสัตว์ในโลกจะไม่เกิดความลำบากยากแค้น ไม่มีอันตรายเ
    พราะความคิดดีของเรา
    เราเองก็มีแต่ความสดชื่น
    คนอื่นเห็นเข้าก็มีการชื่นอกชื่นใจ อยากคบหาสมาคม
    ไปที่ไหนก็มีแต่มิตรเป็นที่รัก

    ถ้าอย่างนี้บรรดาท่านพุทธบริษัท
    คนที่คิดว่าจะต้องตายและเกรงว่าจะไปอบายภูมิ ต่างคนต่างทำดี
    ต่างคนต่างพูดดี ต่างคนต่างคิดดี
    อย่างนี้เจอะหน้าคนก็มีแต่ความเป็นมิตร
    ไม่มีใครคิดเป็นศัตรูต่อกัน
    พูดก็พูดวาจาที่เป็นที่รักซึ่งกันและกัน
    การกระทำก็ไม่ขัดใจกัน ไม่ขัดขวาง ไม่มีการกลั่นแกล้งกัน
    ช่วยเหลือกัน ความคิดก็ไม่หมกมุ่นไปด้วยอารมณ์ที่เศร้าหมอง
    อย่างนี้บรรดาญาติโยมพุทธบริษัท
    รวมทั้งเพื่อนภิกษุสามเณรเห็นด้วยไหม
    ว่าก่อนจะตายหรือไม่ทันจะตาย เราก็มีความสุขแล้ว
    ความสุขที่เกิดจากการเห็นหน้าและยิ้มแย้มแจ่มใสเข้าหากัน
    ทุกคนก็มีแต่ความสดชื่น
    ถ้ามีการขัดข้องในทรัพย์สินหรือสิ่งของต่างๆ
    ต่างคนต่างยื่นโยนซึ่งกันและกัน
    สงเคราะห์ซึ่งกันและกันอย่างนี้แหละ
    บรรดาท่านภิกษุสามเณรทั้งหลายและญาติโยมพุทธบริษัท
    ควรคิดใหม่ว่า เราจะต้องตาย
    ในเมื่อเราคิดว่า จะต้องตายแล้ว
    เราก็ตั้งใจว่าการตายของเราคราวนี้จะตายเมื่อไรก็ตามที
    จะตายระยะไหนก็ตามคิดว่า พร้อมที่จะตายวันนี้ก็ได้เสมอ เราก็ทำดีทุกจุด

    ความดีอันดับแรกบรรดาท่านพุทธบริษัทจะทำอะไรดี
    จะทำอะไรเป็นจุดแรกดี
    ก็ขอยืนยันยึดเอาสังโยชน์ข้อที่ ๒ ที่เราเรียกว่า "วิจิกิจฉา"
    ทำลายวิจิกิจฉาให้พ้นจากกำลังใจของเรา

    คำว่า "วิจิกิจฉา" นี่แปลว่า "สงสัย"
    คือ สงสัยในความดีของพระพุทธเจ้า
    สงสัยในความดีของพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
    สงสัยในความดีของพระอริยสงฆ์ มีพระอรหันต์ เป็นต้น
    สงสัยว่าพระพุทธเจ้านะมีจริงหรือไม่
    ถ้ามีจริงๆ พระพุทธเจ้าน่ะดีไหม
    คำสอนของพระองค์ดีจริงๆ หรือเปล่า
    นี่สงสัย สงสัยคำสอน นี่สงสัยพระธรรมเลย
    แล้วสงสัยว่าพระอริยสงฆ์ในพระพุทธศาสนานี่มีหรือไม่มี
    หนักๆ เข้าก็เลยคิดไม่มี
    เพราะตัวสงสัยว่า พระพุทธเจ้าจริงๆ ก็ไม่มี
    พระไตรปิฎกที่มีอยู่อ่านกันอยู่ ก็เป็นพระไตรปิฎกโกหกมดเท็จ
    ใครเขียนขึ้นมาก็ไม่รู้ ก็เขียนแบบโกหกขึ้นมาว่า
    โลกนั้นมี โลกนี้มี ระลึกชาติไม่ได้ จิปาถะกันไป
    เลยสงสัยพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาที่เขาบอกว่า พระสงฆ์
    พระสงฆ์น่ะเป็นพระสงฆ์จริงๆ
    หรือว่าเป็นตัวเบียดเบียนประชาชน
    ทำให้สังคมมีความทุกข์ มีความเร่าร้อน
    เพราะพระไม่เห็นจะทำอะไร ได้แต่บิณฑบาต แล้วก็กิน
    กินแล้วก็นอน นอนแล้วก็บิณฑบาต แล้วก็บอกบุญบ้าง
    ขอบุญบ้างเรี่ยไรกันบ้าง จิปาถะ
    มีแต่พูดไปพูดมาแล้วก็พูดไป ไม่เห็นมีอะไรให้เกิดประโยชน์
    นี่ไม่สงสัยนะเลย ไม่เชื่อเสียเลย
    ลักษณะอย่างนี้เป็นสังโยชน์ ข้อที่ ๒ ที่ทำให้คนเราต้องลงอบายภูมิ
    ขอยืนยันว่า ถ้ามีอารมณ์อย่างนี้ต้องลงอบายภูมิ เป็นสัตว์นรก
    เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน แน่นอน

    ถ้าถามว่าคนที่เขามีความรู้สึกอย่างนั้นอย่างนี้แล้ว ไม่ไปนรกมีไหม ?

    ก็ต้องตอบว่าไม่มี
    เว้นไว้แต่ว่าจะมีเวลาส่วนใดส่วนหนึ่ง
    แม้แต่เป็นเวลามีความเชื่อมีความเลื่อมใสเข้ามาเพียงเล็กน้อย
    ตายปุ๊บปั๊บในขณะนั้นอาศัยที่จิตมีความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า
    เป็นต้น แล้วก็ไปสวรรค์ชั่วคราว
    ใช้เวลาไม่นานก็ลงป๋อมลงนรกไป

    เอาละบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย
    สำหรับเบื้องต้นอันนี้ก็พูดกันมากไปกว่านี้ไม่ได้
    เพราะเวลาหมดแล้ว ก็ต้องขอลาก่อน
    ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผล
    จงมีแต่บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนทุกท่าน สวัสดี
    ที่มา http://palungjit.org/posts/9895186
     

แชร์หน้านี้

Loading...