หนีนรกกับหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ตอนที่ ๒๓ องค์ของพระโสดาบัน

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 20 กรกฎาคม 2015.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    หนีนรกกับหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ตอนที่ ๒๓ องค์ของพระโสดาบัน
    [​IMG]
    ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย
    สำหรับตอนที่ ๒๓ นี่ ก็ขอพูดถึงอารมณ์พระโสดาบัน
    คำว่า "พระโสดาบัน" แปลว่า ผู้เข้าถึงกระแสพระนิพพาน
    ทีนี้ปัญหาก็มีอยู่ว่า พูดมาแล้วถึง ๒๐ ตอนเศษ
    บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย
    อาจจะฟังมาจากที่อื่นว่า คนที่ตัดสังโยชน์ ๓ ประการได้
    ก็มีบรรลุมรรคผลได้ ๒ ประการ คือ
    ๑. พระโสดาบัน
    ๒. พระสกิทาคามี

    หากว่าท่านมีความรู้สึกตามนี้ ก็ถูกต้อง
    เพราะว่าพระพุทธเจ้าตรัสแบบนั้น ว่า พระโสดาบันก็ดี
    พระสกิทาคามีก็ดี สามารถตัดสังโยชน์ ๓ ประการได้
    แต่ว่าพระสกิทาคามี บรรเทาความโลภ
    บรรเทาความโกรธ บรรเทาความหลง
    ถ้าจะว่ากันไปถึงจริยาจริง ๆ พระโสดาบัน ก็บรรเทาเหมือนกัน
    แต่ว่าการบรรเทาของพระโสดาบันยังน้อยกว่าพระสกิทาคามี
    เพราะว่าท่านสกิทาคามีนี่มีอารมณ์ละเอียดมาก เอาไว้พูดกันทีหลัง

    ตอนนี้ก็มาพูดถึงองค์ของพระโสดาบันก่อน
    หรือว่าอารมณ์ของบุคคลที่เป็นพระโสดาบัน
    คำว่า "องค์" ในที่นี้ อาตมาขอแปลว่า "อารมณ์"
    คือ คนที่จะเป็นพระโสดาบันได้ มีอารมณ์ทรงตัวแบบนี้ คือ
    ๑. เคารพพระพุทธเจ้าด้วยความจริงใจ
    ๒. เคารพพระธรรม
    ๓. เคารพพระอริยสงฆ์

    ทั้ง ๓ ประการนี่ เคารพมั่นคงจริง ๆ
    ไม่มีความสงสัยว่าพระพุทธเจ้าก็ดี พระธรรมก็ดี พระอริยสงฆ์ก็ดี
    ไม่มีอะไรสงสัยว่าท่านจะไม่ดีพอ
    ยอมรับนับถือแล้วก็มีความมั่นคงด้วยศรัทธา
    "ศรัทธา" แปลว่า "ความเชื่อ"
    และก็มีความมั่นคงด้วยปสาทะ
    "ปสาทะ" นี้แปลว่า "ความเลื่อมใส"
    ทั้งความเชื่อทั้งความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า
    ในพระธรรมในพระอริยสงฆ์มั่นคงมาก

    ตัวอย่างบุคคลที่เป็นพระโสดาบัน ที่มีความมั่นคงในพระพุทธเจ้า
    ในพระธรรมในพระอริยสงฆ์ ก็มี ท่านสุปปพุทธกุฏฐิ เป็นต้น
    แต่ความจริงทุกองค์ที่ท่านเป็นพระโสดาบัน ก็มีความเคารพนับถือ
    มั่นคงในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระอริยสงฆ์เหมือนกัน
    แต่ว่าท่านสุปปพุทธกุฏฐิแสดงออกชัดเจนมาก
    อารมณ์เสมอกันแต่ว่าไม่มีใครไปทดสอบ
    สำหรับท่านสุปปพุทธกุฏฐินี่มีการทดสอบจากพระอินทร์

    เรื่องราวของท่านก็มีอยู่ว่า
    เมื่อพระพุทธเจ้าแสดงพระธรรมเทศนาที่ใดที่หนึ่ง
    (คือ อาตมาพูดแบบนี้ เพราะว่าไม่ได้เอาหนังสือมากาง
    จำสถานที่ไม่ได้ว่าพระพุทธเจ้าเทศน์ที่ไหน)
    เวลานี้มีบรรดาประชาชนฟังกันอยู่มาก
    ท่านสุปปพุทธกุฏฐิท่านเป็นโรคเรื้อนแล้วก็เป็นขอทาน

    ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่านโปรดพิจารณาดู ว่าคนขอทานก็ดี
    แถมเป็นโรคเรื้อนด้วย เห็นบรรดาประชาชนร่างกายปกติ
    หรือว่าที่เขามีฐานะดีกว่า เขานั่งกันอยู่แล้ว
    คนที่สภาพแบบนั้น สมมุติเอาตัวเราเองก็แล้วกัน
    เราจะกล้าไปนั่งใกล้เขาไหม
    ก็ขอตอบด้วยความจริงใจของอาตมาเองว่า ไม่กล้าเข้าไปนั่งใกล้
    อายเขา เกรงบารมีของเขา บารมีคือ ความดีด้วยความร่ำรวย
    เขาอาจจะจนสำหรับคนอื่นแต่รวยกว่าเรา เราก็ไม่กล้าไปนั่งใกล้เขา
    และโดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านสุปปพุทธกุฏฐิเป็นโรคเรื้อนด้วย
    โรคเรื้อนนี้ เป็นโรคที่บรรดาประชาชนรังเกียจก็เลยต้องนั่งไกลกว่าเขา

    เป็นอันว่าท่านท่านสุปปพุทธกุฏฐิเดินไปเห็นพระพุทธเจ้ากำลังเทศน์
    แล้วก็มีบรรดาประชาชนนั่งฟังเทศน์อยู่มาก
    ถึงแม้ว่าจะเป็นขอทาน บรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน
    ความเป็นผู้มีศรัทธา ในองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า
    ย่อมมีเป็นของธรรมดา เรื่องการศรัทธา - ความเชื่อ
    ปสาทะ - ความเลื่อมใส อันนี้นี้ห้ามกันไม่ได้
    พระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงเลือกฐานะในการโปรด
    เธอก็อยู่ไกลกว่าคนอื่นเขา พอได้ยินเสียงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้

    แต่ความจริงพระพุทธเจ้าเวลาเทศน์ ทรงมีปาฏิหาริย์พิเศษ
    คนจะนั่งใกล้คนจะนั่งไกล คนจะนั่งแอบ
    เอาม่านบังสัก ๑๐ ชั้น ๒๐ ชั้น นั่งกั้นฝา นั่งหลังเขาก็ตาม
    ถ้ามีความเลื่อมใสในพระองค์แล้ว
    เสียงขององค์สมเด็จพระประทีปแก้ว
    จะถึงเขาเสมอและก็มีความชัดเจนแจ่มใส
    ท่านสุปปพุทธกุฏฐินี่ก็เช่นเดียวกัน ฟังเทศน์จากพระพุทธเจ้า
    แม้จะนั่งไกลแสนไกลจากคนอื่น แต่ก็ฟังได้ชัดเจนแจ่มใส
    มีความเข้าใจในพระธรรมเทศนา
    ที่สมเด็จพระสัมมสัมพุทธเจ้าทรงเทศน์โปรด

    ความจริงการฟังเทศน์ บรรดาท่านพุทธบริษัทอย่านั่งฟังกันเฉย ๆ
    เดี๋ยวฟังแต่เรื่องท่านที่ฟังแล้วจบหรือไม่ทันจบ บรรลุมรรคผลนั้น
    ท่านสร้างความเข้าใจไปกับกระแสคำพูดนั้น
    ด้วยเสียงคำพูดที่พูดมาแล้วก็คิดตาม
    ใช้ปัญญาพิจารณาว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ดีหรือไม่ดี
    ถ้าดีเราขอถือเอา เอาไปปฏิบัติตั้งแต่บัดนี้ เป็นต้นไป

    ท่านสุปปพุทธกุฏฐิ พอพระพุทธเจ้าเทศน์จบ
    ก็ปรากฏว่าท่านบรรลุพระโสดาบัน
    หลังจากนั้นองค์สมเด็จพระภควันต์ก็เสด็จกลับ
    แล้วก็บรรดาประชาชนก็กลับ ท่านสุปปพุทธกุฏฐิก็กลับ
    กลับมาถึงกระท่อมน้อยที่ตนอาศัยอยู่
    ก็นอนคิดถึงองค์สมเด็จพระบรมครู มีปีติคือความอิ่มใจมาก
    ที่ฟังพระธรรมเทศนาขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาค
    จำได้แล้วก็ปฏิบัติได้ ปลื้มใจก็คิดว่า องค์สมเด็จพระจอมไตร
    ถ้ารู้ว่าเราเป็นขอทาน แล้วก็เป็นโรคเรื้อน
    ถ้าหากว่าทรงทราบว่า เราเป็นพระโสดาบัน ท่านจะดีใจมาก
    จึงคิดว่าในตอนเช้าจะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาค
    แล้วกราบทูลให้ทรงทราบ

    ตอนเช้ากินข้าวเสร็จก็ตั้งใจไปหาองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทันที
    แต่ว่าพอออกไปจากกระท่อม ก็ไปพบพระอินทร์ซึ่งลอยขวางหน้าอยู่
    แสดงพระองค์ชัดว่าเป็นพระอินทร์ ตอนนั้นเห็นจะเป็นตัวเขียว ๆ
    เพราะว่าเขาทราบกันว่าพระอินทร์ตัวเขียว
    พระอินทร์ก็ถามว่า "สุปปพุทธกุฏฐิ" ถ้าพูดภาษาไทยก็ต้องเรียกว่า

    "ท่านสุปปพุทธกุฏฐิ หรือ เธอ สุปปพุทธขี้เรื้อน
    (กุฏฐิ นี่ก็แปลว่า โรคเรื้อน) ว่า "ท่านสุปปพุทธกุฏฐิ
    หรือ ท่านสุปปพุทธขี้เรื้อน เวลานี่เธอจะไปไหน?"
    (อาตมาใช้ศัพท์ผิดไปนิด คำว่า "เธอ" ไม่ใช่ "ท่าน" ก็ไม่เป็นไร)

    สุปปพุทธกุฏฐิก็กล่าวบอกให้ทราบว่า
    "เราจะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า"

    พระอินทร์ท่านถามว่า "การที่จะเข้าไปเฝ้ามีความประสงค์ยังไง"

    ท่านก็บอกว่า "วานนี้ เราฟังเทศน์ เราได้เป็นพระโสดาบัน
    วันนี้เราต้องการจะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระภควันต์
    เพื่อกราบทูลให้ทรงทราบ"

    พระอินทร์ท่านก็พิสูจน์กำลังใจ
    เพราะพระอินทร์จริง ๆ ท่านเป็นพระโสดาบันเวลานั้น
    ท่านเป็นพระสาดบันเหมือนกัน
    ก็ทราบว่าบุคคลที่เป็นพระโสดาบันมีกำลังใจแบบไหน จึงบอกว่า

    "สุปปพุทธกุฏฐิ หนึ่ง - เธอเป็นโรคเรื้อน สอง – เป็นขอทานยากจน
    ถ้าเธอพูดตามเราพูด แม้ไม่ตั้งใจก็ตาม
    เราจะบันดาลให้เธอหายจากการเป็นโรคเรื้อน
    และจะบันดาลทรัพย์จากสวรรค์ให้เธอเป็นมหาเศรษฐี"

    ท่านสุปปพุทธะก็ถามว่า "จะให้พูดอย่างไร"

    ท่านก็บอกว่า "พูดอย่างนี้ก็แล้วกันนะ ไม่ต้องตั้งใจพูด พูดเฉย ๆ ก็ได้
    พูดว่าพระพุทธเจ้าไม่ใช่พระพุทธเจ้า พระธรรมไม่ใช่พระธรรม
    พระสงฆ์ไม่ใช่พระสงฆ์ แค่นี้ก็พอ
    ถ้าพูดได้ตามนี้เราจะบันดาลให้เจ้าหายจากโรคเรื้อนทันที
    มีรูปร่างกน้าตาสะสวย และก็จะบันดาลทรัพย์จากเมืองสวรรค์ลงมาให้
    เอาเท่าไรก็ได้ ให้เป็นมหาเศรษฐีรวยกว่าใครทั้งหมด"

    พอพูดจบ ท่านสุปปพุทธกุฏฐิก็ชี้หน้าว่า "พระอินทร์ถ่อยจงถอยไป
    การกล่าวคำอย่างนั้น ไม่มีสำหรับเรา
    เรามีความเชื่อ มีความเลื่อมใสในสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
    ในพระธะรม ในพระอริยสงฆ์แน่นอน
    ที่ท่านบอกว่าเราเป็นคนจน สำหรับโลกียทรัพย์เราจนจริง
    แต่เรามีความอุดมสมบูรณ์ด้วยอริยทรัพย์ คือ คุณธรรม ท่านจงถอยไป"
    พอพระอินทร์ท่านมั่นใจว่าคนนี้เป็นพระโสดาบันแน่ ท่านก็หลีกไป

    ที่เอาเรื่องนี้มาพูดให้ฟัง ก็เป็นการเปรียบเทียบกำลังใจ
    ของบรรดาท่านพุทธบริษัทว่า การที่ได้ฟังเทปมาแล้วก็ดี
    หรือเคยอ่านหนังสือเรื่อง "หนีนรก" ก็ดี
    กำลังใจของท่านมีความมั่นคงแบบท่านสุปปพุทธกุฏฐิไหม?

    สำหรับพระสงฆ์ บรรดาท่านพุทธบริษัทก็ต้องเลือก
    ไม่ใช่ว่าคนที่พระโสดาบันแล้ว จะเลื่อมใสพระห่มผ้าเหลืองเสมอไป
    มีความเลื่อมใสจริงสำหรับพระดี
    ตัวอย่าง ภิกษุชาวโกสัมพี ทะเลาะกัน
    พระพุทธเจ้าทรงห้ามไม่ฟัง พรรษานั้นพระพุทธเจ้าเสด็จไปเมืองอื่น
    หลีกไปเสีย ไปป่าลิไลยกะ
    ไปโปรดช้าง "ปาลิไลยกะ" ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์
    ชาวบ้านเห็นว่าองค์สมเด็จผู้ทรงสวัสดิ์ที่หลีกไป
    เพราะพระทะเลาะกันในเมืองนั้น
    ท่านบอกว่า มีพระอริยเจ้าที่เป็นฆราวาส ที่เป็นชาวบ้านนะ
    ชาวบ้านที่พระอริยเจ้าตั้งแต่พระโสดาบัน สกิทาคา
    อนาคานับจำนวนแสนคน
    ท่านที่เป็นพระอริยเจ้า ทั้งหมดไม่มีใครใส่บาตรให้พระพวกนั้นกินเลย
    พระพวกนั้น จะได้กินแต่ข้าวจากชาวบ้านที่ไม่ได้เป็นพระอริยเจ้าเท่านั้น

    ทั้งนี้เพราะอะไร? เพราะพระอริยะย่อมมีความฉลาด
    ไม่ใช้ศัพท์ว่า "ชั่วช่างชีดีช่างสงฆ์"
    ยังไง ๆ ก็เกรงใจผ้าเหลืองอย่างนี้มันไม่ถูก

    ก็รวมความว่า คนที่เป็นพระโสดาบันจริง ๆ
    ตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป มีความมั่นคงในการเคารพพระพุทธเจ้า
    พระธรรม พระอริยสงฆ์ด้วยความจริงใจ เหมือนกับสุปปพุทธกุฏฐิทุกคน

    ตอนนี้ก็ขอบรรดาท่านพุทธศาสนิกชน ดูกำลังใจของท่าน
    แต่ว่าการจะยอมรับนับถือก็จงอย่าลืมนะ
    เอาตัวอย่างพระอริยเจ้าที่เป็นชาวบ้านในเมืองโกสัมพี
    ดูว่า ถ้าดีสมควรเราก็ยอมรับนับถือ
    ถ้าเห็นว่าไม่ดีไม่สมควรก็ไม่ต้องให้อะไรกินเลย
    แบบพระอริยเจ้าเมืองโกสัมพีก็แล้วกัน

    แล้วต่อไป ตามบาลีท่านบอกว่า
    คนที่เป็นพระโสดาบันทรงศีลห้าบริสุทธิ์ผุดผ่อง
    แต่ว่าอาตมาพิจารณาแล้ว ว่าคนที่เป็นพระโสดาบัน
    คือ พระอริยเจ้าเบื้องต้นไม่ทรงแต่ศีลห้า อย่างเดียว
    คือหมายความว่า มีกรรมบถ ๑๐ เข้าครอบงำด้วย
    คือว่า กรรมบถ ๑๐ นี้มีในกำลังใจของท่านด้วย
    จะเห็นว่าคนที่เป็นพระโสดาบันอย่างนางวิสาขาก็ดีอย่างใครก็ตามเถอะ
    มีความมั่นคงในการบริจาคทานอย่างยิ่ง
    หมายความว่า พระเจ้าจะมีความอดอยากประการใดก็ตามที
    ถ้าอดแบบไหน ถ้าไม่เกินวิสัยให้อย่างนั้น
    ฉะนั้นตามพระวินัยที่องค์สมเด็จพระจอมไตรทรงบังคับพระว่า
    "ถ้าไม่มีความจำเป็นจริง ๆ
    ห้ามขอของใช้จากท่านที่เป็นพระเสขบุคคล
    หรือ ในตระกูลที่เป็นพระเสขบุคคล"

    คำว่า "เสขะ" นี่ บรรดาท่านพุทธบริษัท แปลว่ายังต้องมีการศึกษาอยู่
    "อเสขะ" แปลว่า ไม่มีการศึกษาแล้ว
    ฉะนั้น คำว่า "เสขะ" ก็หมายความตั้งแต่พระโสดาบัน พระสกิทาคามี
    และพระอนาคามี อย่างนี้เรียกว่า พระเสขบุคคล
    ถ้าหากเป็นพระอรหันต์เรียกว่า "อเสขบุคคล"
    คือไม่ต้องตัดกิเลสต่อไป กิเลสหมดแล้ว

    ฉะนั้น จะเห็นได้ว่าตระกูลที่เป็นพระโสดาบัน
    บรรเทาความโลภ การบรรเทาความโลภนี่บรรดาท่านพุทธบริษัท
    เมื่อความโลภคลายตัวลงมากเท่าไร
    จิตใจในการบริจาคทานก็เข้ามาแทนที่
    ความโลภที่มีอารมณ์อยากได้ทรัพย์สมบัติของบุคคลอื่นโดยไม่ชอบธรรม อารมณ์นี้ไม่มีตั้งเบื้องต้นของพระโสดาบัน
    เมื่อเป็นพระโสดาบันแล้ว ไม่มีความโลภแน่ จะว่าไม่มีเลยก็ไม่ได้นะ
    ความโลภที่อยากได้ทรัพย์สมบัติของบุคคลอื่นมาเป็นของตน
    โดยไม่ชอบธรรมไม่มีในพระโสดาบันแน่
    แต่ว่าการต้องการความร่ำรวยในทรัพย์สินยังมีอยู่
    แต่ว่าเป็นการร่ำรวยด้วยสัมมาอาชีวะ คือ เลี้ยงชีวิตโดยชอบธรรม
    ไม่คดโกงไม่ลักขโมย ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
    หากินด้วยความสุจริตด้วยประการทั้งปวงยังมีอยู่
    สำหรับพระโสดาบัน อาการอย่างนี้
    บรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน จะคิดว่าพระโสดาบัน มีแต่เพียงศีลห้า
    นั่นไม่ถูก ถึงแม้บาลีบางอย่างจะบอกว่ารักษาแค่ศีลห้าโดยเฉพาะก็ตาม
    อันนี้ความมั่นคงของท่านมีแน่ในการรักษาศีลห้า
    แต่พระโสดาบันไม่มีเฉพาะศีลห้าแน่
    ในศีลห้ามีบอกว่า "อทินนาทานา เวรมณี"
    เราจะงดเว้นไม่ยึดถือเอาทรัพย์สมบัติของบุคคลอื่นใด
    มาเป็นของตนโดยไม่ชอบธรรม การงดเว้นเฉย ๆ อารมณ์ก็ยังหนักอยู่

    ทีนี้ สำหรับตระกูลที่เป็นพระโสดาบันมีความมั่นคงในทานบารมี
    จะเห็นว่าทุกคนที่เป็นพระโสดาบัน ไม่มีอาการหวงด้านบุญกุศล
    แม้จะจนแสนจน ก็พร้อมในการยอมให้
    นี่เป็นข้อหนึ่งที่จะพิจารณาได้ว่า
    พระโสดาบันก็มีกรรมบถ ๑๐ ข้อ
    ที่เรียกว่า "มโนกรรมข้อที่ ๑" เข้าไปประสานอยู่อย่างมาก

    และอีกประการหนึ่งสำหรับพระโสดาบันจะเห็นได้ชัด
    พระโสดาบันนี้ก็มีการบรรเทาความโกรธ
    แต่อาจจะบรรเทาความโกรธน้อยกว่าพระสกิทาคามี
    คนที่เป็นพระโสดาบันจริง ๆ บรรดาท่านพุทธบริษัท
    เราจะพิจารณากันได้จากอารมณ์ที่พูดอย่างนี้
    เพื่อบรรดาท่านพุทธบริษัทพิสูจน์กำลังใจของท่านเอง
    เพราะอาตมาน่ะสงสัยว่า เวลานี้หลังจากกึ่งพุทธกาลมาแล้ว
    บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย
    มีความแกล้วกล้าในการบำเพ็ญกุศลกันมาก
    ไม่ใช่ว่าจะทำบุญเฉพาะวัดท่าซุงไม่ใช่อย่างนั้น

    หลังจากกึ่งพุทธกาลแล้วหลายปี
    อาตมาจึงได้เริ่มสอนคนในการเจริญพระกรรมฐาน
    ก่อนหน้านั้นหลายปีท่านทั้งหลายที่อยู่ในกรุงเทพฯ ก็ดี
    ในต่างจังหวัดก็ดี ถึงวันสำคัญของพระพุทธศาสนาก็ดี
    หรือว่าพระองค์ใดที่มีความดีควรที่จะยอมรับนับถือได้
    ท่านก็ไปกันเป็นตับ เรียกว่า รถเป็นสิบ ๆ คัน
    ไปรถคันใหญ่ รถคันเล็กไม่จำกัดการทอดกฐินการทอดผ้าป่า
    ในกาลก่อนไม่มีการซู่ซ่ามากมายอย่างเดี๋ยวนี้
    เดี๋ยวนี้ไปกันหนัก แล้วก็ที่วัดไหนจะมีการสอนพระกรรมฐาน
    ท่านก็ไปขนาดหนัก หรือว่าทุกวัดที่มีการสอนพระกรรมฐาน
    แต่ละวัดไม่ขาดคนที่เจริญพระกรรมฐาน
    ถ้าเป็นวันสำคัญวัดไม่พอจะบรรจุคน
    นี่กำลังใจของบรรดาท่านพุทธศาสนิกชน
    มีความมั่นคงในพระพุทธศาสนาขนาดนี้
    ก็ชักสงสัยว่า ความดีของท่านที่จะเข้าไปถึงพระโสดาบัน
    สกิทาคามีคงมีไม่น้อย แต่ก็บางท่านอาจไม่เข้าใจว่า
    พระโสดาบัน น่ะเป็นอย่างไร

    อาตมาก็ขอพูดนิดหนึ่ง ที่พูดอย่างนี้เพราะอะไร?
    เพราะมีหลายคนที่มาหาอาตมาถามถึงปฏิปทาของท่าน
    เห็นความนิ่มนวลของจิต มีความเยือกเย็นของอารมณ์
    ก็ชักสงสัยว่าท่านผู้นี้
    ๑. ไม่ลืมความตาย
    ๒. มีความเคารพในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระอริยสงฆ์
    ๓. มีศีลห้าบริสุทธิ์จริง แล้วก็
    ๔. มีอารมณ์กรรมบถ ๑๐ เข้ามาแทรกใจอยู่มาก
    และมีความเห็นถูก คือไม่คัดค้านคำสอน
    ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ครั้นลองอ้อมไปอ้อมมา คุยอ้อมไปอ้อมมา ไม่ถามตรง ๆ
    ในที่สุดก็รับเป็นความจริงว่า เป็นไปตามนั้น
    ที่ท่านรับ แต่ถ้าไม่รับ อาตมาไม่ได้บอกว่า นี่ท่านเป็นพระโสดาบันนะ
    ไม่ได้บอกอย่างนั้น คุยกะหริ่ม ๆ เข้าไปถึงว่า ความรู้สึกว่าเราจะตายมีไหม พระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ ควรจะยอมรับนับถือไหม
    แต่ไม่พูดตรงแบบนี้นี่มันตรงไป
    เรียกว่าเลียบเคียงไปให้เจ้าของไม่รู้ตัว เจ้าตัวไม่รู้ตัว
    แต่ว่าคนทุกคนไม่ใช่คนโง่ อาตมาไม่มีความรู้สึกว่าใครโง่
    มีความรู้สึกจริง ๆ ว่า คนทุกคนในโลกนี้ฉลาดทั้งหมด
    คนที่ไม่ฉลาด คนนั้นก็หาอะไรกินไม่ได้
    คนที่จะสามารถเลี้ยงตัวเองได้ทุกคน ย่อมเป็นคนฉลาด
    แต่ความจนแล้วก็ความโง่หรือความฉลาด ไม่ได้วัดฐานะกัน
    ไม่มีความจำเป็น พูดไปก็มากเวลา
    เวลามันใกล้จะหมด ในที่สุดก็จับได้ว่าท่านทรงอารมณ์ตามนี้จริง

    ทีนี้สำหรับบุคคลผู้เข้าเขตพระโสดาบัน
    บรรดาท่านพุทธบริษัท พิจารณากำลังใจตามนี้นะ
    คนที่เข้าเขตของพระโสดาบัน

    อันดับแรก ย่างเข้าสู่โคตรภูญาณ คำว่า "โคตรภูญาณ" นี่
    จิตอยู่ระหว่าง "โลกียะ" กับ "โลกุตตระ"
    เหมือนกับลำรางเล็ก ๆ ที่ยืนคร่อมด้วยสองขา
    ขานี้อยู่ฝั่งนี้ ขาโน้นอยู่ฝั่งโน้น
    ยังจะถือว่าเป็นพระโสดาบัน เป็นโลกุตตระ ก็ไม่ได้
    เป็นโลกียะผู้ทรงฌานเฉย ๆ ก็ไม่ถูก
    ระหว่างที่ยืนคร่อมอยู่อารมณ์ ๒ อารมณ์ทั้งโลกีย์และโลกุตตระ
    ท่านเรียกว่า "โคตรภูญาณ"
    ตอนนี้กำลังใจจะรักพระนิพพานอย่างยิ่ง
    คือ ไม่ต้องการเกิดเป็นมนุษย์เป็นเทวดาหรือพรหม
    จิตต้องการอย่างเดียวคือ พระนิพพาน
    ตอนนี้เป็นโคตรภูญาณ หลังจากนั้นเมื่ออารมณ์เข้าถึงพระโสดาบัน
    อารมณ์ธรรมดาคือ ความเยือกเย็นของใจจะเกิดขึ้นมากกว่าปกติที่แล้วมา
    นั่นมีความรู้สึกในด้านความโลภ
    ความโลภนี่ การทำมาหากินเป็นของธรรมดาด้วยความสุจริตธรรม
    การอยากได้ทรัพย์สมบัติของบุคคลอื่นใดไม่มีอีกแล้ว
    จิตหายสลายตัวจากอารมณ์นี้ต้องการอย่างเดียว คือ หากินโดยสุจริตธรรม

    ประการที่ ๒ กำลังของความโกรธ
    ความโกรธนี่ยังมี แต่อาการยับยั้งมีการความโกรธรู้สึกว่าช้ากว่าเก่ามาก
    แล้วอารมณ์ก็ไม่ฉุนเฉียวเท่าเดิม แล้วก็หายเร็ว

    ต่อมากำลังของความหลง ความหลงในชีวิตร่างกาย
    ยังมีในพระโสดาบันอยู่บ้าง แต่ท่านไม่ได้ลืมความตาย
    มีความรู้สึกอยู่เสมอว่าชีวิตนี้มันต้องตาย

    ถ้าจิตใจมีอารมณ์ทรงตัว ถ้าท่านที่ได้ สองในวิชชาสาม
    คือ ได้ทิพจักขุญาณ เวลานั้นความเป็นทิพย์ของท่านเมื่อก่อนหน้านั้น
    ท่านจะไม่เห็นภาพพระนิพพานเลย
    จะเห็นเฉพาะตั้งแต่สวรรค์ไปถึงพรหม
    พอจิตเข้าถึงโคตรภูญาณ จะสามารถเห็นนิพพานได้ชัดเจนแจ่มใสมาก
    สำหรับท่านที่ได้ อภิญญา ยังไม่เข้าเขตพระโสดาบัน
    ท่านไม่สามารถจะเข้าเขตนิพพานได้
    อย่างเก่งก็ไปถึงพรหมชั้นที่ ๑๖ หรือ อรูปพรหม
    พอกำลังใจเข้าถึงพระโสดาบัน เข้าเขตพระนิพพานได้สบาย

    แล้วก็สำหรับท่านที่บอกว่านิพพานไปไม่ได้เห็นไม่ได้นั้น เ
    ป็นเรื่องของคนที่มีกิเลสหนา
    ถ้ากิเลสหนาปิดบังใจ จิตสกปรกไม่สามารถจะไปได้

    เอาละ บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย
    หวังว่าท่านทั้งหลายคงไม่สงสัยในอารมณ์ของท่าน เวลานี้มองดูเส้นของนาฬิกาก็บอกหมดเวลาพอดี ต้องขอลาก่อน ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผล
    จงมีแด่บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนทุกท่าน สวัสดี...
    ที่มา http://palungjit.org/threads/เพียง๑๐๐บาทร่วมบุญปิดสมเด็จพระพุฒาจารย์โต๖๙นิ้ว.548123/
     

แชร์หน้านี้

Loading...