หนีนรกกับหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ตอนที่ ๒๒ การปฏิบัติตนเพื่อหนีนรกแบบง่าย ๆ (ต่อ)

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 16 กรกฎาคม 2015.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    หนีนรกกับหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ตอนที่ ๒๒ การปฏิบัติตนเพื่อหนีนรกแบบง่าย ๆ (ต่อ)
    [​IMG]
    ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย
    ตอนนี้เป็นตอนที่ ๒๒ ของการหนีนรกถือว่า เป็นตอนพิเศษ
    เป็นตอนที่การปฏิบัติหนีนรกแบบง่าย ๆ และเบา ๆ
    หรือเรียกกันว่า "แบบชาวบ้าน ๆ"

    ตอนที่ ๒๑ พูดถึงพุทธานุสสติกรรมฐาน
    การเจริญพุทธานุสสติกรรมฐานนี่บรรดาท่านพุทธบริษัท
    ที่ทำกันต้องเข้าไปนั่งสมาธิในป่า ในเขา ในที่คับแคบ
    ในที่อะไรต่อมิอะไรบ้าง ในที่เร้นลับในที่สงัด
    แต่ว่าท่านชาวบ้านทั้งหลาย ชาวบ้านระดับไหนก็ตามที่เวลาน้อย
    จะหาเวลาว่างไปทำอย่างนั้นไม่ได้
    ถ้าอ่านตำราแบบนั้นแล้วก็คิดว่า
    คนอย่างเราไม่มีโอกาสเจริญพุทธานุสสติกับเขา
    ความจริงการตัดสังโยชน์มีเฉพาะอนุสสติเท่านั้น
    ไม่มีกรรมฐานอื่นเจือปน

    อย่างนึกถึงพระพุทธเจ้าก็เป็น พุทธานุสสติกรรมฐาน
    นึกถึงพระธรรมเป็น ธัมมานุสสติกรรมฐาน
    นึกถึงพระอริยสงฆ์เป็น สังฆานุสสติกรรมฐาน
    นึกถึงศีลและกรรมบถ ๑๐ เป็นสีลานุสสติกรรมฐาน
    รวมความว่าทั้งหมดอยู่แค่อนุสสติ

    "อนุสสติ" นี่ท่านแปลว่า ตามนึกถึง ตามนึกถึงเท่านั้น
    ท่านไม่ได้บอกว่าต้องไปนั่งสมาธิวันละกี่ชั่วโมง
    ถ้ากำลังใจเราเข้มข้นจริง ๆ
    ท่านที่มีเวลามาก วิธีตามนึกถึงให้จิตเป็นสมาธิในพุทธานุสสติกรรมฐาน
    มีวิธีทำง่าย ๆ นั่นก็คือ ใช้การบูชาพระพุทธรูป
    ถวายอาหารเป็นการบูชาคุณพระพุทธเจ้า
    แต่เรามองไม่เห็นองค์พระพุทธเจ้าท่านอยู่ที่ไหน
    ก็ใช้พระพุทธรูปที่บ้านนี่แหละ ถวายท่านที่นั่น
    สำหรับของที่ถวายพระพุทธรูป
    ก็ไม่มีความจำเป็นต้องไปหาของที่มีราคาแพง
    อาหารที่ท่านบริโภคทุกวันน่ะ มีอะไรบ้างใช้เฉพาะอย่างนั้น
    เอากันแต่เพียงว่าก่อนที่จะบริโภคข้าว
    ตักมาก่อนที่เราจะตักกินแกงและกับ น้ำพริกปลาร้า
    ผักต้ม อะไรก็ตาม ปลาย่าง เท่าที่มีอยู่
    เอามาก่อนที่เราจะกินของนั้น

    รวมความว่า เราไม่ถวายของที่เป็นเดนกับท่าน
    แล้วก็ไปถวายข้างหน้า ไปตั้งไว้ข้างหน้า
    ถ้ามีธูปก็จุดธูป ไม่มีธูปก็ไม่ต้องจุด
    กราบด้วยความเคารพ นั่งมองพระพุทธรูปด้วยความเคารพ
    จำภาพของท่านไว้ ตั้งใจว่า "นะโม" ๓ จบ
    กล่าววาจาเป็นภาษาไทยก็ได้ว่า
    "ข้าพระพุทธเจ้า ขอถวายข้าวและกับและน้ำแก่พระองค์
    แด่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
    ขอสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจงสงเคราะห์
    โปรดให้ข้าพเจ้าเข้าถึงพระนิพพานในชาตินี้" เอาแค่นี้ก็พอ

    คำว่า "การเข้าถึงพระนิพพาน" เพราะการถวายข้าวพระพุทธรูป
    จะถือว่าเกินพอดีมันก็ไม่ใช่
    มันเป็นความดีที่ค่อย ๆ ทำ ค่อย ๆ ก้าวเข้าไป
    ถ้าเราตั้งใจไว้เพื่อนิพพาน ถ้าจะมีคำถามมาว่า
    "หวังนิพพานได้แน่นอนไหม?" ก็ต้องตอบว่า "หวังได้แน่"
    ถ้าชาตินี้ไม่ได้ ชาติหน้ามันก็ได้
    กำลังใจประเภทนี้ ถ้าเราไม่ตกนรก
    มันก็จากสวรรค์ไปพรหมจากพรหมไปนิพพาน ไม่มีอะไรหนัก

    ถ้าถามว่า "ทำอย่างนี้เป็นพุทธานุสสติกรรมฐานหรือ?"
    ก็ต้องตอบว่า "ใช่ แล้วก็ทรงด้วย และง่ายด้วย"

    พุทธานุสสติ คือ การนึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์
    คำว่า "เป็นอารมณ์" ไม่ใช่ทุกลมหายใจเข้าออก
    มีจิตห่วงพระพุทธเจ้า นึกถึงพระพุทธเจ้า
    ถ้าเราไม่มีพระพุทธเจ้า ก็พระพุทธรูปนั่นแหละ
    นึกถึงพระพุทธรูปเมื่อไร ก็ถึงพระพุทธเจ้าเมื่อนั้น

    ตอนนี้ก็เห็นว่า ถ้าเราถวายท่านทุกวัน จิตเราจะเริ่มเป็นห่วงท่าน
    ก่อนที่จะบริโภคอาหารหรือก่อนจะทำอาหาร
    จิตก็จะคิดว่า วันนี้เราจะมีอะไรถวายพระพุทธรูป
    บางทีวันนี้ถวายแล้วไม่ทันจะถึงวันพรุ่งนี้ก็นั่งคิด
    เดินไปบ้าง ทำงานบ้าง
    ก็อดคิดไม่ได้ว่า อาหารอย่างนี้มีพวกนี้
    เราจะนำถวายพระพุทธรูป อย่างนี้
    เป็นการนึกถึงพระพุทธเจ้าจริง ๆ ตรง ๆ ด้วย เป็นพุทธานุสสติกรรมฐาน
    ถ้าถวายข้าวพระพุทธรูปแบบนี้จนชิน
    ถ้าวันไหนไม่มีโอกาสจะถวายท่าน
    วันนั้นใจไม่สบาย อย่างนี้ถือว่าเป็นฌานในพุทธานุสสติกรรมฐาน
    รับรองว่า ตายชาตินี้ไม่ตกนรกแน่

    ต่อไป "ธัมมานุสสติกรรมฐาน" ทำอย่างไร?
    ธัมมานุสสติกรรมฐานทำได้หลายแบบ
    แบบต้นก็คือว่า เวลากลางคืนหรือกลางวัน หรือตอนเช้า
    ตามเวลาที่ว่าง ตั้งใจบูชาพระ
    เรียก "บูชาพระ" คือสวดมนต์
    เราเข้าไปถึงหน้าพระพุทธรูป เข้าไปแล้วเป็นพุทธานุสสติกรรมฐาน
    แล้วต่อไปก็เป็นธัมมานุสสติกรรมฐาน
    ตั้ง "นะโม" ๓ จบด้วยความเคารพ
    "นะโม" นี่แปลว่า ข้าพเจ้าขอนอบน้อม
    คือ นมัสการองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
    หรือว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์พระองค์นั้น
    เป็นการกล่าวคำสรรเสริญพระพุทธเจ้า
    แสดงความเคารพด้วยความจริงใจ
    ต่อมาบูชานึกอะไรได้บ้าง
    ถ้าว่าสวดมนต์จริง ๆ ไม่ได้ ก็ว่าต่อไปสักเล็กน้อยคือ

    "พุทธัง สรณัง คัจฉามิ" ในใจก็นึกว่า ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง
    "ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ" ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นที่พึ่ง
    "สังฆัง สรนัง คัจฉามิ" ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง

    ถ้าว่าทั้ง ๓ อย่างนี้ถือว่าเป็น พุทธานุสสติด้วย ธัมมานุสสติด้วย
    สังฆานุสสติด้วย พร้อม ๆ ไปหมดทั้ง ๓ ประการ

    ที่นี้ถ้าสวด "อิติปิโสฯ" ได้ก็สวดอิติปิโสฯ ต่อ "อิติปิโสฯ" น
    ี้เป็นการสรรเสริญคุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม คุณพระอริยสงฆ์โดยตรง
    ถ้าสวดด้วยความเคารพช้า ๆ นึกในใจก็ได้
    ถือว่าเป็นพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติโดยตรง
    รวมความว่า ทั้ง ๓ อนุสสติได้ครบถ้วนสมบูรณ์

    ฉะนั้น การที่เราบูชาพระก็ดี สวดมนต์ก็ดี
    ถ้าวันไหนไม่ได้บูชาพระหรือไม่ได้สวดมนต์ตามที่พึงจะสวดได้
    ถ้าสวดไม่ได้จริง ๆ ก็อย่าลืมนึกในใจหรือว่าออกปากก็ได้ ว่า
    "พุทธัง สะระณัง คัจจฉามิ ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง
    ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นที่พึ่ง
    สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระอริยสงฆ์เป็นที่พึ่ง"

    ถ้าถามว่า ทำไมจำกัดพระอริยสงฆ์?
    พ่อนักบวชจริง ๆ ไว้ใจไม่ได้ ที่ดีก็มีมาก ที่เลวก็ไม่น้อย
    ถ้าพระอริยะนี่ท่านไม่เลว ท่านมีแต่ก้าวหาความดี
    กอบโกยความดีให้มากขึ้น ถือว่ามีความดีส่วนเดียวก็ได้
    ถ้าจิตใจของท่านมีความห่วงในการสวดมนต์หรือบูชาพระ
    ถือว่าเป็นความมั่นคง คือมีฌานในธัมมานุสสติกรรมฐานแล้ว

    ฉะนั้น เวลานี้มีอยู่แบบหนึ่ง เขามีเทปพระธรรม
    เทปที่บันทึกเสียงเกี่ยวกับธรรมะจะเป็นพระสูตร
    หรือธรรมะส่วนใดส่วนหนึ่งก็ได้
    ถ้าเราชอบใจเทปอันไหน ธรรมะส่วนไหนที่เราหามาแล้วเราชอบ
    หรือว่าสามารถบันทึกเสียงพระสวดมนต์ก็ได้
    เวลาที่ท่านนอนลงไปแล้วก็เปิดเทปฟัง
    ฟังด้วยความเคารพ เมื่อฟังแล้วจะจบหรือไม่จบ
    จะหลับก็ช่างเถอะ หลับเมื่อไรปล่อยไปอย่าไปฝืนใจ
    ถ้าฟังยังไม่ทันจบหลับ ดี
    เพราะฟัง ๆ ไปจิตเริ่มเป็นสมาธิทีละน้อย ๆ
    เมื่อจิตรวมตัวถึงฌานก็หลับ
    ในขณะที่หลับกี่ชั่วโมงก็ตาม กว่าจะตื่น
    ท่านถือว่าทรงฌานนั้นอยู่ตลอดเวลา
    ถ้าเป็นอย่างนี้ถือว่าท่านทรงฌานในธัมมานุสสติกรรมฐานแน่นอน
    ก็ปฏิบัติไม่ยาก

    วิธีปฏิบัติในสังฆานุสสติ สังฆานุสสตินี่ให้เรานึกถึงพระสงฆ์
    มันก็ไม่แน่นอนนัก เราอาจจะนึกได้แต่บางทีก็ลืมไป
    ต้องสร้างความห่วงใยในพระสงฆ์ ทำให้จิตเป็นห่วง
    เราเป็นคนห่วงพระสงฆ์ แต่การห่วงนี่ต้องเสียทรัพย์สินบ้าง
    แต่ไม่ต้องมากนัก ถ้าหากว่ามีพระมาบิณฑบาตถึงบ้านท่าน
    หรือท่านมีเวลาที่จะใส่บาตรได้ด้วย ก็ไม่แน่นอนนัก
    บางคนมีเวลาน้อย เช้าต้องรีบไปทำงาน
    รอพระบิณฑบาตไม่ได้ อย่างนี้ก็มีมาก
    สมมุติว่าท่านมีเวลาจะใส่บาตร
    ท่านก็ตั้งใจใส่บาตรพระในตอนเช้า
    อาหารที่ใส่จะมีกับข้าวหรือไม่มีกับก็ไม่สำคัญ
    มีข้าวเฉย ๆ ก็ใช้ได้ จะใส่มากองค์ หรือน้อยองค์ก็ใช้ได้

    เป็นอันว่า เรามีความรู้สึกคิดไว้ว่าเราจะใส่บาตรพระสงฆ์
    จิตก็เป็นห่วง วันนี้เรามีของใส่บาตรแล้ว
    จิตก็คิดห่วงว่าพรุ่งนี้จะมีอะไรใส่บาตรบ้าง
    แล้วก็ตอนเช้าตื่นขึ้นมา
    ถ้าแม่บ้านหรือครัวก็ต้องรีบหาอาหารให้ทันพระมาบิณฑบาต
    แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาตั้งใจคอยว่า พระมาแล้วหรือยัง
    เมื่อใส่บาตรไปแล้วก็ยังอดคิดไม่ได้ว่า
    วันพรุ่งนี้เราจะมีอะไรใส่บาตรบ้าง
    บางทีตอนกลางวันและตอนเย็นยังไม่ถึงวันพรุ่งนี้นี่
    เตรียมตัวว่าวันพรุ่งนี้เราจะใส่บาตร ใช้ข้าวอะไรใช้กับอะไรอย่างนี้เป็นต้น

    จิตใจของเราก็มีความกังวลในพระสงฆ์
    ว่าเราเองใส่บาตรในพระสงฆ์ อย่างนี้เป็นสังฆานุสสติแน่นอน
    และก็เป็นจาคานุสสติกรรมฐาน เป็นทานการบริจาคด้วย
    ได้อานิสงส์ ๓ อย่าง

    ถ้าสมมุติว่าเวลาที่เราจะใส่บาตรไม่ทัน ธุระมันมากในตอนเช้า
    ถ้าเราเป็นคนมีข้าวเปลือกหรือข้าวสารก็เอาภาชนะหรือปีบ หรือถัง
    อะไรก็ได้มาตั้งไว้ ๑ ลูก ที่ใกล้ที่บูชา
    กลางคืนเวลาบูชาพระเสร็จ ก็ตักข้าวใส่ในถังหรือว่าในขัน
    หรือว่าในโถอะไรก็ตามเถอะ
    เอาข้าวเปลือกหรือข้าวสารก็ตาม มากก็ได้ น้อยก็ได้ตามกำลัง
    ถ้ามีน้อยจริง ๆ วันละ ๑ จอกลอย หรือวันละ ๑ ถ้วยชาก็ได้
    ทุกครั้งที่จะใส่ เพื่อเป็นการยิงกระสุนนัดเดียวได้นกหลายตัว
    ก็ว่า "คาถาวิระทะโยฯ" ของหลวงพ่อปานไปด้วย ๑ จบ
    หรือจะว่า "คาถามหาลาภ" ที่พิมพ์แจกไปก็ได้ จะดีมาก

    "คาถามหาลาภ" ทั้งหมด รวม "คาถาวิระทะโยฯ" ด้วย
    ว่าหลายจบก็ได้ ก่อนจะตักข้าวใส่ถัง
    เวลาสวดมนต์บูชาพระเสร็จ สวดมนต์เสร็จ
    "มนต์" ไม่ต้องสวดมากนักก็บูชา
    ตั้งใจนึกถึงพระพุทธเจ้า ว่าคาถาบทนั้น
    และนึกถึงพระปัจเจกพุทธเจ้าด้วยสัก ๙ จบ
    หรือ ๕ จบ หรือ ๓ จบ หรือ ๗ จบตามเวลา
    เวลาที่ตักข้าวจะใส่ในถังก็ว่าเสีย อย่างนี้ถือว่าเป็นสังฆานุสสติแน่นอน
    และก็เป็นจาคานุสสติจะให้ เป็นทานการบริจาคด้วยเสร็จ
    ได้ ๓ อย่าง ๔ อย่างด้วยการมีลาภมีผล

    ถ้าบรรดาท่านพุทธศาสนิกชน เรียกว่าไม่ถนัดในการใส่ข้าว มันลำบาก
    ข้าวนี้ได้มาก ๆ จึงไปถวายพระ ถ้าการใส่ข้าวลำบาก ใช้เงินเถอะ
    ก็ได้เหมือนกันก็คิดว่า เงินจำนวนนี้เราจะนำไปถวายพระสงฆ์
    เป็นค่าภัตตาหารหรือค่าก่อสร้างอะไรก็ตามท่านเถิด
    ท่านจะใช้เป็นค่าภัตตาหารก็ได้ ค่ายารักษาโรคก็ได้ ค่าผ้าผ่อนท่อนสไบ
    ถ้าไม่มีจะใช้ท่านก็ซื้อได้ ทำการก่อสร้างก็ได้
    ไปบำรุงพระธรรมก็ได้ ตามใจท่าน
    เราเอาหมดทุกอย่าง แล้วก็เอาเงินใส่กระเป๋าลงไป
    ถามว่าใส่เท่าไร? ก็ต้องตามใจผู้ใส่
    ท่านมีมากท่านก็ใส่มาก ท่านมีน้อยท่านก็ใส่น้อย
    แต่การใส่อย่าให้ลำบากตนเอง
    ใส่เงินอย่าถือว่าต้องมาก ต้องทุ่มเทเท่านั้นเท่านี้
    อย่าเอาอย่างนั้น เอากันแค่เราห่วงพระสงฆ์
    ให้จิตใจนึกถึงพระสงฆ์ว่า เงินจำนวนนี้ทั้งหมดเราจะถวายพระสงฆ์
    แล้วก็ใส่ลงไปถ้ามันมีน้อยใส่หนึ่งสตางค์ก็ได้ สองสตางค์ก็ได้
    ห้าสตางค์ก็ได้ หรือวันละสองสลึงก็ได้ วันละบาทก็ได้ เท่าไรก็ได้
    จำนวนที่ใส่นี่ไม่จำกัด เราใส่ไว้เฉพาะ เฉพาะที่เราจะไม่เดือดร้อน
    และก็เราตั้งใจถวายเป็นสมบัติของพระสงฆ์
    เพื่อใช้ในกิจการต่าง ๆ ตามที่กล่าวมาแล้ว
    อย่างนี้ก็เป็นสังฆานุสสติด้วย เป็นจาคานุสสติด้วย
    เป็นทานการบริจาคด้วย ได้ ๓ อย่าง

    แล้วต่อไป ถ้าสตางค์ก็ไม่สะดวก ข้าวสารหรือข้าวเปลือกก็ไม่สะดวก
    ท่านผู้รับฟัง อย่าเพิ่งหัวเราะเยาะกันนะ
    เพราะว่าเรื่องข้าวว่าไม่มีเลยไม่จริงไม่ใช่อย่างนั้น จริง
    อาตมาตั้งศูนย์สงเคราะห์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
    ให้ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑ เป็นต้นมา
    เคยพบหลายวาระที่หมู่บ้านหลาย ๆ หมู่รวมกัน
    ไม่ได้เห็นเมล็ดข้าวมาแล้วตั้ง ๒-๓ เดือนก็มี
    ต้องกินขุยป่า มีหัวเผือกหัวมัน
    เอาข้าวไปแจกคนละถังดีใจเกือบตาย รับน้ำตาไหล
    มีผ้าผ่อนท่อนสไบก็ไปแจก มีอาหารไปแจก
    มียารักษาโรคไปแจก ต้องแบกกลับบ้านกัน
    บางท่านบอกน้ำตาไหลดีใจ ถึงกับออกปากบอกว่า
    "ผมนี่ ๒ เดือนแล้วครับไม่เห็นเม็ดข้าวเลย" อย่างนี้มีไม่ใช่ไม่มี
    ท่านที่บอกว่าจน ๆ ยังมีเงินใช้ ยังมีอาหารกิน
    ยังจนไม่จริง อย่างนั้นจนจริง ๆ

    และการกระทำแบบนี้ การสร้างโรงเรียนในถิ่นทุรกันดารก็ดี
    แจกเสื้อผ้านักเรียนในถิ่นทุรกันดารก็ดี
    ช่วยการศึกษา อุปกรณ์การศึกษาก็ดี
    และการสงเคราะห์คนจนก็ดี
    ทำมาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ก็ยังมีจดหมายหลายสิบฉบับบอกว่า
    "ทำไมดีแต่สร้างวัด ไม่ไปช่วยอย่างนี้บ้าง"
    ต้องขอประทานอภัยโทษ
    ท่านที่เขียนมาก็เคยมาวัดป้ายก็มองเห็น
    และหนังสือที่แจกของไปช่วยสงเคราะห์เขาออกทุกปี
    แต่ท่านประเภทนี้ท่านมีตาเป็นทิพย์ มองเห็นโลกทั้งหมด
    ไม่เห็นหรอก ต้องมองดูผีจึงเห็น
    ก็รวมความว่า ท่านประเภทนี้เป็นโรคประสาทเสีย
    สัญญาวิปริต จิตเป็นบ้า เขาทำแล้วก็ยังมองไม่เห็น เดี๋ยวเตือนมา
    บางคนเขียนมาติด ๆ กันเดือนละฉบับบ้าง
    บรรยายความตามไท้เสด็จยาตรยาวเหยียด
    แต่ไม่ลงที่อยู่ไม่ลงชื่อ อย่างนี้เขาเรียกว่า "หนังสือผี ๆ" เป็นผีเขียนมา
    ถ้าเป็นคนก็คนผี ๆ เขียนมา หยาบคายแล้วก็เลวทรามมาก
    นี่เราพูดกันถึงเรื่องธรรมะนะ มาว่าอย่างนี้จะสะดุดใจหรือจำกันไว้

    ถ้าจะทำอะไรก็ใช้ปัญญาพิจารณาเสียก่อนมาว่ากัน
    คนไม่มีข้าวจะใส่บาตรแม้แต่ถ้วยตะไลหรือชาวมันมีอยู่ จะกินยังไม่มีเลย
    ถ้าจนแบบนี้หาข้าวก็ยากหาเงินก็ยาก
    ก็อยากจะบูชาพระเป็นสังฆานุสสติกับเขาบ้างทำยังไง
    เพราะพระสงฆ์ต้องมีของให้ วิธีนี้ไม่ยากท่านพุทธบริษัท

    ก็ทำกันแบบนี้ คือ ปลูกพริกสักต้นหนึ่ง หรือมะเขือสักต้นหนึ่ง
    หรือฟักแฟงแตงน้ำเต้า หรืออะไรก็ได้ที่มันกินได้
    ความจริงท่านอาจจะปลูกหลายต้นก็ช่างเถอะ
    ตั้งใจไว้ต้นหรือ ๒ ต้นก็ตาม ว่าต้นหรือ ๒ ต้นจะประเภทไหนก็ตาม
    ต้นหรือ ๒ ต้นนี้เราจะไม่กินไม่ใช้เอง
    ถ้ามีผลขึ้นมาเมื่อไรเราจะถวายพระสงฆ์
    ให้ท่านไปทำอาหารฉันกันที่วัด
    อย่างนี้เราจะเห็นต้นไม้นั้นทุกวัน
    ต้นประเภทนั้นเราเห็นทุกวัน เราต้องรดน้ำเราต้องพรวนดิน
    เราต้องใส่ปุ๋ย หรือที่บางแห่งไม่ต้องใส่ปุ๋ย อย่างที่ดี ๆ
    แล้วนี่ไม่ต้องใส่ปุ๋ย เราก็เห็นทุกวัน เห็นขึ้นมาเมื่อไรก็คิดว่า
    ต้นนี้ถ้ามีผลขึ้นมา เราไม่กิน เราปลูกไว้ถวายพระ
    เห็นทุกวันก็นึกว่า เราปลูกไว้ถวายพระ อย่างนี้เป็นสังฆานุสสติกรรมฐาน

    ก็รวมความว่า สังฆานุสสติกรรมฐาน ให้ปฏิบัติที่กล่าวมา
    ถ้าวิธีปฏิบัตินี้อย่างใดอย่างหนึ่ง
    บรรดาท่านพุทธบริษัท ถ้าวันไหนไม่ได้ทำ วันไหนไม่ได้คิดถึง
    วันนั้นใจไม่สบายต้องทำและต้องคิดถึง ใจจึงจะสบาย
    อย่างนี้ถือว่า มีฌานในสังฆานุสสติกรรมฐาน

    ตามที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดนี้ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตามในอนุสสติ
    ถ้าหากว่าท่านทำเป็นประจำ ชาตินี้ลงนรกไม่ได้
    ถ้าจะถามว่า "ก็ทำบาปไว้เยอะแยะทำไมจะลงนรกไม่ได้?"
    ก็ดูตัวอย่างท่านสุปติฏฐิตเทพบุตร
    ท่านคนนี้ ท่านทำบาปยิ่งกว่าเรามาก วันดีไม่ละวันพระไม่เว้น
    ไม่เคยยกมือไหว้ใครแม้แต่แต่พระ และไม่ยอมฟังเทศน์
    ไม่ยอมใส่บาตร ไม่ยอมทำบุญด้วยประการทั้งปวง
    แต่พอก่อนจะตายนึกถึงพระพุทธเจ้าให้มาช่วยเหลือหน่อยเดียวเท่านั้น
    ตายแล้วไปเกิดเป็นเทวดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงสเทวโลก
    ได้ฟังเทศน์จากพระพุทธเจ้าจบเดียวสมัยที่เป็นเทวดา
    ได้เป็นพระโสดาบัน คนนี้ถ้าลงมาเกิดไม่ได้เกิดเป็นมนุษย์แล้ว
    พุ่งลงอเวจีไปเลย และก็นรกทุกขุม ท่านเป็นหมด
    ประวัติมีอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องเล่าต่อ

    ก็รวมความว่าทำอย่างนี้ได้ทุกคน ท่านยับยั้งนรกในชาตินี้ได้แน่นอน
    ตายคราวนี้ไม่ลงนรก แต่ว่าจะเอาทุกชาติยังไม่ได้ เพราะยังไม่ครบ
    เอาทุกชาติต้องทรงศีลและกรรมบถ ๑๐ ให้บริสุทธิ์
    ถ้ากำลังใจพอแค่ศีลห้า ก็เอาแค่ศีลห้า
    ถ้าครบกรรมบถ ๑๐ ได้ก็ควบเลย
    อาตมาคิดว่าครบเลยดีกว่า จิตเป็นสุขและมีความแน่นอน
    ก็ถ้าถามว่าถ้าหากว่า มันปฏิบัติด้วยศีลไม่ถนัด
    ไม่มีพระจะสมาทานศีล ไม่รู้จะขอศีลจากพระที่ไหนบ้านอยู่ไกล

    ความจริงเรื่องศีลนี่บรรดาท่านพุทธบริษัท ไม่ต้องอาศัยพระเลย
    ก็พระของท่านมีอยู่แล้วที่บ้าน คือ พระพุทธรูป
    และในใจของท่านก็มีพระแล้วอยู่ตั้ง ๓ องค์
    คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์
    ที่ท่านนึกถึงอยู่ทุกวันนั่นแหละแน่นอนที่สุด
    พระที่มีลมหายใจเข้าออกน่ะไม่แน่
    บางทีข้างนอกเป็นพระ ข้างในเป็นเปรตก็ได้
    ข้างนอกเป็นพระ ข้างในเป็นสัตว์นรกก็ได้
    ข้างนอกเป็นพระ ข้างในเป็นสัตว์เดรัจฉานก็ได้
    ข้างนอกเป็นพระ ข้างในเป็นมนุษย์ก็ได้ เป็นคนก็ได้
    ข้างนอกเป็นพระ ข้างในเป็นเทวดาหรือพรหมก็ได้
    บางท่านข้างนอกเป็นพระ ข้างในเป็นก็เป็นพระ
    คือ เป็นพระอริยเจ้ามันไม่แน่นัก
    เอาให้แน่นอนจริงก็คือ พระในใจของท่าน
    เวลาสมาทานก็สมาทานนึกถึงพระพุทธรูปที่บ้านของท่าน

    ศีลต่าง ๆ ไม่มีแต่สมาทาน ศีลอยู่ที่ตัว "เว้น" ไม่ต้องสมาทานเลยก็ได้
    เราตั้งใจเว้นจริง ๆ ว่า "เราจะไม่ฆ่าสัตว์ เราจะไม่ลักทรัพย์
    เราจะไม่ประพฤติผิดในกาม เราจะไม่พูดมุสาวาท
    ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดยุยงส่งเสริมให้เขาแตกร้าวกัน
    ไม่พูดวาจาที่ไร้ประโยชน์ ไม่ดื่มสุราและเมรัย
    ไม่คิดอยากได้ทรัพย์สมบัติของบุคคลใดมาเป็นสมบัติของตัว
    โดยไม่ชอบธรรม ไม่คิดจองล้างจองผลาญทำร้ายบุคคลอื่น
    เราจะมีความเห็นถูกคือเชื่อพระพุทธเจ้าแน่นอน
    และปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์
    โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศีลห้า และกรรมบถ ๑๐
    เอาวงแคบ ๆ เท่านี้ก่อน เพียงเท่านี้
    ถ้าท่านทำได้จริง ศีลมีกับท่านแล้ว ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องกังวล

    ทีนี้ ว่ากันถึงคนที่มีความจำเป็นต้องทำบาป
    ก็มีญาติโยมพุทธบริษัทมาก ท่านที่มาเจริญพระกรรมฐานที่วัด
    ทำได้ดีด้วย สามารถได้ทิพจักขุญาณ ไปเที่ยวสวรรค์ได้
    ไปเที่ยวพรหมโลกได้ ไปเที่ยวนิพพานได้
    แล้วนิพพานเขาว่าไปเที่ยวไม่ได้ก็เป็นเรื่องของคนนั้น
    คนใดยังหนาแน่นด้วยกิเลส คนนั้นไปเที่ยวนิพพานไม่ได้
    นิพพานเวลาที่จะไปคนนั้นต้องอารมณ์ใจสะอาด
    อย่างน้อยเฉพาะเวลานั้นจิตสะอาดเท่าพระโสดาบัน
    จึงเข้าเขตนิพพานได้ เอาเฉพาะเวลาที่เขาทำกัน
    ก็เหมือนกับว่าแว่นตาที่เราใส่ เวลาไหนมันสกปรกก็มองไม่เห็น
    เวลาไหนเราขัดสะอาดแล้วก็มองเห็นชัด
    สำหรับบรรดาท่านพุทธบริษัทที่เจริญกรรมฐานก็เหมือนกัน
    เวลาไหนจิตสะอาดที่สุดเวลานั้นไปถึงนิพพานได้
    กลับลงมา ๆ สกปรกใหม่นั่นเรื่องธรรมดาของจิต
    เวลาจะไปใช้เวลาเล็กน้อยนิด ๆ ครึ่งชั่วโมง หนึ่งชั่วโมง
    สะอาดเวลานั้นเราก็ไปได้ใหม่นิพพานน่ะไปได้ไม่เป็นไร

    ก็รวมความว่า การปฏิบัติของเราบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย
    ถ้าคนตั้งใจจำทำความดี ต้องตัดสังโยชน์ ๓ ประการ
    แต่มันตัดไม่ออก อาชีพจำเป็นอย่างเช่น ทำนา ทำไร่ เป็นต้น
    ต้องใช้ยาฆ่าแมลง บางคนก็มีความจนบังคับต้องฆ่าสัตว์
    ฆ่าปลาหาเลี้ยงชีพ อย่างนี้ก็ยังสมาทานศีลได้
    เวลาใดที่จำเป็นต้องทำอย่างนั้นก็ทำไป
    การประอบอาชีพมันเปลี่ยนแปลงไม่ได้
    พระพุทธเจ้าไม่เคยตำหนิใคร เวลาใดที่เลิกจากกิจนั้น
    ทำใจให้สบายลืมอารมณ์นั้นเสีย
    แล้วปฏิบัติทุกอย่างตามที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด
    คิดว่าตั้งแต่เวลานี้เป็นต้นไปจนถึงเวลาเท่านั้น
    เราจะไม่ละเมิดเด็ดขาด และก็ลืมบาปที่ทำมาแล้ว
    ถ้าจะให้ดีที่สุด เวลาบูชาพระและสวดมนต์เสร็จ
    ตอนนั้นเราอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรดาสัตว์ทั้งหลายที่ฆ่ามาแล้ว
    ว่า "ขอให้เธอมาโมทนา รับผลกุศลเช่นเดียวกับเราตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป และขอเธอทั้งหลายจงอโหสิกรรมให้แก่เรา
    ตั้งแต่วันนี้ไปจนกว่าจะเข้าพระนิพพาน"
    เท่านี้แหละบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน
    ถ้าทำทุกวันกำลังใจจะเบา

    และอย่าลืมว่าเวลาใส่ข้าว หรือใส่สตางค์ หรือจัดของ
    เช่นจะปลูกต้นไม้ หรือปลูกมะเขือ พริก ถวายพระสงฆ์
    เวลารดน้ำสวด "วิระทะโยฯ" และ "คาถามหาลาภ" ด้วย
    ทำอย่างนี้เป็นปกติ ไม่ช้าเรื่องการหาผักปลาฆ่าสัตว์จะไม่มีกับท่าน
    เพราะอะไร? เพราะทรัพย์สินของท่านมันมากพอดู
    พอที่จะเว้นไม่ต้องทำอย่างนั้น
    สามารถจะประกอบอาชีพทรงตัวได้แบบสบาย ๆ

    เอาละบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย
    ต้องพูดเร็วหน่อยเพราะเรื่องยาว
    เวลาน้อยการปฏิบัติแบบเบา ๆ อย่างนี้
    อาตมาขอยืนยันแก่บรรดาท่านพุทธบริษัท
    ถ้าทำประจำทุกวัน ท่านมีผลตามที่กล่าวมาแล้ว
    เอาละบรรดาสาวกขององค์สมเด็จพระประทีปแก้ว
    เวลามันหมดแล้วก็ต้องขอลาก่อน
    ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผล
    จงมีแด่บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนทุกท่าน สวัสดี...
    ที่มาhttp://palungjit.org/threads/เพียง๑๐๐บาทร่วมบุญปิดสมเด็จพระพุฒาจารย์โต๖๙นิ้ว.548123/
     

แชร์หน้านี้

Loading...