หนีนรกกับหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ตอนที่ ๒๑ การปฏิบัติตนเพื่อหนีนรกแบบง่าย ๆ

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 15 กรกฎาคม 2015.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    หนีนรกกับหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ตอนที่ ๒๑
    การปฏิบัติตนเพื่อหนีนรกแบบง่าย ๆ
    [​IMG]
    บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย สำหรับเรื่อง "หนีนรก"
    ตอนนี้ก็เป็นตอนที่ ๒๑ ตอนนี้ถือว่าเป็นตอนพิเศษ
    เป็นตอนการปฏิบัติตนเพื่อหนีนรกแบบง่าย ๆ และเบา ๆ
    หรือที่เรียกกันว่า "แบบชาวบ้าน"
    คือ แบบคนที่มีภาวะมาก มีเวลาว่างน้อยปฏิบัติ

    สำหรับเรื่อง "การหนีนรก" ตอนนี้ก็ขอนำเรื่องนี้
    มาพูดกับบรรดาท่านพุทธบริษัทโดยตรงคือว่า การหนีนรก
    พระพุทธเจ้าทรงยืนยันว่า ถ้าจิตใจของท่านผู้ใด
    สามารถตัดสังโยชน์ ๓ ประการได้
    ท่านผู้นั้นก็ปลอดจากอบายภูมิทั้ง ๔
    คือ การเกิดเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน
    คำว่า "ปลอด" ในที่นี้หมายถึงปลอดทุกชาติตลอดไป
    ถ้ายังเกิดเป็นมนุษย์เพียงใด ก็จะไม่ต้องลงอบายภูมิต่อไปอีก
    สำหรับบาปอกุศลเก่า ๆ ที่ทำมาแล้วทั้งหมด
    องค์สมเด็จพระบรมสุคตตรัสว่า ไม่มีโอกาสจะให้ผลต่อไป
    ก็รวมความว่าไม่ตกเป็นทาสของบาปอกุศลต่อไปอีก

    สำหรับสังโยชน์ ๓ ประการที่พระพุทธเจ้าให้ตัด
    สังโยชน์ ๓ ประการนั้นมีความรู้สึกอย่างนี้

    ข้อที่ ๑ ที่เรียกว่า สักกายทิฏฐิ
    ความรู้สึกของบุคคลผู้มีสังโยชน์
    คือ เครื่องร้อยรัดใจให้เวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารมีอบายภูมิเป็นต้น
    เขาจะมีความรู้สึกว่า ร่างกายนี้ไม่ตาย
    ก็รวมความว่า ตั้งแต่เกิดมาถึงวันตาย ไม่รู้สึกว่าจะตายเลย
    ไม่เคยคิดถึงความตาย
    คิดว่าชีวิตจะทรงอยู่ตลอดกาลตลอดสมัย

    ข้อที่ ๒ วิจิกิจฉา ซึ่งแปลว่า สงสัย
    เขาสงสัยในความดีของพระพุทธเจ้า สงสัยพระธรรม สงสัยพระอริยสงฆ์
    ไม่มั่นใจในการยอมรับถือ
    และบางท่าน บางจุดหรือบางกลุ่ม ก็ไม่ยอมรับนับถือเอาจริง ๆ
    เห็นว่าพระพุทธเจ้าตรัสพระธรรมมาแล้วไม่เป็นเรื่อง หยาบเกินไป
    สู้ของเขาไม่ได้ อย่างนี้เป็นต้น
    พูดง่าย ๆ ก็หมายความว่าไม่ยอมรับนับถือพระพุทธเจ้า
    พระธรรม และพระอริยสงฆ์

    ข้อที่ ๓ สีลัพพตปรามาส ไม่มีการรักษาศีลอย่างจริงจัง
    หรือไม่รักษาเลย ขึ้นชื่อว่าศีล ไม่ยอมรับนับถือ เห็นว่าเป็นจริยาที่ถ่วงสังคม
    ถ้าบุคคลมีศีลเสียหมด ชาติจะไม่เจริญมนุษย์จะน้อยเกินไป
    และบางส่วนก็สมาทานศีล ถือศีลเข้าวัด นุ่งขาวห่มขาวบ้าง
    นุ่งเหลืองห่มเหลืองบ้าง นุ่งปกติบ้าง
    บางทีก็เข้าเขตปฏิบัติกันคนละ ๗ วัน ๑๕ วัน
    เป็นการปฏิบัติพิเศษ แต่ทว่าเฉพาะใน ๗ วัน ๑๕ วันนั้น
    อาจจะปฏิบัติในศีลจริงจังก็ได้ แต่พอหมดมาแล้วก็เลยลืมศีล
    ไม่สนใจเรื่องศีล บางครั้งก็ยอมรับนับถือปฏิบัติบางวัน
    แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ทำกัน ไม่สนใจเรื่องศีลจริง ๆ
    อย่างนี้เรียกว่า "สีลัพพตปรามาส"

    ทั้ง ๓ ประการนี้ต้องตัด วิธีตัดทำยังไง ?
    ก็ใช้สัมมาทิฏฐิ คือ ปัญญา ได้แก่ความเห็นชอบ
    เข้ามาพิจารณาตามความเป็นจริง
    แต่ความจริงเรื่องของความตายนี้ ไม่ต้องพิจารณาด้วยปัญญาก็ได้
    ใช้สัญญาคือ ความจำ จะเห็นว่าคนก็ดี สัตว์ก็ดี
    ที่เกิดก่อนเราบ้าง เกิดที่หลังเราบ้าง ต่างคนก็ต่างตายกันหมด

    คำว่า "หมด" หมายความว่า คนที่เกิดมาเท่าไรตายหมดเท่านั้น
    เว้นไว้แต่ว่าใครจะตายก่อนตายหลังเท่านั้น
    สัตว์ก็เหมือนกัน บางท่านเกิดก่อนเรา ท่านตาย
    บางท่านเกิดรุ่นราวคราวเดียวกับเรา ท่านก็ตายไปก่อนเรา
    บางท่านเกิดทีหลังเรา บางท่านเกิดแต่วัยเด็กก็ตาย
    บางท่านตายทั้งแต่ก่อนคลอดจากครรภ์มารดา
    บางท่านก็คลอดจากครรภ์มารดาประเดี๋ยวหนึ่งตายบ้าง
    ๒ - ๓ วันตายบ้าง เดือนสองเดือนตายบ้าง
    ขึ้นชื่อว่าเกิดแล้วตาย เราเห็นเป็นปกติ
    แต่การที่ไม่คิดถึงความตายนี้
    เป็นเรื่องของคนที่ตกอยู่ในความประมาท ไม่ยอมรับความจริง
    เราก็ต้องใช้ปัญญาพิจารณาจิตของเรา ว่าจิตของเรามันดี หรือมันเลว
    ของจริงถ้าเราไม่ยอมรับ เรายอมรับของไม่จริง ว่าเป็นของจริง
    ของไม่ดี เรายอมรับว่าเป็นของดี
    เราก็ไม่พบของจริง ไม่พบของดีกัน

    เป็นอันว่า ความตาย เห็นเขาตายกันก็คิดว่า
    สักวันหนึ่งข้างหน้าเราจะต้องตาย แล้วก็เตรียมตัวไว้
    ว่าการตายนั้นพระพุทธเจ้าตรัสว่า ตายแล้วมีสภาพไม่สูญ
    ถ้าเวลาก่อนจะตายจิตประกอบไปด้วยกุศล คือ จิตเป็นบุญเป็นกุศล
    นึกถึงความดีที่เป็นบุญอย่างใดอย่างหนึ่ง
    แล้วก็ตายในขณะที่จิตดีแบบนั้น
    ท่านบอกว่าตายแล้วไปสู่สุคติ คือ สวรรค์ เป็นต้น
    ถ้าเวลาก่อนจะตายจิตใจเศร้าหมอง
    คิดถึงอารมณ์ที่ไม่ดีเป็นบาปอกุศลอย่างใดอย่างหนึ่ง
    ตายแล้วก็ลงอบายภูมิไป มีนรก เป็นต้น

    ฉะนั้น ขอบรรดาท่านพุทธศาสนิกชน ผู้ไม่ต้องการจะลงนรกอีก
    ก็ใช้ปัญญาพิจารณาความดีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
    พระพุทธเจ้าดีอย่างไร? เวลานี้เรากำลังศึกษาสังโยชน์ ๓ ประการ
    เราก็พิจารณาความดีของพระพุทธเจ้าในขอบเขตของสังโยชน์ ๓
    ว่าที่พระพุทธเจ้าตรัสให้ทุกคนปฏิบัติในศีลห้า และกรรมบถ ๑๐
    มันดีหรือมันชั่ว ขอพูดลัดไปก่อน เพราะพูดมามากแล้ว
    ต้องถือว่าคนที่ปฏิบัติในศีลหน้า ก็ดีในกรรมบถ ๑๐ ก็ดี
    ผลที่ได้รับคือ เป็นความดี เพราะศีลก็ดี กรรมบถ ๑๐ ก็ดี
    ทั้ง ๒ ประการถ้ารวมกันเข้า จะเป็นมหาเสน่ห์ใหญ่ไปที่ไหนใครก็รัก

    ประการที่ ๑ เราไม่มีจิตใจโหดร้าย ไม่คิดจะฆ่าเขา
    ไม่คิดจะเป็นศัตรูกับใครมีความเมตตาปรานี
    ยิ้มแย้มแจ่มใส ใคร ๆ ก็ชอบ

    ประการที่ ๒ เรามีความเมตตาปรานียิ้มแย้มแจ่มใสยังไม่พอ
    มีสันโดษ ยินดีเฉพาะทรัพย์สินที่เราหามาได้โดยชอบธรรม
    ไม่ยื้อแย่งทรัพย์สมบัติของใคร
    ไปที่ไหนก็มีแต่คนไว้วางใจ มีแต่คนรักมีแต่คนชอบ

    ประการที่ ๓ จิตใจมีเมตตา ความรัก กรุณา ความสงสาร
    ยิ้มแย้มแจ่มใสเป็นปกติ ใครเจอะหน้าก็พบแต่ความยิ้ม
    หน้าบึ้งขึงจอไม่มี แล้วก็มีสันโดษ
    ยินดีเฉพาะร่วมรักเฉพาะสามีหรือภรรยาของตนเท่านั้น
    ไม่ไปยุ่งกับภรรยาหรือสามีของบุคคลอื่น
    คนประเภทนี้ไปที่ไหนใครก็รัก ไปที่ไหนใครก็ชอบ

    ต่อมาด้านวาจา ทุกคนต้องการวาจาจริง
    ทุกคนอยากจะฟังวาจาไพเราะ
    ทุกคนอยากจะฟังวาจาที่ประกอบด้วยความเป็นมิตร
    ไม่คิดประทุษร้ายซึ่งกันและกัน
    ทุกคนต้องการวาจาเป็นหลักฐานให้เป็นประโยชน์
    เราก็ใช้วาจาจริงพูดตามความเป็นจริง
    ตัดความมดเท็จออก แล้วก็ตัดวาจาหยาบออก
    ใช้วาจาที่อ่อนหวาน เป็นที่ชอบใจของคนแต่ละหมู่ คนแต่ละกลุ่ม
    กลุ่มนี้ชอบใจแบบนี้เราพูดแบบนั้น
    กลุ่มนั้นชอบใจอย่างนี้ เราพูดแบบนี้ พูดตามที่เขาชอบใจ
    แล้วก็ไม่ยุยงส่งเสริมให้ใครเขาแตกร้าวกัน
    มีแต่สรรเสริญและการพูดวาจาออกไปก็ต้องเพ่งประโยชน์
    ว่า วาจาใดที่ไร้ประโยชน์ เราไม่ทำ
    อย่างนี้ไปที่ไหนใครก็รัก ไปที่ไหนใครก็ชอบ
    ขอยืนยันว่า คนประเภทนี้ หน้าก็ยิ้ม พูดก็ดี
    คนประเภทนี้ไปไหนไม่อดตาย มีแต่เพื่อนที่รัก คนเกลียดยาก
    คนที่จะเกลียดก็มีอยู่พวกหนึ่ง
    คือ พวกคนเลวที่มีความดีไม่เท่าไม่ถึง
    ก็มีความอิจฉาริษยา นี่เป็นของธรรมดา

    ต่อไปข้อที่ ๕ ของศีล ท่านบอก แนะนำให้เว้นจากการดื่มสุราและเมรัย
    นี่ก็ทราบกันอยู่แล้วว่า การดื่มสุราและเมรัยมันเสียสตางค์เปล่า
    ถ้าสตางค์เหล่านั้นมาซื้อกับข้าวตะมีประโยชน์กว่า
    แล้วก็ทำลายศักดิ์ศรี ทำลายสุขภาพ
    เมาไปแล้วก็ไม่ใช่คนดี มีจริยาคล้ายคนบ้า
    ยังไม่เมามีอาการนิ่มนวลทุกอย่าง
    พูดจาก็ไพเราะ จริยามารยาทก็งดงาม
    พอเมาเข้าไปแล้วกลับอาการใหม่เหมือนคนบ้า อย่างนี้ใครก็ไม่ชอบ
    ถ้าเราไม่ดื่มสุราและเมรัย สติสัมปชัญญะสมบูรณ์
    มีความไม่ประมาท มีเมตตา มีกรุณา และมีสันโดษ
    มีการยิ้มแย้มแจ่มใส พูดจาอะไรก็มีหลักมีฐาน
    มีความมั่นคงในคำพูด อย่างนี้เป็นต้นใครก็ชอบ ไปที่ไหนใครก็รัก

    ต่อไปกำลังใจของเราไม่คิดอยากได้ทรัพย์สมบัติของบุคคลอื่นใด
    ยินดีเฉพาะของที่เราหาได้โดยชอบธรรม
    กำลังใจดีอย่างนี้ใครก็ชอบ
    เขาอาจจะไม่เห็นอารมณ์ของใจ แต่เห็นจริยาภายนอก
    แล้วเรื่องทรัพย์สินของชาวบ้าน เราก็สนใจเขามีอะไรดีบ้าง
    แต่ไม่ได้สนใจการลักการขโมย การยื้อแย่ง
    จริยาที่แสดงออก บรรดาท่านพุทธบริษัท
    คนที่อยากได้ด้วยความสุข
    กับคนที่อยากได้ด้วยอาการทุจริต
    อาการแสดงออกทางกายไม่เหมือนกันอย่างนี้
    คนในโลกทุกคนเป็นคนฉลาด เขาทราบว่าเราดีหรือเราเลว

    และอาการต่อไป เว้นจากความโกรธความพยาบาท ข้อนี้สำคัญมาก
    ก็เพราะอาศัยมีความเมตตา ความรัก กรุณา มีความสงสาร
    อันนี้ถ้าเว้นได้ หน้ายิ้มตลอดกาล
    ถ้าจะกล่าวกันว่า ยิ้มตลอด ๒๔ ชั่วโมงก็ได้
    ถ้าญาติโยมพุทธบริษัทที่รับฟัง จะตะโกนถามมาว่า ๒๔ ชั่วโมง
    ยิ้มไม่ได้แน่ เพราะว่าเวลาหลับมันมี
    ก็ต้องถือว่าเวลาหลับใจก็ยังยิ้ม เพราะว่าจิตเป็นสุข
    คิดแต่ความเป็นมิตร คิดแต่รักและสงสารคนอื่นอยู่เสมอ
    จิตใจก็ชุ่มชื่นเยือกเย็น คนที่มีกำลังใจไม่โหดร้าย เวลาจะพูดก็พูดดี
    เวลาจะทำก็ทำดี เพราะว่าการพูดดี
    การทำก็ดีอยู่ที่จิตใจเป็นสำคัญ จิตใจสั่งออกมาดี
    กายก็ทำดี ปากก็พูดดี ตาก็มองดี
    ถ้าจิตใจสั่งเลว กายก็ทำเลว วาจาก็พูดเลว
    ตาก็มองด้านความเลวความดุร้าย ใครเขาก็รู้
    ถึงแม้ว่าจะคิดในใจจะเข้าว่าคนอื่นไม่รู้
    เพราะเขาก็แสดงเป็นเหมือนกัน อารมณ์อย่างนี้เขามีเหมือนกัน

    แล้วก็ข้อสุดท้าย สัมมาทิฏฐิ มีความเห็นชอบ คือ ตัวปัญญา
    สัมมาทิฏฐิ ก็มีความรู้สึกว่าทุกอย่างที่ผ่านมาแล้วทั้งหมดเป็นของดี
    เรานำไปประพฤติปฏิบัติ
    ถ้าทุกคนทำได้ ทุกคนจะมีแต่ความสุข
    ข้อนี้เป็นข้อพิสูจน์ความดีของพระพุทธเจ้า
    เพราะเป็นพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์
    และก็เป็นเครื่องพิสูจน์ความดีของพระอริยสงฆ์
    ว่าในเมื่อพระพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว
    พระอริยสงฆ์นำมาบอกพวกเราจึงทราบ
    สำหรับพระธรรมนั้นได้แก่ ศีล
    รวมความว่า เรายอมรับนับถือพระพุทธเจ้า
    ยอมรับนับถือพระธรรม ยอมรับนับถือพระอริยสงฆ์
    และก็นึกถึงความตายเป็นอารมณ์
    ถ้าทำได้แค่นี้ บรรดาท่านพุทธบริษัท
    เราสามารถจะหลีกนรกได้เป็นตอน ๆ
    คือชาตินี้มีอารมณ์อย่างนี้เป็นปกติ
    ชาตินี้ลงนรกไม่ได้ แต่ชาติหน้าถ้ามาใหม่มันไม่แน่
    เราอาจจะลืมอารมณ์นี้ก็ได้ ไปคิดความเลวเข้าก็ลงนรกได้

    เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ลงนรกทุกชาติต่อไป
    ก็ทรงศีลห้า กับกรรมบถ ๑๐ ให้ครบถ้วนบริบูรณ์
    มันเป็นของไม่ยาก ถ้าเป็นคนรักดี
    การปฏิบัติอย่างนี้ บรรดาท่านพุทธบริษัท พระพุทธเจ้ายืนยันว่า
    ทุกคนถ้าปฏิบัติได้แล้ว ขึ้นชื่อว่าอบายภูมิทั้ง ๔ ประการ
    คือการเกิดเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน
    จะไม่มีสำหรับเราเด็ดขาดตลอดไปเลย
    ไม่ใช่ชาตินี้ชาติเดียว ถ้าจะเกิดอีกกี่ชาติ
    ก็หมายความว่าทุกชาติไม่มีการลงอบายภูมิทั้ง ๔

    หากว่าบรรดาท่านพุทธบริษัทปฏิบัติได้
    คือ คิดถึงความตายก็ดี คิดได้
    ยอมรับนับถือ พระพุทธเจ้า พระธรรมและพระอริยสงฆ์
    และมีศีลห้าบริสุทธิ์โดยเฉพาะ ไม่มีกรรมบถ ๑๐ อย่างนี้
    พระพุทธเจ้าทรงจัดเป็นขั้นเป็นตอน
    ถ้ามีกำลังใจเข้มข้นน้อย คือ มีอารมณ์ยังหยาบ
    ที่เรียกว่ามีอารมียังอ่อนอยู่ แต่ว่ารักษาได้
    ถึงแม้ว่ากำลังใจยังอ่อน ก็รักษาได้
    อย่างนี้องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมครูตรัสว่า
    จะต้องเกิดและตายสลับกันระหว่างเทวดากับพรหม
    หรือว่ามนุษย์ คือเกิดเป็นมนุษย์ ๑ ชาติ
    ตายจากชาตินี้ไป ก็ไปเป็นเทวดาหรือพรหมอีก ๑ ชาติ
    ลงมาเป็นมนุษย์อีก ๑ ชาติ ไปเป็นเทวดาหรือพรหม ๑ ชาติ
    รวมแล้วไปเกิดเป็นมนุษย์ ๗ ชาติ เทวดาหรือพรหม ๗ ชาติ
    แต่สุดท้ายที่ ๗ ของมนุษย์ชาตินั้นจะเป็นพระอรหันต์ไปนิพพาน

    ถ้ามีกำลังบารมี คือ กำลังใจเข้มข้นปานกลาง
    อย่างนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัส
    ว่าจะเกิดเป็นมนุษย์อีก ๓ ชาติ
    สลับกับเทวดาหรือพรหมตามที่กล่าวมาแล้วอย่างนี้อีก
    ชาติที่ ๓ จะเป็นพระอรหันต์ไปนิพพาน

    ถ้ามีกำลังใจเข้มข้น จะเกิดเป็นมนุษย์อีกชาติเดียวแล้วก็เป็นพระอรหันต์
    แต่ถ้าท่านผู้ใดปฏิบัติศีลห้าได้ด้วย กรรมบถ ๑๐ ได้ครบถ้วน
    บรรเทาความโลภ ความโกรธ ความหลง
    อาตมาพิจารณาธรรมะดูแล้ว หาอย่างไหนก็เอาแน่นอนไม่ได้
    เอาแน่นอนได้ ที่กรรมบถ ๑๐ คือข้อ "มโนกรรม"
    ข้อท้าย ๓ ข้อ ที่ว่า "ไม่คิดอยากได้ทรัพย์สมบัติของใคร
    ไม่คิดประทุษร้ายใคร มีความเห็นถูก"
    ข้อนี้แหละเป็นการบรรเทาความโลภ ความโกรธ ความหลง
    อย่างนี้องค์สมเด็จพระพุทธองค์ตรัสว่า
    ถ้าตายจากความเป็นคนไปเป็นเทวดาหรือพรหม
    ลงมาชาติเดียวก็เป็นพระอรหันต์ทันที

    ที่ว่ากันแบบนี้ ว่ากันตามแบบของตำรา
    แต่พูดกันตามเนื้อแท้จริง ๆ บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย
    โดยถ้วนหน้า กัปนี้ไม่ใช่มีพระพุทธเจ้า ๔ องค์
    กัปนี้มีพระพุทธเจ้าจริง ๆ ๑๐ พระองค์
    งวดทีแรก ๕ องค์ มีพระศรีอาริยเมตไตรย เป็นองค์สุดท้าย
    แล้วก็เริ่มต้นใหม่ มีพระรามเป็นต้น
    แล้วต่อไปอีก ๔ องค์ รวมแล้วจริง ๆ
    กัปนี้มีพระพุทธเจ้าถึง ๑๐ องค์ ตามตำราที่อ่านมา
    อาตมาก็อ่านหนังสือไม่มากนัก ตามที่ผ่านมาแล้วทั้งหมดเท่าที่พบ
    ไม่เคยพบว่ากัปไหนมีพระพุทธเจ้ามากเหมือนกัปนี้
    บางกัปก็มีองค์เดียวบ้างสององค์บ้าง สามองค์บ้าง อย่างนี้เป็นต้น
    ถึง ๕ องค์ยังไม่พบ แต่ว่ากัปนี้มีถึง ๑๐ องค์ ถือว่าเป็นกัปพิเศษ

    ฉะนั้น คนที่มีความดีตามที่ว่าแล้วทั้งหมด
    จะเป็นกำลังใจอย่างอ่อน อย่างกลาง หรืออย่างเข้มข้น
    หรือคนที่มีทั้งศีลห้า กรรมบถ ๑๐ ครบถ้วนก็ตาม
    ตายจากความเป็นคนไปในช่วงนี้ไปเกิดเป็นเทวดาหรือพรหม
    ระหว่างที่ท่านเป็นเทวดาหรือพรหม
    นี่แหละยังไม่สิ้นอายุของความเป็นทิพย์
    พระศรีอาริยเมตไตรยก็จะมาตรัส
    ยังไง ๆ อายุกัปหนึ่งหรือครึ่งกัป
    ที่ผ่านไปนี่มันน้อยกว่าอายุเทวดา หรือพรหม
    ที่ไปเกิดข้างหน้าการสิ้นกัปผ่านไปแล้ว ก็ยังไม่หมดอายุของเรา
    ฉะนั้นท่านทั้งหลายจะต้องพบพระพุทธเจ้าอีก ๖ องค์
    แต่อาตมามีความรู้สึกตามตำราหรือตามที่พบมา
    ว่าคนที่มีความดีแก่กล้าอย่างนี้
    เพียงแค่ไปเกิดเป็นเทวดาหรือพรหม
    พบพระศรีอาริยเมตไตรย คือ พบพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง
    ตรัสพระธรรมเทศนา ฟังพระธรรมเทศนาจบเดียว
    ก็เป็นพระอรหันต์ไปนิพพาน อย่างนี้ได้กำไรมาก
    บรรดาท่านพุทธบริษัท ถ้าไปนิพพานเสียได้ก็มีความสุข

    ตอนนี้มาว่ากันถึงการปฏิบัติ เพราะว่าบรรดาท่านพุทธบริษัท
    มีเวลาปฏิบัติไม่เสมอกัน อย่างพระหรือเณรนี่ หรือชี
    เวลานี้มีเถรหรือเปล่าไม่ทราบ พระเณรเถรชีเถรนี่
    "เถระ" แปลว่า ผู้ใหญ่ และ "ชี" แปลว่า นักบวช
    อาตมาแปลเอง ถูกตำราหรือไม่ถูกตำราก็ไม่ทราบ
    พระกับเณรรี่เรารู้จักกันแน่นอน ท่านพวกนี้มีเวลามาก
    ถ้าจะปฏิบัติตามหลักสูตรก็เป็นของไม่หนักนัก
    เพราะเวลามีมากพอสมควร กำลังใจแค่จะตัดสังโยชน์ ๓ กันจริง ๆ
    ถ้าเป็นคนมีเหตุมีผล ไม่ท้อไม่แท้
    และก็ยึดมั่นกำลังใจด้วยของอิทธิบาท ๔ คือ

    ฉันทะ มีความพอใจจริง ๆ พร้อมในการปฏิบัติ

    วิริยะ มีความรู้สึกตามความเป็นจริงว่า
    ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำต้องมีอุปสรรค
    เราก็มีความเพียรเข้าต่อสู้ต่ออุปสรรคไม่ท้อถอย ตายเป็นตาย

    จิตตะ สนใจจดจ่อในความดีนั้น ที่เราพึงปฏิบัติ

    วิมังสา ใช้ปัญญาประกอบพิจารณาว่า เราทำมันถูกหรือไม่ถูก
    ถ้าไม่ถูกก็กลับทำใหม่เสียให้ถูก

    ถ้ากำลังในมีอิทธิบาท ๔ ได้ครบถ้วน บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย
    ถ้าเอาจริงเอาจังกันมันก็ไม่เกิน ๓ เดือน
    นี่พูดเฉพาะฆราวาสนะ ถ้าพระกับเณร เถรชี อาตมาไม่คำนวณ
    ทั้งนี้เพราะอะไร? เพราะว่าท่านพวกนี้มีเวลามาก
    ถ้าเอาจริงเอาจังจะใช้เวลาถึง ๗ วันหรือไม่ถึงก็ไม่ทราบ
    เพราะว่าท่านอยู่ในเพศนั้น มีศีลเป็นขอบเขตอยู่แล้ว
    ก็เลยไม่พยากรณ์กัน สำหรับฆราวาส
    ก็ดูตามที่องค์สมเด็จพระทรงสวัสดิโสภาคย์ตรัสว่า
    การจะตัดสังโยชน์ ๓ จริง ๆ นั้น
    ท่านบอกว่า คนประเภทนี้ มีสมาธิเล็กน้อย มีปัญญาเล็กน้อย
    แต่มีศีลบริสุทธิ์ คือสำคัญที่ศีล ศีลก็ดี กรรมบถ ๑๐ ก็ดี
    เป็นของไม่หนัก ถ้าเราเอาจริงแล้วเป็นของไม่หนักเลย

    ตอนนี้ก็ขอแนะแนวในการปฏิบัติบรรดาท่านพุทธบริษัทแบบง่าย
    ถือว่าเป็นการปฏิบัติแบบชาวบ้านที่มีงานหนัก

    ข้อที่ ๑ สักกายทิฏฐิ ตัดสักกายทิฏฐิ
    ให้มีความรู้สึกว่า ชีวิตนี้มันต้องตาย
    เราก็มองดูคนและสัตว์ ที่เขาให้เราเห็น อันนี้ไม่ยาก
    ไม่ต้องใช้ปัญญามาก แต่ว่าเมื่อคิดถึงความตายแล้ว
    จงอย่าท้อถอย ทำมืออ่อนเท้าอ่อน อันนี้ไม่ถูก
    ทำกิจการงานไม่ไหว เพราะเกรงความตายตะเข้ามาถึง อันนี้ไม่ถูกต้อง
    การประกอบอาชีพทั้งหมด
    บรรดาท่านพุทธบริษัทต้องทำให้ครบถ้วนทุกอย่าง
    เราไม่แน่ว่า จะตายวันนี้หรือสักร้อยจะตาย ในเมื่อมันยังไม่ตาย
    การประกอบอาชีพทุกอย่างด้วยความสุจริต ไม่คดไม่โกงเขา
    ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเราทำให้มันมาก
    รวบรวมทรัพย์สินไว้ให้มากตามกำลังที่จะพึงทำได้
    เผื่อว่ายังไม่ตายจะได้มีกินมีใช้ หรือป่วยไข้ไม่สบาย
    ความตายยังไม่ถึงก็ต้องรักษา หรือความตายจะพึ่งเข้ามา
    แต่มันยังไม่ตาย เราก็ต้องรักษาเพื่อเป็นการระงับทุกขเวทนา
    ทางร่างกายและจิตใจ รวมความว่า การประกอบอาชีพนี่ต้องทำ
    ดูอย่างในสมัยพระพุทธเจ้า มหาเศรษฐีทั้งหลาย มีนางวิสาขา เป็นต้น
    ท่านรวยและแสนรวย ตระกูลนี้นับเงินไม่ได้นับเป็นโกฏินับไม่ได้
    ถ้าขืนนับเป็นโกฏิ นับไป ๓๐ - ๔๐ ปียังไม่ครบ ยังไม่รู้กี่โกฏิ
    มันยังไม่หมดก็ต้องนับกันเป็นเล่ม ๆ เกวียน
    เล่มเกวียนเขายังไม่คำนวณเลยว่า กี่ร้อยกี่พันกี่แสนเล่มเกวียน
    ก็รวมความว่า ท่านรวยขนาดนี้ ท่านยังทำมาหากินต่อไป
    ไม่ใช่วางมือวางเท้า ฉะนั้น การประกอบอาชีพ
    บรรดาท่านพุทธบริษัทต้องทำ
    ถ้าถามว่า "ถ้าทำแล้วจะมีเวลาที่ไหนมานึกถึงความตาย"
    การนึกถึงความตายนี้ไม่ได้แย่งเวลาการทำงานเลยพอตื่นขึ้น
    เช้าขึ้นมาก็คิดตามความเป็นจริงว่า
    "ชีวิตนี้ต้องตาย และอาจจะตายวันนี้ก็ได้
    อาจจะตายเมื่อไรก็ได้ ตายเมื่อไรก็ช่าง
    เราจะประกอบเฉพาะความดี
    การประกอบอาชีพจะไม่มีการเบียดเบียนใครทั้งหมด
    จะหากินโยการสุจริตธรรม" เท่านี้ก็ใช้ได้

    หลังจากนั้นก็ตั้งใจยอมรับนับถือพระพุทธเจ้า
    การยอมรับนับถือพระพุทธเจ้า เราก็นับถือกันอยู่แล้ว
    ตอนนี้ถ้าให้ทำกรรมฐานเป็นพุทธธานุสสติกรรมฐาน
    คำว่า "พุทธานุสสติกรรมฐาน" ให้นึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์
    ดูอย่างมัฏฐกุณฑลีเทพบุตร ท่านไม่เคยนับถือพระพุทธเจ้า
    ท่านนึกถึงนิดเดียว ตายแล้วไปสวรรค์เป็นเทวดา
    สุปติฏฐิตเทพบุตร เป็นมนุษย์เลวมาก ทำบาปทุกประการ
    แต่พอจะตายนึกถึงองค์สมเด็จพระพิชิตมารนิดเดียว
    ไปเป็นเทวดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงสเทวโลก
    ทั้ง ๒ ท่านนี้ พบพระพุทธเจ้าฟังเทศน์จบเดียว
    เป็นพระโสดาบันเหมือนกัน
    เอาละบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน เวลาก็หมดเสียแล้วหน้านี้
    ก็ต้องขอลาก่อนขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผล
    จงมีแต่บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนผู้รับฟังทุกท่าน สวัสดี...
    ที่มา http://palungjit.org/threads/เพียง๑๐๐บาทร่วมบุญปิดสมเด็จพระพุฒาจารย์โต๖๙นิ้ว.548123/page-46
     

แชร์หน้านี้

Loading...