สู่แสงธรรม กับหลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง ตอน "ถ้ากระทำแต่ความดีโดยไม่ต้องนั่งกรรมฐานจะมีสิทธิตกนรกไหม..?"

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 26 สิงหาคม 2015.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    สู่แสงธรรม กับหลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง ตอน "ถ้ากระทำแต่ความดีโดยไม่ต้องนั่งกรรมฐานจะมีสิทธิตกนรกไหม..?"
    [​IMG]
    "......เมื่อข้าพเจ้าเลิกดื่มสุราได้แล้ว การบำเพ็ญทานและการรักษาศีลของข้าพเจ้าก็เป็นไปโดยง่าย ไม่มีอะไรติดขัด..ไม่มีอะไรเป็นอุปสรรคขัดขวาง ทำให้เกิดการไขว้เขวอีกต่อไป จึงนับว่าข้าพเจ้าได้เหยียบย่างขึ้นสู่บันไดขั้นที่ 1 อันเป็นความงามเบื้องต้นของพระพุทธศาสนาได้แล้ว อย่างค่อนข้างมั่นคงทีเดียว

    แต่คนอย่างข้าพเจ้าย่อมไม่อยู่หยุดเพียงเท่านี้แน่ จะต้องพยายามหาทางก้าวเดินขึ้นสู่บันไดขั้นที่ 2 คือการเจริญภาวนาให้ได้ฌานสมาบัติให้จงได้

    ด้วยเหตุนี้ในคืนวันหนึ่ง ข้าพเจ้าเข้าไปไหว้พระสวดมนต์ตามที่หลวงพ่อเคยสอนไว้ (จะสวดอะไรบ้างนั้น ขอท่านผูอ่านจงเปิดดูในคู่มือปฏิบัติพระกรรมฐานที่หลวงพ่อเขียนไว้เถิด เพราะขณะนี้ได้มีจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มไว้แล้ว) แล้วลองนั่งดูตามแบบฉบับของการนั่งกรรมฐานคือนั่งขัดสมาธิเพชร นั่นเอง

    ต่อจากนั้นก็เริ่มระลึกถึงลมหายใจเป็นอารมณ์(อานาปานุสสติกรรมฐาน) แล้วกำหนดเอา “พุทโธ” เป็นองค์ภาวนา (พุทธานุสสติกรรมฐาน) คือหายใจเข้าภาวนาว่า “พุท” หายใจออกภาวนาว่า “โธ” และชั่วระยะเวลาผ่านไปเพียงไม่กี่วินาที ข้าพเจ้าก็เริ่มรู้สึกคันตามเนื้อตามตัว โดยเฉพาะที่ใบหน้าเหมือนมีตัวแมลงมาเดินไต่

    ยิ่งหักห้ามใจสะกดนิ่งไว้ เจ้าแมลงที่ว่าก็ดูเหมือนจะเดินไปเข้าหูบ้าง จมูกบ้าง จนข้าพเจ้าทนไม่ไหว ต้องใช้มือคอยปัด และเกาตามเนื้อตามตัวที่คันอยู่บ่อยๆ อดนึกขำไม่ได้ที่มีคนเคยเอาปัญหานี้ถามหลวงพ่อ แล้วหลวงพ่อเย้าว่า

    “ไอ้ตัวสมาธินี่มันคันใช่ไหม อย่าไปสนใจมันนะปล่อยไปเดี๋ยวมันก็หายคันเองแหละ” เอ้า...ปล่อยก็ปล่อย ข้าพเจ้ากำหนดจิตอยู่แต่ลมหายใจเข้า-ออก และองค์ภาวนา “พุทโธ” ต่อไปความคันต่างๆ เกิดหายไปจริงๆ

    แต่ความเจ็บที่ตาตุ่มซึ่งกดติดกับพื้นกระดานนี่สิ มันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนั้นที่ก้นกบอีกแห่งหนึ่ง ก็ดูเหมือนจะมีอาการเจ็บปวดขึ้น และแม้ว่าข้าพเจ้าจะหาเบาะมารองพื้น และนั่งใหม่ก็หาได้พ้นจากความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นไม่ มิหนำซ้ำขาทั้งสองข้างของข้าพเจ้า กลับเกิดอาการเหน็บชาจนขยับเขยื้อนไม่ได้เลยอีกด้วย

    เป็นอันว่าการเจริญภาวนาของข้าพเจ้าในคืนนั้น ประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง คิดไม่ถึงจริงๆ ว่าการเจริญภาวนานั้น ทำไมจึงช่างยากเย็นและทุกขเวทนาเช่นนี้ และถ้าแก้ไขไม่ตกก็เห็นทีที่ข้าพเจ้าจะก้าวขึ้นสู่บันไดขั้นที่ 2 ไม่ได้แน่ ดังนั้นในวันหนึ่งข้าพเจ้าจึงได้ถามหลวงพ่อว่า

    “หลวงพ่อครับ ถ้ากระผมทำแต่ความดีโดยไม่ต้องนั่งกรรมฐานจะมีสิทธิ์ตกนรกไหมครับ?”

    “มีสิทธิ์ตกแน่..!” หลวงพ่อตอบทันที

    “อ้าว...ก็พระพุทธเจ้าสอนว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว มิใช่หรือครับ?” ข้าพเจ้าแย้ง

    “ใช่... แต่คุณหรือคนธรรมดาทั่วๆ ไปจะมีใครกระทำแต่ความดี 100 เปอร์เซ็นต์ เล่า มีแต่ทำดีมาก ทำชั่วน้อยหรือทำชั่วมาก ทำดีน้อยจริงไหม.. ไม่ใช่พระอรหันต์นี่ ท่านมีสติทุกลมหายใจเข้าออกจึงจะทำความดีได้ทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์” หลวงพ่ออธิบาย

    “แต่หลวงพ่อเคยพูดไว้นี่ครับว่า การบำเพ็ญทานและรักษาศีลนั้นถึงเป็นความงามเบื้องต้นของพระพุทธศาสนา หากตายไปก็มีสิทธิ์ไปจุติเป็นเทวดา เสวยสุขในสวรรค์ได้” ข้าพเจ้าแย้งเพราะยังข้องใจอยู่

    “เก่งนี่...ที่จำได้ แต่นั่นต้องหมายความว่า ก่อนตายจิตของคุณก่อนที่จะแยกจากกายต้องจับอยู่ในกุศลผลบุญของทาน ศีล ที่คุณทำมา

    “จิตก็คือจิต, กายก็คือกาย จิตมิใช่เป็นอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของกายนะ เสมือนเช่นคนขับรถ ก็มิใช่เป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของตัวรถนั่นแหละ กล่าวคือคนขับรถก็มิใช่เป็นพวงมาลัย,มิใช่เป็นเพลา,มิใช่เป็นลูกล้อ, มิใช่เป็นตัวรถฉันใด

    จิตก็มิใช่เป็นหัวใจ, ไส้, ปอด,มันสมองหรืออวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายฉันนั้น เมื่อรถเกิดเสียคนขับก็พยายามซ่อม พยายามแก้ไข อย่างสุดความสามารถแต่เมื่อแก้ไขไม่ได้คนขับรถก็ต้องทิ้งรถหารถคันอื่นใหม่ฉันใด

    จิตก็เช่นกันนะ เมื่อกายเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยก็นำกายไปหาหมอให้รักษาเยียวยา แต่เมื่อไม่สามารถจะแก้ไขเยียวยาได้ จิตก็จำต้องทิ้งกายไปฉันนั้น”หลวงพ่ออธิบายและเมื่อเห็นข้าพเจ้ายังสนใจฟังอยู่ก็พูดต่อว่า

    “คุณไปเอาอกเอาใจกายของคุณมามากต่อมากแล้วนะ อยากกินอะไรไม่ว่าจะใกล้ไกลแค่ไหนเพียงไรคุณก็พากายไปกินจนได้ อยากจะเที่ยวที่ไหน อยากจะดูอะไรคุณก็พากายไปเที่ยว ไปดู อยากจะเสียอยากจะงามเสีย เงินสักเท่าไร คุณก็สรรหามาแต่งให้กายคุณจนได้

    อยากจะฟังอะไรคุณก็พากายไปฟัง หรือไม่ก็หาซื้อเครื่องเสียงขั้นดีมาเปิดให้ฟังแต่คุณเคยขอร้องอะไรกับร่างกายคุณบ้างไหม ลองใคร่ครวญดูให้ดีซิเวลาเกิดปวดหัว ปวดฟัน คุณขอร้องมิให้ปวดได้ไหม?

    เมื่อผมหงอกผมร่วงคุณขอร้องมิให้หงอก มิให้ร่วงได้ไหม?เวลาจะแก่คุณขอร้องไม่ให้แก่ได้ไหม? และเวลาคุณจะตายคุณขอร้องว่าอย่าเพิ่งตายได้ไหม? มันไม่เคยยอมทำตามที่คุณขอร้องเลยสักอย่างเดียวนะ

    นี่หรือมิตรแท้ มิตรแท้ก็ต้องฟังกันบ้างซิ ยามสุขก็ต้องสุขด้วยกัน ยามทุกข์ก็ต้องทุกข์ด้วยกันสิจึงจะถูก นี่อะไรทำชั่วไว้มากมาย พอตายนอนแหงแก๋ไม่ยอมตามไปรับกรรมในนรกด้วย ปล่อยให้จิตเป็นผู้รับภาระในการใช้หนี้กรรมเอาดื้อๆ

    เห็นไหมว่า มิตรที่แท้จริงของคุณก็คือจิตนะ มิใช่กายเพราะจิตนั้นไม่มีวันตายและจะติดตามคุณไปทุกภพทุกชาติ ไม่ว่าจะรับกรรมหรือเสวยสุขนะแต่คุณเคยเอาใจมิตรแท้หรือจิตของคุณบ้างไหม?

    เปล่าเลย.. คุณใช้จิตอย่างไม่เคยว่างเว้นใน 5 นาที คุณคิดไม่รู้กี่เรื่องจริงไหม? มิหนำซ้ำยามนอนคุณก็ยังไม่ละเว้นที่จะใช้จิต จึงได้ฝัน ได้ละเมอเปรอะไปหมด คุณทารุณโหดร้ายต่อจิตซึ่งเป็นมิตรแท้ของคุณมามากแล้วนะ” หลวงพ่ออธิบายซ้ำ

    “แล้วผมจะเอาจิตซึ่งเป็นมิตรแท้ ได้อย่างไรครับหลวงพ่อ?” ข้าพเจ้าถามด้วยความอยากรู้

    “ก็นั่งกรรมฐานซิ เมื่อจิตว่างก็จะได้พักผ่อน เมื่อจิตได้พักผ่อนก็เกิดเอิบอิ่ม มีพลังกล้าแข็ง ยังไงล่ะ” หลวงพ่อตอบยิ้มๆ

    “เมื่อคืนก่อนผมนั่งดูบ้างแล้วครับ แต่ทนทุกขเวทนาไม่ได้ จึงต้องเลิกนั่ง”ข้าพเจ้าตอบแล้วเล่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดแก่ข้าพเจ้าในการนั่งให้หลวงพ่อฟังดังที่ได้กล่าวในตอนต้น ซึ่งเมื่อหลวงพ่อได้ฟังแล้วก็หัวเราะพูดว่า

    “เอ๊ะ.. คุณนี่เอาจริงไม่เลวนะ แอบไปนั่งกรรมฐานจนค้นพบว่าตัวสมาธินี่มันคันมันเมื่อยเสียแล้ว แต่อย่างน้อยคุณก็ได้บุญแล้วนะ แต่ความจริงแล้วการเจริญพระกรมฐานนั้น ไม่จำเพาะแต่จะต้องมานั่งกรรมฐานอย่างเดียวเท่านั้นนะ ท่านให้ทำได้ถึง 4 อิริยาบถ คือ ยืน เดิน นั่ง หรือนอนก็ได้นะ

    และการนั่งก็ไม่จำเป็นต้องนั่งให้ถูกตามแบบฉบับนักหากนั่งกับพื้นไม่ได้ก็นั่งบนเก้าอี้ หรือไม่ก็นอนสบายๆ บนเก้าอี้ผ้าใบก็ได้เราฝึกจิตนะ ไม่ใช่ฝึกทรมานกาย พระพุทธเจ้าเองท่านก็สอนให้เดิน "สายกลาง" มิให้ตึงไป มิให้หย่อนไป

    ถ้ากำหนดกฎเกณฑ์กันมากมายนัก คนสูงอายุก็ดี คนอ้วนก็ดี ที่ไม่สามารถนั่งขัดสมาธิกับพื้นได้ ก็ไม่ต้องมีโอกาสได้นั่งกรรมฐานซิ ถึงพยายามนั่งก็จะไม่ได้แค่ปฐมฌานทั้งนั้น เพราะเสี้ยนหนามของปฐมฌานก็คือนิวรณ์ 5 ซึ่งได้แก่

    1.ความพอใจในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส(กามฉันทะ)
    2.ความผูกพยาบาท
    3.ความง่วงเหงาหาวนอน
    4.ความคิดฟุ้งซ่านและความรำคาญหงุดหงิดใจ
    5.ความเคลือบแคลงสงสัยในผลการปฏิบัติ

    ดังนั้น.. เมื่อเกิดความเมื่อยขบขึ้นมา ความหงุดหงิดรำคาญใจซึ่งเป็นหนึ่งในนิวรณ์ก็เกิดขึ้น และนิวรณ์ 5 นี้หากเกิดขึ้นแม้เพียงอย่างใด อย่างหนึ่งปฐมฌานก็เกิดขึ้นไม่ได้แล้วนะ เป็นยังไงเข้าใจหรือยัง?” หลวงพ่ออธิบาย

    “เข้าใจแล้วครับ แบบนี้ค่อยยังชั่ว ผมจะพยายามเจริญพระกรรมฐานใหม่ ที่ผมท้อใจก็เพราะทนนั่งเจ็บตาตุ่มไม่ไหว ทรมานจริงๆ ครับ” ข้าพเจ้าตอบอย่างดีใจ

    “แต่การเจริญกรรมฐานนั้น คุณจะต้องปฏิบัติทั้งสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานด้วยนะ เพราะหากปฏิบัติแค่ "สมถกรรมฐาน" แม้จะบรรลุไปสู้จุดสุดยอดคือ ทางฌาน 4 มีจิตเป็นเอกัคคตารมณ์ได้ก็จริง ก็ยังเป็นแค่ฌานโลกีย์อยู่นะ

    จิตบริสุทธิ์ก็จริง แต่ยังขาดปัญญาเขาเรียกว่า “โง่บริสุทธิ์” นะ จริงอยู่ถ้าเกิดตายในขณะทรงฌานได้ก็จะไปเป็นพรหมได้ แต่คุณจะอยู่ในฌานได้ตลอดเวลาหรือ ส่วนใหญ่ก็มักจะอยู่นอกฌานจริงไหม? และเมื่ออยู่นอกฌาน จิตซึ่งขาดปัญญาก็ย่อมตกเป็นทาสของกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรมได้ เช่นปุถุชนคนธรรมดาทั่วไปๆ ไปเหมือนกัน

    และถ้าหากเกิดตายในขณะนั้นขึ้นมา แม้เคยทรงฌานได้ก็มีสิทธิ์ตกนรกได้นะ เขาเรียกว่า”ตายนอกฌาน” ยังไงล่ะ และก็มีมาแล้วมากต่อมากด้วยเป็นที่น่าเสียดายยิ่ง ดังนั้นคุณจะต้องเอากำลังฌานของสมถกรรมฐานนี้มาพิจารณา "วิปัสสนากรรมฐาน" ให้ได้ จึงจะล่วงข้ามความทุกข์ เข้าสู่พระนิพพานได้

    หากแม้ไม่ได้ในชาตินี้ โอกาสลงนรกของคุณก็จะไม่มีนะ ถ้าคุณฝึกจิตเพียงแค่อยู่ในระดับ "พระโสดาบัน" ให้ได้เท่านั้น คุณก็หมดสิทธิ์ลงนรกแล้วนะ” หลวงพ่ออธิบายอย่างละเอียดด้วยความเมตตาเมื่อเห็นข้าพเจ้ายังตั้งใจฟังอยู่ก็อธิบายต่อว่า

    “การให้ทานและรักษาศีลนั้น เป็นเพียงแค่ป้องกันหรือจำกัดเขตมิให้กิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรมนั้นออกมาเพ่นพ่านนอกกรอบด้วยการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง แต่ความโลภ โกรธ หลงคือกิเลส หรือความทะยานอยากได้ อยากจะมี อยากจะเป็นคือตัณหา หรือการยึดมั่นถือมั่นว่าไอ้นั่นคือของเรา ไอ้นี่คือของเรา (อุปาทาน) ยังคงมีอยู่ในจิตนะ เสมือนหนึ่งจับเสือขังกรงไว้นั่นแหละ แม้มันจะไม่สามารถออกมาขบกัดทำร้ายใครได้ก็ตาม แต่มันก็ยังดุใช่ไหม?

    ส่วนการเจริญสมถกรรมฐานนั้นเพียงแค่ระงับกิเลส ตัณหา อุปทานและอกุศลกรรม ไว้ได้เพียงชั่วขณะที่ทรงฌานเท่านั้น เมื่ออกนอกฌานตัวกิเลส ตัณหา อุปาทานและอกุศลกรรมก็กลับพื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่ได้อีก เปรียบเสมือนฉีดยาสลบให้เสือนั่นเอง ถ้าหมดฤทธิ์ยาสลบเมื่อใด เสือก็ยังคงเป็นเสือที่ดุร้าย พร้อมจะขบกัดทำร้ายผู้คนอยู่เช่นเดิมนั่นแหละ

    แต่ถ้าหากได้เจริญ "วิปัสสนาญาณ" จนเกิดปัญญารู้เท่าทันในกิเลสตัณหา อุปาทานและอกุศลกรรมแล้วค่อยๆละ ค่อยๆ ตัด "สังโยชน์ 10" ออกไปทีละข้อๆ ได้จบครบทั้ง 10 ข้อเด็ดขาดเป็นสมุจเฉทปหาน แล้วนั่นแหละ ตัวกิเลส ตัณหา อุปาทานและอกุศลกรรม ทั้งหลายจึงหมดฤทธิ์ เปรียบเสมือนหนึ่งคุณใช้มีดเข้าห้ำหั่นเสือจนตายไปนั่นแหละ เสือจึงสิ้นฤทธิ์ เข้าใจหรือยังล่ะ?” หลวงพ่ออธิบายอย่างละเอียด แล้วถามข้าพเจ้าอย่างเมตตา

    “เข้าใจแล้วครับหลวงพ่อ ผมจะพยายามต่อไปครับ” ข้าพเจ้าตอบด้วยจิตใจที่อิ่มเอิบ และเบิกบาน...

    "...แล้วท่านผู้อ่านที่รักล่ะ เข้าใจตามข้าพเจ้าแล้วหรือยัง..?"
    ที่มา http://palungjit.org/threads/ขอเชิญร่วมบุญสร้างกำแพงแก้ววิหารหลวงพ่อโต-วัดกุฎีทอง-อยุธยา.553352/
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 2 กันยายน 2015
  2. mannoigclub

    mannoigclub สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2015
    โพสต์:
    10
    ค่าพลัง:
    +11

แชร์หน้านี้

Loading...