สร้างเรือนสามชั้นให้จิต หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย jinny95, 20 พฤษภาคม 2011.

  1. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    สร้างเรือนสามชั้นให้จิต


    เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด


    เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๑๙


    [​IMG]


    การ ฝึกหัดอบรมในเบื้องต้น ก็ไม่ผิดอะไรกับเราไปดูต้นไม้ที่จะนำมาทำบ้านปลูกเรือน ไม้ทั้งต้นเมื่อไปดูแล้วมันอ่อนใจพิกลบอกไม่ถูก อะไรที่จะสามารถนำไปทำเป็นบ้านเรือนได้ มองดูเห็นแต่ไม้ทั้งต้น เต็มไปด้วยเปลือกกระพี้ กิ่งก้านสาขา ดอกใบ เต็มไปหมด ซึ่งล้วนแต่สิ่งที่ไม่ต้องการทั้งนั้น ที่มองไปเห็นนั้น สิ่งที่ต้องการมองไม่เห็นเลย คือแก่นที่เป็นเนื้อแท้ ซึ่งสมควรจะมาทำเป็นบ้านเป็นเรือนได้ มันอยู่ภายในลึก ๆ โน้น มองไม่เห็นด้วยตาเนื้อนี้เลย มันมีตั้งแต่เปลือกแต่ลำต้น มองขึ้นไปข้างบนก็มีแต่กิ่งก้านสาขาใบดอกเต็มไปหมด แล้วทำไมจะไม่อ่อนใจ และไม้ที่จะปลูกบ้านปลูกเรือนให้สำเร็จโดยสมบูรณ์นั้น ต้องมีจำนวนมากด้วย ไม้ต้นเล็ก ๆ จะมาทำบ้านทำเรือน นำมาเลื่อยมาแปรรูปเป็นต่าง ๆ ให้ได้หลาย ๆ แผ่น หลาย ๆ ชิ้น ก็เป็นบ้านเป็นเรือนที่เหมาะสมไปไม่ได้ จะต้องหาไม้ต้นใหญ่ ๆ เนื้อแข็ง ซึ่งลำบากแก่การทำไม่ย่อยเลย ไปมองเห็นต้นไม้แล้วมันทำให้อ่อนใจอย่างบอกไม่ถูก มือเท้าก็อ่อนปวกเปียกไปตาม ๆ กัน


    แต่ เมื่อรู้วิธีที่จะทำแล้ว แม้อ่อนใจก็พอพยายามถูไถกันไปได้ ไม่หดมือทื่อใจอยู่ท่าเดียว เมื่อตัดโค่นลงมาแล้วก็ต้องเลื่อย ต้องมีแบบมีฉบับ การตัดการโค่นการเลื่อยอะไร ต้องมีแบบมีฉบับมีหลักเกณฑ์ ต้องมีวิชาเกี่ยวกับงานนั้น ๆ จึงจะทำได้ มิฉะนั้นไม้ก็เสียหมด ผลจะพึงได้ก็ไม่ปรากฏเท่าที่ควรจะมี


    นี่ การประพฤติปฏิบัติธรรมทางด้านจิตใจ ในเบื้องต้นที่เรายังไม่เคยทำเลย มันก็ต้องมีอ่อนใจด้วยกัน ดีไม่ดีจะนั่งภาวนาแค่ ๕ นาที ๑๐ นาที ใจนั้นราวกับจะถูกเขานำไปฆ่า ทำให้อ่อนเปียกไปหมด พอทราบได้จากท่านสั่งสอนเรื่องการภาวนาเป็นงานยากเท่านั้น ใจเริ่มจะช็อกไปเสียแล้วเพราะกลัวมาก ดีไม่ดีหาเรื่องปวดหนักปวดเบามาช่วยชีวิตไว้ ไม่งั้นจะไปเสียให้ได้ก่อนความเจ็บไข้ได้ป่วยจะมาถึงตัวเสียอีก


    “โน่น ! ฟังซิ มนุษย์ขี้แย กลัวกิเลสจะขยี้เอา !เพียงท่านเอาเรื่องภาวนามาสอนว่า เป็นงานสำคัญยิ่งกว่างานอื่นใดเท่านั้น ผู้ฟังจะสลบไสลไปตามกัน !”


    ประการหนึ่งพระกรรมฐานท่านมักจะสอนเรื่องภาวนา ตามที่ท่านเคยทำมาเพียงเริ่มต้นว่า “ในบรรดา งานของพระพุทธศาสนา งานภาวนาเป็นงานสำคัญ และเป็นงานที่ทำยากกว่างานอื่น ๆ บรรดาที่เป็นกุศลด้วยกัน จะว่าหนักก็หนักไม่ย่อย ต้องใช้ความละเอียดลออ ต้องใช้ความอดทนความจริง ๆ จัง ๆ ถึงจะได้ผลเป็นลำดับไป และได้ผลเป็นที่พึงใจ”


    ผู้ ฟังทั้งหลายเพียงได้ยินว่า ภาวนาลำบากอย่างนั้นอย่างนี้บ้าง ตัวเองยังไม่เคยทำ มันคิดลำบากไว้ก่อนแล้วว่าเป็นทุกข์มาก ทรมานมากเกินไปร่างกายต้องแย่ เห็นจะสู้ไม่ไหว ไม่ทำดีกว่า นั่น !เห็นไหม ทำให้คิดทุกข์คิดยากคิดลำบาก ท้อถอยอ่อนแอภายในใจ เลยทำให้ใจอ่อนไปหมด นั่น!มันจึงเหมือนกับเราไปดูต้นไม้ใหญ่ ๆ ที่จะเอามาปลูกบ้านทั้งหลังนั่นแหละ !


    จะทำอย่างไรไม้ทั้งต้นนี่ จะทำจะแปรรูปเป็นบ้านเรือน?ควร คิดย้อนตัดกระแสของความอ่อนแอเสียบ้างว่า ศาลาโรงธรรมสวนะที่เรานั่งอยู่เวลานี้ มีแต่ไม้ทั้งต้นกันทั้งนั้นแหละ เขานำมาแปรสภาพเป็นกระดานพื้น กระดานฝา เป็นขื่อ เป็นแป เป็นตง เป็นจันทัน เป็นอะไรล้วนแต่ความฉลาดของช่างเขา จนสำเร็จโดยสมบูรณ์ขึ้นมาเพราะความอุตส่าห์พยายาม และความฉลาดสามารถของเขา


    การบำเพ็ญจิตใจก็เหมือนกัน ต้องอาศัยความอุตส่าห์พยายามความอดความทนเช่นเดียวกัน ท่านสอนวิธีการเช่น ท่านสอนให้ทำอย่างนั้น ให้ทำอย่างนี้ และบอกวิธีภาวนา หรือวิธีเดินจงกรม วิธีนั่งสมาธิ ให้ทำจิตอย่างนั้น ๆ เป็นวิธีการสอนของท่าน


    เรา ซึ่งไม่เคยทำเลยมักเป็นทุกข์ก่อนแล้ว จิตใจอ่อนไปหมดไม่มีกำลังที่จะทำเลย แต่ถ้าความมุ่งหมาย ความพอใจ อยากได้บ้านได้เรือนหลังสวย ๆ งาม ๆ แน่นหนามั่นคงสง่าผ่าเผย เป็นที่ปลอดภัยไร้ทุกข์โดยประการทั้งปวงแล้ว ก็ไม่เห็นยากอะไรนี่ !


    บ้าน ทั้งหลังโลกเขาสร้างกันได้ ทำไมเราจะสร้างไม่ได้ เขาเอาอะไรมาสร้าง เขาสร้างด้วยวิธีใด เราก็คน ๆ หนึ่ง ทำไมจะปลูกบ้านหลังหนึ่งด้วยไม้เหล่านี้ไม่ได้ล่ะ !เพียงมีมานะเป็นแรงดันเท่านั้น มันก็ทำได้ด้วยกัน นี่ก็เช่นเดียวกัน !


    ท่านผู้มีบ้านมีเรือนหลังสง่าผ่าเผยใหญ่โตรโหฐาน ปรากฏแก่สายตาอย่างเด่นชัดเต็มบ้านเต็มเมือง มองไปทางไหนก็เห็นอยู่รอบทิศ ก็เพราะความมานะเป็นสำคัญ


    ท่านผู้ยังมวลสัตว์ให้กระเทือนทั่วแดนโลกธาตุ และอยู่ในสังคมมนุษย์เวลานี้ ก็ได้แก่จอมปราชญ์ทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกทั้งหลาย ที่สร้างบ้านสร้างเรือนใจอันแน่นหนามั่นคงและยอดเยี่ยมกว่าบ้านเรือนทั้งหลาย ท่านทำวิธีใด? จึงสามารถฉลาดรู้เหนือโลกทั้งสาม ที่บรรดาสัตว์ทุกชั้นติดข้องอยู่ ?ผลก็ประเสริฐเลิศโลกจนปรากฏชื่อลือนามสะเทือนทั่วไตรภพ ประกาศสอนธรรมด้วยวิธีการต่าง ๆ ให้สัตว์โลกได้ทราบเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน


    เรา ก็เป็นคน ๆ หนึ่ง ซึ่งมุ่งหวังต่อความสุขความเจริญ เฉพาะอย่างยิ่งความสุขความเจริญทางจิตใจ ถ้าจะเดินแบบศิษย์มีครูละก็ ท่านทำอย่างไรเราก็พยายามทำอย่างนั้น จะยากลำบากแค่ไหนก็จำต้องทนสู้ เพื่อความดีที่รอรับผู้มีความพากเพียรไม่ลดละท้อถอยอยู่แล้วตลอดเวลา


    จิตทั้งดวงมันก็เหมือนไม้ทั้งต้น ก็ทราบอยู่แล้ว เพราะเต็มไปด้วยรากแก้วรากฝอย กิ่งก้านสาขาของอวิชชา ตัณหา อุปาทานทั้ง นั้น จะปอกเอาง่าย ๆ เหมือนปอกกล้วยได้อย่างไร เพราะภายในจิตมีแต่อันเดียว คืออวิชชาตัณหาหุ้มห่อเต็มไปหมด ตัวจิตจริง ๆ มองไม่เห็นเลย นั่น !รู้ ไหมว่าจิตเราน่ะมันเต็มไปด้วยสิ่งเหล่านี้ทั้งนั้น เนื้อแท้ของจิตแท้นั้นจนมองไม่เห็น มีแต่เรื่องกิเลสตัณหาอาสวะไม่รู้กี่ชั้น และหุ้มห่อมากี่กัปกี่กัลป์แล้ว !จิตที่ถูกหุ้มห่อปิดบังหมดหรือไม่หมด พอกำหนดจิตลงไปก็ไปเจอกับจอมกษัตริย์ คือ “วัฎจักร”เจอแต่วัฏจักรมันก็ต้องอ่อนใจคนเรา !เพราะความมืดตื้อก็คือเรื่องของกิเลส ความไม่รู้ประสีประสาอะไรเลยมันก็เป็นเรื่องของกิเลส จึงมองหาทิศทางที่จะเป็นสารคุณพอเป็นเครื่องดูดดื่มจิตใจไม่เห็นเห็น แต่ความมืดมนทั้งนั้น ทำให้เกิดความท้อแท้อ่อนแอภายในใจ การเรียนปฏิบัติเบื้องต้นเป็นเช่นนั้น ไม่ว่าใครย่อมจะเป็นไปทำนองเดียวกัน


    พระ พุทธเจ้าก็ตาม พระสาวกก็ตาม พวกเรา ๆ ท่าน ๆ หรือครูอาจารย์ทั้งหลายที่เคยให้การอบรมสั่งสอนเรามาโดยลำดับจนกระทั่ง ปัจจุบันนี้ก็ตาม ท่านก็เคยเป็นเช่นเดียวกับพวกเรานั้นแล แต่เพราะความพยายามเป็นสำคัญ เมื่อได้รับการศึกษาเล่าเรียนหรือได้รับอุบายต่าง ๆ จากครูอาจารย์ และนำวิธีการนั้น ๆ ไปปฏิบัติ ด้วยความเพียรของตน สติปัญญาท่านแนะวิธีอย่างไรก็พยายามดำเนินตาม และพยายามบังคับจิตใจไปตามร่องรอยแห่งธรรม ถ้ามันคิดปรุงแตกแขนงออกไป ด้วยอำนาจของกิเลสบังคับให้แตกไปทางใดบ้าง คิดปรุงไปทางใดบ้าง ต้องพยายามหักห้าม และฉุดลากเข้ามาด้วยสติ พยายามหาอุบายเหนี่ยวรั้งมาด้วยสติปัญญา อย่าอ่อนข้อตามใจที่กำลังเป็นนักโทษ พอแหกคุกคือความควบคุมของสติปัญญาออกได้ จะไปเที่ยวขโมยเขาอีก!


    เบื้องต้นแห่งการปฏิบัติเป็นอย่างนั้น ต้องบังคับกันอย่างเข้มงวดกวดขัน ตั้งท่าตั้งทางเหมือนจะเอาเป็นเอาตายกันจริง ๆ กับภารภาวนาเพียงอย่างเดียวการ ภาวนาท่านถือว่าเป็นความดี แต่ในขณะที่เราทำเหมือนจะเอาเข้าตะแลงแกง ถูกฆ่าถูกสังหารอย่างนั้นแหละ มันฝืดมันเคืองมันอะไรบอกไม่ถูก ใครโดนเข้าก็รู้เอง เรื่องรวมอยู่ในนั้นหมด


    ที นี้เมื่อใจที่เต็มไปด้วยกิเลส ถูกการบังคับบัญชาซักฟอกอยู่เสมอ ก็เหมือนกับได้ถูกฉุดลากขึ้นมาจากโคลนจากตม แล้วชะล้างด้วยน้ำสะอาด คือสติปัญญานั่นแล ใจเมื่อถูกฝึกทรมานอย่างเอาจริงเอาจัง ก็ค่อยปรากฏผลคือความสงบความเย็นใจขึ้นมา ความสงบกับความเย็น กับความสบาย อยู่ด้วยกันนั่นแหละ


    ถ้า ใจสงบก็สบาย ความสบายนั้นเกิดขึ้นจาการฝึกอบรม การบังคับบัญชาเกิดขึ้นจากการทรมานด้วยสติปัญญา หักห้ามไม่ให้จิตคิดเพ่นพ่านไปเที่ยวสั่งสมกิเลสอันเป็นยาพิษ เพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ ตัดทางเดินของกิเลสด้วยสติปัญญา หักห้ามไม่ให้คิดปรุงไปในอารมณ์ต่าง ๆ ในขณะที่ต้องการความสงบแก่จิตใจ เมื่อทำถูกวิธี จิตก็เริ่มปรากฏเป็นความสงบ สงบมากขึ้น สงบละเอียดลออขึ้นเรื่อย ๆ ทีนี้เรียกว่า “พอมีต้นทุน” เพื่อ เป็นกำลังใจแสวงธรรมต่อไป เหมือนกับเขาเริ่มตัดไม้ พอตัดเข้าไปก็จะเริ่มเห็นแก่นของมัน ยิ่งเลื่อยออกมาเป็นแผ่น ๆ เป็นตัวไม้ชนิดต่าง ๆ ยิ่งได้เห็นชัดว่าเป็นไม้เนื้ออย่างใดบ้าง ดีอย่างใด ปลอดหรือไม่ปลอด เนื้อบริสุทธิ์ดีอย่างใดบ้าง ทราบไปโดยตลอด


    จิต เมื่อมีความสงบเย็นก็ย่อมเห็นจิตของตัว ซึ่งทรงตัวอยู่ด้วยความสงบสุข ไม่มีอารมณ์ต่าง ๆ เข้ามาก่อกวน ความไม่มีอารมณ์เข้ามายุแหย่ก่อกวนนี้เป็นความสงบ และเป็นความสุข นี่คือคุณค่าของจิตที่เกิดความสงบ แสดงคุณค่าให้เราเห็น ในขณะเดียวกันก็ได้เห็นทั้งโทษที่จิตเกิดความฟุ้งซ่านวุ่นวาย ตั้งแต่เริ่มแรกปฏิบัติหรือก่อนปฏิบัติ ก็สามารถประมวลเข้ามาเห็นโทษในเวลาที่จิตสงบได้ ไม่เช่นนั้นเราก็มองเห็นโทษในสิ่งที่เป็นคู่กันไม่ได้ ถ้าไม่มีความสงบเป็นเครื่องยืนยันเลย


    เมื่อ จิตมีความสงบ ความสงบนี้จะเป็นเครื่องเทียบเคียงกับความไม่สงบ คือความสงบมีผลดีอย่างไร ความไม่สงบมีผลร้ายอย่างไร ก็เห็นได้อย่างชัดเจน จงพยายามบุกเบิกจิตใจให้ก้าวหน้าไปโดยลำดับ หรือพยายามคุ้ยเขี่ยสิ่งที่เป็นภัยต่อจิตใจด้วยปัญญา และชำระสะสางมันออกด้วยความไม่นอนใจ


    จิตก็มีความสงบแน่วแน่และละเอียดลงไป ตามประโยคพยายามของผู้บำเพ็ญ ที่จะเรียกว่า “สมาธิหรือไม่สมาธิ”นั้น มันเป็นเพียงชื่อของภูมิจิตภูมิธรรมประจำจิตเท่านั้น ข้อสำคัญขอให้เป็นความปรากฏภายในใจที่เรียกว่า “สนฺทิฏฺฐิโก”เห็นเองสำหรับผู้ปฏิบัติเถอะ


    ความ สุขความสบายหรือความอัศจรรย์อะไร จะเป็นสิ่งที่ปรากฏขึ้นกับจิตดวงที่ถูกชำระซักฟอกอยู่สม่ำเสมอนี้แล ไม่มีที่อื่นเป็นที่ปรากฏความแปลกประหลาดและอัศจรรย์ใด ๆ นอกไปจากจิตที่กำลังฝึกอบรมอยู่ในเวลานี้ เมื่อจิตได้เริ่มเห็นความแปลกประหลาดและอัศจรรย์ขึ้นมาในตัวแล้ว ความขยันหมั่นเพียรและความอุตส่าห์พยายามนั้นย่อมเป็นมาเอง ทุกข์ยากลำบากแค่ไหนก็ไม่ยอมลดละ ไม่ยอมถอยหลัง เดินหน้าไปเรื่อย ๆ ด้วยความเพียร ทีนี้ก็พอทราบการเข้าการออกของจิตการคิดผิดคิดถูกของจิต การก้าวเดินของจิต เดินผิดเดินถูกอย่างไรบ้างก็พอทราบได้ เพราะมีสติ ปัญญา เป็นเครื่องระวังรักษา แต่ก่อนไม่มีเลย มี แต่กิเลสที่ค่อยขยี้ขยำเสียแหลกหมด ถ้าหากจิตนี้เป็นเหมือนสิ่งทั้งหลายแล้วไม่มีอะไรเหลือเลย ยังจะเลยเป็นผุยผงไปเสียอีก อาจเรียกว่า “เป็นอากาศธาตุไปหมด ”


    แต่นี่ไม่เป็น เพราะจิตคงทนต่อทุกสิ่งทุกอย่างจะทุกข์จะยากลำบากแค่ไหน ก็รับทราบอยู่โดยปกติของตน ไม่มีความฉิบหายทลายไปดังวัตถุอื่น ๆ เมื่อได้รับการซักฟอกด้วยการเหลียวแล ความสว่างภายในตัวก็ปรากฏขึ้นและเริ่มฉายแสงออกมา เพราะ แต่ก่อนถูกสิ่งปิดบัง อันเป็นสิ่งสกปรกโสมม เป็นสิ่งมืดดำปิดบังไว้ ต่อมาค่อยกระจายออกไปด้วยความเพียร เช่นเดียวกับก้อนเมฆดำ ๆ ที่จางออกไป ก็มองเห็นแสงสว่างแห่งพระอาทิตย์ฉะนั้น!จิต ใจก็เริ่มมีความสว่างไสวขึ้นมา นั่งอยู่ที่ไหนก็สบายทำงานอะไรอยู่ก็สบาย ทำให้เพลินลืมเวล่ำเวลา ใจดำรงตนอยู่ด้วยธรรม คือความสงบสุขในอิริยาบถต่าง ๆ คิดย้อนหลังไปถึงการภาวนาในขั้นเริ่มแรกก็อดขำตัวเองไม่ได้ เพราะล้มลุกคลุกคลานเหมือนเด็กกำลังฝึกหัดเดิน คิดในวงปัจจุบันก็ทำให้เพลิน คิดไปข้างหน้าก็ ทำให้เพลิน และกระหยิ่มต่อการขยับตัวขึ้นด้วยความเพียรไปเรื่อย ๆ เลยทำให้เพลินทั้งในธรรมที่กำลังเป็นอยู่ และธรรมวิมุตติหลุดพ้นในวันข้างหน้า


    ความ สงบความสบาย ความแปลกประหลาดความอัศจรรย์ ค่อยเริ่มปรากฏขึ้นตามขั้นแห่งความสงบมากน้อย หรือละเอียดขึ้นไปเป็นลำดับ ๆ นี่ท่านให้ชื่อว่า “สมาธิ”คือ มีความแน่วแน่ความมั่นคงอยู่ภายในจิต จิตไม่ค่อยโอนเอนเหมือนแต่ก่อน เพราะมีหลักมีเรือนใจเป็นที่อยู่อาศัย เนื่องจากความพยายามสร้างเรือนธรรมให้จิต


    เรือนชั้นนี้เป็นขั้นสมาธิ สงบ เย็น ใจสบาย พอมีจิตมีความสบายเราก็เริ่มเห็นคุณค่าของจิต ตั้งแต่จิตเริ่มสบายเป็นลำดับมา เหมือนกับเรามีทรัพย์สมบัติอยู่ภายในตัวเรา ไปไหนก็ไม่ค่อยมีวิตกกังวลว่าจะอดอยากขาดแคลน เพราะทรัพย์สมบัติเป็นเครื่องสนองมีอยู่กับตัวแล้ว จิตใจเมื่อเห็นคุณสมบัติขึ้นภายในตัว เกิดความสงบเย็นใจประจำใจอยู่แล้ว คนเราย่อมมีความสบาย จะยืน เดิน นั่ง นอน ก็ไม่ว้าวุ่นขุ่นมัว ไม่ว้าเหว่ มีความเย็นสบายอยู่ด้วย “สมาธิธรรม ”นี่เป็นขั้นของสมาธิ เป็นเรือนชั้นหนึ่ง


    ขั้นต่อไป ก็คือ “ขั้นปัญญา ” พยายามฝึกหัดคิดค้น ตามธาตุตามขันธ์ ตามอายตนะทั้ง ภายในภายนอก ตามโอกาสและความถนัดใจเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นหลักธรรมชาติที่ท่านสอนไว้โดยถูกต้องแล้ว เป็นทางเดินของพระพุทธเจ้า เป็นทางเดินพระอริยเจ้าทั้งหลายที่ท่านเคยผ่านไปแล้ว ท่านเคยเดินไปแล้วเป็นความถูกต้อง จึงนำมาสอนพวกเราว่า “นี้คือ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา แห่งธาตุ ขันธ์ อายตนะ และสิ่งทั้งหลายในสากลโลกธาตุนี้ เป็นทางเดินเพื่อพระนิพพาน เพื่อความหลุดพ้นเป็นลำดับ ๆ”


    ธรรมใดที่เป็นความสนิทภายในใจ ถูกต้องกับจริตนิสัย เรามีความสนิทกับธรรมใดในธรรมทั้งสามประเภทนี้เป็น “อนิจฺจํ ”ก็ตาม เป็น “ทุกฺขํ”ก็ตาม เป็น “อนตฺตา”ก็ตาม เรามีความชอบกับอาการใดใน “อาการ ๓๒”หรือ กับธาตุใดในธาตุทั้งสี่นี้ หรือกับอายตนะใดในบรรดาอายตนะที่มีอยู่ในตัวเรา คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ตลอดถึงใจ เราจะพิจารณาอายตนะใด อาการใดของร่างกาย หรือธาตุใดของธาตุทั้งสี่นี้ ย่อมเป็นทางเดินเพื่อความรู้แจ้งเห็นจริงด้วยกัน เพราะเป็น “สัจธรรม”ด้วยกัน ถ้าเป็น “ไตรลักษณ์ ”ก็เป็นไตรลักษณ์ด้วยกัน เป็น “สติปัฏฐานสี่ ”ด้วยกัน ตามแต่จริตของเราที่ชอบจะพิจารณาหนักในอาการใด ในธาตุใดขันธ์ใด จะเป็นต้นเหตุให้กระจายไปหมด


    ไม่ เพียงแต่รู้เพียงธาตุเดียวขันธ์เดียวนี้เท่านั้น ยังสามารถซึมซาบตลอดทั่วถึงไปหมด ไม่ว่าขันธ์ใด ธาตุใด อายตนะใด เพราะเกี่ยวเนื่องกัน เป็นแต่เบื้องต้นเราชอบในอาการใด ขันธ์ใด ธาตุใด เราพิจารณาสิ่งนั้นก่อน แล้วก็ขยายงานออกไปด้วยอำนาจของสติปัญญา ที่มีความชำนาญและสามารถโดยลำดับ


    เหล่านี้คืองานของเรา งานของผู้ปฏิบัติที่จะพิจารณาหรือดำเนินไปจนถึงจุดที่หมาย เหมือนว่าก้าวเดินไปเรื่อย ๆ ด้วยหลักธรรม คือ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เป็นสายทางให้พาเดินไปด้วยสติปัญญา นี่ขั้นนี้เป็น “ขั้นปัญญา ขั้นถอดถอน ”


    ขั้นแรก คือสมาธิ เป็นขั้นที่ตะล่อมกิเลสให้รวมตัวเข้ามาอยู่ภายในจิต ไม่เที่ยวเพ่นพ่านและก่อกวน ขั้นนี้ให้จิตมีความสงบพอจิตมีความสงบแล้วก็มีกำลังควรแก่การพิจารณาท่านจึงไม่ให้นอนใจ


    สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา ”ปัญญาที่สมาธิอบรมดีแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ”คือ สมาธิเป็นเครื่องสนับสนุนปัญญาได้ดี แต่ไม่ใช่มีสมาธิแล้วจะเกิดเป็นปัญญาขึ้นมาเองโดยเจ้าของไม่ต้องพิจารณา อย่างนี้เป็นไปไม่ได้


    ตาม หลักปฏิบัติแล้วต้องพิจารณา พิจารณาตรงไหน จุดใดอาการใด ให้มีความรู้สึกสัมผัสพันธ์ มีสติ มีความรับทราบ มีความจงใจอยู่ในจุดนั้น ในอาการนั้น ในธาตุนั้น หรือขันธ์ นั้น ๆ จึงชื่อว่า “ปัญญา ”เมื่อ พิจารณาเข้าใจแล้ว ปัญญาจะค่อยซึมซาบไปใน ขันธ์ และธาตุอื่น ๆ โดยลำดับลำดา เป็นความเพลิดเพลินในการพิจารณา ไม่ใช่จะพิจารณาด้วยการบังคับเสมอไป เมื่อจิตได้เห็นคุณค่าของการถอดถอนกิเลสด้วยปัญญามากน้อยเพียงไร ย่อมมีความดูดดื่มต่องานของตนไปเองโดยลำดับ เพื่อถอดถอนกิเลสที่ยังมีอยู่ กระทั่งไม่มีอันใดเหลืออยู่ภายในจิตใจนั้นเลย จิตย่อมมีความเพลินเพราะมีต้นทุน คือสมาธิไว้แล้ว เป็นความสุขสบาย


    เวลา เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าด้วยการพินิจพิจารณาในแง่ธรรมต่าง ๆ ด้วยปัญญา ก็ถอนจิตออกจากงานนั้นเข้าสู่สมาธิ คือความเย็นสบายนี้เสีย ไม่ฟุ้งซ่านรำคาญ เพราะเรามีเรือนแห่งความสงบอยู่แล้วภายในใจ จากนั้นก็พิจารณาต่อไป การพิจารณาก็เหมือนเขาทำงาน เมื่อเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าก็พักเสียที เช่น รับประทานอาหาร พักผ่อนนอนหลับให้สบาย


    เวลา พักจิต เราไม่ต้องห่วงเป็นกังวลกับงานพิจารณาใด ๆ ทั้งสิ้น พักให้สบาย พอสบายแล้วก็ทำงานพิจารณาอีก เวลาทำงานก็ไม่ต้องไปกังวลกับการพัก เพราะได้พักมาแล้ว เวลานี้เป็นเวลาทำงาน ขณะที่พักเพื่อความสงบของจิต ก็ตั้งหน้าตั้งตาพัก จะพักด้วยธรรมบทใดก็ได้ เช่นกำหนด “พุทโธ ”หรือ อานาปานสติ ให้ตั้งหน้าต่อจิตเพื่อความสงบเท่านั้น ไม่ต้องไปยุ่งกับเรื่องปัญญาใด ๆ ทั้งสิ้น ในขณะที่ทำสมาธิเพื่อให้เข้าสู่ความสงบ พอออกจากความสงบที่จะก้าวเข้าสู่ทางด้านปัญญา ก็ให้มีหน้าที่พิจารณาทางด้านปัญญาเท่านั้น การห่วงสมาธิเพื่อความสงบนั้นไม่ต้องกังวล เพราะขัดแย้งกับงานที่กำลังทำ นั้นคืองานของปัญญา


    การ ทำงานต้องมีการคิดการปรุง การตรึกตรอง พินิจพิจารณาในสิ่งต่าง ๆ เพื่อความรู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งที่ตนยังไม่รู้ไม่เข้าใจ ซึ่งกำลังติดพันกันอยู่ให้แจ้งด้วยปัญญา เวลาทำงานต้องทำให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ไตร่ตรองดูจนเห็นแจ้ง เห็นจริง


    เอ้าธาตุ ขันธ์ ขันธ์ใดถนัดกับจิต รูปขันธ์แยกดูให้ดี มันมีแต่กองเนื้อ กองหนัง กองกระดูกทั้งนั้น ป่าช้าผีดิบเป็นอย่างนี้หมดทั้งโลก เรามาถือทำไม?ไม่ อายความจริงบ้างหรือ การถือว่าเป็นเรา เป็นของเราน่ะ นี่คือวิธีการสอนเราสอนอย่างนี้ ดูซิ เราไปเยี่ยมป่าช้า ป่าช้าภายนอกค่อยยังชั่ว แต่ป่าช้าภายในตัวเรานี้เต็มไปด้วยของปฏิกูลโสโครก สัตว์ตายเก่าตายใหม่ใกล้ไกลมารวมอยู่ที่นี่ น่าอิดหนาระอาใจยิ่งกว่าป่าช้านั้นมากมาย ทำไมถือว่านี้เป็นเรา นี้เป็นของเรา ไม่ละอายกฎธรรมชาติบ้างหรือ คือความจริงทั้งหลายเขาไม่ได้เป็นอะไรกับใครนี่ เขาไม่รับทราบรับรู้อะไรจากใคร แต่ทำไมเราจึงไปยอมตนต่อเขาจนลืมตัว แล้วก็โกยทุกข์มาให้ตัวเองอย่างมาก หนักยิ่งกว่าภูเขาทั้งลูก เป็นทุกข์ยิ่งกว่าสิ่งใดในโลก


    การ พิจารณาอย่างนี้ ก็พิจารณาเพื่อแก้ความหลงของเรานั้นแล ไม่ใช่พิจารณาเพื่อจะเอาธาตุเอาขันธ์ เอารูป เอาอายตนะ เหล่านี้มาเป็นตนเป็นของตน เขามีความจริงอยู่อย่างไรก็พิจารณาเพื่อให้ถึงความจริงนั้น ๆ จะได้ถึงความจริงของจิต จะได้ถึงความจริงของสติของปัญญาอย่างชัดเจนทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายเป้าหมายแห่งการพิจารณาและฝ่ายผู้พิจารณา ตลอดถึงสติปัญญา อันเป็นความจริงแต่ละอย่างในองค์มรรค การพิจารณาจึงไม่ได้หมายจะเอาสิ่งนั้น ๆ เช่น เราพิจารณารูป ก็ไม่ได้หมายจะเอารูป เอาเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่พิจารณาให้รู้เรื่องของรูป ธาตุ ขันธ์ นี้อย่างชัดเจนตามความจริงของมัน การพิจารณา เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เช่นเดียวกันเพราะจิตเป็นผู้ลุ่มหลง จิตเป็นผู้สำคัญมั่นหมาย จึงต้องแก้ความสำคัญมั่นหมายของตนด้วยสติปัญญาให้เข้าใจชัดเจนโดยลำดับ


    อย่าสำคัญตนว่า เคยพิจารณาหลายครั้งหลายหนแล้ว แม้วันหนึ่งเวลาหนึ่งจะพิจารณาตั้งหลายครั้งหลายหนไม่สำคัญ ! สำคัญที่ความเข้าใจจนปล่อยวางได้ หากรู้สึกอ่อนเพลียก็เข้าพักจิตพักกายเป็นกาลเป็นเวลา ดังที่เคยอธิบายมาแล้ว พักในความสงบ น้อมจิตเข้ามาสู่ความสงบแล้วพักเสีย หรือพักผ่อนนอนหลับเสีย เพื่อบรรเทาความเหน็ดเหนื่อย จากนั้นก็พิจารณาดังที่เคยพิจารณามาแล้ว ซ้ำ ๆ ซาก ๆ ไม่หยุดไม่ถอยจนเป็นที่เข้าใจ เมื่อเข้าใจแล้วจิตก็ปล่อยเอง เพราะเราพิจารณาเพื่อความเข้าใจเพื่อความปล่อยวาง ไม่ใช่เพื่อความยึดถือ


    ถึง จะยากจะลำบากอย่างไรก็ตาม เมื่อได้ดำเนินจิตก้าวเข้ามาถึงขั้นนี้แล้ว จะเป็นขั้นที่มีความเพลิดเพลินต่อทั้งเหตุทั้งผลที่ได้รับมาแล้ว และผลที่จะพึงได้รับในกาลต่อไปด้วยการประพฤติปฏิบัติ และเป็นผู้เข้าใจในงาน ถ้าเป็นไม้ก็กำลังเลื่อย กำลังไสกบลบเหลี่ยมของมันอย่างเพลิดเพลิน เพราะเข้าใจวิธีทุกอย่างแล้ว ไม้ก็เริ่มตกออกมาเป็นแผ่น ๆ ไม่ขาดวรรคขาดตอน กระดานจะเอาประเภทไหน เลื่อยออกมาเป็นชิ้นเป็นอันเห็นอย่างชัดเจน ควรจะไสกบลบเหลี่ยมก็ไสลงไป ควรจะเจาะจะสิ่ว ก็เจาะลงไปสิ่วลงไป ตามความฉลาดของช่างที่ต้องการอย่างใด


    ความ ฉลาดของผู้ปฏิบัติ ที่จะแยกแยะธาตุขันธ์ให้เป็นอะไรตามความจริงของมัน ก็แยกแยะกันด้วยอำนาจของสติปัญญาไม่ลดละท้อถอย จนสามารถถอดถอนตนออกได้ เช่น จากรูป เป็นต้น ถ้าพิจารณาลงไปจนเห็นชัดเจนแล้วตามความจริงของมัน จิตจะทนไปยึดมั่นถือมั่นอยู่ไม่ได้ บังคับให้ยึดก็ยึดไม่ได้ ต้องถอนตัวออกมาทันที เพราะความรู้จริงเห็นจริง ถือเอาความรู้จริงเห็นจริงเป็นสำคัญ ถือเอาความรู้รอบเป็นสำคัญ ไม่ได้ถือเอาความจำได้มาทำลายความจริง


    ที่อธิบายมานี้มีอยู่ในที่ใด ก็มีอยู่ในตัวของเราด้วยกันทั้งนั้น รูปกายเจ็บ ปวดตรงไหนก็กายเรา เป็นทุกข์ที่เรา สะเทือนเราให้เป็นทุกข์ ไม่สะเทือนที่อื่น มันอยู่ที่นี่ เพราะฉะนั้นจึงต้องพิจารณาที่ตรงนี้ เพราะนี้เป็นบ่อแห่งเรื่องที่เกิดขึ้นมากระทบกระเทือนใจ สิ่งภายนอกยังไกลแสนไกล สิ่งนี้กระทบเราอยู่ตลอดเวลา จึงต้องพิจารณา พิจารณาให้เห็นชัดโดยสม่ำเสมอ อย่าได้เหลิง ! อย่าหลงกลมายาของสิ่งเหล่านี้ เดี๋ยวแสดงอย่างนั้นขึ้นมา เดี๋ยวแสดงอย่างนี้ขึ้นมา ให้เราหลงและล้มไปตามเสียยังไม่กี่ยกกี่น้ำ “มวยลื้อ มีแต่ชื่อ ไม่มีฝีมือ นี่ ”ถ้าปัญญาไม่ทันก็หลง หลงไปยึดไปถือ หลงสำคัญว่าตนเป็นนั้นตนเป็นนี้ เข้าไปไม่หยุดหย่อน


    ขณะ ใดที่หลงที่เผลอตัว ขณะนั้นแลที่กิเลสได้ท่าแล้ว เราจะแพ้แล้วถ้าแก้ไม่ทัน ต้องพยายามแก้ให้ทัน การพิจารณาของปัญญาพิจารณาอย่างนี้ กายก็พิจารณาให้เห็นตามความจริงอย่างนี้ เวทนาไม่เกิดจากไหนละ เกิดจากกายนั่นแหละ อาศัยกายเป็นที่เกิด แม้จะไม่รู้เรื่องกันก็ตาม เวทนาเป็นเวทนา ไม่รับรู้กับจิตกับกายก็ตาม กายเป็นกาย ไม่รับรู้กับจิตกับเวทนาก็ตาม แต่มันเกี่ยวเนื่องกันอยู่ จิตเป็นผู้รับรู้สิ่งเหล่านี้ และหลงยึดถือสิ่งเหล่านี้ จึงต้องพิจารณาให้เข้าใจเพื่อปล่อยวาง


    ถ้า จิตไม่ฉลาด จิตโง่เขลาเบาปัญญา ก็ต้องไปยึดเอาทั้งสองนี้เข้ามาเป็นไฟเผาตัวอีก จึงต้องใช้ปัญญาพิจารณาแยกแยะให้เห็นตามความเป็นจริงของกาย ของเวทนา ของจิต ให้ชัดเจนลงไป การพิจารณาธรรมขั้นนี้เพลิน เพลินมากทีเดียว นี่เป็นขั้นธรรมดาที่เรียกว่าเพลิน เป็นขั้นราบรื่น ขั้นสม่ำเสมอ เป็นความเพลิน!


    เอ้า !ทีนี้ขั้นที่จนตรอกจนมุมคืออะไร ?ขั้นที่ทุกขเวทนาเกิดมาก ๆ นี้แหละเป็นขั้นหัวเลี้ยวหัวต่อขั้น ที่เอาจริงเอาจังทีเดียว ถ้าเป็นแชมเปี้ยนก็เข็มขัดแชมป์จะหลุดถ้าไม่เก่งจริง ทำอย่างไรจะให้เข็มขัดมั่นคงอยู่ตัวได้ ได้ชัยชนะ ต้องใช้ปัญญาอย่างเด็ดเดี่ยวเฉียบขาดทีเดียว เราเป็นนักต่อสู้ไม่ยอมถอย นอกจากลมหายใจขาดดิ้นสิ้นใจไปเสียเท่านั้นถึงจะถอย ทุกข์จะเกิดขึ้นมากน้อย เราต้องคิดถึงเวลาตายเป็นสำคัญยิ่งกว่านี้ ขณะที่เป็นอยู่เวลานี้ยังไม่ได้ตาย ขณะที่จะตายมันหนักยิ่งกว่านี้ จนทนไม่ได้ถึงขั้นตาย !


    เพียง เท่านี้เราจะพิจารณาไม่ได้หรือ เหตุใดเราจะพิจารณาได้ในเวลาเวทนาหนักขนาดตาย เพียงทุกขเวทนาเท่านี้เราสู้ไม่ได้ ถึงขนาดตายเราจะสู้ได้อย่างไร เพียงเท่านี้เรารู้เท่าไม่ได้ ถึงขั้นตายเราจะรู้เท่าได้อย่างไร นำมาเทียบเคียง พิจารณาเข้าไป ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นในขณะนี้กับทุกขเวทนาในขั้นตาย มันเป็นเวทนาอันเดียวกัน ซึ่งจะต้องพิจารณาด้วยปัญญาอย่างแหลมคมให้รู้เท่าทันเช่นเดียวกัน พิจารณาแยกแยะให้รู้ มันเจ็บมันทุกข์มากเท่าไรจิตยิ่งไม่ถอย หมุนตัวเป็นเกลียวเข้าไปสู่ความจริง คือทุกขเวทนากับกายกับจิต แยกกันให้เห็นชัดเจนในขณะนั้น โดยปกติมันเป็นคนละอย่าง ๆ อยู่แล้วตามหลักความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้


    การเป็นกาย เวทนาเป็นเวทนา จิตเป็นจิต แต่มันคละเคล้ากัน เพราะความโง่ความหลงของเราเท่านั้น คำว่า “คละเคล้ากัน ”ก็ คือเราเป็นคนไปกว้านเอามาคละเคล้า เอามาเป็นตัวเราเป็นของเราต่างหาก ธรรมชาตินั้นเขาไม่ได้รับทราบว่าเขาเป็นอะไร แม้แต่เกิดทุกข์ขึ้นมาเขาก็ไม่รับทราบ ไม่มีความหมายในตนว่าเป็นทุกข์และเป็นทุกข์ให้แก่ผู้ใด สิ่งเหล่านี้เป็นความสำคัญของจิตเท่านั้น กายก็ไม่ได้สำคัญตนว่าเป็นทุกข์ ทั้ง ๆ ที่เวลาทุกข์เกิดขึ้นอย่างมากมายภายในร่างกายกายก็ไม่ทราบความหมายว่าตนเป็นทุกข์ และไม่ทราบความหมายว่าตนเป็นอะไร หรือเป็นของใคร


    เวทนา คือ ความทุกข์เป็นต้น ทุกข์มากทุกข์น้อย ก็เป็นธรรมชาติความจริงของตน ไม่มีความสำคัญมั่นหมาย ไม่มีความรู้สึกว่าตนเป็นอะไร และเป็นขึ้นกับสถานที่ใด เป็นขึ้นเพื่อกระทบกระเทือนอะไร เป็นเหตุเป็นผลกับอะไรหรือกับใคร ไม่มีทั้งนั้น เป็นความจริงของเขาล้วน ๆ สำคัญที่จิตจะต้องพิจารณาให้เห็นชัดเจนตามสิ่งเหล่านั้น ทุกข์ก็ให้เห็นว่ามันเป็นทุกข์อย่างแท้จริงอันหนึ่งเท่านั้น ไม่สำคัญเอาว่าทุกข์เป็นเรา เราเป็นทุกข์ ทุกข์เป็นกาย กายเป็นทุกข์ ซึ่งจะนำทุกข์มาคละเคล้ากันกับจิต ต้องพิจารณาให้เห็นชัดดังที่อธิบายมานี้ นี้แลเวทีอันสำคัญ คือตรงนี้แหละ !


    เมื่อ คราวจนตรอกหาทางออกไม่ได้ด้วยวิธีอื่นใด ต้องสู้ด้วยวิธีนี้โดยถ่ายเดียว เวทีนี้ใครจะหาทางถอยเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย นอกจากต้องสู้ด้วยวิธีนี้ ซึ่งเป็นแบบ “ศิษย์มีครู ”จึงจะกำชัยชนะไว้ได้ด้วยความอาจหาญ ทุกข์ในขันธ์ที่เกิดขึ้นกับเราเป็นทุกข์ที่ถอยไม่ได้ ถอยเท่าไรมันยิ่งเหยียบย่ำเราลงไป จนสติสตังไม่มีกับตัวเลย นั่นดีแล้วหรือ ?ตายด้วยความเสียสติ ล้มละลายด้วยความเสียสติ ด้วยความไม่เป็นท่า ไม่มีปัญญาเป็นเครื่องต่อสู้เหลวที่สุด นี่เรียกว่า “เหลวที่สุด ”แพ้อย่างหลุดลุ่ย แพ้แบบนี้ใครต้องการหรือ ?


    คำว่า “แพ้อย่างหลุดลุ่ยนี้ ”ไม่มีใครต้องการเลย เรายังพอใจแพ้แบบนี้อยู่หรือจึงนอนใจ ไม่รีบฝึกหัดสติปัญญาไว้ต้อนรับแต่บัดนี้ !เอ้า กัดฟัน พิจารณาสู้ลงไป ถ้ายังมีฟันพอได้กัดนะทำอย่างไรจึงจะไม่แพ้ ค้นลงให้ชัดเจน !


    จิตตายไม่เป็น จิตไม่ใช่ผู้ตายจิต เป็นนักต่อสู้ สู้ทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกข์เคยเกิดมานานแล้วตั้งแต่วันเกิด จิตยังต่อสู้มาได้ ทำไมทุกข์เกิดขึ้นในขณะนี้จิตจะต่อสู้ไม่ได้ล่ะ?สติปัญญาเราเคยได้ใช้มาบ้างแล้วในกิจอื่น ๆ กิจนี้สำคัญจงนำมาใช้อย่าหมักหมมเอาไว้เวลาตายจะไม่มีอะไรติดตัวจะว่าไม่บอก


    พระ พุทธเจ้าเคยใช้ พระสาวกท่านเคยใช้มาแล้ว ทำไมเราเอามาใช้จะอาภัพเล่า อาภัพไม่ได้ เมื่อเราเป็นนักรบอยู่แล้ว เป็นผู้สนใจต่อปัญญานำมาคิดพิจารณา นำมาค้นคว้าอยู่แล้ว ตามเรื่องของรูป เวทนา จิต ที่กำลังต่อสู้ หรือประจัญบานกันอยู่เวลานี้ แยกกันให้เห็นตามความจริงของมันด้วยปัญญา จะได้ชัยชนะที่ตรงนี้ !


    เมื่อได้ชัยชนะที่ตรงนี้อย่างประจักษ์แล้ว เอ้า!จะตายก็ตายเถอะ !ความ กล้าหาญที่ไม่เคยคาดคิดเกิดขึ้นทันที จะตายที่ไหนก็ตายเถอะ เวลาไหนก็เถอะ อิริยาบถใดก็เถอะ มันเป็นความจริงเสมอกันหมด ทุกข์เป็นทุกข์ เราเป็นเรามาตลอดอนันตกาลแล้ว นี้เป็นความรู้ นี้เป็นกาย นี้เป็นเวทนา มันต่างอันต่างจริง


    เอ้า ดับ ๆ ไป !ถ้า ไม่ดับ จะอยู่ก็อยู่ไป ผู้รู้ก็รู้ไป และรู้อยู่เสมอไม่ลดละความเป็นผู้รู้ เป็นนักรู้ กระทั่งหมดเรื่องที่จะให้รู้ต่อไปก็ปล่อยตามความจริง หายห่วง ดังพระพุทธเจ้าท่านปรินิพาน คือหมดเรื่องในขันธ์ที่จะนำมาใช้ เหลือแต่ธรรมล้วน ๆ


    การปรินิพพานหมายความว่าดับรอบ ไม่มีอะไรเหลือเลยบรรดาสมมุติ นี้ แหละสงครามหรือการพิจารณาให้เห็นจริงเห็นจัง ให้เห็นความสามารถของตนว่า มีความแกล้วกล้าสามารถขนาดไหน หรืออาภัพแค่ไหน เราจะทราบที่ตรงนี้แล เมื่อทราบที่ตรงนี้ว่า เรามีกำลังความสามารถเต็มที่แล้ว กับสัจธรรมทั้งหลายที่แสดงตัวขึ้นกับเรา ว่าต่างอันต่างมีความเสมอภาคกันด้วยความจริงแล้ว ก็หมดความกลัว!ไม่มีหวั่น !เราต้องการความไม่มีหวั่น ต้องการความปลอดภัย ไม่มีอะไรมายั่วยวนจิตใจให้เกิดความลุ่มหลง ต้องปฏิบัติให้ถึงฐานความจริง


    นี่ เราพูดถึงเรื่องขั้นของการปฏิบัติ เรื่องธาตุ เรื่องขันธ์ รูปธาตุ รูปขันธ์ กับเวทนาขันธ์ แสดงตัวขึ้นเป็นความทุกข์ ว่าร่างกายเราเป็นทุกข์ เวทนาเป็นกองทุกข์ขึ้นกับเรา ใจเราจึงอยู่ในท่ามกลาง อาจถูกทั้งสองอย่างนี้ประดังกันเข้ามากระทบ เลยกลายเป็น “เนื้อบนเขียง ”ไปได้


    ทาง หนึ่งหนุนขึ้นมา คือเขียงหนุนขึ้นมา มีดสับลงไป ตัวเราคือจิตก็เลยแหลกละเอียดพอดี ถ้าปัญญาเรารอบ ก็เรานั่นแหละเป็นผู้ฟันอะไรต่ออะไร เขียงเราก็ฟันลงไปได้ ชิ้นเนื้อต่าง ๆ บนเขียงเราก็สับลงฟันลงได้ มีดเราหามาได้คือปัญญา สิ่งเหล่านี้เลยเป็นอุปกรณ์ให้เราใช้อย่างสะดวกสบายถ้าเราฉลาด ถ้าเราไม่ฉลาดก็สิ่งเหล่านี้แหละจะฟันเรา เช่น มีดฟันมือคนเป็นต้น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้แลเป็นข้าศึกต่อเราผู้โง่ ถ้าเราเป็นผู้ฉลาด สิ่งเหล่านี้แลเป็นเครื่องมือในจิตของเรา มีความแหลมคม เพราะอาศัยสิ่งเหล่านี้เป็นหินลับ เราพิจารณาสิ่งเหล่านี้ จึงเกิดความเฉลียวฉลาดขึ้นมา ถอนตนขึ้นมาได้ด้วยความฉลาด เนื่องจากการพิจารณาสิ่งเหล่านี้ นี่เป็นเวทีสำคัญในการภาวนา นี่พูดถึงเรื่องทุกขเวทนา กับกาย กับจิต


    ที นี้เราพูดถึงเรื่องการพิจารณาภาคทั่ว ๆ ไปในสัจธรรม ตั้งแต่ขั้นต่ำจนถึงขั้นสูงสุด เราก็พิจารณาอย่างนี้เหมือนกัน เวลาเกิดเรื่องขึ้นมาก็ให้พิจารณาอย่างนี้ เวลาไม่เกิดเรื่องก็ให้พิจารณาให้เข้าใจสิ่งเหล่านี้ จนกระทั่งปล่อยวางได้เช่นเดียวกัน


    อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ วิญฺญาณปจฺจยา นามรูปํ ไปเรื่อย ๆ มันส่งออกมาจากจิตนี้แหละ ท่านอาจารย์มั่นท่านว่า “ฐีติภูตํ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ท่านว่า ฐีติภูตํ หมายถึงจิต อวิชชาอาศัยจิตเป็น อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ขึ้นมา เพราะฉะนั้นจึงต้องพิจารณาลงที่นั่น เพราะ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา มันออกมาจากจิต เป็นขึ้นจากจิต มีจิตเป็นที่อาศัยของอวิชชา ไม่มีจิต อวิชชาอาศัยไม่ได้ จึงต้องพิจารณาลงไปที่นั่น ชำระกันที่นั่น ฟาดฟันกันลงไปที่นั่นด้วยสติปัญญาอันทันสมัย อวิชชาขาดกระจายไปหมด


    อวิชฺชายเตฺวว อเสสวิราคนิโรธา สงฺขารนิโรโธ...เป็นต้น ทีนี้ก็ดับ ๆๆๆ เรื่อยไปจนถึง นิโรโธ โหติ นั่น !ในเบื้องต้นของว่า “สมุทโย โหติ พอกลายเป็น นิโรโธ โหติ อวิชชาดับ อะไร ๆ ที่เกี่ยวโยงกันก็ดับไปหมด กลายเป็น นิโรธ ดับทุกข์ดับสมุทัยภายในใจอย่างไม่มีอะไรเหลือเลย !


    นี่ เป็นขั้นสุดท้ายแห่งการสร้างบ้านสร้างเรือนมา ตั้งแต่คว้าไม้ทั้งต้นมาปลูกบ้านปลูกเรือน มาไสกบลบเหลี่ยม มาเลื่อย มาเจาะ มาสิ่ว ตามความต้องการของนายช่างคือผู้ปฏิบัติ จนกระทั่งสำเร็จขึ้นมาเป็นบ้านหลังอัศจรรย์ มีความสูง สูงพ้นโลก สง่างามขึ้นมาที่จิตใจ ย่อมมีความลำบากเป็นทางเดิน แต่สุดท้ายก็มีความอัศจรรย์อย่างยิ่งจากความลำบากนั้น ความลำบากนั้นจึงเป็นเครื่องสนับสนุนให้ผลนี้เกิดขึ้นเป็นที่พึงพอใจ ดังหลักธรรมท่านกล่าวไว้ว่า “ทุกฺขสฺสานนฺตรํ สุขํ ”สุขเกิดในลำดับความทุกข์ คือการประกอบงานด้วยความทุกข์เสียก่อน ก่อนจะได้รับความสุขนี่ !


    การ ประกอบความพากเพียร จะเป็นของง่าย ๆ เมื่อไร ต้องแบกแต่กองทุกข์ด้วยการกระทำทั้งนั้น หนักก็ทำ เบาก็ทำ หนักก็ทุกข์ เบาก็ทุกข์ด้วยกัน จนกระทั่งถึงขั้นความสุขความสมบูรณ์ ก็เกิดมาจากความทุกข์ที่เนื่องมาจากการกระทำนั้นแล นั่น!


    นี่เป็นบ้านเป็นเรือนอันสมบูรณ์แล้ว ชั้นหนึ่งเป็น “สมาธิ ”ชั้นหนึ่งเป็น ปัญญา ชั้นสุดท้ายเป็น “วิมุตติ ”บ้านสามชั้นอยู่สบาย !ที นี้อยู่กันไปจนกระทั่งถึงวันปรินิพพาน จะเป็นท่านผู้ใดก็ตามเมื่อถึงขั้นวิมุตติหลุดพ้นแล้ว เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา ต้องอาศัยกันไปเป็นลำดับ ในระหว่างขันธ์กับจิตที่ครองตัวอยู่ ต้องได้บำเพ็ญสมาธิ บำเพ็ญทางด้านปัญญาพิจารณาตามเรื่องราวของมัน เพื่อเป็น “ทิฏฐธรรม”มีความรื่นเริง คือเป็น “วิหารธรรม”เป็น เครื่องอยู่สบาย ๆ ในระหว่างขันธ์กับจิตที่ยังครองตัวกันอยู่ จนกระทั่งผ่านเรื่องขันธ์ที่เป็นตัวสมมุตินี้แล้ว สมาธิปัญญาก็ผ่านไปเช่นเดียวกัน เพราะเป็นสมมุติด้วยกัน จากนั้นก็หมดสมมุติที่จะพูดกันต่อไปอีก

    จึงขอยุติการแสดงเพียงเท่านี้

    คัดลอกจาก http://www.luangta.com/thamma/thamma_talk_text.php?ID=1567&CatID=1
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 20 พฤษภาคม 2011

แชร์หน้านี้

Loading...