สงคหทิฏฐิ สงเคราะห์ความเห็น ความเป็นไม่พูด

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย wisarn, 15 มิถุนายน 2009.

  1. wisarn

    wisarn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    741
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +2,505
    [​IMG]

    พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ท่านพ่อลี ธมฺมธโร)
    วัดอโศการาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ


    ต่อไปนี้จะพรรณนาคุณของพระอรหันต์ ที่เป็นผู้รู้แจ้งโลก ละโลกขาดเป็นสมุจเฉทปหานนั้นได้แล้ว ถ้าขันธ์ ๕ ยังปรากฏแก่โลกอยู่ ก็เป็นขันธวิสุทธิหมดบุญหมดบาป เพราะดวงจิตมิได้เข้ามายึดมาเป็นกรรมสิทธิ์ จิตพันแล้วจากอาการของขันธ์ คือสังโยชน์ ๑๐ ดับสนิทมิได้มาพัวพันดวงจิตอีกได้แล้ว ที่เรียกว่า พระนิพพานธรรม คือจิตผ่องใสไม่มีราคะ โทสะ โมหะ มาปกปิดอีกได้ ถึงธรรมชาติจิตเดิมอันสว่างไม่มีสิ่งที่จะเปรียบได้ เมื่อความสว่างอันนั้นเกิดขึ้นแล้ว ย่อมทำลายความสว่างของโลกทั้ง ๓ ให้หายไปหมด ไม่ปรากฏว่ามีภพนั้น ภพนี้อีกเลย เมื่อจิตของตนยังไม่พ้นไปจากกิเลสแล้วย่อมเห็นว่าโลกทั้ง ๓ ภพ มีความสว่างอยู่หรือเป็นสุขอยู่ดังนี้

    เมื่อใดใจของตนเข้าถึงโสดาขั้นแรก แลเห็นความสว่างของโลก ๓ มืดไปบ้าง หรือให้ปรากฏมีสีแดงไปบ้าง ถ้าเข้าถึงสกิทาคาขั้นที่สอง จะปรากฏความสว่างของโลก ๓ ให้สีแดงหรี่ลงทุกที ถ้าเข้าถึงอนาคาขั้นที่สาม จะปรากฏความสว่างของโลก ๓ ให้มืดมัวลงหรี่ลงทุกที แต่ยังเหลืออยู่ ถ้าเข้าถึงอรหัตมรรคขั้นที่สี่ จะปรากฏความสว่างของโลก ๓ มัวมืดหรี่ลงเกือบจะดับ พอศีล สมาธิ ปัญญา เข้าสันนิบาตในดวงจิตได้แล้ว อวิชชากับอริยมรรค เบื้องบนดับพร้อมกันแล้ว มิได้ปรากฏโลกเลยว่ามีลักษณะสีสัณฐานอย่างไร อยู่ทิศไหนแดนใด มีแต่ใสสว่างกระจ่างแจ้งคือพระนิพพาน โลกทั้งหลายละลายสิ้นด้วยอรหัตมรรคและผล นี้ย่อมเป็นของมีจริงอยู่ แต่ไม่รู้เพราะความหลงความมืด ความสว่างอันนี้แหละ กำจัดความมืดของโลกให้หมดไป จะปรากฏได้แต่พระนิพพานธรรม ความสว่างของนิพพานบังคับ แลปิดบังความสว่างของโลกให้หมดไป

    มีข้ออุปมัยดังนี้ เปรียบประหนึ่งว่าแสงพระอาทิตย์ส่องโลกให้สว่างกลางวันในหมู่มนุษย์และสัตว์ เมื่อแสงพระอาทิตย์แผ่รัศมีมีกำลังกล้าเต็มที่แล้ว ย่อมขจัดทำลายเสียซึ่งความสว่างของดาราทั้งปวงที่มองเห็นอยู่ในท้องฟ้าในเวลากลางคืน ถ้าพระอาทิตย์ปรากฏขึ้นมา แสงดาราคือดาวย่อมดับไป นี้อุปมาฉันใด พระนิพพานธรรมย่อมกำจัดความสว่างของโลกก็ฉันนั้น

    อีกอุปมาหนึ่งว่า เปรียบเหมือนแสงเทียนที่มนุษย์ติดไฟขึ้นย่อมทำความสว่างขึ้นแก่ตาแล้ว ถ้าหากมีแสงตะเกียงอันสว่างกล้ามาปรากฏในที่ใกล้แห่งแสงเทียน จะรู้สึกว่าแสงเทียนนั้นแดงหรือหรี่ไป เมื่อแสงกล้าจริงๆ แล้ว แสงเทียนนั้นย่อมไม่ปรากฏเสียเลย ถ้าผู้ที่มิได้สังเกตจริงๆ แล้ว จะเห็นว่าแสงเทียนไม่มีเลย แต่ที่จริงแสงเทียนนั้นคงมีแสงอยู่ตามเดิม แต่มนุษย์มิได้เอาใจใส่ในแสงเทียนนั้นเลย นี้แลฉันใด ดวงจิตที่เข้าถึงพระนิพพานธรรมอันสว่างย่อมกำจัดแสงพระอาทิตย์ แสงพระจันทร์ และฤทธิ์เดชสวรรค์ มาร พรหม ยมโลก มิให้ปรากฏขึ้นในใจได้ เพราะเหตุนี้จึงเรียกว่าพระนิพพานสูญฯ คือไม่ปรากฏโลก ๓ เป็นอารมณ์เลย คือใจมิได้เข้าสัมปยุตนั้นเอง คือสูญจากโลกต่างหาก คือไม่มีความ เกิด แก่ เจ็บ ตาย อีกแล้ว

    พระนิพพานเป็นของที่มีแท้ไม่แปรผัน เสื่อมไม่เป็น มีอยู่คงที่อย่างนั้น แต่ผู้จะทำเหตุให้รู้เห็นพระนิพพานไม่มี ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย มีอยู่ตราบใด พระนิพพานก็มีอยู่ตราบนั้น เพราะความไม่เกิดก็มาจากเกิด ความไม่ตายก็ฝังอยู่ที่ความตายนั้นเอง พระนิพพานไม่ถอยไปถอยมา แต่ผู้ปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา ถอยออกถอยเข้าเปรียบประหนึ่งว่า มนุษย์ที่ไปหัวเมืองหนึ่ง เมื่อตนเดินไปถึงครึ่งทางก็กลับมาเสียแล้ว ไปอีกเดินกลับไปกลับมาอยู่เช่นนั้น ควรจะถึงใน ๓๐ วัน จะเดินอยู่สัก ๓ ปีก็ไม่ถึง ถ้าตนไปไม่ถึงแล้ว ยังจะต้องบอกคนอื่นอีกว่าเมืองนั้นไม่มี เช่นนี้เป็นความผิดอย่างมากทีเดียว

    นี้ฉันใดผู้ปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา ถอยไปๆมาๆอยู่ ไม่รู้แจ้งความจริงแล้ว ยังจะต้องมาประกาศคนอื่นอีกว่าพระนิพพานสูญไม่มี เสื่อมไปหมดแล้ว เพราะพระพุทธเจ้านิพพานนานแล้ว ดังนี้ ผิดจากความจริงมาก เปรียบเหมือนพื้นที่บิดามารดาพาทำนามาเคยได้ผลดีเสมอ แต่ถ้าหากว่าบิดามารดาตายไป ความขี้เกียจของตนเกิดขึ้นไม่ทำแล้วความอดจะต้องมี ถ้าอดแล้วเราจะว่าบิดามารดาเอาข้าวหรือไร่นาไปตามได้ไหมเล่า นี้ฉันใด พระนิพพานมีอยู่ แต่ตนไม่ประกอบเหตุขึ้นยังจะมาตู่อีกจะมีโทษสักเพียงไรนึกดูเอาเถิด ถ้าเราไปไม่ถึงหรือไม่รู้แล้วไม่สู้อัศจรรย์ ถ้าปฏิบัติใกล้เข้าไปจริงๆ จะเห็นว่าโลกนี้คลุกคลีไปด้วยอสรพิษและกองเพลิงทั้งนั้น ถ้าตนมีญาณแล้วจะแลเห็นปราสาทและวิมานของเทวเทพราวกับว่าบ้านคนจัณฑาลไป ย่อมไม่ยินดีที่จะอยู่ เพราะได้รู้พระนิพพานแล้ว

    ที่ว่านิพพานๆ นั้นมิใช่อื่น ก็คือจิตใจธรรมดาของเรานี้เอง แต่พ้นไปจากอาสวะทั้งปวงได้แล้ว คือถึงธรรมชาติจิตเดิม ธรรมชาติของเขาย่อมเป็นของไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ที่เกิดอยู่นั้นคือ หลงอารมณ์ต่างหาก ธรรมชาติดวงจิตย่อมเป็นของผ่องใส แต่อวิชชามาปกปิดไว้ให้ขุ่นหมอง อย่าว่าแต่ดวงจิตเลย จะพูดเสมอหยาบๆ เช่นมีคนๆ หนึ่งมาพูดว่า น้ำในทะเลเป็นธรรมชาติที่ใส ใครมีปัญญาย่อมแลเห็นดินได้ดังนี้ จะหาคนเชื่อคำพูดนั้นยากเหลือที่สุด แต่เขาพูดเป็นคำพูดที่จริง ที่คนแลไม่เห็นดินนั้น เพราะอาศัยเหตุหลายอย่าง คือเหตุที่มีดินรองพื้นและละออง และสัตว์ และลม เป็นต้น มาผสมอยู่ ถ้าใครกำจัดดินและลมและละอองอันละเอียดออกได้หมด ให้มีแต่ธรรมชาติน้ำอย่างเดียวแล้ว ย่อมใสบริสุทธิ์ รู้ได้ว่าลึกหรือตื้น ไม่ต้องไปงมดำให้เสียเวลา นี้แหละฉันใด ใจเราที่โง่ก็ไม่ควรจะไปหางมเรื่องพระนิพพานในที่อื่น ให้ชำระจิตใจตนนี้จึงจะแลเห็นได้

    โดยมากผู้ปฏิบัตินี้มักคำนวณและเดา และตัดสินเรื่องพระนิพพานอย่างนั้น อย่างนี้ แต่ความจริงนั้นพระนิพพานนี้มิใช่ของลึกลับเท่าไรนัก ที่ลึกลับนั้นอาศัยไม่มีปัญญาต่างหาก พระนิพพานเป็นของมีประจำโลก โลกมีอยู่ตราบใด พระนิพพานย่อมมีตราบนั้น แต่ไม่มีผู้ค้นหาความจริง จึงเป็นของห่างไกลลึกลับ เมื่อความไม่เข้าใจของตนมีขึ้นแล้ว ย่อมใช้สัญญาและสังขารมาคิดนึกว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ บางทีก็ว่านิพพานดับไปบ้าง นิพพานสูญไปบ้าง นิพพานไม่เกิด แก่ เจ็บ ตาย บ้าง นิพพานเป็นตัวตนบ้าง นิพพานมิใช่ตัวตนบ้าง ดังนี้เป็นต้น แต่ความจริงเรียกเช่นนั้นก็เป็นโวหารที่ไม่ผิดไม่ถูก ถูกและผิดอยู่กับบุคคลผู้เรียก เพราะพระนิพพานนั้นเป็นของผู้ที่พ้นไปจากสมมติ ใครจะเรียกอย่างไรก็คงเป็นอยู่เช่นนั้น

    นิพพานนั้นไมใช่ของขัด จะเรียกสวรรค์ มาร พรหม ก็ไม่เห็นแปลก ตัวอย่างเช่น พวกเราสมมติเรียกกันว่า พระจันทร์ พระอาทิตย์ เหล่านี้ เราจะเรียกเขาว่าดาวก็ตาม จะเรียกเขาว่าขี้เมฆก็ตาม จะเรียกเขาว่าโลกอันหนึ่งก็ตาม จะเรียกว่าแก้วก็ตามความเป็นจริงของเขามีอยู่อย่างไร ย่อมเป็นอยู่อย่างนั้น เขามิได้แปรไปตามคำพูดของคนเรา เขาเองเขาก็มิได้ประกาศตัวเขาว่าเป็นพระอาทิตย์ พระจันทร์อะไร ย่อมเป็นฐิติธรรมอยู่เช่นนั้น

    จิตใจที่บริสุทธิ์แล้ว ที่เรียกนิพพาน เราจะเรียกว่าอย่างไรเขาก็เป็นอยู่เช่นนั้น เหตุนั้นจึงให้นามว่า ไม่มีผิดไม่มีถูก ผิดถูกอยู่กับผู้เรียกต่างหาก ผู้ไม่รู้ความจริงก็เอาความผิดความถูกเหล่านี้มาพูดกัน พระนิพพานนั้นเป็นของรู้ในทางใจอย่างเดียวที่เกี่ยวข้อง ทางกาย วาจาที่พูดจากันนั้นเป็นเรื่องมรรคต่างหาก ส่วนผลนั้นพิเศษไปจากส่วนนี้ จึงให้นามว่าวิมุตติ คือพ้นจากสมมติ ถึงธรรมชาติที่เป็นแก่นแท้ คือจิตไม่หมุนไปหน้ามาหลัง เข้าถึงธรรมที่ไม่เสื่อม ไม่เจริญ ไม่ไปไม่มา มีอยู่เช่นนั้น นั่นแหละสมมติว่าฐิติธรรม ไม่นำเชื้อโรคคือกิเลสทั้งปวงเข้ามา ก็คือจิตใจเรานี่เอง คือถึงธรรมชาติจิตเดิม ธรรมชาติเขาย่อมเป็นของบริสุทธิ์จริง แต่เจือปนไปด้วยอารมณ์ต่างๆ เมื่อใครมาชำระอารมณ์ทั้งหลายออกได้แล้ว นั่นแลพระนิพพาน

    ที่ว่ารู้แจ้งพระนิพพานๆ นั้นมิใช่อื่นไกล คือให้รู้เรื่องของจิตดวงเดียวที่ไปเหนี่ยวเอาอารมณ์มาเป็นตนนั้นเอง แต่ธรรมชาติของจิตมีดวงเดียวอยู่แล้ว แต่จิตมิได้อบรมด้วยปัญญาแล้วก็น้อมไปสู่อารมณ์ต่างๆ มีอารมณ์ภายในและภายนอก แล้วก็เรียกกันว่าจิตดวงนั้นจิตดวงนี้ต่างๆ เลยกลายเห็นเป็นของมาก เลยหมดกำลังที่จะรักษาได้ ที่แท้จริงคำที่ว่ามากก็คือไปนับเอาอารมณ์มาเป็นจิตต่างหากแต่เราฟังคำพูดของนักปราชญ์เก่าไม่เข้าใจความหมาย ก็นึกว่าจิตจะมีมาก

    ที่ว่าจิตมีดวงเดียว แต่เรียกมากนั้นจะเปรียบให้แลเห็นใกล้ๆ เช่นคนๆ เดียวทำงานได้หลายอย่าง เช่นบางทีค้าขายเรียกว่าพ่อค้าเสีย ถ้าทำนาก็เรียกชาวนาเสีย ถ้าทำราชการก็เรียกว่าขุนนางเสียตั้งเป็นขุนก็เรียกขุนไป ตั้งเป็นหลวงก็เรียกหลวงไป แต่ความจริงก็คือคนผู้เดียวนั้นเอง ที่เรียกนั้นก็ไม่ผิด แต่เขาเรียกตามการงานที่ทำคนที่ฟังไม่เข้าใจก็นึกว่ามากคนเหลือเกิน อุปมาหนึ่งเช่นเด็กที่เกิดใหม่เขาก็เรียกทารก โตขึ้นหน่อยเขาเรียกเจ้าหนู โตขึ้นอีกเรียกเจ้าหนุ่มหรือสาว ถ้าศีรษะหงอกฟันหักไปก็เรียกยายแก่ ที่เรียกนั้นมาจากไหนอีกเล่า ก็คนๆ เดียวนั้นเอง นี้ฉันใดใจเราที่สมมติว่าจิตมากดวงก็ฉันนั้น เมื่อไม่เข้าใจสมมติคำพูดกันแล้วก็จะมัวงมกันอยู่แต่เงาแห่งตนจึงปฏิบัติได้ยาก คือไม่รู้จักจิตที่ถูกสมมติกันขึ้น จึงไม่เห็นวิมุตติจิต

    คำที่ว่าจิตมีอารมณ์มากนั้นดังนี้ คือ บางคราวเรียกว่า สราคจิต จิตรับเอาราคะ (๑) สโทสจิต จิตรับเอาโทสะ ๑ สโมหจิต จิตรับเอาอารมณ์ที่หลงมาเป็นตน ๑ นี้ฝ่ายชั่วเรียกว่า อกุศลจิตนี้ ๑ (๒) วีตราคจิต จิตที่อิ่มแล้วคลายออกซึ่งความกำหนัด ๑ วีตโทสจิต จิตที่พอแล้วหายจากความหงุดหงิด คิดประทษร้าย ๑ วีตโมหจิต จิตที่สว่างแล้วคลายออกจากความมืดราวกับจันทรคราส กับสุริยคราสที่คลายออกแล้วย่อมสว่างกระจ่างแจ้งฉันนั้นนี้ ๑ นี้ฝ่ายดีเรียกว่ากุศลจิต

    ต่อนั้นก็เข้าใจกันว่าจิตมี ๖ จิต แต่ธรรมชาติจิตจริงมีหนึ่งเท่านั้น ที่ว่า ๖ นั้นก็คือไปนับเอาอารมณ์ของจิตต่างหาก (จิตเดิมเป็นของผ่องใสด้วย) ที่ว่า ๖ นั้นก็คือไปนับเอาอารมณ์มาปนเข้าด้วยก็ว่ามากของน้อยเห็นเป็นมาก ที่มักจะเปรียบเหมือนคนที่โง่หรือจนเห็นเงินร้อยเงินพันเป็นของมาก คนที่ฉลาดหรือมั่งมีเห็นว่าน้อยนิดเดียว จ่าย ๒ วันก็หมด ส่วนคนโง่เขลาเห็นว่ารวยหนักหนาถ้าเป็นเช่นนี้ก็ยังจะต้องจนนี้ฉันใด ใจมนุษย์อันเดียว เห็นเป็นมาก ย่อมลำบากตนเพราะจนปัญญา

    ธรรมชาติจิตอันเดียวและผ่องใสนั้น เปรียบเหมือนน้ำที่ใสสะอาด แต่มีมนุษย์เอาไปใส่ในขวดที่มีสีต่างๆ แล้ว ก็เรียกกันไปตามสี มีน้ำแดง น้ำเหลือง น้ำเขียว เรียกไปตามน้ำที่ผสมสี แต่ธรรมชาติน้ำก็คงใสอยู่ตามเดิม คนที่โง่หลงสีน้ำแล้ว อยากจะกินลองดู กิน ๕ ขวด ก็เหมือนขวดเก่า ถ้ารู้เสียว่าน้ำอันเดียวเท่านั้นเอง ก็หาอยากรินขวดโน้นขวดนี้วุ่นวายไปเปล่าๆ ผู้รู้ความจริงแล้วเขารินขวดเดียวพอ นี้ฉันใด ถ้าเรารู้เห็นว่า ใจนี้แลเป็นใหญ่เป็นประธานแห่งกุศลและอกุศลมรรคผลนิพพานแล้ว ย่อมหายวุ่นที่จะไปว่าจิตอย่างนั้น จิตอย่างนี้ ที่เรียกว่าจิตมากๆ นั้นก็เพราะเข้าไปแทรกในอารมณ์ เมื่ออารมณ์มาย้อมจิตก็ไปนับเอาอารมณ์มาเป็นจิตตนเสีย

    อีกประการหนึ่ง จิตที่บริสุทธิ์นั้นเปรียบเหมือนพระอาทิตย์ที่ส่องโลกให้สว่างแจ้งถึง ๓ ฤดูกาลมิได้ขาดสักวันเดียว แต่ในฤดูฝนมีเมฆและหมอกมาปกปิดแล้ว มนุษย์ทั้งหลายที่ไม่รู้ธรรมชาติของเขาแล้ว ย่อมติและยกโทษพระอาทิตย์ไปต่างๆ คือเข้าใจเสียว่า พระอาทิตย์มืดเช่นนี้ย่อมพูดผิดจากความจริงของพระอาทิตย์แท้ๆ ตาของตนมองขี้เมฆไม่ทะลุแล้วไปติพระอาทิตย์ เพราะตนไปสมมติเอาก้อนเมฆมาเป็นพระอาทิตย์แล้วก็ติดแค่สมมติเท่านั้น หาเข้าถึงความจริงไม่ ความจริงของเขาย่อมสว่างอยู่ตามธรรมชาติไม่ว่าฤดูใด ไม่เห็นจริงแล้วขอให้ถามทหารนักบินดูก็จะรู้กันในคราวฝนตกท้องฟ้ามืดถ้าขึ้นเครื่องบินให้พ้นเมฆก็จะรู้ความจริงของพระอาทิตย์ว่าสว่างหรือมืดประการใด

    นี้แลฉันใด ใจของคนเราจะเป็นไปอย่างไรก็ตาม ย่อมเป็นธรรมชาติดวงเดียวและผ่องใสสว่างอยู่ตามธรรมชาติของเขา เมื่อไม่มีวิชาปัญญาแล้ว ย่อมปล่อยให้อารมณ์ต่างๆ ไหลเข้ามานำพาให้ทำกุศลบ้าง อกุศลบ้างแล้วก็เรียกกันตามกิริยาของจิตเสีย ถ้าหากว่าจิตดวงเดียวแล้ว เช่นนั้นอารมณ์ก็อันเดียวเหมือนกัน ถ้าอารมณ์มีอันเดียวก็ไม่สู้ยากในการปฏิบัติให้รู้ความจริงที่ว่าอารมณ์มากๆ นั้น มิใช่ว่าเข้ามาพร้อมกันทั้งหมด หนเดียวขณะเดียว จะต้องผ่านมาทีละอย่างเช่นอารมณ์ที่ดีเข้ามา อารมณ์ที่ชั่วออก สุขเข้าทุกข์ออก ฉลาดเข้าโง่ออก มืดเข้าสว่างออก คอยสับเปลี่ยนกันอยู่มิได้ขาด แต่ขณะจิตเร็วที่สุด ถ้าใครไม่มีปัญญาแล้ว ย่อมไม่รู้อารมณ์ของตนเลย เมื่อเวลากำเริบถึงกายวาจาก่อน จึงจะรู้สึกตัวกัน โดยมากจิตดวงเดียวนี้เร็วมาก เปรียบเหมือนเราติดไฟขึ้นแล้วปรากฏความสว่างขึ้นความมืดหายไปทันที เมื่อไฟดับความมืดก็ปรากฏขึ้นโดยเร็ว ดูธรรมดาแล้วจะเห็นว่าดับพร้อมกัน ราวกับเปิดสวิชท์ไฟฟ้าพรึบเดียวความสว่างปรากฏพร้อมกันทันที จิตดวงเดียวที่เปลี่ยนอารมณ์ต่างๆ นั้นก็เร็วฉันนั้น

    จิตดวงเดียวนี้แลให้เกิดภพต่างๆ เพราะมีอารมณ์เข้ามาแทรกแล้วก็พัวพันติดอยู่ คนเราคนเดียวมิใช่ว่าจะมีจิตมากจิต ตัวอย่างคนไปเกิดในสวรรค์ ก็ไปได้แต่สวรรค์เท่านั้น ถึงจะไปเกิดภพอื่นอีกก็ต้องจุติจากที่นั้นก่อน มิใช่ว่าจะไปสวรรค์แลนรกและมารพรหมพร้อมกันทีเดียว นี้ชี้ให้เห็นว่าจิตมีดวงเดียวแท้แปลกกันแต่สัญญาอารมณ์ต่างๆ กันเท่านั้น อารมณ์โดยย่อของจิตก็คือ นามรูปเท่านี้เองที่จะเปลี่ยนให้จิตไปเกิดในภพต่างๆเพราะจิตไม่มีปัญญาไม่รู้ความจริงของอารมณ์ก็งมงายตายเกิดในกำเนิดทั้ง ๔ ถ้าจิตมีปัญญามารู้อารมณ์ ปล่อยวางอารมณ์จนหมดไม่มีเศษแล้ว เหลือแต่ธรรมชาติจิตเดิมไม่หลงอารมณ์เป็นกามภพ รูปภพ อรูปภพ ได้แล้ว จิตย่อมพ้นจากทุกข์ได้ จิตอันใดที่ศีล สมาธิ ปัญญา มาอบรมเต็มรอบแล้วย่อมพ้นอาสวะกิเลสได้สิ้นเชิงดังนี้, ขันธกาโม ความใคร่ในขันธ์ ๕ ก็หมด ภวกาโม ความใคร่ในภพ ๓ มีกามภพ รูปภพ อรูปภพก็ดับ ภพ ๓ นั้นโดยย่อก็มีแต่ ๒ คือ รูปขันธ์ มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม นี้หนึ่ง นามขันธ์คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้หนึ่ง รวมลงก็คือ กายใจ หรือ กายจิตก็ว่า ส่วนรูปขันธ์แลเห็นด้วยตา ส่วนนามขันธ์ไม่แลเห็นด้วยตาเป็นแต่ความรู้สึกทางจิตใจ เมื่อรู้จักย่นเข้าขยายออกได้แล้ว ย่อมรู้ความจริงของขันธ์ ว่าขันธ์นี้แลตัวทุกข์ ขันธ์นี้แลเป็นสมุทัย ขันธ์นี้แลเป็นมรรค เมื่อทำความเข้าใจถูกย่อมแก้ถูก

    ถ้าใครมีปัญญาแล้วขันธ์จะเกิดขึ้นก็ตาม ขันธ์จะตั้งอยู่ก็ตามจะเสื่อมไปก็ตาม มิให้จิตของตนเข้าไปยึดมั่นถือมั่นสำคัญผิด ทำจิตปล่อยวางเฉยอยู่ ทำความรู้อยู่ไม่หวั่นไหว ไม่ต้องไปวิตกวิจารณ์ตามอาการของขันธ์ เพราะขันธ์นั้นเป็นของแก้ไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านก็มิได้ทรงแก้ขันธ์เป็นแต่พระองค์ทำความปล่อยวางตามสภาพความจริงของเขาเท่านั้น เพราะว่าจิตเป็นผู้สร้างขันธวัตถุ ถ้าแก้วัตถุที่สร้างยังไม่หมด ให้แก้ผู้สร้างวัตถุนั้นๆ จะหมดง่าย จิตที่มืดหลงจึงสร้างขันธ์ ๕ หรือนามรูป ก็กลายเป็นผลอีกทีหนึ่ง จนที่สุดความเกิดแก่เจ็บตายของขันธ์ก็เป็น อเตกิจฉา แก้ไม่ได้เลยเป็นอันขาด นอกจากเราจะมีปัญญาแล้วทำความปล่อยวางตามความเป็นจริงของเขาต่างหาก โดยย่อก็คือไม่ยึดถือ คำนี้มีอุทาหรณ์ที่มาในที่บางแห่ง พระองค์ออกอุทานว่า เราไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย แล้วดังนี้ แต่เราทั้งหลายมาสังเกตดูรูปขันธ์และนามขันธ์ของพระองค์แล้วก็ หากทรุดโทรมเจ็บป่วยแตกดับย่อมปรากฏอยู่ตามธรรมดา

    อันนี้แสดงให้เห็นว่าขันธ์เป็นของควรปล่อยวางต่างหาก, ความจริงของเขาเป็นอย่างไรก็อย่าฝืน ทำจิตใจของตนให้รู้อยู่เฉยๆ อย่าไปยึดเอาอารมณ์ที่ว่าเกิด แก่ เจ็บ ตาย มาเป็นตนได้เป็นถูก มุ่งแต่ความผ่องใสของจิตใจที่เป็นของไม่ตายดวงเดียวเท่านั้น จิตที่มีความมืดปกปิดอยู่นั้นไม่มีหลักฐาน คอยแต่จะลอยไปตามขันธ์ เมื่อเขาเกิดขึ้น ว่าเราเกิดด้วย เขาแก่ไป ว่าเราแก่ด้วย เขาเจ็บเขาแตกก็เข้าไปผสมกับเขาด้วย กลายเกิดทุกข์เพราะโทษที่ลอยไปตามสมมติ ถ้าไม่ลอยไปตามเขาแล้ว ก็คงมีแต่นิโรธ คือความดับทุกข์ และเหตุให้เกิดทุกข์ก็ดับมรรคก็ดับ เหลือแต่ธรรมชาติไม่ตายคือพุทธ จิตที่บานแล้ว ตื่นแล้ว จิตที่บานได้ต้องบำรุงด้วยปุ๋ย คือ ศีล สมาธิ จิตที่จะตื่นตกใจกลัวได้อาศัยปัญญา (ปุ๋ยของสมาธิคือสมถะแลวิปัสสนากัมมัฏฐาน จิตจึงจะมีปัญญารู้รอบคอบในขันธ์ เห็นทุกข์เห็นโทษ) แล้วสลัดออกให้ห่างไกลด้วยกำลังของปัญญาว่า อรหํ ดังนี้ คือ จิตที่อิ่มแล้ว พอแล้ว หมดเชื้อแล้ว ไม่ติดไฟ คือ ราคัคคิ โทสัคคิ โมหัคคิ หมดสิ้นแล้วด้วยกำลังปัญญาญาณ เป็นนิพพานธรรมอันประเสริฐคือทำลายความเกิดให้สิ้นรอบแล้ว แต่มิใช่นิพพานสูญ ยังมีอยู่ที่เรียกว่านิพพานธรรม

    นิพพานธรรมนั้นก็คือ ดวงจิตอันเดิมนั่นเอง แต่ทำไมจึงไม่เรียกว่าจิตอีก ที่เรียกเช่นนั้นก็คือจิตหมดอารมณ์แล้ว เปรียบเหมือนคำสมมติที่พูดกันว่าต้นไม้บ้าง เหล็กบ้าง ถ้าเขาทำลายแล้วก็เรียกกันว่ากระดาน ถ้าทำเป็นบ้านก็เรียกว่าเรือน ถ้าทำเป็นโต๊ะเก้าอี้ก็เรียกกันตามนั้น แต่ไม่เห็นว่าจะเรียกว่าต้นไม้อีกตามเดิม เหล็กก็เหมือนกันทำเป็นรถทำเป็นมีดก็เรียกว่าไปตามนั้น ก็ไม่เห็นเรียกว่าเหล็กอีก เมื่อไม่เรียกว่าเหล็กแล้ว เหล็กก็คงอยู่ไม่หายไปไหน คงมีอยู่เช่นนั้น

    นี้ฉันใด ใจเราเมื่อนายช่างคือปัญญามาอบรมแล้วก็เรียกว่านิพพาน มิได้เรียกเหมือนเดิม ถ้าไม่เรียกเช่นนั้นแล้ว ก็นึกว่าจิตหายสูญ แต่ความจริงก็คือจิตอันเดิมนั่นเอง ที่เรียกว่าพระนิพพานๆ นั้น อีกประการหนึ่งก็คือจิตที่พ้นจากสมมตินั้นเอง ใครจะเรียกอย่างไรเขาก็เป็นอยู่เช่นนั้น ย่อมมิได้รับสมมติของใคร เปรียบเหมือนเพชรหรือพลอยที่เราสมมติกันก็เป็นจริง ส่วนความจริงสภาพของเขาแล้ว คือใครจะว่าอะไรเขาก็เป็นอยู่เช่นนั้น เขามิได้ประกาศตัวเขาเลยว่าเขาเป็นเพชรหรือพลอย แต่ก็มีอยู่เช่นนั้น

    นี้ฉันใด ใจที่พ้นแล้วเขาย่อมไม่ได้สมมติตัวตน ว่าเป็นนั่นเป็นนี่คงมีอยู่ไม่สูญ เปรียบเหมือนเราเรียกเขาว่าเพชรพลอยเขาก็มีอยู่ เมื่อเราไม่เรียกเขา เขาก็มีอยู่ไม่สูญหายนี้ฉันใด ใจที่เป็นนิพพานธรรมก็เป็นอยู่ฉันนั้น ใครจะว่าพระอาทิตย์ พระจันทร์ สวรรค์ มาร พรหม ดิน น้ำ ลม ไฟ หญิง ชายทั้งปวง เขาก็อยู่เช่นนั้น ไม่แปรไปไหนคงที่อยู่เป็นเอกจิตเอกธรรม ไม่นำเอาเชื้อโรคคือกิเลสเข้ามาอีกแล้ว จึงเรียกตามสมมติที่จริงว่าวิมุตติ ที่เรียกกันว่าจิตใจ มโน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้ จริง ส่วนสมมติมีที่ใด วิมุตติก็มีอยู่ที่นั้นเอง ตัวอย่างหยาบๆ เช่นเราเรียกกันว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เหล่านี้ ถ้าดูความจริงแล้วเขามิได้ประกาศตัวเขาเลยว่า ข้าเป็นขันธ์ ๕ ข้าเป็นจิตใจ นี้ฉันใด

    ใจที่เป็นนิพพานธรรมที่เข้าพระนิพพานแล้ว ย่อมมิได้ประกาศตัวว่าเป็นนั่นเป็นนี่ จึงสมมติว่าวิมุตติ ถ้าใครเข้าถึงวิมุตติตัวจริงแล้ว หมดกิริยาพูดกัน ปิดปากช่องของทวาร ปิดโลกโอฆสงสารสังขารกองทุกข์ทั้งมวล มีบรมสุขอันประเสริฐ สุขไม่เจือปน ความเกิด ความแก่ ความตาย ที่เรียกว่า นิรามิสสุข คือมิใช่อามิสสุข อามิสสุขนั้น คือสุขอาศัยกิเลส ตัณหา มานะ ทิฏฐิ ปล่อยวาง ธาตุขันธ์ อายตนะยังไม่ได้ สุขที่มีอามิสอยู่นั้น จักให้โทษได้อีก เช่น ข้าวสุก หรือผลไม้ที่สุกแล้วย่อมใกล้เข้าไปหาความบูดเน่าและเสียหายถ่ายเดียว นี้แลฉันใด สุขที่เจือปนอามิสก็ฉันนั้น อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนผลกล้วยที่สุกแล้ว มีแต่จะทำให้ลำต้นและลูกผลหลุดล่วง ให้ฝูงนกและกากินไปเท่านั้นเอง

    นี้แลฉันใด จิตใจที่เข้าไปอาศัยอารมณ์ต่างๆ ว่าเป็นตนย่อมเกิดโทษและทุกข์ ตัวอย่างเช่นคนที่กำลังเดินทางไปแวะเข้าอาศัยร่มต้นมะตูมกำลังมีผลที่สุกอยู่บนต้น ตนไม่ได้พิจารณาก่อน ถ้าหากมีลมมาพัดเข้าแล้ว ผลที่สุกนั้นย่อมหลุดล่วงลงมาถูกศีรษะของตน ให้ได้รับความเจ็บปวดเท่านั้นเอง

    นี้แลฉันใดจิตใจที่ไม่มีธรรมอาศัยแล้ว ย่อมมีทุกข์ติดตามย่ำยีบีฑาให้ลำบาก (ที่ว่าลมพัดต้นมะตูมนั้นก็คือโลกธรรมทั้งแปด ต้นมะตูมคือกาย กิ่งก้านสาขา คืออายตนะ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ หลุดล่วงเข้ามาตกถูกหัวใจที่ขาดปัญญามานั่งเฝ้ากองธาตุขันธ์อายตนะอยู่นี้) นักปราชญ์ คือ เมธาผู้มีปัญญา ย่อมแสวงหาบรมสุขอันเอกที่ปราศจากอามิส คือ ทำจิตให้หมดจดจากอารมณ์ที่ชั่วทั้งหลายนั้นแหละพระนิพพานเป็นอมตมหานฤพาน ที่พระบรมศาสดาจารย์ทรงสรรเสริญ

    ด้วยพระคาถาว่า นิพพานัง ปรมัง สุขัง พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่งดังนี้ นิพพานัง ปรมัง สุญญัง พระนิพพานว่างจากกิเลส (คือทำใจให้หมดจากอารมณ์สูญจากธาตุ ขันธ์ อายตนะ ราคะ โทสะ โมหะ ไม่มีวงศ์และเหล่ากอ คืออวิชชา ตัณหาอีกแล้ว นี้แหละจึงเรียกว่าสูญ มิใช่สูญอย่างมนุษย์สามัญเข้าใจกัน) นิพพานัง ปรมัง วทันติ พุทธา ท่านผู้รู้ทั้งหลายกล่าวว่าพระนิพพาน เป็นธรรมอย่างยิ่ง นิพพานัง ตัณหา วิปปะหาเนนะ นิพพานัง อิติ วุจจะติ แปลความว่าเพราะละตัณหา คือความอยากเสียได้แล้ว (โดยสิ้นเชิง)

    อีกนัยหนึ่ง ท่านผู้รู้ย่อมกล่าวว่า ทวีปนั้นมิใช่อื่นคือหาห่วงมิได้ หาเครื่องยึด หาเครื่องผูก (รัดและจองจำ) มิได้ เป็นที่สิ้นรอบแห่งชราและมัจจุราช นันแหละว่านิพพาน ดังนี้ นิพพานัง โยคักเขมัง อนุตตะรัง ปราชญ์กล่าวว่า พระนิพพานธรรมอันเกษมจาก (อารมณ์) เครื่องประกอบหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ ดังนี้ เอตัง สันตัง เอตัง ปณีตัง ยะทิทัง สัพพะสังขาระสะมะโถ สัพพูปธิปฏินิสสัคโค ตัณหักขะโย วิราโค นิโรโธ นิพพานัง แปลว่า ธรรมชาตินั้นสงบแล้ว (จากคู่คืออารมณ์มีรูปารมณ์ เป็นต้น) ธรรมชาตินั้นประณีต ธรรมชาตินั้นเป็นที่สงบแห่งสังขารทั้งปวง เป็นที่สละคืน (ซึ่ง) อุปธิทั้งปวงเป็นที่สิ้น (รอบ) แห่งตัณหา คือความอยากในอารมณ์ต่างๆ เป็นที่สุดแห่งความกำหนัด (ในอารมณ์ที่รักใคร่เป็นที่ดับหมดมิได้ปรากฏซึ่งอวิชชาความมืดนั้นแล) คือนิพพานดังนี้

    นี้แหละพุทธมามกะที่เชื่อต่อโอวาทศาสนาของพระพุทธเจ้าแล้ว คือ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ มรรคผลนิพพานแล้ว สมควรที่จะหาอุบายแก้จิตใจของตนด้วยการกระทำสมถะกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ประกอบด้วยศรัทธา ความเชื่อต่อพระปริยัติธรรม ปฏิบัติธรรม ปฏิเวธธรรม ดำเนินวิริยะความเพียรบากบั่นในศีล สมาธิ ปัญญา ให้ถึงพร้อมด้วยสติ คือระวังตนเองอย่าให้ประมาทในศีล สมาธิ ปัญญา ให้อุตส่าห์บำเพ็ญสมาธิ ให้ตั้งมั่นแน่วแน่มั่นคง จนเกิดปัญญาขึ้นเฉพาะจิตใจของตน ปัญญาใดเกิดขึ้นจากครูทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ปัญญานั้นตกอยู่ในฐานไม่เที่ยง อาจทำชั่วได้อีก ปัญญาใดเกิดขึ้นจากสมาธิ คือ ใจตั้งมั่น ปัญญานั้นย่อมแก้กิเลสภายในของตนได้ ฉะนั้นจึงสมควรอย่างยิ่งที่จะปฏิบัติบูชาคุณพระรัตนตรัยให้รู้รสของศาสนา อย่าให้เหมือนทัพพีที่คลุกคลีอยู่ด้วยหม้อแกง แต่ไม่รู้รสแกง ตัวเราฉันใดที่พากันคลุกคลีอยู่กับด้วยพระพุทธศาสนา จงศึกษาให้รู้รสของศาสนา อย่าให้เป็นเหมือนกบนั่งเฝ้ากอบัวหลวงลืมตาใสเหงี่ยว ตัวแมลงผึ้งบินมากระโดดโครม เพราะโง่ โง่ทั้งลืมๆ ตานั้นเอง คนเราก็โง่ทั้งรู้ๆ นั้นเอง

    ได้อรรถาธิบายในภาวนามัยกุศล ตั้งแต่ต้นจนอวสาน ในที่สุดของการกระทำสมถะกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐานที่พรรณนามาแล้วนั้น อุตตมัง กัมมัฏฐานัง ๒ ประการนี้ อุดมล้ำเลิศประเสริฐยิ่งเป็นอุบายที่จะยกตนข้ามทะเลโลกโอฆะกันดาร กล่าวคือวัฏฏสงสารสัมมาปัตติระสัสสาทัง ปัฏฐะยันเต บัณฑิตผู้ปรีชาญาณปรารถนาซึ่งความยินดีในรสแห่งสัมมาปฏิบัติรักใคร่ในพระ นิพพานสุข จงอุตส่าห์บำเพ็ญพรตกรรมฐานสองประการที่กล่าวมาแล้วนั้น อย่าเกียจคร้าน อย่าเบื่อหน่ายในภาวนากรรมฐานสองประการนี้ เป็นอาภรณ์เครื่องประดับอันประเสริฐสำหรับพุทธศาสนาทายาทในบวรพุทธศาสนา จงพึงปฏิบัติเป็นนิตย์นิรันดรเที่ยงแท้ จะได้เป็นเกาะ เป็นฝั่งเป็นที่พึ่งพำนักอาศัยของตน

    แม้ว่าวาสนาบารมียังน้อย ยังมิควรแก่ธรรมาพิสมัยที่จะได้ตรัสรู้มรรคผลนิพพานในปัจจุบันชาตินี้ก็ดี ยังจะเป็นอุปนิสัยปัจจัยแก่ตนต่อไปในภายภาคหน้า หรืออาจที่จะนำตนให้ล่วงพ้นจากอบายทุกข์ให้ได้โลกิยสุขเกษมศรีนิราศภัย ถ้าบารมีแก่กล้าแล้วจะได้วิมุตติสารพ้นจากเบญจพิธมาร ล่วงชาติ ชรา พยาธิ มรณะ อันกันดาร ก็เข้าสู่นิเวศมหาสถานกล่าวคืออมตมหานฤพาน ตามอริยตันติประเพณีพระอริยเจ้าในพระพุทธศาสนา ที่ได้แสดงมา ขอท่านผู้ปรีชาญาณ จงตรวจตรองดูตามให้ถี่ถ้วนนั้นเทอญ

    ในที่สุดนี้ขอให้ ท่านที่ได้อ่าน ได้จดจำ ได้ทำตาม จงให้ได้ประสบพบเห็นแต่ความสุขแช่มชื่นเกษมสำราญเบิกบานปราศจากภัยให้ได้ ความเจริญงอกงามในพระพุทธศาสนาทุกทิวาราตรี พร้อมด้วยความสวัสดีทั่วกัน เทอญฯ
    สงคหทิฏฐิ สงเคราะห์ความเห็น ความเป็นไม่พูด

    พระธัมมธโร (ลี) ผู้เขียน
    วัดเวฬุวัน (คลองกุ้ง) จันทบุรี


    [​IMG][​IMG][​IMG]


     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 15 มิถุนายน 2009
  2. ขันธ์

    ขันธ์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 ตุลาคม 2006
    โพสต์:
    7,917
    ค่าพลัง:
    +9,181
    ขอกราบบูชา ธรรมของท่านพ่อลี
     
  3. มโน

    มโน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2009
    โพสต์:
    316
    ค่าพลัง:
    +100
    ปัญญาใดเกิดขึ้นจากครูทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ปัญญานั้นตกอยู่ในฐานไม่เที่ยง อาจทำชั่วได้อีก ปัญญาใดเกิดขึ้นจากสมาธิ คือ ใจตั้งมั่น ปัญญานั้นย่อมแก้กิเลสภายในของตนได้

    เคารพนอบน้อมอย่างสูงสุดในธรรมบริสุทธิ์ของท่านพ่อ...
     
  4. มโน

    มโน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2009
    โพสต์:
    316
    ค่าพลัง:
    +100
    วัดอโศการาม

    วัดอโศการาม ตั้งอยู่ณ ถนนเทศบาลบางปู ซอย60
    วัดอโศการาม
    เป็นวัดสังกัดธรรมยุตนิกาย ตั้งอยู่เลขที่ ๑๓๖ หมู่ ๒ กิโลเมตรที่ ๓๑ ถนนสุขุมวิท (สายเก่า) ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ รหัสไปรษณีย์ ๑๐๒๘๐
    อยู่ริมถนนสุขุมวิท ตำบลท้ายบ้าน ห่างจากตัวเมือง 6 กิโลเมตร มีทางแยกขวามือเข้าสู่วัดตรงสถานพักฟื้นสวางคนิวาส วัดนี้สร้างเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2505 ฝ่ายธรรมยุตินิกาย สร้างขึ้นโดยพระสุทธิธรรมรังสีคัมภีร์เมธาจารย์ (ท่านพ่อลี ธมฺมธโร) มีสิ่งที่น่าชม เช่น พระธุตังคเจดีย์ เป็นพระเจดีย์หมู่รวม 13 องค์ เป็นที่ระลึกถึงธุดงควัตร 13 ประการ ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และมีวิหารวิสุทธิธรรมรังสีเป็นที่ประดิษฐานสรีระท่านพ่อลี มองจากลำน้ำเจ้าพระยาออกไป จะเห็นยอดวิหารสุทธิธรรมรังสีสวยงามมาก และบริเวณแถบนี้เป็นเขตอนุรักษ์ป่าชายเลน ซึ่งยังคงความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลน และระบบนิเวศน์วิทยา


    สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง
    - สถานตากอากาศบางปู
    - ฟาร์มจรเข้สมุทรปราการ



    อนุสรณ์ท้ายพรรษา ของ พระอาจารย์ลี ธมมธโร แสดง ณ ศาลาอุรุพงศ์
    ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน - 19 กันยายน 2498

    14. ใจที่ไม่มีสมาธิ เปรียบเหมือนท่อนฟืนหรือท่อนไม้ ท่อนซุง ที่เขาวางทิ้งไว้บนพื้นดินซึ่งคนหรือสัตว์จะเดินเหยียบย่ำหรือข้ามไปข้ามมา ถ้าเราจับเอามันมาตั้งขึ้นหรือปักลงไปในดิน มันก็จะเป็นประโยชน์ได้อย่างดี แม้จะสูงไม่มากนัดสักศอกสักแขนก็ยังดี ถึงจะไม่สูงไม่ยาว แต่ถ้าเราปักลงให้ถี่ๆ มันก็จะใช้เป็นรั้วบ้าน กันคนหรือสัตว์ที่จะเข้ามาทำความเสียหายภายในบ้านเราได้ จิตใจคนเราก็เช่นเดียวกัน ถ้าเรามีหลักของใจ ทำใจให้สูงขั้นแล้ว กิเลสต่างๆ ก็ไม่สามารถเล็ดลอดเข้ามาทำจิตใจของเราให้เศร้าหมองเปื้อนเปรอะได้
    จากหนังสือ แนวทางปฎิบัติ วิปัสสนา - กัมัฎฐาน เรียบเรียงจาก โอวาท 4 พรรษา ของ
    พระสุทธิธรรมรังสี คัมภีรเมธาจารย์ (พระอาจารย์ลี ธมมธโร)



     

    ไฟล์ที่แนบมา:

แชร์หน้านี้

Loading...