ศิลปะแห่งความดับทุกข์

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย nondanun, 1 กรกฎาคม 2009.

  1. nondanun

    nondanun เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    5,980
    กระทู้เรื่องเด่น:
    13
    ค่าพลัง:
    +32,612
    [​IMG]

    เรื่อง “ศิลปะแห่งความดับทุกข์”
    (มีกล่าวถึงจิตผู้รู้ จิตว่าง สภาวะธรรมต่างๆ ด้วย)
    วันอาทิตย์ที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๒
    ณ ห้องปฏิบัติธรรม ชั้น ๔ อาคารเฉลิมพระเกียรติ
    ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยฯ


    นมัสสุ รัตนะตะยะสะ ขอถวายความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย ขอความผาสุกความเจริญในธรรมจงมีแก่ญาติสัมมาปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ต่อไปนี้ก็จะได้ปรารภธรรมะอันเป็นหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมา สัมพุทธเจ้าเพื่อความรู้ความเข้าในการที่จะน้อมนำไปประพฤติปฏิบัติของตนเอง ให้เป็นไปที่ถูกต้อง ตรงทางตรงธรรมยิ่งขึ้น เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายอันสูงสุดคือวิมุต ความหลุดพ้น จากอาสวะกิเลส เข้าถึงมรรคผลนิพพาน นั้นเป็นความหมายของพระพุทธศาสนา ถ้าเรายังไม่ถึงซึ่งวิมุตหลุดพ้นจากอาสวะกิเลส เรายังมีกิเลสเข้าสู่สมองอยู่ ใจเราก็จะต้องมีทุกข์ แล้วยังต้องก่อกรรมทำกรรม ซึ่งก็จะต้องมีวิบาก มีผลเป็นไปในวัฏสงสาร การเวียนว่ายตายเกิดต่างๆ ชีวิตของเราต้องมีความทุกข์ จากความเกิดก็เป็นทุกข์แล้ว

    พระพุทธองค์ได้ตรัสว่าชาติปิทุกขา แม้การเกิดก็เป็นทุกข์ ชราปิทุกขา แม้ความแก่ก็เป็นทุกข์ มรณังปิทุกขา แม้ความตายก็เป็นทุกข์ โสกะปะริเทวะ ทุกขะโทมะนัสสะ อุปายาสาปิทุกขา แม้ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจก็เป็นทุกข์ อัปปิเยหิ สัมปโยโขทุกโข ความประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์ ปิเยหิวิปโยทุกโข ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์ ยัมปิยังระละพะติ ยัมปิทุกขัง มีความปรารถสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น นั่นก็เป็นทุกข์ สังกิจเตนะปันนะจุปาทาทุกขัง ว่าโดยย่ออุปทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นตัวทุกข์ และตัวทุกข์ทั้งหลายอยู่กับเราเป็นไปอย่างไม่จบสิ้น

    ในอดีตเราก็ ทุกข์มามาก ก็ลองคิดดูว่าพระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าสามารถรวบรวมน้ำตาของแต่ละคนไว้ได้ จะมากกว่าน้ำในมหาสมุทร นั้นแสดงว่าเราเกิด ตาย ตาย เกิดมามาก ชาติหนึ่งแม้จะร้องไห้ทุกวัน น้ำตาก็คงได้ไม่ถึงโอ่งแล้วกี่โอ่งถึงจะได้เท่าน้ำในมหาสมุทร แสดงถึงภพชาติการเวียนว่ายตายเกิดผ่านเวลามามาก เลือดที่หลั่งไหลจากลำคอที่ถูกตัดศีรษะ เคยเป็นโจรบ้างเคยถูกประหารชีวิต เคยเป็นสัตว์เดรฉานถูกตัดคอเลือดที่หลั่งไหลออกมานี่ มากกว่าน้ำในมหาสมุทร เพื่อตรัสว่าอุปมาถึงการนำกิ่งไม้ใบไม้ในชมพูทวีป เอามามัดมาตัดเป็นชิ้นๆ ท่อนๆ ยาวท่อนละ ๔ นิ้วๆ เอามาสมมุติว่าท่อนนี้ก็มารดาในอดีต ท่อนนี้มารดาอีกชาติหนึ่ง ท่อนนี้มารดาอีกชาติ กิ่งไม้ใบไม้ที่เอามาสมมุติมันหมดไปก่อน แต่ภพชาตินั้นยังไม่หมด ชีวิตเราระหกระเหินจนมาถึงปัจจุบันนี้ และยังมีต่อไปในภายภาคหน้า ถ้าหากเรายังไม่สามารถทำลายกิเลสให้หมดจากจิตใจได้ เรายังต้องมีกรรม ทำกรรม ต้องเวียนเกิดเวียนตายไม่จบสิ้น

    ดังนั้นเมื่อเรามีความ สังเวชสลดใจกับภัยกับชีวิตในสังสารวัฏ มองเห็นทุกข์เห็นโทษแล้วจะได้น้อมนำตนเองออกจากทุกข์ด้วยการปฏิบัติธรรมะคำ สอนตามที่พระองค์ทรงตรัสไว้ แล้วน้อมนำปฏิบัติเพราะพระพุทธศาสนาสอนไว้แล้ว พระพุทธเจ้าสอนบอกวิธีการปฏิบัติ ว่าจะออกอย่างไรจึงจะออกจากทุกข์ บอกให้รู้ว่าอะไรเป็นทุกข์ อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ อะไรเป็นความดับทุกข์ อะไรเป็นข้อปฏิบัติ ถึงความดับทุกข์บอกไว้ให้หมด ด้วยปัญญาของพระพุทธเจ้าที่ทรงตรัสรู้ และพระองค์มีสัตญาณ ญาณที่รู้ในอริยสัจความจริง ๔ ประการ ว่าความทุกข์เป็นอย่างนี้ๆ เหตุที่เกิดทุกข์เป็นอย่างนี้ๆ ความดับทุกข์ก็เป็นอย่างนี้ ข้อดับทุกข์ก็เป็นอย่างนี้

    เราก็อาศัยสัพพะปัญญา อาศัยปัญญา ปรีชาญาณของพระพุทธองค์ อาศัยพระกรุณาธิคุณของพระองค์ เราก็น้อมนำคำสอนมาใส่ตนเอง พระองค์ได้ชี้ว่าทุกข์ ดังที่กล่าวไว้แล้ว การเกิด แก่ เจ็บ ตาย การพลัดพราก ทั้งหลายเป็นต้น ซึ่งสรุปย่อลงมาว่า ได้แก่อุปาทานและขันธ์ โดยว่าสภาวะ อุปาทานขันธ์นั้นก็คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่อุปาทานเข้าไปยึดมั่นเอาเป็นตัวตน ตัวของเราย่อแล้วคือรูปกับนาม พระพุทธองค์ได้มีปัญญาญาณ อีกอย่างก็คือ จิตญาณ ปัญญาหยั่งรู้ถึงกิจถึงหน้าที่ ว่าจะทำอย่างไรต่อทุกข์ จะกระทำอย่างไรต่อเหตุให้เกิดทุกข์ จะกระทำอย่างไรต่อความดับทุกข์ จะกระทำอย่างไรถึงข้อปฏิบัติต่อความดับทุกข์ รู้กิจรู้หน้าที่ด้วย กิจหรือหน้าที่ๆ จะกระทำต่อทุกข์ พระองค์ก็รู้ว่ามีปัญญากิจ คือการรอบรู้ คือการกำหนดรู้ ทุกข์คือการกำหนดรู้ ญาตปริญญา รู้จักทุกข์อย่างท่องแท้ แล้วถึงมีปริญญา การกำหนดรู้ทุกข์ขั้นพิจารณา จนถึงกำหนดรู้ทุกข์ขั้นปหานปริญญา สามารถประหารอนุสัยกิเลสได้


    ดังนั้นทุกข์จะต้องรู้ เราฟังคำสอนก็ต้องเข้าใจ มิฉะนั้นเราปฏิบัติผิด ทุกข์ พระพุทธองค์ให้กำหนดรู้ แต่เราจะพยายามไปละ พยายามประหารทุกข์ รูปนาม เช่น รูปที่ประกอบว่าเป็นสรีระร่างกาย มันต้องมีทุกขเวทนา ความปวด ความเมื่อย ความเจ็บ ความไม่สบาย นั่งกรรมฐานอยู่นิ่งๆ มันก็ปวดขา ปวดไหล่ ถ้าหากว่าเราไม่เข้าใจ เราก็จะบังคับให้มันหายปวด มีการที่จะทำลาย เท่ากับทำลายทุกข์ แต่พระพุทธเจ้าสอนว่า ทุกข์นี้ให้กำหนดรู้ ไม่ได้ให้ไปทำลาย สิ่งที่จะให้ทำลายก็คือ เหตุให้เกิดทุกข์ ได้แก่ สมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ พระองค์มีปรีชาญาน มีสัตญาน รู้ว่าเหตุให้เกิดทุกข์นั้นก็คือตัณหา ความทยานอยากในกามคุณ ความติดใจในเสียง ในกลิ่น รส สัมผัส น่าปรารถนา อันนี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ขึ้น

    ภวตัณหา ความทยานอยากในความมีความเป็น หรือความอยากในสัตตะทิฐิ สัตตะทิฐิเป็นความเห็นผิดคือเห็นว่าเที่ยง คือบุคคลที่เห็นว่าชีวิตนี้มีตัวมีตน เป็นตัวเราเป็นตัวตนของเรา แล้วเมื่อสิ้นชีวิตตัวตนก็ไม่ตาย ก็จะจากไปแสวงหาใหม่ที่เกิดใหม่ ถือได้ว่ายึดวิญญาณเป็นตัวเรา เป็นตัวตนของเรา แล้วก็เห็นว่าวิญญาณนี้เที่ยงอยู่ ร่างกายสิ้นลมหายใจ แต่ตัวเราตัวตนของเรานี้ออกจากร่างแล้วก็เกิดใหม่ เป็นสิ่งที่ไม่ตาย นี่เป็นสัตตะทิฐิ แล้วก็มีความยินดีอยากพอใจ อยากมีอยากได้เป็น ภาวะตัณหา

    ส่วน วิภวตัณหาคือ ความทยานอยากในความไม่มีไม่เป็น คนบางคนก็มีความเห็นผิด มีอุจเฉททิฐิ คือมีความเห็นว่าขาดสูญ เห็นว่าชีวิตนี้มีตัวมีตนจริง คือตัวตนของเราเมื่อสิ้นชีวิตแล้ว ตัวตนก็ขาดสูญไปอย่างนี้เป็นอุจเฉททิฐิ เป็นความเห็นผิด แล้วมีความทยานอยากในความขาดสูญนั้น ความไม่มีไม่เป็น เป็นวิภาวะตัณหามาอีก ฉะนั้นตัณหาทั้ง ๓ ประการนี้เป็นตัวสร้างภพชาติ เป็นตัวก่อให้เกิดทุกข์
    พระพุทธเจ้ามีกิจจาญาณต่อสมุทัย ก็คือการต้องประหารกิจ ทำหน้าที่ประหารคือละตัณหา คือทำกิจให้ถูกคือกำหนดรู้ทุกข์ ละเหตุให้เกิดทุกข์ด้วย ถ้าไม่คอยระวังเราจะเป็นการเจริญตัณหาได้ เช่นมันไม่สบายก็อยากจะหาย มันปวดก็อยากจะให้หาย ขณะที่มันปวด จะประหารให้หาย เท่ากับไปเจริญตัณหา เพราะตัวอยาก อยากจะหายปวดหายเจ็บ เลยกลายเป็นละทุกข์ ทำลายทุกข์ เจริญตัณหา เป็นการเจริญตัณหาที่ผิด

    พระพุทธเจ้าตรัสไว้ กำหนดรู้ทุกข์และเหตุให้เกิดทุกข์ เพราะหากเราปฏิบัติให้ถูกต้อง รู้ทุกข์เป็นอย่างไร ที่ไม่ให้เจริญตัณหา ไม่ให้เจริญขึ้น ก็ต้องกำหนดรู้ทุกข์สักแต่ว่าทุกข์ สักแต่ว่ารู้ ไม่เข้าไปยึดว่าจะต้องให้มันหาย ยึดว่าจะต้องให้มันเป็นอย่างนั้น เช่นเดียวกันเวลาที่เรามีความฟุ้ง เกิดขึ้นมีความไม่สบายใจเกิดขึ้น สภาพธรรมเหล่านี้ก็เป็นองค์ธรรมทุกข์ เพราะทุกข์มีองค์ธรรมก็คือ รูปนาม ความฟุ้งซ่าน ความไม่สบายใจ ก็เป็นนามธรรม

    เมื่อเกิดความไม่สบายใจ ถ้าเรากำหนดรู้ความไม่สบายใจ ด้วยการพยายามทำให้หายฟุ้ง บังคับให้หายฟุ้งไม่ได้ทำกิจให้ถูก พระพุทธเจ้าตรัสว่ากำหนดรู้ทุกข์ ไม่ใช่ไปทำลาย ฉะนั้นมันฟุ้งก็ให้มันฟุ้ง ถ้าเรากำหนดได้ว่าอะไร ก็เท่ากับเราวางใจไม่ให้เกิดตัณหา ถ้าใจมีความอยากจะหายฟุ้ง ไม่อยากให้ฟุ้ง ต้องการความสบาย ความสงบ ขณะนั้นจะมีการเจริญตัณหาไปด้วย นี่เป็นสิ่งที่เราทำจิตผิด ผลของเราก็จะผิดไปด้วย เวลาเรากำหนดรู้ว่าฟุ้ง อยากจะหายฟุ้งถ้ามันไม่หายฟุ้ง อะไรจะเกิดขึ้น มันก็จะเดือด วุ่นวายใจ เดือดมากขึ้น มันเป็นอย่างนั้น หรือเวลาคิด ใจมันนึกคิดขึ้นมา ใจมันก็เป็นนามธรรม เป็นองค์ธรรมของทุกข์ เมื่อความทุกข์เกิดขึ้น คือความคิดเกิดขึ้นก็กำหนดรู้ กำหนดรู้อย่างไรถึงจะถูกต้อง ถ้าเรากำหนดรู้ความคิด ด้วยการบังคับให้หยุดคิด เท่ากับเราเจริญตัณหา ตัวอย่างเช่นอยากให้หายคิด อยากให้สงบ ฉะนั้นมันก็เลยทำกิจไม่ถูก เมื่อไปอยากจะให้มันหยุดคิด มันไม่หยุดคิดเกิดอะไรขึ้น มันก็ยิ่งเดือดดาลในใจ วุ่นวายใจ

    ฉะนั้นถ้าเราทำกิจให้ถูก ความคิดเกิดขึ้นก็กำหนดความคิด สักแต่ว่าคิด ไม่ได้ไปบังคับ จะคิดก็คิดไป เมื่อกำหนดรู้คิดสักแต่ว่าคิด ก็เท่ากับระวังตัณหาไม่ให้เกิดขึ้น เท่ากับละตัณหาไปในตัว อันนี้ผู้ปฏิบัติต้องระมัดระวัง ฉะนั้นสภาวะทุกข์คือรูปนามต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเห็น การได้ยินเป็นสภาวะทุกข์ การรู้กลิ่น การรู้รส การนึกคิด การสัมผัส เป็นทุกข์ต้องกำหนดรู้ แต่ว่าให้รู้สักแต่ว่ารู้ กำหนดการเห็นก็สักแต่ว่าเห็น

    ดังนั้นคำสอนของพระพุทธเจ้า บางครั้งสอนเพียงสั้นๆว่า เห็นสักแต่ว่าเห็น สอนท่านพาหิยะ เห็นสักแต่ว่าเห็น ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน ทราบรู้ว่าทราบ รู้เห็นว่ารู้ แค่นั้นท่านก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ ฉะนั้นกำหนดรู้สักแต่ว่าเห็น เป็นการละตัณหาไปในตัว ไม่ให้ตัณหาเกิด ไม่ให้มีอวิชชา

    ฉะนั้นในสติ ปัฏฐานทุกข้อพระพุทธเจ้าจึงแสดงไว้ทุกข้อว่า ต้องละอวิชชา และโทมนัสทุกอย่างในโลก ไม่ว่าการพิจารณากายในกาย มีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะ กำจัดอวิชชาและโทมนัส พิจารณาเวทนาในเวทนา มีความเพียรมีสติ มีสัมปชัญญะ พึงกำจัดอวิชชาและโทมนัส มีสติพิจารณาจิตในจิตอยู่เนืองๆ มีความเพียรเพ่งเผากิเลส มีสติมีสัมปชัญญะ พึงกำจัดอวิชชาและโทมนัส พิจารณาธรรมในธรรมอยู่เนืองๆ มีความเพียรเพ่งเผากิเลส มีสติสัมปชัญญะ พึงกำจัดอวิชชา และโทมนัส โลกคืออะไร ก็คือกาย เวทนา จิต ธรรม ที่สติเข้าไปรับรู้ เข้าไปกำจัดอวิชชาและโทมนัส ขณะที่เจริญสติอยู่ กำหนดกายเวทนา จิต ธรรมอยู่ ให้ละความยินดีทั้งหลาย ท่านบอกให้กำจัดความยินดีทั้งหลาย

    อวิชชาคือความยินดีก็หมายถึงว่า ความอยาก อยากจะให้ได้อย่างนั้น อยากจะได้อย่างนี้ เพื่อให้สงบ ยินร้ายคือตัวปฏิเสธไม่เอา ฟุ้งไม่เอา ปวดไม่เอา ทุกข์ไม่เอา ตัวไม่เอา ไม่ต้องการก็เหมือนไม่อยากให้มี ไม่อยากเอา อยากให้มันหมดไป แล้วกลายเป็นตัณหา เพราะฉะนั้นท่านจึงบอกให้ละ เวลาที่มีสติระลึกรู้กาย เวทนา จิต ธรรม ให้ละความยินดีทั้งหลาย คือการกำหนดรู้ทุกข์ คือกาย เวทนา จิต ธรรม ก็คือทุกข์นั่นแหละ เป็นทุกข์ รูปนาม อุปาทาน ขันธ์ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รูปมีอะไรบ้าง สิ่งที่ปรากฏทางตาคือสีเป็นรูป ทางหูก็เสียงก็เป็นรูป กลิ่นเป็นรูป รสเป็นรูป เย็นร้อนอ่อนแข็งหย่อนตึงก็เป็นรูป ทางปริญญาคือการกำหนดรู้ กำหนดรู้รูปนามให้เห็นตามความเป็นจริง ทางหูจมูกลิ้นทางประสาททั้ง ๕ ประสาทตา ประสาทหู ประสาทจมูก ประสาทลิ้น ประสาทกาย สิ่งที่มาประกอบทางสรีระร่างกาย มาเป็นรูปธรรม เวทนาความรู้สึกเสวยอารมณ์เป็นทุกข์ เฉยๆก็เป็นทุกข์ ฉะนั้นสบายกายสบายใจก็ยังเป็นทุกข์ เพราะอะไร เพราะว่ามันก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ในสภาพนั้น การปฏิบัติที่จะให้รู้ทุกข์แล้วเห็นตามความเป็นจริงได้ เห็นว่าทุกข์ในภาวะรูปธรรม นามธรรม มันมีความเปลี่ยนแปลง มีความเกิด มีความดับ มีสภาพที่บังคับไม่ได้ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ความจำได้หมายรู้เป็นสัญญา ความปรุงแต่งในจิต สงสัย พอใจไม่พอใจ เป็นสังขาร ก็ขึ้นมาในจิตใจ ก็ต้องกำหนดรู้ ถ้าไม่กำหนดรู้ พอปรุงแต่งขึ้นมาก็เห็นรูป มีชื่อ ความหมายเรื่องราวต่างๆ มีการเกิดกิเลสต่างๆ ทำให้เศร้าโศก ทำให้วุ่นวาย ก็เกิดเป็นทุกข์ขึ้นมาในใจ มาจากการที่ปล่อยให้ใจนึกคิดปรุงแต่ง โดยการขาดสติสัมปชัญญะ

    ถ้าเรามาฝึกการเจริญสติสัมปชัญญะ กำหนดรู้ทุกข์ กำหนดนามธรรมตัวสัญญาที่เกิดขึ้น ตัวสังขารที่ปรุงแต่งใจ ตัววิญญาณที่ปรากฏ จะได้เห็นแจ่มแจ้งตามความเป็นจริง วิญญาณคือสภาพรู้อารมณ์ วิญญาณทางตาคือเห็น วิญญาณทางหูคือได้ยิน วิญญาณทางจมูกคือได้กลิ่น วิญญาณทางลิ้นคือรู้รส วิญญาณกายคือรู้สึก อัตภาพที่รู้สึกเย็น ร้อน อ่อนแข็ง หย่อนตึง วิญญาณทางใจคือการรับรู้รับรู้เรื่องราว เหล่านี้เป็นต้น จะต้องกำหนดรู้ธรรม ปริญญา คือการรับรู้

    เราฟังอย่างนี้เราก็ได้ ความรู้จากการฟัง ไม่ใช่ว่ารู้จากการจำ เราจำได้ว่ารูปนามที่เป็นทุกข์มีอะไรบ้าง แต่ว่ายังไม่รู้จัก เราจะรู้จักก็ต้องลงมือปฏิบัติ คือ การกำหนด การเจริญสติเข้าไปเจอจริงๆ กายไปเจอสภาวะความรู้สึก เย็น ร้อน อ่อนแข็ง หย่อนตึง สบาย ไม่สบาย อันนี้เป็นสภาวะที่เป็นทุกข์ เพราะว่าเขามีสภาพที่มีการเปลี่ยนแปลง ถ้ามีสติ ระลึกรู้บ่อยๆ ก็จะมีปัญญาขั้นพิจารณาเห็นไตรลักษณ์ เห็นว่ามันไม่เที่ยง เห็นว่ามันเป็นทุกข์ เห็นว่ามันไม่มีตัวตน ฉะนั้นจากขั้นที่เราจำได้ก็มาสู่การรู้จัก รู้จักแล้วเจออยู่บ่อยๆ ก็ต้องกำหนดรู้อยู่บ่อยๆ ทางกาย ทางใจ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ไปทำความรู้จัก แล้วไปเจอสภาวะรูปนามที่เป็นอยู่บ่อยๆ เรียกว่าการกำหนดรู้ การพิจารณา มันก็จะมีโอกาสรู้แจ้งและรู้จำ รู้จักและรู้แจ้ง ไปเจอบ่อยๆ ก็ได้รู้แจ้งแทงตลอด เหล่านี้เป็นเพียงสภาพธรรมที่เปลี่ยนแปลงเกิดดับ ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้นทำกิจให้ถูกการกำหนดรู้ทุกข์ จะต้องไม่ทุกข์ด้วย เรานั่งไปมันปวดมันเจ็บมันไม่สบาย มีสติระลึกรู้ ก็จะต้องไม่ไปทยานอยากและโทมนัสถ้าเราไปทยานอยากและโทมนัสเราก็จะทุกข์ด้วย เราจะฝึกจิตอย่างที่กายมันทุกข์แต่ใจไม่ทุกข์ด้วย มีสิทธิ์ทำได้ไหมที่ที่เราฝึกจิตไม่ให้มันทุกข์

    การที่จะฝึกจิตใจ ไม่ให้ทุกข์กับความทุกข์ อย่างน้อยก็ต้องรู้จักใจ ต้องมีสติระลึกรู้ตามเท่าทัน ระลึกรู้เป็นและเวลาที่ร่างกายเป็นทุกข์ ก็ใส่ใจมาที่จิตใจ ดูแลที่จิตใจให้เห็นว่าจิตใจนี้ก็เหมือนกับใจที่มันปวดอยู่ มันเจ็บมันเป็นละอย่างกัน เป็นคนละส่วนกัน ถ้าเราไม่กำหนดพิจารณาที่จิตใจ ก็จะเอาใจไปรวมความปวดที่กาย มันก็กลายเป็นเราปวด เราเจ็บเสวยทุกข์ทรมาน วุ่นวายใจ แต่ถ้ามีการกำหนดแยกกัน มีทุกข์ก็รู้แยกกันดูใจไว้ ฝึกใจให้วางเฉยไว้ ฝึกใจให้ปล่อยวาง ตามคำสอนรู้ว่ากำหนด รู้สักแต่ว่ารู้ เวทนาไม่ใช่ตัวเราของเรา สอนไปบอกไป ดูใจรักษาใจให้ปล่อยวาง มันจะเริ่มเกิดเห็นเป็นคนละอย่างกัน เห็นความปวดที่กายส่วนหนึ่ง เห็นใจส่วนหนึ่งเป็นคนละอย่างกัน แล้วฝึกไปมากๆ ใจก็เมินเฉยได้ ใจก็ไม่ทุกข์กับความทุกข์ได้ นั่งไปปฏิบัติไป ก็ไม่ทุกข์ มันเหมือนความปวดเจ็บร่างกายอยู่ไกลๆ ไม่เดือดร้อน และจะได้มีโอกาสเห็นความจริง ทางสภาวะทางใจ ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงเกิดดับ บังคับไม่ได้ไม่ใช่ตัวตน เป็นปัญญาญาณขึ้นมา หรือว่าเวลาที่มันฟุ้งขึ้นมา มันไม่สบายกายมันไม่สบายใจขึ้นมา ก็ต้องกำหนดรู้โดยที่ว่า ดูใจผู้รู้ไว้ด้วย ความฟุ้งกับผู้รู้ฟุ้งพิจารณาให้เป็นคนละอย่างกัน เวลาที่ฟุ้งแล้วกำหนดรู้ฟุ้งมันก็เท่ากับว่ามี ๑ ความฟุ้งซ่าน ๒ มีผู้รู้ฟุ้ง ผู้รู้ฟุ้งก็คือจิตที่มีสติสัมปชัญญะกำลังทำหน้าระลึกรู้อยู่ ถ้าหากว่ารู้ฟุ้งอย่างเดียวไปยึดฟุ้ง มันก็เอาผู้รู้กับฟุ้งเป็นอันเดียวกัน ยึดเป็นตัวเรากลายเป็นเราฟุ้ง ถ้ามีการระลึกฟุ้งอย่างปล่อยวาง กระแสของจิตใจก็จะหวนกลับมารับรู้ใจผู้เป็นผู้รู้ ทำให้รู้สึกแยกกันระหว่างความฟุ้งกับผู้รู้ฟุ้ง รักษาใจผู้รู้ให้ปล่อยให้วางต่อความฟุ้งได้ ที่สุดก็จะเห็นว่าฟุ้งก็เปลี่ยนแปลงไม่ใช่ตัวเรา ของเรา ผู้รู้ฟุ้งก็เปลี่ยนแปลงไม่ใช่ตัวเราของเรา เพราะฉะนั้นถ้าไม่กำหนดใจผู้รู้ไว้บางทีมันก็ไม่ยึดกายแต่มันยึดใจ อุปาทานมันยึดไปหมด ยึดทั้งรูปทั้งนามทั้งเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

    แม้ แต่ใจผู้รู้ที่ทำหน้าที่ระลึกรู้ อุปาทานมันก็มายึดได้ ใจที่กำลังมีสติระลึกรู้ๆ อุปาทานสามารถจะมายึดเอาเป็นตัวเราของเราได้ จะมีความรู้สึกว่าเหมือนเราเก่ง เรามีสติดีเลิศ สติว่องไวเท่าทันต่อสภาวะ แต่มันยึดเป็นตัวเรานี่ก็ยังไม่หลุดพ้นจากอุปาทาน ทำอย่างไรถึงจะละความยึดถือว่าจิตที่รู้จิตที่มีสตินี้เรา ตัวเราของเรา ก็ต้องกำหนดรู้เหมือนกัน จะต้องมีการระลึกพิจารณาจิต จิตที่เป็นผู้รู้ จิตที่ประกอบสัมปชัญญะก็ต้องถูกรู้เหมือนกัน เมื่อกำหนดรู้จิตผู้รู้อยู่บ่อยๆ แล้วเห็นความจริงของจิตผู้รู้ก็เกิดดับ รู้มันก็หมด รู้มันก็หาย มันไม่ได้เป็นสิ่งที่ตั้งอยู่คงอยู่ มันก็ละทำลายความรู้สึกนึกถือเป็นตัวตน อันเป็นเป้าหมายของการปฏิบัติก็เพื่อที่จะละความเห็นผิด ละตัณหา ละอุปาทาน


    ความยึดถือยึดมั่นในกายในใจที่เรายึดถืออยู่ ความยึดถือมันจะมีความยึดถือขันธ์ ๕
    อยู่ ๔ ประการคือ

    ๑.มันจะยึดว่าเป็นตัวเราคือเอากาย เอารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มาเป็นตัวเรา

    ๒.มันจะยึดว่าเป็นตัวตนของเรา

    ๓.หรือไม่มันก็ยึดว่าอยู่ในเรา

    ๔.หรือไม่ก็ยึดว่ามีเรามาอยู่ในขันธ์ ๕ ในสังขาร

    เรียกว่ามันเอาจนได้นะอุปาทาน จึงต้องมีการรู้รอบๆ รอบรู้ไปทั้งหมด ทั้งสิ่งที่ปรากฏ
    ให้รู้ ทั้งสิ่งที่เป็นผู้รู้กำหนดหมด อย่างที่กาย สภาวะที่กายเป็นสภาวะที่ทุกข์ที่กาย
    ไม่ว่าจะเป็นความเย็น ความร้อน อ่อนแข็ง หย่อนตึง ไม่สบายกายไม่สบายใจ มีสติ
    สัมปชัญญะเข้าไปกำหนดรู้ ต้องสังเกตใจผู้รู้ไปด้วยเช่น เคลื่อนไหว ร่างกาย
    เคลื่อนไหวรู้สึกมีความไหว มีสติเข้าไปรู้ถึงความเคลื่อนไหว ถ้ารู้เฉพาะความเคลื่อนไหว
    มันก็จะเป็นการรู้ด้านเดียว ถ้ามีการรู้ใจด้วย รู้ใจที่รู้นั้นด้วย มันจะทำให้แยกเห็นกันคนละ
    อย่าง ว่าความไหวๆ ที่กายก็เป็นอย่างหนึ่ง รู้ๆ ที่ใจก็เป็นอย่างหนึ่ง เรียกว่าระลึกรู้ทั้งรูปทั้ง
    นามได้ ความเคลื่อนไหวๆ นั้นเป็นรูปธรรม รู้ๆนั้นเป็นนามธรรม

    ฉะนั้นเราต้องหัดฝึกรู้กายที่เคลื่อนไหว รู้ใจที่รับรู้ ใหม่ๆก็จะรู้ใจไปก่อน รู้การเคลื่อนไหว รู้
    เย็น รู้ร้อน ตึงอ่อนไหว ในขณะที่เดิน ในขณะที่ขยับเขยื้อน ในขณะที่ใช้อิริยาบถใหญ่
    อิริยาบถย่อย รู้ความเคลื่อนไหวไปทั่วๆกาย ต่อไปก็รู้กายไปด้วย ในขณะนั้นจะพบถึงความ
    เป็นคนละอย่างกัน ระหว่างสภาวะที่กายกับสภาวะที่ใจเป็นคนละอย่าง จะทำให้ไม่ไปยึด
    เฉพาะที่กาย ไม่ว่าสติจะระลึกรู้อะไรก็ตามเช่น การรู้ การได้ยินเสียง ไม่รู้การเห็น ไม่รู้กลิ่นรู้
    รสจะต้องสังเกตไว้ด้วย สังเกตใจผู้รู้ผู้ดูไม่อย่างนั้นก็จะเลยออกไป จะไหลไปสมมุติเป็น
    สัตว์ เป็นบุคคลเป็นตัวตน แต่ถ้ามีการผูกสติที่ใจ รู้จิตรู้ใจจะทำให้ใจรู้วงในสภาวะได้มาก
    ขึ้น หรือว่าจะไหลออกไปบ้างก็กลับเข้ามาได้ง่าย แล้วถ้าหากว่ามีการรู้สัมผัสกับจิตใจอยู่
    สติระลึกรู้สภาวะทางกายทางใจเรียกว่าสัมพันธ์กับจิตใจไว้ จะทำให้การระลึกรู้สภาวะอยู่แค่
    สภาวะ บางคนที่ฝึกมากๆ เกิดสมาธิ เกิดปิติ ตัวโยก ตัวหมุน ตัวสั่น ตัวใหญ่ตัวสูง น้ำตา
    ไหลโดยเฉพาะตัวหมุนตัวสั่น ถ้าเราไม่กำหนดที่ใจให้เป็น มันจะหมุนมากสั่นมาก เพราะว่า
    ไปดูกายอย่างเดียว มันจะออกเป็นสมมุติ มันจะขยายให้เป็นรูปร่างสัณฐาน เพ่งที่กายอย่าง
    เดียว มันจะขยายเป็นรูปร่าง พอเป็นรูปร่างสัณฐาน มันจะเป็นสมมุติ มันก็จะเสริมอาการ
    เหล่านั้นมากขึ้น

    แต่เมื่อมีการระลึกรู้ที่ใจ พอรู้ที่ใจ เวลาสติแบ่งมารู้ที่กายมันก็จะรู้แค่เพียงสภาวะความรู้สึก
    มันจะไม่ขยายเป็นรูปร่าง เพราะฉะนั้นมันจึงหยุดหมุนหยุดสั่นได้ เวลาที่ตัวหมุนตัวสั่น
    ตัวโยก ระลึกรู้มาที่ใจให้มันหยุดเองได้ การรู้ที่จิตใจเป็นการแก้ปัญหาต่างๆได้ ยิ่งบางคนมี
    สมาธิ พอปฏิบัติ จิตนิ่งจิตสงบ พอมันสงบมาก สภาวธรรม รูปธรรม นามธรรม มัน
    ละเอียด ความรู้สึกทางกายก็จะไม่ค่อยรู้สึก มันไม่มีความรู้สึกทางกาย ลมหายใจก็ไม่มี
    พองยุบไม่มีกะดุ้งกะเพื่อม รู้สึกเวทนาไม่ปรากฏ จิตใจไปดูที่ใจมันก็เรียบมันก็เฉย มันก็จะ
    เลยไปสู่ความว่างเปล่า

    เมื่อจิตไปอยู่กับความว่างๆ ความว่างเปล่าอยู่อย่างนั้น ก็เท่ากับไปอยู่กับสมมุติอีก มันก็จะ
    ไม่เห็นอะไร ไม่เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพราะความว่างเปล่านั้น มันเป็นสมมุติ มันไม่
    ใช่สภาวะ มันไม่มีการเกิดดับ แต่ผู้รู้ความว่างเป็นสภาวะ มีการเกิดดับ ความรู้สึกต่อความ
    ว่าง สภาพรู้ต่อความว่าง อันนี้ถ้าความรู้สึกต่อความว่างมันเป็นความสบาย ความอิ่มเอิบ
    ความสงบก็กำหนดได้ ก็กำหนดรู้ว่ามันอิ่มเอิบอยู่ มีความสุขอยู่มีความตั้งมั่นอยู่ แต่ถ้ามัน
    เฉยมันจะกำหนดยากมันก็จะเลยไปความว่างเปล่า

    เพราะฉะนั้นต้องกำหนดรู้ในแง่ของความเป็นผู้รู้ กำหนดจิตในแง่ของสภาพรู้ จึงจะเห็น
    ความเปลี่ยนแปลง เห็นความเกิดดับ ดังนั้นการระลึกรู้จิต ๑.ความนึกคิด อันนี้จะต้อง
    กำหนดให้เป็น ๒.ความรู้สึก หรืออาการในจิต เวลาที่มีความรู้สึกเช่น ไม่สบายใจ ไม่สบาย
    กาย หรืออาการวิตก วิจัย สงสัย พอใจไม่พอใจ สงบไม่สงบ ชอบไม่ชอบ เป็นต้น ก็ต้อง
    กำหนดรู้ แต่จิตอีกลักษณะหนึ่งคือ เป็นสภาพรู้อารมณ์ อันนั้นก็จะกำหนดยากขึ้น แต่ก็จำ
    เป็น พอไปสู่ความนิ่งเฉย ใจมันเฉย แต่ไม่ออกมาสบายไม่สบาย เพราะมันเฉยก็เลยเป็น
    ว่างเปล่า ฉะนั้นก็ใส่ใจที่สภาพรู้ สิ่งหนึ่งปรากฏให้รู้ สิ่งหนึ่งเป็นผู้รู้ สิ่งที่ปรากฏให้รู้คือ
    ความว่าง ในขณะที่รู้ความว่าง มันก็จะมีสิ่งที่เป็นผู้รู้อยู่ ต้องใส่ใจมาที่สภาพรู้ ไม่ได้ใส่ใจที่
    ความว่าง ใส่ใจที่สภาพรู้ เหมือนบางคนปฏิบัติไปเห็นแสงสว่าง เห็นดวงนิมิต เห็นเป็นดวง
    ไฟ เห็นเป็นดวงกลมๆ อันนั้นก็ถือว่าจิตไปสู่บัญญัติ นิมิตเหล่านั้น สีแสงเหล่านั้น เป็น
    บัญญัติเป็นสมมุติ แต่จิตที่กำลังมองดูแสงสว่างอยู่ ดูดวงนิมิตอยู่เป็นสภาวะ จิตที่มีความ
    สงบต่อแสงสว่างจิตที่รับรู้ต่อแสงสว่าง จิตที่มีความอิ่มเอิบต่อแสงสว่าง จิตที่มีความ
    สบาย สุขต่อแสงสว่างเป็นสภาวะ เราต้องใส่ใจมาที่สภาวะ ถึงจะมาเป็นทางเดินของ
    วิปัสสนา แล้วสภาวะคือสภาพที่เป็นจริง แต่ถ้ามันเฉยเราจะต้องดูใจผู้รู้ให้เป็น จึงจะทำให้
    ตัดแสงนิมิตเหล่านั้นออกไปเข้ามาสู่สภาวะ

    สิ่งที่ทำกิจต่อทุกข์คือการกำหนดรู้ขณะเดี๋ยวกันก็ละเหตุให้เกิดทุกข์ อย่าให้เป็นไปตาม
    ความทะยานอยาก จิตที่จะกระทำต่อการดับทุกข์เรียก สกิจติร กิจ ทำให้แจ้ง อันเป็นผลมา
    จากมรรค มรรคคือข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ พ้นทุกข์ ก็คือต้องทำให้เกิดขึ้น ทำให้เจริญ
    ขึ้น เรียกว่า ภาวนาจิต องค์มรรค ก็คือสัมมาทิฐิ คือความเห็นชอบ สัมมาสติ ระลึกชอบ
    สัมมาสมาธิ ตั้งมั่นชอบเป็นต้น ความเห็นชอบเป็นอย่างไร ต้องเห็นอยู่กับรูปนาม ซึ่งเป็น
    ตัวองค์ของทุกข์ เรียกว่าให้รู้จักทุกข์ รู้เหตุให้เกิดทุกข์ รู้ถึงความดับทุกข์ รู้ในข้อปฏิบัติของ
    การดับทุกข์ นั่นหมายถึงปัญญาที่สมบูรณ์ในระดับโลกุตะระเกิดในมรรคยาน ก็จะสมบูรณ์ที่
    จะรู้แจ้งในทุกข์เฉยๆ ตัดเหตุให้เกิดทุกข์โดยเด็ดขาดที่จะเข้าถึงความดับทุกข์ด้วยการเจริญ
    เต็มมรรคนั้น เต็มรอบ เป็นมรรคสามัคคี เกิดขึ้นในองค์มรรค

    เพราะฉะนั้นให้ระลึกรู้ทุกข์ ละเหตุให้เกิดทุกข์ เจริญข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ก็จะพบ
    ความพ้นทุกข์ได้ อาตมาก็ใช้เวลามาสมควรแล้วคงจะครบตามเวลาเพื่อจะได้นำปฏิบัติและ
    ตอบข้อซักถาม ดังนั้นต่อไปนี้ขอเชิญท่านตั้งใจที่จะปฏิบัติเจริญภาวนา ด้วยการนั่งสมาธิ
    สำรวมกาย ......(นำปฏิบัติ)ล


    ที่มา ลานธรรมจักร • แสดงกระทู้ - พระครูเกษมธรรมทัต สอนวิปัสสนา จิตผู้รู้ จิตว่าง
     
  2. ชนะ สิริไพโรจน์

    ชนะ สิริไพโรจน์ ทีมผูัดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 กรกฎาคม 2008
    โพสต์:
    5,891
    กระทู้เรื่องเด่น:
    14
    ค่าพลัง:
    +35,260
    ขออนุโมทนาเป็นอย่างสูงครับ
     

แชร์หน้านี้

Loading...