ศาสนาเจริญหรือเสื่อมอยู่ที่ใจ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย jinny95, 4 กรกฎาคม 2011.

  1. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    ศาสนาเจริญหรือเสื่อมอยู่ที่ใจ


    เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด

    เมื่อวันที่ ๙ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๙

    [​IMG]

    ครั้งพุทธกาลปรากฏว่าท่านสนใจทาง
    “จิตตภาวนา” มากกว่าด้านวัตถุ ไม่ใช่มากธรรมดา ท่านถือเป็น “เนื้อ” เป็น “หนัง” เป็นสาระสำคัญ เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม เพื่อมรรค ผล นิพพานจริง ๆ


    ต่อ มาสมัยปัจจุบันนี้ กลับสนใจทางด้านวัตถุ ที่ตรงกันข้ามไปเลย จะเห็นได้ในที่ต่างๆ เฉพาะอย่างยิ่งตามวัดวาอาราม ทั้งวัดบ้าน วัดป่า ในเมือง นอกเมืองมีแต่การก่อสร้าง การประดับตกแต่งเพื่อความสวยงามตามสมัยนิยม และถือเป็นกิจพระศาสนาจริงๆ ขึ้นมาแทนการปฏิบัติธรรมดังครั้งพุทธกาลท่านดำเนินมา


    ครั้ง พุทธกาล ท่านไม่สนใจในกิจอย่างนี้นักเลย แต่สนใจในการประพฤติปฏิบัติเพื่อกำจัดกิเลส มากกว่าทางด้านวัตถุ การอยู่ด้วยกันก็อยู่ด้วยความสงบเงียบ เฉพาะพระเราจะเห็นได้เวลาท่านอบรมสั่งสอนกัน เกี่ยวกับเรื่องความสงบ กับพระวินัย เวลาพระต้องการไม้ หรือสิ่งต่างๆ ที่จะมาทำประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ ในบริเวณที่อยู่อาศัย เวลาท่านเรียก “อนุปสัมบัน” จะเป็นเณร หรือเป็นฆราวาส ญาติโยมผู้ใดผู้หนึ่งก็ตามที่มีอยู่ในที่นั้น ท่านกวักมือให้คนนั้นมาหา แล้วสั่งว่า “เราต้องการสิ่งนี้ๆ” ท่าน ไม่ได้เรียก ไม่ได้ตะโกนให้มีเสียงดังเป็นการรบกวนพระองค์อื่นๆ ที่อยู่ร่วมกันเลย แปลว่าท่านต้องการความสงัด หรือท่านชอบอยู่ด้วยความสงัดตลอดเวลา สถานที่ทำความพากเพียรของท่านเป็นที่น่าอยู่สำหรับผู้บำเพ็ญสมณธรรม


    แต่ พวกเรากลับให้เป็นสถานที่ที่น่าดูน่าชมตามโลกนิยม อันเป็นเรื่องของโลกไปเสีย แต่สถานที่ทำความเพียรไม่ค่อยมีหรือไม่มี คือ สถานที่เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา อันเป็นส่วนสำคัญของพระโดยแท้ไม่มี กลับเป็นสถานที่อยู่อาศัย ที่หลับที่นอน อันสะดวกสบายไปหมด กลับตรงกันข้าม เพราะที่อยู่อาศัย ที่หลับที่นอน เป็นความสบายมาก ย่อมเป็นการส่งเสริมกิเลส มีความเกียจคร้าน ความลืมตัว เป็นต้น ให้มากขึ้นโดยลำดับ


    ถ้า สถานที่เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา เป็นที่สะดวกสบาย ย่อมเป็นทำเลที่จะฟาดฟันหั่นแหลกกับกิเลสนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี มีทางจะมองเห็นอรรถเห็นธรรม ตามนโยบายที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้


    ครั้ง พุทธกาล เวลาท่านสนทนาธรรมกัน ก็สนทนาแต่เรื่องอรรถเรื่องธรรม เรื่องเหตุเรื่องผล เพื่อการแก้กิเลส สถานที่ก็แสดงเกี่ยวกับสถานที่ทำความเพียร เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาทั้งนั้น เรื่องการบ้านการเมืองไม่เข้าไปเกี่ยวข้องเลย ตรงกันข้ามกับสมัยนิยมของพวกเราแทบทุกอย่าง


    ทุก วันนี้ เรื่องธรรมไม่ค่อยมี มีเรื่องการบ้านการเมืองยุ่งไปหมด พระนั่งชุมนุมกันที่ตรงไหนเวลาใด มีแต่พูดเรื่องโลกๆ แบบเดียวกัน หากจะพิจารณาปลงธรรมสังเวชก็น่าจะได้ปลงกันตลอดเวลา เมื่อเป็นเช่นนี้ เรื่องของกิเลสจะหมดสิ้นไปได้อย่างไร ? เพราะไม่มีทางแก้กิเลส ไม่มีทางสิ้นกิเลส นอกจากเป็นทางสั่งสม และส่งเสริมกิเลสไปโดยลำดับเท่านั้น


    ศาสนาก็เลยกลายเป็น “สักแต่ว่าศาสนา” ทำอะไรก็ “สักแต่ว่าเป็นพิธี” เป็นพิธีไปหมด เมื่อหนักเข้าจิตใจก็ด้านต่อธรรม เพราะความใฝ่ใจในพิธี พิธีก็เลยออกหน้าออกตา และกลายเป็นสาระแก่นสาร เป็น “เนื้อ” เป็น “หนัง” ขึ้นมาแทนของจริงไปหมด ความจริงก็เลยกลายเป็นกระพี้ เป็นเปลือกไป สุดท้ายก็มาตำหนิศาสนาว่า “หมดเขตหมดสมัย! “มรรค ผล นิพพานไม่มี!


    นั่น! ฟังซิ อย่างนั้นมีอยู่เยอะ! หาก จะย้อนมาตำหนิตนเสียบ้าง ก็กลัวจะมากระเทือนกิเลส ต้องไปตำหนิศาสนา ซึ่งเป็นการสั่งสมกิเลสความไม่รู้สึกตัวยิ่งขึ้น สุดท้ายก็เป็นผู้บรรลุ มรรค ผล ตามกิเลส กิเลสเป็นตัวมรรคตัวผล ไม่บรรลุ มรรค ผล นิพพาน ตามพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้!


    นี่ ย่นเข้ามาถึงเราผู้ปฏิบัติ วาระจิตที่คิดไปทางสั่งสมกิเลสนั้นมีมากน้อยเพียงไร กับวาระจิตที่คิดเพื่ออรรถเพื่อธรรม ซึ่งควรจะนำมาทดสอบกัน เพราะการกล่าวทั้งนี้ไม่ได้กล่าวเพื่อตำหนิติเตียนผู้หนึ่งผู้ใด แต่กล่าวตามเรื่องของธรรมที่จะสงเคราะห์เข้ามาสู่ตัวเรา ผู้มุ่งหวังต่อธรรมอยู่แล้ว และกำลังฟังธรรมอยู่เวลานี้ จะได้รู้สึกว่าที่กล่าวผ่านมานี้ มีเรื่องของเราทุกคนเกี่ยวข้องอยู่ด้วย


    พูดกันดาษดื่นทุกแห่งทุกหนว่า “พวกแดงเป็นอย่างนั้น” “พวกคอมมิวนิสต์เป็นอย่างนี้” นั้นก็เป็นเรื่อง “นอก ๆ” สำหรับโลก จะให้ชื่อว่า “แดง” หรือ “ไม่แดง” ไม่ สำคัญนัก ที่สำคัญก็คือ กิเลส ตัณหา อาสวะ มันครอบคลุมจิตใจเข้ามากๆอยู่ที่ไหนมันก็ร้อนแดงเป็นไฟเหมือนกัน คนนั่นแหละเบียดเบียนคน ง่ายยิ่งกว่าสิ่งใดๆ จะมาเบียดเบียนทำลายกัน นอกจากคนเบียดเบียนกัน เอารัดเอาเปรียบกัน เพราะมนุษย์ที่ฉลาดทำได้ทุกอย่าง ก็ไม่เห็นอะไรจะมาเบียดเบียนทำลายมนุษย์ ทำลายจิตใจ และทรัพย์สมบัติมนุษย์ให้ฉิบหาย ยิ่งกว่ามนุษย์ทำต่อกัน เพราะอำนาจของกิเลสมีความโลภ เป็นต้น เป็นตัวการ


    ถ้า ศาสนาซึ่งสอนให้คนมีความเห็นใจกันด้วยเหตุด้วยผล เป็นต้น ไม่มีอยู่ภายในจิตใจคนแล้ว ไม่ว่าจะให้ชื่อให้นามลัทธิ หรือการกระทำนั้นๆ จะเป็นอะไรก็ตาม มันก็คือเปลวไฟกองใหญ่ๆ ภายในหัวใจแต่ละคนนั่นแล เผากันให้เกิดความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า!


    จิตใจคน เมื่อได้คิดไปในทางที่ไม่ดี ซึ่งเป็นเครื่องก่อกวน วุ่นวายตัวเอง โดยไม่มี “ธรรม” เป็น เครื่องระงับ ก็ทำนองเดียวกัน ถ้าคิดมาทางเหตุทางผล ทางอรรถทางธรรม ก็มีการยับยั้งชั่งตวงตัวเอง มีการแยกแยะ แบ่งสู้แบ่งรับ มีการต่อสู้ในสิ่งที่ตนเห็นว่าเป็นข้าศึกแก่ใจ จิตใจก็มีความเจริญขึ้นได้ เมื่อมีความบำรุงรักษากันอยู่


    ส่วน มากมีแต่การทำลายด้วยการคิดนึก พูด ทำในแง่ต่างๆ ทั้งที่ตนเข้าใจว่าบำรุงรักษาใจ เช่น นั่งภาวนาเพื่อสงบอารมณ์ แต่กลับนั่งสั่งสมอารมณ์ที่เป็นข้าศึกแก่ใจเป็นต้น ใจ เปรียบเหมือนผ้าขาว ไม่อิ่มสีต่างๆ ใจนั้นไม่อิ่มต่อการอยากรู้อยากเห็น อยากได้ยินได้ฟัง อยากรู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่มาสัมผัสสัมพันธ์ใจ ใจไม่มีความอิ่มพอในอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นใจเด็ก ใจผู้ใหญ่ เพศใด วัยใด มีความอยากรู้อยากเห็นอยู่เป็นประจำเช่นเดียวกันทั่วโลก


    ความ อยากรู้อยากเห็นสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่แล้วนั้น เป็นปัจจัยผลักดันอยู่เสมอ เมื่อสิ่งต่างๆ เข้ามาสัมผัสเกี่ยวข้องภายในใจ จึงเป็นเหมือนเอาสีต่างๆ มาย้อม ย้อมผ้าขาว สีเป็นอย่างไร ผ้าขาวต้องเป็นไปตามสีที่ย้อมนั้น


    จิตใจทีแรกท่านก็บอกว่า “ผ่องใส” ตาม หลักธรรมชาติ ท่านกล่าวไว้ แต่อาศัยกิเลสที่จรมา ตอนที่กิเลสจรมา ก็ตอนที่จิตนี้เองจรออกไปหากิเลส จรออกเที่ยวหาอารมณ์ต่างๆ ออกไปทางรูป ทางเสียง ทางกลิ่น ทางรส เครื่องสัมผัส แล้วก็นำอารมณ์เหล่านั้นเข้ามาคละเคล้าจิตที่ผ่องใส ให้กลายเป็นจิตที่เศร้าหมองขุ่นมัวไปตามๆ กัน ที่ว่า “กิเลสจรมา” คือ มากับอารมณ์นี้เอง เนื่องจากจิตไปคว้าไปยึดเหนี่ยวเอาสิ่งนั้นๆ เข้ามาเป็นอารมณ์ของใจ กลายเป็นจิตที่เศร้าหมองไปด้วยสิ่งต่างๆ ที่ไม่ดีทั้งหลาย


    ท่านกล่าวไว้ในธรรมว่า “ดู ก่อน ภิกษุทั้งหลาย จิตเดิมนั้นผ่องใส แต่อาศัยกิเลสที่จรมาเข้าคละเคล้ากับใจ ใจจึงเป็นไปต่างๆ ตามอารมณ์ หรือตามสิ่งที่มาเกี่ยวข้องนั้นๆ


    ท่านไม่ได้บอกว่า “จิตเดิมแท้บริสุทธิ์” นี่ ท่านบอกเพียงว่า “จิตเดิมแท้ผ่องใส” ไม่ได้บอกว่า “บริสุทธิ์” ถ้าจิตบริสุทธิ์จริงๆ แล้ว จะไม่มาเกิด นี่เป็นจิตผ่องใสตามฐานของ “อวิชชา” เท่านั้น จึงเป็นจิตคู่ควรแก่การเกิด ถ้าจิตเดิมแท้บริสุทธิ์แล้วก็ไม่มีปัญหาที่จะต้องมาเกิด แก่ เจ็บ ตายอีก! ถ้าเพียงแต่ผ่องใส ก็แน่นอนในการเกิดอีก


    จิตที่ผ่องใสก็เหมือน “เมล็ดต่างๆ” ที่ เก็บเชื้อไว้ในเมล็ดของมัน เวลาไปเพาะมันก็เกิดขึ้นมา นี่เป็นเพียงความสงบของกิเลสที่มีอยู่กับจิตนั้น ระยะเริ่มแรกเกิด จิตไม่มีเครื่องมือที่จะใช้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย แม้มีก็ยังไม่สมบูรณ์ มีแต่จิตล้วนๆ นั้น จึงเป็นจิตที่ผ่องใส คือจิตไม่ได้ใช้กิริยา พอผสมคละเคล้ากับส่วนร่างกาย พอมีเครื่องมือใช้ได้บ้าง ก็เริ่มไหวตัว คือจิตก็แสดงตัวออกมาได้ตามกำลังของเครื่องมือ คือ “อายตนะ” ที่พอจะใช้ได้ขนาดไหน เช่นเด็กเล็กๆ ก็ยังใช้ “อายตนะ” ไม่ ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ก็เริ่มไหวตัวไปโดยลำดับ พอเติบโตขึ้นมาทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นเครื่องมือก็สมบูรณ์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็นำออกใช้ได้ไม่มีหยุดหย่อนตลอดไปนั่นแหละ



    ตาก็ดู หูก็ฟังเรื่อย กิเลสก็เกิดขึ้นเรื่อยๆ หรือเข้ามาเรื่อย จนไม่ทราบว่าอะไรเป็นอะไร หมดทั้งตัวล้วนแต่เป็นเรื่องของ “กิเลส ตัณหา อาสวะ”


    พลิก ดู พิสูจน์ดูในแง่ใดมุมใดเวลาใด อดีต อนาคต ล้วนแล้วแต่จิตเที่ยวกอบโกยเอากิเลสฝังเข้ามาภายในใจและเพิ่มพูนขึ้นโดย ลำดับ เพราะฉะนั้นเวลาจะแก้มันจึงลำบากเพราะการสั่งสมเราสั่งสมสิ่งเหล่านี้มา ตั้งแต่ยังไม่รู้เดียงสาภาวะ ตลอดกัปไหนกัลป์ไหนก็สั่งสมมา


    การ ที่จะแยกให้จิตบริสุทธิ์หรือให้ผ่องใสตามใจมั่นหมาย หรือตามความสำคัญของตนนั้น จึงเป็นไปได้ยาก มันควรแก่เหตุแก่ผลที่จะมีความสงบ หรือผ่องใสได้มากน้อยเพียงไร ตามแต่การกระทำของเรา


    เมื่อ หมั่นกระทำอยู่ไม่หยุดไม่ถอย ไม่ลดละความเพียร คือ มีการบำรุงรักษาอยู่เสมอ จิตใจจะต้องมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นเรื่อยๆ แม้ในปัจจุบันที่เรากำลังบำเพ็ญอยู่เวลานี้ จะเป็นชั่วระยะเดือนก็ตาม ระยะปีก็ตาม ด้วยการระมัดระวังรักษาจิตอยู่โดยสม่ำเสมอ เราจะทราบความเคลื่อนไหว คือ อาการของจิต พร้อมทั้งจิตว่ามีความแตกต่างจากแต่ก่อนอย่างไรบ้าง เราพอทราบได้


    หาก ไม่ได้อบรมอะไรเลย ปล่อยไว้ตามบุญตามกรรม ใจก็ดำเหมือนหมีทั้งตัวนั่นแล อะไรไปถูกก็ไม่ทราบว่ามันเปื้อนมันเปรอะอะไรต่ออะไรบ้าง เพราะมันดำเสียหมด จนไม่ทราบว่าเปื้อนที่ตรงไหน สกปรกที่ตรงไหน เพราะหมีมันดำหมดทั้งตัว นี่หมายถึงหมีดำๆ ใจที่เคยสกปรกด้วยกิเลส ก็ดำเหมือนหมีทั้งตัวนั่นแล เป็นเพียงหมีดำนั้น ดำตามธรรมชาติของมันต่างหาก ไม่สกปรกเหมือนใจที่ดำด้วยกิเลส


    แต่ ถ้ามีการชะล้างเป็นลำดับๆ ก็ย่อมสะอาด และพอทราบได้ เช่น เรามาปฏิบัติภายในเดือนนี้เป็นอย่างไร ปฏิบัติอยู่เสมอ ได้รับการอบรมอยู่เสมอ ภายในเดือนนี้เป็นอย่างไร เดือนหน้า เดือนต่อมาเป็นอย่างไร ใจก็ทราบตัวเองมาได้โดยลำดับ เพราะผลค่อยปรากฏขึ้นมาเรื่อยๆ จากการชำระสะสางโดยทางความเพียรโดยสม่ำเสมอ


    ความ สงบแต่ก่อนเป็นอย่างนั้น บัดนี้กลายมาเป็นอย่างนี้ ฐานของจิตแต่ก่อนมีความหยาบ แม้จะมีความสงบเป็นฐานของจิตได้ แต่ฐานอันนั้น กับฐานของจิตอันนี้มีความละเอียดต่างกัน


    ถ้า พูดถึงด้านปัญญา แต่ก่อนพิจารณาก็รู้สึกขลุกขลักๆ คิดอะไรไม่ค่อยได้เหตุได้ผล มีแต่ความขี้เกียจ ครั้นต่อมาค่อยได้เหตุได้ผลขึ้นไปเป็นลำดับ ต่อมาก็คล่องแคล่ว ผิดกันมาเรื่อยๆ การเคลื่อนไหวของสติปัญญาที่ดำเนินอยู่โดยสม่ำเสมอนั้น ก็คือการชำระซักฟอกความหม่นหมองของใจ ซึ่งมีกิเลสฝังอยู่ภายใน ให้ค่อยหมดไป หมดไป จิตใจจึงค่อยแสดงความผ่องใสขึ้นมาเรื่อย ๆ


    นี่ แหละความปรากฏว่า ศาสนาเสื่อม หรือ ศาสนาเจริญจะปรากฏที่ใจของผู้ปฏิบัติศาสนานั้นแล ไม่ใช่จะปรากฏที่คัมภีร์ใบลาน ที่ท่านเขียนมากี่คัมภีร์ คัมภีร์นั้นๆ ก็มีอยู่อย่างนั้น จะว่าเสื่อมหรือเจริญก็เป็นคัมภีร์อยู่อย่างนั้น จะเรียน จะอ่านบทใด คำใดก็ถูกต้องไปตามที่ท่านเขียนท่านจารึกไว้แล้ว จะเสื่อมไปไหน คัมภีร์ศาสนาไม่ได้เสื่อม แต่เสื่อมที่จิตใจคน ถ้าเจริญก็เจริญที่จิตใจคนผู้ปฏิบัติศาสนา


    ความ เสื่อมของศาสนา ก็ได้แก่ความเคลื่อนไหวที่ไม่ดีของคนนั่นเอง ถ้าจิตและกายวาจาเคลื่อนไหวไปในทางที่ต่ำ ศาสนาก็ย่อมเสื่อมไปโดยลำดับ ความไม่มีศีลมีธรรม ไม่มีเหตุมีผล ไม่คำนึงถึงความผิดความถูก ชั่วดี ศาสนาเสื่อมไปโดยอาการนั้น


    การ ปฏิบัติส่งเสริมทางจิตใจ รักษาจิตใจอยู่โดยสม่ำเสมอ ใจซึ่งเป็นที่สถิตของศาสนา ก็มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาโดยลำดับๆ นี่แลศาสนาเจริญ เจริญที่ใจเราเอง เหตุก็เจริญ ได้แก่การปฏิบัติถูกโดยสม่ำเสมอ ใจเจริญมาเรื่อยๆ เรื่อยๆ ผลคือสิ่งที่จะได้รับ ก็มีความสงบเย็นไปโดยลำดับเช่นกัน ปัญญาก็ค่อยแตกแขนงออกไปเรื่อยๆ ขัดเกลาจิตใจของตน ให้มีความผ่องใส ให้มีความแกล้วกล้าสามารถขึ้นไปเรื่อยๆ ศาสนาก็เจริญขึ้นเรื่อยๆ ภายในจิตใจนี้เอง ที่เรียกว่าศาสนาเจริญ


    “ศาสนาเจริญ กับ มรรคผลเจริญ” ก็เจริญที่ใจ ความเจริญของศาสนาตามพุทธประสงค์แท้ คือนี่เอง ไม่ใช่วัดวาอาราม ต้องหรูหราไปด้วยสิ่งก่อสร้างต่างๆ ถึงจะเรียกว่า “ศาสนาเจริญ” นั่น มันเจริญด้วยไม้ ด้วยอิฐ ด้วยปูน ด้วยหิน ด้วยทราย ด้วยเหล็กหลา ฝาผนัง ซึ่งที่ไหนก็มี แต่ไม่อาจระงับดับทุกข์ทางใจได้ เหมือนศาสนาเจริญขึ้นที่ใจ


    การ บำรุงศาสนา ก็คือ การบำรุงจิตใจเรา ให้มีความเจริญทันกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เคยเป็นข้าศึกต่อจิตใจและหน้าที่การงานให้เสียไป ตลอดสมบัติเงินทองไม่มีเหลือตกค้างในกระเป๋า เพราะถูกความเห่อเหิมลืมตัวมาปล้นเอาไปกินเรียบ พยายามบำรุงสติปัญญาให้เกิดขึ้น คือพยายามค้นคว้าในสิ่งที่มีอยู่กับเรา และ สิ่งที่เกี่ยวข้อง เพราะเราติดสิ่งที่มีอยู่นี้แล ไม่ได้ติดสิ่งที่ไม่มี ที่รักก็รักสิ่งที่มีอยู่ เกลียด โกรธ ชังต่าง ๆ ก็เกิดจากสิ่งที่มีอยู่ การแก้จึงแก้สิ่งที่มีอยู่ ที่ถือว่าเป็นข้าศึกต่อตัว หรือใจเรา


    คำว่า “ แก้” ได้แก่ การแก้ความรู้ความเห็นผิดของตน ให้ไปในทางที่ถูก เมื่อแก้ถูกทาง ก็ค่อยปลดปล่อยกันไปเรื่อยๆ ใจก็เบา เมื่อภาระทั้งหลายที่เกิดจากการยึดมั่นถือมั่นเบาบางลงไป จิตก็ค่อยดีขึ้น เจริญขึ้น แต่ปัญญาเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะถอดถอนกิเลสแต่ละประเภทเป็นเรื่องของปัญญาทั้งนั้น จะทำหน้าที่คู่เคียงกันไปกับสติผู้ควบคุมงาน


    “สมาธิ” เป็น ที่ตะล่อมกระแสของจิตเข้ามาสู่จุดที่หมาย เพื่อจะได้ดำเนินงานได้สะดวก ถ้าจิตไม่มีความสงบเลยนั้น เราจะพิจารณาทางด้านปัญญา ก็กลายเป็นสัญญาและก่อความวุ่นวายสับสนไปหมด หาเหตุผลไม่ได้ นอกจากจนตรอกจนมุมจริง ๆ เพราะความฟุ้งซ่านของจิต จะเอาปัญญามาใช้เพื่อสกัดกั้นใจที่ฟุ้งซ่าน ให้เข้าสู่วงสมาธินั้นได้


    เวลา จำเป็นจริง ๆ เราก็ถือเอาทุกขเวทนา เป็นต้น หรือ จิตจนตรอกจนมุมด้วยเหตุอันใด เราถือเอาเหตุนั้นเป็นเครื่องพิจารณาทางเดินของปัญญา เพื่อให้ทันกับเหตุการณ์นั้นๆ จิตย่อมเกิดความเฉลียวฉลาดขึ้นมา สามารถเอาตัวรอด และเข้าถึงจุดที่ต้องการได้


    ตาม ธรรมดาจิตไม่ค่อยมีความสงบภายในตัวเองเลย การพิจารณาทางปัญญาไม่ค่อยได้ผลเท่าที่ควร เวลาพิจารณาไปทีแรกก็ดี เหมือนเป็นปัญญาจริงๆ ครั้นต่อไป ต่อไป ต่อไปก็ค่อยเถลไถลไป จนกลายเป็นสัญญาไปเรื่อยๆ ราวกับไม่เคยพิจารณาเลย ฉะนั้นท่านจึงสอนให้ทำจิตให้มีความสงบก่อนบ้างแล้ว ค่อยพิจารณาทางด้านปัญญานั้นเหมาะสมอย่างยิ่ง


    ตามหลักธรรมท่านกล่าวไว้ว่า “สมาธิปริภาวิตาปญฺญามหปฺผลาโหติมหานิสํสา.ปญฺญาปริภาวิตํจิตฺตํสมฺมเทวอาสเวหิวิมุจฺจติ.” ปัญญาที่สมาธิอบรมแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก, จิตที่ปัญญาอบรมแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงโดยรอบ” นั่น!


    อะไรๆ ก็ตามก่อนจะดีหรือดีเยี่ยม ต้องได้รับการอบรมมาด้วยดีก่อน ดังสมาธิอบรมปัญญา ปัญญาอบรม หรือ ซักฟอกจิต เป็นต้น ก่อนจะดี หรือ หลุดพ้นได้


    เหตุ ที่ปัญญาจะก้าวเดินได้โดยสะดวก ก็มีสมาธิ คือ ความอุ่นหนาฝาคั่งอยู่ภายในจิตใจ ถ้าจะเทียบถึงธาตุขันธ์ ก็คือ เมื่อธาตุขันธ์ได้รับประทานอาหารพอสมควรแล้ว พักผ่อนนอนหลับให้มีกำลังพอควรแล้ว จะทำหน้าที่การงานอะไรก็ได้



    จิต ใจไม่เดือดร้อนวุ่นวาย เพราะความหิวโหยบีบบังคับ จิตใจที่มีความสงบ ย่อมไม่หิวโหยต่ออารมณ์ทั้งหลาย ไม่เหมือนจิตใจที่อยู่ตามธรรมดาซึ่งไม่มีความสงบเลย เมื่อจิตใจสงบพอมีกำลังเป็นบาทแห่งวิปัสสนาแล้ว จะพาพิจารณาแยกแยะเรื่องอะไร ปัญญาก็ค่อยๆ พิจารณาเป็นเหตุเป็นผลไปโดยลำดับลำดา ตามหน้าที่การงานที่พาให้ทำ ปัญญาก็ทำหน้าที่ไปตามงานนั้นๆ โดยไม่หลบหลีกปลีกตนเถลไถลไปไหน พยายามคิดค้นสิ่งนั้นจนได้เหตุผลต้นปลาย หายสงสัยไปเป็นลำดับ ปัญญาจึงเป็นสิ่งสำคัญ ในเมื่อมีสมาธิอบรมแล้ว พิจารณาคล่องแคล่วว่องไว ผิดกับใจที่ไม่มีความสงบเป็นพื้นฐานอยู่มาก


    นี่เป็นขั้นหนึ่งในการที่จะก้าวออกทางปัญญา แต่กรณีพิเศษที่ว่า ปัญญาอบรมสมาธิ” นั้น ก็เคยได้อธิบายไว้แล้วนั่น เมื่อถึงคราวจนตรอกจนมุมเข้าจริง ๆ ปัญญาจะหมุนตัวไปเองในทันทีทันใด และเห็นผลประจักษ์ คือจิตจะหยั่งลงสู่ความสงบโดยลำดับ เพราะอำนาจของปัญญาตีต้อนด้วยความจดจ่อต่อเนื่องกัน อย่างเอาจริงเอาจังในเวลานั้น คือทำแบบเอาเป็นเอาตายเข้าแลก ไม่สนใจกับงานอื่นใดทั้งสิ้น ตั้งหน้าตั้งตาทำธุระหน้าที่อันนั้นในปัจจุบันทันด่วน จนเห็นผลเป็นที่พอใจและประทับใจขึ้นมา


    เบื้อง ต้นของการดำเนินปัญญา ต้องอาศัยสมาธิเป็นหลักตายตัว เพราะสมาธิเป็นสิ่งสำคัญอยู่มากในการหนุนปัญญา แต่พอปัญญาได้ก้าวเดินไปแล้ว เรื่องสมาธิจะค่อยด้อยลง ลดลง ไม่ค่อยจะมาสนใจกับสมาธิมากเหมือนแต่ก่อน จิตจะเพลินต่อการพิจารณาไปเรื่อยๆ


    การ พิจารณานั้น จะพิจารณาอะไร ก็พิจารณาสิ่งที่มีอยู่กับตัว และใจที่กำลังคิดอยู่นั้นแล ใจติดอะไรเล่า พูดอย่างนี้เราก็ทราบ เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ธาตุขันธ์ จิตมันติดอยู่ที่นี่จึงค้นคว้าในสิ่งเหล่านี้ให้เห็นชัดเจน คือคลี่คลายออกดูจนเห็นประจักษ์ ครั้งนี้ครั้งนั้น หลายครั้งหลายหน ใจค่อยแจ่มแจ้งประจักษ์ใจไปเอง ทำไมจะไม่เพลิดเพลินในการงาน ต้องเพลิน ไม่ว่างานนอก งานใน เมื่อทำลงไปเห็นผลประจักษ์โดยลำดับๆ ก็ต้องมีความขยันหมั่นเพียรขึ้น แต่ถ้าทำอะไรไม่ได้ผล ก็ย่อมขี้เกียจ ไม่อยากทำ


    จิต ที่ยังไม่เห็นผลในการพิจารณา ก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน ต้องได้บังคับบัญชา ทุกข์ยากลำบาก เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าขนาดไหน ก็ต้องบังคับบัญชาให้ทำ ถ้าได้เห็นผลมาครั้งหนึ่ง สองครั้งแล้ว ก็มีแก่ใจไปเอง ต่อไปเมื่อผลสืบเนื่องไปเป็นลำดับ เรื่องความขยันหมั่นเพียร ไม่ต้องบอก เป็นขึ้นมาเอง ภาระหนักเบาเพียงใด ทำได้ทั้งนั้น ไม่มีถอย เพราะผลเป็นเครื่องดึงดูดให้อยากทำ ให้พากเพียร ให้อดทน


    ท่านว่า “รสใดที่จะยิ่งกว่ารสแห่งธรรมนั้น ไม่มี ในโลกธาตุนี้! ท่านจึงว่า “รสแห่งธรรม ชนะซึ่งรสทั้งปวง” คำว่า “ทั้งปวง” นั้น แปลว่า “หมด” พอ รสแห่งธรรมได้ปรากฏขึ้นที่ใจแล้ว ก็ทำให้ดูดดื่ม ซึมซาบ หรือ ซาบซึ้ง ที่เต็มไปด้วยความสุข ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน จึงทำให้มีความขยันหมั่นเพียร ที่จะเพิ่มรสขึ้นไปโดยลำดับ เพื่อความรู้ความเห็นให้ซึ้งในธรรมทั้งหลาย นี่แหละความขยันหมั่นเพียรเป็นมาเองอย่างนี้ ไม่เช่นนั้นใจจะดับกิเลส ตัวมีรสชาติอันแหลมคมในหัวใจ ด้วย “มหาสติ มหาปัญญา” ได้อย่างไร


    ทีแรกก็ล้มลุกคลุกคลานไปตั้งได้บ้างไม่ได้บ้างล้มไปบ้างตั้งได้บ้างแพ้บ้างชนะบ้างเดากันไปถูไถกันไปผิดบ้างถูกบ้างคละเคล้ากันไปศาสดาของพวกเราก็เคยเป็นมาอย่างนี้แต่อาศัยความเพียรพยายามก็พ้นได้เราถูไถด้วยความเพียรด้วยอตฺตา หิ อตฺตโน นาโถให้มากกว่าการหวังพึ่งผู้อื่น


    ต่อมาความชนะก็มีมากขึ้น และมากขึ้น จนสุดท้ายคำว่า “แพ้” ไม่ให้มีเลย เอ้า! ให้ ตายเสียดีกว่า ถ้าจะแพ้กิเลสตัวนั้นตัวนี้ หรือตัวใดก็ตาม ขอให้ตายเสียดีกว่าที่จะแพ้ ถึงขั้นนี้แล้วเป็นไม่ยอมถอยอย่างเด็ดขาด หัวจะขาด ชีวิตจะดับไปก็ตาม ยอมให้ขาดไป ดับไป ตามโลกอนิจจัง แต่คำว่า “แพ้” จะมีขึ้นมาไม่ได้! ถ้าไม่ตายเสียก่อนเอาชนะกิเลส


    นี่ท่านเรียกว่า “ปัญญาเป็นอัตโนมัติ” ไม่เช่นนั้นก็ “มหาสติ มหาปัญญา” ซึ่ง ออกมาจากปัญญาที่ล้มลุกคลุกคลานนั้นแล แต่เพราะความบำรุง ความส่งเสริม ฝึกหัดอยู่เสมอ ก็ต้องมีความคล่องแคล่วแกล้วกล้าขึ้นเป็นธรรมดา


    การพิจารณาเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ จนแหลกละเอียดก็เพราะปัญญานี้แล “หลง” ก็เพราะความไม่มีปัญญา เครื่องพิจารณา เวลารู้ก็รู้สิ่งที่มีอยู่นี้แหละ ไม่รู้สิ่งใด หลงก็หลงสิ่งที่มีอยู่ เวลารู้ก็รู้ซึ้ง! อ๋อ! ธรรมวิเศษมีอยู่กับตัว ทำไมแต่ก่อนไม่รู้กัน! “ทำไมเพิ่งมารู้เดี๋ยวนี้? ไม่ใช่สิ่งเหล่านี้เพิ่งมาปรากฏในขณะนี้เท่านั้น ธรรมนี้มีอยู่แต่ดั้งเดิม ทำไมไม่รู้? ความรู้ไปอยู่ที่ไหนแต่ก่อน ถึงไม่รู้ไม่เห็น ทำไมเพิ่งมารู้เดี๋ยวนี้ ทั้งๆ ที่สิ่งเหล่านี้มีอยู่ตั้งแต่วันเกิด


    “นั่น! ฟังซิเป็นอย่างไร” ความหลงของพวกเรา น่าขบขันเจ้าของบ้างไหม? น่าอับอายกิเลสบ้างไหม! ที่ถูกมันต้มตุ๋น มานานแสนนาน ยังเพลินหลงกับมันอยู่ได้! มาเห็นโทษของตัวบ้างไหม? ขณะ ที่เจอเข้าไป เจอเข้าไป คือเจอว่าความจริงตามหลักธรรมที่ท่านสอนไว้เข้าใจไปเรื่อยๆ ถ้าลงใจได้จริงอย่างนั้น รู้ตรงไหนมันก็ละ มันก็ถอดถอนออกไปเรื่อยๆ จนไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่ภายในใจได้เลย


    ขันธ์ทั้งห้าหมด พระพุทธเจ้าทรงละได้ แน่ะ! ท่าน เคยหลงขันธ์ทั้งห้า แล้วท่านมาพิจารณา ก็รู้ขันธ์ทั้งห้า ปล่อยวางขันธ์ทั้งห้า สาวกอรหัต อรหันต์ ท่านก็เคยเป็นนักหลงมาด้วยกัน เช่นเดียวกับพวกเรา การหลงโลก หลงสงสาร ไม่มีใครเกินหน้าพวกมีกิเลส พวกมีกิเลสต้องหลงด้วยกันทั้งนั้น ไม่ทราบว่าใครจะแข่งใคร ใครจะเก่งกว่าใคร มันเท่าๆ กัน


    เรา อย่าเข้าใจว่าเรามีกิเลส คนอื่นไม่มีกิเลส เรามีทุกข์ เขาไม่มีทุกข์ เรามันคนโง่ เขาคนฉลาด แต่มันเหมือนๆ กันนั่นแหละในโลกนี้ เพราะความพากเพียรพยายามอยู่อย่างสม่ำเสมอ สิ่งที่หลงก็ค่อยรู้เข้ามา รู้เข้ามา ค่อยถอดค่อยถอนเข้ามา เช่น ธาตุขันธ์ นี่ก็ไม่ได้ใหญ่โตเท่าภูเขา แต่มันหนาแน่นยิ่งกว่าภูเขา แทงไม่ทะลุง่ายๆ ยกไม่ขึ้น คือ ยกขึ้นสู่ “ไตรลักษณ์” ยกไม่ขึ้น! “อนิจฺจํทุกฺขํ อนตฺตา” ใจมันปีนเกลียวกับ “อนิจฺจํทุกฺขํ อนตฺตา” อยู่ตลอดเวลา จึงเรียกว่า “มันหนักมันหนา” จน แทบไม่มีใครสนใจยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์ และสับฟันลงด้วยสติปัญญา พอให้กิเลสที่เนื้อหอมของสัตว์ทั้งโลก ซึ่งชอบกันมาก ได้เป็นอาหารอันโอชาของธรรมภายในใจบ้าง


    เมื่อปัญญาสอดแทรกเข้าไปโดยลำดับ และทะลุไปหมด พอทะลุขันธ์ห้าแล้ว ยังไม่แล้ว! ต้องทะลุอีก คือทะลุ “อวิชชา” ที่มีอยู่ภายในจิตอีกที ทีนี้โล่งไปหมด! ไม่มีอะไรติด! ที่ติดมันก็ติดอยู่ภายในตัวนี้เท่านั้น ตัวเองติดตัวเอง ตัวเองบังตัวเอง ความโง่บังความรู้ความฉลาด “อวิชชาบังวิชชา” “กิเลสบังธรรม”


    พอ ใช้ปัญญาพิจารณาค้นคว้าเข้าไป ขุดค้นเข้าไป ขุดค้นเข้าไป เมฆหมอกทั้งหลายที่มีปิดบังอย่างมิดชิดอยู่ภายในใจออกหมดแล้ว ใจก็เบิกกว้าง ยิ่งกว่าท้องฟ้า อวกาศอาโลโก อุทปาทิ” ใจสว่างโร่ ทั้งกลางวันกลางคืน ไม่มีอะไรปิดบังได้อีก!


    นั่น ท่านเรียกว่า “โลกวิทู” รู้แจ้งโลก รู้ที่มันมืดๆ นี้แหละ ท่านรู้ที่ว่าเป็น “โลกวิทู” “รู้แจ้งโลก” คือ รู้ที่นี่เอง ปกติโลกธาตุ โลกขันธ์ เป็นโลกที่มืดที่สุด เป็นโลกที่หนาที่สุด ยิ่งกว่าภูเขา ทำลายไม่แตกง่ายๆ ภูเขาทั้งลูกเขาทำลายแตกกระจายหมด แต่ธาตุขันธ์นี้ทำลายไม่แตก ต้องเอาสติปัญญาเข้าทำลายโดยสม่ำเสมอไม่ลดละ ภูเขาภูเรานี้จึงจะแตกกระจายได้ โดยไม่สงสัย


    ขอย้ำอีกที เมื่อรื้อธาตุ รื้อขันธ์ ออกสู่ความจริง คืออนิจฺจํทุกฺขํ อนตฺตา ด้วยความซึ้งภายในจิตแล้ว ข้าศึกก็ไม่มี หมดข้าศึกในขั้นนี้!


    เอ้า! ย้อนสติปัญญาเข้าสู่ใจโดยเฉพาะ! กิเลส ตัณหา อาสวะ ไม่มีที่หลบซ่อน แม้อยู่ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ถูกตีต้อนด้วยปัญญาวิ่งเข้าไปสู่จิต ตีต้อนเข้าไปที่จิตอีก เอาให้แหลกไปตาม ๆ กัน แม้จิตจะสูญ ก็ยอมให้สูญ ไม่มีความเสียดายเลยว่าเมื่อจิตถูกการพิจารณาฟาดฟันกิเลส ที่มีอยู่กับจิตโดยเฉพาะแล้ว กลัวจิตจะฉิบหายล่มจมไป ไม่ต้องกลัว!


    ความ กลัวนั้นแล คือ กิเลสอยู่ที่ตรงนั้น มันไม่อยากให้แตะต้อง จงค้นลงไปที่จิตฟาดฟันลงไปที่จิตจนแตกกระจาย เวลากิเลสอวิชชาแตกแล้ว จิตไม่แตก มันเป็นเรื่องของกิเลสแตกต่างหาก กิเลสสลายไปต่างหาก จิตไม่ได้สลาย กลายเป็นความบริสุทธิ์ขึ้นมาทั้งดวง นั่นแล ท่านเรียกว่า “พุทโธๆ” แท้ ของผู้บรรลุธรรมขั้นนี้


    ทีแรกเราก็นำพระนามของพระพุทธเจ้ามาบริกรรมว่า “พุทโธ” โดยอาศัยพระนามนี้เป็นเกาะอาศัยของจิต “พุทโธ” ต่อไป ต่อไปคำว่า “พุทโธ” กับความรู้ของเราก็ค่อยกลมกลืนกันเข้าเป็นลำดับ จนกลายเป็นอันเดียวกันแล้ว คำว่า “พุทโธ”ก็ปล่อยได้นขณะนั้น นี่ก็เป็น “พุทโธ” ขั้นหนึ่ง


    จาก “พุทโธ” ขั้นนี้ ก้าวขึ้นไปจนถึง “พุทโธ” ขั้นบริสุทธิ์หลุดพ้นจาก “อวิชชา” “ตัณหา อาสวะ” ทั้งมวล นั่นเป็น “พุทโธ” ที่แท้จริง, เป็น “ธัมโม” แท้, เป็น “สังโฆ” แท้ พุทธะ ธรรมะ สังฆะ เป็นอันเดียวกันในขณะนั้น


    แต่ตามอาการว่า “พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์” นั่นพูดตามหลักสมมุติ ที่โลกสมมุติกัน ท่านก็แยกประเภทออกไป คือ


    พระพุทธเจ้า คือ ศาสดาที่ทรงสั่งสอนโลก โดยอาศัยพระธาตุ พระขันธ์ พระสกลกาย ประกาศธรรมสอนโลก อันนี้แหละที่เรียกว่า “พุทธะ” เรือนร่าง “พุทธะ” ก็ได้แก่พระสกลกาย


    พระธรรม ก็ได้แก่ “ธมฺโม ปทีโป” ที่มีความสว่างกระจ่างแจ้ง อยู่ในพระทัยที่บริสุทธิ์นั้น


    พระสงฆ์ ก็คือผู้ทรงไว้ซึ่งความบริสุทธิ์ตามพระพุทธเจ้า นี่ท่านเรียกเป็นประเภทๆ ก่อน


    พอถึงความจริงล้วน ๆ แล้ว คำว่า “พุทธะ ธัมมะ สังฆะ” นั้นก็เป็นอันเดียวกัน คือ เป็นธรรมทั้งแท่ง ฉันใดฉันนั้นเหมือนกันหมด อาการไม่มี! อาการพระพุทธเจ้าเป็นอย่างนั้น พระธรรมเป็นอย่างนี้ พระสงฆ์เป็นอย่างนั้นไม่มี มีแต่ธรรมล้วนๆ ภายในจิต คือ สว่างไสวหมดสมมุติ


    จะ หาอดีต อนาคต กาล สถานที่ใดๆ ไม่เจอ สมมุติทั้งปวงไม่มีความหมายสำหรับจิตดวงนั้น นั่นแลคือจิตที่พ้นจากสิ่งที่กดถ่วง บรรดาสมมุติน้อยใหญ่ไม่มีอะไรเหลืออยู่ภายในจิตนั้นเลย


    นี่ คือผลแห่งการรักษา การปฏิบัติจิตใจ บำรุงจิตใจโดยสม่ำเสมอ ยากก็ตาม ง่ายก็ตาม ผ่านไปด้วยความเพียรทั้งนั้น จนกระทั่งถึงจุดหมายปลายทาง ผู้นั้นเป็นผู้พ้นแล้วจากความเป็น “นักจับจองป่าช้า” เป็นนักเกิด นักแก่ เจ็บ ตาย นักแบกทุกข์ให้ลำบากลำบน เป็นผู้พ้นไปแล้ว!


    ยัง แต่ขันธ์ปัจจุบัน ก็เป็นขันธ์ล้วนๆ อาการอะไรที่เจ็บปวดตรงนั้นตรงนี้ ก็ทราบไปตามธรรมชาติของมันที่จะต้องเป็นอย่างนั้น จะบังคับให้เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ เพราะทางเดินของ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ต้องเดินไปตามหลักธรรมชาติของเขา! ผู้ที่รู้จริงแล้วก็รู้ตามธรรมชาติของมัน ต่างอันต่างจริง พอถึงวาระสุดท้ายแล้ว ธาตุขันธ์จะทนต่อไปไม่ไหวเหรอ? “ก็ปล่อยทิ้งเสีย” หมดกังวล หายห่วงโดยประการทั้งปวง!


    นั่นแล ท่านเรียกว่า “อนุปาทิเสสนิพพาน” ล้วนๆ ไม่มีสมมุติ คือขันธ์ เป็นต้น เจือปนเลย ฉะนั้นคำว่า “อนุปาทิเสสนิพพาน” จึงหมายถึง จิตที่พ้นจากสมมุติทั้งปวงและพ้นจากความรับผิดชอบในขันธ์โดยประการทั้งปวงแล้ว


    ธรรมที่กล่าวมานี้ อยู่ที่ไหน ถ้าไม่อยู่ที่ “ผู้รู้” เวลา นี้ ไม่มีที่อยู่ ผู้นี้เป็นผู้รู้ แต่เวลานี้ยังหลงอยู่ ยังไม่สามารถทำความรู้นี้ให้เต็มภูมิ อย่างความรู้ล้วนๆ ได้ จึงต้องอาศัยการซักฟอก คือ การฝึก การปฏิบัติ การได้ยินได้ฟัง จนกระทั่งเชื่อตัวเองได้ตามความสามารถ และบรรลุธรรมเต็มภูมิแล้ว ก็เหมือนกันหมด!


    การแสดงธรรมก็เห็นว่าสมควร จึงยุติแต่เพียงนี้


    คัดลอกจาก http://www.luangta.com/thamma/thamma_talk_text.php?ID=1598&CatID=1
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 4 กรกฎาคม 2011

แชร์หน้านี้

Loading...