พุทธศาสนา กับ แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย telwada, 11 มกราคม 2010.

  1. telwada

    telwada เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 กันยายน 2004
    โพสต์:
    1,509
    ค่าพลัง:
    +1,817
    "พุทธศาสนากับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง"


    “ขอเดชะ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ปกเกล้า ปกกระหม่อม”
    ข้าพระพุทธเจ้า จ่าสิบตรี เทวฤทธิ์ ทูลพันธ์ (รป.บ) ขออัญเชิญ หลักปรัชญาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งได้ทรงพระราชทานต่อปวงชนชาวไทยในทุกระดับชั้น มาเขียนเป็นบทความอันเชื่อมโยงกับพุทธศาสนา
    ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณา พระพุทธเจ้าค่ะ

    
    แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักปรัชญา ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ชี้ให้เห็นและให้รู้ให้เข้าใจถึงแนวทางในการดำรงชีวิต และการปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว ระดับกลุ่ม ระดับชุมชน จนไปถึงระดับรัฐ ทั้งในแง่การดำเนินชีวิต การประกอบอาชีพ การสังคมปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ของบุคคล ครอบครัว กลุ่ม หรือชุมชน รวมไปถึง การพัฒนา และการบริหารประเทศ ในระดับรัฐบาล ให้ดำเนินไปแบบ “ทางสายกลาง” โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ และการพัฒนาด้านอื่นๆ เพื่อให้ก้าวทันตามโลกยุคโลกาภิวัตน์
    การดำเนินชีวิต การประกอบอาชีพ การสังคมปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว กลุ่ม หรือชุมชน รวมไปถึง การพัฒนา และการบริหารประเทศ ให้ดำเนินไปแบบ “ทางสายกลาง”นั้น หากจะยึดถือตามหลักธรรมคำสอนในทางพุทธศาสนา ก็ย่อมมีความหมายว่า ไม่ตึง จนเกินไป หรือไม่หย่อนจนเกินไป ซึ่งหากจะกลับไปมองถึงแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ก็ย่อมหมายถึง ความพอเพียง ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐ ความว่า.-
    “ อันนี้เคยบอกว่า ความพอเพียงนี้ไม่ได้หมายความว่า
    ทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัว
    จะต้องทอผ้าใส่เอง อย่างนั้นมันเกินไป
    แต่ว่าในหมู่บ้านหรือในอำเภอ จะต้องมีความพอเพียงพอสมควร
    บางสิ่งบางอย่างผลิตได้มากกว่าความต้องการ ก็ขายได้
    แต่ขายในที่ไม่ห่างไกลเท่าไหร่ ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก”
    ความพอเพียง ในความหมายตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงนั้น จะประกอบไปด้วยคุณลักษณะ ๓ ประการประกอบเข้าด้วยกัน ดังต่อไปนี้
    ๑. ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดี ที่ไม่น้อยเกินไป และไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิต และบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ
    ๒. ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณา จากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบ
    ๓. การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึงการเตรียมตัวให้พร้อมในการรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยคำนึง ถึงความเป็นไปได้ของสถานะการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล
    ความพอประมาณ อันหมายถึง ความพอดี ไม่น้อยเกินไป ไม่มากเกินไป ตามความมีเหตุผล อันหมายถึงการตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียง ด้วยเหตุผล โดยอาศัยพิจารณาจากเหตุและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งล้วนย่อมต้องคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้น โดยการมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมในอันที่จะรับผลกระทบ และการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอนาคตอันใกล้หรือไกล นั้น ย่อมหมายถึง การที่บุคคลหรือครอบครัว หรือกลุ่ม หรือชุมชน จนไปถึงระดับรัฐ จะกระทำกิจกรรมใดใด อันเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิต ในสังคมโลกยุคปัจจุบันให้สามารถอยู่ได้อย่างมีความสุขนั้น จักต้องเริ่มจากความต้องการทางด้านจิตใจเป็นอันดับแรก กล่าวคือ จิตใจต้องมีความมุ่งมั่นในอันที่จะพัฒนาความเป็นอยู่ของตัวเอง ฯ ซึ่งย่อมต้องมีสิ่งประกอบให้เกิดความมุ่งมั่นในจิตใจ อันได้แก่ปัจจัยต่างๆในการดำรงชีวิต ในการประกอบอาชีพ ในการบริโภค และอุปโภค เช่น เครื่องมือเครื่องใช้, ทุนทรัพย์, วัสดุอุปกรณ์, สถานที่, กำลังคน ฯลฯ อันอาจมีอย่างใดอย่างหนึ่งก่อน แล้วจึงค่อยหาส่วนอื่นๆมาเพิ่มเติม ปัจจัยต่างๆเหล่านั้นทุกคนล้วนมีความต้องการ มีความจำเป็นต้องใช้ หรือล้วนมีอยู่เป็นทุนเดิมอยู่บ้างแล้ว ดังนั้น ความพอดี ในความต้องการแห่งปัจจัยเหล่านั้น จึงเป็นส่วนสำคัญอันดับแรกในการที่จะดำเนินกิจกรรม ในการทำงาน หรือในการประกอบอาชีพ ดังนั้น ความพอดี อันไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไปจึงเริ่มขึ้น ซึ่งย่อมต้องเป็นความพอดี ที่จะต้องพิจารณาหรือตัดสินใจตามเหตุผล ว่าจะต้องใช้ เครื่องมือเครื่องใช้,ทุนทรัพย์,วัสดุอุปกรณ์,สถานที่,กำลังคน อย่างพอดีและพอเพียง โดยอาศัยพิจารณาจากการดำเนินกิจกรรม หรือการทำงาน หรือการประกอบอาชีพ ซึ่งล้วนย่อมต้องคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ในการกระทำนั้นๆ เมื่อบุคคลได้มีความมุ่งมั่นในการที่จะกระทำตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง หรือเริ่มคิดที่จะกระทำ สภาพสภาวะจิตใจ หรือความรู้สึกอันเรียกว่า ธรรมะ ก็ย่อมเกิดขึ้นในจิตใจไปพร้อมกัน นั้นก็คือ หลักธรรม “อิทธิบาท ๔”
    อิทธิบาท ๔ หมายถึง คุณเครื่องให้ถึงความสำเร็จ, คุณเครื่องสำเร็จประสงค์, ทางแห่งความสำเร็จ มี ๔ ประการคือ
    ๑) ฉันทะ ความพอใจรักใคร่สิ่งนั้น
    ๒) วิริยะ ความพยายามทำสิ่งนั้น
    ๓) จิตตะ ความเอาใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้น
    ๔)วิมังสา ความพิจารณาใคร่ครวญหาเหตุผลในสิ่งนั้น;
    หรือทั้ง ๔ ข้อจะจำง่ายๆว่า มีใจรัก, พากเพียรทำ, เอาจิตฝักใฝ่, ใช้ปัญญาพิจารณา
    (พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับเจ้าคุณธรรมปิฏก)
    เมื่อสภาพสภาวะจิตใจหรือธรรมะอิทธิบาท ๔ ที่กล่าวไปได้เกิดขึ้นในจิตใจอันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ การดำเนินการ การประกอบกิจกรรม การประกอบอาชีพ หรือการทำงาน ย่อมต้องคำนึงถึงความพอดีของการผลิต ความพอดีของการบริโภค อันย่อมหมายถึง ความต้องการที่แต่ละบุคคลจะต้องใช้บริโภคและคำนึงถึงความต้องการของตลาด คำนึงถึงผู้ผลิต หรือผู้ประกอบการอื่นๆ จำนวนประชากรหรืออำนาจการซื้อ เพื่อจะได้ผลิตหรือประกอบกิจการ ไม่มากจนเกินไป หรือน้อยจนเกินไป อันไม่เป็นการไปเบียดเบียนผู้อื่น นั้นก็คือ ความพอประมาณหรือความพอดี ที่ได้ตัดสินใจเกี่ยวกับความพอเพียงหรือพอดี ด้วยเหตุผลและคำนึงถึงผลดีผลเสียที่คาดว่าจะได้รับจากการกระทำ ตามปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการ การประกอบกิจกรรม การประกอบอาชีพ หรือการทำงาน เพื่อให้เกิดผลผลิต และการบริโภค ในสิ่งนั้นๆ
    เมื่อได้ดำเนินการหรือกระทำไปตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยความพอประมาณหรือพอดี ตามเหตุปัจจัยแล้ว “สิ่งที่จะต้องทำไปพร้อมๆกัน” นั้นก็คือ แต่ละบุคคลล้วนต้องสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว เพื่อเป็นการเตรียมตัวรับกับสถานะการณ์ใดใด ที่อาจเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆหรือมีผลกระทบ ต่อการดำเนินกิจการ ต่อการประกอบการ ต่อการทำงาน ต่อการผลิต ต่อการบริโภค ที่คาดว่าอาจเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล โดยการมีทุนสำรองอันเกิดจากการเก็บออม มีแนวทางการแก้ปัญหา หากผลผลิตไม่สามารถจำหน่ายหรือบริโภคเหลือ เช่น ทำผลิตผลหลายๆชนิด แปรรูป ทำให้เพิ่มมูลค่า แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ฯลฯ ซึ่งการที่บุคคลจะมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวได้ บุคคลนั้นๆจะต้องเป็นผู้มีสติ คือความระลึกได้ สัมปชัญญะ คือความรู้สึกตัว อันเป็นสิ่งควบคุมตัวเองไม่ให้หลงติดไปกับกระแสในโลกยุคโลกาภิวัตน์ ไม่หลงติดไปกับความฟุ้งเฟ้อ จนไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวให้เกิดขึ้น
    ความเป็นผู้มีสติ ระลึกได้ และสัมปชัญญะความรู้สึกตัว หรือความมีสมาธิอยู่เนืองๆนั้นย่อมเป็นปัจจัยในอันที่จะระลึกนึกถึง ความรู้ ความเข้าใจ หรือระลึกนึกถึง ความมุ่งมั่นในจิตใจ ที่จะ
    ประกอบกิจกรรม หรือประกอบการ หรือประกอบการผลิต หรือทำงานใดใด ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง โดยไม่หลงระเริงไปกับกระแสโลกาภิวัตน์ หรือกระแสความนิยมของสังคมในด้านต่างๆเช่น แฟชั่นเครื่องนุ่งห่ม อาหาร ฯลฯ จนเกินฐานะของครอบครัว อีกทั้งความมีสติ สัมปชัญญะ หรือความมีสมาธิ อันเกิดจากความมุ่งมั่นในจิตใจ ที่จะดำเนินชีวิตตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้สภาพสภาวะจิตใจแห่งธรรมะอิทธิบาท ๔ ซึ่งมีอยู่ในจิตใจของมนุษย์เป็นธรรมชาติอยู่แล้ว กลับเพิ่มพูน เข้มข้น จนเกิดหรือแปรเปลี่ยนเป็น การศึกษาหาความรู้ในหลักวิชาการด้านต่างๆอันเกี่ยวข้องกับการ ประกอบกิจกรรม การประกอบอาชีพ หรือการทำงาน ย่อมเป็นสิ่งประกอบเป็นปัจจัยที่จะต้องกระทำไปพร้อมๆกับการดำเนินการในด้านอื่นๆ โดยละเอียดรอบคอบ เพราะความรู้ในด้านวิชาการต่างๆล้วนสามารถเชื่อมโยงสัมพันธ์ หรือใช้แทนกันหรือใช้ร่วมกันได้ในบางเรื่องบางอย่างหรือในทุกเรื่อง ทั้งนี้ก็เพื่อใช้ประกอบในการวางแผน หรือวางขั้นตอนในการประกอบกิจกรรม ในการประกอบอาชีพ ในการทำงาน เพื่อผลิต เพื่อบริโภค เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวได้อีกทางหนึ่ง อันย่อมมีสภาพสภาวะจิตใจที่ดีงาม มุ่งมั่น อดทน ขยันหมั่นเพียร เป็นปัจจัยประกอบที่สำคัญ และเป็นสิ่งที่มีอยู่ในจิตใจของแต่ละบุคคลโดยธรรมชาติอยู่แล้ว แต่จะชัดเจน เข้มข้น เมื่อมีความมุ่งมั่นในอันที่จะดำเนินการตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เพราะการดำเนินกิจกรรมฯนั้นแต่ละบุคคลล้วนย่อมมี ฉันทะ,จิตตะ,วิริยะ,วิมังสา คือ มีใจรัก, พากเพียรทำ, เอาจิตฝักใฝ่, ใช้ปัญญาพิจารณา
     

แชร์หน้านี้

Loading...