พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) สอนวิปัสสนาอย่างละเอียด

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย ธัชกร, 22 กุมภาพันธ์ 2010.

  1. ธัชกร

    ธัชกร เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    267
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +3,040
    [​IMG]




    พระธรรมเทศนาโดย


    พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)


    ตีพิมพ์ใน วารสาร ธรรมจักษุ ปีที่ ๘๒ ฉบับที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๔๑


    วาระนี้ จะแสดงทางออกอีกทางหนึ่งเป็นทางวิปัสสนา เพื่อจะให้กว้างขวางเหมาะแก่อุปนิสัยของพุทธบริษัท เละเพื่อให้เป็นทางที่พุทธบริษัทจะเลือกดำเนินตามให้เหมาะแก่อุปนิสัยของตน เพราะพระธรรมที่จะแสดงต่อไปนี้ ก็เป็นสวากขาตธรรม เป็นธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้วทั้งนั้น ทางวิปัสสนานั้นควรแก่ผู้มีสีลาจารวัตรบริบูรณ์แล้วจะพึงเจริญ เรียกว่าวิปัสสนากัมมัฏฐาน ท่านแสดงไว้โดยอเนกนัย คือมิใช่อย่างเดียว ในที่นี้จะยกเอาใจความในธรรมนิยามสูตรมาแสดงพอเป็นนิทัศนะอุทาหรณ์ให้เห็นทางแห่งวิปัสสนากัมมัฏฐาน ในความในธรรมนิยามสูตรนั้นว่า สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา สังขารทั้งสิ้นเป็นของไม่เที่ยง สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา สังขารทั้งสิ้นเป็นทุกข์ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งสิ้นเป็นอนัตตา คือไม่ใช่ตัวตน อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข ครั้นเมื่อพิจารณาเห็นสังขารธรรมเป็นของไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเช่นนั้น ก็เกิด นิพพิทาญาณ ความหน่ายในทุกข์ เห็นว่าความไม่เที่ยงก็เป็นตัวทุกข์ ทุกข์ความทนยากก็เป็นตัวทุกข์ อนัตตาไม่ใช่ตัวตนก็เป็นตัวทุกข์ (คือเห็นโทษของสังขาร) เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา นิพพิทาญาณ ความเบื่อหน่ายในสังขารทั้งหลายเพราะเป็นตัวทุกข์ อันนี้เป็นวิสุทธิมรรค เป็นทางที่ให้ถึงความบริสุทธิ์ ในสุตตันตนัยตรัสเป็นการรับรองว่า อุปฺปาทา วา ภิกฺขเว ตถาคตานํ อนุปฺปาทา วา ตถาคตานํ, ฐิตา ว สา ธาตุ ธมฺมฐิตตฺตา ธมฺมนิยามตา ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตเจ้าทั้งหลายจะบังเกิดขึ้นในโลกหรือไม่บังเกิดขึ้นก็ตาม ขึ้นชื่อว่าสังขารธรรมทั้งหลาย ย่อมเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นธรรมธาตุ ธรรมฐิติ ธรรมนิยาม คือตั้งอยู่เป็นธรรมดาอย่างนั้น ไม่แปรผันเป็นอย่างอื่น เป็นแต่เราตถาคตตรัสรู้ดีแล้ว นำมาแนะนำสั่งสอนกระทำให้ตื่นขึ้นเท่านั้น คงได้ใจความตามนัยพระสูตรดังนี้

    ต่อนี้ จะแสดงตามมติของตนโดยทางไต่สวนพุทธภาษิต เพื่อให้สะกิดใจของพุทธบริษัทผู้เห็นภัยแจ้งชัดในวัฏฏสงสาร มุ่งหาทางที่จะออกจากวัฏฏทุกข์ ทางวิปัสสนานี้เป็นทางสำคัญอย่างยิ่ง แต่ต้องอาศัยศีลสมาธิเป็นภาคพื้นมาแล้ว จึงจะเป็นทางให้สำเร็จได้

    วิปัสสนา แปลว่าเห็นแจ้งเห็นจริง คือเห็นจริงตามสภาวะที่เป็นอยู่อย่างไรแห่งธรรมนั้น ๆ เหมือนอย่างในธรรมนิยามสูตรที่ท่านแสดงว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ดังนี้ ทางไต่สวนควรสงสัยว่า ไฉนหนอ ท่านจึงไม่แสดงว่า สังขารทั้งสิ้นเป็นของไม่เที่ยง สังขารทั้งสิ้นเป็นทุกข์ ทำไมจึงไม่แสดงว่า สังขารทั้งสิ้นเป็นอนัตตา เหตุใดจึงแสดงว่า ธรรมทั้งสิ้นเป็นอนัตตา สังขารทั้งสิ้นกับธรรมทั้งสิ้นนั้น จะมีอาการต่างกันอย่างไร

    สังขารก็ชื่อว่าธรรมเหมือนกัน คือ สังขตธรรม คงได้ความว่า สังขารมีนัยเดียว ส่วนธรรมนั้นมีสองนัย คือ สังขตธรรมหนึ่ง อสังขตธรรมหนึ่ง ที่แสดงว่า “สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา” หมายทั้งสังขตธรรม และ อสังขตธรรม มีอาการต่างกันคือ สังขตธรรมมี อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เต็มที่ ส่วนอสังขตะธรรม อนิจฺจํ ทุกฺขํ ไม่มี มีแต่ อนตฺตา อย่างเดียว คือไม่ใช่ตัวตน เป็นธรรมต่างหาก แสดงทางวิปัสสนาต้องแสดงในสกลกายนี้อย่างเดียว แสดงนอกออกไปไม่ได้ ต้องตรวจดูหน้าตาของสังขตธรรม และ อสังขตธรรมในสกลกายนี้ ให้เห็นชัดว่าสังขตธรรมมีที่สุดเพียงไร ต้องตรวจดูหน้าตาของสังขารทั้งสิ้นเสียก่อน

    สังขารในปฏิจจสมุปบาท สังขารในเบญจขันธ์ ท่านหมาย เจตสิกสังขาร คือปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขารเหมือนกัน ถึงกายสังขาร วจีสังขาร มโนสังขาร ก็เกี่ยวด้วยเจตสิกสังขารเหมือนกัน จึงรวมสังขารทั้งสิ้นเป็นสอง คือ อุปาทินนกสังขาร ๑ อนุปาทินนกสังขาร ๑ ชื่อว่าสังขารทั้งสิ้น สังขารทั้งสองนี้มีเต็มโลกด้วยกัน จึงชี้แจงไม่มีที่สิ้นสุด ผู้ปฏิบัติจะเห็นเอง จะชี้พอเป็นอุทาหรณ์เพื่อเป็นทางดำริเท่านั้น
    ในสกลกายนี้เต็มไปด้วยสังขารทั้งสอง ท่านจึงตั้งชื่อว่าสังขารร่างกาย แต่เท่านี้เราไม่พอใช้จึงตั้งชื่อต่อออกไป ให้ชื่อว่าสกลกายบ้าง นามรูปบ้าง ขันธ์บ้าง ธาตุบ้าง อายตนะบ้าง เป็นต้นเป็นตัวอย่าง แล้วแจกอาการของชื่อตั้งนั้น ๆ ดังสกลกายแจกอาการออกไปตามลักษณะของธาตุ ๔ ปฐวีธาตุ ๒๐ มี เกสา โลมา เป็นต้น อาโปธาตุ ๑๒ มี ปิตฺตํ เสมฺหํ เป็นต้น ถ้าแจกแต่สองธาตุนี้เป็น อาการ ๓๒ ถ้าแจกเตโชธาตุ ๖ มี สันตัปปัคคิ เป็นต้น และแจกวาโยธาตุ ๔ มี อุทธังคมาวาตา เป็นต้น ประสมเข้าเป็นอาการ ๔๒ ชื่อว่า สกลกาย รวมสกลกายให้ชื่อว่านามรูป ใจชื่อว่านาม กายทั้งสิ้นชื่อว่ารูป กายกับใจประชุมกันเข้าเป็นหมวดเป็นก้อน ชื่อว่าขันธ์ แจกอาการของขันธ์เป็น ๕ รวมอาการของกายเข้าเป็นหนึ่ง ชื่อว่ารูป ส่วนใจ แจกอาการเป็น ๔ คือเป็น เวทนา ๑ สัญญา ๑ สังขาร ๑ วิญญาณ ๑ ขันธ์อันเดียวนั่นแหละแต่มีอาการ ๕ อย่าง จึงชื่อว่าขันธ์ ๕

    สกลกายอันเดียวนี้แหละ ท่านตั้งชื่อว่าธาตุ แจกอาการของธาตุในที่นี้เป็น ๖ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ แจกรูปออกเป็น ๕ ธาตุ วิญญาณนี้เป็นนาม ๑ จึงรวมกันเป็นธาตุ ๖

    สกลกายอันเดียวนี้แหละ ท่านตั้งชื่อว่าอายตนะ แจกอาการของอายตนะเป็น ๖ ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี้ส่วนรูป แจกเป็น ๕ ใจนี้ส่วนนาม คงเป็น ๑ จึงรวมเป็นอายตนะ ๖

    สกลกายอันเดียวนี้แหละ ท่านตั้งชื่อว่าชาติ ความเกิด ๑ ชรา ความแก่ ๑ มรณะ ความตาย ๑

    แจกอาการของชาติ เป็น ๒ คือเป็นปฏิจฉันนชาติ ความเกิดกำบัง คือ ตั้งแต่ประถมปฏิสนธิวิญญาณมา ก็ชื่อว่าชาติ ความเกิด เรื่อยไปจนถึงวันตาย ผู้ไม่พิจารณาไม่เห็น จึงชื่อว่า ความเกิดอันกำบัง ๑ อัปปฏิจฉันนชาติ ความเกิดเปิดเผยรู้ทั่วกัน คือคลอดออกจากครรภ์ของมารดา ๑
    แจกชรา ความแก่เป็น ๒ คือปฏิจฉันนชรา ความแก่ปกปิดกำบัง คือ ความแก่มีมาแต่วันแรกเกิดมาจนถึงวันตาย แก่ตามวันคืนเดือนปี ไปจนถึงวันตายเป็นที่สุด ๑ อัปปฏิจฉันนชรา ความแก่เปิดเผย ได้แก่ผู้ตั้งอยู่ในปัจฉิมวัย เกิดวิการในร่างกาย มีผมหงอก ฟันหักเป็นต้น ๑

    แจกมรณะ ความตายเป็น ๒ คือ ปฏิจฉันนมรณะ ความตายปกปิดกำบัง ได้แก่ความตายที่มีมาแต่แรกเกิด คือตายเรื่อยไปจนถึงวันตายอันเป็นที่สุด ๑ อัปปฏิจฉันนมรณะ ความตายเปิดเผย ได้แก่สิ้นลมหายใจต้องเข้าโลงกัน ๑

    ที่บรรยายมาพอเป็นสังเขปนี้เป็นเรื่องของอุปาทินนกสังขารทั้งสิ้น เป็นโลก จะตั้งชื่อว่าสังขารโลกก็ควร เพราะโลกประชุมกันตั้งขึ้น แต่พึงเข้าใจว่า อุปาทินนกสังขารทั้งสิ้นต้องอาศัยอนุปาทินนกสังขารทั้งสิ้นเกิดขึ้น ส่วนอุปาทินนกสังขารทั้งสิ้น เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ตรงตามธรรมนิยามสูตรทั้งสิ้น

    ถ้าพิจารณาเห็นสังขารทั้งสิ้นเป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ก็จะเกิดความเบื่อหน่ายในสังขารเหล่านั้น ส่วนตัวความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความเป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวตนนั้น ก็ตัวสังขารอีกเหมือนกัน ต้องเบื่อ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตาอีก จึงจะชอบ ตรงนี้แหละผู้ปฏิบัติจนมุมกันมาก มาติดกันเพียงสังขารุเปกขาญาณ หาทางออกไม่ได้ ตกลงกันว่า เห็นนามรูปเบญจขันธ์ไม่ใช่ตัวแล้ว ก็หมดเรื่องกันเท่านั้น ตกลงยกตนเป็นพระโสดาฯ เพราะละสักกายทิฏฐิได้ แต่นามรูปก็ไม่ดับ เบญจขันธ์ก็ไม่ดับ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ก็ไม่ดับ เป็นพระโสดาฯ กันดื้อ ๆ อย่างนั้นเอง ถ้าอย่างนี้คล้ายกับเอาอนัตตาเป็นโลกุตรธรรม อนัตตาเป็นสังขารจะเป็นโลกุตรธรรมอย่างไรได้ ต้องพยายามตรวจตรองให้เห็นความดับแห่งอุปาทินนกสังขารให้แจ่มแจ้ง

    อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ก็อยู่ในพวกอุปาทินนกสังขารเหมือนกัน ตัวสัญญาอดีตทั้งนั้น ต้องเข้าใจว่า บรรดาอุปาทินนกสังขารเป็นชาติ สัญญาอดีตทั้งนั้น เป็นตัวสมุทัยอริยสัจทั้งสิ้น เมื่อตัวของเรายังเป็นสมุทัยอยู่ตราบใด ตัวของเราก็เป็นทุกข์อยู่ตราบนั้น ต้องตรองแก้ให้สมุทัยดับ ทางแก้ก็มีแต่อริยมรรคทางเดียว อริยมรรคเป็นข้าศึกแก่สมุทัย สมุทัยมีกำลังน้อย สู้อริยมรรคไม่ได้ อริยมรรคก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา สมุทัยละเอียดเข้าไปเพียงใด ต้องบำรุงอริยมรรคให้ละเอียดตามเข้าไป ให้ควรแก่ประหารกันได้ อย่าวิตกว่าสังขารจะดับไม่ได้ ทางดับสังขาร พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้โดยอเนกนัย ดังในคาถาสำหรับบังสุกุลกันอยู่นี้เป็นตัวอย่าง “อนิจฺจา วต สงฺขารา อุปฺปาทวยธมฺมิโน อุปฺชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺติ เตสํ วูปสโม สุโข” ความว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง มีความเกิดขึ้นและความดับเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเท่านั้น จะเอาความสุขมาแต่ไหน ความสงบระงับดับไปแห่งสังขารทั้งหลายเหล่านั้น เป็นสุข ดังนี้ สังขารดับในที่นี้ ท่านไม่หมายคนตาย ท่านหมายคนเป็น ๆ เรานี้แหละ สังขารเป็นตัวกิเลส เป็นสมุทัย เมื่ออริยมรรคปัญญาเกิดขึ้น สังขารก็ดับไปเท่านั้น เมื่อเห็นสังขารดับเมื่อใด ก็เห็นนิโรธเมื่อนั้น

    เรื่องสังขารดับ จะยกตัวอย่างมาแสดงไว้ในที่นี้อีกนัยหนึ่ง ดังปฏิจจสมุปบาทในสมทัยวารแสดงว่า อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร สังขารเป็นปัจจัยแก่วิญญาณ วิญญาณเป็นปัจจัยแก่นามรูป เป็นปัจจัยต่อ ๆ กันไปจนถึงชรา มรณะ คงได้ความว่า อวิชชาความไม่รู้ตัวจริงของตัวนี้เอง จึงเป็นปัจจัยอุดหนุนแก่สังขารทั้ง ๓ คือ ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขาร ปัจจัยไม่ใช่เหตุ เป็นแต่เพียงอุดหนุนเหตุให้มีกำลังเท่านั้น ความจริงอาการทั้ง ๓๒ ประการ มีสังขารเป็นต้น มีมรณะเป็นที่สุด เป็นอาการของอวิชชา เป็นตัวเหตุทั้งสิ้น คือเป็นตัวสัญญาอดีต เป็นชาติสมุทัยด้วยกันทั้งนั้น เป็นอุปาทินนกสังขารด้วยกันทั้งนั้น มีอวิชชาเป็นตัวเหตุด้วย เป็นปัจจัยด้วย สังขารเหล่านั้นจึงตั้งอยู่ได้ ครั้นถึงวาระที่ท่านแสดงนิโรธวาร แสดงอย่างนี้ “อวิชฺชาย เตฺวว อเสสวิราคนิโรธา สงฺขารนิโรโธ สังขารดับโดยไม่เหลือ เพราะคลายความดับโดยหาเศษมิได้แห่งอวิชชานั้นสิ่งเดียว” ดังนี้

    คงได้เนื้อความว่า อวิชชาดับสิ่งเดียวเท่านั้น สังขาร วิญญาณ นามรูป ตลอดไปถึง ชรา มรณะ ดับตามกันไปหมด ที่แสดงความดับแห่ง อวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรุปเป็นต้นในปฏิจจสมุปบาทนี้ ไม่ได้หมายคนตาย หมายดับที่คนเป็น ๆ เรานี้เอง มีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นตัวอย่าง สมัยที่พระองค์จะตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ได้ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาทเป็นทางวิปัสสนา เมื่ออวิชชาเกิดขึ้น อวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป ตลอดถึงชรา มรณะดับหมด แต่พระองค์หาได้นิพพานไม่ ยังอยู่โปรดเวไนยสัตว์ถึง ๔๕ พรรษา จึงเสด็จเข้าสู่พระนิพพาน เมื่อสังขารดับหมดแล้ว ตนของพระองค์ก็ยังเต็มที่ แต่ส่วนที่เหลืออยู่นั้นจะเรียกว่าวิสังขารก็ได้ จะเรียกว่า อนุปาทินนกสังขารก็ได้ จะเรียกว่า อเนญชาภิสังขารก็ได้ จะเรียกว่า อสังขตธรรมก็ได้ จะเรียกว่า สังขารธรรมก็ได้ จะเรียกว่า โลกุตรธรรมก็ได้ ไม่เห็นเป็นปัญหาอะไรกับชื่อนามกร ข้อสำคัญคือตัวอวิชชาดับ เกิดเป็นวิชชาขึ้นเท่านั้น ส่วนธรรมที่ยังเหลืออยู่นี้ เป็นธรรมพิเศษ ไม่มีอนิจจัง ไม่มีทุกขัง คงมีอยู่แต่อนัตตาเท่านั้น เพราะไม่ใช่ตัวตน เป็นธรรมต่างหาก อนิจฺจํ ทุกขํ อนตฺตา ดับไปตามอุปาทินนกสังขาร ถ้าไตรลักษณ์อย่างนี้ไม่ดับ ไม่รู้จักวิโมกข์ ๓ แสดง วิโมกข์ ๓ ไม่ได้ แสดงได้ก็ไม่ได้ความ ถ้าสังขารไม่ดับ แสดงนิโรธก็ไม่ได้ แสดงได้ก็ไม่ได้ความเหมือนกัน ถ้ายังแสดงว่าตัวของตัวยังเป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อยู่ตราบใด พึงรู้เถิดว่า ตัวยังจมอยู่ในกองทุกข์ตราบนั้น เพราะ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เป็นตัวทุกข์ เพราะเป็นสังขาร เมื่อสังขารดับหมดแล้ว ยังเหลืออยู่แต่วิสังขาร เป็นนาถกรณธรรม คือทำตนให้เป็นแก่นสาร เกิดศรัทธาความเชื่อตนขึ้นเป็นอจลศรัทธา ไม่งมงายหลงเชื่อแต่คนอื่น คนเราโดยมากมักเชื่อแต่ตำรา เชื่อตามเขาว่า หาได้น้อมธรรมเข้ามาในตน ให้เห็นจริงที่ตน เกิดความเชื่อขึ้นในตนไม่ จึงออกจากสมมติไม่ได้ ติดสมมติตายอยู่นี้เอง สมมติกับสังขารอันเดียวกัน จะแสดงความดับแห่งสังขารหรือดับแห่งสมมติไว้เป็นตัวอย่าง

    ความจริงสังขารหรือสมมติเป็นของไม่มีอยู่แต่เดิม จึงเป็นของดับได้ เปรียบเหมือนไฟฟ้าที่ติดอยู่ในศาลาหลังนี้ เมื่อดูไม่เป็น เปิดสวิตช์ไฟก็เกิด ปิดสวิตช์ไฟก็ดับ ก็รู้อยู่แต่เพียงเกิด ๆ ดับ ๆ เท่านั้น ถ้าดูเป็น สาวไปถึงวัดราชบูรณะ (ท่านหมายถึงโรงไฟฟ้าที่วัดเลียบ - ผู้คัดลอก) ก็จะเป็นความไม่เกิดไม่ดับกันเท่านั้น เมื่อรู้ไม่จริง ก็จักรู้อยู่ว่าไฟฟ้า คือเข้าใจว่า ไฟมาแต่ฟ้า ถ้าสาวหาเหตุตามสาย ไปจนถึงวัดราชบูรณะ ก็จักเห็นว่า ไฟแกลบเรานี้เอง (สมัยนั้นโรงผลิตไฟฟ้ายังคงใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิง ผู้คัดลอก) หาใช่ไฟฟ้าไม่ ไฟฟ้าที่ใจของเรานั้นก็ดับ รู้จริงว่าเป็นไฟธรรมดาเรานี้เอง เขาสมมติให้เป็นไฟฟ้าต่างหาก ความจริงไฟฟ้าไม่มีอยู่แต่เดิม ดับของไม่มีนั่นเอง แต่ก็คงเรียกไฟฟ้าตามเขาอย่างเดิม เป็นผู้ไม่หลงติดสมมติ คือรู้เท่าสมมติ สมมติก็ดับเป็นวิมุตติขึ้นเท่านั้น

    แม้นามรูป ธาตุ ขันธ์ อายตนะ เหมือนกัน ที่เราเรียนเข้าไว้ จำเข้าไว้ ในชั้นแรกเป็นสมมติ ครั้นมาพบตัวจริงเข้า ก้อนนี้ไม่ใช่นามรูป ธาตุ ขันธ์ อายตนะเสียแล้ว เป็นอยู่เพียงสมมติเท่านั้น ความจริงเป็นสภาวธรรมต่างหาก เขาเคยเป็นอยู่อย่างใด ก็คงเป็นอยู่อย่างนั้น เมื่อรู้เห็นความจริงอย่างนี้ สมมติก็ดับ เมื่อสมมติดับไปแล้ว ก็คงเรียกนามรูป ธาตุ ขันธ์ อายตนะ อยู่อย่างเดิม ส่วนนี้เป็นบัญญัติ เป็นพุทธบัญญัติเหมือนกัน แต่ไม่ได้ใช้ทั่วกัน ใช้จำเพาะแต่พวกท่านที่บรรลุวิมุตติแล้ว และเป็นบัญญัติไม่มีอาชญา พุทธบัญญัติอีกแผนกหนึ่งคือบัญญัติสิกขาบท ส่วนนี้มีอาชญาระวางโทษหนักเบาตามควร เหมือนกันกับพระราชบัญญัติของพระเจ้าแผ่นดิน ผู้รู้ ผู้ไม่รู้ก็ตาม ถ้าล่วง ต้องได้รับโทษตามบัญญัติ ผู้ที่เพิกสมมติออกจากตนได้แล้ว เป็นผู้รู้คติของธรรมดา โสกะ ปริเทวะ ทุกขโทมนัส อุปายาส ตัวผลดับหมด เป็นผู้ไม่มี โสกะ ปริเทวะ ทุกขโทมนัส อุปายาส เพราะเหตุภายนอก เพราะเหตุภายใน อันนี้เป็นตัวอานิสงส์ แสดงออกจากโลกโดยทางวิปัสสนานัยไว้เพียงเท่านี้ แต่ให้พึงเข้าใจว่า ไม่อื่นไปจาก ศีล สมาธิ ปัญญา ทางเดียวกันทั้งนั้นเอง ต่างแต่อาการเท่านั้น

    วิปัสสนานัยที่แสดงมานี้เป็นสวากขาตธรรม เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้วและเป็น สนฺทิฏฐิโก ผู้ปฏิบัติจะเห็นด้วยตน และเป็น อกาลิโก ผู้ปฏิบัติไม่ต้องอ้างกาล เพราะตนมีอยู่ทุกเมื่อ และเป็น เอหิปสฺสิโก ผู้ปฏิบัติอาจท้าทายอวดเขาได้ เพราะเป็นของจริง และเป็น โอปนยิโก ผู้ปฏิบัติอาจน้อมเข้ามาสู่ตนได้ เป็น ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ ผู้รู้ คือผู้ปฏิบัติจะพึงรู้แจ้งจำเพาะที่ตน ได้แสดงธรรมรัตนกถาโดยทางวิปัสสนานัยพอเป็นทางบำรุงสติปัญญาของพุทธบริษัท

    เมื่อท่านทั้งหลายได้สดับแล้ว พึงโยนิโสมนสิการ แล้วอุตสาหะประพฤติปฏิบัติก็จักได้รับความงอกงามในพระพุทธศาสนา โดยนัยดังแสดงมา ด้วยประการฉะนี้

    [​IMG]
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 22 กุมภาพันธ์ 2010
  2. ธัชกร

    ธัชกร เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    267
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +3,040
    ลักษณะแห่งพระปรมัตถธรรม

    [​IMG]


    พระธรรมเทศนาโดย


    พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)


    ตีพิมพ์ใน วารสาร ธรรมจักษุ ปีที่ ๘๒ ฉบับที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๔๑


    [​IMG]

    ระเบียบแสดงธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อยังทรงพระชนม์ชีพอยู่นั้น มักแสดงสังเวคกถา เพื่อให้เกิดความสลดใจได้ความสังเวชเลยก่อน แล้วจึงทรงแสดงทางปฏิบัติมีทาน ศลเป็นต้นไปให้ผู้ฟังเกิดความเลื่อมใส มีความอุตสาหะ ตั้งใจประพฤติปฏิบัติตาม ในสังเวคปริยายนั้น มักแสดง ชาติ ความเกิด ชรา ความแก่ พยาธิ ความเจ็บไข้ มรณะ ความตาย ๔ประการนี้ว่าเป็นของครอบงำสัตว์อยู่ทั่วโลก โลกคือหมู่สัตว์ตกอยู่ในอำนาจ ไม่มีทางจะหลีกเลี่ยงแก้ไขด้วยประการทั้งปวง ให้ผู้ฟังเกิดความสังเวชสลดใจเลยก่อน บางสมัยแสดงว่า รูปํ อนิจฺจํ รูปไม่เที่ยง เวทนา อนิจฺจา เวทนาความเสวยอารมณ์ สุข ทุกข์ อุเบกขา ไม่เที่ยง สญฺญา อนิจฺจา ความจำได้หมายรู้ ไม่เที่ยง สงฺขารา อนิจฺจา สังขารความคิดนึกตรึกตรองไมเที่ยง วิญฺญาณํ อนิจฺจํ ความรู้อารมณ์ไม่เที่ยง ยทนิจฺจํ ตํ ทุกฺขํ สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์สัตว์ทนได้ด้วยยาก ยํ ทุกฺขํ ตํ อนตํตา สิ่งใดไมเที่ยงเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตนของเรา อย่างนี้เป็นพระโอวาทอันแพร่หลายในพุทธศาสนา เป็นพหุลานุโยค คือมักแสดงโดยมาก เพื่อให้ผู้ฟังเกิดความสังเวชสลดใจ แล้วจะได้แสวงหาสิ่งที่เที่ยงถาวร ควรตนจะยึดเอาเป็นที่พึ่งได้

    ส่วนทางให้เกิดความเลื่อมใสนั้น ดังทรงแสดงทาน การบริจาคให้สำเร็จผลแก่ทายกและปฏิคาหกอย่างนี้ ๆ ศีลที่บุคคลมารักษาด้วยดีแล้ว จักอำนวยให้ได้รับความสุขอย่างนี้ ๆ ภาวนา ถ้าบุคคลทำให้เกิดให้มีในตนแล้ว จักอำนวยให้ได้รับความสุขอย่างนี้ และจักได้รับความอุ่นใจ เห็นว่าตนมีที่พึ่งอันมั่นคงถาวรอันตนได้แล้วดังนี้ หรือแสดงพระพุทธคุณพระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ซึ่งเป็นอัศจรรย์น่าเลื่อมใสด้วยอาการอย่างนี้ ถ้าน้อมพระคุณนั้น ๆ เข้ามาในตน คือกระทำให้พระคุณนั้นมามีขึ้นในตน จะได้รับผลคือความสุขสำราญเบิกบานใจ ด้วยอาการอย่างนี้ ๆ พึงเข้าใจวิธีทางเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าไว้สำหรับใจของตนด้วยประการ ฉะนี้

    ในวันก่อนได้แสดงประเภทแห่งพระวินัยพอเป็นทางเข้าใจของพุทธบริษัทไว้แล้ว วันนี้จะแสดงพระปรมัตถ์คือพระอภิธรรมปิฎก ยกมาแต่พอเป็นอุทาหรณ์เพื่อให้พุทธบริษัทรู้จักปรมัตถธรรมซึ่งมีอยู่ในพระคัมภีร์ หรือมีอยู่ในตนว่ามีลักษณะอาการอย่างนี้ ๆ

    ในคัมภีร์อภิธรรมสังคิณีซึ่งเป็นเบื้องต้นแห่งพระอภิธรรมปิฎก ยก กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา อพฺยากตา ธมฺมา ขึ้นเป็นหลัก แล้วจึงแจกออกไปเป็นชั้น ๆ ให้พระโยคาพจรกุลบุตรพึงกำหนดคำที่ว่า ธรรม นั้นเป็นชื่อของสภาวะอันหนึ่ง มีอันเดียว ที่มากนั้นมากด้วยอาการที่เรียกว่า คุณธรรม คือเป็นคุณของธรรมเหมือนตัวอย่างกุศล อกุศล อัพยากฤต ไม่ใช่ตัวธรรม เป็นคุณของธรรม หรือจะว่าเป็นลักษณะ เป็นอาการ เป็นกิริยาของธรรมก็ได้ จะพูดแต่เพียงว่าอาการ ให้พึงเข้าใจกันเหมือนอย่างคำที่ว่าขันธ์ก็มีนัยอย่างเดียวกัน เป็นชื่อแห่งสภาวะอันหนึ่งมีอันเดียวเท่านั้น ยกเอารูป เวทนา สัญญา สังขารวิญญาณ มาสวมเข้า จึงเป็นขันธ์ ๕ รูป เวทนาสัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ชื่อว่า คุณธรรม ถ้าเอาไปสวมใส่ธรรม ก็ชื่อว่า รูปธรรม เวทนาธรรม สัญญาธรรม สังขารธรรม วิญญาณธรรม ถ้าเอาไปสวมใส่ขันธ์ ก็ชื่อว่า รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ย่นลงให้สั้นก็คือรูป ๑ นาม ๑ เรียกว่า นามรูป นามรูปก็เป็นอาการของธรรม ถ้าเอาไปสวมใส่ธรรมก็ชื่อว่า รูปธรรม นามธรรม
    ต่อนี้จักแจกรูปธรรม นามธรรมให้กว้างออกไป ส่วนรูปธรรมคงไว้เป็น ๑ ส่วนนามธรรมแจกออกเป็น ๔ คือ เวทนา ๑ สัญญา ๑ สังขาร ๑ วิญญาณ ๑.

    ต่อนี้จักกระจายรูปนามนั้นให้กว้างออกไปอีก รูปหนึ่งนั้นแหละ แจกออกตามอาการเป็นรูป ๒๘ คือเป็น
    มหาภูตรูป ๔ ได้แก่ ดิน น้ำ ไฟ ลม

    อุปาทายรูป คือ รูปที่อาศัยมหาภูตรูปอีก ๒๔ จัดเป็น ปสาทรูป ๕ โคจรรูป ๔ ภาวรูป ๒ ทหยรูป ๑ ชีวิตรูป ๑ อาหารรูป ๑ วิญญัติรูป ๒ วิการรูป ๔ ลักขณรูป ๔ รวมเป็น ๒๔

    แจกนามทั้ง ๔ นั้นให้มากออกไป

    แจกเวทนาเป็น ๕ คือ สุข ทุกข์ โสมนัส โทมนัส อุเบกขา อาศัยทวาร ๕ คือ เกิดแต่จักขุทวาร โสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร กายทวารทวารละ ๕ ๆ เป็นเวทนา ๒๕

    แจกสัญญาเป็น ๖ คือหมายอารมณ์ ๖ รูป เสียง กลิ่นรส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์
    แจกสังขารเป็น ๕๒ คืออัญญสมานาเจตสิก ๑๓ โสภณเจตสิก ๒๕ อกุศลเจตสิก ๑๔
    แจกวิญญาณออกเป็น ๑๒๑ คือ กามาวจรจิต ๕๓ รูปาวจรจิต ๓๒ อรูปาวจรจิ ต ๑๒ โลกุตตรจิต ๒๔ รวมเป็น ๑๒๑ เรียกว่าจิต คือวิญญาณนั่นเอง

    ยกมาแสดงพอเป็นอุทาหรณ์ เพื่อจะได้เข้าใจอภิธรรมปิฎก ที่ท่านแสดงว่าเป็นปรมัตถธรรม ตัดใจความให้สั้น ธรรมที่พุทธบริษัทประพฤติตามอยู่ทุกวันนี้ ก็เป็นปรมัตถ์ทั้งนั้น ในคัมภีร์อภิธรรมท่านไม่ได้ยกขึ้นสู่ปุคคลาธิษฐาน ท่านแสดงเป็นโครงกลาง ๆ ไว้เท่านั้น ธรรมเหล่านั้นเป็นของละเอียด สุขม แสดงเป็นธัมมาธิษฐาน เหมือนอย่าง
    สติปัฏฐานทั้ง ๔ คือ กาย ๑ เวทนา ๑ จิต ๑ ธรรม ๑

    สัมมัปปธาน ๔ เพียรกำจัดบาปที่ยังไม่มีไม่ให้มีขึ้น ๑ เพียรกำจัดบาปที่มีอยู่แล้วให้หมดไป ๑ เพียรบำรุงบุญที่ยังไม่เคยมีให้มีขึ้น ๑ เพียรบำรุงบุญที่มีอยู่แล้วให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้น ๑.

    อิทธิบาท ๔ ฉันทะ ความพอใจ ๑ วิริยะ ความเพียรกล้า ๑ จิตตะ ความตั้งใจมั่น ๑ วิมังสา ความตรวจตรอง ๑ ผู้ประสงค์จะให้ธรรมประเภทใดสำเร็จ ต้องใช้อิทธิบาททั้ง ๔ นี้เป็นกำลัง

    อินทรีย์ ๕ คือ ศรัทธา ๑ วิริยะ ๑ สติ ๑ สมาธิ ๑ ปัญญา ๑ คือบำรุงให้เป็นใหญ่ ชื่อว่า อินทรีย์พละ ๕
    โพชฌงค์ ๗ คือ สติ ๑ ธัมมวิจยะ ๑ วิริยะ ๑ ปีติ ๑ ปัสสัทธิ ๑ สมาธิ ๑ อุเบกขา ๑ ทำให้สามัคคีพรักพร้อมกันขึ้น ชื่อว่า โพชฌงค์

    อัฏฐังคิกมรรค ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ ๑ สัมมาสังกัปโป ๑ สัมมาวาจา ๑ สัมมากัมมันโต ๑ สัมมาอาชีโว ๑ สัมมาวายาโม ๑ สัมมาสติ ๑ สัมมาสมาธิ ๑ ชื่อว่าอริยมรรค

    ธรรมทั้งหลายเหล่านี้มีมาในคัมภีร์พระอภิธรรมทั้งนั้น แสดงเป็นกลาง ๆเรียกว่าธัมมาธิษฐาน เป็นปรมัตถธรรมทั้งสิ้น ถ้ายกขึ้นสู่ปุคคลาธิษฐานเป็นพระสูตรทั้งสิ้น

    จะยกปรมัตถ์ขึ้นสู่ปุคคลาธิษฐานให้เห็นเป็นพระสูตรเป็นตัวอย่าง เหมือนสติปัฏฐาน ๔ กาย ๑ เวทนา ๑ จิต ๑ ธรรม ๑ แสดงไว้เป็นกลาง ๆ อย่างนี้เป็นปรมัตถธรรม ถ้ายกขึ้นสู่บุคคลเป็นพระสูตร ชื่อว่า สติปัฏฐานสูตร

    ยกขึ้นสู่บุคคลคือยกขึ้นสู่กายของเรานี้ คำที่ว่ากายนั้น หมายที่ประชุมธาตุดิน น้ำไฟ ลม ได้แก่สกลกายของเรานี้ ในอาการ ๓๒ มีเกสา โลมา เป็นต้น ถึง มัตถลุงคัง แยกเป็นดิน ๒๐ แยกเป็นน้ำ ๑๒ เพิ่มไฟลมเข้าอีก แยกเป็นไฟ ๔ แยกเป็นลม ๖ ชื่อว่า กาโย

    ยกเวทนาขึ้นสู่บุคคล คือสกลกายนี้ ชื่อว่า เวทนา คือ มีสุขอย่างหนึ่ง มีทุกข์อย่างหนึ่ง มีไม่ทุกข์ไม่สุขอย่างหนึ่งประจำอยู่ที่สกลกายนี้เสมอ กายนี้จึงชื่อว่าเวทนา

    ยกจิตขึ้นสู่บุคคล คำที่ว่า จิตนั้น ก็คือใจของเราที่รู้คิดรู้นึก รู้สกลกายอวัยวะนี้เอง ชื่อว่า จิต

    ยกธรรมขึ้นสู่บุคคล ธรรมนั้นได้แก่ธรรมดา เขาเป็นอยู่อย่างนั้น เหมือนความประพฤติดี ความประพฤติชั่ว ดีชั่วเป็นตัวธรรมดา ถ้าบุคคลประพฤติดีก็เป็นบุญ ถ้าประพฤติชั่วก็เป็นบาปบุญ บาป ก็เป็นธรรมดา ยกธรรมขึ้นสู่บุคคลเป็นปุคคลาธิษฐาน พึงเข้าใจความอย่างนี้

    จะยกธรรมประจำกายขึ้นมาแสดงอีกส่วนหนึ่ง กาย เวทนา จิต ธรรม รวมกันเข้าชื่อว่าบุคคล ยกสติขึ้นสู่กาย ขึ้นสู่เวทนา ขึ้นสู่จิต ขึ้นสู่ธรรม ชื่อว่ายกขึ้นสู่บุคคล เป็นปุคคลาธิษฐานอย่างนี้เป็นตัวอย่าง ชื่อว่าพระสูตร

    รวมเนื้อความให้สั้นเข้า พึงสำเหนียกให้ตั้งใจว่า พระธรรม คือ พระสูตร พระวินัย พระปรมัตถ์ มีอยู่ในสกลกายของเรานี้ครบทุกประเภท คือ ห่อกายของเรานี้มิดชิดทีเดียว จึงเป็นปริยัติธรรม เราต้องจำทรงท่องบ่น คือให้รู้ไว้ว่า นี้พระสูตร นี้พระวินัย นี้พระปรมัตถ์ เมื่อเข้าใจแล้วก็เป็นปริยัติธรรมภายในขึ้น พระปริยัติเป็นเหตุส่องทางให้เราปฏิบัติ คือให้ดำเนินตามพระวินัยนั้นเอง ส่วนพระวินัยนั้นได้แสดงมามากแล้ว ไม่ใช่อื่น ได้แก่ศีล สมาธิ ปัญญานั้นเอง

    ศีล สมาธิ ปัญญาเป็นองค์อริยมรรค มรรคเป็นเครื่องประหารกิเลส กิเลสนั้นที่เป็นรากเป็นมูลก็คือโลภะ โทสะ โมหะ เหลือนั้นกิ่งก้านสาขาของมูล ๓ นี้เอง เมื่อบำเพ็ญกองศีลให้มีขึ้นจนเป็นสีลขันธ์ คือสกลกายนี้เรียกว่าขันธ์ เมื่อสกลกายนี้ทรงศีลไว้ ก็ชื่อว่าสีลขันธ์ให้เป็นอธิศีลคือเป็นศีลอย่างสูง เป็นอริยกันตศีล มีอำนาจปราบโลภะ โทสะ โมหะส่วนหยาบ ที่เผล็ดออกมาทางกาย ทางวาจา ให้หมดอำนาจ ไม่สามารถจะงอกงามขึ้นได้ แล้วตั้งใจบำรุงสมาธิให้เป็นสมาธิขันธ์ คือให้รู้สึกว่าขันธ์อันนี้ทรงไว้ซึ่งสมาธิจนเป็นอัปปนาจิต ชื่อว่าอธิจิต มีอำนาจปราบโลภะ โทสะ โมหะที่เป็นกิเลสอย่างกลาง เกี่ยวเกาะอยู่กับจิตมีกามฉันท์เป็นต้น ให้หมดอำนาจไม่สามารถจะงอกงามขึ้นได้ แล้วตั้งใจบำรุงกองปัญญาให้เป็นปัญญาขันธ์ คือให้รู้สึกว่าขันธ์อันนี้ทรงไว้ซึ่งปัญญาคือ วุฏฐานคามินีวิปัสสนาปัญญา เป็นปัญญาชำแรกกิเลสอย่างละเอียดคือตัวอวิชชานุสัยเรียกว่า อธิปัญญา มีอำนาจปราบอนุสัยสังกิเลสให้หมดอำนาจไป

    ส่วนปฏิเวธธรรมเป็นผลของปฏิบัติธรรมผู้บำเพ็ญกองศีลเต็มที่ กิเลสซึ่งเป็นข้าศึกของศีลดับไป ก็รู้สึกได้รับผลคือความสุขสำราญใจเป็นปฏิเวธธรรมในชั้นศีล เมื่อได้บำเพ็ญกองสมาธิให้เต็มที่ กิเลสที่เป็นข้าศึกของสมาธิดับไป ผู้ปฏิบัติก็รู้สึกได้รับผลคือความเย็นใจ เป็นปฏิเวธธรรมในชั้นสมาธิ เมื่อบำเพ็ญกองปัญญา ให้เต็มที่ กิเลสซึ่งเป็นข้าศึกของปัญญาก็ดับไป ผู้ปฏิบัติก็รู้สึกได้รับผลคือความสิ้นสงสัยในกิเลส ได้รับความสำราญบานใจ เป็นปฏิเวธธรรมในชั้นปัญญา

    การแสดงปรมัตถธรรมไว้เป็นหลัก แล้วขยายออกมาเป็นพระสูตร พระวินัย ย่นลงเป็นปริยัติธรรม ส่องความถึงปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรมส่องความถึงปฏิเวธธรรมไว้เพียงเท่านี้ พอเป็นเค้าทางแก่โยคาพจรกุลบุตรผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร เพื่อจะได้ตรวจตรองดำเนินตาม จะได้ไม่เป็นคนงมงาย ปฏิบัติอย่าให้เสียหลักพระปริยัติธรรม ให้ตรวจตรองจับเอาอาหารแห่งพระสูตร พระวินัย พระปรมัตถ์ พระปริยัติ พระปฏิบัติ พระปฏิเวธ ให้ชัดใจทั้งภายนอกและภายใน เมื่อฟังพระสูตร พระวินัย พระปรมัตถ์ภายนอก ให้เอาพระสูตร พระวินัย พระปรมัตถ์ภายในออกฟัง นอกมีเท่าใด ในก็มีเท่านั้น

    พระธรรมที่แสดงมานี้ล้วนเป็น สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม คือเป็นพระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเทศนาดีแล้ว คือไพเราะในเบื้องต้นคือศีล ไพเราะในท่ามกลางคือสมาธิ ไพเราะในที่สุดคือปัญญา และเป็น สนฺทิฏฺฐิโก ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นด้วยตนเอง และเป็น อกาลิโก ผู้ปฏิบัติไม่ต้องอ้างกาลอ้างเวลา เพราะพระธรรมมีอยู่ทุกเมื่อ และเป็น เอหิปสฺสิโก ผู้ปฏิบัติอาจท้าทายร้องเรียกให้ผู้อื่นมาดูได้เพราะเป็นของมีจริง และเป็น โอปนยิโก ผู้ปฏิบัติอาจน้อมเข้าสู่ตน คือให้มีขึ้นในตนได้ และเป็น ปจฺจตฺตํ ผู้รู้ทั้งหลายคือผู้ปฏิบัติจะพึงรู้แจ้งจำเพาะที่ตน ไม่ต้องเป็นกังวลไปถามผู้อื่น

    เมื่อพุทธบริษัทได้สดับธรรมปริยายดังแสดงมานี้ พึงมนสิการแล้วตั้งใจประพฤติปฏิบัติตาม ก็จักมีแต่ความเจริญงอกงามในศาสนธรรมคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าทุกทิพาราตรีกาล
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 23 กุมภาพันธ์ 2010
  3. datchanee

    datchanee เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 มกราคม 2009
    โพสต์:
    2,947
    ค่าพลัง:
    +1,276
  4. ธัชกร

    ธัชกร เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    267
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +3,040
    ทางออกจากโลกโดยทางพระวิสุทธิมรรค

    [​IMG]

    พระธรรมเทศนาโดย


    พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)


    ตีพิมพ์ใน วารสาร ธรรมจักษุ ปีที่ ๘๒ ฉบับที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๔๑

    [​IMG]
    การที่ท่านทั้งหลายได้สลัดตัดกังวล ในกิจการงานแห่งเคหะสถานบ้านเรือน มายังที่ประชุมนี้ สำเร็จมาแต่ความไม่ประมาท ปรารถนาจะทำตนให้เป็นที่พึ่ง คือตั้งใจจะประกอบการกุศลส่วนที่ตนยังไม่เคยมีให้มีขึ้น และเพื่อจะบำรุงบุญกุศลที่ตนได้ประพฤติมาแล้วให้เจริญภิยโยยิ่งขึ้นตามลำดับ ความจริงการที่จักได้อัตตภาพมาเป็นมนุษย์ ท่านแสดงว่าเป็นของแสนยาก เพราะเป็นชาติที่อุดม อาจที่จักประกอบคุณงามความดีได้ทุกประเภท ชีวิตความเป็นอยู่ตลอดมาถึงวัยนี้ขัยนี้ ก็เป็นของแสนยากแสนลำบาก ต้องฝ่าฝืนอุปสรรคขัดข้องมาโดยลำดับ การฟังธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าก็แสนยาก ต้องมีศรัทธาความเชื่อพอ จึงจะฟังได้ ทั้งเป็นของละเอียด ยากที่จักถือเอาเนื้อความได้ พุทธบุคคลทั้งหลายจะเกิดขึ้นมาในโลกแต่ละครั้งแต่ละคราวก็เป็นของแสนยาก เพราะต้องบำเพ็ญพระบารมีทั้ง ๑๐ ประการ มีทาน ศีล เป็นต้น บริบูรณ์แล้วจึงจะมาเกิดขึ้นได้ ในพวกเราทั้งหลายทุกวันนี้ ของหาได้ด้วยยากทั้ง ๔ ประการนี้ ได้มาถึงจำเพาะหน้าแล้ว มิหนำซ้ำเกิดในตระกูลอันเป็นสัมมาทิฏฐิ ส่วนตนก็มีศรัทธา เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม และเชื่อคุณพระรัตนตรัยว่าเป็นสรณะที่พึ่งได้ แต่มักพูดกันโดยมากว่า ความเพียรของตนยังอ่อน ถ้าเช่นนั้นก็ควรปรารภความเพียรให้หนักขึ้น เอาตัวออกจากความทุกข์ได้ในชาตินี้เป็นดี เพราะชาติหน้า หมายไม่ได้ว่าจะได้อัตตภาพเป็นอะไร จึงจะได้อัตตภาพเป็นมนุษย์อีก จะวางใจว่าเราคงมีศรัทธาเหมือนชาตินี้ไม่ได้ เพราะข้ามภพข้ามชาติไปแล้ว ตั้งความเพียรเอาตัวรอดเสียในชาตินี้เป็นดี เพราะทางออกจากทุกข์ ก็พากันเข้าใจอยู่โดยมากแล้ว

    บัดนี้ จักแสดงพระธรรมคุณ ถือเอาเนื้อความในบทว่า สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม นั้นแสดงต่อไป จักแสดงปฏิบัติธรรมกับปฏิเวธธรรม ทางออกจากโลก หรือทางออกจากทุกข์โดยทางวิสุทธิมรรค ในวันพระก่อน ได้แสนดงทางออกจากโลกโดยทางพระ อัฏฐังคิกมรรค วันนี้จะแสดงโดยทางวิสุทธิมรรค ทางทั้งสองนี้เมื่อตรงได้ความแล้ว ก็คงกลมเกลียวลงรอยเดียวกัน ต่างแต่อัฏฐังคิกมรรคมีองค์ ๘ วิสุทธิมรรคมีองค์ ๗ เท่านั้น ในองค์ทั้ง ๗ ของวิสุทธิมรรคนั้น คือ

    สีลวิสุทฺธิ ความบริสุทธิ์ของศีล ๑
    จิตฺตวิสุทฺธิ ความบริสุทธิ์ของจิต ๑
    กงฺขาวิตรณวิสุทฺธิ ความบริสุทธิ์แห่งการพ้นความสงสัยเสียได้ ๑
    มคฺคามคฺคญาณทสฺสนวิสุทฺธิ ความบริสุทธิ์แห่งความรู้ความเห็นว่า นี่ทาง นี่ใช่ทาง ๑
    ปฏิปทาญาณทสฺสนวิสุทฺธิ ความบริสุทธิ์แห่งความรู้ความเห็นว่า นี่ปฏิปทาทางปฏิบัติตรง ๑
    ญาณทสฺสนวิสุทฺธิ ความบริสุทธิ์แห่งความรู้ความเห็นอันสำเร็จมาแต่ปฏิปทา ชื่อว่าญาณทัสสนวิสุทธิ์ ๑
    ญาณทัสสนวิสุทธิ์นี้ท่านแสดงว่าเป็นมรรค ตามนัยอภิธัมมัตถสังคหะว่า ญาณทสฺสนวิสุทธิ นามมคฺโค ปวุจฺจติ ความว่า ญาณทัสสนวิสุทธิ์นี้ ท่านกล่าวว่าเป็นชื่อของมรรคดังนี้

    จักอธิบายวิสุทธิทั้ง ๗ นั้นต่อไป สำหรับเป็นทางศึกษา ความจริงก็คือปฏิบัติธรรม คือ ศีล สมาธิ ปัญญานั้นเอง จึงไม่แก่งแย่งกันกับอัฏฐังคิกมรรค
    สีลวิสุทธิก็คือแสดงกองศีล จิตตวิสุทธิก็คือแสดงกองสมาธิ ทิฏฐิวิสุทธิถึงญาณทัสสนวิสุทธิก็คือแสดงกองปัญญา

    สีลวิสุทธิท่านหมายถึงอริยกันตศีล คือศีลในอริยมรรค คือ สมฺมาวาจา สมฺมากมฺมนฺโต สมฺมาอาชีโว เหมือนกัน ตั้งเจตนาให้เป็นสมุทเฉททวิรัติก็นับว่าเป็นสีลวิสุทธิได้ จิตตวิสุทธินั้นก็หมายอัปปนาจิต คือตั้งใจบำรุงสติปัฏฐาน อันสัมปยุตตด้วยสัมมาวายามะจนบรรลุอัปปนาจิต ชื่อว่า จิตตวิสุทธิ

    ทิฏฐิวิสุทธินั้น ท่านหมายทิฏฐิที่ตรง เป็นองค์สัมมาทิฏฐิ คือเห็นว่าความดีความชั่วเป็นของมีจริง สัตว์ทำดีได้ดีจริง สัตว์ทำชั่วได้ชั่วจริง โลกนี้โลกหน้าเป็นของมีจริง มรรค ผล นิพพาน เป็นของมีจริง กันสัญญาวิปลาศออกเสียได้ สัญญาวิปลาสนั้น ชื่อว่า มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดเหมือนอย่างผู้เห็นว่าตายแล้วสูญ ไม่มีอะไรไปเกิดอีก ข้อนี้พึงกำหนดดูธรรมชาติ สิ่งใดซึ่งเป็นของมีอยู่แล้วและจักสูญไป สิ่งนั้นจะพึงมีได้ด้วยเหตุไร

    บางพวกเห็นว่า ตายแล้วเกิดอีก เคยเกิดเป็นสิ่งใดก็ต้องเป็นสิ่งนั้น เหมือนอย่างผู้เกิดเป็นมนุษย์ก็จักเกิดเป็นมนุษย์ร่ำไป เคยเป็นสตรีก็จักเป็นสตรีร่ำไป เคยเป็นสัตว์ประเภทใด ก็จะต้องเป็นสัตว์ประเภทนั้นร่ำไป ดังนี้ ข้อนี้พึงกำหนดดูให้เข้าใจ ส่วนรูปร่างเหมือนอย่างเป็นมนุษย์ หรือเป็นสัตว์ต่าง ๆ นั้น เป็นภพ เป็นชาติ ส่วนหนึ่งไม่กลับกลายคงที่ แต่สัตว์ผู้เป็นเจ้าของภพชาตินั้นอีกส่วนหนึ่ง ส่วนสัตว์นั้นจะไปถือเอาภพใดชาติใดก็ได้ สุดแต่กุศลจะนำไป

    บางพวกเห็นว่า บุญไม่มี บาปไม่มี เหตุไม่มี ผลไม่มี ดีชั่วเป็นเองทั้งนั้น อย่างนี้ชื่อว่า นัตถิกทิฏฐิ บางพวกเห็นว่าความไม่ทำ เป็นหมดกิเลส ทำสิ่งไรเป็นกิเลสทั้งสิ้น อย่างนี้ชื่อว่า อกิริยทิฏฐิ

    เมื่อกันทิฏฐิวิปลาสออกได้แล้วเป็นผู้เชื่อกรรมเชื่อผลโดยแน่แท้ ตั้งใจปฏิบัติตามพุทธโอวาท เจริญสมถะวิปัสสนาจริง ๆ แต่อย่างนั้น สัญญาวิปลาสยังแอบเข้าไปเป็นเจ้าของเสียอีก ทำให้ทิฏฐิไม่บริสุทธิ์ได้ เหมือนอย่างผู้ยกสังขารขึ้นสู่พระไตรลักษณ์ เห็นสังขารเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาได้แล้ว ก็ยังไม่พ้นวิปลาส เพราะยังเห็นซีกเดียว เห็นแต่เขา ไม่เห็นเรา

    ถ้าจะให้เป็นทิฏฐิวิสุทธิ ต้องให้เห็นเขาด้วย เห็นเราด้วย เห็นไม่ใช่เขาด้วย เห็นไม่ใช่เราด้วย จึงเป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นทิฏฐิวิสุทธิ

    ส่วนกังขาวิตรณวิสุทธิ ความบริสุทธิ์แห่งการข้ามความสงสัยนั้นคือทิฏฐิวิสุทธิ ชำระวิปลาสเสียได้แล้ว คือเห็นสรรพสังขารไม่ใช่เขา ไม่ใช่เรา คือเห็นปัจจุบันธรรมชัดขึ้น เพราะรู้เท่าสังขาร คือที่รู้ว่าร่างกายจิตใจของตนเป็นสังขารนั้น ไม่ใช่วิชชาของเราเอง จำเขามาทั้งนั้น ทั้งพระไตรลักษณ์ที่กาความว่า สังขารไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ก็เป็นสัญญาอดีต จำเขามาทั้งนั้น ตกลงก็คือสังขารผู้ถูกไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ก็สัญญาอดีต ส่วนตัวไม่เที่ยว ตัวทุกข์ ตัวอนัตตาเอง ก็สัญญาอดีตเหมือนกัน

    เมื่อเห็นธรรมที่เป็นปัจจุบันเต็มที่ สัญญาอดีตดับหมด คือสังขารผู้จำเลยก็ดับ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ผู้โจทก์ก็ดับ ยังเหลือแต่ปัจจุบันธรรม เป็นธรรมอันแน่นอน เป็นธรรมอันไม่กำเริบ เป็นผู้สิ้นสงสัยในอดีตอนาคตด้วย เห็นปัจจุบันธรรมนี้ ชื่อว่า กังขาวิตรณวิสุทธิ ส่วนมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิสั้น เป็นผลสำเร็จมาแต่ กังขาวิตรณวิสุทธิเหมือนกัน คือสิ้นสงสัยในอดีตอนาคต เห็นปัจจุบันธรรมเป็นตนแล้ว ก็ตั้งหน้าสำรวจทางเดินต่อไป ให้รู้แน่ว่า นี่ทางผิด นี่ทางถูก เมื่อสมาธิฟอกจิตให้ผ่องใสแล้ว จักได้ประสบวิปัสสนูปกิเลส ๑๐ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง

    โอภาโส คือเกิดแสงสว่างอย่างยิ่งที่ไม่เคยได้พบได้เห็น

    ปีติ ความอิ่มกาย อิ่มใจ
    ปสฺสทฺธิ ความสงบใจ
    อธิมกฺโข ความน้อมใจเชื่อต่อพระนิพพาน
    ปคฺคโห ความประคองอารมณ์
    สุขํ ความสุข
    ญาณํ ส่ทรู้
    อุปฏฺฐานํ ความเพียรเป็นไปมั่น
    อุเปกฺขา ความเพิกเฉยต่ออารมณ์
    นิกนฺติ ความรักใคร่ในพระนิพพาน

    แต่ละอย่าง ๆ ล้วนเป็นของประณีต ทำให้พิศวงงงงวยไปได้ ให้สำคัญว่าตนเป็นผู้สำเร็จ ความจริงเป็นกิเลส เครื่องกั้นจิตมิให้สำเร็จพระนิพพาน เมื่อไต่สวนเห็นความผิดอย่างนี้ก็เพ่งหาทางที่ถูกต่อไป เห็นวิปัสสนาญาณ ๑๐ ประการ ว่าเป็นทางที่ถูก การพิจารณารู้แน่ว่า นี่ทางผิด นี่ทางถูก เพียงเท่านี้ ชื่อว่า มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ส่วน ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธินั้น เป็นผลสำเร็จมาแต่มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ คือ เมื่อวินิจฉัยตกลงว่า นี่ทาง ก็ลงมือดำเนิน คือน้อมจิตสู่วิปัสสนญาณ ยกสังขารขึ้นเป็นอารมณ์ เห็นความเกิดดับแห่งสังขารชัดใจ ชื่อว่าอุทยัพพยญาณ แล้วพิจารณาแต่ความดับอย่างเดียวเป็นภังคญาณ แล้วพิจารณาเห็นสังขารเต็มไปด้วยโทษ เป็นอาทีนวญาณ แล้วเกิดความเบื่อหน่ายในสังขารเป็นนิพพิทาญาณ แล้วเกิดความสะดุ้งหวาดต่อสังขารเป็นภยญาณ แล้วหาทางหนีออกจากสังขารเป็น มุญจิตุกัมยตาญาณแล้วพิจารณาหาทางออกเป็นปฏิสังขานุปัสสนาญาณ เมื่อพิจารณาเห็นไม่มีทางออกที่จะออกได้ เกิดเพิกเฉยต่อสังขาร ชื่อว่า สังขารุเปกขาญาณ ถ้ากำลังปัญญาน้อย มาถึงเพียงแค่นี้แล้วก็ถอย ยกจิตให้สูงขึ้นไปอีกไม่ได้

    พระโยคาวจรเมื่อเห็นแต่เพียงเพิกเฉยต่อสังขาร เห็นสังขารเป็นแต่เพียง อนิจฺจํ ทุกขํ อนตฺตา เท่านี้ หาพ้นจากโลกไม่ จึงกลับพิจารณาญาณทั้ง ๘ นั้น เป็นอนุโลมปฏิโลม ยกขึ้นสู่ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เป็นสัจจานุโลมิกญาณ เมื่อสัจจานุโลมิกญาณแก่กล้า มีกำลังเต็มที่ ก็แลเห็นโลกุตรธรรม เรียกว่า โคตรภูญาณ จะได้จะเสียก็โคตรภูญาณนี้เอง ถ้ากำลังน้อยก็กลับหลัง ถ้ากำลังมากก็ไปหน้า ถึงโลกุตระทีเดียว โลกิยวิปัสสนาเห็นโลกุตระมีแต่โคตรภูญาณอย่างเดียว การที่ยกวิปัสสนาขั้นต่ำขึ้นสู่อริยสัจ ๔ เป็นข้อสำคัญ คือให้เห็นสังขารเป็นตัวทุกข์ ให้เห็นความไม่รู้เท่าสังขารเป็นสมุทัย ความรู้เท่าสังขารแล้วสังขารดับเป็นนิโรธ ปัญญาที่รู้อาการแห่งสังขารเป็นทุกข์ เป็นสมุทัย เป็นนิโรธ ชื่อว่า สัมมาทิฏฐิ เป็นมรรค

    การที่แสดงอริยสัจ ได้เคยแสดงขยายออกเป็นหลายประเภท ค่าที่ไม่ได้ไต่สวนให้ได้ความจริงจัง ก็ถือเอาเนื้อความไม่ได้ บัดนี้ จะตั้งปัญหาไว้ให้สักปัญหาหนึ่ง ทุกขอริยสัจนั้น จะบัญญัติลงที่กายที่ใจนี้หรือ ? สมุทัยอริยสัจก็ดีจะบัญญัติลงที่กายที่ใจนี้หรือ ? นิโรธอริยสัจก็ดีจะบัญญั๖ลงที่กายที่ใจนี้หรือ ? มัคคอริยสัจก็ดีจะบัญญัติลงที่กายที่ใจนี้หรือ ? ถ้าบัญญัติลงในที่อื่นก็แล้วไป ถ้าบัญญัติทุกข์ลงที่กายที่ใจ ถ้าบัญญัติสมุทัยลงที่กายที่ใจ ถ้าบัญญัตินิโรธลงที่กายที่ใจ ถ้าบัญญัติมรรคลงที่กายที่ใจ เมื่อกายและใจยังมีอยู่ ทุกข์จะดับได้ด้วยอย่างไร สมุทัยจะดับได้ด้วยอย่างไร นิโรธจะดับได้ด้วยอย่างไร มรรคจะดับเป็นผลขึ้นด้วยอย่างไร ปัญหานี้สำหรับนำไปตรอง ได้แสดงทางออกจากโลกด้วยวิสุทธิมรรคพอเป็นวิธีทางดำเนินของพระโยคาวจรผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสารพอเป็นสังเขปไว้เพียงเท่านี้

    ทางวิสุทธิมรรคที่แสดงมานี้ก็เป็น สวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม เหมือนนัยหนหลัง และเป็น สนฺทิฏฐิโก ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นด้วยตนเอง และเป็น อกาลิโก ไม่ต้องอ้างกาล เพราะเป็นธรรมมีอยู่ทุกเมื่อ และเป็น เอหิปสฺสิโก อาจอวดผู้อื่นให้มาดูได้ เพราะเป็นของมีจริง และเป็น โอปนยิโก ควรน้อมเข้ามาสู่ตนได้ คือให้มีขึ้นในตน และเป็น ปจฺจตฺตํ ผู้รู้ทั้งหลายจะพึงรู้แจ้งจำเพาะที่ตน จึงเป็นของควรเชื่อได้ว่าเป็นพุทธโอวาทโดยไม่ต้องสงสัย ควรพุทธบริษัทจะกำหนดนำไปตรวจตรอง จนเกิดความบริสุทธิ์สิ้นสงสัยในพุทธโอวาท จักได้เป็นคนฉลาดในทางแห่งความสุข โดยนัยดังวิสัชนามา ด้วยประการฉะนี้
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 24 กุมภาพันธ์ 2010
  5. ธัชกร

    ธัชกร เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    267
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +3,040
    ทางออกจากโลกด้วยพระอัฏฐังคิกมรรค

    [​IMG]





    พระธรรมเทศนาโดย


    พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)


    ตีพิมพ์ใน วารสาร ธรรมจักษุ ปีที่ ๘๒ ฉบับที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๑


    [​IMG]
    ณ วันนี้เป็นวันอัฏฐมีดิถีที่ ๘ ค่ำแห่งปักขคณนา พุทธบริษัทได้พร้อมใจกันมายังสมาคมนี้ ก็เพื่อประโยชน์จะได้สดับตรับฟังพระธรรมเทศนาเป็นข้อสำคัญ เมื่อได้ปฏิบัติบุพพกิจในเบื้องต้น คือไหว้พระสวดมนต์ และสมาทานอุโบสถศีลและเบญจเวรวิรัติเสร็จแล้ว ต่อนี้พึงตั้งใจฟังพระธรรมเทศนา ตามนัยที่จักแสดงต่อไป และขอเตือนว่าให้ท่านทั้งหลายหมั่นอนุสรณ์คำนึงถึงคุณความดีที่ตนได้ประพฤติมาแล้ว ตั้งต้นแต่ตนได้เข้าวัดฟังธรรมมาจนวันนี้ ได้รับความสุขกายสุขใจด้วยข้อปฏิบัติอย่างไรบ้าง ทาน ศีล ภาวนา ของตนพอจะเป็นที่อุ่นใจได้แลหรือ ศีลกาย ศีลวาจาของตนสะอาดดีแลหรือ ถ้าเห็นคุณความดีที่ตนได้ประพฤติมาพอเป็นที่อุ่นใจได้ ก้ควรอิ่มใจว่าเราเกิดมาไม่เสียชาติ เราได้บำเพ็ญคุณความดีไว้ถึงเพียงนี้แล้ว แม้มรณภัยจะมาถึงวันใดเราก็จักไม่ให้เกิดความเดือดร้อนกินแหนง จะยอมตายด้วยดี ตามนิสัยที่เราหมดอำนาจที่จะต่อสู้เขาได้ ถ้าได้อย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ทำตนให้เป็นที่พึ่งแก่ตนได้ การหมั่นฟังธรรมย่อมทำตนให้เป็นคนองอาจกล้าหาญ เป็นอานิสงส์อย่างนี้ จึงเป็นกิจสำคัญควรยินดีอย่างยิ่ง

    บัดนี้ จักแสดงพระธรรมคุณต่ออนุสนธิกถา พรรณนาเนื้อความในบทว่า สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม นั้นต่อไป ส่วนพระสูตร พระวินัย พระปรมัตถ์ รวมลงในปริยัติธรรม ได้แสดงพอได้ใจความแล้ว บัดนี้ จักแสดงปฏิบัติธรรมกับปฏิเวธธรรมไปด้วยกัน เพราะเป็นเหตุเป็นผลกัน คือจักแสดง ทางออกจากโลก โดยทางพระอัฏฐังคิกมรรค ซึ่งเป็นมัชฌิมาปฏิปทา

    พระอัฏฐังคิกมรรคทั้ง ๘ นั้น ย่นลงเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา คือปฏิบัติธรรมนั้นเอง แต่วิธีแสดงพระอัฏฐังคิกมรรคไม่เหมือนที่อื่น ในที่มาอื่น ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ศีล สมาธิ ปัญญาตรง ๆ แสดงเหตุไปหาผล ส่วนพระอัฏฐังคิกมรรคนี้ พระองค์ทรงแสดงผลก่อนเหตุ คือทรงแสดงปัญญาก่อนแล้วจึงทรงแสดงศีล สมาธิ ซึ่งเป็นตัวเหตุ ณ ภายหลัง เห็นจะเป็นเพราะผู้รับเทศนา คือพระเบญจวัคคีย์ทั้ง ๕ เป็นผู้รับเทศนา พระเบญจวัคคีย์เป็นผู้มีศีล มีสมาธิ เต็มบริบูรณ์อยู่แล้ว จึงทรงแสดงปัญญาก่อน คือทรงแสดงผลสาวหาเหตุ ถึงพุทธบริษัทอย่างพวกเราทุกวันนี้ ศีลก็มีปริบูรณ์อยู่แล้ว สมาธิก็คือการตั้งใจฟังพระธรรมเทศนา มิให้ใจฟุ้งซ่านไปในที่อื่น ก็เป็นองค์สมาธิอยู่แล้ว ควรฟังปัญญาก่อนได้เหมือนกัน สมฺมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ สมฺมาสงฺกปฺโป ความดำริชอบ สงเคราะห์ลงในปัญญาขันธ์ สมฺมาวาจา เจตนาวิรัติทางวาจาชอบ สมฺมากมฺมนฺโต เจตนาวิรัติทางกายกรรมชอบ สมฺมาอาชีโว เจตนาวิรัติทางเลี้ยงชีพชอบ สงเคราะห์ลงในศีลขันธ์ สมฺมาวายาโม ความเพียรชอบ สมฺมาสติ ระลึกชอบ สมฺมาสมาธิ ตั้งจิตไว้เสมอชอบ สงเคราะห์ลงในสมาธิขันธ์

    บัดนี้จักอธิบายขยายเนื้อความขององค์มรรคทั้ง ๘ นั้นตามนิเทศและอัตโนมัติตามทางที่ได้ไต่สวนมาแล้ว เพื่อเป็นทางบำรุงปัญญาแห่งโยคาพจรเจ้าผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร

    ในองค์สัมมาทิฏฐิ ปัญญาความเห็นชอบนั้นตามนับแห่งนิเทศแสดงว่าเห็นทุกข์ เห็นสมุทัย เห็นนิโรธ เห็นมรรค ชื่อว่า สัมมาทิฏฐิ ต้องอธิบายเห็นทุกข์ เห็นที่ไหน ต้องเห็นที่สกลกายของตนนี้แหละ เพราะสกลกายนี้เต็มไปด้วยชาติ ความเกิด ชรา ความแก่ มรณะ ความตาย ประจำเต็มที่อยู่เสมอ ตั้งแต่แรกเกิดมาจนถึงที่สุดแห่งชีวิต สกลกายนี้จึงชื่อว่าเป็นตัวทุกข์เป็นของควรกำหนดให้รู้ ส่วนทุกข์นี้อาศัยสมุทัยเป็นเหตุ ต้องไต่สวนให้รู้จักหน้าตาของสมุทัยให้ชัด จะแสดงไว้ในที่นี้พอเป็นตัวอย่าง ไม่ประสงค์จะแสดงให้ยืดยาว

    สมุทัยนั้นก็คือความไม่รู้ตัวว่าตัวเป็นชาติ เป็นชรา เป็นมรณะ ไปรู้แต่ชาติ ชรา มรณะภายนอกซึ่งเป็นของไม่มีตัว คือชาติเป็นอดีตเกิดมาแล้ว ชรา มรณะเป็นอนาคต คือ แก่ ผมหงอก ฟันหลุด ตายเข้าโลง ซึ่งเป็นของไม่มีในตน ความไม่รู้ของจริงนี้แล เป็นตัวสมุทัย ควรละเสีย

    ส่วนนิโรธนั้น คือองค์ปัญญาที่เกิดขึ้น เห็นชาติ เห็นชรา เห็นมรณะซึ่งเป็นปัจจุบัน มีประจำอยู่ในตัวทุกเมื่อ ส่วนชาติ ชรา มรณะที่เป็นอดีต อนาคต ซึ่งเป็นสัญญาของโลกนั้น ดับไป ชื่อว่าสังขารโลกดับ เป็นตัวนิโรธ

    ส่วนมรรคนั้น ก็คือปัญญาที่รู้ว่าตนเป็นทุกข์ด้วยอาการนี้ ตนเป็นสมุทัยด้วยอาการนี้ ตนเป็นนิโรธด้วยอาการนี้ คือเห็นตัวของตัวเป็นมรรคเพราะเป็นทุกข์ด้วย เป็นสมุทัยด้วย เป็นนิโรธด้วย เป็นมรรคด้วย อันนี้เป็นตัวมรรค คือ มรรคเห็นมรรค ชื่อว่า สัมมาทิฏฐิ พ้นจากมิจฉาทิฏฐิทั้งสอง คือ สัสสตทิฏฐิ และ อุจเฉททิฏฐิ

    เมื่อสัมมาทิฏฐิชำระมลทินนิลโทษบริสุทธิ์ดีแล้ว ความคิดนึกตรึกตรองก็ย่อมเป็นสัมมาสังกัปโป เป็นความดำริชอบอยู่เอง ในนิเทศแสดงว่า ดำริจะออกจากกาม ออกจากพยาบาท ออกจากวิหิงสา อธิบายว่า คือเห็นโทษของกาม เห็นว่ากามเป็นเครื่องเกี่ยวเกาะรัดรึงดวงจิตไม่ให้ผ่องใสบริสุทธิ์ จึงดำริหาจิตตวิเวก คอยกันไม่ให้จิตไปเกี่ยวเกาะในกาม และบำรุงดวงจิต ให้สัมปยุตต์ด้วยเมตตากรุณา กันพยาบาทวิเหสา เป็นลักษณะแห่งสัมมาสังกัปโป

    เมื่อความดำริชอบมีขึ้นเป็นพื้นของใจอย่างนี้ ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่จักกล่าววาจาชอบ เป็นสัมมาวาจา ในนิเทศแสดงว่าเว้นจากมิจฉาวาจา ๔ อย่าง คือเว้นกล่าวคำเท็จ เว้นกล่าวคำหยาบ เว้นกล่าวคำส่อเสียด เว้นกล่าวคำเหลวไหลหาประโยชน์มิได้ อธิบายว่า คำเท็จ คำหยาบ คำส่อเสียด รักษาง่าย คำเหลวไหลเฮฮาพูดเรื่องคนอื่น ไม่ได้ประโยชน์ทั้งตนและผู้อื่น รักษายากยิ่งนัก ต้องตั้งใจสมาทานว่า เราจักกล่าวแต่คำจริง คำอ่อนโยน คำสมานสามัคคี คำเป็นไปกับด้วยประโยชน์ มีชีวิตเป็นแดน และรักษาได้จริงด้วย จึงเป็นสัมมาวาจาในองค์อริยมรรค ถ้าเป็นแต่ได้บ้างเสียบ้างยังไม่แน่นอน เป็นแต่เพียงกุศลกรรมบถเท่านั้น สัมมาวาจานี้สำเร็จมาแต่สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโปเป็นเหตุ

    เมื่อวาจาชอบเป็นพื้นของตนมีอยู่แล้ว ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่จะประกอบกิจการงานด้วยกายชอบ เป็นองค์สัมมากัมมันโตอยู่เอง ในนิเทศมัคควิภังค์แสดงว่า เว้นจากมิจฉากัมมันโต คือการเว้นการฆ่าสัตว์ ๑ เว้นการลักฉ้อโกงเอาข้าวของของท่าน ๑ เว้นการเสพกามซึ่งไม่ใช่กิจของพรหมประพฤติ ๑ ชื่อว่ามัมมากัมมันโต อธิบายว่า ผู้เห็นโทษแห่งการฆ่าสัตว์ เห็นชีวิตเป็นของรักทั่วกัน ย่อมไม่ฆ่า ผู้เห็นโทษแห่งการลัก เห็นสมบัติเป็นของสงวนทุกคน ย่อมไม่ลัก ผู้เห็นโทษในกาม ย่อมไม่เสพกาม แต่การงานของกายต้องทำเพราะต้องเลี้ยงชีวิต เมื่อเห็นโทษแห่งทุจริตแล้ว เมื่อจะประกอบกิจการงานไม่ว่าประเภทใด ย่อมทำด้วยเมตตา เรียกว่า เมตตากายกรรม เป็นองค์สัมมากัมมันโต

    เมื่อกายกรรมดี วจีกรรมชอบแล้ว และได้วัตถุมาเลี้ยงชีวิต ชื่อว่าเลี้ยงชีวิตดดยชอบธรรม เป็นสัมมาอาชีโว อธิบายว่า การเลี้ยงชีวิตเป็นสิ่งสำคัญ ข้อที่แสดงวจีกรรมและกายกรรมเป็นส่วนชอบดังแสดงมานั้น มีลักษณะเป็นสอง คือมีภายนอกและภายใน ภายนอกเล็งการงานที่ประกอบด้วยวาจา และกระทำด้วยกายทำให้สำเร็จโดยชอบธรรม ภายในเล็งวจีกรรมและกายกรรมที่ตรงกันกับใจ เป็นที่อาศัยเลี้ยงชีพ ชื่อว่าสัมมาอาชีโว คือบางพวกไม่ได้ทำการงานภายนอก เพียงแต่รักษาวจีกรรมและกายกรรม ดังพวกนักบวชต่าง ๆ ไม่นิยมว่าพวกไหน ถ้าแสดงแต่เพียงวจีกรรมและกายกรรมให้เป็นที่นำมาซึ่งความเลื่อมใส แต่ใจไม่ตรงกับวาจาและกาย คือเป็นมายาสาไถย ต่อหน้าประชุมชนประพฤติอย่างหนึ่ง ลับหลังปฏิบัติไปอีกอย่างหนึ่งดังนี้ ทำให้เขาเลื่อมใสด้วยกุหนะ หาลาภโดยวิธีโกง ได้ลาภสักการะมาเลี้ยงชีวิตผิดเหมือนกัน เหมือนอย่างขอทาน บางพวกเสื้อผ้าหรือย่ามพอจะมีดี ๆ นุ่งห่มใช้สอยอยู่บ้าง แต่แกล้งเอาผ้าขาด ๆ ท่อนเล็กท่อนน้อยมาเย็บติดต่อกันให้รุงรัง ประกาศตนว่าเป็นคนจนให้เขาเอ็นดู วาจาก็แสดงว่าจนไปทุกอย่าง ดังนี้เขากรุณาให้โดยการโกงของตัวอย่างนี้ ก็เป็นมิจฉาอาชีโวเหมือนกัน ต้องประพฤติตนให้ตรงกาย ตรงวาจา ตรงใจ จึงเป็นสัมมาอาชีโว

    สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว ๓ องค์นี้ ถ้ามีบริบูรณ์ในผู้ใด ผู้นั้นชื่อว่ามีอริยกันตศีล เป็นอธิศีล ขันธสันดานของผู้นั้นชื่อว่าสีลขันโธ สำเร็จมาแต่สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป เมื่อผู้กระทำสกลกายของตนให้เป็นสีลขันธ์ได้แล้ว ความเพียรที่เป็นไปทางกาย ทางวาจา เป็นอันสำเร็จมาแล้วแต่สีลขันธ์ ส่วนสัมมาวายาโม เพียรชอบในองค์อริยมรรคนี้ เป็นไปในใจอย่างเดียว เพียรละบาปบำเพ็ญบุญ ตามนิเทศแสดงว่า เพียรละบาปที่ยังไม่เคยมี ไม่ให้มีขึ้น บาปที่เคยมีอยู่แล้ว เพียรละเสียด บุญที่ยังไม่เคยมี เพียรให้มีขึ้น บุญที่เคยมีอยู่แล้วเพียรรักษาให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้น ดังนี้ชื่อว่าสัมมาวายาโม อธิบายตามนัยว่า สีลปริภาวิโต สมาธิ มหปฺผโล โหติ ศีลนั้นแล เมื่อบุคคลอบรมให้เกิดให้มีแล้ว มีสมาธิเป็นมหาผล
    ถ้าเล็งตามนัยนี้ ความเพียรในองค์อริยมรรคนี้เป็นตัวอุปการะแก่สมาธิ สติเป็นปัจจุปัฏฐานคือใกล้สมาธิ ต้องเพียรทำสติ ตามนิเทศท่านแสดงสติปัฏฐาน ๔ เป็นที่ตั้งของสติ คือ กาย ๑ เวทนา ๑ จิต ๑ ธรรม ๑ อธิบายว่า สติมีอันเดียวคือความระลึก ที่ตั้งของสติมี ๔ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ให้พึงเข้าใจโดยชัดเจนว่า กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นชื่อของสกลกาย อันนี้ ๆ หมาย ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ วิญญาณ ประชุมกันเข้าเป็นหมวดเป็นก้อน ชื่อว่า กาโย หมายสุข ทุกข์ อุเบกขา ประจำเต็มสกลกายนี้อยู่เสมอ ชื่อว่า เวทนา หมายความรู้ประจำอยู่ทั่วสกลกายนี้เสมอ ชื่อว่าจิต หมายความเป็นเอง คือ ธรรมดาแระจำอยู่ทั่วสกลกายนี้เสมอ ชื่อว่าธรรม ให้ตั้วสติจำเพาะที่กาย เพ่งกาย กายดับ เป็นเวทนา เพ่งเวทนา เวทนาดับ เป็นจิต เพ่งจิต จิตดับเป็นธรรม สติปัฏฐานมีมรรคเป็นยอด ถ้าสติตั้งอยู่ที่ธรรมเป็นองค์สมาธิ จะเป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ หรือเป็นอัปปนาสมาธิก็ตาม ก็ชื่อว่าสมาธิ แต่ตามนัยนิเทศแห่งสัมมาสมาธิ ท่านหมายเอาอัปปนาสมาธิว่าเป็นองค์สัมมาสมาธิ ถ้าเป็นองค์สมาธิขึ้นได้เมื่อใด ความเพียรก็เป็นสัมมาวายาโม สติก็เป็นสัมมาสติ สมาธิก็เป็นสัมมาสมาธิเมื่อนั้น เพราะ ๓ องค์นี้เป็นอัญญมัญญปัจจัยแก่กันและกัน เป็นสมาธิขันธ์ขึ้น สำเร็จมาแต่สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโปเหมือนกัน

    ที่แสดงมานี้เป็นประเภทแห่งมัคควิภาวนาเท่านั้น ส่วนนี้แสดงเพียงปฏิบัติธรรมอย่างเดียว ที่ว่ามัคคสมังคีนั้นพึงเข้าใจอย่างนี้ มัมมาทิฏฐิ เห็นชอบที่ใจ สัมมาสังกัปโป ดำริชอบที่ใจ สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว วิรัติเจตนาชอบที่ใจ สัมมาวายาโม เพียรชอบที่ใจ สัมมาสติ ตั้งสติชอบที่ใจ ใมมาสมาธิ ตั้งจิตไว้เสมอชอบที่ใจ คือองค์มรรคทั้ง ๘ มีพร้อมที่ใจ ชื่อว่า มัคคสมังคี เป็นเหตุที่จักให้เกิดญาณทัสสนะ วิปัสสนาญาณ เป็นปฏิเวธธรรม

    ได้แสดงทางออกจากโลกด้วยพระอัฏฐังคิกมรรค พอเป็นทางดำเนิแห่งโยคาพจรผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสารไว้เพียงนี้ ส่วนปฏเวธธรรมเป็นผลของการปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรมที่ได้แสดงมาแล้วคือ ศีล สมาธิ ปัญญานั่นแหละ เมื่อสามัคคีกันเข้าแล้ว ย่อมเป็นของมีกำลัง ให้เกิดยถาภูตญาณทัสสนะ คือรู้จริง เห็นจริงตามความเป็นจริงอย่างไร ในสกลกายอันนี้ ส่วนใดเป็นโลกิยธรรม ส่วนใดเป็นโลกุตรธรรม ก็รู้จริงตามความเป็นจริงอย่างนั้น คือโลกียธรรมปิดโลกุตรธรรม ส่วนสมมติทั้งสิ้นเป็นโลกิยธรรม เมื่อรู้เท่าสมมติทั้งสิ้น ชื่อว่ารู้โลก โลกดับเป็นวิมุติ สกลกายที่ยังเหลืออยู่เท่าเดิมนั้นแหละ แต่เป็นโลกุตรธรรมไปหมด ปัญญาที่เห็นโลกุตรธรรมนี้ เป็นวิมุติญาณทัสสนะ เป็นองค์ปฏิเวธธรรมอย่างสูง ชื่อว่าเป็นผู้ออกจากโลกได้

    ปฏิบัติธรรม และปฏิเวธธรรม ตามที่แสดงมานี้ เป็น สฺวากขาโต ภควตา ธมฺโม คือเป็นพระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเทศนาดีแล้ว และเป็น สนฺทิฏฺฐิโก ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นด้วยตน และเป็น อกาลิโก ผู้ปฏิบัติไม่ต้องอ้างกาล เพราะเป็นของมีอยู่ทุกเมื่อ และเป็น เอหิปสฺสิโก อาจอวดเขาได้ เพราะเป็นของมีจริง และเป็น โอปนยิโก ผู้ปฏิบัติสามารถน้อมเข้ามาสู่ตนได้ และเป็น ปจฺจตฺตํ วิญญูชนทั้งหลายจะพึงรู้แจ้งจำเพาะตน ตรงตามนัยแห่งพระธรรมคุณที่ท่านประพันธ์ไว้ โดยนัยแสดงมา ด้วยประการฉะนี้

    เมื่อพุทธบริษัทตรองตาม ได้ใจความชัดใจแล้ว อย่ามีความประมาท อุตสาหะปฏิบัติให้เกิดมีในตน จะได้รับผล คือความสุขสำราญ ทั้งในปัจจุบันและเบื้องหน้า โดยนัยดังวิสัชนามาด้วยประการฉะนี้
     

แชร์หน้านี้

Loading...