พบการ์ตูนล้อการเมืองสมัย ร.๕ "รูปเดียว" ในเมืองไทย ที่คนไทยควรเห็น!

ในห้อง 'วิทยาศาสตร์ทางจิต - ลึกลับ' ตั้งกระทู้โดย vacharaphol, 29 กันยายน 2006.

  1. vacharaphol

    vacharaphol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    8,849
    ค่าพลัง:
    +27,174
    การ์ตูนลายเส้นประเภทล้อเลียนบุคคล พบครั้งแรกพิมพ์ไว้เมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ถือกำเนิดในทวีปยุโรป ส่วนหนึ่งในจำนวนนี้มีภาพการเสด็จประพาสยุโรปในรัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๔๐ รวมอยู่ด้วย รูปที่โด่งดังที่สุดวาดขึ้นในฝรั่งเศส มีอาทิ ภาพล้อการพบปะของ ร.๕ กับประธานาธิบดีเฟลิกซ์โฟว์ (หนังสือพิมพ์ Le Pilori), ภาพการรับเสด็จที่สถานีรถไฟปารีส (หนังสือพิมพ์ L"Univers Illustre), ภาพการตรวจพลสวนสนามในยุโรป (หนังสือพิมพ์ Le Pilori) ภาพทั้งหมดถึงแม้จะถูกนำออกเผยแพร่ในระยะเวลาสั้นๆ คือ ในระหว่างที่เสด็จประพาสกรุงปารีส แห่งละชั่วครู่ชั่วยาม ก็ยังทำให้คนไทยรุ่นหลังตื่นเต้นมากที่ได้เห็น เพราะดูสนุกและแปลกตาออกไปจากรูปถ่ายของพระองค์ในมุมมองเดียวกัน

    ผู้เขียนใช้เวลาค้นคว้าต่อมาอีกหลายปีเกี่ยวกับการ์ตูนเหล่านี้ หลังจากเกิดความประทับใจใน " เสน่ห์" ของรูปที่ดูสะดุดตาตรงเอกลักษณ์พิเศษที่หาไม่พบในรูปถ่ายทั่วไป เพราะการ์ตูนทำให้ภาพดูมีชีวิตจนเหมือนเคลื่อนไหวได้ ต่อมาพบว่า ยังมีการ์ตูนล้อเลียนที่พิลึกกว่านี้ออกไปอีก กล่าวคือ นอกจากล้อเลียนบุคคลแล้วยังล้อเลียนเหตุการณ์พร้อมๆ กันไปในตัวด้วย โดยที่มีปัจจัยทางการเมืองเป็นต้นเหตุ รูปประเภทหลังนี้เมื่อดูอย่างผิวเผินจะไม่สามารถเข้าใจความหมายทันที เพราะมี "นัยยะ" ทางการเมืองแฝงอยู่มาก จุดประสงค์ของมันก็เพื่อ "สื่อ" ข่าวการเมืองที่เข้าใจยากในสายตาคนทั่วไป จึงไม่ปรากฏตามแผงหนังสือเหมือนการ์ตูนล้อเลียนบุคคลที่เข้าถึงประชาชนกลุ่มใหญ่ได้กว้างกว่า

    ภาพล้อการเมืองจะ "เกาะติด" สถานการณ์ทางการเมืองโดยเฉพาะ เท่าที่พบแทบจะไม่มีรายละเอียดใดๆ ให้ความกระจ่างไว้เลย จะมีก็แต่เพียงคำบรรยายใต้ภาพสั้นๆ ที่ติดมาด้วยเท่านั้น แต่ทั้งๆ ที่มีที่มาอันเลือนราง มันกลับบ่งบอกข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่มีค่าอย่างยิ่งในภายหลังดังเช่นรูปที่พบในคราวนี้ ด้วยเหตุนี้การ์ตูนล้อการเมืองที่สื่อถึงรัชกาลที่ ๕ โดยตรงในลักษณะนี้ จึงเป็นสิ่งที่คนไทยเราไม่เคยพบเห็นมาก่อน แม้แต่ในประเทศฝรั่งเศสเอง ซึ่งเป็นต้นคิดของรูปภาพนี้ ก็มีรายงานว่าพบเพียงภาพเดียวในรอบ ๒๐ ปีที่ผ่านมา

    หนังสือพิมพ์ข่าวการเมืองฉบับหนึ่งของฝรั่งเศส พิมพ์ในปี ค.ศ. ๑๙๐๒ (พ.ศ. ๒๔๔๕) ชื่อ La Caricature ซึ่งแปลตรงตัวว่า "ภาพล้อบุคคล" จัดเป็นหนังสือพิมพ์ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักการเมืองหรือชาวฝรั่งเศสที่สนใจข่าวการเมืองเป็นชีวิตจิตใจ นับเป็นคนกลุ่มหนึ่งที่ตื่นตัวอยู่เสมอในปารีส มียอดพิมพ์เพียง ๓,๐๐๐ ฉบับต่อสัปดาห์ ซึ่งถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับหนังสือพิมพ์ระดับชาติอย่าง L"Illustration หรือ Le Petit Journal ที่มียอดพิมพ์กว่า ๕๐๐,๐๐๐ ฉบับต่อสัปดาห์ เมื่อ ๑๐๐ ปีมาแล้ว

    ภาพที่ออกมามิได้มุ่งหวังเพื่อนำเสนอต่อคนไทยโดยตรง ในทางตรงกันข้ามมันชี้ไปที่การแสดงความคิดเห็นของคนฝรั่งเศสต่อคนฝรั่งเศส หรือจะเรียกว่าเป็นประชาวิจารณ์ของคนในพื้นที่คงไม่ผิดนัก และเนื่องจากเป็นข่าวสารการเมือง ยังเปรียบได้กับเครื่องมือที่พรรคการเมือง "ฝ่ายตรงข้าม" กำลังใช้อยู่ เพื่อปลุกปั่นกันเองในสภา ซึ่งในบางครั้งก็ได้ผลเกินคาด

    ข่าวการเมืองที่กำลังเป็นจุดสนใจ และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันหนาหูช่วงต้นทศวรรษสุดท้ายของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ไม่มีข่าวไหนร้อนแรงเท่า "อนุสัญญา" ฉบับหนึ่งที่ลงนามกันไปแล้วระหว่างตัวแทนของรัฐบาลฝรั่งเศสและสยามในกรุงปารีส แต่คณะรัฐมนตรีฝรั่งเศสไม่ยอมให้สัตยาบัน คือไม่ยอมรับ อันเนื่องมาจากความกดดันของคนในพรรคอาณานิคม ที่ไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง ภาพลายเส้นงามๆ ที่ดูสนุกสนานและมีรายละเอียดเชิงตลกล้อเลียน (ดูภาพที่ ๑) กลับแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมืองที่ทวีความตึงเครียดขึ้นเป็นลำดับ

    เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า ในปี ค.ศ. ๑๙๐๒ นั้น รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศคนใหม่ของฝรั่งเศสชื่อเดลกัสเซ (M. Delcasse) ได้รับแรงกระตุ้นจากความคิดที่ว่า ความไม่ลงรอยกันในข้อตกลงขั้นตอนสุดท้ายระหว่างรัฐบาลทั้ง ๒ ฝ่าย ตามข้อกำหนดในสนธิสัญญาและอนุสัญญาเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๘๙๓ (ร.ศ. ๑๑๒) ซึ่งยังหาข้อยุติไม่ได้ แม้แต่ความพยายามอันเนื่องมาจากการเสด็จมากรุงปารีสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ยังไม่สามารถสมานรอยร้าวระหว่างกันให้สนิทได้ ปัญหาเหล่านี้เกิดจากความไม่เข้าใจกันในเรื่องการคุ้มครองและการตีความเรื่องเขตแดน ทำให้เกิดอุปสรรคต่อความสัมพันธ์ขั้นปกติตลอดมา บัดนี้นายเดลกัสเซเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่จะประนีประนอมกัน เพื่อแก้ไขข้อพิพาทต่างๆ ให้ลุล่วงไป ในทรรศนะของเขามันไม่เพียงลดความบาดหมางกับสยามเท่านั้น แต่ยังฟื้นฟูความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลอังกฤษกับฝรั่งเศสอีกด้วย จึงเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๘๙๓ (ร.ศ. ๑๑๒) เป็นต้นมาที่คนในรัฐบาลฝรั่งเศสมีความตั้งใจที่จะยอมเสียสละบางสิ่งบางอย่าง และต่างฝ่ายต่างหันมาใช้นโยบายซื่อสัตย์และไว้วางใจต่อกัน

    หลักใหญ่ใจความของการ "ประนีประนอม" ตามแผนของเดลกัสเซ คือ

    ๑. ด้านดินแดน ฝ่ายฝรั่งเศสต้องการเพียงเมืองมโนไพรและจำปาศักดิ์จากไทย หมายถึงสยามต้องยอมสละดินแดนออกไป "เพียง" ๒๐,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร เพื่อแลกกับการถอนกองกำลังฝรั่งเศสออกไปจากการยึดครองจันทบุรี ถ้าว่ากันตามเนื้อผ้าแล้ว ตรงนี้รัฐบาลไทยพอจะรับได้ เพราะ ม. เดลกัสเซไม่ติดใจเรื่องดินแดนบนฝั่งขวาแม่น้ำโขง ที่ในนโยบายเดิมนั้นฝรั่งเศสเคยคาดหวังไว้อย่างมากว่าควรตกเป็นของฝรั่งเศสด้วย โดยอ้างว่าเป็นเมืองเดียวกันกับนครหลวงพระบางบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ซึ่งตรงกับเจตนารมณ์ของไทยที่ไม่ต้องการเสียดินแดนเพิ่มอีกเพื่อแลกกับจันทบุรี หรือถ้าจำเป็นต้องเสียก็ควรเสียให้น้อยที่สุด

    ๒. เรื่องยกเลิกเขตปลอดทหาร ๒๕ กิโลเมตร เหนือเขตอิทธิพลของฝรั่งเศส นายเดลกัสเซอนุโลมให้มีกองทหารสัญชาติไทยได้ภายใต้การบังคับบัญชาของแม่ทัพนายกองสัญชาติไทย ซึ่งเป็นที่พอใจของฝ่ายไทย

    ๓. เรื่องปัญหาคนในบังคับฝรั่งเศสและอำนาจศาล การอ้างสิทธิแบบเก่ามีอยู่ว่า คนฝรั่งเศสและคนในบังคับฝรั่งเศสในสยามจะต้องอยู่ใต้กฎหมายฝรั่งเศส โดยไม่มีข้อยกเว้น แต่นายเดลกัสเซกลับผ่อนผันที่จะส่งรายชื่อให้รัฐบาลไทย ซึ่งต่อไปนี้จะเริ่มมีสิทธิ์ตั้งข้อสังเกตขัดข้องในการลงทะเบียนรายละเอียดรายใดที่เห็นว่าไม่เป็นการถูกต้องได้ เพื่อเจ้าพนักงานฝรั่งเศสจะได้นำกรณีที่ได้แจ้งไปพิจารณาใหม่อีกครั้ง

    นโยบาย "สายกลาง" ของนายเดลกัสเซตั้งแต่ต้นได้รับการประสานงานไปยังนายโกลบูกอฟสกี (Klobukowski) อัครราชทูตฝรั่งเศสในกรุงเทพฯ เป็นอย่างดี ทำให้รัฐบาลไทยรีบจัดส่งพระยาศรีสหเทพ (เส็ง วิริยะศิริ) ให้เดินทางไปยังยุโรปในฐานะทูตพิเศษทันที เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยพระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) อัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีสอีกแรงหนึ่ง จนได้มีการประชุมกันขึ้นถึงขั้นลงนามร่วมกันในอนุสัญญาดังกล่าว ในวันที่ ๗ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๐๒

    แต่ทันทีที่อนุสัญญาฉบับนี้ประกาศออกไป คณะทำงานของนายเดลกัสเซก็ "ถูกโจมตี" อย่างหนัก และได้รับการประท้วงจากหลายฝ่ายในฝรั่งเศส อาทิ ผู้แทนจากรัฐบาลอินโดจีนในคณะที่ปรึกษาสูงของกระทรวงอาณานิคม ประธานกลุ่มอาณานิคมในวุฒิสภา และรองประธานคณะกรรมาธิการเอเชียของฝรั่งเศส นายจี โกแดง ประธานกลุ่มอาณานิคมฯ กล่าวบริภาษว่า "ตามอนุสัญญาฉบับนี้ฝรั่งเศสกำลังสละสิ่งที่เป็นสาระสำคัญ และไม่ได้อะไรตอบแทนเลย" คนฝรั่งเศสส่วนใหญ่ประณามข้อตกลงนี้ว่าไร้ประโยชน์และเป็นความเสียเปรียบทางนโยบายโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ

    ๑. เรื่องดินแดน นักการเมืองฝรั่งเศสยังหวังที่จะได้ดินแดนบนฝั่งขวาแม่น้ำโขง (ตรงข้ามหลวงพระบาง) ซึ่งมีเนื้อที่เพิ่มขึ้นอีกถึง ๔๒,๕๐๐ ตารางกิโลเมตร แทนที่จะปล่อยให้หลุดลอยไปแก่ฝ่ายไทย ข้อเสนอของนายเดลกัสเซจึงอ่อนข้อต่อไทยจนเกินไป

    ๒. เรื่องยกเลิกเขตปลอดทหาร ๒๕ กิโลเมตร เป็นสิ่งที่ฝรั่งเศสรับไม่ได้ที่จะให้มีกองกำลังของฝ่ายไทยประจำการอยู่

    ๓. เรื่องปัญหาคนในบังคับ ก็เป็นการรอมชอมที่ไร้ค่าและไม่มีเหตุผล พวกเขาเย้ยหยันว่ามันเป็น "ฟาโชดา" แห่งใหม่ Fachoda หรือ Kodok เป็นชื่อเมืองแห่งหนึ่งในประเทศซูดานบนฝั่งแม่น้ำไนล์ ที่ฝรั่งเศสเข้ายึดครองได้ในปี ค.ศ. ๑๘๙๘ แต่ในที่สุดก็ต้องยอมมอบให้ฝ่ายอังกฤษ ซึ่งตีตลบหลังฝรั่งเศส และพิชิตภูมิภาคนั้นได้ทั้งหมดในปีเดียวกัน ซึ่งก็เป็นความผิดพลาดที่นายเดลกัสเซทำไว้เช่นกัน

    หนังสือพิมพ์ฝ่ายซ้ายชื่อเอโค เดอ ปารีส์ (Echo De Paris) ใช้ถ้อยคำดูถูกเหยียดหยามผลงานทางการทูตของเดลกัสเซผู้นี้ว่า

    "ปิศาจแคระเดลกัสเซ ได้กระทำการทรยศอย่างแท้จริง อนุสัญญาฉบับหนึ่ง (เกี่ยวกับฟาโชดา) ที่เดลกัสเซได้ลงนามไปนั้น จะเป็นก็แต่เพียงการล่าถอยที่น่าอับอาย และไม่พอใจของผู้คนไปทั่วโลกอาณานิคม"

    ๓ วันหลังจากการลงนาม ทำให้เกิดการประท้วงทางโทรเลขจากพวกฝรั่งเศสในสยาม ติดตามด้วยการคัดค้านอย่างรุนแรงของคณะกรรมาธิการเอเชียในปารีสที่จะให้การยอมรับ มันเท่ากับทำให้สนธิสัญญา ร.ศ. ๑๑๒ หมดค่าไป และจะทำให้ฝรั่งเศสกลายเป็นผู้ยอมแพ้แก่ฝ่ายตรงข้ามคือ "สยาม" อนุสัญญาฉบับวันที่ ๗ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๐๒ จึง "ไม่มีผล" ในทางปฏิบัติแต่อย่างใด

    ภาพที่ ๑ จาก La Caricature ฉบับวันที่ ๒๐ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๐๒ ขึ้นหน้าปกด้วยรูปล้อเลียนบุคคลผู้ "อยู่เบื้องหลัง" อนุสัญญานั้น ประกอบด้วยพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงชุดเครื่องต้นและทรงสวมพระมหามงกุฎ กำลังทรงใช้พระหัตถ์จับตัวเดลกัสเซมาเก็บใส่กระเป๋าของพระองค์ไว้ มีรูปตัวเดลกัสเซอ่อนปวกเปียกเหมือนตุ๊กตาไขลานที่หมดสภาพ พร้อมกับมีเอกสารที่เขียนว่าราชการลับต่างประเทศร่วงหลุดจากมือ เป็นการอุปมาว่าฝ่ายไทยมีอำนาจเหนือกว่า เพราะสามารถกำหนดหัวข้อเจรจาให้ฝรั่งเศสปฏิบัติตามต้องการได้ เหนือรูปล้อนี้มีคำอธิบายว่า : La Convention Siamoise Signee par M. Delcasse แปลว่า : อนุสัญญาสยาม ลงนามโดยเอ็ม. เดลกัสเซ ส่วนใต้รูปล้ออธิบายว่า : Chulalongkorn. -Il n"est vraiment pas difficile de fourrer dans sa poche un ministre radical. แปลได้ความว่า : มันไม่ใช่เรื่องยากเย็นเลยที่จะเก็บรัฐมนตรีหัวรุนแรงคนนี้ไว้ในกระเป๋าของพระองค์ [พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว]

    นอกจากภาพล้อชิ้นสำคัญนี้แล้ว ในเวลาต่อมายังพบภาพล้อการเมืองที่น่าสนใจอีกชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับสถานภาพของนายเดลกัสเซ ตามทรรศนะของคนฝรั่งเศสในระยะนั้น เป็นที่มาของภาพที่ ๒ ต่อประเด็นเดิมที่ยังเป็นข้อถกเถียงกันต่อไป

    ภาพที่ ๒ จาก L"Actualite ซึ่งเป็นวารสารทางการเมือง ทำนองเดียวกัน ในฉบับลงวันที่ ๑๔ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๐๒ ลงสาระพาดพิงถึงอนุสัญญาฉบับนั้นอีกครั้งหนึ่ง แสดงรูปวาดล้อนายเดลกัสเซนั่งอย่างผ่าเผยอยู่บนกูบหลังช้างเผือกทรงเครื่อง แน่นอนที่สุดภาพนี้สื่อฉากๆ หนึ่งที่พระราชวังในกรุงศรีอยุธยา ซึ่งคนฝรั่งเศสรู้จักดี ลอกเลียนแบบมาจากภาพวาดในบันทึกการเดินทางสู่สยามของบาทหลวงเดอ ชัวซีย์ (ดูภาพที่ ๓) ภาพที่ ๒ นี้ เปรียบเสมือนการค่อนแคะทำนองยกยอปอปั้นนายเดลกัสเซ ให้เป็นบุคคลที่น่ายกย่องนับถือสำหรับชาวสยาม ในวีรกรรมที่เขาก่อขึ้น หมายถึงอนุสัญญาของเขาที่เอื้อประโยชน์ต่อชาวสยามมากกว่าชาวฝรั่งเศส

    การต่อต้านอนุสัญญาฉบับวันที่ ๗ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๐๒ ทำให้สยามตกที่นั่งลำบากอีกวาระหนึ่ง เนื่องจากคณะรัฐมนตรีฝรั่งเศสไม่ให้สัตยาบัน สัญญาจึงไม่ถูกบังคับใช้หลังจากนั้น เมื่อไม่เห็นความคืบหน้า นายเดลกัสเซจึงรายงานเข้ามาทางรัฐบาลไทยเพื่อยืดเวลาการให้สัตยาบันออกไปก่อน จนกระทั่งอีก ๒ ปีถัดมา หนังสือสัญญาฉบับใหม่ในวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๐๔ (พ.ศ. ๒๔๔๗) จึงได้รับการตกลงแทน "ข้อผูกมัด" ในสัญญาฉบับใหม่ ระบุให้สยามจำต้องสละดินแดนบนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง (ตรงข้ามหลวงพระบาง) และเมืองมโนไพรกับจำปาศักดิ์ (ตรงข้ามปากเซ) รวมเนื้อที่ทั้งสิ้น ๖๒,๕๐๐ ตารางกิโลเมตร ให้กับฝรั่งเศส แลกเปลี่ยนกับการที่ฝรั่งเศสจะถอนทหารออกไปจากจันทบุรี ซึ่งรัฐสภาฝรั่งเศสได้ให้สัตยาบันในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๐๔ เพื่อความสมบูรณ์

    ภาพล้อจาก ค.ศ. ๑๙๐๒ ที่นำมาแสดงนี้ สะท้อนให้เห็นมุมมองหนึ่งของรายละเอียดทางประวัติศาสตร์ที่ "เกือบ" จะทำให้เหตุการณ์ผันแปรไปจากเดิม หากอนุสัญญา ค.ศ. ๑๙๐๒ เป็นผลสำเร็จขึ้นมา แผนที่ฉบับปัจจุบันของไทยอาจมีพรมแดนแตกต่างไปจากที่เป็นอยู่ขณะนี้ บังเอิญให้มีเหตุขัดข้องเสียก่อน ซึ่งรูปล้อชิ้นสำคัญนี้จะเป็นสักขีพยานให้รำลึกถึงตลอดไป



    เอกสารประกอบการค้นคว้า

    (๑) เพ็ญศรี ดุ๊ก, ศ.ดร. ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙. ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๓๙.

    (๒) วารสาร L"Actualite. 14 December 1902.

    (๓) วารสาร La Caricature. 20 December 1902.
     
  2. noone

    noone เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 พฤศจิกายน 2005
    โพสต์:
    117
    ค่าพลัง:
    +392
    มีรูปให้ดูรึเปล่าครับ
     
  3. kananun

    kananun เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2006
    โพสต์:
    10,282
    ค่าพลัง:
    +114,775
    ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ แผ่นดินไทย ตารางนิ้วเดียวเราก็ยกให้ใครไม่ได้ทั้งสิ้น และผมขอเสนอว่า ถ้าไทยเราอยากได้พระราชวังแวร์ซายย์ บ้าง หรือพระราชวังบัคกิ้งแฮมบ้าง แค่พื้นที่ไม่กี่ ตารางกิโลเมตรเอง ทางอังกฤษและฝรั่งเศส ก็น่าจะยินยอม ยกดินแดนนั้นให้ไทยได้บ้างเช่นกัน แผ่นดินบ้านเกิดใครๆก็รักและหวงแหนครับ ถ้าคนผู้นั้นมีใจเป็นคนไทยจริงๆ
     

แชร์หน้านี้

Loading...