ธรรมโอวาท หลวงปู่มั่น

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย ไม้ขีด, 11 มีนาคม 2013.

  1. ไม้ขีด

    ไม้ขีด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,421
    ค่าพลัง:
    +3,023
    ธรรมโอวาท
    คำที่เป็นคติ อันท่านอาจารย์กล่าวอยู่บ่อยๆ ที่เป็นหลักวินิจฉัยความดีที่ทำ ด้วยกาย วาจา ใจ แก่ศิษยานุศิษย์ดังนี้
    ๑. ดีใดไม่มีโทษ ดีนั้นนับว่าเลิศ
    ๒. ได้สมบัติทั้งปวง ไม่ประเสริฐเท่าได้ตน เพราะตัวตนเป็นที่เกิดแห่งสมบัติทั้งปวง
    เมื่อท่านอธิบาย ตจปัญจกกรรมฐาน จบลง มักจะกล่าวเตือนขึ้นเป็นคำกลอนว่า “แก้ให้ตกเน้อ แก้บ่ตก คาพกเจ้าไว้ แก้บ่ได้ แขวนคอต่องแต่ง แก้บ่พ้น คาก้นย่างยาย คาย่างยาย เวียนตายเวียนเกิด เวียนเอากำเนิดในภพทั้งสาม ภาพทั้งสามเป็นเฮือน เจ้าอยู่” ดังนี้ เมื่อคราวท่านเทศนาสั่งสอนพระภิกษุ ผู้เป็นสานุศิษย์ถือลัทธิฉันเจ ให้เข้าใจทางถูก และ ละเลิกลัทธินั้น ครั้นจบลงแล้ว ได่กล่าวเป็นคติขึ้นว่า “เหลือแต่เว้าบ่เห็น บ่อนเบาหนัก เดินบ่ไปตามทาง สิถืกดงเสือฮ้าย” ดังนี้แล การบำเพ็ญสมาธิ เอาแต่เพียงเป็นบาทของวิปัสสนา คือ การพิจารณาก็พอแล้ว ส่วนการจะอยู่ในวิหารธรรมนั้น ก็ให้กำหนดรู้ ถ้าใครกลัวตาย เพราะบทบาททางความเพียร ผู้นั้น จะกลับมาตายอีก หลายภพหลายชาติ ไม่อาจนับได้ ส่วนผู้ใดไม่กลัวตาย ผู้นั้นจะตัดภพชาติให้น้อยลง ถึงกับไม่มีภพชาติเหลืออยู่ และผู้นั้นแล จะเป็นผู้ไม่กลับหลังมาหาทุกข์อีก ธรรมะเรียนมาจากธรรมชาติ เห็นความเกิดแปรปรวนของสังขาร ประกอบด้วยไตรลักษณ์ ปัจฉิมโอวาท ของ พระพุทธเจ้าโดยแท้ๆ ถ้าเข้าใจในโอวาทปาฏิโมกข์ ท่านพระอาจารย์มั่นแสดงโดย ยึดหลักธรรมชาติของศีลธรรมทางด้านการปฏิบัติ เพื่อเตือนนักปฏิบัติทั้งหลาย ท่านแสดงเอาแต่ใจความว่า..
    การไม่ทำบาปทั้งปวงหนึ่ง การยังกุศล คือ ความฉลาดให้ถึงพร้อมหนึ่ง การชำระจิตใจของตนให้ผ่องแผ้วหนึ่ง...... นี้แล คือ ตำสอนทั้งหลายของพระพุทธเจ้า การไม่ทำบาป...ถ้าทางกายไม่ทำ แต่ทางวาจาก็ทำอยู่ ถ้าทางวาจาไม่ทำ แต่ทางใจก็ทำ สั่งสมบาปตลอดวัน จนถึงเวลาหลับ พอตื่นจากหลับ ก็เริ่มสั่งสมบาปต่อไป จนถึงขณะหลับอีก เป็นทำนองนี้ โดยมิได้สนใจว่า ตัวทำบาป หรือ สั่งสมบาปเลย แม้กระนั้น ยังหวังใจอยู่ว่า ตนมีศีลธรรม และ คอยแต่เอาความบริสุทธิ์ จากความมีศีลธรรม ที่ยังเหลือแต่ชื่อเท่านั้น ฉะนั้น จึงไม่เจอความบริสุทธิ์ กลับเจอแต่ความเศร้าหมอง ความวุ่นวายในใจตลอดเวลา ทั้งนี้เพราะ ตนแสวงหาสิ่งนั้น ก็ต้องเจอสิ่งนั้น ถ้าไม่เจอสิ่งนั้น จะให้เจออะไรเล่า เพราะเป็นของที่มีอยู่ ในโลกสมมุติอย่างสมบูรณ์ ท่านพระอาจารย์มั่น แสดงโอวาทธรรม ให้ปรากฏไว้ เมื่อครั้งท่านจำพรรษาอยู่ ณ วัดสระประทุม (ปัจจุบัน คือ วัดประทุมวนาราม) กรุงเทพมหานคร ซึ่งปัจจุบัน อาจค้นคว้าหาอ่านได้ไม่ง่ายนัก มีดังนี้

    นมตฺถุ สุคตสฺส ปญฺจธฺนกฺขนฺธานิ ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระสุคต บรมศาสดาศากยะมุนี สัมมาสัมพุทธเจ้า และ พระนวโลกุตตรธรรม ๙ ประการ และพระ อริยสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้านั้น บัดนี้ ข้าพเจ้ากล่าวซึ่งธรรมขันธ์ โดยสังเขปตามสติปัญญา

    ยังมีท่านคนหนึ่ง รักตัว คิดกลัวทุกข์ อยากได้สุข พ้นภัย เที่ยวผายผัน เขาบอกว่า สุขมีที่ไหน ก็อยากไป แต่เที่ยวหมั่นไปมา อยู่ช้านาน นิสัยท่านนั้น รักตัวกลัวตายมาก อยากจะพ้นแท้ๆ เรื่องแก่ตาย วันหนึ่ง ท่านรู้จริงซึ่ง สมุทัย พวกสังขาร ท่านก็ปะถ้ำ สนุก สุขไม่หาย เปรียบเหมือนดัง กายนี้เอง ชะโงกดูถ้ำสนุก ทุกข์คลาย แสนสบาย รู้ตัว เรื่องกลัวนั้นเบา ดำเนินไป เมินมา อยู่หน้าเขา จะกลับไป ป่าวร้อง พวกพ้องเล่า ก็กลัวเขาเหมา ว่าเป็นบ้า เป็นอันจบเรื่องคิด ไม่ติดต่อ ดีกว่าเที่ยวรุ่มร่าม ทำสอพลอ เดี๋ยวถูกยอ ถูกติ เป็นเรื่อง เครื่องรำคาญ ยังมี บุรุษ คนหนึ่ง คิดกลัวตาย น้ำใจฝ่อ มาหาแล้ว พูดตรงๆ น่าสงสาร ถามว่า ท่านพากเพียรมา ก็ช้านาน เห็นธรรมที่จริง แล้วหรือยัง ที่ใจหวัง
    เอ๊ะ ทำไม จึงรู้ใจฉัน บุรุษผู้นั้น ก็อยากอยู่อาศัย ท่านว่าดี ดีฉันอนุโมทนา จะพาดูเขาใหญ่ ถ้ำสนุก ทุกข์ไม่มี คือ กายคตา สติ ภาวนา ชมเล่นให้เย็นใจ หายเดือดร้อน หนทางจร อริยวงศ์ จะไป หรือไม่ไป ฉันไม่เกณฑ์ ไม่หลอกเล่น บอกความ ให้ตามจริง แล้วกล่าวปริศนาท้าให้ตอบ ปริศนานั้นว่า ระวิ่ง คืออะไร ตอบว่า วิ่งเร็ว คือ วิญญาณ อาการใจ เดินเป็นแถว ตามแนวกัน สัญญาตรง น่าสงสัย ใจอยู่ใน วิ่งไปมา สัญญาเหนี่ยวภายนอก หลอกลวงจิต ทำให้จิตวุ่นวาย เที่ยวส่ายหา หลอกเป็นธรรมต่างๆ อย่างมายา ถามว่า ห้าขันธ์ ใครพ้น จนทั้วปวง แก้ว่า ใจซิพ้น อยู่คนเดียว ไม่เกาะเกี่ยวพัวพันติด สิ้นพิศวง หมดที่หลง อยู่เดียวดวง สัญญาทะลวงไม่ได้ หมายหลงตามไป ถามว่าที่ตาย ใครเขาตาย ที่ไหนกัน แก้ว่า สังขารเขาตาย ทำลายผล ถามว่า สิ่งใดก่อ ให้ต่อวน แก้วว่ากลสัญญา พาให้เวียน เชื่อสัญญาจึงผิด คิดยินดี ออกจากภพนี้ ไปภพนั้น เที่ยวหันเหียน เลยลืมจิต จำปิด สนิทเนียน ถึงจะเพียรหาธรรม ก็ไม่เห็น ถามว่า ใครกำหนด ใครหมาย เป็นธรรม แก้ว่า ใจกำหนด ใจหมาย เรื่องหา เจ้าสัญญา นั่นเอง คือว่าดี ว่าชั่ว ผลักจิต ติดรักชัง ถามว่า กินหนเดียว เที่ยวไม่กิน แก้ว่า สิ้นอยากดู ไม่รู้หวัง ในเรื่องเห็นต่อไป หายรุงรัง ใจก็นั่งแท่นนิ่ง ทิ้งอาลัย
    ถามว่า สระสี่เหลี่ยมเปี่ยมด้วยน้ำ แก้ว่า ธรรมสิ้นอยาก จากสงสัย ใสสะอาดหมดราคี ไม่มีภัย สัญญาในนั้น พรากสังขารขันธ์นั้น ไม่ถอน ใจจึงเปี่ยมเต็มที่ ไม่มีพร่อง เงียบสงัด ดวงจิต ไม่คิดปอง เป็นของควรชมชื่น ทุกคืนวัน แม้ได้สมบัติทิพย์ สักสิบแสน หากแม้นรู้จริง ทิ้งสังขาร หมดความอยากเป็นยิ่ง สิ่งสำคัญ จำส่วนจำ กั้นอยู่ ไม่ก้ำเกิน ใจไม่เพลินทั้งสิ้น หายดิ้นรน เหมือนอย่างว่า กระจกส่องหน้า ส่องแล้ว อย่าคิด ติดปัญญา เพราะว่า สัญญานั้น ดังเงา อย่าได้เมา ไปตามเรื่อง เครื่องสังขาร ใจขยัน จับใจ ที่ไม่บ่น ไหวส่วนตน รู้แน่ เพราะแปรไป ใจไม่เที่ยวของใจ ใช่ต้องว่า รู้ขันธ์ห้า ต่างชนิด เมื่อจิตไหว แต่ก่อนนั้น หลงสัญญา ว่าเป็นใจ สำคัญว่าใน ว่านอก จึงหลอกลวง คราวนี้ ใจเป็นใหญ่ ไม่หมายพึ่ง สัญญาหนึ่ง สัญญาใด มิได้หวัง เกิดก็ตาม ดับก็ตาม สิ่งทั้งปวง ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องกันหมู่สัญญา เหมือนยืนบน ยอดเขาสูงแท้ แลเห็นดิน แลเห็นสิ้น ทุกตัวสัตว์ แต่ว่า สูงยิ่งนัก แลเห็นเรื่องของตน แต่ต้นมา เป็นมรรคาทั้งนั้น เช่นบันได ถามว่า น้ำขึ้นลง ตรงสัจจา นั้นหรือ? ตอบว่าสังขารแปร ก็ไม่ได้ ธรรมดากรรม แต่ไม่แกล้งใคร ขืนผลักไส จับต้อง ก็หมองมัว ชั่วในจิต ไม่ต้องคิด ผิดธรรมดา สภาพสิ่ง เป็นจริง ดีชั่ว ตามแต่ เรื่องของเรื่อง เปลื้องแต่ตัว ไม่พัวพันสังขาร เป็นการเย็น รู้จักจริง ต้องทิ้งสังขาร เมื่อผันแปร เมื่อแลเห็น เบื่อแล้ว ปล่อยได้คล่อง ไม่ต้องเกณฑ์ ธรรมก็ใจ เย็นใจ ระงับดับสังขาร รับอาการ ถามว่า ห้าหน้าที่ มีครบครัน แก้ว่า ขันธ์ แย่งแยก แจกห้าฐาน เรื่องสังขาร ต่างกอง รับหน้าที่ มีกิจการ จะรับงานอื่น ไม่ได้ เต็มในตัว แม้ลาภยศสรรเสริญ เจริญสุข นินทาทุกข์ เสื่อมยศ หมดลาภทั่ว รวมลง ตามสภาพ ตามเป็นจริง ทั้ง ๘ สิ่ง ใจไม่หัน ไปพัวพัน เพราะว่า รูปขันธ์ ก็ทำแก้ไข มิได้ถ้วน นาม ก็มิได้พัก เหมือนจักรยนต์ เพราะรับผลของกรรม ที่ทำมา เรื่องดี ถ้าเพลิดเพลิน เจริญใจ เรื่องชั่วขุ่น วุ่นจิต คิดไม่หยุด เหมือนไฟจุด จิตหมอง ไม่ผ่องใส นึกขึ้นเอง ทั้งรัก ทั้งโกรธ
    ไม่โทษใคร อยากไม่แก่ ไม่ตาย ได้หรือคน เป็นของพ้นวิสัย จะได้เชย เช่น ไม่อยากให้จิต เที่ยวคิดรู้ อยากให้อยู่เป็นหนึ่ง หวังพึ่งเฉย จิตเป็นของผันแปร ไม่แน่เลย สัญญาเคย อยู่ได้บ้าง เป็นครั้งคราว ถ้ารู้เท่า ธรรมดา ทั้งห้าขันธ์ ใจนั้น ก็ขาวสะอาด หมดมลทิล สิ้นเรื่องราว ถ้ารู้ได้ อย่างนี้ จึงดียิ่ง เพราะเห็นจริง ถอนหลุด สุดวิธี ไม่ฝ่าฝืนธรรมดา ตามเป็นจริง จะจน จะมี ตามเรื่อง เครื่องนอกใน ดีหรือชั่ว ต้องดับ เลื่อนลับไป ยึดสิ่งใดไม่ได้ ตามใจหมาย ในไม่เที่ยว ของใจ ไหววะวับ สังเกตจับ รู้ได้สบาย ยิ่งเล็กบังใหญ่ ไม่รู้ทัน ขันธ์บังธรรมไม่เห็น เป็นธุลีไป ส่วนธรรม มีใหญ่กว่าขันธ์ นั้นไม่แล ถามว่า-มี-ไม่มี ไม่มีนี้ คืออะไร? ที่นี้ติดหมด คิดแก้ไม่ไหว เชิญชี้ให้ชัด ทั้งอรรถแปล โปรดแก้เถิด ที่ว่าเกิดมีต่างๆ ทั้งเหตุผล แล้วดับ ไม่มีชัด ใช่สัตว์คน นี่ข้อต้น มีไม่มี อย่างนี้ตรง ข้อปลายไม่มี มีนี้ เป็นธรรม ที่ล้ำลึก ใครพบ จบประสงค์ ไม่มีสังสาร มีธรรม ที่มั่นคง นั่นแลองค์ธรรมเอก วิเวกจริง ธรรมเป็นหนึ่ง ไม่แปรผัน เลิศพบ สงบนิ่ง เป็นอารมณ์ของใน ไม่ไหวติง ระงับยิ่ง เงียบสงัด ชัดกับใจ ใจก็สร่าง จากเมา หายเร่าร้อน ความอยาก ถอนได้หมด ปลดสงสัย เรื่องพัวพัน ขันธ์ห้า ช้าสิ้นไป เครื่องหมุนไป ไตรจักร ก็หักลง ความอยาก ใหญ่ยิ่ง ก็ทิ้งหลุด ความรักหยุด หายสนิท สิ้นพิศวง ร้อนทั้งปวง ก็หายหมด ดังใจ จง เชิญเถิด ชี้อีกสักอย่าง หนทางใจ สมุทัยของจิต ที่ปิดธรรม แก้ว่า สมุทัย ยิ่งใหญ่นัก ย่อลงคือ ความรักบีบใจ ทำลายขันธ์ ถ้าธรรมมีกับจิต เป็นนิจนิรันดร์ เป็นเลิศกัน สมุทัย มิได้มี จงจำไว้อย่างนี้ วิถีจิต ไม่ต้องคิดเวียนวน จนป่นปี้ ธรรมไม่มี อยู่เป็นนิจ ติดยินดี ใจจากที่ สมุทัย อาลัยตัว ว่าอย่างย่อ ทุกข์กับธรรม ประจำจิต จิตคิด รู้เห็นจริง จึงเย็นทั่ว จะสุข ทุกข์เท่าไร มิได้กลัว สร่างจากเครื่องมัว คือสมุทัย ไปที่ดี รู้เท่านี้ก็จะคลาย หายความร้อน พอดักผ่อน สืบแสวงหา ทางดี จิตรู้ธรรม ลืมจิต ที่ติดธุลี ใจรู้ธรรม ที่เป็นสุข ขันธ์ทุกขันธ์ แน่ประจำใจ ธรรมคงเป็นธรรม ขันธ์คงเป็นขันธ์ เท่านั้นแล คำว่าเย็นสบาย หายเดือดร้อน หมายจิตถอนจากผิด ที่ติดแก้ ส่วนสังขารขันธ์ ปราศจากสุข เป็นทุกข์แท้ เพราะต้องแก่ ไข้ตาย ไม่วายวัน จิตรู้ธรรมที่ล้ำเลิศ จิตก็ถอน จากผิด เครื่องเศร้าหมอง ของแสลง ผิดเป็นโทษของใจ อย่างร้ายแรง เห็นธรรมแจ้ง ธรรมผิด หมดพิษใจ จิตเห็นธรรม ดีเลิศที่พ้น พบปะธรรม ปลดเปลื้อง เครื่องกระสัน
    มีสติกับตัว บ่พัวพัน เรื่องรักขันธ์หายสิ้น ขาดยินดี สิ้นธุลีทั้งปวง หมดห่วงใย ถึงจะคิด ก็ไม่ทันห้าม ตามนิสัย เมื่อไม่ห้าม กลับไม่ฟุ้ง ยุ่งไป พึงได้รู้ ว่าบาปมีขึ้น เพราะขืนจริง ตอบว่า บาปเกิดขึ้น เพราะไม่รู้ ถ้าปิดประตู เขลาได้ สบายยิ่ง ชั่วทั่งปวง เงียบหาย ไม่ไหวติง ขันธ์ทุกสิ่ง ย่อมทุกข์ ไม่สุขเลย แต่ก่อน ข้าพเจ้ามืดเขลา เหมือนเข้าถ้ำ อยากเห็นธรรม ยึดใจ จะให้เฉย ยึดความจำ ว่าเป็นใจ หมายจนเคย เลยเพลินเชยชม จำธรรม มานาน ความจำผิด ปิดไว้ ไม่ให้เห็น จึงหลงเล่น ขันธ์ ๕ น่าสงสาร ให้ยกตัว ออกตน พ้นประมาณ เที่ยวระราน ติคนอื่น เป็นพื้นใจ ไม่ได้ผล เที่ยวดู โทษคนอื่น ขื่นใจ เหมือนก่อไฟ เผาตัว ต้องมัวมอม ใครผิดถูก ดีชั่ว ก็ตัวเขา ใจของเรา เพียงระวัง ตั้งถนอม อย่าให้อกุศล วนมาตอม ควรถึงพร้อม บุญกุศล ผลสบาย เห็นคนอื่นเขาชั่ว ตัวก็ดี เป็นราคียึดขันธ์ ที่มั่นหมาย ยึดขันธ์ ต้องร้อนแท้ ก็แก่ตาย เลยซ้ำแท้ กิเลสเข้ากลุ้ม รุมกวน เต็มทั้งรัก ทั้งโกรธ โทษประจักษ์ ทั้งหลงนัก หนักจิต คิดโทษหวน ทั้งอารมณ์ การห้า ก็มาชวน ยกกระบวนทุกอย่าง ต่างๆ กัน เพราะยึดขันธ์ทั้ง ๕ ว่าของตน จึงไม่พ้น ทุกข์ร้าย ไปได้เลย ถ้ารู้โทษของตัวแล้ว อย่าช้าเฉย ดูอาการ สังขาร ที่ไม่เที่ยงร่ำไป ให้ใจเคย คงได้เชยชมธรรมอันเอก วิเวกจิต ไม่เพียงนั้น หมายใจไหว จากจำ เห็นแล้วขำ ดู ดูอยู่ ไหว อารมณ์นอก ดับระงับไปหมด ปรากฏธรรม เห็นธรรมแล้ว ย่อมหาย วุ่นวายจิต จิตนั้นไม่ติดคู่ จริงเท่านี้หมดประตู รู้ไม่รู้ อย่างนี้ วิธีจิต รู้เท่าที่ ไม่เที่ยง จิตต้นฟื้น ริเริ่ม คงจิตเดิม อย่างเที่ยงแท้ รู้ต้นจิต พ้นจาก ผิดทั้งปวง ไม่ห่วง ถ้าออกไป ปลายจิต ผิดทันที คำที่ว่า มืดนั้น เพราะจิต คิดหวงดี จิตหวงนี้ ปลายจิต คิดออกไป จิตต้นที่ เมื่อธรรมะปรากฏ หมดสงสัย เห็นธรรมอันเกิด เลิศโลกา เรื่องจิตค้น วุ่นหามา แต่ก่อน ก็เลิกถอน เปลื้องปลด หมดได้ ไปสิ้น ยังมีทุกข์ ต้องหลับนอน กับกิน ไปตามเรื่อง ธรรมดาของจิต ต้องคิดนึก พอรู้สึก จิตคุ้น พ้นรำคาญ เงียบสงัด จากมาร เครื่องรบกวน ธรรมดา สังขารปรากฏ หมดด้วยกัน เสื่อมทั้งนั้น คงไม่มีเลย ระวังใจ เมื่อจำ ทำละเอียด มันจะเบียด ให้จิต ไปติดเฉย ใจไม่เที่ยงของใจ ซ้ำให้เคย เมื่อถึงเฮย หากรู้เอง เพลงของจิต เหมือนดั่งมายา ที่หลอกลวง ท่านว่า วิปัสสนูกิเลส จำแลงเพศ เหมือนดังจริง ที่แท้ ไม่ใช่จริง รู้ขึ้นเอง นามว่า ความเห็น ไม่ใช่เข่น ฟังเข้าใจ ชั้นไต่ถาม
    ทั้งไตร่ตรอง แยกแยะ และ รูปนาม ก็ใช่ ความเห็นต้อง จงเล็งดู จิตตน พ้นรำคาญ ต้นจิต รู้ตัว ว่าสังขาร เรื่องแปรปรวน ใช่ขบวนไป ดู หรือ รู้จริง อะไรรู้อยู่ เพราะหมายคู่ ก็ไม่ใช่ จิตคงรู้จิตเอง เพราะเพลงไหว จิตรู้ไหว ไหวก็จิต คิดกันไป แยกไม่ได้ตามจริง สิ่งเดียวกัน จิตเป็นของอาการ เรียกว่า สัญญา พาพัวพัน ไม่เที่ยงนั้น ก็ตัวเอง ไปเล็งใคร ใจรู้เสื่อมรส หมดสงสัย ขาดต้นคว้า หาเรื่อง เครื่องนอกใน เรื่องจิตอยาก ก็หยุด ให้หายหิว พ้นหนักใจทั้งหลาย หายอิดโรย เหมือนฝนโปรย ใจก็เย็น ด้วยเห็นใจ ใจเย็นเพราะ ไม่ต้อง เที่ยวมองคน รู้จิต คิดปัจจุบัน พ้นหวั่นไหว ดีหรือชั่ว ทั้งปวง ไม่ห่วงใย เพราะดับไปทั้งเรื่อง เครื่องรุงรัง อยู่เงียบๆ ต้นจิต ไม่คิดอ่าน ตามแต่การของจิต สิ้นคิดหวัง ไม่ต้องวุ่น ไม่ต้องวาย หายระวัง นอนหรือนั่ง นึกพ้น อยู่ต้นจิต ท่านชี้มรรค ทั้งหลักแหลม ช่างต่อแต้ม กว้งขวาง สว่างใส ยังอีกอย่าง ทางใจ ไม่หลุดสมุทัย ขอจงโปรด ให้ชี้พิศดาร เป็นการดี ตอบว่าสมุทัย คืออาลัยรัก เพลินยิ่งนัก ทำภพใหม่ ไม่หน่ายหนี ว่าอย่างต่ำ กามคุณห้า เป็นราคี อย่างสูงชี้ สมุทัย อาลัยฌาน ถ้าจะจับ ตามวิธี มีในจิต ก็เรื่องคิด เพลินไป ในสังขาร เคยทั้งปวง เพลินมา เสียช้านาน กลับเป็นการดีไป ให้เจริญจิต ไปในส่วนที่ผิด ก็เลยแตกกิ่งก้าน ฟุ้งซ่านใหญ่ เที่ยวเพลินไป ในผิด ไม่คิดเขิน สิ่งใดชอบอารมณ์ ก็ชมเพลิน เพลินจนเกิน ลืมตัว ไม่กลัวภัย เพลินดูโทษคนอื่น ดื่นด้วยชั่ว โทษของตัว ไม่เห็น เป็นไฉน โทษคนอื่น เขามาก สักเท่าไร ไม่ทำให้เรา ตกนรก เสียเลย โทษของเรา เศร้าหมอง ไม่ต้องมาก ลงวิบาก ไปตกนรก แสนสาหัส หมั่นดูโทษตนไว้ ให้ใจเคย เว้นเสียซึ่งโทษนั้น คงได้เชิญชมสุข พ้นทุกข์ภัย เมื่อเห็นโทษตนชัด พึงตัดทิ้ง ทำอ้อยอิ่ง คิดมาก จากไม่ได้ เรื่องอยากดี ไม่หยุด คือ สมุทัย เป็นโทษใหญ่ กลัวจะไม่ดี นี้ก็แรง ดีไม่ดี นี้เป็นผิด ของจิตนัก เหมือนไข้หนัก ถูกต้อง ของแสลง กำเริบโรค ด้วยพิษ ผิดสำแดง ธรรมไม่แจ้ง เพราะอยากดี นี้เป็นเดิม ความอยากดี มีมาก มักลากจิต ให้เที่ยวคิด วุ่นไป จนใจเหิม สรรพชั่ว มัวหมอง ก็ต้องเติม ผิดยิ่งเพิ่ม ร่ำไป ไกลจากธรรม ที่จริงชี้ สมุทัย นี้ ใจฉันคร้าม ฟังเนื้อความไปข้างฟุ้ง ทางยุ่งยิ่ง เมื่อชี้มรรค ฟังใจ ไม่ไหวติง ระงับนิ่ง ใจสงบ จบกันที อันนี้ เชื่อว่า ขันธะวิมุติสมังคีธรรม ประจำอยู่กับที่ ไม่มีอาการไป ไม่มีอาการมา สภาวธรรมที่เป็นจริง สิ่งเดียวเท่านั้น และไม่มีเรื่อง จะแวะะเวียน
    สิ้นเนื้อความ แต่เพียงเท่านี้ ผิดหรือถูก จงใช้ปัญญาตรองดู ให้รู้เถิด พระภูริทัตโต (มั่น) วัดสระประทุมวัน เป็นผู้แต่ง
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    แก้ไขครั้งล่าสุด: 11 มีนาคม 2013

แชร์หน้านี้

Loading...