ธรรมะ ครูบาเจ้าบุญคุ้ม เรื่อง กาน้ำพระธุดงค์

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย จิม, 9 กันยายน 2013.

  1. จิม

    จิม เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    87
    ค่าพลัง:
    +123
    ธรรมะ ครูบาเจ้าบุญคุ้ม วัดโพธิสัตว์บรรพตนิมิต จ.กาญจนบุรี

    เรื่อง กาน้ำพระะธุดงค์​

    เรียบเรียงโดย ครูบาคงสุขศิษย์ครูบาเจ้าบุญคุ้ม

    ภาพพระธุดงค์แบกกลด ถือไม้เท้า และกาน้ำในมือ ซึ่งเป็นบริขารในยามที่ต้องจาริกรอนแรมไปตามป่าลึกถ้ำภู เพื่อแสวงหาสัจธรรมและความวิเวกในการบำเพ็ญตบะบารมีของท่าน คงเป็นภาพที่เราคุ้นเคยเวลาเรานึกถึงพระธุดงค์ขึ้นมา
    ตามประวัติแล้ว แต่ก่อนหลวงพ่อก็เป็นพระธุดงค์องค์หนึ่ง ท่านเคยเล่าเรื่องต่างๆที่ท่านผ่านพบมาตามป่าเขาให้ข้าพเจ้าฟัง เมื่อนึกถึงพระธุดงค์ มันทำให้ข้าพเจ้าคิดถึงธรรมะที่ท่านเคยสอนเรื่องหนึ่งขึ้นมา ซึ่งเป็นเรื่องของบริขารพระชิ้นหนึ่งก็คือ “กาต้มน้ำร้อน” นั่นเอง

    อันดับแรก ลองนึกว่าตัวเราเป็นกาน้ำร้อนดู แล้วจินตนาการภาพตาม เราจะเห็นธรรมะที่หลวงพ่อสอนมากขึ้น
    ภาพไฟในเตาที่ลุกโชนวูบไหว ทำให้น้ำในกาเดือดพล่าน เสียงน้ำเดือดปุดๆ ไอน้ำร้อนพวยพุ่งเป็นควัน สีขาวออกจากปากของกาน้ำและช่องเล็กๆบนฝาปิดเมื่ออุณหภูมิความร้อนขับดัน ชวนให้นึกถึงความรุนแรงของเพลิงโทสะ ความร้อนร่านของไฟราคะ ความพลุ่งพล่านของควันโมหะ และความเร่าร้อนของ อวลไอโลภะ ที่รอคอยการสำแดงฤทธิ์เดชทำลายตัวเราและผู้อื่น เมื่อไฟกิเลสนั้นเผาผลาญจิตใจ
    อาการสั่นสะท้านที่เกิดขึ้นกับกาน้ำก็ไม่ต่างอะไรกับคนเราเวลาถูกอารมณ์ดังกล่าวครอบงำ มันเป็นอาการที่ไม่สงบ อารมณ์กิเลสเหล่านี้เป็นรากเหง้าของความย่อยยับและความหนักทางจิตทั้งมวล
    เวลาเราต้มน้ำ มันคงไม่ต้องมีใครมาบอกเราว่าน้ำเดือดตอนไหน สังเกตดูก็น่าจะรู้ คนเราก็เหมือนกัน เราทุกคนต่างรู้ตัวกันดีว่าเรามีอาการอย่างไร เวลาที่เราตกอยู่ในห้วงอารมณ์แบบนั้น
    ต่างกันตรงที่ เราจะมีสติปัญญาแยกแยะผิดถูกกันออกไหม ว่าหากอารมณ์อันเร่าร้อนปะทุขึ้น เราจะยินยอมปล่อยให้มันออกฤทธิ์ไปตามใจชอบ หรือเราจะระวังระไว คอยใช้สติระงับยับยั้งไม่ให้มันเกิด หรือเมื่อมันเกิดแล้ว จะทำยังไงให้ดับความร้อนได้เร็วที่สุด
    ลองสังเกตดู เวลาน้ำในกากำลังเดือดพลั่ก โดยที่ไม่ต้องมีใครมาเตือน เราจะยกกาน้ำออกจากไฟโดยอัตโนมัติ จุดนี้เองที่เราจะเห็นธรรมะได้อย่างชัดเจน
    เดือดก็ให้รู้ว่าเดือดเพราะอะไร ร้อนก็ให้รู้ว่าร้อนเป็นยังไง
    คนเราถ้าไม่เจอทุกข์ก่อน มันก็มองไม่เห็นธรรม ถ้ามันไม่ถึงที่สุดจริงๆ ก็ไม่รู้จักหยุด ไม่หลาบจำ ไม่รู้เรื่องหรอก ต้องเห็นโลงศพก่อนจึงหลั่งน้ำตา ไม่รู้จักศึกษาธรรมบ้าง พอผลกรรมเข้าประชิดตัว จิตใจก็ท่วมท้นไปด้วยความทุกข์ทรมานและความหวาดกลัวไปแล้ว
    แล้วเหตุไฉนเราจึงไม่ยอมยกกาน้ำเดือดๆ ให้พ้นจากกองไฟกันเล่า หรือต้องรอให้น้ำที่ร้อนจัดๆล้นทะลักออกมาลวกมือตัวเองหรือคนที่อยู่ใกล้ๆให้ได้รับความเจ็บปวดก่อน
    มันเดือดแล้วก็ยกออกเสีย เราจะปล่อยทิ้งไว้ทำไม

    และก่อนที่เราจะยกกาออกจากไฟ เราต้องดูก่อนว่า หูกามันร้อนหรือไม่ ถ้ามันร้อน เราหาผ้ามาจับกันความร้อน คงจะดีกว่าการใช้มือเปล่าจับแน่นอน
    ตรงนี้หมายความว่า สิ่งที่สามารถรับมือกับความทุกข์จิตร้อนใจได้ก็คือ ธรรมะ
    ขณะต้มน้ำ เราอยู่ใกล้ไฟ ใกล้ความร้อน ถ้าเราโดนไอน้ำร้อนลวกมือไปบ้าง ก็อย่าด่วนโมโหโกรธาไป หากทิ้งไว้สักครู่หนึ่ง เดี๋ยวมันก็หายร้อนคลายเจ็บเอง ถึงไอมันจะร้อน มันก็เท่ากับลม มันยังไม่หนักเท่า น้ำร้อนลวกมือ
    ในโลกที่เราอยู่ เราต้องพบปะกับคนหลายหลาก มากก็เป็นคนดี มีไม่น้อยที่ควรอยู่ให้ห่าง นินทา สรรเสริญเป็นเรื่องธรรมดา ไอน้ำร้อนเปรียบเสมือน คำคนนินทาถากถาง ลมปากเสียดสีทิ่มแทง แรงวจี ใส่ร้ายป้ายความ บางทีเราต้องเดินสวนทางกับคนประเภทนี้ หากเราต้องปะทะกับไอลมร้อนไปบ้าง ก็ปล่อยมันไปเถอะ ไม่ต้องไปเดือดร้อนอะไรกับมันหรอก เดี๋ยวมันก็หายไปเอง
    เพราะจะดีจะชั่ว มันขึ้นอยู่ที่เรากระทำ ไม่ใช่ผู้อื่น
    คำใดหากเป็นความลวง บาปกรรมมันก็ตกอยู่กับคนพูดน่ะแหล่ะ

    หลังจากที่เรายกกาน้ำออกมาแล้ว น้ำก็ยังร้อนมากอยู่ หากเราจะถือมันไว้อย่างนั้น มันร้อนยังไม่พอ มันยังหนักอีกด้วย หรือเรามาวางมันลงก่อน น่าจะเป็นการดี
    อะไรก็ตามในโลกธรรมนี้ ไม่ว่ายศถาบรรดามี ตำแหน่งหน้าที่ ทรัพย์สิน คู่ครอง หรือแม้แต่ตัวเอง ล้วนเป็นสิ่งอุปโลกน์และเป็นของที่ไม่เที่ยงทั้งหมด ทุกสรรพสิ่งไม่มีอะไรเป็นเรา เป็นของเรา มันมาอยู่กับเราชั่วระยะเวลาที่เรายังหายใจ พอหมดเวลาเราก็ต้องจากมันไปเอง
    การที่เราจมตัวเองอยู่กับความรัก โลภ โกรธ หลง ทำให้เราหึงหวง ริษยา อาฆาต ก่อกรรมทำร้ายแก่กันอย่างมากมาย เป็นอยู่ด้วยทุกข์ มองสุขไม่เห็น เพราะเราเอาแต่ถือ แบกแต่ตัณหา ยึดแต่ตัวตน นั่นก็ของกู ไอ้นั่นไม่ใช่กู มันเลยวุ่นวายโกลาหลดังที่เป็นอยู่ในโลกปัจจุบัน
    ที่เป็นอย่างนี้ เพราะเราไม่รู้จักสร้างธรรม ไม่รู้จักเข้าหาธรรม รู้จักแต่ความสุขของตัวเอง รักแต่กิเลสของตัวเอง ทำให้เราขาดความเมตตาต่อกัน จิตใจคนเลยบิดเพี้ยน ครอบครัว สังคมก็เปลี่ยนแปลงสั่นคลอน นั่นเพราะเราขาดธรรม จึงทำให้ไอความหลงผิดเข้าบดบังปัญญา
    หากเราหันหน้าเข้าหาวัด หันหูเข้าฟังธรรม ทำจิตใจของเราให้ดี อย่าเอาแต่ถือสิ่งที่ไม่ดีไว้ กล่าวอีกอย่างคือ เราไม่ได้ถือเอาธรรมเป็นที่พึ่ง แต่ยึดถืออธรรมไว้แทน

    คำว่า “อธรรม” คือ ไม่ใช่ธรรม “ธรรมะ” คือ ความสุขสงบ ความเห็นถูก เช่น การฝ่าฝืนศีลทั้ง๕ประการซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ทำให้เราอยู่ด้วยกันอย่างผาสุกจะทำให้เกิดปัญหาต่างๆตามมา การทำให้คนอื่นเดือดร้อน เศร้าโศก ต้องสูญเสียสิ่งที่เขารักไปนั้นไม่ใช่ธรรม ความสุขอันใดได้มาด้วยความไม่ถูกต้อง สิ่งนั้นไม่ดี เพราะเป็นทุกข์แก่ผู้อื่นและเป็นบาปกรรมแก่ตัวเอง
    ความทุกข์และบาปกรรม ถ้าไม่ละ ไม่ทิ้งเสีย มันก็หนักอยู่ที่เราผู้เดียว จึงให้เราหันมามองตัวเอง สิ่งใด ไม่ดีที่เรากำลังกระทำอยู่หรือเคยได้กระทำมา ก็ขอให้เราวางมือ ทุกข์ เวทนาอันใดมันก็หนักอยู่ที่ความคิด อยู่ที่จิตใจเรา ขอให้พยายามวาง มองทุกสิ่งให้เป็นธรรมแล้วหัดปลง มันจะเบาเอง

    ต่อมาเมื่อวางกาน้ำร้อนลงเรียบร้อยแล้ว หากเราต้องการจะดื่มมัน ก็อย่าเพิ่งใจร้อน น้ำยังร้อนจัดอยู่ ถ้ารีบดื่มไปไม่ระวัง มันจะลวกปากให้พองเอา ทำใจเย็นๆ รอให้มันอุ่นสักหน่อยค่อยดื่มจะดีกว่า
    รัก โลภ โกรธ หลง เปรียบเสมือนน้ำร้อน ใครชอบดื่มน้ำกิเลสนี้ จิตใจจะมีความเร่าร้อนมาก จะมีความกระสับกระส่าย หงุดหงิด เป็นทุกข์อยู่เสมอ วาระจิตจะตกต่ำเป็นนิจ
    ควันไอของรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสต่างๆที่ล่องลอยแวะเวียนมากระทบอายตนะของเรา ให้เกิดความรักใคร่หรือความชิงชังพยาบาท เมื่อเราสูดเสพควันไอกิเลสเหล่านี้เข้าไปบ่อยๆ เราจะสำลักและจะสำรอกออกมาด้วยพิษของความเจ็บป่วยทางใจในที่สุด
    คนที่ป่วยทางใจมักไม่นิยมใช้ธรรมะแสวงหาความสุข แต่ชอบใช้ความถูกใจหาสุขที่ไม่จริง ชีวิตจึงอบอวลไปด้วยไอกิเลสอยู่ในลมหายใจ ถ้าลมเข้าเป็นทุกข์ ลมที่ออกจึงเป็นสุขไปไม่ได้
    เมื่อลมเข้า-ออก คือ ลมทุกข์ ชีวิตจึงดำเนินไปด้วยทุกข์เหมือนกัน มันไม่ต่างอะไรกับกาซึ่งไม่มีน้ำอยู่ภายใน ที่ตั้งอยู่บนกองไฟดีๆนี่เอง
    ลองคิดดู ถ้าปล่อยให้กาใบนั้นถูกไฟเผาผลาญไปเรื่อยๆจะเกิดอะไรขึ้น
    แล้วลองคิดว่า กาน้ำเป็นจิตใจของเราดูสิว่ามันจะเป็นอย่างไร
    คงคาดเดาได้ไม่ยากเย็นนักว่า ทั้ง “กาน้ำ”และ“จิตใจ” คงมีสภาพไม่ต่างกันนักคือ ไหม้เกรียม แตกสลาย

    เมื่อมี “เกิด” ก็ต้องมี “ดับ” ไม่ใช่ทางแก้ไขจะไม่มี
    หากจะดับ “ไฟ” ก็ต้องใช้ “น้ำ”
    ฉันใด ฉันนั้น เมื่อใจเรามีความทุกข์ เราต้องใช้ธรรมะดับลงเท่านั้น
    “กุสะลาธัมมา อกุสะลาธัมมา” โลกของเรานี้ปะปนทั้งคนดีและคนไม่ดีอยู่ร่วมกัน ย่อมมีทั้งสิ่งมงคลและสิ่งอัปมงคลให้พานพบ เราต้องเจอทั้งเรื่องที่เราพอใจและไม่พึงพอใจเป็นธรรมดา มันอยู่ที่เราจะทำอย่างไร ให้ใจมีสุขด้วยความถูกต้อง ไม่เป็นบาป
    สิ่งใดที่เป็นความดีก็ให้กระทำ สิ่งใดที่ไม่ดี ไม่ว่าเรากระทำเองหรือผู้อื่นกระทำต่อเรา ผู้มีปัญญาควรหลีกเลี่ยง ไม่ควรพยาบาท ควรให้อภัย แล้วปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกฎแห่งกรรมไป
    ดังนั้นเพื่อให้เรามีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุข จึงให้เราหมั่นเติมธรรมะลงสู่จิตใจ ให้เรามีปัญญารู้เท่าทันตัวเองว่าอันใดจะทำให้เราเร่าร้อน ไม่เป็นสุข และอันใดจะนำมาซึ่งความร่มเย็นแก่เราได้
    ธรรมะจะบอกความเป็นจริงของชีวิต บอกทั้งเย็น-ร้อน มืด-สว่าง มันอยู่ที่เราจะเลือกอยู่ ณ จุดใด
    ผู้ใดใช้ชีวิตโดยไม่มีธรรมเคียงคู่ ผู้นั้นย่อมอยู่เป็นสุขยาก เพราะการเลือกอยู่ผิดที่ผิดธรรม
    เราหลงในสิ่งลวงหลอก เราก็ไม่พบความจริง เราเห็นแต่ตัวกู เราจึงไม่รู้ตัวเรา
    หลวงพ่อสอนว่า ถ้าเรามีปัญญา เราจะเห็นสุขทุกข์ด้วยตนเอง เห็นว่าอะไรจริง อะไรลวง และธรรมะ คือ ศาสตราวุธเดียวที่มีอานุภาพในการต่อกรฟาดฟันกับมารกิเลสตัณหาและผีอวิชชาได้เด็ดขาดที่สุด

    ธรรมะจะให้ ”ศีล” บอกทางหยุดอกุศลทั้งปวง
    ธรรมะจะเตือน ”สติ” ยับยั้งไม่ให้เราสร้างบาปทั้งความคิด คำพูด และการกระทำ
    ธรรมะจะประคอง “สมาธิ” ให้เราตั้งมั่นอยู่ในบุญกุศล เดินลมหายใจเข้า-ออกด้วยความดีและความสงบ
    ธรรมะจะก่อ “ปัญญา” เกิดดวงตาเห็นธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนว่า กิเลสก่อทุกข์ การเกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นทุกข์ เห็นว่าการออกจากทุกข์และพระนิพพานคือ สุขนิรันด์

    พระธรรมเป็นทั้งตัว “เปิด-ปัด-ปิด” ในหนึ่งเดียว
    พระธรรมเปิดประตูสู่ความสุข สงบ สว่าง สู่ความรู้แจ้งในปัญญา
    พระธรรมป้องปัดความชั่วร้าย ความมืด ความอัปมงคลให้สิ้นไป
    พระธรรมปิดหนทางการกำเนิดแห่งอาสวะในจิตทั้งปวง

    หลวงพ่อบอกว่า พระพุทธเจ้าท่านปูทางไว้ให้เราหมดแล้ว แต่ใครเล่าจะเดินไปตามทางที่ท่านสร้างไว้โดยไม่หลุดออกจากวิถี หรือไปโดยไม่ย้อนกลับมาอีก
    หลวงพ่อยังสอนอีกว่า “ทางออก” มันมีอยู่แล้ว ลองมองที่กาน้ำแล้วจะเห็น
    กาน้ำทุกใบมันมี “ปาก” เอาไว้เทถ่ายน้ำออก เมื่อเราไม่ได้เทน้ำออก น้ำมันก็ขังอยู่ในกา มันไปไหนไม่ได้ มันเลยหนักกาอยู่อย่างนั้น
    เหมือนกันกับเรื่องทุกข์ข้างในใจ เราโกรธ เราโศกเศร้า เรามืดมนมามากพอแล้ว อย่าไปยึดยื้อหรือเสียดายเลย เทมันทิ้งให้หมด กาน้ำของเรา มันไม่มีใครมาเทให้ได้นอกจากเรา เพราะกาใบนี้มันอยู่ข้างใน

    ถ้ายังถือกาที่มันหนักแล้วต้องเดินไปข้างหน้า มันลำบาก หากเททิ้งได้ มันก็เบา เดินสบาย
    ทุกสิ่งคือปัจจุบัน อดีตที่มันชอกช้ำ จงทิ้งมัน
    อนาคตคือผลของวันนี้ ถ้าปัจจุบันยังแบกทุกข์ต่อไปเราจะหนัก หากปัจจุบันเราเดินไปพร้อมธรรม อนาคตเห็นเบา เห็นสุขแน่นอน
     
  2. จิม

    จิม เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    87
    ค่าพลัง:
    +123
    สามารถติดตามธรรมะ ภาพบรรยากาศกิจกรรมและข่าวสารของวัดได้ที่
    หรือ https://www.facebook.com/KrubachaoBoonKhoom?fref=ts
    และ https://www.facebook.com/profile.php?id=100002979183926

    -พระธรรมเทศนา [ame=http://www.youtube.com/watch?v=MFptrxUvTqw]ครูบาเจ้าบุญคุ้ม วัดโพธิสัตว์บรรพตนิมิต พระธรรมเทศนา - YouTube[/ame]
    -พระธรรมเทศนา 2 [ame=http://www.youtube.com/watch?v=MrdpspW-Hvo]ครูบาเจ้าบุญคุ้ม วัดโพธิสัตว์บรรพตนิมิต พระธรรมเทศนา 2 - YouTube[/ame]
    -ครูบาเจ้าบุญคุ้ม เทศน์น่าฟัง [ame=http://www.youtube.com/watch?v=vcdodRQTSyE]ครูบาเจ้าบุญคุ้ม เทศน์น่าฟัง - YouTube[/ame]
    -ครูบาเจ้าบุญคุ้ม ส่องธรรม2 [ame=http://www.youtube.com/watch?v=Rl52xca-YSU]ครูบาเจ้าบุญคุ้ม ส่องธรรม2 - YouTube[/ame]
    -ครูบาเจ้าบุญคุ้ม02 [ame=http://www.youtube.com/watch?v=-B0m58IbXfs]ครูบาเจ้าบุญคุ้ม02 - YouTube[/ame]
     

แชร์หน้านี้

Loading...