ธรรมะมีอันเดียว หลวงพ่อชา สุภัทโท

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย jinny95, 15 พฤศจิกายน 2010.

  1. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    ธรรมะมีอันเดียว


    หลวงพ่อชา สุภัทโท


    ธรรมบรรยายเมื่อ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๓๓ โปรด Sister โรงเรียนอาเวมารีอา
    [FONT=&quot]

    ในเบื้องแรกจะพูดถึงเรื่องกระทำให้จิตใจสงบจะทำอย่างไร ต่อไปอธิบายธรรมะ ธรรมะมีทุกๆ ศาสนา เพื่อความสงบ แต่ก็มีวิธีการต่างๆ กันไปบ้างเล็กๆ น้อยๆ จะพูดถึงเรื่องจะทำให้จิตใจสงบ จิตเรานี้มันคืออะไร
    [/FONT]
    ? อยู่ตรงไหน? อันนี้ตอบยาก จิตนี้มันก็ไม่คืออะไร ก็เพราะมันไม่เป็นอะไร ความรู้สึกในก้อนอันนี้ อะไรเป็นคนที่นำไปนำมา เป็นคนที่รับรู้ เป็นคนที่รับรู้อารมณ์ คนนั้นแหละเจ้าของบ้าน


    อย่างโยมมาวันนี้ ใครมาต้อนรับ ก็อาตมานี้แหละเจ้าของบ้านมารับโยม ก็เพราะอาตมาอยู่ตรงนี้ จิตนี้ก็เหมือนกันฉันนั้น อารมณ์ทุกอย่างมันมากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจใครเป็นคนที่รับรู้คนนั้นแหละสมมุติกันเรียกว่าผู้รู้ เราต้องการอบรมคนนั้น ต้องการอบรมคนที่รับรู้อะไรต่างๆ ต้องการคนนั้น อันนั้นก็มันคืออะไร? ที่สมมุติเขาเรียกว่าจิตบ้าง ผู้รู้บ้าง สารพัดอย่าง จะหาตัวจริงแล้วก็ไม่มีอะไร เหมือนกรุงเทพฯ มีหรือไม่มีก็ไม่รู้จักกรุงเทพฯ แต่ชื่อกรุงเทพฯเห็นแต่คน บ้านเรือน ไม่รู้ว่ากรุงเทพฯอยู่ตรงไหน จะว่ากรุงเทพฯมีหรือไม่มีก็ไม่รู้ ดูเอา จิตใจนี้ก็เหมือนกัน จะว่ามันมี ใครเป็นผู้รับรู้อะไรต่างๆ ซึ่งเห็นทางตา ได้ยินทางหู ใครเป็นคนรับรู้ ต้องการอบรมคนนั้น คนนั้นเรียกว่าผู้ที่รับรู้ คนรู้นั้นฉลาดไหม? รู้ผิดรู้ถูกแล้วหรือยัง? ต้องการคนนั้น


    ที่เราอบรมนี้ไม่พูดถึงศาสนาใดๆ พูดถึงคนทุกๆ คน มันเป็นอย่างนั้นทุกคน ต้องอาศัยอันนั้น ในทางพุทธศาสนาต้องการอบรมคนนี้ ให้เกิดความฉลาด เกิดปัญญา เกิดความรู้ขึ้นมาทับความรู้สึกอันเก่า ซึ่งเป็นความรู้ธรรมดาๆ มันชอบตรงไหนมันก็รัดตรงนั้นมันชอบตรงไหนมันก็ติดตรงนั้น มันตะครุบทั้งนั้น เหมือนเด็กปล่อยไปก็จับตะครุบทั้งนั้น คือมันยังไม่รู้เรื่อง อันนั้นเรียกว่าผู้รับรู้เฉพาะคนปกติธรรมดา อย่างนั้นจึงมีความผิด ความเดือดร้อน ไม่รู้จักแก้ ละวาง เพราะเป็นธรรมชาติของเด็ก


    บัดนี้ผู้ที่ต้องการความสงบ ท่านไปพบแล้วให้รู้เรื่องสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นตามความเป็นจริง และก็สอนคนๆ นั้น อันนี้ท่านเรียกว่าจิตผู้รู้ ถ้าเรารู้จักคนนี้คือใคร อย่างนั้นต้องรู้ด้วยปัญญา จะถามปัญหาว่ากรุงเทพฯอยู่ไหน? อยู่โน่น ไปดูทั้งวันไม่เห็นกรุงเทพฯทั้งหมดเรียกกรุงเทพฯ หากรุงเทพฯจริงๆ ไม่รู้จัก จิตเราก็เช่นกัน ที่เรียกว่าจิตอยู่ตรงไหน? แต่เราก็พอรู้สึกได้ทุกคน ท่านอบรมอย่างนั้น


    ฉะนั้นเบื้องต้นของการอบรม เรียกว่าคนรู้คนนี้ยังมีจิตสกปรก ไม่รู้ความเป็นจริงเหมือนเด็ก เปรียบเหมือนผ้าของเราที่มันสกปรก คือไม่สะอาด ความสะอาดอยู่ตรงไหนความสะอาดก็อยู่ตรงที่มันสกปรกนั่นเอง ไม่ได้อยู่ที่ไหนถ้าเราเอาความสกปรกออกก็เห็นความสะอาด ไม่ต้องหาไกล อยู่ตรงนั้น เราจะรู้สิ่งทั้งหลายได้ เราก็ค้นที่ตรงนั้นเองที่เขาเรียกว่า จิต ที่รู้ตามความจริง ความจริงที่เรียกว่าสัจจธรรม ทุกๆ คนไม่ได้แต่งตั้งบัญญัติขึ้นเอง แต่มีอยู่อย่างนั้น แม้แต่ครูอาจารย์ในศาสนาใดๆ ก็มิได้ตั้งขึ้นมา คือสัจจธรรม พระเจ้าองค์ไหนๆ ก็ตาม รู้ก็ตาม ไม่รู้ก็ตาม ความจริงก็เป็นอยู่อย่างนั้น เราไปเห็นเข้าจะร้องไห้หรือหัวเราะก็ตามที จะชอบไม่ชอบก็ตาม สัจจธรรมก็คงเป็นธรรมชาติอยู่อย่างนั้น ท่านจึงฝึกให้เรารู้จักสมมุติบัญญัติ


    ในทางพระพุทธศาสนานี้มีกาย วาจา จิต เป็นพื้น ทุกคนเกิดมามีพร้อมเลยทั้งหมดก้อนนี้เรียกว่ากายวาจาคือคำพูดจิตคือผู้รู้ทั้งหลายคุ้มครองอยู่ นี่เป็นพื้นฐานจริงๆ เมื่อเราจะปฏิบัติธรรมะให้มีความสงบ การทำความสงบก็ต้องมาทำพื้นฐาน กายธรรมดาของเรากาย การเบียดเบียนฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม ก็เนื่องมาจากกาย บรรพบุรุษรู้มาก็พยายามละสิ่งที่มันผิดนั้น คือล้างสกปรกให้สะอาดวาจา พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ ที่มีอยู่ในจิตใจของใคร ให้ละอันนั้นคิด โลภ โกรธ หลง พยาบาท อาฆาต ที่มีอยู่ในความรู้สึกของเรานั้น ก็พยายามทำให้หมดไป เราจะเห็นจิตที่บริสุทธิ์ เช่นว่าน้ำที่มันกระเพื่อมอยู่ แต่เราอยากเห็นตัวเราจะทำอย่างไร เรามองลงไปก็ไม่เห็น น้ำกระเพื่อมทำน้ำให้นิ่ง ก็จะเห็นหน้าตาเพราะมีกำลัง อย่างที่เรียกว่ามองเห็นตัวเราเอง สัตว์ต่างๆ ผ่านมาเราก็จะรู้จักหมด เพราะอาศัยความนิ่งใครอยากเห็นตัวเองก็ทำอย่างนั้น เป็นอุบายอันหนึ่งก็ให้อบรมตรงนี้พื้นฐานคือทำกายวาจาจิตให้บริสุทธิ์คือให้มันไม่มีโทษไม่มีความผิด ในสามอย่างนี้เป็นพื้นฐาน สมกับที่บุคคลนั้นจะบำเพ็ญจิตให้สงบ อันนี้เป็นพื้นฐาน ทีนี้ต่อไปลงมือทำอย่างไร


    ความรู้สึกที่เรียกว่าจิตของเรานี้ บางคนก็ว่าจิตของฉันมันมากเหลือเกิน เดี๋ยวมันไปโน่น ไปนี่ สารพัดอย่างจิตนี้มันเป็นของไม่อยู่นิ่งมันชอบคว้าอันนี้ยึดอันนี้วุ่นวายเกิดความไม่สงบ ฉะนั้นเราต้องการอันนี้ให้สงบ วิธีนี้ท่านว่าทำจิตให้มันนิ่ง คือทำน้ำให้มันนิ่ง เอาอะไรเป็นหลัก กาย วาจา ใจ เอาอะไรเป็นหลักที่เราจะต้องทำ วันนี้จะพูดว่าเอาลมเป็นหลัก ลมในทางพุทธศาสนาเรียกว่าอานาปานสติซึ่งเป็นมงกุฎของกรรมฐานทั้งหลาย มีในทุกๆ คน และเป็นของง่าย เพราะธรรมดาเราก็หายใจเข้าออกอยู่แล้ว ไม่ต้องจำเป็นที่จะไปกำหนดอันโน้นอันนี้มากๆ พอเราหลับตาเข้าไป ก็รู้สึกกำหนดลม รู้ลมหายใจเข้า หายใจออก


    ให้ทำความรู้รวมอยู่ในอันนี้ ในลมอันนี้ ดูซิใครลืมไหม? ลมอันนั้นแหละ ไม่ต้องไปยึดเอาเสียงอื่นๆ เข้ามา เอาตรงนั้นพยายามทำ ไม่ต้องคิด หรือคิดก็ไม่ต้องเอาใจใส่ว่ามันจะรู้อะไร หรือว่ามันจะเห็นอะไร อย่าให้มันแยกออกไป เราจะกำหนดลมหายใจ หายใจเข้า หายใจออก หายใจเข้าไปต้นลมอยู่ที่จมูกกลางลมอยู่ที่หทัยปลายลมอยู่ที่สะดือ จบตรงนั้นเมื่อลมจะออกมาก็กำหนดลมอยู่ที่สะดือลมผ่านมาหทัยปลายลมอยู่ที่จมูก อันนี้เป็นที่สังเกต อันนี้จมูกก็มีอยู่แล้ว หทัย สะดือก็มีแล้ว จมูกก็รู้จัก ลมก็รู้จัก เบื้องต้นท่ามกลาง ที่สุด สามฐาน หายใจเข้าไปปลายจมูก หทัย สะดือ เท่านี้ ทำความรู้สึกเท่านี้แล้วก็นั่งในท่าสบายก็ได้ คือขัดสมาธิ เพราะนั่งอย่างนี้เลือดลมวิ่งสะดวก แล้วทำกายให้ตรง มือขวาทับซ้าย ขาขวาทับขาซ้าย ตั้งกายตรง กำหนดลม ลมนี้จะผ่านเข้าต้นลม กลางลม ปลายลม ออกก็ผ่าน เรารู้จักหายใจเข้าตรงนี้ ตรงนี้ ตรงนี้ ออกก็กำหนดรู้


    ลมในฐานทั้ง ๓ นี้ ให้รู้สึกลมนี้ อย่าไปทำให้มันยาวอย่าบังคับให้สั้นอย่าให้แรงปล่อยกายจิตผู้รู้ให้มันสบายแล้วก็สูดลมเข้าไป ความรู้สึกตามลมเข้าออกนี้ความรู้สึกในระยะนั้นมันจะเกิดขึ้นหลายอย่าง แต่อย่าเอาใจใส่ ความรู้สึกจะกำหนดว่ามันจะรู้อะไรไหม? มันจะเป็นอะไรไหม? อย่าตามมันไป ให้กำชับเสมอว่า เราจะรู้สึกปลายจมูก หทัย สะดือ ตามกำหนด สั้นก็ไม่เอา ยาวก็ไม่เอา เอาพอดี ตั้งใจกำหนดลมเสมอเรื่อยๆ จนชำนาญแล้ว ต่อไปมันจับตรงนี้มันหยาบรำคาญ ก็มากำหนดที่จมูกจุดเดียว ลมเข้าออกไม่ต้องตาม จนกว่าสติสัมปชัญญะรวมกันเข้ารวมกันก็เห็นลมก็เห็นจิตเห็นจิตก็เห็นสติเห็นสติก็เห็นสัมปชัญญะ รู้รอบอยู่เสมอ แล้วก็หยุดอยู่ไม่ต้องขวนขวายอย่างอื่นเลย เบื้องแรกทำดังนี้


    หลับตาพอมันจรดกันเท่านั้น ไม่เกร็ง ทำความรู้สึกกับลมหายใจ ทำดังนี้เรื่อยไป และก็เดินจงกรมบ้าง กำหนดเอาต้นเสาสัก ๕-๖ วา โดยทำเช่นนี้เพื่อเปลี่ยนอิริยาบถทั้ง๔ ให้มีสติว่าอะไรเป็นอะไรในตัวเอง ค่อยๆ ก้าวไปนึกรู้มีสติทุกเมื่อนี่คือต้นทางกลางทางปลายทาง เดินไปมาอยู่อย่างนั้นถ้ามันฟุ้งซ่านก็หยุดกำหนดใหม่แล้วเดินต่อไปเหนื่อยก็ พักมีสติอยู่เสมอ รู้จักเจ้าของเสมอๆ ในระยะการถูกบังคับของผู้รู้นี้ มีการส่าย ฟุ้งซ่าน ปรุงแต่งเรื่องราวหลายๆ เรื่องเกิดขึ้นมา ให้นึกว่าสักแต่ว่าจิต อย่าไปยึดมั่นในความเห็นของเราจนเป็นอุปาทาน อย่าไปยึดมั่นในความเห็นของคนอื่นจนเป็นอุปาทาน ที่มีความรู้สึกเห็นขึ้นมาก็ปล่อย ความดีใจเกิดขึ้นมารู้แล้วก็สักว่าดีเฉยๆ สุขนี้ก็เรียกว่าสุขเวทนา เราก็ปล่อย ทุกข์เกิดขึ้นเมื่อเดิน นั่ง นอน ให้รู้จักว่าอันนี้สักว่าทุกขเวทนา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา แล้วก็วาง การนอนกำหนดลมในท่าสีหไสยาสน์ตะแคงขวา ทำความรู้สึกว่าเราจะไม่เอาความสุขในการนอนการนอนนี้ไม่ใช่จิตมันนอนคือร่าง กายเข้าไปพักผ่อนถ้าจิตมันรู้เต็มที่ของมันแล้วจิตไม่นอนอย่างนั้นผู้ที่รู้ แล้วเป็นต้นไม่มีฝัน ฝันไม่ได้คนตื่นจะไม่ฝัน ไม่มีอะไร อย่างเรากำหนดจะพักสัก ๒ ชั่วโมง พอถึง ๒ ชั่วโมง มันก็ตื่นขึ้น เมื่อตื่นขึ้นมาก็มีความรู้สึกอย่างแจ่มแจ้ง ใจสบาย มันตื่นจากจิตนี่ก่อน ลืมตาก่อน เมื่อมันจะตื่นที่จิตก่อน แจ้ง สงบอยู่ อย่าไปเชื่อมั่นในความคิดของเราจนเกินไป อย่าเข้าใจว่ามันผิดมันถูก อย่าเชื่อ อย่าไม่เชื่อเพราะคนอื่นพูด จนกว่าจะรู้แจ้งแก่ตน จึงให้ยึดหลักอันนี้ไว้ ผู้ประพฤติปฏิบัติต้องนึกอย่างนี้


    การฝึกธรรมก็คือทำจิตให้สงบเป็นสมาธิ อย่าให้สูงนัก อย่าให้ต่ำนัก วางไว้เฉพาะพอดี อย่าไปบังคับมาก เช่นบังคับมาก คือบังคับลมมาก บังคับกายมาก บังคับความคิดมาก วางไว้พอดี ให้รู้จักว่าหูให้ได้ยิน แล้วให้จิตมันรู้เท่านั้น มันจะเก็บเข้าไปเองของมัน ถ้าเราฟังดีมันจะเกิดปัญญา ฟังนี้ไม่ต้องเปรียบเทียบอะไร ฟังโดยรู้อยู่ในความสงบเฉยๆ อันนี้ความรู้จึงจะเกิดขึ้นในความสงบ พูดถึงรากฐานที่เราต้องการจะปฏิบัติ เราอาศัยก้อนที่เรานั่งนี้เป็นอยู่ ที่เรียกว่าขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ


    รูป
    ก็ได้แก่สภาวะที่เรามองเห็นด้วยตาเป็นรูป เวทนาคืออย่างที่เรานั่งเกิดร้อนเจ็บปวดเรียกว่าทุกขเวทนา เกิดขึ้นกับรูปนี้จิตเป็นคนที่จะรู้จัก สัญญาความจำจำวันนี้พรุ่งนี้สังขารความนึกคิดปรุงแต่งสารพัดอย่างจิตใจของเรานั้นมันจะปรุงแต่ง ปรุงในสิ่งที่มันเหมาะสม ในสิ่งที่ไม่เหมาะสม มันสั้นเราจะปรุงให้ยาว มันยาวเราจะปรุงให้มันสั้น อะไรทั้งหลายเหล่านี้เป็นเรื่องปรุงแต่ง วิญญาณผู้รู้ซึ่งนามธรรมซึ่งมันอาศัยในรูปนี้ ปัจจุบันมันรู้ทุกอย่าง ทุกประเภท เรียกว่ามันรู้ นี่เรียกว่าวิญญาณ


    ย่นย่อทั้ง ๕ อย่างนี้ว่า มีกายกับใจเท่านี้เองใจคือสภาวะที่รู้สึก ทุกคนอาศัยอยู่กับรูปนาม ที่เราจะมีความสงบก็เพราะรู้รูป-นาม มีความทุกข์มากมายก็ไม่รู้จักรูปนามตามความเป็นจริง คือเราไม่รู้จักทุกข์ คือคนเรานี้รู้จักทุกข์ทุกคน แต่รู้แล้วโยนทิ้งไม่ได้ รู้แล้วก็แบกไว้ เพราะอะไร? ไม่รู้จักทุกข์ถ้าเรารู้จักทุกข์มันก็รู้จักปล่อยมันร้อนก็ต้องโยนทิ้งใครบอกก็ไม่เชื่อนี่เรียกว่ามีตัวอุปาทานยึดไว้ ที่ปฏิบัตินี้ก็เพื่อให้รู้จักทุกข์ ทุกข์อันนี้เกิดมาแล้ว กายก็ไม่สบาย เพราะความสบายนั้นคือความที่ว่าไม่มีทุกข์ อยู่ด้วยความสงบ ที่เราจะมีความสงบ จะได้ความสงบนั้น มันไม่ใช่ภูเขา แม่น้ำ ป่าชัฏความสงบจะมีขึ้นเพราะความเห็นชอบด้วยปัญญา


    เราจะอยู่ตรงไหนก็สงบ คือเรารู้จักทุกข์ ทุกข์นั้นคือความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ เกิดมาแล้วทุกข์ก็มีรากฐานที่จะเกิดขึ้นมา เหตุให้ทุกข์เกิด ถ้าไม่มีเหตุทุกข์ก็ไม่เกิด ทุกข์นี้เกิดมาจากเหตุ จะเป็นรูปนามที่ไหนก็ตามทุกข์นี้ปรากฏ ฉะนั้นพุทธศาสนานี้มาแสดงให้รู้จักทุกข์ ตามภาษาและตามเป็นจริงนั้น ธรรมที่เราติดกันมาทุกรูปทุกนามนี้มันก็เหมือนกันถ้าเราไปรู้ความเป็นจริงมันแล้ว มันจะไม่มีอะไรที่โต้แย้งกันเลย ไม่มีอะไรเถียงกันเลยมันจะเป็นอันเดียวกันคือธรรมชาติ เปรียบได้กับสุนัข มันไม่เปลี่ยนแปลง ไปพบที่ไหนๆ ก็เหมือนกันหมด มันจะเปลี่ยนแปลงเฉพาะมนุษย์เราเท่านั้น ของที่ไม่เปลี่ยนแปลงมีอยู่ แต่คนเรามันเปลี่ยนแปลงกัน หลงสมมุติ เช่นว่า ศาสนาทุกศาสนาแสดงถึงความสงบกัน แต่ว่าการหาความสงบนั้นมีวิธีการต่างกัน แต่ความสงบเป็นอันเดียวกัน แต่อาการต่างกัน


    ไอ้ความร้อนนี่ต้มน้ำร้อนขึ้นมาให้ฝรั่งจับจะรู้สึกว่าร้อนคนจีนจับก็ร้อนคน ไทยจับก็ร้อนเหมือนกันแต่จะพูดคำที่ว่าร้อนไม่เหมือนกันเท่านั้นมีอาการ เหมือนกัน ก็เลยมาแย้งตรงคำพูด ของฉันไม่เหมือนคุณ คุณไม่เหมือนฉัน ของฉันถูก ของคุณผิด


    ตามธรรมชาติแล้วความจริงคือสัจจธรรมเหมือนกัน จะเป็นใครมาเห็นมันก็เหมือนกัน เราทุกคนก็เช่นเดียวกันทุกข์เกิดขึ้นมารู้เหมือนกันรู้ว่าทุกข์แต่ว่ารู้แล้วทิ้งทุกข์ไม่ได้ พระท่านว่าอย่างนี้ไม่ใช่รู้ทุกข์ คนไปประสบทุกข์เฉยๆ ถ้ารู้ก็ต้องทิ้งได้ เมื่อรู้อย่างนี้จริงๆ ก็ต้องจำที่เกิดมันด้วยว่ามันเกิดจากอะไร ทุกข์มีขึ้นเพราะอะไร เมื่อรู้จักทุกข์ เรารู้จักชัดแล้วก็ไม่สร้างมันขึ้นมา เช่นเรารู้ว่าไฟมันร้อนจับแล้วเกิดทุกข์ ถ้าจับเดี๋ยวนี้จะร้อนเดี๋ยวนี้ นั่นเรียกว่าเป็นตัวเหตุ เราไม่ทำ รู้จักทุกข์ รู้จักเหตุเกิดของทุกข์ เช่นว่า ทุกข์เกิดขึ้นมาเพราะอุปาทานความหมายมั่นเป็นเหตุให้ทุกข์เกิด เราให้รู้เข้าไปถึงว่ารู้จักทุกข์แล้วรู้จักเหตุทุกข์รู้จักความดับทุกข์รู้จักข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เช่นเรายกแก้วขึ้นใบหนึ่ง แก้วนี้เป็นของมีประโยชน์ แต่บุคคลให้รู้จักใช้ ใส่น้ำยกขึ้นมา แต่ให้รู้ว่าภาชนะนี้ภายหน้าต้องตกแตก แก้วแตกแล้วเห็นชัดตอนที่ยังไม่แตก หรือรู้ว่าชีวิตข้างหน้านี้มันไม่เที่ยง จะต้องดับในวันใดวันหนึ่ง เรารู้สึกเช่นนี้เราเห็นคนเกิดคนตายพร้อมกันมีเกิดมีดับพร้อมกัน เรารู้อย่างนั้นแล้วแก้วใบนี้จะพ้นจากพิษภัย...ทำไม?เพราะรู้เหตุทุกข์จะเกิด


    บัดนี้เราเรียนรู้แล้วเห็นลึกเข้าไปเกินธรรมชาติ นี้เรียกว่าการเห็นธรรมะ ถ้ามันแตกทุกข์ก็จะไม่เกิด เพราะเรารู้แล้วมันจะเกิดทุกข์เมื่อแก้วแตกเรารู้แตกก่อนแตก ส่วนพวกเราขณะนี้รู้แตกทีหลังแตก เมื่อแก้วแตกก็เป็นทุกข์ที่ไม่เสียใจเพราะอะไร?เพราะฉันถอนอุปาทานออกจากตรงนั้นแล้วอุปาทานคือความมั่นหมายว่าเราว่าของเราเราเห็นเหตุเช่นนี้ทุกข์จะเกิดขึ้นไม่ได้ ธรรมทั้งหลายเกิดมาจากเหตุ ความสงบจะเกิดขึ้นมาก็เพราะมันมีเหตุ เมื่อเรามารู้เหตุธรรมทั้งหลายเหล่านี้แล้ว สิ่งอื่นไม่ต้องรู้มันเลยก็ได้ อันนี้เราเรียกว่า เรารู้จักธรรมชาติเพราะเราเห็นทุกข์ รู้จักความดับทุกข์ รู้จักข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์คือทำอย่างไร? คือทำความเข้าใจให้รู้ชัดเข้าไปแล้วว่าแก้วใบนี้ก็เหมือนคนคนก็เหมือนแก้วใบนี้ ถ้าคนรู้จักเกิดแล้วก็รู้จักตาย ถ้ารู้จักตายก็รู้จักเกิด ความเกิดนั้นเห็นปุ๊บก็รู้จักความตาย มันเกิดมาแต่เหตุถ้าไม่มีเหตุผลก็ไม่มี ถ้าหากว่าก่อนมันจะดับผลนี้ มันต้องดับเหตุก่อน


    ฉะนั้นเรื่องการทำภาวนาที่ทำดังนี้เพื่อให้เห็นปรมัตถธรรมตามเป็นจริงจริงจน เมื่อไปเห็นแล้วทุกข์มันเกิดขึ้นไม่ได้เพราะได้เห็นแล้วสุขทุกข์ก็เกิดขึ้น ไม่ได้เพราะความรู้สึกของเราอยู่เหนือมันเสียแล้ว นี่เป็นทางของพระโยคาวจรเจ้าผู้ปฏิบัติ โดยมาก ก็สมกับที่ว่าเป็นนักบวช นักแสวงหาทางพ้นทุกข์ อยากจะพ้นภัยด้วยกันทั้งนั้น ความเป็นจริงมันมีอันเดียวกันอยู่อย่างนี้ ไม่ต้องมีอันอื่นเลย รู้ทาง ๔ อย่างเท่านี้ รู้จักทุกข์รู้จักเหตุเกิดของทุกข์รู้จักความดับทุกข์รู้จักข้อปฏิบัติให้ ถึงความดับแห่งทุกข์ ๔ ประการนี้พอแล้ว ไม่ต้องไปรู้คัมภีร์อะไรมากมายนัก ฉะนั้นพวกเราทั้งหลายที่มาฝึกจิต จิตที่มันเป็นอยู่อย่างนี้ ให้ตามรู้ของมันเสีย ตามดูจิตให้รู้จักจิตของตน และรู้จักสั่งสอนจิตของตน


    ฉะนั้นที่เราอบรมผ่านมาในวันนี้ จึงให้ความเห็นว่าการทำสมาธิคือทำจิตให้มีอารมณ์อันเดียวแล้วมีกำลัง การทำจิตนี้ให้มีกำลังจะต้องทำจิตให้หยุดหยุดคิดหยุดนึกหยุดวุ่นวาย สารพัดอย่าง มีอารมณ์เดียวอยู่อย่างนี้ คนทุกคนถ้ายังไม่เห็นอันนี้ก็ยังไม่รู้เรื่องของอันนี้ บางคนจะเห็นว่า "การหลับตานี้ ฉันไม่เห็นด้วย แม้ฉันลืมตาก็ยังไม่มองเห็นไกล นี้ท่านสอนให้หลับตาจะมองเห็นแค่ไหน" คำพูดเช่นนี้ก็เชื่อความเห็นของเจ้าของมากเกินไป ถ้าเราลืมตาจะเห็นได้ไกลแค่ไหน ถ้าเราหลับตาแล้วพิจารณาทางจิตล่ะจะเห็นได้ไกลไหม? เคยไปตรงไหนเราจะเห็นตรงนั้นเร็วที่สุด ไม่มีอะไรเปรียบ นึกเมื่อไรก็เห็นทันที นี่วิสัยของผู้นั่งหลับตา ท่านพูดเฉพาะเรื่องจิต เรื่องจิตเป็นอย่างนี้


    อันหนึ่งมาพูดเรื่องกายกัน เช่นมาพูดถึงเรื่องการตาย เช่นนี้ก็ไม่รู้เรื่องกัน เพราะเห็นตายธรรมดาเช่นนี้ คนตายนอนไม่หายใจตายมนุษย์ทั้งหลายเห็นเช่นนี้ตายกันทุกคนแต่ว่าตายทางจิตไม่เคยทำ คนตายเด็กๆ มันก็รู้ แต่ว่าคนตายเมื่อไรทุกข์เมื่อนั้น โศกเศร้า ตรงนั้นปราชญ์ทั้งหลายสอนไว้ ตายนั้น คนเห็นว่าตาย แต่ท่านเห็นคนตายยิ่งไปกว่านั้นคนตายเดินได้คนตายพูดได้คนตายหายใจได้ เคยเห็นไหม? ใครเคยนึกไหม? เราจะเห็นว่าคนเช่นนี้ไม่ใช่คนตาย เมื่อไม่เห็นตายก็ไกลมากจากความจริง เราก็จะเห็นแต่ว่าคนนอนไม่หายใจคือคนตาย คนที่เดินได้ไม่รู้เรื่อง คือไม่รู้จักตาย เป็นเรื่องจะต้องพิจารณาให้แยบคายไปอีกทีพระพุทธองค์ท่านสอนให้รู้จักตาย หมายถึงความประมาทความรู้จักว่าสิ่งนี้ผิดแล้วแต่ทำอยู่เห็นแล้วว่าอันนี้มันจริงอยู่มันดีอยู่แต่ไม่ทำคนนี้อาศัยความประมาทเป็นอยู่ เรียกว่าคนตาย


    ฉะนั้นจะทำจิตให้มีกำลังนี้ จะต้องทำจิตใจให้มันหยุดนิ่ง เหมือนกับมีดลับไว้ให้คมไม่ฟันทุกสิ่ง เรื่องการสำรวมทางจิต ไม่รับหลายอารมณ์ บางคนนั่งคิดไปไหนก็ไม่รู้ ไปเหลือแต่ซากเหมือนคนตาย บางทีคิดถึงเรื่องในอดีต เรื่องต่างๆ นี่ตายแล้วเหลือแต่ซาก ฉะนั้นท่านจึงทำจิตให้มีกำลัง มีกำลังเพื่ออะไร? เพื่อต่อสู้ให้มันรู้เรื่องสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เมื่ออายตนะที่มันพบกับอารมณ์ต่างๆ เช่นตาหูจมูกลิ้นกายใจมากระทบกับรูปรสกลิ่นเสียงเข้าให้มีกำลังแกร่งแข็งนี่เรียกว่าฝึกจิตให้มีกำลัง


    กายกับจิตมันอยู่ที่อันเดียวกัน อาศัยกันอยู่ แต่กำลังไม่เหมือนกัน การออกกำลังทางจิตอย่างหนึ่งออกกำลังทางกายอย่างหนึ่ง ถ้าหากเรากำหนดจิตให้มีอารมณ์อันเดียวอยู่ได้ประมาณ ๑ ชั่วโมง สงบ เราจะรู้ว่าสภาวะผู้รู้ที่มีอยู่ในตัวเราจะแปรเปลี่ยนไปทีเดียวมันจะชัดทุกอย่าง ปัญญาจะเกิดขึ้นตรงนี้ เมื่อสิ่งเหล่านี้หยุดมันจะรู้จักทุกข์ ที่เราทำทุกวันนี้ก็เพื่อให้เรารู้จักทุกข์ รู้เหตุทุกข์ ความดับทุกข์ และข้อปฏิบัติทางดับทุกข์ เป็นทางออกเป็นของแต่ละคนปุถุชนอันธพาลชนอริยชนมันเปลี่ยนตรงนี้เอง เปลี่ยนตรงความรู้สึกอย่างนี้ เพราะปัญญาอันนี้ เพราะความสงบมันมี ปัญญาก็เกิด เกิดแล้วขึ้นมาเห็นสภาวะทั้งหลายแปรเปลี่ยน เพราะว่าเห็นชัดในสัจจธรรมอย่างตรงไปตรงมา เห็นสภาวะทั้งหลายไม่มีทุกข์ เพราะเรารู้จักทุกข์ บางคนกลัวทุกข์ อันที่จริงเราก็ปฏิบัติ ทุกข์เกิดขึ้นมาไม่ต้องกลัว รู้มันเสีย ถ้าไม่รู้เมื่อไรพบกันข้างหน้าก็ทะเลาะกันอีก ถ้าได้รู้จักทุกข์ในที่นี้เสียแล้ว ไปที่ไหนก็รู้จักทุกข์ ชนะตรงนี้ไปที่ไหนก็ชนะ


    การอบรมจิตมีมากอย่าง เอาเป็นว่าเรานั่งอยู่นี่มันมีอะไรมาก เราจะกำหนดเอาง่ายๆ นี่คือกายความรู้คือจิต ผู้รู้สุขทุกข์นี้คือกายกับจิตเท่านั้นไม่มีอะไรอีก เราก็อบรมกายกับจิตเท่านี้เป็นพอเมื่อรู้กายกับจิตก็รู้จักทุกข์


    เราฝึกสมาธิอันนี้เพื่อให้ปัญญามันเกิด ให้จิตสงบลงไป ให้กลัวจิตของเรา กลัวว่าเมื่อพบความสุขแล้วจะอดไม่ได้ แต่คนเรากลับไปกลัวอย่างอื่น เรื่องจิตที่ฝึกแล้วที่สงบจะไปถามใครไหม? ไม่ต้อง อันนี้เป็นปัจจัตตังรู้เฉพาะตัวเองตนนี้ท่านให้ทำลายมัน ไม่ให้มีตนถ้ามีตนแล้วเป็นเหตุให้ทุกข์เกิดถ้ามีตนก็มีเราถ้ามีเราก็มีของๆ เราอะไรทำให้มีเรามีของเราก็คืออุปาทานอุปาทานทำให้เกิดภพเช่นกระติกน้ำนี้ของเรา เมื่อแตกหรือหายก็ทุกข์ทุกข์เกิดเพราะมีอุปาทาน เรียกว่าภพ


    เรานั่งภาวนาเพื่อให้จิตสงบเกิดปัญญาเมื่อเห็นสิ่งต่างๆ แยบคายแล้วก็เห็นโลกอันนี้ตามความจริง ที่เราทำเราคิดอยู่นี่มันไม่ใช่โลกุตตระ ยัง! ท่านไม่ให้คิดในเรื่องของอนาคต มันไม่แน่ ไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นในความเห็นของเราและของคนอื่น ให้พิจารณาเอาไว้เพียงแต่ว่าอันนี้มันก็ไม่เที่ยงเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา เมื่อปัญญาเกิดขึ้นมาแล้วคือความสงบ มันจะเป็นอย่างนี้ทุกอย่างผลอันนี้ความสงบมีแล้วปัญญาจะเกิดเกิดตรงที่มันได้แก้ทุกข์ทุกข์ตรงไหนแก้ตรงนั้นทุกข์มันจึงเกิดไม่ได้ เพราะมันรู้จักทุกข์ เรียกว่าเป็นผู้รู้ ผลคือเราเกิดมาเพราะทุกข์ มันมีทุกข์กวนเราอยู่ แต่เรารู้สึกว่าทุกข์กวน เราก็ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ แต่ก็ทิ้งวางไม่ได้ รู้ว่าทุกข์แต่ละทิ้งไม่ได้ เรียกว่ารู้ไม่จริง รู้ไม่ถึง


    การฝึกหัดรู้ลมนี่ ความรู้สึกกับลมนี้ไม่พร้อมกัน ในระยะแรกๆ จะเป็นเช่นนี้ ความรู้สึกตามไม่ทันลม บางทีลมออกความรู้สึกมาไม่ทัน ค่อยๆ สังเกตผ่อนหายใจ อย่าบังคับให้สั้น ให้ยาว อย่าให้ช้า เอาสบายๆ เดินก็ดีจะเกิดปัญญาถ้านั่งเกิดมีนิวรณ์ง่วงนอนง่าย ไม่ต้องไปตามอะไรมาก ดูลมเท่านั้น เมื่อเห็นปุ๊บปรากฏก็หยุด ไม่ต้องการอะไรมาก ดูลมอย่างเดียว


    การเดินก็กำหนดที่เท้า ต้นทางก็รู้ กลางทางก็รู้ ปลายทางก็รู้ถ้านั่งง่วงก็เดินเปลี่ยนอิริยาบถเสีย ถ้าง่วงมากก็นอนเสีย แล้วนึกว่าข้าพเจ้าจะไม่เอาความสุขกับการนอนพอตื่นขึ้นก็ประกอบความเพียรทันที เมื่อนอนก็นอนท่าสีหไสยาสน์กำหนดลมมีสติอยู่เสมอ


    สติจำกาลคือทั้งยืนเดินนั่งนอนให้มีสติเสมอ มิใช่จะทำเฉพาะนั่งเท่านั้นนะ ให้พร้อมทำความรู้สึกตัวว่า เดี๋ยวนี้เป็นปกติ ใครเป็นคนรู้ คนนั้นเป็นผู้รู้ คือจิต ถ้าหากเรามองเห็นส่วนเดียวเราจะเห็นสติด้วย เราจะเห็นสัมปชัญญะด้วย เราจะเห็นจิตด้วยคำที่ว่าเห็นนี้ คือเห็นด้วยความรู้สึก เห็นภายในจิตไม่ใช่เห็นข้างนอก เห็นข้างใน เช่นรู้ว่าเรามีสติ คือระลึกได้ว่า เราจะทำอะไรเดี๋ยวนี้ แล้วก็ลงมือทำ เช่นลมหายใจเข้าออกรู้เป็นสติ แล้วก็ลงมือทำรู้ว่าเราทำอยู่เดี๋ยวนี้เป็นสัมปชัญญะ ความรู้ก่อนจะทำก็ดี ความรู้ว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่เดี๋ยวนี้ก็ดี อันนั้นเรียกว่าจิตเป็นผู้รู้ ฉะนั้นเมื่อเราอยู่อย่างนี้เรารู้ทางสติเรามีทั้งสติและสัมปชัญญะ เรามีทั้งจิตรู้จิต ประกอบทั้ง ๓ ประการนี้ ลมหายใจเข้า-ออก และก็ให้นึกว่า ในระยะนี้ธุระปัจจุบันคือให้มีสติกำหนดรู้ลมเข้าออกอย่างเดียว ความสงบพร้อมมันจะเกิดขึ้นมา เราจะมองดูเห็นลม เห็นผู้รู้ลมด้วย เห็นสติด้วย เห็นสัมปชัญญะด้วย สบายโปร่ง อย่างนี้ก็ตั้งจิตให้มันรู้กับลมเรื่อยไป


    อาการ ที่เราจะรู้ว่าจิตเป็นหนึ่ง รู้ได้โดยวิธีว่าเรารู้ลมอยู่ตลอดเวลา เมื่อมันรู้ถนัดแล้วมันจะได้ปล่อย ครั้งแรกก็ประคับประคองบ้างพอสมควร เมื่อมันได้ที่แล้วมันจะปล่อยของมัน มันจะมีลมที่ไม่สั้นไม่ยาว มันค่อยๆ ละเอียดมันเอง ที่หยาบก็ค่อยละเอียดตามเรื่องของมันเมื่อมันละเอียดแล้วจิตก็เบากายก็เบา จิตเบาก็คือจิตควรแก่การงานแล้วกายเบาเป็นกายมุทุตาก็เป็นกายที่ควรการงาน แล้ว เมื่อมันรู้อย่างนั้น จิตของเราก็กำลังรวบรวมเป็นสมาธิ แต่ทำสติให้มันติดต่อกัน สมาธิมันจะเปลี่ยนจากปกติธรรมดาของเรา จะมีการรู้หวิววาบลงไป อันใดอันหนึ่งที่เปลี่ยนจากปกติธรรมดานี้ เมื่อเป็นเช่นนั้นเราก็มีสติให้ดี ไม่เป็นอะไร ไม่มีอะไร รู้ติดต่อกันเรื่อยอย่างนั้น ไม่ต้องตกใจ ไม่มีอะไร


    บางคนนั่งจิตสงบมันเกิดโอภาสแสงสว่างขึ้นสารพัดอย่าง อันนั้นก็ให้ดูจิตเจ้าของเรื่อยไป อย่าวิ่งไปตามอาการภายนอก ให้สบาย ความสงบเยือกเย็นอยู่ในที่อันเดียวดูลมก็เห็นจิตดูจิตก็เห็นลมดูลมเห็นสติสัมปชัญญะทั้ง๓อย่างนี้เป็นอันเดียวกันเป็นมรรคสามัคคีความพร้อมเพรียงแห่งจิตเกิดขึ้นในขณะนั้น รู้สึกว่ามันจะเบาไปทั้งกาย เบาไปทั้งจิต เวทนาที่มันปวดไปตามร่างกายต่างๆ นี้ เมื่อจิตมันสงบแล้วมันจะไม่ปวดเจ็บ ปรากฏอะไร มองดูหรือกำหนดลมหายใจเข้า-ออกที่ปลายจมูกของเรานั่นแหละ ถูกต้องส่วนไหนมันรู้สึกส่วนไหน เอาส่วนนั้นเป็นที่มุ่งหมายของเรา ถ้าเรามุ่งรู้ตรงนั้นก็เรียกว่าจิตของเรายังไม่สงบ มันรู้อยู่ตามสภาพอันนั้นเรื่อยๆ ไป ให้มันรู้เข้าออกอยู่เสมอ จิตนั้นก็สงบความรู้สึกกายก็พอดีจิตก็พอดีแล้วก็วางมันปล่อยมันทำความรู้อันเดียวให้รู้ไว้เท่านั้น รู้ลมที่เข้าออกตามสบาย ไม่ต้องตามลมเข้าออก อยู่ตรงประตู ความรู้อันนี้แหละเรียกว่าผู้รู้ผู้ตื่นอยู่เสมอ รู้ถึงความสงบ รู้แล้วมันเบา ไม่รำคาญรู้แล้วสงบเงียบ ไม่สงสัย อยู่อย่างนี้ แปรเปลี่ยนจากปกติเดิมของเรานั่นเอง นั่นคือจิตมันเปลี่ยนจากความหยาบมาเป็นจิตที่ละเอียด ที่วุ่นวายจะเปลี่ยนเป็นจิตที่สงบ การที่มันเปลี่ยนเราต้องรู้จัก รู้สึก ในความรู้สึกมันจะมีอาการอันใดอันหนึ่งเกิดขึ้นในกำลังจิตของมันนั่นเอง อันนั้นก็ไม่ต้องสงสัยมัน นั่นจิตเราเริ่มจะสงบเข้าไปแล้ว และไม่ต้องส่งความคิดอันหนึ่งเมื่อจิตมันสงบแล้ว จิตมันจะกังวลเรื่องข้างนอกบางอย่าง เป็นเรื่องธรรมดาว่ามันรักความสงบของมัน เมื่อได้ยินเสียงนกร้องหรือได้ยินเสียงอะไรข้างนอก มันก็ไม่สบาย ทำไมล่ะ? เพราะมันคิดผิด คิดไม่ถูก ทำไมมันคิดผิดอย่างไร? มันคิดว่าเสียงนั้นมากวนมัน อันนี้เราต้องแก้ใจเราทันทีเลย ไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ใช่เสียงมากวนเราเราไปกวนเสียงใช่ไหม?เรารู้อย่างนี้ก็สงบเสียงก็เป็นเสียงจิตก็เป็นจิตความสงบก็เป็นความสงบเสียงก็เป็นเสียง ไม่เกี่ยวเกาะกันเลย เมื่อรู้อย่างนี้ก็ปล่อยมัน สบายอยู่ตลอดเวลา


    ถ้าไม่สงบก็หายใจยาวๆ จนหมดสุดลม นี้เรียกว่าตั้งลมใหม่ อาจจะบีบกำหนดมากไป บังคับมากไป ตั้งใหม่มันก็จะรวมตัวเอง แก้อย่างนี้ เมื่อเป็นแล้วก็เป็นอกาลิโก คือมีสติยืดยาวอยู่อย่างนั้น เหมือนกับหยดน้ำที่เป็นทีละหยด เร่งไปน้ำที่หยดๆ นั้นจะหมดไปจนเป็นสายน้ำติดต่อกัน นี่พูดถึงสติเราทำครั้งแรกก็ขาดตอนบ้างนานเข้าก็ติดต่อเอง เมื่อเราทำไม่เลือกเวลาคือ อกาลิโก ความรู้คือสติที่มันติดต่อกันแล้วไม่มีกาลไม่มีเวลามีสติจำกาลคือเป็นรอบจำได้อันนี้จะเกิดปัญญาหรือญาณต่างๆ ตรงนี้สติมันมากขึ้น เราทำไปถึงเวลาที่เราทำ เมื่อเรามีชีวิตอยู่ เราไม่หลับ ความรู้สึกที่มันติดต่อกันนี้ตลอดเวลาเมื่อมีความรู้สึกติดต่ออยู่ตลอดเวลา เรียกว่ากระทำเพียรทางจิต ไม่ใช่ทางอื่น


    ยืน เดิน นั่ง นอน มันก็รู้จัก มันคนละอย่างกัน ทางกายกับจิตมันจะแยกกัน เรื่องของจิตเป็นอย่างหนึ่ง เรื่องกายเป็นอย่างหนึ่งแม้จะทำการงานก็มีสติอันนี้ทำให้มีปัญญาเกิดมากที่สุด ไม่ว่าที่ไหนก็ตาม การฝึกจิตฝึกสติต้องเป็นอย่างนี้ อันนี้ควรรู้จักไว้การกระทำต้องฝืนธรรมชาติบ้าง เพราะความจริงมันเป็นอย่างหนึ่ง จิตของเราเป็นอย่างหนึ่ง ถ้าธรรมดาจิตนั้นนะมันมีเวลาขยัน ขี้เกียจ ทำเพียรด้วยสัจจะ เราทำเรื่อยทั้งขี้เกียจ ทำทางจิตให้จิตรู้อยู่ การรู้ภายใน การฉลาดภายในทีนี้จิตจะเป็นอย่างนี้ เรื่องทำทุกวัน บางทีสงบบางทีไม่สงบ เป็นอนิจจัง ในบางคราวเร็วช้า จะรู้ได้ว่า อ้อ! การทำสมาธิยังเป็นอนิจจังอยู่ เป็นเรื่องไม่แน่นอนนะ การทำแบบนี้มาทำแบบสงบจิต ไม่ใช่สงบกิเลส เราหนีไปหาความสงบในสถานที่ต่างๆ แต่ความสงบมีได้ ส่วนโลภ โกรธ หลง ยังมี เมื่อเราไปถูกอารมณ์ก็จะมีอีก นี่เรียกว่าสงบชั่วคราว เมื่อทำไปมากๆ จะมีกำลัง มีปัญญาในอุบายสงบอันแรกเป็นสมถะ ถ้าสงบแล้วมันนิ่งจะสามารถมองเห็นทุกอย่างๆ เหมือนน้ำนิ่ง จะต้องเห็นรูปหน้าตาหรือเห็นอะไรหลายๆ อย่าง คือ สงบด้วยปัญญา มันรู้แล้ว ถ้าถูกอารมณ์อะไรต่างๆ ที่จะเป็นเหตุให้โกรธขึ้นมานั้นเพราะรู้ตามความเป็นจริงแล้วก็เป็นวิปัสสนารู้แจ้งรู้จริงเกิดเป็นปัญญา ไม่มีอะไรจะทนต่อมันได้ โลภะ โทสะ โมหะ จะเบาลงไป น้อยลงไป เช่นเราว่าเสียงกวนเรา ถ้าได้พิจารณาจนรู้ตามความเป็นจริงแล้วก็สงบ การรู้อย่างนี้เรียกว่ายังไม่คงที่ ต้องทำไปเรื่อยๆ มันจะโตขึ้นมา เราโตขึ้นมาก็จากเด็กจนเป็นผู้ใหญ่ ก็คือจากบุคคลคนเดียวกันนั่นเอง มิใช่มาจากไหน มันเป็นสัจจธรรม เช่นความทุกข์จริงๆ มันไม่มีถ้าเราเห็นจริง ที่เราเห็นทุกข์ไม่จริง มันจึงมีทุกข์ จริงโดยสมมุติ เป็นวิมุตติแล้วไม่มีฉะนั้นไม่ควรยึดมั่นถือมั่นถ้าใครยึดอยู่ก็ทุกข์ไม่สิ้นฯ

    คัดลอกจาก ประตูธรรม
    http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/lp_cha/lp-cha_74.htm
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 15 พฤศจิกายน 2010

แชร์หน้านี้

Loading...