ธรรมะคือ อะไร ตอนที่ ๑ ถึง ๖

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย telwada, 8 มิถุนายน 2011.

  1. telwada

    telwada เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 กันยายน 2004
    โพสต์:
    1,509
    ค่าพลัง:
    +1,817
    ธรรมะ คือ อะไร ตอนที่ ๑
    สวัสดี ท่านทั้งหลายผู้ใฝ่รู้ในทางศาสนา
    ข้าพเจ้าตั้งหัวข้อกระทู้เอาไว้ว่า "ธรรมะ คือ อะไร" ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ท่านทั้งหลายได้ถกเถียงเสวนากันอยู่เป็นนิจอยู่แล้ว บางอาจารย์ ก็สอนว่า "ธรรมะ คือ ธรรมชาติ" บางอาจารย์ ก็สอนว่า ธรรมะก็คือคำสอนของพระพุทธองค์ และยังมีอื่นๆอีกมากมาย หลายอย่าง หลายแขนง ตามแต่ความคิดของบุคคลเหล่านั้น
    ธรรมะ คือ คำสอนของพระพุทธองค์ หรือ คำสอนของศาสดาแห่งศาสนานั้นๆ นอกเหนือจากศาสนาพุทธ ก็ล้วนหมายถึง ธรรมะด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น
    แต่ ธรรมะ ในทางพุทธศาสนานั้น ลึกซึ้งกว้างขวางเสมือนหนึ่ง เป็นจักรวาลก็ว่าได้
    เพราะ ธรรมะ ในทางพุทธศาสนานั้น หมายถึง ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ แร่ธาตุทั้งหลายที่มีอยู่บนโลกมนุษย์ อีกทั้งธรรมะ ยังหมายรวมถึง มนุษย์,สัตว์,พืช,และรวมไปถึง สัตว์ชั้นต่ำสุด,พืชชั้นต่ำสุด,ไปจนถึงพืชชั้นสูง อีกทั้งยังหมายรวมถึง พฤติกรรม,การกระทำ,การแสดงออกทั้งทางร่างกาย จิตใจ การพูดหรือการติดต่อสื่อสาร ของมนุษย์ด้วยกันเอง ของสัตว์ ของพืช ของอมนุษย์ อพืช อสัตว์ อเทวดา เทวดา ทั้งนี้ย่อมหมายรวมทั้งเพศผู้ เพศเมีย หรือสองเพศรวมกัน หรือไม่มีเพศ
    หลายๆท่านคงมีข้อสงสัยว่า ธรรมะในทางพุทธศาสนาที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไปแล้วนั้น เป็นการวิเคราะห์ของตัวข้าพเจัาเอง หรือว่า เป็นจริงดังที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไป
    ไม่ต้องสงสัยขอรับ สิ่งที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไปในเรื่องของธรรมะในทางพุทธศาสนา เป็นความจริงขอรับ
    เพราะ หากท่านทั้งหลายต้องการที่จะมุ่งสู่จุดสูงสุดในการปฏิบัติ ให้ถึงชั้นอริยะบุคคลแล้วละก้อ ท่านทั้งหลายต้องทำความเข้าใจในเรื่องของธรรมะในทางพุทธศาสนาให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ เพราะสิ่งที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไปคือต้นกำเนิด หรือเป็นสิ่งที่ทำให้เกิด ความโลภ ความโกรธ ความหลง อันเป็นทุกข์ที่เกิดจากเหตุ,เป็นเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์,เป็นเหตุแห่งความดับทุกข์ และเป็นหนทางแห่งความดับทุกข์

    จบตอนที่ ๑
    จ่าสิบตรี เทวฤทธิ์ ทูลพันธ์
    ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๔
    ธรรมะ คือ อะไร ตอนที่ ๒
    ธรรมะ ในทาง พุทธศาสนา มิใช่จะบังคับ หรือเคี่ยวเข็ญให้บุคคลทั้งหลาย ต้องปฏิบัติ เพื่อให้บรรลุสู่ชั้นอริยะบุคคลเพียงแบบเดียว แต่ ธรรมะในทางพุทธศาสนา สามารถใช้ได้กับบุคคลทั้งหลายเพื่อให้มีความพอดี ความเป็นปกติแห่งการเป็นมนุษย์ แห่งการเป็นสัตว์โลกที่ประเสริฐและเจริญยิ่งกว่าสัตว์อื่นๆ
    เมื่อท่านทั้งหลายได้คิดพิจารณา และทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ธรรมะในตอนที่ ๑ แล้วว่า ล้วนเป็น ต้นกำเนิด หรือเป็นสิ่งที่ทำให้เกิด ความโลภ ความโกรธ ความหลง ทุกข์เกิดจากเหตุ เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ เหตุที่ให้ถึงความดับทุกข์ และหนทางแห่งความดับทุกข์
    ต้นเหตุแห่งความโลภ ความโกรธ ความหลง ก็คือ สรรพสิ่งทั้งหลายทั้งที่มีชีวิต และไม่มีชีวิต รวมไปถึงสภาพลมฟ้าอากาศ ฤดูกาล และที่สำคัญคือตัว มนุษย์ ทั้งหลายนั่นเอง
    มนุษย์ที่เกิดมา เป็นเผ่าพันธ์หนึ่งในจำนวนหลายๆเผ่าพันธ์ของสิ่งมีชีวิตที่มีอยู่บนหรือในโลก มนุษย์ประกอบไปด้วย อวัยวะทั้งภายในภายนอก รวมเรียกว่า อาการ ๓๒ ประการ อันประกอบกัน เป็น รูป ,สัญญา,เวทนา,สังขาร
    รูป ย่อม หมายถึง รูปทั้งหลาย ทั้งที่มีชีวิต และไม่มีชีวิต และหมายถึง รูปแห่งอวัยวะทั้งภายในภายนอกของมนุษย์นั้นๆ รูปแห่งอวัยวะทั้งภายในภายนอกของบุคคลนั้นๆ ย่อมทำให้เกิดเป็นระบบการทำงานหลายๆระบบรวมกันทำให้มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิต มีความความจำคือ สัญญา,มีความรู้สึกเมื่อได้รับการสัมผัสจากอายตนะภายนอก ด้วยอายตนะภายใน และเมื่อมีความรู้สึกจากการสัมผัส นั่นก็หมายความว่า มนุษย์มีการปรุงแต่ง คือ สังขาร กล่าวคือ ปรุงแต่งในระบบการทำงานของร่างกาย ปรุงแต่งในระบบประสาทฯลฯความจำทำให้เกิดความรู้สึก เกิดอารมณ์ต่างๆกันไป และเกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นธรรมดา
    เมื่อมนุษย์ทั้งหลายมี รูป,สัญญา,เวทนา,สังขาร ก็ย่อมเป็นเหตุให้เกิดพฤติกรรม การกระทำในด้านต่างๆ ตามลักษณะสิ่งแวดล้อมทั้งในด้านภูมิประเทศ ,ภูมิอากาศ,และสิ่งแวดล้อมในชุมชน ในสังคม ในประเทศ นั้นๆ
    พฤติกรรม การกระทำของมนุษย์ ในยุคก่อนๆ ก็ไม่ผิดอะไรกับสัตว์เดรัจฉานทั่่วๆไป เพราะนั้นเป็นเรื่องธรรมดาของสังคมความเป็นอยู่ร่วมกัน การได้รับการขัดเกลาทางสังคม ในขณะนั้นยุคนั้น ต่อเมื่อมีความเชื่อความศรัทธาในภูตผีปีศาจ เทพ,เทวดา เกิดขึ้น ความคิด พฤติกรรม การกระทำ ของมนุษย์ก็ค่อยเจริญขึ้น และเมื่อศาสนาเกิดขึ้น ความเจริญทางด้านความคิด พฤติกรรม และ การกระทำ ก็เจริญขึ้นไปอึกระดับหนึ่ง ถึงแม้ว่า การศรัทธา หรือ นับถือในศาสนา ในมนุษย์ บางคน บางกลุ่ม จะไม่ถูกต้อง จากหลักธรรมคำสอน ก็ตาม แต่ก็ถือได้ว่า มนุษย์มีความเจริญทั้งในด้านความคิด และพฤติกรรม การกระทำ
    จบตอนที่ ๒
    จ่าสิบตรี เทวฤทธิ์ ทูลพันธ์
    ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๔

    ธรรมะ คือ อะไร ตอนที่ ๓
    เมื่อท่านทั้งหลาย ได้อ่านและทำความเข้าในเรื่องของธรรมะคืออะไร ในตอนที่ ๑ และตอนที่๒ กันบ้างแล้ว คงมีหลายๆท่าน มีข้อสงสัยว่า ข้าพเจ้าคิดเอาเอง หรือว่านำมาจากไหน ในพระไตรปิฎก อันเป็นหลักฐานทางพุทธศาสนา มีสอนไว้หรือไม่ หลายๆท่านที่เคยได้อ่าน ได้ศึกษา ได้เรียนรู้ ได้ท่องจำ ตามพระไตรปิฎก คงยิ่งมีข้อสงสัยมาก เพราะในพระไตรปิฎกไม่ได้มีกล่าวไว้ อย่างที่ข้าพเจ้าได้อรรถาธิบายไป
    แต่ในทางที่เป็นจริงแล้ว สิ่งที่ข้าพเจ้าได้อรรถาธิบายไปในตอนที่ ๑ และตอนที่ ๒ นั้น ปรากฏมีอยู่ ในพระอภิธรรมปิฎก ในหมวด "จิต ,เจตสิก, รูป , นิพพาน" ซึ่งท่านทั้งหลายคงจะคิดไม่ถึง ว่า ในหลักพระอภิธรรมปิฎก หมวด "จิต,เจตสิก,รูป,นิพพาน" นั้น แท้จริง ก็คือ คำอธิบายในรายละเอียด ของหลักธรรมในบท "ขันธ์ ๕" คือ " รูป,สัญญา,เวทนา,สังขาร,จิตวิญญาณ " นั่นเอง
    ขันธ์ ๕ เป็นธรรมะ ที่ครอบคลุม ในทุกสิ่งที่มีอยู่ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต และเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดหลักธรรมข้ออื่นๆตามมา เพราะถ้ามนุษย์ไม่มี ขันธ์ ๕ อย่างครบถ้วน ก็ย่อมไม่เกิดมีการสังคมเป็นอยู่ร่วมกัน ไม่มีการประพฤติปฏิบัติ ไม่มีการติดต่อสื่อสาร ไม่มีการค้าขายแลกเปลี่ยนฯลฯ อย่างแน่นอน และที่สำคัญ มนุษย์ ก็ย่อมไม่มีความโลภ ความโกรธ ความหลง ดังเช่น ก้อนหิน มีเพียงขันธ์เดียว คือ รูป ไม่มีขันธ์อื่นๆ ครบ ๕ ขันธ์ อย่างนี้เป็นต้น
    รูปทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น ดิน,น้ำ,ลม,ไฟ หรือ อื่นใด ทั้งที่มีชีวิต และไม่มีชีวิต ล้วนย่อมมีอิทธิพล ล้วนย่อมเป็นปัจจัยที่ทำให้มนุษย์เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง เกิดความคิด เกิดการปรุงแต่งภายในร่างกาย และเกิดการปรุงแต่งเมื่อได้รับการสัมผัส จากอายตนะภายนอก คือ รูป รส กลิ่น เสียง แสง สี โผฎฐัพพะ ธรรมารมณ์ ด้วย อายตนะภายใน คือ หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อได้รับการสัมผัสดังกล่าว ก็ย่อมเกิดเป็นความรู้สึก อารมณ์ ความคิด ความรู้ บ้างก็จดจำไว้ บ้างก็ไม่จดจำไว้
    ความคิด ความรู้ ความรู้สึก อารมณ์ ที่เกิดขึ้นนั้น บ้างก็นำไปสู่ความสุข ความสบายใจ สบายกาย บ้างก็นำไปสู่ความทุกข์ ความไม่สบายใจ ไม่สบายกาย เป็นเรื่องธรรมดา
    ดังนั้น ในหลักธรรมทางพุทธศาสนา จึงปรากฏมี มรรค อันมีองค์ ๘ เพื่อเป็นวิธีปฏิบัติตนปฏิบัติกาย ปฏิบัติใจ เพื่อให้เกิดความสบายใจ สบายกาย อีกทั้งยังไม่เป็นการเบียดเบียนผู้อื่นให้ได้รับความเดือดร้อน หรือเป็นทุกข์ แลยังมีหลักธรรม อีกหลายๆข้อ อันเป็นวิธีการประพฤติ ปฏิบัติ วิธีการหนึ่ง มิใช่เป็นหลักธรรมที่ เฉพาะเจาะจงให้ปฏิบัติแต่เพียงรูปแบบเดียว เพราะการประพฤติปฏิบัติในการสังคมเป็นอยู่ร่วมกันของมนุษย์นั้น มีอยู่หลากหลายวิธีการ ในอันที่จะทำให้เกิดความสุข ความสบายใจ สบายกาย สามารถหลุดพ้นจากความทุกข์ได้ในระดับหนึ่ง
    จบตอนที่ ๓
    จ่าสิบตรี เทวฤทธิ์ ทูลพันธ์
    ๒ มิถุนายน ๒๕๕๔

    ธรรมะคือ อะไร ตอนที่ ๔
    ท่านทั้งหลายที่มีความรู้ มีความเข้าใจในเรื่องของ ขันธ์ ๕ อันได้แก่ รูป,สัญญา,เวทน,สังขาร,จิตวิญญาณ อันได้รับการขัดเกลาเรียนรู้ หรือท่องจำมาจากพระไตรปิฎก คงจะทราบกันดีอยู่แล้วว่า ในพระไตรปิฎก ได้แยกธรรมชาติรอบตัวเราเอาไว้เป็น มหาภูตรูป คือ รูปแห่ง ดิน,น้ำ,ลม,ไฟ และรูปอื่นๆ อีกทั้งยังได้แยกแยะอธิบายชี้เฉพาะว่า มนุษย์ ล้วนประกอบไปด้วยขันธ์ ๕ นั่นเป็นความรู้ ความเข้าใจ ในยุคสมัยครั้งพุทธกาล ในทางที่เป็นจริงแล้ว ขันธ์ ๕ ย่อมหมายถึง สรรพสิ่งทั้งหลายทั้งที่มีชีวิต และไม่มีชีวิต ทั้งที่เป็น มนุษย๋ สัตว์ พืช และอื่นๆ ที่มนุษย์ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา เพียงแต่ สรรพสิ่งทั้งหลายที่นอกเหนือจากมนุษย์นั้น อาจจะมีเพียง รูป อย่างเดียว หรือ อาจจะมีเพียง รูป ,สัญญา,เวทนา หรือ อาจจะมีเพียง รูป,สัญญา หรืออาจมีเพียง รูป,เวทนา อันเป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์ในยุคสมัยปัจจุบัน
    เมื่อ ขันธ์ ๕ เป็นไปตามที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไป จึงสามารถกล่าวโดยรวมได้เลยว่า รูป,สัญญา,เวทนา,สังขาร,จิตวิญญาณ ย่อมเป็นต้นตอเป็นต้นกำเนิด ของความทุกข์ทั้งหลาย เป็นต้นกำเนิด แห่งธรรมะทั้งหลาย เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดทุกข์,เป็นสิ่งที่ทำให้เป็นเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์,เป็นเหตุที่ให้ถึงความดับทุกข์ ,และเป็นหนทางแห่งความดับทุกข์
    ในตอนที่ ๓ ข้าพเจ้าได้กล่าวถึง มรรค อันมี องค์ ๘ อันปรากฎมีในพระไตรปิฎก และธรรมข้ออื่นๆอีกหลายข้อ ว่าเป็นเพียงวิธีการหนึ่ง ในหลายๆวิธีการในอันที่จะปฏิบัติ ประพฤติ เพื่อขัดเกลา ป้องกัน และขจัด ทุกข์ ทั้งหลายที่จักเกิดขึ้นในการสังคมเป็นอยู่ร่วมกัน เพราะการสังคมเป็นอยู่ร่วมกันของมนุษย์ มิใช่จำกัดอยู่เพียงแค่ชุมชนในชุมชนหนึ่ง หรือจำกัดอยู่เพียงแค่กลุ่มคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง การสังคมเป็นอยู่ร่วมกันของมนุษย์ย่อมต้องปฏิสัมพันธ์ กับคนหมุ่มาก หลายเผ่าพันธ์ หลายเชื้อชาติ หลากหลายความศรัทธาคือความเชื่อ หลากหลายความคิด หลากหลายความรู้ หลากหลายวัฒนธรรมจารีตประเพณี หลากหลายภาษา และในด้านอื่นๆ
    ดังนั้น วิธีการที่ปรากฎเป็นข้อมรรคมีองค์ ๘ ในพระไตรปิฎก จึงเป็นเพียงวิธีการหนึ่ง ในหลายๆวิธี ซึ่งข้าพเจ้าจักได้อธิบายวิธีการอื่นๆ หลักการหรือหลักธรรมอื่นๆ อันเป็นไปตามหลักความจริง อันเป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์ และเป็นไปตามหลักวิทยาการที่มนุษย์มีอยู่ ในตอนต่อไป
    จบตอนที่ ๔
    จ่าสิบตรี เทวฤทธิ์ ทูลพันธ์
    ๓ มิถุนายน ๒๕๕๔
    ธรรมะคือ อะไร ตอนที่ ๕

    ในตอนที่ ๔ ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ว่า มรรคมีองค์ ๘ ในพระไตรปิฎกนั้น เป็นเพียงวิธีการหนึ่ง ในหลายๆวิธีในอันที่จะปฏิบัติ หรือประพฤติ เพื่อป้องกัน หรือขจัด เพื่อความหลุดพัน หรือ ห่างไกล จากทุกข์ทั้งหลาย ซึ่งคำว่าทุกข์ตามหลักพระไตรปิฎกนั้น ก็คือ หนึ่งในสี่ข้อแห่ง หลัก "อริยสัจสี่" อันประกอบด้วย "ทุกข์,สมุทัย,นิโรธ,มรรค"
    "ทุกข์" ในพระไตรปิฎกนั้น ได้อธิบายเอาไว้อย่างลึกซึ้ง เป็นการยากที่บุคคลทั่วไปจะเข้าถึงหรือทำความเข้าใจได้โดยง่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เรียนรู้ ศึกษา ท่องจำ ไม่ว่าจะเป็นผู้ได้ชื่อว่าเป็นผู้รู้ ผู้ชำนาญการในด้านพุทธศาสนา สักเท่าใด ก็มักจะเข้าใจกันผิดๆ คิดไปตามที่ได้อ่านได้ศึกษาได้ท่องจำตามพระไตรปิฎก เพราะในพระไตรปิฎกนั้น ได้อรรถาธิบายคำว่า "ทุกข์"เอาไว้ว่า
    "ทุกข์" ก็คือ ชาติ,ชรา, มรณ, โสกะ,ปริเทวะ,โทมนัสส,อุปายาส, อัปปิเยหิสัมปโยค, ปิเยหิวิปปโยค, ยัมปิจฉังนลภติตัมปิ, โดยย่ออุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ (การยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ เป็นทุกข์) (คัดจากพระไตรปิฎก ฉบับธรรมทาน เวบฯ๘๔๐๐๐ ฯ) เป็นธรรมดา
    "ทุกข์ หมายถึง ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ความลำบากกาย ที่เกิดจากอารมณ์อันเกิดจากการได้รับสัมผัสจากอายตนะภายนอก ด้วยอายตนะภายใน หรือเกิดจากการที่สัมผัสได้ด้วยตัวเอง "
    นั่นก็หมายความว่า สิ่งที่มาสัมผัสแล้วทำให้เกิดความคิด เกิดอารมณ์ที่ทำให้ทุกข์กาย ทุกข์ใจ ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ได้แก่
    - การเกิดของสรรพสัตว์ในหลากหลายเผ่าพันธุ์เป็นชาติ เป็นเรื่องธรรมดา,
    -ความเก่าความแก่ ความเหี่ยวย่นของผิวหนัง และสรีระร่างกาย ความหงอกขาวของเส้นผม ในสรรพสัตว์ทั้งหลาย คือความชรา เป็นเรื่องธรรมดา
    -ความแตกดับ ความสิ้นซึ่งขันธ์๕ ความสูญสิ้นตามอายุขัย ในสรรพสัตว์ทั้งหลาย คือ มรณะ เป็นเรื่องธรรมดา
    -ความโศกเศร้า กริยาโศกเศร้า เพราะได้สัมผัสจาก การเสื่อมญาติ การเสื่อมทรัพย์ การเสื่อมทิฎฐิ เสื่อมศีล คือ โสกะ เป็นเรื่อง ธรรมดา
    -ความร้องไห้ คร่ำครวญ กริยาร้องไห้ การบ่นพร่ำเพ้อ เพราะการเสื่อมญาติ เสื่อมทรัพย์ เสื่อมทิฎฐิ เสื่อมศีล คือ ปริเทวะ เป็นเรื่องธรรมดา
    -ความไม่สบายใจ อารมณ์ที่ทำให้ใจเศร้าหมอง อันเกิดจากการรับรู้ภายในตน กริยาที่รับรู้อารมณ์อันเกิดจากใจเศร้าหมอง ด้วยรับรู้ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง คือ โทมนัส เป็นเรื่องธรรมดา
    - ความแค้นเคือง ขุ่นแค้น อันเรื่องจากการเสื่อมญาติ เสื่อมทรัพย์ เสื่อมด้วยความชรา ด้วยเสื่อมอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ อุปายาส เป็นเรื่องธรรมดา
    - ความได้ร่วม ความอยู่ร่วม ความไปร่วม ความประชุมร่วม กับสภาพอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่ปรารถนา ไม่เป็นที่ชอบ ไม่เป็นที่รักใคร่ อันได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง แสงสี โผฎฐัพพะ หรือ ได้ร่วม อยู่ร่วม ไปร่วม ประชุมร่วม กับ บุคคลที่มุ่งก่อความพินาศ มุ่งทำลายประโยชน์ มุ่งทำลายความผาสุก ทำให้เกิดสภาพอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่ปรารถนา ไม่เป็นที่ขอบ ไม่เป็นที่รักใคร่ คือ อัปปิเยหิสัมปโยค เป็นเรื่องธรรมดา
    - ความไม่ไปร่วม ไม่อยู่ร่วม ไม่ได้ร่วม ไม่ได้ประชุมร่วม กับสภาพอารมณ์ความรู้สึกที่ปรารถนา เป็นที่รักใคร่ ชอบใจ อันได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง แสงสี โผฎฐัพพะ หรือ ไม่ได้ร่วม ไม่อยู่ร่วม ไม่ไปร่วม ไม่ได้ประชุมร่วม กับบุคคลผู้ใคร่ในความเจริญ ใคร่ในความสำราญ ใคร่ในความสร้างสรรค์ ใคร่ในความปลอดภัย อันได้แก่ พี่ชาย น้องชาย พี่หญิง
    น้องหญิง มิตร อำมาตย์ ญาติสายโลหิต นี้คือ ปิเยหิวิปปโยค เป็นเรื่องธรรมดา
    -สัตว์ทั้งหลาย ย่อมมีความปรารถนา คือ มีความต้องการ เป็นเรื่องธรรมดา กล่าวคือ ย่อมมีความปรารถนาที่จะไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ไม่อยู่ร่วม ได้ร่วมกับสิ่งที่ไม่ปรารถนา ไม่รักใคร่ อยากหรือต้องการอยู่ร่วม ได้ร่วมประชุมร่วม กับสิ่งทีปรารถนา รักใคร่ และย่อมไม่สำเร็จตามปรารถนา เหล่านี้คือ ยัมปิจฉังนลภติตัมปิ เป็นเรื่องธรรมดา
    -อุปาทานขันธ์ ๕ หมายถึง
    ความยึดมั่น, ความถือมั่นด้วยอำนาจกิเลส มี ๔ คือ
    ๑) กามุปาทาน ความถือมั่นในกาม
    ๒) ทิฏฐุปาทาน ความถือมั่นในทิฏฐิ
    ๓) สีลัพพตุปาทาน ความยึดมั่นในศีลและพรต
    ๔) อัตตวาทุปาทาน ความถือมั่นวาทะว่าตน
    ซึ่งความยึดมั่น ถือมั่นทั้ง ๔ อย่างนั้น ก็ล้วนเกิดมาจาก การยึดมั่นใน
    ๑.รูป คือ รูปูปาทานขันธ์
    ๒.เวทนา คือ เวทนูปาทานขันธ์
    ๓.สัญญา คือ สัญญูปาทานขันธ์
    ๔. สังขาร คือสังขารูปาทานขันธ์
    ๕. วิญญาณ คือ วิญญาณูปาทาน
    ซึ่งก็ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องธรรมดาของสรรพสัตว์ทั้งหลาย เพราะสัตว์ทั้งหลาย(ในที่นี้จะหมายเอาเฉพาะมนุษย์) ล้วนย่อมมีความคิด อันเกิดจากการปรุงแต่งคือ สังขาร ตามหลักขันธ์๕ หากจะกล่าวตามระบบสรีระร่างกายของมนุษย์แล้ว มนุษย์ล้วนย่อมมีความคิด อันเกิดจากความจำ เกิดจากความรู้สึก เกิดจากการรับรู้อารมณ์เมื่อได้รับการสัมผัส จากอายตนะภายนอก ด้วย อายตนะภายใน
    (คัดความย่อความจากพระไตรปิฎก ฉบับธรรมทาน ฯ และ พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับ พระธรรมปิฎก)
    จบตอนที่ ๕
    จ่าสิบตรี เทวฤทธิ์ ทูลพันธ์
    ๖ มิถุนายน ๒๕๕๔
    ธรรมะคือ อะไร ตอนที่ ๖
    ท่านทั้งหลายผู้ใฝ่ในธรรมะ ท่านได้อ่าน และทำความเข้าใจ หรือ คิดพิจารณาใน ธรรมะคือ อะไร ตอนที่๕ แล้วหรือยัง ถ้าท่านยังไม่ได้อ่าน หรือว่าอ่านแล้วแต่ไม่ได้คิดพิจารณา หรืออ่านแล้วไม่ได้เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ในตอนที่ ๖ นี้ข้าพเจ้าจะได้อรรถาธิบาย ขยายความเพื่อให้ท่านทั้งหลายได้เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และเข้าใจถึงแก่นแท้แห่งคำว่า ทุกข์ อันนอกเหนือจากสิ่งที่ในพระไตรปิฎกได้กล่าวไว้
    เพราะในพระไตรปิฎก ได้กล่าวถึงคำว่า ทุกข์ อันเป็นข้อแรก แห่งหลักความจริง ๔ อย่างหรือ อริยะสัจ ๔ ดังที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไปแล้วในตอนที่๕
    ในพระไตรปิฎก ได้กล่าวครอบคลุมเพียงผลที่เกิด อย่างหนึ่ง คือ "ทุกข์ หมายถึง ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ความลำบากกาย ที่เกิดจากอารมณ์อันเกิดจากการได้รับสัมผัสจากอายตนะภายนอก ด้วยอายตนะภายใน หรือเกิดจากการที่สัมผัสได้ด้วยตัวเอง" และ
    ทุกข์" ก็คือ ชาติ,ชรา, มรณ, โสกะ,ปริเทวะ,โทมนัสส,อุปายาส, อัปปิเยหิสัมปโยค, ปิเยหิวิปปโยค, ยัมปิจฉังนลภติตัมปิ, โดยย่ออุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ (การยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ เป็นทุกข์) (คัดจากพระไตรปิฎก ฉบับธรรมทาน เวบฯ๘๔๐๐๐ ฯ)
    หากท่านทั้งหลายคิดพิจารณาให้ดี ก็จะพบว่า สิ่งที่ปรากฎอยู่ในพระไตรปิฎก เป็นการกล่าวสอนถึง ผล ที่เกิดจาก ขันธ์ ๕ คือ ผลที่เกิดจาก "รูป,สัญญา,เวทนา,สังขาร,จิตวิญญาณ" แต่ไม่ได้อธิบายหรือแยกแยะรายละเอียดถึงความทุกข์ด้านอื่นๆอันเกิดจากการดำรงชีวิตของมนุษย์ ขณะยังมีชีวิตอยู่นั้น ชาติ,ชรา, มรณ, โสกะ,ปริเทวะ,โทมนัสส,อุปายาส, อัปปิเยหิสัมปโยค, ปิเยหิวิปปโยค, ยัมปิจฉังนลภติตัมปิ, โดยย่ออุปาทานขันธ์ ๕ เกิดขึ้นได้อย่างไร เกิดขึ้นด้วยสาเหตุใด
    อันมนุษย์ทั้งหลายนั้น ตามธรรมดา ล้วนย่อมต้องมีความคิด(ดำริ)ล้วนต้องมีการนึกถึง(ระลึก) นั่นเป็นเพราะระบบการทำงานของสรีระร่างกายของมนุษย์ย่อมต้องเป็นไปอย่างนั้น มนุษย์ย่อมต้องมี รูป,มีความรู้สึก(เวทนา),มีความจำ(สัญญา),มีการปรุงแต่งของอวัยะต่างๆ และปรุงจากความรู้ความจำ(สังขาร),มีการรับรู้เมื่อได้รับการสัมผัสทางอายตนะภายนอกด้วยอายตนะภายใน(วิญญาณ)
    การระลึก และ ดำริ ของมนุษย์นี้แหละ คือ ทุกข์เกิดจากเหตุ เป็นอันดับแรก อีกทั้ง การระลึกและ ดำริ ก็ล้วนเป็นผลมาจากขันธ์ ๕ ดังนั้น "ระลึก และ ดำริ" จึง เป็นผล และ เป็นมรรค พร้อมๆกัน
    จบตอนที่ ๖
    จ่าสิบตรี เทวฤทธิ์ ทูลพันธ์
    ๗ มิถุนายน ๒๕๕๔
     

แชร์หน้านี้

Loading...