เรื่องเด่น ที่มาของมงคลชีวิต๓๘ประการและอรรถาธิบาย (ฉบับเจ้าคุณอุบาลี วัดบรมนิวาส)

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 21 พฤษภาคม 2017.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    รวมธรรมะครูบาอาจารย์ ตอน ที่มาของมงคลชีวิต ๓๘ ประการ
    18581523_10213111788059018_126053272349464083_n.jpg
    กาลเมื่อ ๒๕๐๐ กว่าปีที่ผ่านมา ณ ชมพูทวีป มหาชนและคนทั้งหลายผู้อาศัยอยู่ในโลกใบนี้ ต่างคนต่างก็มีความปริวิตกหวาดกลัวต่อความทุกข์ยากเดือดร้อนจากภัยที่จักเป็นอันตรายแก่ตน และคนทั้งทรัพย์สินในครอบครัว ด้วยอาศัยอำนาจแห่งความกลัวนี้ ชนทั้งหลายได้พากันขวนขวายแสวงหาที่พึ่งพาอาศัย ที่ตนเชื่อว่าประเสริฐและทรงอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ เพื่อจักได้ช่วยคุ้มครองปกปักรักษาชีวิตและทรัพย์สินของตนๆ ให้อยู่รอดปลอดภัยจากอันตรายทั้งปวงที่จักอุบัติขึ้น

    บางขณะก็ใช้ที่พึ่งนั้น ให้ช่วยปัดเป่ารักษาอาการเจ็บไข้และโรคร้ายทั้งปวง บางทีก็ใช้ให้ที่พึ่งนั้นดลบันดาลให้พืชผลทางการเกษตรของตนเจริญงอกงาม หรือไม่ก็ใช้ที่พึ่งนั้นช่วยปกป้องภัยภิบัติ อันจักพึงมีแก่พืชผลทางการเกษตรทรัพย์สินและชีวิตของตน ซึ่งบางครั้งก็ดูเหมือนว่าที่พึ่งเหล่านั้นได้ดลบันดาลให้สำเร็จประโยชน์ตามที่ขอได้จริง
    แต่ก็บ่อยครั้ง หรือหลายครั้งที่ที่พึ่งเหล่านั้นมิได้ช่วยให้สำเร็จประโยชน์ตามที่ขอได้เลย แถมยังเป็นตัวทำลายชีวิตทรัพย์สินของผู้เคารพยอมรับบูชาเสียอีก และชีวิตของที่พึ่งเหล่านั้นก็มีมากมายหลายชนิดหลายประเภท มีชีวิตบ้าง ไม่มีชีวิตบ้าง ตัวอย่างเช่น ผู้คนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้แม่น้ำลำคลอง ก็พากันเคารพบูชาแม่พระคงคา บูชาเจ้าสมุทร บูชาผีน้ำ พรายภูตน้ำ หรือที่สุดก็บูชาสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในน้ำนั้น พวกที่อยู่ในป่าเขาต่างก็พากันบูชา เจ้าป่า เจ้าเขา รุกขเทวดา นางไม้ เจ้าที่ จอมปลวก แม้ในที่สุด ก็เคารพบูชาสัตว์น้อยใหญ่ที่อิงอาศัยอยู่ในป่านั้น ว่าเป็นที่พึ่งอันศักดิ์สิทธิ์ประเสริฐ พวกที่อาศัยอยู่ในเมืองก็พากันเคารพบูชา ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า บางพวกก็บูชาลม ฝน ไฟ บางพวกก็บูชาทาง ๓ แพร่ง และทางแยกต่างๆ บางพวกก็บูชาสัตว์เลี้ยงในบ้าน และนอกบ้าน ได้แก่ วัว งู นก ไก่ ปลา และบางพวกก็บูชามนุษย์ที่ประพฤติพรต บำเพ็ญตบะ
    เมื่อมหาชนของผู้คนทั้งหลายพากันบูชาสิ่งเคารพของตนๆ ดังได้กล่าวมาแล้ว ต่างก็พากันบูชาด้วยของบูชาอันเลิศ พร้อมกระนั้นก็ขอความคุ้มครองรักษา บำบัดปัดเป่า ขจัดทุกข์ภัยจากสิ่งเคารพของตน ซึ่งผลที่ตอบรับบางทีก็ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง จนทำให้เป็นที่โจษจัน เคลือบแคลง ระแวงสงสัยแก่มหาชนคนทั้งหลายว่า สิ่งเคารพอันใดกันแน่ที่จัดว่าเป็นสิ่งเคารพที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ดีมีมงคล มหาชนทั้งหลายต่างฝ่ายต่างพากันถกเถียงอยู่เคลื่อนกล่นอลหม่าน ก็ยังหาข้อยุติมิได้ ว่าอะไรคือสิ่งเคารพที่เป็นมงคลสูงสุด
    จนร้อนถึงเหล่าเทวดาชั้นกามาวจร อันได้แก่ เทวดาที่สถิตอยู่ใกล้ชิดกับมนุษย์ เมื่อได้สดับคำโจษขานของมนุษย์ที่อยู่ในความดูแลของตนๆ ก็พากันสอบถามกันและกันว่า

    “เอ...พวกมนุษย์เขาถามกันไปมาว่า อะไรคือสิ่งดีมีมงคลสูงสุด”

    “นั่นสิท่าน ! อะไรล่ะ ข้าพเจ้าก็มิได้รู้เหมือนกัน”

    “ถ้าอย่างนั้นชาวเราทั้งหลาย พากันไปเข้าเฝ้ามหาเทพ เพื่อทูลถามปัญหานี้เถิด”

    เหล่าเทพเทวาทั้งหลาย ก็ได้พากันไปเข้าเฝ้ามหาเทพผู้เป็นใหญ่ในสรวงสวรรค์ พร้อมกับทูลถามปัญหาว่าอะไรเป็นมงคลสูงสุด องค์อินทราธิราชผู้เป็นใหญ่ในสรวงสวรรค์ เมื่อได้ทรงฟังปัญหาของเหล่าเทพเทวาทั้งหลายดังนั้นแล้ว ก็วิเคราะห์ใคร่ครวญพิจารณาดู ก็หาได้รู้ไม่ สุดปัญญาที่จอมเทพไทจักแก้ไข ก็เลยตรัสขึ้นว่า เห็นทีปัญหานี้จักต้องกราบทูลอาราธนาขอให้พระจอมบรมศาสดาทรงเมตตาแก้ปัญหาในครั้งนี้ ด้วยเหตุที่ว่าพระองค์ทรงเป็นพระสัพพัญญู มิมีอะไรที่ไม่ทรงรู้ คิดดังนั้นแล้วก็ชวนเหล่าเทวดาทั้งหลายมาเฝ้าทูลถามปัญหา ณ เชตวันมหาวิหาร อารามของอนาถปิณฑิกเศรษฐี ใกล้เมืองสาวัตถี ที่ ม า ข อ ง ม ง ค ล

    ย้อนหลังไป ๒๖ ศตวรรษ ประชาชนชาวชมพูทวีป สมัยนั้นกำลังตื่นตัวในการค้นคว้าปัญหาเกี่ยวกับชีวิตจิตใจ เช่น คนเราเกิดมาจากไหน ตายแล้วจะไปไหน ทำอย่างไรจึงจะมีความสุขในชีวิต ทำอย่างไรจึงจะมีความสำเร็จในการทำงาน ฯลฯ มีการชุมนุมกันตามสวนสาธารณะบ้าง ประตูเมืองบ้าง จตุรัสต่างๆ บ้าง เพื่ออภิปรายในปัญหาเหล่านี้กันอย่างกว้างขวาง

    เมื่อมีผู้อภิปรายมากเข้า หลายคนก็หลายความคิด และต่างก็โฆษณาเผยแพร่ความคิดของตัว ใครมีคนเชื่อตามมาก ก็กลายเป็นอาจารย์ มีลูกศิษย์ ลูกหากันคนละมากๆ

    ขณะที่การชุมนุมสาธารณะกำลังเฟื่อง การอภิปรายกำลังเป็นไปอย่างครึกครื้น ปัญหาต่างๆ ได้ถูกฟาดฟันด้วยวาทะคมคายเรื่องแล้วเรื่องเล่า

    โดยไม่มีใครคาดฝัน ได้มีผู้เสนอญัตติสำคัญเข้าสู่วงอภิปรายว่า

    “อะไรคือมงคลของชีวิต”

    ดูรูปปัญหาแล้วก็ไม่น่าจะหนักหนาอะไร แต่เมื่อมีผู้เสนอตัวขึ้นกล่าวแก้ กลับถูกผู้อื่นกล่าววาทะหักล้างอย่างไม่เป็นท่า

    “ท่านทั้งหลาย โปรดฟังทางนี้ ข้าพเจ้าทราบดีว่าอะไรเป็นมงคล”

    นักอภิปรายผู้หนึ่งนามว่า ทิฏฐมังคลิกะ เสนอตัวขึ้นในที่ชุมนุม

    “รูปที่ตาเห็นนี้แหละเป็นมงคล ลองสังเกตดูซิ เมื่อเราตื่นแต่เช้าตรู่ ได้เห็นนกบินเป็นฝูงๆ พระอาทิตย์ขึ้น ต้นไม้เขียวๆ เด็กเล็กๆ น่ารัก สิ่งที่เราเห็นนี้แหละเป็นมงคล”

    พอทิฏฐมังคลิกะกล่าวจบลง นักอภิปรายอีกคนหนึ่งชื่อ สุตมังคลิกะก็กล่าวหักล้างทันทีว่า “ช้าก่อน ท่านทั้งหลายอย่าเพิ่งเชื่อ ที่นายทิฏฐมังคลิกะกล่าวนั้นเป็นไปไม่ได้ ถ้าสิ่งที่ตาเห็นเป็นมงคลแล้ว เวลาเรามองเห็นอุจจาระ ปัสสาวะ คนเป็นโรค สิ่งเหล่านี้ก็ต้องเป็นมงคลด้วยซิ มันจะเป็นไปได้อย่างไร”

    “ต้องหูซิท่าน เสียงที่หูฟังนี่แหละเป็นมงคล ตื่นเช้าเราก็ได้ฟังเสียงนกร้องบ้าง เสียงเพลงบ้าง เสียงแม่หยอกล้อเล่นกับลูกบ้าง เสียงพูดเพราะๆ บ้าง เสียงลมพัดยอดไม้บ้าง ฯลฯ เสียงที่หูได้ฟังจึงเป็นมงคล” สุตมังคลิกะกล่าว

    ไม่ทันขาดคำ ก็มีนักอภิปรายอีกคนหนึ่งชื่อ มุตมังคลิกะกล่าวแย้งทันที ว่า “เป็นไปไม่ได้หรอก ถ้าเสียงที่หูได้ยินเป็นมงคล อย่างนั้นเวลาเราได้ยินคนด่ากัน คนขู่ตะคอก คนโกหกมดเท็จ เสียงเหล่านี้จะเป็นมงคลด้วยหรือ”

    “ต้องอารมณ์ที่ใจเราทราบซิท่านจึงจะเป็นมงคล พึงสังเกตว่า ตื่นเช้าเราได้ดมกลิ่นดอกไม้หอมๆ จับต้องสวมใส่เสื้อผ้าสะอาดๆ รับประทานอาหารอร่อยๆ เป็นอารมณ์ที่ใจเรารับรู้ รับทราบ นี่แหละจึงเป็นมงคล”

    ทันควันอีกเหมือนกัน นักอภิปรายอีกคนก็แย้งทันทีว่า “เป็นไปไม่ได้ ถ้าอารมณ์ที่ใจเรารับรู้เป็นมงคลแล้ว อย่างนั้นเวลาเราได้กลิ่นเหม็นๆ จับของ สกปรก คิดเรื่องชั่วร้าย อารมณ์ตอนนั้นจะเป็นมงคลไปด้วยหรือ”

    ข้อวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องมงคล ได้แผ่ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางทั่วแคว้น ในบ้าน ในสภา ในสโมสร ในหมู่คนเดินทาง ฯลฯ ปัญหาเรื่องมงคลได้ถูกนำขึ้นมาถกเถียงกันอยู่ทั่วไป

    ไม่เฉพาะมนุษย์ แม้พวกเทวดาได้ยินมนุษย์ถกเถียงกันก็นำเรื่องมงคลมาถกเถียงกันบ้าง ตั้งแต่เทวดารักษามนุษย์ ภุมมเทวา อากาศเทวา ตลอดจนเทวดาบนสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น จนถึงพรหมโลก ต่างก็นำเรื่องมงคลมาถกเถียงกัน ปัญหามงคลนี้ได้กลายเป็นมงคลโกลาหล ร่ำลือกันกระฉ่อนไปหมด ทั่วทั้งมนุษยโลก เทวโลก พรหมโลก แต่ก็ไม่มีใครชี้ขาดได้ว่าอะไรเป็นมงคลของชีวิต

    แต่มีพรหมอยู่พวกหนึ่ง คือพรหมชั้นสุทธาวาส พรหมชั้นนี้เมื่อสมัยเป็น มนุษย์ได้ปฏิบัติธรรมจนบรรลุธรรมขั้นพระอนาคามี จึงทราบดีว่าอะไรเป็นมงคล แต่ไม่สามารถอธิบายออกมาได้ ได้แต่ป่าวประกาศให้เทวดาทั้งหลายทราบว่าอีก ๑๒ ปี พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะบังเกิดขึ้นในโลก ให้คอยถามปัญหามงคลนี้กับพระองค์

    เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว คืนหนึ่งขณะที่ประทับอยู่ ณ เชตวันมหาวิหาร ใกล้เมืองสาวัตถี ท้าวสักกเทวราชได้นำหมู่เทวดาเข้าเฝ้า และบัญชาให้เทพบุตรองค์หนึ่งทูลถามพระองค์ว่า อะไรคือมงคลของชีวิต

    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงแสดงหลักมงคล ซึ่งมีทั้งหมด ๓๘ ประการ มงคลของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ยึดถือวัตถุ แต่ยึดถือการปฏิบัติฝึกฝนตนเอง

    แม้หลักมงคลที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จะประกอบไปด้วย เหตุผลอย่างสมบูรณ์ ไม่มีใครสามารถหักล้างได้ แต่ก็มิได้หมายความว่า คณาจารย์ นักคิด เจ้าลัทธิทั้งหลายจะล้มเลิกความคิดเดิม หันมาเชื่อพระองค์ทุกคน เพราะล้วนแต่หนาแน่นด้วยทิฏฐิกันทั้งนั้น แม้จะรู้ตัวว่าผิด แต่ยังยืนยันวาทะของตนอยู่ และสานุศิษย์ของแต่ละสำนักก็ยังทำการเผยแพร่อยู่อย่างไม่หยุดยั้ง ประกอบกับนิสัยของคนเรามีความขลาดประจำตัวอยู่แล้ว ชอบทำอะไรเผื่อเหนียว ไว้ก่อน จึงมีผู้ยอมรับนับถือปฏิบัติสืบต่อกันมา เกิดเป็นมงคล ๒ สาย พัวพันกันมาจนถึงปัจจุบันคือ

    ๑. มงคลของนักคิด เรียกว่า มงคลมี ยึดถือเอาว่า การมีสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นมงคล ซึ่งแต่ละที่แต่ละสมัยก็ยึดถือต่างๆ กันไป ไม่มีอะไรแน่นอน ของบางอย่าง บางที่ถือเป็นมงคล บางที่อาจถือว่าเป็นอัปมงคลก็ได้

    ๒. มงคลของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรียกว่า มงคลทำ ยึดถือเอาการปฏิบัติฝึกฝนตนเองเป็นเกณฑ์ เป็นสัจธรรมที่ไม่เปลี่ยนแปลง ผู้ใดปฏิบัติตามแล้วย่อมได้ผลแน่นอน

    มงคลของนักคิดนั้น มีผู้เสนอขึ้นมาแล้ว ก็มีผู้โต้แย้งลบล้างไป แล้วก็มีผู้เสนอขึ้นมาใหม่อยู่เรื่อยๆ จนหาข้อยุติไม่ได้ แต่มงคลของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เมื่อทรงแสดงแล้ว ก็ไม่มีใครสามารถหาเหตุผลมาลบล้างได้ แม้ พระองค์จะทรงเปิดโอกาส ให้คัดค้านวิพากษ์วิจารณ์ได้ตลอดเวลา ดังความในบทสรรเสริญพระธรรมคุณ ที่ว่า “เอหิปัสสิโก เชิญมาพิสูจน์เถิด”
     
  2. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    รวมธรรมะครูบาอาจารย์ ตอน มงคลที่ ๑ ไม่คบคนพาล
    18519696_10213111801939365_897856431244081640_n.jpg
    “ใบไม้ที่ห่อหุ้มปลาเน่า
    ย่อมต้องพลอยเหม็นแปดเปื้อนไปด้วยฉันใด
    ผู้ที่คบคนพาล ก็ย่อมต้องพลอยเสียชื่อเสียง
    ติดความเป็นพาลเดือนร้อนเสียหายไปด้วยฉันนั้น”

    ค น พ า ล คื อ ใ ค ร ?

    คนพาล คือคนที่มีใจขุ่นมัวเป็นปกติ เป็นผลให้มีความเห็นผิด ยึดถือค่านิยมผิดๆ และมีวินิจฉัยเสีย คือไม่รู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรควร อะไรไม่ควร เช่น บัณฑิตเห็นว่า “เหล้า” เป็นของไม่ดี ทำให้ขาดสติ นำความเสื่อมมาให้นานัปการ แต่คนพาลกลับเห็นว่า “เหล้า” เป็นของประเสริฐ เป็นเครื่องกระชับมิตร หรือบัณฑิตเห็นว่า “การเล่นไพ่” เป็นอบายมุข เป็นปากทาง หรือเป็นสัญลักษณ์แห่งความฉิบหาย แต่คนพาลกลับเห็นว่า “การเล่นไพ่” เป็นสิ่งดี ทำให้เพลิดเพลิน เป็นการฝึกสมองซ้อมวิชาคำนวณ ดังนี้เป็นต้น

    คนพาลเป็นคนเหมือนกับเรา คือมีร่างกายประกอบด้วยเลือดเนื้อเช่นเดียวกับเรา และอาจมีความสัมพันธ์ เกี่ยวข้องกับเราก็ได้ เช่น เป็นญาติพี่น้อง สามีภรรยา ครูอาจารย์ ฯลฯ อาจเป็นผู้มีการศึกษาสูง อาจมีตำแหน่งหน้าที่การงานสูง อาจมีสมัครพรรคพวกมาก ฯลฯ แต่ไม่ว่าจะเป็นอะไร มีความ สัมพันธ์กับเราหรือไม่ ขึ้นชื่อว่าพาลแล้ว ถึงแม้จะมีความรู้มีความสามารถก็ไม่ใช้ความรู้ความสามารถในทางที่ถูกที่ควร เพราะเขาแสลงต่อความดี เหมือนคนไข้แสลงต่อน้ำเย็น

    ลั ก ษ ณ ะ ข อ ง ค น พ า ล

    เนื่องจากคนพาลมีใจขุ่นมัวอยู่เสมอ ทำให้ไม่สามารถควบคุมใจให้คิดไปในทางที่ถูกต้องได้ คนพาลจึงมีลักษณะวิปริตผิดจากคนทั้งหลาย ๓ ประการ คือ

    ๑. ชอบคิดชั่วเป็นปกติ ได้แก่ คิดละโมบอยากได้ในทางทุจริต คิดพยาบาทปองร้าย คิดเห็นผิดเป็นชอบ ฯลฯ

    ๒. ชอบพูดชั่วเป็นปกติ ได้แก่ พูดปด พูดคำหยาบ พูดส่อเสียดยุยง พูดเพ้อเจ้อ ฯลฯ

    ๓. ชอบทำชั่วเป็นปกติ ได้แก่ เกะกะเกเร กินเหล้าเมายา ชอบล้างผลาญชีวิตคนและสัตว์ ลักทรัพย์ ฉุดคร่าอนาจาร ฯลฯ

    โ ท ษ ข อ ง ค ว า ม เ ป็ น ค น พ า ล

    ๑. มีความเห็นผิด ก่อทุกข์ให้ตนเอง

    ๒. เสียชื่อเสียง ถูกติฉินนินทา

    ๓. ไม่มีคนนับถือ ถูกเกลียดชัง

    ๔. หมดสิริมงคล หมดสง่าราศี

    ๕. ความชั่วเภทภัยทั้งหลาย จะไหลเข้ามาหาตัว

    ๖. ทำลายประโยชน์ของตนเองทั้งโลกนี้และโลกหน้า

    ๗. ทำลายวงศ์ตระกูลของตนเอง

    ๘. เมื่อละโลกไปแล้วมีอบายภูมิเป็นที่ไป ฯลฯ

    วิ ธี สั ง เ ก ต ค น พ า ล

    คนพาลมักกระทำในสิ่งต่อไปนี้ คือ

    ๑. คนพาลชอบชักนำในทางที่ผิด

    - ชัก คือชักชวน เชิญชวน ชี้ชวน หรือเสนอแนะ

    - นำ คือการทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง

    เช่น ชักชวนหนีโรงเรียน ชักชวนไปลักขโมย ชักชวนให้เสพยาบ้า เสพ ยาเสพย์ติด ชักนำไปเป็นอันธพาล ฯลฯ การชักนำนี้อาจทำด้วยความหวังดีก็ได้ แต่ว่ามันผิด เช่น ได้เงินมาก็ชักชวนเพื่อนไปเลี้ยงเหล้า เที่ยวกลางคืน อย่างนี้ก็จัดว่าเป็นพาล

    ผู้ที่ยังเยาว์วัย อ่อนความคิด อ่อนสติ มักถูกชักนำได้โดยง่าย ฉะนั้นผู้ใหญ่ในบ้าน จึงควรระมัดระวัง การกระทำและคำพูด ทั้งของตนเองและผู้ที่มาติดต่อคบหา เพราะเด็กมักจะจำและทำตามอย่างด้วยความไม่รู้ แม้ผู้ใหญ่ทำสิ่งไม่ดี เด็กก็มักเข้าใจผิดคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีควรกระทำ

    ๒. คนพาลชอบทำในสิ่งที่ไม่ใช่ธุระ เกะกะเกเร หน้าที่การงานของตน ไม่พยายามจัดการให้เรียบร้อย แต่ชอบไปก้าวก่ายหน้าที่การงานของผู้อื่น เช่น จับผิดผู้ร่วมงาน เขียนบัตรสนเท่ห์ กลั่นแกล้ง รังแก ทำความรบกวน ให้เดือดร้อน ฯลฯ

    ๓. คนพาลชอบแต่สิ่งผิดๆ ชอบถือเอาสิ่งที่ชั่วว่าเป็นสิ่งที่ดี เช่น ชอบเล่นไพ่ ชอบสูบบุหรี่ ชอบหนีโรงเรียน ชอบเถียงพ่อแม่ ฯลฯ เห็นคนทำถูกเป็นคนโง่ เห็นคนกลัวผิดเป็นคนขี้ขลาด

    ๔. คนพาลแม้พูดดีๆ ก็โกรธ เช่น เตือนให้ดูหนังสือตอนใกล้สอบก็โกรธ เตือนให้ตื่นเช้าก็โกรธ แค่มองหน้าบางครั้งก็ยังโกรธ ฯลฯ

    ๕. คนพาลไม่ยอมรับรู้ระเบียบวินัย เช่น ไม่ชอบข้ามถนนตรงทางม้าลาย ทิ้งขยะบนพื้นถนน ไปโรงเรียนสาย ไปทำงานสาย ฯลฯ

    พ ฤ ติ ก ร ร ม ที่ เ รี ย ก ว่ า “ค บ” คื อ อ ย่ า ง ไ ร ?

    คบ หมายถึงพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ คือ

    - ร่วม เช่น ร่วมกิน ร่วมนอน ร่วมก่อการ ร่วมหุ้น ร่วมลงทุน

    - รับ เช่น รับเป็นเพื่อน รับเป็นภรรยาหรือสามี รับไว้ทำงาน รับฟัง สิ่งที่คนพาลพูดหรือเขียน

    - ให้ เช่น ให้ความไว้วางใจ ให้คำชมเชย ให้ยศ ให้ตำแหน่ง ให้หยิบยืมสิ่งของ ให้การสนับสนุน

    การไม่คบคนพาล คือการไม่ยอมมีพฤติกรรมสัมพันธ์ใดๆ ดังกล่าว ข้างต้นกับคนพาล ถ้าเรายังคบคนพาลอยู่ ไม่ว่าจะในระดับไหนก็ตาม รีบถอนตัวเสียโดยด่วน อย่าประมาท รีบตัดไฟเสียแต่ต้นลม มิฉะนั้นจะพลาด ติดเชื้อพาลโดยไม่รู้ตัว กลายเป็นพาลตามไปด้วย

    โบราณท่านให้คติเตือนใจไว้ว่า ห่างสุนัขให้ห่างศอก ห่างวอกให้ห่างวา ห่างพาลา ให้ห่างหมื่นโยชน์แสนโยชน์

    โ ท ษ ข อ ง ก า ร ค บ ค น พ า ล

    ๑. ย่อมถูกชักนำไปในทางที่ผิด

    ๒. ย่อมเกิดความหายนะ การงานล้มเหลว

    ๓. ย่อมถูกมองในแง่ร้าย ไม่ได้รับความไว้วางใจจากบุคคลทั่วไป

    ๔. ย่อมอึดอัดใจ เพราะคนพาลแม้เราพูดดีๆ ด้วยก็โกรธ

    ๕. หมู่คณะย่อมแตกความสามัคคี เพราะการยุยงและไม่ยอมรับรู้ระเบียบวินัย

    ๖. ภัยอันตรายต่างๆ ย่อมไหลเข้ามาหาตัว

    ๗. เมื่อละโลกแล้ว ย่อมมีอบายภูมิเป็นที่ไป ฯลฯ

    ปลาร้าพันห่อด้วย ใบคา
    ใบก็เหม็นคาวปลา คละคลุ้ง
    คือคนหมู่ไปหา คบเพื่อน พาลนา
    ได้แต่รายร้ายฟุ้ง เฟื่องให้เสียพงศ์
    (สุภาษิตโคลงโลกนิติ)

    ป ร ะ เ ภ ท ข อ ง ค น พ า ล

    คนพาลมี ๒ ประเภท ได้แก่

    ๑. พาลภายนอก คือคนพาลทั่วไป ซึ่งแม้จะร้ายกาจเพียงใด เราก็ยังมีทางหลีกเลี่ยงได้ แต่มีพาลอีกประเภทหนึ่งที่ร้ายยิ่งกว่า เพราะมักเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวและไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ คือพาลภายใน

    ๒. พาลภายใน คือตัวเราเองขณะที่คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว เช่น หนีงาน บ้าง เที่ยวเกเร ไปยุ่งธุระคนอื่นโดยใช่เหตุบ้าง ชอบไปทำงานสายบ้าง คนอื่นเตือนดีๆ ก็โกรธบ้าง หลีกเลี่ยงวินัยบ้าง พูดไม่ไพเราะบ้าง ครั้งใดที่เราทำ เช่นนี้ ครั้งนั้นเราเองนั่นแหละคือตัวพาล มีเชื้อพาลอยู่ภายใน ต้องรีบแก้ไข

    ห ลั ก ป ฏิ บั ติ ใ น ชี วิ ต ป ร ะ จ ำ วั น

    ๑. หมั่นห้ามใจตนเองจากความชั่วแม้เพียงเล็กน้อย ก่อนที่มันจะลุกลามต่อไป เช่น การนอนตื่นสาย ทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง หรือปล่อยให้ที่อยู่อาศัยรกรุงรังไม่หมั่นทำความสะอาด

    ๒. อย่าตามนึกถึงความชั่ว ความผิดพลาดในอดีต ทั้งของตนเองและผู้อื่น ผ่านไปแล้วก็ให้แล้วกันไป ถือเป็นบทเรียนที่จะไม่ยอมทำซ้ำอีก แล้วตั้งใจทำความดีใหม่ให้เต็มที่

    ๓. ตั้งใจให้ทาน รักษาศีล เจริญสมาธิภาวนาอย่างสม่ำเสมอ

    ๔. หลีกเลี่ยงการอ่าน การฟัง การพูด เรื่องเกี่ยวกับคนพาล จะได้ ไม่สะสมความคิดเกี่ยวกับพาลไว้ในใจ พยายามสะสมแต่ความคิดที่ดีงามโดยการอ่าน การฟัง การพูด แต่สิ่งที่ดีงาม เช่น อ่านหนังสือธรรมะ ฟังเทศน์ สนทนาธรรม พูดถึงคนที่ทำคุณความดี ฯลฯ

    ๕. ถ้าจำเป็นต้องอยู่ใกล้คนพาลอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ เช่น ทำ งานในที่เดียวกัน เป็นญาติพี่น้องกัน ในกรณีเช่นนี้เราต้องระลึกอยู่เสมอว่า เรากำลังอยู่ใกล้สิ่งที่เป็นอันตราย เหมือนอยู่ใกล้คนเป็นโรคติดต่อ ต้องระวังตัว คือระวังความเป็นพาลของเขาจะมาติดเราเข้า ต้องหมั่นให้ทาน รักษาศีล ทำสมาธิ เพื่อให้ใจผ่องใสอยู่เสมอ

    เราต้องระลึกเสมอว่า หน้าที่อันยิ่งใหญ่และสำคัญที่สุดในชีวิต ไม่มีอะไรยิ่งไปกว่าการปราบพาลภายในตัวเราเอง

    อ า นิ ส ง ส์ ก า ร ไ ม่ ค บ ค น พ า ล

    ๑. ทำให้ไม่ถูกชักจูงไปในทางที่ผิด

    ๒. ทำให้สามารถรักษาความดีเดิมไว้ได้

    ๓. ทำให้สามารถสร้างความดีใหม่เพิ่มขึ้นได้อีก

    ๔. ทำให้ไม่ถูกคนพาลทำร้าย

    ๕. ทำให้ไม่ถูกตำหนิ ไม่ถูกใส่ความ

    ๖. ทำให้ไม่ถูกมองในแง่ร้าย ได้รับความไว้วางใจจากบุคคลทั่วไป

    ๗. ทำให้มีความเจริญก้าวหน้า สามารถตั้งตัวได้เร็ว

    ๘. ทำให้มีความสุขทั้งตนเอง ครอบครัว และประเทศชาติ

    ๙. เป็นการตัดกำลังไม่ให้เชื้อพาลระบาดไป เพราะขาดคนสนับสนุน ฯลฯ

    “ตลอดเวลาที่บาปยังไม่ให้ผล คนพาลสำคัญบาปเหมือนน้ำผึ้ง บาปให้ผลเมื่อใด คนพาลย่อมเข้าถึงทุกข์เมื่อนั้น” ขุ.ธ.๒๕/๑๕/๒๔

    จบมงคลที่ ๑ ไม่คบคนพาล
     
  3. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    รวมธรรมะครูบาอาจารย์ ตอน มงคลที่ ๒ คบบัณฑิต
    18527572_10213111817539755_8108141582515403387_n.jpg
    “ผ้าที่ห่อหุ้มของหอม
    ย่อมพลอยหอมตลบอบอวลตามไปด้วยฉันใด
    ผู้ที่คบบัณฑิต
    ก็ย่อมพลอยได้รับความรู้ ความสามารถ
    และความดีตามบัณฑิตไปด้วยฉันนั้น”

    บั ณ ฑิ ต คื อ ใ ค ร ?

    บัณฑิต คือคนที่มีใจผ่องใสอยู่เป็นปกติ ทำให้มีความเห็นถูก ยึดถือค่านิยมที่ถูกต้อง สามารถดำเนินชีวิตอยู่ด้วยปัญญา

    - เป็นผู้รู้ดี คือรู้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว
    - เป็นผู้รู้ถูก คือรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด
    - เป็นผู้รู้ชอบ คือรู้ว่าอะไรบุญอะไรบาป

    บัณฑิต อาจเป็นใครก็ได้ เช่น อาจเป็นผู้อ่านหนังสือไม่ออก อาจเป็นชาวไร่ชาวนา อาจเป็นผู้มีการศึกษาสูง อาจเป็นญาติของเรา ฯลฯ แต่ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม จะต้องเป็นผู้มีจิตใจผ่องใส และดำเนินชีวิตอยู่ด้วยปัญญา คือเป็นคนดีนั่นเอง

    คนทั่วไปมักเข้าใจว่า ผู้ที่เรียนหนังสือจนได้รับปริญญานั้น คือบัณฑิต ความจริงแล้วนั่น เป็นเพียงบัณฑิตทางโลกเท่านั้น ยังไม่ใช่บัณฑิตที่แท้จริง เพราะผู้ที่ได้รับปริญญาแล้ว ถ้าความประพฤติไม่ดี อาจไปทำผิดติดคุกติดตะรางได้ แต่บัณฑิตที่แท้จริง ย่อมเป็นผู้ตั้งใจละชั่ว ประพฤติชอบ ประกอบแต่ความดี ความถูกต้องความสุจริต สามารถป้องกันตนให้พ้นจากคุกตะราง แม้กระทั่งจากนรกได้

    “บัณฑิตมิใช่ผู้มีเพียงปริญญา แต่คือผู้อุดมด้วยศีล สมาธิ ปัญญา”

    ลั ก ษ ณ ะ ข อ ง บั ณ ฑิ ต

    เนื่องจากบัณฑิตเป็นผู้มีจิตใจผ่องใส มีความเห็นถูก ดำเนินชีวิตอยู่ด้วย ปัญญา ฉลาดในการสอดส่องหาเหตุผล จึงมีลักษณะพิเศษสูงกว่าคนทั้งหลาย ๓ ประการ คือ

    ๑. ชอบคิดดีเป็นปกติ ได้แก่ คิดให้ทาน คิดให้อภัยอยู่เสมอ ไม่ผูกพยาบาท คิดเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง เช่น เห็นว่าบุญบาปมีจริง พ่อแม่มีพระคุณต่อเราจริง เป็นต้น

    ๒. ชอบพูดดีเป็นปกติ ได้แก่ พูดคำจริง พูดคำสมานไมตรี พูดคำมีประโยชน์ พูดด้วยจิตที่ประกอบด้วยเมตตา และพูดถูกต้องตามกาลเทศะ

    ๓. ชอบทำดีเป็นปกติ ได้แก่ มีเมตตากรุณา ประกอบสัมมาอาชีวะ ทำบุญให้ทานเป็นปกติ รักษาศีล ทำสมาธิภาวนาอย่างสม่ำเสมอ

    อ ง ค์ คุ ณ ข อ ง บั ณ ฑิ ต

    ๑. กตัญญู รู้อุปการคุณที่ท่านทำแล้วแก่ตน

    ๒. อัตตสุทธิ ทำตนให้บริสุทธิ์จากบาป

    ๓. ปริสุทธิ ทำผู้อื่นให้บริสุทธิ์จากบาป

    ๔. สังคหะ สงเคราะห์แก่ชุมชนทั้งหลาย

    วิ ธี สั ง เ ก ต บั ณ ฑิ ต

    บัณฑิตมักกระทำในสิ่งต่อไปนี้คือ

    ๑. บัณฑิตชอบชักนำในทางที่ถูก เช่น ชักนำให้เลิกสูบบุหรี่ เลิกดื่มสุรา เลิกเล่นการพนัน เลิกเสพยาเสพย์ติด ชักนำให้สวดมนต์ก่อนนอน ให้รักษาศีล ให้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ให้ทำมาหากินในทางสุจริต เป็นต้น

    ๒. บัณฑิตชอบทำแต่สิ่งที่เป็นธุระ ไม่เกะกะเกเรใครๆ เร่งรีบทำการงานในหน้าที่ของตน ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ไม่ปล่อยงานให้คั่งค้าง และไม่ก้าวก่ายงานในหน้าที่ของคนอื่น เว้นแต่เมื่อได้รับการขอร้อง หรือเพื่ออนุเคราะห์

    ๓. บัณฑิตชอบทำแต่สิ่งที่ถูกที่ควร เช่น ชอบพูดและทำตรงไปตรงมา ชอบสนทนาธรรม รังเกียจการนินทาว่าร้าย ชอบบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น เป็นต้น

    ๔. บัณฑิตเมื่อถูกว่ากล่าวตักเตือนโดยดีย่อมไม่โกรธ มีนิสัยถือเอา ความถูกความดีและความมีประโยชน์เป็นที่ตั้ง ไม่ถือตัวอวดดีดื้อรั้น แต่เห็นว่า ผู้ที่ตักเตือนตนคือผู้ที่ชี้ขุมทรัพย์ให้ แล้วพยายามแก้ไขปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้นตามคำแนะนำนั้น โดยไม่นึกรังเกียจว่าผู้ที่ตักเตือนจะมีอายุ ยศศักดิ์ ฐานะสูงหรือต่ำกว่า และหากมีผู้เข้าใจผิดพูดก้าวร้าวไม่สมควร ก็อดทนไว้ไม่โกรธตอบ แล้ว พยายามหาโอกาสชี้แจงให้เข้าใจภายหลัง จึงทำความอบอุ่นเย็นใจให้แก่ทุกคน

    ๕. บัณฑิตย่อมรับรู้ระเบียบวินัย รักที่จะปฏิบัติตามระเบียบวินัยของหมู่คณะอย่างเคร่งครัด เพราะตระหนักดีว่า วินัยเป็นเครื่องยกหมู่คณะให้เจริญขึ้นได้จริง ทำให้หมู่คณะสงบเรียบร้อยไม่วุ่นวายจริง ทำให้เกิดความผาสุกจริง ฯลฯ จึงรังเกียจความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ความไม่สะอาด รกรุงรัง

    วิ ธี ค บ บั ณ ฑิ ต

    ๑. หมั่นไปมาหาสู่

    ๒. หมั่นเข้าไปนั่งใกล้

    ๓. มีความจริงใจ ให้ความเกรงอกเกรงใจต่อท่าน

    ๔. ฟังคำแนะนำ ฟังคำพูดของท่าน (ฟังธรรม)

    ๕. จำธรรมที่ได้ฟังนั้นไว้

    ๖. พิจารณาใจความของธรรมที่จำได้นั้นให้ดี

    ๗. พยายามปฏิบัติตามธรรมที่ได้ฟังและใคร่ครวญอย่างดีแล้วนั้น

    ใบพ้อพันห่อหุ้ม กฤษณา
    หอมระรวยรสพา เพริศด้วย
    คนเสพเสน่หา นักปราชญ์
    ความสุขซาบฤาม้วย ดุจไม้กลิ่นหอม
    (สุภาษิตโคลงโลกนิติ)

    ป ร ะ เ ภ ท ข อ ง บั ณ ฑิ ต

    บัณฑิตมี ๒ ประเภท ได้แก่

    ๑. บัณฑิตภายนอก คือบุคคลทั่วไปไม่ว่าใครก็ตามที่เป็นผู้ประพฤติดี มีคุณธรรม ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา

    ๒. บัณฑิตภายใน คือตัวเราขณะที่คิดดี พูดดี และทำดีนั่นเอง ดังนั้น การคบบัณฑิตภายในก็คือ การพยายามฝึกตนให้เป็นผู้มีจิตใจผ่องใส มีสติรำลึกถึงแต่ความคิดที่ดีๆ เพื่อการสร้างสรรค์ คำพูดที่ดีๆ เพื่อยกใจผู้พูดและผู้ฟังให้สูงขึ้น และการกระทำที่ดีๆ เพื่อประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ซึ่งทำได้โดยการหมั่นให้ทาน รักษาศีล และเจริญสมาธิภาวนาอย่างสม่ำเสมอ

    อ า นิ ส ง ส์ ก า ร ค บ บั ณ ฑิ ต

    ๑. ทำให้มีจิตใจผ่องใส สามารถทำความดีตามไปด้วย

    ๒. ทำให้ได้ปัญญาเพิ่มขึ้น เป็นคนหนักแน่น มีเหตุผล

    ๓. ทำให้มีความเห็นถูก เป็นสัมมาทิฏฐิ

    ๔. ทำให้ไม่ต้องเศร้าโศกเดือดร้อนเพราะทำผิด

    ๕. ทำให้เป็นที่ยกย่องสรรเสริญของคนทั่วไป

    ๖. ทำให้มีความสุข ปลอดภัยจากอุปสรรคภัยพาลต่างๆ

    ๗. ทำให้มีความเจริญก้าวหน้า สามารถตั้งตัวได้เร็ว

    ๘. ทำให้แม้ละโลกนี้ไปแล้ว ก็ไปสู่สุคติโลกสวรรค์

    ๙. ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้โดยง่าย ฯลฯ

    “แท้จริง บุคคลผู้มีปกติเที่ยวสมคบคนพาล ย่อมเศร้าโศกสิ้นกาลนาน เพราะการอยู่ร่วมกับคนพาล เป็นเหตุนำทุกข์มาให้ในกาลทุกเมื่อ เหมือนการอยู่ร่วมกับศัตรู ส่วนบัณฑิตมีการอยู่ร่วมเป็นสุข เหมือนสมาคมแห่งหมู่ญาติ เพราะเหตุนั้นแล นรชนพึงคบบัณฑิต ผู้มีปัญญา เป็นพหูสูต เอาการเอางาน มีศีล มีวัตร ไกลจากกิเลส และเป็นสัตบุรุษ เปรียบดังพระจันทร์คบอากาศอันเป็นทางโคจรแห่งดวงดาวฉะนั้น” ขุ.ธ.๒๕/๒๕/๔๒-๔๓

    จบมงคลที่ ๒ คบบัณฑิต
     
  4. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    รวมธรรมะครูบาอาจารย์ ตอน มงคลที่ ๓ บูชาบุคคลที่ควรบูชา
    18556301_10213123597474246_3253315572962769400_n.jpg
    “ต้นไม้เมื่อยังเล็กเป็นต้นกล้าอยู่
    จำเป็นต้องมีหลักค้ำประคองไว้
    ป้องกันไม่ให้ล้มรากขาดตายเสียก่อนฉันใด
    ผู้ที่หวังความเจริญก้าวหน้า
    ก็จำเป็นต้องบูชาบุคคลที่ควรบูชา ไว้เป็นตัวอย่างการดำเนินชีวิตที่ถูก
    เป็นหลักใจ ป้องกันความเห็นผิดและอกุศลกรรมต่างๆ
    มิให้ย้อนกลับกำเริบขึ้นมาอีกฉันนั้น”

    ก า ร บู ช า คื อ อ ะ ไ ร ?

    การบูชา คือการเลื่อมใส ยกย่อง เชิดชู ด้วยกิริยาอาการสุภาพที่เราแสดงต่อผู้ที่ควรบูชาทั้งต่อหน้าและลับหลัง การแสดงต่อหน้า เป็นการแสดงให้ท่านทราบว่า รามีความเคารพ และตระหนักในคุณธรรมความดี ที่มีอยู่ในตัวของท่านอย่างจริงใจ การแสดงลับหลัง เป็นการเตือนใจตัวเราเอง ให้ผูกใจไว้กับ คุณธรรมอันสูงส่งของท่าน ก่อให้เกิดความรู้สึก อยากกระทำตาม ใจเราจะได้ยกสูงขึ้นเสมอๆ ไม่เลื่อนไหลไปในทางชั่วร้าย

    การบูชา เป็นกุศโลบายอย่างหนึ่ง สำหรับฝึกใจที่ยังหยาบกระด้าง เพราะไม่อาจยอมรับคุณความดีของผู้อื่น ให้ละเอียดอ่อนลง ผู้ที่ยังด้อยปัญญา ยังไม่เข้าใจในคุณธรรมความดีของผู้ที่ควรบูชานัก แต่หากได้เคยชินกับการบูชาแล้ว ในที่สุดย่อมสามารถเห็นถึงคุณธรรมความดี ที่มีอยู่ในตัวของผู้ที่เราบูชา ได้อย่างแจ่มชัด จนเกิดความเลื่อมใสกลายเป็นการบูชาอย่างแท้จริง อยากทำความดีตามท่านบ้าง ผู้ใหญ่จึงควรสอนบุตรหลานให้รู้จักสวดมนต์บูชาพระรัตนตรัย เป็นการปลูกศรัทธา ให้รู้จักบูชาบุคคลที่ควรบูชา ตั้งแต่เล็กๆ

    บุ ค ค ล ที่ ค ว ร บู ช า

    คือบุคคลที่มีคุณความดีควรค่าแก่การระลึกนึกถึง และยึดถือเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติตาม ได้แก่ ผู้มีศีล สมาธิ ปัญญาสูงกว่าเรานั่นเอง ซึ่งประมวล สรุปได้ดังนี้

    ๑. พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นบัณฑิตที่ประเสริฐสุดในโลก ทรงไว้ด้วยพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาธิคุณ จัดเป็นบุคคลที่ควรบูชาของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย

    ๒. พระสงฆ์ ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบก่อนแล้วจึงสอนให้ผู้อื่นประพฤติดี ปฏิบัติชอบตามอย่างบ้าง จัดเป็นบุคคลที่ควรบูชาของพุทธศาสนิกชน

    ๓. พระมหากษัตริย์ผู้ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม เป็นธรรมราชา จัดเป็นบุคคลที่ควรแก่การบูชาของประชาชน

    ๔. บิดามารดาและญาติผู้ใหญ่ที่มีความประพฤติดี เป็นบัณฑิตที่อยู่ ในฐานะสูงเกินกว่าจะคบ จัดเป็นบุคคลที่ควรแก่การบูชา หรือปูชนียบุคคลของบุตรหลาน

    ๕. ครูอาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถ ความประพฤติดี เป็นบัณฑิตที่อยู่ในฐานะสูงเกินกว่าศิษย์จะคบหา จัดเป็นบุคคลที่ควรแก่การบูชาของศิษย์

    ๖. ผู้บังคับบัญชาที่มีความประพฤติดี ตั้งอยู่ในธรรม จัดเป็นบุคคลที่ควรแก่การบูชาของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา

    นอกจากนี้บัณฑิตที่มีเพศภาวะสูงเกินกว่าที่จะคบในฐานะผู้เสมอกันได้ ล้วนจัดเป็นบุคคลที่ควรแก่การบูชาทั้งสิ้น

    สิ่งที่เนื่องด้วยท่านเหล่านี้ ก็จัดเป็นสิ่งที่ควรบูชาอีกเช่นกัน เพราะเมื่อเราบูชาสิ่งเหล่านี้ ก็ทำให้ระลึกนึกถึงคุณงามความดีของบุคคลที่สิ่งเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องด้วย ตัวอย่างคือ

    ๑. สิ่งที่เนื่องด้วยพระพุทธเจ้า เช่น พระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ พระพุทธรูป พระบรมสารีริกธาตุ สังเวชนียสถาน ฯลฯ

    ๒. สิ่งที่เนื่องด้วยพระสงฆ์ เช่น พระธาตุ รูปพระสงฆ์สาวก ฯลฯ

    ๓. คำสั่งสอน รูปภาพของบิดามารดา ครูบาอาจารย์ ผู้บังคับบัญชา พระมหากษัตริย์ ซึ่งตั้งใจประพฤติธรรม เป็นบัณฑิต จัดเป็นสิ่งที่ควรบูชาทั้งสิ้น

    ก า ร แ ส ด ง อ อ ก ถึ ง ค ว า ม บู ช า

    ๑. ทางกาย ไม่ว่าจะยืนเดินนั่งนอนหรือประกอบกิจใดๆ เมื่ออยู่ต่อหน้า ท่านหรือสัญลักษณ์ตัวแทนของท่าน เช่น รูปปั้น ภาพถ่าย ก็อยู่ในอาการสำรวม

    ๒. ทางวาจา สรรเสริญยกย่องคุณความดีของท่าน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง เช่น การสวดมนต์บูชาพระรัตนตรัย การนำความดีของท่านไปสรรเสริญ

    ๓. ทางใจ ตามระลึกนึกถึงคำสอนของท่านด้วยความเคารพและซาบซึ้ง

    ป ร ะ เ ภ ท ข อ ง ก า ร บู ช า

    การบูชาในทางปฏิบัติมี ๒ ประเภท คือ

    ๑. อามิสบูชา คือการบูชาด้วยสิ่งของ เช่น บุตรระลึกถึงคุณของบิดามารดา ศิษย์ระลึกถึงคุณของครูบาอาจารย์ จึงบูชาด้วยการนำทรัพย์สินเงินทองของใช้ ฯลฯ ไปมอบให้ เป็นต้น การบูชาพระรัตนตรัยด้วยดอกไม้ธูปเทียน ก็จัดเป็นอามิสบูชาเช่นกัน

    ๒. ปฏิบัติบูชา คือการบูชาด้วยการตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามคำสอนตามแบบอย่างที่ดีของท่าน เช่น พยายามกำจัดความโลภ ความโกรธ ความหลง ด้วยการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ตามคำสอนของท่าน การปฏิบัติบูชานี้จัดเป็นการบูชาที่สูงสุด เพราะเป็นวิธีที่จะทำให้กาย วาจา ใจ ของเราใสสะอาด เป็นบัณฑิตตามท่านได้โดยเร็ว

    ข้ อ เ ตื อ น ใ จ

    สำหรับนักเรียนนักศึกษาหรือนักปฏิบัติธรรม พึงระลึกเสมอว่า สิ่งที่เราจะเรียนรู้นั้น ถ้าเราเทิดทูนบูชา ตั้งใจประคองรักษาอย่างดี ไม่นำไปล้อเลียน หรือพูดเล่น ผลของการศึกษาเล่าเรียนตลอดจนการปฏิบัติธรรมของเรา ย่อมจะมีความเจริญก้าวหน้าประสบผลสำเร็จได้อย่างน่าอัศจรรย์

    ตรงกันข้าม ถ้าเราไม่เคารพแต่กลับลบหลู่ครูอาจารย์หรือสิ่งที่จะเรียนรู้ ความเข้าใจ ความซาบซึ้งที่จะปฏิบัติตามคำสอนก็หมดไป เกิดความรู้สึกไม่อยากบูชาหรือไม่ศรัทธา ใจที่ควรจะตรึกนึกถึงธรรมะหรือบทเรียนต่างๆ ก็มืดมิด เป็นการปิดกั้นหนทางที่จะเข้าถึงปัญญา อันจะเป็นแสงสว่างส่องนำวิถีชีวิตให้ก้าวไปในทางที่ถูกที่ควรที่ก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้น

    ข้ อ ค ว ร ร ะ วั ง

    อย่าบูชาสิ่งที่ไม่ควรบูชา เพราะจะชักนำไปสู่ความงมงายหลงผิด จิตใจขุ่นมัวเป็นพาลไป ซึ่งทำได้ดังนี้

    ๑. ไม่บูชาคนพาล คือไม่ยกย่อง ไม่เชิดชู ไม่ส่งเสริม ไม่สนับสนุนคนพาล ไม่ว่าคนพาลนั้นจะมียศศักดิ์ หรือสถานภาพสูงส่งเพียงไรก็ตาม

    ๒. ไม่บูชาสิ่งที่เนื่องด้วยคนพาล เช่น รูปภาพ รูปปั้น ผลงาน สิ่งของ เครื่องใช้ของคนพาล หรือทำตามคำแนะนำสั่งสอนของคนพาล

    ๓. ไม่บูชาสิ่งที่บูชาแล้วไม่ทำให้เกิดสิริมงคล เช่น รูปภาพดารา นักร้องนักกีฬาที่ไม่มีคุณธรรมเพียงพอ ภาพโฆษณาเกี่ยวกับอบายมุข ฯลฯ อย่า นำมาประดับบ้านเรือน

    ๔. ไม่บูชาสิ่งที่บูชาแล้วทำให้งมงายไม่เกิดปัญญา เช่น ต้นไม้ใหญ่ ภูเขาสูง ศาลพระภูมิ คนทรง ภูตผีปีศาจ สัตว์ที่เกิดมามีลักษณะผิดปกติ ฯลฯ

    ก ร า บ ๓ อ ย่ า ง

    วิธีการบูชาพระพุทธรูปที่ใช้กันมากคือการกราบ ซึ่งผู้ที่กราบพระนั้นแยกได้หลายประเภทดังนี้

    ๑. ยิ่งกราบยิ่งเมื่อย คือพวกที่เห็นคนอื่นกราบพระก็กราบตามเขา โดยไม่รู้ความหมาย ทำลวกๆ เหมือนลิงไหว้เจ้า อย่างนี้ไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร เมื่อยเปล่า

    ๒. ยิ่งกราบยิ่งโง่ คือพวกที่กราบพระแล้วขอในสิ่งที่ไม่สมควร เช่น กราบพระขอหวย หรือไม่ดูหนังสือแต่กราบพระขอให้สอบได้

    ๓. ยิ่งกราบยิ่งฉลาด คือพวกที่กราบพระแล้วยึดถือเอาพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์มาเป็นแบบอย่างในการประพฤติปฏิบัติตาม เช่น

    กราบครั้งที่ ๑ ระลึกถึงพระปัญญาคุณของพระพุทธเจ้า ที่ทรงมีปัญญามาก สามารถพิจารณาเห็นทุกข์ และคิดค้นวิธีการดับทุกข์ได้ด้วยพระองค์เอง ทั้งนี้เพราะพระองค์ ศึกษาธรรมและฝึกสมาธิมามาก จึงมีใจใสสว่างจน สามารถตรัสรู้ธรรมปราบกิเลสในตัวได้หมด เราก็ต้อง ตั้งใจหมั่นฝึกสมาธิศึกษาธรรมตามอย่างพระองค์ด้วย

    กราบครั้งที่ ๒ ระลึกถึงพระบริสุทธิคุณของพระองค์ ที่ทรงมีความบริสุทธิ์ทั้งกาย วาจา ใจ เพราะพระองค์ทรงรักษาศีลมามาก ไม่เคยให้ร้ายแก่ใครเลย เป็นตัวอย่างในการรักษาศีลได้อย่างดี เราก็ต้องตั้งใจรักษาศีลให้บริสุทธิ์อย่างพระองค์ด้วย

    กราบครั้งที่ ๓ ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ที่ทรงเทศนาสั่งสอนผู้คนทั้งหลาย โดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก เพราะพระองค์ทรงบำเพ็ญทาน และช่วยเหลือสัตว์โลกมานับภพนับชาติไม่ถ้วน จึงมีความเมตตากรุณาเป็นเลิศ เราก็ต้องตั้งใจหมั่นให้ทาน มีความกรุณา ช่วยเหลือผู้อื่นตามอย่างพระองค์ด้วย

    อ า นิ ส ง ส์ ก า ร บู ช า บุ ค ค ล ที่ ค ว ร บู ช า

    ๑. ยังความเห็นถูกที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น

    ๒. ยังความเห็นถูกที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้น

    ๓. ทำให้มีกิริยามารยาทสุภาพอ่อนโยน น่ารักน่านับถือ

    ๔. ทำให้จิตใจผ่องใส เพราะตรึกอยู่ในกุศลธรรมเสมอ

    ๕. ทำให้สติสัมปชัญญะบริบูรณ์ขึ้นเพราะมีความสำรวมระวัง เป็นการป้องกันความประมาท

    ๖. ป้องกันความลืมตัวความหลงผิดได้ เพราะตระหนักอยู่เสมอว่า ผู้ที่มีคุณธรรมสูงกว่าตนยังมีอยู่

    ๗. ทำให้เกิดกำลังใจและอานุภาพอย่างมหาศาล สามารถคุ้มครองป้องกันตนให้พ้นจากอุปสรรคและภัยพาลต่างๆ ได้

    ๘. เป็นการกำจัดคนพาลให้พินาศไปโดยทางอ้อม เพราะมีแต่คนบูชาบัณฑิตผู้มีคุณธรรม

    ๙. เป็นการเชิดชูบัณฑิตให้สูงเด่น ทำให้ท่านสามารถบำเพ็ญกรณียกิจได้สะดวกกว้างขวางยิ่งขึ้น ฯลฯ

    “ผู้ใด พึงบูชาท่านผู้อบรมตนแล้วผู้หนึ่ง แม้เพียงครู่เดียว การบูชาของผู้นั้น ประเสริฐกว่าการบูชาของบุคคลผู้บูชา (โลกิยมหาชน) ด้วยทรัพย์เดือนละพัน ตลอดร้อยปี” ขุ.ธ.๒๕/๑๘/๒๙

    จบมงคลที่ ๓ บูชาบุคคลที่ควรบูชา
     
  5. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    รวมธรรมะครูบาอาจารย์ ตอน มงคลที่ ๔ อยู่ในถิ่นที่เหมาะสม
    18527880_10213123608594524_2566792305619714483_n.jpg 18527880_10213123608594524_2566792305619714483_n.jpg
    “ต้นโพธิ์ต้นไทร หากปลูกไว้ในกระถาง
    ถึงจะไม่ตาย ก็ต้องกลายเป็นไม้แคระแกร็น
    แต่ถ้านำไปปลูกในที่ดินดี มีบริเวณกว้างขวาง น้ำท่าอุดมสมบูรณ์
    ก็โตวันโตคืน กลายเป็นต้นไม้ใหญ่ แผ่กิ่งก้านสาขาเต็มที่
    เช่นกัน คนเราหากตกอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เลว
    ถึงจะมีความรู้ความสามารถ ก็ยากที่จะเอาดีได้
    แต่ถ้าอยู่ในถิ่นที่เหมาะสมแล้ว
    ก็สามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าได้โดยง่าย”

    ถิ่ น ที่ เ ห ม า ะ ส ม ห ม า ย ถึ ง อ ย่ า ง ไ ร ?

    ถิ่นที่เหมาะสม หมายถึง ถิ่นที่สิ่งแวดล้อมดี ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่สุขภาพกายและใจ ยิ่งกว่านั้น ยังสนับสนุนให้ผู้อยู่อาศัยสามารถประกอบ กิจการงานในหน้าที่อันเป็นสัมมาอาชีพ ให้เจริญก้าวหน้าได้โดยง่าย และสร้างสมคุณงามความดีได้เต็มที่

    ถิ่นที่เหมาะสม มีความหมายกว้างครอบคลุมถึงถิ่นที่อยู่ทุกระดับ เช่น บ้านที่เราอาศัย โรงเรียนที่เราเรียน สถานที่ที่เราทำงาน หมู่บ้านชุมชนที่เราอยู่ ตำบลที่เราตั้งหลักฐาน อำเภอ จังหวัด ประเทศ ทวีป เป็นต้น

    วิ ธี อ ยู่ ใ น ถิ่ น ที่ เ ห ม า ะ ส ม

    ๑. เลือกที่อยู่ที่ทำงานที่เหมาะสม เราควรแสวงหาถิ่นที่เหมาะสมอยู่อาศัยให้ได้จึงจะเจริญ เช่น แสวงหาโรงเรียนดีๆ ที่ทำงานดีๆ ทำเลปลูกบ้านดีๆ จะบวชก็หาวัดดีๆ

    ๒. พัฒนาที่อยู่ที่ทำงานให้เป็นถิ่นที่เหมาะสม ไม่ว่าเราจะไปอยู่ที่ใดก็ตาม ต้องพยายามพัฒนาถิ่นที่เราอยู่ให้เป็นถิ่นที่เหมาะสมอย่างเต็มความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นบ้านที่เราอยู่ สถานที่ที่เราทำงาน หรือชุมชนที่เราอยู่อาศัยก็ตาม โดยยึดหลักการพัฒนาให้เป็นถิ่นที่เหมาะสมดังนี้

    ลั ก ษ ณ ะ ข อ ง ถิ่ น ที่ เ ห ม า ะ ส ม

    ๑. อาวาสเป็นที่สบาย หมายถึง เป็นที่ที่มีสภาพทางภูมิศาสตร์ดี เช่น ถ้าเป็นบ้าน ก็ต้องให้มีต้นไม้ร่มรื่น น้ำไฟสะดวก ถ้าเป็นโรงเรียน ก็ต้องมีสุขลักษณะดี มีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่มีเสียงอึกทึก มีบริเวณกว้างขวาง มีสนาม กีฬา ถ้าเป็นที่ตั้งร้านค้า ก็ต้องเป็นบริเวณที่อยู่ในย่านชุมชน การคมนาคมสะดวก ถ้าเป็นจังหวัดหรือภาค ก็ต้องเป็นบริเวณที่สภาพภูมิศาสตร์ดี เช่น ไม่ลุ่มไม่ดอนเกินไป ไม่หนาวไม่ร้อนจนเกินไป เป็นต้น

    ๒. อาหารเป็นที่สบาย หมายถึง เป็นบริเวณที่สามารถจัดหาอาหารได้สะดวก เช่น อยู่ใกล้ตลาด หรือบริเวณที่มีการเกษตรกรรมสามารถผลิตอาหารได้เองอย่างพอเพียง และเป็นที่ที่สามารถประกอบธุรกิจการงานหารายได้มาเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ดี

    ๓. บุคคลเป็นที่สบาย หมายถึง บริเวณที่อยู่นั้นต้องไม่มีนักเลงอันธพาล โจรผู้ร้ายไม่ชุกชุม คนส่วนใหญ่ในละแวกนั้นเป็นคนดี มีศีลธรรม มีวินัย ใฝ่หาความก้าวหน้า

    ๔. ธรรมะเป็นที่สบาย หมายถึง ความดีงาม ความเหมาะสม ใน ๒ ลักษณะคือ

    - ในทางโลก หมายถึง ในถิ่นนั้นมีโรงเรียน สถานศึกษาสำหรับให้ความรู้ได้อย่างดี ตลอดจนมีหลักการปกครอง การบริหารราชการบ้านเมืองที่ดีอีกด้วย

    - ในทางธรรม หมายถึง ในถิ่นนั้นมีพระภิกษุ หรือฆราวาสผู้รู้ธรรม เป็นบัณฑิต สามารถให้การอบรมสั่งสอนศีลธรรมได้อย่างดี หรือถิ่นที่พระพุทธศาสนาแผ่ไปถึง สามารถให้ทาน รักษาศีล ฟังเทศน์ ทำสมาธิภาวนาได้เป็นนิจ

    ล ำ ดั บ ค ว า ม สำ คั ญ ข อ ง ปั จ จั ย ๔ ป ร ะ ก า ร

    องค์ประกอบของถิ่นที่เหมาะสมดังได้กล่าวมาแล้วทั้ง ๔ ประการ จัดเรียงลำดับความสำคัญได้ดังนี้

    ธรรมะเป็นที่สบาย สำคัญอันดับ ๑
    บุคคลเป็นที่สบาย สำคัญอันดับ ๒
    อาหารเป็นที่สบาย สำคัญอันดับ ๓
    อาวาสเป็นที่สบาย สำคัญอันดับ ๔

    เพราะถึงแม้อาวาสจะไม่เป็นที่สบาย แต่ถ้ามีอาหารอุดมสมบูรณ์ก็ยังพออยู่ได้ หรือถ้าอาวาสและอาหารไม่เป็นที่สบาย แต่บุคคลเป็นที่สบายแล้ว ก็ จะสามารถปรับปรุงอาหารและอาวาสให้เป็นที่สบายได้ แต่บุคคลจะเป็นที่สบายได้ก็ต้องมีธรรมะเป็นที่สบายอยู่ในจิตใจเสียก่อน

    ตัวอย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น พื้นที่เป็นเกาะ มีภัยธรรมชาติจากลมพายุ แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิดอยู่บ่อยๆ พื้นที่ก็น้อย (อาวาสไม่เป็นที่สบาย) อาหาร การกินก็ไม่เพียงพอเลี้ยงตัวเอง (อาหารไม่เป็นที่สบาย) แต่เนื่องจากประชากรเขามีประสิทธิภาพ ขยันขันแข็ง มีวินัย ใฝ่หาความก้าวหน้า (บุคคลเป็นที่สบาย) และมีหลักในการปกครองประเทศที่ดี มีความรักชาติ (ธรรมะในทางโลกเป็นที่สบาย) จึงเป็นผลให้ประเทศญี่ปุ่นพัฒนาเจริญรุ่งเรือง จนเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกได้

    ส่วนประเทศไทยมีสภาพภูมิศาสตร์ที่ดีเยี่ยม ไม่มีภัยธรรมชาติที่รุนแรง (อาวาสเป็นที่สบาย) อาหารการกินอุดมสมบูรณ์ (อาหารเป็นที่สบาย) แต่ที่ยังขาดอยู่คือ คนของเรายังขาดวินัย ยังมีความมานะพากเพียรไม่เพียงพอ (บุคคลไม่เป็นที่สบาย) แม้เราชาวไทยจะมีพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ แต่ทว่าเรายังเห็นแก่ความสะดวกสบายส่วนตัวอยู่มาก นำพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาประพฤติปฏิบัติเพียงบางส่วน เช่น มีน้ำใจ มีเมตตา แต่ขาดความพากเพียรและวินัย (ธรรมะเป็นที่สบายแต่บุคคลไม่เป็นที่สบาย) ทำให้แม้ประเทศไทยจะน่าอยู่กว่าหลายๆ ประเทศ ผู้คนมีความเอื้อเฟื้อต่อกัน แต่ความเจริญของเรายังล้าหลังประเทศอื่นอยู่

    ดังนั้น ถ้าพวกเราร่วมใจกันพัฒนาตนเองให้เป็นคนดี มีระเบียบวินัย มีความขยันขันแข็ง ใฝ่หาความก้าวหน้าอยู่เสมอ โดยนำหลักธรรมในพระพุทธศาสนามาประพฤติปฏิบัติ ก็เป็นที่หวังได้ว่า ชาติไทยของเราจะมีความรุ่งเรืองก้าวหน้า ทัดเทียมอารยประเทศทั้งหลายได้ในอนาคตอันใกล้นี้

    ข้ อ เ ตื อ น ใ จ

    ในหลายๆ ประเทศที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านวัตถุมาก ประชาชนได้รับความสะดวกสบายในเรื่องเครื่องอุปโภคบริโภค หางานทำได้ง่าย เก็บเงินทองได้มาก ดูเผินๆ แล้วน่าไปอยู่อาศัยมาก แต่เมื่อพิจารณาดูอีกที อาจจะคิดได้ว่า อย่าไปอยู่เลย เพราะธรรมะไม่เป็นที่สบาย โอกาสที่ผู้อยู่อาศัยจะสร้างความก้าวหน้าทางใจ โอกาสที่จะสร้างบุญบารมีมีน้อย ลองคิดดูสิ...คนอยู่ในประเทศเหล่านั้น ตื่นเช้าขึ้นมาก็นึกถึงแต่งาน ไม่เคยได้มีเวลาหรือมีโอกาสนึกถึงการทำบุญให้ทาน การรักษาศีล หรือการทำสมาธิภาวนาเลย หรือบางครั้งนึกถึงแต่ก็ไม่มีใครแนะนำให้ ดังนั้นถึงมีชีวิตอยู่ก็เหมือนคนที่ตายแล้ว คือตายไปแล้วจากคุณงามความดี

    ในประเทศไทยเรา แม้ความเจริญทางด้านวัตถุอาจจะยังล้าหลังแต่ด้านธรรมะยังเจริญอยู่มาก เรายังมีโอกาสให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนาได้เต็มที่ มีโอกาสสร้างบุญให้ยิ่งๆ ขึ้นไปได้

    วิ ธี ทำ บ้ า น ใ ห้ น่ า อ ยู่

    ๑. ดูแลบ้านให้สะอาด เป็นระเบียบ มีทางถ่ายเทอากาศได้สะดวก

    ๒. เลือกซื้อเลือกทำอาหารให้ถูกหลักอนามัย เป็นแม่บ้านก็ต้องหัดทำอาหารให้เป็น

    ๓. จูงใจคนในบ้านให้มีความเคารพซึ่งกันและกัน ละเว้นอบายมุข มีความขยันหมั่นเพียร มีน้ำใจต่อกัน โดยเริ่มปรับปรุงที่ตัวเราเองให้ดีก่อน แล้วจึงชักชวนผู้อื่นให้ปฏิบัติตาม

    ๔. ชักนำกันไปวัดทำบุญ รักษาศีล ฟังเทศน์ ฝึกสมาธิ เป็นประจำ จัดบ้านให้มีอุปกรณ์เครื่องเสริมสร้างทางใจ เช่น มีหนังสือธรรมะ มีห้องพระหรือหิ้งพระ กำจัดภาพและหนังสือที่ไม่เหมาะสมออกให้หมด เช่น ภาพหรือหนังสือลามกเป็นต้น และชักชวนกันสวดมนต์ เจริญสมาธิภาวนาที่บ้านอย่างสม่ำเสมอด้วย

    อ า นิ ส ง ส์ ก า ร อ ยู่ ใ น ถิ่ น ที่ เ ห ม า ะ ส ม

    ๑. ทำให้ได้รับความสุขกายสุขใจเต็มที่

    ๒. ทำให้ได้รับความเจริญก้าวหน้าทั้งทางโลกและทางธรรม

    ๓. ทำให้มีโอกาสบำเพ็ญบุญเต็มที่ ทั้งทาน ศีล ภาวนา

    ๔. ทำให้ได้ลาภอันประเสริฐ คือได้ความศรัทธาในพระรัตนตรัย

    ๕. ทำให้ได้ฟังธรรมอันประเสริฐ คือได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า

    ๖. ทำให้ได้รู้พระสัทธรรม คือได้ศึกษาธรรมะ

    ๗. ทำให้ได้การเห็นอันประเสริฐ คือได้เห็นพระรัตนตรัย

    ๘. ทำให้ได้การศึกษาอันประเสริฐ คือได้ศึกษาศีล สมาธิ ปัญญา

    ๙. ทำให้ได้การบำรุงอันประเสริฐ คือได้บำรุงพระพุทธศาสนา

    ๑๐. ทำให้ได้การระลึกอันประเสริฐ คือใจระลึกผูกพันอยู่กับพระรัตนตรัย

    ๑๑. ทำให้ได้นิสัยไม่ประมาท โดยดูตัวอย่างจากผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย

    ๑๒. ทำให้ได้ที่พึ่งอันสูงสุด คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

    ๑๓. ทำให้ได้อริยทรัพย์ คือหนทางสู่นิพพาน ฯลฯ
     
  6. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    รวมธรรมะครูบาอาจารย์ ตอน มงคลที่ ๕ มีบุญวาสนามาก่อน
    18582001_10213134447745496_4517345806000904211_n.jpg
    “ผลไม้พันธุ์เลว ถึงจะใส่ปุ๋ยรดน้ำพรวนดินดีอย่างไรก็ตาม
    อย่างมากก็ทำให้มีผลดกขึ้นบ้าง
    แต่จะทำให้มีรสโอชาขึ้นกว่าเดิมนั้นยาก
    ตรงกันข้าม ผลไม้พันธุ์ดี แม้รดน้ำพรวนดินเพียงพอประมาณ
    ก็ให้ผลมากเกินคาด รสชาติก็โอชา
    เช่นกัน ผู้ที่ไม่ได้สั่งสมคุณความดีมาก่อน
    เมื่อประกอบกิจใดๆ ถึงขยันขันแข็งสักปานไหน
    ผลแห่งความดีกว่าจะปรากฏเต็มที่
    ก็ต้องใช้ความพยายามอย่างหนักและเสียเวลามาก
    ส่วนผู้ที่สั่งสมคุณความดีมาก่อน เมื่อทำความดี
    ผลดีปรากฏเต็มที่ทันตาเห็น ส่งผลให้มีความเจริญก้าวหน้า
    เหนือกว่าบุคคลทั้งหลายได้อย่างน่าอัศจรรย์”

    บุ ญ คื อ อ ะ ไ ร ?

    บุญ คือสิ่งซึ่งเกิดขึ้นในจิตใจแล้วทำให้จิตใจใสสะอาด ปราศจากความเศร้าหมองขุ่นมัว ก้าวขึ้นสู่ภูมิที่ดี เกิดขึ้นจากการที่ใจสงบทำให้เลือกคิดเฉพาะสิ่งที่ดี ที่ถูก ที่ควร ที่เป็นประโยชน์ แล้วพูดดี ทำดี ตามที่คิดนั้น

    บุญ เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมส่งผลปรุงแต่งใจของเราให้มีคุณภาพดีขึ้น คือตั้งมั่นไม่หวั่นไหว บริสุทธิ์ผุดผ่องสว่างไสว โปร่งโล่ง ไม่อึดอัด อิ่มเอิบ ไม่กระสับกระส่าย ชุ่มชื่นเบาสบาย ผ่อนคลายไม่ตึงเครียด นุ่มนวลควรแก่การงาน และบุญที่เกิดขึ้นนี้ยังสามารถสะสมไว้ในใจได้อีกด้วย

    คนทั่วไปแม้จะมองไม่เห็น “บุญ” แต่ก็สามารถรู้อาการของบุญ หรือ ผลของบุญได้ คือเมื่อเกิดขึ้นแล้วทำให้จิตใจชุ่มชื่นเป็นสุข เปรียบได้กับ “ไฟฟ้า” ซึ่งเรามองไม่เห็นตัวไฟฟ้าโดยตรง แต่เราสามารถรับรู้อาการของไฟฟ้าได้ เช่น เมื่อไฟฟ้าผ่านเข้าไปในหลอดไฟแล้วเกิดแสงสว่างขึ้น หรือเมื่อผ่านเข้าไปในเครื่องปรับอากาศแล้วเกิดความเย็นขึ้น เป็นต้น

    คุ ณ ส ม บั ติ ข อ ง บุ ญ

    ๑. ชำระกาย วาจา ใจ ให้สะอาดได้

    ๒. นำความสุขความเจริญก้าวหน้ามาให้

    ๓. ติดตามตนไปทุกฝีก้าว แม้ไปเกิดข้ามภพข้ามชาติ

    ๔. เป็นของเฉพาะตน ใครทำใครได้ โจรลักขโมยไม่ได้

    ๕. นำมาซึ่งโภคทรัพย์สมบัติทั้งหลาย

    ๖. ให้มนุษยสมบัติ ทิพยสมบัติ นิพพานสมบัติ แก่เราได้

    ๗. เป็นเกราะป้องกันภัยในวัฏฏสงสาร

    ๘. เป็นปัจจัยให้บรรลุมรรคผลนิพพาน

    ป ร ะ เ ภ ท ข อ ง บุ ญ ใ น ก า ล ก่ อ น

    บุญในกาลก่อนแบ่งเป็น ๒ ชนิด ได้แก่

    ๑. บุญช่วงไกล คือคุณความดีที่เราทำจากภพชาติก่อน มาจนถึงวันคลอดจากครรภ์มารดา

    ๒. บุญช่วงใกล้ คือคุณความดีที่เราทำในภพชาติปัจจุบันตั้งแต่คลอดจนถึงวันนี้

    บุญช่วงไกล การสั่งสมความดีมาแต่ภพชาติก่อน ส่งผลให้เราเห็นในปัจจุบัน เปรียบเสมือนผลไม้ที่คัดพันธุ์มาดีแล้ว รสโอชะของมันย่อมติดมาในเมล็ด เมื่อนำเมล็ดนั้นมาปลูก ต้นของมันย่อมให้ผลที่รสอร่อยทันทีโดยไม่ต้องทะนุบำรุงมาก คนเราก็เช่นกัน ถ้าในอดีตชาติสะสมความดีมามากพอ เกิดมาชาตินี้ก็เป็นคนใจใส ใจสะอาดบริสุทธิ์มาตั้งแต่เด็ก มีสติปัญญาดีมาแต่กำเนิด รูปร่างสง่างาม ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ มีโอกาสสร้างความดีได้มากกว่าคนทั้งหลาย ถ้าไม่ประมาทหมั่นสะสมความดีในปัจจุบันเพิ่มขึ้นอีก ก็จะเจริญก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว แต่ถ้าประมาทไม่เอาใจใส่ในการทำความดีในปัจจุบัน ก็เปรียบเสมือนต้นไม้ยอดด้วน ยากที่จะเจริญเติบโตต่อไปได้

    บุญช่วงใกล้ คนที่ทำความดีตั้งแต่เล็กเรื่อยมา เช่น ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ขยันหมั่นเพียร คบคนดีเป็นมิตร ฝึกใจให้ผ่องใสมาตั้งแต่เด็ก ความคิด คำพูด การทำงาน ย่อมดีกว่าบุคคลอื่นในวัยเดียวกัน เมื่อเติบโตขึ้น ย่อมมีความเจริญก้าวหน้ามากกว่าผู้อื่น

    เพราะฉะนั้นเราจึงควรสั่งสมบุญ โดยทำความดีเสียตั้งแต่วันนี้ จะได้ส่งผลให้มีสติปัญญาดี มีความเฉลียวฉลาด มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิตต่อไปในอนาคต ดังเช่น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งได้ทรงทำความดี สร้างสมบารมีมามากนับภพนับชาติไม่ถ้วน ในภพชาติสุดท้ายก็ทรงตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ตั้งแต่ยังเยาว์ เมื่อทรงออกผนวชก็ตั้งใจบำเพ็ญเพียรเจริญสมาธิภาวนาอย่างเต็มที่ จึงสามารถตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ เมื่อมีพระชนมายุเพียง ๓๕ พรรษา

    ผ ล ข อ ง บุ ญ

    บุญเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็มีผลกับตัวเรา ๔ ระดับ คือ

    ๑. ระดับจิตใจ เป็นบุญที่เกิดผลทันที คือทำความดีปุ๊บก็เกิดปั๊บ ไม่ต้อง รอชาติหน้า เกิดขึ้นเองในใจของเราทำให้

    - สุขภาพทางใจดีขึ้น คือมีใจเยือกเย็น ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวต่อคำยกยอหรือตำหนิติเตียน มีใจที่ปลอดโปร่ง เบาสบาย เป็นสุข

    - สมรรถภาพของใจดีขึ้น คือเป็นใจที่สะอาดผ่องใส ใช้คิดเรื่องราวต่างๆ ได้รวดเร็ว ว่องไว ลึกซึ้ง กว้างไกล รอบคอบ เป็นระเบียบ และตัดสินใจ ได้ฉับพลันถูกต้องไม่ลังเล

    ๒. ระดับบุคลิกภาพ คนที่ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา อย่างสม่ำเสมอ จะทำให้มีใจที่สงบ แช่มชื่น เบิกบาน ชุ่มเย็น นอนหลับสบาย ไม่มีความกังวลหม่นหมอง หน้าตาผิวพรรณจึงผ่องใส ใจเปี่ยมไปด้วยบุญ ไม่คิดโลภอยากได้ของใคร ไม่คิดสร้างความเดือดร้อนให้ใคร มีแต่คิดช่วยเหลือเขา จึงมีความมั่นใจในตัวเอง มีความองอาจสง่างามอยู่ในตัว ไปถึงไหนก็สามารถวางตัว ได้พอเหมาะพอดี บุคลิกภาพย่อมดีขึ้นเป็นลำดับ

    ๓. ระดับวิถีชีวิต วิถีชีวิตของคนเรา เกิดจากการสรุปผลบุญและผลบาปที่เราได้ทำมาตั้งแต่ภพชาติก่อนๆ จนถึงภพชาติปัจจุบัน เป็นผลของบุญระดับจิตใจและระดับบุคลิกภาพรวมกัน ชักนำให้เราได้รับสิ่งที่น่าปรารถนา ตอบสนองมาจากภายนอก เช่น ได้รับลาภ ยศ สรรเสริญ สุข แต่การที่เราทำดี แล้ววิถีชีวิตของเราจะดีเต็มที่หรือไม่นั้น ยังขึ้นอยู่กับบุญเก่าหรือบาปในอดีตที่เราเคยทำไว้ด้วย เรื่องการให้ผลของบุญและบาป จึงเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อน เช่นบางครั้งขณะที่เราตั้งใจทำความดีอยู่ แต่ผลบาปในอดีตตามมาทัน ทำให้ถูกใส่ร้ายป้ายสี หรือประสบเคราะห์กรรม บางคนจึงเข้าใจผิด คิดว่าทำดีแล้วไม่ได้ดี ทำให้หมดกำลังใจในการทำความดี

    แท้จริงแล้ว ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะในขณะนั้น ผลบาปที่เราเคยทำในอดีตกำลังส่งผลอยู่ แต่บุญที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบันย่อมไม่ไร้ผล เมื่อเราตั้งใจทำบุญต่อไปโดยไม่ย่อท้อ และไม่ทำบาปนั้นอีก เคราะห์กรรมนั้นย่อมหมดสิ้นไป และได้รับผลของบุญคือความสุขความสำเร็จได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยในที่สุด

    ๔. ระดับสังคม เมื่อเราทำความดีมาแล้วอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะไปอยู่สังคมใด บุญก็จะส่งผลให้เป็นบุคคลที่สังคมยอมรับนับถือ ได้เป็นผู้นำของสังคม นั้น และจะเป็นผู้ชักนำสมาชิกในสังคมให้ทำความดีตามอย่าง ทำให้เกิดความสงบร่มเย็น และความเจริญก้าวหน้าขึ้นในสังคมนั้นๆ โดยลำดับ

    ตั ว อ ย่ า ง ผ ล ข อ ง บุ ญ

    ผู้ที่มีอายุยืน เพราะในอดีตไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต

    ผู้ที่ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ เพราะในอดีตไม่รังแกหรือทรมานสัตว์

    ผู้ที่มีพลานามัยสมบูรณ์ เพราะในอดีตให้ทานด้วยข้าวปลาอาหาร มามาก

    ผู้ที่มีผิวพรรณงาม เพราะในอดีตรักษาศีล และให้ทานด้วยเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มมามาก

    ผู้ที่มีอำนาจมีคนเกรงใจ เพราะในอดีตมีมุทิตาจิต ใครทำความดีก็อนุโมทนา ไม่อิจฉาริษยาใคร

    ผู้ที่ร่ำรวยมีโภคทรัพย์มาก เพราะในอดีตให้ทานมามาก

    ผู้ที่เกิดในตระกูลสูง เพราะในอดีตบูชาบุคคลที่ควรบูชามามาก

    ผู้ที่ฉลาดมีสติปัญญาดี เพราะในอดีตคบบัณฑิต ฝึกสมาธิเจริญ ภาวนามามากและไม่ดื่มสุรายาเมา

    วิ ธี ทำ บุ ญ

    การทำความดีทุกอย่างล้วนได้ผลออกมาเป็นบุญทั้งสิ้น แต่เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจและนำไปปฏิบัติ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแบ่งวิธีทำบุญออกเป็น ๑๐ ประการ เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ได้แก่

    ๑. ทาน คือการบริจาคทรัพย์สิ่งของแก่ผู้ที่ควรให้

    ๒. ศีล คือการสำรวมกาย วาจาให้สงบเรียบร้อย ไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองและผู้อื่น

    ๓. ภาวนา คือการสวดมนต์ทำสมาธิ อ่านหนังสือธรรมะ ฯลฯ

    ๔. อปจายนะ คือการมีความเคารพอ่อนน้อมต่อผู้มีคุณธรรม

    ๕. เวยยาวัจจะ คือการขวนขวายช่วยเหลือในกิจที่ชอบ

    ๖. ปัตติทานะ คือการอุทิศส่วนบุญแก่ผู้อื่น

    ๗. ปัตตานุโมทนา คือการอนุโมทนาบุญที่ผู้อื่นทำ

    ๘. ธัมมัสสวนะ คือการฟังธรรม

    ๙. ธัมมเทสนา คือการแสดงธรรม

    ๑๐. ทิฏฐุชุกัมม์ คือการปรับปรุงความเห็นของตนให้ถูกต้อง

    บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ นี้ อาจสรุปลงใน บุญกิริยาวัตถุ ๓ ได้ดังนี้

    - ทาน ได้แก่ ทาน ปัตติทานะ ปัตตานุโมทนา เป็นการฆ่าความตระหนี่ออกจากใจ

    - ศีล ได้แก่ ศีล อปจายนะ เวยยาวัจจะ เป็นการป้องกันตนไม่ให้ทำชั่ว

    - ภาวนา ได้แก่ ภาวนา ธัมมัสสวนะ ธัมมเทสนา เป็นการฝึกตัวเองให้ฉลาด มีสติปัญญาดี

    ส่วน ทิฏฐุชุกัมม์ นั้น สงเคราะห์เข้าได้ทั้งใน ทาน ศีล และภาวนา

    หมายเหตุ อรรถกถาและฎีกาบางแห่ง จัดทิฏฐุชุกัมม์ไว้ในภาวนา ส่วนธัมมเทสนานั้น อาจจัดไว้ในทานก็ได้ โดยถือเป็นธรรมทาน

    บุ ญ ว า ส น า ไ ม่ ใ ช่ อ ภิ นิ ห า ร

    บุญวาสนาไม่ใช่อภินิหาร แต่สามารถอธิบายด้วยหลักเหตุผลได้ดังนี้ คนที่จิตสั่งสมแต่บาปหรือความชั่ว จะทำให้ใจมืดมัว กิเลสต่างๆ เข้ายึดครอง ใจได้ง่าย ทำให้เกิดผลร้ายต่อตนเอง เช่น เวลาโกรธจัด ความโกรธเข้ายึดครองใจ ทำให้หัวใจเต้นแรงผิดปกติ ระบบสูบฉีดเลือดผันแปร โลหิตมีการเผาไหม้มาก เกิดอาการร้อนผ่าวตั้งแต่หน้าอกจรดใบหน้า ความร้อนจะทำให้ผิวหยาบกร้าน ไม่มีน้ำมีนวล อาหารไม่ย่อย ท้องอืด เกิดความเครียด คนโกรธง่าย จึงเป็นคนเจ้าทุกข์ หงุดหงิด พูดจาห้วนแบบมะนาวไม่มีน้ำ เวลาโกรธจะขาดสติ คิดอ่านการใดก็ผิดพลาดได้ง่าย

    ส่วนคนที่จิตสั่งสมแต่บุญหรือความดี จะทำให้ใจผ่องใสอยู่เป็นปกติ กิเลสต่างๆ เข้ายึดครองใจได้ยาก เพราะมีสติคอยควบคุมใจไว้ สามารถสอนตนเองและตักเตือนตนเองไม่ให้ทำความชั่วได้ จึงมีจิตใจที่สงบเยือกเย็น สดชื่น ผ่องใส ระบบการทำงานของร่างกายก็เป็นปกติ มีผิวพรรณงาม เสียงไพเราะกิริยาน่ารัก คิดอ่านการใดก็แจ่มใส ส่งผลให้มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิตได้ง่าย

    ข้ อ เ ตื อ น ใ จ

    เมื่อทราบว่าการทำบุญเป็นการสั่งสมความดีไว้เพื่อตนเองแล้ว เราจึง ไม่ควรประมาทในการทำบุญ ควรทำบุญเท่าที่กำลังความสามารถจะอำนวย ผู้ที่ ได้สั่งสมบุญมาดีแล้วแต่เพิกเฉยในการทำบุญเพิ่ม เปรียบเสมือนชาวนาที่เก็บเกี่ยวผลิตผลแล้วแจกจ่ายขายกินหมด ไม่เหลือไว้ทำพันธุ์ต่อไปภายหน้าเลย เขา ย่อมเดือดร้อนในฤดูกาลทำนาครั้งต่อไป

    ความดีทุกอย่างที่เราทำไว้ แม้จะไม่ให้ผลในปัจจุบันทันตาก็ไม่สูญเปล่า ความดีเหล่านั้นจะรวมกันเข้าปรุงแต่งจิตใจให้ดีขึ้น สิ่งนี้แหละคือ บุญวาสนา

    เราจึงควรเร่งสร้างความดีเสียแต่บัดนี้ โดยหมั่นศึกษาวิชาการ ฝึกฝนตนเองทั้งทางด้านการปรับปรุงคำพูด ความขยันขันแข็ง ทำการงานให้ดีขึ้น และพยายามฝึกใจให้ผ่องใส ด้วยการหมั่นทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนาอย่างสม่ำเสมอ คนเช่นนี้จึงเป็นคนมีบุญวาสนาที่แท้จริง

    ห ลั ก ป ฏิ บั ติ ใ น ชี วิ ต ป ร ะ จำ วั น

    เราต้องเร่งสร้างบุญใหม่ตั้งแต่บัดนี้ จะได้เป็นบุญเก่าติดตัวไปในวันหน้า โดยยึดหลักว่า

    ๑. เช้าใดยังไม่ได้ทำทาน เช้านั้นอย่าเพิ่งทานข้าว

    ๒. วันใดยังไม่ได้ตั้งใจรักษาศีล วันนั้นอย่าเพิ่งออกจากบ้าน

    ๓. คืนใดยังไม่ได้สวดมนต์เจริญสมาธิภาวนา คืนนั้นอย่าเพิ่งนอน

    เราต้องอดทนฝึกตนให้สร้างความดีเรื่อยไป แม้จะต้องกระทบกระทั่งกับสิ่งใด มีอุปสรรคมากเพียงไหนก็ปักใจมั่นไม่ย่อท้อ กัดฟันสู้ทำความดีเรื่อยไป

    อ า นิ ส ง ส์ ก า ร มี บุ ญ ว า ส น า ม า ก่ อ น

    ๑. ทำให้มีปัจจัยต่างๆ พร้อม สามารถทำความดีใหม่ได้โดยง่าย

    ๒. อำนวยประโยชน์ทุกอย่างดังได้กล่าวมาแล้ว

    ๓. เป็นต้นเหตุแห่งความสุขทุกประการ

    ๔. เป็นเสบียงติดตัวทั้งภพนี้ภพหน้า จนกว่าจะบรรลุมรรคผลนิพพาน ฯลฯ

    “น้ำหยดทีละหยด ยังสามารถเต็มตุ่มได้ฉันใด บัณฑิตหมั่นสั่งสมบุญทีละน้อย ย่อมเต็มเปี่ยมด้วยบุญฉันนั้น” ขุ.ธ.๒๕/๑๙/๓๑

    จบมงคลที่ ๕ มีบุญวาสนามาก่อน
     
  7. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    รวมธรรมะครูบาอาจารย์ ตอน มงคลที่ ๖ ตั้งตนชอบ
    18664629_10213134462625868_1243686169394338804_n.jpg
    “เรือที่ฝ่าคลื่นอยู่กลางมหาสมุทร
    จะแล่นถึงฝั่งได้
    นายเรือจะต้องตั้งจุดหมายปลายทางไว้ถูกต้อง
    และรู้จักควบคุมหางเสือให้เรือวิ่งไปไม่ผิดทิศทางฉันใด
    คนเราจะประสพความสำเร็จในชีวิตได้
    ก็จะต้องตั้งตนชอบฉันนั้น”

    ตั้ ง ต น ช อ บ ห ม า ย ถึ ง อ ย่ า ง ไ ร ?

    ตั้งตนชอบ หมายถึง การตั้งเป้าหมายชีวิต ทั้งทางโลกและทางธรรมไว้ถูกต้อง แล้วประคับประคองตนให้ดำเนินชีวิตไปตามเป้าหมายนั้น ด้วยความระมัดระวัง

    การตั้งตนชอบเป็นสิ่งสำคัญมาก เป็นขั้นตอนแรกในการสร้างความสุข ความเจริญก้าวหน้าแก่ชีวิต เพราะถ้าใครตั้งเป้าหมายชีวิตไว้ผิด เช่น ตั้งเป้าไว้ว่าจะเป็นโจรที่ปล้นเก่งที่สุด หรือจะเป็นนักผลิตเฮโรอีนที่เก่งที่สุด แล้วพยายามดำเนินชีวิตไปตามนั้น คนๆ นั้นก็ไม่มีทางที่จะมีความสุขความเจริญก้าวหน้าได้ ถึงจะไปเสาะแสวงหาความรู้ความสามารถได้มากเพียงไร ก็ไม่เกิดประโยชน์อันใด เพราะความรู้ความสามารถนั้นๆ ล้วนเป็นไปเพื่อยังความพินาศให้เกิดขึ้นแก่ตนเองและผู้อื่นทั้งสิ้น

    ผู้ที่รักความก้าวหน้าทั้งหลาย จึงจำเป็นต้องตั้งเป้าหมายชีวิตให้ถูกต้องก่อน จากนั้นจึงไปเสาะแสวงหาความรู้ความสามารถ พากเพียรพยายามเพื่อบรรลุเป้าหมายชีวิตที่ถูกต้องนั้นให้ได้

    อ ะ ไ ร คื อ เ ป้ า ห ม า ย ชี วิ ต ?

    เป้าหมายชีวิตของคนทุกคนแบ่งได้เป็น ๓ ระดับ ได้แก่

    ๑. เป้าหมายชีวิตขั้นต้น คือการตั้งเป้าหมายชีวิตเพื่อประโยชน์ในชาตินี้ เป็นการตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องตั้งตัวตั้งฐานะให้ได้ ด้วยการประกอบอาชีพที่สุจริต ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดศีลธรรม จะเป็นอาชีพอะไรก็ตามแต่ความถนัดของแต่ละบุคคล จะเป็นนักธุรกิจ แพทย์ วิศวกร ชาวนา ชาวไร่ หรืออื่นๆ ได้ทั้งนั้น ขอแต่เพียงให้เป็นอาชีพสุจริตก็แล้วกัน และเมื่อตั้งเป้าหมายชีวิตไว้แล้ว ก็มุ่งมั่นฝึกฝนตนเองสร้างตัวให้บรรลุเป้าหมายชีวิตนั้นให้ได้

    “หนูตัวเล็กๆ ยังสู้อุตส่าห์ขุดรูอยู่ นกกระจิบกระจอกยังสู้อุตส่าห์สร้างรัง เราเกิดมาเป็นคนทั้งทีก็ต้องสร้างฐานะให้ดีให้ได้”

    ๒. เป้าหมายชีวิตขั้นกลาง คือการตั้งเป้าหมายชีวิตเพื่อประโยชน์ในชาติหน้า เป็นการตั้งเป้าหมายชีวิตไว้ว่า นอกจากจะพยายามตั้งฐานะของตนให้ได้แล้ว ก็จะตั้งใจสร้างบุญกุศลอย่างเต็มที่ในทุกๆ โอกาสที่อำนวยให้ เพื่อสะสมเป็นทุนเป็นเสบียงในภพชาติต่อไป เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายตายแล้วไม่สูญ ตราบใดที่ยังไม่หมดกิเลส ก็ยังต้องเกิดใหม่อีกอยู่ร่ำไป

    คนบางคนคิดแต่จะหาประโยชน์เฉพาะในชาตินี้ โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ชาติหน้าเลย คิดแต่จะหาทรัพย์เพื่อตั้งฐานะให้ได้ โดยไม่ประกอบการบุญการกุศล เราลองคิดดูว่า ชีวิตของคนประเภทนี้จะมีคุณค่าสักเพียงไร ตั้งแต่เกิดก็อาศัยพ่อแม่เลี้ยง พอโตขึ้นหน่อยก็เรียนหนังสือหาความรู้ ครั้นโตขึ้นอีกก็ทำงาน มีครอบครัวเลี้ยงลูกเลี้ยงหลาน ดิ้นรนหาสิ่งต่างๆ มาบำรุงบำเรอตน แล้วก็แก่เฒ่าตายไป ดูพวกนกกา ตั้งแต่เล็กมันก็อาศัยพ่อแม่เลี้ยง สอนบิน สอนให้รู้จัก หาอาหาร โตขึ้นก็แยกรังไปมีครอบครัว หาอาหารมาเลี้ยงลูกเลี้ยงตัว หาความสุขตามประสานกกา แล้วก็แก่เฒ่าตายไปเหมือนกัน ถ้าคนเราเกิดมาแล้วมีชีวิตอยู่เพียงเท่านี้ ก็มีคุณค่าไม่ต่างอะไรกับนกกา

    แต่นี่เราเป็นคน มีโครงร่างเหมาะแก่การใช้ทำความดีมากที่สุด ดังนั้น นอกจากความพยายามตั้งฐานะในชาตินี้ให้ได้แล้ว เราทุกคนจึงควรที่จะรู้จักสร้างคุณค่าให้แก่ชีวิต ด้วยการตั้งใจทำความดี ประกอบการบุญการกุศลอย่าง เต็มที่ เพื่อไว้เป็นเสบียงในการเดินทางข้ามภพข้ามชาติ และเป็นปัจจัยในการบรรลุถึงเป้าหมายชีวิตขั้นสูงสุด

    ๓. เป้าหมายชีวิตขั้นสูงสุด คือการตั้งเป้าหมายชีวิตเพื่อประโยชน์อย่างยิ่ง ได้แก่ การตั้งใจปฏิบัติธรรมทุกรูปแบบเพื่อปราบกิเลสให้หมดสิ้นแล้วเข้านิพพานตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเหล่าพระอรหันต์ทั้งหลาย จะได้มีแต่ความสุขอันเป็นอมตะ ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป

    โดยธรรมชาติ ทุกชีวิตเมื่อยังไม่หมดกิเลสก็ต้องทนรับทุกข์กันไป มากบ้างน้อยบ้างตามแต่กรรมที่ตนทำไว้ เราเวียนเกิดเวียนตายกันมานับภพนับชาติไม่ถ้วนแล้ว ถ้ามีใครสามารถเอากระดูกของเราทุกชาติมากองรวมกันเข้าก็จะสูงท่วมภูเขา ถ้าเอาน้ำตาของเราที่หลั่งไหลออกมาเพราะความทุกข์ทุกๆ ชาติมารวมกัน ก็จะมากกว่าน้ำในมหาสมุทรเสียอีก ใครสามารถเข้านิพพานได้ก่อนก็หมดทุกข์ก่อน ที่ยังอยู่ก็ต้องเวียนเกิดเวียนตายในทะเลทุกข์แห่งวัฏฏสงสารต่อไป

    แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ ก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดเช่นเดียวกับพวกเรา แต่พระองค์ตั้งเป้าหมายชีวิตไว้ถูกต้อง คือตั้งเป้าไว้ว่าจะกำจัดกิเลสในตัวให้หมดโดยเร็ว แล้วนำตนเองและผู้อื่นเข้านิพพานด้วย จากนั้นก็ตั้งใจบำเพ็ญเพียร ฝึกฝนตนเองอย่างเต็มที่มานับภพนับชาติไม่ถ้วน แม้มีอุปสรรคหนักหนาสาหัสเพียงไรก็ไม่ย่อท้อ สละได้แม้เลือดเนื้อและชีวิตเพื่อรักษาเป้าหมายที่จะเข้านิพพานไว้ไม่ให้คลอนแคลน ในที่สุดพระองค์ก็ตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สามารถกำจัดกิเลสได้หมด เข้านิพพานอันเป็นบรมสุขได้

    ส่วนพวกเรามัวเที่ยวเถลไถล เกะๆ กะๆ ไม่เอาจริง ไม่ตั้งใจมุ่งมั่นในการทำความดี บ้างก็ยังไม่รู้เป้าหมายสูงสุดของชีวิตว่า คือการเข้านิพพาน บ้างก็รู้แล้ว แต่เกียจคร้านประพฤติย่อหย่อน ทำๆ หยุดๆ จึงต้องมาเวียนเกิดเวียนตายรับทุกข์อยู่อย่างนี้

    ฉะนั้น ถ้าใครฉลาดก็ต้องรีบแก้ไขตนเอง ตั้งเป้าหมายสูงสุดของชีวิตไว้ให้มั่นคง ไม่ประมาทในการสร้างความดี หมั่นให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ชำระกาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์ เพื่อกำจัดกิเลสให้หมดจะได้พ้นทุกข์เข้านิพพาน ได้รับความสุขอันเป็นอมตะตามอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบ้าง

    “จงอย่าประมาท เร่งเดินตามรอยบาทพระบรมศาสดา ถึงจะทำประโยชน์ให้คนอื่นมากมาย ก็ไม่ควรละทิ้งจุดหมายปลายทางของตน เมื่อรู้ว่าอะไรคือจุดหมายปลายทางแล้ว ก็ควรใส่ใจขวนขวาย”

    ข้ อ เ ตื อ น ใ จ

    คนบางคนเริ่มแรกก็ตั้งเป้าหมายชีวิตดีอยู่ เช่น ตั้งใจจะทำมาหากิน โดยสุจริต แต่กำลังใจยังไม่เข้มแข็งพอ ครั้นทำไปนานเข้าเริ่มรู้สึกว่ารวยช้าไป ไม่ทันใจ เป้าหมายชีวิตชักเขว ลงท้ายเลยไปคดโกงคนอื่นเขา ต้องติดคุกติดตะรางไป หรือบางคนตั้งใจจะให้ทาน รักษาศีล เจริญสมาธิภาวนา แต่พอถูกคนอื่นเย้าแหย่บ้าง ล้อเลียนบ้าง เจอสิ่งยั่วยุอยู่เรื่อยๆ เลยเลิกปฏิบัติธรรม ปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามอำนาจของกิเลส

    ทำอย่างไร ? เราจึงจะป้องกันตัวเราไม่ให้เป็นอย่างนั้นบ้าง ทำอย่างไร ? จึงจะรักษาเป้าหมายชีวิตของเราไว้ให้มั่นคง

    วิ ธี รั ก ษ า เ ป้ า ห ม า ย ชี วิ ต ใ ห้ มั่ น ค ง

    ๑. ฝึกให้เป็นคนมีศรัทธา ได้แก่ มีเหตุผล เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ การเชื่อมี ๒ แบบ คือ

    ๑.๑ เชื่ออย่างมีเหตุผล ประกอบด้วยปัญญา เรียกว่า ศรัทธา

    ๑.๒ เชื่ออย่างไร้เหตุผล ปราศจากปัญญา เรียกว่า งมงาย

    ศรัทธาขั้นพื้นฐาน ๔ ประการ คือ

    - เชื่อกรรม เชื่อว่ากรรมมีอยู่จริง เมื่อทำอะไรแล้วย่อมเป็นกรรม คือเป็นความชั่วความดีมีขึ้นในตน การกระทำไม่ว่างเปล่า

    - เชื่อในผลของกรรม คือเชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว โดยการทำดีนั้นจะต้องทำให้ครบองค์ประกอบ ๓ ประการจึงจะได้ดี คือต้องทำให้

    ถูกดี คือมีปัญญาสามารถทำถูกวัตถุประสงค์ของงานนั้น

    ถึงดี คือมีความพยายามที่จะทำงานนั้นให้เต็มตามความสามารถ

    พอดี คือมีสติดี ไม่ทำจนเลยเถิดไป เผื่อเหนียวมากไปจนเกิดความเสียหาย

    - เชื่อว่าสัตว์มีกรรมเป็นของตน คือเชื่อว่าบุญและบาป อันเป็นผลของกรรมดีและกรรมชั่ว ย่อมติดตามบุคคลผู้ทำนั้นตลอดไป

    - เชื่อว่าพระพุทธเจ้ามีจริง เชื่อในพระปัญญาการตรัสรู้ของพระองค์

    ๒. ฝึกให้เป็นคนมีศีล อย่างน้อยศีล ๕ (รายละเอียดของศีล โปรดดูในมงคลที่ ๙)

    ๓. ฝึกให้เป็นคนมีความรู้ เป็นพหูสูต คือหมั่นศึกษาหาความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม

    ๔. ฝึกให้เป็นคนมีจาคะ คือรู้จักเสียสละ เช่น

    ๔.๑ สละทรัพย์สิ่งของเป็นทาน เป็นการกำจัดความตระหนี่ออกจากใจ จึงเป็นที่รักของคนทั้งหลาย

    ๔.๒ สละอารมณ์บูดเป็นทาน คือละอารมณ์โกรธพยาบาท ให้เป็นอภัยทาน ทำให้ใจเป็นสุขไม่ขุ่นมัว

    ๕. ฝึกสมาธิเพื่อให้ใจผ่องใส เกิดปัญญา ซึ่งเป็นข้อที่สำคัญที่สุดเพราะจะเห็นได้ว่า สาเหตุที่ทำให้เป้าหมายชีวิตของเราคลอนแคลนนั้น เป็นเพราะใจของเราขาดความมั่นคง ทนต่อความยั่วยุไม่ได้ แต่การฝึกสมาธิภาวนาเป็นการฝึกใจโดยตรง ทำให้ใจของเรามีพลัง มีความหนักแน่นเข้มแข็งในการรักษาเป้าหมายชีวิตไว้ได้โดยสมบูรณ์ และมีปัญญารู้จักวางเป้าหมายชีวิตไว้ถูกต้อง รวมทั้งสามารถปฏิบัติตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ดีแล้วนั้น

    การฝึกทั้ง ๕ ประการนี้ นิยมเรียกว่า สารธรรม แปลว่า ธรรมที่เป็นแก่น ถ้าผู้ใดมีคุณธรรมทั้ง ๕ ข้อนี้ ชื่อว่า เป็นคนที่มีแก่นคนอย่างแท้จริง สามารถตั้งตนชอบได้

    อ า นิ ส ง ส์ ก า ร ตั้ ง ต น ช อ บ

    ๑. เป็นผู้สามารถพึ่งตนเองได้

    ๒. เป็นผู้ไม่ประมาท

    ๓. เป็นผู้เตรียมพร้อมไว้ดีแล้วก่อนตาย

    ๔. เป็นผู้มีความสวัสดีในทุกที่ทุกสถาน

    ๕. เป็นผู้บูชาพระรัตนตรัยอย่างสูงสุด

    ๖. เป็นพลเมืองดีของประเทศชาติ

    ๗. เป็นตัวอย่างที่ดีแก่อนุชนรุ่นหลัง

    ๘. เป็นผู้ป้องกันภัยในอบายภูมิ

    ๙. เป็นผู้มีแก่นคน สามารถตักตวงประโยชน์จากชีวิตได้เต็มที่

    ๑๐. เป็นผู้ได้รับสมบัติทั้ง ๓ โดยง่าย คือมนุษยสมบัติ ทิพยสมบัติ และนิพพานสมบัติ ฯลฯ

    “มารดาบิดา ก็หรือญาติเหล่าอื่น พึงทำเหตุนั้นให้ไม่ได้ แต่จิตที่บุคคลตั้งไว้ชอบแล้ว พึงทำเขาให้ประเสริฐกว่าเหตุนั้นได้” ขุ.ธ.๒๕/๑๓/๒๐

    จบมงคลที่ ๖ ตั้งตนชอบ
     
  8. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    รวมธรรมะครูบาอาจารย์ ตอน มงคลที่ ๗ เป็นพหูสูต
    18582210_10213146679651286_309249939490900150_n.jpg
    “แสงสว่าง
    เป็นสิ่งจำเป็นในการเดินทางไกลฉันใด
    ความเป็นพหูสูต
    ก็เป็นสิ่งจำเป็นในการบุกเบิก
    สร้างความเจริญให้แก่ชีวิตฉันนั้น”

    พ หู สู ต คื อ อ ะ ไ ร ?

    พหูสูต หมายถึง ผู้ที่มีความรอบรู้ หรือพูดสั้นๆ ว่า “ฉลาดรู้” ความเป็นผู้ฉลาดรู้ คือเป็นผู้ที่รู้จักเลือกเรียน ในสิ่งที่ควรรู้ เป็นผู้ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมามาก ได้ยินได้ฟังได้อ่านมามาก ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้เป็นต้นทางแห่งปัญญา ทำให้เกิดความรู้สำหรับบริหารงานชีวิต และเป็นกุญแจไขไปสู่ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และทุกสิ่งที่เราปรารถนา

    ค ว า ม แ ต ก ต่ า ง ร ะ ห ว่ า ง บั ณ ฑิ ต กั บ พ หู สู ต

    บัณฑิต คือผู้ที่มีคุณธรรมประจำใจ มีความประพฤติดีงาม ไม่ว่าจะมีความรู้มากหรือน้อยก็ตาม บัณฑิตจะใช้ความรู้นั้นๆ สร้างประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นอย่างเต็มที่ เป็นผู้ที่สามารถเอาตัวรอดได้แน่นอน ไม่ตกไปสู่อบายภูมิเป็นอันขาด

    พหูสูต คือผู้มีความรู้มาก แต่คุณธรรมความประพฤติยังไม่แน่ว่า จะดี ยังไม่แน่ว่าจะเอาตัวรอดได้ ถ้าใช้ความรู้ที่มีอยู่ไปทำชั่ว เช่น เอาความรู้ เคมีไปผลิตเฮโรอีน ก็อาจตกนรกได้

    ลั ก ษ ณ ะ ค ว า ม รู้ ที่ ส ม บู ร ณ์ ข อ ง พ หู สู ต

    ๑. รู้ลึก หมายถึง รู้เรื่องราวสาวไปหาเหตุในอดีตได้ลึกซึ้งถึงความเป็นมา เช่น แพทย์เมื่อเห็นอาการคนป่วย ก็บอกได้ว่าเป็นโรคอะไร รู้ไปถึงว่าที่เป็นโรคนี้เพราะเหตุใด หรือช่างเมื่อเห็นอาการเครื่องยนต์ที่เสีย ก็สามารถบอกได้ทันทีว่า เครื่องนั้นเสียที่ชิ้นส่วนไหน เป็นเพราะอะไร เป็นต้น

    ๒. รู้รอบ หมายถึง ช่างสังเกต รู้สิ่งต่างๆ รอบตัว สภาพภูมิประเทศ ดินฟ้าอากาศ ผู้คนในชุมชน ความเป็นไปของเหตุการณ์ต่างๆ รอบตัว สิ่งที่ควรรู้ต้องรู้

    ๓. รู้กว้าง หมายถึง สิ่งรอบตัวแต่ละอย่างที่รู้ก็รู้อย่างละเอียด รู้ถึงความเกี่ยวพันของสิ่งนั้นกับสิ่งอื่นๆ ด้วย คล้ายรู้รอบแต่เก็บรายละเอียดมากขึ้น

    ๔. รู้ไกล หมายถึง มองการณ์ไกล รู้ถึงผลที่จะตามมาในอนาคต เช่น เห็นสภาพดินฟ้าอากาศ ก็รู้ทันทีว่า ปีนี้พืชผลชนิดใดจะขาดแคลน เห็นพฤติการณ์ของผู้ร่วมงานไม่น่าไว้วางใจ ก็รู้ทันทีว่าเขากำลังจะคิดไม่ซื่อ เห็นตนเองเริ่มย่อหย่อนต่อการปฏิบัติธรรม ก็รู้ทันทีว่าถ้าทิ้งไว้เช่นนี้ต่อไปตนก็จะเสื่อมจากกุศลธรรม ฯลฯ

    ผู้ที่ประกอบด้วยความรู้ ๔ ประการนี้ ทั้งทางโลกและทางธรรมจึงจะเป็นพหูสูตที่แท้จริง

    คุ ณ ส ม บั ติ ข อ ง พ หู สู ต ห รื อ นั ก ศึ ก ษ า ที่ ดี

    ๑. พหุสสุตา อ่านมาก ฟังมาก คือมีนิสัยชอบฟัง ชอบอ่าน ชอบค้นคว้า ยึดหลัก “เรียนจากครู ดูจากตำรับ สดับปาฐะ”

    ๒. ธตา จำแม่น คือมีความจำดี รู้จักจับสาระสำคัญ จับหลักให้ได้ แล้วจำได้แม่นยำ คนที่ความจำไม่ดี เพราะภพในอดีตชอบพูดปด ดื่มสุรามาก ฯลฯ ดังนั้นถ้าในชาตินี้เลิกดื่มสุรา เลิกพูดปดและพยายามท่องบ่อยๆ หมั่นจดหมั่นเขียนบ่อยๆ ไม่ช้าก็จะเป็นผู้มีความจำดี

    ๓. วจสา ปริจิตา คล่องปาก คือต้องฝึกท่องให้คล่องปากท่องจนขึ้นใจ จำได้คล่องแคล่วจัดเจน ไม่ต้องพลิกตำรา โดยเฉพาะพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นความจริงแท้แน่นอนไม่เปลี่ยนแปลง ควรท่องไว้ให้ขึ้นใจทุกข้อกระทงความ ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ส่วนวิชาการทางโลก ยังมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เพราะยังไม่มีใครรู้จริง จึงควรท่องเฉพาะที่สำคัญและหมั่นคิดหาเหตุผลด้วย

    ๔. มนสานุเปกขิตา ขึ้นใจ คือใส่ใจนึกคิดตรึกตรอง สาวเหตุสาวผลให้เข้าใจตลอด พิจารณาให้เจนจบ นึกถึงครั้งใดก็เข้าใจปรุโปร่งหมด

    ๕. ทิฏฐิยา สุปฏิวิทธา แทงตลอดด้วยปัญญา คือเข้าใจแจ่มแจ้ง ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ความรู้กับใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คุณสมบัติข้อนี้จะเกิดเต็มที่ได้ ต้องฝึกสมาธิอย่างจริงจัง จนเกิดปัญญาสว่างไสว รู้เห็นสิ่งต่างๆ ไปตามความเป็นจริง

    ลั ก ษ ณ ะ ผู้ ที่ เ ป็ น พ หู สู ต ไ ม่ ไ ด้ ดี

    ๑. คนราคจริต คือคนขี้โอ่ บ้ายอ เจ้าแง่แสนงอน รักสวยรักงาม พิถีพิถันจนเกินเหตุ มัวแต่งอน มัวแต่แต่งตัว จนไม่มีเวลาท่องบ่นค้นคว้าหาความรู้ พวกนี้แก้โดย ให้หมั่นนึกถึงความตาย พิจารณาซากศพอสุภะเนืองๆ

    ๒. คนโทสจริต คือคนขี้โมโห ฉุนเฉียว โกรธง่าย ผูกพยาบาทมาก มัวแต่คิดโกรธแค้นจนไม่มีเวลาไตร่ตรอง พวกนี้แก้โดยให้หมั่นรักษาศีลและแผ่เมตตาเป็นประจำ

    ๓. คนโมหจริต คือคนสะเพร่า ขี้ลืม มักง่าย ทำอะไรไม่พยายามเอาดี ทำสักแต่ให้เสร็จ สติไม่มั่นคง ใจกระด้างในการกุศล สงสัยในพระรัตนตรัยว่ามีคุณจริงหรือไม่ พวกนี้แก้โดยให้หมั่นฝึกสมาธิอย่างสม่ำเสมอ

    ๔. คนขี้ขลาด คือพวกขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง ไม่กล้าลงมือทำอะไร กลัวถูกติ คอยแต่จะเป็นผู้ตาม ไม่มีความคิดริเริ่ม พวกนี้แก้โดยให้คบกับคนมาตรฐาน คือคบบัณฑิต จะอ่านจะทำอะไร ก็ให้จับให้ทำแต่สิ่งที่เป็นมาตรฐาน ไม่สักแต่ว่าทำ

    ๕. คนหนักในอามิส คือพวกบ้าสมบัติ ตีค่าทรัพย์ว่าสำคัญกว่าความรู้ ทำให้ไม่ขวนขวาย ในการแสวงหาปัญญาเท่าที่ควร

    ๖. คนจับจด คือพวกทำอะไรเหยาะแหยะไม่เอาจริง

    ๗. นักเลงสุรา คือพวกขี้เมา ขาดสติ หมดโอกาสที่จะเรียนรู้

    ๘. คนที่มีนิสัยเหมือนเด็ก คือพวกชอบเอิกเกริกสนุกเฮฮาจนเกินเหตุขาดความรับผิดชอบ

    วิ ธี ฝึ ก ต น ใ ห้ เ ป็ น พ หู สู ต

    ๑. ฉลาดเลือกเรียนแต่สิ่งที่ควร

    ๒. ตั้งใจเรียนวิชาที่ตนเลือกแล้วอย่างเต็มความสามารถ

    ๓. มีความกระตือรือร้นที่จะศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ

    ๔. ต้องหาความรู้ทางธรรมควบคู่ไปกับความรู้ทางโลกด้วย

    ๕. เมื่อเรียนแล้วก็จำไว้เป็นอย่างดี พร้อมที่จะนำความรู้ไปใช้ได้ทันที

    ข้ อ เ ตื อ น ใ จ

    ถ้ามีความรู้ทางโลกอย่างเดียว ไม่ว่าตนเองจะเป็นคนฉลาดเพียงใดก็มีโอกาสพลาดพลั้งได้ เช่น มีความรู้เรื่องปรมาณู อาจนำไปใช้ในทางสันติเป็นแหล่งพลังงาน หรือนำไปสร้างเป็นระเบิด ทำลายล้างชีวิตมนุษย์ก็ได้ เราจึงต้องศึกษาความรู้ทางธรรม ไว้คอยกำกับความรู้ทางโลกด้วย ความรู้ทางธรรม จะเป็น เสมือนดวงประทีปส่องให้เห็นว่า สิ่งที่กระทำนั้นถูกหรือผิด ควรหรือไม่ควร

    ผู้ที่คิดแต่จะตักตวงความรู้ทางโลก แม้จะฉลาดร่ำรวย มีอำนาจสักปานใดก็ไม่น่ารัก ไม่น่าเคารพ ไม่น่ายำเกรง ไม่น่านับถือ ยังเป็นบุคคลประเภท เอาตัวไม่รอด

    โปรดจำไว้ว่า “ความรู้ที่เกิดแก่คนพาล ย่อมนำความฉิบหายมาให้ เพราะเขาจะนำความรู้ไปใช้ในทางที่ผิดๆ”

    เราทุกคนจึงควรจะแสวงหาโอกาสศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรม และรู้ให้ลึกซึ้ง เกินกว่าการงานที่ตนรับผิดชอบ ความรู้ที่เกินมานี้ จะเป็นเสมือนดวงประทีป ส่องทางเบื้องหน้า นำไปสู่ความสำเร็จได้โดยง่าย

    อ า นิ ส ง ส์ ก า ร เ ป็ น พ หู สู ต

    ๑. ทำให้เป็นที่พึ่งของตนเองได้

    ๒. ทำให้ได้ความเป็นผู้นำ

    ๓. ทำให้แกล้วกล้าองอาจในทุกที่ทุกสถาน

    ๔. ทำให้บริบูรณ์ด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ สุข

    ๕. ทำให้ได้รับคำชมเชย ได้รับความยกย่องเกรงใจ

    ๖. เป็นสชาติปัญญาติดตัวข้ามภพข้ามชาติไป ไม่มีใครแย่งชิงได้

    ๗. เป็นพื้นฐานของศิลปะ และความสามารถอื่นๆ ต่อไป

    ๘. ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้โดยง่าย ฯลฯ

    “ถ้าบุคคลมีสุตะมาก ตั้งมั่นอยู่ในศีล บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญเขาโดยส่วนสอง คือทั้งโดยศีล ทั้งโดยสุตะ ใครเล่าควรจะติเตียนบุคคลผู้เป็นพหูสูต ผู้ทรงธรรม มีปัญญา เป็นพุทธสาวก ผู้เป็นประดุจแท่งทอง ชมพูนุทนั้นได้ แม้เหล่าเทพเจ้าก็ย่อมชมเชย ถึงพรหม ก็สรรเสริญ” องฺ.จตุกฺก.๒๑/๖/๙

    จบมงคลที่ ๗ เป็นพหูสูต
     
  9. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    รวมธรรมะครูบาอาจารย์ ตอน มงคลที่ ๘ มีศิลปะ
    18620435_10213146696891717_722153289242916124_n.jpg
    “เราปลูกมะม่วง จะอิ่มจะรวยอยู่ที่ผลของมัน
    ช่วงแรกที่ปลูก มีลำต้นกิ่งใบ
    เป็นเพียงระยะเตรียมตัวเพื่อที่จะได้ผล
    เช่นเดียวกัน ความรู้ทุกอย่างหรือความเป็นพหูสูตที่เรามีอยู่
    เป็นเพียงการเตรียมตัวเท่านั้น
    จะช่วยเราได้จริงต่อเมื่อเรามีศิลปะ
    สามารถนำความรู้ที่มีออกมาใช้ได้อย่างดีเท่านั้น”

    ศิ ล ป ะ คื อ อ ะ ไ ร ?

    ศิลปะ แปลว่า การแสดงออกมาให้ปรากฏขึ้นได้อย่างงดงามน่าพึงชม หมายถึง “ฉลาดทำ” คือทำเป็นนั่นเอง

    พหูสูตนั้นเป็นผู้ฉลาดรู้ เรียนรู้ในหลักวิชา รู้ว่าอะไรเป็นอะไร รู้ว่าอะไรทำอย่างไร ส่วนศิลปะ เป็นความสามารถในทางปฏิบัติ คือสามารถนำความรู้นั้นมาใช้ให้บังเกิดผลได้

    คนที่มีความรู้นั้น ไม่ใช่ว่าจะมีศิลปะทุกคน เช่น รู้วิธีหุงข้าวว่าจะต้องเอาข้าวสารใส่หม้อ ซาวข้าว แล้วใส่น้ำยกขึ้นตั้งไฟ น้ำเดือดสักพักก็รินน้ำข้าวออก ดงให้ระอุอีกครู่หนึ่ง ก็คดข้าวออกมากินได้ นี่คือหลักวิชา แต่คนที่รู้เพียงเท่านี้ ไม่แน่นักว่าจะหุงข้าวกินได้ทุกคน อาจจะได้ข้าวดิบบ้าง แฉะบ้าง ไหม้บ้าง เพราะไม่มีศิลปะในการหุงข้าว เรียกว่า ฉลาดรู้แต่ยังไม่ฉลาดทำ

    เรื่องอื่นๆ ก็เช่นกัน ไม่ว่าจะขับรถยนต์ เตะตะกร้อ ว่ายน้ำ ทำกับข้าว ลองดูก็ได้ว่า ถ้ารู้แต่ทฤษฎีอย่างเดียวจะทำได้หรือไม่

    ป ร ะ เ ภ ท ข อ ง ศิ ล ป ะ

    ทางกาย คือฉลาดทำการช่างต่างๆ เช่น ช่างทอ ช่างเครื่อง ช่างวาด ช่างออกแบบ ช่างปั้น ช่างภาพ ช่างพิมพ์ รวมทั้งฉลาดในการทำอาชีพอื่นๆ เช่น การทำสวน ทำไร่ ปลูกพืชผัก การเขียนหนังสือ การตรวจคนไข้ ตลอดจนถึงการยืนเดินนั่งนอนอย่างมีมารยาท การแต่งตัวให้เหมาะสม การต้อนรับแขก การแสดงความเคารพ การสำรวมกาย ก็จัดเป็นศิลปะทั้งสิ้น

    ทางวาจา คือฉลาดในการพูด มีวาทศิลป์ รู้จักเลือกพูดแต่สิ่งที่ดี เป็นประโยชน์ สามารถยกใจของผู้พูดและผู้ฟังให้สูงขึ้นได้

    ทางใจ คือฉลาดในการคิด มีสติสัมปชัญญะ สามารถควบคุมความคิดให้คิดไปในทางที่ดี คิดในทางสร้างสรรค์ คิดในทางที่ยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น โดยย่อ ศิลปะ จึงหมายถึง คิดเป็น พูดเป็น ทำเป็น

    อ ง ค์ ป ร ะ ก อ บ ข อ ง ศิ ล ป ะ

    สิ่งที่ทำแล้วจัดว่าเป็นศิลปะ ต้องประกอบด้วยองค์ ๖ ดังนี้

    ๑. ทำด้วยความประณีต

    ๒. ทำให้สิ่งของต่างๆ มีคุณค่าสูงขึ้น

    ๓. ทำแล้วส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์

    ๔. ทำแล้วไม่ทำให้กามกำเริบ

    ๕. ทำแล้วไม่ทำให้ความคิดพยาบาทกำเริบ

    ๖. ทำแล้วไม่ทำให้ความคิดเบียดเบียนกำเริบ

    คุ ณ ส ม บั ติ ข อ ง ผู้ ส า ม า ร ถ มี ศิ ล ป ะ

    ๑. ต้องมีศรัทธา มีความเชื่อมั่นในสิ่งที่จะทำ ว่าเป็นสิ่งดีจริง มีประโยชน์จริง มีใจรักที่จะทำและตั้งใจมั่นว่า จะต้องทำให้สำเร็จ

    ๒. ต้องไม่เป็นคนขี้โรค รู้จักระวังรักษาสุขภาพของตัวเอง

    ๓. ต้องไม่เป็นคนขี้โม้ขี้คุย คนโอ้อวดไม่มีใครอยากสอน ไม่มีใครอยากแนะนำ คนพวกนี้มัวแต่อวด มัวแต่คุย จนไม่มีเวลาฝึกฝีมือ

    ๔. ต้องไม่เป็นคนขี้เกียจ มีความมานะพากเพียร อดทน

    ๕. ต้องเป็นคนมีปัญญา รู้จักพินิจพิจารณาช่างสังเกต

    วิ ธี ฝึ ก ต น ใ ห้ มี ศิ ล ป ะ

    ๑. ฝึกตนเองให้เป็นคนช่างสังเกต รู้จักหาจุดเด่นของสิ่งรอบตัว

    ๒. ตั้งใจทำงานทุกอย่างที่มาถึงตนให้ดีที่สุด อย่าดูถูกหรือเกี่ยงงาน

    ๓. ตั้งใจทำงานทุกอย่างด้วยความประณีต ละเอียดลออ

    ๔. ตั้งใจปรับปรุงงานให้ดีขึ้นเสมอ ไม่ทำอะไรอย่างชุ่ยๆ ขอไปที

    ๕. หมั่นใกล้ชิดกับผู้มีศิลปะอย่างแท้จริงในสายงานนั้นๆ

    ๖. ฝึกสมาธิอยู่เสมอ เพื่อให้ใจสงบผ่องใส เกิดปัญญาที่จะฝึกและปรับปรุงตนเอง ให้มีคุณสมบัติของผู้มีศิลปะได้

    ข้ อ เ ตื อ น ใ จ

    อย่าเอาแต่จับผิดผู้อื่น ไม่เช่นนั้นตัวเราจะกลายเป็น “ศิลปินนักติ” คือดีแต่ติผลงานของผู้อื่นเรื่อยไป ติคนอื่นไว้มาก เลยไม่กล้าแสดงฝีมือ เพราะกลัวคนอื่นจะติเอาบ้าง สุดท้ายเลยกลายเป็นคนไม่มีผลงาน ทำอะไรไม่เป็น

    อ า นิ ส ง ส์ ก า ร มี ศิ ล ป ะ

    ๑. ทำให้มีความสามารถเด่นกว่าผู้อื่น

    ๒. ทำให้สามารถเลี้ยงตัวได้

    ๓. ทำให้เป็นคนฉลาดช่างสังเกต มีไหวพริบปฏิภาณดี

    ๔. ทำให้เป็นคนมั่งคั่งสมบูรณ์

    ๕. ทำให้ได้รับความสุขทั้งโลกนี้โลกหน้า

    ๖. ทำให้โลกเจริญทั้งด้านวัตถุและจิตใจ ฯลฯ

    “ศิลปะแม้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ยังประโยชน์ให้สำเร็จได้” ขุ.ชา.เอก.๒๗/๑๐๗/๓๕

    จบมงคลที่ ๘ มีศิลปะ
     
  10. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    รวมธรรมะครูบาอาจารย์ ตอน มงคลที่ ๙ มีวินัย
    18664279_10213166819234763_7839975727783834745_n.jpg
    “ดาบคมที่ไร้ฝัก ลูกระเบิดที่ไม่มีสลักนิรภัย
    ย่อมเกิดโทษแก่เจ้าของได้ง่ายฉันใด
    ความรู้ และ ความสามารถ ถ้าไม่มีวินัยกำกับแล้ว
    ก็จะมีโทษแก่ผู้เป็นเจ้าของได้ฉันนั้น
    ช่างดาบทำฝักดาบไว้กันอันตราย
    ช่างทำระเบิดก็ทำสลักนิรภัยไว้เช่นกัน
    ดังนั้น เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนพุทธศาสนิกชน
    ให้เป็นคนฉลาดรู้ฉลาดทำแล้ว
    จึงทรงสั่งสำทับด้วยว่า ต้องมีวินัย”

    วิ นั ย คื อ อ ะ ไ ร ?

    วินัย หมายถึง ระเบียบ กฎเกณฑ์ ข้อบังคับ สำหรับควบคุมความประพฤติทางกาย วาจา ของคนในสังคมให้เรียบร้อยดีงาม เป็นแบบแผน อันหนึ่งอันเดียวกัน จะได้อยู่ร่วมกันด้วยความสุขสบาย ไม่กระทบกระทั่งซึ่งกันและกัน วินัยช่วยให้คนในสังคมห่างไกลจากความชั่วทั้งหลาย

    การอยู่ร่วมกันเป็นหมู่เหล่า ถ้าขาดระเบียบวินัย ต่างคนต่างทำตามอำเภอใจ ความขัดแย้งและลักลั่นก็จะเกิดขึ้น ยิ่งมากคนก็ยิ่งมากเรื่อง ไม่มีความสงบสุข การงานที่ทำก็จะเสียผล

    ดอกไม้จำนวนมากที่วางไว้รวมกัน หากวางอยู่ระเกะระกะกระจัดกระจาย ก็จะด้อยค่าลง ทั้งยังทำให้รกรุงรังอีกด้วย แต่เมื่อเรานำดอกไม้เหล่านี้มาร้อยรวมเข้าด้วยกันด้วยเส้นด้าย ดอกไม้เหล่านี้ ก็จะกลายเป็นพวงมาลัยอันงดงาม เหมาะที่จะนำไปประดับตกแต่งให้เจริญตาเจริญใจ ถ้าประชาชนแต่ละคน เป็นเสมือนดอกไม้แต่ละดอก เส้นด้ายที่ใช้ร้อยดอกไม้ ให้รวมกันอยู่อย่างมีระเบียบงดงามนั้น ก็เปรียบเสมือนวินัย

    วินัยจึงเป็นสิ่งที่ใช้ควบคุมคน ให้คนเราใช้ความรู้ความสามารถไปในทางที่ถูกที่ควร คือทำให้เป็นคน “ฉลาดใช้” นั่นเอง

    ช นิ ด ข อ ง วิ นั ย

    คนเรามีส่วนประกอบสำคัญอยู่ ๒ อย่าง คือร่างกายกับจิตใจ

    ร่างกาย ของเราขึ้นอยู่กับระบบโลก ต้องพึ่งโลก ร่างกายจึงจะเจริญ

    จิตใจ ของเราขึ้นอยู่กับระบบธรรม ต้องพึ่งธรรม จิตใจจึงจะเจริญ

    เพื่อให้ร่างกายและจิตใจเจริญทั้ง ๒ ทาง เราจึงต้องดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกันทั้ง ๒ ด้านด้วย

    ผู้ที่ฉลาดรู้ ก็ต้องศึกษาให้รู้ทั้งทางโลกและทางธรรม

    ผู้ที่ฉลาดทำ ก็ต้องทำให้เป็นให้ถูกต้อง ทั้งทางโลกและทางธรรม

    เช่นกัน ผู้ที่ฉลาดใช้ ก็ต้องมีวินัยทางโลกและวินัยทางธรรมคอยช่วยกำกับความรู้และความสามารถเอาไว้

    วิ นั ย ท า ง โ ล ก

    วินัยทางโลก หมายถึง ระเบียบสำหรับควบคุมคนในสังคมแต่ละแห่ง เป็นข้อตกลงของคนในสังคมนั้น ที่จะให้ทำ หรือไม่ให้ทำบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งบางครั้ง เราเรียกชื่อแยกแยะออกไปหลายอย่าง เช่นกฎหมาย พระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา ข้อบังคับ ระเบียบ ธรรมเนียม ประเพณี คำสั่ง ประกาศ กติกา ฯลฯ สิ่งเหล่านี้รวมเรียกว่าวินัยทางโลกทั้งสิ้น

    วิ นั ย ท า ง ธ ร ร ม

    เนื่องจากเราชาวพุทธมีทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต ดังนั้นวินัยทางพระพุทธศาสนาจึงมี ๒ ประเภท คือ

    ๑. อนาคาริยวินัย วินัยสำหรับผู้ออกบวช ได้แก่ วินัยของพระภิกษุ สามเณร

    ๒. อาคาริยวินัย วินัยสำหรับผู้ครองเรือน ได้แก่ วินัยของชาวพุทธชายหญิงทั่วๆ ไป

    อ น า ค า ริ ย วิ นั ย

    จุดมุ่งหมายสูงสุดของนักบวช คือความหมดกิเลส ผู้จะหมดกิเลสได้ ต้องมีปัญญาอย่างยิ่ง ผู้จะมีปัญญาอย่างยิ่งได้ จะต้องมีสมาธิอย่างยิ่ง ผู้จะมีสมาธิอย่างยิ่งได้ จะต้องตั้งอยู่บนฐานของศีลอย่างยิ่ง คืออนาคาริยวินัย ๔ ประการ อันเป็นพื้นฐานของความบริสุทธิ์ ได้แก่

    ๑. ปาฏิโมกขสังวร คือการสำรวมอยู่ในศีล ๒๒๗ ข้อ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติ เว้นข้อที่พระองค์ทรงห้าม ทำตามข้อที่พระองค์ทรงให้ปฏิบัติ

    ๒. อินทรียสังวร คือการรู้จักสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้เพลิดเพลินไปกับอารมณ์อันน่าใคร่ อันเกิดจากการเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส สัมผัส และการรับรู้อารมณ์ทางใจ อะไรที่ไม่ควรดูก็อย่าไปดู อะไรที่ไม่ควรฟังก็อย่าไปฟัง อะไรที่ไม่ควรดมก็อย่าไปดม อะไรที่ไม่ควรลิ้มชิมรสก็อย่าไปชิม อะไรที่ไม่ควรถูกต้องสัมผัสก็อย่าไปสัมผัส และอะไรที่ไม่ควรคิดก็อย่าไปคิด

    ๓. อาชีวปาริสุทธิ คือการหาเลี้ยงชีวิตในทางที่ชอบ ได้แก่ การบิณฑบาตสำหรับการเลี้ยงชีวิตในทางที่ผิด เช่น การหาลาภสักการะด้วยการ ใบ้หวย การเป็นหมอดู การเป็นพ่อสื่อแม่ชัก การประจบชาวบ้าน จัดเป็นการกระทำที่ผิดพระวินัย

    ๔. ปัจจยปัจจเวกขณะ คือการพิจารณาก่อนที่จะบริโภคหรือใช้ปัจจัย ๔ ว่าสิ่งนั้น เป็นเพียงเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิตให้อยู่ได้ เหมือนน้ำมันหยอดเพลารถ ให้รถแล่นไปได้เท่านั้น

    พิจารณาดังนี้แล้วย่อมบรรเทาความหลง ความมัวเมาในอาหาร เครื่อง นุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยและยารักษาโรคได้ ทำให้กินเพื่ออยู่ ไม่ใช่อยู่เพื่อกิน

    เมื่อแรกเริ่มพระพุทธศาสนายังไม่มีการบัญญัติวินัย เพราะพระภิกษุยังมีจำนวนน้อย และทุกรูปต่างก็ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด ทราบดีว่าอะไรเป็นสิ่งควรทำหรือไม่ควรทำ ต่อมาพระภิกษุมีจำนวนมากขึ้น และมีผู้ประพฤติไม่ค่อยดีหลงเข้ามาบวชด้วย ไปทำสิ่งที่ไม่สมควรขึ้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติวินัยขึ้นทีละข้อ วินัยทุกข้อในพระพุทธศาสนาจึงมีที่มา ทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่น วินัยข้อแรกในพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นเพราะมีพระภิกษุรูปหนึ่ง ชื่อสุทิน ได้ย้อนกลับไปร่วมหลับนอนกับอดีตภรรยา เพราะบิดามารดาขอร้องเพื่อให้มีทายาทไว้สืบสกุล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติวินัยข้อที่ ๑ ขึ้นว่า “ห้ามเสพเมถุน” เป็นต้น

    วั ต ถุ ป ร ะ ส ง ค์ ที่ พ ร ะ สั ม ม า สั ม พุ ท ธ เ จ้ า ท ร ง บั ญ ญั ติ วิ นั ย

    ๑. เพื่อรองรับความตั้งอยู่ดีของหมู่สงฆ์

    ๒. เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก

    ๓. เพื่อความสุขสำราญแห่งหมู่สงฆ์

    ๔. เพื่อความสุขสำราญแห่งพระภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก

    ๕. เพื่อป้องกันอาสวกิเลสอันจะบังเกิดในปัจจุบัน

    ๖. เพื่อป้องกันอาสวกิเลสอันจะบังเกิดในอนาคต

    ๗. เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส

    ๘. เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว

    ๙. เพื่อความดำรงมั่นแห่งพระสัทธรรม

    ๑๐. เพื่ออนุเคราะห์พระวินัย เป็นการสืบอายุพระพุทธศาสนาให้เจริญวัฒนาสถาพรสืบต่อไป

    อ า ค า ริ ย วิ นั ย

    วินัยสำหรับคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนที่สำคัญคือ ศีล ๕

    ศี ล คื อ อ ะ ไ ร ?

    ศีล แปลว่า ปกติ เป็นวินัยทางธรรมเบื้องต้นของคน เป็นเครื่องจำแนกคนออกจากสัตว์

    ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องมีลักษณะปกติของมันเอง เช่น ปกติของม้าต้องยืนไม่มีการนอน ถ้าม้านอน ก็เป็นการผิดปกติ แสดงว่าม้าป่วย ฤดูฝนตามปกติจะต้องมีฝน ถ้าฤดูฝนกลับแล้ง ฝนไม่ตก แสดงว่าผิดปกติ

    อ ะ ไ ร คื อ ป ก ติ ข อ ง ค น ?

    ปกติของคนที่สำคัญมี ๕ ประการ ดังนี้คือ

    ๑. ปกติของคนจะต้องไม่ฆ่า ถ้าวันไหนมีการฆ่า วันนั้นก็ผิดปกติของคน แต่ไปเข้าข่ายปกติของสัตว์ เช่น เสือ หมี สุนัข ฯลฯ ซึ่งฆ่ากันทำร้ายกันเป็นปกติ ฉะนั้นเพื่อรักษาปกติของคนไว้ ศีลข้อที่ ๑ จึงเกิดขึ้นมาว่า คนจะต้องไม่ฆ่า

    ๒. ปกติของสัตว์เวลากินอาหารมันจะแย่งกัน ขโมยกัน ถึงเวลาอาหารทีไรสุนัขเป็นต้องกัดกันทุกที แต่คนไม่เป็นอย่างนั้น ฉะนั้นเพื่อรักษาปกติของคนไว้ ศีลข้อที่ ๒ จึงเกิดขึ้นว่า คนจะต้องไม่ลัก ไม่คอร์รัปชั่น ไม่ยักยอกคดโกง

    ๓. ปกติของสัตว์ ไม่รู้จักหักห้ามใจให้พอใจเฉพาะคู่ของตน ในฤดูผสมพันธุ์สัตว์จึงมีการต่อสู้แย่งชิงตัวเมีย บางครั้งถึงกับต่อสู้กันจนตายไปข้างหนึ่งก็มี แต่ปกติของคนแล้วจะไม่แย่งคู่ครองของใคร พอใจเฉพาะคู่ครองของ ตนเท่านั้น ฉะนั้นเพื่อรักษาปกติของคนไว้ ศีลข้อที่ ๓ จึงเกิดขึ้นว่า คนจะต้องไม่ประพฤติผิดในกาม

    ๔. ปกติของสัตว์ไม่อาจวางใจได้สนิท พร้อมจะทำอันตรายได้ทุกเมื่อ แต่ปกติของคนนั้น เราพูดกันตรงไปตรงมา มีความจริงใจต่อกัน ถ้าใครโกหกหลอกลวงก็ผิดปกติไป ฉะนั้นเพื่อรักษาปกติของคนไว้ ศีลข้อที่ ๔ จึงเกิดขึ้นว่า คนจะต้องไม่พูดเท็จ

    ๕. ปกติแล้วเมื่อเทียบกันโดยสัดส่วนร่างกาย สัตว์มีกำลังร่างกายแข็งแรงมากกว่าคน แต่สัตว์ไม่มีสติควบคุมการใช้กำลังของตนให้ถูกต้อง ดังนั้นจึงไม่สามารถเปลี่ยนกำลังกาย ให้เป็นกำลังความดีได้เต็มที่ มีแต่ความป่าเถื่อนตามอารมณ์ เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย แม้มีกำลังกายมาก แต่ไม่เคยออกแรงไปหาอาหาร มาเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ของมันแต่อย่างใด

    ส่วนคนแม้มีกำลังกายน้อยกว่าสัตว์ แต่อาศัยสติอันมั่นคงช่วยเปลี่ยนกำลังกายน้อยๆ นั้น ให้เกิดเป็นกำลังความดี เช่น มีกตัญญูกตเวที เมื่อโตขึ้น ก็เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ได้

    สติเป็นของเหนียวแน่นคงทน แม้อดอาหารทั้งวันสติก็ยังดีได้ ทำงานหนักทั้งเดือนสติก็ยังดี นอนป่วยบนเตียงทั้งปีสติก็ยังดีได้ แต่สติกลับเปื่อยยุ่ยทันที ถ้าไปเสพสุรายาเมาเข้า สุราเพียงครึ่งแก้ว อาจทำผู้ดื่มให้สติฟั่นเฟือนถึงกับ ลืมตัวลงมือทำร้ายผู้มีพระคุณได้ หมดความสามารถ ในการเปลี่ยนกำลังกายให้เป็นกำลังความดี ดังนั้นผู้ที่เสพสุราหรือของมึนเมา จึงมีสภาพผิดปกติ คือมีสภาพใกล้สัตว์เข้าไปทุกขณะ

    ฉะนั้นเพื่อรักษาปกติของคนไว้ ศีลข้อที่ ๕ จึงเกิดขึ้นว่า คนจะต้องไม่เสพของมึนเมาให้โทษ

    ศีลทั้ง ๕ ข้อ คือ
    ๑. ไม่ฆ่า
    ๒. ไม่ลัก
    ๓. ไม่ประพฤติผิดในกาม
    ๔. ไม่โกหกหลอกลวง
    ๕. ไม่เสพของมึนเมาให้โทษ

    จึงเกิดขึ้นมาโดยสามัญสำนึก และเกิดขึ้นพร้อมกับโลกเพื่อรักษาความปกติสุขของโลกไว้

    ศีล ๕ มีมาก่อนพุทธกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรับเข้ามาไว้ในพระพุทธศาสนา และชี้แจงถึงความจำเป็นของการมีศีลให้ทราบ ดังนั้นศีลจึง ไม่ใช่ข้อห้ามตามที่คนจำนวนมากเข้าใจ แต่หมายถึงปกติของคน นอกจากนี้ศีลยังใช้เป็นเครื่องวัดความเป็นคนได้อีกด้วย

    วันใดเรามีศีลครบ ๕ ข้อ แสดงว่าวันนั้นเรามีความเป็นคนครบบริบูรณ์ ๑๐๐ %

    ถ้ามีศีลเหลือ ๔ ข้อ ความเป็นคนก็เหลือ ๘๐ % ใกล้สัตว์เข้าไป ๒๐ %

    ถ้ามีศีลเหลือ ๓ ข้อ ความเป็นคนก็เหลือ ๖๐ % ใกล้สัตว์เข้าไป ๔๐ %

    ถ้ามีศีลเหลือ ๒ ข้อ ความเป็นคนก็เหลือ ๔๐ % ใกล้สัตว์เข้าไป ๖๐ %

    ถ้ามีศีลเหลือ ๑ ข้อ ความเป็นคนก็เหลือ ๒๐ % ใกล้สัตว์เข้าไป ๘๐ %

    ถ้าศีลทุกข้อขาดหมด ก็หมดความเป็นคน หมดความสงบ หมดความสุข ถึงยังมีชีวิตอยู่ก็เหมือนคนตายแล้ว ความดีใดๆ ไม่อาจงอกเงยขึ้นมาได้อีก มีชีวิตอยู่เพียงเพื่อจะทำความเดือดร้อนให้แก่ตนเองและผู้อื่นเท่านั้น คนชนิดนี้คือคนประมาทแท้ๆ

    วิ ธี รั ก ษ า ศี ล ต ล อ ด ชี พ

    เพื่อรักษาความเป็นคนของตนไว้ให้ดี ชาวพุทธจึงจำเป็นต้องรักษาศีลยิ่งชีวิต การจะรักษาศีลให้ได้เช่นนั้น ต้องอาศัยปัญญาเข้าช่วยจึงจะรักษาไว้ได้โดยง่าย ก่อนอื่นให้พิจารณาว่า

    - ศีล แปลว่า ปกติ

    - คนผิดศีล คือคนผิดปกติ

    - แต่ปัจจุบันนี้ คนผิดศีลจนเป็นปกตินิสัยมีจำนวนมากขึ้นทุกที จนกระทั่งหลายคนเห็นคนมีศีลกลายเป็นคนผิดปกติไป เมื่อความเห็นวิบัติไปเช่นนี้ ประเทศชาติบ้านเมืองที่เคยร่มเย็นตลอดมาจึงต้องพลอยวิบัติ มีการฆ่ากัน โกงกัน ผิดลูกผิดเมีย ฯลฯ จนประชาชนนอนตาไม่หลับ สะดุ้งหวาดระแวงกันไปทั้งเมือง

    เราจะให้ผู้ใดมาดับความทุกข์ความวิบัติครั้งนี้ ?

    เราชาวพุทธแต่ละคนนี้แหละคือผู้ดับ เราจะดับทุกข์ด้วยการถือศีล ถึงคนอื่นไม่ช่วยถือเราก็จะถือเพียงลำพัง ถ้าเปรียบประเทศไทยเหมือนหม้อน้ำใหญ่ เป็นหม้อน้ำที่กำลังเดือดพล่าน เดือดพล่านเพราะฟืนกว่า ๖๐ ล้านดุ้น คือประชากรประมาณ ๖๐ ล้านคน ที่กระทบกระทั่งกันเพราะขาดศีล ถ้าตัวเรามีศีลเมื่อใด ก็เหมือนกับดึงตนเองออกจากกองฟืนไป ๑ ดุ้น แม้น้ำในหม้อจะยังเดือดพล่านอยู่แต่ก็ไม่ใช่เพราะเรา เมื่อแต่ละคนต่างดึงตนเองออกจากกองทุกข์ โดยไม่เกี่ยงงอนกันดังนี้ ในไม่ช้าไฟทุกข์ย่อมดับมอดลงเอง ประเทศ ชาติก็จะคืนสู่สภาพปกติสุขได้

    เพื่อเป็นการย้ำความคิดที่จะถือศีลให้มั่นคงตลอดชีพ จำต้องหาวิธีการที่เหมาะสม ซึ่งมีอยู่วิธีหนึ่งคือ วิธีปลุกพระ ทุกๆ เช้าก่อนออกจากบ้านให้เอาพระเครื่องที่แขวนคออยู่ ใส่ในมือพนม หรือพนมมืออยู่หน้าที่บูชาพระ แล้วตั้งใจกล่าวคำสมาทานรักษาศีล ๕ ดังๆ อย่างนี้

    ปาณาติปาตา เวรมณี ข้าพเจ้าจะไม่ฆ่า
    อทินนาทานา เวรมณี ข้าพเจ้าจะไม่ลักขโมย
    กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี ข้าพเจ้าจะไม่ประพฤติผิดในกาม
    มุสาวาทา เวรมณี ข้าพเจ้าจะไม่โกหกหลอกลวง
    สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี ข้าพเจ้าจะไม่เสพของมึนเมา

    ในทางการแพทย์ โรคที่เกิดขึ้นมี ๒ ประเภท คือ

    ๑) โรคประจำสังขาร เช่น โรคชรา โรคจากเชื้อโรคที่ระบาดเป็นครั้ง-คราว

    ๒) โรคที่เกิดขึ้นจากการประพฤติผิด เช่น

    ขาดศีลข้อ ๑ ทำให้อายุสั้น เช่น บุคคลประเภทเจ้าพ่อทั้งหลาย ฆ่าคนมามาก ลงท้ายก็ถูกเขาฆ่าเอาบ้าง

    ขาดศีลข้อ ๒ ทำให้เกิดโรคประสาท เช่น โรคหวาดผวา โรคจิต

    ขาดศีลข้อ ๓ ทำให้เกิดกามโรคหรือโรคเอดส์ได้ง่าย

    ขาดศีลข้อ ๔ ทำให้เกิดโรคความจำเสื่อม ผู้ที่โกหกมากๆ เข้า ลงท้ายแม้กระทั่งตัวเองก็หลงลืมว่า เรื่องที่ตนพูดขึ้นนั้น เป็นเรื่องจริงหรือโกหก

    ขาดศีลข้อ ๕ ทำให้เกิดโรคพิษสุราเรื้อรัง โรคตับแข็ง ก่อการทะเลาะวิวาทได้ง่าย

    ดังนั้นหากเรารักษาศีล ๕ ได้ ก็เหมือนได้ฉีดวัคซีนป้องกันสารพัด โรคไว้แล้ว

    ในวันพระหรือทุก ๗ วัน ควรถือศีล ๘ ซึ่งมีข้อเพิ่มเติมจากศีล ๕ ดังนี้

    ศีลข้อ ๓ เปลี่ยนจากไม่ประพฤติผิดในกาม เป็น เว้นจากการเสพกาม

    ศีลข้อ ๖ เว้นจากการรับประทานอาหารยามวิกาล คือตั้งแต่เที่ยงถึงเช้าวันรุ่งขึ้น

    ศีลข้อ ๗ เว้นจากการตกแต่งร่างกายด้วยเครื่องประดับ และของหอม และเว้นจากการดูการละเล่น

    ศีลข้อ ๘ เว้นจากการนอนบนที่นอนอันอ่อนนุ่มและสูงใหญ่

    ศีลข้อ ๖-๘ จะควบคุมความรู้สึกทางเพศไม่ให้เกิดขึ้นเกินส่วน และนั่นก็คือ

    ๑) เป็นการคุมกำเนิดโดยธรรมชาติ

    ๒) เป็นการลดช่องว่างระหว่างชนชั้น ไม่มีการแข่งขันประดับประดาร่างกาย ใช้ชีวิตความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อ

    ๓) เป็นการทำให้จิตใจสงบเบื้องต้น เพื่อให้สามารถเข้าถึงธรรมะชั้นสูงต่อไปได้โดยง่าย

    อ า นิ ส ง ส์ ข อ ง ศี ล

    ๑. เป็นทางมาแห่งโภคทรัพย์สมบัติ และทำให้สามารถใช้ทรัพย์ได้เต็มอิ่ม โดยไม่ต้องหวาดระแวง ว่าจะมีใครมาทวงคืน

    ๒. ทำให้มีชีวิตอยู่ด้วยความเป็นสุข ไม่ต้องหวาดระแวงว่าใครจะมาปองร้าย

    ๓. ทำให้เกียรติคุณฟุ้งขจรไปว่าเป็นคนเชื่อถือได้ มีอนาคตดี

    ๔. ทำให้แกล้วกล้าอาจหาญในท่ามกลางประชุมชน

    ๕. ทำให้เป็นคนไม่หลงลืมสติ มีความจำดี

    ๖. ตายแล้วก็ไปเกิดในสวรรค์ มีสุคติเป็นที่ไปและเป็นทางดำเนินไปสู่มรรคผลนิพพานในที่สุด

    ป ร ะ โ ย ช น์ ข อ ง วิ นั ย

    วินัยทั้งทางโลกและทางธรรมรวมกันแล้วทำให้เกิดประโยชน์ คือ

    ๑. วินัยนำไปดี หมายความว่า ทำให้ผู้รักษาวินัยดีขึ้น ยกฐานะผู้มี วินัยให้สูงขึ้น เช่น

    เด็กกลางถนน เข้าโรงเรียนมีวินัย กลายเป็น นักเรียน

    เด็กชาวบ้าน บวชแล้วถือศีล ๑๐ กลายเป็น สามเณร

    สามเณร บวชแล้วถือศีล ๒๒๗ กลายเป็น พระภิกษุ

    วินัยเป็นข้อบังคับกายวาจาเราก็จริง แต่เป็นข้อบังคับเพื่อให้เราไปถึงที่หมายของชีวิตตามความประสงค์ของเราเอง ถือเป็นอานิสงส์ของการมีวินัย

    ๒. วินัยนำไปแจ้ง คำว่า แจ้ง แปลว่า สว่าง หรือเปิดเผย ไม่คลุมๆ เครือๆ วินัยนำไปแจ้ง คือเปิดเผยธาตุแท้ของคนได้ ว่าไว้ใจได้แค่ไหน โดยดูว่าเป็นคนมีวินัยหรือไม่

    ๓. วินัยนำไปต่าง เราดูความแตกต่างของคนด้วยวินัย ยกตัวอย่าง คนที่ซ่องสุมสมัครพรรคพวกและอาวุธ ไว้สู้รบกับคนอื่น ถ้ามีวินัยเราเรียกว่า “กองทหาร” เป็นรั้วของชาติ ถ้าไม่มีวินัยเราเรียกว่า “กองโจร” เป็นเสี้ยนหนาม ของแผ่นดิน คนที่พกอาวุธ เดินปนอยู่ในที่ชุมชนอย่างองอาจ ถ้ามีวินัยเราเรียกว่า “ตำรวจ” เป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ถ้าไม่มีวินัยเราเรียกว่า “นักเลงอันธพาล” เป็นผู้พิฆาตสันติสุข คนที่เที่ยวภิกขาจารพึ่งคนอื่นเลี้ยงชีวิต ถ้ามีวินัยรักษาศีล ๒๒๗ เราเรียกว่า “พระภิกษุ” เป็นบุญของผู้ให้ทาน ถ้าไม่มีวินัยเราเรียกว่า “ขอทาน” อาจสร้างความรำคาญให้แก่ผู้ถูกขอ

    เราต้องการก้าวไปสู่ความดีความก้าวหน้า เราต้องการความบริสุทธิ์กระจ่างแจ้ง เราต้องการยกฐานะให้สูงขึ้น เพราะฉะนั้นเราจึงจำเป็นต้องรักษาวินัย

    ผู้มีวินัยดี หมายถึง ผู้ที่รักษาวินัยทั้งทางโลกและทางธรรมอย่างถูกต้องและเคร่งครัด

    จบมงคลที่ ๙ มีวินัย
     
  11. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    รวมธรรมะครูบาอาจารย์ ตอน มงคลที่ ๑๐ มีวาจาสุภาษิต
    18595590_10213166856755701_6563711990402836687_o.jpg
    “ปลามีชีวิตยืนยาวอยู่ได้ก็เพราะอาศัยปากเป็นสิ่งสำคัญ
    แต่ก็เพราะปากนั่นเอง ปลาจึงต้องติดเบ็ดเสียชีวิตโดยง่าย
    เช่นกัน วาจาสุภาษิตจากปาก
    จะทำให้คนเราประสบความสำเร็จ
    ได้รับความเจริญก้าวหน้าในชีวิต
    แต่ก็เพราะวาจาทุพภาษิตจากปากเพียงคำเดียว
    บางครั้งแม้แต่ชีวิตก็ยากจะรักษาไว้ได้”

    มี ว า จ า สุ ภ า ษิ ต คื อ อ ะ ไ ร ?

    วาจาสุภาษิต หมายถึง คำพูดที่ผู้พูดได้กลั่นกรองไว้ดีแล้วด้วยใจที่ผ่องใส มิใช่สักแต่พูด อวัยวะในร่างกายของคนเรานี้ก็แปลก

    ตา มีหน้าที่ ดู อย่างเดียว ธรรมชาติให้มา ๒ ตา

    หู มีหน้าที่ ฟัง อย่างเดียว ธรรมชาติให้มา ๒ หู

    แต่ปาก มีหน้าที่ถึง ๒ อย่าง คือทั้งกินและพูด ธรรมชาติกลับให้มาเพียงปากเดียว แสดงว่า ธรรมชาติต้องการให้คนดูให้มาก ฟังให้มาก แต่พูดให้น้อยๆ ให้มีสติคอยระมัดระวังปาก จะกินก็กินให้พอเหมาะ จะพูดก็พูดให้พอดี ลักษณะคำพูดที่พอเหมาะพอดี เป็นคุณทั้งแก่ตัวผู้พูดและผู้ฟัง เรียกว่า วาจาสุภาษิต

    อ ง ค์ ป ร ะ ก อ บ ข อ ง ว า จ า สุ ภ า ษิ ต

    ๑. ต้องเป็นคำจริง ไม่ใช่คำพูดที่ปั้นแต่งขึ้น เป็นคำพูดที่ไม่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ไม่บิดเบือนจากความจริง ไม่เสริมความ ไม่อำความ ต้องเป็นเรื่องจริง จริง จริง

    ๒. ต้องเป็นคำสุภาพ เป็นคำพูดไพเราะที่กลั่นออกมาจากน้ำใจที่บริสุทธิ์ ไม่เป็นคำหยาบ คำด่า คำประชดประชัน คำเสียดสี คำหยาบนั้นฟังก็ระคายหู แค่นึกถึงก็ระคายใจ

    ๓. พูดแล้วก่อให้เกิดประโยชน์ เกิดผลดีทั้งแก่คนพูดและคนฟัง ถึงแม้คำพูดนั้นจะจริง และเป็นคำสุภาพ แต่ถ้าพูดแล้วไม่เกิดประโยชน์อะไร กลับจะทำให้เกิดโทษ ก็ไม่ควรพูด

    ๔. พูดด้วยจิตเมตตา พูดด้วยความปรารถนาดี อยากให้คนฟังมีความสุข มีความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ในข้อนี้หมายถึงว่า แม้จะพูดจริง เป็นคำ สุภาพ พูดแล้วเกิดประโยชน์ แต่ถ้าจิตยังคิดโกรธ มีความริษยา ก็ยังไม่สมควรพูด เพราะผู้ฟังอาจรับไม่ได้ ถ้อยคำที่กล่าวด้วยจิตขุ่นมัว แม้เพียงประโยคเดียว อาจก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรง อย่างไม่อาจประมาณได้

    ๕. พูดถูกกาลเทศะ แม้ใช้คำพูดที่ดี เป็นคำจริง เป็นคำสุภาพ เป็นคำพูดที่มีประโยชน์ และพูดด้วยจิตที่เมตตา แต่ถ้าผิดจังหวะ ไม่ถูกกาลเทศะ ผู้ฟังยังไม่พร้อมที่จะรับแล้ว จะก่อให้เกิดผลเสียได้ เช่น จะกลายเป็นประจาน หรือจับผิดกันไป

    - พูดถูกเวลา (กาล) คือรู้ว่าเวลาไหนควรพูด เวลาไหนยังไม่ควรพูด ควรพูดนานเท่าไร ต้องคาดผลที่จะเกิดขึ้นไว้ด้วย

    - พูดถูกสถานที่ (เทศะ) คือรู้ว่าในสถานที่เช่นไร เหตุการณ์แวดล้อม เช่นไรจึงสมควรที่จะพูด หากพูดออกไปแล้วจะมีผลดีหรือผลเสียอย่างไร

    เช่น มีความหวังดีอยากเตือนเพื่อนไม่ให้ดื่มเหล้า แต่ไปเตือนขณะเพื่อนกำลังเมาอยู่ในหมู่เพื่อนฝูง ทำให้เขาเสียหน้า อย่างนี้นอกจากเขาจะไม่ฟังแล้ว เราเองอาจเจ็บตัวได้

    “คนฉลาดไม่ใช่เป็นแต่พูดเท่านั้น ต้องนิ่งเป็นด้วย คนที่พูดเป็นนั้นต้องรู้ในสิ่งที่ไม่ควรพูด ให้ยิ่งกว่าสิ่งที่ควรพูด”

    ลั ก ษ ณ ะ ข อ ง ทู ต ที่ ดี ( ทู ต สั น ติ )

    ๑. ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ไม่ด่วนปฏิเสธ

    ๒. เมื่อถึงคราวพูดก็สามารถทำให้ผู้อื่นฟัง

    ๓. รู้จักกำหนดขอบเขตของการพูดให้กะทัดรัด

    ๔. จำเนื้อความทั้งหมดที่จะพูด

    ๕. เข้าใจเนื้อความทั้งหมดโดยละเอียดตามความเป็นจริง

    ๖. ทำให้ผู้อื่นเข้าใจตามได้

    ๗. ฉลาดในการพูดที่เป็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์

    ๘. ไม่พูดชวนให้เกิดการทะเลาะวิวาท

    “ผู้ใดเข้าไปสู่บริษัทที่พูดคำหยาบคาย ก็ไม่สะทกสะท้าน ไม่ยังคำพูดให้เสีย ไม่ปกปิดข่าวสาร พูดจนหมดความสงสัย และเมื่อถูกถามก็ไม่โกรธ ผู้นั้นย่อมควรทำหน้าที่ทูต” วิ.จุลฺล.๗/๔๐๐/๒๐๑

    โ ท ษ ข อ ง ก า ร ด่ า บ ริ ภ า ษ เ พื่ อ น พ ร ห ม จ ร ร ย์

    ผู้ด่าบริภาษเพื่อนพรหมจรรย์ คือพระสงฆ์และผู้ปฏิบัติธรรม ติเตียนพระอริยเจ้า จะประสบความฉิบหาย ๑๑ ประการ ต่อไปนี้

    ๑. ไม่บรรลุธรรมที่ตนยังไม่บรรลุ

    ๒. เสื่อมจากธรรมที่บรรลุแล้ว

    ๓. สัทธรรมของพระภิกษุนั้นย่อมไม่ผ่องแผ้ว

    ๔. เป็นผู้หลงเข้าใจว่าได้บรรลุสัทธรรม

    ๕. เป็นผู้ไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์

    ๖. ต้องอาบัติเศร้าหมองอย่างใดอย่างหนึ่ง

    ๗. บอกลาสิกขา คือสึกไปเป็นฆราวาส

    ๘. เป็นโรคอย่างหนัก

    ๙. ย่อมถึงความเป็นบ้า คือความฟุ้งซ่านแห่งจิต

    ๑๐. เป็นผู้หลงทำกาละ คือตายอย่างขาดสติ

    ๑๑. เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

    ถ้ อ ย คำ ที่ ไ ม่ ค ว ร เ ชื่ อ ถื อ

    ๑. คำกล่าวพรรณนาคุณ ศรัทธา ของบุคคลผู้ไม่มีศรัทธา

    ๒. คำกล่าวพรรณนาคุณ ศีล ของบุคคลผู้ทุศีล

    ๓. คำกล่าวพรรณนาคุณ พาหุสัจจะ ของบุคคลผู้ไม่สดับ

    ๔. คำกล่าวพรรณนาคุณ จาคะ ของบุคคลผู้ตระหนี่

    ๕. คำกล่าวพรรณนาคุณ ปัญญา ของบุคคลผู้โง่

    ทั้ง ๕ ประการ จัดเป็นคำซึ่งไม่ควรฟัง ไม่ควรเชื่อถือ

    ลั ก ษ ณ ะ เ สี ย ง ที่ ส ม บู ร ณ์ ข อ ง ม ห า บุ รุ ษ

    คนที่มีวาจาสุภาษิตมาข้ามภพข้ามชาติ จะมีลักษณะเสียงที่สมบูรณ์ของมหาบุรุษ ซึ่งมีลักษณะดังนี้คือ

    ๑. แจ่มใส ไม่แหบเครือ

    ๒. ชัดเจน ชัดถ้อยชัดคำ ไม่ติดขัด

    ๓. ไพเราะ อ่อนหวาน

    ๔. เสนาะโสต

    ๕. กลมกล่อม

    ๖. ไม่แตก ไม่พร่า

    ๗. ซึ้ง

    ๘. มีกังวาน

    อ า นิ ส ง ส์ ก า ร มี ว า จ า สุ ภ า ษิ ต

    ๑. เป็นคนมีเสน่ห์ เป็นที่รักของชนทุกชั้น

    ๒. มีความเจริญก้าวหน้าทั้งทางโลกและทางธรรม

    ๓. มีวาจาสิทธิ์ ได้รับความสำเร็จในสิ่งที่เจรจา

    ๔. ย่อมได้ยินได้ฟังแต่สิ่งที่ดีงาม

    ๕. ไม่ตกไปในอบายภูมิ ฯลฯ

    “วาจาสุภาษิต ไม่ว่าจะพูดด้วยสำเนียงภาษาอย่างไรก็ตาม วาจานั้นย่อมเป็นวาจาชั้นสูง ควรแก่การสรรเสริญของบัณฑิต ตรงกันข้าม วาจาทุพภาษิต แม้จะพูดด้วยภาษาใดสำเนียงดีแค่ไหน บัณฑิตก็ไม่สรรเสริญ”

    จบมงคลที่ ๑๐ มีวาจาสุภาษิต
     
  12. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    รวมธรรมะครูบาอาจารย์ ตอน มงคลที่ ๑๑ บำรุงบิดามารดา
    18620128_10213178426444936_2394805641862651905_n.jpg
    “ต้นไม้ที่ได้รับการดูแลให้น้ำให้ปุ๋ย ไปบำรุงลำต้นจนสมบูรณ์
    เมื่อถึงเวลาแล้ว ย่อมออกดอกออกผลให้แก่เจ้าของฉันใด
    คนที่ได้รับการเลี้ยงดูจนเติบใหญ่
    เมื่อมีโอกาสย่อมตอบแทนคุณพ่อแม่และผู้มีอุปการคุณฉันนั้น
    ทองคำแท้หรือไม่ โดนไฟก็รู้
    คนดีแท้หรือไม่ ให้ดูตรงที่เลี้ยงพ่อแม่
    ถ้าดีจริงต้องเลี้ยงพ่อแม่ ถ้าไม่เลี้ยงแสดงว่าดีไม่จริง
    เป็นพวกทองชุบทองเก๊”

    พ ร ะ คุ ณ ข อ ง พ่ อ แ ม่

    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสอุปมาว่า ถ้าบุตรจะพึงวางบิดามารดาไว้บนบ่าทั้งสองของตน ประคับประคองท่านอยู่บนบ่านั้น ป้อนข้าวป้อนน้ำและให้ท่านถ่ายอุจจาระปัสสาวะบนบ่านั้นเสร็จ แม้บุตรจะมีอายุถึง ๑๐๐ ปี และปรนนิบัติท่านไปจนตลอดชีวิต ก็ยังนับว่าตอบแทนพระคุณท่านไม่หมด

    ยังมีผู้อุปมาไว้ว่า หากเราใช้ท้องฟ้าแทนกระดาษ ยอดเขาพระสุเมรุ แทนปากกา น้ำในมหาสมุทรแทนหมึก เขียนบรรยายคุณของพ่อแม่ จนท้องฟ้าเต็มไปด้วยอักษร ภูเขาสึกกร่อนจนหมด น้ำในมหาสมุทรเหือดแห้ง ก็ยังบรรยายคุณของพ่อแม่ไม่หมด

    บิดามารดาเป็นผู้มีพระคุณอันยิ่งใหญ่ของบุตร สรุปโดยย่อคือ

    ๑. เป็นต้นแบบทางกาย แบบเป็นสิ่งที่จำเป็นในการทำให้ของทั้งหลาย ในโลกมีค่าสูงขึ้น ตัวอย่างเช่น ก้อนดินเหนียวธรรมดา ถ้าหากนำมาใส่แบบพิมพ์แล้วพิมพ์เป็นตุ๊กตา ก็ทำให้ดินก้อนนั้นมีค่าขึ้นมา เป็นเครื่องประดับบ้านเรือนได้ ดินเหนียวก้อนเดียวกันนี้ หากได้แบบที่ดีกว่าขึ้นมาอีก เช่นแบบเป็นพระพุทธรูป ดินเหนียวก้อนนี้ก็จะทรงคุณค่ามากยิ่งขึ้น ผู้คนได้กราบไหว้บูชา จะเห็นได้ว่า คุณค่าของดินเหนียวก้อนนี้ขึ้นอยู่กับแบบที่พิมพ์นั่นเอง

    ในทำนองเดียวกัน การเกิดของสัตว์ เช่นเป็น ช้าง ม้า วัว ควาย ฯลฯ แม้จะมีปัญญาติดตัวมามากสักปานใด ก็ไม่สามารถทำความดีได้เต็มที่ โชคดีที่เราได้เกิดเป็นคน ได้โครงร่างที่ประเสริฐกว่าสัตว์ทั้งหลาย เหมาะในการทำ ความดีทุกประการ เราจึงสามารถใช้ความรู้ความสามารถประกอบคุณความดีได้เต็มที่ ทั้งนี้ก็เพราะเรามีพ่อแม่เป็นต้นแบบทางกายให้นั่นเอง

    ๒. เป็นต้นแบบทางใจ ให้ความอุปการะเลี้ยงดู ฟูมฟัก ทะนุถนอม อบรมสั่งสอน ปลูกฝังกิริยามารยาท ให้ความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมแก่ลูก พระคุณของพ่อแม่ในการเป็นต้นแบบทางกายให้เรา ก็นับว่ามีมากเหลือหลายแล้ว ยิ่งท่านอบรมเลี้ยงดูเรามา เป็นต้นแบบทางใจให้ด้วย ก็ยิ่งมีพระคุณมากเป็นอเนกอนันต์

    ส ม ญ า น า ม ข อ ง พ่ อ แ ม่

    สมญานามของพ่อแม่นั้น กล่าวกันว่าท่านเป็นทั้งพรหมของลูก เทวดาคนแรกของลูก ครูคนแรกของลูก และเป็นพระอรหันต์ของลูก ซึ่งอธิบายได้ดังนี้

    - พ่อแม่เป็นพรหมของลูก เพราะเหตุที่มีพรหมวิหารธรรม ๔ ประการ ได้แก่

    ๑. มีเมตตา คือมีความปรารถนาดีต่อลูกไม่มีที่สิ้นสุด

    ๒. มีกรุณา คือหวั่นใจในความทุกข์ของลูก และคอยช่วยเหลือเสมอ ไม่ทอดทิ้ง

    ๓. มีมุทิตา คือเมื่อลูกมีความสุขสบาย ก็มีความปลาบปลื้มยินดีด้วยความจริงใจ

    ๔. มีอุเบกขา คือเมื่อลูกมีครอบครัวสามารถเลี้ยงตนเองได้แล้ว ก็ไม่วุ่นวายกับชีวิตครอบครัวลูกจนเกินงาม และหากลูกผิดพลาดก็ไม่ซ้ำเติม แต่กลับคอยเป็นที่ปรึกษาให้เมื่อลูกต้องการ

    - พ่อแม่เป็นเทวดาคนแรก (บุรพเทพ) ของลูก เพราะคอยปกป้องคุ้มกันภัย เลี้ยงดูลูกมาก่อนผู้มีความปรารถนาดีคนอื่นๆ

    - พ่อแม่เป็นครูคนแรกของลูก เพราะสั่งสอนอบรมทั้งคำพูดและกิริยามารยาทให้ลูกก่อนคนอื่นๆ

    - พ่อแม่เป็นวิสุทธิเทพของลูก เพราะมีคุณธรรม ๔ ประการ ได้แก่

    ๑. ไม่ถือสาในความผิดของลูก แม้ว่าบางครั้งลูกจะพลาดพลั้ง ล่วงเกิน ก็ให้อภัยเสมอ

    ๒. ปรารถนาประโยชน์แก่ลูกเสมอ ไม่ว่าลูกจะเป็นอย่างไร ก็ยังคงปรารถนาให้ลูกได้ดี มีความสุข

    ๓. เป็นทักขิเณยยบุคคล เป็นเนื้อนาบุญของลูก เป็นผู้ที่ลูกควรทำบุญต่อตัวท่าน

    ๔. เป็นอาหุเนยยบุคคล เป็นผู้ควรแก่การรับของคำนับ และการนมัสการของลูก

    คุ ณ ธ ร ร ม ข อ ง ลู ก

    เมื่อพ่อแม่มีพระคุณมากมายปานนี้ ลูกจึงควรมีคุณธรรมต่อท่าน คุณธรรมของลูก เริ่มที่รู้จักคุณพ่อแม่ คือรู้ว่าท่านดีต่อเราอย่างไร สูงขึ้นไปอีก คือตอบแทนคุณท่าน ในทางพระพุทธศาสนาได้บรรยายคุณธรรมของลูกไว้อย่างสั้นๆ แต่เก็บความไว้ได้อย่างครบถ้วน คือคำว่า กตัญญู กตเวที คุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นลูกรวมอยู่ใน ๒ คำนี้

    กตัญญู หมายถึง เห็นคุณค่าท่าน คือเห็นด้วยใจ ด้วยปัญญาว่า ท่านเป็นผู้มีพระคุณต่อเราอย่างแท้จริง ไม่ใช่สักแต่ว่าปากท่องพระคุณพ่อแม่ปาวๆ ไปเท่านั้น

    คุณของพ่อแม่ดูได้จากอุปการะ คือประโยชน์ที่ท่านทำแก่เรามีอะไรบ้าง ที่แตกต่างจากคนอื่น ตามธรรมดาของคนทั่วๆ ไป เมื่อจะอุปการะใคร เขาต้องเห็นทางได้ เช่น เห็นหลักทรัพย์ หรือดูนิสัยใจคอ ต่อเมื่อแน่ใจแล้วว่า อุปการคุณของเขาจะไม่สูญเปล่า จึงลงมือช่วยเหลือ แต่ที่พ่อแม่อุปการะเรานั้นเป็นการอุปการะโดยบริสุทธิ์ใจจริงๆ ไม่ได้มองถึงหลักประกันใดๆ เลย

    เราเองก็เกิดมาตัวเปล่า ไม่มีหลักทรัพย์แม้แต่เข็มเล่มเดียว ยังไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่า อวัยวะร่างกายจะใช้ได้ครบถ้วนหรือไม่ ยิ่งนิสัยใจคอแล้ว ยิ่งรู้ไม่ได้เอาทีเดียว โตขึ้นมาจะเป็นอย่างไร จะเป็นคนอกตัญญูหรือไม่ ไม่รู้ทั้งนั้น หนังสือสัญญาการรับปากสักคำเดียว ระหว่างเรากับท่านก็ไม่มี แต่ทั้งๆ ที่ไม่มี ท่านทั้งสองก็ได้โถมตัวเข้าช่วยเหลือเราจนสุดชีวิต ที่ยากจนก็ถึงกับกู้หนี้ยืมสินคนอื่นมาช่วย เรื่องเหล่านี้ ต้องคิดดูด้วยเหตุผล อย่าสักแต่คิดด้วยอารมณ์เท่านั้น การพิจารณาให้เห็นคุณของพ่อแม่ด้วยใจอย่างนี้แหละ เรียกว่า กตัญญู เป็นคุณธรรมเบื้องต้นของผู้เป็นลูก ยิ่งพิจารณาเห็นคุณท่านมากเท่าไร แสดงว่าใจของเราเริ่มใส และสว่างมากขึ้นเท่านั้น

    กตเวที หมายถึง การทดแทนพระคุณของท่าน ซึ่งมีงานที่ต้องทำ ๒ ประการ คือ

    ๑. ประกาศคุณท่าน
    ๒. ตอบแทนคุณท่าน

    การประกาศคุณท่าน หมายถึง การทำให้ผู้อื่นรู้ว่าพ่อแม่มีคุณแก่เราอย่างไรบ้าง มากน้อยเพียงใด เรื่องนี้มีคนคิดทำอยู่มากเหมือนกัน แต่ส่วนมาก ไปทำตอนงานศพ คือเขียนประวัติสรรเสริญคุณพ่อแม่ในหนังสือแจก การกระทำเช่นนี้ก็ถูก แต่ถูกเพียงเปลือกนอกผิวเผินนัก ถ้าเป็นการกินผลไม้ ก็แค่เคี้ยวเปลือกเท่านั้น ยังมีทำเลที่จะประกาศคุณพ่อแม่ที่สำคัญกว่านี้ คือที่ตัวเรานี่เอง

    คนเราทุกคนคือตัวแทนของพ่อแม่ตนทั้งนั้น เลือดก็แบ่งมาจากท่าน เนื้อก็แบ่งมาจากท่าน ตลอดจนนิสัยใจคอก็ได้รับการอบรมถ่ายทอดมาจากท่าน ความประพฤติของตัวเรานี่แหละ จะเป็นเครื่องประกาศคุณพ่อแม่อย่างชัดแจ้งที่สุด ไม่ใช่อยู่ที่หนังสือแจก ไม่ใช่อยู่ที่หีบศพบนเชิงตะกอน แต่อยู่ที่ตัวเรานี่เอง หากพิมพ์ข้อความไว้ในหนังสือแจกว่า คุณพ่อคุณแม่เป็นคนตั้งอยู่ในศีลในธรรม แต่ตัวเราเองประพฤติสำมะเลเทเมา คอร์รัปชั่นทุกครั้งที่มีโอกาส ศีลข้อเดียวก็ไม่สนใจรักษาก็ผิดที่ไป สดุดีคุณพ่อแม่ว่าเป็นคนดี สุภาพเรียบร้อย แต่ตัวเราผู้เป็นลูกกลับประพฤติตัวเป็นนักเลงอันธพาล อย่างนี้คุณค่าของการสรรเสริญพ่อแม่ก็ลดน้ำหนักลง กลายเป็นว่ามอบหน้าที่ในการกตเวทีประกาศคุณพ่อแม่ ให้หนังสือทำแทน ให้กระดาษ ให้เครื่องพิมพ์ ให้ช่างเรียงพิมพ์ แสดงกตเวทีแทน แล้วตัวเรากลับประจานพ่อแม่ของตัวเอง อย่างน้อยที่สุดก็ประจานแก่ ชาวบ้านว่า พ่อแม่ของเราเลี้ยงลูกได้ไม่ดี

    พ่อแม่ของใครใครก็รัก เมื่อรักท่านก็จงประกาศคุณความดีของท่านสิ ประกาศด้วยความดีของตัวเราเอง ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ยิ่งท่านยังมีชีวิตอยู่ การประกาศคุณของเราจะทำให้ท่านมีความสุขใจอย่างยิ่ง ส่วนใครจะประพันธ์สรรเสริญคุณพ่อแม่ พิมพ์แจกเวลาท่านตายแล้ว นั่นเป็นประเด็นเบ็ดเตล็ด จะทำก็ได้ ไม่ทำก็ไม่เสียหายอะไร

    ไม่ว่าเราจะตั้งใจประกาศคุณท่านหรือไม่ ความประพฤติของเราก็เป็นตัวประกาศคุณท่าน หรือประจานท่านอยู่ตลอดเวลา คิดเอาเองก็แล้วกันว่า เราจะประกาศคุณพ่อแม่ของเรา ด้วยเกียรติยศชื่อเสียง หรือจะใจดำ ถึงกับประจานผู้บังเกิดเกล้า ด้วยการทำตัวเป็นพาลเกเรและประพฤติต่ำทราม

    การตอบแทนคุณท่าน แบ่งเป็น ๒ ช่วง คือ

    ๑. เมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ ก็ช่วยเหลือกิจการงานของท่าน เลี้ยงดูท่านตอบเมื่อยามท่านชรา ดูแลปรนนิบัติการกินอยู่ของท่าน ให้สะดวกสบายและเอาใจใส่ช่วยเหลือ เมื่อท่านเจ็บป่วย

    ๒. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ก็จัดพิธีศพให้ท่าน และทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ท่านอย่างสม่ำเสมอ

    แม้ว่าเราจะตอบแทนพระคุณท่านถึงเพียงนี้แล้ว ยังนับว่าเล็กน้อยมาก เมื่อเทียบกับพระคุณอันยิ่งใหญ่ ที่ท่านมีต่อเรา ผู้ที่มีความกตัญญูกตเวทีต้องการจะสนองพระคุณท่าน ให้ได้ทั้งหมด พึงกระทำดังนี้

    ๑. ถ้าท่านยังไม่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ก็พยายามชักนำให้ท่านตั้งอยู่ในศรัทธาให้ได้

    ๒. ถ้าท่านยังไม่ถึงพร้อมด้วยการให้ทาน ก็พยายามชักนำให้ท่านยินดีในการบำเพ็ญทานให้ได้

    ๓. ถ้าท่านยังไม่มีศีล ก็พยายามชักนำให้ท่านรักษาศีลให้ได้

    ๔. ถ้าท่านยังไม่ทำสมาธิภาวนา ก็พยายามชักนำให้ท่านทำสมาธิภาวนาให้ได้

    เพราะว่าการตั้งอยู่ในศรัทธา การให้ทาน การรักษาศีล การทำสมาธิภาวนาเป็นประโยชน์โดยตรง และเป็นประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่ตัวบิดามารดาผู้ปฏิบัติ เองทั้งในภพนี้ภพหน้า และเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง คือเป็นหนทางไปสู่นิพพาน

    อ า นิ ส ง ส์ ก า ร บ ำ รุ ง บิ ด า ม า ร ด า

    ๑. ทำให้เป็นคนมีความอดทน

    ๒. ทำให้เป็นคนมีสติรอบคอบ

    ๓. ทำให้เป็นคนมีเหตุผล

    ๔. ทำให้พ้นทุกข์พ้นภัย

    ๕. ทำให้ได้ลาภโดยง่าย

    ๖. ทำให้แคล้วคลาดภัยในยามคับขัน

    ๗. ทำให้เทวดาลงรักษา

    ๘. ทำให้ได้รับการยกย่องสรรเสริญ

    ๙. ทำให้มีความเจริญก้าวหน้า

    ๑๐. ถ้ามีลูกก็จะได้ลูกที่ดี

    ๑๑. ทำให้มีความสุข

    ๑๒. ทำให้เป็นแบบอย่างอันดีแก่อนุชนรุ่นหลัง ฯลฯ

    “เพราะการปรนนิบัติในมารดาบิดานั้นแล บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญเขาในโลกนี้นี่เอง เขาละโลกไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์” ขุ.ชา.สตฺตติ.๒๘/๑๖๒/๖๗

    จบมงคลที่ ๑๑ บำรุงบิดามารดา
     
  13. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    รวมธรรมะครูบาอาจารย์ ตอน มงคลที่ ๑๒ เลี้ยงดูบุตร
    18664370_10213178440085277_1637051799505924015_n.jpg
    “ต้นไม้ถ้าลูกมันรสไม่ดี ก็มีแต่คนจะโค่นต้นทิ้ง
    ไม่มีใครคิดจะบำรุงรักษาไว้ ตรงข้ามถ้าลูกมันรสดี ทั้งหวานทั้งมัน
    เจ้าของก็อยากใส่ปุ๋ยรดน้ำพรวนดิน ทะนุถนอมให้คงต้นอยู่นานๆ
    ต้นไม้จะอายุยืนได้รับการบำรุงรักษาดีเพียงไร ขึ้นอยู่กับลูกของมัน
    คนเราก็เช่นกัน ถ้าลูกทำดี คนทั้งหลายก็ชมมาถึงพ่อแม่ว่าเลี้ยงลูกดี
    ความสุขกายสบายใจก็ติดตามมาเพราะลูก
    บุญกุศลความดีก็ไหลมาเพราะลูก แต่ถ้าลูกทำชั่วช้าเลวทราม
    คนทั้งหลายก็แช่งด่ามาถึงพ่อแม่ด้วยเหมือนกัน
    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชี้ว่า สิริมงคลของคนที่เป็นพ่อแม่อยู่ที่ลูก
    และในทางตรงข้าม ถ้าไม่ป้องกันแก้ไขให้ดีแล้ว
    อัปมงคลก็จะมาจากลูกนั่นเหมือนกัน”

    ทำ ไ ม จึ ง ต้ อ ง เ ลี้ ย ง ดู บุ ต ร ?

    วันหนึ่งเราต้องแก่และตาย สิ่งที่อยากได้กันทุกคน คือความปีติ ความปลื้มใจไว้หล่อเลี้ยงใจให้สดชื่น ความปลื้มปีติจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อได้เห็นผลแห่งความดี หรือผลงานดีๆ ที่เราทำไว้ ยิ่งผลงานดีมากเท่าไร ยิ่งชื่นใจมากเท่านั้น แล้วอายุจะยืนยาว สุขภาพจะแข็งแรง

    สุดยอดผลงานของนักปฏิบัติธรรม คือการกำจัดกิเลสในตัวให้หมด

    สุดยอดผลงานของชาวโลก คือการมีลูกหลานเป็นคนดีไว้สืบสกุล

    ถ้าลูกหลานเป็นคนเลว มันช้ำใจยิ่งกว่าถูกใครจับใส่ครกโขลกเสียอีก

    เลี้ยงสุนัขแล้วกัดสู้สุนัขคนอื่นไม่ได้ยังเจ็บใจ

    เลี้ยงลูกแล้วดีสู้ลูกคนอื่นไม่ได้จะช้ำใจสักแค่ไหน

    ค ว า ม ห วั ง ข อ ง พ่ อ แ ม่

    ๑. บุตรที่เราเลี้ยงมาแล้วจักเลี้ยงตอบแทน

    ๒. บุตรที่เราเลี้ยงมาแล้วจักทำกิจแทนเรา

    ๓. วงศ์สกุลของเราจักดำรงอยู่ได้นาน

    ๔. บุตรจักปกครองทรัพย์มรดกแทนเรา

    ๕. เมื่อเราละโลกไปแล้ว บุตรจักบำเพ็ญทักษิณาทานให้

    เพราะปรารถนาฐานะ ๕ ประการนี้ บิดามารดาจึงอยากได้บุตร

    บุ ต ร แ ป ล ว่ า อ ะ ไ ร ?

    บุตร มาจากคำว่า ปุตฺต แปลว่า ลูก มีความหมาย ๒ ประการ คือ

    - ผู้ทำสกุลให้บริสุทธิ์
    - ผู้ยังหทัยของพ่อแม่ให้เต็มอิ่ม

    ป ร ะ เ ภ ท ข อ ง บุ ต ร

    ประเภทของบุตร แบ่งโดยความดีในตัวได้เป็น ๓ ชั้น ดังนี้

    ๑. อภิชาตบุตร คือบุตรที่ดีมีคุณธรรมสูงกว่าบิดามารดา เป็นบุตรชั้นสูง สร้างความเจริญแก่วงศ์ตระกูล

    ๒. อนุชาตบุตร คือบุตรที่มีคุณธรรมเสมอบิดามารดา เป็นบุตรชั้นกลาง พอรักษาวงศ์ตระกูลไว้ได้

    ๓. อวชาตบุตร คือบุตรที่เลวมีคุณธรรมต่ำกว่าพ่อแม่ เป็นบุตรชั้นต่ำ นำความเสื่อมเสียมาสู่วงศ์ตระกูล

    อ ง ค์ ป ร ะ ก อ บ ใ ห้ ไ ด้ ลู ก ดี

    ๑. ตนเองต้องเป็นคนดี ทำบุญมาดีจึงได้ลูกดี เหมือนต้นไม้พันธุ์ดีก็ย่อมมีลูกพันธุ์ดี เด็กที่เกิดในท้องแม่ จะมีคุณธรรมในใจที่ติดตัวมา ในระดับใกล้เคียงกับของพ่อแม่ ในขณะที่เด็กมาเกิด ดังนั้นพ่อแม่ที่ต้องการได้ลูกดี ก็ต้องขวนขวายสร้างความดีไว้มากๆ ยิ่งพ่อแม่สร้างบุญมากเท่าไร โอกาสที่จะได้ลูกดีก็มากเท่านั้น

    ๒. การเลี้ยงดูอบรมดี ซึ่งจะกล่าวรายละเอียดต่อไป

    วิ ธี เ ลี้ ย ง ดู ลู ก

    การเลี้ยงดูลูกมีอยู่ ๒ ทาง คือการเลี้ยงดูลูกทางโลกและการเลี้ยงดูลูกทางธรรม ซึ่งพ่อแม่ควรจะเลี้ยงดูลูกให้พร้อมบริบูรณ์ทั้ง ๒ ทาง

    วิ ธี เ ลี้ ย ง ดู ลู ก ท า ง โ ล ก

    ๑. กันลูกออกจากความชั่ว กัน หมายถึง ป้องกัน กีดกัน คือไม่เพียงแต่ห้าม หากต้องดำเนินการทุกวิถีทาง ที่จะไม่ให้ลูกตกไปสู่ความชั่ว ซึ่งบางครั้งพ่อแม่กับลูกก็พูดกันไม่เข้าใจ สาเหตุของความไม่เข้าใจกันนั้น มักจะเกิดจากการขัดกันอยู่ ๓ ประการ คือ

    - ความเห็นขัดกัน
    - ความต้องการขัดกัน
    - กิเลส

    ความเห็นขัดกัน คือของสิ่งเดียวกันแต่เห็นกันคนละทาง มองกันคนละแง่ เช่น การเที่ยวเตร่ เด็กวัยรุ่นมักจะเห็นว่าดี เป็นการเข้าสังคม ทำให้กว้างขวางทันสมัย แต่ผู้เป็นพ่อแม่กลับเห็นว่า การเที่ยวเตร่หามรุ่งหามค่ำนั้น มีผลเสียหายหลายประการ เช่น อาจเสียการเรียน อาจประสบภัย อาจใจแตก เพราะถูกเพื่อนชักจูงไปให้เสีย ครั้นห้ามเข้าลูกก็ไม่พอใจ หาว่าพ่อแม่หัวเก่าล้าสมัย

    เรื่องนี้ถ้าจะพูดด้วยความเป็นธรรมแล้ว ลูกควรจะรับฟังความเห็นของ พ่อแม่ด้วยเหตุผลง่ายๆ ๒ ประการ คือพ่อแม่ทุกคนหวังดีต่อลูก ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ และพ่อแม่ย่อมมีประสบการณ์รู้ทีได้ทีเสียมามากกว่า เราแน่ใจหรือว่า ความรักของเพื่อนตั้งร้อย ที่ล้อมหน้าล้อมหลังอยู่นั้น รวมกันทั้งหมดแล้วจะมากและบริสุทธิ์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เหมือนความรักในดวงใจของพ่อแม่ คนเราทุกคนเคยเห็นผิดเป็นชอบมาก่อน เมื่อยังเป็นเด็กอมมืออยู่นั้น เราเคยเห็นว่าลูกโป่งอัดลมใบเดียว มีค่ามากกว่าธนบัตรใบละร้อยใช่ไหม ? จิตใจที่อยู่ในวัยเยาว์ ก็ย่อมเยาว์ตามไปด้วย ดังนั้นเชื่อฟังคำว่ากล่าวตักเตือนของพ่อแม่ไว้เถิด ไม่เสียหลาย ส่วนพ่อแม่เอง เมื่อจะห้ามหรือบอกให้ลูกทำอะไร ก็ควรบอกเหตุผลด้วย อย่าใช้แต่อารมณ์

    ความต้องการขัดกัน คือคนต่างวัยก็มีรสนิยมต่างกัน ความสุขของคนแก่คือชอบสงบ หาเวลาพักผ่อนอยู่กับบ้าน แต่ความสุขของเด็กหนุ่มสาวมักอยู่ที่ได้แต่งตัวสวยๆ ไปเที่ยวเตร่นอกบ้าน ข้อนี้ขัดแย้งกันแน่ ลูกกับพ่อแม่จึงต้องเอาใจมาพบกันที่ความรัก ตกลงกันที่มุมรักระหว่างพ่อแม่กับลูก รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาวตามสมควร การเลี้ยงลูกที่กำลังโตเป็นหนุ่มเป็นสาวนั้น เหมือนการเล่นว่าวโต้ลม ผ่อนไปนิด ดึงกลับมาหน่อย จึงจะเป็นผลดี

    กิเลส ถ้าทั้ง ๒ ฝ่าย มีความโกรธ มีทิฏฐิ ดื้อดึง ดื้อด้าน หลงตัวเอง หรือมีกิเลสอื่นๆ ครอบงำอยู่แล้ว ก็ยากที่จะพูดกันให้เข้าใจ ต้องทำใจให้สงบและ พูดกันด้วยใจที่เป็นธรรม ด้วยเหตุด้วยผล พ่อแม่ต้องฝึกตน ให้เป็นคนมีคุณธรรม และสอนลูกให้เป็นคนดีมีเหตุผล ตั้งแต่ยังเล็ก ปัญหาข้อนี้ก็จะเบาบางลง

    ๒. ปลูกฝังลูกในทางดี หมายถึง ให้ลูกประพฤติดีมีศีลธรรม พ่อแม่ต้องพยายามเล็งเข้าหาใจของลูก เพราะใจเป็นตัวควบคุมการกระทำของคน ที่ว่าเลี้ยงลูกให้ดี คือทำใจของลูกให้ดีนั่นเอง

    สิ่งของนั้นมีอยู่ ๒ ประเภท คือของกินกับของใช้ สำหรับของกิน ทุกคนต้องกินเหมือนกันหมด เพื่อให้ร่างกายเติบโต คงชีวิตอยู่ได้ ส่วนของใช้นั้นต่าง คนต่างมีตามความจำเป็น เช่น ชาวนาก็ต้องมีจอบมีไถ เสมียนก็ต้องมีปากกา

    สมบัติทางใจก็มี ๒ ประการ เหมือนกัน

    - ธรรมะ เป็นอาหารใจ
    - วิชาความรู้ เป็นเครื่องมือของใจ

    ตามธรรมดาร่างกายคน ถ้าขาดอาหารแล้วก็จะเสียกำลัง ใจคนก็ เหมือนกัน ต้องมีธรรมะให้พอเพียง อาหารทางกายกินแทนกันไม่ได้ ไม่เหมือนของใช้ มีดเล่มเดียวใช้กันได้ทั้งบ้าน เรื่องของใจก็เหมือนกัน ใจทุกดวงต้องกินอาหารเอง คือทุกคนต้องมีธรรมะไว้ในใจตนเอง จะถือว่าใจพ่อแม่มีธรรมะแล้ว ใจลูกไม่ต้องมีไม่ได้ ส่วนวิชาความรู้เปรียบเสมือนของใช้ ใครจะใช้ความรู้ทางไหนก็หาความรู้เฉพาะทางนั้น ขาดเหลือไปบ้างยังพออาศัยผู้อื่นได้ ใจที่ขาดธรรมะเหมือนร่างกายที่ขาดอาหาร ใจที่ขาดวิชาความรู้ เหมือนคนที่ขาดเครื่องมือทำงาน

    พ่อแม่ต้องปลูกใจลูกให้มีทั้ง ๒ อย่าง จึงจะเป็นการปลูกฝังลูกในทางดี ซึ่งทำได้โดย

    ๒.๑ กระทำตนเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูก

    ๒.๒ เลือกคนดีให้ลูกคบ

    ๒.๓ หาหนังสือดีให้ลูกอ่าน

    ๒.๔ พาลูกไปหาบัณฑิต เช่น พระภิกษุ ครูบาอาจารย์ที่ดี

    ๓. ให้ลูกได้รับการศึกษา ภารกิจข้อนี้ความชัดอยู่แล้ว คือให้ลูกได้เล่าเรียน เพื่อให้มีความรู้สามารถช่วยตัวเองต่อไปได้

    พ่อแม่สมัยนี้ควรจะติดตามดูแลลูกอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ควรติดต่อกับทางโรงเรียนอยู่เสมอ ขอทราบเวลาเรียน ผลการเรียน รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เด็กอ้างว่าทางโรงเรียนเรียกร้องด้วย พ่อแม่ที่มีลูกไปเรียนไกลบ้าน ต่างจังหวัด และขาดผู้ดูแลที่ไว้วางใจได้ ควรจะเป็นห่วงลูกให้มาก หากไม่จำเป็นจริงๆ ไม่ควรให้เด็กอยู่หอพัก เว้นแต่จะเชื่อใจเด็กได้ และต้องหาหอพักที่มีระเบียบข้อบังคับเคร่งครัดด้วย

    ๔. จัดแจงให้ลูกแต่งงานกับคนดี ความหมายในทางปฏิบัติมีอยู่ ๒ ขั้นตอน คือ

    ๔.๑ พ่อแม่ต้องเป็นธุระในการแต่งงานของลูก ให้คำแนะนำและช่วยเหลือ

    ๔.๒ พ่อแม่ต้องพยายามให้ลูกได้คู่ครองที่ดี

    ในข้อที่ ๒ อาจมีความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่กับลูกอยู่ไม่น้อย คล้ายกับการกันลูกจากความชั่ว แต่การขัดแย้งกันในเรื่องคู่ครอง มักจะแรงกว่า ควรจะทำความเข้าใจกันให้ดี ปัญหาสำคัญมีอยู่ ๒ ข้อ คือ

    ๔.๒.๑ พ่อแม่แทรกแซงความรักของลูก มีผลดีหรือเสียอย่างไร

    ๔.๒.๒ ใครควรเป็นผู้ตัดสินการแต่งงานของลูก

    ปัญหาข้อแรก ถ้าคิดดูโดยละเอียดถี่ถ้วนแล้ว จะเห็นว่าผลดีมีมากกว่าผลเสีย จะมีผลเสียอยู่เฉพาะ ในรายที่พ่อแม่ขาดจิตวิทยา และชอบทำอะไรเกินกว่าเหตุเท่านั้น แต่การร่วมมือกันเป็นของดีแน่ ความจำเป็นอยู่ที่ว่า ลูกยังอยู่ในวัยเยาว์ รู้จักโลกน้อย มองโลกในแง่ดีเกินไป อาจตัดสินใจผิดพลาดได้ และความผิดพลาด ในเรื่องคู่ครองนั้น มีผลมาก แก้ยาก

    ปัญหาข้อที่สอง ใครควรเป็นผู้ที่ตัดสินการแต่งงานของลูก เช่น ควรแต่งงานหรือยัง ? ควรแต่งกับใคร ? ทางที่ดีที่สุด คือปรึกษาหารือและตกลงกัน พ่อแม่ควรเป็นเพียงที่ปรึกษา ไม่เจ้ากี้เจ้าการจนเกินงามต้องให้ลูกได้แต่งงานกับคนที่เขารัก เพราะความรักเป็นมูลฐานของการสมรส ฝ่ายลูกเลือกใคร ก็ต้องให้พ่อแม่เห็นชอบด้วย เพราะการทำให้ท่านสุขใจนั้นเป็นความกตัญญูกตเวทีของเรา และจะเป็นศรีสวัสดิมงคลแก่ครอบครัวสืบไป แต่ถ้าหากเป็นไปเช่นนั้นไม่ได้ พ่อแม่ควรจะถือหลักว่า

    “คนที่เราไม่ชอบแต่ลูกรัก ดีกว่าคนที่เรารักแต่ลูกไม่ชอบ”

    คิดเสียว่าเขาเป็นเนื้อคู่กัน เว้นแต่คนที่ลูกปลงใจรักเป็นคนเลว หลอกลวง จะชักนำลูกเราไปในทางเสีย อย่างนี้ต้องห้าม แม้ว่าลูกจะรักก็ตาม

    ๕. มอบทรัพย์มรดกให้เมื่อถึงกาลอันสมควร เมื่อถึงเวลาควรให้จึงให้ ถ้ายังไม่ถึงเวลาอันควรให้ก็อย่าเพิ่งให้ เช่น ลูกยังเยาว์ยังไม่รู้ค่าของทรัพย์ ก็ควรรอให้เขาเติบโตเสียก่อนจึงให้ ถ้าลูกยังประพฤติชั่ว เช่น หมกมุ่นอยู่ในอบายมุข ก็รอให้เขากลับตัวได้เสียก่อนแล้วจึงให้ ดังนี้เป็นต้น

    การทำธุระเกี่ยวกับทรัพย์มรดกให้เสร็จสิ้นก่อนตาย เป็นการชอบด้วยพุทธประสงค์ วงศ์ตระกูลก็มีความสงบสุขต่อไป รายใดที่พ่อแม่ไม่ทำพินัยกรรมไว้ให้เรียบร้อย ปล่อยให้ลูกๆ จัดการกันเอง ก็มักเกิดเรื่องร้าวฉานขึ้นในวงพี่ๆ น้องๆ จนถึงกับฟ้องร้องขึ้นศาลกันก็มี พี่น้องแตกความสามัคคี ทรัพย์สินก็เสื่อมหายลง เป็นเรื่องที่น่าสลดใจยิ่งนัก

    วิ ธี เ ลี้ ย ง ดู ลู ก ใ น ท า ง ธ ร ร ม

    ๑. พาลูกเข้าวัดเพื่อศึกษาหาความรู้ทางพระพุทธศาสนา

    ๒. ชักนำลูกให้สวดมนต์ก่อนนอนทุกคืน

    ๓. ชักนำให้ลูกทำบุญ เช่น ตักบาตร รักษาศีล เป็นต้น

    ๔. ชักนำให้ลูกทำสมาธิภาวนาร่วมกันเป็นประจำทุกวัน

    ๕. ถ้าลูกเป็นชายให้บวชเป็นสามเณร หรือบวชเป็นพระภิกษุ แล้วเข้าปฏิบัติกรรมฐาน รวมทั้งศึกษาพระปริยัติธรรม

    ข้ อ เ ตื อ น ใ จ

    ๑. รักลูกแต่อย่าโอ๋ลูก อย่าตามใจลูกเกินไป เพราะจะทำให้เด็กเสียนิสัย เหตุที่พ่อแม่ตามใจลูกเกินไป มักเป็นเพราะ

    - รักลูกมากเกินไป รักมากจนไม่กล้าลงโทษสั่งสอน

    - ไม่มีเวลาอบรม รู้สึกเป็นความผิดของตัว ที่ไม่มีเวลาให้ลูกจึงปลอบประโลมตนเองด้วยการตามใจลูก ซึ่งเป็นวิธีแก้ที่ผิด

    ๒. อย่าเคร่งระเบียบจนเกินไป รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว

    ๓. ให้ความอบอุ่นแก่ลูกให้เพียงพอ ไม่ว่างานจะยุ่งมากเพียงไร ก็ต้องหาเวลาให้ลูก มิฉะนั้นจะต้องน้ำตาตกในภายหลัง

    ๔. เมื่อเห็นลูกทำผิด ควรบอกกล่าวสั่งสอนเพื่อจะได้แก้ไขทันท่วงที แต่ต้องใช้เหตุผลอย่าใช้อารมณ์ และเมื่อเห็นลูกทำดีก็ชมเพื่อให้เกิดกำลังใจ

    ๕. ต้องฝึกให้ลูกทำงานตั้งแต่ยังเล็ก การปล่อยให้เด็กอยู่อย่างสบายเกินไปทุกอย่าง มีคนรับใช้ มีเวลาว่างมากเกินไป จะกลับเป็นผลเสียต่อเด็ก โตขึ้นจะช่วยตัวเองไม่ได้

    ๖. การเลี้ยงลูก ให้แต่ปัจจัย ๔ ยังไม่พอ จะต้องให้ธรรมะแก่ลูกด้วย

    อ า นิ ส ง ส์ ก า ร เ ลี้ ย ง ดู บุ ต ร

    ๑. พ่อแม่จะได้ความปีติภาคภูมิใจเป็นเครื่องตอบแทน

    ๒. ครอบครัวจะสงบร่มเย็นเป็นสุข

    ๓. ประเทศชาติจะมีคนดีไว้ใช้

    ๔. เป็นต้นแบบที่ดีงามของสังคมสืบไปตลอดกาลนาน ฯลฯ

    “บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมปรารถนาอภิชาตบุตร อนุชาตบุตร ไม่ปรารถนาอวชาตบุตรผู้ตัดสกุล บุตรเหล่านี้แล มีพร้อมอยู่ในโลก บุตรเหล่าใดเป็นอุบาสก มีศรัทธา ถึงพร้อมด้วยศีล รู้ถ้อยคำ ปราศจากความตระหนี่ บุตรเหล่านั้น ย่อมไพโรจน์ในบริษัททั้งหลาย เหมือนพระจันทร์พ้นจากก้อนเมฆ ไพโรจน์อยู่” ขุ.อิติ.๒๕/๒๕๒/๒๘๐

    จบมงคลที่ ๑๒ เลี้ยงดูบุตร
     

แชร์หน้านี้

Loading...