ติดสุข ในฌานและสมาธิ

ในห้อง 'Black Hole' ตั้งกระทู้โดย ฐาณัฏฐ์, 5 สิงหาคม 2010.

  1. ฐาณัฏฐ์

    ฐาณัฏฐ์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 มกราคม 2008
    โพสต์:
    6,197
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +4,075
    มิจฉาสมาธิ ย่อมบังเกิดแก่ผู้มีมิจฉาสติ
    สัมมาสมาธิ ย่อมบังเกิดแก่ผู้มีสัมมาสติ
    มิจฺฉาสติสฺส มิจฺฉาสมาธิ ปโหติ
    สมฺมาสติสฺส สมฺมาสมาธิ ปโหติ
    (อวิชชาสูตร ๑๙/๑)
    ติดสุข หมายถึง การติดเพลินหรือติดใจอยากในความสุขความสบาย อันเกิดขึ้นจากอำนาจขององค์ฌานหรือสมาธิ สุขนี้จึงหมายถึงสุขที่เป็นวิปัสสนูปกิเลสในข้อ ๕ และยังครอบคลุมถึงอาการเหล่านี้ด้วยคือ ติดปีติ หมายถึง ติดเพลินหรือติดใจอยากในความอิ่มเอิบหรือซาบซ่าน ติดอุเบกขา หมายถึง ติดเพลินหรือติดใจอยากในความสงบ หรือติดเอกัคคตารมณ์ หมายถึง จิตแช่นิ่งคือจิตจดจ่อหรือจดจ้องแช่นิ่งอยู่ภายใน ติดนิมิต คือติดเพลินยึดถือในนิมิตทั้งหลาย สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นอาการของการไปเสพจนติดใจอยากในผลอันเกิดแต่ฌานหรือ สมาธิ จึงเกิดการกระทำทั้งโดยมีสติรู้ตัว รวมทั้งโดยไม่รู้ตัวโดยการเลื่อนไหลไปแม้ในวิถีจิตตื่น(ในชีวิตประจำวัน)อยู่เสมอๆ คือ การพยายามให้อาการขององค์ฌานสมาธิดังกล่าวคงอยู่ คงเป็น ดังเช่น อาการกระทำจิตส่งใน ล้วนเกิดขึ้นเพราะอวิชชาจึงเป็นไปอย่างผิดๆ และปัญหาใหญ่ยิ่งคือผู้ที่เป็นจะไม่รู้ตัว และเมื่อรู้ตัวก็แก้ไขไม่ได้เสียแล้ว อาการเหล่านี้ต้องใช้การโยนิโสมนสิการ กล่าวคือ ใช้ปัญญาพิจารณาโดยละเอียดอย่างแยบคาย หรือย้อนระลึกอดีตจึงจะทราบได้ ทั้งหมดนี้เรียกรวมๆกันว่า ติดสุขบ้าง ติดฌานบ้าง ติดสมาธิบ้าง หรือมิจฉาสมาธิบ้าง มิจฉาฌานบ้าง ดังนั้นฌานสมาธิอันดีงามที่ช่วยสนับสนุนการปฏิบัติวิปัสสนาให้เกิดปัญญาญาณ จึงกลับกลายเป็นมิจฉาฌาน หรือมิจฉาสมาธิอันให้โทษ
    ผู้ที่เจริญปฏิจจสมุปบาทอันเป็นกระบวนธรรมของจิตในการเกิดขึ้นของทุกข์ได้แจ่มแจ้ง ย่อมพิจารณาได้ว่า ภพ ชาติ ในปฏิจจสมุปบาทที่เกิดเมื่อใดเป็นทุกข์เมื่อนั้นแม้ในปัจจุบันชาตินี้ ย่อมครอบคลุมถึงรูปภพอันเกิดแต่รูปฌาน และอรูปภพอันเกิดแต่อรูปฌาน กล่าวคือ เมื่อใดที่กลับกลายเป็นนันทิความติดเพลินความเพลิดเพลินความอยากอันคือเกิดตัณหาในเวทนาคือสุขเวทนาความรู้สึกสุข,สงบ,สบายอันเกิดแต่อำนาจหรือกำลังของฌานสมาธิ เมื่อนั้นฌานสมาธิที่แม้จัดว่ามีประโยชน์ยิ่งในการปฏิบัติ เป็นองค์มรรคของการปฏิบัติ ก็จะกลับกลายเป็นมิจฉาสมาธิ,มิจฉาฌานอันให้โทษ เป็นการดำเนินไปตามวงจรของทุกข์ปฏิจจสมุปบาทโดยทันท ย่อมไม่ใช่สัมมาสมาธิหรือสัมมาฌานในองค์มรรคแห่งการปฏิบัติอีกต่อไป เป็นมิจฉาสมาธิหรือมิจฉาฌานโดยไม่รู้ตัวทีเดียว และเป็นตัวทำให้เกิดทุกข์ขึ้นเสียเองอีกในภายหน้าอย่างแสนสาหัส จึงเป็นสิ่งที่ควรรู้เพื่อจะได้ไม่ไปปฏิบัติอย่างให้เกิดนันทิ(ตัณหา)ความติดเพลินจนเกิดทุกข์ กล่าวคือเกิดการติดสุขในฌานสมาธิอันยังให้เป็นทุกข์ขึ้นนั่นเอง ซึ่งมักแสดงออกด้วยอาการจิตส่งใน กระบวนธรรมของจิตที่ไปติดเพลิน จึงเป็นการดำเนินไปในกระบวนธรรมของการเกิดขึ้นของทุกข์ ปฏิจจสมุปบาท ดังนี้
    อวิชชา [​IMG] สังขาร อันย่อมเป็นสังขารกิเลสด้วยอวิชชาและอาสวะกิเลส คือฌานสมาธิที่สังขารปรุงขึ้นแม้โดยไม่รู้ตัวเพราะติดใจในความอร่อย [​IMG] วิญญาณ [​IMG] นาม-รูป [​IMG] สฬายตนะ [​IMG] ผัสสะ [​IMG] เวทนาเป็นสุขเวทนาจากอำนาจของสมาธิและฌาน คือความสงบ ความสุข ความสบายต่างๆ [​IMG] นันทิเกิดการติดเพลินขึ้นอันคือตัณหา [​IMG] อุปาทาน [​IMG] ภพ คือรูปภพหรืออรูปภพตามที่สังขารขึ้นโดยไม่รู้ตัว [​IMG] ชาติ การเกิดของทุกข์ [​IMG] ชรา จึงวนเวียนกระทำต่างๆแต่ล้วนแฝงอยู่ในอำนาจของฌานสมาธิโดยไม่รู้ตัว ดังนี้ จนมรณะคือดับไป และโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส......แล้วก็วนเวียนเกิดวงจรของทุกข์ปฏิจจสมุปบาทขึ้นใหม่อีก......
    สาเหตุก็คือ มักเกิดจากฝึกสติ แต่เป็นมิจฉาสติ จึงเกิดมิจฉาสมาธิขึ้น กล่าวคือ ตั้งใจฝึกสัมมาสติ แต่ไปจดจ่อกับอารมณ์เดียว ดำเนินอยู่เช่นนี้ทุกครั้งที่ปฏิบัติ จึงขาดการพัฒนาสติต่อไปในการระลึกรู้เท่าทันในสิ่งอื่นๆที่ท่านต้องการให้ระลึกรู้เท่าทันยิ่ง คือ เวทนา จิต ธรรม, จิตจึงไปแน่วแน่ในอารมณ์เดียวจนเป็นสมาธิจนเกิดการติดเพลินใน ปีติบ้าง สุขบ้าง ความสงบบ้าง จิตแช่นิ่งบ้าง จึงเป็นมิจฉาสมาธิเนื่องจากติดเพลินและขาดการวิปัสสนา กล่าวคือไม่ได้ใช้สติไปในทางปัญญาเพื่อให้เกิดนิพพิทา เมื่อถอนออกจากความสงบสบายจากฌานสมาธิแล้วนั่นเอง แต่กลับไปจดจ่อแช่นิ่งเลื่อนไหลไปในความสุขสงบสบายที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว, และอาจเกิดจากการเข้าใจผิดๆด้วยอวิชชา ดังเช่นว่า ได้ทำวิปัสสนาแล้ว แต่ไม่ได้ทำ เพียงแต่ทำสมาธิหรือการบริกรรมหรือท่องบ่นโดยไม่ได้ใช้สติปัญญาพิจารณาหาเหตุหาผลในธรรมอย่างจริงจังแต่อย่างใด หรือทำไปเพราะการหวังผลไปใช้ประโยชน์ในทางโลกๆโดยไม่รู้ตัว จึงก่อเป็นโทษรุนแรงที่เกิดต่อธาตุขันธ์และจิตโดยตรงในภายหน้า และยังให้ไม่สามารถดำเนินต่อไปในธรรมได้อีกด้วย(วิปัสสนูปกิเลส) และยังก่อให้เกิดความเจ็บป่วยทางกาย ตลอดจนความทุกข์ทางใจเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมอย่างมากมายทวีคูณในภายหน้าจนทนไม่ไหว และข้อสำคัญคือเป็นไปโดยไม่รู้ตัว, และไม่รู้ว่าเป็นเพราะเหตุอันใดอีกด้วย หรือแม้รู้ตัว แต่ควบคุมบังคับไม่ได้เสียแล้ว คือเกิดการกระทำอยู่เสมอๆโดยควบคุมไม่ได้
    ติดสุข ติดสมาธิ ติดฌาน จึงหมายครอบคลุมถึง การติดเพลินหรือติดใจอยากในองค์ฌานต่างๆหรือผลของสมาธิ อย่างแนบแน่นด้วยอวิชชาความไม่รู้ตามความเป็นจริง เมื่อเกิดการติดใจอยาก จึงยึดติด ยึดมั่น แอบเสพสุข เสพสบาย เสพความสงบในผลอันเกิดแต่อำนาจของสมาธิหรือฌานเหล่านั้นโดยไม่รู้ตัว กล่าวคือเกิดไปยึดติดพึงพอใจด้วยอาการจิตส่งในเพราะไปติดใจอยาก จึงจดจ้องจดจ่ออยู่ที่ความสบาย ความอิ่มเอิบ ความซาบซ่าน ที่เกิดแต่กายบ้าง หรือจับอยู่ที่ความสงบ หรือความสุข ความสบายอันเกิดแก่ใจบ้าง อันบังเกิดขึ้นจากอำนาจขององค์ฌานต่างๆหรือความสงบในสมาธิ จนเกิดการเสพติดในรสอร่อยของความสุข ความสบาย ความอิ่มเอิบ ความซาบซ่าน หรือความสงบต่างๆเหล่านั้น จึงไปติดในสุขบ้าง ปีติบ้าง อุเบกขาหรือความสงบบ้าง หรือเอกัคคตาแต่เป็นแบบแช่นิ่งๆอยู่ภายในบ้าง อันล้วนเป็นผลที่บังเกิดขึ้นแก่กายและจิตที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติสมาธิหรือฌาน แต่เป็นมิจฉาสมาธิหรือมิจฉาฌานแบบผิดๆ สาเหตุใหญ่มักเป็นเพราะความไม่รู้ในคุณ,โทษอย่างแจ่มแจ้ง(อวิชชา) ดังนั้นเมื่อปฏิบัติฌานหรือสมาธิแล้ว เมื่อถอนจากวามสงบสบายออกมาแล้ว ก็ไม่ได้ดำเนินการวิปัสสนาหรือใช้ปัญญาพิจารณาธรรมอย่างจริงจังให้แจ่มแจ้งเลย อันมัวแต่คิดไปว่าการบริกรรมท่องบ่นในธรรมนั้นเป็นการพิจารณา จึงเกิดการติดเพลิน(นันทิ-อันเป็นตัณหา)เพราะเป็นความสุขความสบาย อันเป็นที่พึงพอใจโดยธรรมชาติอยู่แล้วของชีวิต และเมื่อปล่อยให้เกิดการเลื่อนไหลหรือจิตส่งในไปตามกําลังอํานาจของความสุขสบายต่างๆก็เพราะอวิชชา จึงเกิดเป็นตัณหาในที่สุดโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นจึงย่อมดำเนินไปตามวงจรปฏิจจสมุปบาท จนเป็นอาสวะกิเลสที่สั่งสมไว้ แล้วไปเป็นเหตุปัจจัยร่วมกับอวิชชาจึงเกิดหรือจึงมีสังขารตามที่ได้สั่งสมนั้นโดยไม่รู้ตัวเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จึงกระทำเองโดยไม่ตั้งใจและไม่สามารถหยุดยั้งได้ สาเหตุใหญ่ๆก็มาจากความสุข ความสบาย ความสงบที่เกิดขึ้น หรืออาจเกิดจากความความเชื่อ,ความเข้าใจผิดๆว่าปฏิบัติแล้วได้บุญได้กุศลโดยตรง, หรือเพราะคิดว่าได้ปฏิบัติโดยถูกต้องแล้วคือตามความเชื่อความเข้าใจผิดๆที่ว่ายิ่งปฏิบัติมากยิ่งเกิดปัญญา ตามที่กล่าวอ้างสืบทอดกันมาว่า สมาธิยังให้เกิดปัญญา แต่ไปเข้าใจผิดคิดว่า ปฏิบัติฌาน,สมาธิแล้วปัญญาจักเกิดขึ้น ดังนี้เป็นต้น เพราะตามความเป็นจริงนั้น สมาธิเป็นบาทฐานให้เกิดปัญญา หมายถึง นำเอาผลของสมาธิที่เกิดขึ้นคือทําให้จิตสงบ กายสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน เพราะปราศจากนิวรณ์ ๕ จึงก่อเป็นกําลังแห่งจิตไปใช้ในการปฏิบัติวิปัสสนาคือพิจารณาธรรม อันจะยังให้เกิดปัญญาหรือสัมมาญาณหรือความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในอันที่จักยังให้เกิดสัมมาวิมุตติอันพ้นทุกข์อย่างแท้จริงและถูกต้อง เยี่ยงนี้สมาธิหรือฌานก็จักยังคุณอันยิ่งใหญ่ กล่าวคือแทนที่จะเป็นสัมมาสมาธิชนิดที่มีสติอยู่อย่างต่อเนื่องอันถูกต้องดีงาม อันเป็นกำลังอันสำคัญยิ่งในการปฏิบัติ และการพิจารณา เพื่อการปฏิบัติวิปัสสนาให้เกิดปัญญา คือใช้เป็นกําลังของจิตอันเกิดขึ้นเนื่องจากกายและจิตสงบระงับจากอํานาจกิเลสตัณหาด้วยกําลังอํานาจของสัมมาสมาธิชั่วขณะ คือนําไปเป็นกำลังของจิตทั้งในการปฏิบัติ หรือในการพิจารณาธรรมที่บังเกิดแก่จิตหรือสงสัยให้เกิดความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้และถูกต้อง, แต่เกิดสติขาดเลื่อนไหลลงสู่ภวังค์หรือสมาธิ,ฌานเสมอๆและมิได้ปฏิบัติวิปัสสนาอย่างจริงจัง จึงเกิดการเพลิดเพลินยังเกิดการไปยึดติดพึงพอใจในรสชาติอันเอร็ดอร่อยของความสุขความสงบ อันรับรู้สัมผัสได้ทั้งจากทางกายและทางจิตของฌาน,หรือมิจฉาสมาธิโดยไม่รู้ตัวเพราะนันทิหรือตัณหา หรือเพราะไม่รู้(อวิชชา) ทําให้จิตส่งในไปคอยแอบเสพรสอยู่รํ่าไปตลอดเวลาทั้งขณะที่รู้ตัวและโดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยไม่รู้ตัวโดยการเลื่อนไหลไปเองตามธรรมชาติของจิต จนในที่สุดกลายเป็นองค์ธรรมสังขารที่ได้เคยชิน,สั่งสม,อบรม,ประพฤติ,ปฏิบัติไว้(สังขารในปฏิจจสมุปบาท)ที่สามารถกระทำหรือเกิดขึ้นเองโดยไม่รู้ตัว จึงทำให้เกิดการเลื่อนไหลจมแช่อยู่ในสมาธิฌานหรือองค์ฌานต่างๆ อย่างเบาๆ แต่เกือบตลอดเวลาได้เอง แทบทุกขณะจิต แม้แต่ในขณะหลับ อันจักต้องเป็นเช่นนั้นเอง และบางครั้งจากการกระทําบางอย่างโดยไม่รู้เท่าทันตามความเป็นจริงของธรรม(ธรรมชาติของทุกข์) เช่น นำไปใช้งานในทางที่ผิด หรือทางโลกๆ, มักจมแช่หรือแช่นิ่งอยู่ภายในนั้นโดยไม่รู้ตัว อันยังให้เกิดวิปัสสนูปกิเลสอันเป็นผลร้ายต่อผู้ปฏิบัติอย่างรุนแรงในที่สุด, ดังมีคำกล่าวของเหล่าพระอริยเจ้าในเรื่องมิจฉาฌานสมาธิไว้ดังนี้

    "การบำเพ็ญจิตให้สงบจนเกิดกำลังแล้ว ก็ไม่ควรที่จะทำความสงบอย่างเดียว เพราะถ้าทำแต่ความสงบไม่พิจารณาทุกขสัจจ์ ก็จะเป็นเฉพาะฌาน ก็จะเป็นมิจฉาสมาธิ เป็นสมาธิผิด ไม่พ้นทุกข์ ต้องพิจารณาทุกข์จึงจะพ้นทุกข์" ( หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต)

    ในหนังสือ"อตุโล ไม่มีใดเทียม" ได้มีการกล่าวถึงพลังจิตหรือสมาธิไว้ดังนี้"พลังจิตที่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงหลังจากเกิดสมาธินั้น หมายถึงว่า จิตนั้นจะยกสภาวะธรรมขึ้นมาพิจารณาไตร่ตรองให้เกิดวิปัสสนาญาณ เกิดปัญญาแล้วปัญญานั้นก็จะแจ่มแจ้งดีกว่าจิตที่ไม่เกิดสมาธิ หรือจิตที่ไม่มีสมาธิ" (น. ๒๒๒)

    "พูดถึงความสุขในสมาธิมันก็สุขจริงๆ จะเอาอะไรมาเปรียบเทียบไม่ได้ แต่ถ้าติดอยู่แค่นั้น มันก็ได้แค่นั้นแหละ ยังไม่เกิดปัญญาอริยมรรค ที่จะตัดภพ ชาติ ตัณหา อุปาทานได้ ให้ละสุขนั่นเสียก่อน แล้วพิจารณาขันธ์๕ให้แจ่มแจ้งต่อไป" (น.๔๙๕)

    มีผู้อยากฟังความคิดความเห็นเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดของหลวงปู่ และยกบุคคลมาอ้างว่าท่านผู้นั้น ท่านผู้นี้ระลึกชาติย้อนหลังได้หลายชาติ
    หลวงปู่ว่า
    "เราไม่เคยสนใจเรื่องอย่างนี้ แค่อุปจารสมาธิก็เป็นไปได้แล้ว ทุกอย่างมันออกไปจากจิตทั้งหมด อยากรู้อยากเห็นอะไร จิตมันบันดาลให้รู้ให้เห็นได้ทั้งนั้น และรู้ได้เร็วเสียด้วย หากพอใจเพียงแค่นี้ ผลที่ได้ก็คือ ทําให้กลัวการเวียนว่ายตายเกิดในภพที่ตํ่า แล้วก็ตั้งใจทําดี บริจาคทาน รักษาศีล แล้วก็ไม่เบียดเบียนกัน พากันกระหยิ่มยิ้มย่องในผลบุญของตัว, ส่วนการที่จะขจัดกิเลสเพื่อทําลาย อวิชชา ตัณหา อุปาทาน เข้าถึงความพ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิงนั้น อีกอย่างหนึ่งต่างหาก" (น.๔๙๙)

    ในหนังสือส่องทางสมถวิปัสสนาของหลวงปู่ เทสก์ เทสรังสี ก็ได้มีกล่าวถึงการปฏิบัติไว้ทั้ง ๒ ทาง คือแบบสมถะหรือสมาธิล้วนๆ และอีกแบบหนึ่งที่ท่านกล่าวว่า แนวนี้เดินสมํ่าเสมอกว่าแนวสมถะล้วนๆ คือ แนวสมถวิปัสสนา กล่าวคือใช้สมาธิเป็นบาทฐานของวิปัสสนานั่นเอง ท่านได้กล่าวไว้ดังนี้ "บริกรรมหรือเพ่งอย่างนั้นเหมือนกัน(หมายถึงเหมือนสมถะ) แต่ไม่ให้จิตสงบ คือน้อมจิตให้เข้าไปอยู่ในอารมณ์อันเดียว(webmaster - เช่นในข้อธรรม หรือนิมิตอันดีงามถูกต้องเช่นอสุภหรือธาตุ นำมาเป็นกสิณ) เพ่งพิจารณานิมิตนั้นให้เป็นธาตุหรือเป็นอสุภ ยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์เป็นต้น เมื่อเห็นชัดแล้วจิตจะรวมลงไปอยู่ในอารมณ์อันเดียว หรือจะเป็นสมาธิ หรือจะเกิดปัญญาให้สลดสังเวชก็ได้ พูดย่อๆ เรียกว่าหัดสมถะเป็นไปพร้อมกันกับวิปัสสนา"
    "ฌาน ได้แก่ การเพ่ง และเพ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียว จะเป็นกสิณ หรืออะไรก็ได้ทั้งนั้น แต่ข้อสำคัญจะต้องให้จิตจับจ้องอยู่ในเฉพาะอารมณ์อันนั้นเป็นใช้ได้ เบื้องต้นจะต้องตั้งสติควบคุมจิตให้แน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียวอย่างแน่นแฟ้น เมื่อจิตถอนออกจากอารมณ์อื่นมารวมอยู่ในอารมณ์อันเดียวเรียกว่า เอกัคคตารมณ์ เสวยความสุขอันไม่เคยได้รับมาแต่ก่อน จิตก็จะยินดีและน้อมเข้าไปสู่เอกัคคตารมณ์อย่างยิ่ง เรียกว่าเพ่งเอาความสุขอันเกิดจากเอกัคคตารมณ์เป็นอารมณ์ของฌานต่อไป จนเป็นเหตุให้เผลอตัวลืมสติไปยึดมั่นเอาเอกัคคตาว่าเป็นของบริสุทธิ์และดีเลิศ จิตตอนนี้จะรวมวูบเข้า ภวังค์ ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆ กับเผลอสติ หรือลืมสติไปเสียเลยอยู่พักหนึ่ง แล้วจึงรู้สึกตัวขึ้นมา แต่ผู้ที่เคยเป็นบ่อยและชำนาญแล้ว จะมีลักษณะเช่นนั้นเหมือนกันแต่เป็นไม่แรง และนิมิตหรือความรู้อะไรจะเกิดก็มักเกิดในระยะนี้ เมื่อนิมิตและความรู้เกิดขึ้นแล้ว จิตที่อยู่ในเอกัคคตานั้นจะวิ่งตามไปอย่างง่ายดาย จิตที่อยู่ในเอกัคคตารมณ์เป็นของเบาและไวต่ออารมณ์มาก (อารมณ์ หมายถึง สิ่งที่จิตไปยึดเหนี่ยวในการกระทบเช่น รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ความคิดต่างๆ - webmaster) ที่เรียกว่า จิตส่งใน เป็นภัยต่อผู้เจริญฌานอย่างยิ่ง บางทีอาจทำให้เสียผู้เสียคนไปก็มี ฌานมีเอกัคคตารมณ์เป็นเครื่องวัดในที่สุด แต่ไม่มีปัญญาจะพิจารณาสังขารให้เห็นเป็นพระไตรลักษณญาณได้ กิเลสของผู้ได้ฌานก็คือมานะแข็งกระด้างทิฐิถือรั้นเอาความเห็นของตัวว่าเป็นถูกทั้งหมด คนอื่นสู้ไม่ได้ เรื่องนี้จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความแน่วแน่ของฌานหรือทิฐินิสัยเดิมของแต่ละบุคคลอีกด้วย ผู้ที่ผ่านเรื่องนั้นมาด้วยกันแล้วหรือมีจิตใจสูงกว่าเท่านั้นจึงจะแก้และแสดงให้เขาเห็นจริงตามได้ ถ้าแก้ไม่ตกก็เสียคนไปเลย" จาก โมกขุบายวิธี โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

    "....แล้วการที่เรามาใช้ปัญญาพิจารณา เหตุผลต่างๆ ที่จิตใจมันยึดมั่นถือมั่นอยู่นั้น อันนั้นมันเป็นวิธีการที่จะละอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นให้หมดไปสิ้นไป แต่ลำพังสมาธินั้น เพียงแต่ระงับความอยากความหิวไปได้ชั่วระยะหนึ่งเท่านั้นเอง ส่วนที่จะละความอยากความหิวให้มันขาดเด็ดออกไปจากจิตใจได้ ต้องอาศัยปัญญา....ปัญญานั้นก็ต้องเกิดจากสมาธิ (เป็นฐานกำลัง ไม่ใช่จากสมาธิโดยตรงๆ- webmaster)....ฯ." จาก บุญญาพาชีวิตรอด โดย หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ

    "..ผู้ที่เป็นสมาธิ ถ้าไม่ออกพิจารณาทางด้านปัญญา จะเป็นสมาธิอยู่อย่างนั้นตลอดไป จนกระทั่งวันตาย ก็หาเป็นนิพพานได้ไม่ หาเป็นปัญญาได้ไม่.." จาก หลักเกณฑ์การปฏิบัติสมาธิ - ปัญญา (๓ พ.ศ. ๒๕๔๑) โดย พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน
    -----------------------
     
  2. เต้าเจี้ยว

    เต้าเจี้ยว เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 เมษายน 2008
    โพสต์:
    956
    ค่าพลัง:
    +1,697
    [music]http://storage.nungdee.com/song/clip_song/Hero/10S.wma[/music]
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 7 สิงหาคม 2010
  3. เต้าเจี้ยว

    เต้าเจี้ยว เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 เมษายน 2008
    โพสต์:
    956
    ค่าพลัง:
    +1,697
    ...

    .. ฌาน เพื่อระงับกามอารมณ์ชั่วคราว ฌานจิต ไม่ใช่กามาวจรจิตเพราะเป็นจิตอีกภูมิหนึ่ง ฌานจิตรู้อารมณ์กรรมฐานด้วย สมาธิที่แนบแน่น ทางมโนทวาร ขณะที่ฌานจิตเกิดนั้นไม่รับรู้กามอารมณ์ จึงระงับกิเลสที่ข้องอยู่กับกามอารมณ์ ฌานจิต คือ รูปาวจรจิต (รูปฌานจิต) และ อรูปาวจรจิต (อรูปฌานจิต) อรูปฌานละเอียดกว่ารูปฌาน เพราะอารมณ์กรรมฐานของอรูปฌานไม่ใช่รูป ซึ่งจะได้กล่าวถึงความแตกต่างของรูปฌานและอรูปฌานในโอกาสต่อไป

    นอกจาก กามาวจรจิต รูปาวจรจิต และ อรูปาวจรจิต ยังมีอีกภูมิหนึ่งคือ โลกุตตรจิต (จิตที่พ้นจากโลก) ซึ่งมี พระนิพพาน เป็นอารมณ์ ผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมมีโลกุตตรจิต โดยมีนิพพานเป็นอารมณ์

    สำหรับฌานจิตนั้น ฌานจิต ไม่มีสี เสียง กลิ่น รส หรือโผฏฐัพพะเป็นอารมณ์ ฌานจิตรู้อารมณ์กรรมฐานทางมโนทวาร ในฌานวิถีนั้น วิถีจิตขณะแรก ๆ เป็นกามาวจรจิตซึ่งรู้อารมณ์กรรมฐานนั้นเอง ต่อจากนั้นฌานจิตจึงเกิด ฌานวิถีจิตเกิดตามลำดับดังนี้ คือ

    กามาวจรจิต
    มโนทวาราวัชชนจิต
    บริกัมม์ (เตรียมปรุงให้อัปปนาสมาธิเกิด)
    อุปจาร (ใกล้ต่อการเป็นอัปปนา)
    อนุโลม (คล้อยต่ออัปปนาสมาธิ)
    โครตภู (จิตที่ข้ามจากกามภูมิ)
    ฌานจิต
    อัปปนา (สมาธิที่แนบแน่นในอารมณ์)

    สำหรับบางบุคคล บริกัมม์อาจไม่เกิด ฉะนั้น หลังจากที่มโนทวาราวัชชนจิตดับแล้ว จะมี กามาวจรจิต เกิดก่อนฌานจิตเพียง 3 ดวง เท่านั้น แทนที่จะมี 4 ดวง โคตรภู (จิตที่ข้ามจากกามภูมิ) เป็นจิตดวงสุดท้ายในวิถีนั้นซึ่งเป็นกามาวจรจิต
    ในวิสุทธิมัคค์ ปฐวีกสิณนิทเทศ กล่าวถึงฌานวิถีจิตที่เกิดเป็นครั้งแรก ข้อความในวิสุทธิมัคค์ ปฐวีกสิณนิทเทส กล่าวว่า ฌานจิตเกิดขึ้นเพียงขณะเดียวเท่านั้น เมื่อดับไปแล้วภวังคจิตก็เกิดสืบต่อ ต่อจากนั้นก็เป็นวิถีของกามาวจรจิตซึ่งเกิดทางมโนทวาร พิจารณาฌานที่เพิ่งเกิดและดับไปแล้ว ข้อความในวิสุทธิมัคค์กล่าวว่า อัปปนาสมาธิจะ "ดำรง" อยู่ตราบเท่าที่จิตสงบจากนิวรณธรรมอย่างแท้จริง ก่อนอื่นจะต้องระงับกามฉันทะโดยพิจารณาโทษของกามฉันทะ และระงับ "นิวรณธรรม" อื่น ๆ

    ฌานจิตเป็นกุศลกรรมขั้นสูง เมื่อฌานจิตเกิด นิวรณธรรม คือ กามฉันทะ พยาปาทะ ถีนมิทธะ อุทธัจจะกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา สงบระงับชั่วคราว ขณะนั้นจึงเป็นความสงบที่แท้จริง อย่างน้อยชั่วในขณะนั้น

    ในบทที่แล้ว เราได้ศึกษาว่า ผู้ที่ต้องการเจริญสมถะเพื่อบรรลุฌานจิต ต้องเจริญองค์ฌาน 5 ซึ่งระงับนิวรณธรรมดังนี้คือ วิตก (สภาพธรรมที่จรดหรือตรึกในอารมณ์) วิจาร (สภาพธรรมที่ประคองอารมณ์) ปีติ (สภาพธรรมที่ปลาบปลื้ม) สุข (ความรู้สึกโสมนัส) สมาธิ (สภาพธรรมที่ตั้งมั่นในอารมณ์)
    ฌานจิตเจริญขึ้นเป็นลำดับขั้น และฌานที่สูงขึ้นแต่ละขั้นก็ละเอียดขึ้น ๆ รูปฌานจิตมี 5 ขั้น ปฐมฌานจิตนั้นจะต้องมีองค์ฌานครบทั้ง 5 แต่ในฌานขั้นสูงขึ้นไปก็จะลดองค์ฌานไปตามลำดับ เมื่อบรรลุทุติยฌาน ก็ละวิตก ทุติยฌานจิตแนบแน่นในอารมณ์กรรมฐานได้โดยไม่ต้องอาศัย วิตก (ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่นำจิตสู่อารมณ์และทำกิจจรดในอารมณ์นั้น) ส่วนองค์ฌานอีก 4 องค์ ยังเกิดกับทุติยฌานจิต

    เมื่อบรรลุตติยฌานจิต ก็ละ วิจารเจตสิก ฌานขั้นนี้ไม่จำเป็นต้องมีวิตกและวิจารที่จะทำให้จิตแนบแน่นในอารมณ์กรรมฐาน ฉะนั้นจึงมีองค์ฌานที่เหลือเพียง 3 องค์ คือ ปีติ สุข และ เอกัคคตา (สมาธิ) เมื่อบรรลุจตุตถฌานก็ละปีติ มีแต่โสมนัสเวทนา แต่ไม่มีปีติ เมื่อละปีติได้แล้ว ฌานจิตขั้นนี้จึงสงบขึ้น ประณีตขึ้น เมื่อบรรลุปัญจมฌานก็ละ สุขเวทนา มีอุเบกขาเวทนาเกิดร่วมด้วยแทนสุขเวทนา ผู้บรรลุฌานขั้นนี้ไม่ยินดีในโสมนัสเวทนา แต่องค์ฌานซึ่งเป็น เอกัคคตา ยังคงมีอยู่

    ขณะที่บรรลุฌานขั้นที่สอง บางท่านละได้ทั้งวิตกและวิจาร ฉะนั้น ในฌานจิตขั้นที่สาม จึงละปีติได้ และในฌานจิตขั้นที่ 4 จึงละสุขได้ ฉะนั้น ท่านเหล่านั้นจึงมี ฌานจิต 4 ขั้นเท่านั้น แทนที่จะมี 5 ขั้น ด้วยเหตุนี้เองจึงกล่าวได้ว่า
    รูปฌานมี 4 ขั้น หรือ 5 ขั้น (จตุตกนัย และ ปัญจกนัย) ในพระสูตรที่กล่าวถึงรูปฌาน 4 ขั้นนั้น กล่าวโดยจตุตกนัย

    รูปฌานทั้งหมดมีได้ถึง 5 ขั้น ฉะนั้นจึงมี รูปาวจรกุศลจิต 5 (รูปฌานกุศลจิต) ฌานจิตเป็นกุศลกรรมขั้นสูง ฉะนั้น ผลคือกุศลวิบากจึงเป็นขั้นสูงด้วย ฌานจิตไม่ทำให้เกิดวิบากในชาตินั้น ผลของฌานจิต คือการเกิดในภพภูมิที่สูงขึ้น คือ เกิดในรูปพรหมภูมิ ถ้ารูปาวจรกุศลจิตจะให้ผลในชาติหน้า รูปาวจรกุศลจิตจะเกิดก่อนจุติจิต ปฏิสนธิจิตของชาติหน้าจึงเป็นรูปาวจรวิบากจิต ซึ่งเกิดในรูปพรหมภูมิที่ควรแก่ฌานนั้น ๆ รูปาวจรวิบากจิตรู้อารมณ์กรรมฐานเดียวกับ
    รูปาวจรกุศลจิตที่เกิดก่อนจุติจิตของชาติก่อน รูปาวจรกุศลจิต 5 ดวงเป็นปัจจัยให้เกิด รูปาวจรวิบากจิต 5 ดวง
    รูปาวจรวิบากจิตทำกิจ ปฏิสนธิ ภวังค์ และ จุติ เท่านั้น
    มี รูปาวจรกิริยาจิต 5 ดวง ซึ่งเป็นจิตของพระอรหันต์ผู้บรรลุรูปฌาน พระอรหันต์ไม่มีกุศลจิต แต่มีกิริยาจิตแทน ฉะนั้น รูปาวจรจิตจึงมีทั้งหมด 15 ดวง คือ
    รูปาวจรกุศลจิต 5 ดวง
    รูปาวจรวิบากจิต 5 ดวง
    รูปาวจรกิริยาจิต 5 ดวง

    ผู้ที่บรรลุฌานขั้นสูงสุด และเห็นโทษของรูปฌานที่ยังมีรูปเป็นอารมณ์ อาจปรารถนาที่จะเจริญ อรูปฌาน คือฌานที่ไม่มีรูปเป็นอารมณ์ อรูปฌานมี 4 ขั้น อรูปฌานขั้นที่หนึ่งคือ อากาสานัญจายตนฌาน การที่จะบรรลุอรูปฌานขั้นต้นได้นั้น จะต้องบรรลุรูปฌานขั้นสูงสุดโดยมีกสิณใดกสิณหนึ่งในหมวดกสิณเป็นกรรมฐาน (กสิณเป็นอารมณ์กรรมฐานของรูปฌาน เช่น วัณณะกสิณ หรือ ปถวีกสิณ) ยกเว้นอากาศกสิณ และมีความชำนาญยิ่งด้วย

     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 7 สิงหาคม 2010
  4. ฐาณัฏฐ์

    ฐาณัฏฐ์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 มกราคม 2008
    โพสต์:
    6,197
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +4,075
    สาดุ๊ สาดุ๊

    [​IMG]
     

แชร์หน้านี้

Loading...