ตัณหาเป็นเชือกผูกคอ ปอผูกศอก โซ่ล่ามขา

ในห้อง 'หลวงปู่แหวน' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 13 มีนาคม 2010.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    ตัณหาทั้งสามมันปกครองสัตว์ทั้งโลก ความพอใจก็ดี ความไม่พอใจก็ดี จัดเป็นตัณหา กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ตัณหาทั้งสามนี้ เป็นไตรวัฎฎ์อยู่นี่ มันหมุนอยู่นี่

    กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา เปรียบเหมือนธารแม่น้ำน้อยใหญ่นับไม่ถ้วน ไหลมาสู่ทะเลอันไม่มีฝั่ง ไม่มีที่เต็ม ฉันใดก็ดี ความพอใจก็ดี ความไม่พอใจก็ดี ก็เพราะกามตัณหานี้เอง

    กามตัณหา เปรียบเหมือนเชือกผูกคอ ภวตัณหาเปรียบเหมือนปอผูกศอก วิภวตัณหา เปรียบโซ่ผูกขา จะเอาอาวุธมีมีดหรือขวาน มาตัดมันเท่าไรมันก็ไม่ขาด ยกเว้นแต่ผู้มีปัญญาบารมี

    มนุษย์ผู้อาชาไนยเป็นผู้องอาจกล้าหาญ ต่อสู้สงครามกามกิเลส ความพอใจความไม่พอใจก็ดี ความพอใจ ความไม่พอใจนี้แหละตัดมันไม่ขาด

    เวลาเราทำความเพียรบางครั้ง ดูเหมือนกับสบายเย็นใจ เย็นกาย แต่พอเร่งทำความเพียรเข้า มันกลับเป็นไปอีกอย่างหนึ่งมันไม่ใช่ง่าย พวกกามกิเลสนี้

    มนุษย์ผู้อาชาไนยผู้องอาจแกล้วกล้า สามารถจะต่อสู้กามกิเลสนี้ อันเป็นข้าศึกในสงครามการต่อสู้ต้องระวังอินทรีย์ตา มันก็เป็นเหตุอันหนึ่ง หู ก็เป็นเหตุอันหนึ่ง จมูก ก็เป็นเหตุอันหนึ่ง กาย ใจ เป็นเหตุอันหนึ่ง ธรรมทั้งหลายไหลมาจากเหตุ

    กายนี้เป็นมรรค เป็นที่ตั้งของมรรค กายสมบัติอันนี้ท่านยกขึ้นเป็น มรรค นะ เป็น พุทโธ โม เป็นพระเจ้า อาศัยบิดามารดาเกิดก็เพราะ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา

    กามตัณหานี้มันไม่พอ ตัณหา ๓ นี้ก็เกิดขึ้นจากกายจากใจเรานี้แหละ ได้ลูกได้หลานมามันก็พอใจ

    ชังก็เพราะกาม เกิดก็เพราะกาม ทุกข์ก็เพราะกาม ตายก็เพราะกาม สุขก็เพราะกาม นี้กามตัณหา

    ท่านจึงเปรียบว่า กามตัณหา เหมือนเชือกผูกคอ ภวตัณหา เหมือนปอผูกศอก วิภวตัณหา เหมือนโซ่ผูกขา เพราความรัก ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันไหลมาแต่ตัณหาทั้งสามนี้แหละ

    การจองล้างจองผลาญฆ่าฟันกันเพราะกามนี้แหละ ความพอใจก็เพราะกาม ความไม่พอใจก็เพราะกามนี้แหละ

    อนิจจังทั้ง ๕ ก็ชี้เข้ามาในนี้แหละ ทุกขังทั้ง ๕ ก็ดี อนัตตาทั้ง ๕ ก็ดี ก็ชี้เข้ามาในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยงเป็นทุกข์
    อนัตตา ความไม่มีตัว ไม่มีตน ถ้าเข้าไปยึดถือ มันก็เป็นทุกข์ สภาพเหล่านี้มีอยู่เป็นอยู่อย่างนี้

    แม้แต่พ่อแม่จะไปแต่งให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ก็แต่งไม่ได้ แต่ถ้าเป็น ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อันนี้เราแต่งเอาเองได้ แต่งไม่ให้มันโลภ แต่งไม่ให้มันหลง แต่งไม่ให้มันโกรธ ไม่ให้มันโลภ โกรธ หลง อันเป็นรากเหง้าแห่งกิเลสทั้งหลาย เพราะตัณหานี้แหละเป็นต้นเหตุ

    ทำให้เป็น อโลภะ อโทสะ อโมหะ ให้มันหมดโลภ หมดโกรธ หมดหลงแล้ว มันก็สบาย ถ้าโลภก็ยังละไม่ได้ โกรธก็ยังละไม่ได้ มันเกิดขึ้นก็เป็นการทำลายตนเอง เพราะไม่รู้จักพอ

    โลภะ โทสะ โมหะ เป็นรากเหง้าของกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด เราเกิดก็เพราะกาม ตายก็เพราะกาม ทุกข์ก็เพราะกาม ความพอใจก็เพราะกาม ความไม่พอใจก็เพราะกาม ความรักความชังที่เกิดขึ้นก็เพราะกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหานี้แหละ

    จะไปเอาที่ไหนพระธรรมแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ ท่านชี้ลงสู่กายสู่ใจนี้แหละ อันเป็นสมบัติของเจ้าพ่อเจ้าแม่ อันเป็นฐานที่ตั้งแห่งศีล เป็นที่ตั้งแห่งธรรม นี่แหละสมบัติอันนี้ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันเกิดขึ้นภายในนี้แหละไม่ได้เกิดที่อื่น

    ภาวนาพุทโธก็ดี ธัมโมก็ดี สังโฆก็ดี ระวังอย่าให้เป็นธรรมเมา ต้องกำหนดลงสู่กายสู่ใจของเรานี้แหละ อย่าไปกำหนดที่อื่น

    ปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ไปเมือง พม่า อินเดีย เขาก็สอนอย่างนี้แหละสอนอย่างเดียวกันนี้แหละ ไปดูที่ประสูติ ที่ตรัสรู้ ที่ปรินิพพาน มันห็เห็นแต่ดิน สู้ สุปฏิปันโน น้อมเข้ามาสู่กายปฏิบัติให้รู้แจ้งในภายในมันจึงใช้ได้ มัวรู้แต่ภายนอกกลายเป็นธรรมเมาไป

    เมาโลภ เมาโกรธ เมาหลง เมาตัว เมาตน พวกนี้เป็นธรรมเมา ทั้งนั้นแหละ

    อาจารย์วิปัสสนาของพม่าสมัยก่อน สอนกายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา ธัมมานุปัสสนา เวลาเราถามเข้าจริงๆจับผมบนหัวให้ดู ถามว่าผมมีกี่เส้น ขนในตัวเรานี้มีกี่เส้น ลำไส้ของหญิงยาวกี่ศอกกี่วา เขาบอกว่าไม่รู้ นั่นไม่รู้ยังจะไปชี้อีก

    มันต้องค้นเข้ามาหาภายในนี้แหละต้นเหตุนี้ ตา มันก็เป็นเหตุอันหนึ่ง หู มันก็เป็นเหตุอันหนึ่ง จมูก ลิ้น มันก็เป็นเหตุอันหนึ่ง กาย ใจ มันก็เป็นเหตุอันหนึ่ง อกุศลธรรม มันเกิดขึ้นมันเกิดในเหตุเหล่านี้

    ศีล ๕ ก็ดี ศีล ๘ ก็ดี ก็รวมเข้ามาในนี้แหละ ถ้านอกไปจากนี้เป็นความหลง เป็นธรรมเมาไป

    จำไว้ให้แม่น พระธรรมแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ ชี้ไปในกายนี้ ชี้ไปในใจนี้ ต้องเอาสมบัติของเจ้าพ่อ เจ้าแม่นี้ เป็นที่ตั้ง เป็นฐานของศีล ของทาน ของภาวนา เอาสมบัติอันนี้เป็นที่ตั้งของปัญญา เพื่อทำลายอกุศลธรรม คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง

    พระพม่าถามว่า วินัย ศีลปฏิบัติอย่างไร วินัยปฏิบัติอย่างไร
    บอกเขาไปว่า ปฏิบัติน้อมเข้ามาสู่กายสู่ใจนี้ ต้องรู้เหตุสำรวมระวังเหตุ ตาเป็นเหตุ ตาเห็นรูป ถ้าไม่รู้เท่าทันมันความยินดีก็เกิดขึ้น ความยินร้ายก็เกิดขึ้น ความโลภก็เกิดขึ้น เพราะเหตุนั้นเราต้องรู้เหตุ สำรวมระวังเหตุให้น้อมเข้ามาสู่กาย เอากายเป็นมรรค เอากายเป็นผล ค้นลงในสกลกายของเรานี้ วินี วินัย ก็คือการนำความชั่ว ความผิดออกจาก กาย วาจา ใจ นี้แหละ นี้แหละเป็นวินัย

    ต้องทำให้มาก ให้มีสติ เข้าหาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ปฏิบัติให้รู้จักที่เกิดของธรรม รู้จักที่ดับของธรรม ถ้าบริกรรมพุทโธ ก็เอาพุทโธไป ถ้าพูดมากฟังมากทำน้อยก็ไม่ได้ผล

    แต่ถ้าฟังแต่น้อยเอาความหมั่น ความเพียร ให้มาก ภาวนาให้มาก น้อมเข้ามาสู่กายสู่ใจของตน อุปาทานทั้ง ๕ อนิจจังทั้ง ๕ ทุกขังทั้ง ๕ อนัตตาทั้ง ๕ ภาราหเวปญฺจกฺขนฺธา ภาราหาโร จ ปุคฺคโล วางขันธ์ ๕ ธาตุ ๕ ได้แล้ว อุปาทานทั้ง ๕ อนิจจังทั้ง ๕ ทุกขังทั้ง ๕ รวมลงในธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ นี้แหละ

    ขันธ์แยกออกเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ พิจารณาอันนี้ให้มันรู้ ให้มันละมันวาง

    ภาวนา พุทโธ นี้แหละ เห็นว่ามันน้อยๆอย่างนี้ไปดูถูกไม่ได้ ความหมั่นความเพียรนี้แหละ เป็นประโยชน์มาก

    ถ้าฟังมากๆได้เฉพาะคำพูด แต่ทำเพียงเล็กน้อยแล้วก็แล้วไป มัวแต่เจ็บแข้ง เจ็บขา เจ็บหลัง เจ็บเอว อยู่อย่างนี้ มันไม่ได้ความอะไร

    มันเจ็บที่ไหนก็กำหนดเข้าที่นั่น ความเจ็บความปวดธรรมทั้งหลายไหลมาจากเหตุ หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่แหละเป็นเหตุ มันไหลมาจากนี้แหละ มีที่เดียวนี้แหละ คือ รักษาตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้แข็งแรง

    ความรักเกิดขึ้นก็นำออกเสีย ความชังเกิดขึ้นก็นำออกเสีย ความโลภ ความโกรธ ความหลง เกิดขึ้นทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็นำออกเสีย

    นี้ท่านยกขึ้นเป็นศีล ท่านยกขึ้นเป็นวินัย จะเป็นศีล ๕ ศีล ๘ อันใดก็ตาม ศีล ๕ นี้ก็อันนี้ประจำตน คือ ขา ๒ แขน ๒ หัว ๑

    ขันธ์ ๕ นี้แหละรักษาให้มันคุ้ม รักษา ตา นี้สำคัญ ตาเห็นรูป รูปที่พอใจก็ดี ไม่พอใจก็ดี ถ้าเราหลงลายมันก็มักเกิดความชั่ว

    ศีล ๕ ศีล ๘ ศีลมากมายเหมือนของภิกษุก็ต้องรักษาตานี้แหละ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นตัวเหตุมันไหลเข้ามา

    ธรรมทั้งหลายไหลมาจากเหตุ กำหนดเข้าๆรู้เท่าทันเหตุ เหตุดับมันก็ถึงความสุข เพราะวางอุปทานเหตุจึงดับไป อวิชชา ความมืด ไม่รู้แจ้งมันก็ดับไป เวลาพูดดูเป็นของง่ายแต่เวลาทำยาก

    อย่าไปยึดเอาสิ่งนั้นสิ่งนี้ ฟังแต่น้อยแต่ต้องทำให้มาก อาศัยความพากความเพียร ทำการงานด้วยกายของเราทุกสิ่งทุกอย่าง ทำให้เป็นอริยมรรค อย่าให้เป็นกิเลส ถ้าเป็นกิเลสเป็นทุกข์


    www.dhammasavana.or.th
     

แชร์หน้านี้

Loading...