ชัยชนะแห่งพุทธะ

ในห้อง 'บุญ-อานิสงส์การทำบุญ' ตั้งกระทู้โดย ไม้ขีด, 11 ธันวาคม 2012.

แท็ก: แก้ไข
  1. ไม้ขีด

    ไม้ขีด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,421
    ค่าพลัง:
    +3,023
    บทที่ ๑


    ชัยชนะต่อพระยามาร
    ผู้ขวางกั้นการตรัสรู้

    แม้พญา-มารา-ธิราชเจ้า จะร้อนเร่า เนรมิต ถึงพันแขน
    ถืออาวุธ ครบมือ ทะลวงแดน พร้อมด้วยแสนย์ เสนา มาประจัญ

    แล้วหาญทรง คชาธาร คีรีเมขล์ รณเลก โห่ร้อง ก้องสนั่น
    เข้าแวดล้อม มุนี หมายกีดกัน ทำลายขวัญ ให้หนี หลีกลี้ไป

    ด้วยเดชา อานุภาพ พระสัมพุทธ ธ วิสุทธิ์ มุนี ฤดีใส
    ทรงชนะ พญามาร ผู้เกรียงไกร ด้วยดวงใจ เปี่ยม ทาน-บารมี

    ขอผองท่าน จงมี ชัยมงคล ทั่วสกล ดลพร้อม ด้วยสุขี
    ด้วยอำนาจ แห่งทาน-บารมี ธรรมวิธี แห่งพระ พิชิตมาร.



    พาหุง สะหัสสะมะภินิมมิตะสาวุธันตัง
    ครีเมขะลัง อุทิตะโฆระสะเสนะมารัง
    ทานาทิธัมมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
    ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคลานิฯ

    สมเด็จพระจอมมุนี ทรงผจญกับพระยามารผู้มีฤทธิ์
    สามารถเนรมิตแขนได้ตั้งหนึ่งพัน แต่ละข้างถืออาวุธครบมือ
    ขี่ช้างครีเมขละ มาพร้อมกับเหล่าเสนามาร โห่ร้องกึกก้องน่าสะพรึงกลัว

    ทรงพิชิตพระยามารและเสนาทั้งหลาย ด้วยวิธีอธิษฐานถึงทานบารมี
    ด้วยเดชองค์พระผู้พิชิตมารนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่านทุกเมื่อ




    เจ้าชายสิทธัตถะรัชทายาทแห่งพระนครกบิลพัสดุ์ ทรงดำริจะออกผนวช หลังจากทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้ง ๔ อันได้แก่ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช ด้วยพระปัญญาบารมีที่ทรงบำเพ็ญมา พระองค์จึงเกิดความสลดสังเวชในพระทัยว่า
    "แม้แต่ตัวเราก็จักต้องแก่ ต้องเจ็บ และต้องตายอย่างนี้หรือ ความเป็นเช่นนั้นเป็นทุกข์แท้หนอ แล้วเราจะทำเช่นไรจึงจะพ้นความเป็นเช่นนั้นไปได้เล่า"
    ครั้นเมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นนักบวช ผู้มีความสงบเป็นปกติ เป็นผู้ประพฤติสุจริต กาย วาจาและใจ เป็นผู้ไม่เบียดเบียนแล้ว จึงทรงดำริว่า
    "ปกติสิ่งที่เกิดขึ้นย่อมมีของแก้กันอยู่มิใช่หรือ มีขาวก็มีดำ มีดีก็มีชั่ว ฉะนั้นเมื่อมีเกิดก็ต้องมีไม่เกิด การทำให้ภพชาติสิ้นไป จึงจะพ้นจาก ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ และความตายได้"
    ดำริเช่นนี้แล้วจึงทรงตั้งพระทัยแน่วแน่ที่จะแสวงหาหนทางแห่งความหลุดพ้น

    พระยามารรู้พระทัยของพระองค์ จึงขัดขวางพระพุทธองค์มิให้สำเร็จประโยชน์
    "เหตุไฉนพระองค์จึงทรงดำริที่จะออกผนวชเล่า ควรจะอยู่ครองราชสมบัติ เสวยความสำราญให้สมปรารถนาก่อน จะทรงผนวชให้ทรงลำบากทำไม ทรงมีพระชายาที่แสนห่วงใยรักใคร่ในพระองค์และมีพระโอรสที่กำลังน่ารักมิใช่หรือ"
    แต่ด้วยพระโพธิสัตว์มีพระทัยแน่วแน่ในการบำเพ็ญบารมี เพื่อบรรลุธรรมที่ทำให้ถึงความหลุดพ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย จึงไม่ใส่พระทัยในคำทักท้วง แม้พระยามารจะเกลี้ยกล่อมอย่างไรก็ตาม ก็มิทำให้พระองค์ทรงไขว้เขวในสัจจะบารมีที่ตั้งพระทัยไว้
    พระยามารใช้ความพยายามมากขึ้น เพื่อขัดขวางมิให้เจ้าชายสิทธัตถะออกผนวช
    "หากพระองค์ไม่ออกผนวช พระองค์มีพระประสงค์สิ่งใดจักได้สิ่งนั้น"
    เจ้าชายสิทธัตถะจึงกล่าวตรัสตอบไปว่า
    "เป็นเช่นนั้นหรือพระยามาร"
    พระยามารได้ใจจึงตอบไปว่า
    "ข้าพเจ้าสามารถเนรมิตให้พระองค์สมประสงค์ได้ทุกสิ่ง"
    พระองค์จึงตรัสตอบว่า
    "เจ้าให้เราไม่ต้องแก่ ไม่ต้องเจ็บ ไม่ต้องตายได้หรือไม่เล่า ถ้าเจ้าให้เราไม่ได้ เจ้าจงหลีกไปเสียเถิด"
    พระยามารนิ่งอึ้งไปพักใหญ่ จากนั้นจึงกล่าวอย่างแค้นเคืองว่า
    "นับแต่นี้ต่อไป ข้าพเจ้าจักหาโอกาสทำลายพระประสงค์ของพระองค์ให้จงได้"
    เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะทรงผนวชตามพระประสงค์แล้ว ทรงเข้าไปศึกษาในสำนักของอาฬารดาบส กาลามโคตร และอุททกดาบส รามบุตร สามารถปฏิบัติผ่านระดับสูงสุด จนหมดสิ้นความรู้ของอาจารย์ทั้งสอง แต่พระองค์ทรงพบว่าการปฏิบัติเช่นนั้นมิใช่หนทางแห่งความหลุดพ้น จึงอำลาอาจารย์ มุ่งหน้าสู่อุรุเวลาเสนานิคม ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เพื่อแสวงหาหนทางตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ณ ที่แห่งนั้น พระองค์ทรงดำริว่า
    "ที่นี่เป็นสถานที่วิเวกเหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรของเรา"
    พระองค์ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา คือการบำเพ็ญเพียรด้วยอุบายวิธีต่างๆ ด้วยการทรมาน
    พระวรกายโดยเอาชีวิตเข้าแลก ซึ่งเป็นความเชื่อแบบพราหมณ์ในสมัยนั้น ว่าเป็นวิธีที่จะเข้าถึงซึ่งความพ้นทุกข์ได้
    พระองค์ทรงแสวงหาทางหลุดพ้นจากทุกข์ด้วยการทรมานตนเอง เช่นนี้นานถึง ๖ ปี ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาแสนสาหัสเกินปกติที่มนุษย์ทั่วไปจะอดทนได้ แต่ถึงกระนั้นก็ยังมิทำให้พระองค์ค้นพบหนทางที่จะหลุดพ้นจากทุกข์ได้ พระปัญญาจึงเกิดแก่พระองค์ว่า หนทางแห่งการทรมานตนอย่างที่สุดเพื่อให้ถึงซึ่งความพ้นทุกข์นี้ คงไม่สามารถทำให้บรรลุธรรมได้ ทรงรำลึกได้ดังนั้นแล้ว อุปมา ๓ อย่าง จึงบังเกิดขึ้นในพระทัยของพระองค์

    "ไม้สดอยู่ในน้ำ ไม้สดอยู่บนที่แห้ง และไม้แห้งอยู่บนที่แห้ง หากต้องการสีให้เกิดไฟ จะต้องเป็นไม้แห้งที่อยู่บนที่แห้ง ไม่ใช่ไม้สดที่อยู่ในน้ำ หรือแม้ไม้สดอยู่ที่แห้ง"

    หมายถึง ผู้ที่แสวงหาโมกขธรรม ถ้ายังมีจิตใจชุ่มอยู่ด้วยกาม คือกายและจิตยังติดในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ก็เหมือนกับเอาไม้สดมาสีกัน ไม่มีทางเกิดไฟได้ แต่ในทางกลับกัน หากบำเพ็ญธรรมที่เสวยทุกขเวทนาอย่างแรงกล้า ด้วยความเพียรอย่างที่สุด ก็ไม่สามารถทำให้เกิดปัญญาอันรู้แจ้งเช่นกัน การประพฤติธรรมนั้น ต้องไม่ตึงและไม่หย่อนจนเกินไป เปรียบเสมือนสายพิณที่ขึงตึงไปอาจทำให้ขาดได้ แต่หากขึงหย่อนเกินไปเสียงที่ได้ก็ไม่ไพเราะ เมื่อใดขึงได้พอดีพอดีไม่ตึงไม่หย่อน ก็จะทำให้เสียงของพิณนั้นก้องกังวานไพเราะจับใจ
    ในคืนก่อนที่พระองค์จะตรัสรู้ได้ทรงสุบินเห็นนิมิต ๕ ประการ คือ
    ๑. พระองค์ทรงบรรทมราบ พระเศียรหนุนบนภูเขา พระหัตถ์ทั้งสองข้างจดมหาสมุทรทั้งทิศใต้และทิศเหนือ ในความฝันครั้งนี้ จะแสดงถึงความตรัสรู้อันยิ่งใหญ่ของพระองค์ที่จะแผ่พระศาสนาไปจากเหนือจดใต้ เป็นการแผ่พระศาสนาอย่างกว้างขวางไปทั่วทุกสารทิศ
    ๒. ต้นไม้ขึ้นที่กลางพระนาภี มีความหมายว่า พระองค์จะได้รู้อริยมรรคมีองค์ ๘ ประกาศเกรียงไกร พระศาสนาจะเจริญงอกงามสูงขึ้นตั้งแต่มนุษยโลกจนถึงพรหมโลก
    ๓. มีหนอนหัวดำตัวสีขาวพากันมาไต่ตอมชอนไชพระชงฆ์และพระบาทของพระองค์ ข้อนี้มีความหมายว่า ต่อไปจะมีอุบาสก อุบาสิกา นุ่งขาวห่มขาว ปฏิบัติธรรมเพื่อชอนไชดูดซับ ซึมรสธรรมะจากพระพุทธองค์
    ๔. นกสีต่างๆ พากันมาบินรุมล้อมพระบาทของพระองค์แล้วกลายเป็นสีขาวไปทั้งหมด หมายความว่า คนต่างชั้นวรรณะไม่ว่าจะเป็นวรรณะกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร หากปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระองค์ก็จักทำให้จิตบริสุทธิ์เสมอกันทุกวรรณะ
    ๕. พระองค์ดำเนินลุยไปในกองอุจจาระที่เป็นภูเขาใหญ่ แต่อุจจาระนั้นมิได้ทำให้พระองค์เปรอะเปื้อนแม้แต่น้อย หมายความว่า ต่อไปลาภสักการะจักบังเกิดแก่พระองค์ แต่พระองค์มิได้ทรงยินดีในสิ่งเหล่านั้น

    ในรุ่งอรุณแห่งวันวิสาขปุรณมี คือวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ หลังจากที่เสวยข้าวมธุปายาสของนางสุชาดา ธิดาของเศรษฐีประจำหมู่บ้านอุรุเวลาเสนานิคมแล้ว จึงเสด็จไปที่ริมฝั่งน้ำเนรัญชรา ทรงอธิษฐานด้วยพระทัยที่มุ่งมั่นว่า
    "ถ้าเราจักได้เป็นพระพุทธเจ้าในวันนี้ ขอถาดนี้จงลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไป แต่ถ้าหากมิได้เป็น ขอถาดนี้จงไปตามกระแสน้ำเถิด"
    แล้วทรงวางถาดลงบนกระแสน้ำ ทันทีที่ถาดนั้นถูกวางลงสู่กระแสน้ำ ถาดนั้นก็ค่อยๆ ลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไปจนถึงวังน้ำวน แล้วจึงจมลงสู่ท้องน้ำในที่สุด
    ความปิติบังเกิดในพระทัยอย่างเปี่ยมล้น ด้วยเป็นนิมิตหมายให้รู้ว่า พระองค์จักสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ด้วยการทวนกระแสแห่งกิเลส ไม่ปล่อยจิตใจให้ไปเป็นทาสแห่งตัณหานานัปการ จึงจะพบกับความเป็นอิสระที่แท้จริงแห่งจิตที่ถูกอวิชชาห่อหุ้มไว้
    ครั้นเวลาเย็นพระองค์เสด็จไปยังต้นพระศรีมหาโพธิ์ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ทรงนำหญ้าที่รับมาจากโสตถิยพราหมณ์ที่ได้น้อมถวายไว้ในระหว่างทางมาปูลาดเป็นอาสนะ ทรงประทับนั่งคู้บัลลังก์ ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก และทรงตั้งมหาปณิธานว่า
    "แม้เนื้อและเลือดในกายเราจะเหือดแห้งไป เหลือแต่หนัง เอ็น และกระดูกก็ตามที ตราบใดที่เรายังมิได้บรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เราจะไม่ลุกขึ้นจากบัลลังก์นี้เป็นอันขาด"

    ครั้งนั้น พระยาวสวัตดีมารได้ยินเสียงแห่งเทวดาทั้งหลาย แซ่ซ้องสาธุการ เมื่อได้ชมโพธิสมภารบารมีแห่งพระโพธิสัตว์เจ้าว่า
    "สาธุ สาธุ พระองค์จักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นแน่แท้"
    พระยามารถูกความริษยาเข้าครอบงำ จึงประกาศแก่หมู่เสนามารทั้งหลายว่าจะทำศึกกับเจ้าชายสิทธัตถะ เพื่อขัดขวางการตรัสรู้ของพระองค์ พระยามารได้ระดมขบวนทัพเสนามาร มีจำนวนประมาณมิได้ เห็นไกลไปจนสุดขอบฟ้า บางพวกมีกายแดงหน้าเขียว บางพวกมีกายเหลืองหน้าขาว บางพวกมีกายขาวหน้าเหลือง บางพวกมีกายดำหน้าขาว บางพวกมีศีรษะเป็นช้างกายเป็นมนุษย์ บางพวกมีศีรษะเป็นมนุษย์กายเป็นช้าง บางพวกมีกายเป็นโคมีศีรษะเป็นเสือ บางพวกมีศีรษะเป็นควายมีกายเป็นราชสีห์ บางพวกมีกายเป็นกามีศีรษะเป็นแร้ง มารบางพวกมีอสรพิษเต็มกายแผ่พังพานออกมาทางหูและศีรษะ บางพวกเนรมิตหน้าตามีลวดลายเหมือนสัตว์เลื้อยคลานต่างๆ บางพวกมีขนเต็มกาย บางพวกมีเขี้ยวยาวมีมือหลายมือ บางพวกมีกายใหญ่ศีรษะเป็นควายตาเป็นจระเข้ บ้างทำหน้านิ่วคิ้วขมวดชำเลืองเหลือกตาไปมา บ้างก็แยกเขี้ยวคำรามดังกึกก้อง บ้างก็ตีอกชกหัว บ้างก็กระโดดโลดเต้นไปมา บ้างก็แลบลิ้นปลิ้นตา บ้างก็ทะเลาะกัน บ้างก็จับพวกอื่นกิน ชุลมุนวุ่นวายสับสนและน่าสะพรึงกลัวยิ่งนัก
    กองทัพมารส่งเสียงดังกึกก้องจนพื้นพสุธาแทบจะถล่มทลาย ลมพัดกรรโชกรุนแรง
     
  2. ไม้ขีด

    ไม้ขีด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,421
    ค่าพลัง:
    +3,023
    ต้นไม้ใหญ่ถูกโค่นด้วยแรงลม เมฆเคลื่อนตัวต่ำ ฟ้าแลบแปลบปลาบเป็นระยะๆ มหาสมุทรอันเรียบสงบได้ก่อตัวเป็นคลื่นยักษ์ซัดเข้าหาฝั่งระลอกแล้วระลอกเล่าอย่างหนักหน่วงรุนแรง
    ฝ่ายพระยามารนิรมิตแขนได้ตั้งพันพร้อมศัสตราวุธครบมือ ก้าวขึ้นสู่ช้างครีเมขละอันสูงร้อยห้าสิบโยชน์โดยประมาณ พวกเสนามารอันเป็นทหารกองหน้าเดินเบียดเสียดโห่ร้องดังกึกก้องไปทั่ว พร้อมกระทืบเท้าเป็นจังหวะ ส่วนกองทัพที่อยู่ด้านหลังของช้างครีเมขละก็เบียดเสียดตามกันมา
    พระยามารประกาศแก่เสนามารให้ยกทัพไปสู่ต้นพระศรีมหาโพธิ์ และกำชับว่า
    "พวกเจ้าจงประหารชีวิตสิทธัตถะอย่าให้เนิ่นช้า แล้วจงตัดคอมาให้ข้าให้จงได้"
    เหล่าเทพยดาผู้แวดล้อมพระโพธิสัตว์เจ้าในครั้งนั้น เกิดความกลัวฤทธานุภาพแห่งพระยามาร ต่างชิงหนีเอาตัวรอด ทิ้งพระโพธิสัตว์ไว้เพียงลำพัง
    พระยามารได้ยกทัพโยธามาปรากฏเฉพาะพระพักตร์ สั่งให้เหล่ามารทั้งหลายเข้าไปประหารเอาชีวิตของพระโพธิสัตว์มาให้ได้ เหล่าเสนามารได้ฟังคำสั่งเช่นนั้นจึงเคลื่อนพลเข้าไปใกล้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ บางพวกก็สั่งให้พวกโน้นพวกนี้เข้าไป พูดจาเก่งกาจแต่ในใจกลับครั่นคร้ามในบารมีแห่งพระโพธิสัตว์ยิ่งนัก อุปมาเหมือนแมลงวันไม่สามารถบินเข้าไปใกล้ก้อนเหล็กแดงได้
    พระมหาโพธิสัตว์ทอดพระเนตรเห็นพวกพลเสนามารตั้งขบวนทัพมาประหนึ่งว่าจะย่ำยีพระองค์ให้เป็นจุณ จึงทรงดำริในพระทัยว่า
    "เรานี้เมื่อแรกเสด็จออกจากนครกบิลพัสดุ์ หมู่เทวดามาช่วยอภิบาลบำรุงรักษาแห่ห้อมล้อมทั้งซ้ายขวาหน้าหลัง บัดนี้หมู่เทวดากลัวตายพากันเตลิดหนีไป มีแต่เราเพียงลำพัง มิได้เห็นผู้ใดที่จะเป็นที่พึ่งอาศัยได้ เว้นแต่บารมีสามสิบทัศนั่นแล จักเป็นที่พึ่งแก่เราได้"
    เมื่อทรงดำริเช่นนั้น จึงทรงระลึกถึงบารมีทั้งหลายที่ทรงบำเพ็ญมาว่า
    "เรานั้นได้บำเพ็ญบารมีทั้ง ๑๐ ประการ คือ ให้ทาน รักษาศีล ออกบรรพชา ประกอบด้วยปัญญา มีความเพียร ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา และอุเบกขา โดยบำเพ็ญถึง ๓ ขั้น คือ ทศบารมี ทศอุปบารมี ทศปรมัตถบารมี ขอให้บารมีที่เราได้บำเพ็ญมาแล้วจงได้ปกป้องคุ้มครองเรา"
    ดังนี้แล้ว บารมีธรรมเหล่านี้และแม้บารมีธรรมเหล่าอื่นก็มาห้อมล้อมพระองค์
    ส่วนเสนามารทัพหน้าก็ได้ซัดอาวุธที่ตัวถืออยู่ มีก้อนศิลาบ้าง สากบ้าง หอกบ้าง ซัดเข้าไปที่ต้นพระศรีมหาโพธิ์ แต่อาวุธทั้งหลายเหล่านั้น ได้กลับกลายเป็นดอกไม้นานาชนิดร่วงหล่นเต็มพื้นโดยรอบต้น
    พระยามารเห็นเช่นนั้นก็ยิ่งโกรธมากขึ้น และเกิดครั่นคร้ามอยู่ในใจว่า
    "เราและเหล่ามารกระทำอิทธิฤทธิ์ต่างๆ ก็มิอาจจะทำสิทธัตถะให้สะดุ้งตกใจได้แม้แต่น้อย"
    เหตุการณ์นั้นทำให้พระยามารเคืองแค้น ได้กระทำอิทธิฤทธิ์ต่างๆ มีอาวุธทั้งเก้าประการบันดาลให้พุ่งสู่ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พระมหาโพธิสัตว์ประทับอยู่ และบันดาลให้เกิดลมพายุที่หนักหน่วงรุนแรงสุดจะหาสิ่งใดต้านทานไว้ได้ แม้ภูเขาที่ว่าใหญ่มีประมาณโยชน์หนึ่งบ้าง สองโยชน์บ้าง ก็ถูกทำให้พินาศย่อยยับไปในพริบตา แล้วบันดาลห่าฝนเป็นศัสตราบ้าง เป็นก้อนศิลาใหญ่บ้าง มีกรวดทรายบ้าง มีเปลวไฟบ้าง มีหอกแหลมบ้าง ซัดตรงเข้าสู่พระองค์อีกระลอกแล้วระลอกเล่า
    บรรดาศัสตราวุธนั้นเมื่อเข้ามาใกล้ ก็มิอาจทำอันตรายพระโพธิสัตว์ได้ หากกลับกลายเป็นเครื่องสักการะบูชา เป็นดอกไม้บ้างของหอมบ้าง หล่นลงมากองเต็มรอบต้นพระศรีมหาโพธิ์แล้วอันตรธานไป
    ฝ่ายพระยามารเมื่อเห็นเช่นนั้น ความโกรธก็ยิ่งเพิ่มทวีขึ้นอย่างหาประมาณมิได้ จิตใจมอดไหม้ด้วยไฟโทสะ แต่เมื่อไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็จักต้องเอาด้วยกล จึงกล่าวถ้อยคำอันหยาบช้าต่อพระโพธิสัตว์ว่า
    "ดูก่อนสิทธัตถะ เหตุไฉนเจ้าจึงมานั่งอยู่เหนือบัลลังก์ของข้า"
    ด้วยเมตตาบารมีแห่งพระโพธิสัตว์ที่สะสมไว้เป็นอเนกชาติ จึงมีพระสติมิได้ทรงโกรธตอบพระยามารแต่อย่างใด กลับกล่าววาจาที่ประกอบด้วยพระเมตตาแก่พระยามารว่า
    "ท่านกล่าวว่าบัลลังก์นี้เป็นของท่าน ดูก่อน พระยามาร รัตนบัลลังก์นี้จะบังเกิดมีแต่กาลก่อนก็หาไม่ แต่บังเกิดด้วยอานุภาพบารมีแห่งเรา อันมีทานบารมีเป็นต้น เราได้ให้ทานแก่คนยากจน มีน้ำใจเลื่อมใสเพื่อประโยชน์ที่จะสร้างบารมี แม้แต่ภรรยาและบุตร เราก็สละเป็นทานบารมีมาแล้ว ส่วนชีวิตเราก็สละเพื่อทานปรมัตถบารมีมาแล้วในกาลก่อน เราสร้างโพธิญาณมาช้านานรวมได้สี่ อสงไขยกับแสนมหากัป บัลลังก์นี้จึงไม่สมควรแก่ท่านเลย พระยามาร ท่านเป็นผู้มีใจหยาบช้านัก บัลลังก์นี้จึงสมควรแก่เราผู้กล่าวคำสัตย์นี้ มิใช่ท่าน"
    ฝ่ายพระยามารทนฟังไม่ได้จึงร้องออกไปว่า
    "สิทธัตถะ เจ้าอย่าพูดอวดอ้างให้มากนัก ใครเป็นพยานให้กับเจ้าได้ บัลลังก์นี้เป็นของข้าต่างหาก"
    กล่าวดังนั้นแล้ว พระยามารจึงหันไปยังเหล่าเสนามารพร้อมกล่าวว่า
    "ใช่ไหม พวกมารทั้งหลาย"
    เหล่าพวกมารทั้งหลาย ผู้กลัวในฤทธิ์ของพระยามารจึงพร้อมใจกันตอบว่า
    "ใช่ ใช่ ใช่แล้วท่านพระยามาร"
    พระโพธิสัตว์ทรงกล่าวว่า
    "คำเรากล่าวนั้นเป็นคำสัตย์จริง แต่ตัวท่านนั้นย่อมแกล้งกล่าวมุสาด้วยอุบายล่อลวงต่างๆ ทั้งย่อมเบียดเบียนผู้อื่นและแม้แต่สัตว์ทั้งปวง มีสภาพหยาบทรามยิ่งนัก"
    เมื่อพระโพธิสัตว์ตรัสจบ พระยามารไม่รีรอได้ขว้างจักราวุธหวังจะประหารพระองค์ให้สิ้นชีวิต
    ครั้งนั้นพระองค์ทรงปิดพระเนตรลง จักราวุธนั้นแลได้กลับกลายเป็นม่านเพดานดอกไม้ เหล่าเสนามารบางพวกเห็นเป็นเช่นนั้นก็ตกใจกลัวในพุทธานุภาพแห่งพระองค์ ได้พากันเผ่นหนี เบียดเสียดกันอลหม่าน ภูเขาป่าไม้ราบพินาศไปมิใช่น้อย
    พระบรมโพธิสัตว์จึงกล่าวกับพระยามารว่า
    "ดูก่อนพระยามาร ตัวเรานี้หาพยานมิได้ ไม่เห็นผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งจะเป็นสักขีพยานในครั้งนี้ได้เลย เห็นมีแต่นางพระธรณีนั่นแล ที่จะมาเป็นสักขีพยานแห่งเราได้"
    ทันทีที่สิ้นเสียงพระโพธิสัตว์ แผ่นดินก็เกิดสั่นไหวเสียงดังสั่นสะเทือนกึกก้องไปทั่ว แผ่นดินได้แยกออกเป็นสองส่วน เหล่ามารบางพวกตกลงสู่พื้นปฐพีที่แยกออก ปรากฏแสงสว่างพวยพุ่งขึ้นมาเป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก นางพระธรณีได้ปรากฏให้เห็นเป็นดรุณีพนมมือลอยขึ้นเหนือพสุธา มาปรากฏเฉพาะพระพักตร์แห่งพระบรมโพธิสัตว์
    นางพระธรณีได้กล่าวว่า
    "ข้าแต่พระมหาบุรุษเจ้าผู้ประเสริฐ ข้าพระพุทธเจ้านี้ได้ทราบสิ้นอยู่แล้วทุกประการว่าพระองค์ได้ทรงบำเพ็ญบารมีมาเป็นเวลาช้านานแต่กาลก่อน ข้าพระพุทธเจ้าได้ก้มเศียรเกล้าเกศาเข้าประคองรองรับน้ำที่พระองค์ทรงกรวดน้ำสู่พื้นปฐพี ด้วยทานบารมีที่พระองค์ทรงกระทำแล้ว ทานบารมีนี้คงจะพอเป็นพยานให้ประจักษ์แก่พระยามารได้ ข้าแต่พระโพธิสัตว์เจ้า ข้าพระพุทธเจ้าจะบิดเกศา ยังน้ำแห่งทักษิโณทกให้ปรากฏ ณ บัดนี้"
    ทันใดนั้นเอง ปรากฏน้ำไหลจากเกศาของนางพระธรณีเอ่อล้นจนท่วมปฐพี พัดพาเหล่าเสนามารให้พินาศย่อยยับไป บางพวกตะเกียกตะกายปีนป่ายขึ้นขี่กัน บางพวกลอยไปตามน้ำ บางพวกก็จมลงสู่ที่นั้น ศัสตราวุธต่างๆ ลอยไปตามกระแสน้ำ ส่วนช้างครีเมขละของพระยามารนั้นตกใจเสียหลักทรุดถอยหลังไป พระยามารเห็นเช่นนั้นจึงเกิดความสลดใจคลายความเห็นผิด เห็นประจักษ์แจ้งแก่ใจว่า
    "แม้อำนาจแห่งทานบารมียังมีคุณวิเศษถึงเพียงนี้"
    จึงอภิวาทประณตน้อมเกล้านมัสการแก่พระมหาโพธิสัตว์เจ้า ณ บัลลังก์แห่งช้างครีเมขละนั้นด้วยคาถาว่า
    " นโม เต ปุริสุตฺคท สเทวกสฺมึ โลกสฺมึ
    นตฺถิ เต ปาฏิปุคฺคโล ตุวํ พุทฺโธ ตุวํ สตฺถา
    ตุวํ มาราภิภูมุนิ ตุวํ อนุสเย เฉโก
    ติณฺโณ ตาเรสิ มํ ปชฺชติ "

    ข้าแต่พระมหาบุรุษผู้สูงสุดในโลกนี้และเทวโลก
     
  3. ไม้ขีด

    ไม้ขีด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,421
    ค่าพลัง:
    +3,023
    ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระองค์ผู้ไม่มีที่เปรียบได้
    พระองค์ทรงเป็นพระพุทธะ (ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน)
    พระองค์ทรงเป็นศาสดา พระองค์ทรงเป็นพระมุนีผู้ทรงข่มมาร
    พระองคทรงเป็นผู้ฉลาดในการกำจัดกิเลส
    พระองค์ทรงเป็นที่พึ่งซึ่งยังข้าพเจ้าให้ดำรงอยู่ได้"
    "ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงศักดา พระองค์ทรงประกอบไปด้วยคุณวิเศษหาประมาณมิได้ ทรงประกอบด้วยความบริสุทธิ์ พร้อมด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ข้าพระพุทธเจ้าขอนมัสการ พระองค์บังเกิดเป็นพระพุทธเจ้าในกาลเมื่อใด ขอจงทรงพระเมตตาแก่ข้าพระพุทธเจ้าด้วยเถิด"
    ครั้นถวายนมัสการดังนั้นแล้ว จึงอำลากลับสู่สถานของตนอันได้แก่สวรรค์ชั้นหก ที่มีชื่อว่า "ปรนิมมิตวสวัตดี"
    เมื่อพระยามารและเหล่าเสนาทั้งหลายกลับไปแล้ว เหล่าเทวดาที่รอดูอยู่ที่นั้นก็แซ่ซ้องสาธุการ สรรเสริญพระโพธิสัตว์ว่า
    "พระสิทธัตถะ แม้เป็นมนุษย์ยังสามารถชนะเทพบุตรหมู่มารได้ด้วยมือเปล่า มิต้องใช้ศัสตราวุธเลย พระโพธิสัตว์นี้จักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และจักเป็นพระศาสดาของมนุษย์และเทวดาทั้งหลายอย่างแน่นอน"
    หลังจากนั้น สิ่งทั้งหลายก็เข้าสู่ภาวะปกติ ฟ้าที่มืดมิดกลับแปรเปลี่ยนเป็นท้องฟ้าที่ทอแสงแห่งอาทิตย์ขณะจะอัสดง เสียงนกร้องเรียกหากัน
    พระโพธิสัตว์ประทับ ณ รัตนบัลลังก์ด้วยพระทัยอันมั่นคง ทรงเจริญฌาน ๑ ถึงฌาน ๔ จนจิตบริสุทธิ์ผ่องใสปราศจากนิวรณ์ เมื่อออกจากฌานแล้วจึงน้อมจิตไปเฉพาะหน้า จนได้บรรลุปุพเพนิวาสานุสติญาณ ซึ่งทำให้พระองค์สามารถระลึกชาติต่างๆ ที่ถือกำเนิดมาได้ทั้งหมด ตั้งแต่ ๑ ชาติ ๒ ชาติ ๓ ชาติ ไปถึง ๑๐ ชาติ ๒๐ ชาติ ๓๐ ชาติ ไปถึง ๑๐๐ ชาติ พันชาติ แสนชาติ จนนับจำนวนชาติมิได้ ทำให้รู้แจ้งประจักษ์ชัดว่าได้เกิด ณ ที่โน้น มีชื่ออะไร มีโคตรและพรรณสีกายต่างๆ มีความสุขทุกข์อย่างนี้ มีอายุเท่านี้ มาจนชาติสุดท้ายนี้ แจ้งชัดสว่างแก่จิตทุกประการ กำจัดอวิชชา คือ ความไม่รู้ หรือโมหะ ให้พินาศไป ณ ปฐมยามคือยามต้นแห่งราตรีนั้นเอง
    ลำดับนั้น ทรงมีพระประสงค์จะทราบซึ่งจุติและปฏิสนธิอุบัติแห่งสัตว์เหล่าอื่นๆ ทั้งหลายไม่มีที่สุดไม่มีประมาณ จึงน้อมจิตไปเฉพาะหน้า ก็บรรลุถึงจุตูปปาตญาณ ทำให้ทรงมีทิพยจักษุ พระองค์ทรงเห็นแล้วซึ่งสัตว์ทั้งหลายที่จุติและอุบัติขึ้น ทรงเห็นสัตว์ทั้งหลายทั้งทรามและประณีต มีความสุขความทุกข์อย่างไร และเพราะเหตุไร ทรงหยั่งทราบแล้วซึ่งสัตว์ทั้งหลายอันเข้าไปถึงสุขและทุกข์ตามสมควรแก่กรรม
    ทรงแจ้งประจักษ์ว่าสัตว์ทั้งหลายเหล่านี้หนอ ได้ประกอบแล้วด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า และมีมิจฉาทิฏฐิความเห็นผิด สมาทานซึ่งทุจริตมิจฉาทิฏฐิเป็นที่ตั้ง ครั้นกายแตกเบื้องหน้าแต่มรณะ ได้เข้าไปถึงซึ่งอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
    กำเนิดเหล่านี้หนอ ได้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า และเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ ไม่วิปริตจากมรรคผล สมาทานถือมั่นซึ่งสุจริตกุศลด้วยสัมมาทิฏฐิเป็นที่ตั้ง สัตว์เหล่านั้น ครั้นทำลายขันธ์สิ้นชีพแล้ว ได้เข้าไปถึงสุคติโลกสวรรค์ พระองค์ทรงทำให้แจ้งแล้วถึงการเกิดของหมู่สัตว์ทั้งหลาย หรือ การบรรลุจุตูปปาตญาณ ทรงกำจัดอวิชชา คือความไม่รู้ หรือโมหะ ณ มัชฌิมยาม คือยามกลางแห่งราตรี
    พระมหาบุรุษเจ้าพร้อมด้วยปัญญา คือ การบรรลุญาณทั้งสองแล้ว ได้ก้าวล่วงข้ามความสงสัยได้ทั้งในสันดานตนและผู้อื่น พระมหาบุรุษนั้นได้กระทำความสังเวชสลดจิต ทรงดำริว่า
    "โลกคือหมู่สัตว์นี้หนอ มรณะถึงแล้วซึ่งความอยาก ย่อมเกิดด้วย แก่ด้วย มรณะทำลายขันธ์ด้วย จุติเคลื่อนจากภพด้วย อุบัติเข้าไปถึงภพถือเอาความเกิดอีกด้วย ก็แต่สัตว์โลกมาถึงความอยากอยู่อย่างนี้ หารู้แจ้งประจักษ์ซึ่งความที่จะดับทุกข์ คือ ชรา มรณะนี้ให้ออกไปเสียได้ไม่ อะไรเล่าหนอ ที่สามารถขับไล่ทุกข์ คือชรา พยาธิ มรณะ นี้ออกไปเสียได้ ก็จะทำให้หมู่สัตว์ทั้งหลายเข้าถึงความพ้นทุกข์ที่แท้จริงได้"

    พระมหาบุรุษเจ้าทรงดำริแสวงหาปัจจัยแห่ง ชรา มรณะ ว่า เมื่ออะไรมีอยู่หนอ ชรา มรณะจึงมีอาศัย พระมหาบุรุษทรงทำในจิตโดยแยบคาย จนสามารถตรัสรู้ ด้วยปัญญาที่ทรงหยั่งรู้ถึงเหตุปัจจัยต่างๆ ที่เรียกว่า "ปฏิจจสมุปบาท" อันเป็นต้นเหตุของการเวียนว่ายตายเกิดและปัจจัยที่ทำให้ชรา มรณะ ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ทั้งหลายนั้นได้ดับสนิทลง ด้วยพระปรีชาทำให้รู้แจ้งชัดถึง นิโรธ คือ การดับทุกข์สนิท อันเป็นสิ่งที่พระองค์ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน
    เมื่อทรงบรรลุธรรมอันแจ้งชัดนี้แล้ว จิตก็หลุดพ้นจากกิเลสทั้งหลาย เข้าถึงความหลุดพ้น ไม่กลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป ด้วยอาสวักขยญาณ คือ ปัญญาแห่งความหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เป็นวิชชาที่ ๓ ทำให้พระองค์ได้บรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ หรือ ตรัสรู้หนทางแห่งการพ้นทุกข์ได้แล้ว ณ ปัจฉิมยาม อันเป็นยามสุดท้ายแห่งคืนวันวิสาขะ
    ลำดับนั้น หมื่นโลกธาตุก็เกิดหวั่นไหวสะเทือนเลื่อนลั่นไปทั่วปฐพี เกิดแสงสว่างทั่วโลกาธาตุหาประมาณมิได้ ทำให้เกิดโกลาหลแตกตื่นในหมู่มนุษย์และเทวดา มนุษย์บางพวกต่างมุงดูแสงประหลาดนั้นแล้วอุทานออกมาว่า
    "พวกเรา ดูนั่นสิ แสงประหลาดอะไรก็ไม่รู้"
    บางพวกก็แสดงอาการดีใจ บางพวกก็ประกาศว่า
    "โอ้ พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นแล้วในโลก ทรงเป็นพระบรมศาสดาเอกของโลก"
    บางพวกก็ก้มลงกราบน้ำตาไหลด้วยความปลื้มปิติ แสงนั้นล่วงสู่เทวานุภาพแห่งเทพยดาทั้งหลาย ซึ่งพากันอภิวาทประนมน้อมเกล้านมัสการแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้านาม "โคตมะ" บันลือสุรเสียงสาธุการดังกึกก้องขึ้นไปตั้งแต่สวรรค์ชั้นที่ ๑ ไปถึงสวรรค์ชั้นที่ ๖ และส่งต่อไปจนถึงชั้นรูปพรหมทั้ง ๑๖ ชั้นฟ้า
     
  4. ไม้ขีด

    ไม้ขีด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,421
    ค่าพลัง:
    +3,023
    บทที่ ๒

    ชัยชนะต่อยักษ์ผู้โหดร้าย


    เหิมลำพอง อาฬะ-วะกะยักษ์ กระด้างหัก ดุดัน เหี้ยมโหดห้าญ
    ปราศอดทน ร้ายกว่า พญามาร สถิตฐาน ชายป่า อาฬวี
    ด้วยเดชา อานุภาพ พระสัมพุทูธ ธ วิสุทธิ์ การุณย์ ฤดีศรี
    ทรงชนะ จอมยักษ์ ใจกาลี ด้วยวิธี ขันติ ทรมาน
    แม้มันโรม รุกราน คืนยันรุ่ง ธ หมายมุ่ง สงเคราะห์ ส่ำสัตวานต์
    ให้พ้นภัย ยักษ์กินคน อนธพาล ทรงยืนกราน อดทน พ้นด้วยดี
    ขอผองท่าน จงมี ชัยมงคล ทั่วสกล ดลพร้อม ด้วยสุขี
    ด้วยอำนาจ ขันติ-บารมี ธรรมวิธี แห่งพระ พิชิตมาร



    มาราติเรกะมะภิยุชฌิตะสัพพะรัตติง
    โฆรัมปะนาฬะวะกะมักขะมะถัทธะยักขัง
    ขันตีสุทันตะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
    ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิฯ

    สมเด็จพระจอมมุนี ทรงผจญกับอาฬวกยักษ์
    ผู้มีจิตใจกระด้าง หยาบช้า ดุร้ายเหี้ยมโหด
    ซึ่งได้ต่อสู้กันอยู่ตลอดคืน และรุนแรงยิ่งกว่าครั้งผจญพระยามาร
    ทรงพิชิตพญายักษ์ ด้วยขันติวิธี คือ ความอดทน
    ด้วยเดชองค์พระผู้พิชิตยักษ์นั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่านทุกเมื่อ ฯ
    สมัยหนึ่ง พระเจ้าอาฬวี พระราชาปกครองเหล่าพสกนิกรทั้งหลายในอาฬวีนคร พระราชาพระองค์นั้นเสด็จออกประพาสป่าล่าสัตว์ทุกๆ ๗ วัน เพื่อทรงกำจัดเสียซึ่งโจรผู้ร้าย เพื่อทรงกีดกันพระราชาที่เป็นข้าศึก และเพื่อทรงออกพระกำลัง ทรงมีพระปรีชาในการยิงธนูโดยหาผู้เทียบเทียมได้ยาก อีกทั้งยังอุดมด้วยพละกำลังและความรวดเร็ว ตามปกติของกษัตริย์ ผู้จักต้องเก่งกาจด้านการรบ การทหารและศัสตราวุธ รวมทั้งมีความเด็ดขาดในการสั่งการ บัญชาการต่างๆ
    อยู่มาวันหนึ่ง พระองค์ตรัสกับอำมาตย์ผู้ใกล้ชิดว่า
    "ดูก่อนอำมาตย์ วันนี้เราจะออกประพาสป่าล่าเนื้อ ขอท่านจงตระเตรียมเสบียงและพลโยธาให้พร้อม และบอกกับเหล่าทหารผู้ติดตามด้วยว่า หากมีเนื้อหลบหนีผ่านไปทางผู้ใด เนื้อตัวนั้นจะต้องตกเป็นภาระของผู้นั้น ขอพวกท่านจงอย่าได้ประมาท"
    หลังจากพระองค์ทรงสั่งการได้ไม่นาน ขบวนล่าเนื้อของพระราชาก็เคลื่อนพลตรงไปยังแนวป่า ครั้นเสด็จมาถึงกลางป่า ได้ทอดพระเนตรเห็นภูมิประเทศอันเหมาะแก่การดักซุ่มล่าเนื้อ จึงตรัสสั่งให้เหล่าพลโยธาทั้งหลายตั้งค่าย ณ ที่นั้น
    พระองค์ทอดพระเนตรเห็นกวางเพศผู้ตัวหนึ่งลงมากินน้ำ มีเขางามดุจเขาผลัดใหม่ ขนสีน้ำตาลอ่อนสะท้อนกับแสงแดดวาววับดูราวกับทองคำ จึงรีบฉวยคันศรพร้อมจะล่าเนื้อดังที่ทรงตั้งพระทัยไว้ และทรงให้สัญญาณกับเหล่าทหารพร้อมตรัสด้วยเสียงแผ่วเบาว่า
    "ทุกคน เตรียมตัวให้พร้อม และอย่าลืมกติกา"
    จากนั้นเหล่าทหารพร้อมศัสตราวุธต่างกรูกันไปรายล้อมเจ้าเนื้อเคราะห์ร้ายตัวนั้น แต่ด้วยสัญชาติญาน กวางหนุ่มสำเหนียกในภัยที่คุกคามมาสู่ตน มันวิ่งหนีไปทางพระราชาและหายเข้าป่าลึกไปอย่างรวดเร็ว แม้กระนั้นพระราชาก็มิทรงลดละ ทรงรีบติดตามกวางนั้นเข้าป่าไปแต่เพียงลำพังในทันที
    กวางหนุ่มวิ่งไปสุดกำลังด้วยความรักและหวงแหนชีวิตของตน แต่ครั้นสิ้นระยะทาง ๓ โยชน์ก็หมดกำลังลง และคิดว่าตนนั้นปลอดภัยดีแล้ว จึงหยุดแวะกินน้ำ ณ ลำธารแห่งนั้น ส่วนพระเจ้าอาฬวีทรงแกะรอยกวางนั้นตามมาทัน ทรงน้าวสายธนูสุดพระพาหา เพียงเสี้ยววินาทีก็แผลงศรออกไป เสียงลูกศรแหวกอากาศดังเฟี้ยวก้องพอจะทำให้เจ้ากวางนั้นรู้สึกตัว แต่ก็สายไปเสียแล้ว เพราะทันทีที่มันรู้สึกถึงเสียงนั้น ศรก็พุ่งเข้าสู่จุดตายของมัน แม่นยำราวกับถูกเสกด้วยมนต์ มันสะดุ้งเฮือกดุจถูกฟ้าผ่า ตะเกียกตะกายต่อไปได้เพียงไม่กี่ก้าวก็ล้มแน่นิ่งไปริมลำธารนั่นเอง
    แม้ว่าพระองค์ไม่ต้องการเนื้อกวาง แต่เพื่อให้สิ้นสงสัยว่า พระราชาจับกวางตัวนั้นได้หรือไม่ ดำริดังนี้แล้วจึงตัดแบ่งกวางนั้นออกเป็นสองท่อน แล้วทรงหาบกลับไปยังพลับพลา ระหว่างทางทรงทอดพระเนตรเห็นต้นไทรใหญ่ มีกิ่งก้านสาขาแผ่ใบเขียวชอุ่มปกคลุมหนาแน่นกว้างขวางยิ่งนัก ลำต้นใหญ่โตผิดไปจากต้นไทรทั่วไป ธรรมดาต้นไทรใหญ่ขนาดนี้ย่อมเป็นที่พึ่งพิงของเหล่าสกุณาตลอดจนสัตว์ไพรใหญ่น้อยทั้งหลาย ทว่า บรรยากาศกลับดูเงียบเชียบวังเวง ไร้ซึ่งสิ่งมีชีวิตที่เข้ามาอาศัยร่มเงา
    ในต้นไทรนั้น เป็นที่ตั้งวิมานแห่ง อาฬวกยักษ์ ผู้ได้รับพรจากท้าวเวสสุวัณมหาราช ให้สามารถจับกินคนและสัตว์ทั้งปวงที่เข้ามาในโอกาสแห่งร่มไทร ในเวลาเที่ยงวัน
    ขณะที่พระองค์ทรงเงยพระพักตร์มองท้องฟ้าที่พระอาทิตย์ส่องแสงแผดจ้าอยู่เหนือพระเศียร ฉลองพระองค์เปียกชุ่มไปด้วยพระเสโท ราวกับเพิ่งเสร็จจากสรงน้ำ ทรงเหนื่อยล้าจากการหาบเนื้อ จึงดำริจะประทับพักผ่อน แล้วดำเนินไปประทับนั่งอยู่ ณ โคนต้นไทร
    ทันใดนั้น ต้นไทรอันใหญ่โตน่าเกรงขามก็เกิดสั่นสะเทือน ใบร่วงกราวราวกับถูกลมพายุ เพียงอึดใจเดียว สิ่งมหัศจรรย์ก็ปรากฏเฉพาะพระพักตร์พระราชา ร่างใหญ่โตดำทะมึน ดวงตาทั้งคู่ใหญ่โปน ขอบตาเป็นสีแดงเด่นชัด เขี้ยวแหลมยาวงอกโง้งทั้งสี่ข้างโผล่พ้นออกมานอกริมฝีปาก
    พระราชาทรงได้สติทอดพระเนตรเห็นเจ้ายักษ์ย่างสามขุมเข้าใกล้อย่างประสงค์ร้าย จึงทรงยกคันศรขึ้นโดยทันทีและทรงเหนี่ยวคันศรสุดกำลัง แล้วจึงปล่อยลูกศรพุ่งตรงเป้าเข้าสู่บริเวณหน้าอกอันเป็นที่ตั้งของหัวใจของอาฬวกยักษ์ แต่ศรนั้นก็มิอาจจะสร้างความระคายใดๆ แก่ยักษ์ตนนั้นได้ เจ้ายักษ์ยกมือขึ้นเกาบริเวณที่ต้องศรนั้นแล้วจึงคำรามออกมาว่า
    "เจ้ามนุษย์หน้าโง่ !! ศรเพียงเท่านี้หาสามารถทำอันตรายใดๆ แก่เราไม่ วันนี้ช่างเป็นลาภของเราโดยแท้ ที่เจ้าเข้ามาในอาณาเขตแห่งร่มไทรนี้ เจ้าจะต้องพลีกายเป็นอาหารแก่เราในวันนี้ ฮ่า ฮ่า ฮ่า ... "
    อาฬวกยักษ์หัวเราะคำรามกึกก้องเสียงดังไปทั่วไพรสณฑ์ เหล่าสกุณาและสัตว์น้อยใหญ่ในละแวกใกล้เคียงตื่นตกใจหลบหนีออกจากบริเวณนั้นจนหมดสิ้น บรรยากาศร้อนอบอ้าวกลับเย็นเยียบลงอย่างรวดเร็ว
     
  5. ไม้ขีด

    ไม้ขีด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,421
    ค่าพลัง:
    +3,023
    พระราชาทรงหวาดหวั่นพระทัยยิ่งนัก แต่ยังพอมีพระสติเหลืออยู่บ้าง จึงกล่าวยื่นข้อเสนอแก่อาฬวกยักษ์ว่า
    "ช้าก่อน ! ท่านผู้เป็นใหญ่ในป่า เรานั้นคือพระราชาแห่งเมืองนี้ ท่านจงปล่อยเราไปเสียเถิด เราขอสัญญาว่าจะส่งมนุษย์มาเป็นอาหารของท่านทุกวัน"
    "ท่านเป็นถึงพระราชา จักทรงมัวเมาในความสะดวกสบายทั้งหลายในวัง แล้วจะทรงลืมเสียซึ่งสัญญานี้ ส่วนตัวข้ามีข้อจำกัดสามารถกินมนุษย์และสัตว์ที่เข้ามาในอาณาเขตแห่งร่มไทรนี้ในเวลาที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น นานทีปีหนจึงจะมีเหยื่ออันโอชะมาถึงข้า ฉะนั้นข้าไม่อยากจะเสียโอกาสงามๆ เช่นนี้ไป ข้าจะกินท่านเสียเดี๋ยวนี้แหละ"
    มิทันจะสิ้นเสียง อาฬวกยักษ์ก็จับพระราชาขึ้นมาไว้เบื้องหน้า พระราชาจึงตรัสแก่อาฬวกยักษ์อีกครั้งว่า
    "ขอให้ท่านจงไตร่ตรองให้ดี เราเป็นกษัตริย์ ตรัสแล้วย่อมไม่คืนคำ หากท่านกินเราในครั้งนี้ ท่านก็จะอิ่มเพียงมื้อเดียว หากปล่อยเราไปท่านก็จะได้กินอิ่มอีกหลายมื้อ"
    "แล้วถ้าหากท่านไม่รักษาสัญญาล่ะ" อาฬวกยักษ์ถามอีก
    "หากข้าไม่ส่งอาหารให้ท่านในวันใด ท่านจงมาจับเราไปกินเสียวันนั้น"
    อาฬวกยักษ์เห็นชอบตามนั้น จึงปล่อยพระราชากลับสู่พระนคร
    วันต่อมา หลังจากเสวยพระกระยาหารเช้าแล้ว พระราชาก็ตรัสเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้เสนาอำมาตย์ทั้งหลายฟัง อำมาตย์คู่พระทัยได้กราบทูลถามว่า
    "ข้าแต่สมมติเทพ พระองค์ทรงกระทำสัญญาโดยกำหนดระยะเวลาหรือไม่ พระเจ้าข้า"
    "เปล่า ! เราไม่ได้กำหนด"
    "ข้าแต่สมมติเทพ พระองค์ทรงกระทำผิดพลาดเสียแล้ว เพราะปกติอมนุษย์ทั้งหลายย่อมจะได้รับผลนั้นตามกาลที่กำหนดแล้วเท่านั้น แต่พระองค์ไม่ทรงกำหนดกาลดังนี้แล้ว ความเดือดร้อนทั้งหลายจักเกิดมีแก่เหล่าประชาราษฎร์ทั้งมวล แต่เอาเถิด พระเทวะ ขอพระองค์ทรงวางพระทัย ข้าพระองค์จักขอหารือกันก่อนพระเจ้าข้า"
    เหล่าเสนาอำมาตย์ประชุมกัน ณ พระตำหนักนั้น เพียงชั่วครู่จึงได้ข้อสรุปเห็นพ้องต้องกัน แล้วกราบทูลว่า
    "ข้าแต่สมมติเทพ พวกข้าพระองค์เห็นสมควรจะนำนักโทษที่มีในเรือนจำไปเซ่นสังเวยแก่ยักษ์ก่อน นักโทษเหล่านี้ วันใดเสียก็ต้องถูกประหารอยู่ดี พระเจ้าข้า"
    พระราชาทรงเห็นชอบ จึงมีพระราชโองการรับสั่งให้อำมาตย์ดำเนินการทันที
    อำมาตย์จึงส่งสาสน์ไปยังพัศดี ให้ประกาศว่า
    "วันนี้ พระเจ้าอยู่หัวทรงประทานอภัยโทษให้แก่นักโทษ ๑ คน ผู้ใดต้องการรอดชีวิต ผู้นั้นจงออกมาเสียบัดนี้"
    เหล่านักโทษเมื่อได้ยินดังนั้นแล้ว ต่างรีบยกมือชูกันให้สลอน สับสนวุ่นวายกันไปทั้งเรือนจำ ดังนี้แล้วจึงได้ตัวนักโทษคนแรกออกมา ให้อาบน้ำบริโภคอาหารเสียจนอิ่ม แล้วมีรับสั่งให้นำสำรับอาหารไปเซ่นสังเวยแก่ยักษ์ ณ โคนต้นไทรใหญ่กลางป่า
    ฝ่ายอาฬวกยักษ์ เมื่อได้เห็นมนุษย์ถูกส่งมาพร้อมสำรับอาหาร ก็กระหยิ่มยิ้มย่องดีใจเป็นที่สุด พอนักโทษคนนั้นมาถึงโคนต้นไทร ก็เนรมิตกายออกมา มีรูปร่างใหญ่โตน่าสะพรึงกลัว แล้วจับนักโทษนั้นโยนเข้าปาก ร่างของนักโทษนั้นแหลกเหลวลงไปในทันทีที่ฟันมันบดขยี้ลงดุจเคี้ยวก้อนเนย ริมฝีปากชุ่มไปด้วยเลือดสดๆ ไหลย้อยลงเป็นทาง มันตวัดลิ้นออกมาแลบเลียเลือดที่ริมฝีปากอย่างกระหาย ราวกับไม่ได้ลิ้มรสอาหารชั้นเลิศมานาน
    ชั่วขณะจิตอันเป็นวินาทีสยดสยอง ต่อหน้าเหล่าทหารที่คุมตัวนักโทษไปส่ง ทุกคนนิ่งตะลึงขยับตัวไม่ได้ไปชั่วขณะ แล้วเจ้ายักษ์ก็แผดเสียงหัวเราะคำรามกึกก้องสนั่นป่าอย่างสะใจ เหล่าทหารจึงได้สติกระเสือกกระสนวิ่งหนีลนลานกลับสู่พระนครอย่างสุดชีวิตพร้อมภาพติดตาอันสยดสยอง แล้วได้บอกเล่าให้เหล่ามิตรสหายของตนต่อๆ กันไปทั่วทั้งพระนคร
    ข่าวนั้นถูกโจษจันแพร่หลายอย่างรวดเร็วว่า พระราชาจับโจรให้ยักษ์กิน ชนทั้งหลายจึงงดเว้นจากโจรกรรมและอาชญากรรมทั้งปวง เรือนจำทุกแห่งว่างเปล่าปราศจากนักโทษ นักโทษเก่าก็หมดไป นักโทษใหม่ก็ไม่มี แล้วความก็ทราบถึงพระราชา พระราชาจึงเรียกประชุมเสนาอำมาตย์ แล้วตรัสแก่อำมาตย์ทั้งหลายว่า
    "ดูก่อนอำมาตย์ เราได้รับแจ้งว่า ขณะนี้นักโทษในเรือนจำทั้งหลายหมดสิ้นเสียแล้ว ต่อไปเราจักหาใครส่งไปให้ยักษ์กินเล่า"
    อำมาตย์ทั้งหลายปรึกษากันแล้วกราบทูลว่า
    "ข้าแต่สมมติเทพ พวกข้าพระองค์จะจัดส่งคนแก่ตามลำดับตระกูล ตระกูลละ ๑ คน เพราะคนแก่เหล่านี้อยู่ได้อีกเพียงไม่นาน ก็จะถึงแก่กาลมรณะอยู่ดี พระเจ้าข้า"
    "อย่าเลยท่าน เหล่าราษฎรทั้งหลายจักต่อต้านว่า พระราชาทรงส่งบิดาของพวกเรา มารดาของพวกเรา ปู่ของพวกเราไปให้ยักษ์กิน ขอพวกท่านอย่าได้ชอบใจในข้อนี้เลย"
    พวกอำมาตย์จึงกราบทูลต่อไปว่า
    "ถ้าอย่างนั้น พวกข้าพระองค์จะส่งเด็กทารกที่ยังแบเบาะอยู่ไปแทน เพราะจะได้ไม่มีใครมาทักท้วงว่า นี้มารดาของเรา นี้บิดาของเรา"
    พระราชาทรงเห็นชอบในข้อนี้ จึงทรงอนุญาตตามข้อเสนอ เด็กทารกทั้งหลายถูกจับไปเป็นเครื่องเซ่นสังเวยของอาฬวกยักษ์ เหล่ามารดาและหญิงมีครรภ์ทั้งหลายต่างก็อพยพหลบหนีไปอยู่เมืองอื่นเสียหมดสิ้น จนในวันหนึ่ง ทั่วทั้งพระนครก็หาทารกไม่ได้แม้สักคน
    เหล่าอำมาตย์จึงกราบทูลพระราชาว่า
    "ข้าแต่สมมติเทพ บัดนี้ทารกทั้งหลายได้ถูกจับเป็นภักษาของเจ้ายักษ์ตนนั้นเสียหมดแล้ว เว้นแต่ อาฬวกุมาร พระราชโอรสของพระองค์"
    พระราชาจึงตรัสว่า
    "โอรสของเรา เราย่อมรัก แต่บุคคลที่จะรักผู้อื่นยิ่งกว่าตนนั้นไม่มี พรุ่งนี้พวกท่านจงนำไปเถิด แม้จะเป็นโอรสของเรา ก็จงรักษาชีวิตของเราไว้"
    เหล่าราชบุรุษทั้งหลายก็ไปสู่สำนักแห่งพระอัครมเหสี แล้วจึงกราบทูลถ้อยความตามพระราชโองการให้ทรงทราบทุกประการ
    ฝ่ายพระมเหสี เมื่อได้สดับพระราชโองการนั้น ทรงแค้นเคืองและเสียพระทัยยิ่งนัก ทรงรำพันออกมาว่า
    "พระเจ้าพี่นี้หนา เหตุไฉนจึงได้พระทัยร้ายนัก แม้แต่พระโอรสของพระองค์เองก็ยังทำได้เช่นนี้"
    ด้วยความรักที่ยิ่งใหญ่ของแม่ที่มีต่อลูกน้อย ความรู้สึกนั้นได้ทิ่มแทงหัวใจยิ่งนัก การต้องพลัดพรากจากสิ่งที่ตนรัก ทำให้พระมเหสีมิอาจอดกลั้นพระทัยไว้ได้ ทรงซบพระพักตร์ลงกับพระราชกุมาร แล้วทรงกันแสงร่ำไห้
    "โอ้อนิจจา ลูกเอ๋ย แม่นี้ได้ชมเชยเจ้าทุกเช้าค่ำ กรรมเวรอันใดตามมาทัน จึงทำให้เราทั้งคู่ต้องจากกัน แล้วแม่จะอยู่ได้เช่นไรเมื่อไม่มีเจ้า"
    เหล่านางกำนัล ๑๖,๐๐๐ คนเห็นดังนั้นก็มิอาจจะกลั้นน้ำตาไว้ได้ จึงร้องไห้เสียงดังระงมทั่วพระตำหนัก ด้วยอาลัยสงสารองค์พระราชกุมาร

    ในวันนั้น ขณะสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในพระคันธกุฎี ณ พระเชตวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถี ทรงเข้าพระมหากรุณาสมาบัติแผ่พระญาณด้วยพุทธจักขุออกพิจารณาสัตว์โลก ทรงเห็นอุปนิสัยการบรรลุพระอนาคามิผลของพระอาฬวกุมาร การบรรลุพระโสดาปัตติผลของอาฬวกยักษ์ ตลอดจนการได้ดวงตาเห็นธรรมของหมู่สัตว์อีก ๘๔,๐๐๐ ชีวิต
    ครั้นราตรีสว่างแล้ว สมเด็จพระบรมศาสดาจึงเสด็จออกจากเมืองสาวัตถีแต่เพียงลำพัง พระองค์ไปถึงต้นไทรใหญ่ ทอดพระเนตรเห็นวิมานของอาฬวกยักษ์ด้วยอานุภาพแห่งตาทิพย์ แต่ขณะนั้นอาฬวกยักษ์ได้ไปสู่สมาคมแห่งยักษ์ในหิมวันตประเทศ
    พระองค์ทรงสนทนากับยักษ์ชื่อ คัทรภะ ผู้รักษาประตูวิมาน โดยมีพุทธประสงค์จะขอประทับอยู่ในวิมานสักราตรีหนึ่ง คัทรภะยักษ์ได้กราบทูลเตือนพระพุทธองค์ถึงความดุร้ายของอาฬวกยักษ์ แต่พระองค์ยังทรงยืนยันจะประทับในวิมานนั้น ดังนี้แล้ว คัทรภะยักษ์จึงหลีกไป แล้วมุ่งหน้าสู่หิมวันตประเทศเพื่อแจ้งข่าวให้อาฬวกยักษ์ทราบทุกประการ
    อันว่าวิมานแห่งอาฬวกยักษ์นั้น เป็นวิมานที่ล้อมรอบไปด้วยกำแพงใหญ่ มีป้อมปราการ
     
  6. ไม้ขีด

    ไม้ขีด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,421
    ค่าพลัง:
    +3,023
    จัดอย่างเป็นระบบ เบื้องบนปกคลุมด้วยข่ายสำริดราวกับหีบ มีซุ้มประตูใหญ่โตแน่นหนา แต่ด้วยอำนาจแห่งพระพุทธานุภาพ ประตูวิมานอันสูงใหญ่ก็เปิดออกเองอย่างน่าอัศจรรย์ ราวกับเป็นการเชื้อเชิญการเสด็จมาแห่งพระพุทธองค์
    ครั้นเสด็จเข้าสู่วิมานแล้ว ทรงประทับนั่ง ณ รัตนบัลลังก์อันเป็นทิพย์ ซึ่งเป็นที่นั่งของอาฬวกยักษ์ในวันมงคลต่างๆ จากนั้นก็ทรงเปล่งพุทธรังสีฉายประกายสีทองส่องสว่างไปทั่วดุจดังวิมานทองคำ เหล่านางสนมนางกำนัลต่างพากันมากราบไหว้พระผู้มีพระภาคเจ้า พระพุทธองค์จึงทรงแสดงพระปกิณกธรรมกถาด้วยพระสุรเสียงอันไพเราะ เหล่านางกำนัลจึงถวายสาธุการถึงพันครั้ง
    ในกาลนั้น ยังมียักษ์สองตนชื่อว่า สาตาคิรายักษ์ กับ เหมวตยักษ์ ต้องการจะไปสู่สมาคมแห่งยักษ์ แต่ไม่สามารถจะข้ามผ่านวิมานของอาฬวกยักษ์ไปได้ เพราะเหตุว่า ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายประทับอยู่ ณ ที่ใด แต่เบื้องบนขึ้นไปจนถึงชั้นภวัครพรหม ก็ไม่มีผู้ใดสามารถจะข้ามผ่านบริเวณนั้นไปได้ ยักษ์ทั้งสองรู้ถึงอาการอันผิดปกติแห่งวิมานของอาฬวกยักษ์ และได้แลเห็นสมเด็จพระพุทธชิโนรสในวิมานนั้น เกิดความปิติโสมนัสยิ่งนัก จึงพากันลงมากราบไหว้ พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรด ยักษ์ทั้งสองอาจหาญร่าเริงในธรรมกถา จากนั้นก็พากันหลีกไป
    ครั้นเมื่อมาถึงสมาคมแห่งยักษ์ทั้งหลายในป่าหิมพานต์แล้ว จึงแจ้งเนื้อความแก่อาฬวกยักษ์ว่า
    "ดูก่อนท่าน แก้วมณีบังเกิดขึ้นในวิมานแห่งท่านแล้ว จงรีบไปเถิดท่านผู้มีอายุ ไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า"
    "อาฬวกยักษ์ได้ยินเช่นนั้นก็เกิดความฉงนสงสัยยิ่ง จึงได้ถามยักษ์ทั้งสองว่า
    "สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าคือใครกัน ? เข้าไปอยู่ในวิมานของเราด้วยหรือ ? "
    "อ้าว ! ท่านผู้มีอายุ ท่านไม่รู้จักพระผู้มีพระภาค บรมครูของเราหรอกหรือ ? "
    แล้วยักษ์ทั้งสองนั้น จึงบรรยายความอัศจรรย์แห่งพระพุทธองค์เป็นประการต่างๆ อาฬวกยักษ์ฟังแล้วจะมีจิตเลื่อมใสก็หาไม่ กลับบังเกิดโทสะปฏิเสธความอัศจรรย์ทั้งหลายแห่งพระพุทธะ ยักษ์ทั้งสองผู้เริ่มขุ่นเคือง จึงกล่าวว่า
    "ดูก่อน อาฬวกะ เจ้าจะมองเห็นความมหัศจรรย์ของพระบรมศาสดาของเราหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อเปรียบเทียบเจ้ากับพระพุทธองค์แล้ว ก็เหมือนลูกกาปีกหักกับพญาครุฑซึ่งมีปีกอันยาวแผ่ไปกว้างถึง ๑๕๐ โยชน์ เจ้าจะทำอะไรแก่พระศาสดาของพวกเราได้"
    ครั้นอาฬวกยักษ์ได้ฟังถ้อยคำเย้ยหยันจากยักษ์ทั้งสองดั่งนี้แล้ว จึงบันดาลโทสะเป็นยิ่งนัก ผลุดลุกขึ้นเหยียบยอดเขาไกรลาส แล้วกล่าวว่า
    "แล้วพวกท่านจะได้เห็นว่า เราหรือพระศาสดาของท่าน ใครจะมีฤทธานุภาพมากกว่ากัน
    อาฬวกยักษ์ประกาศเสียงดังกึกก้องจนแม้แต่ป่าหิมพานต์ก็ยังต้องหวั่นไหว เสียงนั้นดังไปทั่วทั้งชมพูทวีปว่า
    "ข้าคือ อาฬวกะ... ! "
    ลำดับนั้น อาฬวกยักษ์ผู้ทรนงก็รีบบ่ายหน้ากลับสู่วิมานของตนด้วยความโกรธแค้นเร่าร้อน ในทันทีที่มาถึง ก็บันดาลพายุไต้ฝุ่นลูกใหญ่มาจากทิศทั้งสิ่ เกิดอากาศสั่นสะเทือนดังกึกก้อง ปฐพีสั่นสะท้าน พายุรุนแรงถอนรากถอนโคนต้นไม้ใหญ่ทั้งหลายทั่วทั้งพนาสณฑ์พัดไปยังอาฬวีนคร สถานที่นั้นพังทลายลง โรงช้างในนครแห่งนั้นก็แหลกลาญไม่มีชิ้นดี เศษหลังคาและอิฐหินต่างๆ ปลิวว่อนไปทั่ว ฝุ่นคลุ้งตลบมืดฟ้ามัวดินไปหมด พระพุทธองค์ทรงอธิษฐานขออย่าให้มีผู้ใดได้รับภยันตราย แต่พายุนั้นก็ไม่สามารถจะทำให้แม้แต่ชายจีวรของพระพุทธชินสีห์พลิ้วไหวได้เลย
    อาฬวกยักษ์จึงกระทำให้ฝนห่าใหญ่ตกลงมา หมายจะให้น้ำท่วมสมณะรูปนี้ให้มรณภาพและพัดพาสูญหายไป มหาเมฆรวมตัวกันอย่างรวดเร็ว สายฟ้าแลบแปลบปลาบประกอบกับเสียงฟ้าผ่าดังเปรี้ยงปร้าง และเม็ดฝนที่ตกลงมาอย่างรุนแรง หนักหน่วง จนแผ่นดินทะลุเป็นหลุมเป็นบ่อ แต่กระนั้นเม็ดฝนเหล่านั้นก็ไม่อาจจะสร้างแม้แต่ความชื้นให้เกิดขึ้นกับชายจีวรของพระพุทธองค์
    ต่อจากนั้น อาฬวกยักษ์ก็บันดาลฤทธิ์ให้มีห่าฝนประการต่างๆ มีฝนศิลา ฝนเครื่องประหารศัสตราวุธ ห่าฝนถ่านเพลิง ห่าฝนขี้เถ้าอันร้อนจัด ห่าฝนทราย และห่าฝนเลนตม ฝนทุกชนิดล้วนมีอานุภาพร้ายกาจ แต่ทันทีที่ห่าฝนเหล่านี้เข้าใกล้พระรัศมีกายแห่งสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ก็เปลี่ยนสภาพกลับกลายเป็นดอกไม้ทิพย์ เป็นผงจุณจันทน์ เป็นทิพยสุคนธรสเครื่องหอมประการต่างๆ อย่างน่าอัศจรรย์ ตกลงกองอยู่แทบเบื้องพระบาทของพระบรมไตรโลกนาถจนหมดสิ้น
    แม้กระนั้น อาฬวกยักษ์ก็มิได้ลดละ ได้เนรมิตความมืดมนอนธการขึ้นมาอีก ด้วยหมายมั่นว่า จักสร้างความสะพรึงกลัวแก่สมระรูปนี้ แต่ก็ไม่สามารถจะต้านทานพระพุทธรัศมีไว้ได้ ความมืดมนเหล่านั้นได้อันตรธานไปจนหมดสิ้น ดุจราตรีถูกขจัดด้วยแสงแห่งสุริยัน
    ฉะนั้น เมื่ออาฬวกยักษ์ไม่อาจจะสร้างความระคายใดๆ ให้แก่พระพุทธองค์ได้ จึงย่างสามขุมเข้าไปใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมทั้งเหล่าภูตผีบริวาร มีรูปร่างเป็นประการต่างๆ ดูน่ากลัวสยดสยองเป็นอย่างยิ่ง แต่เหล่าภูติผีปีศาจทั้งหลายก็ไม่สามารถแม้แต่จะเข้าใกล้พระพุทธองค์ได้เลย บริวารเหล่านี้ สร้างความวุ่นวายรบกวนพระพุทธองค์จนตลอดกึ่งราตรี ก็มิอาจกระทำให้พระผู้มีพระภาคทรงหวั่นไหวได้ อาฬวกยักษ์จึงฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า
    "เหตุไฉนหนอ เราจึงไม่ปล่อยทุสสาวุธ ซึ่งก็คือผ้าโพกหัวของเรา อันเป็นหนึ่งในอาวุธวิเศษ ๔ อย่าง ที่ไม่เคยมีใครชนะได้เล่า"
    คิดได้ดังนี้แล้ว จึงเปลื้องภูษาผ้าโพกออกจากศีรษะแล้วชูขึ้นกลางอากาศ ผ้านั้นได้กลายเป็นลูกไฟบรรลัยกัลป์ขนาดใหญ่ ความร้อนแรงของมัน สามารถจะทำให้ฝนแล้งไปยาวนานถึง ๑๒ ปี ผืนปฐพีก็ลุกเป็นไฟ ต้นไม้น้อยใหญ่ทั้งปวงจักเหี่ยวแห้งลงฉับพลัน และไม่สามารถเจริญเติบโตไปตลอด ๑๒ ปี น้ำในมหาสมุทรทั้งหลายก็จักเหือดแห้งลงชั่วพริบตา ภูเขาใหญ่เฉกเช่นเขาพระสุเมรุนั้นไซร้ ก็จักระเบิดกระจัดกระจายไปไม่มีเหลือ
    ปวงเทพยดาทั้งหลายในหมื่นจักรวาล เห็นเจ้ายักษ์ทรนงนี้แล้ว ต่างพากันมาประชุมกันจนแน่นขนัด ด้วยคาดหวังว่า
    "วันนี้ สมเด็จพระศรีสรรเพชญพุทธองค์ จักทรงทรมานเจ้ายักษ์อาฬวกตนนี้ พวกเราทั้งหลายจักได้ฟังธรรม ณ ที่นั้น"
    ฝ่ายอาฬวกยักษ์จึงขว้างอาวุธของตนไปยังพระพุทธองค์ อาวุธนั้นก็สำแดงฤทธิ์เดชของมันอย่างเต็มที่ หมุนควงสว่านรวดเร็วจนอากาศเสียดสีกันลุกเป็นเพลิงโชติช่วง มีสีเขียวสีแดงสว่างวูบวาบ แสงแลบแปลบปลาบดุจอสุนีจักร สะเก็ดไฟแตกพวยพุ่งกระจายไปทั่วอาณาบริเวณ ฝุ่นควันฟุ้งตลบไปทั่ว บรรยากาศรอบๆ ทวีองศาขึ้นอย่างรวดเร็ว เหล่าเทวดาทั้งหลายก็มิอาจทนความร้อนแรงของมันได้จนต้องหลีกออกห่าง เสียงเสียดสีกันของอากาศดังสนั่นกึกก้องจนฟ้าดินสะเทือน ครั้นแล้วผ้าโพกหัวของเจ้ายักษ์นั้นก็พุ่งตรงเข้าสู่พระพุทธองค์อย่างแม่นยำ แต่แล้วก็แปรสภาพกลับกลายเป็นผ้ารองพระบาท ตกลงแทบเบื้องพระพุทธบาท
    ครั้นเห็นผ้าโพกศีรษะของตนกลายเป็นผ้ารองพระบาทไปเสียแล้ว ก็หมดพิษฤทธิ์เดช ดุจดังอสรพิษที่ถูกถอนเขี้ยวเล็บจนสิ้นแล้ว แต่ด้วยความไร้ศรัทธา เป็นผู้หลงผิด มีความแข็งกระด้าง จึงคิดว่า
    "สมณะรูปนี้ไม่หวาดกลัวภัยพิบัติต่างๆ เลย แต่เอาเถอะ เราจักทำให้สมณะนั้นโกรธให้จงได้"
    ยักษ์ทุศีลเห็นผิดดังนี้ จึงเปล่งวาจาขับไล่สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ว่า
    "ท่าน อันข้าพเจ้ามิได้อนุญาตให้เข้าไปนั่งบนบัลลังก์ของเราดุจเจ้าของเรือน หากท่านยังตั้งอยู่ในสมณธรรมละก็ จงออกไปเถิด สมณะ"
    "ดีละ ท่าน"
    พระพุทธองค์ทรงตอบดังนี้แล้ว จึงเสด็จออกไปจากที่นั่ง ตามคำสั่งอย่างว่าง่าย อาฬวกยักษ์เห็นดังนั้น ความโกรธก็เบาบางลง ยิ้มออกมาได้พลางรำพึงในใจว่า
    "สมณะนี้ว่าง่ายแท้ ออกไปด้วยคำพูดเพียงคำเดียวเท่านั้น เราอาจจะชนะสมณะรูปนี้ได้เพราะความว่าง่ายนี้เป็นแน่"
    คิดดังนี้แล้วก็ทดลองสั่งพระบรมศาสดาว่า
    "จงเข้ามาเถิด สมณะ"
    "ดีละ ท่าน"
    พระพุทธองค์ตอบอาฬวกยักษ์ด้วยวาจาอันไพเราะ แล้วก็เสด็จเข้าไปอีกครั้ง อาฬวก
     
  7. ไม้ขีด

    ไม้ขีด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,421
    ค่าพลัง:
    +3,023
    ยักษ์ออกคำสั่งกับพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ในครั้งที่สอง แม้ในครั้งที่สาม พระพุทธองค์ก็ทรงทำตามอย่างว่าง่ายเช่นเคย ด้วยการถูกพระพุทธองค์ตามใจ ความชั่วร้ายลามกในดวงจิตก็กำเริบเสิบสานขึ้นมาอีก ได้คิดว่า
    "เออแน่ะ สมณะรูปนี้ว่าง่ายดีจริงๆ ถูกเราพูดให้ออกไปก็ออกไป พูดให้เข้าก็เข้ามา อย่างนี้แล้ว เราก็ทำเสียอย่างนี้ตลอดทั้งคืนเลยดีกว่า พอเหนื่อยแล้วก็จับเหวี่ยงไปยังฝั่งตรงข้ามแม่น้ำคงคาโน่น ไม่น่าเสียเวลารบกันตั้งครึ่งค่อนคืนเลย"
    อาฬวกยักษ์นึกกระหยิ่มยิ้มย่องอยู่ในใจ อารมณ์เริ่มแจ่มใสนึกสนุก จึงสั่งสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าอีกเป็นครั้งที่สี่
    "จงออกไปเถิด สมณะ"
    แต่คราวนี้ พระพุทธองค์ไม่ทรงทำตามเพราะเหตุแห่งกาลอันสมควร จึงทรงนิ่งเฉยและตรัสว่า
    "ดูก่อนอาฬวกะ เราจักไม่ออกไปละ ท่านประสงค์จะทำสิ่งใดก็จงเร่งทำเถิด"
    แต่แม้ว่าคราวนี้ พระพุทธองค์จะทรงขัดขืนไม่ทำตาม เจ้ายักษ์ก็ไม่โกรธเคือง ด้วยเหตุว่าโทสะเบาบางลงมากแล้ว จึงคิดจัดการกับสมเด็จพระสัพพัญญูด้วยวิธีใหม่
    "ดูก่อนสมณะ เราอยากจะถามปัญหากับท่าน หากท่านตอบปัญหาของเรามิได้ เราจักควักดวงใจของท่านออกมา แล้วโยนทิ้งเสีย จักบดขยี้หัวใจของท่านให้แหลกสลายคามือ หรือไม่ก็จักจับท่านโยนไปยังฝั่งตรงข้ามแม่น้ำโน่น"
    "อาฬวกะเอ๋ย เราตถาคตยังมองไม่เห็นว่าบุคคลใดๆ ในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ที่จะสามารถควักดวงจิตของเรา หรือบดขยี้หัวใจของเราหรือจับเราโยนข้ามฝั่งแม่น้ำไปได้เลย ดูก่อนอาฬวกะ หากท่านประสงค์จะถามปัญหาเรา จงอย่าได้รีรอ จงรีบถามมาเสียเถิด"
    หลังจากนั้น อาฬวกยักษ์จึงนำปัญหา ๘ ข้อ ที่มารดาบิดาของตนเรียนมาจากพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า พระกัสสปะ พร้อมกับคำแก้ ที่อาฬวกยักษ์ก็ได้เล่าเรียนจากมารดาบิดา ส่วนคำแก้นั้น อาฬวกยักษ์ได้ลืมเลือนเสียหมดแล้ว และคิดว่าคงไม่มีใครจะสามารถตอบได้ จึงเอาปัญหาทั้ง ๘ ข้อนี้ออกมา ถามว่า
    "สิ่งใดเล่าในโลกนี้ เป็นทรัพย์อันน่าปลื้มใจของบุรุษทั้งหลาย? "
    "ศรัทธา เป็นทรัพย์อันน่าปลื้มใจของบุรุษทั้งหลายในโลกนี้"
    "สิ่งใดเล่า ที่บุคคลทั้งหลายประพฤติดีแล้วนำสุขมาให้? "
    "ธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้ว ย่อมนำความสุขมาให้"
    "สิ่งใดเล่า เป็นรสอันประเสริฐกว่ารสทั้งหลาย? "
    "สัจจะ เป็นรสอันประเสริฐกว่ารสทั้งหลาย"
    "บุคคลดำเนินชีวิตเช่นไรเล่าจึงเรียกว่า ประเสริฐที่สุด? "
    "บุคคลผู้มีความเป็นอยู่ด้วยปัญญา ประเสริฐที่สุด ปราชญ์ทั้งหลายมีปกติกล่าวอย่างนี้"
    ครั้นสมเด็จพระพุทธสัพพัญญูทรงแก้ไขปัญหาเสร็จ อาฬวกยักษ์ก็บังเกิดความโสมนัสดีใจเป็นหนักหนา จึงถามปัญหาเพิ่มอีก ๔ ข้อว่า
    "บุคคลจะข้ามห้วงน้ำ คือ กิเลสอันท่วมใจสัตว์ได้อย่างไร? "
    "บุคคลย่อมข้ามห้วงน้ำ คือ กิเลสได้ด้วยศรัทธา"
    "บุคคลจะข้ามห้วงมหาสมุทร คือวัฏสงสารได้อย่างไร? "
    "บุคคลย่อมข้ามห้วงมหาสมุทร คือ วัฏสงสารได้ด้วยความไม่ประมาท"
    "บุคคลจะล่วงทุกข์ได้ด้วยอุบายเช่นไร? "
    "บุคคลย่อมล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร"
    "บุคคลย่อมบริสุทธิ์ได้อย่างไร? "
    "บุคคลย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา"

    ทันทีที่สิ้นพระสุรเสียงจากพระโอษฐ์แห่งพระพุทธสัพพัญญู อาฬวกยักษ์นั้นก็บรรลุธรรม ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล(โสดาบัน) ความนอบน้อมในพระพุทธะก็บังเกิดมีแก่อาฬวกยักษ์อย่างท่วมท้น และเหตุว่าอาฬวกยักษ์นั้น เดิมทีเป็นผู้มีปัญญาดี รอบรู้ในเนื้อความต่างๆ เป็นอันมาก จึงได้ทูลถามพระพุทธองค์ต่อไปอีกว่า
    "ข้าแต่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็แล้วบุคคลจะเกิดปัญญาได้อย่างไร? "
    "บุคคลผู้ต้องการพระนิพพาน ต้องเชื่อฟังคำสั่งสอนของพระอรหันตเจ้าทั้งหลาย ดำรงตนอยู่ในความไม่ประมาท คิดด้วยดี ฟังด้วยดี ย่อมมีปัญญา"
    "ทรัพย์ทั้งหลายบังเกิดแก่บุคคลได้อย่างไร? "
    "บุคคลผู้มีการงาน มีความรับผิดชอบไม่ทอดทิ้ง มีความขยัน หมั่นเพียร ย่อมได้ทรัพย์"
    "บุคคลจะมีชื่อเสียงได้อย่างไร? "
    "บุคคลย่อมได้ชื่อเสียงด้วยสัจจะ"
    "บุคคลจะผูกใจมิตรทั้งหลายได้อย่างไร? "
    "บุคคลผู้ใดมีการให้ ย่อมผูกมิตรทั้งหลายไว้ได้"
    "บุคคลใดเมื่อละจากโลกนี้ไปสู่โลกอื่นแล้วย่อมไม่เศร้าโศก? "
    "บุคคลผู้ครองเรือนอยู่ มีศรัทธา ถือธรรม ๔ ประการ คือ สัจจะ (ซื่อสัตย์) ทมะ (ฝึกฝน) ขันติ (อดทน) จาคะ (เสียสละ) ผู้นั้นแล ย่อมละจากโลกนี้ไปแล้วไม่เศร้าโศก"
     
  8. ไม้ขีด

    ไม้ขีด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,421
    ค่าพลัง:
    +3,023
    สิ้นพระกระแสเสียงแห่งคำวิสัชชนา อาฬวกยักษ์เกิดความปีติในจิตใจเป็นล้นพ้นจึงกล่าวว่า
    "วันนี้ข้าพระองค์ได้ทราบอย่างชัดเจนแล้ว ถึงประโยชน์ที่จะพึงได้รับในโลกนี้และโลกหน้า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์เสด็จมาประทับยังเมืองอาฬวีนี้ก็เพื่อประโยชน์แก่ข้าพระองค์โดยแท้ ในวันนี้ข้าพระองค์ได้รู้แจ้งถึงบุคคลที่ถวายทาน แล้วทานนั้นย่อมมีผลมาก ข้าพระองค์ขอนอบน้อมต่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต่อพระธรรมที่ตรัสไว้ดีแล้ว และต่อพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ"

    เช้าวันต่อมา ถึงเวลาที่พวกอำมาตย์นำพระราชกุมารมาเซ่นสังเวยแก่ยักษ์ อาฬวกยักษ์ได้รับเอาพระราชกุมารมา ในใจบังเกิดความละอายยิ่งนักด้วยภาวะแห่งความเป็นพระโสดาบัน จึงได้มอบองค์เจ้าอาฬวีราชกุมารนั้น นอบน้อมถวายแด่สมเด็จพระบรมศาสดา เพื่อประโยชน์และความสุขทั้งหลายแก่พระราชกุมารพระองค์นี้
    ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงรับพระราชกุมารแล้ว ได้ตรัสสารคาถา เพื่อเป็นมงคลแก่ยักษ์และพระราชกุมารว่า
    "ขอพระกุมารนี้จงทรงมีชนมายุยืนนาน ดูก่อนยักษ์ ขอท่านจงมีความสุขด้วย ขอท่านทั้งสองจงไม่มีโรคเบียดเบียน ดำรงอยู่เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลกเถิด ขอพระกุมารนี้ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ดังนี้"
    ครั้นแล้ว สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทานพระกุมารแก่ราชบุรุษที่นำพระกุมารมาแล้วตรัสว่า ให้ยังพระกุมารนี้ให้เจริญเติบโต แล้วนำมาให้แก่พระพุทธองค์อีก ด้วยเหตุนี้ พระกุมารนี้จึงได้พระนามว่า หัตถกอาฬวกุมาร เพราะพระกุมารนั้นมาจากราชบุรุษ ไปสู่มือแห่งยักษ์ ไปสู่พระหัตถ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า และกลับไปสู่มือราชบุรุษอีกครั้ง
    ประชาราษฎร์ทั้งหลายครั้นเห็นพระราชกุมารเสด็จกลับมาอย่างปลอดภัย ต่างสงสัยเป็นหนักหนา เหล่าราชบุรุษจึงเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น ชาวอาฬวีนครต่างพร้อมใจกันหันหน้าไปยังวิมานแห่งอาฬวกยักษ์แล้วส่งเสียงอันดังว่า
    "สาธุ สาธุ สาธุ"
    ลำดับนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบิณฑบาตในพระนครนั้น หลังจากทรงทำภัตกิจเสร็จแล้ว จึงประทับนั่ง ณ โคนไม้แห่งหนึ่งใกล้ประตูพระนคร มหาชนและชาวอาฬวีนครทั้งหลาย มาประชุมกัน กระทำอภิวาทแล้วทูลถามพระพุทธองค์ถึงเรื่องราวความเป็นมาของการทรมานอาฬวกยักษ์ พระพุทธองค์จึงตรัส อาฬวกสูตร ตั้งแต่เริ่มการรบไปจนจบให้เหล่าพสกนิกรได้ฟั ง เมื่อสิ้นกระแสความแห่งพระสูตร ชาวเมือง ๘๔,๐๐๐ คนก็ได้ดวงตาเห็นธรรม ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล
    ครั้นเมื่อหัตถกอาฬวกุมารเจริญวัย และฟังพระธรรมเทศนาจากพระบรมศาสดาจนบรรลุอนาคามิผล พระพุทธองค์ทรงยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะ ผู้เลิศกว่าอุบาสกทั้งหลาย ในด้านการสงเคราะห์บริวารด้วยสังคหวัตถุ ๔ ประการ คือ หนึ่ง การเป็นผู้ให้(ทาน) สอง การพูดด้วยวาจาไพเราะ(ปิยวาจา) สาม การอุทิศตนบำเพ็ญประโยชน์(อัตถจริยา) และสี่ การวางตนเสมอต้นเสมอปลาย(สมานัตตตา)


    ยังมีต่อคราวหน้าจะลงให้ใหม่ครับ
     
  9. ไม้ขีด

    ไม้ขีด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,421
    ค่าพลัง:
    +3,023
    บทที่ ๓

    ชัยชนะต่อสัตว์เดรัจฉานที่บ้าคลั่ง



    โกญจนาท นาฬา-คิรีคช
    เมาพยศ ตกมัน ตะบึงผลาญ
    หมายย่ำยี สยมภู ให้แหลกลาญ
    ดุจเพลิงธาร ไฟป่า สายฟ้าฟัน
    โผนทะยาน ดุจดัง จักราวุธ
    ทะรี่รุด หมายฟาด ให้อาสัญ
    พญาช้าง เผ่นโผน โจนประจัญ
    ตะลึงงัน หมอบราบ บาทยุคล
    ด้วยอำนาจ เมตตา ตถาคต
    ดับพยศ คชสาร กลางสถล
    พระเมตตา ไหลหลั่ง ดังสายชล
    ดับทุรน พยศช้าง ชื่นปรีดี
    ขอผองท่าน จงมี ชัยมงคล
    ทั่วสกล ดลพร้อม ด้วยสุขี
    ด้วยอำนาจ เมตตา-บารมี
    ธรรมวิธี แห่งพระ พิชิตมาร



    นาฬาคิริง คะชะวะรัง อะติมัตตะภูตัง

    ทาวัคคิจักกะมะสะนีวะ สุทารุณันตัง

    เมตตัมพุเสกะวิธินา ชิตะวา มุนินโท

    ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิฯ



    สมเด็จพระจอมมุนี ทรงผจญกับพญาช้างนาฬาคิรี

    ซึ่งกำลังตกมัน ดุร้าย ดุจไฟป่า และจักรกับสายฟ้า

    ทรงพิชิตพญาช้าง ด้วยน้ำพระทัยแห่งความเมตตา

    ด้วยเดชองค์พระผู้พิชิตช้างนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่านทุกเมื่อ





    ในนิพพาราตรีหนึ่ง พระพุทธบพิตรทรงเข้าสู่ที่ประทับบรรทมพักผ่อนพระสิริวรกาย ณ ที่สมควรที่จัดไว้เพื่อพระบรมศาสดา หลังจากที่ทรงไขปัญหาแก่หมู่เทวดาทั้งหลายที่มาถามปัญหาในมัชฌิมยาม ความสว่างไสวก็บังเกิดไปทั่วทั้งวัดเวฬุวัน ด้วยรัศมีแห่งเทวดาเหล่านั้น เมื่อเสร็จพุทธกิจแล้ว ทรงบรรทมสีหไสยาสน์ในพระคันธกุฎี งามสง่าสมองค์พระจอมไตร และขณะที่ทรงพระบรรทมได้ทรงตรวจดูเวไนยสัตว์ทั้งหลายที่จะพึงสั่งสอนให้รู้ธรรมในเบื้องสูง แล้วทรงเล็งเห็นบุคคลทั้ง ๘๔๐๐๐ คน ที่สามารถจะบรรลุธรรมได้ในเหตุการณ์ที่พระองค์จะทรมานพญาช้างหลวงที่ชื่อว่า นาฬาคิรี กลางกรุงราชคฤห์

    ครั้นล่วงเวลาแห่งราตรีเข้าสู่เช้าของวันใหม่ อรุณทอแสงเงินแสงทอง สะท้อนกับพระฉวีดั่งทองคำของสมเด็จพระชินวงศ์ เมื่อสรงพระวรกายสำเร็จกิจแห่งพระสรีระในเวลาเช้า พระองค์ตรัสแก่พระอานนท์ว่า

    " อานนท์ เธอจงบอกแก่เหล่าภิกษุทั้งหลายในมหาวิหารใหญ่ทั้ง ๑๘ ตำบล อันอยู่ในกรุงราชคฤห์ทั้งหมดให้เข้าไปในเมืองกับเราเถิด "

    พระพุทธอนุชารับคำแห่งพระองค์แล้ว ปฏิบัติตามที่รับสั่งทุกประการโดยไม่บกพร่อง ฝ่ายภิกษุทั้งหลายครั้นทราบความแล้ว จึงมาประชุมพร้อมกัน

    พระเทวทัตผู้เป็นญาติฝ่ายพระมารดาของสมเด็จพระบรมศาสดา เป็นผู้มีจิตใจโหดร้าย มีความปรารถนาชั่ว มีอุปนิสัยตรงข้ามกับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งแต่ครั้งสมัยยังทรงพระเยาว์ทั้งสองพระองค์

    ในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังเป็นสิทธัตถกุมารทรงมีนิสัยรักความสงบ เพียรศึกษาหาความรู้ ส่วนเทวทัตกุมารกลับมีนิสัยเกเร ชอบเบียดเบียนชีวิตผู้อื่น ครั้งหนึ่งสิทธัตถกุมารได้ช่วยชีวิตหงส์ตัวหนึ่งไว้ หลังจากที่ถูกศรของเทวทัตกุมารยิงใส่ด้วยความสนุก ขณะพระองค์ทรงถอนศรออกจากหงส์ตัวนั้น เทวทัตกุมารได้เข้าไปพยายามจะแย่งหงส์จากพระองค์ กล่าวกับพระองค์ว่า

    " หงส์ตัวนี้เราเป็นเจ้าของ และศรนั้นก็เป็นของเราด้วย เรายิงมันได้ด้วยฝีมือ "

    พระองค์ตรัสตอบว่า

    " หงส์ตัวนี้ ควรจะเป็นของผู้ที่รักษาชีวิตมัน มากกว่าที่จะเป็นของผู้ที่พยายามจะพรากชีวิตของมัน "

    พระเทวทัตจึงผูกพยาบาทพระพุทธองค์ตั้งแต่นั้นมา ครั้นเมื่อเจ้าชายเทวทัตเจริญพระชันษา และหลังจากที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้และประกาศพระศาสนาแผ่ไพศาลไปจนครบองค์แห่งพระรัตนตรัย พระเทวทัตจึงได้อุปสมบทพร้อมกับกษัตริย์ทั้ง ๕ คือ เจ้าชายภัททิยะ เจ้าชายอนุรุทธะ เจ้าชายอานนท์ เจ้าชายภคุ เจ้าชายกิมพิละ และช่างกัลบกชื่อว่าอุบาลีอีก ๑ คน

    เจ้าชายเทวทัตแม้ออกบวชเป็นสมณะในพระพุทธศาสนาแล้ว ก็ยังคงมีความริษยาในพระบรมศาสดา ถูกความโลภครอบงำ มักใหญ่ ใฝ่สูง และหลงใหลในลาภสักการะ จึงหาอุบายวิธีให้มีลาภสักการะมาก ๆ จึงดำริว่า

    " ใครหนอ จักช่วยให้เรามีลาภสักการะเทียบสมณโคดมได้ "

    ดำริดังนั้นแล้ว จึงเห็นว่าเจ้าชายอชาตศัตรูนั้นน่าจะศรัทธาในตนและเมื่อเป็นดังนั้นแล้วลาภสักการะก็จะตามมา เพื่อลาภสักการะ เจ้าชายเทวทัตจึงมุ่งตรงไปยังพระราชวัง ณ ที่ประทับของเจ้าชายอชาตศัตรู ด้วยอิทธิฤทธิ์จำแลงกายเป็นมาณพน้อยเหาะมาในอากาศ มีงูพิษพันรอบเอว ๑ พัน เป็นสังวาล ๑ พัน รอบข้อมือทั้งสอง ๒ พัน รอบข้อเท้าทั้งสอง ๒ และพันบนมวยผม ๑ ปรากฎกายอยู่เบื้องหน้า

    เจ้าชายอชาติศัตรูทรงมีอาการหวาดหวั่น สะดุ้งตกพระทัย พระเทวทัตจึงกล่าวว่า

    " พระองค์ทรงกลัวอาตมาหรือ "

    " ใช่เรากลัว แล้วท่านเป็นใครกัน "

    " อาตมา คือ พระเทวทัต "

    " เป็นสมณะหรือ หากเป็นเช่นนั้นจริง ขอท่านจงคืนกลับสู่เพศสมณะตามเดิมเถิด "

    พระเทวทัตจึงกลับคืนสู่เพศสมณะตามเดิม เจ้าชายอชาติศัตรูเมื่อเห็นอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เช่นนั้น ก็บังเกิดความเลื่อมใสเป็นอย่างมาก และบูชาพระเทวทัตด้วยลาภสักการะเรื่อยมา พระเทวทัตเมื่อได้รับการสนับสนุนจากเจ้าชายอชาตศัตรูจึงลำพองใจยิ่งคิดอกุศลว่า
     
  10. ไม้ขีด

    ไม้ขีด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,421
    ค่าพลัง:
    +3,023
    " เราจักปกครองสงฆ์ "

    ทันทีที่สิ้นสุดความคิดนั้น พลังอิทธิฤทธิ์ก็อันตรธานไป เสื่อมจากฌานสมบัติ ไม่สามารถแสดงฤทธิ์ได้อีกต่อไป

    ในเวลาต่อมาพระเทวทัตได้กราบทูลพระศาสดา ขณะที่พระองค์ทรงแสดงธรรมอยู่ท่ามกลางพุทธบริษัทว่า

    " ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงชราภาพมากแล้ว ขอจงทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ตามปกติเถิด ส่วนหน้าที่การปกครองสงฆ์ขอให้เป็นภาระของข้าพระองค์ "

    ด้วยความโลภครอบงำจิตใจ จึงลืมว่าตนนั้นอาวุโสกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า เนื่องจากพระนางพิมพาอดีตพระมเหสีของพระพุทธเจ้านั้น เป็นสหชาติของพระพุทธองค์คือเป็นผู้ที่เกิด วัน เดือน ปี เดียวกันกับพระพุทธเจ้า ขณะที่พระเทวทัตเป็นพระเชษฐาของพระนางพิมพา จึงมีอายุมากกว่าพระพุทธองค์ ไฉนเลยจะอาวุโสกว่าพระเทวทัตได้

    ครั้งนั้นพระองค์ทรงปฏิเสธพระเทวทัตว่า

    " เธอจงอย่าใฝ่ใจในการปกครองสงฆ์เลยเทวทัต แม้แต่สารีบุตรและโมคคัลลานะเรายังไม่มอบสงฆ์ให้ดูแลเลย ไฉนเราจึงจะมอบให้เธอผู้เปรียบดังเช่นซากศพ และบริโภคปัจจัยดุจกลืนก้อนน้ำลายเล่า "

    พระเทวทัตเมื่อได้ฟังดังนั้นแล้ว จึงโกรธและแค้นเคืองพระพุทธองค์เป็นอย่างมาก ก้าวออกไปจากที่นั้นโดยทันที และคิดพยาบาทปองร้ายพระพุทธเจ้าเป็นทวีคูณ พยายามปลงพระชนม์พระพุทธเจ้าด้วยวิธีการต่าง ๆ อยู่หลายครั้ง มีอยู่ครั้งหนึ่งได้สั่งให้นายขมังธนูไปลอบปลงพระชนม์ ขณะที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมแก่พุทธบริษัท ทำให้นายขมังธนูนั้นได้ฟังธรรมไปด้วย จนเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และกราบทูลขออุปสมบทเป็นภิกษุในพระบวรพุทธศาสนา

    เมื่อใช้คนอื่นไม่สำเร็จพระเทวทัตจึงลงมือด้วยตนเอง โดยปีนขึ้นไปบนยอดเขาคิชฌกูฏ ในขณะดียวกับที่พระพุทธองค์ทรงเดินจงกรมอยู่เชิงเขาด้านล่าง พระเทวทัตตั้งใจกลิ้งหินก้อนใหญ่หมายมุ่งให้ทับพระสรีระของพระพุทธองค์ให้แหลกเหลว แต่เกิดเหตุเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ภูเขาทั้งสองในบริเวณอันใกล้นั้น ได้น้อมลงมารับก้อนหินที่พระเทวทัตกลิ้งมาจากยอดเขา สะเก็ดหินชิ้นหนึ่งได้กระเด็นมากระทบพระบาท จนทำให้พระบาทห้อพระโลหิต ถึงแม้ว่าจะไม่ถึงกับทำให้ทรงปรินิพพานในครั้งนั้น แต่ก็เป็นอนันตริยกรรม ที่ทำให้พระเทวทัตต้องตกนรกอเวจีอย่างเดียว

    เมื่อทำการไม่สำเร็จ พระเทวทัตจึงดำริว่า แม้ว่ามนุษย์ทุกคนไม่ว่าใครเมื่อเห็นพระพุทธองค์แล้วย่อมจะเกรงในอำนาจบารมี ไม่สามารถกระทำอันตรายแก่พระองค์ได้ด้วยอำนาจของคุณพระรัตนตรัย

    แต่สัตว์เดรัจฉานเช่นช้างหลวงนาฬาคิรีนี้เป็นช้างดุร้าย ตกมันขาดสติ ทำให้สามารถฆ่ามนุษย์ได้ ด้วยไม่รู้จักคุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ จึงง่ายที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการปลงพระชนม์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ต่อมาพระเทวทัตเดินไปที่โรงช้างหลวงกล่าวกับควาญช้างว่า

    " แน่ะพนาย เราสามารถจะเพ็ดทูลในหลวงให้คุณให้โทษ ให้ลดตำแหน่งหรือเลื่อนตำแหน่งและปูนบำเหน็จรางวัลแก่พวกท่านได้หากเพียงแต่ทำตามที่เราสั่งเท่านั้น "

    พระเทวทัตได้ดูอาการของช้างแล้ว จึงกล่าวกับกับควาญช้างว่า

    " ช้างหลวงนี้ตกมันอยู่รึ "

    ควาญช้างรีบตอบพระเทวทัตด้วยความเกรงกลัวอำนาจว่า

    " ขอรับพระคุณเจ้า นาฬาคิรีนี้ตกมันอยู่ พวกข้าพเจ้าผลัดเวรกันมาให้สุราวันละ ๘ กระออม ขอรับ "

    พระเทวทัตทรงเล็งเห็นหนทางอยู่แล้วจึงตอบว่า

    " ดีละ พนาย งั้นจงฟังคำเราให้ดี จงปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด อย่าลืมว่าแม้ชีวิตของท่านก็อยู่ในมือเรา

    ท่านจงเพิ่มสุราเป็น ๑๖ กระออม และทรมานพญาช้างนี้ แล้วปล่อยช้างให้บ่ายหน้าไปทางพระบรมศาสดาในเวลาออกบิณฑบาต "

    พวกควาญช้างรีบรับคำแล้วปฏิบัติตามคำสั่ง ผู้ที่ทราบข่าวก็นำเรื่องช้างนั้นให้ข่าวแพร่กระจายไปว่า พระเทวทัตร่วมคิดกันกับพระราชาจะปลงพระชนม์พระบรมศาสดา ด้วยการปล่อยช้างนาฬาคิรีในขณะที่พระพุทธองค์กำลังทรงบิณฑบาตอยู่ เหล่าอุบาสกอุบาสิกาที่ยึดมั่นในพระพุทธศาสนาก็นำความให้ทราบถึงพระผู้มีพระภาค

    " ขอพระองค์อย่าเสด็จออกบิณฑบาตเลยพระพุทธเจ้าข้า ขอพระองค์ทรงรออยู่ที่เวฬุวันวิหารแห่งนี้เถิด เพราะตอนนี้พวกข้าพระพุทธเจ้าทราบความมาว่าช้างนาฬาคิรีจะออกอาละวาดในเขตพระนครจะเกิดอันตรายแก่พระองค์ ของพระองค์ทรงรออยู่เพื่อให้พวกข้าพระพุทธเจ้าได้นำโภชนาอาหารมาถวายในเวฬุวันวิหารแห่งนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า "

    พระพุทธองค์ทรงนิ่งอยู่ เหล่าพุทธอุบาสกจึงรีบหลีกไปจากที่นั้น เพราะเข้าใจว่าพระพุทธองค์ทรงรับนิมนต์แล้ว

    ในเขตพระนครเวลานั้น เกิดโกลาหลเป็นการใหญ่ ตึง ตึง ตึง ตึ่งตึ่งตึ่ง เสียงกลองดังขึ้นเพื่อเตือนประชาชนให้ทราบ นายหัตถาจารย์ได้ป่าวประกาศให้ชาวเมืองทั้งหลายทราบถึงการปล่อยช้างนาฬาคิรีว่า

    " มีพระราชโองการ ให้ปล่อยช้างนาฬาคิรีมาในเส้นทางนี้ ขอให้ประชาชนจงระมัดระวัง พญาช้างตกมัน
    มีอันตรายเป็นอย่างมาก และงดใช้เส้นทางนี้ชั่วคราวจนกว่าพญาช้างจะผ่านไป และเหตุการณ์สงบลง "

    บรรยากาศในพระนครวุ่นวายสับสน ชาวบ้านที่กำลังรอตักบาตรพระพุทธองค์ก็วิ่งเก็บของกันจ้าละหวั่น เหล่ารถม้าในพระนครต้องหลบฝูงชนจนชนกันเสียงดังสั่น เหล่าพ่อค้าแม่ค้าต่างรีบเก็บสัมภาระ เสียงประตูหน้าต่างปิดดังโครมคราม บ้างก็ร้องเรียกลูกบ้างก็เรียกหลาน เสียงเด็กร้องไห้กระจองอแง บ้างก็ปีนขึ้นไปบนตึกและหลังคาบ้าน ทั้งบนยอดไม้กันอุตลุด ทำให้ผ้าผ่อนหลุดลุ่ยเสียหาย
     
  11. ไม้ขีด

    ไม้ขีด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,421
    ค่าพลัง:
    +3,023
    ผู้เลื่อมใสในพระพุทธองค์ต่างก็พูดว่า

    " เรามั่นใจในพระองค์ว่า พระองค์จะทรงปราบพยศพญาช้างนาฬาคิรีได้ อย่างแน่นอน วันนี้แหละเรา
    จะได้เห็นปาฏิหาริย์ พระองค์จะทรงต่อสู้กับพญาช้างนาฬาคิรีด้วยพุทธลีลาอันหาที่เปรียบไม่ได้ "

    ส่วนฝ่ายที่ไม่เลื่อมใสก็พูดว่า

    " วันนี้แหละ พวกเราจะได้เห็นควาามพินาศของพระผู้มีพระภาคเจ้า ถูกช้างนาฬาคิรีประหารบดขยี้พระสรีระจนแหลกเหลวไปต่อหน้าต่อตา "

    ฝ่ายพระทศพลทรงครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวรเยื้องย่างพระวรกายดุจพญาราชสีห์มาสู่ที่ประชุมแห่งเวฬุวันมหาวิหาร หมู่พระภิกษุยืนรอพระพุทธองค์อยู่แล้วด้วยอาการสงบ เมื่อสมควรแก่เวลาแล้ว จึงทรงย่างพระบาทบ่ายพระพักตร์มุ่งสู่กรุงราชคฤห์พร้อมพระสาวกเป็นจำนวนมาก

    พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญพุทธกิจตามปกติ เพื่อแสดงให้เหล่าสาวกและพุทธบริษัทเห็นว่า พระองค์มิได้หวั่นพระทัยในอันตรายเลยแม้แต่น้อย แต่ทรงเห็นว่าการบำเพ็ญพุทธกิจของพระองค์นั้นสำคัญกว่าอันตรายที่จะมาถึง

    เหล่าควาญช้างเมื่อเห็นองค์พระศาสดาเข้ามาสู่โคจร จึงช่วยกันทิ่มแทงพญาช้างด้วยขอและศัสตราวุธต่าง ๆ ทำให้ช้างนาฬาคิรีเกิดโทสะและขาดสติด้วยเมาในฤทธิ์สุราที่เพิ่มขึ้น และความเจ็บปวดที่ถูกศัสตราวุธทั้งหลายทิ่มแทงจนโลหิตไหลแดงไปทั่งบริเวณโรงช้าง เสียงช้างที่ถูกทรมานร้องด้วยความโกรธแค้นทำให้ผู้คนตระหนกตกใจ ขวัญหายกันหมด ทันใดนั้นโซ่ที่ล่ามไว้ก็ขาดออกด้วยแรงแห่งพญาช้างสาร โรงช้างจึงถูกทำลายเสียหายราวกับถูกพายุถล่ม เหล่าควาญช้างจึงช่วยกันต้อนให้ช้างวิ่งไปสู่โคจรแห่งพระบรมศาสดา

    ฝ่ายพญาช้างวิ่งทำลายเรือนชานของประชาชนทลายราบไปเป็นแถบ ๆ เกวียนที่จอดทิ้งขวางทางอยู่ ก็ถูกช้างนาฬาคิรีวิ่งชนกระเด็นไปหลายทิศทาง ประชาชนบางพวกได้รับบาดเจ็บจากเหตุกาณ์ที่ไม่คาดคิด

    ส่วนผู้ที่กำลังวุ่นวายก้มเก็บทรัพย์สินที่ตกหล่น เมื่อเห็นพญาช้าางวิ่งมาด้วยความเร็ว แรงของพญาช้างทำให้แผ่นดินสะเทือนเลือนลั่นสั่นไหว ยากที่จะหลบหลีกไปจากที่นั้นได้ จึงถูกพญาช้างใช้งวงฟาด ต่างก็พากันวิ่งหนีอย่างไม่คิดชีวิต เหล่าสตรีก็กรีดร้องสุดเสียงด้วยความตกใจกลัว

    พระพุทธองค์ประทับยืนสงบอยู่ท่ามกลางความโกลาหลทั้งหลาย นาฬาคิรีปรี่เข้ามาส่งเสียงคำรามกึกก้อง กระพือหูชูงวงหมายจะพิฆาตพระจอมไตรให้แหลกลงในทีเดียว เหล่าภิกษุทั้งหลายเมื่อเห็นเหตุการณ์เช่นนั้น จึงทูลขอให้พระองค์เสด็จหลีกไป

    " ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พญาช้างสารได้วิ่งตรงมาทางนี้แล้ว ขอพระองค์ทรงเสด็จหลีกไปเถิดพระเจ้าข้า "

    พระอานนท์พุทธอุปัฏฐากผู้ไม่อาจจะทนในเหตุการณ์จวนตัวนั้นได้ จึงได้ตัดสินใจเด็ดเดี่ยวยอมสละชีวิตแทนพระบรมศาสดา รีบก้าวเท้าไปหยุดยืนอุ้มบาตรขวางอยู่เบื้องหน้าพระพุทธองค์ไว้ในทันที

    พระผู้มีพระภาคเห็นเหตุการณ์เช่นนั้น จึงตรัสว่า

    " อานนท์หลีกไปเถิด ไม่มีผู้ใดจะทำอันตรายเราตถาคตได้เลย "

    แม้พระพุทธองค์ทรงตรัสถึงสามครั้ง แต่พระอานนท์ยังยืนยันที่จะเสียสละชีวิตของท่านว่า

    " ขอให้พญาช้างนี้พรากชีวิตของข้าพระองค์เสียก่อนเถิดพระพุทธเจ้าข้า "

    พระอานนท์ยอมสละชีวิตเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาด้วยความกตัญญูต่อพระศาสดา

    ฝ่ายนาฬาคิรีก็ปรี่เข้ามาด้วยความเร็วดุจกระแสน้ำป่าที่เชี่ยวกรากไม่มีสิ่งใดสามารถต้านทานไว้ได้

    พระพุทธองค์จึงใช้พุทธานุภาพบันดาลให้พระอานนท์เข้าไปสู่ในหมู่ภิกษุก่อนที่พญาช้างจะทำร้ายพระอานนท์ได้ทัน

    หญิงนางหนึ่งอุ้มลูกน้อยอยู่ ด้วยความตกตะลึงในเหตุการณ์ และเดาทางแห่งช้างไม่ถูกว่าจะไปทิศทางไหน ด้วยความเมาในฤทธิ์สุราของช้างจึงทำให้ซวนเซยากที่จะคาดเดาได้ ในเวลาจวนตัวเช่นนั้น นางจึงวิ่งหลบหนีเอาชีวิตรอดและทิ้งลูกน้อยไว้อย่างขาดสติ

    ทันใดนั้นช้างได้เบี่ยงทางจากพระอานนท์ ตรงไปยังทารกที่นอนร้องไห้อยู่ ฝ่ายสตรีนางนั้น เมื่อได้สติจึงหันกลับมามองลูกน้อย เห็นพญาช้างตรงปรี่ไปยังทารก จึงกรีดร้องขึ้นสุดเสียงด้วยความตกใจ

    " กรี๊ด ! ลูกแม่ "

    วินาทีที่ทุกหัวใจเกือบหยุดเต้น เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น กระแสแห่งมหาเมตตาเป็นกำลังแห่งพระพุทธองค์ พลันแล่นเข้าสู่ดวงจิตของพญาคชสาร

    " นาฬาคิรี จงอย่าแล่นไปเปล่าเลย จงมาทางนี้เถิด คนที่ต้องการให้เจ้าทำร้ายมีแต่เพียงเราเท่านั้น "

    กระแสแห่งมหาเมตตานั้นดุจดังน้ำเย็นที่หลั่งรดลงกลางดวงใจที่เดือดดาลด้วยไฟโทสะให้กลับมอดดับลงในทันที

    เหตุการณ์ได้พลิกผัน พญาช้างนั้นได้มีอาการสงบ ลดใบหูลงทั้งสองข้าง และหย่อนงวงลงต่ำ เดินอย่างเชื่องช้าเข้าไปหมอบลงแทบพระบาท

    พระพุทธองค์ตรัสแก่พญาช้างว่า

    " นาฬาคิรี แต่นี้ไปเจ้าอย่าดุร้ายหยาบคายเบียดเบียนชีวิตมนุษย์ จงมีจิตเมตตาเถิด "

    ทรงลูบกระพองของพญาช้างแล้วตรัสอีกว่า

    " เจ้าอย่าได้ฆ่ามนุษย์อีกเลย เพราะจักเป็นเหตุแห่งทุกข์ จงอย่าประมาท เพราะผู้ที่ประมาทแล้วย่อมไปสู่สุคติมิได้
     
  12. ไม้ขีด

    ไม้ขีด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,421
    ค่าพลัง:
    +3,023
    เลย "

    พญาช้างนาฬาคิรีได้ฟังพระสุรเสียงดังนั้นแล้วน้ำตาไหล ปีติแผ่ซ่านไปทั่วร่างกายหาที่ว่างไม่ได้ หากว่านาฬาคิรีไม่เป็นสัตว์เดรัจฉานก็จะได้บรรลุโสดาบันปัตติผลในที่นั้น

    ประชาชนที่อยู่ในเหตุการณ์อันอัศจรรย์นั้นบ้างก็ตบมือ บ้างก็โห่ร้อง กล่าวสรรเสริญพุทธคุณดังกึกก้องไปทั่วพระนคร ต่างมีจิตใจรื่นเริงบันเทิงธรรมทั้งปลดเปลื้องเครื่องประดับบ้างดอกไม้บ้างโยนไปบูชาจนท่วมท้นพญาช้างนาฬาคิรี จึงมีชื่อใหม่ว่า ธนบาล ตั้งแต่นั้นมา

    ช้างธนบาลได้แสดงท่าทางเคารพ โดยการใช้งวง กอบเอาฝุ่นละอองในบริเวณที่พระพุทธองค์ได้ทรงเหยียบไว้แล้วพ่นใส่ศีรษะของตน ย่อตัวถอยหลังประหนึ่งแสดงท่าบังคมลา จากนั้นจึงกลับไปสู่โรงช้างตามเดิม

    เมื่อสำเร็จตามพุทธประสงค์ดังนั้นแล้ว ก็ทรงดำริว่าจะบิณฑบาตวันนี้เห็นจะไม่สมควร จึงบ่ายพระพักตร์กลับเวฬุวันวิหารพร้อมด้วยพระสาวกทั้งหลายเหมือนมหาราชาทรงชนะข้าศึกฉะนั้น เหล่าพุทธบริษัทต่างก็รีบจัดแจงสำรับโภชนะต่าง ๆ ทั้งข้าวและน้ำมากมาย ตามเสด็จไปถวายพระพุทธองค์ จึงเกิดการบำเพ็ญมหาทานขึ้น ณ เวฬุวันวิหาร อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายต่างสรรเสริญพุทธคุณโดยมาก ว่าพลังแห่งใจย่อมชนะกำลังแห่งกาย
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 11 ธันวาคม 2012
  13. ไม้ขีด

    ไม้ขีด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,421
    ค่าพลัง:
    +3,023
    บทที่ ๔

    ชัยชนะต่อบุรุษผู้เหี้ยมโหด




    เงื้อดาบง่า ล่าไล่ ไกลสามโยชน์ ฝีมือโหด มุ่งร้าย หมายประหาร

    ลือเลื่องชื่อ โจร อง- คุลีมาล สรวมสังวาล นิ้วมนุษย์ ทุรทัณฑ์

    ด้วยอิทธิ ปาฏิหาริย์ จอมไตรภพ ธ สยบ โจรร้าย คลายโมหันธ์

    ทิ้งดาบลง ปลงผม ออกบวชพลัน บันลือลั่น อรหันต์ ปูชนีย์

    ขอผองท่าน จงมี ชัยมงคล ทั่วสกล ดลพร้อม ด้วยสุขี

    ด้วยอำนาจ อิทธิ-บารมี ปวงฤทธี แห่งพระ พิชิตมาร





    อุกขิตตะขัคคะมะติหัตถะ สุทารุณันตัง

    ธาวันติโยชะนะปะถัง คุลิมาละวันตัง

    อิทธีภิสังขะตะมะโน ชิตะวา มะนินโท

    ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ


    สมเด็จพระจอมมุนี ทรงผจยกับโจรองคุลิมาลผู้ดุร้าย

    ถือดาบวิ่งไล่พระองค์ไปตั้ง ๓ โยชน์

    ทรงพิชิตจอมโจรด้วยอิทธิ์ฤทธิ์ทางใจ อย่างยอดเยี่ยม

    ด้วยเดชองค์พระผู้พิชิตโจรนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่านทุกเมื่อ


    ค่ำคืนหนึ่ง ดวงดาวเปล่งประกายพร่างพราวเต็มท้องฟ้าตัดกับความมืดแห่งราตรี ในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่ง ใกล้กรุงสาวัตถีอันสงบเงียบ
    เสียงร้องของทารกได้ดังขึ้น ทารกเพศชายได้ถือกำเนิดพร้อมเหตุอัศจรรย์ ทันทีที่เมฆหมอกบดบังแสงจันทร์จนมืดมิด เหล่าเครื่องศัสตราวุธก็เปล่งแสงสว่างโชติช่วงราวกับคนทั้งหมู่บ้านได้พร้อมใจกันจุดเทียนขึ้น

    “นั่นแสงอะไร" ทุกคนแตกตื่น

    ภัคควพราหมณ์ปุโรหิตผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวแห่งตระกูลพราหมณ์ มีความชำนาญในการทำนายฤกษ์งามยามร้าย จึงได้รีบเดินออกจากเรือน แล้วแหงนหน้าแลดูฤกษ์แห่งกลุ่มดาว ก็เกิดความประหลาดใจอุทานออกมาว่า

    “กลุ่มดาวโจร ! เด็กคนนี้จะต้องกลายเป็นมหาโจรร้ายกายอย่างแน่แท้ เราจะบอกมันตานีว่าอย่างไรดี”

    เช้าวันรุ่งขึ้น ในนครสาวัตถี พระเจ้าปเสนทิโกศลได้เรียกพราหมณ์ปุโรหิตเข้าเฝ้าเพื่อทำนายเหตุที่เกิดขึ้น

    “ถวายบังคมพระเจ้าข้า”

    ปุโรหิตถวายบังคมพระเจ้าปเสนทิโกศล

    “เมื่อคืน เราตื่นขึ้นเพราะแสงจากพระขรรค์ ทหารรายงานว่าในท้องพระคลังก็เช่นเดียวกัน ศัสตราวุธทั้งหลายได้เปล่งแสงขึ้นพร้อมกันแล้วก็ดับไป จะมีเหตุอันใดหรือท่านปุโรหิต”

    “บุตรของข้าพระองค์ได้ถือกำเนิดขึ้นในฤกษ์ดาวโจร ซึ่งในอนาคตจะเติบโตเป็นมหาโจรร้าย ทำบ้านเมืองให้เดือดร้อน แผ่นดินจะลุกเป็นไฟ ตามนิมิตหมายที่ประจักษ์แก่พระองค์ พระเจ้าข้า” พราหมณ์ปุโรหิตกราบทูล

    พระเจ้าปเสนทิโกศลใคร่ครวญแล้วจึงตรัสถาม

    “ถ้าเช่นนั้นเราควรทำเช่นไรดี ท่านปุโรหิต”

    “สุดแล้วแต่จะทรงเห็นสมควรเถิดพระเจ้าข้า แต่ข้าพระองค์เห็นว่าถ้าปล่อยให้ทารกนี้เติบโตมา ในภายภาคหน้าจะทำให้บ้านเมืองเดือดร้อนวุ่นวาย จะเที่ยวไล่ฆ่ามหาชนเป็นจำนวนมาก ขอพระองค์อย่าได้รอช้า จงมีรับสั่งให้นำกุมารมาประหารชีวิตเสียเถิด เพื่อตัดไฟเสียแต่ต้นลมพระเจ้าข้า” พราหมณ์ปุโรหิตกราบทูล

    ฝ่ายพระเจ้าปเสนทิโกศลได้ใคร่ครวญดูแล้วจึงตรัสแก่พราหมณ์ปุโรหิตว่า

    “เราจะทำอย่างนั้นได้อย่างไร ทารกนี้มิได้มีความผิดอะไร แต่ถ้าบุตรชายของท่านเติบโตแล้วก่อเรื่องเมื่อใด เราจะทำตามที่ท่านบอก ขอท่านจงเลี้ยงดูบุตรของท่านให้ดีเถิด ท่านปุโรหิต”

    “พระองค์ทรงมีพระกรุณาอย่างยิ่งพระเจ้าข้า”

    หลังจากพราหมณ์ปุโรหิตรับพระราชโองการแล้ว จึงถวายบังคมลามาสู่เรือนของตน

    “นาย พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงตรัสว่าอย่างไรบ้าง” พราหมณีอยากรู้

    ส่วนพราหมณ์ปุโรหิตยังมีความสับสนอยู่ในใจ ใจหนึ่งก็ดีใจ อีกใจหนึ่งก็เกิดปริวิตก จึงตอบนางมันตานีไปว่า

    “แม่มันตานี พระองค์ทรงมีพระกรุณายิ่งนัก ทรงให้ดูแลบุตรชายคนนี้ให้ดี อย่าให้เป็นโจรก่อความเดือดร้อนให้แก่บ้านเมืองได้ แม่มันตานี เราควรจะตั้งชื่อกุมารนี้ว่า อหิงสกะ แปลว่า ผู้ไม่เบียดเบียนใคร เพื่อเป็นการแก้เคล็ดแห่งลางร้ายทั้งหลายที่เกิดขึ้น”

    อหิงสกะครั้นเจริญวัยเป็นเด็กรักสงบ มีปัญญาเฉลียวฉลาด ว่านอนสอนง่าย มีความนอบน้อมต่อบิดามารดา ใส่ใจในการศึกษาเป็นอย่างดี

    “ท่านแม่ อย่าหนีข้านะ” เด็กน้อยที่เจริญวัยกำลังไล่จับผู้เป็นมารดา

    แล้วตามด้วยเสียงปรามด้วยความหวังดีของบิดาว่า

    “สองคนนี้เล่นอะไรกัน อหิงสกะเจ้าท่องมนต์ที่พ่อสั่งแล้วหรือยัง”

    “ท่านพ่อ มนต์ที่ท่านพ่อสั่งนั้น ข้าท่องจำได้หมดแล้วครับ” เด็กน้อยตอบ

    รอยยิ้มน้อยๆ ผุดขึ้นที่มุมปากของท่านพราหมณ์ปุโรหิต ด้วยใจที่สบาย

    ในเวลาต่อมา เมื่อมารดาบิดาเห็นว่าอหิงสกะโตพอสมควรแล้วจึงปรึกษากันว่า

    “อหิงสกะเป็นเด็กฉลาดเรียนรู้ได้เร็ว เราควรที่จะส่งเขาไปศึกษายังสำนักตักศิลาของอาจารย์ทิศาปาโมกข์ผู้มีชื่อเสียง เพื่อศึกษาศิลปะศาสตร์วิชาการต่างๆ”

    พราหมณ์ปุโรหิตกล่าวขึ้น

    “ดิฉันเห็นด้วยกับท่านนาย” พราหมณีกล่าวเสริม

    ครั้นแล้วคนทั้งสามจึงเดินทางมุ่งสู่สำนักตักศิลา

    “อีกไกลไหมครับท่านพ่อ” อหิงสกะถามด้วยความใคร่รู้

    “ใกล้จะถึงแล้วละ อหิงสกะ” ผู้เป็นบิดาตอบบุตรชายให้คลายความสงสัย ขณะย่ำเท้าตามทางเกวียนที่สองข้างทางคือทุ่งหญ้าและป่ารก

    ครั้นถึงสำนักตักศิลา บิดาของอหิงสกะจึงได้ฝากบุตรไว้ในความดูแลของอาจารย์ทิศาปาโมกข์

    “ท่านอาจารย์ ข้าขอฝากบุตรของข้า อหิงสกะ ให้ท่านช่วยอบรมและสั่งสอนวิชาการต่างๆ ให้ด้วย”
     
  14. ไม้ขีด

    ไม้ขีด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,421
    ค่าพลัง:
    +3,023
    “ไม่ต้องเป็นห่วงนะพ่อพราหมณ์ เด็กคนนี้ข้าดูแล้ว เขาเป็นเด็กฉลาด มีปัญญาดี”

    อาจารย์ทิศาปาโมกข์กล่าวด้วยความยินดี ทั้งสองจึงลาอาจารย์กลับสู่เรือนตน ก่อนกลับนางพราหมณีสั่งอหิงสกะว่า

    “อหิงสกะ ลูกอยู่กับอาจารย์ต้องเชื่อฟังท่านนะ” ผู้เป็นมารดากล่าวด้วยความห่วงใย

    “ครับท่านแม่” อหิงสกะรับคำ

    อหิงสกะปรนนิบัติอาจารย์เป็นอย่างดี เอาใจใส่ในการศึกษาอย่างจริงจัง ไม่ว่าอาจารย์จะให้ศึกษาวิชาการอะไร ก็สามารถเรียนรู้ได้หมด จึงเป็นที่โปรดปรานของอาจารย์เป็นอย่างมาก จนเพื่อนร่วมสำนักไม่พอใจและคิดกำจัด

    “ดูสิพวกเรา ท่านอาจารย์มีอะไรๆ ก็เรียกแต่เจ้าอหิงสกะ” ศิษย์คนหนึ่งพูดขึ้น

    “เราควรจะทำอย่างไรกับมันดี” ศิษย์อีกคนถาม

    "พวกเราเอาอย่างนี้ พวกเราจงแบ่งเป็นสามพวก แล้วค่อยๆ ใส่ความเจ้าอหิงสกะให้อาจารย์ฟังทีละพวก อาจารย์ต้องเชื่อเป็นแน่ เชื่อข้าเถอะ"

    แล้วแผนการใส่ร้ายป้ายสีก็เริ่มขึ้น พวกศิษย์เหล่านั้นใช้อุบายต่างๆ ยุยงอาจารย์เรื่องแล้วเรื่องเล่า แต่หาสำเร็จผลไม่ มิอาจทำให้อาจารย์เชื่อได้

    แต่ในที่สุดก็สามารถทำได้ โดยกล่าวหาด้วยเหตุที่ทำให้อาจารย์ระแวงและไม่อาจวางใจอหิงสกะได้อีกต่อไป ด้วยการร่วมมือกันใส่ความอหิงสกะว่าเป็นชู้กับภรรยาของอาจารย์
    อหิงสกะมิเคยคิดถึงเรื่องเช่นนี้ ตั้งแต่เริ่มเข้าศึกษาในสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ก็ปฏิบัติตนเป็นศิษย์มิได้บกพร่้องแต่ประการใด และยังความเคารพ
    ในภรรยาของอาจารย์เสมือนมารดาของตน ส่วนภรรยาของอาจารย์ก็ให้ความดูแลเอาใจใส่อหิงสกะอย่างบุตรเช่นเดียวกัน แต่ภรรยาของทิศาปาโมกข์นั้นยังอายุไม่มาก จึงทำให้อาจารย์ทิศาปาโมกข์ไม่ไว้ใจและคลายความรักที่มีต่อลูกศิษย์ลง พร้อมกับคิดว่าจะทำเช่นไรดีกับอหิงสกะ

    "เราควรจะฆ่าเจ้าอหิงสกะเสีย แต่ว่าการทำเช่นนั้นอาจทำให้คนทั้งหลายติเตียนและจะทำให้สำนักของเราเสื่อมเสียชื่อเสียงได้ อย่ากระนั้นเลย เราไม่ควรลงมือเอง ควรให้มหาชนทั้งหลายกำจัดเจ้าอหิงสกะเองดีกว่า" อาจารย์คิดอุบายกำจัดศิษย์

    "เจ้าไปตามอหิงสกะให้มาพบข้าหน่อย"

    อาจารย์บอกศิษย์คนหนึ่ง เขาจึงไปบอกอหิงสกะ

    "อหิงสกะ ท่านอาจารย์เรียกเจ้าให้ไปพบ"

    อหิงสกะเข้ามาด้วยความนอบน้อมต่ออาจารย์เหมือนเคย แล้วกล่าวว่า

    "ท่านอาจารย์มีอะไรจะให้ผมรับใช้หรือครับ"

    "ข้าเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ข้าจะประสาทอิทธิมนต์ให้แก่เจ้า แต่ผู้ที่จะเรียนมหามนต์นี้ได้สำเร็จจะต้องตัดนิ้วคนให้ได้พันหนึ่ง แล้วจงนำมาเซ่นไหว้เทวดารักษามนต์ จากนั้นข้าจะประสาทวิชาให้แก่เจ้า เจ้าก็จะเรียนจบวิชาในสำนักของข้าเหนือกว่าใครอื่น"

    อหิงสกะเมื่อได้ยินเช่นนั้นก็ทักท้วงว่า

    "ท่านอาจารย์ ข้านี้เกิดแต่ตระกูลพราหมณ์ มิได้คิดที่จะเบียดเบียนสัตว์ ครั้นข้าจะทำกรรมหยาบช้าก็จะผิดประเพณีวงศ์ตระกูลมารดาบิดา ข้ามิอาจล่วงละเมิดได้หรอกครับ"

    อหิงสกะกล่าวด้วยความไม่สบายใจ

    "เจ้าจงทำตามที่ข้าบอกเถิด อย่าได้รอช้า เจ้าจะได้เรียนจบไตรเพทอันเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของศาสนาพราหมณ์ และกลับบ้านไปหาบิดามารดาของเจ้าที่จากมานาน เจ้าไม่อยากให้ท่านภูมิใจหรอกหรือ"

    อหิงสกะผู้เคารพอาจารย์มาตั้งแต่ต้น และรู้ว่าอาจารย์รักและหวังดีต่อเขาไม่น้อยไปกว่ามารดาบิดาเลย เมื่อได้ฟังอาจารย์สั่งเช่นนั้น จึงได้ปฏิบัติตามโดยมิได้เฉลียวใจใดๆ แม้แต่น้อย

    อหิงสกะเป็นผู้มีปัญญาดี มีร่างกายแข็งแรงกำยำ ทั้งฝีมือเชิงหอกดาบธนูมิเป็นรองผู้ใด แม้มิได้มีจิตใจจะรังแกผู้ใด แต่ด้วยเชื่อคำอาจารย์ เขาจึงเป็นผู้ล่าที่ใครๆ เกรงกลัว เข็ดขยาด มิใช่วีรบุรุษผู้ช่วยเหลือ และเพียงไม่นานชื่อเสียงของเขาก็เลื่องลือไปทั่ว

    ครั้งแรกๆ เขาฆ่าแต่ผู้ที่มีใจอำมหิตฆ่าสัตว์ตัดชีวิตและจำกัดอยู่เพียงในราวป่า พวกที่มานั่งเป่าปี่เรียกงูบ้าง หรือพวกที่ฆ่าวัวเพื่อทำการบูชายัญบ้าง หรือแม้แต่พวกโจร เมื่อเขาฆ่าคนเป็นจำนวนมาก จิตใจของเขาก็คิดผิดไปจากเดิม คิดว่า การฆ่ามิใช่ความผิด และแล้วก็ไม่มีใครกล้าเข้าไปเก็บผักเก็บฟืนในราวป่าอีกเลย

    ช่วงแรกอหิงสกะมิได้นับจำนวนคนที่เขาฆ่า แต่ต่อมาเขาได้ตัดนิ้วมือคนมาแล้วร้อยเป็นพวงห้อยไว้ตามกิ่งไม้ แต่ไม่ปลอดภัยเพราะมีนกกาคอยมาจิกกิน ต่อมาจึงนำมาคล้องคอไปไหนมาไหนก็คล้องไปด้วย ด้วยเหตุนี้ผู้ที่พบเห็นจึงตั้งสมญานามให้เขาว่า "องคุลิมาล" แปลว่า "ผู้มีนิ้วมือเป็นพวงมาลัย"
    องคุลีมาลได้ก่อกรรมทำเข็ญไว้มากจนเป็นที่เลื่องลือไปถึงกรุงสาวัตถี ประชาชนทั้่งหลายได้พากันมาร้องทุกข์ต่อพระเจ้าปเสนทิโกศล พระองค์จึง
    ทรงสั่งการอำมาตย์ว่า

    "ท่านอำมาตย์ ท่านจงไปตามเสนาบดีอำมาตย์ทั้งหลายมาประชุมที่ตำหนักของเรา"

    พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงพิจารณาแล้วว่า หากปล่อยไว้อย่างนี้คงไม่ดีแน่ เพราะสักวันหนึ่งมหาโจรองคุลิมาลจะกำเริบหนักและเข้ามาใกล้พระนครมากขึ้น

    "ท่านทั้งหลาย จงตั้งกองกำลังไปปราบโจรองคุลิมาลให้จงได้"

    พระองค์ตรัสสั่งอย่างหนักแน่น

    "พระเจ้าข้า" อำมาตย์ทั้งหลายรับคำพร้อมเพรียงกัน

    ฝ่ายภัคควพราหมณ์ผู้เป็นบิดาทราบเรื่องนี้มาโดยตลอด แต่ก็ไม่รู้จะทำเช่นไร นอกจากวางใจเป็นกลาง คิดเสียว่าบุตรชายของตนก่อกรรมทำชั่วไว้มากนัก คงถึงเวลาแล้วที่จะต้องชดใช้
     
  15. ไม้ขีด

    ไม้ขีด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,421
    ค่าพลัง:
    +3,023
    "แม่มันตานี ฉันรู้มาว่ามหาโจรที่ฆ่าคนเป็นจำนวนมากนั้นมิใช่ใครอื่น แต่เป็นบุตรของเราเอง อหิงสกะได้กลายเป็นมหาโจรที่ร้ายกาจยิ่งนัก"

    นางมันตานีได้ฟังเช่นนั้น ก็เข่าอ่อนด้วยความเป็นห่่วงลูกรัก

    "พระราชารับสั่งให้จัดกองกำลังทหารไปจับตัวมา"

    พราหมณ์สามีพูดด้วยความอ่อนใจ ส่วนนางมันตานีผู้เป็นแม่เิกิดความกังวลกลัวว่าลูกจะถูกฆ่าตาย จึงรบเร้าสามีให้ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดเพื่อช่วยชีวิตบุตร แต่พราหมณ์ผู้เป็นสามีกลับนิ่งเสีย นางมองไม่เห็นทางอื่นที่จะช่วยลูกจากกองทัพหลวงได้ จึงวิ่งออกไปตามหาลูกชายด้วยสัญชาตญานของความเป็นแม่

    หญิงชราเดินล่วงหน้ามาก่อนกองทัพเีพียงเล็กน้อย ร้องเรียกหาบุตรชายที่รักไปตามราวไพรด้วยความห่วงใย เศร้าโศก และเสียใจ

    "อหิงสกะ อหิงสกะ อหิงสกะอยู่ไหนลูก"

    นางเิดินไปพลางร้องเรียกไปด้วยความอ่อนล้า ในใจห่วงลูกมากกว่าห่วงตัวเอง

    "อหิงสกะ ลูกไม่น่าทำอย่างนี้เลย"

    นางเดินบ่นและร้องไห้จนน้ำตาแทบเป็นสายเลือด

    ฝ่ายองคุลิมาลซึ่งหลบอยู่หลังต้นไม้ เมื่อได้ยินเสียงคนร้องเรียก จึงแอบมองอยู่ เมื่อเห็นหญิงชราก็รู้สึกคุ้นๆ แต่ในห้วงเวลาอย่างนั้น นิ้วมือนิ้วสุดท้่ายที่เหลืออีกนิ้วเดียวก็จะครบพัน จึงสำคัญมากกว่าที่จะมัวเสียเวลาคิดว่าหญิงชรานั้นเป็นใคร

    ก่อนอรุณของวันนั้น พระบรมศาสดาทรงแผ่พระญาณพิจารณาดูสัตว์โลก ทรงทราบโดยตลอดว่ามหาโ่จรองคุลิมาลนี้มีอุปนิสัยปัจจัยที่จะได้บรรลุธรรมพร้อมอยู่แล้วทีเดียว แต่ทว่าวันนี้หากเธอทำ "มาตุฆาต" คือฆ่ามารดาเสียก่อน โอกาสจะบรรลุธรรมสำเร็จมรรคผลเป็นพระอรหันต์คงจะเสียเปล่า

    ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงเสด็จออกจากพระคันธกุฎีในเวลาเดียวกันกับที่มารดาของมหาโจรมุ่งหน้าไปในราวป่าแห่งนั้น

    องคุลิมาลจับดาบแน่นหวังประหารชีวิตหญิงชราผู้เดินมาแต่ไกล แต่แล้วทันใดนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ปรากฏให้มหาโจรได้เห็น

    "เหลืออีกแค่นิ้วเดียวเท่านั้น หึ สมณะนี่ ! มาขัดจังหวะเราพอดี นิ้วสุดท้ายน่าจะเป็นสมณะนี้ต่างหาก"

    มหาโจรไม่รอช้ารีบเงื้อดาบขึ้นสุดแขน โผล่พรวดพราดวิ่งออกมาจากข้างทาง หมายจะฆ่าพระพุทธองค์ให้ตายภายในดาบเดียว

    ขุนโจรองคุลิมาลวิ่งตามพระบรมศาสดา และแม้เห็นพระองค์อยู่ข้างหน้าแค่เอื้้อมก็ไม่สามารถตามทัน ด้วยฤทธานุภาพแห่งพระบรมศาสดา ประหนึ่งว่าระยะทางได้ยืดออกไป องคุลิมาลจะวิ่งเร็วเพียงใดก็ไม่สามารถจะวิ่งตามพระองค์ได้ทัน ในที่สุดเขาก็เหนื่อยเกินกว่าจะวิ่งต่อไป จึงตะโกนว่า

    "สมณะ สมณะหยุดก่อน หยุดเดี๋ยวนี้ ! "

    ครั้นแล้วพระบรมศาสดาจึงมีพุทธฎีกาตรัสว่า

    "ดูก่อนองคุลิมาล ตถาคตนั้นหยุดแล้ว แต่ท่านซิยังไม่หยุด"

    ทรงตรัสเพียงเท่านั้นแล้วพระองค์ก็ทรงเสด็จดำเนินต่อไป

    ฝ่ายองคุลิมาลเมื่อได้ิยินคำเช่นนั้นก็ขุ่นเคืองยิ่งขึ้น จึงพูดด้วยความโกรธว่า

    "สมณะ ปกติท่านย่อมเป็นผู้กล่าวแต่คำสัตย์ เหตุไฉนจึงมาพูดจากล่าวมุสาวาทเสียเล่า มาบอกว่าเราหยุดแล้วท่านยังไม่หยุด"

    "ดูก่อนองคุลิมาล ตถาคตนั้นหยุดจากการเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายแล้ว ประกอบด้วยความเมตตาและขันติ ตั้งอยู่ใน สาราณียธรรม ไม่เวียนว่ายในสังสารวัฏอีกต่อไป ตถาคตจึงได้ชื่อว่าหยุดแล้ว แต่ตัวของท่านเล่ายังมิได้หยุด มีน้ำใจโหดเหี้ยมหยาบช้านัก เที่ยวไล่ฆ่ามนุษย์หญิงชายล้มตายเป็นจำนวนมาก ท่านจะเสวยทุกข์ลำบากอยู่ช้านานในอบายภูมิทั้ง ๔ ท่านจะไปตกนรกแล้วก็จะไปเป็นเปรต อสุรกาย เดรัจฉานในภพชาิติเบื้องหน้า จะได้เสวยทุกขเวทนาทั้งนี้ก็อาศัยด้วยผลวิบากบำรุงรักษาตัวท่านมา กระทำกรรมเวรสิ่งใดไว้ กรรมอันนั้นก็จะมาบันดาลให้เกิดความทุกข์ติดตามสนองตัวท่าน เหตุดังนั้น ตถาคตจึงว่าท่านยังมิได้หยุด ยังจะดำเนินสืบต่อไป จงรู้ด้วยเหตุอย่างนี้"

    ฝ่ายองคุลิมาลได้ฟังพุทธดำรัสเพียงเท่านั้นสติสัมปชัญญะก็กลับคืน ฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า ผู้ที่ตนกำลังสนทนาอยู่นั้นเหตุใดจึงได้มีสุรเสียงองอาจดังพญาราชสีห์ ว่ากล่าวสิ่งอันใดก็ดีทุกประการ แม้แต่วรกายก็มีรัศมี ชะรอยว่าจะเป็นใครไม่ได้นอกจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงอุตสาหะเสด็จพระราชดำเนินมา เพื่อประโยชน์อนุเคราะห์ช่วงเปลื้องปลดให้เรา
    พ้นจากมหันตภัยจากอบายทุกข์แท้ๆ หนอ .. อย่ากระนั้นเลย เราควรกระทำความเคารพนอบน้อมนมัสการแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเถิด

    องคุลิมาล ได้เห็นพระพักตร์ของพระสมณะเต็มตาในครั้งนี้เอง ยิ่งเกิดความรู้สึกเปลี่ยนแปลงขึ้นในใจ มือที่จับดาบรู้สึกว่า ดาบหนักขึ้นร้อยเท่า จะขยับปากพูดก็ดูเหมือนพูดอะไรไม่ออก หัวใจที่เคยแข็งกร้าวหฤโหดก็อ่อนโยนลง เขาิทิ้งดาบลง ก้มลงกราบเฉพาะพระพักตร์ของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ความปีติโสมนัสก็แผ่ซ่านไปทั่่วสรรพางค์กาย องคุลิมาลได้กราบทูลขอบรรพชา ณ ที่นั้นเอง ความอัศจรรย์ก็ได้บังเกิดขึ้นเมื่อพระองค์ทรงเหยียดพระหัตถ์ออก เครื่องบริขารก็ล่องลอยมาจากนภากาศ สวมกายขององคุลิมาลใ้ห้กลับกลายเป็นสมณะไปใน
    ทันที ดอกไม้ทั้งหลายในบริเวณนั้นได้แย้มบานส่งกลิ่นหอมตลบอบอวลไปทั่ว ครั้นแล้วพระองคุลิมาลก็ตามเสด็จพระบรมศาสดามายังเชตวนาราม
    องคุลิมาลนั้น เมื่อบวชในพระบวรพุทธศาสนาแล้วก็ปฏิบัติสมณธรรม ใช้เวลาที่เหลือทั้งหมดในชีวิตของตนอุทิศใหักับการบำเพ็ญจิตภาวนา
    ไม่นานนักก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ตัดกิเลสได้สิ้นเชิง ไม่หวนกลับมายังภพต่างๆ อีกต่อไป มีความสงบเย็น ผ่อนคลาย ไร้ความข้องขัด

    จริงอยู่แม้พระองคุลิมาลจะเป็นพระอรหันต์ที่ไม่ก่อกรรมทำเข็ญกับใครอีก แต่ส่วนกรรมเก่าที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ใช่ว่าจะสูญหาย ด้วยเหตุนี้เอง ในบางวันที่ท่านออกจาริก
     
  16. ไม้ขีด

    ไม้ขีด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,421
    ค่าพลัง:
    +3,023
    ภิกขาจาร จึงถูกกลุ่มชาวบ้านที่อาฆาตแค้นและจำได้ว่าท่านคืออดีตมหาโจรร้าย จึงพากันรุมเอาก้อนดิน ก้อนหิน ท่อนไม้ ขว้างปาใส่ท่านจนหัวร้างข้างแตกเลือดไหลโทรม ถึงแม้ผู้ที่ไม่มีเจตนาจะขว้างปาก้อนหินก้อนดินใส่ท่าน แต่ก็บังเอิญไปถูกจนหัวร้างข้างแตกเรื่อยไป ท่านนำเหตุการณ์เหล่านี้ไปกราบทูลรายงานให้พระพุทธองค์ทรงทราบ

    "นี่คือผลกรรมที่เธอได้ทำไว้ สรรพสัตว์ทั้งหลายย่อมเป็นไปตามกรรม ใครทำกรรมใดไว้ จะดีหรือชั่ว ก็ต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้นด้วยตนเอง เธอควรอดทนให้ถึงที่สุดนะ องคุลิมาล" พระบรมศาสดาตรัสปลอบ

    วันหนึ่ง ขณะที่ท่านเที่ยวจาริกภิกขาจารไปตามบาทวิถีนั้น ผู้คนต่างพากันแตกตื่นเป็นโกลาหล หญิงท้องแก่้คนหนึ่งได้วิ่งหนีพระองคุลิมาล ด้วยการลอดรั้วหนี แต่ติดท้องลอดไปไม่ได้

    "ช่วยด้วยๆ ใครก็ได้ช่วยฉันที"

    ฝ่ายญาติของสตรีนั้นเห็นเหตุการณ์ ก็รีบปรึกษาหารือกัน บุรุษผู้มีปัญญาผู้หนึ่งเสนอความคิดต่อวงศ์ญาติว่า

    "ท่านองคุลิมาลนั้น ท่านเป็นพระแล้วนะ ฉะนั้นสมณะย่อมรักษาสัจจะ สัจจะของพระอริยะมีอานุภาพมาก และเราเชื่อว่าท่านเป็นพระอริยะและมีพลานุภาพแห่งความสัตย์พอ หากท่านตั้งสัจจะขึ้นเมื่อไร ไม่ว่าที่ไหน แม้สตรีก็จะคลอดบุตรได้โดยง่ายดายทีเดียวล่ะ พวกเรารีบไปตระเตรียมที่ให้พระเถระเจ้านั่งใกล้ๆ น้องหญิงกันเถิด เรามีความเชื่อว่า จะต้องช่วยนางได้อย่างแน่นอน"

    เมื่อปรึกษากันดังนั้นแล้ว เหล่ามหาชนญาติของสตรีผู้นั้นต่างก็แยกย้ายกันไปจัดเตรียมสถานที่แห่งนั้นให้เหมาะสมแก่พระเถระโดยเร็ว พวกเขาช่วยกันหาผ้ามากั้นเป็นม่านไว้โดยรอบสตรีครรภ์แก่นั้น แล้วจัดหาตั่งมาตั้งไว้เป็นที่รับรองพระเถระ ซึ่งยืนสงบนิ่งอยู่ ณ ที่นั้น บุรุษผู้ออกความคิดนั้นก็เข้าไปกราบนิมนต์พระองคิมาลเถระ

    "นิมนต์พระคุณเจ้าขอรับ พวกเราได้จัดที่อันสมควรไว้รับรองพระคุณเจ้าทางด้านโน้นขอรับ"

    บุรุษผู้นั้นพูดเสียงสั่นด้วยยังมีความหวาดกลัวในพระเถระอยู่บ้าง แล้วเชื้อเชิญนำทางพระเถระไปสู่ที่ที่เตรียมไว้ ฝ่ายพระองคุลิมาลเถระเมื่อไปนั่งเหนือตั่งนั้นแล้วจึงตั้งสัจจะในที่นั้นว่า

    "ดูก่อนน้องหญิง อาตมานี้เกิดมาโดยมีโทษก็หารู้ล่วงหน้าไม่ แต่อาตมาก็ได้มาพบสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงโปรดอาตมา และในการโปรดของพระองค์ในครั้งนั้น ทำให้จิตที่มืดมัวในศิลปศาสตร์ เที่ยวฆ่ามนุษย์สังเวยเทพเทวดาตามความเชื่อที่ผิด โดยมิได้พิจารณา หาได้รู้ความจริงที่แท้ไม่ เธอจงอย่ากลัวไปเลยน้องหญิง อาตมาได้หยุดเบียดเบียนแล้วในปัจจุบัน คำนี้เป็นความสัตย์จริง ด้วยอำนาจแห่งความสัตย์นี้ ขอน้องหญิงจงคลอดบุตรโดยสะดวกในบัดนี้เถิด"

    สิ้นคำสัตย์นั้น ทารกน้อยก็คลอดจากครรภ์ของสตรีนั้นโดยง่าย เปรียบเสมือนการเทน้ำออกจากกระบอก เหล่ามหาชนทั้งที่อยู่ในม่านและนอกม่าน ก็เกิดปีติยินดีในปาฏิหาริย์และอานุภาพแห่งพระเถระ ความสุขสวัสดิพิพัฒนมงคลก็บังเกิดมีแก่มารดาและบุตรนั้น เสียงสาธุของมหาชนดังไปทั่วบริเวณ หลังจากพระเถระกลับไปยังอารามแล้ว ชนทั้งหลายต่างก็ช่วยกันสร้างแท่นขึ้นในที่ซึ่งพระเถระตั้งสัตยาธิษฐานในสถานที่นี้เอง

    แม้ว่าสัตว์เดรัจฉานอันมีครรภ์ หรือสตรีที่คลอดบุตรยาก เกิดเวทนาในเวลาใด ผู้คนจะนำไปให้นอนลงบนแท่นนั้น ทำให้ทั้งสัตว์และสตรีคลอดบุตรได้โดยง่ายในทันที ด้วยอานุภาพแห่งสัจจะขององคุลิมาลเถระ แม้สตรีผู้ใดมีครรภ์แก่ ไม่มีกำลังจะคลอดบุตร ทั้งไม่สามารถจะมายังแท่นแห่งนี้ได้ ก็จะนำน้ำไปรดลงที่แท่นศักดิ์สิทธิ์แล้วรองเอาน้ำที่รดแท่่นนั้นนำมารดลงบนศีรษะ ก็ทำให้สตรีนั้นคลอดบุตรง่ายเช่นเดียวกัน

    นับแต่นั้นมา ผู้คนก็ให้ความเคารพและถวายบิณฑบาตพระองคุลิมาลเถระ เช่นเดียวกับพระสาวกรูปอื่นๆ และยังความเป็นมงคลให้เกิดขึ้นในที่แห่งนั้นสืบไป

    ยังมีต่อคราวหน้าจะลงให้ใหม่ครับ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 11 ธันวาคม 2012
  17. ไม้ขีด

    ไม้ขีด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,421
    ค่าพลัง:
    +3,023
    บทที่ ๕


    ชัยชนะต่อสตรีผู้มากมารยา





    จิญจมาณ-วิกา วาจาทุษฐ์ ทำเลศดุจ มีครรภ์ จรรโจษขาน

    ผูกไม้กลม แนบท้อง ร้องประจาน บังอาจหาญ กล่าวสุคต ภิรมย์เธอ

    ด้วยเดชา อานุภาพ พระสัมพุทธ ธ วิสุทธิ์ สมาธิ ธรรมเสมอ

    ทรงแน่วแน่ เทศนา ไม่เผลอเรอ นางมารเผลอ ไม้หลุด สุดอัปรีย์

    ขอผองท่าน จงมี ชัยมงคล ทั่วสกล ดลพร้อม ด้วยสุขี

    ด้วยอำนาจ สมาธิ-บารมี ธรรมวิธี แห่งพระ พิชิตมาร




    กัตวานะ กัฏฐะมุทะรัง อิวะ คัพภินียา

    จิญจายะ ทุฎฐะวะจะนัง ชะนะกายะมัชเฌ

    สันเตนะ โสมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท

    ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิฯ



    สมเด็จพระจอมมุนี ทรงผจญกับนางจิญจมาณวิกา

    หญิงผู้แสร้งผูกท่อนไม้กลมไว้ที่หน้าท้อง เสมือนดั่งผู้ตั้งครรภ์

    ยืนด่าและกล่าวใส่ร้ายพระองค์ ท่ามกลางฝูงชนผู้ฟังธรรม

    ด้วยวิธีทรงสมาธิัอันงาม คือ กระทำพระทัยให้ตั้งมั่นนิ่งเฉย

    ด้วยเดชองค์พระผู้พิชิตนางนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่านทุกเมื่อ





    เมื่อครั้งปฐมโพธิกาล หลังจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณและทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
    พระพุทธศาสนาจึงเกิดขึ้นในโลก กิตติศัพท์ของพระบรมสุคตเจ้าแผ่ไปทั่ว เป็นที่ประจักษ์แก่เหล่าประชาชนทุกชั้นวรรณะ ธรรมของพระพุทธองค์มีเหตุมีผลสามารถพิสูจน์ได้ด้วยการปฏิบัติธรรม มีผู้ศรัทธาบำเพ็ญความเพียร ปฏิบัติตามจนเกิดผลเป็นจริงดังพระพุทธองค์ทรงแสดงไว้

    จิตใจของเหล่าศาสนิกชนก็พัฒนาขึ้น พบกับความสุขและสัจธรรมโดยถ่องแท้จากธรรมชาติ มหาชนเหล่านั้นต่างทวีความเลื่อมใส ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่งขึ้น ทั้งเทวดาและมนุษย์ต่างก็ก้าวเข้าสู่ภูมิอริยะ พระสาวกและพุทธบริษัทเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ลาภสักการะก็มีมากขึ้นมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน ด้วยเพราะความศรัทธาที่เพิ่มขึ้น ความปรารถนาจะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองสืบไปจึงเพิ่มขึ้นด้วย ความรุ่งเรืองของศาสนาอื่นก็อับเฉาลงเรื่อยๆ เสมือนแสงหิ่งห้อยที่ถูกบดบังด้วยแสงแห่งดวงจันทร์ ฉะนั้น

    ฝ่ายพวกเดียรถีย์นักบวชในศาสนาอื่นไม่พอใจ เพราะการประกาศพระพุทธศาสนาของพระพุทธองค์ทำให้คนทั้งหลายรู้จักผิด ชอบ ชั่ว ดี มีความฉลาดรู้เท่าทันพวกตน เป็นเหตุให้การเผยแผ่ลัทธิของเดียรถีย์เสื่อมลง ทั้งลาภสักการะที่เคยได้รับก็ลดน้อยลงไป จนต้องออกจากสำนักเร่ร่อนไปตามถนนหนทาง เที่ยวเดินบอกผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาในที่นั้นว่า
     
  18. ไม้ขีด

    ไม้ขีด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,421
    ค่าพลัง:
    +3,023
    "ท่านทั้งหลาย ทำไมไม่ให้ทานแก่พวกเราบ้างเล่า พวกเราก็เป็นพระพุทธเจ้าเหมือนกัน ทำไมจึงให้ทานแต่พระสมณโคดมผู้เดียวอยู่อย่างนั้นเล่า"

    แต่ไม่ว่าพวกเดียรถีย์เดินป่าวประกาศไปที่ใดก็ไม่ได้ลาภสักการะเลย เหล่าเดียรถีย์จึงประชุมปรึกษาหารือกันเพื่อสร้างความเสื่อมเสียให้พระพุทธศาสนา เดียรถีย์ผู้หนึ่งกล่าวในที่ประชุมนั้้นว่า

    "ศาสนาของพระสมณโคดมรุ่งเรืองใหญ่แล้ว ดูที่วัดเชตวันสิ ผู้คนเนืองแน่นไปหมด บางวันแทบไม่มีที่จะเดิน แล้วดูสำนักของเราสิ คนที่เคยพลุกพล่านก็บางตาลงไปมาก ถ้าเราไม่ทำอะไรสักอย่าง ต่อไปคงจะไม่เหลืออะไรเลย ลำพังลาภสักการะทุกวันนี้ก็ไม่พอเลี้ยงปากเลี้ยงท้องแล้ว"

    เดียรถีย์อีกผู้หนึ่งจึงกล่าวขึ้นว่า

    "มันจะไปยากอะไรเล่า เราก็มุ่งไปที่เสาหลักของพระพุทธศาสนาสิ มุ่งทำลายพระสมณโคดมแต่เพียงผู้เดียว เมื่อแม่ทัพตาย เหล่าทหารหรือจะอยู่สู้ต่อ ต้องถอยทัพกลับศึกกันหมดนั่นแหละ พระสมณโคดมรุ่งเรืองได้ก็ต้องอับเฉาลงได้เช่นกัน"

    อีกผู้หนึ่งว่า "ท่านจะไปฆ่าท่านสมณโคดมหรือ" เดียรถีย์ผู้นั้นถามด้วยความตกใจ

    "เราไม่ได้หมายความว่าอย่างนั้น เป็นการเปรียบเทียบเฉยๆ ท่านนี่ไม่มีปัญญาเอาเสียเลย"

    "ไม่ต้องเถียงกัน แต่ว่าเราจะำทำอย่างไรกันต่อไปล่ะ"

    ขณะกำลังสนทนากันอยู่ก็เหลือบเห็นสาวงามนางหนึ่งถือเครื่องสักการะเดินเยื้องย่างมาแต่ไกล เหล่าเดียรถีย์สบตากันแล้วกล่าวเกือบจะพร้อมกันว่า

    "รู้แล้ว ว่าจะจัดการกับพระสมณโคดมอย่างไร"
    สาวงามผู้ซึ่งกำลังเดินถือของมาถวายนี้มีชื่อว่า "จิญจมาณวิกา" นางเป็นผู้ฝักใฝ่ในลัทธิของพวกเดียรถีย์


    เมื่อนางมาถึงที่ที่พวกเดียรถีย์ประชุมกันอยู่ จึงวางสำรับลง ไหว้พวกเดียรถีย์แล้วยืนนิ่งอยู่ นางเห็นสีหน้าและแววตาของพวกเดียรถีย์เคร่งเครียด คิ้วขมวด จ้องมาที่นาง จึงถามว่า

    "ดิฉันมีความผิดอะไรหรือท่านอาจารย์"

    พวกเดียรถีีย์ยังคงนิ่งเงียบอยู่ นางจึงถามอีก

    "เอ๊ะ ! ดิฉันมีความผิดอะไรกันเล่า พวกท่านจึงทำกิริยาแบบนี้กับดิฉัน ถ้าพวกท่านไม่ยอมตอบ ดิฉันจะไปละ"

    นางทำทีจะยกสำรับกลับไปด้วย พวกเดียรถีย์กล้วเสียแผนจึงรีบบอกนางว่า

    "เดี๋ยวก่อน น้องหญิง ไม่ใช่ความผิดของน้องหญิงแต่ประการใด แต่ลัทธิของเรากำลังจะล่มจม น้องหญิงไม่รู้หรอกหรือ"

    นางยิ้มที่มุมปากและกล่าวตอบว่า "ข้าแต่ท่านอาจารย์ทั้งหลาย เหตุที่ลัทธิของท่านซบเซาลงไม่ได้เกี่ยวอะไรกับตัวดิฉัน ใช่หรือไม่"

    เดียรถีย์ตอบว่า "ไม่ได้เกี่ยวกับน้องหญิงแต่ประการใดเลย หากแต่น้องหญิงเป็นผู้ที่พวกเราเห็นเหมาะสมว่าจะช่วยลัทธิของพวกเราได้"

    นางถามกลับอย่างสนใจว่า

    "ท่านอาจารย์ ดิฉันนี้จะช่วยอะไรพวกท่านได้ แต่ถ้ามีอุบายใดจากพวกท่านเพื่อจะทำให้ลัทธิของเราเจริญเฟื่องฟู ปลุกจิตใจของประชาชนใ้ห้กลับมาเลื่อมใสเหมือนเดิมได้ ดิฉันก็ยินดีช่วยเหลือ ขอท่านอาจารย์ได้บอกอุบายนั้นกับดิฉันเถิดเจ้าค่ะ"

    เมื่อนางปวารณาตัวรับใช้ ดังนั้นพวกเดียรถีย์จึงบอกอุบายในทันทีว่า

    "ดูก่อนน้องหญิงผู้มีรูปโฉมงดงามสะคราญตา พวกเราขอขอบคุณขอบใจในความปรารถนาดีของน้องหญิง ที่มีน้ำใจจะช่วยเหลือลัทธิของพวกเราในยามซบเซาเช่นนี้ เราจะได้อาศัยน้องหญิงนี้แหละทำให้พระสมณโคดมเศร้าหมองเสียชื่อเสียง โดยทำให้ประชาชนสงสัยว่าน้องหญิงได้เสียพรหมจรรย์เพราะพระสมณโคดม เราเชื่อว่าวิธีนี้จะทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมลงโดยเร็วพลัน ฮะ ฮะ ฮ่า น้องหญิงพอจะทำเพื่อลัทธิของพวกเราได้หรือไม่เล่า"

    เมื่อนางได้ฟังถ้อยคำของพวกเดียรถีย์ ก็เห็นช่องทางสร้างความเสื่อมเสียให้แก่พระพุทธศาสนา จึงรับอาสาพวกเดียรถีย์ว่า

    "ขอท่านอาจารย์ทั้งหลายจงวางใจ และปล่อยให้เป็นหน้าที่ของดิฉันเถิดเจ้าค่ะ"

    กล่าวแล้วจึงหลีกไปจากที่นั้น ด้วยอาการภูิมิใจที่จะได้ทำงานชิ้นสำคัญให้แก่พวกเดียรถีย์

    ในวันรุ่งขึ้น นางจิญจมาณวิกาก็ได้เริ่มก่อกรรมอันลามก นางแต่งตัวด้วยอาภรณ์งามเพริศแพร้วห่มผ้าสีปีกแมลงทับ มือถือดอกไม้และเครื่องหอม ตรงไปยังวิหารเชตวันด้วยลีลาเยื้องย่างอย่างนางพญาหงส์ ยั่วยวนสายตาชายหญิงทุกคู่ที่ได้พบเห็น และในเวลาเย็นย่ำของทุกวันอันเป็นเวลาที่เหล่าพุูทธบริษัทพากันเดินออกมาจากเชตวันมหาวิหารเป็นจำนวนมาก เพราะเป็นเวลาที่มหาชนเสร็จจากฟังพระธรรมเทศนาจากพระผู้มีพระภาคเจ้า

    นางอาศัยเวลานี้ลวงตามหาชนเดินสวนทางเข้าไปในเชตวันมหาวิหาร เมื่อพ้นกลุ่มคนไปแล้วนางก็หาที่หลบอันสมควรแห่งหนึ่งจากสายตามหาชน พอเวลาเช้าตรู่ของวันต่อมานางก็ขมีขมันทำทีว่าออกมาจากเชตวัน แสร้งทำอาการอ่อนเพลีย ทำผมเผ้ารุงรัง รีบร้อนเข้าไปสู่พระนครในจังหวะที่ผู้คนเดินเข้าไปฟังธรรมเจริญจิตภาวนา ทำให้เกิดอกุศล สะกิดใจเหล่าพุทธบริษัท

    นางทำอย่างนี้สม่ำเสมอ ในเวลาเย็นก็มุ่งหน้าเข้าวัดและกลับออกมาอีกครั้งในเวลาเช้าของอีกวัน ยัึงความสงสัยให้แก่ผู้พบเห็นมากขึ้นทุกที ผู้อดรนทนไม่ได้ในกิริยาของนางจึงกล่าวถามว่า

    "นี่แม่หนู ข้าขอถามสักหน่อยเถอะ หนูมีธุระอะไรในวัดหรือจ๊ะ"
     
  19. ไม้ขีด

    ไม้ขีด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,421
    ค่าพลัง:
    +3,023
    นางแสร้งตอบอย่างไม่พอใจว่า

    "ก็แล้วมันธุระอะไรของป้าล่ะ"

    แล้วเดินหลีกไป ทำให้ผู้คนยิ่งทวีความสงสัยในพฤติกรรมแปลกประหลาดชวนฉงนของนาง เมื่อผ่านพบนางที่ใดต่างก็ถามเป็นคำถามคล้ายกันว่า

    "น้องสาว มีธุระอะไรในวัดเชตวันหรือจ๊ะ"

    นางก็ตอบด้วยอาการไม่ชอบมาพากลเหมือนเดิมว่า

    "เรื่องของฉัน ไม่ใช่กงการอะไรของพวกท่านนี่"

    พวกที่อยากรู้มากก็ถามลึกลงไปอีกว่า

    "หนูเข้าไปพักกับใครทุกๆ วันหรือจ๊ะ"

    เมื่อเจอคำถามที่นางรออยู่แล้ว นางจึงรีบตอบคำถามที่ได้เตรียมไว้ว่า

    "หนูก็พักอยู่ในพระคันธกุฎีเดียวกับพระพุทธเจ้าของพวกท่านนั่นแหละจ้ะ"

    ตอบแล้วก็หัวเราอย่างมีความสุขก่อนเิดินจากไปอย่างผู้มีชัย เรื่องนี้แพร่ขยายไปทั่วเมืองสาวัตถีอย่างรวดเร็ว จาก ๑ เป็น ๒ จาก ๒ เป็น ๔ ปากต่อปากก็ได้ฟุ้งไปสู่ประชาชนทุกชั้นวรรณะ ความสั่นคลอนจึงเิกิดขึ้นในหมู่พุทธบริษัท ต่างก็มีเสียงเล่าลือ วิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา ผู้ที่ไม่ศรัทธาในพระพุทธศานาอยู่ก่อน ก็ยิ่งชอบใจซ้ำเติมหนักขึ้น

    เมื่อสิ้นไตรมาส นางจึงเริ่มแผนขั้นที่สอง โดยการนำผ้ามาพันท้องให้กลมโตขึ้นประหนึ่งว่ามีครรภ์ ทำให้ประชาชนที่เคยสงสัย เชื่อมั่นมากขึ้น

    นางเดินไปที่ไหนไหนตามปกติ เพียงแต่ทำตัวให้ดูลำบากมากขึ้น เหมือนหญิงที่เริ่มตั้งครรภ์ทั่วไป
    ครั้นเมื่อย่างเข้าเดือนที่เก้า นางก็ผูกไม้กลมไว้ที่ท้อง แล้วให้คนนำไม้ที่มีลักษณะคล้ายคางของโคมาทุบตามหลังมือหลังเท้า


    ทุกขั้นตอนได้ดำเนินไปอย่างสมจริงและแยบคาย ทำให้ผู้พบเห็นปักใจเชื่อได้โดยง่าย จากนั้นจึงมุ่งตรงไปสู่วัดเชตวัน โดยมีความมั่นใจว่าจะทำวันนี้ให้เป็นวันอัปยศที่สุดของพระสมณโคดมเลยทีเดียว

    ภายในวัดเชตวัน เหล่าพุทธบริษัทที่ศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนาก็ยังมานั่งฟังสมเด็จพระบรมศาสดาแสดงพระธรรมเทศนาตามปกติ บางคนในที่นั้นแม้จะระคายใจในเรื่องที่รู้มาอยู่บ้าง แต่ก็เฉยอยู่เนื่องเพราะไม่รู้ไม่เห็นจริง จึงยังไม่ปักใจเชื่อเสียทีเดียว ส่วนผู้ที่มีปัญญาแยกแยะดีชั่วได้ยังคงมากันอย่างเนืองแน่น นั่งฟังพระธรรมเทศนาด้วยอาการสงบ

    ฝ่ายสมเด็จพระชินสีห์ ก็ยังทรงแสดงพระธรรมเทศนาด้วยอาการปกติ พระพักตร์สดใสผุดผ่อง ทั้งพระสุรเสียงก็ยังคงไพเราะเย็นซ่านเข้าไปในหัวใจพุทธบริษัทเหมือนเช่นแต่ก่อน ความงดงามสง่าของพระวรกายก็มิได้เศร้าหมองเลยแม้แต่น้อย ขณะที่มหาชนกำลังซึมซาบและปีติในพระธรรมเทศนา เสียงแหลมเล็กก็แผดดังขึ้น ทำลายบรรยากาศอันสงบนั้น

    "นี่ ! ท่านมหาสมณะ เวลาท่านแสดงธรรมแก่มหาชน เสียงของท่านช่างไพเราะจับใจ ริมฝีปากของท่านก็งามได้รูปสนิทดี แต่หม่อมฉันสิ มีครรภ์แก่ก็เพราะท่าน จะคลอดเมื่อไรที่ไหน จะบำรุงครรภ์อย่างไรก็ไม่เคยสนพระทัย เวลาร่วมอภิรมย์ก็สุดแสนที่จะชื่นชมใส่พระทัยอยู่ตลอดราตรี พอครรภ์แก่เข้าก็ปล่อยทิ้งขว้างไม่ใยดี ปล่อยให้เร่ร่อนน่าสมเพชเวทนาอยู่อย่างนี้ได้อย่างไรเล่า"

    เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะพระพักตร์ ทำให้มหาชนละสายตาจากพระองค์มาจับจ้องที่นางจิญจมาณวิกา นางมิได้สะทกสะท้านต่อสายตาเหล่านั้น กลับมุ่งใส่ร้ายพระชินสีห์อีกว่า

    "ก็เมื่อพระองค์ไม่มีเวลามาเอาพระทัยใส่หม่อมฉันเหมือนเคย อย่างน้อยก็น่าจะส่งอุปัฏฐากของพระองค์มาดูแลหม่อมฉันบ้าง หรือจะมอบหมายให้พระเจ้าปเสนทิโกศล หรือไม่ก็นางวิสาขามหาอุบาสิกาก็ได้ นี่สิเพคะเป็นสิ่งที่ควรทำก่อนสิ่งอื่น ท่านก็สนพระทัยแต่เรื่องการอภิรมย์ ไม่เคยสนพระทัยที่จะมารับผิดชอบดูแลกันเลย จะทุกข์จะร้อนก็หามาสนพระทัยหม่อมฉันไม่"

    เมื่อเสียงแหลมนั้นดับลง ทุกสายตาก็หันกลับมามองพระพักตร์พระผู้มีภาคเจ้าพร้อมกัน หากพบก็แต่ความปกติ พระพักตร์ยังคงเบิกบานผ่องใส ไม่มีความตื่นตระหนกตกพระทัยในการด่าทอของนางจิญจมาณวิกาเลยแม้แต่น้อย พระเนตรยังคงสุกใสเปี่ยมไปด้วยพระเมตตา ส่วนอาการของนางจิญจมาณวิกานั้นเปรียบเหมือนกับหญิงที่พยายามขว้างก้อนอุจจาระเพื่อทำลายดวงจันทร์ให้เศร้าหมองฉะนั้น

    ในท่ามกลางบรรยากาศที่ตึงเครียดนั้น พระตถาคตเจ้าทรงพักการแสดงธรรมไว้ ทรงสงบนิ่งอยู่และทรงตรัสด้วยเสียงก้องกังวานใสว่า

    "ดูก่อนน้องหญิง ถ้อยคำที่เธอกล่าวมานั้น จะเท็จจริงประการใด ก็มีแต่เรากับเธอเท่านั้นที่รู้"

    นางแสร้งทำเป็นน้อยใจในพระบรมศาสนดา ทั้งกรีดร้อง ทั้งร้องไห้เสียใจอย่างมาก พลางก็ยืนเท้าสะเอวชี้ครรภ์ปลอมๆ ของนางและพูดว่า

    "นี่ไง นี่ไง คือพยาน ถ้ามันไม่จริงแล้วจะบันดาลเกิดขึ้นมาไม่ได้หรอก"

    แล้วนางก็หัวเราะปนร้องไห้อย่างคนเสียสติ
    แต่ด้วยเดชานุภาพแห่งความบริสุทธิ์ของพระบรมศาสดา จึงทำให้ที่ประทับนั่งขององค์อมรินทร์ร้อนขึ้นผิดปกติ

    เมื่อองค์อมรินทร์พิจารณาดู ก็ทรงทราบถึงเหตุการณ์อัปมงคลที่นางจิญจมาณวิกากระทำเล่ห์กลใส่ร้ายพระตถาคตเจ้าด้วยคำไม่จริง จึงมีบัญชาให้เทพบุตรลงมาแสดงความจริงให้ปรากฏเป็นสักขีพยานในทันใด

    ฝ่ายเทพบุตรก็ได้จำแลงแปลงกายเป็นลูกหนู เข้าไปกัดผ้าที่ผูกรัดท่อนไม้นั้นไว้ พระพายก็บันดาลลมให้เกิดขึ้นในที่นั้น ท่อนไม้ก็หลุดขาดสะบั้นลงมากระแทกปลายเท้าของนางทั้งสองข้าง

    นางได้กรีดร้องด้วยความเจ็บปวดและตกใจ โลหิตไหลออกมาเปรอะเปื้อนพื้นที่นางยืน
     
  20. ไม้ขีด

    ไม้ขีด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,421
    ค่าพลัง:
    +3,023
    อยู่ ความลับที่เก็บไว้เป็นปมปริศนาในหัวใจมหาชนจึงถูกเผยจนหมดสิ้น

    ความจริงได้แสดงออกมาอย่างชัดเจน ในสถานการณ์ที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าของพุทธบริษัท สายตาทุกคู่จับจ้องไปยังนางจิญจมาณวิกาเป็นตาเดียว ผู้ไม่สามารถทนต่อความจริงนั้นได้ก็ลุกฮือขึ้นมากล่าวคำด่าทอนางต่างๆ ว่า

    "หนอย อีหญิงกาลกิณี เอ็งตบตาพวกเรามาตลอดยังไม่พอ ยังกล้าเข้ามาด่าทอสมเด็จพระบรมศาสดาถึงในเชตวันนี้อีกรึ ไปให้พ้นไป๊"

    ต่างก็พากัน ตะโกนขับไล่นาง

    "เอามันออกไปให้พ้นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์นี้"

    เหล่าอุบาสกอุบาสิกาต่างพากันฉุดกระชากลากนางออกไปให้พ้นพระเนตรแห่งพระชินสีห์ มหาชนพากันปลดเปลื้องเครื่องประดับและสิ่งของที่อยู่ใกล้ตัวขว้างปาใส่นางไปตลอดทางที่ถูกลากตัวผ่านไป

    นางจิญจมาณวิกาทั้งละอายแลอดสูหาศักดิ์ศรีไม่ได้เลย ทั้งสภาพของนางก็ดูทรุดโทรมไปถนัดตา ไม่มีสง่าราศีเหมือนแต่ก่อน ในหัวของนางมีแต่ความสับสน เสียงด่าทอดังก้องอยู่ในโสตประสาท หากก็สายไปเสียแล้วที่จะสำนึกผิด

    เมื่อฝูงชนลากนางจิญจมาณวิกาออกมาพ้นซุ้มประตูวิหารวัดเชตวันแล้ว พื้นแผ่นดินเกิดเสียงกัมปนาทสั่นสะเทือนและแยกออกเป็่นช่อง เห็นเปลวเพลิงจากมหาอเวจีนรกแลบลามออกมาตามช่องดิน สว่างไปทั่ว มีสีแดงฉาน ผู้คนที่เห็นเหตุการณ์ต่างร้องตะโกนดังลั่น

    "ธรณีสูบ ธรณีสูบ"

    ตามด้วยเสียงกรีดร้องของนางจิญจมาณวิกา ซึ่งถูกไฟนรกม้วนรัดลงไปเสวยผลกรรมในมหาอเวจีนรก

    มหาชนที่มามุงดูเหตุการณ์อันน่ากลัวนั้นต่่างก็พากันสลดใจไปตามๆ กัน แล้วเหตุการณ์เลวร้ายในพระพุทธศาสนาก็ผ่านพ้นไป ด้วยการปิดฉากอันน่าสลดของนางจิญจมาณวิกา ผู้ทูลความเท็จต่อพระพุทธองค์

    เหล่าเดียรถีย์เมื่อทราบถึงความพลาดพลั้งของนางจิญจมาณวิกาแล้ว ต่างพากันหลบซ่อนอยู่ พวกที่ยังออกมาเดินร้องขออาหารอยู่ตามท้องถนนก็ไม่มีใครสนใจ ฝ่ายพวกที่ไม่เคยสนใจเดียรถีย์อยู่แล้ว เมื่อพบเห็นก็ยิ่งตีตัวออกห่างราวกับเห็นสิ่งอัปมงคล

    แผนการที่พวกเดียรถีย์คาดหวังผลไว้ แทนที่จะทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมลงกลับตรงกันข้าม ผู้คนต่างหลั่งไหลเข้ามาฟังพระธรรมเทศนากันมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม คนที่ไม่เคยสนใจในพระพุทธศาสนา ก็กลับมาสนใจศึกษาฟังพระพุทธองค์แสดงธรรม ส่วนพวกที่ศรัทธาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็ยิ่ิงมีความแน่นแฟ้นขึ้น ต่างพากันสรรเสริญในความบริสุทธิ์ของพระบรมศาสดา ทำให้พระพุทธศาสนากลับยิ่งได้รับความนิยมจากมหาชนยิ่งขึ้น
     

แชร์หน้านี้

Loading...