จงพยายามเปลี่ยนเสื้อให้ทันสมัยก่อนตาย

ในห้อง 'วิทยาศาสตร์ทางจิต - ลึกลับ' ตั้งกระทู้โดย อุรุเวลา, 9 พฤษภาคม 2013.

  1. อุรุเวลา

    อุรุเวลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,002
    เมื่อตะกี้นี้เราได้พูดกันถึงเรื่อง “เปลี่ยนเสื้อ” เปลี่ยนเสื้อนั้นมีหลายชนิด เปลี่ยนเสื้อดีเป็นเสื้อขาดก็มี ระวังให้ดีนะ เปลี่ยนเสื้อคน เอาเสื้อสัตว์มาใส่ก็มี นั่น ระวัง! เช่นเรานั่งอยู่เวลานี้ เราสมมุตินะเราจะขยะแขยงไหม เรานั่งอยู่เวลานี้เราใส่เสื้อมนุษย์ แล้วไปเอาเสื้อหมามาใส่ มันยุ่งไหม นั่นต้องคิด!

    การพูดเช่นนี้ กรุณาอย่าถือว่าเป็นการต่ำ เป็นความต่ำ แต่เป็นเรื่องความจริง ที่เอามาเทียบเคียงให้ทราบว่า ความสูง ความต่ำ เกิดจากความดี และชั่ว ที่พาให้เหลื่อมล้ำต่ำสูงต่างกัน ภายในจิตใจของสัตว์โลก จึงต้องเทียบให้ฟัง นี่เราเทียบใกล้ๆ นี้ก็น่าขยะแขยงแล้ว แล้วเรื่องมันจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ ถ้าหากเราประมาทให้ตัวเอง เคยสูงแล้วมันจะต่ำลงไปได้ เคยดีแล้วมันจะชั่วลงได้ เพราะฉะนั้น เราจงพยายามที่จะให้ดีขึ้นยิ่งกว่านี้ไปโดยลำดับ ถ้าเปลี่ยนเสื้อ ก็เปลี่ยนเสื้อที่ราคาเท่านี้ขึ้นเป็นราคาเท่านั้น เสื้อคุณภาพของมันเป็นอย่างนี้แล้ว เลื่อนคุณภาพของมันขึ้นไปโดยลำดับ ตามคุณภาพของจิตเราที่มีมากน้อยนั่นแหละ

    คุณธรรม คุณภาพ คุณธรรมที่มีอยู่ภายในจิตใจนั้นแล เป็นเหตุที่จะทำให้เปลี่ยนสภาพสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้าหากคุณธรรมไม่ค่อยมี มันเป็นบาปธรรม แทรกอยู่ภายในจิตก็เปลี่ยน “ลงไป” เรื่อย ๆ เปลี่ยนเสื้อดี เป็นเสื้อขาดไปละ เปลี่ยนเสื้อคน เป็นเสื้อสัตว์ เป็นเสื้อเปรต เสื้อผี เป็นไปได้หมด

    จิตนี่เป็นของไม่แน่นอน เพราะมีเครื่องหมุนจิตให้เป็นไปในแง่ต่างๆ ได้ เครื่องหมุนอันนั้นก็เป็นความชั่วนั่นเองที่หมุนไปทางต่ำ ไม่มีความดีที่จะหมุนให้ไปทางสูงเลยมีแต่เหตุชั่วทั้งนั้น แล้วเรามักจะคล้อยตามสิ่งที่ชั่วสิ่งที่ไม่ดีอยู่เสมอ ทั้งที่เราไม่ปรารถนาความชั่ว แต่ความคล้อยตามนั้นบ่งบอกอย่างชัดเจน เราควรสังเกตตอนนี้ ระมัดระวังตอนนี้ให้ดี!

    การปฏิบัติใดๆ ก็ตาม งานใดก็ตามในโลกนี้ ไม่เหมือนกับงาน คือการปฏิบัติต่อจิตใจ ซึ่งเป็นงานละเอียดลออ และรวดเร็วที่สุด กำหนดไม่ทัน รู้ไม่ทัน ทั้งๆ ที่ตัวจิตก็เป็นตัวรู้เป็นตัวปรุง แต่ที่ว่า “รู้ไม่ทัน” คือ สติรู้ไม่ทัน สติเราต้องผลิตขึ้นมา ต้องพยายามอบรม พยายามตั้งสติ ตั้งท่าตั้งทาง เช่นเดียวกับเราเดินไปในสถานที่ที่ไม่ปลอดภัย เช่น ที่เป็นขวากเป็นหนาม เป็นต้น เราต้องระมัดระวัง ความระมัดระวังตั้งจิตตั้งใจเดินนั้นแล ท่านเรียกว่า “สติ”

    เช่น ระวังจิตไม่ให้คิดไปในแง่ต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งไม่ดี ขัดกับธรรม คือ ความต้องการของเรา ที่จะให้จิตสงบในเวลาภาวนา เป็นต้น ความระมัดระวังเช่นนี้ ท่านเรียกว่า “สติ” เราพยายามระมัดระวังเสมอ พยายามอบรมความระวังนี้ให้มากขึ้น ความระวังเรื่อยๆ ก็เป็นความเคยชินภายในตัวเอง แล้วค่อยรู้เรื่องรู้ราว มีสติเป็นพื้นขึ้นมาโดยลำดับ จนกลายเป็น “มหาสติ มหาปัญญา” ขึ้นได้ จากสติที่ล้มลุกคลุกคลาน จากปัญญาที่ล้มลุกคลุกคลาน นี่แหละท่านจึงสอนให้อบรม สอนให้บำรุงสติ โดยลำดับ

    พวกเราอยู่ในฐานะที่จะต้องเปลี่ยนเสื้ออย่างที่ว่านั้น เพราะกฎบังคับมีอยู่ภายในใจแม้เราจะไม่รู้ก็ตาม กฎอันนี้เป็นสิ่งที่ลี้ลับ อันเกินความรู้ของตน จะสามารถรู้เห็นเรื่องของตัวได้ แต่มีท่านผู้สามารถรู้ได้เป็นพระองค์แรก คือ พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ท่าน ท่านเหล่านี้ไม่ต้องสงสัยว่า ท่านจะไม่ทราบสิ่งลึกลับเหล่านี้

    ถ้าท่านไม่ทราบ ท่านก็ถอดถอนแก้ไขไม่ได้ สิ่งลึกลับอันนี้จะเป็นความลึกลับเฉพาะสติปัญญาที่ยังไม่สามารถเท่านั้น แต่เมื่อสติปัญญาสามารถแล้ว ก็เปิดเผยขึ้นมาหมด ไม่มีอะไรลี้ลับ

    ขึ้นชื่อว่า “สมมุติภายในใจ” แล้ว จะต้องถูกปัญญารื้อถอนขึ้นมาจนหมดสิ้น แล้วพ้นจากความ “สมมุติ” ท่านเรียกว่า “วิมุตติ” นั่นแหละ ความจริงทั้งหลายที่มีอยู่ภายในจิตใจของเรานี้ ไม่ว่าส่วนดีส่วนชั่ว มันเป็นความจริงแต่ละอย่างๆ ด้วยกัน แต่เราไม่สามารถที่จะทราบสิ่งลึกลับที่มีอยู่ในตัวเราได้ นี่เป็นเหตุให้เกิดความประมาทนอนใจไม่ระมัดระวัง โดยเข้าใจว่า “สิ่งนั้นไม่มี” บ้าง ทั้งๆ ที่ท่านผู้รู้ก็บอกว่า “มี” สิ่งนั้นเป็นภัยเราเข้าใจว่าไม่เป็นภัยบ้าง ทั้งๆ ที่สิ่งนั้นเป็นภัยที่มีอยู่ภายในใจเราด้วย เลยทำให้ประมาทนอนใจ แล้วเป็นความไม่สนใจด้วย เป็นความเข้าใจดียิ่งกว่าท่านผู้รู้อีกด้วย ทั้งๆ ที่โง่ที่สุด มันก็อยู่กับความโง่นั่นแหละ กิเลสตัวว่าฉลาด! ผู้ที่ฉลาดจริงๆ แล้วท่านไม่อวด คนโง่มักอวดฉลาดเสมอ ไม่ว่าใครๆ มักอวด นี่เราพูดกันในเรื่องของ “ธรรม”

    หากว่าเราแม้มีความหยิ่งภายในใจเราว่าเป็นผู้ฉลาด แต่ใคร่ต่อการปฏิบัติจิตตภาวนา ยังไงก็ไปไม่พ้นที่จะทราบตามความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ซึ่งมีอยู่กับตัวเราเองตั้งแต่ขั้นหยาบจนถึงขั้นละเอียด และขั้นละเอียดสุด เพราะพระองค์ทรงนำสิ่งที่จริงอยู่ภายในใจของสัตว์ทั้งนั้นออกมาแสดง ให้สัตว์โลกทั้งหลายได้รู้ ได้เห็น ได้ดู ได้ชม ไม่ใช่เอามาจากที่อื่นใด เพราะ “ธรรม” ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนนี้ ไม่ได้สอนแบบปลอมๆ

    พระพุทธเจ้าไม่ได้รู้ “ธรรม” อย่างปลอมๆ จะมาสอนโลกแบบหลอกลวงได้อย่างไร ปฏิบัติก็จริง รู้ก็จริง สิ่งที่รู้ สิ่งที่ละ ก็เป็นของมีจริง และรู้ได้จริง ละได้จริง จึงมาสอนโลกด้วยความจริงนั้นๆ

    สอนพวกเราก็นำเรื่องของพวกเราทั้งนั้นออกมาสอนเรา แม้จะนำเรื่องของผู้ใดออกมาสอนก็ตาม เรื่องนั้นเป็นอย่างเดียวกัน เช่น ความโลภ พระพุทธเจ้าท่านทรงแสดงถึงเรื่อง ความโลภ ความโกรธ ความหลง แม้จะแสดงเรื่องของบุคคลใดก็ตาม ก็คือเรื่องของเรานั่นแหละ

    สำหรับเราผู้ตั้งใจศึกษาเพื่อถอดเพื่อถอนกิเลส หรือเพื่อส่งเสริมธรรม สิ่งเหล่านั้นมีอยู่ภายในใจเราด้วยกัน เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าสอนโลกจึงไม่ได้มุ่งต่อผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะ แต่มุ่งต่อสัตว์โลกที่ควรจะได้รับประโยชน์ตามกำลังของตน เพราะพระพุทธเจ้ามิใช่ผู้คับแคบตีบตัน เว้นเฉพาะบุคคลที่ควรสงเคราะห์เป็นกรณีพิเศษ พระองค์ก็ทรงสงเคราะห์เป็นรายบุคคลไปบ้าง นอกนั้นธรรมก็เป็นธรรมกลางๆ ให้เหมาะสมกับพุทธบริษัทที่สดับธรรมจากท่าน พุทธบริษัทนั้นๆ ย่อมมีกิเลสประเภทเดียวกัน

    ฉะนั้นการสอนธรรมแต่ละครั้ง จึงปรากฏว่ามีผู้ได้รับผลประโยชน์ ตลอดถึงบรรลุมรรค ผล นิพพาน มีจำนวนมาก เพราะเหตุไรจึงเป็นเช่นนั้น? ก็เพราะเรื่องความจริงนั้นเหมือนกัน แสดงเรื่องความจริงออกมาเป็นกลางๆ เท่านั้น ใครก็ “โอปนยิโก” คือ น้อมเข้ามาสู่ตัว ท่านพูดถึงความโลภ ความโลภของเราก็มี พูดถึงความโกรธ ความหลง ก็ต่างคนต่างมี พูดถึงเรื่องละความโลภ ความโกรธ ความหลง ต่างคนก็พยายามละด้วยกัน ท่านเทศน์ให้รู้ สอนให้รู้ ต่างคนต่างมีความรู้อยู่แล้ว และสนใจฟังด้วย ทำไมจะไม่รู้

    ธรรมเหมือนกัน กิเลสอาสวะเหมือนกัน พระพุทธเจ้าประทานแก่ผู้ใดก็ตาม บรรดาผู้ที่มีความสนใจหวังผลประโยชน์จากการฟัง ก็ต้องได้รับผลมากไปตามเหตุ ถ้าเราจะเสาะแสวงดูโทษที่มีอยู่ภายในตัวเรา เราก็ควรจะทราบได้อย่างชัดเจนทำไมจะไม่ทราบ สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนและตำหนิติเตียนนั้น มีอยู่กับใครถ้าไม่มีอยู่กับพวกเราที่มีกิเลสด้วยกันนี้ ก็เมื่ออยู่กับพวกเราแล้ว ทำไมเราจะไม่ทราบว่าอันใดเป็นกิเลส ถ้าทราบว่าอันนั้นเป็นกิเลส และกิเลสเป็นภัย เราจะต้องมีความกลัว ความขยะแขยง ถ้าท่านสอนวิธี “ละ” เราจะต้องรีบนำมาปฏิบัติต่อสิ่งนั้น ๆ แล้วได้ผลขึ้นมาโดยลำดับ นี้ประการหนึ่ง

    อีกประการหนึ่ง สิ่งที่มีอยู่ในตนก็ให้ท่านสอน ถ้าไม่โง่จะให้ท่านสอนทำไม มันมีด้วยกันทุกคน สติปัญญาก็มีอยู่ด้วยกันแต่ไม่ทราบ นี่แหละท่านจึงเรียกว่า “พวกเราโง่” เหยียบย่ำไปมาอยู่กับความจริงทั้งหลาย ก็ไม่ทราบ

    ให้พยายามเปลี่ยนเสื้อ เปลี่ยนเสื้อเรื่อยๆ เอาจนกระทั่งถึง “เสื้อทันสมัย” ไม่ต้องไปหามาจากเมืองนอกเมืองนาที่ไหนกัน ส่วนมากสิ่งใดที่ว่าทันสมัยแล้วจะต้องมาจากเมืองนอก เมืองเราไม่มี เพราะเหตุใดถึงไม่มี? น่าคิดอยู่มาก สติปัญญาเราก็พอ มีมือเท้าเราก็พอมี ทำไมถึงไม่ทันสมัย มันไม่ทันที่หัวใจของกิเลสนั่นเอง ที่มันพาคน “เห่อ” จนลืมเนื้อลืมตัว และเอาจนฉิบหาย เพราะมันยังไม่ยอมรู้สึกตัวว่าโง่ ล้าสมัย สิ่งที่ซื้อมานั้นทันสมัยอยู่หรอก แต่ตนนั่นซิ มันเห่อ มันโง่ มันจึงล้าสมัยไปโดยไม่รู้ตัว

    พูดง่ายๆ อย่างนี้ ถ้าจะพิจารณาตามเหตุตามผลแล้วมันทันด้วยกันนั่นแล สัตว์ก็ทันสมัยไปตามสัตว์แต่ละประเภท คนก็ทันสมัยกันแต่ละชาติแต่ละภาษา ถ้าไม่โง่ ไม่ดูถูกกัน ต่างสัตว์ ต่างคน ต่างหาเลี้ยงตัวเอง ไปดูถูกกันทำไม ถ้าไม่ใช่คนเลวคนล้าสมัยของมนุษย์น่ะ!

    เอ้า ย่นเข้าภายในอีก การทันสมัยน่ะ คือ อะไร? เปลี่ยนเรื่อยๆ ด้วยสติปัญญา คือ เปลี่ยนอารมณ์ส่วนหยาบด้วยอุบายวิธีแห่งการพิจารณา เราจะทราบภายในใจเราโดยลำดับ

    ครั้งแรกที่ยังไม่เคยอบรมไม่เคยปฏิบัติศึกษาศาสนาเลย จิตใจของเราเป็นอย่างไร? พูดไม่ถูก เพราะเราไม่สนใจ พอมาปฏิบัติศาสนา เฉพาะอย่างยิ่ง คือการอบรม “ภาวนา” จิตทั้งๆ ที่เคยคิดเคยปรุงเรื่องราวอยู่ตลอดเวลา แต่ก่อนเราไม่ค่อยสนใจว่า “อะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ” แต่พอมาฝึกหัดอบรมภาวนา ชักจะทราบขึ้นมาโดยลำดับ “วันนี้จิตชักยุ่ง” ซึ่งแต่ก่อนมันก็ยุ่งอยู่แล้วแต่เราไม่ทราบ พอมาฝึกหัดภาวนาเข้า พอจิตชักยุ่ง และจิตกระทบกระเทือนอะไร ก็รู้ได้เร็วขึ้น อะไรมาสัมผัส คอยแต่จะกระทบกระเทือนใจ ให้เจ้าตัวรู้เสมอ

    แต่ก่อนขออภัย! ใจเป็นหลังหมี มันดำไปหมดจึงไม่รู้ อะไรมาถูกก็ดำไปด้วยกันหมด มันดำเต็มที่จนหาที่สกปรกไม่เจอ อะไรมาถูกมันก็ดำเหมือนกันไปหมด แต่ถ้ามีดำๆ ด่างๆ บ้าง อะไรมาถูกมันก็ทราบได้บ้าง นี่เวลาอบรมกับไม่เคยอบรมเลยมันผิดกันมาก อะไรมากระทบกระเทือน มันเป็นอันเดียวกันหมด ทีนี้พอจิตเราได้รับการอบรมแล้ว มีความสงบเยือกเย็นบ้าง พอมีสิ่งไรมาสัมผัสมากระทบกระเทือนบ้าง มันรู้ได้เร็ว แต่เราไม่ได้คิดว่า ความรู้ได้เร็วนี้ เกิดขึ้นมา เป็นขึ้นมา เพราะการอบรม

    เราก็มาคิดเสียว่า “โอ้ แต่ก่อนเราไม่ภาวนา ก็ไม่เห็นเป็นอะไร พอมาภาวนาแล้วจิตชักเป็นนั่น ชักเป็นนี่ สิ่งที่มากระทบกระเทือน ทำให้รู้ได้เร็ว เพราะความรับรู้ของเรา มันคล่องแคล่วขึ้น สติมีพอจะทราบสิ่งนั้น สิ่งนี้แล้ว ก็ค่อยทราบขึ้นเป็นลำดับ ยิ่งจิตมีความสงบเยือกเย็นมากขึ้น เป็นฐานแห่งความสงบประจำใจ อะไรมาผ่าน ให้ผิดปกติแห่งความสงบ จะทราบทันทีๆ แล้วพยายามแก้ไข จะทราบทั้งสาเหตุด้วยว่า วันนี้จิตไม่ค่อยสะดวก เป็นเพราะเหตุนั้น ๆ นี่คือ ความระมัดระวัง เพราะเรื่องสติที่เราเคยอบรมมาเรื่อย ๆ จนมีสติให้ทราบเรื่องของตัวได้เร็วขึ้น แม้ที่สุด ความเคลื่อนไหวของตัวเอง เกี่ยวข้องกับเรื่องใดก็ทราบ สิ่งอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง มาสัมผัส จิตเรานำสิ่งเหล่านั้นเข้ามาครุ่นคิดต่างๆ จนเกิดเป็นอารมณ์ขึ้นมา ใจก็ทราบว่า วันนี้ใจไม่สะดวก ใจมีสิ่งนั้นเป็นอารมณ์ มีสิ่งนี้เป็นอารมณ์ ความทราบนี้แหละ เป็นสักขีพยานอันหนึ่งของการปฏิบัติ

    ที่จะทำให้ได้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้ ให้ทราบได้รวดเร็วยิ่งกว่านี้ และแก้กันได้อย่างรวดเร็ว เพียงขั้นความสงบของจิตก็ทราบอยู่แล้ว ถ้าพูดถึงขั้น “ปัญญา” นั้น ยิ่งรวดเร็ว!

    อะไรจะมีความสวยงามยิ่งกว่าจิต จะสง่าผ่าเผยยิ่งกว่าจิต จะมีคุณค่ายิ่งกว่าจิต จะเป็นธรรมชาติที่อัศจรรย์ยิ่งกว่าจิต จะรู้ได้รวดเร็วยิ่งกว่าจิต ไม่มีในโลกทั้งสามนี้! สิ่งไรก็ตาม ที่อยู่ในวิสัยเราที่จะทราบได้ด้วยความสัมผัส จะเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็ตาม จะไม่เหมือนจิตที่ได้รับการอบรมมาด้วยดีแล้วรู้เรื่องของตัว จากผลแห่งการชำระมาโดยลำดับเลย ใจจะปรากฏมีความสง่าผ่าเผย มีความสงบเยือกเย็น มีความผ่องใส เป็นสิ่งที่ไม่จืดจางด้วย ทำให้มีความละเอียดลออ มีความอัศจรรย์อะไรบอกไม่ถูก มีความดูดดื่มในความสง่าผ่าเผย ในความผ่องใส ในความสงบสุขของตนไปเรื่อยๆ นี่! เพียงเท่านี้เราก็พอทราบได้แล้วว่า “รสแห่งธรรม คือ ความสงบนี้เหนือรสทั้งหลายอยู่แล้ว” ยิ่งมีการชำระไปเรื่อยๆ ความผ่องใสนี้ก็จะเปลี่ยนสภาพไปเรื่อยๆ เหมือนเราเปลี่ยนเสื้อเป็นเสื้อทันสมัย นั่นเอง

    เปลี่ยนเรื่อยๆ ความสง่าผ่าเผยก็เปลี่ยนอาการ เป็นความละเอียดเข้าไปอีก เช่นพูดว่า “สวยงาม ก็เปลี่ยนๆ ไปตามกันหมด จนกระทั่งความอัศจรรย์ก็เปลี่ยน อัศจรรย์แค่นี้ อัศจรรย์แค่นั้น แปลกประหลาดแค่นี้ แปลกประหลาดแค่นั้น ในขั้นของจิต จนกระทั่งเป็นอัศจรรย์ยิ่งเลย “สมมุติ” ทั้งหลายไป นั่น! ความอัศจรรย์กลายเป็นความอัศจรรย์ “นอกสมมุติ” อีก เพียงความอัศจรรย์ขั้นในสมมุติ มันก็ยิ่งกว่าความอัศจรรย์ทั้งหลายในโลกนี้แล้ว เพราะฉะนั้นเราจึงควรทราบว่า สิ่งที่มีคุณค่ามากที่สุดในโลกนี้ ได้แก่ใจนี่เอง!

    ใจจึงควรได้รับความเหลียวแล เช่นเดียวกับกิจการหรือวัตถุสมบัติอื่นๆ ยิ่งเราต้องการทราบจากผลของการบวกลบ แห่งความเป็นมาและเป็นไปข้างหน้าด้วยแล้ว ก็ยิ่งจะเกิดความสนใจต่อสมบัติ คือ ใจนี้มากขึ้น และเกิดความสนใจในการประพฤติปฏิบัติ การรักษา การอบรมตัวเอง มีน้ำหนักมากขึ้นโดยลำดับๆ ไม่ท้อถอย ยิ่งกว่างานอื่นใดที่ผ่านมา และพยายามสร้างสมบัติ หรือส่งเสริมสมบัติอันนี้ให้เด่นมากขึ้น ให้เป็นที่น่าพอใจภายในตัวเอง

    ปัจจุบันขณะปฏิบัติ ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ เราก็ได้ชมความรู้ ความเด่น ความสงบ เย็นใจ ความสบายใจ ความแปลกประหลาดความอัศจรรย์อยู่ภายในใจดวงนี้ เวลาจะตายก็ไม่คิดเดือนร้อน เพราะอันนี้เองเป็นตัวประกันแห่งการเปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติ ไปสู่ภพใด แดนใด หรือสู่สถานที่ใด จะได้เสวยผลเช่นไร ความจริงกับตัวเอง ก็บอกอยู่แล้ว โดยผลซึ่งกำลังรับอยู่ รู้อยู่เวลานี้ ใจอยู่กับอันนี้ ทราบแล้วไม่เดือดร้อน ไม่เสียใจ เพียงเท่านี้ก็ชื่อว่า “เราได้ความมั่นใจ” สมบัติอันนี้เป็นที่แน่ใจ สมบัตินี้ไม่หลอกลวง สมบัติชิ้นนี้เป็นสมบัติที่ติดตัว คือ ติดกับใจไป!

    ไม่เหมือนสมบัติอื่น ซึ่งทำให้มีความดีใจในขณะนี้แล้วเสียใจในขณะต่อไป คือ ต้องมีการพลัดพรากจากสิ่งนั้นสิ่งนี้ อย่างท่านว่า “ยมฺปิจฺฉํ น ลภติ ตมฺปิ ทุกฺขํ” ปรารถนาไม่สมหวังก็เป็นทุกข์ ได้มาแล้ว เวลาพลัดพรากจากกันก็เป็นทุกข์อีก แต่สมบัติที่ว่านี้ไม่เป็นเช่นนั้น ตรงกันข้าม ติดแนบกับตัวไปเลย สมกับที่เป็น “อัตสมบัติ”โดยแท้

    ที่พระพุทธเจ้าประทานพระโอวาทแก่บรรดาสัตว์ ก็เพื่อจะให้น้อมเข้ามาปฏิบัติต่อจิตใจที่เป็นสมบัติอันสำคัญนี้ ให้เด่นขึ้นภายในตัว และให้จิตเป็นเจ้าของ “ธรรมสมบัติ” นี้ จะเป็นที่ภาคภูมิใจทั้งปัจจุบันที่เป็นอยู่เวลานี้ และอนาคตที่จะเปลี่ยนสภาพนี้ไปสู่ภพหน้า จิตนี้จะไปอย่างสง่าผ่าเผย ไปอย่างมีเหตุมีผล มีธรรมเป็นเครื่องบำรุงรักษา ดังที่ท่านสอนไว้ว่า “ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ” ธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติธรรม

    ธรรมที่ไหนมารักษาเรา? เอ้า ให้เราคิดดูตรงนี้ ธรรมในคัมภีร์นั้น หรือธรรมในหนังสือเล่มนั้นเช่นนี้เหรอ ? ไม่ใช่ คือ เรียน “ธรรม” จากตำรา รู้แล้วนำมาปฏิบัติตัวเอง จนปรากฏผลขึ้นมา “ธรรมอันนี้แล” ที่ปรากฏเป็นผลขึ้นมาประจักษ์อยู่ในใจเวลานี้ เป็น “ธรรมที่รักษาผู้ปฏิบัติ” คือเราเอง ไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว

    คำว่า “ชั่ว” คือสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา ไม่ตกไปในสิ่งที่ไม่พึงปรารถนานั้นเอง “ธรรม” จะพาเป็นไปตามผลแห่งความดีที่ได้ปฏิบัติมาแล้วนี้เท่านั้น ไม่เป็นอย่างอื่น

    สมบัตินี้อยู่กับเรา ให้พยายามส่งเสริมสมบัตินี้ให้ได้ประจักษ์ อย่างน้อยให้เป็นความเย็นใจเถอะ นี้เป็นที่แน่ใจ เป็นที่ตายใจได้จริงๆ เพียงจิตใจมีความสงบเท่านั้นก็ปรากฏเป็นความเย็นใจขึ้นมา เป็นหลักใจขึ้นมาประกันตัว จงพยายามอบรมขึ้นเรื่อยๆ เมื่อความสงบนั้นเป็นรากเป็นฐานให้มีความมั่นคงขึ้นเป็นลำดับ ก็ยิ่งเป็นความมั่นใจของผู้ปฏิบัตินั้นๆ มากขึ้น

    เอ้า พิจารณาทางด้าน “ปัญญา” เพื่อจะเปิดสิ่งที่ปกคลุมหุ้มห่อภายในใจนี้ออก อะไรที่มาปกคลุม? ก็ความยึดมั่นถือมั่น ความสำคัญผิดของตนนั้นแล กลับมาเป็นภัยแก่ตนเอง มาปกคลุมจิตใจเสียเอง ความสำคัญมั่นหมาย ความคิด ความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด เพราะไม่รู้ในสิ่งใด จึงต้องยึดมั่นถือมั่น ท่านแสดงออกไป

    เรื่องภายนอกมีมากมาย รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส พูดกว้างๆ นะนี่

    รูป รูปอะไร เราแยกขยายออกไปเต็มโลกเต็มสงสาร รูปหญิง รูปชาย รูปพัสดุสิ่งของ สมบัติเงินทองอะไร เรียกว่า “รูป” ทั้งนั้น เสียงก็เสียงอะไรต่างๆ ว่ากันไป เช่นเสียงขับลำทำเพลง เป็นต้น ที่จิตไปสำคัญมั่นหมายกับเสียงเหล่านี้ แล้วสร้างความปิดบังตัวเองโดยไม่รู้สึกตัว ความสำคัญมั่นหมายนี้แล ปกคลุมหุ้มห่อจิตใจให้มืดมิดปิดตา ไม่ทราบความจริงของสิ่งเหล่านั้น เพราะไม่ทราบความจริงของจิตที่หลอกลวงตัวเอง ท่านจึงสอนให้พิจารณา “ภายนอก” เช่น รูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้น ด้วยสติปัญญา นี่เป็น “ปัญญาชั้นหนึ่ง” ที่จะถอนตัวออกมาจากสิ่งเหล่านั้น แล้วก็ย้อนเข้ามาถึงสิ่งสำคัญที่ติดแนบอยู่กับตัวเรา ที่ถือว่าเป็น “เรา” มาตั้งแต่วันเกิด “ผม” ก็เห็นว่าเป็นเรา เป็นของเรา “ขน” ก็ว่าเป็นเรา “เล็บ” ก็เรา “ฟัน” ก็เรา เนื้อ หนัง กระดูก ทุกชิ้นทุกสิ่งทุกอันภายในร่างกายนี้ เป็นเราและเป็นของเรา เหล่านี้เป็นสิ่งที่จิตติดมากทีเดียว ใจกับกายติดกันจนแยกไม่ออก ถ้าไม่แยกด้วยสติปัญญา ดังที่ได้อธิบายมานี้

    รูป ที่เรียกว่า “กาย” นี้ มันติดเป็นอันเดียวกับใจ ใจกับกายนี้ก็เป็นเรา เราเป็นใจ ใจก็เป็นกายนี้ ทั้งกายทั้งใจนี้เป็นเรา และเรียกว่า “เรา” โดยความรู้สึกของสามัญชนทั่วๆ ไปเป็นอย่างนั้น

    เวทนา ความสุขก็ตาม ความทุกข์ก็ตาม เฉยๆ ก็ตาม เกิดขึ้นกับร่างกายหรือใจ ใจจะถือว่าเป็นเรา เป็นของเราทั้งสิ้น เราเป็นทุกข์ ทุกข์เป็นเรา ยุ่งไปหมด เราเป็นสุข สุขเป็นเรา อะไรๆ ก็เป็นเราเสียสิ้น

    สัญญา ความจำ ก็เราจำ อะไรก็เราจำ ความจำเป็นเรา เป็นของเรา

    สังขาร ก็เราคิดเราปรุง ดี ชั่ว เป็นเราเป็นของเรา คิดกันยุ่งจนแทบล้มแทบตาย เพราะความคิดมันก่อกวนวุ่นวาย ก็ยังว่าเป็นเรา นั่นเห็นไหมล่ะ? มันหลงอย่างนี้เอง

    วิญญาณ รับทราบอะไร ก็เป็นเราทั้งหมด ได้ยินว่า “นรก” พอได้ยินก็ถือเอาคำว่า “ได้ยิน” นั้นเป็นเรา เป็นของเราเข้าไปอีก และเรื่องทั้งหลายก็มากองอยู่ภายใน “จิต” จิตจึงแย่ อะไร ก็ขนเข้ามา ขนเข้ามา จอมปลอมอะไร ก็ขนเข้ามาให้จิตแบก จิตรับ จิตหาม วุ่นไปหมด แล้วจะไม่ทุกข์อย่างไร

    นี่แลสิ่งที่ปิดบังจิตใจ สิ่งกดขี่บังคับ สิ่งทับถมจิตใจ สิ่งเสียดแทงจิตใจ คือ ความหลงของใจเอง ที่ไปกว้านเอาสิ่งเหล่านั้นเข้ามาเป็นภัยแก่ตัวเอง เพราะฉะนั้น จึงต้องใช้ปัญญาเป็นผู้บุกเบิก เป็นผู้แยกแยะให้เห็นตามความจริง เอ้า รูป “รูปํ อนิจฺจํ” มันไม่เที่ยง มันแปรปรวน ก็รู้กันอยู่แล้ว “รูปํ อนตฺตา” ไม่ใช่ตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ใคร และไม่ใช่ของใคร เป็นความจริงอยู่ตามสภาพของมัน “อนิจฺจํ ทุกฺขํ” ก็ทุกข์ เห็นกันอยู่พอแล้ว ถือว่าเป็น “ตน” ที่ไหนได้ ฟังแต่ว่า “อนตฺตา อนตฺตา” มันไม่ใช่ทั้งนั้น เรายังจะฝืนความไม่ใช่ตน ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนอยู่หรือ? ถ้าไม่อยากจะอยู่กับกองขันธ์ห้า ก็จงพิจารณาแยกตัวออกตามที่ท่านสั่งสอน อย่าเอากิเลสโสมมไปยื้อแย่งแข่งดีกับ “สวากขตธรรม” ท่าน ที่ตรัสไว้โดยชอบแล้ว มันขวางธรรมท่าน

    พระพุทธเจ้าเป็นผู้รู้จริงเห็นจริงแท้ๆ ทำไมไม่เชื่อพระพุทธเจ้า “รูปํ อนตฺตา” เรายังถือว่าเป็นอัตตาตัวตนอยู่หรือ ท่านผู้รู้แท้ๆ เป็นผู้สอนเรา ทำไมเราไม่เชื่อ เรากราบ “พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ” ไปทำไม เมื่อเราไม่เชื่อ คำว่า “รูปํ อนตฺตา, เวทนา อนตฺตา, สญฺญา อนตฺตา, สงฺขารา อนตฺตา, วิญฺญาณํ อนตฺตา” ซึ่งเป็น “อนัตตา” ทั้งสิ้นนี้ เรายังจะถือว่า นี้เป็นเรา เป็นของเราอยู่แล้ว เราจะเชื่อพระพุทธเจ้าไปทำไม เรากล่าวถึง พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ มีความหมายอะไรเล่า ถ้าเรายังไม่เชื่อความจริง คือธรรมที่พระองค์ประทานไว้ว่าเป็นความจริง พวกเรานี่มันคือ “เทวทัต” ในร่างของพุทธบริษัท จึงไม่เชื่อธรรมท่าน

    ควรจะละความจอมปลอมของตนเอง ให้เห็นความจริงอย่างท่านว่าด้วยปัญญา พระพุทธเจ้าว่าอย่างนั้น แต่เรากลับว่าอย่างนี้ ท่านว่า “อนัตตา” ปฏิเสธตลอดเวลา ถ้าเป็นภาษาของเรา ก็น่าจะว่า “เอ้า ตีข้อมือไว้ เดี๋ยวเอื้อมไปจับโน่น เดี๋ยวเอื้อมไปจับนี่” ท่านตีข้อมือไว้ “อย่าจับ อย่าไปจับ อย่าไปแตะต้อง ไป ๆ อย่ายุ่ง พวกดื้อด้านนี้ ยุ่งจริง” ว่ายังงั้น เป็นผู้ใหญ่แล้ว ยังดื้อด้านหาญทำไม่เข้าเรื่อง ยิ่งกว่าเด็กตัวซน ๆ เสียอีก นี่

    รูปํ อนตฺตา อย่าไปยุ่ง เวทนา อนตฺตา อย่าไปยุ่ง สญฺญา อนตฺตา สงฺขารา อนตฺตา, วิญฺญาณํ อนตฺตา อย่ายุ่ง อย่ายุ่งนะ เดี๋ยวตีมือ เพราะเป็นไฟทั้งนั้น รู้ไหม? พวกนี้พวกยุ่ง พวกเผาตัวเองนี่ เราถูกเผาลนมานานเท่าไรแล้ว เพราะความถือว่าเป็นเรา เป็นของเรานี่น่ะ ยังไม่เข็ดหลาบอยู่หรือ จะพากันดื้อไปถึงไหนกันนี่

    เราพิจารณาให้รู้ชัดเจน และปล่อยวางไว้ตามความจริงของมัน จะสุขก็ให้รู้ตามความจริงของมัน สุขเกิดขึ้น สุขดับไป สุขเป็นไตรลักษณ์ ทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ดับไป ทุกข์เป็นไตรลักษณ์ รูปเป็นไตรลักษณ์ สัญญาเป็นไตรลักษณ์ สังขารเป็นไตรลักษณ์ วิญญาณเป็นไตรลักษณ์ ให้เห็นว่าเป็นไตรลักษณ์ เป็นความจริงอันหนึ่งๆ รู้แล้วถอนตัวเข้ามาอยู่เป็นอิสระ อย่าไปยุ่ง อย่าไปแบกไปหาม นี่เรียกว่า “ปัญญาค้นดูให้เห็นชัดเจน”

    เมื่อพิจารณาสิ่งเหล่านี้รอบตัวหมดแล้ว มันไม่ไปไหน สติปัญญาจะหมุนติ้วเข้าไปสู่จิตตัวลุ่มหลงที่กลมกลืนกับ “อวิชชา” นั่นแหละ นั่นแลบ่อแห่ง “อวิชชา” แท้ บ่อแห่งความเกิดแท้ บ่อแห่งความเปลี่ยนเสื้อเปลี่ยนแสง เปลี่ยนภพ เปลี่ยนชาติ เปลี่ยนอยู่ที่ตรง “จิต” นั่นแหละ

    เอ้า สติปัญญาค้นเข้าไปทำลายมัน รังของ “อวิชชา” มันฝังอยู่ในจิตนี้ เมื่อแยกออกได้หมดแล้วด้วยสติปัญญา ทางฝ่ายขันธ์ก็ย้อนเข้าไปถึง “อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา” อวิชฺชาปจฺจยา จริงๆ มันมาจากไหน ใครเป็นอวิชชา? ถ้าไม่ใช่ผู้ที่รู้ ซึ่งเต็มไปด้วยความหลงฝังอยู่ภายในตัวนั้น ปัญญาสอดแทรกเข้าไป พิจารณาเข้าไปให้เห็นธรรมชาตินี้คืออะไรกันแน่? มันก็ไตรลักษณ์ดีๆ นั่นเอง พวกกิเลสตัณหาอวิชชาจะเป็นอะไรไป ให้พิจารณาตรงนี้ ตอนนี้เรียกว่าพิจารณา “จิต” ให้เป็นไตรลักษณ์ เช่นเดียวกันไม่ผิด ถ้าเราถือว่าเป็นตนแล้วก็เท่ากับเรากินปลาทั้งก้าง หรือกินไก่ทั้งกระดูก กินข้าวทั้งเปลือกโดยไม่เลือกเฟ้น จะเป็นอันตรายแก่ใครเล่า คิดให้ดีก่อนจะกลืนลงไป ไม่งั้นตาย! เพราะก้างและกระดูกขวางคอ

    ที่ว่าจิตเป็นไตรลักษณ์ตอนนี้ คือ จิตมีสิ่งที่เป็นไตรลักษณ์ครอบงำอยู่นั่นเอง เราจะถือว่าจิตเป็นตนในขณะนั้นไม่ได้ ต้องพิจารณาตรงนั้น ให้เห็นความจริงของไตรลักษณ์ ซึ่งมีอยู่ภายในจิต

    เราเห็นแต่ไตรลักษณ์ที่มีอยู่ตามรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่เราต้องการเห็นไตรลักษณ์อันละเอียดแห่ง “สมมุติ” ฝังอยู่ภายในจิต จึงต้องพิจารณา “จิต” เช่นเดียวกับพิจารณาอาการทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ให้เป็นไตรลักษณ์ ดูให้เห็นจริงด้วยสติปัญญา สิ่งที่มันไม่อาจทนทานอยู่ได้ ด้วยอำนาจของปัญญาผู้ทำลาย มันจะสลายตัวลงไป คือ จะแตกกระจายลงไป สิ่งที่เป็นความจริงโดยธรรมชาติของตัว สิ่งนั้นจะคงอยู่ เช่น “ผู้รู้”

    เมื่อสิ่งที่จอมปลอมทั้งหลายสลายตัวลงไปแล้ว ผู้รู้นี้จะทรงตัวอยู่ กลายเป็นผู้รู้ที่บริสุทธิ์ขึ้นมา ผู้นี้ไม่ฉิบหาย ผู้นี้ไม่เป็นไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์ก็หมดปัญหาในขณะที่กิเลสอาสวะทั้งหมดสิ้นสุดไปจากใจ คำว่า “ไตรลักษณ์” ภายในใจจึงหมดไป เรื่องอนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ภายนอกก็ตาม ภายในก็ตาม รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ตาม ย่อมหมดปัญหาไป เมื่อ “อวิชชา” สิ้นไปจากใจโดยเด็ดขาดแล้ว

    เมื่อจิตพ้นจาก “สมมุติ” แล้ว อะไรๆ ก็เป็นความจริงไปตามๆ กัน ไม่มีอะไรเป็นปัญหาต่อไปอีก เพราะใจไม่สร้างปัญหาให้แก่ตัวเอง เนื่องจากสติปัญญารู้รอบขอบชิดแล้ว

    นี่เรียกว่า “เสื้อที่ทันสมัยที่สุด” การเปลี่ยนให้เปลี่ยนตรงนี้ เราไม่ต้องไปหาเปลี่ยนที่ไหนอีก เปลี่ยนตรงนี้แล้ว ไม่ต้องไปหาตัดที่ไหนมาเย็บมาย้อม มายุ่งวุ่นวายอีก เปลี่ยนเสื้อนี้ไป เป็นเสื้อนั้น เสื้อนั้น เป็นเสื้อนี้ แบบหมุนไม่หยุด! จงพยายามเอา “เสื้อตัวเดียวนี้” ไว้เสีย “นิพฺพานํ ปรมํ สุญฺญํ” อะไรจะสูญ ก็สูญไปเถอะ ขอให้ได้ “เสื้อทันสมัยนี้” แล้วเป็นที่พอใจ พากันเข้าใจไหมล่ะ? เทศน์จะจบแล้ว ยังไม่เข้าใจกันอยู่หรือนี่

    เอาละ เทศน์เท่านี้ เอวัง จบจริง ๆ

    เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
    เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๙
    จงพยายามเปลี่ยนเสื้อให้ทันสมัยก่อนตาย

    Luangta.Com -
     
  2. Yohanna

    Yohanna เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    23 กรกฎาคม 2012
    โพสต์:
    79
    ค่าพลัง:
    +130
    ขอสั้นๆๆๆ ยาวไปคับ
     
  3. อุรุเวลา

    อุรุเวลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,002
    อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา
     
  4. Thammasawasdee

    Thammasawasdee เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 เมษายน 2013
    โพสต์:
    292
    ค่าพลัง:
    +869
    ธรรมะสวัสดี :)

    ขออนุโมทนา สาธุจร้า

    สาธุ สาธุ สาธุ
     

แชร์หน้านี้

Loading...