กุศโลบายการเผชิญกรรม

ในห้อง 'กฎแห่งกรรม - ภพภูมิ' ตั้งกระทู้โดย apichai53, 10 มกราคม 2010.

  1. apichai53

    apichai53 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 พฤศจิกายน 2009
    โพสต์:
    630
    ค่าพลัง:
    +2,261
    กุศโลบายการเผชิญกรรม
    โดย ดร.<?xml:namespace prefix = st1 ns = "urn:schemas-microsoft-com[​IMG]ไชย ณ พล</st1:personName>


    โดยปกติแล้ว อำนาจกรรมเก่าจะส่งผลมากระทำต่อชีวิตเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น อีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากกรรมใหม่ซึ่งมีพลังมากกว่า ด้วยเหตุที่กรรมใหม่มีกำลังมากกว่านี้เอง ความเพียรจึงให้ผลได้ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “บุคคลย่อมล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร” หรือสุภาษิตที่เราทราบกันดีว่า ความเพียรนำมาซึ่งความสำเร็จ ดังนั้น คนจนจึงอาจร่ำรวยได้หากขยัน คนโง่ก็อาจฉลาดขึ้นได้หากหมั่นศึกษา คนเลวก็อาจสำเร็จอรหันต์ได้ หากบำเพ็ญเพียรอย่างเอาจริงเอาจัง

    จึงสรุปได้ว่า อำนาจที่มีผลต่อชีวิตมาก คือกรรมปัจจุบันนั่นเอง เราจึงสามารถหนีพ้นกรรมเก่า หรือบรรเทาให้เบาบางลง หรือเบี่ยงเบนวิบากต่างๆออกไปให้พ้นตัวได้ หากอำนาจกรรมใหม่ของเราดีพอและมีปริมาณมากพอด้วยกุศโลบายดังนี้

    การเผชิญเวรกรรมที่พัวพันชีวิตต่างๆ นั้นมีกุศโลบายอันแยบคาย เพื่อให้ได้ประโยชน์จากวิบากกรรมแต่ละบ่วง ดังนี้

    ๑. การทรงสติ แล้วใช้ปัญญา

    เมื่อถึงวาระรับกรรม หากเป็นผลกรรมดีอย่าลิงโลดตายใจ จะก่อให้เกิดความประมาท ควรทรงสติมั่นไว้ แล้วใช้ปัญญาบริหารผลกรรมดีนั้น เพื่อสรรค์สร้างกรรมดีใหม่สืบเนื่องไปให้ยิ่งกว่าเดิม จึงจะชื่อว่าใช้กรรมดีอย่างกำไร หากเป็นผลกรรมเลวก็อย่าท้อแท้ตีโพยตีพาย ปัญหาทุกปัญหาย่อมมีทางออกที่เหมาะสมเสมอ หากเราสุขุม รอบคอบ ย่อมหาทางออกนั้นเจอ แต่หากโวยวายเสียก่อน นอกจากจะไม่ช่วยแก้ปัญหาใดๆ แล้ว ยังสร้างปัญหาใหม่ทับถมยิ่งขึ้น เกิดอารมณ์ร้ายจิตใจเสื่อมทราม และเหนื่อยยากเปล่าๆ

    เมื่อจำต้องเผชิญผลกรรมเลวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็จงยอมรับความจริงว่าเราสร้างเหตุที่ไม่ดีไว้ ผลจึงออกมาไม่ดีดังนี้ ดังนั้น พึงเปลี่ยนกรรมเลวให้เป็นกรรมดีเสีย เพื่อผลที่ดีในอนาคต โดยสรรสนองตอบด้วยดีทุกครั้งที่เราเผชิญวิบากนั้น ในขณะที่เหตุการณ์ที่ประสบคือผลกรรมเก่า ส่วนการสรรสนองตอบคือกรรมใหม่ ไม่ว่าผลกรรมเก่าจะเป็นอย่างไร เรามีสิทธิ์สรรค์สร้างกรรมใหม่ให้ดีได้ตามกำลังสติปัญญา ตัวอย่างเช่น

    หากเราเคยตบหน้าเพื่อนที่ไม่มีความผิดไว้ในอดีต มาปัจจุบันทำให้เราโดนตบหน้าทั้งๆ ที่ไม่มีความผิดบ้าง เมื่อเผชิญสถานการณ์นี้ เราอาจเลือกสนองตอบได้สามประการคือ

    ก. ตบตอบ หากเราตบตอบก็เป็นการชำระหนี้กรรมเก่า แล้วสร้างกรรมใหม่ที่ไม่ดีขึ้นมาเป็นบ่วงใหม่อีก ในอนาคตต้องเจอกันอีก และต้องตบกันอีก

    ข. เฉย หากเราเฉย ไม่มีอารมณ์หรือปฏิกิริยาใดๆ เกิดขึ้นก็เป็นการชำระหนี้เก่า แล้วก็ไม่ได้สร้างกรรมใหม่ใดๆ ต่อกัน จึงหมดสิ้นกันไปอาจจะไม่ต้องเจอกันอีก หรือหากเจอกันอีกก็ไม่ต้องตบตีกัน

    ค. ให้อภัยแล้วแผ่เมตตาด้วยไมตรี หากเราทำเช่นนี้ตอบบนพื้นฐานของความเข้าใจอย่างแท้จริง ก็เป็นการชำระหนี้กรรมเก่าหมดสิ้น แล้วสร้างกรรมใหม่ที่ดีแทน ในกรณีนี้เจอกันอีกย่อมเป็นมิตรกันและอาทรต่อกัน นี่เป็นวิธีเปลี่ยนศัตรูให้เป็นมิตร และเปลี่ยนจากบ่วงกรรมเลงเป็นบ่วงกรรมดี

    นี่คือ วีธีการใช้สติปัญญาในการเผชิญกรรม

    ๒. การหลบในฌาณสมาบัติ

    เมื่อเราเข้ารูปฌาณสี่ อรูปฌาณสี่ และนิโรธสมาบัติ ร่างกายจะหยุดทำงานชั่วคราว ซึ่งเป็นการระงับกลไกการเสวยวิบากกรรมไปชั่วขณะ และธรรมดาผลกรรมทั้งหลายจะเข้ามาเป็นวาระ เมื่อหมดเวลาแล้วก็จำต้องผ่านไป หากเราอยู่ในฌาณสมาบัติลึกๆ ดังกล่าว ในขณะที่วิบากกรรมเข้ามา เราก็ไม่ต้องไปเสวยผลกรรมนั้น ทั้งขณะเดียวกันการทรงฌาณสมาบัติ ก็เป็นการสร้างกรรมใหม่อันเป็นมหากุศลให้บังเกิดขึ้นอีกด้วย

    ๓. การแทรกแซงกรรม

    กรรมแต่ละชนิด ให้ผลไม่พร้อมเพียงกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของความตั้งใจ และความบริสุทธิ์ของผู้ถูกกระทำดังนี้

    ก. ครุกรรม ซึ่งหมายถึงกรรมหนัก เช่นการเจริญฌาณสมาบัติ การกระทำต่อพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ พ่อ แม่ และสังคม จะให้ผลทันทีที่ได้กระทำและให้ผลสืบเนื่องตลอดไปจนกว่าจะเข้านิพพาน

    ข. อาจินณกรรม ซึ่งคือการกระทำที่ทำจนเป็นนิสัย จะให้ผลเร็วรองลงมา และสืบเนื่องนานเท่าที่กรรมนั้นยังคงเป็นนิสัยอยู่

    ค. ลหุกรรม ซึ่งคือกรรมเบา เช่น การรังเกียจสัตว์อื่น จะให้ผลช้าและมีวาระรับผลสั้น

    ง. กัตตากรรม ซึ่งคือ กรรมที่กระทำโดยไม่ได้ตั้งใจ ได้แก่ อุบัติเหตุทั้งหลายเป็นต้น จะให้ผลเมื่อกรรมประเภทอื่นๆ อ่อนตัวลงแล้ว และเมื่อมีความประมาทเป็นปัจจัย

    เมื่อเราทราบว่ากรรมแต่ละประเภทให้ผลต่างกันดังนี้ เราก็สามารถจัดสรรชุดกรรมของเราให้สมควรได้ ตัวอย่างเช่น หากผลกรรมที่เรากำลังจะเผชิญในอนาคตอันใกล้นี้ คือผลกรรมเลวจากอาจินณกรรมและลหุกรรมหลายชุด เราก็สามารถแทรกแซงกลไกกรรมได้ด้วยการสร้างครุกรรมที่เป็นกุศลขึ้นมาทันที ครุกรรมซึ่งมีความเข้มข้นกว่าย่อมให้ผลก่อน อาจินณกรรมและลหุกรรมก็ต้องถอยห่างออกไป

    หากกรรมที่เราต้องรับผลเป็นกรรมเลว ประเภทครุกรรมเหมือนกัน เราก็สามารถบรรเทาความเลวร้ายที่จะประสบได้โดยการสร้างครุกรรมที่เป็นกุศลขึ้นมา เมื่อกรรมที่มีน้ำหนักเท่ากันมาในวาระเดียวกันดังนี้ จะไม่อาจทำให้วาระของอีกกรรมหนึ่งถอยร่นไป แต่จะรับกรรมพร้อมกันคือ ทั้งผลกรรมเลว และผลกรรมดี ซึ่งก็ยังดีกว่าที่จะรับแต่ผลกรรมเลวอย่างเดียว เพราะถ้าไม่มีกรรมดีมาแล้วจะหาทางออกจะปัญหาไม่เจอ

    อนึ่ง การแทรกแซงกรรมนี้ กรรมทั้งหลายที่เราเคยทำไว้ก็ยังอยุ่ เพียงแต่เราจัดลำดับใหม่ตามน้ำหนักและอำนาจในการสนองผลของกรรมเท่านั้น

    ๔. การคลายขันธ์

    ในการฝึกสมาธิแบบผ่อนคลายจนทำให้ร่างกายและจิตใจสงบระงับ จะมีการปรับองค์ประกอบภายในขันธ์ใหม่ สิ่งผิดปกติต่างๆ ในขันธ์ทั้งหลายจะถูกขับออกไปจากกายและใจด้วย เป็นหลักธรรมดาของทุกสิ่งในจักรวาลนี้ที่ถ้าลดอุณหภูมิให้สงบเย็นลง องค์ประกอบภายในจะจัดเรียงตัวกันใหม่ให้เป็นระเบียบมากขึ้น ยิ่งเย็นลงเท่าใด องค์ประกอบภายในก็จะมีความเป็นระเบียบเท่านั้น ยิ่งองค์ประกอบภายในประสานกลมกลืนกันด้วยระเบียบอันดีเพียงใด ก็จะขจัดสิ่งแปลกปลอมออกไปได้มากเพียงนั้น ยิ่งขจัดสิ่งแปลกปลอมออกไปได้มากเพียงใดก็บริสุทธิ์มากเพียงนั้น ยิ่งบริสุทธิ์มากเพียงใดก็จะมีอนุภาพเพิ่มพูนมากเพียงนั้นดังเหล็ก

    เมื่อเป็นเหล็กธรรมดาโมเลกุลของมันจะไม่เป็นระเบียบยุ่งเหยิง สับสน จะเป็นเหล็กที่ด้อยอานุภาพ แต่เมื่อลดอุณหภูมิให้เย็นลง โมเลกุลของเหล็กนั้นจะเรียงตัวกันใหม่ให้เป็นระเบียบ ในขณะที่โมเลกุลจัดเรียงตัวกันใหม่นั้น โมเลกุลประเภทเดียวกันก็จะเกาะตัวเข้าหากัน โมเลกุลที่แปลกปลอมต่างพวกก็จะถูกเบียดออกจากกลุ่ม เมื่อโมเลกุลของเหล็กทั้งหมดเรียงตัวกันเป็นระเบียบจนเป็นเนื้อเดียวกันดีแล้ว ก็จะมีอำนาจดึงดูดเกิดขึ้นกลายเป็นแม่เหล็ก

    หรือที่เห็นกันชัดอยู่เป็นประจำก็คือน้ำ หากเรานำไปต้มให้ร้อน ก็จะเดือดพลุ่งพล่าน หากลดอุณหภูมิให้เย็นลงมันก็สงบนิ่ง แต่ถ้าทำให้เยือกเย็นยิ่งยวดแล้ว ก็จะแข็งแกร่งกลายเป็นน้ำแข็งขึ้นมา

    ในทำนองเดียวกัน คนก็เช่นกัน หากจิตใจเร่าร้อนมากก็ฟุ้งซ่าน ตะเกียกตะกาย ทุรนทุราย หากสงบเย็นลงก็จะนุ่มนวลมั่นคง แต่หากเยือกเย็นจนเป็นปกติแท้แล้วก็นิ่งสนิท มีความเบิกบานคงทนถาวรและมีอำนาจสูง

    ดังนั้น กรรมเลวอันเป็นสิ่งผิดปกติในร่างกายและจิตใจจึงอาจ มลายไปได้ด้วยการคลายขันธ์ เพราะกรรมทั้งหลายย่อมสะสมอยู่ในขันธ์นั่นเอง เมื่อเราเป็นผู้กระทำ ความรู้สึกว่าเป็นผู้กระทำก็อยู่ในขันธ์ เมื่อเราคลายขันธ์ปรับองค์ประกอบบใหม่ให้ปกติ เอาความเป็นผู้กระทำออกเสียหรือในกรณีที่ถูกกระทำก็เอาความเป็นผู้ถูกระทำออกเสีย ก็จะไม่มีวาระแห่งการทวงหนี้กรรมใดๆ อีกเพราะไม่มีความเป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ใดๆ สำหรับกรรมนั้นๆ แล้ว

    วิธีการคลายขันธ์นี้ บุคคลจะไม่สามารถคลายขันธ์จนหมดกรรมทุกประการได้ เพราะการประกอบกันของขันธ์แต่ละชนิดก็เป็นกรรมและผลกรรมเช่นกัน กระนั้นบุคคลสามารถรักษาปกติสุขแห่งร่างกายและจิตใจ ทั้งบำบัดสิ่งผิดปกติอันเลวร้ายออกจากขันธ์ได้ด้วยการคลายขันธ์นี้

    การคลายขันธ์ขณะนั่งสมาธินั้น อาจเรียกได้ว่าเป็นการคลายมลทินออก ซึ่งอาจมีอาการต่างๆ ทางร่างกายปรากฏขึ้น และเมื่อคลายขันธ์แล้วก็จะเกิดความปีติสุขตามมา เช่น

    ก. คลายขันธ์ที่ระบบประสาททั้งห้า มีอาการขนลุกชูชัน น้ำตาไหล เป็นต้น ปีติสุขที่เกิดเรียกว่า ขุททกาปีติ

    ข. คลายขันธ์ในเส้นประสาทภายใน รู้สึกแปลบๆ ปีติที่เกิดเรียกว่า ขณิกาปีติ

    ค. คลายขันธ์ตามเซลล์รู้สึกซู่ ซ่านไปทั้งตัว ปีติที่เกิดเรียกว่า โอกันติกาปีติ

    ง. คลายขันธ์ในโครงสร้าง ลอยขึ้นมาจากพื้น ปีติที่เกิดเรียกว่า อัพเพคาปีติ

    จ. คลายขันธ์ตามอวัยวะต่างๆ รู้สึกเย็นเอิบอาบไปทั่วสรรพางค์กาย ปีติที่เกิดเรียกว่า พรณาปีติ

    เมื่อคลายขันธ์จนเกิดปีติขึ้น กรรมก็เป็นอันคลายไปเป็นชุดๆ กรรมก็จะเบาบางลง ขันธ์ก็จะสะอาดขึ้นโดยลำดับ

    ๕. การอโหสิกรรม

    การให้อโหสิกรรมเป็นการตัดบ่วงกรรม กรรมที่ได้รับการให้อโหสิแล้ว เป็นโมฆะกรรมย่อมไม่ให้ผลใดๆ อีก ดังนั้น กรรมใดที่มีเจ้ากรรมนายเวรผูกบ่วงพยาบาทอยู่ และเจ้ากรรมนายเวรนั้นก็ได้มาปรากฏต่อหน้าแล้วก็พึงประกาศอโหสิกรรมแก่กันโดยตั้งจิตอธิษฐานว่า

    “กรรมชั่วอันใดที่ท่านได้กระทำแล้วต่อข้าพเจ้าด้วยกายก็ดี ด้วยวาจาก็ดี ด้วยใจก็ดี อันทำให้ท่านต้องตกระกำลำบากอยู่ หรือจะตกระกำลำบากในกาลต่อไป ข้าพเจ้าขออโหสิกรรมให้แก่บาปเวรนั้นของท่าน ขอท่านอย่าได้เสวยผลกรรมอันทุกข์ทรมานนั้นเลย และหากมีกรรมชั่วอันใดที่ข้าพเจ้ากระทำแล้วต่อท่านด้วยกายก็ดี ด้วยวาจาก็ดี ด้วยใจก็ดี ขอท่านจงงดโทษอโหสิกรรมให้แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด ข้าพเจ้าจักสำรวมระวังในกาลต่อไป”

    จากนั้นก็แผ่เมตตาและอุทิศส่วนกุศลไปยัง เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายทั้งใกล้และไกล ก็จะตัดกรรมเก่าอันไม่สมควรเสียได้ แล้วหมั่นเจริญกรรมใหม่อันสมควรต่อไป

    ๖. การก้าวล่วงกรรม

    ในกรณีเรากระทำผิดไว้และสำนึกแล้ว แต่ไม่ทราบว่าเจ้ากรรมนายเวรอยู่ไหน หรือเจ้ากรรมนายเวรยังไม่ให้อภัย หากเราสำนึกผิดอย่างเดียวจะรู้สึกเสียใจต่อการกระทำของตนเองแล้วจมอยู่กับความไม่พึงพอใจในการกระทำของตนเองในกรณีดังนี้ พระพุทธองค์ทรงแนะนำให้ก้าวล่วงออกจากกรรมเสีย โดยการกำหนดอธิษฐานจิตตั้งใจให้มั่นว่ากรรมนั้นๆ เป็นสิ่งไม่สมควร ต่อไปนี้ตลอดนิรันดรเราจะไม่กระทำกรรมนั้นอีกเป็นอันขาด เมื่อเราตั้งใจแน่วแน่ดังนี้แล้ว ใจของเราจะก้าวออกจากกรรมนั้นได้ และนับแต่นี้เป็นต้นไปกรรมดังนั้นจะไม่เกิดขึ้นในใจของเราอีกเป็นอันขาด นี้เป็นเทคนิคการก้าวล่วงออกจากกรรม

    ๗. การชำระจิตให้บริสุทธิ์

    การชำระจิตให้บริสุทธิ์เป็นการยกระดับจิตใจ ให้หลุดพ้นจากอำนาจทั้งปวง แม้อำนาจกรรมเมื่อทำลายอัตตาแห่งอวิชชาได้แล้วก็ไม่มีผู้กระทำ เมื่อไม่มีผู้กระทำก็ไม่ถูกกระทำและไม่ต้องรับผลของการกระทำใดๆ บางท่านอาจสงสัยว่า ครั้งพระพุทธองค์ทรงพระชนม์อยู่ ทำไมยังต้องรับผลกรรมเก่าด้วยเล่า การที่ท่านรับผลกรรมเก่านั้น เพราะท่านยังดำรงขันธ์อยู่ การบันทึกกรรมก็บันทึกไว้ด้วยขันธ์ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)

    เมื่อละความพัวพันในขันธ์ ๕ ได้จึงไม่ต้องระคนกรรมใดๆ อีกแม้แต่น้อย ทรงอยู่ในความหมดจดผ่องแผ้วนิรันดรที่ พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “เราสิ้นบุญและบาปแล้ว เว้นแล้ว จากความเดือดร้อนทั้งปวง ไม่มีความโศก ไม่มีความคับแค้น ปราศจากอาสวะ จักปรินิพพาน” และเมื่อท่านละขันธ์ ๕ เข้าสู่ปรินิพพานแล้ว จึงดำรงอยู่ในวิมุติสุขอันไม่เสื่อมสลายที่กรรมใดๆ ก็ไม่อาจระแคะระคายได้

    แม้เราจะมีกุศโลบายการเผชิญกรรมอันแยบคายนานาประการ กระนั้นบุคคลพึงตระหนักไว้ว่า กรรมทั้งหลายเป็นอจินไตย คือไม่มีที่สิ้นสุด ตั้งแต่เป็นสัตว์เซลล์เดียวพัฒนาตนมาโดยลำดับ จนเป็นมนุษย์ชั้นสูงอย่างนี้ ทำกรรมมาแล้วนับไม่ถ้วนมีบ่วงกรรมอันประมาณมิได้ถักสานเป็นชะตาชีวิตและสัมพันธ์อันซับซ้อนอยู่

    ดังนั้น อย่าคิดว่าเราจะล้างกรรมให้หมดจะได้สะอาด มันเป็นไปไม่ได้เพราะอนันตกรรมย่อมไม่อาจถูกทำลายได้หมด แต่เราอาจบรรเทาเบาบาง เบี่ยงเบนหรือระงับเป็นบ่วงกรรมไปได้ และสามารถยกระดับจิตใจเข้าสู่ความบริสุทธิ์จนหลุดพ้นอำนาจกรรมทั้งปวงได้

    การเผชิญกรรมด้วยกุศโลบายที่ดีต่างๆ เหล่านี้ก็คือกรรมใหม่ประการหนึ่ง ซึ่งเป็นการพยายามใช้ปัญญาและศิลปะอันแยบยลจัดวิถีชีวิตของบุคคลให้ดีขึ้น ซึ่งคือวิธีการบริหารดวงชะตาชีวิตนั่นเอง

    เมื่อปัญญาชนบริหารดวงชะตาชึวิตตนด้วยความชาญฉลาดย่อมดำรงชีวิตได้อย่างเป็นประโยชน์ได้โดยสมควร



    .......................................................


    ที่มา หนังสือกุศโลบายการเผชิญกรรม โดย ดร.ไชย ณ พล
    http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=8609
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 10 มกราคม 2010

แชร์หน้านี้

Loading...