การฝึกฝนอบรมจิตใจดีนะ โดย หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโณ

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย กายสงบ ใจสบาย, 25 สิงหาคม 2017.

  1. กายสงบ ใจสบาย

    กายสงบ ใจสบาย พระคาถาเงินล้าน ศักดิ์สิทธิ์จริง

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 สิงหาคม 2017
    โพสต์:
    21
    ค่าพลัง:
    +18
    การฝึกฝนอบรมจิตใจดีนะ

    วันที่ ๑๘ นี้ตอนเย็น คณะกรรมาธิการศาสนาเขาจะมาปรึกษาเรื่องศาสนา ซึ่งเวลานี้กำลังรกรุงรัง ข้าศึกของศาสนาก็เริ่มมีเข้ามาด้วยกัน ก็ไม่พ้นกับเราอีกจะเข้าเกี่ยวข้อง เขาจึงรีบมาหาเราเพื่อปรึกษาปรารภ

    วันนี้เห็นคาถาอันหนึ่งเขาเอามาใหม่มั้ง เราไปอ่านดูเข้าท่าดีคาถาอันนี้ที่เราเทศน์ เขาถอดออกมาจากเทป อ่านดูดีอยู่กระตุกดี พระพุทธเจ้ารับสั่งเทศน์ว่าอย่างนั้น เป็นพุทธพจน์ เราไปอ่านดูน่าฟัง เป็นพุทธพจน์ที่กระตุกใจสัตวโลกหนักอยู่นะ กระเทือนมากอยู่ภาษิตอันนี้ เราก็เอามาเทศน์ให้ฟัง มันสำคัญอยู่ที่ภาชนะ คือใจเป็นภาชนะสำคัญ พระพุทธเจ้ารับสั่งอะไรออกมาจากพระทัย ๆ ที่บริสุทธิ์ ๆ ครั้นออกมาภาชนะที่รองรับก็มีแต่ส้วมแต่ถานไปเสียหมดก็เลอะเทอะไปตาม ๆ กันหมด ธรรมะก็เลยกลายเป็นส้วมเป็นถานไม่มีความหมายอะไร

    พระพุทธเจ้าสอนโลกมานี้ประมาณสักเท่าไรแล้ว ๒,๕๐๐ กว่าปี ออกจากพระทัยที่บริสุทธิ์ล้วน ๆ ที่มีคุณค่าสูงสุด ๆ ออกมาก็ลงมาที่ภาชนะรับ ก็มีแต่ส้วมแต่ถาน ทีนี้ธรรมที่ลงไปหาส้วมหาถานจะเป็นยังไง มันก็เลอะ ๆ ไปตามกัน ฟังก็ฟังไปด้วยความเลอะ ๆ เทอะ ๆ ปฏิบัติแบบเลอะ ๆ เทอะ ๆ ไปหมด อย่างนี้ซิศาสนาถึงไม่มีความหมายเมื่อลงเข้าส้วมเข้าถาน ถ้าเป็นภาชนะที่รับรองธรรมเต็มเหนี่ยวอยู่แล้วก็เข้ากันได้ปั๊บ ๆ ยิ่งธรรมสูงเท่าไร ธรรมที่ออกไปรับกันก็เด่นขึ้น ๆ เชิดชูหัวใจผู้ฟัง ยกหัวใจผู้ฟังขึ้นเรื่อย ๆ เด่น ๆ เด่นดวง เลิศโลก นั่น

    นี่ละธรรมพระพุทธเจ้าถ้าลงในส้วมในถาน ก็กลายเป็นคลุกเคล้ากับส้วมกับถานไปเสีย ฟังเทศน์คนฟังกิเลสหนาปัญญาหยาบ ไม่สนใจในอรรถในธรรม ก็เป็นเท่ากับส้วมกับถานนั้นแหละ ไม่ได้ศัพท์ได้แสงได้เรื่องได้ราว ฟังไปอย่างนั้นแหละ ไม่มีคุณค่า.. ธรรม เพราะเข้าไปคลุกเคล้ากับส้วมกับถานแล้ว ส้วมถานไม่ใช่สิ่งที่มีคุณค่าอะไร นั่น อันนี้ลงไปเจอกันเข้าก็เลยกลมกลืนเป็นอันเดียวกัน กลายเป็นส้วมเป็นถานสำหรับปุถุชนทั่วไปหมด ผู้หนาด้วยกิเลส กิเลสก็คือส้วมคือถานจะเป็นอะไรไป

    อย่างพ่อแม่ครูจารย์มั่นท่านแสดงไว้ว่า ธรรมของพระพุทธเจ้าถ้าสิงสถิตอยู่ในหัวใจของคนมีกิเลสก็กลายเป็นธรรมปลอมไป ถ้าอยู่ในใจของพระอริยเจ้าก็เป็นธรรมอันเลิศเลอ ออกมาจากหัวใจท่าน ท่านพูดอย่างนี้ คนก็ถกเถียงกันเห็นไหมล่ะ พวกส้วมพวกถานมันก็ขยี้ขยำธรรม ธรรมก็เป็นของบริสุทธิ์สุดส่วนแล้วจะเป็นธรรมปลอมไปได้ยังไง คือธรรมพระพุทธเจ้าบริสุทธิ์สุดส่วนก็จริง แต่เวลาไปคลุกเคล้ากันกับจิตใจของปุถุชนก็กลายเป็นธรรมปลอมไป ท่านว่าอย่างนี้ ท่านพูดสั้น ๆ เท่านั้นแหละ

    ก็มาเถียงกันว่า ธรรมเป็นของจริง เข้าไปคลุกเคล้ากันแล้วก็เป็นของจริงอยู่นั้น ทางนี้มันโมโหก็ใส่เสียบ้างล่ะซี เอ้า ถ้วยนี้เป็นส้วมเป็นถานเต็มอยู่นี้แล้ว เอาอาหารไปคลุกเคล้าจะกินได้ไหมเราว่างั้นซี เอา อันนี้ อาหารก็เป็นอาหาร ส้วมก็เป็นส้วม มันจะปลอมหรือไม่ปลอม ถ้าไม่ปลอมจะกินได้ไหม มันก็กินไม่ได้ ก็นั่นละมันปลอมอยู่ตรงนั้น แน่ะ เอาอย่างนั้นแล้ว เราตอบเองมันคันฟัน เอากันสด ๆ ร้อน ๆ ก็มันคละเคล้ากันแล้ว ของที่ควรจะรับประทานตกลงไปมันก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรรับประทานแล้วใช่ไหมล่ะ มันก็เป็นอย่างนั้น

    หลวงปู่มั่นท่านพูดเราก็มาขยายความออกอีก เพราะท่านพูดส่วนรวม ใส่ปุ๊บส่วนรวมทีเดียวเลย ว่าธรรมของพระพุทธเจ้าที่บริสุทธิ์สุดส่วนนั้น เมื่อเข้าสิงสถิตอยู่ในปุถุชนก็กลายเป็นธรรมะปลอมไป ท่านว่ากลาง ๆ อย่างนี้ ทีนี้เวลาเราแยกออกไป พระอริยเจ้าก็มีหลายขั้น ธรรมมีหลายขั้น ถ้าสิงสถิตอยู่กับปุถุชนล้วน ๆ แล้วก็เป็นธรรมปลอมล้วน ๆ ถ้าไปสิงสถิตอยู่ในพระอริยเจ้าตั้งแต่ขั้นโสดาขึ้นไปก็มีส่วนจริงส่วนปลอมสับกันไปละเอียดไปถึง สกิทาคา อนาคา ธรรมก็ละเอียดไป ๆ จริงไป ๆ ถึงพระอรหันต์แล้วจริงสุดส่วน แน่ะ

    คำว่าธรรมมีหลายขั้นของธรรม จิตใจของคนก็มีเหลื่อมล้ำต่ำสูงต่างกัน นี่เป็นภาชนะสำหรับรับธรรม เพราะฉะนั้นจึงเป็นฝักเป็นฝ่าย ไม่ได้เป็นอันเดียวกันทีเดียว คำว่าปลอม ปลอมล้วน ๆ ก็มี ปุถุชนล้วน ๆ นี้เรียกว่าปลอม ถ้าเข้าขั้นอริยะตั้งแต่โสดาขึ้นไปก็ค่อยจริงแทรกกันเข้า พระสกิทาคาจริงแทรกกันเข้า ธรรมแทรกเข้าหนาเข้า ถึงอนาคาก็ยิ่งหนาเข้าธรรม ถึงอรหันต์สุดส่วน บริสุทธิ์เต็มที่ นั่นธรรมเป็นขั้น ๆ ตอน ๆ อย่างนี้

    ลูกหลานไปเรียนหนังสือ ครูอาจารย์พามาก็ให้นำไปปฏิบัตินะ อันนี้เราก็ไม่ค้านแม้เราตัวเท่าหนูก็เป็นแบบของหนูนั่นแหละ พระพุทธเจ้าก็แบบของพระพุทธเจ้าศาสดาองค์เอก เป็นแบบแผนของศาสดาองค์เอกที่เป็นคติตัวอย่างแก่โลกเรื่อยมา จนกระทั่งได้ทำรูปไว้กราบไหว้บูชานี้ก็คือรูปของพระพุทธเจ้า แน่ะ คติตัวอย่างทุกอย่างออกมาจากพระพุทธเจ้าที่เป็นแบบฉบับ ๆ เรื่องเหล่านี้ก็เป็นแบบฉบับมาตั้งแต่ครั้งองค์ศาสดา ทีนี้มาเป็นแบบฉบับในสมัยเรานี้ควรจะยึดได้ยังไงมันก็ไม่ขัดกัน

    อย่างที่ว่า หยดน้ำบนใบบัว อย่างนี้เราไม่ค้าน จะว่าเราเป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูงเราก็ไม่มี คือไม่ค้าน เห็นด้วย แล้วจะกลายเป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูงอย่างนี้เราก็ไม่มี ถ้าว่าการค้าน ธรรมที่สอนไปแล้วไม่มีที่คัดค้าน แน่ะ ก็จะคัดค้านที่ตรงไหน หนูตัวหนึ่งก็เป็นหนูตัวหนึ่งเต็มตัว ช้างตัวหนึ่งก็เป็นช้างเต็มตัว สัตว์ทุกประเภทเต็มตัวของเขาเอง อันนี้เรื่องนิสัยวาสนาบุญญาภิสมภารของคน มีหนักมีเบามากน้อยต่างกัน ก็เป็นตามสัดตามส่วนของตัวเอง เช่น ศาสดาองค์เอกก็เป็นคติตัวอย่างแก่โลกทั้งสามเลย จากนั้นก็รองลงมา ๆ การที่ลูกหลานทั้งหลายนำไปเป็นคติตัวอย่างนี้เราก็ก้าวเดินมาแล้ว ถ้าว่าผิดเราก็ต้องผิดไปแล้ว เราไม่ได้ผิด เป็นที่แน่ใจโดยลำดับมา

    ตั้งแต่ล้มลุกคลุกคลานตะเกียกตะกายจะเป็นจะตาย ก็เป็นคติตัวอย่างจากผลที่ได้มาโดยวิธีนี้ทั้งนั้น แน่ะ คือเหตุบำเพ็ญมายังไง ผลได้มาเป็นลำดับลำดาก็ไม่มีที่ต้องติเหตุคือการกระทำของเรา ว่าสมควรหรือไม่ที่จะได้รับผลเช่นนั้น ๆ ขึ้นมา ก็สมควรต่อกันเป็นลำดับ จนกระทั่งถึงผลเป็นที่พอใจ ก็เพราะเหตุเป็นที่พอใจมาแล้ว เมื่อเหตุไม่หนุนให้เต็มที่แล้วผลจะเต็มที่ได้ยังไง นี่เราก็ดำเนินมาแล้ว ถ้าหากว่าจะต้องติในหนังสือเล่มนี้ที่จะเอาไปเป็นคติตัวอย่าง ก็ต้องติเราซึ่งเป็นตัวเหตุนี้ การดำเนินของเราก็ไม่มีที่ต้องติ เท่าที่ปฏิบัติมา ผลไม่มีที่ต้องติจะไปต้องติเหตุที่ตรงไหน จึงว่าเราจะคัดค้านก็ไม่มีทางที่จะคัดค้าน เพราะธรรมเป็นธรรมแท้ ก็มีแต่เห็นด้วย คือเราเห็นด้วยไปก่อนแล้วด้วยการปฏิบัติของเรา ก็มีเท่านั้น ผู้ใดจะนำไปปฏิบัติก็ปฏิบัติ

    การเทศนาว่าการไม่ได้แบ่งสันปันส่วนเอาผลรายได้รายเสียจากผู้หนึ่งผู้ใด มีตั้งแต่ผู้ที่ได้ยินได้ฟังแล้วจะนำไปประพฤติปฏิบัติตามนั้น ผลมากน้อยก็เป็นประโยชน์ของตนเองเท่านั้น สำหรับเรา-เราไม่มีอะไร เราก็บอกแล้วเราไม่มีอะไรกับใคร มายกมายอก็เท่านั้น มาติฉินนินทาก็ปากของของเขาเอง มายกยอก็ปากของผู้พูดออกมาเอง ตำหนิติเตียนก็ปากคนนั้นเอง มันก็เสียที่ปากตรงนั้น ได้ที่ปากตรงนั้นเอง ไม่ได้จากที่อื่นที่ใดนะ ได้จากปากของตัวเอง เป็นข้าศึกต่อตัวเองก็คือปากพูดไม่สำรวมระวัง อยากพูดอะไรก็พูดออกไปสุ่มสี่สุ่มห้า ภัยก็เกิดขึ้นจากปากเผาหัวใจตัวเอง นอกจากนั้นยังไปแผดเผาหูคนอื่นให้จิตของเขาเศร้าหมองมืดตื้อไปด้วยก็มีเยอะ ผู้ที่ดีก็เป็นประโยชน์แก่ตนเองแล้วยังทำประโยชน์ให้คนอื่นได้รับจากการได้ยินได้ฟังอีก มันก็เป็นขั้น ๆ ตอน ๆ

    สำหรับสิ่งที่ชมที่ตินั้นเป็นธรรมชาติกลาง ๆ ไม่เข้าใครออกใคร พระพุทธเจ้าที่บริสุทธิ์แล้ว ท่านไม่เข้าใครออกใคร ใครตำหนิติชมพระองค์ก็เคยมาแล้ว ถึงขนาดเขาจ้างวานคนไปด่าพระพุทธเจ้า ก็เห็นอยู่แล้วในคัมภีร์ เสด็จไปบิณฑบาตที่ไหนก็ถูกเขาด่าเขาว่า ไอ้อูฐไอ้ลาไอ้หัวโล้นโกนคิ้ว ทุกอย่างว่าไป ไอ้ขอทาน ท่านก็เฉยเสียไม่สนใจ

    พระอานนท์ที่มีกิเลสอยู่นั้นซีเดือดร้อนวุ่นวาย ทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดบ้านอื่นเมืองอื่นที่เขาไม่ตำหนิติฉินนินทาอย่างนี้ พระองค์ถ้าเป็นอย่างเราก็เรียกว่ารำคาญหู แล้วจะไปบ้านไหนล่ะอานนท์ ไปบ้านโน้น ๆ บ้านโน้นเขาก็มีปากเหมือนกัน ถ้าเขาว่ามา เราก็มีหูเหมือน เขาตำหนิมาจะว่ายังไง ไปบ้านนั้นเขาว่ามาแล้วว่าไง มันก็เหมือนกันนี่ ไปบ้านนั้นตำหนิก็ไปบ้านนั้น สุดท้ายก็โลกแคบไม่มีที่อยู่ เพราะมีที่ตำหนิติเตียนและเชยชมทั่วโลกดินแดน เนื่องจากดีกับชั่วมีอยู่ด้วยกัน ไปที่ไหนก็มี ไล่ไปจนกระทั่งถ้าบ้านนั้นเขาตำหนิล่ะ เขาด่าแล้วจะว่าไง ไปบ้านนั้น แล้วบ้านนั้นเขาด่าจะว่าไง สุดท้ายไม่มีบ้านอยู่

    อานนท์อย่าไปคิดอย่างนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องของโลกสงสาร โลกธรรม ๘ มีอยู่อย่างนี้ประจำโลก ได้มาเสียไป นินทาสรรเสริญ สุขทุกข์ มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ เป็นอยู่อย่างนี้ทั่ว ๆ ไปแหละ ไปที่ไหนก็มีอย่างเดียวกันนี้ ถึงไม่ควรไป ให้ดูเจ้าของชำระจิตใจเจ้าของ มันบกพร่องตรงไหนให้แก้ไขดัดแปลงจุดที่บกพร่อง เราก็สมบูรณ์ไปในตัวของเราเอง ท่านก็ยกองค์ท่านขึ้นมา สำหรับเราตถาคตเหมือนกับช้างที่ก้าวเข้าสู่สงคราม ไม่พรั่นพรึงต่อลูกศรที่จะมาจากทิศทั้งสี่ เราตั้งหน้ารบเท่านั้น นั่นว่างั้น

    ตั้งหน้ารบก็คือตั้งหน้าดำเนินด้วยความเป็นธรรม ประจำองค์ศาสดาเท่านั้นเอง นั่น พระพุทธเจ้าไม่เห็นว่าอะไร เรื่องความตำหนิติชมมีอยู่ทั่วไปนั่นแหละ เกิดที่ไหนก็ไปเป็นผลอยู่ที่นั่น เกิดจากปากใครก็เป็นผลที่นั่น ไม่ว่าเกิดทางดีทางชั่ว เกิดจากปากที่พูดดีพูดชั่ว ก็เป็นผลย้อนเข้ามาหาผู้ทำ ผู้ทำก็คือผู้เป็นต้นเหตุ เหตุเกิดที่ไหนผลก็เกิดที่นั่น ก็มีเท่านั้นเอง เราจะไปมองดูตั้งแต่นอก ๆ ใครว่าที่ไหนก็มีแต่จะแว้ ๆ ใส่เขา ไม่ดูหัวใจเจ้าของ หัวใจเจ้าของบกพร่องถึงไปโกรธให้เขา ถ้าใจไม่บกพร่องไม่โกรธ เขาจะดุจะด่าจะว่าอะไรก็เฉย เหมือนหมาปล่อยหำ เข้าใจไหมหมาปล่อยหำ ถ้าไม่เข้าใจไปดูหำไอ้หยองซี มันนุ่งผ้าเมื่อไรสักที มันเฉยของมันอย่างนั้นแหละ ใครก็รู้ว่ามันหมาจะไปสนใจกับมันอะไร แน่ะ

    อันนี้ก็อย่างนั้นซี ใครว่าที่ไหนก็ไปดูตั้งแต่นอก ไม่ดูเจ้าของที่บกพร่อง เราไม่พอใจ ความไม่พอใจคือเราเอง นี่ยังบกพร่องจุดนี้ แก้ตรงนี้ พอแก้ตรงนี้แก้เข้าไป ๆ ใครว่าอะไรก็เฉย มันพอแล้ว แก้ดีแล้วไปที่ไหนก็สบายไปหมด ถ้าแก้ตัวไม่ได้ไปไหนทุกข์ทั้งนั้นแหละคนเรา ขอให้แก้ที่ตัว บกพร่องที่ตัวนะ อย่าไปเข้าใจว่าเขาตำหนิเรา ว่าเขาไม่ดี เขาชมว่าเขาดี อย่างนั้นใช้ไม่ได้ ต้องดูตัวของเราเอง เขาตำหนิเราว่าไม่ดี เราไม่ดีตรงไหนอย่างที่เขาว่า ถ้าเป็นอย่างเขาว่าจริง ๆ เราก็แก้ตรงนั้นเสีย เขาชมว่าดีหรือไม่ดีก็พิจารณาตัวเองตลอดเวลา นี่เรียกว่าผู้มีธรรมในใจ เรื่องดีเรื่องชั่วจะเข้ามาสู่ใจ ใจจะเป็นผู้รับทราบได้ทั้งหมด ควรแก้ไขถอดถอนให้แก้ ควรส่งเสริมส่งเสริม-ส่งเสริมไปเรื่อย นั้นเรียกว่าผู้ปฏิบัติตน ไม่อย่างนั้นไม่ใช่ผู้ปฏิบัติธรรม

    ไปคอยเอาตั้งแต่ความดีความชอบความชมเชยสรรเสริญ จากปากคนหูคนใช้ไม่ได้นะ ต้องดูตัวเอง เอาจากตัวเองซิ เขาตำหนิมายังไง ๆ เหมือนกับครูเหมือนกับอาจารย์เตือนเราสอนเราบกพร่องตรงไหน ๆ เราแก้ตรงนั้นไปเรื่อย ๆ คนเรามันก็ดีไปเรื่อย ๆ นั่นแหละ เมื่อถึงดีเต็มที่แล้วจะตำหนิหรือชมก็เท่ากัน เป็นส่วนเกินทั้งหมด เขาชมมามันก็เกินเสีย น้ำเต็มแก้วแล้ว เขาชมเชย เขาสรรเสริญก็มีน้ำหนักเท่ากัน เป็นส่วนเกินอย่างเดียวกัน ไหลล้นออกอย่างเดียวกันหมด ถ้าจิตพอในสภาวธรรมทั้งหลายแล้วก็เป็นอย่างนั้น ก็เป็นธรรมทั้งแท่ง หากเป็นหลักธรรมชาติเอง จะบังคับให้ติดก็ไม่ติด ถ้าจิตพอตัวแล้ว บังคับให้ดีกว่านั้นก็ไม่มี ให้ชั่วกว่านี้ก็ไม่มี จึงเรียกว่าจิตพอตัวแล้ว

    หนังสือเล่มนี้ก็พอจะเป็นประโยชน์แก่ชาวพุทธเราบ้างแหละ ถ้าว่าจะสมก็สมกับความเสียสละของเราถึงขนาดที่ว่าเป็นก็เป็นตายก็ตาย ติดแนบอยู่กับความเพียรเลย นี่เราติดแนบมาตลอด จึงได้พูดถึงเรื่องการพิจารณาย้อนหลังของเรา ตั้งแต่ประกอบความเพียรมาจนถึงที่ยุติกันนี้ การประกอบความเพียรเราได้มีความอ่อนแอท้อแท้เหลวไหล หรือถอดถอนตนเองด้วยความอ่อนเปียกไปอย่างนั้น มีที่ตรงไหน มันไม่มีก็บอกไม่มี แน่ะ ก็ได้ชมเจ้าของ โอ๋ มันไม่ถอย ถึงจะล้มลุกคลุกคลานขนาดไหนจะเป็นจะตาย ไม่ถอยอยู่ตลอดเวลา มันถึงได้มาถึงอย่างนี้ นั่น ถ้าถอยเสียที่ไหนแล้วก็จมไปเลย นี่ก็คือไม่ถอย

    ก็ได้ชมความหมายมั่นปั้นมือ พูดให้เต็มยศก็คือว่า ความหมายมั่นปั้นมือต่อมรรคผลนิพพาน ต่อแดนอรหันต์นี้เต็มหัวใจ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีอะไรอ่อนนะ ร่างกายมันจะไปไม่ได้อย่างที่เคยพูดให้ฟัง เอ้า.ไปไม่ได้อยู่เสียก่อนซิ ใจไปได้อยู่ใจต้องไป นั่น มันก็หมุนติ้ว ๆ ของมัน นี่ละเรียกว่าอำนาจแห่งความอุตส่าห์พยายาม มันฝ่าฝืนอุปสรรคไปได้โดยไม่ต้องสงสัย ถ้าเราไม่ฝ่าฝืนไม่โต้ตอบหรือไม่รบรากันแล้ว มีแต่แพ้โดยถ่ายเดียว ใช้ไม่ได้เลยนะ ต้องสู้ ๆ ตลอด ผลแห่งการต่อสู้ สู้กับข้าศึกศัตรู ได้มาก็คือความสุขความเบาใจของเรา เช่น มันจะไปทำความชั่วไม่ให้ทำ นั่น. เอ้า มันอยากไปก็ให้มันไป ไปแต่ใจ ใจยังห้ามไม่ได้ ห้ามร่างกายไม่ให้ไป เอ้า.ใจมันอยากไปให้มันไป เวลายังห้ามใจไม่ได้นะ

    พอหนักเข้า ๆ ห้ามได้ทั้งใจ ใจก็ไม่ไป พอแย็บออกมานี้จะเป็นทางดีทางชั่วประการใด มันจะทดสอบกันทันที ๆ นี่เรียกว่าทันกัน สติปัญญาจะรอบตัว ๆ พอแย็บออกมาทางชั่วหรือทางดีมันจะรู้ ทางดีเป็นสิ่งที่เราเสริมอยู่แล้วมันก็หนุนกันทันที ถ้าเป็นทางชั่วปัดออกทันที ๆ ๆ นี่เข้าถึงใจแล้วเป็นอย่างนั้น แต่ส่วนร่างกายก็ต้องอาศัยใจบังคับ คือทีแรกใจมันดื้อ เอ้า.ถ้าใจดื้อ มันอยากคิดก็ให้มันคิดไป แต่เราจะไม่ไปตามที่มันคิดว่าอยากไป แล้วไม่ไปตามนั้น แน่ะ เอาใจอันหนึ่งห้ามร่างกายไว้ไม่ให้ไป ไม่ให้ทำสิ่งชั่วทั้งหลาย เอ้า.มันอยากทำในจิตมันคิด ห้ามมันไม่ได้ เอ้า.ให้มันคิด สิ่งที่ห้ามได้คือการทำตามความคิด ไม่ให้ทำ ไม่ให้พูด เอาตอนนี้ก่อน

    ต่อมาคิดก็ไม่ให้คิด พูดก็ไม่ให้พูด บังคับเอากันได้ จนกระทั่งแย็บปั๊บออกมารู้ทันที ขาดสะบั้นไปเลย นั่นเห็นไหมล่ะการฝึกฝนอบรมจิตใจ ดีอย่างนั้นนะ ดีเป็นขั้นเป็นตอน ๆ ละเอียดขึ้นไปเท่าไร ธรรมยิ่งจ้าขึ้น ๆ กำลังวังชาความเฉลียวฉลาดแหลมคมทุกอย่างอยู่กับธรรมหมด กิเลสนี้หมอบ ๆ เรื่อย ถึงขนาดที่ได้คุ้ยเขี่ยขุดค้น บางทีเราก็เคยพูด มันเป็นในจิตนี่ เอาเสียจนกระทั่ง ปรากฏว่ากิเลสนี้ไม่มีเลยในหัวใจ คือมันหมอบ ส่วนละเอียดมันยังหมอบอีกด้วยนะ ไม่เพียงส่วนละเอียดเฉย ๆ มันยังหมอบยังหลบยังซ่อนอยู่ มันก็แสดงตัวขึ้นมาซิอันหนึ่ง เหอ.ไม่ใช่สำเร็จแล้วเหรอ มันเป็นพระอรหันต์น้อย ๆ ขึ้นมาแล้วนี่ ไม่เห็นมีกิเลสสักตัว

    ทั้ง ๆ ที่ไม่เชื่อมันนะ.มันหากมีอันหนึ่งแทรกขึ้นมา เหอ.มันไม่ใช่เป็นพระอรหันต์น้อย ๆ แล้วเหรอ นี่เวลากิเลสมันหมอบ ทั้ง ๆ ที่เราไม่ได้เชื่อมันนะ มันหากมีอันหนึ่งที่คอยฟัดคอยเหวี่ยงคอยจับกันอยู่ หาจับที่ไหนมันก็เงียบ ๆ เหอ.ไม่ใช่เป็นพระอรหันต์น้อย ๆ แล้วเหรอ มันคิดของมันเฉย ๆ นะ แต่ความสำคัญเราไม่ได้เป็นไปตามนั้น ก็รู้อยู่ว่ายังไม่หมด เป็นแต่เพียงว่ามันละเอียด ถึงขั้นที่ว่า เหอ.ไม่ใช่เป็นพระอรหันต์น้อย ๆ องค์หนึ่งขึ้นมาแล้วเหรอ.สักเดี๋ยวเสือใหญ่ก็โผล่ขึ้นมา นี่อรหันต์น้อยลายพาดกลอน ซัดกันเลย จะใหญ่ขนาดไหนก็เถอะ ถ้าลงสติปัญญาขั้นนั้นแล้ว อย่าว่าแต่เสือโคร่งเลย ปู่เสือโคร่งมาก็พังกันหมดนั่นแหละ นี่ถึงขั้นสติปัญญาที่เกรียงไกร พับเท่านั้นขาด ๆ ฟังซิพี่น้องทั้งหลาย

    เวลามันหนามันแน่นอยู่ เราขาดสู้มันไม่ได้นะ หงายตลอดเลย เวลาธรรมะเกรียงไกรแล้วกิเลสมีแต่หงายทั้งนั้น ไม่หงายขาดสะบั้นไปเลย นิพพานนี่อยู่ชั่วเอื้อม ๆ เพลินไม่มีวันมีคืนมีปีมีเดือน หมุนติ้ว ๆ อยู่ภายใน ที่จะให้หลุดให้พ้น ๆ นั่น ถึงกาลเวลาของธรรมมีกำลังแล้วเป็นด้วยกันในหัวใจทุกคน ใจไม่มีหญิงมีชาย ขอแต่ใช้ความอุตส่าห์พยายามซึ่งไม่มีเพศเหมือนกัน ใครใช้คนนั้นได้เป็นสิริมงคลแก่ตัว ถ้ามีแต่อืดอาด ๆ อยู่เรื่อย ท้าทายพระพุทธเจ้าด้วยกองมูตรกองคูถเต็มหัวใจเจ้าของ ท้าทายเท่าไรก็ยิ่งจมในกองมูตรกองคูถนี้นะ อย่าเอากองมูตรกองคูถไปท้าทายกับทองคำทั้งแท่ง คือธรรมอันเอกของศาสดา ไม่สมควรอย่างยิ่งเราที่เป็นมนุษย์และเป็นชาวพุทธ

    ให้พยายามพากันตื่นเนื้อตื่นตัว แก้ไขดัดแปลงตนเอง เราจะดีได้ทุกคน ธรรมไม่ครึไม่ล้าสมัย สด ๆ ร้อน ๆ ที่จะทำคนให้ดีจากการปฏิบัติของตัวเอง และกิเลสก็เหมือนกัน ทำคนให้ชั่วจากการหลงตามมันด้วยกัน สด ๆ ร้อน ๆ เหมือนกันไม่มีอะไรยิ่งหย่อนกว่ากัน ระหว่างกิเลสกับธรรมว่าอันไหนครึอันไหนล้าสมัย ไม่มี เวลานี้กิเลสกำลังทันสมัยล้ำยุคล้ำสมัยอยู่ในหัวใจสัตว์ ธรรมนี้ก้าวไม่ออกเพราะเราไม่นำมาก้าว ธรรมก็เลยกลายเป็นของครึไปเสีย เพราะเจ้าของทำตัวเป็นคนครึจากธรรมทั้งหลาย ก็ไม่มีธรรม เมื่อหมุนธรรมเข้ามาสู่ใจธรรมทันสมัยทันที คว้าอันไหนได้อันนั้นแหละ คว้าดีได้ดี คว้าชั่วได้ชั่ว อยู่กับหัวใจของเราทุกคน อย่าปล่อยอย่าวางตัวเองนะ

    เราอย่าไปเชื่อใครไม่ใช่ สรณํ คจฺฉามิ ของเราละ กิเลส ความโลภ สรณํ คจฺฉามิ มีที่ไหน ความโกรธ ราคะ ตัณหา สรณํ คจฺฉามิ ได้ผัวได้เมียคนละยี่สิบสามสิบ คนละร้อยละพัน สรณํ คจฺฉามิ อย่างเอกมีไหมล่ะ ไม่เห็นมี เห็นแต่หมากัดกันในครัวเรือนนั่น เข้าใจไหม ตั้งแต่ผัวเดียวเมียเดียวยังทะเลาะกัน ไม่ทะเลาะยังไง ลิ้นกับฟันอยู่ด้วยกัน เคี้ยวไปเคี้ยวมาก็กัดกันละลิ้นกับฟัน ก็ผัวกับเมียนั่นแหละลิ้นกับฟัน เจ้าของก็คือสติ เป็นผู้คอยกำกับดูแล ให้เคี้ยวไปเรื่องเคี้ยวนั่นน่ะ มีอะไรเคี้ยวลงไป อย่าเคี้ยวแต่ขี้หมูขี้หมาก็แล้วกัน เข้าใจไหม อาหารการกินเคี้ยวไปเถอะ ระวังแต่อย่าให้ลิ้นกับฟันกัดกันก็แล้วกัน เจ้าของรักษาดีแล้ว ฟันก็ทำหน้าที่เคี้ยวกลืน ลิ้นก็ทำหน้าที่ป้ายอาหารใส่ฟันให้เคี้ยวไปก็สำเร็จประโยชน์

    ถ้าปล่อยให้ทางใดทางหนึ่งรุกล้ำกันแล้วเลือดสาดนะ แล้วจะตำหนิใคร เจ้าของนั่นแหละผู้เจ็บ เจ้าของต้องเป็นผู้บังคับเจ้าของ อย่าให้ลิ้นกับฟันกัดกัน ก็คือเจ้าของเป็นคนระมัดระวัง อันนี้ครอบครัวเหย้าเรือน ผัวเมียก็ต่างคนต่างระวังความผิดถูก ผิดได้ด้วยกันถูกได้ด้วยกัน ใครผิดให้ยอมรับว่าผิด อยู่ด้วยกันได้มนุษย์เรา ใครถูกก็ทราบแล้วว่าถูก ยอมรับกันอยู่ด้วยกันได้ ถ้าผิดไม่ยอมรับว่าผิดนี้แตกนะ คือไม่ยอมรับว่าผิดนี้คือความชั่ว ความชั่วนี้แหละมันเข้าทำลาย ถ้าผิดยอมรับว่าผิดนี้คือความดีประสานทันที ให้พากันจำเอาไว้ อย่าไปถือทิฐิมานะ อวดรู้อวดฉลาดอวดดิบอวดดีทั้ง ๆ ที่เราชั่ว ทั้ง ๆ ที่เราโง่ จะให้มันฉลาดมันฉลาดไม่ได้ ให้มันดีมันดีไม่ได้จากความทะนงตัวนะ ถ้าเป็นธรรมแล้วผึง ๆ เลย ยอมรับกันได้หมด นั่น

    อะไรจะฝึกยากยิ่งกว่าฝึกคน เพราะคนนี้มีศักดิ์ศรีอะไร ความเฉลียวฉลาดสูงกว่าสัตว์ รู้ได้มากกว่าสัตว์ ธรรมจึงมาอยู่กับคนผู้ที่จะรื้อฟื้นขึ้นมาเป็นประโยชน์ได้ สำหรับสัตว์ก็ไม่ใช่ฐานะของเขา ก็ปล่อยไปตามเรื่องของเขาไปก่อน เป็นพัก ๆ สำหรับมนุษย์เรานี้พอที่จะเป็นไปได้แล้ว อย่าปล่อยเนื้อปล่อยตัวให้เป็นซุงทั้งท่อน ลอยตามกระแสของน้ำคือกิเลสไปตลอดเวลาใช้ไม่ได้นะ วันนี้ก็พูดเพียงเท่านั้นละ ลูกหลานพากันจำเอา ให้ไปศึกษาปฏิบัตินะ เท่านั้นละ

    เปิดดูข้อมูล วันต่อวัน ทันต่อเหตุการณ์ หลวงตาเทศน์ถึงเรื่องอะไร ทาง internet

    www.luangta.com
     

แชร์หน้านี้

Loading...