การปฏิบัติธรรมนั้น เราต้องดูที่ตัวเอง แก้ที่ตัวเอง

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 5 ธันวาคม 2024.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,071
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,592
    ค่าพลัง:
    +26,437
    IMG_6673.jpeg

    เก็บตกจากบ้านวิริยบารมี ๗ เมษายน ๒๕๕๕

    ช่วงระยะเวลาที่ผ่านมามีปรากฏการณ์บางอย่าง ทำให้นักปฏิบัติของเราเกิดอาการใจร้อน ใจเร็ว มีการกระทบกระทั่ง ทะเลาะเบาะแว้งกัน มีปากมีเสียงกันทั้งต่อหน้าและลับหลัง ลับหลังนั้นก็เป็นไปทั้งทางโทรศัพท์ก็ดี ทางอินเตอร์เน็ตก็ดี สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ความจริงก็เป็นเรื่องปกติของโลก แต่สำหรับนักปฏิบัติแล้ว เป็นการวัดตนเองได้ดีที่สุดว่า การปฏิบัติของเราก้าวหน้าขึ้นหรือว่าถดถอย ? ..

    ฉะนั้น..การที่เราเป็นนักปฏิบัติ จำเป็นที่จะต้องมีการทบทวนอารมณ์ปฏิบัติของเราอยู่เสมอ จะได้รู้ว่าตอนนี้เราทำไปถึงที่ใดแล้ว ? มีความก้าวหน้าหรือถอยหลังอย่างไร ? จำเป็นต้องเร่งในจุดไหน ? ต้องผ่อนในจุดไหน ? หรือว่าปรับเปลี่ยนทิศทางในการปฏิบัติของตนอย่างไร ? ถ้าหากว่าไม่มีการทบทวน การปฏิบัติของเราก็จะสำเร็จได้ยาก การไตร่ตรองทบทวนตัวนี้ก็คือวิมังสาในอิทธิบาท ๔ นั่นเอง

    คราวนี้สิ่งที่จะเป็นเครื่องวัดการปฏิบัติของเรานั้น ในส่วนที่หยาบที่สุดก็คือนิวรณ์ ๕ ได้แก่ ความยินดีในรูปสวย เสียงไพเราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ ๑ ความโกรธเกลียดอาฆาตแค้นผู้อื่น ๑ ความง่วงเหงาหาวนอนชวนขี้เกียจปฏิบัติ ๑ ความฟุ้งซ่านหงุดหงิดรำคาญใจ ๑ และความลังเลสงสัยในผลของการปฏิบัติ ๑ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ถ้ามีข้อใดข้อหนึ่งอยู่ในใจเรา แสดงว่าคุณภาพของใจเราตกต่ำมาก

    โดยเฉพาะตัวอุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ คือความฟุ้งซ่าน หงุดหงิดและรำคาญใจนั้น ตัวฟุ้งซ่านสามารถนำให้เกิดทั้งราคะ โลภะ โทสะ และโมหะ เมื่อเป็นดังนั้น การฟุ้งของเราต่อให้เป็นการฟุ้งในเรื่องจะกระทำความดี ก็ยังเป็นการฟุ้งซ่านของใจอยู่ คุณภาพของใจเรายังไม่ดีพอ ถ้าท่านที่ได้ทิพจักขุญาณ สามารถดูสีใจของตนเองได้ว่า ตอนนี้มีความขุ่นมัวอย่างไร ใจของเราผ่องใสหรือขุ่นมัว หรือเคลือบไปด้วยสีสันอื่น ๆ ที่ระบุเอาไว้ว่ากำลังใจของเราไม่ได้มุ่งตรงอยู่กับการภาวนา

    เมื่อวัดด้วยนิวรณ์ ๕ แล้ว ในส่วนต่อไปที่เป็นเครื่องวัดก็คือศีล ไม่ว่าจะเป็นศีล ๕ ก็ดี ศีล ๘ ก็ดี หรือถ้าเป็นสามเณรก็ศีล ๑๐ พระภิกษุสงฆ์ก็ศีล ๒๒๗ เรารักษาศีลทุกสิกขาบทครบถ้วนสมบูรณ์บริบูรณ์หรือไม่ ? เมื่อเรารักษาศีลทุกสิกขาบทได้ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว เรายุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นละเมิดหรือไม่ ? เมื่อรักษาด้วยตนเองได้ ไม่ยุยงให้ผู้อื่นทำ เวลาเห็นผู้อื่นละเมิดศีลเรายังมีความยินดีหรือไม่ ? นี่เป็นเครื่องวัดกำลังใจของเราที่เห็นได้ชัดเจนอีกประการหนึ่ง

    ถ้าหากว่าไปที่ประการใหญ่สุดเลยก็คือดูจากสังโยชน์ทั้ง ๑๐ ข้อ ก็คือ เรายังเห็นว่าร่างกายนี้เป็นเราเป็นของเราหรือไม่ ? แต่ว่าการจะเห็นร่างกายนี้เป็นเราเป็นของเรานั้น จะว่าไปแล้วเป็นกำลังใจระดับสูงจนเกินไปสำหรับการปฏิบัติในเบื้องต้นอย่างพวกเรา เราก็มาดูว่าเราหลงลืมความตายหรือไม่ ? คือต้องมีสติระลึกรู้อยู่ว่าร่างกายนี้จะต้องตายอยู่ตลอดเวลา หายใจเข้าไม่หายใจออกก็ตาย หายใจออกไม่หายใจเข้าก็ตาย

    หรือถ้ากำลังใจสูงไปกว่านั้น ระลึกรู้อยู่เสมอว่าร่างกายต้องตายยังไม่พอ ยังเห็นในความสกปรกโสโครก เป็นรังของโรค มีความรังเกียจในร่างกายนี้ ไม่ปรารถนาอีก ถ้าหากว่ากำลังใจก้าวสูงไปกว่านั้นได้ ก็จะเห็นชัดเจนว่าร่างกายนี้ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา

    ข้อที่ ๒ ก็คือ ความเคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ของเรามีความมั่นคงเพียงใด ? เรายังล่วงเกินในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ด้วยกายวาจาใจอยู่หรือเปล่า ? ถ้าหากว่ายังล่วงเกินอยู่ ก็แปลว่าจิตใจของเรามีคุณภาพที่ต่ำมาก ไม่ควรแก่งาน ไม่เหมาะสมแก่การปฏิบัติ

    การรักษาศีลของเราจริงจัง เด็ดขาด แน่นอนหรือเปล่า ? ถ้าไม่จริงจัง ไม่เด็ดขาด โอกาสที่จะได้ดีก็น้อย ใจของเรายังผูกพันอยู่กับเพศตรงข้ามหรือไม่ ? แม้ว่าจะถอนตัวห่างเหินออกมาแล้ว แต่ว่ายังมีความยินดีระลึกถึงอยู่ในลักษณะของกามวิตก หรือกามสัญญาหรือไม่ ? ใจของเรายังมีความโกรธ เกลียด อาฆาตแค้นผู้อื่นอยู่หรือไม่ ?

    ความโกรธมีได้เป็นปกติ แต่อย่าผูกโกรธ คือโกรธแล้วโกรธเลย ถึงเวลาหันหลังให้ก็ลืมไปเสีย ถ้าผูกโกรธอยู่แสดงว่าสภาพจิตใจของเราตกต่ำย่ำแย่แล้ว จะโดนกิเลสชักจูงไปได้ง่าย เรายังยึดติดในรูปทั้งของตนเองและของผู้อื่นหรือไม่ ? โดยเฉพาะในรูปละเอียดคือรูปฌาน ติดในความสุขของการทรงฌาน จนกระทั่งไม่มีการขยับขยายก้าวขึ้นไปสู่การพิจารณาวิปัสสนาญาณหรือเปล่า ?

    ในส่วนของอรูปฌานก็เช่นกัน แต่ว่าในส่วนนี้แก้ไขได้ง่าย เพราะว่าเราแค่เอากำลังฌานนั้นเกาะภาพพระหรือเกาะพระนิพพานไว้ ก็เป็นอันว่าเราใช้กำลังของฌานสมาบัติ ไม่ว่าจะเป็นรูปฌานหรืออรูปฌานก็ดี ไปในทางที่ถูกต้องแล้ว แต่ถ้าหากว่าไม่ได้เกาะภาพพระ หรือเกาะพระนิพพานไว้ เรายังใช้กำลังในทางที่ผิดอยู่ สามารถวัดตนเองได้จากจุดนี้

    หลังจากนั้นให้มาดูว่าเรายังมีมานะ ความถือตัวถือตนหรือไม่ ? ยังเห็นว่าเราเหนือกว่าเขา เห็นว่าเราเสมอเขา เห็นว่าเราต่ำต้อยกว่าเขาหรือไม่ ? ต่างคนต่างเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งสิ้น ต่างคนต่างประกอบขึ้นมาจากธาตุ ๔ ทั้งสิ้น ไม่มีใครดีกว่า ไม่มีใครเลวกว่า ถึงเวลาร่างกายก็เสื่อมสลายตายพังไปเป็นปกติ

    เรายังมีความฟุ้งไม่ว่าจะด้านดีหรือด้านชั่วหรือไม่ ? ความฟุ้งในด้านชั่วนั้นเห็นได้ง่าย แต่ความฟุ้งในด้านดีเห็นได้ยาก เพราะเราคิดว่าสิ่งนั้นดี อย่างเช่นว่า ฟุ้งซ่านในเรื่องของบุญกุศล อยากจะสร้างบุญสร้างบารมีมาก ๆ บางรายขวนขวายถึงขนาดไปกู้ยืมเงินมาเพื่อที่จะทำบุญก็มี เมื่อเป็นดังนี้ก็แสดงว่า จิตใจของเรายังอยู่ในสภาพที่ใช้งานไม่ได้ เพราะว่าขาดปัญญา แม้กระทั่งการทำความดี ก็ยังทำให้ตนเองและคนรอบข้างเดือดร้อนอยู่

    ส่วนข้อสุดท้ายของสังโยชน์ก็คือ เรายังมีความยินดีพอใจในสิ่งต่าง ๆ เช่น ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัส ใจครุ่นคิดหรือไม่ ? ถ้ามีความยินดีอยู่ก็คือฉันทะเกิดขึ้นแล้ว ก็จะทำให้ราคะ อยากมีอยากได้เป็นปกติ

    ฉันทะกับราคะเมื่อรวมกันจะเป็นอวิชชา คือความมืดบอดที่บดบังปัญญาของเราอยู่ ตาเห็นรูปแล้วชอบใจ ก็แปลว่าฉันทะความพอใจเกิดขึ้น ถ้าเผลอสตินิดเดียว ราคะความยินดีอยากมีอยากได้ก็จะปรากฏตามมา หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัส ใจครุ่นคิดก็เช่นกัน

    ดังนั้น..เราสามารถวัดตัวเองได้ว่า การปฏิบัติของเราก้าวหน้าหรือไม่ก้าวหน้า ก็คือ ๑. ดูจากนิวรณ์ ๕ ประการว่ากินใจเราได้หรือไม่ ? ๒. ดูจากศีลตามสภาพของตน ๓. ดูจากสังโยชน์ที่ร้อยรัดเราอยู่ ข้อไหนเราสามารถทำให้เบาบางลงได้ ข้อไหนที่เรายังยึดติดอยู่เต็มร้อยส่วน ?

    สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ถ้าเรามีการตรวจสอบ ทบทวน ไตร่ตรอง พิจารณาอยู่เสมอ เราก็จะรักษา กาย วาจา ใจ ของเราให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ไปคลุกคลีอยู่กับส่วนที่ไม่ดีไม่งาม ในลักษณะของการนินทาว่าร้ายหรือปะทะคารมกับผู้อื่น

    การปฏิบัติธรรมนั้นเราต้องดูที่ตัวเอง แก้ที่ตัวเอง เรื่องของคนอื่นเป็นเรื่องของโลก ขึ้นชื่อว่าโลกนั้น หนักหนาเกินกำลังของเราที่จะแก้ไขได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น เราก็ดูที่ตัวเองแก้ไขที่ตัวเอง ปรับปรุงกาย วาจา ใจ ของเราให้ดีขึ้น การกระทบกระทั่งกันก็จะไม่มีอย่างที่ผ่านมา
    .....................................
    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. วัดท่าขนุน
    www.watthakhanun.com
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...