กสิณ

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย nondanun, 15 พฤศจิกายน 2010.

  1. nondanun

    nondanun เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    5,980
    กระทู้เรื่องเด่น:
    13
    ค่าพลัง:
    +32,612
    กสิณ มีอยู่ทั้งหมด 10 กองด้วยกัน ดังนี้

    1. ปฐวีกสิณ เป็นกสิณเพ่งดิน
    2. อาโปกสิณ เป็นกสิณเพ่งน้ำ
    3. เตโชกสิณ เป็นกสิณเพ่งไฟ
    4. วาโยกสิณ เป็นกสิณเพ่งลม
    5. นีลกสิณ เป็นกสิณเพ่งสีเขียว
    6. ปีตกสิณ เป็นกสิณเพ่งสีเหลือง
    7. โลหิตกสิณ เป็นกสิณเพ่งสีแดง
    8. โอทากสิณ เป็นกสิณเพ่งสีขาว
    9. อาโลกกสิณ เป็นกสิณเพ่งแสงสว่าง
    10. อากาสกสิณ เป็นกสิณเพ่งอากาศ
    ปฐวีกสิณ
    กสิณ นี้เป็นการเพ่งดินเป็นอารมณ์ ปฐวี แปลว่า ดิน กสิณ แปลว่า เพ่ง รวมแล้วหมายถึง เพ่งดิน
    อุปกรณ์กสิิณ
    ปฐวีกสิณนี้ มีดินเป็นอุปรณ์ในการเพ่ง จะเพ่งดินที่เป็นพื้นลานดิน ที่ทำให้เตียนสะอาด หรือจะทำเป็นสะดึงยกไปมาได้ ดินที่จะเอามาทำเป็นดวงกสิณนั้น ท่านให้ใช้ดินสีอรุณอย่างเดียว ห้ามมีสีอื่นปน หรือถ้าหาไม่ได้มาก ก็เอาสีอื่นไว้ข้างล่างแล้วเอาสีอรุณวางทับไว้ข้างบน ดินสีอรุณนี้ท่านว่า หาได้จากดินขุยปู เมื่อได้ดินแล้ว ก็ทำสะดึงทำเป็นลานติดพื้นดินมีขนาดเท่ากัน
    ขนาดดวงกสิณ
    วงกสิณที่ทำเป็นวงกลมสำหรับเพ่ง ท่านให้ไม่เกินเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 คืบ 4 นิ้ว อย่างเล็กไม่เล็กกว่าขอบขัน ท่านให้นั่งไม่ใกล้ไม่ไกลกว่า 2 คืบ 4 นิ้ว ตั่งที่วางวงกสิณ ให้สูงไม่เกิน 2 คืบ 4 นิ้ว ซึ่งเป็นระยะที่พอดี เวลาเพ่งกำหนดจดจำ ท่านให้มุ่งจำแต่สีดิน ไม่ต้องคำนึงถึงขอบและริ้วรอย
    กิจก่อนการเพ่งกสิณ
    เมื่อจัดอุปกรณ์เรียบร้อยแล้ว ก็ชำระล้างร่างกายให้สะอาด นั่งสมาธิ หลับตาพิจารณาโทษของกามคุณ 5 (รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส) เมื่อพิจารณาโทษของกามคุณจิตสงบจากนิวรณ์แล้ว ก็ลืมตาขึ้นจ้องมองภาพกสิณ จำให้ดี หลับตากำหนดภาพกสิณไว้ในใจ ภาวนาไว้ว่า "ปฐวีกสิณ" เมื่อภาพเลือนไปก็ลืมตาดูใหม่ แล้วหลับ ทำอย่างนี้ไปเรื่อย จนกว่าอารมณ์ของใจจะจำภาพกสิณไว้ได้เป็นอย่างดี นึกเห็นภาพได้ชัดเจนทุกขณะที่ปรารถนาจะเห็นติดตาติดใจตลอด เรียกว่า "อุคคหนิมิต" แปลว่า นิมิตติดตา เมื่อเข้าถึงอุคคหนิมิตนี้แล้ว ท่านให้เร่งระมัดระวังรักษาอารมณ์สมาธิและนิมิตไว้จนกว่าจะได้ปฏิภาคนิมิต ซึ่งรูปและสีของกสิณจะเปลี่ยนจากเดิม คือกสิณทำเป็นวงกลมด้วยดินแดงนั้น จะกลายเป็นเสมือนแว่นแก้ว มีสีใสสะอาดคล้ายน้ำที่กลิ้งอยู่ในใบบัว จะกำหนดให้เล็กโตสูงต่ำได้ตามประสงค์ อย่างนี้เรียกว่า "ปฏิภาคนิมิต" และต้องรักษาอารมณ์ให้อยู่ในขอบเขตของสมาธิ อย่าสนใจอารมณ์ของนิวรณ์แม้แต่น้อย เพราะจะทำให้สมาธิที่จะเข้าสู่ฌานนี้สลายตัวโดยฉับพลัน
    จิตเข้าสู่ระดับฌาน
    เมื่อปฏิภาคนิมิตเกิดขึ้นแล้ว จิตก็เข้าระดับฌาน อารมณ์ของฌานในกสิณทั้ง 10 มีดังนี้ ฌานในกสิณท่านเรียกฌาน 4 บ้างก็ฌาน 5 ซึ่งกล่าวไว้ดังนี้
    ฌาน 4
    ฌาน 4 ท่านเรียกว่า จตุตถฌาน


    1. ปฐมฌานมีองค์ 5 คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
    2. ทุติยฌานมีองค์ 3 คือ ละวิตกและวิจารเสียได้ ยังดำรงอยู่ในปีติ สุข เอกัคคตา
    3. ตติยฌานมีองค์ 2 คือ ละวิตก วิจาร ปีติ เสียได้ ยังดำรงสุขอยู่ในเอกัคคตา
    4. จตุตถฌานมีองค์ 2 คือ ละวิตก วิจาร ปีติ สุข เสียได้ คงทรงอยู่ในเอกัคคตา กับเพิ่มอุเบกขาเข้ามาอีก
    ฌาน 5

    1. ปฐมฌานมีองค์ 5 คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
    2. ทุติยฌานมีองค์ 4 คือละวิตก ยังทรงวิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
    3. ตติยฌานมีองค์ 3 คือ ละวิตก วิจาร ยังทรง ปีติ สุข เอกัคคตา
    4. จตุตถฌานมีองค์ 2 คือ ละวิตก วิจาร ปีติ ยังทรงสุขกับเอกัคคตา
    5. ฌาน 5 หรือที่เรียกว่า ปัญจมฌาน มีองค์ 2 เหมือนกัน คือ ละวิตก วิจาร ปีติ สุข เสียได้ ยังทรงอยู่ในเอกัคคตา และเพ่ิมอุเบกขาเข้ามาอีก
    กสิณนี้ถ้าท่านปฏิบัติทำให้ถึงฌาน 4 หรือฌาน 5 ซึ่งมีอารมณ์เป็นเอกัคคตารมณ์และอุเบกขารมณ์ไม่ได้ ก็เท่ากับท่านผู้นั้นไม่เจริญในกสิณ เมื่อได้แล้วก็ต้องฝึกการเข้าฌานออกฌานให้คล่อง เมื่อเข้าฌานคล่องแล้ว ต้องฝึกนิรมิตตามอำนาจกสิณให้ได้คล่องแคล่ว จึงจะชื่อว่า ได้กสิณกองนั้น ๆ ถ้ายังทำไม่ได้ถึง ไม่ควรย้ายไปปฏิบัติในกสิณกองอื่น ถ้าชำนาญในการนิรมิต อธิษฐานแล้วเพียงกองเดียว กองอื่นทำไม่ยากเลย เพราะอารมณ์ในการฝึกเหมือนกัน ต่างกันแต่สี พยายามฝึกฝนจนกว่าจะได้ผลสูงสุดเสียก่อน จึงค่อยย้ายกองต่อไป
    องค์ฌานในกสิณทั้ง 10 กอง
    ปฐมฌานมีองค์ 5 คือ

    1. วิตก มีอารมณ์จับอยู่ที่ปฏิภาคนิมิต กำหนดจิตจับภาพปฏิภาคนิมตินั้นเป็นอารมณ์
    2. วิจาร พิจารณาปฏิภาค คือ พิจารณาว่ารูปปฏิภาคนิมิตสวยสดงาม คล้ายแว่นแก้ว บริสุทธิ์สะอาด
    3. ปีติ มี 5 ประเภทคือ
      • ขุททากาปีติ มีอาการขนพองสยองเกล้า น้ำตาไหล
      • ขณิกาปีติ มีแสงสว่างเข้าตาคล้ายแสงฟ้าแลบ
      • โอกกันติกาปีติ มีอาการร่างกายกระเพื่อมโยกโคลง บ้างก็โยกไปโยกมา
      • อุพเพงคาปีติ มีกายลอยขึ้นเหนือพื้น บางรายก็ลอยได้ไกล
      • ผรณาปีติ อาการเย็นซ่าทั้งร่างกาย และมีอาการคล้ายกับร่างกายสูงใหญ่ขึ้นกว่าปกติ
    4. สุข มีอารมณ์เป็นสุขเยือกเย็น ในขณะที่พิจารณาปฏิภาคนิมิต
    5. เอกัคคตา มีจิตเป็นอารมณ์เดียว คือมีอารมณ์จับอยู่ในปฏิภาคนิมิตเป็นปกติ
    ทั้ง 5 อย่างนี้เป็นปฐมฌาน มีอารมณ์เหมือนกับฌานในกรรมฐานอื่น ๆ แต่กสิณนี้มีอารมณ์ยึดนิมิตเป็นอารมณ์ ไม่ปล่อยอารมณ์ให้พลาดจากนิมิต จนจิตเข้าสู่จตุตถฌาน หรือปัญจมฌาน
    ทุติยฌาน มีองค์ 3 คือจะเว้นจากการภาวนาไปเอง การกำหนดพิจารณารูปกสิณจะยุติลง เหลือแต่ความสดชื่นด้วยอำนาจปีติ อารมณ์สงัดมาก ภาพปฏิภาคนิมิตจะสวยวิจิตรมากกว่าเดิม มีอารมณ์เป็นสุขปราณีต
    ตติยฌาน มีองค์ 2 ตัดความสดชื่นทางกายออกเสียได้ เหลือแต่สุขแบบเครียด ๆ มีอารมณ์ดิ่งแห่งจิต ลมหายใจอ่อนระรวย ภาพนิมิตดูงามสง่า มีรัศมีผ่องใส อารมณ์ของจิตไม่สนใจกับอาการทางกายเลย
    จตุตถฌาน ทรงไว้เพียงเอกัคคตา กับอุเบกขา คือมีอารมณ์ดิ่ง ไม่มีอารมณ์รับความสุขและความทุกข์ใด ๆ ไม่รู้สึกในเวทนาทั้งสิ้น ปล่อยวางต่ออารมณ์ มีจิตสว่างคล้ายใครเอาประทีบที่สว่างมากมาวางไว้ ไม่มีอารมณ์รับเสียง ลมหายใจสงัด รูปกสิณเห็นชัดคล้ายดาวประกายพรึก ฌานที่ 4 เป็นฌานสำคัญชั้นยอด เมื่อมีอารมณ์จิตถึงฌาน 4 จะไม่ปรากฎว่ามีลมหายใจ
    ทำได้ถึงระดับนี้ ก็ชื่อว่าจบกิจในกสิณ ไม่ว่ากองใดก็ตาม จุดจบของกสิณต้องถึงฌาน 4



    อาโปกสิณ
    อาโปกสิณ อาโป แปลว่า น้ำ กสิณ แปลว่า เพ่ง อาโปกสิณ แปลว่า เพ่งน้ำ กสิณน้ำ
    วิธีปฏิบัติคือ ท่านให้เอาน้ำที่สะอาด ถ้าได้น้ำฝนก็ยิ่งดี ใส่น้ำในภาชนะเท่าที่จะหาได้้ ใส่ให้เต็มพอดี อย่าให้พร่อง
    การนั่ง หรือเพ่งมีอากรอย่างเดียวกับปฐวีกสิณ จนกว่าจะเกิดอุคคหนิมิต ซึ่งอุคคหนิมติของอาโปกสิณนี้ จะปรากฎเหมือนน้ำไหวกระเพื่อม ส่วนปฏิภาคนิมิตปรากฎเหมือนพัดใบตาลแก้วมณี คือใสมีประกายระยิบระยับ เมื่อถึงตอนนี้แล้วก็เจริญต่อไปให้ถึงจตุถฌาน บทภาวนาที่ใช้ในอาโปกสิณนี้คือ "อาโปกสิณัง"
    เตโชกสิณ
    เตโช แปลว่า ไฟ กสิณเพ่งไฟเป็นอารมณ์ ท่านให้จุดไฟให้ไฟลุกโชนแล้วเอาเสื่อหรือหนังมาเจาะ ทำเป็นช่องกว้าง 1 คืบ 4 นิ้ว แล้ววางเสื่อหรือหนังนั้นไว้ข้าง ให้เพ่งพิจารณาไปตามช่องนั้น
    การนั่งสูงหรือระยะ เหมือนกับปฐวีกสิณ การเพ่ง อย่าเพ่งเปลวไฟที่ไหวไปมา ให้เลือกเพ่งแต่ไฟที่มีแสงหนาทึบที่ปรากฎตามช่องนั้นเป็นอารมณ์ ภาวนาว่า "เตโชกสิณัง" หลาย ๆ ครั้ง จนกว่านิมิตจะเป็นอุคคหนิมิต ซึ่งปรากฎเป็นดวงเพลิงตามปกติ สำหรับปฏิภาคนิมิตนั้น มีรูปคล้ายผ้าแดงผืนหนา หรือคล้ายกับพัดใบตาลที่ทำด้วยทองหรือเสาทองคำที่ตั้งอยู่ในอากาศ เมื่อได้ถึงขั้นนี้แล้วขอให้พยายามจนถึงจตุตถฌานเถิด
    วาโยกสิณ
    วาโยกสิณ แปลว่า เพ่งลม การถือเอาลมเป็นนิมิต จะถือเอาด้วยการเห็นหรือจะถือเอาด้วยการกระทบก็ได้
    กำหนดด้วยการเห็นนั้น ท่านให้ถือเอาการที่ลมพัดถูกต้องปลายหญ้าหรือปลายไม้เพ่งเป็นอารมณ์เพ่งพิจารณา
    การถือด้วยการถูกต้องกระทบ ให้ถือเอาการที่ลมพัดมากระทบตัวเป็นอารมณ์ สมัยนี้จะใช้พัดลมเป่าแทนก็ได้ เมื่อเพ่งพิจารณาอยู่ให้ภาวนาว่า "วาโยกสิณัง"
    อุคคหนิมิตของ วาโยกสิณ ปรากฎว่ามีการไหว ๆ คล้ายกระไอแห่งการหุงต้ม ที่มีไอปรากฏมากระทบจักษุ คือมีปรากฏการณ์คล้ายตามมองเห็นไอน้ำที่ต้มเดือดแล้ว
    ปฏิภาคนิมิต มี อาการปรากฏภาพเหมือนไอน้ำที่ลอยขึ้น แต่ไม่เคลื่อนไหว หรือคล้ายกับก้อนเมฆบางที่ลอยอยู่คงที่นั่นเอง อาการอย่างอื่นก็เหมือนกับที่กล่าวไว้ในปฐวีกสิณ
    นีลกสิณ
    นีลกสิณ แปลว่า เพ่งสีเขียว ท่านให้ทำสะถึงขึงด้วยผ้าหรือหนัง กระดาษก็ได้โดยเอาสีเขียวทา หรือจะเพ่งพิจารณาสีเขียวจากใบไม้ก็ได้ ทุกอย่างเช่นเดียวกับที่กล่าวไว้ในปฐวีกสิณ
    เมื่อเพ่งภาวนาว่า "นีลกสิณัง" ไปเรื่อย ๆ อุคคหนิมิตนั้นปรากฎเป็นรูปที่เพ่งนั่นเอง
    ปีตกสิณ
    ปีตกสิณ แปลว่า เพ่งสีเหลือง การปฏิบัติทุกอย่างเหมือนนีลกสิณ แต่เป็นสีเหลือง บทภาวนาว่า "ปีตกสิณัง" ไปเรื่อย ๆ นอกนั้นเหมือนที่กล่าวแล้วข้างต้น
    โลหิตกสิณ
    โลหิตกสิณ แปลว่า เพ่งสีแดง จะเพ่งดอกไม้สีแดง หรือเอาสีแดงมาทาทับกับสะดึงก็ได้ บทภาวนาว่า "โลหิตกสิณัง" นอกนั้นทุกอย่างเหมือนที่กล่าวแล้ว
    โอทากสิิณ
    โอทากสิณ แปลว่า เพ่งสีขาว โดยจะหาจากดอกไม้หรืออย่างอื่นก็ได้แต่สะดวก หรือจะทำแบบสะดึงโดยใช้สีขาว บทภาวนาคือ "โอทากสิณัง" นอกนั้นก็เหมือนที่กล่าวแล้วเบื้องต้น
    อาโลกกสิณ
    อาโลกกสิณ แปลว่า เพ่งแสงสว่าง ท่านให้หาแสงสว่างที่ลอดมาตามช่องฝาหรือช่องหลังคา หรือเจาเสื่อลำแพน หรือแผ่นหนังช่องเท่า 1 คืบ 4 นิ้ว บทภาวนากล่าวว่า "อาโลกกสิณัง" ไปเรื่อย ๆ จนอุคคหนิมิตปรากฏ ซึ่งอุคคหนิมิตของอาโลกกสิณมีรูปเป็นแสงสว่างที่เหมือนรูปเดิม ส่วนปฏิภาคนิมิตนั้น ปรากฏเป็นแสงสว่างหนาทึบ เหมือนกับเอาแสงสว่างมากองรวมกันไว้ จากนั้นก็ทำต่อไปจนเข้าถึงจตุตถฌาน
    อากาสกสิณ
    อากาสกสิณ แปลว่า เพ่งอากาศ คำภาวนาว่า "อากาสกสิณัง" ทำ เหมือนอาโลกสิณ คือ เจาะเสื่อหรือหนัง หรือจะมองอากาศ คือความว่างเปล่าที่ลอดมาตามช่องฝา หรือช่องเสื่อ หนัง โดยกำหนดภาวนาไปเรื่อย ๆ จนเกิดอุคคหนิมิต เป็นช่องตามรูปที่กำหนด ส่วนปฏิภาคนิมิตนั้น ปรากฏคล้ายอุคคหนิมิต แต่พิเศษตรงบังคับให้ขยายให้ใหญ่เล็ก สูงต่ำได้ตามความประสงค์ นอกนั้นเหมือนกสิณอื่น ๆ ที่กล่าวไว้



    อานุภาพกสิณ 10 กสิณ 10 ประการนี้ เป็นปัจจัยให้แสดงฤทธิ์ต่าง ๆ เมื่อบำเพ็ญปฏิบัติกสิณกองใดกองหนึ่งสำเร็จถึงจตุตถฌานแล้ว ก็ควรฝึกให้ชำนาญในกสิณนั้น ๆ ถ้าปฏิบัติถึงฌาน 4 แล้ว แต่มิได้ฝึกอธิษฐานต่าง ๆ ตามแบบ ท่านว่าผู้นั้นยังไม่จัดว่าเป็นผู้เข้าถึงกสิณ อำนาจฤทธิ์ในกสิณต่าง ๆ มีดังนี้

    • ปฐวีกสิณ มีฤทธิ์ เช่น นิรมิตคน ๆ เดียวให้เป็นคนมากได้ ให้คนมากเป็นคน ๆ เดียวได้ ทำน้ำและอากาศให้แข็งได้
    • อาโปกสิณ สามารถนิรมิตของแข็งให้อ่อนได้ เช่นอธิษฐานสถานที่เป็นดินหรือหินที่กันดารน้ำให้เกิดบ่อน้ำ อธิษฐานหินดินเหล็กให้อ่อน อธิษฐานในสถานมีฝนแล้งให้เกิดฝนอย่างนี้เป็นต้น
    • เตโชกสิณ อธิษฐานให้เกิดเป็นเพลิงเผาผลาญ หรือให้เกิดแสงสว่างได้ ทำให้แสงสว่างเกิดแก่จักษุญาณสามารถเห็นภาพต่าง ๆ ในที่ไกลได้คล้ายตาทิพย์ ทำให้เกิดความร้อนในทุกที่ทุกสถานได้
    • วาโยกสิณ อธิษฐานจิตในตัวลอยตามลม หรืออธิษฐานให้ตัวเบา เหาะไปในอากาศก็ได้ สถานที่ใดไม่มีลม อธิษฐานให้มีลมได้
    • นีลกสิณ สามารถทำให้เกิดสีเขียว หรือทำสถานที่สว่างให้มืดครื้มได้
    • ปีโตกสิณ สามารถนิรมิตสีเหลืองหรือสีทองให้เกิดได้
    • โลหิตกสิณ สามารถนิรมิตสีแดงให้เกิดได้ตามความประสงค์
    • โอทาตกสิณ สามารถนิรมิตสีขาวให้ปรากฎ และทำที่มืดให้เกิดแสงสว่างได้ เป็นกรรมฐานที่อำนวยประโยชน์ในทิพยจักษุญาณ เช่นเดียวกับเตโชกสิณ
    • อาโลกกสิณ นิรมิตรูปให้มีรัศมีสว่างไสวได้ ทำที่มืดให้สว่างได้ เป็นกรรมฐานสร้างทิพยจักษุญาณโดยตรง
    • อากาสกสิณ สามารถอธิษฐานจิตให้เห็นของที่ปกปิดไว้ได้ เหมือนของนั้นวางอยู่ในที่แจ้ง สถานที่ใดอับด้วยอากาศ ก็สามารถอธิษฐานให้เกิดความโปร่งมีอากาศเพียงพอแก่ความต้องการได้
    วิธีอธิษฐานฤทธิ์
    วิธีอธิษฐานจิตให้เกิดผลตามฤทธิ์ที่ต้องการ ท่านให้เข้าฌาน 4 ก่อน แล้วออกจากฌาน 4 แล้วอธิษฐานในสิ่งที่ตนต้องการจะให้เป็นอย่างนั้น แล้วกลับเข้าฌาน 4 อีก ออกจากฌาน 4 แล้วอธิษฐานจิตทับลงไปอีกครั้ง สิ่งที่ต้องการจะปรากฎสมความปรารถนา
    แนะกสิณร่วมวิปัสสนาญาณ
    ท่านผู้ฝึกกสิณ ถ้าต้องการให้ได้อภิญญา 6 ก็เจริญไปจนกว่าจะชำนาญทั้ง 10 กอง ถ้าท่านประสงค์ให้ได้รับผลพิเศษเพียงวิชชาสาม ก็เจริญเฉพาะอาโลกกสิณ หรือเตโชกสิณ หรือโอทาตกสิณ อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วฝึกทิพยจักษุญาณ แต่ท่านที่ประสงค์จะเข้าสู่พระนิพพานเร็ว ๆ ไม่มีความประสงค์จะได้ญาณพิเศษเพราะเกรงจะล่าช้า ก็ขอให้พิจารณาดังนี้
    เข้าฌานออกฌานพิจารณาขันธ์ 5
    ท่านควรจะให้ถึงฌาน 4 หรือฌาน 5 เมื่อได้แล้วก่อนจะพิจารณาวิปัสสนาญาณ ท่านต้องเข้าฌานให้ถึงที่สุดจนอารมณ์จิตเป็นอุเบกขาเงียบสงัดจากกิเลส เครื่องเศร้าหมองใจ มีอารมณ์ผ่องใสในกุศลธรรมแล้ว ออกจากฌาน 4 หรือฌาน 5 พิจารณาขันธ์ตามแบบวิปัสสนารวมดังนี้
    พิจารณาว่า ขันธ์ 5 คือ

    • รูป ได้แก่ สภาพที่เห็นได้ด้วยตา
    • เวทนา ความรับอารมณ์ที่เป็นสุขและ ทุกข์ อารมณ์สุข เรียกว่า สุขเวทนา อารมณ์ทุกข์ เรียกว่า ทุกขเวทนา อารมณ์ว่างเฉย ๆ ไม่มีสุขไม่มีทุกข์ เรียกว่า อุเบกขา
    • สัญญา แปลว่า ความจำ
    • สังขาร หมายถึงอารมณ์ที่เป็นบุญ คืออารมณ์ผ่องใส ที่เต็มไปด้วยความเมตตาปรานี อารมณ์ที่เป็นบาป คืออารมณ์ขุ่นมัว คิดประทุษร้ายที่เกิดขึ้นแก่ สังขาร
    • วิญญาณ แปลว่า ความรับรู้ เช่น รู้ร้อน หนาว หิว กระหาย เปรี้ยว เค็ม เป็นต้น
    อาการทั้ง 5 นี้ เรียกว่า ขันธ์ 5 ซึ่งมีปรากฎประจำร่างกายมนุษย์และสัตว์ ท่านให้พิจารณาว่า ขันธ์ 5 นี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์ 5 ขันธ์ 5 ไม่มีในเรา เพราะไม่มีความยั่งยืน มีเกิดขึ้นแล้วก็ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไป ในที่สุดก็สลายตัวไป มีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพของมัน ซึ่งเป็นไปตามกฎธรรมดาที่ไม่มีอะไรขัดขวางได้ การเปลี่ยนแปลงทรุดโทรมนี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ทั้งทางกายและใจ ใจมีทุกข์เพราะไม่ประสงค์ให้ขันธ์ 5 เสื่อมโทรม กายเป็นทุกข์เพราะได้รับการบีดคั้นจากโรคภัยไข้เจ็บ การแสวงหาอาหารมาหล่อเลี้ยง ความไม่แน่นอนของในสภาพของขันธ์ 5 นี้ รูปนิมิตกสิณก็เ่ช่นกัน ขณะนี้รูปกสิณตั้งอยู่ ความผ่องใสมีอยู่ แต่ในบางครั้งรูปกสิณก็เศร้าหมอง และรูปกสิณนี้ก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้ตลอดไป ปรากฎขึ้นไม่นานก็สลายตัวไป เอาอะไรเที่ยงแท้แน่นอนไม่ได้เลย ปลงไปพิจารณาไป ให้เห็นเหตุเห็นผล ถ้าปลงไปจิตจะซ่าน ก็เข้าฌานในกสิณใหม่ พอใจเป็นอุเบกขาดีแล้ว ก็คลายฌานพิจารณาใหม่ ทำอย่างนี้ ไม่ช้าก็จะเกิดนิพพิทาญาณ มีความเบื่อหน่ายในสังขาร แล้วจะปลงความห่วงใยในสังขารเสียได้ มีอารมณ์วางเฉยเมื่อทุกข์เกิดขึ้นแก่สังขาร ท่านเรียกว่า สังขารุเปกขาญาณ คือวางเฉยในสังขารด้วยอำนาจวิปัสสนาญาณ จากนั้นจิตจะเข้าโคตรภูญาณเป็นจิตอยู่ในระหว่างปุถุชนกับพระโสดาบัน หลังจากนั้นถ้าท่านไม่ประมาท พิจารณาสังขารตามที่กล่าวแล้ว โดยเข้าฌานให้มาก ออกจากฌานพิจารณาสังขารเป็นปกติ จิตจะตั้งมั่น ชำแรกกิเลสให้เด็ดขาดไปได้ โดยกำจัดสังโยชน์สามเบื้องต้นสามประการได้ อันเป็นขั้นพระโสดาบันพึงกำจัดได้ คือ

    • สักกายทิฏฐิ คือ ตัดในที่เห็นว่า ร่างกายขันธ์ 5 เป็นของเรา เรามีในขันธ์ 5 นี้ออกเสีย
    • วิจิกิจฉา ละความสงสัยในมรรคผลเสียได้ โดยมีสัทธาเกิดขึ้น
    • สีลัพพตปรามาส ถือศีล 5 อย่างเคร่งครัด
    องค์พระโสดาบัน
    คู่มือในการพิจารณาตัวเอง ขององค์พระโสดาบัน คือ

    1. รักษาศีล 5 เป็นปกติ ไม่ทำให้ศีลขาดหรือด่างพร้อยตลอดชีวิต
    2. เคารพพระรัตนตรัยอย่างเคร่งครัด แม้จะพูดเล่น ๆ ก็ไม่พูด
    3. มีอารมณ์รักใคร่ในพระนิพพานเป็นปกติ ไม่มีความปรารถนาอื่นนอกจากพระนิพพาน
    พระโสดาบันตามปกติมีอารมณ์ดังที่กล่าวนี้ อาการนี้จะเป็นความรู้สึกธรรมดาไม่หนัก แต่ถ้าอารมณ์ใดในตอนในยังมีความหนักอยู่บ้าง ก็อย่าคิดว่าท่านเป็นพระโสดาบัน จะเป็นผลร้ายกับท่านได้ ต้องได้จริงถึงจริง แม้ได้แล้วก็ควรก้าวต่อไป เพราะมรรคเบื้องสูงยังมีต่อไปอีก



    ที่มา
     
  2. Jeerachai_BK

    Jeerachai_BK เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 สิงหาคม 2008
    โพสต์:
    318
    ค่าพลัง:
    +821
    การเจริญกสิณไปยังวิปัสสนาฯ
    ตามเนื้อหาของธรรมบรรยายของพระราชพรหมยาน (หรือหลวงพ่อฤาษีลิงดำ) หลวงพ่อฯ ท่านยกตัวอย่างถึงพระลูกชายนายช่างทองผู้ซึ่งเจริญโลหิตกสิณโดยใช้ดอกบัวทองคำสีแดง พระลูกชายนายช่างทองได้เจริญโลหิตกสิณถึงจตุตถฌาน ขณะเวลานั้น พระพิชิตมารทรงเนรมิตให้ดอกบัวนั้นเปลี่ยนสภาพ คือค่อยๆ เหี่ยวแห้งไป พระลูกชายนายช่างทองเห็นเช่นนั้น ได้พิจารณาถึงอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา จนบรรลุอรหัตผล

    ตัวอย่างข้างบนแสดงให้เห็นว่าบุคคลที่มีอัธยาศัยสุกขวิปัสสโกสามารถเจริญกสิณจนเป็นพระขีณาสพได้ ซึ่งหลวงพ่อฯ บรรยายเรื่องนี้เช่นกัน

    ก่อนเจริญสมถกรรมฐาน ผู้ปฏิบัติอาจพิจารณาตัดสังโยชน์ ๓ ข้อแรก ดังนี้
    ๑. คิดถึงความตาย
    ความเป็นไม่ยั่งยืน
    ความตายยั่งยืน
    เราจักต้องตายแน่
    ความเป็นของเรามีความตายเป็นที่สุด
    ความเป็นของเราไม่เที่ยง
    ความตายของเราเที่ยงแท้

    อาจพิจารณาต่อว่าความตายอาจมาถึงเราได้ทุกเวลา ไม่ว่าเช้า สาย บ่าย เที่ยง เย็น กลางคืน ไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ ไม่ว่าสถานที่ไหนๆ

    การระลึกถึงความตาย เบื้องต้นให้เราเห็นความเป็นจริงของชีวิตและไม่ให้เราประมาทในการดำเนินชีวิต โดยเราควรทำความเพียรละชั่ว เพิ่มพูนความดี

    ที่กล่าวมานี้เป็นอารมณ์ของพระโสดาบัน เนื่องจากพระโสดาบันยังตัดความเป็นเราในกายไม่ได้ทั้งหมด หลวงพ่อฯ ท่านจึงแนะนำเช่นนี้ ให้สอดคล้องกับกำลังใจของผู้ปฏิบัติ

    ผู้ปฏิบัติหลายท่านเจริญกายคตานุสสติและอสุภกรรมฐานด้วย

    ๒. ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
    ๓. ระลึกถึงศีล


    วิธีการปฏิบัติในการพิจารณาตัดสังโยชน์ ๓ ข้อแรก
    อย่างง่ายๆ คือสวดมนต์ โดยก่อนเจริญกรรมฐาน ผู้ปฏิบัติอาจสวดดังต่อไปนี้
    ๑. บทกราบพระรัตนตรัย
    ๒. บทนมัสการพระพุทธเจ้า (นะโมฯ)
    ๓. บทขอขมาพระรัตนตรัย
    ๔. บทไตรสรณคมน์
    ๕. บทสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย
    ๖. บทสมาทานศีล
    ๗. บทเจริญพรหมวิหาร
    ๘. บทสมาทานพระกรรมฐาน
    ๙. บทพิจารณาธรรม ๕ อย่าง คือพิจารณาความแก่ ความเจ็บไข้ ความตาย การพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักที่พอใจ และผลของกรรม ว่าเป็นของธรรมดาที่เกิดขึ้นกับเรา
    ๑๐. บทกายคตาสติ
    ๑๑. บทมรณัสสติ
    ๑๒. บทพิจารณาไตรลักษณ์

    จำนวนบทจะมากหรือน้อยเท่าใด ขึ้นอยู่กับอารมณ์จิต ณ ขณะเวลานั้น อย่างน้อย ผู้ปฏิบัติควรระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

    นอกจากนี้ เราอาจสังเกตเห็นว่าบทข้างต้นมีจุดมุ่งหมายให้ใจสงบเพื่อกำจัดนิวรณ์ ซึ่งส่งเสริมเกื้อกูลการเจริญสมถกรรมฐาน บางบท เช่น บทพืจารณาไตรลักษณ์ เป็นบทที่มุ่งเจริญวิปัสสนาฯ ซึ่งช่วยให้จิตสงบและมีสติสัมปชัญญะ

    ผมเห็นว่าผู้ปฏิบัติไม่ควรแบ่งแยกมากเกินไปว่าสิ่งนี้เป็นสมถฯ สิ่งนี้เป็นวิปัสสนาฯ หลักการสำคัญคือศีล สมาธิ ภาวนา หรือไตรสิกขา ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติในการพัฒนาจิตในพระพุทธศาสนา

    พุทธังรักษา ธัมมังรักษา สังฆังรักษา

    ขอนอบน้อมแด่พระพุทธ พระธรรม และพระอริยสงฆ์ทั้งหลาย และขอกราบขอบพระคุณแด่หลวงปู่ปาน หลวงพ่อฤาษีลิงดำ และพระเทพวิสุทธิกวี สำหรับธรรมบรรยาย
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 20 พฤศจิกายน 2010

แชร์หน้านี้

Loading...