กรรมฐานในอริยมรรค ไม่ใช่หินทับหญ้า

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย ธรรมภูต, 13 เมษายน 2016.

  1. ธรรมภูต

    ธรรมภูต เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    7 สิงหาคม 2008
    โพสต์:
    3,621
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +2,192
    [​IMG]

    เมื่อกล่าวถึงเรื่องกรรมฐาน มักเข้าใจกันไปว่าต้องหากรรมฐานตามวัดวาอาราม สำนักสงฆ์ หรือศูนย์ปฏิบัติธรรมต่างๆ ที่มีการฝึกสอนอบรมการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา และได้ยินจนคุ้นหูจากบุคคลผู้ผ่านการปฏิบัติธรรมกรรมฐานทั้งหลาย ที่ได้เข้ารับการอบรมปฏิบัติธรรมมาแล้วว่า ได้องค์ภาวนามาแล้วบ้าง ได้ไปผ่านกรรมฐานมาแล้วบ้าง ได้ฐานที่ตั้งมาแล้วบ้าง ฯลฯ

    เป็นความเข้าใจกันไปตามมติของนัก "ปริยัติ" ที่ยังยึดติดอยู่กับตำรา(ปิฎก) โดยขาดการพิจารณา ตริตรอง ตรวจสอบ สอบสวน เทียบเคียงอย่างรอบคอบ กับพระพุทธพจน์ในพระธรรมวินัย ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสวางหลักเกณฑ์ต่างๆ ในการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาไว้ดีแล้ว

    ส่วนบุคคลที่ยังยึดติดอยู่กับตำรับตำรา(ปิฎก) มักกล่าวว่า การปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนานั้น เป็นเพียงสมถะกรรมฐาน เป็นกรรมฐานแบบหินทับหญ้า ติดสุข เมื่อยกหินที่ทับหญ้าออกเมื่อไร หญ้าก็งอกกลับขึ้นมาได้ใหม่อีก สมถะกรรมฐานไม่อาจตัดกิเลสได้ เป็นพวกที่เอาแต่ติดสุขอยู่กับความสงบในฌาน ไม่สามารถเจริญปัญญาเพื่อตัดกิเลสให้เกิดขึ้นมาได้เลย

    ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด ไม่รู้จักแยกแยะว่ากรรมฐานที่มีอยู่ระหว่างศาสนาพุทธ กับศาสนาพราหมณ์นั้น มีความแตกต่างกันอย่างไร? แต่กลับเหมารวมเอาเข้าไว้ด้วยกัน เพราะมีตำรารุ่นหลังๆ ได้รจนาเอาไว้ เป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงในหลักการที่ถูกต้องทางพระพุทธศาสนา ทั้งๆ ที่มีพระพุทธพจน์ที่พระองค์ได้ทรงตรัสรับรองไว้แล้วอย่างชัดเจน

    คำว่า "กรรมฐาน" ประกอบไปด้วยคำว่า "กรรม" รวมกับคำว่า "ฐาน" ซึ่งแปลได้ความว่า "ฐานที่ตั้งแห่งการงานทางจิต" ทำไมถึงต้องมีฐานที่ตั้งแห่งการงานทางจิตด้วยล่ะ? เพราะกาย วาจา ใจของเรานั้น ล้วนมีการกระทำหรือเคลื่อนไหวส่งออกไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่ผัสสะอยู่ ภายใต้การบังคับบัญชาของจิต เป็นกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ของจิตที่ยังมีราคะ โทสะ โมหะครอบงำ การแสดงออกจึงเป็นไปตามอำนาจของกิเลส กรรม วิบาก

    กรรมฐานเป็นเรื่องของจิตล้วนๆ เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น มีขึ้น เป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย ล้วนมี อวิชชา ตัณหา อุปาทานเป็นตัวชักนำนั่นเอง ไม่ว่าเรื่องติดข้องในโลก หรือเรื่องที่พ้นโลก ต้องมีกรรมฐานเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น

    เรื่องติดข้องในโลก เป็นเรื่องของจิตที่มีอาการซัดส่าย สับสน วุ่นวาย สุข ทุกข์ ฯลฯ ไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด เป็นฐานที่ตั้งให้จิตมีการงานด้วยอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นเอาสิ่งต่างๆ เหล่านั้นมาเป็นตน เป็นของๆ ตน จนเกิด เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอาการของจิต เป็นวัฏฏะวน ทำให้เวียนตาย-เวียนเกิดไม่มีวันจบสิ้น เพื่อแสวงหาชาติภพใหม่ตามอำนาจแห่งอวิชชา ตัณหา อุปาทาน

    เรื่องที่พ้นโลก เป็นเรื่องของจิตที่มีกำลังสติ สงบตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เข้ามากระทบ ทำให้ชาติภพลดน้อยลง ด้วยการฝึกฝนอบรมจิตให้รู้จักปล่อยวางตัณหา อุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นลงไปได้ตามลำดับชั้นจนถึงที่สุดทุกข์ เมื่อละสังขารไปแล้ว จิตย่อมไม่เวียนว่ายตายเกิดกลับเข้ามาในโลกที่สับสนวุ่นวายอีกแล้ว เรียกว่า "จิตบริสุทธิ์หลุดพ้น"

    จึงปรากฏมีพวกนักบวช ที่เกิดความเบื่อหน่ายต่อทางโลก ด้วยประสงค์จะออกจากกิเลสกาม และอกุศลธรรม กรรม วิบากทั้งหลาย ได้ออกบวช ถือบวช ปลีกวิเวก ทรมานตนด้วยวิธีการต่างๆ ฯลฯ เพื่อค้นหาอุบายธรรม การปฏิบัติในรูปแบบแตกต่างกันไป นำมาประพฤติปฏิบัติ เพื่อค้นหาวิธีขจัดปัดเป่ากิเลสกาม และอกุศลธรรมทั้งหลายให้หมดสิ้นไปจากจิต

    มีเจ้าลัทธิเกิดขึ้นมากมายในสมัยนั้น ก่อนที่พระพุทธองค์จะทรงอุบัติขึ้นมาในโลก มีด้วยกันหลายลัทธิ หลายความเชื่อที่แตกต่างกันออกไป เจ้าลัทธิทั้งหลายล้วนมีการอวดอ้างสรรพคุณมากมายหลายวิธี ว่าลัทธิของตนนั้นสามารถหลุดพ้นจากทุกข์ กิเลสกาม และอกุศลธรรม ประกาศตนว่า เป็นลัทธิที่สามารถบรรลุคุณธรรมชั้นสูงได้

    ส่วนพระพุทธองค์ได้ทรงผ่านการค้นหาศึกษาจากเจ้าลัทธิเหล่านั้นมาแล้ว และรู้ด้วยตนเองว่า ความเชื่อทั้งหมดของเจ้าลัทธิทั้งหลายนั้น ยังไม่ใช่หนทางแห่งการพ้นทุกข์ที่แท้จริง เป็นเพียงการปฏิบัติธรรมกรรมฐานแบบหินทับหญ้าเอาไว้ ทำให้กิเลสเบาบางลงได้จริง แต่ไม่สามารถตัดกิเลสให้ขาดจนหมดสิ้นไปจากจิตของตนได้เลย

    ดังมีพระพุทธพจน์ในจูฬทุกขักขันธสูตรว่า
    "เราก็เว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรม
    ไม่บรรลุปีติและสุข หรือกุศลธรรมอื่นที่สงบกว่านั้น

    (เป็นปิติ สุขที่เกิดขึ้นจากอามีสสัญญา)
    เราจึงปฏิญาณว่าเป็นผู้ไม่เวียนมาในกาม มิได้ก่อน"

    เมื่อพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ (ตรัสว่ารู้) แล้ว ทรงตรัสว่า
    "เราก็เว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรม
    บรรลุปีติและสุข และกุศลอื่นที่สงบกว่านั้น

    (สัมมาสมาธิ เป็นปิติ สุขที่เกิดแต่วิเวก ปราศจากอามีส)
    เมื่อนั้นเราจึงปฏิญาณได้ว่า เป็นผู้ไม่เวียนมาในกาม"

    เมื่อพิจารณาจากพระพุทธพจน์ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้ดีแล้ว จะเห็นว่ารูปฌาน อรูปฌานที่เป็นกรรมฐานอันมีมาก่อนแล้วในเวลานั้น เป็นเพียงกรรมฐานที่ทำให้จิตสงบตั้งมั่นแต่ยังยึดติดอยู่กับอารมณ์ฌานนั้นๆ เป็นสุขที่ละเอียดอย่างเหนียวแน่น

    แต่บุคคลผู้ปฏิบัติรูปฌาน-อรูปฌานยังมีความหวั่นไหวเกรงกลัวไปว่า อารมณ์ฌานที่ตนเองได้เข้าถึงอยู่นั้น ยังต้องจืดจางลงไปตามกาลเวลา เนื่องจากเป็นฌานที่เกิดแต่สัญญาอารมณ์ เป็นฌานที่เอารูป-อรูปที่ปราศกาม เป็นการเอาอารมณ์ภายนอกกาย มาเป็นองค์กรรมฐาน ยังต้องอาศัย "สัญญา" คอยจดจำอารมณ์ฌานอยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถสิ้นสุดหยุดลงด้วยปัญญา เพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์ได้เลย

    ฌานดังกล่าวจึงเป็นแบบ "หินทับหญ้า" ถ้าอารมณ์ฌานที่เกิดจากสัญญาจืดจางลงไปเมื่อไหร่ ความฟุ้งซ่าน สับสน วุ่นวาย ฯลฯ อาจหวลคืนกลับมาได้ เปรียบเสมือนหินทับหญ้าไว้ เอาหินออกเมื่อไหร่ หญ้ากลับมางอกงามได้อีกครั้ง เพราะ "สัญญา" ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตน (อันเป็นที่พึ่งที่อาศัย) แต่เป็นหนึ่งในขันธ์ ๕ (รูป-นาม) เท่านั้น

    เมื่อมีบุคคลใดกล่าวถึงการ "ปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา" มักถูกทึกทักเอาว่า นั่นเป็น "สมถะ" เป็นเรื่องของพวกพราหมณ์ ฤาษี ชีไพร เป็นพวกติดสุขในฌาน หรือสมาธิ "หัวตอ" ซึมๆ แข็งๆ ทื่อๆ ไม่เกิดปัญญา ต้องทำ "วิปัสสนา" เท่านั้น ทั้งๆ ที่ใน "อริยมรรคมีองค์ ๘" ไม่ได้ระบุถึง "สัมมาวิปัสสนา" เลย

    ในอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้น แบ่งออกเป็น
    หมวดของ "ศีล" ประกอบด้วย สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ
    หมวดของ "สมาธิ" ประกอบด้วย สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
    หมวดของ "ปัญญา" ประกอบด้วย สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ


    เป็นที่ชัดเจนอย่างยิ่งว่า ในอริยมรรคนั้น มี "วิปัสสนาปัญญา" อยู่ในองค์มรรคแล้ว มรรคจึง "สมังคี" ได้

    โดยเฉพาะ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ เป็นการรู้เห็นอย่างวิเศษ คือรู้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง ทำให้ดำริที่จะออกจากกาม และอกุศลธรรม ต่อเมื่อลงมือปฏิบัติในหมวดแห่งสมาธิ ในองค์อริยมรรค ซึ่งมี "วิปัสสนา" เป็นเบื้องหน้า คือการรู้เห็นอย่างวิเศษในตัวเองอยู่แล้ว

    เมื่อพิจารณาหมวดของสมาธิดู จะเห็นว่า "สัมมาสมาธิ" นั้น เป็นเช่น "มีดถากหญ้า" ไม่ใช่แบบ "หินทับหญ้า" โดยเฉพาะข้อแห่งสัมมาวายามะนั้น ชัดเจนว่า
    ไม่ให้หญ้า (คืออกุศลธรรม) ที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น
    หญ้าที่เกิดอยู่แล้ว (คืออกุศลธรรมที่มีอยู่แล้ว) ให้หมดไป
    ด้วยความเพียรเพ่ง คือกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น
    เพียรเพ่งจนเข้าสู่ระดับฌาน คือกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป

    ส่วน "มีดถากหญ้า" นั้น จะมีความคมกริบ (ปัญญา)ได้เท่าไร ก็ขึ้นอยู่กับบุคคลผู้ลงมือปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา กระทำให้มาก เจริญให้มาก ในหมวด "สมาธิ" แห่งองค์อริยมรรค เพราะความคมกริบของมีดนั้น สามารถตัดเงื่อนต่อของอุปกิเลสได้เด็ดขาดฉับพลันโดยไม่ต้องเสียเวลาใดๆเลย

    ดังมีพระพุทธพจน์ที่ได้ทรงตรัสไว้ชัดเจนว่า
    "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนแม่น้ำคงคา
    ไหลไปสู่ทิศปราจีน หลั่งไปสู่ทิศปราจีน บ่าไปสู่ทิศปราจีน ฉันใด
    ภิกษุเจริญ กระทำให้มากซึ่งฌาน ๔
    ย่อมเป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน ฉันนั้นเหมือนกัน"


    เมื่อพิจารณาจากพระพุทธพจน์ จะเห็นได้ว่า การเจริญให้มาก กระทำให้มากซึ่งฌาน ๔ ในสัมมาสมาธิ ย่อมเป็นบุคคลผู้เข้าถึงนิพพานได้ แสดงว่า การปฏิบัติ "สัมมาสมาธิ" จนสามารถเข้า-ออกฌานได้ความคล่องแคล่วชำนิชำนาญเป็น "วสี" ต้องอาศัย "ปัญญา" เท่านั้นจึงกระทำได้

    มีพระบาลีซึ่งพระพุทธโฆษาจารย์รจนาไว้ว่า
    "นตฺถิ ฌานํ อปญฺญสฺส นตฺถิ ปญฺญา อฌายิโน
    ยมฺหิ ฌานญฺจ ปญฺญาจ เสว นิพฺพาน สนฺติเก
    ฌานย่อมไม่มีในผู้ที่ไม่มีปัญญา ปัญญาย่อมไม่มีในผู้ที่ไม่มีฌาน
    ผู้ที่มีทั้งฌานและปัญญา จึงจะอยู่ใกล้นิพพาน"


    ทำไมต้องใช้องค์กรรมฐานในมหาสติปัฏฐานสูตร? เนื่องจากกรรมฐานในสติปัฏฐาน ๔ นั้น เป็นองค์กรรมฐาน ณ ภายในกาย อาศัยกายสังขารเป็นองค์กรรมฐานภาวนา ทำให้จิตของบุคคลผู้ปฏิบัติเห็นอาการของจิตได้อย่างชัดเจน เห็นไตรลักษณ์ปรากฏออกมาให้พิจารณาในขณะปฏิบัติภาวนาเจริญกรรมฐานอยู่

    เช่นเวทนาที่ปรากฏขึ้นในขณะปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาอยู่นั้น ทำให้จิตได้พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตนคือจิต แต่เวทนาเป็นเรื่องของกายล้วนๆ ส่วนที่กระทบมาถึงจิตได้นั้น เนื่องจากจิตไปยึดมั่น ถือมั่น ถือเอาเวทนาที่ปรากฏขึ้นนั้น มาเป็นตน เป็นของๆ ตนนั่นเอง จึงเกิดอาการทุรนทุรายไปกับเวทนาที่เกิดขึ้นในขณะปฏิบัติอยู่นั้น

    ต่อเมื่อสามารถเพียรประคองจิตของตนด้วยปัญญาอันยิ่งที่เกิดจากความสงบ มีสติตั่งมั่นไม่หวั่นไหวไปกับอาการที่เกิดขึ้นในขณะนั้นได้ ย่อมปรากฏ "ธรรมอันเอก" ผุดขึ้นมาให้พิจารณา จิตเห็นจิตได้อย่างชัดเจน จิตรู้ชัดถึงอาการของจิตที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปจากจิต เห็นธรรมในธรรมทั้งสองฝั่งอย่างชัดเจน อันมีธรรมฝ่ายเกิดคือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน และธรรมฝ่ายดับ คือความสิ้นไปของราคะ โทสะ โมหะ แยกเป็นฝ่ายสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว กับ ฝ่ายขัดข้อง สับสน วุ่นวาย ฯลฯ

    เมื่อบุคลผู้ปฏิบัติธรรมกรรมฐานในหมวด "สมาธิ" แห่งองค์อริยมรรค ด้วย "สัมมาวายามะ เพียรประคองจิตให้ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ด้วย "สัมมาสติ" คอยระลึกรู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งของสติอย่างต่อเนื่อง จิตย่อมรวมลงเป็น "สมาธิ" มีสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว เป็น "อุเปกขา สติ ปาริสุทธิง"

    มีพระพุทธพจน์รับรองไว้ดังนี้
    "ภูเขาล้วนแล้วด้วยศิลา ไม่มีช่อง ไม่มีโพรง เป็นแท่งทึบอันเดียวกัน
    แม้หากลมฝนอย่างแรง พัดมาแต่ทิศตะวันออก...
    แม้หากลมฝนอย่างแรง พัดมาแต่ทิศตะวันตก ....
    แม้หากลมฝนอย่างแรง พัดมาแต่ทิศเหนือ ....
    แม้หากลมฝนอย่างแรง พัดมาแต่ทิศใต้
    ก็ยังภูเขานั้นให้หวั่นไหวสะเทือนสะท้านไม่ได้เลย แม้ฉันใด
    จิตของภิกษุนั้น อันอารมณ์ไม่ทำให้เจือติดอยู่ได้
    เป็นธรรมชาติตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ฉันนั้น เหมือนกันแล"


    จิตย่อมรู้ชัด "เอตํ สนฺตํ เอตํ ปณีตํ ที่นี่สงบหนอ ที่นี่ประณีตหนอ" เป็นการพิจารณาเห็นกายในกายเป็นภายในบ้าง ตรึกธรรมที่มีมาเฉพาะหน้า พิจารณากายในกายเป็นภายนอกบ้าง จิตของบุคคลผู้ปฏิบัติธรรมกรรมฐาน ย่อมพิจารณารู้ชัดว่า (ปัญญา) ถึงความแตกต่าง ระหว่าง ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ กับ ที่นี่สงบหนอ ที่นี่ประณีตหนอ

    เปรียบเหมือน "มีดถากหญ้า" ที่บุคคลผู้ปฏิบัติธรรมกรรมฐานคอยลับให้คมอยู่เสมอ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับตัดเงื่อนต่อแห่งอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายที่เข้ามากระทบ ให้ร่อนออกไปในทันที ที่กระทบจิต อารมณ์ไม่สามารถเจือติดที่จิตของบุคคลนั้นได้เลย ย่อมมีจิตหลุดพ้นโดยชอบ เพราะเห็นความเกิดและความดับแห่งอายตนะ สาธุ

    เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
    ธรรมภูต
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • 401.jpg
      401.jpg
      ขนาดไฟล์:
      29.1 KB
      เปิดดู:
      979
  2. จิตสิงห์

    จิตสิงห์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 พฤษภาคม 2011
    โพสต์:
    619
    ค่าพลัง:
    +687
    เสริม​

    พระองค์ตรัสไว้อย่างนี้ว่า ฌานธรรม

    เหล่านั้นเป็นธรรมอันสงบ เป็นธรรมเครื่องอยู่ (สันตวิหารธรรม


    [๑๐๓] เพราะเหตุที่วิหารธรรมคือฌาน ของภิกษุผู้มีอธิมานะ
    ไม่เป็นสัลเลขวิหารธรรม เพราะไม่เป็นบาทของวิปัสสนา ด้วยว่า เธอ

    เข้าฌาน ครั้นออกจากฌานแล้ว หาได้พิจารณาสังขารทั้งหลายไม่ แต่

    ทิฏฐธรรมสุขวิหารธรรมของเธอเป็น (เพียง) ทำให้จิตเป็นอกัคคตา



    [๑๐๔] ก็เหตุไฉนธรรมทั้งหลาย มีอวิหิงสาเป็นต้นเท่านั้น
    นอกจากสมาบัติทั้ง ๘ อย่าง พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเป็นสัลเลขธรรม ?

    เพราะธรรมทั้งหลายมีอวิหิงสาเป็นต้น เป็นบาทของวิปัสสนาที่เป็น
    โลกุตระได้.

    อันที่จริง สมาบัติทั้ง ๘ ของคนภายนอก (พุทธศาสนา) ทั้งหลาย
    เป็นบาทของวัฏฏะ เท่านั้น. แต่ในศาสนา (พุทธ) แม้สรณคมน์

    ก็พึงทราบว่า เป็นบาทของโลกุตตรธรรมได้ ตามพระสูตรนี้โดยเฉพาะ

    จะป่วยกล่าวไปไยถึงธรรมทั้งหลาย มีอวิหญิงสาเป็นต้นเล่า (ที่จะเป็นไป

    ไม่ได้).
     
  3. วรณ์นิ

    วรณ์นิ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 เมษายน 2016
    โพสต์:
    6,076
    ค่าพลัง:
    +3,024
    ถามท่าน ธรรมทูต แค่ว่า ข้อความที่ยกมาแสดงนี้ พระพุทธเจ้าท่านกล่าวเอาไว้ล้วนๆ...หรือ เอา มาแต่งเติมเสริมแต่งด้วยเจือปนความคิด ของสาวก อีกทีครับ

    ผมว่า มันเจือปน คนแก้ตัว นะครับ...(คำของสาวก สักคนที่แก้ต่างให้ตัวเอง) เป็นแน่แท้
     

แชร์หน้านี้

Loading...