พบพระมหาโมคคัลลาน์ ประทานโอวาทสุดท้ายเพื่อการจบกิจ :หลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย เสขะ บุคคล, 21 มกราคม 2016.

  1. เสขะ บุคคล

    เสขะ บุคคล เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 กรกฎาคม 2008
    โพสต์:
    1,240
    กระทู้เรื่องเด่น:
    54
    ค่าพลัง:
    +4,023
    [​IMG]

    พบพระมหาโมคคัลลาน์ ประทานโอวาทสุดท้ายเพื่อการจบกิจ :หลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง



    พบพระโมคคัลลาน์ (ให้กำหนดใจไว้ในความไม่มีของขันธ์ห้า)

    จำให้ดีนะ พระโมคคัลลาน์มาสอนขั้นที่สุดว่า จงกำหนดในความไม่มีของขันธ์ห้า
    ให้ถือว่าขันธ์ห้ามันไม่มี มันไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา มันมีแล้วก็เหมือนกับว่าไม่มี
    คือไม่สนใจในมันเสียเลย แล้วก็ทุกสิ่งทั้งหมดให้เป็นเอกัคคตารมณ์

    หมายความว่า ขันธ์ห้าก็ดี ธาตุทั้งหลายอย่างอื่นก็ดี มีความรู้สึกว่า มันไม่มีสำหรับเรา
    คำว่าให้เป็นเอกัคคตารมณ์คือ ให้ทรงอารมณ์นี้เป็นหนึ่ง ไม่มีอารมณ์ที่สอง
    มีอารมณ์ที่เข้าใจว่ามีน่ะ ไม่มีอีกแล้ว ว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่มีสำหรับเรา
    คือขันธ์ห้าได้แก่ร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของบุคคลอื่นก็ดี วัตถุธาตุทั้งหลายในโลกก็ดี ไม่มีสำหรับเรา
    อารมณ์ทรงอยู่อย่างนี้ให้เป็นปกติ เรียกว่าเป็นเอกัคคตารมณ์

    ถ้าจะหันไปดูจริงๆในมหาสติปัฏฐานที่เราฟังกันมาแล้วก็เหมือนกัน
    คือท่านไม่ได้สอนเกินอะไรกันไปเลย เว้นไว้แต่ว่าเราจะใช้อารมณ์ถูกหรือไม่ถูกเท่านั้น

    เป็นอันว่าวิชาความรู้ของพวกเรานี่เลยเถิด เรียกว่าท่วมเลยศีรษะไปแล้วไหนๆ
    แต่ว่าจะรู้จักใช้หรือไม่รู้จักใช้เท่านั้น บางทีก็ยังเมาอยู่ในยศฐาบรรดาศักดิ์ เมาในลาภ เมาในรูปเสียงกลิ่นรส เมาในความโกรธ
    เมาในขันธ์ห้า นี่เป็นอันว่าถ้ายังเมาอยู่อย่างนี้แสดงว่าพวกเรายังเลวอยู่ขนาดหนัก ไม่ใช่เลวขนาดเบา

    แล้วก็ท่านบอกว่าให้เพ่งอารมณ์ อันจะพึงเกิดจากรูป จากกลิ่น จากเสียง จากรส จากสัมผัส จากอะไรทุกอย่างทั้งหมด
    ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้สัมผัสกลิ่น ลิ้นสัมผัสรส กายสัมผัสอารมณ์ใจ

    ท่านบอกว่าทั้งหมดว่าเป็นรูป ท่านย่อไว้แบบนี้ ผมอ่านไม่เข้าใจเหมือนกัน ท่านว่าทั้งหมดเป็นรูป
    แล้วก็ละ ว่าเป็นรูปเป็นเสียงของสภาพที่ไม่มี ท่านบอกว่าสิ่งที่เป็นรูปนี่ท่านละไว้

    ผมขอขยายหน่อย ไอ้รูปนี่ก็เป็นรูปที่มันไม่มี เสียงก็เป็นเสียงที่มันไม่มี กลิ่นก็เป็นกลิ่นที่ไม่มี รสก็เป็นรสที่มันไม่มี
    สัมผัสก็เป็นสัมผัสที่ไม่มี มันไม่มีตรงไหน ไม่มีตรงที่มันสลายไป
    รูปเห็นแล้วก็ผ่านไป เสียงได้ยินแล้วก็ผ่านไปทั้งหมด กลิ่นสัมผัสแล้วก็ผ่านไป อย่าเอามันเข้ามาขังไว้ในใจ
    มันสัมผัสประสาทแล้วก็ผ่านไป มันมีสภาพไม่มี อย่าเอาใจไปนึกว่ามันมี นี่ผมขยายความนะ

    ท่านบอกต่อไป นี่พระมหาโมคคัลลาน์มาสอนแทนนะ ว่า จงไม่ยึดถือ คือปล่อย ปล่อยไปเสีย
    ไม่ให้เกาะมันอยู่ ไม่ยินดีกับมันด้วย แล้วก็ไม่ยินร้ายกับมันด้วย ยินดีคือชอบใจ ยินร้ายคือไม่ชอบใจ
    มันจะไปมาอย่างไรก็ช่าง นี่อารมณ์พระอรหันต์นะ ฟังกันไว้ให้ดี

    ฟังแล้วก็จำ ท่านที่บันทึกไว้ฟังให้มากจุดนี้ ฟังให้มาก ฟังให้มากแล้วก็ทำให้ได้ เป็นสิ่งที่เราต้องการกัน

    ทำให้เป็นเอกัคคตารมณ์ คือทำให้อารมณ์ทรงอยู่อย่างนั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลง มันจะมีอารมณ์ชิน
    แล้วก็ตั้งอุเปกขาญาณไว้ว่า คำว่าอุเปกขา วางเฉย มีความรู้สึกไว้ว่าเราจะวางอารมณ์ความเฉยไว้อยู่เสมอ
    ว่าเราจะไม่ยึดถือสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด เราจะเฉยโดยไม่ยอมรับอารมณ์อย่างนี้ไว้
    แล้วทรงให้ทำใจให้ผ่องใสในพรหมวิหารสี่ โดยถือว่าสัตว์ทั้งหลายทั้งหมดควรได้รับความเมตตา ควรได้รับการสงสาร
    ให้ตั้งใจให้ดีโดยไม่เกียจคร้าน หากไม่ประมาท จิตจะพ้นอาสวะ นับตั้งแต่วันนี้ไปครบ ๖๐ วัน ไม่เกิน ๖๐ วัน


    ที่มา : ปฏิปทาท่านผู้เฒ่า (บันทึกแนวทางการปฏิบัติพระกรรมฐาน โดยหลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง)
    ฟัง 21_ปฏิปทาท่านผู้เฒ่า_11A(พุทธโอวาทสุดท้ายเพื่อการจบกิจ)


    --------------------------------------------------------------------------------------------------------



    พระมหาโมคคัลลาน์สั่ง ว่าให้กำหนดใจลงในความไม่มีของปัญจขันธ์

    ปัญจขันธ์ก็ได้แก่ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
    เมื่อสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันไม่มี มันมีก็เหมือนว่าไม่มี
    คือมันไม่มีการทรงตัว หาอะไรทรงตัวไม่ได้ มีแล้วเดี๋ยวก็พัง
    มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความเสื่อมไปในท่ามกลาง แล้วก็มีการสลายไปในที่สุด

    รูปมันก็ปรากฏขึ้นเดี๋ยวเดียว ท่านบอกว่าชีวิตเหมือนความฝัน รูปโฉมโนมพรรณเหมือนดอกไม้
    ชีวิตของเราที่ทรงตัวอยู่นี้มันก็เหมือนความฝัน มันมีอยู่แล้วไม่ช้ามันก็สลายตัวไป
    รูปโฉมโนมพรรณเหมือนดอกไม้ ดอกไม้เมื่อแรกยังตูม ต่อมามันก็แย้มทีละน้อยๆ ในที่สุดก็พังไป
    สภาวะของรูปมันก็เป็นเช่นเดียวกัน เสียง กลิ่น รส และสัมผัสมันก็เหมือนกัน
    ท่านบอกว่า ทุกสิ่งทั้งหมดนี้จงรักษาอารมณ์ให้เป็นเอกัคคตารมณ์ ว่ามันไม่มี
    คำว่าไม่มีนี่ ความจริงมันมี มีแล้วต่อไปมันจะไม่มี

    เพราะมันจะพัง รูปมันทรงอยู่ได้ไม่นานมันก็พัง
    เสียงที่เรามีความพอใจ ฟังแล้วก็หายไป
    กลิ่นที่สัมผัสจมูก กระทบแล้วก็หายไป
    การสัมผัสที่พึงพอใจ สัมผัสแล้วเลิกสัมผัสก็หายไป
    รสที่สร้างความซาบซ่านจากปลายลิ้น กลางลิ้นโคนลิ้น แล้วรสก็หายไป
    อย่าไปสนใจมันว่ามี มันผ่านไปแล้วก็หมดไป ไม่ช้าร่างกายมันก็สลายตัว
    ท่านบอกว่าจงรักษาอารมณ์นี้ให้เป็นเอกัคคตารมณ์ มีความรู้สึกว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่มี

    อันนี้เห็นจะได้แก่อากาสานัญจายตนะก็เห็นจะได้
    ถ้าเทียบกัน อารมณ์พระนิพพาน นี่เป็นอารมณ์พระอรหันต์ตัดกิเลส
    อากาสานัญจายตนะที่ท่านเจริญกัน ให้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันต้องสลายหายว่างไปเหมือนกับอากาศ
    หรือว่าอากิญจัญญายตนะ ถือว่าทุกสิ่งทุกอย่างนี่มันไม่มีอะไรเหลือหมด ไม่มี ไปลงกันตรงนั้น
    มันเข้าไปเนวสัญญานาสัญญายตนะอารมณ์นี้มาใช้ มันมีก็ทำความรู้สึกเหมือนว่ามันไม่มี
    ตอนนี้ถ้าหากว่าท่านสนใจในอรูปฌาน จะรู้สึกว่าง่าย เห็นทรงตัวได้ชัดๆ

    เป็นอันว่าท่านแนะนำว่าองค์สมเด็จพระทรงสวัสดิ์ให้ทำความรู้สึกว่า ปัญจขันธ์ทั้งห้า
    และทุกสิ่งทุกอย่างทั้งหมดในโลกนี้ไม่มีอะไรเหลือ
    ถ้าหวนเข้าไปดูในมหาสติปัฏฐานสูตรก็จะรู้ว่าเป็นของไม่แปลก
    หลังจากนั้นท่านให้เพ่งอารมณ์ อารมณ์พึงบังเกิดขึ้นจากรูป
    อารมณ์ที่เห็นรูปสวย ทรงสวย รักในรูป ผิวสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสดี ไอ้คำว่าดีๆอย่างนี้
    ให้พิจารณาดูว่า ทั้งหมดนี้ที่มีสภาวะ มีรูปเป็นต้น มันเป็นของที่ไม่มี
    ทำไมจึงว่าไม่มี มันมีนี่ มันมีแล้วเดี๋ยวมันก็ไม่มี

    ย้อนไปถึงปู่ย่าตายายโคตรเหง้าเหล่ากอตอนต้นๆ
    เราอาจจะรู้ว่าพ่อเราเป็นลูกของใคร เป็นลูกของปู่ ปู่เราเป็นลูกของใคร ลูกของทวด
    ทวดเราเป็นลูกของใคร ลูกของของพ่อทวดแม่ทวด แล้วท่านทั้งหลายมีไหมเล่าเวลานี้
    แล้วสรรพสิ่งของทั้งหลายที่ท่านมีอยู่ มีบ้านช่อง เรือนโรง เงินทองทั้งหลายเหล่านั้นมันมีเหลือไหม มันไม่มี
    ทำไมถึงว่าไม่มี มันหมดไปแล้ว ร่างกายท่านก็หมด
    แล้วเราล่ะ ยังจะมีอะไรต่อไป ไม่มีการหมดหรืออย่างไร นี่ผมขยายนะครับ

    ท่านบอกว่าไม่ให้ยึดถือ คือให้ปล่อยไปเสียไม่เกาะอยู่ ไม่ยินดีคือชอบใจด้วย ไม่ยินร้ายคือไม่ชอบใจด้วย
    ในเมื่อมันทรงตัวอยู่เราก็ไม่ยินดี ถ้ามันย่อยยับลงไปเราก็ไม่ยินร้าย ปล่อยไปตามสภาพ
    จิตยอมรับนับถือว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ มันเป็นของธรรมดา

    ถ้าเรายังไปติดมันอยู่ก็ชื่อว่าเราเป็นทาสตัณหา เป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์ เราจะไม่มีความสุขตลอดชีวิต
    ตอนนี้ก็ควรจะคิดตามนะ ผมชอบจริงๆ เพราะใจมันสบาย ท่านกล่าวว่าให้ใจเป็นเอกัคคตารมณ์
    ให้อารมณ์มันทรงอยู่อย่างนี้ เอกแปลว่าเป็นหนึ่ง มีอารมณ์อย่างนี้อย่างเดียวที่เราจะทรงอยู่
    ไม่มีอารมณ์อื่นเข้ามาสอดแทรกเข้ามาเจือปน.....


    ....ว่าต่อไป ท่านบอกให้ทำเป็นเอกัคคตารมณ์ ให้อารมณ์ทรงอยู่อย่างนั้นอย่างเดียวอย่างอื่นไม่ปน
    ไม่มีอารมณ์เปลี่ยนแปลง รักษาไว้อย่างนั้นว่าทุกสิ่งทุกอย่าง มันไม่มี

    มันสลายหมด ไม่ยึด ไม่ถือมัน แล้วสอนต่อไปว่าให้ตั้งอยู่ในอุเปกขาญาณ
    เราจะไม่ยึดถือทุกสิ่งทุกอย่างทั้งหลายเหล่านี้ เราจะเฉยโดยไม่ยอมรับอารมณ์อย่างนี้ไว้ในใจของเรา
    ว่าอารมณ์ที่ว่ารูปมันดีเสียงมันดีนี่ เป็นต้น ไม่มีในใจของเรา แล้วทรงให้ทำใจ
    นี่เป็นคำพูดของพระมหาโมคคัลลานะที่ท่านผู้เฒ่าเขียนไว้ ว่าทรงสั่งมาให้ทำใจให้ผ่องใสในพรหมวิหารสี่
    พรหมวิหารสี่ก็รู้จักกันแล้วนี่ โดยถือว่าสัตว์และบุคคลทั้งหมดควรได้รับความเมตตาคือความรัก
    ควรได้รับความกรุณาคือความสงสาร ให้ตั้งใจทำให้ดีโดยไม่เกียจคร้าน

    นี่พระพุทธเจ้าทรงสั่งมา สั่งพระมหาโมคคัลลาน์มาบอก ว่าหากไม่ประมาท จิตจะพ้นจากอาสวะ
    คือพ้นจากกิเลสทั้งหมด เป็นพระอรหันต์ นับตั้งแต่วันนี้ไปจนครบ ๖๐ วัน


    ที่มา : ปฏิปทาท่านผู้เฒ่า (บันทึกแนวทางการปฏิบัติพระกรรมฐาน โดยหลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง)
    ฟัง 22_ปฏิปทาท่านผู้เฒ่า_11B
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 23 มกราคม 2016
  2. naitiw

    naitiw เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    23 มกราคม 2006
    โพสต์:
    1,611
    ค่าพลัง:
    +2,883
    [​IMG]

    เคยฝึกช่วงนึง เหมือนมันเบื่อโลกไปเสียหมด
     
  3. huayhik

    huayhik เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    30 มกราคม 2010
    โพสต์:
    181
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +1,131
    สาธุ....
     

แชร์หน้านี้

Loading...