สู่แสงธรรม กับหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ตอน จะเลือกเคารพพระแบบใด?

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 22 สิงหาคม 2015.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    สู่แสงธรรม กับหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ตอน จะเลือกเคารพพระแบบใด?
    [​IMG]
    เนื่องด้วยข้าพเจ้าเป็นคนแปลกอยู่อย่างหนึ่ง คือหากได้สนใจเรื่องใดขึ้นมาแล้ว ก็จะต้องทุ่มเทให้กับสิ่งนั้นอย่างที่สุด จะไม่ยอมปล่อยให้กาลเวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ จนกว่าจะบรรลุถึงจุดๆ หนึ่งที่ตนพอใจแล้วเท่านั้น จึงจะยอมเลิกราได้

    นี่ก็เช่นเดียวกัน เมื่อข้าพเจ้าเกิดความสนใจในพระพุทธศาสนาขึ้นมาและโชคดีได้ประสบพบท่านผู้รู้เช่นหลวงพ่อด้วยแล้ว ข้าพเจ้าก็ยิ่งปลื้มปีติและตั้งปณิธานเอาไว้ว่า ข้าพเจ้าจะทุ่มสุดตัวเพื่อค้นคว้าหาความกระจ่างในพระพุทธศาสนาให้ได้

    ดังนั้นในทุกครั้งที่ข้าพเจ้าถามปัญหา และหลวงพ่ออธิบายตอบ ข้าพเจ้าจะไม่จบสิ้นเลิกราเอาง่ายๆ เหมือนเช่นผู้อื่น หากแต่เมื่อจากหลวงพ่อกลับถึงบ้านแล้ว ข้าพเจ้าจะนั่งพิจารณาทบทวนและขบคิดถึงปัญหาและคำตอบของหลวงพ่ออย่างละเอียด และรอบคอบด้วยเหตุและด้วยผลเสมอมาทุกครั้ง

    ด้วยเหตุนี้เองแม้ข้าพเจ้าจะเข้าใจในคำอธิบายได้เป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ยังไม่กระจ่างชัดไปเสียทั้งหมดทีเดียว มิหนำซ้ำกลับดูเหมือนว่าความเคลือบแคลงสงสัยอยากที่จะได้รับรู้ รับฟัง ยังมีอีกมากมาย โดยเฉพาะเรื่องของพระสงฆ์นั้นข้าพเจ้าเคยได้ยินผู้คนเข้าพูดวิพากษ์วิจารณ์กันมากมายเหลือเกิน

    อาทิเช่นบางคนพูดว่า “พระที่ฉันเคารพกราบไหว้นั้น จะต้องเป็นพระที่เคร่งในวินัย ต้องรู้จักสำรวมในการพูด มิใช่พูดไปหัวเราะไป หรือพูดกระเช้าเย้าแหย่ลูกศิษย์ลูกหา”

    บางคนก็พูดว่า “พระที่ฉันเคารพนั้น จะต้องเป็นพระที่ไม่ฉันเนื้อสัตว์เป็นอาหาร”

    บางคนพูดว่า “พระที่ฉันไปเคารพกราบไหว้ทุกวันนี้ ท่านนอนกระดานแผ่นเดียวเชียวนะ มิหนำซ้ำฉันเพียงมื้อเดียวด้วย”

    บางคนพูดว่า “พระของฉันน่ะฉันอาหารรวมในบาตรเดียว และมื้อเดียวด้วย และไม่ยอมจับเงินเสียด้วย”

    บางคนก็พูดว่า “ฉันเคารพพระธรรมยุต ไม่เคารพพระมหานิกายหรอกเพราะไม่ค่อยเคร่ง”

    บางรายก็พูดว่า “พระองค์ที่ฉันเคารพกราบไหว้อยู่ทุกวันนี้ ท่านให้หวยแม่นที่สุดเลย รถเก๋งจอดกันแน่นที่วัดทุกวันทีเดียวนะ” เป็นต้น

    ด้วยเหตุนี้ ในวันหนึ่งข้าพเจ้าจึงได้ถือโอกาสถามหลวงพ่อว่า

    “หลวงพ่อครับ โดยทั่วๆ ไปแล้ว เราควรเคารพกราบไหว้พระที่เคร่งในวินัยและสำรวมในการพูด มากกว่าพระที่ไม่สำรวม ใช่ไหมครับ?”

    “เออ! ถามดี ตอนนี้คุณกำลังเรียนอยู่ในโรงเรียนผู้บังคับฝูงใช่ไหม?” หลวงพ่อย้อนถาม

    “ครับ” ข้าพเจ้าตอบ ชักลังเล

    “นักเรียนในโรงเรียนผู้บังคับฝูงรุ่นของคุณนั้น มีกี่คน” หลวงพ่อถามต่อ

    “มีประมาณ ๑๖๐ คนครับ” ข้าพเจ้าตอบไป ชักงงหนัก

    “ทั้ง ๑๖๐ คน จบจากโรงเรียนนายทหารหลักอย่างคุณทั้งหมดไหม?” หลวงพ่อถามต่อ

    “ไม่หรอกครับ ปะปนกัน มีทั้งจบจากโรงเรียนนายร้อยจปร, นายเรือ, นายเรืออากาศก็มี จบจากมหาวิทยาลัยในเมืองไทยก็มี เมืองนอกก็มี และเลื่อนยศขึ้นมาจากนายทหารชั้นประทวนก็มีครับ รวมความว่ามีทั้งไม่ได้ปริญญาก็มี ได้อนุปริญญาก็มี ปริญญาตรีก็มี ปริญญาโทก็มี และปริญญาเอกก็มีครับ” ข้าพเจ้าตอบอย่างละเอียด ไม่ทราบว่าหลวงพ่อจะมาในรูปใดอีก

    “อ้อ! แล้วนักเรียนจำพวกไหนที่ขยันที่สุด คร่ำเคร่งในการดูตำรามากที่สุดล่ะ” หลวงพ่อถามเรื่อยๆ ทำให้ข้าพเจ้าต้องนั่งใคร่ครวญอยู่นานพอสมควร จึงตอบไปตามที่รู้ที่เห็นว่า

    “พวกที่คร่ำเคร่งดูตำรับตำรา และตั้งอกตั้งใจฟังครูสอนมากที่สุดก็คือ พวกที่เขาเลื่อนขึ้นมาจากนายทหารชั้นประทวนครับ เพราะเขาไม่ค่อยเข้าใจและฟังครูสอนไม่ค่อยทัน”

    “แล้วพวกคุณ ที่จบจากโรงเรียนนายทหารหลักล่ะ” หลวงพ่อถามต่อ

    “ผมก็ฟังบ้างไม่ฟังบ้าง เรียนบ้างไม่เรียนบ้าง แล้วแต่ว่าวิชาใดน่าสนใจหรือไม่ แต่ความจริงแล้วครูก็ว่าไปตามตำรา ไม่ต้องฟัง อ่านเอาเอง เที่ยวเดียวก็จำได้ครับ” ข้าพเจ้าตอบไปตามความจริง

    “เออ! นั่นแหละ พระที่ท่านเคร่งนั้นเป็นเพราะท่านเพิ่งจะเริ่มฝึกปฏิบัติยังไม่มีปัญญาพอ เกรงไปว่า หากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไปสัมผัสอะไรเข้าแล้วมาบอกจิตที่ยังขาดปัญญา ก็จะเกิดความโลภ โกรธ หลง คือ กิเลส หรือความทะยานอยากจะได้ อยากจะมี อยากจะเป็น คือ ตัณหา หรือเกิด อุปาทาน ความหลงเอาว่าไอ้นั่นเป็นของเรา ไอ้นี่เป็นของเรา เข้าได้

    ท่านจึงต้องปิดตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของท่านเสีย จึงดูเหมือนเป็นพระเคร่งในสายตาของผู้คนไป เท่านั้นเอง เหมือนนายทหารชั้นประทวนที่เลื่อนชั้นยศขึ้นมาตามที่คุณเล่านั่นแหละ ส่วนพระที่ท่านเป็นพระอริยเจ้าบรรลุมรรคผล มีปัญญาแล้ว ท่านมีสติของท่านอยู่ตลอดเวลา ท่านก็ทำตัวแบบสบายๆ ไม่จำเป็นต้องระวังอะไรมากนัก

    ดังเช่นพระสารีบุตร ท่านก็เล่นกับเด็กนะเหมือนพวกคุณ ก็ไม่เห็นต้องเรียนต้องฟังอะไรจากครูมากมายนั่นแหละ ดังนั้นจึงจะไปรีบด่วนสรุปเอาว่าพระเคร่งพระสำรวม เหนือกว่าพระที่ไม่สำรวมยังไม่ได้นะ” หลวงพ่อตอบอย่างเมตตา

    “แล้วพระที่ไม่ฉันเนื้อสัตว์ ฉันอาหารมื้อเดียว หรือฉันอาหารรวมในบาตรเดียวล่ะครับ จะถือว่า เหนือกว่าหระที่ฉันอาหาร ๒ มื้อไหมครับ?” ข้าพเจ้าถามต่อด้วยความอยากรู้

    “พระพุทธเจ้า ท่านห้ามมิให้พระสงฆ์สาวกของท่านฉันเนื้อ เพียงเฉพาะบางประเภทเช่น เนื้อมนุษย์ เนื้อสุนัข เนื้อช้าง เนื้อม้า เนื้อเสือ มิได้พาดพิงไปถึงเนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อเป็ด เนื้อปลา ซึ่งเป็นอาหารหลักของชาวโลกนะ อีกทั้งทรงย้ำว่าพระสงฆ์สาวกของพระพุทธองค์นั้น จะต้องกระทำตนให้เป็นผู้ที่เลี้ยงง่าย อย่าให้ชาวบ้านเขาเดือดร้อน

    ส่วนการที่จะฉันมื้อเดียวก็ดี หรือฉันอาหารรวมในบาตรเดียวก็ดี หรือฉันอาหารสองมื้อก็ดี พระพุทธเจ้าก็มิได้ทรงเป็นผู้กำหนดไว้ เป็นเรื่องของเกจิอาจารย์แต่ละท่านไปวางกำหนดกฎเกณฑ์เอาเองทั้งสิ้น จะเอาเรื่องการฉันเนื้อไม่ฉันเนื้อก็ดี การฉันมื้อเดียวหรือฉันสองมื้อก็ดีหรือการฉันรวมในบาตรเดียวทั้งของหวานของคาวมาคลุกเคล้ากันก็ดี มาเป็นเครื่องวัดว่าพระภิกษุรูปใดเหนือกว่าพระภิกษุรูปใดยังไม่ได้นะ มันอยู่ที่ว่าท่านเหล่านั้นในขณะที่เสพย์อาหาร มีสติพิจารณา “อาหาเรปฏิกูลสัญญา” หรือไม่ต่างหาก” หลวงพ่ออธิบาย

    “อาหาเรปฏิกูลสัญญา นั้นพิจารณาอะไรครับหลวงพ่อ?” ข้าพเจ้าถามอย่างสนใจ

    “พิจารณาอาหาเรปฏิกูลสัญญา ก็คือพิจารณาอาหารที่ขบฉันให้เห็นว่าเป็นของน่าเกลียด อาหารใดก็ตามแม้นลิ้นสัมผัสแล้วจะเลิศรสเพียงไร หากคบเคี้ยวแล้วคายออกมาดูจะเห็นว่าน่ารังเกียจ ยิ่งเมื่อกลืนเข้าไปในท้องแล้วสำรอกออกมาดูจะเห็นได้ว่าน่าเกลียดมาก และยิ่งหากปล่อยทิ้งไว้ถ่ายออกมาดูก็ยิ่งน่าเกลียดที่สุด ใช่ไหม

    ดังนั้นพระภิกษุสงฆ์รูปใดฉันมังสวิรัติ (ไม่ฉันเนื้อสัตว์) ก็ดีหรือฉันอาหารคาวหวานคลุกเคล้ารวมในบาตรเดียวกันก็ดี หรือฉันอาหารมื้อเดียวก็ดี หากมิได้พิจารณาอาหาเรปฏิกูลสัญญาแล้ว เกิดไปติดในรสชาติของอาหารมังสวิรัติก็ดี อาหารคาวหวานที่คลุกรวมในบาตรก็ดี หรืออาหารเพียงมื้อเดียวที่ขบฉันก็ดี ย่อมสู้พระภิกษุสงฆ์ที่ฉันอาหาร ๒ มื้อ แต่พิจารณาอาหาเรปฏิกูลสัญญาทั้ง ๒ มื้อไม่ได้นะ” หลวงพ่ออธิบายเรื่อยๆ แล้วพูด ต่อว่า

    “อาหาเรปฏิกูลสัญญา นั้น นอกจากจะให้พิจารณาว่าอาหารที่ขบฉันเป็นของน่าเกลียดแล้ว จะต้องพิจารณาต่อไปอีกด้วยว่า บรรดาอาหารเหล่านี้จะมีรสเลิศหรือไม่ก็ดี จะถูกหรือแพงก็ดี จะเป็นมังสวิรัติก็ดี จะเป็นเนื้อสัตว์ก็ดี จะเป็นอาหารคาวหวานรวมในบาตรเดียวก็ดี เรากินเพียงเพื่อให้ร่างกายนี้คงอัตภาพ อยู่ได้เพียงชั่วคราว เพื่อจะได้บำเพ็ญความเพียรไปสู่มรรคผลนิพพานได้เท่านั้นเองนะ

    สรุปได้ว่าภิกษุท่านใดอยากฉันมังสวิรัติ ภิกษุท่านใดอยากฉันอาหารคาวหวานคลุกเคล้าในบาตรเดียวกัน ภิกษุท่านใดอยากฉันมื้อเดียว หรือภิกษุท่านใดอยากฉัน ๒ มื้อก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวของแต่ละท่าน แต่อย่าได้นำเอาวิธีการขบฉันของตนไปข่มหรือปรามาส ภิกษุสงฆ์ท่านอื่นเป็นอันขาดนะ นรกเล่นงานแน่ เพราะพระพุทธเจ้าท่านก็มิได้ทรงกำหนดกฎเกณฑ์ไว้นะ” หลวงพ่ออธิบายอย่างละเอียด

    “แล้ว พระที่ท่านนอนกระดานแผ่นเดียวล่ะครับหลวงพ่อ?” ข้าพเจ้าถามเพราะเคยได้ยินมา

    “ ก็ถ้าท่านคิดว่าท่านนอนบนกระดานแผ่นเดียว จะสามารปฏิบัติเพื่อบรรลุ มรรคผลนิพพานได้ ก็เป็นเรื่องของท่านนะ” หลวงพ่อตอบขำๆ และพูดต่อว่า

    “แต่ถ้านอนกระดานแผ่นเดียว ด้วยเจตนาหวังให้สานุศิษย์ยกย่องสรรเสริญ อีกทั้งยกตนข่มพระภิกษุสงฆ์รูปอื่นว่าสู้ตนไม่ได้ละก้อ ลงนรกนะ เข้าใจหรือยังล่ะๆ”

    “เข้าใจครับ คราวนี้ที่เขาว่ากันว่า พระธรรมยุตเคร่งกว่าพระมหานิกายมาก โดยเฉพาะท่านไม่ยอมแม้แต่จับเงินด้วยซ้ำไหล่ะครับ” ข้าพเจ้ารีบฉวยโอกาสถามต่อ

    “ทั้งพระธรรมยุต และพระมหานิกายนั้นก็ล้วนถูกจัดเข้าเป็นพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าเหมือนกัน ถ้าปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติควร ปฏิบัติชอบ และเพียรพยายามปฏิบัติเพื่อไปสู่มรรคผลนิพพานนะ เรื่องความเคร่งหรือไม่เคร่งนั้น ฉันได้อธิบายไปแล้วว่าอย่าเอามาเป็นเครื่องวัดพระเป็นอันขาดจะเกิดการผิดพลาดได้

    ส่วนเรื่องที่จับเงินหรือไม่จับเงินเอง แต่ให้คนอื่นจับแทนนั้นก็จะเอามาเป็นเครื่องวัดไม่ได้ว่าใครเหนือกว่าใครนะ ทั้งนี้มันขึ้นอยู่ที่ว่าถ้าพระที่ไม่ได้จับเงินเอง แต่ให้ผู้อื่นจับแทนแล้วไปสั่งให้เขานำเงินไปใช้ผิดความประสงค์ของผู้บริจาคแล้ว นรกเล่นงานแน่ สู้พระที่ท่านจับเงินเองหากมิได้มีจิตโลภ ในทรัพย์สินเงินทอง และนำเงินที่ได้รับบริจาคไปสร้าง ไปทำตามความประสงค์ของผู้บริจาค ไม่ได้นะ” หลวงพ่ออธิบาย และเมื่อยังเห็นข้าพเจ้าสนใจอยู่ก็พูดต่อว่า

    “พระธรรมยุตนั้น ท่านจะปฏิบัติตนของท่านเช่นไร ก็เป็นเรื่องของท่าน แต่ถ้าเมื่อใดท่านหลงผิดว่าท่านเหนือกว่าพระมหานิกายเมื่อใดแล้ว ท่านจะไม่มีวันบรรลุมรรคผลนิพพานหลุดพ้นจากวัฏฏะได้เลยนะ เพราะท่านยังติดในสังโยชน์ ๑๐ คือมานะ ซึ่งหมายความว่ามีอารมณ์ถือตัวถือตน ถือชั้นวรรณะเกิดพอดี นั่นแหละ

    ดังนั้นฉันจึงขอย้ำตามที่ได้เคยตอบไปแล้วว่า พระที่ควรแก่การเคารพกราบไหว้นั้น จะต้องเป็นพระที่มีความประพฤติประกอบความเพียรเพื่อหวังบรรลุมรรคผลนิพพานด้วยการละสังโยชน์ ๑๐ ไปทีละข้อ จนเป็นพระอรหันต์ได้ในที่สุดนั่นเอง เข้าใจหรือยัง?” หลวงพ่อย้ำ

    “เข้าใจแล้วครับ” ข้าพเจ้าตอบ คิดๆ จะถามเรื่องพระให้หวยอยู่เหมือนกัน แต่คำตอบของหลวงพ่อเกี่ยวกับเรื่องพระสงฆ์ที่แท้จริงนั้น ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนแล้ว จนสามารถตอบเอาเองได้ว่า

    “พระที่ให้หวยนั้นยังฝักใฝ่ในโลกียะ มิใช่โลกุตระ และยังมิได้ประพฤติปฏิบัติตนตรง ตามคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อไปสู่มรรคผลนิพพาน อย่างจริงจัง จึงมิควรแก่การสนใจ”

    ข้าพเจ้าหวังว่าท่านผู้อ่านคงจะมีความเข้าใจในพระสงฆ์ได้แจ่มชัดยิ่งขึ้น ไม่มากก็น้อยนะครับ
    ที่มา http://palungjit.org/threads/ขอเชิญร่วมบุญสร้างกำแพงแก้ววิหารหลวงพ่อโต-วัดกุฎีทอง-อยุธยา.553352/
     
  2. jeenus

    jeenus เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    1,513
    ค่าพลัง:
    +3,576

แชร์หน้านี้

Loading...