หนีนรกกับหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ตอนที่ ๒๐ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 14 กรกฎาคม 2015.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    หนีนรกกับหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ตอนที่ ๒๐
    สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ
    [​IMG]
    ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย
    สำหรับตอนนี้เรื่องหนีนรกเป็นตอนที่ ๒๐ ก็ถือว่าเป็นตอนจบ
    จบเรื่องราวที่เราจะหนีนรกกัน แล้วก็ยังไม่หยุด จะมีอีก ๒ ตอน
    คือเป็นตอนที่ ๒๑ ถึง ๒๒ เป็นรายการสรุปเรื่องการหนีนรก
    เพื่อบรรดาท่านพุทธบริษัทไม่อยากจะฟังนานๆ
    ก็เอาตอนสรุปไปฟังก็หมดเรื่องกัน ง่ายดี
    อยากจะฟังจุดละเอียดบ้าง แต่ไม่ละเอียดมากนัก
    ก็ฟังมา ๑๐ คาสเซท หรือ ๒๐ ตอน
    ถ้าอยากจะฟังสั้น ๆ ก็เอาไปคาสเซทเดียว
    คือคาสเซทที่ ๑๑ ตอนสุดท้าย
    ถ้าเป็นตอนก็เป็นตอนที่ ๒๑ และ ๒๒ สองหน้า

    ตอนนี้เป็นตอนที่ ๒๐ กล่าวถึง สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นชอบ
    ความเห็นชอบนี่ก็พูดไปเลย บรรดาท่านพุทธบริษัท
    ความเห็นชอบนี่เป็นตัวปัญญา
    ถ้าจะถามว่าเห็นชอบอะไรจึงจะถูก
    ก็ต้องเห็นชอบตามคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
    ทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
    ถ้าเป็นอย่างนี้บรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่านจะเห็นชอบไหวไหม
    ก็มีทุกท่านอาจจะตอบได้ว่า เห็นชอบครับ เจ้าค่ะ แต่ปฏิบัติตามไม่ได้
    ทั้งนี้เพราะอะไร? เพราะว่าตั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
    เอาแค่จำอย่างเดียวยังจำไม่ได้หมด
    แล้วจะปฏิบัติตามคำแนะนำขององค์สมเด็จพระบรมสุคตได้ยังไง
    ก็ต้องเห็นชอบกันตามขอบเขต
    ขอบเขตนี่เราปฏิบัติตอนไหน เวลานี้เราปฏิบัติเพื่อหนีนรกกัน
    นรกนี้บรรดาท่านพุทธบริษัท ใครๆ ก็ไม่ชอบ
    เราไม่หนีแต่นรกแต่อย่างเดียว หนีความเป็นเปรต
    หนีความเป็นอสุรกาย หนีความเป็นสัตว์เดรัจฉาน
    ถ้าถามว่าทำไมจะต้องหนี
    ตอนนี้สัมมาทิฏฐิที่เป็นตัวปัญญา
    เราก็ต้องใช้ปัญญาทบทวนหรือความจำทบทวน
    ความจำเรียกว่า สัญญา
    ปัญญา แปลว่า การรอบรู้
    ต้องใช้สัญญาทบทวนลงไปว่า
    ตั้งแต่วันนี้ไปจนกว่าจะเป็นเด็กจำความได้ เราเกิดมากี่ปีแล้ว
    เราทำอะไรบ้างและก็ใช้ปัญญาเข้าช่วยพิจารณา
    อาการกระทำของเราก็ดี ความพูดก็ดี วาจาที่พูดก็ดี
    ความรู้สึกทางใจก็ดี ที่ผ่านมาแล้วนี่
    มันเป็นบุญทั้งหมดหรือเป็นบาปบ้าง

    คำว่า "บุญ" คือ ความดี บาป คือ ความชั่ว
    เราทำความชั่ว เราพูดชั่ว เราคิดชั่วบ้างหรือเปล่า?
    เราทำดี เราพูดดี เราคิดดีบ้างหรือเปล่า?
    ก็ต้องตอบได้ว่า เรามีทั้ง ๒ ประการ
    ทั้งดีและชั่วเรามีกลั้วกันไป ความดีที่ทำไว้นะไม่เป็นไรแน่
    อย่างเลวที่เราเกิดในสวรรค์ได้ อย่างกลางเกิดเป็นพรหมได้
    ถ้าดีถึงทีสุดเราไปนิพพานได้
    ดีน้อยลงไปกว่าเทวดาก็เกิดเป็นคนได้

    และในการที่จะเกิดใน ๔ จุดนี่มันก็แสนยาก
    เราก็ต้องใช้ปัญญาพิจารณาอีกว่า เราทำความดีมากหรือความชั่วมาก อารมณ์ของเราหนักในความดีหรือความชั่ว
    คนอื่น อาตมาไม่ทราบ สำหรับอาตมาเอง
    ถ้าทบทวนถอยหลังลงไป
    อารมณ์ในความชั่วมีมากกว่าอารมณ์ในความดี
    แต่อีตอนแก่นี่ก็เบา ๆ ไปหน่อย
    พอแก่แล้วมันสู้อะไรใครเขาไม่ได้ก็เบา
    ถ้าอยากจะโลภก็มีทรัพย์สมบัติมากมาย ก็ไม่สามารถจะทำไหวแล้ว
    ตัวเองก็ลุกไม่ขึ้น เลขเจ็ดออกหน้าไปแล้ว
    อย่างนี้แสดงความโลภหดไปเพราะความแก่
    ทีนี้ความรักในระหว่างเพศอยากจะแต่งงานกับใคร
    เรื่องนี้ไม่ต้องพูด พูดไปก็ไร้ประโยชน์
    อยากจะแต่งงานหรืออยากได้แต่ไม่มีใครเขาแต่งด้วย
    ก็เลยอารมณ์แบบนี้หดไป
    ถ้าจะบอกว่าเอา ๒ ประการขาดไปเสียเลยก็ยังได้

    ถ้าเขาถามว่า "ขาดไปเพราะกำลังของอนาคามี ที่สิงใจใช่ไหม?
    หรือความเป็นพระอรหันต์สิงใจใช่ไหม?

    ต้องตอบว่า "ไม่ใช่ ขาดไปเพราะความแก่ มันสู้ใครเขาไม่ได้แล้ว
    ไม่ใช้สู้ไม่ไหว สู้ไม่ไหวยังมีทางสู้ นี้มันสู้ไม่ได้เลย
    อย่างความรักนี่ไม่มีทางสู้เด็ดขาด
    ร้อยเปอร์เซนต์คนที่มีอายุ ๗๐ แล้ว
    ที่ยังจะสู้คนอยู่มีหรือเปล่าก็ไม่ทราบ สู้กันด้านความรัก"

    อาตมานี่บื้อตื้อมานานแล้ว ด้านความอยากร่ำรวยก็ตีแผ่มาตั้งแต่โน่น
    อายุ ๑๗-๑๘ แล้ว การคิดอยากร่ำรวยไม่มี
    มีแต่คิดว่าทำให้มันพอกิน ทำให้มันเหลือกิน
    มันจะรวยหรือไม่รวยก็ช่างหัวมัน
    ตอนนั้นพยายามทำให้มันเหลือกินไว้
    ถ้าพอกินก็ไม่มีอะไร ซื้อเสื้อซื้อกางเกง
    มันต้องเหลือกินเอาเงินมาซื้อเสื้อ ซื้อกางเกง
    ซื้อรองเท้า ซื้อหมวก ซื้อนาฬิกาข้อมือ
    ซื้อแหวนใส่ ซื้อสร้อยใส่ เอาเก็บไว้ใช้เมื่อคราวจำเป็น
    แต่ก็ไม่เคยคิดว่ามันจะรวย เลิกมานานแล้ว

    ต่อไปก็กำลังของความโกรธ ความพยาบาท
    สมัยก่อนนี้เก่งเรื่องความโกรธ ความพยาบาท
    ไม่ใช่เก่งไปฆ่าเขาไปตีเขา เก่งโกรธ เก่งพยาบาท
    มันโกรธใคร ปั๊มนึ่งอึ้งพูดไม่ออก
    ไอ้ไม่พูดนี้มันยัน ลิ้นมันไม่ไหว
    แต่ก็สร้างกำลังใจให้มันยิ้มไว้เสมอ
    ให้ปากมันยิ้ม โกรธเท่าไรก็ยังยิ้ม
    เพราะโกรธไม่ดี แต่เวลานี้ถาม " โกรธไหม"
    บอก "แค่ไม่พอใจนิดหน่อยอาจจะมี แต่โกรธจริง ๆ ไม่มีแล้ว
    ถ้าขืนโกรธมากเท่าไรร่างกายก็ทรุดโทรมมากเท่านั้น"
    แล้วก็อย่าไปลองเลย อย่าไปพิสูจน์
    ดีไม่ดี ไอ้ความแก่ว่าคนแก่ตัณหากลับ ตัณหากลับไม่เป็นไร
    ถ้าความโกรธกลับมันก็แย่
    ถ้าไปโกรธเขาหนัก ๆ จะได้ตายภายใน ๓ วัน
    ที่พยายามไม่โกรธ เพราะว่าร่างกายมันไม่ดี
    ก็เกรงว่าร่างกายจะทรุดโทรมมากเกินไป
    จิตจะเศร้าหมองมากเกินไป
    จึงพยายามทำใจไม่โกรธจริง ๆ
    แล้วมันโกรธหรือไม่โกรธก็ไม่ทราบ
    อย่าไปลองมันนะ ถ้าความโกรธกลับเข้ามาละก็แย่
    มันร้ายกว่าตัณหากลับ
    ถามถึงสภาพแห่งความหลง จะไปหลงอะไรล่ะ
    กลัวอย่างเดียวคือ หลงจำไม่ได้ มันมีอะไรควรจะหลงบ้าง
    ความแก่ทรุดโทรมขนาดนี้ เวลานี้หลายปีมาแล้ว
    เป็นพระที่มีความเคร่งครัดมาก ไม่ยอมส่องกระจก

    ถ้าถามว่า "เคร่งในวินัยข้อไหน"

    ก็ต้องตอบว่า "จำไม่ได้เหมือนกัน ที่จำได้จริง ๆ
    ก็คือว่า เวลาส่องกระจกทีไรหน้ามันแปลกไปคล้ายผีดิบเลย
    ไม่อยากมองหน้า ที่ไม่ส่องกระจกไม่ใช่เคร่งตามวินัย
    คือไม่กล้าดูหน้าตัวเอง ถ้าตัวเองขนาดไม่กล้าดูหน้าตัวเอง
    แล้วคนอื่นเขาอยากจะดูหน้าหรือเปล่าก็ไม่ทราบ"

    รวมความว่า การพูดอย่างนี้ไม่ใช่อวดความเป็นพระอรหันต์
    ที่มันลดลงไปเพราะความแก่

    เรามาพูดกันเรื่องสัมมาทิฏฐิ ตอนนี้มาถอยหลังกันใหม่
    ถอยหลังว่าความเห็นชอบนี่ เราจะชอบกันตรงไหน
    พระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
    แค่จำก็จำไม่ได้ เวลานี้เราอยู่ในขอบเขตของการหนีนรก
    แล้วก็ถอยหลังไปดูว่าที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า
    คนเราเกิดมาแล้วมันต้องตายนี่จริงไหม?
    ก็เห็นว่าไม่ต้องไปใช้ตำราที่ไหน
    คนตายให้เราดูมันเกิดจนนับไม่ถ้วน
    ถ้ารู้ทุกคนนับไม่ถ้วนแน่ คนที่ตายก่อนเรา
    แก่ก็มี แก่มากก็มี แก่น้อยก็มี เสมอเราก็มี อ่อนกว่าเราก็มี
    เป็นเด็กเล็กกว่าเราเด็กมาก ๆ ก็มี

    รวมความว่า ชีวิตคนนี้เกิดมาแล้วต้องตายแน่ ตายแล้วไปไหน?
    พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าทำชั่วจิตชั่วไปนรก เป็นต้น
    จิตสะอาดน้อยไปสวรรค์ เข้มแข็งมากเป็นพรหม
    ถ้าจิตไม่นิยมสมบัติของโลกทั้งหมดไปนิพพาน
    ที่นี้ตอนนี้พระพุทธเจ้าตรัสอย่างนี้ เราเห็นชอบไหม?
    เราอาจจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบก็ได้
    แต่ในที่นี้ต้องเห็นชอบ เราจะเห็นชอบได้ยังไง
    เราก็ต้องใช้วิชาที่พระพุทธเจ้าให้ คือ สองในวิชชาสาม
    ห้าในอภิญญาหก หรือไม่สามารถทำห้าในอภิญญาหกได้
    ก็ทำมโนยิทธิ การเตรียมตัวเพื่ออภิญญา
    ใช้กำลังใจมันเป็นของไม่ยาก
    เวลานี้เด็กเล็ก ๆ ฝึกกันวันสองวันสามารถทำได้แล้ว

    แล้วก็ใช้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ถอยหลังลงไป

    ใช้อตีตังสญาณ ใช้ญาณถอยหลังเข้าไป ของเรื่องคนอื่น
    เท่านี้เราจะทราบว่าตายแล้วเกิดมาจากไหน

    ใช้จุตูปฺปาตญาณ ดูคนตายแล้ว สัตว์ตายแล้ว
    เขาไปเกิดที่ไหนหรือไม่ ข้อนี้เป็นของไม่ยากเลย
    เท่านี้เราก็หมดความสงสัยในสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
    ว่าตายแล้วมันต้องเกิดต้องทำดี
    แล้วก็ดูนรกก็ได้ ไปเที่ยวนรกก็ได้ ไปสวรรค์ก็ได้

    เรื่องนี้เป็นของไม่ยาก เราพิสูจน์ได้เราก็เชื่อได้ว่า ตายแล้วไม่สูญ
    ถ้าทำชั่วไปนรก ทำดีไปสวรรค์ เป็นต้น
    หรือเราต้องการไปสวรรค์เป็นต้น นรกเราไม่ไป
    อบายภูมิเราไม่ไป ก็ใช้กำลังใจ
    คือ ความดีของใจ ใช้ปัญญาเข้าช่วย
    สัมมาทิฎฐินี่เป็นตัวปัญญาพิจารณาความดี
    ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
    วิธีพิจารณาความดีใช้พิจารณาศีลกับธรรมะ
    คือ ศีลห้า กรรมบถ ๑๐ ทั้งหมดนี้
    ที่พระพุทธเจ้าตรัสมาข้อไหนบ้างที่ไม่ดี

    รวมความว่า นับถือพระพุทธเจ้าด้วย
    นับถือพระธรรมไปด้วยในตัวเสร็จ
    แล้วก็ต้องนับถือพระอริยสงฆ์ด้วย
    เพราะความรู้สึกทั้งหลายเหล่านี้
    เราจะรู้ขึ้นมาได้ เพราะอาศัยพระอริยสงฆ์ท่านรวบรวมเข้าไว้
    แล้วนำมาแจกจ่ายนำมาสอน
    พระอริยสงฆ์เบื้องต้น ๕๐๐ ร้อยกรองอธิบายกันเรื่อยมา
    เพื่อความเข้าใจของเรา
    เราก็ยอมรับนับถือที่ท่านมีความดีช่วยสงเคราะห์เรา
    ถ้าท่านไม่สร้างตำหรับตำราขึ้นมา
    ท่านนอนเฉย ๆ มันมีความสุขมาก
    แต่อาศัยท่านมีเมตตาอย่างองค์สมเด็จพระผู้มีพราะภาคเจ้า
    คือปฏิบัติตามกันพวกเรา
    จึงสามารถรู้พระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ได้
    ยอมรับนับถือพระสงฆ์อีกก็หมดเรื่องกันไป

    เรื่องใหญ่ที่เราต้องใช้ปัญญาเห็นชอบ
    ต้องใช้ปัญญาศัลห้า กับกรรมบถ ๑๐ จะว่าควบกันไป
    เพราะแตกต่างมันแยกอยู่นิดหน่อย

    อย่างข้อ ปาณาติบาต ความโหดร้ายของจิต
    คิดจะฆ่าเขาบ้าง คิดจะทำร้ายเขาบ้าง
    หรือฆ่าเขาบ้าง ทำร้ายเขาบ้าง
    อย่างนี้มันเป็นความดีหรือความชั่ว
    เราก็ทราบว่า คนที่ขาดความเมตตาปราณีประเภทนี้
    มีแต่ความโหดร้ายไม่ใช่คนดี เป็นคนเลว
    ใครเขาคิดเขาทำกับเราแบบนั้นเราไม่ชอบ
    แล้วเราไปทำกับเขา ๆ ก็ไม่ชอบ
    เราจะทำยังไงเราก็ทำเป็นคนใจดีเสีย
    มีเมตตา ความรัก กรุณา ความสงสาร
    แล้วก็ยิ้มสบาย ไปไหนก็มีกำลังใจ
    มีเพื่อนให้ความสุขใจ
    เราก็เห็นชอบกับพระพุทธเจ้าว่า เออ..ศีลข้อนี้มีประโยชน์
    กรรมบถ ๑๐ ข้อนี้มีประโยชน์ ทำให้เรามีความสุข

    ข้อที่ ๒ อทินนาทาน กรรมบถกับศีลก็เหมือนกัน
    ไม่รัก ไม่ขโมย ไม่ยื้อไม่แย่งใคร ไปไหนก็มีแต่คนไว้วางใจ
    เป็นที่รักของคนทั้งหลาย เราก็มีความสุข ก็น่าปฏิบัติตาม

    ข้อกาเมสุมิฉาจาร เราไม่เจ้าชู้เกินไป
    คำว่า "เจ้าชู้" ก็เจ้าชู้เฉพาะสามีภรรยาของเรา
    เจ้าชู้เท่าก็ไม่มีใครเขาว่า
    ยิ่งเจ้าชู้มากเท่าไรภายในบ้านคู่ครองรักมากเท่านั้น
    แต่คนเจ้าชู้นี่ต้องปากหวาน รู้จักการเอาใจ
    ขอประทานอภัย แล้วก็อย่าร้องตะโกน
    ถามมานะญาติโยมพุทธบริษัท
    ว่าท่านที่พูดน่ะท่านเคยเจ้าชู้หรือเปล่า?
    ก็ต้องตอบว่าในชีวิตอาตมาไม่เคยเจ้าชู้เลย
    ตั้งแต่เกิดมาตั้งแต่เด็กถึงแก่นี่ไม่เคยเจ้าชู้
    ก็มีอย่างเดียวมีคนอื่นเขาเมตตา
    คนอื่นเขาเมตตาเรา เราก็เมตตาเขา
    เขาเมตตานี่เขารักเรา เราก็รักเขา
    เขาสงสารเรา เราก็สงสารเขา
    เขาหวังดีกับเรา เราก็หวังดีกับเขา เท่านี้เองไม่เคยเจ้าชู้
    คนที่เจ้าชู้เขาบอกว่า ต้องปากหวาน
    ปากหวานนี่ไม่ได้ทาน้ำผึ้งนะ คือ เสียงหวานพูดเพราะ
    พูดดี พูดตามความเป็นจริง แล้วก็ต้องรู้จักเอาใจกัน
    ถ้าขัดใจกันคนที่เราพอใจเขาก็ไม่รัก
    มันต้องฉลาดในการเอาใจ
    เราก็เอาวิชานี้แหละมาใช้ในบ้านของเรา
    ต่างคนต่างรัก ต่างคนต่างปากหวาน ต่างคนต่างเอาใจกัน
    ยิ่งเจ้าชู้มากเท่าไรภายในบ้านยิ่งมีความสุขมากขึ้นเท่านั้น
    เพราะความเป็นอยู่เป็นสุขไม่ขัดใจกัน
    ต่างคนต่างรัก ต่างคนต่างมีความเมตตาปรานีซึ่งกันและกัน
    เป็นอันว่าข้อนี้พระพุทธเจ้าตรัสว่า ไม่ควรจะเจ้าชู้เกินไป
    อันนี้ถูก สัมมาทิฏฐิ เราเห็นชอบตามนี้ ตามพระพุทธเจ้าตรัส

    และต่อไปเรื่องวาจา วาจานี่ขอเอาศัพท์สุนทรภู่มาว่า ท่านบอกว่า

    "คนจะชั่วหรือดีอยู่ที่ปาก จะได้ยากหิวโหยเพราะชิวหา"

    เรื่องลิ้นที่ประคับประคองเสียงเปล่งออกไปนี่มีความสำคัญ
    บรรดาท่านพุทธบริษัทปากขั้นแรกยิ้มก่อนพูด
    จำให้ดีนะ ยิ้มก่อนพูด
    แล้วก็พูดให้ดีให้ถูกใจคนฟัง
    ถ้าถามว่า "หลวงตาแก่ที่พูดนี่ทำได้ไหม?"
    ก็ต้องตอบว่า "ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง"
    แล้วไปถามว่า "ไปแนะนำเขาทำไม?"
    ก็บอกว่า "แนะนำตามตำรา"

    ถ้าใครทำได้จริง ๆ มีเสน่ห์จริง ๆ ยิ้มแล้วก็ก่อนพูด เวลาพูดก็พูดดี คือ

    ๑. พูดตรงตามความเป็นจริง
    เราก็ชอบเขาก็ชอบ พูดวาจาไม่หยาบคาย
    ไม่สะเทือนใจคนรับฟัง เราก็ชอบเขาก็ชอบ
    พูดไม่ให้เขาแตกร้าวกัน
    มีแต่ความสามัคคี มีแต่ความรักมีความกลมเกลียวกัน
    อย่างนี้เราก็ชอบเขาก็ชอบ
    และพูดเฉพาะวาจาที่เป็นประโยชน์
    ถ้าเป็นอย่างนี้เราก็ชอบเขาก็ชอบ
    ในเมื่อต่างคนต่างชอบ ต่างคนก็พอใจความเป็นเสน่ห์ก็เกิดขึ้น
    ต่างคนต่างรักกัน ต่างคนต่างนับถือกันเราก็มีแต่ความสุข
    ก็เห็นจริงตามพระเจ้าท่านตรัส ดีกว่าการพูดปด พูดหยาบ
    พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล
    อย่างนี้ไม่เป็นเรื่อง ใคร ใคร ก็ไม่ชอบ
    เราก็เลือกเอา เลิกการพูดปด พูดหยาบ
    พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล
    โยนทิ้งไปให้ไกลที่สุดแสนจะไกล
    เอาไว้แต่พูดตามความเป็นจริง
    แล้วก็พูดวาจาไพเราะ แล้วก็พูดให้เขาสามัคคีกัน
    พูดแต่วาจาที่เป็นประโยชน์
    ของอย่างนี้ดีแน่มีแต่คนรัก
    พระพุทธเจ้าท่านตรัสถูก เห็นชอบด้วย
    เพราะเอา เอาเป็นประจำเลย
    อย่าลืม พอตื่นปั๊บยิ้มทันที
    ถามว่า "ยิ้มกับใคร" อันดับแรกก็ยิ้มกับเพดานก่อน
    ถ้านอนในมุ้งยิ้มกับเพดานมุ้ง
    ถ้านอนในห้องไม่มีมุ้งยิ้มกับเพดานห้อง
    พอลุกขึ้นมาเหลียวซ้ายเหลียวขวายิ้มกับฝาอีก
    เอ้า ไปนั่งกับกระจกยิ้มกับกระจกอีก ใช้ได้ไม่เป็นไร
    แต่ระวังถ้าอยู่คนเดียวยิ้มเฉย ๆ อย่าให้เขาเห็นนะ
    ถ้าใครเขาเห็นแทนที่เขาเห็นแล้วเขาจะว่าดี
    เขาจะจับส่งปากคลองสาน เพราะมันดีเกินไป
    นี่การฝึกยิ้มเอาไว้ ใครเขาพูดไม่ชอบใจฝืนยิ้มรับเข้าไว้
    อย่างนี้บรรดาท่านพุทธบริษัทปากยิ้ม ใจเขาก็ยิ้มไปด้วย
    เราก็มีความสุขและก็มีคนรัก
    ถ้าเขาพูดกับเราอย่างนี้เราก็รักเขา
    เราพูดกับเขาอย่างนี้เขาก็รักเรา
    ถ้าต่างคนต่างรักกันนี่บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย
    อะไรมันจะเกิดขึ้น ความสุขซิท่านเกิดขึ้น นี่กรรมบถ ๑๐ ด้วยนะ

    ต่อไปเฉพาะศีลข้อสุรา สุรานี่ในกรรมบถ ๑๐ ไม่มี
    มีอดีตผู้ว่าท่านหนึ่งท่านจดหมายถามมาว่า
    "กรรมบถ ๑๐ ของท่านทำไมไม่มีการห้ามดื่มสุรา"
    ก็แสดงว่าการดื่มสุราเป็นของดี ต้องขอประทานอภัย
    ท่านเป็นอดีตผู้ว่า ท่านเข้าใจพลาดไปนิดหนึ่ง
    ความจริงกรรมบถ ๑๐ ไม่ใช่ของอาตมา เป็นของพระพุทธเจ้าท่าน
    ถ้าคนมีกายดี มีวาจาดี มีใจดี ไม่ต้องห้ามดื่มสุรามันไม่ดื่มเอง
    ถ้าขืนดื่มเอง ความดีในกรรมบถ ๑๐ นี่ไม่ได้ จิตใจมันก็เป๋ไป
    กายวาจาเป๋หมด ใจก็เป๋หมด
    ก็รวมความว่า การดื่มสุราไม่ใช่ของดี
    เมาแล้วก็มีสภาพเหมือนคนบ้า ดีไม่ดีมันเลยไปกว่านั้น
    ด่าพ่อตีแม่ก็ได้ ทุบลูกตีเมียก็ได้
    ทรัพย์สินทั้งหลายเสียหายไป
    เพราะการดื่มสุราและเมรัยโดยไร้ประโยชน์
    เวลาการงานที่มีขึ้นเอาเวลาไปกินสุรามันเสียเวลาการงาน
    ถ้าจะประกอบกิจการงานก็จะมีประโยชน์มาก
    อย่างนั่งดื่มสุราวันละครึ่งชั่วโมง
    ถ้า ๑๐ วันมันก็ ๕ ชั่วโมง
    ๑๐๐ วันก็ ๕๐ ชั่วโมง
    อย่าลืมว่าเวลาเท่านี้สร้างประโยชน์ไม่ใช่น้อยเลย
    แล้วก็ทำประสาทเสีย ศักดิ์ศรีก็เสีย ก็ไม่ขอพูดมาก
    เท่านี้เราเห็นดีตามพระพุทธเจ้าแล้ว มันก็บั่นทอนชีวิต

    คนดื่มสุราและเมรัย บางทีร่างกายทรุดโทรมอย่างหนัก
    ถ้าร่างกายยังไม่ทรุดโทรม ศักดิ์ศรีก็ทรุดโทรม
    ถ้าศักดิ์ศรียังไม่ทรุดโทรม ทรัพย์สินก็ทรุดโทรม
    พอเอาทรัพย์สินไปซื้อกับข้าวได้
    ไปซื้อเหล้ามากินมันไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย
    เราก็เลิกเป็นคนไม่กินเหล้าดีกว่า
    ลูกศิษย์ของอาตมาอยู่คนหนึ่งรับราชการเป็นนายทหาร
    เวลานั้นเธอเป็นเรือโท อาตมาไปพบเข้าเธอกินเหล้า
    ก็ปรากฏเป็นหนี้ดะ เป็นหนี้ลูกน้องยังได้
    ต่อมาก็แนะนำเธอว่า ไอ้การเป็นหนี้ลูกน้อง
    ลดการกินเหล้าแล้วมันจะเป็นหนี้ไหม?
    หนึ่งปีผ่านไปกลับไปใหม่ เธอเลิกกินเหล้าตั้งแต่วันนั้น
    กลับไปคราวนี้แทนที่เธอจะเป็นหนี้เธอเป็นเจ้าหนี้เขา
    แถมยังคุยบอกวิทยุก็มีให้ลูกฟัง โทรทัศน์ก็มีให้ลูกดู
    เพราะการไม่กินเหล้า

    นี่แหละบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย
    ไอ้ปากขวดเหล้ามันไม่โต
    แต่ช้างและครุฑสามารถบินเข้าไปได้
    มันเก็บแบงก์ เก็บเวลาการงานได้ทั้งหมด
    องค์สมเด็จพระบรมสุคตแนะนำว่า จงเว้นเสียแล้วจะมีความสุข
    หนีนรกได้เราก็เว้น เป็นอันว่าหนีได้แน่

    ต่อไปก็กำลังใจไม่คิดอยากได้ทรัพย์สมบัติของบุคคลอื่น
    อันนี้เห็นชัดสัมมาทิฏฐิใช้ปัญญา
    หรืออยากได้ของเขามันจะมีประโยชน์อะไร
    เอาของเขามา เขาไม่เต็มใจให้มันก็เป็นศัตรูกัน
    ถ้าเอามาไม่ได้กำลังใจก็เป็นทุกข์ กินไม่อิ่ม นอนไม่หลับ
    เรียกว่า หากินเองโดยชอบธรรมดีกว่า

    ข้อที่ ๙ ความโกรธ ความพยาบาทจองล้างจองผลาญกัน
    มันมีแต่อารมณ์เป็นทุกข์เราไม่ต้องการ
    เราต้องการความเป็นสุข คือ ความเมตตาปรานี
    เมตตา ความรัก กรุณา ความสงสาร
    ใจสบายกว่ามีอารมณ์ชุ่มชื่น

    และข้อที่ ๑๐ สัมมาทิฏฐิ คือข้อที่กล่าวมาแล้ว
    ก็รวมความว่าถ้าเรามีความเห็นชอบ
    ตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัส
    เฉพาะในขอบเขตของสังโยชน์ ๓ ประการ
    เวลานี้เราปฏิบัติเท่านี้ เราก็ใช้สัมมาทิฏฐิแค่นี้
    อย่าไปใช้กว้างเกินไป กว้างเกินไปมันจะเหลวไหลไร้ประโยชน์
    ปฏิบัติไปไม่ได้อารมณ์ใจจะเป็นโทษ คือ มีความกลุ้ม
    ใช้แค่นี้แหละบรรดาท่านพุทธบริษัท
    ความสุขกายสุขใจของบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย
    จะมีมากขึ้นกว่าปกติมาก

    และสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
    ใช้กำลังกาย วาจา ใจ คิดไว้เพียงเท่านี้
    คือ เริ่มต้นไม่ประมาทในความตาย
    ข้อต่อไปเคารพพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์
    และปฏิบัติตรงในศีลห้าและกรรมบถ ๑๐
    เท่านี้แหละบรรดาท่านพุทธบริษัท
    องค์สมเด็จพระทรงสวัสดิ์โสภาคย์กล่าวว่า
    "บาปทุกอย่างไม่สามารถให้ผลเราได้ ไม่สามารถลงโทษได้"
    และก็นอกจากนั้นบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย
    การเกิดจะมีเฉพาะเทวดาหรือพรหม กับมนุษย์เท่านั้น
    แล้วเกิดไม่นาน กำลังใจอ่อนเกิดเป็นมนุษย์ ๗ ชาติ เป็นพระอรหันต์ กำลังใจอย่างกลางเกิดเป็นมนุษย์อีก ๓ ชาติเป็นพระอรหันต์
    ถ้ากำลังใจเข้มข้น มาเกิดเป็นมนุษย์อีกชาติเดียวเป็นพระอรหันต์

    เอาละบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน
    ในเมื่อเป็นพระอรหันต์แล้วก็จบกัน
    ชื่อว่าจบการปฏิบัติตนหนีนรกเพียงเท่านี้
    ต่อไปอีก ๒ ตอนคือ ตอน ๒๑ กับ ๒๒ เป็นบทสรุป
    ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายคอยติดตามต่อไป
    เวลานี้ก็หมดแล้วขอลาก่อน
    ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผล
    จงมีแด่บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนทุกท่าน สวัสดี...
    ที่มา http://palungjit.org/threads/เพียง๑๐๐บาทร่วมบุญปิดสมเด็จพระพุฒาจารย์โต๖๙นิ้ว.548123/
     

แชร์หน้านี้

Loading...