หนีนรกกับหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ตอนที่ ๑๙ กรรมบถ ๑๐ ข้อที่ ๙ พยาบาท

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 13 กรกฎาคม 2015.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    หนีนรกกับหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ตอนที่ ๑๙
    กรรมบถ ๑๐ ข้อที่ ๙ พยาบาท
    [​IMG]
    ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย
    สำหรับตอนนี้เป็นตอนที่ ๑๙ ของเรื่องการหนีนรก
    การปฏิบัติเพื่อหนีนรกเป็นตอนที่ ๑๙ แต่ก่อนที่จะพูดถึงการปฏิบัติ
    โดยทั่วๆ ไป ก็ขอบทสรุปมาพูดกับบรรดาท่านพุทธบริษัทเสียก่อน
    การหนีนรกจริงๆ ในเบื้องต้อนก็ใช้อารมณ์ ๓ อย่าง
    คือ อารมณ์ตัดสังโยชน์ ๓ ประการ คือ
    ๑. สักกายทิฎฐิ
    ๒. วิจิกิจฉา
    ๓. สีลัพพตปรามาส

    สำหรับอารมณ์ของสักกายทิฎฐินั้น
    มีความเห็นฝืนจากความเป็นจริง คือว่า ไม่ยอมนึกถึงความตาย
    หรือว่าไม่คิดว่าชีวิตนี้มันจะตาย
    ถ้ามีอารมณ์อย่างนี้เป็นอารมณ์ของพระโสดาบัน กับสกิทาคามี
    ถ้ามีความรู้สึกว่าร่างกาย ไอ้ที่พูดเมื่อกี้นะ
    เป็นอารมณ์ฝืนจากอารมณ์ของพระโสดาบัน กับสกิทาคามี
    ถ้าเห็นร่างกายนี้สะอาด สวยงดงาม น่ารักน่าชม
    ข้อนี้มีอารมณ์ที่ฝืนกับอารมณ์ของพระอนาคามี
    การมีความเข้าใจว่า ร่างกายนี้เป็นของเรา
    เรามีในร่างกาย ร่างกายมีในเรา
    อารมณ์อย่างนี้เป็นอารมณ์ฝืนกับอารมณ์ของพระอรหันต์
    ถ้าเราจะตัดเราจะทำแบบไหน
    อันดับแรกจริง ๆ เราก็แก้สักกายทิฎฐิ
    ที่มีความเห็นผิดจากความเป็นจริง
    ทำใจใหม่ให้เห็นถูก การเห็นถูกตามความเป็นจริง
    ก็เพราะว่าตัวอย่างมีมาก คนก็ดี สัตว์ก็ดี
    เกิดมาแล้วต้องตายด้วยกันทั้งหมด
    โดยเฉพาะอย่างยิ่งความตายเป็นของไม่แน่นอนในเวลา
    ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า

    "เธอทั้งหลาย ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง แต่ความตายเป็นของเที่ยง
    และเธอทั้งหลายจงอย่างคิดว่า ความตายจะเข้ามาถึงเราในวันพรุ่งนี้"
    พระองค์ให้คิดว่า ความตายอาจจะมาถึงเราวันนี้ไว้เสมอ
    ในตอนหนึ่งที่พระองค์ตรัสกับพระอานนท์ ถามพระองค์ว่า

    "อานันทะ ดูก่อนอานนท์ เธอคิดถึงความตายวันละกี่ครั้ง"
    ความจริงเวลานั้นพระอานนท์ท่านเป็นพระโสดาบัน
    พระอานนท์กราบทูลองค์สมเด็จพระภควันต์ว่า

    "ข้าพระพุทธเจ้า นึกถึงความตายวันละประมาณ ๗ ครั้งพระเจ้าข้า"

    พระพุทธเจ้าตรัสว่า "อนันทะ ดูก่อนอานนท์
    ความรู้สึกนึกถึงความตายวันละ ๗ ครั้งนี่ห่างเกินไป
    ตถาคตเองนึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก"

    นั่นพระพุทธเจ้าเองก็ไม่ไว้ใจในชีวิต
    ทรงคิดเสมอว่า ชีวิตอาจจะตายเมื่อไรก็ได้
    หายใจเข้าแล้วไม่หายใจออกก็ตาย
    หายใจออกแล้วไม่หายใจเข้าก็ตาย
    ชีวิตของเราจริง ๆ อยู่ที่ลมหายในเท่านั้นเอง
    ให้มีความรู้สึกอย่างนี้เป็นอารมณ์แรกที่จะเข้าไปตัดนรก
    หรือว่าหนีนรกให้พ้น
    ต่อไปเมื่อเราคิดว่า วันนี้เราอาจจะตาย เราก็สร้างความดี
    ความดีอันดับแรก ยอมรับนับถือพระพุทธเจ้า
    ยอมรับนับถือพระธรรม ยอมรับนับถือพระอริยสงฆ์
    เป็นการแก้อารมณ์ของสังโยชน์

    อารมณ์ของสังโยชน์ ข้อที่ ๒ ที่เรียกว่า "วิจิกิจฉา"
    มีความสงสัยว่า พระพุทธเจ้าอาจจะไม่ดี
    พระธรรมอาจจะไม่ดี พระอริยสงฆ์อาจจะไม่ดี
    แต่เราก็ใช้ปัญญาเข้าพิจารณา
    ความดีของพระพุทธเจ้า ความดีของพระองค์
    ก็ไม่ต้องดูคำสรรเสริญ ที่เขาสรรเสริญพระพุทธเจ้า
    แต่เราก็ไม่ยอมฟัง เรามองดูผลของท่านที่ตรัสออกมา
    ในพระธรรมคำสั่งสอง แต่ว่าการตรัสหนีนรกเบื้องต้น
    เราก็ยังไม่ใช้อารมณ์กว้าง ใช้แค่พิจารณาศีลห้า
    ว่าการละเมิดศีลห้ามันดีหรือมันเลว
    มีความสุขหรือความทุกข์ มีความเยือกเย็นหรือความเร้าร้อน
    ถ้าปฏิบัติตามศีลห้าได้ จะมีความเยือกเย็นหรือมีความเร้าร้อน
    หรือมีความสุขหรือความทุกข์
    ก็จะเห็นว่า ทุกคนรักชีวิตของตน
    นี้ศีลข้อที่ ๑ ถ้าไม่ทำลายเข้าเขาก็ไม่ชอบ
    เราคิดทำลายเขา ๆ ก็คิดทำลายเราเป็นของไม่ดี
    มีแต่ความเดือดร้อน ในเมื่อสร้างศัตรู
    ทรัพย์สมบัติของบุคคลใดก็ตามย่อมมีการหวงแหน
    เพราะการหาทรัพย์สมบัติมาด้วยยาก
    ก็ปรารถนาจะใช้สอยตามลำพัง
    ไม่ต้องการให้ใครมายื้อแย่งทรัพย์สินของตนไป
    เราถูกเขาแย่งทรัพย์เราไม่พอใจขนาดไหน
    เขาถูกเราแย่งเขาก็ไม่พอใจขนาดนั้นเหมือนกัน
    สามีและภรรยาต่างคนก็ต่างมีความรัก
    ต่างคนก็ต่างมีความหวงแหน
    ถ้าเราไปละเมิดสิทธิของเขา ๆ ก็ไม่ชอบ
    หรือเขาละเมิดสิทธิของเรา เราก็คงไม่ชอบ
    เหมือนคนอื่นเขาก็ไม่ชอบเหมือนกัน
    การที่เป็นคนไร้สติสัมปชัญญะ ไม่มีสติ
    มัวเมาเผลอสติทำตนคล้ายคนบ้า
    อย่างนี้ใครๆ ก็ไม่ชอบ เราก็ไม่ชอบ คนอื่นก็ไม่ชอบ
    ก็รวมความว่า เราก็เป็นคนดี

    ๑. มีใจดี มีเมตตา ความรัก กรุณาสงสาร
    และก็มีอารมณ์สันโดษ ทั้งหมดทั้ง ๓ ประการ นี้
    สามารถควบคุมศีลได้ เราก็เป็นคนมีความสุข
    เรื่องนี้ขอเว้นไว้แต่เพียงเท่านี้
    บรรดาท่านพุทธบริษัท ต่อไปก็จะพูดถึงกรรมบถ ๑๐ ประการ

    กรรมบถ ๑๐ ประการ ข้อที่ ๙ ที่เรียกว่า "พยาบาท"
    พยาบาทนี่การจองเวรจองกรรม จองล้าง จองผลาญ
    จองความโกรธเข้าไว้ คือ ขังความโกรธไว้นาน ๆ
    คิดทำลายทุกอย่างให้พินาศลงไป
    ใครที่ทำให้ใจเราไม่ชอบ จะฆ่าเขาบ้าง
    เราจะกลั่นแกล้งเขาบ้าง จะคิดประทุษร้ายเขาบ้าง
    อย่างนี้เป็นอารมณ์ที่มีแต่ความเร่าร้อน
    พระพุทธเจ้ากล่าวว่า อารมณ์อย่างนี้เป็นอารมณ์ที่ต้องไปสู่อบายภูมิ
    มีนรกเป็นต้น เพราะกำลังใจเศร้าหมอง
    พระองค์ตรัสว่า ถ้าต้องการจะหนีนรก ให้กลับอารมณ์เสียใหม่
    ให้คิดว่า การเกิดของเรามา
    การจะทำให้ถูกใจซึ่งกันเสมอไป ย่อมไม่มี
    เราทำดีแต่คนเลวก็ไม่ชอบ เราทำเลวคนดีเขาก็ไม่ชอบ
    บางทีเราสร้างความเลว คนเลวก็ไม่ชอบเหมือนกันอย่างนี้ก็มี
    การที่จะทำให้ถูกใจกันเสมอไปไป ย่อมเป็นไปไม่ได้
    เป็นตามธรรมดาของโลก
    ฉะนั้นคนทีทำไม่ถูกใจเรา เราก็ต้องโกรธ
    ในเมื่อเรายังไม่เป็นพระอนาคามี
    แต่ก็ตัดสินใจว่า ความโกรธนี้จะไม่ยอมโกรธนาน
    คิดให้อภัยกับคนที่มีความผิด
    คิดว่า ทุกคนที่ทำไป ทำด้วยความหวังดี
    แต่ว่าที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะอาศัยกรรมที่เป็นอกุศล
    คือ ความชั่วในชาติก่อนที่เขาทำไว้เข้ามาดลใจ
    เป็นปัจจัยให้เขาสร้างความไม่ดีให้เราไม่ชอบใจ

    อันนี้บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย
    ถ้าทำได้อย่างนี้ องค์สมเด็จพระมหามุนีตรัสว่า
    "ถ้าระงับอารมณ์ความโกรธ หรือความพยาบาทเสียได้
    กำลังใจก็จะเต็มไปด้วยความผ่องใส
    คนที่มีความโกรธง่ายและขังความโกรธไว้เร็ว
    ทั้งจิตใจก็ดี ทั้งร่างกายก็ดี ทรุดโทรมง่าย
    จิตใจก็เต็มไปด้วยความเร่าร้อน
    มีแต่ความกระวนกระวาย หาความสุขใจไม่ได้"

    ถ้าเราคิดอยากจะฆ่าเขา คิดอยากจะทำร้ายเขา
    เราก็วางแผน วางแผนว่าคนนั้นตะมีชีวิตอยู่ยังไง
    จะไปทางไหนเมื่อไร จะอยู่กับที่ที่ตรงไหน
    ทางเข้าทางออกที่จะประหัตประหารชีวิตเขา ทำประการใด
    ก็วางแผนและอำนาจความโกรธวางแผนคิดประทุษร้ายเขา
    คนวางแผนนั่นแหละบรรดาท่านพุทธบริษัท
    จะมีร่างกายทรุดโทรมก่อน ดีไม่ดีก็ตายไปก่อนเลย
    ทั้งนี้เพราะอะไร? เพราะว่าเมื่อความโกรธเกิดขึ้น
    ความเร่าร้อนใจเกิดขึ้น คิดอยากจะประหัดประหารเขา
    ก็กินไม่ได้นอนไม่หลับ กลางคืนจะนอนสงัด
    แทนที่จะหลับก็คิดอยากจะประทุษร้ายเขาด้วยความโกรธ
    จะทำแบบไหนจึงทำเขาได้ และทำแบบไหนเขาจึงจะไม่รู้
    ทำแบบไหนเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจึงจะไม่ทราบ
    จะไม่ถูกลงโทษจากทางบ้านเมือง
    คิดอย่างนี้ดึกแสนดึกก็นอนไม่หลับ
    เมื่อนอนไม่หลับ ถึงเวลากินอาหารก็กินอาหารไม่ได้
    ร่างกายก็เริ่มทรุดโทรมไปตามลำดับ
    เนื้อแท้จริงๆ คนที่ถูกเราโกรธเขายังไม่รู้ตัว
    เขาก็ยังกินอิ่มนอนหลับ เราแย่ลงไปแล้ว

    นี่ในปัจจุบันบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย
    ความโกรธไม่ดีแบบนี้ และนอกจากนั้นคนมักโกรธก็มีศัตรูมาก
    ถ้าเราโกรธคนๆ หนึ่ง คิดประทุษร้ายบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
    หรือใช้วาจาจ้วงจาบเพราะความโกรธให้เขาสะเทือนใจก็ดี
    ตั้งใจจะประทุษร้ายเขาแต่ทำไม่ได้ก็ดี
    แต่ฝ่ายนั้นรู้ตัว เมื่อฝ่ายตรงข้ามรู้ตัวเขาก็ไม่ชอบใจเรา
    เราก็มีศัตรูเพิ่มขึ้นมาอีก ๑ คน
    ถ้ามีศัตรูเพิ่มขึ้นมา ๑ คน นี้บรรดาท่านพุทธบริษัทจะนั่งไม่เป็นสุข
    จะนอนก็ไม่เป็นสุข จะยืนก็ไม่เป็นสุข จะเดินก็ไม่เป็นสุข
    ทั้งนี้เพราะอะไร ? เพราะเกรงว่าศัตรูจะเข้ามาประหัตประหาร
    มาทำร้ายเรา ในเมื่อบุคคลหนึ่งเขาเป็นศัตรูกับเรา
    เราประกาศตนเป็นศัตรูกับเขา และบุคคลนั้นไม่ใช่คนเดียวในโลก
    เขาไม่ใช่เกิดมาจากลมหรือไม่ใช่เกิดแบบหนุมานเป็นลูกลม
    และไม่ใช่เกิดขึ้นตามลำพังอย่างเทวดา
    คนที่จะเกิดมานี่ต้องมีพ่อแม่ และก็อาจจะมีพี่น้องติดตามด้วย
    ถ้าเราเป็นศัตรูกับเขาหนึ่งคนนั้นเขาไม่ชอบใจเรา
    คนในตระกูลของเขาในครอบครัวของเขา
    ทุกคนจะไม่ชอบใจเราเหมือนกัน
    เป็นอันว่า เราเพิ่มศัตรูจากบิดามารดาของคนนั้น
    พี่น้องของคนนั้นและญาติสนิทใกล้ชิดของบุคคลนั้น
    เขาจะพลอยโกรธเราไปด้วย
    ศัตรูของเราไม่ใช่หนึ่งคนแล้ว การระมัดระวังตัวก็มากขึ้น
    นอกจากญาติของเขาแล้วบรรดาท่านพุทธบริษัท
    เขาก็ยังจะมีเพื่อนที่รักของเขาอีก
    เพื่อนที่รักของเขา เขารักเพื่อนของเขา
    ในเมื่อเราประกาศตนเป็นศัตรูกับเพื่อนของเขา
    เขาก็โกรธเราเหมือนกัน เขาก็เป็นศัตรูกับเขาเหมือนกัน

    รวมความว่า เรามีศัตรูรอบด้าน การระมัดระวังก็ยากยิ่งขึ้น
    ในเมื่อการวางแผนร่างกายก็ทรุดโทรม
    การต้องระมัดระวัง ต้องระมัดระวังก็ยากยิ่งขึ้น
    การกินไม่อิ่มนอนไม่หลับก็เพิ่มขึ้น เพราะเกรงอันตรายจะเข้ามาถึง
    ไม่ทราบว่าใครจะเป็นศัตรูกับเราบ้าง
    อย่างนี้ละบรรดาท่านพุทธบริษัท
    จะเห็นว่ากำลังของความโกรธนี้เป็นของไม่ดี
    นอกจากนั้นบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย
    ที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า

    "จิตเต สังกิลิฏเฐ ทุคคติ ปาฏิกังขา"
    ก่อนจะตายถ้าจิตใจเศร้าหมองจะไปสู่ทุคติมีนรกเป็นต้น

    "จิตเต ปาริสุทเธ สุคติ ปาฏิกังขา"
    แต่ก่อนจะตายจิตใจน้อมไปถึงด้านของผลบุญอย่างใดอย่างหนึ่ง
    ที่เราทำและนึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ก็ตาม
    จัดว่าเป็นจิตผ่องใส อย่างนี้ไปสู่สุคติ มีสวรรค์เป็นต้น

    ก็คนมักโกรธมีอารมณ์เศร้าหมองอย่างนี้
    ถ้าตายจากความเป็นคนจะไปไหน ก็ต้องไปนรก
    ถ้าโกรธใหญ่ไปนรกขุมใหญ่ โกรธเล็กไปนรกขุมเล็ก
    คำว่า "โกรธใหญ่" ไปโกรธเอาคนดีเข้า
    อย่างโกรธพระพุทธเจ้า ดูตัวอย่าง เทวทัต
    โกรธพระพุทธเจ้า ตายแล้วไปอเวจีมหานรก
    และโกรธพระอรหันต์เข้า ตายแล้วไปอเวจีมหานรก
    โกรธพ่อโกรธแม่ คิดจะประหัตประหารท่าน
    ตายแล้วไปอเวจีมหานรก
    เพราะทั้งหมดนี้เป็นบุคคลที่มีคุณใหญ่
    เขาเรียกว่าโกรธใหญ่
    ก็รวมความว่าโกรธบุคคลดีที่มีคุณกับโลก
    หรือ มีคุณกับสังคม มีคุณกับเรา
    อย่างนี้ชื่อว่า โกรธใหญ่ โทษใหญ่ก็ตาม

    ถ้าโกรธเล็ก หมายถึงว่า โกรธคนที่มีความชั่ว
    อย่างโกรธขโมยขโจร เป็นต้น
    อย่างนี้เราก็ต้องตกนรกเหมือนกัน
    แต่ตกนรกขุมเล็กหน่อย อายุน้อยหน่อย

    ก็รวมความว่า ความโกรธเป็นของไม่ดี
    คนมักโกรธ จึงเป็นคนไร้เสน่ห์
    บรรดาท่านพุทธบริษัท ตอนที่ตอนที่ ๑๙ นี่
    น่ากลัวจะว่า คาถามหาเสน่ห์กันอีกแล้ว
    ในเมื่อโกรธไม่ดีไม่มีเสน่ห์
    ขอบรรดาท่านพุทธบริษัทโปรดใคร่ครวญใจของท่านเอง
    ว่าคนที่โกรธท่านนะ ท่านจะรักหรือท่านไม่รัก
    เราไม่เอาทั้งเกลียดกันละ เอากันรักหรือไม่รักก็แล้วกัน
    อาตมาคิดว่าคนมักโกรธหน้าตายู่ยี่
    อาการที่แสดงออกก็ไม่ดีไม่น่ารัก
    เข้าใจว่าคนทั้งหลายคงไม่รักคนมักโกรธ
    อะไรไม่ถูกใจนิด อะไรไม่ถูกใจหน่อยก็โกรธ
    คนประเภทนี้หาเพื่อนยาก หาคนรักยาก
    เรามาสู้เราฝึกการไม่โกรธไม่ได้

    การไม่โกรธพระพุทธเจ้าตรัสไว้เฉพาะผิวเผิน
    ก็คือ พรหมวิหาร ๔ เราทรงคุณธรรม ๔ ประการเป็นมหาเสน่ห์ใหญ่
    เดี๋ยวจะถามว่า "พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนามีคาถามหาเสน่ห์ด้วยหรือ?"
    ได้พูดมาตอนต้นแล้วว่า พระนี้มีคาถามหาเสน่ห์มาก
    และคาถามหาเสน่ห์ หนักที่สุด
    จะเห็นว่า ในสมัยที่มีร่างกายเป็นมนุษย์
    กำลังประกาศพระพุทธเจ้าก็ไม่น้อย
    แต่คนรักพระพุทธเจ้ามากกว่าคนเกลียด รักไม่รักเปล่า
    ยังมีความเคารพนบนอบด้วย ยอมรับนักถือด้วยประการทั้งปวง
    จะไปที่ไหนที่พักเราก็จัดให้อย่างสบายที่สุด
    อาหารการบริโภคจัดสรรอย่างดีที่สุด
    สถานที่อยู่สร้างให้ราคานับเป็นสิบโกฏิ
    หรือสร้างกันเป็นโกฏิ ๆ ไม่ใช่ล้านนะ
    นั่นเพราะความดีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
    และก็พระพุทธเจ้าท่านมีอะไร?
    ท่านมีพระมหากรุณาธิคุณ ว่า "กรุณา" นี่หมายความว่าสงสาร
    ท่านมีความสงสารบรรดา เวไนยสัตว์
    (ขอโทษเถอะ บรรดาประชาชนทั้งหลาย
    ล่อเวไนยสัตว์เข้าจะกลายเป็นสัตว์นรกไป)
    คือ ท่านสงสารหมด ตั้งแต่สัตว์นรก เปรต อสุรกาย
    และสัตว์เดรัจฉาน มนุษย์หรือเทวดา หรือพรหม ท่านสงสารหมด
    ถ้าใครเขามีโอกาสจะบรรลุมรรคผลได้หรือมีความทุกข์ใด ๆ เกิดขึ้น
    ถ้าไม่เกินวิสัยที่พระองค์จะทรงช่วยเหลือได้ ท่านจะเสด็จไปทันที
    อย่างนี้ เป็นอย่างนี้พระมหามุนีจึงมีคนรักมาก มีคนเคารพมาก

    ต่อมาสำหรับบรรดาพระสาวกทั้งหลาย
    องค์สมเด็จพระจอมไตรทรงแนะนำว่า
    ต้องการเป็นคนมีเสน่ห์ เป็นที่รักเป็นที่ชอบใจของคนทั้งหลาย
    ก็ให้ใช้คาถามหาเสน่ห์ ๔ อย่าง ใช้ ๔ คำมาอีกแล้ว
    ๑. เมตตา ความรัก
    ๒. กรุณา ความสงสาร
    ๓. มุทิตา มีจิตอ่อนโยน ไม่อิจฉาริษยาใคร
    เห็นใคร ได้ดีพลอยยินดีด้วย
    ๔. อุเบกขา วางเฉย

    สำหรับคาถาทั้ง ๔ ประการ ๔ คำนี่
    ไม่ใช่เอาไปท่องจำ หรือท่องจำแล้วก็เป่ามนต์เห็นใครมาก็เป่าพรวด
    ใครมาก็เป่าพรวด ต้องการให้ใครเขารัก ต้องการให้เขามีความสงสาร
    อย่างนี้ไม่มีผล ผลที่จะได้จริง ๆ
    ก็คือ คนนั้นจะเกลียดเอา ไม่เกิดประโยชน์
    คาถาทั้ง ๔ ประโยค หรือ ๔ คำนี่ต้องปฏิบัติ
    ใช้วิธีทำเสน่ห์กันเลย ไม่ใช่ว่าคาถาเป่าเสน่ห์
    ทำเสน่ห์ ทำกันจริง ๆ จัง ๆ ทำทั้งกลางคืน ทำทั้งกลางวัน
    ขณะใดที่ตื่นอยู่ทำตลอดเวลา วิธีทำยังไง จะปั้นความรัก
    ปั้นความสงสาร เอาวัตถุมาปั้นมันก็ไม่ถูก ไม่มีผล ต้องปั้นกำลังใจ
    กำลังใจของเราตามปกติ มันก็รักบ้าง โกรธบ้าง
    สงสารบ้าง เกลียดบ้าง อย่างนี้เป็นต้น
    เห็นใครได้ดี บางทีก็ยินดีด้วย
    บางทีเห็นเขาได้ดีเราก็ไม่ชอบใจ
    บางทีเห็นใครเขาเพลี่ยงพล้ำเราก็ซ้ำเติม
    บางคราวเห็นเขาเพลี่ยงพล้ำเราก็สงสารยับยั้งไม่ซ้ำเติม
    ของเรามันเอาแน่ไม่ได้ บรรดาท่านพุทธบริษัท

    ถ้าคนที่ยังไม่เป็นพระโสดาบัน ขึ้นไป
    องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาตรัสว่า ยังเป็น อนิยตบุคคล
    ยังเป็นคนที่ไม่แน่นอน จะถือว่า รักจริงก็ไม่ได้ สงสารจริงก็ไม่ได้
    โกรธหรือเกลียดจริงก็ไม่แน่
    บางทีตอนเช้ารัก ตอนสายเกลียดเสียแล้ว
    บางทีตอนเข้าเกลียด ตอนสายรักเสียแล้ว
    มันก็ไม่แน่นอนต้องสร้างความแน่นอนให้เกิดขึ้นกับใจ
    คือใช้อารมณ์ความรัก มีความรู้สึกตามความเป็นจริง
    ว่าเราก็ดี คนอื่นก็ดี ต้องการความเป็นมิตร
    ไม่มีบุคคลใดคิดอยากจะเป็นศัตรูซึ่งกันและกัน
    ในการที่เป็นศัตรูกันนั้น ก็เพราะอาศัยโมหะจิต
    คิดหลง ถือตัวเกินไป มีมานะทิฏฐิ
    เราก็วางมานะทิฏฐิเสีย ไม่ถือตัวถือตน
    ทำตนเสมอเหมือนกับเพื่อน
    ท่านผู้ใดมีอายุสูงกว่า มีความดีสูงกว่า
    เราก็ยอมรับนับถือเห็นหน้าซึ่งกันและกัน
    ก็แสดงอาการยิ้มแย้มแจ่มใส

    รวมความว่า ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เว้นไว้แต่เวลาหลับ
    เราจะฝึกการยิ้มไว้ตลอดเวลา
    หรือดีไม่ดีใครจะหลบยิ้มด้วยยิ่งดีใหญ่
    การฝืนยิ้มเขาพูดไม่ชอบใจก็พยายามนิ่ง แล้วก็พยายามยิ้ม
    ฝึกบ่อย ๆ อาการมันชินบรรดาท่านพุทธบริษัท
    ถ้ายิ้มออกมาได้ ถึงแม้กำลังใจยังโกรธ
    แต่ความโกรธมันก็เบา เสน่ห์แห่งการยิ้มมีความสำคัญมาก
    คนที่สวยแสนสวย ดีแสนดี รวยแสนรวย เด่นแสนเด่น แต่ยิ้มไม่เป็น
    ที่พูดมาแล้วในตอนต้น
    เราก็ยิ้มเพื่อความรัก ทำจิตใจให้รักเพื่อน
    รักเพื่อนเสมอด้วยตัว ถ้าเรารักเขาเขาก็รักเรา

    ต่อไปก็อารมณ์สงสาร คือ กรุณา
    ความสงสาร อันนี้ไม่มีความรักมาก่อน ไม่รู้จักมาก่อน
    เห็นเขามีอาการทุกข์ยากลำบาก ในกิจการหรือวัตถุหรืออาหารก็ตาม
    ถ้าไม่เกินวิสัยที่เราจะช่วยได้เราช่วย
    สมมุติว่า เขาขาดแคลนทรัพย์สินหรืออาหาร
    เราไม่มีทรัพย์จะให้ เราไม่มีอาหารจะให้
    แต่เราก็ช่วยพยุงไป หรือชี้ช่องบอกทาง ว่าบ้านนั้นคนนั้น คนนี้ชื่อนั้น
    เขาสามารถจะให้ความสงเคราะห์
    และถ้าเขาไปได้รับการสงเคราะห์จริง ๆ
    บรรดาท่านพุทธบริษัทชายหญิง
    คนนั้นอาจจะอดคิดถึงเราไม่ได้
    เขาต้องรักเรา เพราะเราสงสารเขา

    ข้อต่อไป มุทิตา มีจิตอ่อนโยน
    นี่สำคัญมาก คือไม่ทำใจแข็งกระด้าง
    ไปที่ไหนก็ทำตนเสมอกับเพื่อน
    มีอะไรบ้างที่เพื่อนต้องการ
    ถ้าเกินวิสัยเรานิดหน่อย มันฝืนกำลังใจ
    ทำใจอ่อนโยนคล้อยตามก็เป็นที่รักของเพื่อน
    นอกจากนั้นเห็นใครได้ดีพลอยยินดี
    ด้วยไม่อิจฉาริษยาใคร
    แสดงความยินดีด้วยความเต็มใจ นี่ก็เป็นมหาเสน่ห์
    รวมความว่าทั้ง ๓ ข้อเป็นมหาเสน่ห์ใหญ่
    ใครทรงอารมณ์อย่างนี้ได้ทำได้ จะเป็นที่รักของบุคคลทั่วไป

    ข้อที่ ๔ อุเบกขา การวางเฉย เห็นคนที่มีความทุกข์มีความยาก
    มีความลำบากมีอาการเพลี่ยงพล้ำไม่ซ้ำเติม
    แทนที่จะซ้ำเติมกลับเข้าประคับประคอง
    ถ้าช่วยได้ก็จะพยายามช่วย ถ้าช่วยด้วยกำลังกาย
    กำลังทรัพย์ไม่ได้ ก็ใช้วาจาช่วยให้เขาชื่นใจ
    เท่านี้แหละบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย
    อาการของพยาบาทจะหดหายลงไป
    ตัดหายไปทีละหน่อย ๆ
    ในที่สุดพยาบาทหรือความโกรธจะไม่เหลือเลย
    เราก็จะเป็นคนมีความสุข ตามพุทธภาษิตที่กล่าวไว้ว่า

    "จิตเต อสังกิลิฏเฐ สุคติ ปาฏิกังขา"

    ถ้าจิตใจของเราไม่เศร้าหมอง มีชีวิตอยู่มีความสุข
    เพราะมีคนรักมาก ตายไปแล้วก็มีความสุข มีสวรรค์เป็นต้น
    ดีไม่ดีก็ไปพรหม เพราะพรหมวิหาร นี่เป็นที่อยู่ของพรหม

    เอาละบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย
    เวลาหมดพอดีก็ต้องขอลาก่อน
    ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผล
    จงมีแด่บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนทุกท่าน สวัสดี...
    ที่มา http://palungjit.org/threads/เพียง๑๐๐บาทร่วมบุญปิดสมเด็จพระพุฒาจารย์โต๖๙นิ้ว.548123/
     

แชร์หน้านี้

Loading...