กายคตานุสสติ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย jinny95, 20 กันยายน 2011.

  1. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    กายคตานุสสติ


    เทศน์ ณ วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย


    วันที่ ๔ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๒๒

    [​IMG]

    วันนี้จะเทศน์เรื่อง กายคตานุสสติ ที่จริงเทศน์ทีไรก็ไม่พ้นกายคตานุสสติไปได้ แต่เมื่ออธิบายอนุสสติ ๑๐ ก็จะพูดถึงเพื่อให้เป็นลำดับกัน ถ้าหากว่าอธิบายถึงเรื่องมรณานุสสติ หรือ กายคตานุสสติ และ อานาปานสติ แล้ว ก็อันเดียวกันนั่นแหละ เพราะเกี่ยวเนื่องถึงเรื่องกายด้วยกันทั้งนั้น แยกกันเพียงเล็กน้อย


    คนเราเกิดขึ้นมาไม่ค่อยจะพิจารณาถึงตัวของเรา มันตรงกับคำว่ากราย คือ มันกรายไปเสีย มันไม่พิจารณาตรงนี้ ไปพิจารณาตรงอื่นโน้นมันเลยกรายไป พ้นไปโน่น จึงเรียกว่ากราย


    พระพุทธองค์ทรงสอนให้พิจารณากาย เรียกว่า กายคตานุสสติ อาจจะพิจารณาเป็น อสุภ ปฏิกูล พิจารณาเป็นธาตุ คือเป็น ดิน น้ำ ไฟ ลม หรือพิจารณาเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จำพวกนี้แหละ ถ้าพิจารณา กายคตานุสสติ แล้ว ไม่พ้นไปจากนี้


    ที่พิจารณาอสุภ หรือจะพิจารณาอะไรก็ตามเถิด ถ้ามันจะเกิดเป็นอสุภ หรือเป็นธาตุ หรือเป็นไตรลักษณ์ มักเกิดขึ้นมาเอง เช่น เห็นว่าเป็นคนตายเปื่อยเน่าปฏิกูลหรือเห็นร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งเน่าเปื่อย ผุพังลงไป อันนั้นเรียกว่าเกิด อสุภ แล้วจะเห็นชัดกว่าเห็นด้วยตาธรรมดา เพราะเห็นด้วยสมาธิ ธรรมดาที่เราเห็นๆ กันนี้ไม่ค่อยชัดเท่าใด ถ้าเห็นเป็นอสุภแล้วเกิดสังเวชเบื่อหน่าย ในตอนที่เห็นนั้นเบื่อหน่ายจริงๆ สะอิดสะเอียน จะรับประทานอาหารก็ไม่ได้ตั้ง ๒-๓ วัน เพราะเหตุเบื่อหน่ายปฏิกูลโสโครกอาจเห็นเป็นหนอนบ่อนไชกันอยู่หมดทั้งร่าง กาย อันนั้นเรียกว่า อสุภ เกิดแล้วมันเกิดขึ้นมาพักหนึ่งในระยะวันหนึ่งสองวัน แล้วก็กลับเป็นปกติพิจารณาอะไรก็เหมือนเดิม


    ที่พิจารณาเห็นอสุภปฏิกูลเปื่อยเน่านั้น แท้ที่จริงร่างกายของเราไม่ได้เน่าเปื่อยอะไร ยังเป็นปกติธรรมดา ยังสมบูรณ์บริบูรณ์อยู่ตามเดิม แต่มันเห็นในสมาธิภาวนา


    แล้วการเกิดอสุภมันเป็นประโยชน์อย่างไร การเกิดอสุภมันดีที่เกิดสลดสังเวชเบื่อหน่าย คลายจากความยินดีพอใจในรูปของตนและของคนอื่นและสลดสังเวชในการที่เราได้ของ ไม่ดี คือตัวของเราที่เกิดขึ้นมานี้ มันเป็นของปฏิกูลเปื่อยเน่าทั้งหมดเป็นของไม่งาม อุปมาเปรียบเหมือนกันกับคนยังหนุ่มยังสาวอยู่ เอาอสุภมาแขวนคอก็จะสะอิดสะเอียนน่าเกลียดที่สุด ฉันเดียวกันนั่นแหละ


    อสุภจึงเป็นประโยชน์อย่างนี้ ท่านจึงให้พิจารณาอสุภบ่อยๆ ทีหลังหากมันไม่เกิดอย่างนั้น ก็ให้นำอารมณ์อันนั้นมาพิจารณา มันจะได้สลดสังเวชมันจะได้เบื่อหน่ายตนเองและคนอื่น แต่การเบื่อหน่ายอย่างนั้นมันเป็นไปหน้าเดียว หาปัญญาไม่ได้ บางคนเมื่อเป็นนาน ๆ เบื่อหน่ายสะอิดสะเอียนว่าได้ของไม่ดี อยากจะทิ้งอยากจะถอนอยากจะละกายนี้ บางคนถึงจะฆ่าตนตายก็มี อันนั้นมันเกินไป การเห็นเช่นนั้นเป็น สมถะ ตอนนั้นท่านเรียกว่า ฌาน ไม่ได้เรียกว่า สมาธิ ฌานนี้ถ้าไม่ชำนาญมันเสื่อมได้ แต่ก็ห้ามไม่ให้เป็นเช่นนั้นไม่ได้ มันเกิดของมันเองต่างหาก


    การฝึกหัดปฏิบัติจิตต้องเป็นอย่างนั้น ห้ามไม่ได้เด็ดขาด และจะตกแต่งให้เป็นอย่างนั้นก็ไม่ได้ แต่ผู้ที่รู้เท่ารู้เรื่องไม่เบื่อหน่ายจนกระทั่งอยากจะฆ่าตนตายอย่างนั้น เวลาเกิดความเบื่อหน่ายสลดสังเวชขึ้นแล้ว ก็ย้อนมาพิจารณาภายนอกธรรมดาๆ นี่ จะเห็นตามเป็นจริง แล้วละวางกายที่เคยยึดถือได้ นี่เป็นเรื่อง สมาธิ ต่างกับ ฌาน เรื่อง ฌาน เห็นหน้าเดียว เรื่อง สมาธิ มันต้องเห็นกลับไปกลับมา


    คราวนี้พิจารณา กายคตานุสสติ อีกแบบหนึ่ง พิจารณาตัวของเรานี้ให้เป็นธาตุทั้งหมด กายนี้เกิดมาจากธาตุสี่ ดิน น้ำ ไฟ ลม ผสมกันเป็นก้อนเป็นกลุ่มเป็นตนเป็นตัวเติบโตขึ้นมา แล้วก็แก่เฒ่าทรุดโทรม ตายไป สลายกลายไปเป็น ดิน น้ำ ไฟ ลม ไปตามเดิม เมื่อคนเกิดมาอีกก็เอาอันนั้นมาเกิดเป็นกาย เมื่อตายไปก็สลายกลายเป็น ดิน น้ำ ไฟ ลม ตามเดิมอีก จึงว่าเอาของเก่า มาเกิด มาแก่ มาเจ็บ มาตาย ไม่ใช่ของอื่น เอา ดิน น้ำ ไฟ ลม ของเก่านั่นแหละ คือ


    ใจที่มาครองร่างกายอันนี้ ก็มาถือเอา เป็นตนเป็นตัว เป็นของเรา เป็นของเขา เมื่อมายึดก็เป็นกิเลสขึ้น มาพอกพูนขึ้นในตัวของเรา ทุกคนเกิดขึ้นมาต้องยึดถือตนตัวอันนี้ เรียกว่า อุปาทาน คือ อุปาทาน ขันธ์ห้า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มีครบหมดบริบูรณ์ในที่นี้


    ขันธ์ห้า เป็นตัวการให้เกิดกิเลสสารพัดร้อยแปดพันประการ ก็ของเก่านั่นแหละคนที่ไปยึดถือเอาน้อยก็ได้น้อย คนที่ไปยึดถือเอามากก็ได้มาก ของในตัวนอกตัวไปยึดเอาหมด แม้แต่ของสิ่งนั้นยังไม่มาถึงตัวเลยก็เป็นทุกข์ไปก่อนแล้ว เช่น กลัวตาย ทั้งๆ ที่ความตายยังไม่มาถึงก็กลัวตายไปก่อนแล้ว กลัวไปหมด กลัวจะพลัดพรากจากกัน กลัวจะตายจากกัน ความยึดถือในขันธ์มันมากเกินไป


    ถ้าหากพิจารณาตามความเป็นจริงว่า มันเกิดขึ้นมาจากธาตุทั้งสี่ ดับลงไปก็ไปแปรเป็นธาตุสี่ ดิน น้ำ ไฟ ลม ของเก่านั่นเอง มาเกิดทีไรก็ได้ของเก่า จะไปยึดถืออะไรของเก่าไม่ใช่ของใหม่ มันก็ไม่ยึดไม่ถือปล่อยวางลงไปได้ อันนี้เรียกว่า ผู้ไม่ยึดไม่ถือ การพิจารณาอย่างนั้นมันเป็น ไตรลักษณ์ ไปในตัวและเป็นกายคตานุสสติ เป็น สติปัฏฐาน พร้อมเสร็จไปในตัว และยังเป็นมรณานุสสติไปด้วย


    ในการที่มันเปลี่ยนสภาพอยู่เรื่อยๆ มันทนทรมานจนเฒ่าจนแก่นั้นเรียกว่าทุกข์ คำว่าทุกข์ หมายถึง ทนได้ยาก ต้องยืน ต้องเดิน ต้องนั่ง ต้องนอน ผลัดเปลี่ยนกิริยาอยู่อย่างนั้น เพราะทนทุกข์ มันจึงค่อยเปลี่ยน เปลี่ยนไปแล้วก็อยู่ไม่นาน ต้องกลับมาเป็นของเก่า ยืน เดิน นั่ง นอน วนเวียนอยู่อย่างนั้นแหละ ไม่ว่าอะไรของเก่าทั้งนั้น


    อันนี้เป็นเรื่องความเป็นทุกข์ของคนเราทุกๆ คน แล้วก็ของอันนั้นไม่ใช่ของใครทั้งหมด ใครจะห้ามไม่ได้ บอกก็ไม่ฟัง ต้องเป็นสภาพของมันอยู่อย่างนั้น เรียกว่า อนัตตา ในที่สุดมันก็ตายสลายไปหมด จะรักษาก็ได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น ที่สุดแม้หมอเองก็ต้องตายเหมือนกัน ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้าสักคนเดียว


    เรื่องพิจารณา กายคตานุสสติ นี้เป็นของกว้างขวางมาก เป็น สมถะ และเป็น วิปัสสนา ในตัว


    เป็น สมถะ คือ เมื่อพิจารณาจนเข้าถึงความสงบอย่างที่เล่าให้ฟังมาแล้วมันจะเกิดอสุภปฏิกูล จิตมันยังหวั่นไหวอยู่กับอสุภปฏิกูล นั่นไม่ใช่จิตรวม จิตไม่ส่งส่ายก็จริง แต่มันยังหวั่นไหวอยู่ มันเกิดเบื่อหน่ายปฏิกูล มันเกิดปฏิฆะในตัวของเรา จึงยังหวั่นไหวอยู่ แบบนี้เรียกว่า ฌาน จิตไม่ออกไปนอก แต่มันหวั่นไหวอยู่ภายในนั้นได้


    ส่วน สมาธิ เมื่อพิจารณาแน่วแน่จนเป็น เอกัคคตารมณ์เอกัคคตาจิต จิตเป็นหนึ่งแล้ว มันเห็นชัดตามความเป็นจริง ตามสภาพของธรรมชาติ มันเกิดอย่างไรต้องเห็นตามความเป็นจริงอย่างนั้น คนเราเกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย จะเห็นและเข้าใจสภาพต่างๆ ตามเป็นจริงลึกซึ้งชัดเจน ไม่กลัวไม่หวั่นไหว และปล่อยวางหรือคลายความยึดถือในกายในสิ่งต่างๆ ลง


    เรื่องสมาธิต้องเป็นอย่างนั้น สมาธิจะเกิดวิปัสสนาไปในตัวแตกต่างจากฌาน อันฌานนั้นมันเกิดวิปัสสนูปกิเลสไปโน้น


    เมื่อเกิดสมาธิและวิปัสสนาไปในตัวแล้ว ต่อไปสมาธิมันดำเนินเข้าแนวของ วิสุทธิ ๗ เกิด ปัญญาวิปัสสนา ไปในตัว เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พร้อมกันไปในนั้น


    วิสุทธิ ๗ คือ


    ๑) สีลวิสุทธิ วิสุทธิ คือ สีลวิรัติ การงดเว้นตามศีลในข้อนั้นๆให้บริสุทธิ์ตามขั้นคือ อุบาสก-อุบาสิกา มีศีล ๕ ศีล ๘ สามเณรมีศีล ๑๐ ภิกษุมีศีล ๒๒๗ ให้บริสุทธิ์หมดจด ( ตามภูมิ ได้แก่ มรรคนั้นๆ มีโสดามรรค-โสดาผล เป็นต้น )


    ๒) จิตตวิสุทธิ ความบริสุทธิ์แห่งจิต ได้แก่ สมาธิของท่านที่ได้ตามภูมินั้นๆ ( เช่น โสดาปัตติผล เป็นต้น )


    ๓) ทิฏฐิวิสุทธิ ความบริสุทธิ์แห่งความเห็น ได้แก่ปัญญา ( ของท่านที่ได้ในภูมินั้นๆ มีโสดาบันบุคคล เป็นต้น )


    ๔) กังขาวิตรณวิสุทธิ ความบริสุทธิ์แห่งการข้ามพ้นความสงสัย( ในพระพุทธ พระธรรม พระสงสงฆ์ และในธรรมทั้งปวงที่ตนเห็นแล้ว )


    ๕) มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ความบริสุทธิ์แห่งความรู้ เห็นว่าทางที่ถูกต้องเป็นอย่างไร เป็นทางที่ถูกต้องหรือมิใช่


    ๖) ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ความบริสุทธิ์แห่งความรู้ เห็นว่านี่ใช่ทางปฏิบัติที่ถูกต้องแล้ว


    ๗)ญาณทัสสนวิสุทธิ์ ความบริสุทธิ์แห่งความรู้ เห็นพระนิพพาน ( ความรู้เห็นด้วยตนเองโดยแจ่มแจ้งว่า นี้คือ พระนิพพานด้วยความบริสุทธิ์ใจ )


    วิสุทธิ ทั้ง ๗ นี้ มีสมาธิเป็นรากฐานก่อนแล้วจึงจะเกิด เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็สืบเนื่องกันไป ท่านอุปมา เปรียบเหมือนยานพาหนะส่งต่อกันไป ๗ ทอด ย่อมนำผู้มีความประสงค์จะไปถึงจุดหมายปลายทางให้สำเร็จความปรารถนา ฉะนั้น ถ้าส่งไม่ถึงปลายทาง โดยที่ยานพาหนะนั้นชำรุดเสียหายอันใดอันหนึ่ง ผู้นั้นก็ดำเนินมรรคไม่ถึงที่สุด


    ฉะนั้น สมาธิ เป็นเหตุให้เกิด ปัญญาวิปัสสนา แต่มิใช่เกิดทุกครั้งๆ เรื่อยไป บางครั้งบางคราวมันเกิดชัดเจนแจ่มแจ้งขึ้นมาภายใน โดยที่ไม่มีใครบอกเล่าแจ้งชัดขึ้นมาทั้งหมดเลย หายสงสัยในสิ่งทั้งปวง นี่แหละอานิสงส์ของ กายคตานุสสติ


    ได้เคยอธิบายมามากมาย ล้วนแล้วแต่พิจารณากายคตานุสสติทั้งนั้น ที่อธิบายให้ฟังในวันนี้ ฟังแล้วบางทีมันก็ลืมไปเสียเฉยๆ เมื่ออธิบายอีกคราวหลังเข้าใจว่าเป็นของใหม่ แท้จริงก็ของเก่านั่นแหละ จิตของเราไม่ถึงสมาธิภาวนา ก็เลยไม่เข้าถึงธรรม มันก็ไม่ชัดในใจของเรา


    การพิจารณา กายคตานุสสติ นี้ เป็นวิปัสสนากว้างขวางมาก เมื่อจะพิจารณาวิปัสสนา ท่านก็ให้พิจารณา ขันธ์ห้า ก็กายนี้เอง ธาตุสี่ ก็กายนี้ อายตนะหก ก็กายนี้เหมือนกัน


    เราทุกคนจงพิจารณากายนี้ให้เป็น อสุภ มันเป็นจริงอย่างท่านพูดหรือไม่ ไม่ต้องพิจารณาให้ลึกซึ้งมาก พิจารณาตื้นๆ ที่เห็นกันอยู่ง่าย ๆ เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เมื่ออยู่ในตัวของเราก็ถือว่าเป็นของธรรมดาๆนี่แหละ แต่เมื่อมันหลุดออกจากร่างกายของเราแล้วมันเป็นอย่างไร น่าเกลียดไหม แค่จะหยิบมาดูก็น่าขยะแขยงเสียแล้ว ฟันเมื่ออยู่ในปากเคี้ยวอาหารรับประทานเอร็ดอร่อยทุกวัน เมื่อหลุดจากปากแล้วจะเอาไปเคี้ยวอีกได้ไหม กลายเป็นของไม่มีประโยชน์ไปเสียแล้ว ยิ่งเป็นอวัยวะภายในมี ไส้ เป็นต้น เมื่อมีเครื่องหุ้มห่อปกปิดไว้ก็ไม่รู้สึกอะไรพอเปิดออกมาเห็นเข้าก็หน้าเบ้ ด้วยกันไปทั้งนั้น เห็นอย่างนี้แหละเรียกว่า เห็นของจริงตามเป็นจริง มันเป็นจริงอย่างไรก็ต้องเห็นจริงอย่างนั้น


    พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาว่า ยถาภูตํ สมฺมปฺปญญฺาย ทฏฺฐพฺพํ มันเป็นจริงอย่างไรก็ให้เห็นตามเป็นจริงอย่างนั้น ไม่ต้องหลับตาภาวนาแล้วจึงเห็น ให้พิจารณาอยู่อย่างนี้แหละทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน ก็จะเห็นชัดด้วยตนเอง มีความเบื่อก็ทิ้งไม่ได้ รู้สึกสะอิดสะเอียนก็ทิ้งไม่ได้ จำเป็นจะต้องเลี้ยงดูประคับประคองต่อไป จะเอาไปทิ้งที่ไหนเล่า จะเอาไปให้ใคร ใครจะเอา ทิ้งให้ใคร ใครก็ไม่เอา ทุกคนก็มีอยู่เหมือนกันแล้ว เปรียบเหมือนชาวนาทำนา เริ่มตั้งแต่ หว่าน ไถ ปักดำ เก็บเกี่ยว เวลาสำเร็จเป็นข้าวนำมารวมลงที่ลานข้าว แล้วเก็บขึ้นฉาง เมื่อบริโภคก็รวมลงที่ข้าวอันเดียว ไม่ว่าจะประดิษฐ์เป็นขนมชนิดใด ข้าวต้ม ข้าวสวย ของหวานของคาว อะไรก็มารวมลงที่ข้าวอันเดียว ที่ว่าขนมๆ คือมาจากข้าวนั่นเองพุทธศาสนาก็ฉันนั้นเหมือนกัน


    ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เกิดออกไปจากใจอันเดียว พุทธศาสนานี้จึงเรียนมีที่จบ คือรวมลงเป็นอันหนึ่ง เมื่อเป็นอันเดียวแล้วก็รู้รอบหมดสงสัย แต่ผู้ปฏิบัติยังปฏิบัติไม่จบ เพราะเข้าไม่ถึงหลักธรรม


    คราวนี้พิจารณากายอันนี้ให้เป็น ธาตุสี่ ของในตัวเรานี้ที่เป็นก้อนข้นแข็ง เรียกว่า ธาตุดิน ที่เป็นของเหลวๆ เรียกว่า ธาตุน้ำ ที่ให้ความอบอุ่นไปทั่วร่างกายเรียกว่า ธาตุไฟ ที่มีอาการพัดไปพัดมาทั่วร่างกาย เช่นลมหายใจออก หายใจเข้า เป็นต้น เรียกว่า ธาตุลม คนเราเกิดมาต้องมีธาตุทั้งสี่นี้ประกอบกันบริบูรณ์อยู่ เมื่อจะแตกดับ ก็เพราะธาตุทั้งสี่ขาดตกบกพร่อง ส่วนใดส่วนหนึ่งแปรปรวนไปคุมกันไม่อยู่ผลที่สุดก็ดับไป การพิจารณากายอย่างนี้เป็น กายานุสปัสสนา ไปในตัว


    ถ้าพิจารณา กายานุสปัสสนา นี้แก่กล้าแคล่วคล่องชำนิชำนาญจนมี สติ ควบคุมจิต ให้เป็น สมาธิ แน่วแน่ อยู่ในอารมณ์อันเดียว จนเรียกว่า สติ กับ สมาธิ รวมเข้าเป็นอันเดียวกัน ปัญญาก็ไม่ยิ่งหย่อนกว่า สติ และ สมาธิ สติ และ สมาธิ อยู่ในที่เช่นไร ปัญญาก็รอบรู้ในที่เช่นนั้น สติ สมาธิ ปัญญา จะรวมลงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในตำแหน่งนั้นจะเรียกว่าอะไรก็ถูกหมดทั้งนั้น ที่ว่าธรรมทั้งหลายเกิดจากของอันเดียว ก็จะรู้ชัดขึ้นในที่อันเดียวนี้


    สภาวะอันนี้มิใช่แต่งเอาได้ แม้จะเรียนตำรามากๆ แล้วมาประดิษฐ์เอาก็ไม่ได้ หรืออยู่เฉยๆ จะให้มันเกิดเองก็ไม่ได้ ต้องปฏิบัติให้มันตรงแล้วจึงจะเกิด เมื่อจะเกิดก็เกิดขึ้นโดยมิได้นึกมิได้คิด เมื่อปฏิบัติให้ตรงแล้ว มันหากเป็นเองเกิดเองของมันต่างหาก เอวํ


    นั่งสมาธิ


    ท่านอาจารย์อบรมนำก่อน


    พากันนั่งภาวนา จงตั้งสติกำหนดลมหายใจของตนๆ ให้เห็นใจของตน คือกำหนดตามลมหายใจเข้า หายใจออก เอาสติไว้ที่ลมนั้นให้ดูเฉพาะผู้ที่รู้ว่าหายใจเข้าออกเท่านั้น อย่าไปดูที่ลมหายใจเข้าหายใจออก


    เมื่อจับ ผู้รู้ ได้แล้วก็จะวูบหายไป จิตก็จะแน่วแน่เป็นอารมณ์อันเดียวนั่นเป็นสมาธิแล้ว


    ถ้าเราไปจับเอาที่ลมก็จะพะวงเอาแต่ลม ใจจะไม่รวมเป็นสมาธิได้สักที ที่ให้ภาวนาเอาลมหายใจเป็นอารมณ์นั้น เพียงแต่เป็นเหยื่อล่อให้จิตรวมเข้ามาอยู่ในที่นั้นเฉยๆ ความจริงเราต้องการเอา จิต นั้นต่างหาก เมื่อเราจับเอาจิตคือ ผู้รู้ ได้แล้ว ก็ปล่อยวางลมเสีย ถึงเราไม่ปล่อยวางมันปล่อยวางเองของมันโดยอัตโนมัติ


    ถ้าจับ ใจ ยังไม่ได้ จงพยายามกลั้นลมหายใจ แล้วตั้งสติดูตัว ผู้รู้ ณ ที่นั้นก็จะมีแต่ ผู้รู้ เฉยๆ ไม่มีอาการคิดส่งส่ายไปมาหน้าหลังเป็นกลางๆ เฉยๆ นั่นคือ ใจ แท้


    ผู้คิดผู้นึกเป็นบาปเป็นบุญ และอะไรต่ออะไรร้อยแปดพันประการนั้นคือ จิต กิเลสทั้งหลายมี ราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น เกิดขึ้นเพราะ จิต ดังที่พระองค์ทรงเทศนาว่า


    จิตฺตํ ปภสฺสรํ อาคนฺตุเกหิ กิเลเสหิ แปลความว่า จิตเป็นประภัสสร อาคันตุกะกิเลสมันจรมาหุ้มไว้ต่างหาก ( จิตไปเอามา จึงทำให้ใจเศร้าหมอง )


    ในที่ทั่วไปท่านแสดง จิต กับ ใจ เป็นอันเดียวกัน ดังในบทคาถาที่ยกมา เป็นต้น แต่ในทางปฏิบัติแล้วอยากจะอธิบายให้เห็นชัดว่า


    จิต เป็นอย่างหนึ่ง คือ มีอาการให้คิดให้นึก


    ใจ เป็นอย่างหนึ่ง คือ มีอาการให้รู้สึก เป็นกลางๆ อยู่เฉยๆ


    ดังที่ได้อธิบายมาแล้ว ของกลางเรียกว่า ใจ ดังภาษาบ้านเราถ้าเป็นกลาง ก็เรียกว่าใจ เช่น ใจมือ ใจเท้า ใจไม้ แม้แต่หัวใจของคนเมื่อพูดถึง ใจ แล้ว ก็ชี้เข้าไปที่ท่ามกลางหน้าอก ดังนี้เป็นต้น


    ธรรมทั้งหลายที่เป็นบุญและเป็นบาปก็ดี เมื่อจะเกิดก็เกิดที่ใจก่อน แล้วจึงลุกไปไหม้และเผาผลาญบุคคลอื่นและสิ่งอื่นต่อไป เหมือนกับไฟไหม้บ้าน ฉะนั้น ส่วนที่เป็นกุศลเหมือนกันเมื่อบุคคลทำดีแล้ว ให้เกิดความสุขแก่ตนแล้วก็แผ่ไปให้คนอื่นให้ได้รับความสุข ดังพระองค์ทรงเทศนาว่า


    มโนปุพฺพํ คมาธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนมยา ความว่า ธรรมทั้งหลาย มีใจถึงก่อน ( ใจรู้ก่อนอวัยวะอื่นๆ ในตัวของเรา ) มีใจประเสริฐ ( จึงเป็นผู้ประเสริฐ ) สำเร็จแล้วด้วยใจดังนี้


    ในที่นี้ท่านว่า ใจ ท่านไม่ได้พูดว่า จิต เพราะฉะนั้น จิต กับ ใจก็อันเดียวกันนั่นแหละ ที่อธิบายแยกไว้นั้นเพื่อให้นักปฏิบัติเข้าใจง่าย เมื่อเข้าถึงสมาธิภาวนาเป็นเอกัคคตาจิตแล้ว คำว่า จิต หรือ ใจ จะหายไป ยังเหลือแต่ ผู้รู้ อันเดียว แล้วรักษาอันนั้นไว้ให้ได้อยู่นานเท่าที่จะนานได้ ความสงบสุขอันนั้น เป็นสิ่งที่ทุกๆ คนต้องการและปรารถนาอย่างยิ่ง


    คัดลอกจาก http://www.thewayofdhamma.org/topic/top_52.html
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 20 กันยายน 2011
  2. thanan

    thanan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 กันยายน 2004
    โพสต์:
    1,668
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +5,216
    ถ้าใครนำไปปฏิบัติ ขอให้ได้บรรลุธรรมในชาตินี้นะครับ
     

แชร์หน้านี้

Loading...