ภูมิของวิปัสสนา หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย jinny95, 10 สิงหาคม 2010.

  1. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    ภูมิของวิปัสสนา

    หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี


    ธรรมะทุกประการที่พระพุทธเจ้าทรงสอน ต้องรวมเข้ามาจึงค่อยถูก ถ้ายังไม่รวมเข้ามายังกระจายอยู่ ก็เรียกว่ายังไม่ถูก วันนี้จะเทศน์ถึงเรื่อง ขันธ์ ขันธ์ ก็เป็นส่วนรวมส่วนหนึ่งเหมือนกัน คือ ขันธ์ ได้แก่ รูป กับ นาม เป็นสองอย่าง มันต้องอยู่รวมกัน มีแต่รูปอย่างเดียวไม่มีนาม มันก็ใช้การอะไรไม่ได้ มีแต่นามอย่างเดียวไม่มีรูปก็ใช้การไม่ได้


    พูดถึงเรื่องรูปเสียก่อน เพราะรูปเป็นของเห็นได้ง่าย คือ ตัวของเราที่ปรากฏอยู่เดี๋ยวนี้ ศาสนาแทรกอยู่ในรูปนั่นเอง ที่ท่านเรียกว่า รูปขันธ์ หมายถึง บรรดารูปทั้งปวงหมดทุกสิ่งทุกอย่าง จะเป็นรูปเล็กรูปน้อย รูปหยาบ รูปละเอียดก็ตาม รวมเรียกว่า รูป ทั้งหมด รูปอันนี้ มันเป็นเหตุให้เรายึดถือ จิตเป็นคนยึด ตั้งแต่เกิดมา จิตก็ยึดถือมั่นในรูปอยู่อย่างนั้น ตลอดเวลา


    พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้พิจารณารูป ที่ว่า ปญฺจกฺขนฺธา รูปขนฺโธ เวทนาขนฺโธ สงฺขาราขนฺโธ อันนี้ เรียกว่า ภูมิของวิปัสสนา ถ้าหากไม่มีภูมิที่ตั้งอันนี้แล้ววิปัสสนาไม่เกิด วิปัสสนาต้องเกิดจากภูมิ ๕ ประการนี้


    วิปัสสนาจะเกิดขึ้นมาต้องเกิดจาก รูป คือ เห็นรูปตามความเป็นจริง แท้ที่จริง รูปมันเป็นจริงอยู่แล้ว แต่เราไม่เห็นตามเป็นจริงต่างหาก ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงสอน ให้เราพิจารณาให้เห็นรูปตามความเป็นจริงด้วยใจของตนเอง


    รูปมันเป็นจริงอย่างไร? บรรดารูปทั้งปวงหมด ทั้งรูปหยาบ รูปละเอียด ฯลฯ มันหากตั้งของมันอยู่อย่างนั้น แล้วก็เสื่อมสลายดับไป ถึงเราไม่เกิดมา มันก็ตั้งของมันอยู่อย่างนั้น แล้วก็สลายดับไป เมื่อเราตายดับไปแล้ว รูปคนอื่นและรูปอื่นๆ ก็เกิดขึ้นมาในโลกนี้ตลอดเวลา นั่นแหละ เรียกว่า รูป รูปนั้นใครจะเรียกมันว่าอย่างไร ก็เรียกไปเถิด ตัวมันเอง เป็นรูปตามเป็นจริง ของมันอยู่อย่างนั้นแหละ


    เช่นเรียก "คน" รูปของคนอันนั้นแหละ ถ้าเราไม่เรียกรูปคน จะเรียกว่าอะไรก็ตาม เรียกนายดำ นายแดง นายขาว นายต่ำ นายสูง ฯลฯ รูปไม่ได้เรียกตัวมัน แต่คนไม่เรียกเอาต่างหาก แท้ที่จริงเป็นรูปอันหนึ่งเท่านั้น จึงว่ารูปมันเป็นจริงตามความเป็นจริงของมัน ใครจะเรียกอย่างไรๆ มันก็เท่าเก่านั่นแหละ มีรูปร่างลักษณะอย่างไร ก็เป็นรูปร่างลักษณะอย่างนั้น คนก็เป็นรูปร่างอย่างหนึ่ง สัตว์ก็เป็นรูปร่างอย่างหนึ่ง สิ่งสารพัดทั้งปวงก็เป็นตามรูปของมัน เราไปสมมติเรียกรูปต่างๆ เอาเองต่างหาก


    ครั้นสมมติเรียกแล้วก็เลยยึดถือรูปอันนั้นไว้ มันติดอยู่กับจิตกับใจแล้วคราวนี้ จะไปที่ไหนๆ มันก็ติดอยู่กับจิตใจเพียงนั้น เช่น รูปคนเราที่เรียกคนนั้นคนนี้ชื่ออะไรต่างๆ ถึงแม้ว่า เขาเรียก ไม่ใช่เราเรียก แต่เราก็ไปยึดเอาอีกนั่นแหละ ไปยึดเอาคำพูดคำเรียกของเขานั่น ถ้าเขาเรียก ผิดเพี้ยนไป เราก็ไม่พอใจ มันยึดจนถึงขนาดนั้น ถ้าเขาเรียกถูก ก็ชมเชย นิยมนับถือ ยกย่องสรรเสริญ กลับดีใจเข้าไปอีก ไม่ใช่รูปดีใจนะ เราดีใจ คือจิตใจนั้นดีใจต่างหาก นี่แหละการไม่เห็นตามเป็นจริง มันต้องเป็นอย่างนั้น


    ทีนี้หากว่าเขานินทาให้โทษรูปนั้น ก็เสียใจ เขาพูดถึงรูป เขาไม่ได้พูดถึงใจ แต่ใจเรา ไปยึดถือรูป เลยโกรธแค้นขึ้นมา ถ้าพูดไม่ถูกหูก็โกรธแค้นขึ้นมา ครั้นพูดถูกหู ดีใจขึ้นมา ก็สรรเสริญชมเชย อันนี้แหละเรียกว่า ไม่เห็นรูปตามความเป็นจริง จึงเรียกว่า ปุถุชน หมายความว่า คนหนาด้วยกิเลส


    สำหรับพระพุทธเจ้าหรืออริยสงฆ์สาวก ท่านเห็นรูปตามเป็นจริงของมัน ที่เขาเรียกรูปต่างๆ นั้นก็สักแต่ว่าสมมติเฉยๆ เมื่อเขาชมเชยก็ไม่ทราบว่าเขาชมเชยที่ไหน เขาก็ชมเชยรูปนั่นแหละ แต่มันไม่ถูกรูป เขานินทามันก็นินทารูปนั่นแหละ แต่รูปมั่นไม่กระเทือน คือ รูปอันนั้น มันไม่รู้จักเรื่องราวต่างๆ นั่นเอง ใจของท่านอยู่ต่างหาก ท่านจึงไม่โกรธ ท่านก็เลยไม่เอาใจใส่ เพราะท่านรู้เรื่องราวของรูป เข้าใจรูปว่ามันเป็นอย่างนี้ๆ การเห็นด้วยใจเช่นนี้จริงๆ เรียกว่า วิปัสสนา เหตุนั้นจึงว่า ภูมิของวิปัสสนา คือ รูป


    วิปัสสนาอนุโลม คือ การคิดนึกเอา ไม่ใช่วิปัสสนาแท้ วิปัสสนาแท้จริง นั่นมันมีอีกอย่างหนึ่ง ต่างหาก เมื่อจิตสงบเข้าไปถึงความรู้จริงเห็นจริงแล้ว จิตก็เป็นสภาพตามเป็นจริง รูปที่เห็น ก็เป็นรูปในสภาพเป็นจริง สิ่งทั้งปวงหมดที่เห็นในขณะนั้น เห็นสภาพตามความเป็นจริงของมัน เห็นแจ้งชัดจริง ด้วยใจของตนเอง มันก็เลยตรัสรู้ ตรัสรู้ในขณะจิตเดียว ท่านว่าอย่างนั้น ไม่ต้องเอามากมายอะไร ขณะจิตเดียวเท่านั้น ที่เกิดความรู้ขึ้นชัดเจนแจ่มแจ้ง หายสงสัยในสิ่งทั้งปวงหมด นั่นเป็นวิปัสสนา ไม่ใช่แต่งเอา ไม่ใช่นึกคิดนึกเอา จิตเข้าไปถึงตรงนั้นแล้ว มันหากเกิดขึ้นเอง เป็นเอง แต่ก็อาศัยเบื้องต้น คือการปฏิบัติ อาศัยสมาธิเป็นเบื้องต้น เวลามันจะเกิดวิปัสสนา มันเกิดเองเป็นเองของมัน


    หลังจากที่เกิดวิปัสสนาขึ้นมาแล้ว เมื่อออกจากสภาพนั้นมาแล้ว จะต้องมาพิจารณาอีก ให้เห็นตามจริง อย่างที่มันเกิดขึ้นมานั่นแหละ รูป มันก็สักแต่ว่า รูป ถึงจะไม่ละเอียด จิตไม่ลงมาก ถึงขนาดวิปัสสนา ก็ขอให้พิจารณา อนุโลมตามที่เคยรู้เคยเห็น ว่ามันเป็นจริงอย่างนั้น ครั้นเห็นอย่างนั้นแล้ว ก็หายจากความยึดความถือ มันก็สบาย ปลอดโปร่งโล่งหมดทุกอย่าง ไม่หนักหน่วง เราต้องการความโล่งความปลอดโปร่ง ไม่ยึด ไม่ถือ ไม่ใช่หรือ?


    บางคนเมื่อจิตปลอดโปร่งโล่ง เลยไม่รู้จักจะทำอย่างไร ไม่เข้าใจเพราะไม่เคยเป็น จิตเป็นแล้ว แต่เจ้าของเองไม่รู้เรื่อง ก็เลยงงหมด คนเป็นอย่างนั้นก็มี ถึงอย่างไรก็ดี ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว อย่าไปงง อย่าไปหลงงมงาม ขอให้เข้าใจว่า ตัวของเรายังมีอยู่ ถ้าหากเข้าใจตามเป็นจริงแล้ว มันจะเกิดปัญญา เกิดความรู้สว่างขึ้นมาอีก ความที่งงนั้น เพราะเราไม่รู้ ไม่เคยเป็น เลยงงหมด กลัวว่าจะเป็นบ้า เป็นบอ อะไรต่างๆ ครั้นเอาสติเข้าไปควบคุม เอาสติเข้าไปรู้เรื่องว่าสภาพมันเป็นอย่างนั้น จิตก็หนักแน่นเข้าไป แล้วก็เกิดความรู้ขึ้นอีกต่างหาก


    นี่แหละเรื่องของ รูป มันเกิดขึ้นมาแล้ว ก็ตั้งอยู่อย่างนั้น เป็นอยู่อย่างนั้น แล้วก็เสื่อมสลายดับไป มันเกิด-ดับ เกิด-ดับ อยู่อย่างนั้น


    นาม คราวนี้พูดถึงนาม ได้แก่ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เหมือนกับรูป เป็นอย่างเดียวกันหมด จึงว่าอาตมาจะเทศน์เรื่อง ขันธ์ คือ ให้รู้จักเรื่องของขันธ์ ได้แก่ ตัวของเรา นั่นเอง เราไม่รู้จักตัวของเรา มันจึงไม่มีธรรมะ ครั้นรู้จักรู้เรื่องตัวของเราเรียกว่า รู้ธรรมะ จะอยู่ด้วยธรรมะ จะยืน เดิน นั่ง นอน ไปทางไหนๆ ก็พิจารณาธรรมะเป็นเครื่องอยู่ อันนั้นเรียกว่าธรรมะ ธรรมะไม่ได้อยู่ที่อื่น ใครจะไปค้นคว้าหาที่ไหนก็ไปเถิด ถ้าไม่คว้าเข้ามาในขันธ์ ก็ไม่เข้าถึงธรรมะ ไม่รู้เรื่องของ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ วิญญาณขันธ์ อันนี้ แม้ไปเห็นสิ่งอื่น มันก็ไม่ใช่ตัวของเราเสียแล้ว มันออกข้างนอก ไม่ใช่เห็นธรรมแล้ว มันเห็นของภายนอก ครั้นเห็นของภายในรู้แจ้งเห็นจริง เรียกว่า วิปัสสนา อธิบายวันนี้เท่านั้นเสียก่อน



    นั่งสมาธิ


    (หลวงปู่เทสก์อบรมนำก่อน)



    เรามาปฏิบัติธรรมดีกว่า ... ฟังแล้วทำเลยจึงไม่จืดจาง ถ้าไม่ทำพร้อมกันไป ทิ้งไว้นานๆ ไปชักจะลืมเสียแล้ว ในสมัยพุทธกาลที่พระองค์ทรงเทศนาให้พระสงฆ์ฟัง หรือให้อุบาสก อุบาสิกาฟังก็ตาม ท่านฟังแล้วทำตาม ไม่ใช่ฟังแล้วเอาไว้วันหลังโน้นจึงทำ ท่าไม่ทำอย่างนั้นหรอก ท่านฟังแล้วทำพร้อมเลย คือ กำหนดจิตตามขณะฟังเทศน์นั่นเอง


    ครั้นเมื่อท่านฟังแล้วกำหนดจิตแน่วแน่เต็มที่อยู่ในสถานที่เดียว ท่านก็รู้แจ้งเห็นจริง ตามพระธรรมเทศนา ท่านจึงสำเร็จมรรคผลนิพพานเป็นส่วนมาก อันพวกเราฟังหรือดูหนังสือแล้ว หรือดูตำรับตำราอะไรต่างๆ ก็ตาม ฟังแล้วอ่านแล้ว เก็บไว้ประเดี๋ยวก็ลืมหายไป


    ในสมัยนั้น บัญญัติ และ สมมติ ท่านทอดทิ้งหมด บัญญัติ คือ ตั้งชื่อเรียกขึ้นมานั่นเอง สมมติ กับ บัญญัติ ก็คล้ายกันนั่นแหละ ท่านไม่เอาสมมติอันนั้น ท่านเอาความจริง เช่นว่า "คน" อะไรเป็นคน? หรือเช่นว่า "มนุษย์" อะไรเป็นมนุษย์? ท่านไม่ได้เอามนุษย์ธรรมดา อย่างที่เราเข้าใจ ว่าเป็นคน คือ ยืน เดิน นั่ง นอน ไปมา อย่างนี้เรียกว่าคน เราเข้าใจว่าอย่างนี้ คนนิยมนับถือกัน อย่างนี้ เหตุนั้น พอคนอื่นเขาว่าดี ว่าชั่ว ว่าผิด ว่าถูก มันถึงได้มีความยินดียินร้าย กับสิ่งที่เรายึดถือ อยู่นี่


    ส่วนพระอริยเจ้าท่านไม่ถืออย่างนั้น อะไรเป็นมนุษย์? มนุษย์จริงๆ จังๆ มันอยู่ตรงไหนกัน ท่านเข้าไปลึกถึงของในนั่นเลย มนุษย์จริงๆ นั่นน่ะ มันไม่ได้เรียกตัวมันหรอก คนเราเรียกต่างหาก


    ถ้าคนไม่เรียกมันจะเป็นอย่างไร? ถ้าคนไม่เรียกไม่ตั้งชื่อ มันก็เฉยๆ อยู่อย่างนั้น ท่านพิจารณาเข้าไปถึงของจริงโน่นเลย มันก็เข้าถึงของกลาง จิตทั้งหลายก็ต้องเป็นอย่างนั้น เมื่อเข้าถึงแล้วมันไม่มีอะไร สมมติ-บัญญัติก็ไม่มี ในสมัยก่อนไม่มีการศึกษาเล่าเรียนอะไรหรอก พระพุทธเจ้าทรงเทศนาให้พระเจ้าพระสงฆ์ หรืออุบาสกอุบาสิกาฟัง ท่านฟังแล้วทำพร้อมไปเลย จิตใจตั้งมั่นแน่วแน่


    อันที่เรียกว่า ธาตุ ขันธ์ อายตนะ ที่อธิบายมานั้นก็ดี ท่านมาบัญญัติขึ้นต่างหาก แท้จริงผู้ปฏิบัติฝึกหัดเป็นไปแล้วนั้น ไม่ถือบัญญัติพวกนี้ ถือเอาความจริงสภาพที่เป็นจริง อย่างที่ว่าให้ฟัง เมื่อจิตออกจากสภาวะความเป็นจริงมาแล้ว มันมีสมมติ บัญญัติอยู่ทั่วไป คนในโลกนี้ต้องมีสมติ บัญญัติทั่วกันไปหมด ถ้าไม่มีสมมติ บัญญัติพูดกันไม่รู้เรื่อง แต่ว่า ธรรมะไม่ได้เป็นสมมติบัญญัติ เป็นความจริง แต่ก็ต้องเทียบกับสมมติบัญญัติ จึงค่อยมาพูดสู่กันฟัง และเข้าใจกันได้


    เหตุนั้นจึงว่า ทำให้เข้าถึงสมาธิ จิตเป็นหนึ่งเลย เข้าถึงธรรมเลย สิ่งที่เป็นธรรมนั้นคือ สิ่งทั่วไปทั้งหมด ธรรมะ แปลว่าของทรงอยู่ ของเป็นอยู่ตามความเป็นจริง เมื่อเข้าถึงความจริงแล้ว นั่นแหละเป็นธรรมะ ไม่มีสมมติบัญญัติ ให้พิจารณาให้ถึง ธรรมะ ตรงนั้นแหละ


    ด้วยจิต ของเรานั้นมันไม่ใช่ธรรมะ มันคิดนึกมันส่งส่ายปรุงแต่ง มันเกิดสัญญา อารมณ์ วุ่นวายไปหมด มันไม่ใช่ธรรมะ เมื่อไม่ใช่ธรรมะเราปล่อยวางเสีย ไม่ต้องยึดของพรรค์นั้น มันก็โล่งหมด เมื่อมันโล่งหมดแล้ว บางคนอาจจะสงสัยว่าไปอยู่ที่ไหน? เมื่อปล่อยวางแล้ว มันก็เข้าถึง ใจ ก็เลยสบาย


    คำว่า "สบาย" ก็เป็นสมมติอีก เป็นบัญญัติอีก อันที่จริงเข้าถึงตัวใจแล้ว มันสบายหรือไม่สบายก็ไม่ทราบ มันเป็นอาการอย่างหนึ่ง จึงบัญญัติเรียกอาการนั้นว่า "สบาย" คำว่า "สบาย" คือสมมติบัญญัติขึ้นมา เทียบกับความรู้สึกนั้น "สบาย" เป็นอาการอย่างนั้น ไม่ใช่รู้เสียก่อนแล้วจึงค่อยปฏิบัติ คนเราส่วนมากเข้าใจว่า ให้รู้เสียก่อน ให้ศึกษาเข้าใจเสียก่อน จึงค่อยปฏิบัติ ถ้าไม่ศึกษาจะปฏิบัติอย่างไร? แท้จริงมันไปคนละเรื่องกัน ปฏิบัติเป็นเสียก่อน ได้ผลแล้วจึงค่อยเกิดบัญญัติ


    ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ท่านกล่าวไว้อย่างนั้น เลยเข้าใจว่าปริยัติ คือ ต้องศึกษาเล่าเรียกแล้ว จึงค่อยมีการปฏิบัติ ปฏิบัติตามหนทางที่เราเรียนมา ปฏิบัติตามนั้น จึงค่อยเกิดปฏิเวธ อาตมาบอกว่า มันต้องเกิดปฏิเวธเสียก่อน ถ้าไม่เกิดปฏิเวธแล้ว จะบัญญัติอย่างไร? ต้องปฏิบัติจนกระทั่งเกิดปฏิเวธ คือ ความรู้แจ้งเสียก่อน มันจึงค่อยบัญญัติได้ถูก พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติธรรมวินัยต่างๆ ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ถ้าไม่ได้ตรัสรู้มรรคผลนิพพาน ถึงที่สุดก่อนแล้ว ทรงบัญญัติไม่ถูกหรอก ต้องรู้เสียก่อนจึงค่อยบัญญัติถูก บัญญัติแล้วผู้อื่นจึงปฏิบัติตาม ถ้าพูดตามความจริงมันต้องเป็นอย่างนั้น


    ปฏิเวธเสียก่อนจึงค่อยเกิดปริยัติ ถ้ารู้ปริยัติแล้วเราอยู่เฉยๆ ไม่ได้ มันต้องปฏิบัติประจำวัน จึงจะอยู่ได้ถูก ทุกอย่างทุกประการมันต้องมีการปฏิบัติทั้งนั้น ในชีวิตประจำวันนี่ ทุกคนก็ต้องมีการปฏิบัติ ปฏิบัติ ตาม ปฏิเวธที่รู้นั่นแหละ


    เอาหล่ะ ให้ตั้งใจปฏิบัติต่อไป


    www.dharma-gateway.com/monk/preach/lp_thes/lp-thes_23.htm
     
  2. อารมณ์สุข

    อารมณ์สุข เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 พฤษภาคม 2010
    โพสต์:
    39
    ค่าพลัง:
    +185
    อ่านแล้วมีกำลังใจขี้นมาเยอะเลย อนุโมทนาสาธุครับ หนทางที่ตั้งใจ แม้จะนานแค่ไหนก็จะไปให้ถึง
     
  3. วิญญาณนิพพาน

    วิญญาณนิพพาน ทีมงานอาสาฯ ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 เมษายน 2008
    โพสต์:
    22,680
    กระทู้เรื่องเด่น:
    51
    ค่าพลัง:
    +21,019
    ฝากหนังสือ 2 เล่มดีๆที่เกี่ยวกับด้านวิปัสสนาให้ทุกคนมาโหลดไปอ่านนะครับ หลายๆคนนั้นคิดว่า สมถะเเละวิปัสสนานั้นเป็นสิ่งเดียวกัน จริงๆ 2 สิ่งนี้ไม่่ใช่สิ่งเดียวกันเเต่ต้องเจริญควบคู่ไปด้วยครับ ตามนี้ครับ เข้าไปโหลดเเละอ่านเเล้วนําไปปฏิบัติได้ครับ เจริญในธรรมครับ

    1. หนังสือวิปัสสนาภูมิ

    เล่มนี้เป็นวิธีสอนการวิปัสสนาที่ถูกต้อง เข้าไปในเวปที่ให้มาเเล้วเลื่อนลงไปเรื่อยๆจะเจอหนังสือครับ เจอเเล้ว download ได้เลยครับ อนุโมทนาครับ

    http://www.kanlayanatam.com/booknaenam_.htm

    2. หนังสือ สติปัฏฐาน ๔

    เ้้ข้าไปเเล้วค่อยๆเลื่อนลงเเล้วหาดูครับ อยากให้อ่านครับ จะได้นําไปปฏิบัติได้อย่างถูกทางครับ

    http://www.kanlayanatam.com/booknaenam.htm
     
  4. ทิ้งสมอ

    ทิ้งสมอ Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 กันยายน 2009
    โพสต์:
    86
    ค่าพลัง:
    +77
    (ขออธิฐานด้วยบุญบารมีของข้าพเจ้าตั้งแต่อดีตกาลอันยืดยาวไม่มีประมาณจงสำเร็จแก่ผู้หวังนิพพานในชาตินี้ขอให้ท่านเหล่านั้นจงถึงแดนพระนิพพานในชาตินี้ด้วยเทอญ)
    สาธุๆ อนุโมทนา<!-- google_ad_section_end --><!-- google_ad_section_end -->
     
  5. รู้รู้ไป

    รู้รู้ไป เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    4 พฤศจิกายน 2009
    โพสต์:
    951
    ค่าพลัง:
    +3,166
    เคารพต่อพระรัตนตรัย
    อนุโมทนากับเจ้าของกระทู้ ในประโยชน์นี้ครับ
     
  6. บุรุษไร้เงา

    บุรุษไร้เงา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มกราคม 2007
    โพสต์:
    8,425
    ค่าพลัง:
    +35,040
    อนุโมทนา กับเจ้าของกระทู้ ขอบคุณ คุณวิญญาญนิพพาน
    และอนุโมทนากับบุญทั้งสองที่ท่านได้ร่วมทำด้วยครับ...
     

แชร์หน้านี้

Loading...