กายคตานุสสติกรรมฐาน

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย albertalos, 5 เมษายน 2010.

  1. albertalos

    albertalos เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 เมษายน 2006
    โพสต์:
    2,462
    ค่าพลัง:
    +1,137
    กายคตานุสสติกรรมฐาน
    จาก หนังสือ คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน



    กายคตานุสสติ แปลว่า พิจารณากายให้เห็นว่า ไม่สวยไม่งาม มีความโสโครก ตามกฎแห่งความเป็นจริงเป็นอารมณ์ กายคตานุสสตินี้เป็นกรรมฐานสำคัญที่พระอริยเจ้าทุกองค์ ไม่เคยเว้น เพราะพระอริยเจ้าก่อนแต่จะได้สำเร็จมรรคผล ทุกท่านนิยมพิจารณาให้เห็นว่าไม่สวย ไม่น่ารัก น่ารังเกียจ เพราะมีสภาพน่าสะอิดสะเอียนตามปกติเป็นอารมณ์ และกายคตานุสสตินี้ เป็น กรรมฐานพิเศษกว่ากรรมฐานกองอื่น ๆ เพราะถ้าพระโยคาวจรพิจารณาตามกฎของกายคตานุสสติ ผลที่ได้รับจะเข้าถึงปฐมฌาน แต่ถ้ายึดสีต่าง ๆ ร่างกายที่ปรากฏมีสีแดงของเลือดเป็นต้น ยึดเป็น อารมณ์ในการเพ่งเป็นกสิณ กรรมฐานกองนี้ก็มีผลได้ฌาน ๔ ตามแบบของกสิณ

    การพิจารณาท่านเขียนไว้ในวิสุทธิมรรควิจิตรพิศดารมาก จะไม่ขอกล่าวตามจนละเอียด ขอกล่าวแต่เพียงย่อ ๆ พอได้ความ หากท่านนักปฏิบัติมีความข้องใจ หรือสนใจในความละเอียดครบ ถ้วน ก็ขอให้หาหนังสือวิสุทธิมรรคมาอ่าน จะเข้าใจละเอียดมากขึ้น ตามแนวสอนในวิสุทธิมรรคท่าน ให้พิจารณาอาการ ๓๒ คราวละ ๕ อย่าง เช่น พิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ รวม ๕ อย่างเป็น หมวดหนึ่ง ท่านให้พิจารณาตามลำดับและย้อนกลับ เช่น พิจารณาว่า เนื้อ หนัง ฟัน เล็บ ขน ผม ย้อน จากปลายมาต้น เรียกว่าปฏิโลม คือถอยกลับ ให้พิจารณาทั้งสีและสัณฐาน สภาพตามความเป็นจริงว่า ไม่มีอะไรสวยงาม

    เพราะมีความสกปรกโสโครกอยู่เป็นปกติ ต้องคอยขัดสีฉวีวรรณอยู่เสมอ ๆ ทั้ง ๆ ที่คอยประคับประคองอยู่เพียงใด สิ่งเหล่านี้ก็ยังจะมีการแปดเปื้อนสกปรกอยู่เสมอ เช่น ผมต้องคอยหวี คอยสระชำระอยู่ทุกวัน ถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่สนใจเพียง ๓ วัน เหงื่อไคลก็จะจับทำให้เหม็นสาบ เหม็นสาง รวมกายทั้งกายนี้ ท่านแสวงหาความจริงจากกายทั้งมวลว่า มันสวยจริง สะอาดจริงหรือไม่ ค้นคว้าหา ความจริงให้พบ กายทั้งกายที่ว่าสวยน่ารักนั้นมีอะไรเป็นความจริง ความสวยของร่างกายมีความจริง เป็นอย่างนี้ ร่างกายทั้งกายที่ว่าสวยนั้น ไม่มีอะไรสวยจริงตามที่คิด เพราะกายนี้เต็มไปด้วยสิ่งโสโครก คืออวัยวะภายใน มีตับ ไต ไส้น้อย ไส้ใหญ่ กระเพาะ น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง น้ำดี อุจจาระ ปัสสาวะ เหงื่อไคล ที่หลั่งไหลออกมาภายนอกนั้น ความจริงขังอยู่ภายในของร่างกาย ที่มีหนังกำพร้าหุ้มห่ออยู่ ถ้าลอกหนังออก จะเห็นร่างนี้มีเลือดไหลโทรมทั่วกาย เนื้อที่ปราศจากผิวคือหนังหุ้มห่อ จะมองไม่เห็น ความสวยสดงดงามเลย ยิ่งมีเลือดหลั่งไหลทั่วร่างแล้ว ยิ่งไม่น่าปรารถนาเลย แทนที่จะน่ารัก น่า ประคับประคอง กลับกลายเป็นของน่าเกลียด ไม่มีใครปรารถนาจะอยู่ใกล้ ถ้าลอกเนื้อออก จะแล เห็นไส้ใหญ่ ไส้น้อย ปอด กระเพาะอุจจาระ กระเพาะปัสสาวะ และม้าม ไต น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง เสลด หลั่งไหลอยู่ทั่วร่างกาย

    มองแล้วอยากจะอาเจียนมากกว่าน่ารัก ถ้าจะฉีกกระเพาะ ออก ภายในกระเพาะจะพบอุจจาระ ปัสสาวะอยู่ภายใน เป็นภาพที่อยากหนีมากกว่าเป็นภาพที่น่ารัก ถ้าเอาอวัยวะต่าง ๆ ออกหมด จะเห็นแต่ร่างโครงกระดูกที่มีสภาพเหมือนโครงบ้านเรือนตั้งตระหง่าน อยู่ โครงกระดูกทั้งสองร้อยท่อนนี้ ปะติดปะต่อกันอยู่เป็นท่อนน้อยและท่อนใหญ่ มีเนื้อและเลือดติด เกรอะกรัง ท่านคิดตามไป ท่านเห็นหรือยังว่า ส่วนที่มีเปอร์เซ็นต์ที่เห็นว่า พอจะเป็นของสวยของงาม มีนิดเดียวคือ ตอนหนังกำพร้าเท่านั้น หนังนี้ใช่ว่าจะเกลี้ยงเกลาเสมอไปก็หาไม่ ต้องคอยชำระล้าง ตลอดวันและเวลาเพราะสิ่งโสโครกภายในพากันหลั่งไหลมาลบเลือนความผุดผ่องของผิวตลอดวัน ถ้าไม่คอยชำระล้าง เจ้าตัวปฏิกูลนั้นก็จะพอกพูนเสียจนเลอะเทอะ แถมจะส่งกลิ่นเหม็นสาบเหม็นสาง ตลบไปทั่วบริเวณช่องทวาร อุจจาระ ปัสสาวะ ก็จะพากันหลั่งไหลออกมาตามกำหนดเวลาที่มันต้อง ออก สิ่งที่น่าคิดก็คือ ผู้นิยมตนเองว่าสวย หรือเทิดทูนใครก็ตามว่าสวย ต่อเมื่อสิ่งโสโครกหลั่งไหล ออกมาเขากลับไม่สนใจ ไม่พยายามมองหาความจริงจากของจริง กลับรอให้ชำระล้างสิ่งโสโครก เสียก่อน จึงใคร่ครวญและสนใจ ต่างคนต่างพยายามหลบหลีก ไม่รับรู้ความเป็นจริงของสังขารร่างกาย ในส่วนที่สกปรกโสโครก ทั้งนี้ เพราะกิเลสและตัณหาปกปิดความจริงไว้ ทั้งๆ ที่อุจจาระหลั่งไหลออกมา ทุกวัน เหงื่อไคลมีเสมอ เสมหะน้ำลายออกไม่เว้นแต่ละนาที แต่เจ้ากิเลสและตัณหามันก็พยายาม โกหกมดเท็จ ปัดเอาความจริงออกมาจากความรู้สึก


    หากทุกคนพยายามสอบสวน ทบทวนความรู้สึก ค้นคว้าหาความจริง ยอมรับรู้ตามกฎของความจริงว่า สังขารร่างกายนี้ไม่มีอะไรน่ารัก มีสภาพเป็น ส้วมเคลื่อนที่ เพราะภายในมีสิ่งโสโครกต่าง ๆ ตามที่กล่าวมาแล้ว ถ้าเรารัก เราก็รักส้วม ถ้าเรา ประคับประคองเราก็ประคับประคองส้วม ถ้าเราเทิดทูน เราก็เทิดทูนส้วม จะว่าส้วมปกติเลวแล้ว ความจริงส้วมปกติดีกว่าส้วมเคลื่อนที่มาก เพราะส้วมปกติมันตั้งอยู่ตามที่ของมัน มันไม่ไปรบกวน ใคร เราไม่เดินเข้าใกล้ มันก็ไม่มาหาเรา ไม่รบกวนไม่สร้างทุกข์ ไม่หลอกหลอน ไม่ยั่วเย้ายียวน ชวนให้เกิดราคะ แต่เจ้าส้วมเคลื่อนที่นี่มันร้ายกาจ เราไม่ไปมันก็มา เราไม่มองดูมันก็พูดให้ได้ยิน เสแสร้งแกล้งตกแต่งปกปิดสิ่งที่น่าเกลียดด้วยสีผ้าที่หลาก กลบกลิ่นเหม็นด้วยกลิ่นหอม หาอาภรณ์ มาประดับ เพื่อปกปิดพรางตากันเห็นสิ่งที่ไม่น่าชม เพื่อตาจะได้หลงเหยื่อติดในอาภรณ์เครื่องประดับ ผู้เห็นที่ไร้การพิจารณา และมีสภาพเป็นส้วมเคลื่อนที่เช่นเดียวกัน เป็นส้วมที่ไร้ปัญญาเหมือนกัน ต่างส้วมต่างก็หลอกหลอนกัน ปกปิดสิ่งโสโครกมิให้กันและกันเห็นความจริงทั้ง ๆ ที่ตัวเองก็มีครบถ้วน แทนที่จะเห็นตัว รู้ตัวว่า ข้านี้ก็เป็นผู้เลิศในความเหม็น เลิศในส่วนของความสกปรกเหมือนเธอ แทนที่จะเป็นอย่างนั้นกลับปกปิดพยายามชมตนเองว่า ฉันนี่แหละยอดผู้ศิวิไลซ์ละ อนิจจา น่าสงสาร สัตว์ผู้เมาไปด้วยกามราคะ มีอารมณ์หน้ามืดตามัวเพราะอำนาจกิเลสแท้ ๆ ถ้าเขาจะมองตัวเองสักนิด ก็จะเห็นตัวเอง และจะมองเห็นผู้อื่นตามความเป็นจริง พระอริยเจ้าท่านนิยมความจริง รู้จริง เห็นจริง ค้นคว้าจริง ไม่หลอกหลอนตนเอง ท่านจึงได้บรรลุมรรคผล เพราะพิจารณาตนเองเป็นส่วนใหญ่ ขอท่าน นักปฏิบัติเพื่อความสุขของตัวทั้งหลาย จงพิจารณาตนเองให้เห็นชัด จนได้นิมิตเป็นปฏิภาคนิมิต สร้าง สมาธิให้เป็นอัปปนาสมาธิ โดยพิจารณาสังขารให้เห็นว่าไม่สวยงามนี้ เมื่อถึงอัปปนาสมาธิแล้ว จงยึดสี ที่ปรากฏในร่างกายมีสีแดงเป็นต้นหรือจะเป็นสีอะไรก็ได้ยึดเอาเป็นอารมณ์กสิณ ท่านจะได้ฌานที่ ๔ ภายในเวลาเล็กน้อย ต่อไปก็ยึดสังขารที่ท่านเห็นว่าน่าเกลียดนี้ ให้เห็นอนิจจังคือความไม่เที่ยงเพราะมี ความเปลี่ยนแปลงทรุดโทรมไปทุกวันเวลาเป็นปกติ ทุกขังเพราะอาศัยที่มันเคลื่อนไปสู่ความทำลาย ทุกวันเวลา มันนำความไม่สบายกายไม่สบายใจจากโรคภัยไข้เจ็บ และในการกระทบกระทั่งทางอารมณ์ ให้เกิดความเดือดร้อนทุกวันเวลา จึงจัดว่าสังขารร่างกายนี้เป็นรังของความทุกข์ ให้เห็นเป็นอนัตตา

    เพราะความเสื่อมความเคลื่อนและในที่สุดคือความทำลายขันธ์ เราไม่ต้องการอย่างนั้น แต่มันจะต้อง เป็นไปตามนั้นเพราะเป็นกฎธรรมดาของขันธ์ จะต้องเป็นอย่างห้ามไม่ได้ บังคับไม่อยู่ ยอมรับนับถือว่า มันเป็นอนัตตาจริง เพราะความเป็นอนัตตา คือ บังคับไม่ได้ของสังขารร่างกายนี้แหละ พระพุทธเจ้าจึง สอนให้ปล่อยอารมณ์ในการยึดถือเสีย เพราะจะยึดจะถือเพียงใดก็ไม่เป็นไปตามความต้องการ สังขาร ร่างกายเป็นอย่างนี้เหมือนกันหมด ไม่ว่าที่มีใจครองหรือไม่มีใจครอง ตราบใดที่เรายังต้องการสังขาร เราต้องประสบความทุกข์ ความทรมาน เพราะสิ่งโสโครกที่เข้าประกอบเป็นขันธ์ เราเห็นสภาพความ จริงของสังขารร่างกายนี้ว่า เป็นของโสโครก ไม่น่ารัก ไม่น่าปรารถนา ควรปลีกตัวออกให้พ้นจริง เรา เห็นสังขารร่างกายว่าเป็นอนิจจังไม่เที่ยงไม่ยั่งยืนจริง เราเห็นสังขารร่างกายว่าเป็นทุกข์จริง เราเห็น สังขารร่างกายว่าเป็นอนัตตาจริง ขึ้นชื่อว่าความเกิดเป็นทุกข์อย่างนี้ การยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ เป็น ทุกข์อย่างนี้ เราไม่ต้องการความเกิดอีก เราไม่ปรารถนาชาติภพอีก เพราะชาติความเกิดเป็นแดนอาศัย ของความทุกข์ โรคนิทธัง เรือนร่างของขันธ์ ๕ เป็นรังของโรค ถ้าร่างกายไม่มี โรคที่จะเบียดเบียนก็ ไม่มี เพราะไม่มีร่างกายให้โรคอาศัย ปภังคุนัง เรือนร่างมีสภาพต้องผุพังถ้าไม่มีเรือนร่าง เรื่องการผุพัง อันเป็นเครื่องเสียดแทงใจให้เกิดทุกข์ก็ไม่มี

    เมื่อร่างไม่มีจะเอาอะไรมาเป็นอนัตตา เราไม่ต้องการทุกข์ ที่มีความเกิดเป็นสมุฏฐาน เราไม่ต้องการความเกิดในวัฏฏะอีก เราต้องการพระนิพพานที่ไม่มีความเกิด และความตายเป็นแดนเกษมที่หาความทุกข์มิได้ พระนิพพานนั้นพระพุทธเจ้าสอนไว้ว่า ท่านที่จะไปสู่ พระนิพพานได้ไม่มีอะไรยาก ท่านสอนให้พิจารณาให้เห็นความจริงของร่างกายว่าโสโครก ถอนความรัก ความอาลัยในสังขารเสีย บัดนี้เราปฏิบัติครบแล้ว เราเห็นแล้ว เราตัดความเห็นว่าสวยงามในสังขาร ได้แล้วเราเชื่อแล้วว่า สังขารร่างกายเป็นทุกข์ เพราะอารมณ์ยึดมั่นว่า ร่างกายเป็นเรา เป็นของเรา เราคือร่างกาย ร่างกายคือเรา ความคิดเห็นอย่างนี้เป็นความเห็นของผู้มีอุปาทานเรารู้แล้ว เราเห็น ถูกแล้ว คือ เราเห็นว่าสังขารร่างกายไม่น่ารัก มีความสกปรกน่าสะอิดสะเอียน ร่างกายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา เราคือจิตที่มีสภาพไม่แก่ ไม่ตาย ไม่สลายตัว ที่เข้ามาอาศัยร่างกายที่ประกอบไปด้วยธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ มีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นนามธรรม ๔ อย่าง เป็นเครื่องประกอบ เป็นเครื่องจักรกลที่บริหารตนเองโดยอัตโนมัติ ร่างกายนี้ค่อยเจริญขึ้นและเสื่อมลง มีการสลายตัวไปในที่สุด พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนให้ตัด ฉันทะ ความพอใจในสรรพสังขารทั้งหมดเสียให้ได้


    และให้ตัด ราคะ คือความกำหนัดยินดีในสรรพสังขาร ทั้งหมด คือ ไม่ยึดอะไรเลยในโลกนี้ว่า เป็นเรา เป็นของเรา ไม่มีอะไรในเรา เราไม่มีในอะไรทั้งสิ้น เราคือจิตที่มีคุณวิเศษดีกว่าอัตภาพทั้งปวง เราเกลียดสรรพวัตถุทั้งหมด เราไม่ยอมรับสรรพวัตถุ แม้แต่เรือนร่างที่เราอาศัยนี้ว่าเป็นของเราและเป็นเรา เราปล่อยแล้วในความยึดถือ แต่จะอาศัยอยู่ ชั่วคราวเพื่อสร้างสรรค์ความดี สังขารจะเปลี่ยนแปลงก็เป็นเรื่องของสังขาร สังขารร่างกายจะผุพัง ก็เป็นเรื่องของสังขารร่างกาย เราไม่รับรู้รับทราบ เราว่างแล้วจากภาระในการยึดถือ เรามีความสุขแล้ว เรามีพระนิพพานเป็นที่ไปในกาลข้างหน้า สร้างอารมณ์ ความโปร่งใจให้มีเป็นปกติ ยึดพระนิพพาน เป็นอารมณ์ ทำจนเป็นปกติ จิตยึดความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาจนเป็นปกติ เห็นอะไร ได้อะไรมา คิดเห็นว่า นี่มันไม่ใช่ของเราจริง เขาให้ก็รับ เพื่อเกื้อกูลแก่อัตภาพชั่วคราว ไม่ช้าก็ต่างคนต่างสลาย ทั้งของที่ได้มาและอัตภาพ ใครไปก่อนไปหลังกันเท่านั้น จนอารมณ์มีความรู้สึกอย่างนี้เป็นปกติ จิตก็ จะว่างจากอุปาทาน ในที่สุดก็จะถึงพระนิพพานสมความมุ่งหมาย​
     
  2. albertalos

    albertalos เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 เมษายน 2006
    โพสต์:
    2,462
    ค่าพลัง:
    +1,137
    ได้ยินได้ฟังพระท่านเทศมาว่า ให้เจริญสติปัฐฐาน 4 มีกายเป็นต้น
    เคยได้ยินเทศนาท่านกล่าวถึง กายคตานุสสติกรรมฐาน เช่นกัน
    หยิบยกมาไห้ท่านทั้งหลายได้อ่านและแสดงทัศนะหรือแนวทางปติบัติร่วมกัน

     
  3. albertalos

    albertalos เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 เมษายน 2006
    โพสต์:
    2,462
    ค่าพลัง:
    +1,137
    กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน


    จาก หนังสือ ธรรมะปกิณกะ ๒



    ต่อจากนี้ไปก็เป็นโอกาสที่เราจะศึกษามหาสติปัฏฐานสูตร วันนี้เป็นวันเริ่มต้นตรงกับวันเสาร์ บรรดาพระทุกท่านเวลานี้ถ้าไม่มีความจำเป็นก็อย่าขาด เพราะการที่เราบวชพระบวชเข้ามาในพระพุทธศาสนาความมุ่งหมายเรามีอย่างเดียวคือ ความดับไม่มีเชื้อ คำว่าดับไม่มีเชื้อก็หมายถึงว่า การสิ้นกิเลส ถ้าเราจะสิ้นกิเลสได้ก็ต้องมีความรู้เป็นพื้นฐานอย่างที่เขาเคยทำกันประเภทที่เรียกว่าจับแพะชนแกะ การสอนกันก็ไม่ได้เป็นไปตามลำดับหากว่าบรรดาท่านพุทธบริษัทมีอัธยาศัยดี หรือมีการอบรมมาแต่อดีตชาติดี มีอารมณ์แก่กล้า ก็สามารถจะบรรลุมรรคผลได้ ถ้าหากท่านว่าทั้งหลายท่านใดมีบารมีอ่อน ก็จะยากอยู่สักหน่อย การเรียนพระกรรมฐานเฉพาะวันเสาร์ วันอาทิตย์ เราเรียนมหาสติปัฏฐานสูตร แม้ว่าวันนั้นจะตรงกับวันพระ แต่สำหรับพระถ้าตรงกับวันกลางเดือนหรือวันสิ้นเดือนอันนี้ก็ไปรวมกับปาฏิโมกข์ วันธรรมดาก็จะสอนกรรมฐาน ๔๐ เรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาสติปัฏฐานสูตรนี้ พระพุทธเจ้าทรงสอนตามลำดับ ถือว่าไม่ต้องเลือกอารมณ์ สอนเฉพาะสุกขวิปัสสโก สำหรับมหาสติปัฏฐานสูตรนี้ เราจะสอนกันละเอียดไม่เหมือนกับที่ออกอากาศ

    ก่อนที่จะสอนถึงสูตรต่าง ๆ ก็จะให้ท่านเข้าใจถึงความมุ่งหมายขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าในการที่พระองค์ทรงสอนมหาสติปัฏฐานสูตรขึ้นมาคู่กับกรรมฐาน ๔๐ หรือสูตรอย่างอื่น เป็นเรื่องของการปฏิบัติเพื่อมรรคผล ในตอนต้นจะกล่าวถึงความมุ่งหมายที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงกล่าวไว้ตามบาลี เอวมฺเม สุตํ เอกํ สมยํ ภควา กุรูสุ วิหรติ สำหรับพระบาลีว่าเพียงเท่านี้นะ เป็นอันว่าถือใจความตามภาษาไทยว่า ข้าพเจ้าผู้มีนามว่าพระอานนท์ได้สดับมาแล้วอย่างนี้ว่า สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในหมู่ชนชาวกุรุ นิคมของหมู่ชนชาวกุรุ ชื่อว่ากัมมาสธัมมะในกาลนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเตือนภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นทูลรับว่า พระพุทธเจ้าข้า พระพุทธเจ้าทรงกล่าวเป็นพุทธภาษิตว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางถูกเป็นทางของบุคคลผู้เดียว เป็นที่ไปในที่แห่งเดียว เพื่อความหมดจดวิเศษของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อความก้าวล่วงซึ่งความโศกและความร่ำไร เพื่อความดับไปแห่งทุกข์และโทมนัส โทมนัสแปลว่าเสียใจ เพื่อบรรลุญายธรรมหรือว่าธรรมที่ควรรู้ ธรรมที่ถูก คืออริยมรรค เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ทางนี้ก็คือสติปัฏฐาน

    คำว่าสติปัฏฐานแปลว่า ธรรมที่ตั้งแห่งสติ สติปัฏฐาน ๔ มีอะไรบ้าง พระพุทธเจ้าทรงถามแล้วพระองค์ทรงตอบเองว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่เนื่อง ๆ มีความเพียรให้กิเลสเร่าร้อน มีสัมปชัญญะมีสติ พึงนำอภิชฌาและโทมนัส คำว่าอภิชฌาแปลว่า ความยินร้าย ยินดีหรือยินร้าย อภิชฌาโทมนัสแปลว่า ความเสียใจในโลกเสียให้พินาศไป เธอย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาเนือง ๆ นี่เป็นที่ ๒ อันดับที่ ๓ มีความเพียรให้กิเลสเร่าร้อน มีสัมปชัญญะ มีสติพึงทำอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียให้พินาศไป เธอย่อมพิจารณาเห็นจิตใจจิตเนือง ๆ อยู่มีความเพียรให้กิเลสเร่าร้อน มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงทำอภิชฌาและโทมนัส ในโลกเสียให้พินาศไป เธอย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมเนือง ๆ อยู่ มีความเพียรให้กิเลสเร่าร้อน มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงทำอภิชฌาและโทมนัส ในโลกเสียให้พินาศไป นี่ตามบาลีที่พระพุทธเจ้าตรัส

    เอา มาอธิบายต่อ สำหรับมหาสติปัฏฐานสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงรับรอง เราพูดถึงความมั่นใจว่าพระพุทธเจ้าตรัสให้บรรดาผู้ฟังทั้งหลายมีความมั่นใจว่า ท่านผู้ใดถ้าปฏิบัติในมหาสติปัฏฐานสูตรครบถ้วน ท่านผู้นั้นจะเข้าถึงความดับทุกข์ ไม่มีความโศก ไม่มีความร่ำไร เสียใจ และโทมนัส และในที่สุด ท่านผู้นั้นจะเข้าถึงซึ่งพระนิพพาน เป็นอันว่าที่เราเรียนการเดินทางเข้าไปสู่พระนิพพานกัน การที่จะเข้าถึงพระนิพพานในตอนท้ายของแต่ละสูตร บอกว่าเราต้องมีสติสัมปชัญญะ คำว่าสติแปลว่า นึกไว้ สัมปชัญญะแปลว่า รู้ตัว ก็ในมหาสติปัฏฐานเริ่มต้นกายานุปัสสนามหาสติปัฏฐานย่อมพิจารณาเห็นกายในกายเนือง ๆ อันที่ ๒ เวทนานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาเนือง ๆ ข้อที่ ๓ ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตเนือง ๆ ข้อที่ ๔ เห็นธรรมในธรรมเนือง ๆ แล้วก็ละความยินดียินร้าย ในโลกทั้งหมด เราจะเข้าที่สุดของความดับทุกข์ อย่างนี้แยกหลายประเภทรวมเป็นหัวข้อการศึกษามหาสติปัฏฐาน มีความจำเป็นอย่างยิ่ง การปฏิบัติเพื่อให้ถึงซึ่งมรรคผลในมหาสติปัฏฐานสูตร เราจะปฏิบัติแยกตัดตอนไปเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ชอบใจอย่างนี้เราจะเอาอย่างโน้น ไม่ชอบใจอย่างโน้นเราจะเอาอย่างนี้ อย่างนี้ไม่ได้ถึงพระนิพพาน ต้องปฏิบัติให้มีผลเท่ากันทั้งหมด คือ ตั้งแต่บทต้นถึงบทสุดท้าย

    คำว่าสติสัมปชัญญะในที่นี้ พระพุทธเจ้าให้มีอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก สติตั้งไว้ในกายพิจารณาเห็นกายในกายเป็นปกติ พิจารณาเวทนาในเวทนาเป็นปกติ พิจารณาเห็นจิตในจิตเป็นปกติ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมเป็นปกติ แล้วก็ละอภิชฌาและโทมนัส หมายความว่าความดีใจ เสียใจ ความพอใจในโลก ให้ตัดทิ้งไป ถ้าเราพยายามตัดให้หมดเมื่อใด เราก็จะเป็นพระอรหันต์เมื่อนั้น ถ้าเราตัดได้ไม่มาก ตัดได้น้อย ก็ชื่อว่าพอมีคุณอยู่ ต่อจากนี้ไปก็จะพูดว่าพระพุทธเจ้าตรัสอย่างไร ต่อไปนี้พระองค์ทรงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายเนือง ๆ อยู่ เป็นอย่างไรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เข้าสู่ป่าก็ดี เข้าไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างเปล่าก็ดี นั่งคู้บัลลังก์คือขัดสมาธิตั้งกายให้ตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า ย่อมมีสติหายใจเข้า ย่อมมีสติหายใจออก หายใจเข้ายาว ก็รู้ว่าหายใจเข้ายาว หายใจออกยาว ก็รู้ว่าหายใจออกยาว หายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดอยู่ว่าเราหายใจเข้าสั้น หายใจออกสั้น ก็รู้ว่าเราหายใจออกสั้น ย่อมสำเหนียก สำเหนียก ตั้งใจกำหนดไว้ก็รู้ เราเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวง ว่าหายใจเข้า ตั้งใจกำหนดไว้ว่า เราจะเป็นผู้รู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวง เวลาหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่าเราจะระงับกายสังขาร คือลมอัสสาสะ ปัสสาสะ เมื่อหายใจเข้า เราจะระงับกายสังขารเมื่อหายใจออก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ฉันใดนายช่างกลึงผู้ฉลาด เมื่อชักเชือกกลึงยาว ก็รู้ว่าเราชักเชือกกลึงยาว เมื่อชักเชือกกลึงสั้น ก็รู้ชัดว่าเราชักเชือกกลึงสั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุก็ฉันนั้นนั่นแหละ เมื่อหายใจยาวก็รู้ชัดว่าหายใจยาว เมื่อหายใจสั้นก็รู้ชัดว่าหายใจสั้น เมื่อเราหายใจเข้า ออก ยาวสั้นก็รู้อยู่ เราสำเหนียกว่าเราจะเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมทั้งปวง ทั้งหายใจเข้าหายใจออก ดังนี้ ภิกษุทั้งหลาย ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายเป็นภายในบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายเป็นภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในและภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดาคือความเกิดขึ้นในกายบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดาคือความเสื่อมไปในกายบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในกายบ้าง ย่อมมีสติว่ากายมีอยู่ เข้าไปตั้งอยู่เฉพาะหน้าเธอนั้น แต่เพียงสักแต่ว่าเป็นที่รู้ แต่เพียงสักแต่ว่าเป็นที่อาศัย ระลึกแต่เธอย่อมไม่ติดอยู่ด้วย ย่อมไม่ยึดถืออะไร ๆ ในโลกด้วย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายเนือง ๆ อยู่อย่างนี้

    อันนี้เรียกว่ากายานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน ในอานาปานบรรพเรื่องอานาปานุสสติกรรมฐาน ในกรรมฐาน ๔๐
    สำหรับในมหาสติปัฏฐานเรียกอานาปานบรรพ พระองค์จึงทรงกำหนดลมด้วยใจที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าให้เราพิจารณารู้ลมหายใจเข้า รู้ลมหายใจออก หายใจเข้ายาวหรือสั้นก็รู้ แล้วพิจารณากำหนดรู้ ตลอดเวลาหายใจเข้าและหายใจออก ความจริงบาลีว่าไว้ยาว แต่ว่าเรื่องนี้เราพูดกันมามากแล้ว วันนี้เราก็พูดกันถึงอานาปานนุสสติกรรมฐาน หวังว่าทุกท่านคงจะจำได้ ก็ขออธิบายอีกสักนิด สำหรับอานาปานุสสติกรรมฐานเป็นกรรมฐานที่มีความสำคัญที่สุด เรื่องการทรงฌานและเป็นกรรมฐานที่ระงับกายสังขาร คำว่าการระงับกายสังขารนี่ก็คือ ระงับทุกขเวทนา เวลาเราป่วยไข้ไม่สบาย ความรู้สึกมันมีว่ามันเจ็บ มันปวด มันเสียด ถ้าเราสามารถดับมันเสียได้ด้วยลมหายใจเข้าออกในอานาปานุสสติกรรมฐานได้ ทุกขเวทนาทั้งหลายมันจะระงับไปในทันที แล้วเป็นกรรมฐานที่เข้าถึงฌานได้ง่ายที่สุด แล้วก็เป็นกรรมฐานที่เป็นพื้นฐานใหญ่ ถ้านักเจริญกรรมฐานทั้งหลายไม่สามารถทรงฌานในด้านอานาปานุสสติกรรมฐานได้ ท่านผู้นั้นก็ไม่สามารถจะเข้าฌานในกองอื่น ๆ ได้เหมือนกัน เพราะการจะเข้าฌานในกรรมฐานกองใดกองหนึ่งนอกไปจากนี้ ต้องพึ่งอานาปาฯเสมอ เมื่ออานาปานุสสติเข้าถึงฌานแล้วรวมความกรรมฐานกองอื่นทุกกอง ถ้าเราได้อานาปานุสสติถึงฌาน ๔ เสียกองเดียว กรรมฐานกองอื่น ก็เป็นเรื่องเล็ก

    การจะเจริญพระกรรมฐานในด้านอานาปานุสสติกรรมฐานให้ได้ เราจะทำอย่างไร ก็มีวิธีทำ ก็ต้องขอบอกวิสุทธิมรรครวมกันเข้ามาในที่นี้ท่านบอกว่า เราต้องมีสติและสัมปชัญญะ กำหนดรู้ลมหายใจเข้า หายใจออก นึกว่านี่เราหายใจเข้า เราหายใจออก เมื่อตัวสัมปชัญญะรู้ว่านี่เราหายใจเข้าแล้ว แล้วก็รู้ว่านี่เราหายใจเข้ายาว หรือสั้น หายใจออกยาวหรือสั้น ความจริงเป็นของไม่ยาก ถ้าเราเจริญอานาปาฯตามพระพุทธเจ้าตามเจตนา เฉพาะอย่างยิ่งอานาปานุสสติกรรมฐานสนใจกันจริง ๆ ผมว่าไม่ถึง ๑ เดือนไม่เกินเดือน ทุกท่านถึงฌาน ๔ หมด แล้วก็อานาปานุสสติกรรมฐานถ้าเป็นวิสัยของสาวกก็จะทรงถึงฌาน ๔ ถ้าเป็นวิสัยของพุทธภูมิก็จะทรงถึงฌาน ๕
    การเจริญพระกรรมฐานและทรงฌาน เขาทำกันอย่างไร จงจำไว้ว่าอย่าขยันเกินไปและอย่าขี้เกียจเกินไป ไอ้การขยันเกินไปก็ทำกัน ๒ ชั่วโมงบ้าง ๓ ชั่วโมงบ้าง ตลอดวัน ถ้าเราทำแบบนี้แสดงว่าเราดีเกินพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนแบบนั้น การปฏิบัติแบบนี้จะว่ากันตามความจริง ผมว่าเอาปูนหมายหัวไว้ ถ้าใครก็ตามทำแบบนั้น เพราะมันถึงจุดที่เรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค คือการทรมานตน ถ้าหากว่าเวลาที่เราปฏิบัติสมาธิ แล้วก็นึกอยากเห็นภาพบ้าง อยากเห็นแสงสีความสว่างบ้าง อยากจะได้ฌานสมาบัติบ้าง อยากอะไรก็ตาม อย่างนี้เรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค เป็นส่วนที่อันดับต่ำ เมื่อจิตเข้าไม่ถึงแล้วจะไม่ได้ทรงแม้แต่อารมณ์ของฌาน ฉะนั้น การปฏิบัติพระกรรมฐานทุกกองทุกท่านจงจำไว้ว่า อย่าได้เข้าไปแตะต้องส่วนสุดสองอย่างนี้ เพราะว่าพระพุทธเจ้าบอกไว้แล้วว่าไม่ใช่ทางบรรลุมรรคผล หมายถึงอริยมรรค อริยผล แต่ว่าผมเองขอยืนยันว่า แม้แต่ฌานโลกีย์ก็ไม่มีโอกาส อันนี้เพราะผมก็พังมาแล้ว เคยทรงฌาน ๘ ได้อย่างสบาย ๆ เข้าฌานตามลำดับฌาน เข้าฌานสลับฌานได้อย่างคล่องแคล่วต่อมาก็ไปพบอาจารย์ผู้วิเศษ ไปดีกว่าพระพุทธเจ้าเข้า ท่านก็สอน ไม่สอนแบบหลวงพ่อปาน หลวงพ่อปานไม่สอนแบบนั้น พุทธะที่ท่านได้มรรคได้ผลได้ฌานจริง ๆ ท่านไม่สอนแบบนั้น ท่านบอกว่าอย่าขยันมาก ถ้าขยันมาก ท่านก็ร้องเดือนมาให้เพลา ๆ ลงสักพักก่อน อาจารย์ผู้นี้ท่านไม่อย่างนั้น ขยันเท่าไรก็ดี เมื่อหลวงพ่อปานตายแล้ว ผมก็ไปเรียนกับท่าน ๓ ปี จากสมาบัติ ๘ อันคล่องแคล่ว เหลือไม่ถึงฌาน ๑ อันดับหยาบ พอรู้ตัวเข้าก็กราบขอขมาโทษพระรัตนตรัย ก็มีเสียงสั่งมาจากเบื้องสูงว่า ต่อไปนี้จงรักษาอารมณ์เดิม ครั้งละไม่เกิน ๕ นาที แต่ว่าในช่วง ๕ นาทีนี้ เราต้องทรงความดีอย่าให้กิเลสเข้ามายุ่ง ๓ วัน เราก็กลับมาทรงความดีตามเดิมได้

    การที่จะทรงความดี ทรงสมาธิจิต ทำให้สำเร็จตามคำสั่งสอน ไม่ใช่เราทำกันแบบทรมานตน เอาเวลาเป็นเครื่องวัดกัน นั่งได้ ๒ ชั่วโมง ๕ ชั่วโมง ๑๐ ชั่วโมง อันนั้นมันเป็นเพียงนั่งไม่ใช่ได้ฌาน ไอ้นั่งอย่างนั้นทางที่จะไปได้ก็คือนรก เพราะนั่งทรมานตัวก็เกิดอาการของความชั่ว อันที่ ๒ ขี้เกียจเกินไป เรียกว่า กามสุขัลลิโยค คำว่ากามสุขัลลิโยค พูดกันได้ ๒ อย่าง นั่งอยากจะได้ทิพยจักขุญาณ นั่งอยากจะเป็นนั่น นั่งอยากจะเป็นนี่ ตัวอยากมันเข้ามา อยากรวยเร็ว อยากให้ชาวบ้านเค้าเคารพนับถือ อยากให้ชาวบ้านเขาเห็นว่าเราเป็นผู้วิเศษ เขาจะได้เอาอาหารการบริโภค เอาทรัพย์สินเงินทองมาให้ หรือว่าอยากจะได้ฌานสมาบัติ อยากเป็นพระอริยเจ้า อันนี้เป็นกามสุขัลลิโยค อย่างนี้ไม่สามารถได้ฌานได้เหมือนกัน เป็นอันว่าส่วนสุดทั้ง ๒ อย่างอย่ายินดี

    ทีนี้การเจริญอานาปานุสสติกรรมฐาน ถ้าจะทำให้ดี ตั้งอารมณ์ไว้โดยเฉพาะ ตั้งใจไว้เลย ตั้งรอบไว้ นับเป็นคู่ หายใจเข้าหายใจออก นับไว้แค่ช่วง ๑๐ ในวิสุทธิมรรคท่านนับต้นหนึ่ง ๑ แล้วก็ขึ้นต้น ๑ หมายถึงที่ ๒ แล้วก็ขึ้นต้น ๑ หมายถึงที่ ๓ ขึ้นต้น ๑ หมายถึง ๔ ขึ้นต้นใหม่จนถึง ๑๐ แล้วก็ขึ้นต้น ๑ ใหม่ แต่ว่ายุ่งเกินไป เวลาผมทำจริง ๆ ผมไม่เอาแล้ว คือว่าขึ้นต้น ๑ ถึง ๑๐ ในระหว่าง ๑ ถึง ๑๐ เราจะไม่ยอมให้อารมณ์อื่นมายุ่งกับจิต ๑ ถึง ๑๐ สบายอยู่ก็ขึ้นต้นใหม่ ๑ ถึง ๑๐ พอจิตกระสับกระส่ายก็เลยบอกให้ลา พอจิตกระสับกระส่ายหน่อยเดียว เลิกเอาแค่นี้ ทั้งนี้เพราะตั้งใจปฏิบัติตามแนวที่ท่านสอนไว้ในวิสุทธิมรรค ว่าการปราบจิตท่านทำเหมือนกับปราบม้าพยศ ตามธรรมดาม้าพยศมันมีกำลังมาก เราไม่สามารถจะบังคับมันได้ จะทำอย่างไรบังคับมันได้ ท่านสั่งให้กอดคอมัน มันจะวิ่งไปไหนก็เชิญวิ่งไป เมื่อมันหมดแรงจะวิ่ง เราจะดึงไปทางไหนก็ไปได้ ในที่สุดวิธีนี้เคยลองปฏิบัติ ในการปฏิบัติวันนั้นดี พรุ่งนี้ตั้งใจจะทำให้ดี มันก็เลวกว่าวันต้น ที่นี้ก็เลยปล่อยมัน มันจะคิดอะไรก็เชิญตามใจชอบ แต่มีสติสัมปชัญญะไว้ คุมสติสัมปชัญญะเข้าไว้ แล้วพอเลิกคิดก็ควบคุมลมหายใจเข้าออก มันไม่เสียเวลาเท่าไหร่ อารมณ์จิตทรงฌานเต็มที่ มันไม่ยาก นี่ตามแบบของพระพุทธเจ้ามันไม่ยากนะ

    นักปฏิบัติทั้งหลาย ทุกท่านที่ปฏิบัติแบบนี้ คำว่าแบบนี้ว่ากันในด้านอานาปานุสสติกรรมฐาน ในตอนท้านของอานาปานุสสติกรรมฐาน การเจริญอานาปานุสสติกรรมฐานและมหาสติปัฏฐาน ใช้ได้รวมกันอยู่เสมอ ไม่ใช่ว่าวันนี้ทำแบบนี้ แล้วพรุ่งนี้ทำแบบนั้น เราศึกษาเข้าใจแบบไหน ก็ปฏิบัติแบบนั้นให้ครบถ้วน แล้วก็เวลาที่เราเข้าฌานจะตัดอารมณ์เรื่อง ราคะ โทสะ โมหะ หรือว่า ราคะ โทสะ โมหะ ก็หากรรมฐานที่ตรงอารมณ์ คือว่าทำตั้งแต่ต้นจนถึงปลาย ในมหาสติปัฏฐานทุกบท พระพุทธเจ้าสอนไว้ทั้งสมถะและวิปัสสนาในอานาปานุสสติกรรมฐาน ท่านบอกว่าพิจารณากายในกาย คือ ลมหายใจเข้าออก เราหายใจเข้า รู้อยู่ว่า หายใจเข้า หายใจออก รู้อยู่ว่า หายใจออก หายใจเข้ายาวหรือสั้น หายใจออกยาวหรือสั้นเราก็รู้อยู่ แล้วพิจารณาตลอดกองลม ตอนนี้ดูเหมือนจะไม่เข้าใจนะ

    คำว่า พิจารณาตลอดกองลมหายใจเข้าหรือออก ก็หมายความว่า เราหายใจเข้ากระทบจมูก ลมมันจะไหลเรื่อยเข้าไป เราจะมีความรู้สึกถึงหน้าอก มันจะกระทบนิดหนึ่งแล้วก็ไหลเรื่อยไปลงไปจนถึงศูนย์ อันนี้ลมมันจะกระทบแรงเราจะมีความรู้สึก เวลาหายใจออกก็เหมือนกัน การรู้กองลมหายใจเข้าหายใจออก เวลาหายใจเข้ากระทบจมูก อารมณ์ไหลเรื่อยไปกระทบหน้าอก แล้วก็ไหลเรื่อยไปกระทบศูนย์ ออกมากระทบศูนย์ กระทบหน้าอก กระทบปาก อาการอย่างนี้ปรากฏแก่เราเมื่อไหร่ อารมณ์จิตของท่านเข้าถึงปฐมฌานแล้ว นี่การพิจารณาลม ลมขาเข้ากระทบมูก กระทบหน้าอกรู้ ไหลเรื่อยลงไป จิตเป็นสมาธิมากขึ้น กระทบศูนย์เหนือสะดือหน่อยหนึ่ง เวลาลมหายใจออกกระทบศูนย์เหนือสะดือนิดหน่อยหนึ่ง กระทบหน้าอก กระทบริมฝีปาก และการที่ลมไหลเข้าไปข้างในแล้วออกข้างนอกเรารู้ตลอดเวลา อันนี้แสดงว่าจิตของท่านเข้าถึงปฐมฌาน

    ทีนี้ อานาปานุสสตินี่พอจิตเข้าถึงปฐมฌานแล้ว เขาไม่พิจารณาฌานที่ ๒ และฌาน ๓ ว่านี่เราจับมุมได้แล้ว จับอาการของฌานได้แล้ว ว่านี่ฌานที่ ๑ ตั้งได้แล้ว ทีนี้เราก็พยายามฝึกอาการทรงฌาน วิธีฝึกอาการทรงฌานก็เป็นไปตามที่กล่าวมา คือเวลาไว้โดยเฉพาะอย่าให้มากเกินไป เอาเฉพาะเวลาสั้น ๆ อย่างมากที่สุดในระยะต้น ควรจะตั้งไว้ไม่เกิน ๑๐ นาที หรือว่าจะใช้วิธีนับลมหายใจเข้า ลมหายใจออกตามที่เราต้องการก็ได้ นี่เป็นวิธีทรงฌานโดยเฉพาะ มีประโยชน์มาก พอเราได้สมาธิดีแล้ว จิตมันสามารถจะทรงได้ตามที่เรากำหนด เวลาสั้น ๆ เราทรงได้ตามโอกาสนั้นที่เราต้องการ ก็ขยับให้มันยาวไปอีกนิดเมื่อชิน เมื่อเข้าไปแล้วก็ตั้งอยู่ได้ตามลำดับนั้น ได้ครึ่งเดือนหรือหนึ่งเดือน ก็ขยับให้ยาวไปอีกหน่อย

    ต่อไปถ้าอังเอิญเราได้ทิพยจักขุญาณ อาศัยที่เราทรงฌานมีการทรงตัวดี ถ้าเราเห็นผี เห็นเทวดา เห็นพรหม หรือเห็นสัตว์นรก เราจะคุยกันได้เหมือนคนธรรมดา เราจะคุยกันนานเท่าไรก็ได้ เห็นได้แล้ว เราคุยกัน ความเพลินมันก็ปรากฏ ธรรมปีติมันปรากฏ ฌานมันก็ทรงนานยิ่งขึ้น นี่ว่ากันถึงตอนถึงปฐมฌาน

    สำหรับอานาปานุสสตินี่พอเข้าถึงปฐมฌาน แล้วคืบเข้าฌาน ๔ เร็วมาก บางทีก็ในวันเดียวกันนั่นแหละ ขณะที่นั่งอยู่นั่นสามารถรู้ลมหายออกได้ตามทางตลอดสายมันก็สามารถเข้าถึงฌาน ๔ ได้ ในฉับพลัน อาการที่เราจะรู้ว่าเป็นอาการของฌาน ๔ เมื่อจับลมหายใจเข้าหายใจออกไป ตอนนี้กลับไม่รู้ว่าลมเข้าหรือลมออก ไม่มีความรู้สึกลมเข้าหรือลมออกก็ไม่รู้ เหมือนไม่หายใจ กำลังใจจะทรงสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เป็นเอกัคคตารมณ์ มีอารมณ์อันเดียวโดยเฉพาะ ไม่คิดถึงอะไรทั้งหมด แล้วก็แซกมาด้วยอุเบกขารมณ์คือความวางเฉย ตัวนี้ท่านบอกจิตกับกายแยกกันเด็ดขาด ไม่ยอมรู้เรื่องประสาททรงตัวเหมือนคนตื่นอยู่ธรรมดา จิตไม่มีอาการกระสับกระส่าย มีความสุขมาก ไม่ปวด ไม่เมื่อย ไม่รู้เสียงภายนอก เสียงภายนอกนี่ก็ไม่ได้ยิน จะมาจุดพลุใกล้ ๆ เปิดเครื่องขยายเสียงใกล้ ๆ นี่ก็ไม่ได้ยิน เป็นอาการของฌาน ๔ ตอนที่เข้าฌาน ๔ นี่ทรงตัวได้ดีมาก

    เพื่อนกันองค์หนึ่งเขาได้ฌาน ๔ เขาเข้าถึงฌาน ๔ ปรากฏว่าไม่ปรากฏลมหายใจเข้าออก นั่งไปนานเท่าไรไม่รู้ ตอนนี้มันไม่รู้สึกนาน บางทีเราว่าไปตั้ง ๗ - ๘ ชั่วโมง รู้สึกเหมือนเดี๋ยวเดียว นี่ถ้าเราจะนั่งนานจริง ๆ ให้เป็นเรื่องของฌาน ถ้าไม่ได้ฌานอย่าไปทำนานมันเสียประโยชน์ ถ้าฌานมันบังคับอยู่ ๒ ชั่งโมง ๓ ชั่วโมง มันไม่ถอนก็แปลว่าไม่มีอันตราย แต่ทว่าอย่าปล่อยให้มันทรมานมากนัก ควรกำหนดเวลาไว้ มิฉะนั้นร่างกายจะแย่จะเสียทีหลัง ต้องระวัง ท่านผู้นั้นพอได้ฌาน ๔ จิตเข้าถึงฌาน ๔ ไม่หายใจ พอฌานมันถอน วิ่งยันป้ายถึงกุฏิหลวงพ่อปาน บอกขอเลิกไม่เจริญพระกรรมฐาน เพราะมันไม่หายใจนี่ กลัวตาย พอตอนเช้าหลวงพ่อปานฉันข้าว ก็พูดให้พระฟังว่า ไอ้คนกลัวดีนี่มันหายากจัง อันนี้เขาเรียกว่ากลัวดีนะ นี่เรียกว่าอานาปานุสสติกรรมฐาน

    ท่านทั้งหลายจำไว้ว่าจุดจบมันอยู่ที่ฌาน ๔ คือ กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกไป ถ้าระยะไหนก็ตามถ้ายังรู้ลมหายใจ เข้าออกอยู่ ถือว่าเรายังไม่จบ และหากว่าขณะใดขณะหนึ่ง เราเข้าถึงจุดจบ คือ ไม่รู้ลมหายใจเข้าออกแล้ว ต้องพยายามรักษาอารมณ์นั้นไว้ ถ้าวันหลังบังเอิญทำไม่ถึงนั่นก็อย่ากลุ้มใจ ถือว่าปล่อยมัน มันจะได้แค่ไหนก็ช่างมัน รักษาอารมณ์สบายใจไว้เป็นสำคัญ เอาแค่สบายใจนะ รู้ลมเข้ารู้ลมออก แค่สบายใจเป็นสำคัญ อย่าอยากเห็นภาพและแสงสี นี่เค้าห้ามเด็ดขาด ถ้าต้องการเห็นภาพเห็นแสงสีแล้ว เห็นแล้วเข้าไปหลงมันเสียสมาธิ สมาธิจะตก อย่าไปสนใจไม่ใช่ของดี มันเป็นของเลว มันเป็นเครื่องบั่นทอนความดี นี่ว่ากันถึงสมถะของอานาปานุสสติกรรมฐานก็จบลงแค่นี้นะ

    ในตอนท้ายพระพุทธเจ้าท่านแถววิปัสสนาญาณเข้าไว้ ท่านว่าอย่างไร พิจารณาเห็นกายในกายบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในและภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือความเกิดขึ้นในกาย ย่อมพิจารณาเห็นเห็นธรรมดา คือความเสื่อมไปในกาย ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในกายบ้าง หรือมีสติว่ากายนี้มีอยู่ เข้าไปตั้งอยู่ โดยเฉพาะหน้าแก่เธอ แต่เพียงสักแต่ว่าเป็นที่รู้ แต่เพียงสักแต่ว่าเป็นที่อาศัยระลึก เธอย่อมไม่ติดอยู่ด้วย ย่อมไม่ยึดถืออะไรในโลกด้วย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายเนือง ๆ อย่างนี้ ตรงนี้เป็นวิปัสสนาญาณ ตอนพิจารณาเห็นลม หายใจเข้า หายใจออก ตอนทรงฌานเป็นสมถภาวนา มาพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในและภายนอกว่ากันย่อ ๆ ท่านบอกพิจารณาเห็นความเสื่อมไปของกายในคือเรา กายนอกคือกายของคนอื่น กายในกายเห็นอะไรมันเสื่อมล่ะ ส่วนที่เราพึ่งเห็นได้ง่ายก็ผม ผมมันเคยดำ นาน ๆ เข้ามันก็เปลี่ยนเป็นสีขาว เมื่อก่อนนี้ผมดก เวลานี้หัวล้านเข้าไปแล้ว นี่มันไม่จริง ความเสื่อมของกาย ความเป็นเด็กทรงอยู่ไม่นานนักมันก็คลานเข้าไปหาความเสื่อม เพราะว่ามันเดินเข้าไปหาความสลายตัว เมื่ออาการแข็งแรงปรากฏเราคิดว่ามันเจริญ มันยิ่งเดินเร็วเท่าไหร่มันก็ใกล้ความตายเข้าไปเท่านั้น แล้วมันจะดีอะไร นี่ความเสื่อมภายใน บางทีเราจะเห็นยาก แต่ก็พยายามดูไว้

    สมัยหนึ่งเมื่อผมเป็นเด็ก ๆ เคยอ่านหนังสือพิมพ์เขาบอกว่า เราจะถ่ายรูปไว้ทุกปี ความจริงเขาไม่ได้สอนธรรมะ เขาว่ากันทางโลก จะถ่ายรูปไว้ทุกปีเพื่อจะได้ทราบว่าเมื่อสมัยนั้นเราอายุเท่าไหร่ รูปร่างหน้าตาลักษณะเป็นอย่างไร อีกปีหนึ่งก็มาถ่ายใหม่ เด็กก็จะได้ทราบว่า พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ของเรา มีความเปลี่ยนแปลงที่ละน้อยละน้อย มาว่าถึงตอนแก่ที่สุด เด็กจะได้รู้สภาพว่าเราเป็นหนุ่ม เป็นสาว หรือวัยกลางคน นี่เค้าไม่ได้ตั้งใจจะสอนธรรมะ แต่ก็มาตรงกับธรรมะของพุทธเจ้า ถ้าหากว่าเราพยายามถ่ายรูปไว้ทุก ๆ ปี เราก็จะเอารูปแต่ละปี ละปี นั้นมาดู ก็จะรู้ว่าร่างกายของเรามันเสื่อมลงไปทุกปี ทุกปี ว่ากันถึงดูรูปนะ ถ้าเราไม่มีรูปจะดู ก็ดูอาการของกาย ว่าเดิมทีเดียวมันเด็ก ต่อมาก็เป็นผู้ใหญ่ ไอ้ตอนที่เป็นผู้ใหญ่นี้ก็ดูว่า อะไรมันเสื่อมไปบ้าง ถ้าเราเป็นหนุ่มเต็มที่ ความดีเดิมมันเริ่มเสื่อมแต่ความจริงนี่เป็นเรื่องของจิตนะ ไม่ใช่เรื่องของกาย เอาเสียหน่อยก็ยังได้ ความดีเดิมมันเริ่มเสื่อมก็เพราะว่า เมื่อเรายังเป็นเด็กเล็กน่ะ ยังไม่มีความรู้สึกอยากจะมีคู่ครอง แล้วก็ต้องการความสวยสดงดงามมันก็น้อย ความจริงจิตตัวนั้นมันจิตดี พอถึงเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้ว ไอ้จิตชั่วมันยากสวย อยากสวยก็อยากให้คนอื่นเขาเห็นสวย เพื่อจะได้ต้องตาเลือกเป็นคู่ครอง นี่มันเป็นความเลวของจิต มันคนละเรื่อง มาว่ากันเรื่องของกาย ร่างกายเราเมื่อแก่ไปอายุมาก ร่วงโรยไปบ้างไหม ความเสื่อมของร่างกายมันมีทุกวัน ตอนเช้าตื่นขึ้นมายังไม่ได้กินข้าว หิว ๆ ก็กินข้าว แล้วมันอิ่ม ๆ แล้ว พอตอนสาย ๆ

    หรือตอนกลางวันมันก็เริ่มหิว นี่รู้ไว้เลยว่า ความเสื่อมของร่างกายเกิดขึ้นแล้ว นี่คิดกันอย่างพระผู้มีสตินะ ทำไมจึงว่าเสื่อม ก็เพราะอาหารที่กินไปตอนเช้ามันเสื่อมคุณภาพ ถ้ามันไม่เสื่อมก็ไม่หิว เลยเวลาไปจากนั้นก็เสื่อมอีก เรากินกลางวัน ไปจากนั้นพอตกเย็นมันก็หิวความเสื่อมมันปรากฏ อันนี้เห็นได้ยากนักก็มานั่งดูกัน ดูความเสื่อมของตัวเองมันเห็นช้า ดูกายในกายก็เห็นช้า พระพุทธเจ้าท่านให้ขยับออกไปอีกหน่อย พิจารณาภายนอกคือกายภายนอกไม่ใช่กายเรากายคนอื่น เราก็มานั่งดูคนที่เขาเดินผ่านหน้าเราไป หรือนั่ง อยู่ข้างหน้าที่เราผ่านไป หรือว่าท่านผู้ใหญ่ที่อยู่กับเรา ว่าท่านทั้งหลายเหล่านี้สมัยก่อนท่านแก่ขนาดนี้หรือว่าเป็นเด็กเหมือนเรา ถ้าเราไม่ใช้ความโง่เสียนิดเดียว เราก็จะทราบว่าคนทุกคนเกิดมาเป็นเด็กแล้วต่อมาก็เติบโตขึ้นที่ละน้อย ๆ เป็นหนุ่มสาว ต่อมาก็มาถึงเป็นคนแก่ ทีนี้เรามานั่งดูคนแก่ คนแก่เขาบอกว่าไม่มีดี เขาว่ากันอย่างนั้นนะ มันจะมีดีตรงไหนล่ะ ตาก็ไม่ดี ตาของเราเคยแจ่มใสก็มองอะไรไม่เห็น ดีไม่ดีอย่างผม เอาแว่นเข้ามาใส่ยังมองไม่เห็นเลย หูเคยดีก็จะฟังอะไรไม่ชัด ผมเคยดำสละสลวยก็เริ่มเปลี่ยนสี ทีนี้ร่างกายที่เคยแข็งแรงก็งก ๆ เงิ่น ๆ ผิวหนังที่เคยเปล่งปลั่งก็ย่อหย่อนไปด้วยประการทั้งปวง ความจำก็เสื่อม อะไรก็ใช้ไม่ได้ เรียกว่าคนแก่หาอะไรดีไม่ได้ ท่านบอกให้ดูกายนอกกายหรือกายภายนอก เราก็ใช้ปัญญาสักนิดเข้ามาพิจารณา อันนี้ตัวสติสัมปชัญญะไม่ใช่ตัวปัญญานะ

    เมื่อทรงจิตแล้วก็ใช้ปัญญาพิจารณาว่าท่านทั้งหลายเหล่านี้เป็นคนแก่ เดิมท่านก็เป็นคนหนุ่มเหมือนเรา ต่อไปถ้าเรามีอายุกาลผ่านไปมากเข้า เราก็จะเป็นเหมือนท่าน ก็มานั่งนึกดู เมื่อสภาพการณ์เป็นอย่างนี้ และพระพุทธเจ้ากล่าวว่า ให้ยอมรับนับถือกฎธรรมชาติ ท่านว่าย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเสื่อมไปในกายบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดาคือความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปภายในกายบ้าง ท่านว่าอย่างนั้น เรามาพิจารณาเห็นว่า ไอ้การเกิดขึ้นแล้วเสื่อมไปอย่างนี้ นี่มันเป็นเรื่องของธรรมดา มันไม่ใช่ของผิดธรรมดา ถ้าทุกสิ่งทุกอย่างเรายอมรับนับถือว่าเป็นธรรมดาเสียแล้ว เราก็ไม่มีอะไรตกใจ ไม่มีอะไรสะดุ้ง ไม่มีอะไรเป็นทุกข์ เพราะธรรมดาที่เราเห็นชัดอยู่อย่างหนึ่งนั่นก็คือ พระอาทิตย์ตอนเช้าขึ้นมีแสงสว่าง ตอนเย็นลับไปมีความมืด เราพบมาตั้งแต่เกิดขึ้นมายังเดินไม่ได้นั่งไม่ได้เห็นแสงสว่าง แล้วก็เห็นความมืด ก็เลยเห็นเสียจนชิน ไม่มีความรู้สึกหนักใจว่าพระอาทิตย์เกิดขึ้นมาตอนเช้า ตอนเย็นมันก็ลับไป ก็ไม่นานเท่าไหร่ เช้ามันก็ขึ้นมาใหม่ เลยเห็นเป็นของธรรมดา คือว่าความมืดคืบคลานเข้ามาแทนที่เราจะสะดุ้ง หวาดหวั่น ดิ้นรน เราก็ไม่ทำอย่างนั้น ไม่นานนักเวลาพรุ่งนี้เช้ามันก็สว่างขึ้นมาใหม่ ทีนี้ความรู้สึกอะไรก็ตาม ถ้าเราเห็นเป็นธรรมดาแล้ว ความหวาดสะดุ้งมันไม่มี เราหันมาพิจารณากายในกาย คือร่างกายของเรา เอากายของชาวบ้านเป็นสื่อ ถ้าเราเห็นกายในกายของเราไม่ค่อยจะเห็น ก็ต้องเอากายของชาวบ้านมาเป็นครู มาเป็นครูตรงที่เราเห็นกายชาวบ้านเขาแก่ลงไป ผมเคยดำกลับขาว ตาเคยยาวกลับสั้น ฟันที่เคยดีกลับหัก หูฟังเคยอะไรมันก็ฟังไม่ได้ เนื้อหนังที่เคยเปล่งปลั่งก็หย่อนยาน สติสัมปชัญญะก็ไม่ดีเท่าเดิม ร่างกายก็ไม่แข็งแรง นี่เรื่องของชาวบ้านเป็นอย่างนี้ ก็มานั่งนึกถึงตัวเรา นึกไว้เป็นประจำว่าอาการอย่างนี้มีมากับคนอื่นที่เขาเกิดก่อน มันไม่ไปไหน ถึงเวลานานไป เราอายุแบบนี้เข้าเมื่อไหร่มันก็เป็นแบบนี้แหละ เมื่อถึงเวลาที่เราแก่เข้าจริง ๆ ผมมันก็เริ่มขาวเราก็ไม่หนักใจ เราเข้าใจแล้วว่าเป็นเรื่องธรรมดา ต่อมาถ้าตามันฝ้าลงเราก็ไม่เห็นแปลก อาการสะดุ้งทางใจทางกายมันก็ไม่มี เพราะถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ตาฝ้า ตาฟาง หูไม่ดี ร่างกายสุขภาพไม่ดีมันงก ๆ เงิ่น ๆ ความเล่งปลั่งหายไปก็ตามที ในเมื่อเรายอมรับนับถือว่ามันเป็นธรรมดาแล้วความสะดุ้งหวาดหวั่นมันก็ไม่มี นี่ท่านบอกว่า ต้องยึดถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา

    เมื่อเราเคารพกับความเป็นธรรมดาแล้วจริง ๆ เราจะเห็นพ่อตาย แม่ตาย พี่ตาย น้องตาย อาการร้องไห้ไม่มี นี่เราต้องประสบ ใครเขาจะนินทาว่าร้ายเราก็ไม่หวั่นไหวถือว่า นตฺถิ โลเก อนินฺทิโต คนที่ไม่ถูกนินทาเลยไม่มีในโลก เราเกิดมาเพื่อ ถูกชาวบ้านนินทา จะไปหนักใจอะไรกับการนินทา ต่อมาเมื่อความตายมันเข้ามาถึง นอกจากเราจะเห็นความเสื่อมของร่างกายแล้ว เราก็ดูความตายของชาวบ้านด้วย ว่าชาวบ้านเค้าเกิดมาแล้วเขาตายให้เราดูทุกวัน พระนี่สำคัญใครเขาตายกันที่ไหน พระถูกเกณฑ์เมื่อไรพระรวยเมื่อนั้น เมื่อเวลาเค้านิมนต์พระไปสวดพระอภิธรรมบ้าง เทศน์บ้าง หรือสวดอะไรก็ตาม ในตอนท้ายเขาก็นิมนต์ เขาก็นิมนต์พระบังสุกุล ว่า อนิจฺจา วต สงฺขารา อุปาทวย ธมฺมิโน อุปฺปชฺชิตาวา นิรุชฌนฺติ เตสํ วูปสโม สุโข เวลาพระบังสกุล ความจริงพระพุทธเจ้าไม่ได้ บอกให้บังสุกุลผีนะ ท่านสอนให้เราบังสกุลตัวเอง พระอะไรถือว่าบังสุกุลเป็นอาชีพละก้อ ถือว่าอเวจีมหานรก ถ้าเขานิมนต์ไปบังสุกุลก็ดีใจวันนี้จะได้แล้ว น้ำอ้อยน้ำตาลหรือว่าได้สตังค์ เราก็เขียนไว้ได้เลย ๑ ละ การลงนรก การถือเป็นอาชีพแบบนั้นจัดเป็นโลภะความโลภ เราบวชเพื่อทำลายความโลภไม่ใช่บวชเพื่อสะสมความโลภ อย่างนั้นเขาเรียกว่าบวชเพื่อนรก แสวงหานรกเป็นทุน การบังสุกุลท่านว่า อนิจฺจา วต สงฺขารา สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ นี้ให้พิจารณากายภายนอก คือคนที่เขาเกิดเหมือนเราแล้วก็เวลานี้มันพังลงไปแล้ว นี่เป็นเรื่องธรรมดา อุปาทวย ธมฺมิโน เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมไป เสื่อมอย่างไร เมื่อเกิดขึ้นมาเป็นเด็กแล้วก็โตขึ้นมา แล้วความทรุดโทรมย่อมปรากฏ

    นี่เป็นอาการของความเสื่อมทางกาย อุปฺปชฺชิตาวา นิรุชฌนฺต เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป นี่อันนี้เขาตายแล้ว เราเองก็มีสภาพแบบนี้ ความไม่เที่ยงมีแล้วสำหรับเรา มีกับเขาฉันใดก็มีกับเราเหมือนกัน เราเกิดเหมือนเขาก็ต้องเสื่อมเหมือนเขา แล้วก็เวลานี้เค้าดับ หรือ เขาตายไปแล้ว ไม่ช้าเราก็ต้องตายเหมือนเขา ตอนท้ายท่านบอกว่า เตสํ วูปสโม สุโข แปลว่า การเข้าไปสงบกายชื่อว่าเป็นสุข นี่ตรงนี้เราคิดเลยว่า นี่ครูใหญ่เราพบแล้ว เราพบมาตั้งแต่ต้นมานั่งดูตัวคนอื่นเขาบ้าง นั่งดูตัวเราเองบ้าง มันปรากฏกระทบกระทั่งกับความเสื่อม ความไม่ทรงตัวอยู่ตลอดเวลา นี่เราก้เลยยอมรับนับถ์อว่า เป็นเรื่องของธรรมดาต้องนับถือจริง ๆ นะ เห็นจริง ๆ ณุ้จริง ๆ จะมานั่งหลอกตัวเองลงนรกนะ ใครไม่ได้จริง ๆ ทะนงตัวว่าได้เข้าใจว่าได้ ความประมาทมันเกิด คิดว่าเราดี แล้วก็เลยไม่สร้างความดีต่อ ถ้าเราไม่สร้างความดีต่อ ความดีเดิมมักจะเสื่อม นี่เรียกว่าความประมาท ปมาโท มจฺจุโน ปทํ พระพุทธเจ้ากล่าวว่า ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย มันตายเพราะสิ้นลมปราณไม่สำคัญ แต่ว่าตายจากความดีนี่ซิ ตายจากคนแล้วเป็นสัตว์นรกนี่มันซวยเต็มที นี่ เตสํ วูปสโม สุโข จิตเห็นเป็นของธรรมดาอยู่แล้วเป็นของไม่ยาก อารมณ์ของธรรมดาจริง ๆ นี่คนที่ยอกรับนับถือการเกิดขึ้น การเสื่อมไป การดับไปของร่างกายจริง ๆ โดยมีอารมณ์ไม่หวั่นไหวมากมีอารมณ์มากระทบจิตแต่หวั่นไหวน้อย ไม่ยึดถือมากเกินไป เวลาจะตายจริง ๆ ก็ไม่ได้ว่าอะไร อาการอย่างนี้มันเป็นของพระโสดาบัน คนที่ยอมรับนับถือกฎของธรรมดา ว่านี่มันเรื่องไม่แปล ของธรรมดา ฟันมันจะหักก็ธรรมดาไม่ใช่หักแต่เรา ชาวบ้านเขาก็หัก ผมมันหงอกก็ของธรรมดา ชาวบ้านเขาก็หงอกกันตั้งเยอะ เราหัวหงอกคนเดียวเป็นไรไป หัวมันล้านเขาว่า อีตานี่หัวล้าน ก็ธรรมดานี่ นี่เป็นเรื่องธรรมดาเรายอมรับนับถือ ความแก่มันเข้ามา ฟันหัก ตาไม่ดีเข้ามา ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา

    เรารู้ตัวแล้วว่ามันจะเป็นอย่างนั้น อารมณ์ของการยอมรับนับถือธรรมดาด้วยความจริงใจเป็นเรื่องของพระโสดาบันขึ้นไปนะ นี่ท่านทั้งหลายก็ตั้งใจรู้ไว้เลย ว่าใครก็ตามที่ยอมรับนับถือกฎของธรรมดาอารมณ์นี้มันจะรักพระนิพพาน เพราะมันเกลียดตัวเกิด เกิดนี่มันเป็นธรรมดาจริง ๆ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วตัวทุกข์มันตามมา ตัวนี้เราไม่พูด อริยสัจพระพุทธเจ้าสอนตอนท้าย หาตัวธรรมดาเข้ามาแล้วมันแก่ บางทีไม่ทันจะแก่ความปรารถนาไม่สมหวังก็เกิด กินอิ่มแล้วก็หิว อยู่สบาย ๆ มันก็ร้อน ดีไม่ดีมันหนาวอีกแล้ว ดีไม่ดีอาการป่วยไข้ไม่สบายมันก็เกิด ตั้งแต่นี้มาเรายอมรับนับถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา แล้วเราไม่หนักใจเมื่มันหิวมีก็กิน ไม่มีก็ทนหิวไป เพราะอยากเกิดมาทำไมหมายความว่า ถ้าเราไม่มีร่างกายเสียอย่างเดียวอาการอย่างนี้มันไม่ปรากฏ จิตมันก็กำหนดไว้เลยว่า ขึ้นชื่อว่าความเกิดไม่มีสำหรับเรา นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ความเกิดจะไม่มีสำหรับเราอีก ความเกิดเป็นมนุษย์ก็ดี เทวดาก็ดี พรหมก็ดี เราไม่ต้องการ หรือการที่จะมีอาการพิสมัยว่าโลกมนุษย์สวยสดงดงาม เทวโลกพรหมโลกสวยสดงดงามมันเป็นที่น่าอยู่ไม่มีสำหรับเรา เราต้องการอย่างเดียวอาการความดับไม่มีเชื้อ โลก ๓ ไม่ต้องการทั้งหมด จิตที่เราจะกำหนดไว้ก็คือ ไม่มีกายและก็มีพระนิพพานเป็นที่ไป นี่เรียกว่า ท่านทั้งหลายได้เห็นธรรมดาแล้ว มีอารมณ์รักพระนิพพานนิดหน่อย รักมากแต่ใจยังหวั่นไหวอยู่ เป็นพระโสดาบัน อาการของพระโสดาบันเราจะเห็นได้ชัด คือ
    มีความเคารพในพระรัตนตรัยอย่างจริงจัง ไม่ปรามาสพระรัตนตรัย มีความเคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เขาเขียนรูปพระพุทธเจ้าไว้ในกระดาษก็ดี เอาฟางหรือดินปั้น ผูกฟางเป็นรูปพระก็ดี เอามือไว้ได้อย่างสนิทใจ พระสงฆ์ทั้งหลายที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมีความเคารพ แต่ทว่าถ้านักบวชจัญไรนี่พระโสดาบันเขาไม่ไหว้นะ เขาเชื่อพระพุทธเจ้า ว่าเป็นเนื้อนาบุญเป็นของที่ดี


    นี่เป็นอันว่าถ้าอารมณ์ของท่านผู้ใดเข้าถึงอย่างนี้ คือว่าเคารพพระรัตนตรัยด้วยความจริงใจ เมื่อเคารพพระรัตนตรัยด้วยความจริงใจ ยอมรับนับถือกฎธรรมดาเรียกว่าไม่สงสัยในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วมีศีล ๕ เป็นปกติ ไม่ต้องระมัดระวังสำหรับฆราวาส สำหรับพระเณรก็รักษาศีลตั้งแต่ปราชิก สังฆาทิเสส ปาจิตตีย์ให้ครบถ้วน สำหรับอภิสมาจารนี่ไม่ละเมิดไม่ได้ มันต้องละเมิดแหง ๆ พระอรหันต์ยังโดนเลย แต่ท่านไม่ปรับโทษ เพราะเป็นส่วนเล็กน้อย เป็นส่วนที่ไม่เป็นอาบัติ ส่วนปราชิก สังฆาทิเสส ปาจิตตีย์ อันนี้พระอริยเจ้าไม่ละเมิด เว้นไว้แต่ส่วนอภิสมาจาร ถ้าหากว่าท่านใดมีอารมณ์ได้อย่างนี้เป็นพระโสดาบันจำไว้ ฝ่ายสุกขวิปัสสโก ถ้าหากว่ายอมรับนับถือกฎธรรมดาแล้วมีอารมณ์วางดับสนิทจากโลภะ ความโลภ โทสะ ความโกรธ โมหะ ความหลง เท่านั้น.





    ที่มา http://www.luangporruesi.com/book/3.html
     
  4. Phanudet

    Phanudet เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    8,434
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +15,647
    โมทนาสาธุธรรมหลวงพ่อครับ....แต่ยาวมากๆ...ดูไม่น่าอ่านเลย....เขาไม่ค่อยอ่านกันนะครับแบบนี้....

    ขอแล..บรรทัดสำคัญหน่อยครับ....
     

แชร์หน้านี้

Loading...