ธัมมะในลิขิต - หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย wisarn, 28 เมษายน 2009.

  1. wisarn

    wisarn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    741
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +2,505
    [​IMG] [​IMG]

    ธรรมะของ หลวงตาบัว ที่เขียนถึงอุบาสก ท่านหนึ่งคุณ เอี๋ยน ธัมมัญญู จังหวัด จันทบุรี เป็นผู้เก็บจดหมายเหล่านี้ไว้

    ธัมมะในลิขิต หลวงตาบัว ฉบับที่ 1

    วัดโพธิสมภรณ์ อุดรธานี 9 มีนาคม 2499
    เรื่องพระไตรลักษณ์ย่อมมีประจักษ์อยู่ทั้งภายนอกและภายในจิต แม้เราจะพิจารณาเฉพาะจิต ก็ไม่ผิดจากสัจจธรรม ไตรลักษณ์เป็นสัจจธรรมด้วย มีอยู่ประจำจิตเราทุกท่านด้วย ข้อสำคัญก็คือให้รู้ด้วยปัญญา สังขารธรรมที่เกิด (ปรุง) ขึ้นจากจิต ย่อมมีลักษณะเป็นสาม คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อริยสัจสี่รวมลงที่จิต ขันธ์ห้าเป็นอริยสัจด้วย เป็นไตรลักษณ์ด้วย ในบรรดาขันธ์ห้า ขันธ์ใดถูกจริต พึงพิจารณาขันธ์นั้นให้มาก

    แม้เราตั้งความระวังสำรวมอยู่เฉพาะจิต ก็ไม่ผิดจากองค์มรรค อย่างที่โยมทองแดงบอกว่าไม่ผิดนั้น อาตมาก็เห็นด้วย ฉะนั้นขอให้พยายามเป็นลำดับ คนเราถ้ามีความสงบแล้วก็เป็นสุข ถ้าไม่มีความสงบแล้วก็ไม่มีสุข ดังนั้นเราควรหาความสุขเพื่อเรา การพิจารณาก็เพื่อทำจิตให้สงบ และเกิดปัญญาฉลาด สามารถเปลื้องตัวออกจากเครื่องผูกพัน การกำหนดเฉพาะจิต ก็เพื่อความสงบของจิต เมื่อจิตสงบแล้วก็ค่อยเกิดปัญญาหาทางแก้ตน เหมือนบุคคลมีทุนทรัพย์แล้ว ก็จะเป็นเหตุให้คิดค้าหากำไร เพื่อเปลื้องตนออกจากความทุกข์ยากฉะนั้น เอวัง

    บัว

    ธัมมะในลิขิต หลวงตาบัว ฉบับที่ 2

    วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ 25 เมษายน 2499
    การภาวนาโปรดได้พากันบำเพ็ญประจำวัน การจะพยายามแก้ทุกข์ออกจากใจเป็นสิ่งสำคัญมาก และพึงทราบสมุฎฐานที่เกิดของทุกข์เสียก่อน สมุฎฐานของทุกข์ท่านก็กล่าวว่า กิเลส สมุฎฐานของกิเลสก็คือ จิต อีกเหมือนกัน (เป็นวัฏวน) ดังนั้นทุกข์จึงต้องมีที่จิตเป็นสำคัญ

    เมื่อฝึกฝนอบรมให้กิเลสหมดไปจากจิตแล้ว จิตจึงหาทุกข์บีบคั้นไม่ได้ แม้จะทุกข์ทางกาย ก็เป็นแต่สักว่ากิริยาของขันธ์ซึ่งยังอยู่ จะต้องแสดงอาการตามหน้าที่ของเขา ความรู้ตามเป็นจริงของจิตที่ได้รู้รอบแล้วในขันธ์ทั้งหลาย ก็เป็นแต่เพียงรู้ความจริงของขันธ์อยู่เท่านั้น หาได้ไปปรับโทษยกคุณขันธ์แต่ประการใดไม่

    เมื่อจิตไม่ไปคว้าเอาทุกข์ที่เกิดขึ้นในขันธ์ซึ่งเรียกว่าทุกขเวทนาแล้ว ทุกข์ที่ปรากฏในขันธ์ก็ไม่ซึมซาบถึงจิต จิตก็ไม่เป็นทุกข์เดือดร้อนไปตาม ต่างก็ทำงานแลอยู่ตามความเป็นจริงของตน ไม่ระคนซึ่งกันและกัน เรียกว่าหมดทางน้ำไหลเข้าไหลออก ก็เลยกลายเป็นน้ำนิ่งน้ำใสบริสุทธิ์ไป จิตที่หมดทางไหลเข้าไหลออกของกิเลส ก็กลายเป็นจิตบริสุทธิ์ หมดความหวั่นไหวเช่นเดียวกับน้ำนั้น

    ขอได้พากันบำเพ็ญตามกำลัง ชีวิตของเราทุกๆ คนในโลกจะอยู่ก็ไม่กี่วันเที่ยงแท้จะแตกดับอยู่แล้ว รีบขวนขวายหาคุณงามความดีในเมื่อมีชีวิตอยู่ หาได้มากน้อยเป็นของเรา เมื่อมีคุณงามความดีซึ่งเราได้สั่งสมไว้มากแล้ว หากว่าเราไม่สิ้นกิเลส ยังจะกลับมาเกิดในโลกอีก ก็จะเป็นผู้ไม่ผิดหวังในสถานที่เกิดและสิ่งที่เราต้องประสงค์ บุญเป็นเครื่องแก้ความขาดเขินบกพร่อง ความทุกข์ทรมานท่านต้องแก้เราได้แน่ๆ สิ่งที่จะให้สมหวังคือบุญนี้เอง

    ท่านผู้สมหวังได้ผ่านทุกข์พ้นไปแล้ว คือพระพุทธเจ้าของเรา ท่านก็อาศัยบุญนี้เองเป็นคนช่วยท่าน ผู้ที่จะให้สมหวังในกาลข้างหน้าก็บุญนี้เอง โปรดจำให้แม่น เพียรอย่าถอย ยังมีชีวิตอยู่ก็ไม่เสียท่า ตายไปแล้วก็ไม่เสีย จงทำดีให้มาก

    บัว

    ธัมมะในลิขิต หลวงตาบัว ฉบับที่ 3

    วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ 1 มิถุนายน 2499
    เรื่องคุณโยมจวน หากท่านอุตส่าห์พิจารณาค้นคว้าในกองขันธ์ 5 เข้าให้มาก ก็จะเห็นโทษคุณมากขึ้นทีเดียว จุดใดปมใดซึ่งเป็นเครื่องขัดข้อง ในเมื่อเราพิจารณาขันธ์ 5 เข้าให้มากแล้ว ต้องเห็นจุดเห็นปมนั้นแน่นอน การพิจารณาขันธ์ 5 นี้พิสดารมาก ทั้งเป็นบ่อเกิดแห่งปัญญา วิชชาอันเป็นเครื่องถอดถอนกิเลส “ด้วยคำว่าจุดว่าปม” นั้นก็คือตัวกิเลสนั่นเอง

    เมื่อปัญญายังไม่ละเอียดพอๆ กับกิเลสชนิดนี้ ก็ยังมองไม่เห็น แก้ไม่ตก ถอนไม่ขึ้น กิเลสชนิดที่มองไม่เห็นนี้ ก็เลยกลายเป็นภัยแก่ท่านเองอีกหลายภพหลายชาติ ถ้าจะคิดไปหน้าเดียว ไม่พิจารณาด้วยปัญญาให้ทั่วถึง ก็อาจสำคัญตนว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ก็ได้ ซึ่งเหมือนหนทางเดินที่เราเข้าใจว่าเป็นทางเตียนโดยถ่ายเดียวก็ไม่ค่อยจะระวังอันตราย แต่ว่าเสี้ยนหนามหรือเศษแก้วแตกอาจแทรกอยู่ในหนทางนั้นก็ได้ ในเมื่อเดินไปไม่ระวังก็ตำเท้าให้ได้รับความเจ็บปวดเดือดร้อนแก่ตัวเอง นี่โทษเกิดขึ้นเพราะความตายใจเกินไป ไม่มองด้วยสายตาให้ทั่วถึง

    อนึ่งจิตนี้เมื่ออยู่ตามธรรมดาของตนก็เป็นของละเอียดอยู่แล้ว เมื่อได้รับอบรมในทางที่ถูกยิ่งละเอียดขึ้นไป ส่วนกิเลสเล่าก็ละเอียดไปตามกัน อาศัยปัญญาเท่านั้น จะแก้กิเลสส่วนนี้ได้ ความสำคัญว่าอย่างนั้นอย่างนี้ อันนี้เป็นตัวสัญญา จะแก้กิเลสอย่างละเอียดไม่ได้ แก้ได้แต่ส่วนหยาบเท่านั้น

    ดังนั้น ท่านจึงสอนให้อบรมปัญญา การอบรมปัญญา ก็ได้แก่การค้นคิดในขันธ์ 5 เอาขันธ์ 5 เป็นหินลับ ปัญญาก็กล้าสามารถตัดกิเลสอย่างละเอียดได้ ก็พ้นทุกข์ได้ โดยไม่ต้องสำคัญตน เมื่อพอแก่เหตุแก่ผลแล้ว คำว่า “อมตํ หรือวิสุทธิธรรม” ก็เป็นขึ้นเองโดยไม่ต้องเสกสรรหรือสำคัญใดๆ ใครๆ จะแต่งผลไม่ได้ แต่งได้แต่ตัวเหตุเท่านั้น

    อนึ่ง การพิจารณาขันธ์ 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็คือการพิจารณาเรื่องความเกิดความดับของขันธ์ 5 นั้นเอง ทั้งที่เป็นส่วนอดีต อนาคต และ ปัจจุบัน มีความเกิดความดับเป็นอันเดียวกัน พิจารณาให้เห็นเป็นของไม่น่าไว้ใจหรือนอนใจ ซึ่งเรียกว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เหมือนกันหมด ต่อจากนั้นก็ทวนเข้ามาพิจารณาจิต ซึ่งเป็นที่เกิดแห่งอารมณ์ทั้งหลายอีก ไม่อย่างนั้นก็จะกลายเป็นมหาโจรผู้สั่งสมกิเลสไว้ในตัวอีกเหมือนกัน จึงควรพิจารณาจิตผู้รู้ ซึ้งธรรมทั้งหลายให้เห็นเป็นความจริงเสมอกับธรรมทั้งหลายอีก ไม่อย่างนั้นก็จะกลายเป็นมหาโจรผู้สั่งสมกิเลสไว้ในตัวอีกเหมือนกัน จึงควรพิจารณาจิตผู้รู้ ซึ้งธรรมทั้งหลายให้เห็นเป็นความจริงเสมอกับธรรมทั้งหลายอีก ไม่อย่างนั้นจิตก็จะสำคัญว่าตนฉลาดเพราะไปรู้ธรรมทั้งหลาย เลยลืมทวนกระแสเข้ามาพิจารณาและรู้เท่าตัวของตัวเอง

    ประการหนึ่ง เมื่อจิตยังเพลินไปรู้หรือตำหนิติชมธรรมส่วนอื่น ว่าดีว่าชั่วอยู่ตราบใด พึงทราบเถิดว่าจิตนั้นยังเป็นอวิชชาอยู่ตราบนั้น จัดว่ายังไม่ฉลาดพอ และจัดว่ายังพ้นทุกข์ไม่ได้ เพราะยังหลงตัวคือจิตอยู่

    การพิจารณาที่จะให้รอบคอบในขันธ์ทั้งหลาย ทั้งที่เป็นขันธ์นอกขันธ์ใน และจิตเรา ซึ่งนอกจากขันธ์ทั้งสองประเภทนั้น เป็นของสำคัญไม่น้อย จิตนี้จะใช้ให้พิจารณาธรรมประเภทใด ทั้งใกล้ทั้งไกล ทั้งหยาบทั้งละเอียด ทั้งภายนอกภายใน พอรู้ได้เห็นได้ไม่ยากนัก แต่จะทวนเข้ามาพิจารณาจิตนี้ซิสำคัญยิ่ง เมื่อกลับเข้ามาพิจารณาตรงนี้ได้แล้ว รู้ตรงนี้แล้ว ว่าเป็นความจริงชนิดหนึ่งซึ่งต่างจากความจริงใดๆ ทั้งหมด พร้อมทั้งความไม่ยึดมั่นถือมั่นเสมอธรรมทั้งหลายแล้ว นั่นแหละจึงจะหมดอวิชชาและอุปาทาน จะปฏิญญาณตนว่าหลุดพ้นหรือไม่ก็หมดปัญหาในตัว

    ดังนั้น ท่านผู้สิ้นจากความสำคัญไรๆ แล้ว จึงเป็นเหมือนปิดปาก ไม่อยากพูดสุ่มสี่สุ่มห้า ไม่อยากอวดตัวไม่อยากทดลอง เมื่อปรากฏเฉพาะหน้าก็ดูไป ฟังไป ไม่อาลัยในความอยากดูอยากฟังอีก ในเมื่อรูปเสียงเป็นต้น ผ่านพ้นไป หมดคำว่าตัวดี ตัวชั่ว อยู่กลางๆ ตามความจริง เพราะคำว่าดีหรือชั่วเป็นเหมือนสีย้อม เมื่อจิตบริสุทธิ์แล้ว หมดเรื่องเสกสรรเหมือนน้ำที่บริสุทธิ์แท้ไม่มีสีฉะนั้น เอวํ

    บัว

    ธัมมะในลิขิต หลวงตาบัว ฉบับที่ 4

    วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ 20 มิถุนายน 2499
    การปฏิบัติธรรมทางจิต โปรดได้ค้นคิดในขันธ์ให้มาก เรื่องมัคคสมังคีหรืออริยมรรคที่กล่าวถึงในฉบับก่อนนั้น เป็นผลของงานซึ่งตัดกิเลสขาดไปเป็นตอนๆ ขอยกไว้ จะกล่าวถึงเรื่องงาน คือการดำเนินปฏิทา ซึ่งเราควรหยิบยกมาปฏิบัติให้พอดีแก่นิสัยวาสนาของเรา นิสัยของคุณไม่ใช่นิสัยที่จะอยู่นิ่งๆ โดยอาการบังคับจิตไม่ให้คิดนึก ที่ถูกควรค้นคว้าพิจารณาในขันธ์ภายนอกภายในด้วยปัญญาอยู่เสมอ

    แต่ระวังความหมายรู้ล่วงหน้าไปก่อน จะเป็นการมักง่ายเกินไป จะเสียทางปัญญาเรื่องอารมณ์ อดีตอนาคตไม่ควรโน้มน้าวมาสู่ใจที่บริสุทธิ์อยู่ในปัจจุบัน จะทำจิตซึ่งตั้งอยู่ในปัจจุบันอันบริสุทธิ์ให้ขุ่นมัว อดีตอนาคตไม่ใช่ตัวกิเลสและบาปธรรม ไม่ใช่ตัวนรก สวรรค์ และนิพพาน ดวงจิตที่รู้อยู่ในปัจจุบันนี้เองจะเป็นดีเป็นชั่ว ในเมื่อเราปล่อยไปคว้าอารมณ์ทำให้เป็นอดีตอนาคตขึ้น ตัวปัจจุบันเลยหลงหลักที่ถูก ที่แท้จิตซึ่งรู้อยู่ในปัจจุบันไม่ได้ไปทำเสียหายชั่วร้ายอะไร มีแต่การชำระตนอยู่ด้วยปัญญา แม้ว่าท่านพระอริยเจ้า ในคราวท่านหลงท่านก็ทำบาป แต่เมื่อรู้ตัวแล้วท่านพยายามละโดยปัจจุบัน ก็หลุดพ้นได้อย่างทันตา

    ภพก่อนเราจะเคยทำดีทำชั่ว แต่เราจำไม่ได้ก็ไม่เดือดร้อน ตกลงคนเราร้อนก็เพราะสัญญาความจำของตนเอง หากว่าขณะใดเราลืม มิได้เอาใจใส่ที่เราเคยเดือดร้อน ขณะนั้นเราก็สบายเป็นธรรมดาของจิตไปเสีย ที่เล่ามานี้คือโทษของอดีตที่เราไม่สำรวม แล้วปล่อยให้คิดตามอำเภอใจ ดังนั้น ความผิดหรือถูกมีทุกคน แต่เวลานี้เราไม่ทำและไม่ตั้งใจจะสั่งสมเก็บเอาไว้ เราตั้งใจจะบำเพ็ญหรือสั่งสมเก็บเอาไว้เฉพาะธรรมที่เป็นปัจจุบัน อันสัมปยุตด้วยปัญญาเครื่องแก้ไขกิเลสและบาปธรรม อันเป็นทางพ้นทุกข์เท่านั้น

    ดังนั้น สิ่งใดที่เกิดขึ้นในจิตใจซึ่งเป็นฝ่ายนิวรณ์ เราพึงทราบด้วยปัญญาทันทีว่า สิ่งนั้นคือมายาของจิตเอง ไม่ใช่บาปกรรมมาจากอื่นที่ไหนเลย การอบรมจิตจึงต้องรู้มายาของจิต ไม่อย่างนั้นจะหลงกลมายาของจิต หาความบริสุทธิ์ไม่ได้เลย เมื่อเรารู้มายาของจิตที่หลอกลวงเราทุกอย่างด้วยปัญญาแล้ว จิตจะไปหามายามาจากไหนอีก

    เหมือนเรารู้กลอุบายของคนที่จะมาหลอกลวงเรา เราไม่เชื่อเขาแล้ว เขาจะต้มเราได้ที่ไหน อันนี้ก็ฉันนั้น เมื่อกำลังสติปัญญารู้ทันความปรุง ความคิด หรือความหมายอยู่แล้ว อาการเหล่านี้ก็ค่อยหมดมายาไปเอง จิตเมื่อได้สติกับปัญญาเป็นพี่เลี้ยง คอยสอดส่องความชั่วร้ายหมายโทษมิให้เกิดขึ้นได้ จิตก็จะนับวันผ่องใสบริสุทธิ์ไปเอง

    นี่แหละคุณทั้งสอง อุบายเครื่องแก้ทุกข์ให้พ้นได้ในปัจจุบัน ไม่ต้องไปคำนึงคำนวณถึงอำนาจวาสนาที่ไหน การชำระใจให้บริสุทธิ์อยู่ทุกเมื่อด้วยสติปัญญามิได้ขาดวันขาดคืน ห้วงน้ำในมหาสมุทรก็นับวันจะตื้นขึ้นทุกที ความดีนับวันมากล้น ก็พ้นได้ตามใจหวัง เอวํ โปรดได้พิจารณาด้วยปัญญา

    ขอให้พากันสนใจ สมบัติใหญ่ได้แล้วกินไม่รู้จักหมดสิ้น แม้แผ่นดินหนาสองแสนสี่หมื่นโยชน์จะหมดไป สมบัติใหญ่เรายังคงที่ไม่แปรผัน เป็นของอัศจรรย์เหนือโลก โชคเรามีจึงได้เกิดมาพบศาสนา มีศรัทธา ได้หว่านพืชอย่าได้จืดจาง จงพยายามปล่อยวางด้วยปัญญา

    บัว

    ;aa13​
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 14 มิถุนายน 2009
  2. wisarn

    wisarn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    741
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +2,505
    ธัมมะในลิขิต หลวงตาบัว ฉบับที่ 5

    วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ 30 พฤศจิกายน 2499
    ขอให้ตั้งใจปฏิบัติตามแนวที่ได้อธิบายให้ฟังแล้วในจดหมายทุกๆ ฉบับ อย่าส่งจิตใจไปอื่นนอกจากกายกับจิตให้เกินกว่าเหตุ จะเสียเวลา ทั้งจะนำความกังวลเดือดร้อนมาเผาผลาญเราเปล่าๆ และขอแนะนำย้ำอีกว่า อย่าแสวงหาสันติธรรม คือพระนิพพานนอกไปจากกายกับจิต ปัจจุบันเป็นบ่อเกิดแห่งบุญแลบาป อดีตอนาคตไม่ใช่บุญแลบาป และมิใช่บ่อเกิดแห่งบุญแลบาป ปัจจุบันนี้เองเป็นตัวบุญตัวบาป

    เมื่อเรารักษาจิตให้อยู่ในปัจจุบันด้วยความมีสติแล้ว กิเลสบาปธรรมที่ไหนจะเลื่อนลอยมาครอบงำจิตให้เราได้รับความเดือดร้อนเล่า เหตุที่เราจะเดือดร้อนขุ่นมัว ก็เพราะปล่อยจิตให้คว้าโน่นคว้านี่ ไม่อยู่เป็นสุข คือคว้าอดีตอนาคตซึ่งเหมือนน้ำลายถ่มทิ้งแล้วคว้ากลับเข้ามาใส่ปากอีก ย่อมน่าสะอิดสะเอียนต่อลิ้นไม่น้อยเลย อารมณ์หรือสิ่งที่ชั่วอะไรก็ตามที่ผ่านพ้นไปแล้ว เราก็รู้แล้วว่าไม่ดียังคว้ากลับคืนมาเผาจิต อันนี้ยิ่งร้ายกว่าน้ำลายที่ถ่มทิ้งเสียอีก เลยหาความเย็นไม่ได้เลย เราอยู่ดีกินดีอย่าหาเรื่องใส่เรา เราต้องการจะให้ไฟดับ ต้องไสฟืนออก แล้วไฟจะค่อยดับเอง จิตถ้าได้เชื้อคืออดีตอนาคตเป็นปัจจุบันหนุนหรือส่งเสริมอยู่แล้ว ก็จะไปกันใหญ่ เหมือนไฟได้เชื่อฉะนั้น

    ดังนั้น จึงควรรักษาจิตให้มีอารมณ์ที่ดีเป็นเครื่องดื่มโดยปัจจุบัน ก็นับวันจะสงบสบายคลายจากสิ่งที่เป็นข้าศึก จะมีแต่ความสงบสุขทุกอิริยาบถ จึงจะสมนามว่าผู้ฉลาดทรมานจิตให้หายพยศได้

    อนึ่ง สัตว์พยศเขายังทรมานได้ ธรรมดาจิตเมื่อมีกิเลสก็ต้องมีพยศ เราจะหักห้ามหรือทรมานให้จิตหายพยศไม่ได้ จะเรียกว่าคนฉลาดที่ตรงไหน เมื่อเราทรมานจิตได้มากน้อยก็ชื่อว่าเป็นคนฉลาดโดยลำดับ จนถึงเรียกว่าเป็นคนฉลาดได้ (ยอดนักปราชญ์) เอวํ สวัสดี

    บัว

    ธัมมะในลิขิต หลวงตาบัว ฉบับที่ 6

    วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ 1 พฤษภาคม 2500
    แม่ทองแดง เมื่อมีคนส่งเสริมมากเท่าไร ก็พึงทราบว่าจะมีคนนินทามากเท่าเทียมกัน ดังนั้นความเคลื่อนไหวในกิริยาใดๆ ผู้ที่ได้เห็นหรือได้ยินในกิริยานั้นๆ จึงเก็บไว้ภายในใจ พระพุทธเจ้าผู้เป็นเจ้าของศาสนายังถูกโลกธรรมรุมตี แต่ก็คงเป็นพระพุทธเจ้าตามเดิม จนวันเข้านิพพาน เราทุกคนมีพุทธประจำตัว เมื่อชำระให้บริสุทธิ์แล้ว แม้โลกธรรมจะรวมหัวกันหมดทั้งโลกมาโจมตี ก็คงบริสุทธิ์อยู่ตามเดิม

    เพราะความบริสุทธิ์นั้นไม่ใช่โลกธรรมๆ จึงไม่สามารถแทรกซึมหรือลบล้างความบริสุทธิ์นั้นได้ ความจริงแท้ๆ (แก่นแท้) มีอยู่กับท่านผู้ใด จะเป็น หญิง ชาย หรือนักบวชใดๆ เพียงว่าผู้นั้นแย้มออกมาเท่านั้น เราก็พอรู้หรือพอเข้าใจได้ เราอย่าหลงกระพี้ คือเห่าหอนของโลก หูตาเรามี ใจเรามี ดูให้ดี ฟังให้ดี คิดให้ดี จะเห็นของดี (นักปราชญ์ภายนอกภายใน) หนีจากตา หู และใจ ปัญญาของเราไปไม่พ้น ต้นไม้บางชนิด มีแก่นอยู่ข้างนอก เช่น ต้นตาล เป็นต้น

    บางชนิดมีแก่นอยู่ข้างใน มีไม้พะยูง เป็นต้น คนเราก็ฉันนั้น ดีนอกก็มี เช่น มีแต่กิริยามารยาท คำพูดถูกกาลเทศะ สำนวนโวหารไพเราะ ภายในเหมือนถ่านไฟ ดีในก็มี สมัยนี้ดีในมีน้อย ส่วนดีนอกตามสัญญาจะเหลือโลกอยู่แล้ว เราสมาคมคบหาใคร ดูให้ถึงตา ถึงหู ถึงใจ อย่าหลงตามใคร เมื่อถึงใจแล้วจับให้มั่น ใครจะเห่าหอนแทะกัดไปอย่างไรไม่ต้องหวั่นไหวนั่นแล ท่านว่าใจนักปราชญ์

    อนึ่งสมัยนี้นักวิทยาศาสตร์เจริญ สุนัขบ้าก็ชุมตามๆ กัน เรารีบเตรียมยาไว้ติดตัว ไม่อย่างนั้นจะแย่

    บัว

    ธัมมะในลิขิต หลวงตาบัว ฉบับที่ 7

    วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ 8 กรกฎาคม 2500
    การเจ็บป่วยเป็นเทวทูตประจำตัว ขออย่าได้ประมาทนอนใจ โปรดพิจารณาตามบริเวณที่เจ็บป่วยนั้นแล ให้เห็นด้วยปัญญาประจักษ์ว่า อวัยวะทั้งหมดนี้ เป็นของแน่เหลือเกินที่จะเป็นเครื่องทับถมเราให้ได้รับความทุกข์และไม่ตั้งอยู่นาน ทั้งหาสาระอะไรไม่ได้ ทั้งจะตั้งหน้าไปสู่ความแตกสลายโดยถ่ายเดียวเท่านั้น ต่างก็มีอยู่เป็นไปอยู่ด้วยกันอย่างนี้ทั่วโลก หาที่หลบภัยไม่ได้เลย

    แม้พระพุทธเจ้าก็ต้องเป็นอย่างนี้เหมือนสามัญชนธรรมดา ภัยอย่างอื่นๆ เราพอหลบหลีกได้บ้าง ภัยอย่างนี้ต้องหลบหลีกด้วยปัญญา คือหยั่งทราบตามความเป็นจริง พระพุทธเจ้าเป็นเข้า ท่านมียาแก้ เราทั้งหลายไม่ค่อยมียาแก้ ต่างกันที่ตรงนี้

    บัว

    ธัมมะในลิขิต หลวงตาบัว ฉบับที่ 8

    วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ 24 สิงหาคม 2500
    การพิจารณากาย – จิต ให้ถือว่าเป็นกิจสำคัญประจำอิริยาบถ และโปรดระวังอย่าปล่อยให้จิตไปสำคัญหมายรู้ไว้ก่อน จะทำความตั้งใจในปัจจุบันที่มีต่อ กาย – จิต ให้เคลื่อนไหวไปตาม จะไม่เห็นความจริงที่มีประจำ กาย – จิต พึงทำเหมือนเราเปิดหีบสิ่งของซึ่งส่งมาจากทางอื่น ที่เราไม่เคยรู้สิ่งของภายในหีบมาก่อน ตั้งเจตนาไว้เพื่อจะดูเฉพาะสิ่งของภายในหีบเท่านั้น จนกว่าเราจะเปิดออกดู จะรู้ว่ามีอะไรบ้างในหีบนั้น

    การพิจารณากายก็พึงตั้งจิตไว้เฉพาะหน้า อย่าส่งไปตามสัญญาอดีตอนาคต กำหนด กาย – จิต ไว้จำเพาะหน้า จนกว่าจะเห็นความเป็นอยู่ของอาการทั้งหลายที่เป็นไปอยู่ในปัจจุบัน และจะเปลี่ยนแปลงไปข้างหน้าจนถึงความแตกดับ พึงพิจารณาให้เป็นปัจจุบันจริงๆ อย่าคาดหมายไปก่อน จะกลายเป็นความสะเพร่าของจิตติดสันดาน เลยจะไม่ได้อุบายอะไรจากการพิจารณากายกับจิต ทั้งจิตเองก็จะไม่มีกำลังความสงบ ตลอดถึงความแยบคายคือปัญญา จะรู้หรือไม่รู้ก็ไม่ต้องเดือดร้อนไปก่อน

    การพิจารณากายกับจิต ซึ่งเป็นสถานที่เกิดปัญญาและความหลุดพ้นแท้ จะเป็นไปไม่ได้อย่างไรเล่า นักปราชญ์ท่านได้ชัยชนะจากสมรภูมินี้แท้ (จากกายกับจิต) นอกจากจิตจะไม่เอาเรื่องกาย – จิต มาเป็นอารมณ์แห่งกรรมฐานเสียจริงๆ ความรู้ในกายทุกส่วนซึ่งเกิดจากการคาดคะเนจะไม่เป็นผลที่พึงใจของเรา ในเมื่อเราไม่ผลักดันความรู้ชนิดคาดไปก่อนออกให้ห่างไกล ทรงไว้เฉพาะความรู้ที่เกี่ยวพันกันกับกายในปัจจุบัน นั่นแลจึงจะเป็นความรู้ใหม่เกิดขึ้นมาแทนตัว จึงจะเป็นความรู้ความสามารถรักษาจิตให้เที่ยงตรงต่อธรรมทั้งหลาย ทั้งที่เป็นฝ่ายดี ชั่ว และกลางๆ เราเริ่มพิจารณาคราวใดก็พึงตั้งจิตไว้ทำนองนี้ อย่าปล่อยให้จิตรู้หลอกไปก่อน

    ส่วนผล คือความสงบสุขนั้น เป็นของเกิดเองจากการพิจารณาถูก เราไม่ต้องเดือดร้อนว่าจะไม่พ้นทุกข์ ทุกข์มันอยู่ที่กายจิตนี้เท่านั้น เพราะกิเลสอยู่ที่นี่จึงต้องพิจารณาที่นี่ เรียกว่าแก้ทุกข์หรือแก้กิเลส เราอย่าส่งจิตไปสวรรค์นิพพาน นรกที่ไหน นรกคือความเดือดร้อนอันวุ่นวาย นิพพานคือความสงบสุข เมื่อชำระใจของเราได้ดีแล้ว ด้วยสติปัญญาและความเพียรจริงๆ เราจะรู้ได้ทั้งนรก ทั้งสวรรค์ และนิพพาน ณ ภายในจิตของเรานี้เท่านั้น หาไปรู้ที่อื่นไม่

    คนทั้งหลายรู้ธรรมทั้งหลายแล้วไม่พ้นทุกข์ ทั้งกลับเป็นเสี้ยนหนามยอกแทงตนและผู้อื่นเข้าด้วยซ้ำ แต่พระพุทธเจ้าแลสาวกรู้ธรรมแล้วพ้นทุกข์ไปเลย พร้อมๆ กับความรู้ธรรมเกิดขึ้น เพราะเหตุใดระหว่างคนทั้งสองสามจำพวกนี้จึงต่างกันเล่า ก็เพราะความรู้เกิดจากปัจจุบันจิต อันกลายเป็นปัญญาไปในตัว กับความรู้คาดคะเน (สัญญา) มันต่างกันราวฟ้ากับแผ่นดินนั่นเอง จึงสามารถแปรคนทั้งสองจำพวกให้ต่างกัน

    เหตุที่ความรู้ที่เป็นปัจจุบันจิตจะเกิดได้ ก็ต้องพิจารณาปัจจุบันธรรมคือกายกับจิตนี้เอง เพราะ กาย – จิต เป็นสถานที่สั่งสมกิเลส และเป็นสถานที่ถอดถอนกิเลสแลกองทุกข์ทั้งมวล ฉะนั้นเราควรตั้งจิตไว้โดยทำนองที่ว่า ให้จิตอยู่กับกายจิตจริงๆ จนเรียกปัจจุบันได้เต็มที่แล้ว กระแสของปัจจุบันจิตจะกระจายแสงสว่างคือปัญญาออกตามอาการของกายแลอาการของจิตโดยรอบคอบ จากนั้นก็จะได้เห็นทุกสิ่งทั้งที่เป็นคุณเป็นโทษปรากฏด้วยปัญญาอันชอบแท้ ตลอดกลางวัน กลางคืน ยืน เดิน นั่ง นอน จะเรียกว่าฟังธรรมทุกเวลาก็ได้

    ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เราเคยได้ยินจนชินหูแต่ยังไม่ซึ้งถึงปัญญา แล้วสิ่งเหล่านี้ก็ยังไม่มีรสชาติพอที่จะให้เกิดความเบื่อหน่ายได้ ทั้งนี้ก็เพราะสัญญาหมายกันไปเท่านั้น หาได้เป็นปัญญาหยั่งทราบความ เกิด แก่ เจ็บ ตายอย่างแท้จริงไม่ ฉะนั้นสัตว์ทั้งหลายซึ่งรู้ธรรมของพระองค์ด้วยสัญญา จึงกลายเป็นเจ้าแห่งทุกข์ แห่งกงจักร สังสารวัฏอีกด้วย คำว่า กงจักร เป็นต้น พึงทราบใกล้ๆ และย่อด้วยว่า กาย – จิต และอาการของจิตนี้เอง หมุนตัวเองให้หลงรัก – ชังในวัตถุและอารมณ์ทั้งที่เป็นภายนอกและภายในอยู่ ไม่มีเวลาหยุดยั้งได้

    ฉะนั้นจึงควรพิจารณาตัวกงจักรเป็นต้นนี้ให้แยบคายด้วยปัญญาอยู่เฉพาะหน้า นักปราชญ์ท่านไม่หนีจากกายกับจิต ถือเป็นนิมิตประจักษ์ใจทุกเวลา ใช้ปัญญาสอดส่องอยู่เสมอ จึงสามารถพ้นจากสมมติถึงวิมุตติ คือสภาพที่หาสมมุติบัญญัติไม่ได้แม้แต่น้อย นี่แหละเรียกว่า พ้นจากกงจักรตัวหมุนเวียน เราพึงทราบกงจักร หรือสังสารวัฏว่าอยู่ที่ไหนแน่ โดยนัยที่อธิบายมานี้ จะได้หายสงสัยกันเสียที

    บัว

    ธัมมะในลิขิต หลวงตาบัว ฉบับที่ 9

    วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ 14 กันยายน 2500
    ขอให้พร้อมกันตั้งใจบำเพ็ญอย่าท้อถอย เพราะเราเป็นศิษย์พระพุทธเจ้าด้วยกัน ความทุกข์ – ลำบาก เพราะการทำความดีพออดพอทน ท่านที่พ้นทุกข์ไปได้แล้ว ท่านก็ต้องผ่านความทุกข์-ลำบากเพราะความพากเพียรเหมือนเรานี่เอง ถ้าปลีกจากทางนี้แล้วก็หาความพ้นทุกข์ได้ยาก นักปราชญ์ท่านเห็นงานสำคัญกว่าเงิน เพราะใครมีงานผู้นั้นก็มีเงิน

    ฉะนั้น พึงทราบว่าบุญกุศลทั้งมวลเกิดจากงานคือความพากเพียร ความเพียรในความดีทุกประเภท จัดว่าเป็นต้นทุนหนุนกำไรให้เราก้าวไปสู่ความดี นับแต่ชั้นต่ำจนกระทั่งถึงชั้นสูงสุด คือพระนิพพาน ดังนั้น ควรยินดีในกุศลที่เราได้อุตส่าห์บำเพ็ญมาแล้วจนถึงวันนี้ และพึงพากเพียรต่อไปเพื่อความเพิ่มพูนแห่งบารมีของเราให้แก่กล้า สามารถพ้นไปได้ดั่งใจหมาย

    บัว

    ธัมมะในลิขิต หลวงตาบัว ฉบับที่ 10

    วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ 21 พฤศจิกายน 2500
    การเร่งทางด้านจิตตภาวนานั้นแลจะได้เห็นภัยของโลกทั้งมวล สังขารเราแก่เข้าทุกวัน เปลี่ยนไปทุกขณะลมหายใจ ความหมายของจิตซึ่งปรุงไปก่อน เป็นอุปสรรคแก่ปัญญา ซึ่งจะเกิดขึ้นเฉพาะหน้า ปัญญาที่เกิดขึ้นจากปัจจุบันจิต เป็นปัญญาที่จะเปลื้องความสงสัยได้โดยลำดับ ดังนั้นเราควรรักษาจิตให้เป็นปัจจุบัน ตั้งอยู่กับกายกับอารมณ์ที่เกิดจากจิต โดยเฉพาะเรื่องของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และอสุภธรรมทั้งหลาย จะปรากฏขึ้นเองด้วยปัญญาอันละเอียดอ่อน ซึ่งอาศัยปัจจุบันจิตเป็นภาคพื้น

    ความที่คาดคะเนนั้นทำได้ทุกคน เพราะไม่ใช่ของจริง ทำไปๆ เลยเกิดด้านหรือชินไปเสียอย่างดื้อๆ ยกตัวอย่างคนเรียนปริยัติมากๆ จำได้มากๆ ซึ่งไม่ใช่ปัญญา แล้วจะรู้สึกว่ามีทิฐิมานะมาก เพราะสำคัญว่าตนรู้มาก ใครจะสอน คนเช่นนั้นเขาไม่ฟังเสียง เพราะเขาสำคัญว่าความรู้ของเขาที่เรียนมาสูงจดท้องฟ้าเสียแล้ว ดังนี้ เป็นต้น

    ความทำจริงมุ่งต่อความหลุดพ้นจริงๆ แม้จะเรียกเฉพาะกรรมฐาน 5 เท่านั้น สาวกของพระพุทธเจ้าก็ปรากฏในตำราว่าหลุดพ้นได้หลายองค์ การเรียนมากเรียนน้อย อาจเป็นอุปนิสัย ซึ่งเคยสั่งสอนปริยัติมาแต่ชาติปางก่อนก็ได้ สรุปความแล้วเรียนมากเรียนน้อยจะต้องไหลลงรวมในข้อปฏิบัติ คือหลักจิตตภาวนาทั้งนั้น

    ซึ่งเป็นหลักมุ่งประสงค์ของพระองค์โดยแท้ทีเดียว อนึ่ง ความรู้ทั้งหมดจะเป็นสุตะมะยะปัญญา จิตามะยะปัญญา หรือปัญญาเกิดจากการศึกษามากน้อยทั้งหลายเหล่านี้ จะต้องกลับมาฟักตัวอยู่ที่ภาวนามะยะปัญญา อันเป็นส่วนรวมของปัญญาทั้งหลาย เหมือนแม่น้ำทั้งหลายไหลมารวมมหาสมุทรฉะนั้น

    ภาวนาปัญญานี้ เบื้องต้นต้องเข้าอาศัยจิตที่ตั้งมั่น (ปัจจุบันจิต) เสียก่อนเพราะปัจจุบันจิตดังที่อธิบายแล้วข้างต้น ย่อมเป็นภาคพื้นหรือบ่อเกิดแห่งปัญญาทุกประเภท หรือเหมือนพื้นดินเป็นที่อาศัยเกิดแห่งพืชทุกชนิดนั้น ดังนั้น อุบายทั้งปวงเมื่อเราพยายามรักษาจิตให้ตั้งอยู่เฉพาะในวงแห่งกายแลจิตแล้ว จะเกิดขึ้นเองและจะตัดความสงสัยภายในจิตได้เป็นลำดับ ตั้งแต่ต้นจนตลอดอวสาน จะหนีจากหลักปัจจุบันจิตซึ่งสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันกับกายแลจิตอันเป็นตัวเหตุสำคัญไปไม่ได้เลย

    ผู้เรียนมากก็ดี ผู้เรียนน้อยก็ดี ที่จะถอดถอนความสงสัยอันมีอยู่ภายในจิตไม่ได้ ก็เพราะหนีจากหลักความจริง คือกายกับจิตซึ่งเป็นรากฐานของปัจจุบันจิตนั้นเอง เมื่อบังคับจิตให้ตั้งอยู่ในรากฐานอันนี้แล้ว เรื่องปัจจุบันจิตจะปรากฏตัวขึ้นเอง โดยไม่ต้องไปคว้าหาที่ไหน

    เมื่อปัจจุบันตั้งมั่นแล้ว ปัญญานับแต่ชั้นต่ำ-กลาง และปัญญาส่วนละเอียดสูงสุด ก็จะแตกแขนงกิ่งก้านขึ้นมาจากนั้นเป็นลำดับ เหมือนบุคคลก่อไฟให้ติดเชื้อด้วยดีแล้ว ควันซึ่งอาศัยไฟเป็นเหตุนั้น จะตั้งขึ้นตั้งแต่ควันหยาบควันปานกลาง และควันที่ละเอียดสุดจากเปลวไฟนั้นเป็นลำดับ ฉะนั้นพึงทราบเรื่องของปัญญาทุกประเภท จะต้องเกิดจากปัจจุบันจิตเช่นเดียวกับควันไฟเกิดจากเปลวไฟนั้นเถิด

    ยาแก้โรคทุกประเภทจะมีแต่ตำรา หาผู้ฉลาดปรุงยาและหาคนไข้จะมารับประทานยาไม่ได้แล้ว พยานที่เราจะพึงอ้างว่ายาดี เพราะถูกกับโรค ก็ไม่ปรากฏแก่โลกอย่างเด่นชัด ต่อเมื่อมีผู้ฉลาดปรุงยาตามตำรา พร้อมทั้งคนไข้ก็มีความพอใจรับประทานยาจนหายป่วยแล้วนั่นแหละ จะพึงอ้างได้ว่ายาดีแท้ เพราะอาศัยแพทย์ผู้ฉลาด และคนไข้ได้รับการรักษาจากหมอผู้ถือตำรายาด้วยความฉลาด

    ข้อนี้ฉันใดศาสนาจะมีแต่ตำรา (คัมภีร์) หาผู้ปฏิบัติตามคำสอนที่แท้จริงจนเกิดความฉลาดสามารถถอนตนให้พ้นจากกองทุกข์ได้ดังนี้ ก็ไม่เป็นหลักฐานที่จะพอฟังได้ เพราะคนทั้งๆ ที่เขาไม่เคยลิ้มรสจากการปฏิบัติเลย เขาก็พูดได้ ต่อเมื่อมีผู้ปฏิบัติตามคำสอนโดยถูกต้องจนเกิดผลประโยชน์เฉพาะตนเป็นลำดับแต่ชั้นต่ำจนถึงชั้นสูงสุด คือวิมุตติพระนิพพานประจักษ์ใจ โดยนัยที่ท่านกล่าวไว้ว่า “ปจฺจตตฺตํ เวทิตพโพ วิญญูหิ” ดังนี้

    ผู้นั้นจะพึงอ้างว่าศาสนาของพระพุทธเจ้าดีจริงๆ ดังนี้ได้ ข้อนี้เป็นหลักฐานจะพึงฟังได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ฉันนั้น การอธิบายให้คุณฟังทั้งดุ้นนี้ ก็เพื่อจะให้รสของยาซึมซาบเข้าในกาย จะได้หายจากโรค ได้แก้ให้ศาสนาซึบซาบเข้าถึงใจสมกับว่าใจเป็นผู้ทรงศาสนาจริงๆ สมัยนี้ตำราท่านกล่าวไว้มีมากจนไม่สามารถหยิบยกเอามาเป็นหลักใจอย่างแท้จริงได้
    ฉะนั้น พึงย้อนกลับเข้ามาในวงแคบของอริยสัจสี่ คือกายกับจิตนี้ยังร้อนๆ อุ่นๆ อยู่ ไม่เคยล้าสมัยตลอดกาล แปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ พึงทราบว่านำออกไปจากนี้ เราพึงนำแปดหมื่นสี่พันย้อนกลับเข้ามาขัดเกลาภายในใจให้จงได้ โดยที่ว่าให้จิตตั้งมั่นอยู่ภายในกายกับจิตให้ได้ อย่าวิตกว่าจะเสียเวลา หรือป่วยการเปล่า ข้อนั้นเป็นความคาดหมาย เป็นธรรมหลอกลวง กิริยาจิตที่ส่งออกนอกตัวด้วยความอยากหรือทะเยอทะยานนั้น หากเป็นธรรมเครื่องถอดถอนกิเลสแล้วไซร้ คนทั้งโลกคงพ้นทุกข์ไปนานแล้ว ไม่จำเป็นต้องสอนกันเข้ามาในวงแห่งอริยสัจ คือกายกับจิต ก็เพราะกิริยาจิตที่ส่งเช่นนั้นเป็นการดำเนินผิดทางนั่นเอง

    เอาละ ขอให้คุณพยายามตามที่แนะนี้ อย่าวุ่นวายโดยประการทั้งปวง พึงยึดหลักภายในให้ดี นิพพานหนีจากหลักภายในไปไม่พ้น จะรู้หรือไม่รู้อย่าถือเป็นประมาณ เดี๋ยวจะเขวหลัก รับประทานลงไปตามช่องทวารปาก ไม่ไหลลงสู่ท้องและกระจายไปเลี้ยงอวัยวะทุกส่วน มีอย่างที่ไหน

    การปฏิบัติจิตเมื่อไม่ปล่อยให้หนีหลักแล้วจะไม่ยังความสงบให้เกิดเป็นลำดับ ท่านคงไม่กล่าวไว้ว่า “สวากขาโต ภควตา ธัมโม” ธรรมอันพระผู้มีพระภาคกล่าวดีแล้ว สวัสดี

    บัว


    ;aa13​
     
  3. wisarn

    wisarn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    741
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +2,505
    ธัมมะในลิขิต หลวงตาบัว ฉบับที่ 11

    วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ 18 มีนาคม 2501
    ยาเป็นเครื่องเยียวยารักษาธาตุขันธ์ ซึ่งแสดงอาการแตกร้าวรั่วไหลอยู่ตลอดเวลา ทั้งเป็นสิ่งรบกวนใจให้วุ่นวายไปด้วย ยาจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อมนุษย์และสัตว์ที่จะพึงเยียวยาให้มีความสุขไปบ้างในวันหนึ่งคืนหนึ่ง ไม่เช่นนั้นธาตุขันธ์จะทนอยู่ไม่ได้กี่วันต้องแตก

    ธรรมเป็นเครื่องเยียวยา ทั้งธาตุขันธ์และจิตด้วย จิตไม่มีธรรมเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงกายก็กระสับกระส่าย จิตก็ยิ่งลอยลม โลกกว้างหาที่สุดมิได้ ก็ไม่มีที่ปลงกายปลงใจ ปลงลงที่ไหนถูกแต่กองเพลิง คือความทุกข์กายทรมานใจ ดังนั้น ธรรมเป็นเครื่องระงับทุกข์ทางกายทางใจ จึงควรพิจารณาเป็นประจำ เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวหรือยับยั้งของจิต แม้ถึงกาลขันธ์จะพึงแตก จิตก็ไม่ฟุ้งซ่าน ดับไปโดยความสงบสุข

    ย้อนกลับเข้ามาดูขันธโลก จะเห็นทางสิ้นสุดโลกอันนี้แคบนิดเดียว เมื่อพิจารณาไม่รอบ จะเห็นโลกอันนี้เต็มไปด้วยความสุขความทุกข์ ความรักความชัง เมื่อพิจารณารอบด้วยปัญญาแล้ว จะเห็นขันธโลกอันนี้เต็มไปด้วยอริยสัจ คือธรรมตายตัวของพระอริยเจ้าทั้งนั้น และจะไม่มีทางตำหนิติชมและปรารถนาโลกอันนี้อีก

    ในเมื่อเห็นชัดด้วยปัญญาแล้ว “โลกวิทู” พึงทราบว่ารู้แจ้งในขันธ์นี้เป็นสำคัญกว่าอื่น เมื่อพิจารณาไม่รอบคอบเล่า ความหลงในขันธ์นี้ยิ่งร้ายกว่าอะไรเสียอีก โปรดน้อมเอานิสัยของนักปราชญ์มาประดับตัวของเรา จะได้มีความอาจหาญต่อความจริงคือทุกข์ ซึ่งโลกเคยกลัวและแพ้มาแล้วอย่างหลุดลุ่ย

    อาจกล่าวได้ในสมัยนี้ว่า แทบจะไม่มีใครเห็นอริยสัจ 4 คือ ทุกข์ ฯลฯ มรรค ว่าเป็นอริยธรรมคือธรรมอันประเสริฐด้วยความจริงใจแท้ ทั้งนี้เพราะไม่น้อมความจริงของท่านเข้ามาพิจารณาด้วยปัญญาอย่างแท้จริงนั่นเอง จึงเป็นแต่เพียงพูดกันตามท่านไปเฉยๆ ทั้งๆ ที่ไม่เชื่อต่อความจริงนั้นๆ ว่าจะเป็นความจริงแก่อนุชนผู้ปฏิบัติตามอย่างจริงใจได้

    พึงทราบว่าอริยสัจ 4 นี้ ไม่ใช่ธรรมเก่าและไม่ใช่ธรรมใหม่ด้วย เป็นปัจจุบันธรรม ใครเกิดมาต้องประสบทุกคน เว้นเสียแต่จะไม่เอาหูใส่ใจพิจารณาเท่านั้น ไม่เคยขาดคราวขาดสมัยแต่กาลไหนๆ มาจนถึงปัจจุบัน และยังจะมีอย่างนี้ไปตลอดอนันต์กาล

    ผู้มีปัญญาพิจารณาได้ไม่เลือกกาล และรู้เห็นได้ไม่เลือกเวลา “อกาลิโก” เราเป็นศิษย์ตถาคต อย่าสำคัญว่าทุกข์ที่มีในกายในจิตเป็นศัตรูคู่เวรแก่เรา ในขณะเดียวกันให้พิจารณาจนเห็นทุกข์นั้นๆ ว่า เป็นความจริงตามความจริงของทุกข์ที่ตั้งอยู่ นั่นแหละเราจะอยู่สบายแม้กายจะเต็มไปด้วยทุกข์ แต่ใจจะเห็นไปว่าทุกข์เป็นเครื่องลับปัญญาให้คมกล้า ทั้งสามารถข้ามพ้นไปได้ด้วยการเห็นทุกข์ด้วย ใครยังไม่เห็นทุกข์ว่าเป็นความจริงประจักษ์ใจก่อน ผู้นั้นจะปฏิญาณตนว่าบริสุทธิ์แล้วอย่างนี้ไม่เป็นฐานะอันจะพึงมีได้ โปรดพิจารณาให้ดี

    บัว

    ธัมมะในลิขิต หลวงตาบัว ฉบับที่ 12

    วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ 26 เมษายน 2501
    ให้พิจารณาทางจิตให้มาก การจวนตายไม่ว่าแต่คุณหรือใครๆ เตรียมกันอยู่แล้วทุกตัวสัตว์ เพราะการเตรียมเกิดได้ผ่านมาแล้วทั้งนั้น เวลานี้เป็นเวลาเตรียมจะตายเท่านั้น ฉะนั้นรีบพิจารณาเรื่อง สังขาร เขาจะทำหน้าที่ของเขาจนถึงจุดจบแห่งชีวิตโดยความไม่นอนใจ รีบตั้งสติพิจารณาด้วยปัญญา เพียงแต่ว่าตายจริงๆ เท่านี้ด้วยปัญญา จิตก็จะหันเข้าสู่ความไม่วุ่นวายในสังขารแลวัตถุอะไรทั้งหมด กำหนดลงในความตาย อย่านอนใจ เอาละ ยุติ

    บัว

    ธัมมะในลิขิต หลวงตาบัว ฉบับที่ 13

    วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ 29 เมษายน 2501
    สัตว์ทุกประเภทที่ถูกขังไว้ในกรง แม้กว้างขวางปลอดโปร่ง ก็คงจะได้รับความครูดสีและความทุกข์ทรมานจากกรงเป็นธรรมดา หนีไม่พ้น คนเราทุกชั้นมีกรรมวิบากเป็นกรงขังอยู่ตลอดเวลา จะหนีความทุกข์อันเกิดจากกรรมทั้งนี้ไปไม่พ้น ต้องทนสู้กรรมวิบากตามแต่จะให้ผลประการใด ด้วยความพิจารณาในกรรมนั้นๆ ซึ่งปรากฏขึ้นมาไม่ขาดระยะ ไม่ควรตื่นเต้นเกินกว่าเหตุ จะเสียหลักธรรมประจำใจ

    ใครไม่หนีพ้นจากความแปรปรวนของขันธ์ซึ่งมีอำนาจเหนือเราอยู่แล้ว เราพึงทราบสงครามระหว่างจิตกับขันธ์ กำลังแสดงความร้าวรานจะแตกแยกจากกันอยู่ทุกขณะ ด้วยปัญญาอันมีพระไตรลักษณ์เป็นจุดที่รวมลง จะเกิดความสงบและปล่อยวางความกังวลในขันธ์เสียได้ มากน้อยตามกำลังความเพียร โรคภายในจิตก็จะไม่ฟุ้งตัวขึ้นรับโรคกายให้มีกำลังกล้า ขันธ์ก็จะพอประทังๆ ไปได้ แม้ขันธ์ทนไม่ไหวจะแตกไป ใจก็มีหลักยึดได้ไม่เสียที

    บัว

    ธัมมะในลิขิต หลวงตาบัว ฉบับที่ 14

    วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ 17 กรกฎาคม 2501
    ตะวันนับแต่ก้าวขึ้นสู่ท้องฟ้า เร็วที่จะอัสดงคต คือก้าวลงสู่ความดับสังขารธรรม ทั้งภายนอกภายในก็เช่นเดียวกัน นับวันจะก้าวหน้าเข้าสู่ความแตกดับ พึงพิจารณาด้วยปัญญาให้รู้เท่าทันสังขาร เพื่อปล่อยวางไว้ตามสภาพ จะหมดกังวลในภาระใดๆ ประจักษ์ใจก่อนสังขารธรรมจะแตกดับล่วงลับไป สิ่งใดปรากฏขัดข้องในใจ สิ่งนั้นคือธรรมเครื่องสอนเรา รีบหยิบยกขึ้นพิจารณาทันทีที่ปรากฏ อย่าปล่อยไว้ให้เป็นข้าศึกแก่เรา สิ่งที่ปรากฏเฉพาะหน้านั้นแล เรียกว่าปัจจุบัน ความรู้สึกตัวทันทีที่สิ่งนั้นๆ มาปรากฏ แล้วรีบพิจารณาแก้ไข นี้เรียกว่าปัจจุบัน ปัจจุบันแก้ปัจจุบัน จึงจะเห็นความบริสุทธิ์ไปเป็นขั้นๆ จนถึงความบริสุทธิ์อย่างสมบูรณ์

    บัว

    ธัมมะในลิขิต หลวงตาบัว ฉบับที่ 15

    วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ 5 กันยายน 2501
    ข้อสำคัญ จะพิจารณากว้างแคบ รวมลงในไตรลักษณ์ ด้วยปัญญาปรากฏเป็นความสงบสุขประจำใจเราแล้วจัดว่าถูก หรือมีทั้งความสงบและความฉลาด เห็นโทษในสิ่งที่เป็นข้าศึกไปเป็นลำดับ ก็จัดว่าถูก แม่เจตก็โปรดเดินปัญญาความแยบคายในขันธ์และจิตเข้า อย่าลดละ ความสงบแต่อย่างเดียวไม่เกี่ยวกับปัญญา ก็เนิ่นช้าแต่จุดที่มุ่งหวัง

    บัว

    ธัมมะในลิขิต หลวงตาบัว ฉบับที่ 16

    วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ 24 กันยายน 2501
    การอบรมทางใจโปรดทำตามที่เคยได้อธิบายให้ฟังแล้วนั้น จะไม่ผิดทางเลย การภาวนาโปรดใช้ปัญญาวิจารณ์ในขันธ์ภายในภายนอกให้รอบคอบ โดยความมีสติและให้ถือสติกับปัญญาเป็นธรรมสำคัญในการแก้กิเลส ขออย่าได้พรวดพราด จะเสียหลักความจริงที่มีอยู่ประจำตนทุกเมื่อ กิเลสอาสวะทั้งหมดจะนอกเหนือกับสติปัญญาไปไม่พ้น

    บัว


    ;aa13​
     
  4. wisarn

    wisarn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    741
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +2,505
    ธัมมะในลิขิต หลวงตาบัว ฉบับที่ 17

    วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ 7 ตุลาคม 2501
    พึงหยั่งอาวุธคือปัญญาลงตรงที่ข้าศึก คือกิเลสและกองทุกข์อยู่ จึงจะได้ชัยชนะ กิเลสแลกองทุกข์ทั้งมวลไม่มีนอกเหนือไปจากเบญจขันธ์ ฉะนั้นพึงทราบว่าข้าศึกอยู่ที่นั้น พึงตั้งสติปัญญาลงที่นั้นอย่าลดละ พระพุทธ ธรรม สงฆ์ หรือผู้วิเศษทั้งหลายอยู่แทรก ณ ที่นั้น (คือเบญจขันธ์) เอง เพราะอะไรเล่า?

    เพราะจิตธรรมชาติวิเศษสิงสถิตอยู่ในเบญจขันธ์นั้น การพิจารณาอย่างนี้ตรงตามพุทธประสงค์ และตรงตามความหมายของธรรมแท้ไม่ผิด อย่ากังวลในความเป็นอยู่หรือความจะแตกตายนั่นเป็นอจินไตย เหนือความคาดหมาย ให้กำหนดลงที่เป็นทุกข์และวุ่นวาย เพราะสิ่งนี้เองก่อให้กิเลสในจิตฟุ้งขึ้น เพราะความหลงกลมารยาของเขา

    อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งสามนี้เป็นธรรมตายตัว ไม่เป็นไปตามความคาดหมายหรือปรุงแต่งของใครทั้งนั้น ฉะนั้นจงหยั่งสติปัญญาลงให้เป็นธรรมตายตัวโดยชัดเจน จึงจะเป็นจิตที่ตายตัวไม่หลอกตน และจะหายกังวลในขันธ์ซึ่งจะเป็นไปในหน้าที่แต่ละขันธ์ เรื่องกลัวแลกังวลในขันธ์จะแตกดับ ก็คือก่อไฟเผาตัวและจิตให้กิเลสฟุ้งและลุกลามนั่นเอง อย่างไรๆ ขันธ์ต้องแตกแน่

    ให้พิจารณาขันธ์ตัวที่จะต้องแตกแน่นี้ให้ชัดด้วยปัญญา เมื่อชัดแล้วความรู้ที่แท้จริงนี้ไม่แตกตามขันธ์ ฉะนั้นท่านผู้รู้ขันธ์ชัดเจนจึงไม่เดือดร้อน เพราะขันธ์จะตั้งอยู่ หรือขันธ์จะแตกไปเมื่อไร นี่คือหลักการพิจารณาที่แท้จริง และความรู้ที่แท้จริงต้องเป็นอย่างนี้ อย่าให้ส่ายแส่ไปทางอดีตอนาคต ปัจจุบันเป็นกฎความจริงที่จะรื้อถอนกิเลสโดยสิ้นเชิง นอกนั้นคือเรื่องกงจักรหมุนรอบตัวเองพึงทราบไว้อย่างนี้ตลอดกาลด้วย

    บัว

    ธัมมะในลิขิต หลวงตาบัว ฉบับที่ 18

    วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ 9 มกราคม 2502
    เรื่องการพิจารณาทางใจของแม่เจต ซึ่งออกค้นคิดบ้าง พักสงบบ้าง และพิจารณาอาการของจิตบ้าง ประสานกันไปนั้น เป็นการชอบแล้ว ไม่ต้องมีการแก้ไขอะไรอีกแล้ว นอกจากเวลาจิตพิจารณาเกินขอบเขต ไม่ค่อยหยุดยั้ง ก็พยายามให้จิตพักสงบเสียบ้าง เพื่อเป็นกำลังใจในการคิดค้นต่อไป อาการของจิตซึ่งเกิดๆ ดับๆ เป็นสิ่งสำคัญ จะต้องพิจารณาให้รอบคอบถี่ถ้วน

    บัว

    ธัมมะในลิขิต หลวงตาบัว ฉบับที่ 19

    วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ 26 มกราคม 2502
    อาการป่วยของอาตมากำเริบบ้าง หายบ้าง อย่าวิตกไปมากนัก เรื่องของขันธ์ต้องเป็นอย่างนั้นทุกขันธ์ และเป็นทั่วโลกไม่ลำเอียง หากว่าทุกข์หายไปจากโลก อริยสัจที่พระองค์ตรัสไว้ก็คงไม่ครบ ศาสนธรรมก็ไม่สมบูรณ์ เท่าที่ศาสนธรรมมีสมบูรณ์อยู่ ก็เพราะอริยสัจมีสมบูรณ์

    ฉะนั้น ทุกขสัจ จึงจัดว่าเป็นศาสดาเอก แทนพระพุทธเจ้าซึ่งปรินิพพานแล้ว อาตมาเองไม่เสียใจในการที่ทุกข์จะเกิดขึ้น กำเริบรุนแรง หรือทุกข์จะหายไปจากขันธ์ แม้ทุกข์จะหายไปก็หายไปเพื่อเกิดขึ้นอีกเท่านั้น ไม่เพื่ออื่นใดทั้งสิ้น ตราบเท่าขันธ์แตกดับ ทุกข์จึงจะดับโดยสิ้นเชิง

    คุณโยมมารดาและคุณแม่แก้วคิดถึงคุณทั้งสองมาก นับว่าคุณทั้งสองมีวาสนามาก ฉะนั้น จงภาคภูมิใจในวาสนาของตน เอวํ

    บัว

    ธัมมะในลิขิต หลวงตาบัว ฉบับที่ 20

    วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ 25 กุมภาพันธ์ 2502
    การพิจารณาอย่างว่านั้นถูกต้องแล้ว ความมีสติประจำจะพิจารณาอาการใดก็ชื่อว่าถูกต้อง เว้นเสียแต่ไม่มีสติ สติเป็นธรรมจำเป็นยิ่งนัก อย่าปล่อยวาง อย่าวิตกว่าเราจะไม่ดี ขอให้มีสติปัญญารักษาใจขณะที่เคลื่อนไหวอะไรผ่านจิตขอให้ผ่านสติปัญญา วิจารณ์ไปพร้อมๆ กันนี้แลบ่อเกิดแห่งความดี ความดีไม่อยู่ในที่ไหนๆ อย่าคาดคะเนไป จะเสียหลักของนักปฏิบัติ อาตมาเป็นห่วงคุณทั้งสองมาก เพราะถือว่าเป็นอาจารย์ผู้ฝึกสอน แต่อย่าลืมอาจารย์เอก คือสติ ปัญญา ซึ่งมีอยู่กับตัวทุกเมื่อ สติปัญญานี้เองจะเป็นคู่เป็น คู่ตายของเราแท้ๆ บาปความชั่วลามกไม่มาจากไหนไม่ต้องพรั่นพรึงหวั่นไหวต่อภายนอก แต่พึงทราบว่าจิตเป็นเครื่องหลอกในเวลาที่เราไร้สติปัญญา ฉะนั้นจงจับอาวุธคือสติปัญญาไว้กำกับตัว จะร่มเย็นตลอดกาล จิตดวงเดียวเท่านั้นที่พึงกำหนดให้รอบคอบในตัวเอง อย่าตื่นเงาของตัว คืออาการของจิต เอวํ

    บัว

    ธัมมะในลิขิต หลวงตาบัว ฉบับที่ 21

    วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ 11 เมษายน 2502
    การพิจารณาทั้งสองด้านเป็นการถูกต้องดีแล้ว ที่เห็นชัดบ้าง ไม่ชัดบ้าง เป็นเพราะสติแลโอกาสของความเพียรที่สะดวกบ้างไม่สะดวกบ้าง แต่ไม่ต้องหวั่นไหวตามอาการที่ชัดบ้างไม่ชัดบ้าง พึงทำความเข้าใจว่า สัจจะมีอยู่ในกายในจิตอย่างไม่ปิดบังตลอดกาล ความรู้ชนิดหนึ่งซึ่งคงที่ และรับรู้ให้ว่า ขณะนี้เห็นชัด ขณะนี้เห็นไม่ชัด ความรู้อันนี้เองเป็นความรู้ที่จะทรงอริยสัจไว้ได้ตลอดกาล ความรู้นอกนั้นเป็นความรู้ที่ตั้งขึ้นและดับไปตามอาการที่เกิดดับ ไม่สามารถจะทรงอริยสัจไว้ได้ ใครหลงตาม ผู้นั้นจะเดือดร้อนตลอดกาล

    ฉะนั้น พึงกำหนดให้รู้ตามเพลงของเขา อย่าหลงตาม ไฟกับน้ำมีประโยชน์เสมอกัน ขาดธาตุทั้งสองนี้โลกก็แตกตั้งอยู่ไม่ได้ ทุกข์สมุทัยก็เช่นกัน นักปราชญ์ไม่ขาดสูญจากโลก เพราะทุกข์สมุทัยเป็นเครื่องหนุน ฉะนั้นทุกข์สมุทัยจึงควรเป็นเวทีของนักปฏิบัติไม่เลือกหน้า เราผู้หนึ่งเป็นนักปฏิบัติ ต้องยกทุกข์สมุทัยขึ้นเป็นหินลับ ยกปัญญาขึ้นเป็นมีด-ลับหินให้คมกล้า ฝ่าฟันข้าศึกซึ่งเกิดขึ้นกับตน อย่าเห็นทุกข์สมุทัยเป็นคนละคนนอกจากตนไป และอย่าเห็นนิโรธมรรคเป็นมิตรสหายมาจากต่างดาว พึงทราบว่าอริยสัจทั้งสี่เป็นลวดลายของจิตดวงเดียวของคนๆ เดียวเท่านั้น

    ที่ถูกแท้ไม่ได้เอาที่ความเห็นชัดและไม่ชัดในขันธ์ 5 แต่เอาที่เห็นชัดด้วยปัญญา เพราะพ้นจากทุกข์ด้วยปัญญา ที่เห็นชัดในไตรลักษณ์ อันเกี่ยวกับการพิจารณาขันธ์ เอวํ.

    บัว

    ธัมมะในลิขิต หลวงตาบัว ฉบับที่ 22

    วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ 18 เมษายน 2502
    ธรรมไม่เป็นของลับแก่ผู้สนใจจริง ต้องประจักษ์ใจแน่ และเป็นธรรมชาติมีอยู่ทุกกาล ผู้ที่ยังไม่เห็นไม่รู้ก็อย่าเสียใจ ให้ดำเนินไปตามความสามารถ การค้นคิดอย่าให้เพลินเกินขอบเขต ให้มีเวลาพักจิตตามที่สอนไว้ ธรรมคู่แข่งขัน เพราะการคิดค้น (ปัญญา) กับการพักสงบ (สมาธิ) เป็นธรรมอาศัยกัน มีความจำเป็นเท่าเทียมกัน ให้ดำเนินตามที่แนะมานี้ ใจจะดำเนินไปด้วยความราบรื่นปราศจากอุปสรรค

    การบวชหรือไม่บวชนั้น ยังไม่เป็นปัญหาที่ควรคิดให้เกิดกังวล การแก้กิเลสทุกประเภทเป็นปัญหาสำคัญยิ่งกว่าอื่น ความบริสุทธิ์ไม่ใช่เพชฌฆาต อย่ากลัวขันธ์จะแตกเพราะความบริสุทธิ์ทำลาย ให้เห็นในใจเราแจ้งประจักษ์ดีกว่าเชื่อข่าว แม้แต่อาหารในถ้วยชามยังมีกระดูกและก้างแฝงอยู่ เรื่องข่าวก็เช่นกัน ย่อมมีสิ่งเคลือบแฝง โปรดอย่ากังวลในสิ่งที่ไม่ควรกังวล สรุปความการพิจารณา พึงค้นคิดให้เห็นขันธจิตโดยรอบคอบ กิเลสอยู่ที่นั่นเอง

    สันติธรรมก็อยู่ในที่แห่งเดียวกัน หมดกิเลสก็เห็นสันติธรรมโดยสมบูรณ์ เรื่องเหล่านี้ครูอาจารย์ของเราท่านผ่านมาหมดแล้ว ต้องลงเอยกันที่รู้เท่าจิตดวงเดียว ฉะนั้นเราพยายามให้เป็นอย่างท่านให้จงได้ จะเป็นศิษย์มีครูแท้ร้อยเปอร์เซ็นต์

    บัว

    ธัมมะในลิขิต หลวงตาบัว ฉบับที่ 23

    การดำเนินจิตสำหรับแม่เจตนั้น ไม่มีอะไรกว้างขวาง นอกจากจะพิจารณาขันธ์กับผู้รู้ให้เห็นประจักษ์ด้วยปัญญา ความรู้ ความหลง ความฉลาด ความโง่ ความเศร้าหมอง ความผ่องใส ทั้งนี้จะรวมหัวกันอยู่ในจุดผู้รู้นั้นแห่งเดียว จงกำหนดพิจารณาหรือทำลายจุดผู้รู้ให้แตกกระจายไปด้วยปัญญา อย่าสงวนหรือสำคัญว่าเป็นของจริง แล้วถือมั่นไว้ จะเป็นภัยแก่ตนไม่รู้หาย

    จงทำความระวัง อย่าหลงตามหรือยึดถือสิ่งที่กล่าวมานี้ เพราะอาการทั้งหมดที่เกิดจากผู้รู้ก็ดี ตัวผู้รู้ก็ดี นี่คือสิ่งหลอกลวงให้คนโง่หลงนั่นเอง เราจงรู้เท่าสิ่งเหล่านี้ด้วยปัญญา ขอย้ำอีกว่า อย่าเกรงกลัวว่าความรู้จะสูญหายไป ในเวลาผู้รู้ซึ่งเป็นตัวผสมกับยาพิษได้ถูกทำลายด้วยปัญญา ผู้รู้อันนี้เองเป็นเหตุทำความเกิดแก่เจ็บตายของสัตว์ให้เป็นไป ไม่มีวันสิ้นสุด ฉะนั้นจงทำลายผู้รู้นี้ให้แตกทำลายไปโดยสิ้นเชิง อย่ายึดถือเอาไว้แม้แต่น้อย

    ผู้รู้แลอาการของผู้รู้ทั้งหมด มีความเศร้าหมองผ่องใสเป็นต้น เป็นกองทัพแนวหน้าของอวิชชาร้อยเปอร์เซ็นต์ ให้พยายามพิจารณาเพื่อรู้เท่า และปล่อยวางโดยถ่ายเดียว ส่วนผู้รู้ที่จะเป็นองค์สันติ (พระนิพพาน) แท้ ไม่ใช่ผู้รู้อันขวางหน้าเราอยู่นี้ ผู้รู้ที่เป็นสันติแท้ไม่มีอาการใดๆ แทรกแม้แต่น้อย และก็ไม่ใช่ผู้รู้ที่ผสมนี้เลย ไม่ใช่ผู้รู้ที่จะแยกตัวออกจากสิ่งผสมนี้ด้วย ผู้รู้ที่ผสมนี้จะต้องสลายตัวไปพร้อมๆ กับสิ่งผสมในขณะที่ปัญญาของเรารู้รอบนั่นเอง ส่วนผู้รู้ที่เป็นองค์สันติแท้ เราจะรู้ประจักษ์ขึ้นกับเราในขณะที่ผู้รู้กับสิ่งผสมถูกทำลายลงด้วยปัญญาญาณ จะหมดปัญหาใดๆ ในขณะนั้น ฉะนั้นจำให้ดี ตีความหมายแห่งธรรมที่แสดงมานี้ให้แตก สมบัติคือสันติธรรม (พระนิพพาน) จะเป็นของเราแท้ หนีไปไม่พ้น

    สรุปความ การพิจารณาให้ลงในไตรลักษณ์ มีอนัตตาเป็นภาชนะอันสุดท้าย จงพิจารณาทิ้งลงปล่อยลงในภาชนะนั้น เอวํ

    คุณเอี๋ยน อาตมาก็เป็นห่วงมาก ฉะนั้นจงพยายามปล่อยอดีตอนาคตและเจตสิกธรรมอันชั่วร้าย ที่จะเกิดขึ้นในปัจจุบัน แล้วลุกลามไปสู่อดีตอนาคตอันเป็นตัวเพชฌฆาตคอยสังหารความสงบของเรา ปัจจุบันเท่านั้นเป็นตัวมิตร มิตรที่ดีจะเป็นอดีตอนาคตก็เป็นมิตร (มิตรหมายถึงเจตสิกที่เป็นกุศล) ถ้าเป็นเพชฌฆาตแล้วไม่ว่าอดีตอนาคต แม้แต่คิดขึ้นในปัจจุบันก็เป็นเพชฌฆาต เพราะสามารถทำลายความสงบของเราได้ เราต้องการความสงบสุข

    จงพยายามสนใจในอารมณ์ที่เป็นกุศล อย่ากังวลเที่ยวก่อไฟขึ้นเผาตัวเอง และเราจะไปเสวยทุกข์ในอนาคต อย่างนี้เรียกว่าจิตส่งไปทางอดีตอนาคต สิ่งทั้งนี้เราเคยผิด เราต้องแก้โดยปัจจุบัน ถ้าปัจจุบันแก้ไม่ได้ ใครๆ ในโลกแม้พระพุทธเจ้าก็ทรงบริสุทธิ์ไม่ได้ แต่นี่ความผิดของผู้หลงก็ยังมีอยู่ในโลก ธรรมจึงยังมีอยู่ในโลกเพื่อแก้ความผิดที่ตนทำ

    ฉะนั้นเรามีความผิดทุกคน จงพยายามแก้ความผิดของตนตามโอวาทของพระองค์ทรงสอนไว้ จะได้พ้นจากภัยไปโดยลำดับ อย่าสงสัยน้ำเป็นเครื่องชำระสิ่งสกปรก ธรรมเป็นธรรมชาติล้างความชั่ว ซึ่งเกิดขึ้นจากกายวาจาใจ เอวํ

    บัว


    ;aa13​
     
  5. wisarn

    wisarn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    741
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +2,505
    ธัมมะในลิขิต หลวงตาบัว ฉบับที่ 24

    วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ 21 กรกฎาคม 2502
    เรื่องขันธ์ทั้งโลกมีเตรียมตั้งขึ้น ตั้งอยู่แล้ว เตรียมแตกดับไปเท่านั้น ไม่ว่าขันธ์ใดๆ บรรดามีประจำในสัตว์และสังขาร เราเคยได้เห็นได้ยินจน ชินตา ชินหู ชินใจ ในความตั้งขึ้นแตกไปของขันธ์เหล่านี้ทั่วแผ่นดิน เฉพาะอย่างยิ่งในโรงฆ่าสัตว์ ในครัวไฟ เตาไฟ ซึ่งมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ซึ่งนอกไปจากตัวเรา เราพึงน้อมความเป็นอย่างนั้นของมนุษย์และสัตว์เข้ามาเป็นเครื่องพร่ำสอนตนเราว่า จะต้องเป็นเช่นเดียวกับสิ่งที่ผ่านความรู้สึกเรามาแน่ๆ สิ่งที่เสมอกันทั้งโลก คือความเกิดความตาย ไม่มีใครยิ่งหย่อนกว่าใคร คะแนนเต็มเท่ากัน

    เราอย่าหวั่นไหวต่อทุกข์ที่เกิดขึ้นในกาย จงตั้งสติปัญญาไว้เฉพาะหน้า ตรงที่ทุกข์เกิดขึ้น อย่าหมายใจว่าทุกข์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าเป็นศัตรูเรา พึงทำความเข้าใจว่า ทุกข์ที่เกิดขึ้นนี้คือของจริงประกาศตน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทั้งหมดนี้มีอยู่ในตัวเรา เป็นของจริงเสมอกัน ฉะนั้นจงทำใจให้กล้าหาญและเด็ดเดี่ยวต่อทุกข์ที่เกิดขึ้น จงพร่ำสอนตนว่า เราเท่านั้นที่จะรู้สาเหตุของทุกข์ที่จรมาเกิดขึ้นหมดทั้งมวลของทุกข์ และจะสามารถบังคับจิตให้ตั้งอยู่โดยเที่ยงธรรม ไม่เอนเอียงไปตามทุกข์ที่ประกาศตัวขันธ์เกิดขึ้นกับเรา

    ฉะนั้น ทุกข์จึงเกิดขึ้นกับเรา เราเท่านั้นเป็นนักต่อสู้เพื่อความเที่ยงธรรมเฉพาะตน ไม่มีใครช่วยได้ ทุกข์จะดับหรือไม่ดับขึ้นอยู่กับปัญญาพิจารณาตามเป็นจริง ไม่ขึ้นอยู่กับความหวั่นไหวหรือความอยากให้หาย ฉะนั้น ไม่ควรสั่งสมธรรมทั้งสองประเภทนี้ให้เกิดขึ้นภายในใจ จะเป็นภัยแก่เราเปล่าๆ พึงพร่ำสอนตนว่า คนและสัตว์ทั้งโลกก่อนจะตาย ต้องเผชิญทุกข์และทนทุกข์ด้วยกันทุกราย ไม่ใช่จะประสบทุกข์ทนทุกข์เฉพาะเราคนเดียว ทุกข์เกิดขึ้นทุกข์ต้องดับไป ใจไม่เกิดขึ้นจึงไม่ดับตามทุกข์ ฉะนั้น เมื่อใจเป็นอมตะไม่ตาย จึงไม่ควรหวั่นไหวไปตามทุกข์ ซึ่งเป็นตัวเกิดตัวดับ (ไม่ใช่อันเดียวกัน)

    กายคน-สัตว์อื่นๆ แตก กายเรายัง กายเราแตก ส่วนใจเรายัง ไม่ควรเป็นทุกข์เดือดร้อนไปตามทุกข์ ซึ่งเท่ากับฟองน้ำแตกไปเท่านั้น ทุกข์เป็นสิ่งเกิดดับ ใจเป็นธรรมแท่งหนึ่งจากทุกข์ แต่ไม่เกิดไม่ดับเหมือนทุกข์ จึงไม่ควรไหวตามทุกข์ซึ่งเกิดๆ ดับๆ เมื่อใจเป็นธรรมแท่งหนึ่งแล้ว เราก็มีอำนาจและหน้าที่ที่จะต้องพิจารณาทุกข์ได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องของ้อกับทุกข์แต่อย่างใด

    จงพิจารณาดูว่าทุกข์เกิดจากอะไร ใครเป็นผู้ใส่นามว่าทุกข์ อวัยวะทั้งหมดไม่ใช่ทุกข์ หากว่าอวัยวะทั้งหมดเป็นทุกข์ คนสัตว์ตายแล้วนำไปเผาไฟฝังดิน เขาไม่เห็นบ่นว่าทุกข์ ทุกข์ปรากฏอยู่กับคนสัตว์ที่ยังเป็นอยู่ อะไรทำให้เป็นอยู่ คือใจ ใจหลงทุกข์ ใจจึงเดือดร้อน ใจรู้ทุกข์แล้วก็เห็นทุกข์เป็นของจริง แม้ทุกข์จะเกิดขึ้นในกายหรือจะดับไป ใจก็ไม่ตื่นเต้นหวั่นไหว

    นี่แหละจึงจะหมดกังวล โปรดพิจารณาอย่างนี้ โรคของคุณเกี่ยวกับความแก่ชรา เยี่ยวยายาก โปรดเยียวยากันไปทั้งภายนอกภายในใจ แม้ตายอย่าให้ขาดทุน คนทั้งโลกไม่มีใครยิ่งหย่อนกว่ากัน คือ ความตาย ตายเหมือนกันหมด เอวํ

    บัว

    ธัมมะในลิขิต หลวงตาบัว ฉบับที่ 25


    วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ 1 เมษยน 2502
    เรื่องจิตใจ แม่เจตพึงดำเนินไปด้วยความมีวิจาร สิ่งใดปรากฏขึ้นเฉพาะหน้าพึงกำหนดให้รู้เหตุผล อย่าด่วนถือเอา จะเป็นดี - ชั่ว เศร้าหมองผ่องใสใดๆ พึงกำหนดให้รู้แจ้งเพื่อปล่อยวางเสียสิ้น ไม่ใช่เป็นของควรถือเอา ข้อควรระวัง คือ สุขกับผ่องใส เป็นสิ่งจะควรติดโดยแท้ ในขณะเดียวกัน สองสิ่งนี้ถ้าเราติดจะเป็นมารแก่เราเช่นเดียวกับสิ่งอื่นๆ ฉะนั้น เพื่อความรอบคอบด้วยปัญญา จงพิจารณาให้เห็นว่าสิ่งที่ปรากฏกับจิตทั้งหมด จงเห็นว่าตกอยู่ในไตรลักษณ์สิ้น ไม่ควรถือเอาเด็ดขาด เมื่อเรารู้เท่าหมดแล้ว ธรรมที่ไม่มีปัญหาว่าเกิดดับจะเป็นของเราตลอดอนันตกาล จงจำให้ดี


    บัว


    ธัมมะในลิขิต หลวงตาบัว ฉบับที่ 26

    วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ 12 ตุลาคม 2502
    การพิจารณาของแม่เจตนับว่าถูกต้องดี ขอให้ยึดหลักว่า “ขันธ์กับจิตเป็นสิ่งที่เราจะพิจารณาไม่ขาดระยะ และเป็นสิ่งสำคัญกว่าอื่นหมด” เรื่องจิตจะบริสุทธิ์หรือละเอียดขึ้นไปอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับจิตทำงานการค้นคิดให้รู้ตามเป็นจริงในขันธ์ทั้งหลาย หน้าที่ของขันธ์ที่เขาทำงานอยู่ประจำอิริยาบถ ก็คือความตั้งขึ้นแลดับไป เท่านั้น ยกสังขารขันธ์เป็นตัวอย่าง คือสังขารจะคิดขึ้นปรุงขึ้น ทางดีก็ตาม ทางชั่วก็ตาม คิดเรื่องอดีตก็ตาม อนาคตก็ตาม จะต้องดับไปในขณะๆ ทุกประเภทที่คิดขึ้นปรุงขึ้น

    ขอแต่เราจับหลักของสังขารไว้ด้วยดี ยกสติปัญญาเข้าใกล้ชิดกับความเกิด ความดับของสังขารทุกเวลา แม้เวทนา สัญญา เป็นต้น ก็โปรดพิจารณาทำนองเดียวกัน จะต้องทำหน้าที่เกิดดับเช่นเดียวกัน อย่าทำความคาดหมายว่ากลัวลำบากหรือรำคาญ หรือละเอียดบริสุทธิ์ไปก่อนความเป็นเองของจิต สุข ทุกข์ เศร้าหมอง ผ่องใส เป็นต้น

    ที่เกิดขึ้นให้ถือเป็นธรรมเครื่องเตือนสติปัญญา อย่าถือว่าเป็นของเอาหรือของทิ้ง ให้ถือว่าเป็นสิ่งที่จะต้องรู้เท่าเสมอกันหมด อย่าแสดงความดีใจเสียใจไปตามสิ่งที่เกิดขึ้นและดับไป ผิดหลักของผู้จะยกตนให้พ้นความลำเอียงในสภาวธรรม ไม่ว่าประเภทใดๆ ทั้งหมด พึงทราบว่าขันธ์ทั้งหมดที่มีอยู่ในตัวเรา ไม่ใช่เป็นของขว้างทิ้ง หรือจะถือเอา แต่เป็นของจะรู้เท่าด้วยปัญญา แล้วต่างฝ่ายต่างก็อยู่ตามความเป็นจริงของตนๆ ไม่สับสนกัน จึงไม่มีเรื่องยุ่งเกิดขึ้น เมื่อไม่มีเรื่องก็ไม่มีคดีเกี่ยวข้อง พอที่จะหาทนายและผู้พิพากษามาช่วยเบิกความและตัดสิน
    อนึ่ง แม้จิตคือผู้รู้ เมื่อถึงขั้นรู้เฉพาะจิต ไม่เกี่ยวกับอารมณ์ใดๆ แล้ว ก็พึงพิจารณาเฉพาะจิตด้วยปัญญาเช่นเดียวกับการพิจารณาขันธ์ทั้งหลาย ไม่เช่นนั้นจะทำความนอนใจในผู้รู้ ก็จะติดผู้รู้เข้าอีก ยิ่งจะเป็นผู้รู้ที่เต็มไปด้วยความหลง ข้อสำคัญเราอย่ากลัวผู้รู้จะฉิบหายไปจากตัวเรา ในขณะที่เราจะกลั่นกรองพิจารณาผู้รู้ ให้ทำความเข้าใจว่า สิ่งทั้งหมดทั้งนอกกาย นอกใจ ทั้งในกายในใจ ทั้งใจ สิ่งใดจะเคลื่อนไหวไปอย่างไร จะแตกจะดับ ก็ขอให้เราเห็นชัดด้วยปัญญาญาณ ว่าสิ่งนั้นๆ แตกดับไป

    เราอย่ามีส่วนเกี่ยวข้องว่าเราจะแตกดับ หรือถูกทำลายไปตามสิ่งนั้นๆ ธรรมชาติใด ที่จะเป็นธรรมชาติที่ประเสริฐ ธรรมชาตินั้นจะปรากฏชัดขึ้นกับเราทันที และธรรมชาติอันนั้นไม่อยู่ในกรอบของความเกิดขึ้นแลแตกดับสูญไปตามใครๆ ด้วย นั่นแหละเรียกว่าธรรมดวงเอก คือพุทธธรรม

    พุทธธรรมคือผู้รู้ที่บริสุทธิ์ (พระพุทธเจ้าแลสาวกทั้งหลาย ท่านได้ธรรมดวงนี้ จึงเป็นผู้ประเสริฐสุดของไตรภพโลกทั้งสาม ได้กราบไหว้ ก็กราบไหว้ธรรมดวงนี้เอง หาได้นอกเหนือไปจากตัวเราตัวท่านที่ไหนไม่)

    ฉะนั้น จงพยายามตามที่อธิบายมานี้ สมบัติคือธรรมดวงเอก จะกลายเป็นของเราในวันหนึ่งแน่ เพราะสมัยนี้หาคนผู้จะทำตนเพื่อดวงธรรมดวงเอกนี้หายากมาก และจะหาครูอาจารย์ผู้จะมาชี้ทางเพื่อธรรมดวงเอกได้โดยถูกต้องแก่นักศึกษา แลนักปฏิบัติผู้มุ่งหวังอยู่แล้วเต็มใจ ก็หายากเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น 1. ธรรมดวงเอก 2. ผู้มุ่งหวังธรรมดวงเอก 3. ผู้ชี้ทางเพื่อธรรมดวงเอกโดยถูกต้อง ทั้งสามซึ่งเป็นของหายากนี้ แต่ไม่ยากไปทุกราย ไม่ง่ายจนเกินไปถึงกับไม่เป็นของแปลก

    ธรรมทั้งสามนี้ ควรจะได้เป็นของสะดวกสำหรับเรา เพราะเข้าใจว่าเราเป็นคนๆ หนึ่งที่ได้มีวาสนาบารมี มาประพฤติตนเพื่อธรรมอันเอกกับเพื่อนพุทธบริษัท เพื่อความเป็นลูกที่ดีของพระพุทธเจ้า เอวํ...

    อาตมาเป็นห่วงคุณทั้งสองมาก การป่วยพึงทราบว่าเขาจะมาเตือนเรื่องหนี้สินต่อไป เขาจะมาทวงหนี้สินกลับคืน จงรีบตั้งเนื้อตั้งตัวด้วยอริยทรัพย์

    บัว

    ธัมมะในลิขิต หลวงตาบัว ฉบับที่ 27

    วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ 7 ธันวาคม 2502
    อาการของจิตทุกอาการที่เกิดขึ้น ต้องดับและแปรปรวน อย่าตื่นเงาของจิต ตัวเองจะเดือดร้อน ความรู้ว่าเผลอ จะไม่เผลอเป็นทางที่ถูกแล้ว ความเสื่อมความเจริญเป็นอาการของโลก ให้รู้เท่าผู้รู้ว่าเสื่อมหรือเจริญ นี่แหละเป็นธรรมที่คงที่ ความรับรู้ทุกขณะนี้แลเป็นธรรมยั่งยืน เรานักปฏิบัติอย่าหลงตามอาการของความเสื่อม ความเจริญ จงรู้ตามอาการ จึงจัดว่าเป็นผู้ฉลาดในธรรม ดวงไฟยังมี ดอกแสงควันไฟต้องแสดงความเกิดความดับของดวงไฟเป็นธรรมดา จิตยังมีอาการเกิดๆ ดับๆ ซึ่งเกิดจากดวงจิต ต้องมีเช่นเดียวกัน ข้อสำคัญอย่าหลงตาม เสื่อมจงรู้ตาม เจริญจงรู้ตาม เผลอหรือไม่เผลอ จงตามรู้ทุกอาการ จึงจัดว่านักค้นคว้าความรู้เท่าในอาการเกิดๆ ดับๆ ของสิ่งเหล่านี้ ด้วยปัญญาเสมอไป นั่นแลจัดว่าเป็นผู้รู้เท่าทันโลกและเรียนโลกจบ จึงจะพบของจริง

    กระพี้ต้องหุ้มห่อแก่นไม้ไว้ฉันใด กระพี้ธรรมก็หุ้มห่อปกปิดแก่นธรรมไว้ฉันนั้น อาการเกิดๆ ดับๆ ดีชั่ว เสื่อม เจริญ เผลอไม่เผลอ เหล่านี้ จงทราบว่าเป็นกระพี้ธรรมปกปิดแก่นธรรมคือของจริงไว้ ใครหลงตาม ชื่อว่าคว้าเอากระพี้ธรรม จะนำความเสื่อมความเจริญเป็นต้น มาผันดวงใจให้ดิ้นรน จะตามดูโลกและรู้โลกของตนไม่จบ จะพบแต่ของปลอม

    อาการที่เกิดขึ้นมาจากจิต จะดีชั่ว สุขทุกข์ เสื่อมเจริญ เผลอไม่เผลอ เศร้าหมองผ่องใสนี้ เป็นเครื่องเตือนสติปัญญา จงตามรู้ทุกอาการ อย่าด่วนถือเอา การเดินทางต้องมีสูงๆ ต่ำๆ ลุ่มๆ ดอนๆ ตลอดทางจนถึงที่อยู่ฉันใด การเดินธรรม (คือการดำเนินทางจิต) ต้องประสบอาการต่างๆ มีดีชั่วเป็นต้น ซึ่งจะเกิดจากจิตเช่นเดียวกัน จนถึงจุดจบของสมมติ จึงจะไม่ประสบอาการเช่นนี้อีก การเดินทางอย่าถือความร้อนหนาว ความสูงต่ำ ของระยะทางมาเป็นอุปสรรค

    จงมุ่งความถึงที่ประสงค์เป็นสำคัญ การดำเนินทางใจ อย่าถืออาการดีชั่ว เป็นต้น ที่เกิดจากใจมาเป็นอุปสรรค จงตั้งใจพิจารณา สิ่งที่มาสัมผัสด้วยปัญญาตลอดไป จนถึงจุดจบของสิ่งที่มาสัมผัส อย่าหวั่นไหวตามอาการที่เกิดขึ้นเฉพาะใจ จะเป็นนักรบต้องประสบกับข้าศึก คืออารมณ์ จงสู้รบด้วยปัญญา จนเห็นความจริงของอารมณ์นั้นๆ

    ครูเอกของเราก่อนหน้า จะปรากฏเป็นองค์ศาสดาของเรา ต้องผ่านข้าศึกเช่นเดียวกับเรา แม้อาจารย์ของเราจะนำธรรมมาสอนเราได้ ต้องขุดค้นขึ้นมาจากอุปสรรค คือสิ่งกระทบเช่นเดียวกับเรา ฉะนั้นจงต่อสู้จนสุดฝีมือ จะสมชื่อว่าเราเป็นศิษย์มีครูแท้

    ข้าศึกของเราทุกวันที่เป็นไปอยู่ ไม่มีวันสงบศึกกันได้ ก็เนื่องจากเราเป็นข้าศึกกับตัวเราเอง คือถ้าใจสงบลงไม่ได้ ศึกก็ยังสงบไม่ได้ แท้จริงบาปมาร เป็นต้น ไม่มีตั้งค่ายแนวรบรอรบกับเราอยู่สถานที่ใดๆ แต่ใจดวงเดียวเท่านี้ ตั้งตัวเป็นเจ้าบาปเจ้ามารประหัตประหารกับเรา ถ้าเราเข้าใจว่าบาปมารประหารเราอยู่ภายนอก ไม่ย้อนกลับความรู้เข้ามาดูจิตผู้เป็นตัวมารแท้ ข้าศึกของเราจะหาวันสงบได้ไม่

    จงทราบว่าเรื่องทุกข์ที่เป็นไปในกายแลจิตของเราตลอดเวลา ถ้าเรามองข้ามทุกข์ก้อนนี้ไป อริยสัจคือของจริงอันประเสริฐ ก็เป็นอันว่าเรามองข้ามไปเช่นเดียวกัน อริยสัจมีอยู่กับเราทุกเวลา จงตั้งปัญญาให้เห็นตามความจริงของอริยสัจที่มีอยู่ พระพุทธเจ้าถึงนิพพาน เพราะพิจารณาอริยสัจ เห็นอริยสัจ อย่าส่งใจไปหาบาปบุญนอกจากกายใจ จะผิดหลักผิดทาง อดีตอนาคตจงเห็นเป็นไฟ อย่าส่งใจไปเกาะเกี่ยว

    ปัจจุบันคือความเพียรมีสติจำเพาะหน้า พิจารณาไตรลักษณ์อันมีอยู่กับตนนี่แล เป็นธรรมแผดเผาบาบมารได้แท้ จงตั้งจิตลงตรงนี้ ฉะนั้นจงพากันตั้งใจ คุณทั้งสองมีวาสนาบารมีอันได้สร้างไว้มากแล้ว อย่าเสียใจ ไม่เสียทีเลย จงเร่งเข้า

    บัว


    ;aa13​
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 28 เมษายน 2009
  6. wisarn

    wisarn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    741
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +2,505
    ธัมมะในลิขิต หลวงตาบัว ฉบับที่ 28

    วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ 16 มีนาคม 2503
    การอบรมจิต จงใช้ปัญญาพิจารณาด้วยดี ในอาการของธรรมทุกแง่ (อาการของจิต) ซึ่งเกิดขึ้นกับจิต ความสัมผัสรับรู้ในขณะที่อารมณ์มากระทบจิต ไม่ให้พลั้งเผลอและนอนใจในอารมณ์ นั่นแลเรียกว่าความเพียร ดีชั่ว สุขทุกข์ เศร้าหมอง ผ่องใส จงตามรู้ด้วยปัญญา แล้วปล่อยวางไว้ตามสภาพ ไม่ยึดถือและสำคัญว่าเป็นตน

    สิ่งใดปรากฏขึ้นจงกำหนดรู้ อย่าถือเอาแม้แต่อย่างเดียว รู้ชั่วปล่อยชั่ว กลับมาหลงดี ถือสิ่งที่ดีว่าเป็นตน นี้ก็เชื่อว่าหลง จงระวังการมีสติหรือเผลอสติในขณะนั้นๆ อย่าตามกังวล เป็นความผิดทั้งนั้น จงกำหนดเฉพาะหน้า พิจารณาเฉพาะหน้า

    กายมีอยู่ จิตมีอยู่ ชื่อว่าธรรมมีอยู่ อย่าหลงธรรมว่ามีนอกไปจากกายกับจิต ไตรลักษณ์ หรือสติปัญญาก็ต้องมีอยู่ในสถานที่แห่งเดียวกัน จงพิจารณาในจุดที่บอกนั้น แม้ที่สุดทำผู้รู้หรือสติให้รู้อยู่ในวงกายตลอด โดยไม่เจาะจงในกายส่วนหนึ่งส่วนใดก็ถูก ข้อสำคัญให้จิตตั้งอยู่ในกาย

    อย่าใช้ความอยากเลยเหตุผลที่ตนกำลังทำอยู่ก็แล้วกัน การทำถูกจุด ผลจะค่อยเกิดเอง ไม่มีใครแต่งหรือบังคับ อย่าส่งจิตไปตามอดีตที่ล่วงแล้ว ไม่มีประโยชน์แม้แต่น้อย

    บัว

    ธัมมะในลิขิต หลวงตาบัว ฉบับที่ 29

    วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ 12 กรกฎาคม 2503
    ใจเป็นสมบัติล้ำค่าในโลก ไม่มีสมบัติใดๆ จะเทียมถึง สมบัติมากน้อยในโลกเชื่อว่าเป็นบริวารของใจ ฉะนั้นจงพากันอบรมใจให้ได้ความสงบเป็นลำดับ อย่าเห็นภัยอื่นนอกจากใจ ขณะเดียวกันอย่าเห็นคุณในสิ่งอื่นนอกไปจากใจเท่านั้น เป็นบ่อคุณ บ่อโทษ และบ่อบุญ-บาป

    ใจนั้นยังมีผู้เหนืออำนาจอีกคือสติปัญญา สติปัญญานี้แลจะเป็นเครื่องบังคับใจให้คลายจากชั่วเป็นดี แต่เมื่อใจบริสุทธิ์เต็มที่แล้วเป็นสติปัญญาสำเร็จขึ้นในตัวเอง ฉะนั้นท่านผู้บริสุทธิ์แล้ว สติปัญญาและความบริสุทธิ์จึงกลายเป็นอันเดียวกันโดยธรรมชาติ ปราศจากคำว่า “มรรค” (เช่น มรรค 8 ไม่ใช่ธรรมชาตินี้) เพราะธรรมชาตินี้อยู่นอกเหนือมรรคแลผลซึ่งเป็นธรรมคู่กัน

    ขันธ์ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อาการของจิตทุกอาการ พึงทราบว่าเป็นไตรลักษณ์เช่นว่านี้ อย่าหลงในอาการของจิตที่แสดงออกทุกขณะ ผู้รู้ซึ่งเป็นที่ตั้งขึ้นแห่งขันธ์นั้น ก็คือตัวอวิชชาแท้ อย่าหลงยึดถือ

    เพราะผู้รู้อันนี้เป็นอมตํของวัฏฏะ ไม่ใช่อมตํของพระนิพพาน โดยมากมาหลงกันที่ผู้รู้ของอวิชชานี้ทั้งนั้น ฉะนั้นเมื่อจิตเราได้ชำระเข้าถึงจุดผู้รู้อันนี้ (คือรังอวิชชา) จงทำลายอย่าให้เหลืออยู่เลย เมื่อผู้รู้นี้ถูกทำลายลงไปแล้ว จึงจะเห็นผู้รู้ที่เป็นอมตํของพระนิพพานประจักษ์ขึ้นในขณะนั้นนั่นเอง ฉะนั้นจงสนใจ จริงหรือเท็จจะเห็นขึ้นในใจผู้ปฏิบัติโดยแท้ (ของจริงอยู่ใต้ของเทียม)

    ผู้รู้ปกปิดผู้รู้จงทราบโดยนัยนี้ เราต้องการเห็นผู้รู้จริง จงทำลายผู้รู้ปลอมให้สิ้นไป ใจจะเป็นอมตํขึ้นในขณะนั้น อนึ่ง ความเกิดความดับของขันธ์ไม่มีสิ้นสุด จงตามเข้าไปให้ถึงฐานที่เกิดดับของขันธ์ ฐานอันนั้นเองท่านเรียกว่าอวิชชา เอาละจงพยายามเต็มความสามารถ

    บัว

    ธัมมะในลิขิต หลวงตาบัว ฉบับที่ 30

    วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ สิงหาคม 2503
    การภาวนาเพื่อส่งเสริมผู้รู้ให้เด่นขึ้นก็มี การภาวนาเพื่อทำลายผู้รู้ก็มี เป็นไปตามชั้นของจิต ขั้นต้นต้องอบรมส่งเสริมผู้รู้ให้เด่นชัด จนปรากฏเป็นจุดของความสงบ เราวิดน้ำให้แห้งเท่าไร ยิ่งเห็นตัวปลาในน้ำชัด

    การพิจารณาอาการของกายจะน้อยหรือมากอาการก็ตาม พิจารณาขยันเท่าไร ยิ่งจะเห็นความสงบของใจชัด เช่นเดียวกับเห็นตัวปลาที่วิดน้ำแห้งแล้วนั้น กายเป็นของสำคัญสำหรับจิตที่ยังเกี่ยวกับกาย ส่วนจิตที่เห็นแจ้งในกายจนปล่อยวางได้แล้ว กายไม่เป็นสำคัญ เป็นคนละชั้น ฉะนั้น การทำลายผู้รู้จึงอยู่ในชั้นละเอียดของจิต จะนั่งอยู่ในที่เดียว แต่จิตไม่ก้าวเข้าอยู่ในความละเอียดที่ควรจะละกิเลสได้หมด ก็ควรทำลายผู้รู้ได้เช่นกัน

    ข้อสำคัญอยู่ที่จิตละเอียด เช่น สาวกของพระพุทธเจ้านั่งฟังเทศน์อยู่ต่อพระพักตร์ของพระองค์ก็ละกิเลสได้หมด การละกิเลสได้หมดก็แสดงว่า รู้เท่าจิตหรือทำลายจิตในขณะนั้นๆ เอง ถ้าไม่รู้เท่าจิตหรือทำลายจิต ก็ติดหรือหลงจิตไปไม่รอดเช่นเดียวกัน

    กายทุกส่วนเปรียบเหมือนน้ำ ปลาในน้ำเปรียบเหมือนจิต ที่สิงอยู่ในกาย จงพิจารณากายให้มาก จะเห็นความสงบโดยไม่ต้องสงสัย

    บัว

    ธัมมะในลิขิต หลวงตาบัว ฉบับที่ 31

    วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ 17 กันยายน 2503
    การภาวนาของคุณเอี๋ยน โปรดทำตามสภาพของคนแก่ ให้จิตท่องเที่ยวอยู่ในขันธ์ จะมีกำลังใจดีกว่าเที่ยวที่อื่น ซึ่งเคยคิด เคยเที่ยวมานานแล้ว ถือไตรลักษณ์เป็นอารมณ์ เครื่องเล่นของจิตเสมอไป เรื่องแก่เจ็บตายไม่มีใครเป็นอาจารย์สอนเขาให้อยู่ในอำนาจได้ เรื่องของขันธ์ก็คือเรื่องของไตรลักษณ์ และเรื่องแก่เจ็บตายนั่นเอง ใครๆ ต้องเป็นอย่างนั้น หนีไม่พ้น จงพิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงของเขา

    บัว

    ธัมมะในลิขิต หลวงตาบัว ฉบับที่ 32

    วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ 25 กันยายน 2503
    การภาวนาเพื่อความรู้ความฉลาด จงค้นลงที่เบญจขันธ์ บ่อกิเลสตัณหาอยู่ที่ขันธ์ แดนพ้นทุกข์ก็อยู่ที่ขันธ์ จะกำหนดทุกข์ก็ดี อนิจจังก็ดี อนัตตาก็ดี ในลักษณะใดก็ตาม จงกำหนดให้ประจักษ์ใจจริงๆ สิ่งเหล่านี้มีอยู่ที่ขันธ์ทั้งนั้น ความทุกข์ ทุกข์ตลอดอวัยวะและตลอดกาล ไม่เที่ยงและอนัตตาก็เช่นเดียวกัน ประกาศอยู่ที่ขันธ์ทุกเวลาไม่มีว่างเว้น เห็นความจริงจากขันธ์แล้ว หายเพลินหายโศก กิเลสไม่กว้างไม่แคบ ไม่มากไม่น้อย มีขนาดเท่าตัวหรือเท่าเบญจขันธ์เท่านั้น สันติธรรมคือพระนิพพานก็เช่นเดียวกัน ปัญญารอบขันธ์แล้วก็เท่ารอบโลก รอบธรรม หยั่งถึงโลกถึงธรรม ธรรมกับโลก ไม่ลึกไม่ตื้นไปจากขันธ์

    จงกำหนดลงที่ขันธ์นี้ ความหนาบางของกิเลส เป็นชื่อที่เราตั้งให้เขาต่างหาก ความจริงกิเลสกับนิพพานคือใจดวงเดียวเท่านั้น จะหนาหรือบางก็ใจผู้รู้ดวงเดียวเท่านั้น ไม่มีใครเป็นกิเลสแลนิพพาน อย่าร้อนใจไปอื่น ผิดทางพ้นทุกข์

    บัว

    ธัมมะในลิขิต หลวงตาบัว ฉบับที่ 33

    วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ 19 ธันวาคม 2503
    ในจ.ม. อาตมา บอกเรื่องการดำเนินจิตโดยเฉพาะบ้าง พิจารณาบ้าง ไม่ได้สอนให้เป็นการขัดแย้ง สำหรับผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นผิด สอนเฉพาะกาลที่จะควรกำหนดเฉพาะจิต หรือสอนเพื่อพิจารณาขันธ์ในกาลที่จะควรพิจารณา เพื่อพอดีและราบรื่นในการดำเนินจิตเท่านั้น ไม่เช่นนั้นผู้ปฏิบัติจะดำเนินทางจิตไม่พอดีเท่าที่ควร แล้วจะติดอยู่ในวิธีใดวิธีหนึ่งก็จะเอาตัวไม่รอด

    การกำหนดเฉพาะจิต กับการพิจารณาขันธ์ เป็นกาลเป็นเวลานั้น เป็นทางตรงและราบรื่นแท้อย่าสงสัย อาหารเครื่องรับประทานมีทั้งหวานทั้งคาว ต่างก็เป็นอาหารด้วยกัน แต่ผู้รับประทานก็ยังเลือกกาลให้ พอเหมาะกับหวานกับคาว นั้นๆ ฉันใด การพิจารณาขันธ์กับการกำหนดเฉพาะจิตก็เป็นอริยสัจอันเดียวกัน แต่ก็พึงเลือกทำตามกาล ฉันนั้นเหมือนกัน

    ปัจจุบันธรรมเป็นเครื่องตัดความสงสัย จงกำหนดลงในกายในจิต ซึ่งเป็นเรือนอริยสัจ จะเป็นตัวปัจจุบันตลอดกาล อย่าวุ่นวายไปอดีตอนาคต ไม่ใช่ทาง แม่เจตก็ผู้หนึ่งที่มีความเป็นไปในจิตต่างกัน จึงต้องสอนต่างกัน

    ขอให้ผู้ฟังจงกำหนดให้เหมาะกับจริตของตน ความเกิดๆ ดับๆ ไม่ใช่สิ่งจะควรถือเอา จงกำหนดให้รู้ กว้าง แคบไม่ต้องหมาย ไปมีเรื่องอยู่ที่ไหนจงกำหนดลงที่นั่น ค่อยแรง หนักเบา ตามแต่เหตุการณ์จะมาสัมผัสหรือเกิดขึ้น จงพิจารณาด้วยปัญญา สิ้นไม่สิ้น หมดไม่หมด มีจิตดวงเดียวเป็นผู้จะตัดสินด้วยปัญญา ปัจจุบันธรรมเป็นสิ่งสำคัญกว่าสิ่งใดทั้งหมด เอวํ

    บัว

    ธัมมะในลิขิต หลวงตาบัว ฉบับที่ 34

    วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ 12 มกราคม 2504
    แม่เจตอย่าหลงเพลงของจิตที่เกิดขึ้น ค่อยบ้างแรงบ้าง อาการใดปรากฏขึ้นจงกำหนดให้รู้ เรื่องปรากฏขึ้นทั้งหมดเป็นสภาวธรรม ผู้รู้จงอย่าเผลอตัวไปตามอาการนั้น ๆ ช้าหรือเร็วอย่าไปหมาย ความหมายเรื่องช้า หรือเร็ว เป็นเรื่องของสมุทัยคือเครื่องหลอก ไม่มีช้าหรือเร็วไปไหนหรอก มีแต่ปรากฏขึ้นที่จิต ดับไปที่จิต รู้อยู่ที่จิตเท่านั้น จงกำหนดอยู่ที่จิต ให้รู้ทั้งอารมณ์เกิดจากจิต และให้รู้ทั้งจิต มีเท่านี้ เมื่อยังบกพร่องหรือสมบูรณ์ จิตจะเป็นผู้ตัดสินขึ้นเอง

    คุณเอี๋ยนก็เช่นกัน อย่าส่ายแส่หาเรื่องไม่ดี อดีตอนาคตปรากฏขึ้นจากจิต ซึ่งเป็นตัวปัจจุบันนี้เอง ตัวปัจจุบันคือจิตไม่เอนเอียง แล้วไม่มีอะไรเอนเอียงในโลก จงกำหนดลงที่กายที่จิต สันติธรรมอยู่ที่นี่ ไม่อยู่ในอดีต อนาคต จงกำหนดลงปัจจุบัน คือกายกับจิตทุกเวลาที่ประกอบความเพียร เอวํง

    บัว


    ;aa13​
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 24 กรกฎาคม 2009
  7. wisarn

    wisarn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    741
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +2,505
    ธัมมะในลิขิต หลวงตาบัว ฉบับที่ 35

    วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ 26 กุมภาพันธ์ 2504
    อริยสัจประกาศอยู่ในกาย ในใจตลอดเวลา จงพิจารณาให้เห็นจริง อริยสัจ 4 ไม่ได้เดินทางมาจากไหน เกิดอยู่กับกายกับใจเราเท่านี้ ฉะนั้นจึงไม่ควรพิจารณาตามค้นหาอริยสัจในที่อื่นๆ ให้มากไปกว่าการพิจารณากายกับใจ ซึ่งเป็นเรือนอริยสัจแท้ การเจริญขึ้นหรือเสื่อมลงของอาการดีชั่ว ซึ่งเกิดกับใจ จงกำหนดรู้ด้วยปัญญา อย่าแสวงหา อริยสัจและศีล สมาธิ ปัญญาไม่ใช่ธรรมนอกไปจากกายกับใจ

    ซึ่งพอจะแสวงหาทางใดทางหนึ่ง อวิชชาและวิชชาเกิดจากใจดวงเดียวเท่านั้น จ งค้นดูให้เห็นชัดในอาการของกายและใจ ซึ่งเป็นบ่อทั้งวิชชาและอวิชชา จงอย่าวิตกวิจารไปกับความเจริญและความเสื่อมแห่งอาการของจิต มันเคลื่อนไหวอย่างไรจงตามรู้ให้หมด

    รู้หมดแล้วไม่มีอะไรมาแสดงตนเป็นผู้เจริญและผู้เสื่อมต่อไป เหตุที่สิ่งเหล่านี้จะปรากฏดีๆ ชั่วๆ เนื่องจากเราตื่นเงาของตัวเอง (อาการของจิตนั่นเอง) หรือปัญญายังไม่รอบคอบพอ สิ่งเหล่านี้จึงแสดงตนเป็นเจ้ามายาได้ สรุปอริยสัจ 4 ศีล สมาธิ ปัญญา คือดวงใจดวงเดียวกันเท่านั้น จงกำหนดให้รู้ด้วยปัญญา จะหมดปัญหาในสิ่งทั้งปวง

    บัว

    ธัมมะในลิขิต หลวงตาบัว ฉบับที่ 36

    วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ เมษายน 2504
    จงดูความเคลื่อนไหวของใจ ที่แสดงความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา อาการของใจมันเกิดไปถึงไหน และดับไปถึงไหน มันเกิดที่ไหนมันก็ดับลงที่นั่นเอง จงพิจารณาให้ชัดก่อนความเกิด-ดับ ของใจ ความเกิดกับความดับที่ปรากฏขึ้นจากใจไม่ใช่เป็นสิ่งที่ควรถือเอา จงฆ่าแม่คือใจให้ตาย ลูกคืออาการก็จะหมดปัญหาทันที แม้จะปรากฏเกิดๆ ดับๆ ก็ไม่เป็นปัญหา และไม่มีพิษสงอะไรต่อไปอีก อาการของใจจึงจะกลายเป็นขันธ์ล้วนๆ ไม่มีกิเลสเจือปน จะหมดกังวลใดๆ ลงทันที

    บัว

    ธัมมะในลิขิต หลวงตาบัว ฉบับที่ 37

    วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ 17 กรกฎาคม 2504
    จงพากันตั้งใจภาวนาอย่าได้ขาดวันขาดคืน เราทุกรูปทุกนาม ไม่ว่าหนุ่มหรือแก่ เดินใกล้ความตายด้วยกันทุกคน ไม่มีใครจะเดินห่างไกลไปจากความตายได้แม้แต่คนเดียว จิตดวงพยศของเราทุกท่านนี้เอง เป็นดวงจิตที่จะรับเคราะห์กรรมแห่งความพยศของตน ไม่มีสิ่งใดจะมารับภาระแทนได้ ฉะนั้นจงพยายามดัดแปลงใจดวงนี้ให้เห็นโทษแห่งความพยศของตน จะเป็นสุขแก่ใจเอง ความพยศเป็นวัฎฎะของจิตไม่มีสิ้นสุดลงได้ เอวํ

    บัว

    ธัมมะในลิขิต หลวงตาบัว ฉบับที่ 38

    วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ 7 สิงหาคม 2504
    การพิจารณามีนัยต่างกัน ใครถนัดในวิธีใดในวงแห่งกาย จงพิจารณาตามความถนัดของตน ไม่เป็นข้าศึกต่อผลรายได้ อันจะเกิดจากการพิจารณากาย จะเป็นภายนอกภายในไม่ผิด เพราะการพิจารณากายใด ก็เพื่อความถอดถอนความกังวลจากกาย หรือความยึดมั่น อันเป็นกิเลสประเภทหนึ่ง จากความถือกายด้วยกัน จงบังคับลงที่จุดเป้าหมายคือกาย ไม่เป็นความเสียหายแต่อย่างใด เรื่องไตรลักษณ์จะเป็นสิ่งรู้ขึ้นจากการพิจารณากายหนีไปไม่พ้น ความสงสัยเป็นภัยต่อการดำเนิน นักปราชญ์ทั้งหลายถือกายเป็นสนามรบ จบสิ้นกันลงที่กายกับจิต

    บัว

    ธัมมะในลิขิต หลวงตาบัว ฉบับที่ 39

    วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ 6 กันยายน 2504
    การภาวนาจะดีหรือไม่ดี ละเอียดหรือไม่ละเอียด จงถือเป็นกิจจำเป็นประจำอิริยาบถและประจำวัน เราเป็นศิษย์พระตถาคต บุกหน้าเรื่อยไป ไม่ต้องถอยหลัง ความตายไม่เคยไว้หน้าคน และถอยหลังให้ผู้ใดได้เยาะเย้ยเขา จงตั้งหน้ารับความตายด้วยความเพียรของเรา จะมีชัยชนะไปเป็นลำดับ

    ทางอื่นไม่มีท่าจะสู้ความตายได้ ใครก็ใครเถอะ ถ้าเว้นความดีแล้ว ต้องหมอบราบต่อเขาแน่ โลก เราทุกคนได้เคยผ่านมาแล้ว ความสุขทุกข์ในทางโลกใครโกหกกันไม่ได้ เพราะใครก็มีเรื่องรับ (อายตนะ) เหมือนกัน และสุขทุกข์จะต้องผ่านอายตนะด้วยกัน รู้ด้วยกัน เห็นสุขทุกข์ด้วยกัน

    ที่สุดของสุขทุกข์ก็แค่ตายเท่านั้น ไม่มีใครสามารถเลยไปได้ ถ้าผู้มีบุญอันได้สร้างไว้แล้ว ผู้นั้นแลจะมีโอกาส ได้เห็นสุขแลทุกข์เยี่ยมกว่าโลกเขาเป็นชั้นๆ ขึ้นไป จนสามารถข้ามแดนแห่งทุกข์ได้โดยสวัสดี ขอได้พากันอุตสาหพยายามตามรอยพระพุทธเจ้าเสด็จไป จะเห็นแดนแห่งความอัศจรรย์ในวันหนึ่งแน่ เอวํ

    บัว

    ธัมมะในลิขิต หลวงตาบัว ฉบับที่ 40

    วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ 7 ตุลาคม 2504
    เวทนาก็เป็นธรรมเทศนาเครื่องเตือนเราอย่างเอกเหมือนกัน กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นสติปัฎฐาน ทางพ้นทุกข์โดยตรงไม่อ้อมค้อม เวทนาเกิดจากจิต อาศัยกายตั้งอยู่ จงถือเวทนาเป็นเป้าหมายของการตั้งสติดีมาก โปรดพากันรีบเร่ง อย่านอนใจ สุข ทุกข์ อุเบกขา ปรากฏขึ้นสัมผัสใจ เหมือนรูปเสียงเป็นต้น มาสัมผัสตาหูเป็นต้น แล้วก็ดับไปเช่นเดียวกัน

    จิตของเราถ้าไม่ตื่นเงาของตัวเองมันก็ดีเท่านั้น ขันธ์ทั้งห้าพึงทราบว่าเป็นเงาของจิต จงพิจารณาให้รอบคอบ อย่าหลงดีใจเสียใจไปตามสุขทุกข์ที่เกิดขึ้นจากกายหรือจากใจ ความฉลาดพิจารณาขันธ์ ใครไม่ได้ไปหามาจากที่ไหน ย่อมเกิดขึ้นที่ใจของเราเท่านั้น

    จงหาอุบายคิดค้นขึ้นมา เป็นปัญญาสอนตนเอง ความฉลาดเท่านั้นจะสามารถแก้ความโง่เขลาได้ นอกจากคนฉลาดแล้วไม่มีทางจะเอาตัวรอดได้ ฉะนั้นจงพากันสนใจในปัญญา

    บัว

    ธัมมะในลิขิต หลวงตาบัว ฉบับที่ 41

    วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ 19 กุมภาพันธ์ 2505
    จงพากันตั้งใจบำเพ็ญความดี เพื่อเตรียมตัวทั้งอยู่และไป โดยไม่ประมาทนอนใจ เรื่องทุกข์นี้ใครอยู่ที่ไหน ก็ต้องพบเช่นกัน เพราะทุกข์มีอยู่ มีอยู่ในตัวของเราทุกคน อย่ากลัวทุกข์ที่ติดอยู่กับตัว จงพิจารณาให้รู้เท่าด้วยปัญญา จึงจะอยู่เป็นสุข

    บัว

    นางวารีก็ขอให้บำเพ็ญตนเสมอ อย่าหาอุปสรรคมาเป็นเครื่องกีดขวางตนเอง จนไม่มีเวลาทำความดี ความตายและความทุกข์ ใครจะร้องขอหรือผ่อนผันเขาไม่ได้ทั้งนั้น ผู้ฉลาดต้องพยายามแก้อุปสรรคออกจากตนเสมอ และไม่แส่หาอุปสรรคไปใส่ตน จนถึงกับนอนจมอยู่ในอุปสรรคตลอดกาล ถอนตัวไม่ขึ้น จงใฝ่ใจต่อตนเองในทางความดี โลกนี้จงทราบว่าโลกาวินาศ ไม่มีใครจะเป็นตัวของตัวอยู่ได้ตลอดกัลป์ กายนี้ต้องแตกวินาศไปวันหนึ่งแน่

    บัว

    ธัมมะในลิขิต หลวงตาบัว ฉบับที่ 42

    วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ 30 มีนาคม 2505
    ให้พากันตั้งใจบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ตลอดไป ความตายมองดูเราอยู่ตลอดเวลา ถึงคราวแล้วเขาไม่เลือกว่าคนบุญคนบาป มัดตัวไปด้วยกันทั้งนั้น

    บัว

    ธัมมะในลิขิต หลวงตาบัว ฉบับที่ 43

    วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ 25 พฤษภาคม 2505
    การภาวนาเป็นกิจจำเป็นยิ่งกว่ากิจใดๆ ทั้งสิ้น จงสนใจ ความตายจำเป็นฉันใด การเตรียมตัวเตรียมใจก็จำเป็นฉันนั้น แม่เจตก็โปรดภาวนาจนถึงวันสุดท้ายเช่นเดียวกัน

    บัว

    ธัมมะในลิขิต หลวงตาบัว ฉบับที่ 44

    วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ 20 มิถุนายน 2505 ความทุกข์ทุกประเภทที่แสดงขึ้นในกายในใจ จงทราบว่านั่นคือตัวแทนของพระพุทธเจ้า โปรดพิจารณาให้ดี

    บัว

    ธัมมะในลิขิต หลวงตาบัว ฉบับที่ 45

    วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ 28 มิถุนายน 2505
    ทะเลทุกข์เต็มอยู่ในเบญจขันธ์ของเรา ไม่มีอันบกพร่อง เต็มอยู่ด้วยทุกข์ตลอดกาล ทุกข์จงกำหนดรู้ อย่าเห็นทุกข์เป็นเรา และอย่าเห็นเราเป็นทุกข์ ทุกข์เป็นของเกิดขึ้นดับไป จิตไม่ได้ดับไปด้วย สติปัญญาเท่านั้น จะตามรู้ทุกข์ที่เกิดขึ้นในขันธ์ จงพยายามฝึกหัดสติปัญญาให้ติดต่อกัน

    บัว

    ธัมมะในลิขิต หลวงตาบัว ฉบับที่ 46

    วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ 9 สิงหาคม 2505
    เรื่องจิตจะสงบหรือไม่นั้น ไม่ต้องถือเป็นข้ออุปสรรค การพิจารณาจนเห็นชัดในเวทนา เป็นหน้าที่ของเรา จงพิจารณาจนวันแตกสลายนั้นแล เป็นศิษย์ที่มีครูแท้ ความอ่อนใจจะเป็นไปเพื่อส่งเสริมกิเลส ครูบาอาจารย์ทุกท่านไม่เคยแก้กิเลสด้วยความอ่อนใจท้อใจ ท่านแก้กิเลสได้เพราะความกล้าหาญทั้งนั้น การบังคับจิตใจให้ท่องเที่ยวในห้วงไตรลักษณ์เป็นการทวนกระแสโลกคือวัฏฏะ จะได้มากน้อยไม่เป็นทางเสียหาย เป็นแต่ทางดีทั้งนั้น จงพยายาม เพราะการปล่อยใจไปตามกระแสวัฏฏะ เราเคยปล่อยมานานแล้ว ผลก็คือความทุกข์ที่เราแลเห็นอยู่ด้วยกันทั้งโลก ใครจะโกหกกันไม่ได้

    บัว


    ;aa13​
     
  8. wisarn

    wisarn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    741
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +2,505
    ธัมมะในลิขิต หลวงตาบัว ฉบับที่ 47

    วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ 2 กันยายน 2505
    การฝึกหัดภาวนานั้นเป็นหน้าที่ของเรา โรคก็เดินไปตามทางของเขา เราก็เดินไปตามทางเดินของเรา อย่าไปยุ่งกับเขาจนเกิดความทุกข์ทางใจขึ้นมาอีก จะกลายเป็นโรคสองโรคไป ทุกข์เขาไม่ฟังเสียง ทั้งคนโง่คนฉลาด

    ใครมีปัญญาก็ถือเอาประโยชน์จากเขาได้ ใครมัวโง่คนนั้นก็จะจมลงไป พญามัจจุราชคือความตาย จะสามารถนำไปได้แต่กายเท่านั้น แต่ไม่สามารถนำใจของเราไปได้ จงตั้งใจอาจหาญร่าเริงต่อความเพียรของตน อย่าไปกังวลกับสิ่งใดและใครๆ ทั้งนั้น จะเป็นอารมณ์ทำให้เสียการ นักปราชญ์ท่านชอบตายคนเดียว ไม่ชอบยุ่งกับใครๆ ทั้งนั้น

    บัว

    ธัมมะในลิขิต หลวงตาบัว ฉบับที่ 48

    วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ 7 ตุลาคม 2505
    การพิจารณากายหรือไตรลักษณ์ จะแจ้งหรือไม่แจ้ง สิ่งเหล่านี้ก็มีอยู่แล้วในกายเราครบบริบูรณ์ จงพิจารณาตามสิ่งที่มีอยู่ ด้วยสติปัญญาที่มีอยู่เช่นเดียวกัน

    บัว

    ธัมมะในลิขิต หลวงตาบัว ฉบับที่ 49

    วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ มิถุนายน 2506
    ขันธ์นับวันใกล้เข้าทุกที ฉะนั้นให้รีบเร่งทางด้านจิตใจ พิจารณาขันธ์ ตัวมันชำรุดอยู่ทุกขณะ และพยายามทำความสงบภายในจิต ใจไม่เคยชำรุดไปตามธาตุขันธ์ คงที่อยู่ในความรู้ของตนตลอดกาล

    บัว

    ธัมมะในลิขิต หลวงตาบัว ฉบับที่ 50

    วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ 30 มิถุนายน 2506
    ขอให้ตั้งหน้าบำเพ็ญตนตามความสามารถ สิ่งเป็นผลอันจะพึงได้รับ จะเป็นที่พอใจ ไม่สูญหายไปไหน ต้องเกิดกับต้นเหตุที่ทำดีแล้วแน่นอน

    บัว

    ธัมมะในลิขิต หลวงตาบัว ฉบับที่ 51

    วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ 22 สิงหาคม 2506
    การอบรมจิตโปรดทำทุกวันอย่าให้ขาด ความแก่ ความทุกข์ เขาก้าวเข้ามาทุกวันและเวลา ไม่เคยหยุดยั้ง และผ่อนผันต่อผู้ใด เราจึงควรเตรียมรับเขาด้วยความดี คือการอบรมใจให้รู้เท่าทันกับเรื่องเหล่านี้ อาจารย์ได้แผ่ส่วนบุญมาให้เสมอ ขอให้อนุโมทนารับส่วนบุญนี้ด้วย

    บัว

    ธัมมะในลิขิต หลวงตาบัว ฉบับที่ 52

    วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ 24 กันยายน 2506
    กายเป็นบ้านของโรคทุกชนิด ไม่ทราบว่าจะขับไล่เขาไปอยู่ที่ไหน ถ้าออกจากกายคนกายสัตว์แล้ว เขาก็ไม่มีที่อยู่เช่นเดียวกับเราอยู่ในบ้านของเรา คิดดูแล้วก็น่าเห็นใจเขาอย่างยิ่ง ร่างกาย เราถือว่าของเรา แต่ก็เป็นบ้านของเขา ถ้ามีการฟ้องร้องกันขึ้น เราต้องเป็นฝ่ายแพ้วันยังค่ำ

    เรื่องคติธรรมดาเป็นฝ่ายพยานของเขาทั้งนั้น แม้พระพุทธเจ้าและธรรมของพระพุทธเจ้าก็เห็นตามเขาด้วย ธรรมแปดหมื่นสี่พันล้วนเป็นหลักฐานพยานของเขาทั้งนั้น เราไม่มีทางสู้ นอกจากจะขออาศัยเขาอยู่ไปเป็นวันๆ พอถึงวันเขาขับไล่อย่างจริงจังเท่านั้น ฉะนั้นเราควรจะหาอุบายรู้ทางคติธรรมดา ที่เขาเดินอยู่ประจำวัฏฏะนี้ จะเป็นความเบาใจไม่มีห่วงใยอะไร ไปก็เป็นสุข อยู่ก็สบายใจ ไม่ข้องแวะกับสิ่งใด

    บัว

    ธัมมะในลิขิต หลวงตาบัว ฉบับที่ 53

    วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ 5 กุมภาพันธ์ 2507
    พระโสดา สกิทาคา อนาคา อรหันต์ ท่านไม่ได้รู้ธรรมนอกเหนือจากกายกับจิต ซึ่งพวกเรากำลังหลงกันอยู่เดี๋ยวนี้ คำว่า “ยํ กิญจิ สมุทยธมมํ สพพนตํ นิโรธธมมํ” “สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นย่อมดับเป็นธรรมดา” ที่พระอัญญาโกญฑัญญะรู้ก็ดี คำว่า “วุสิตํ พรหมจริยํ กตํ กรณียํ” “เสร็จกิจในพระศาสนา” ที่พระอรหันต์รู้ก็ดี ท่านก็รู้ในสิ่งเกิดดับภายในกายในจิตนี้เอง และท่านทำการปราบปรามกิเลสจบสิ้นลงได้ก็ดี ก็สิ้นเสร็จในจุดเดียวกัน เพราะสิ่งเหล่านี้มีอยู่ในกายในจิตอย่างสมบูรณ์ อย่าไปสงสัยว่ามีอยู่ที่อื่น

    การพิจารณาวิธีใดก็ตาม ถ้าเป็นไปเพื่อความสงบสุขภายในใจ ไม่เป็นไปเพื่อเดือดร้อน เชื่อว่าถูกทางเดินที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ทั้งนั้น โปรดอย่าสงสัยไปอื่นจะเสียเวลา โปรดพิจารณาไปเรื่อยๆ อย่าลดละความเพียร

    บัว

    ธัมมะในลิขิต หลวงตาบัว ฉบับที่ 54

    วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ 2 มิถุนายน 2507
    เราเป็นนักบำเพ็ญภาวนาอยู่แล้ว โปรดอย่าได้สงสัยความจริง ซึ่งมีอยู่กับตัวตลอดกาล จงพิจารณาลงในกายในจิต ซึ่งเป็นที่สถิตอยู่ของธรรมทั้งปวง ใจเป็นของกลาง ถ้าเราพาเป็นโลก ก็เป็นโลกไป ถ้าเราพาเป็นธรรมก็เป็นธรรมไปด้วย เพราะใจอยู่ในอำนาจของเรา

    ดังนั้น จงพิจารณาอยู่ในวงกายแลจิต เพราะท่องเที่ยวในโลกก็ท่องเที่ยวมานานไม่มีที่สิ้นสุด แต่การนำจิตท่องเที่ยวตามสรรพางค์ร่างกาย และจิตใจ จะเป็นความสุขสงบ สิ่งสำคัญคือสติ โปรดให้เป็นไปกับการเคลื่อนไหวของใจ จะมีโอกาสรู้และเข้าใจเรื่องของใจตัวเองได้ดี

    บัว

    ธัมมะในลิขิต หลวงตาบัว ฉบับที่ 55

    วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ 10 กันยายน 2507
    เรื่องขันธ์ไม่ว่าขันธ์คนหนุ่มคนแก่ แม้แต่ขันธ์ของเด็ก ก็เป็นขันธ์ของทุกข์เสมอภาคกัน ในโลกนี้ไม่มีขันธ์ใดเป็นขันธ์พิเศษ ซึ่งไม่อยู่ในข่ายของกองทุกข์ ต้องอยู่ในวงเดียวกัน เช่นเดียวกับนักโทษ ไม่ว่าครุโทษหรือลหุโทษ ต้องอยู่ในเรือนจำเสมอกัน

    ไม่มีนักโทษคนไหนได้รับเกียรติเป็นพิเศษ จะกินอยู่หลับนอนนอกเรือนจำ จำต้องอยู่ในวงเดียว ฉะนั้นจงเห็นว่ากองขันธ์คือกองทุกข์ ทั้งของท่านและของเราไม่มีใครได้เปรียบกัน นับแต่สัตว์ดิรัจฉานขึ้นไป ถึงมวลมนุษย์ทุกชั้น อยู่ในวงกองทุกข์อันเดียวกัน

    บัว

    ธัมมะในลิขิต หลวงตาบัว ฉบับที่ 56

    วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ 26 สิงหาคม 2509
    การภาวนาเตรียมตัวในอนาคต เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง จะได้หลักยึดหรือไม่นั้น โปรดทราบว่า ธรรมที่เคยนำมาบำเพ็ญก็มีอยู่ ใจผู้รับธรรมก็มีอยู่ ไม่มีอะไรสูญหาย โปรดน้อมเข้ามาเป็นเครื่องยึดของใจ สิ่งอื่นๆ เราเคยยึดครองมาแล้ว ผลเป็นอย่างไรเราทราบได้ดีทุกประการ ไม่เป็นที่น่าสงสัย

    การพิจารณาผู้รู้ คือจิตล้วนๆ นับเป็นธรรมชั้นสูงยิ่ง ซึ่งผู้ปฏิบัติมาถึงจุดนี้แล้ว ไม่มีทางพิจารณาส่วนอื่นๆ นอกจากพิจารณาจิต เพื่อธรรมสุดยอดเท่านั้น ถ้าไม่บอกไว้ว่าให้พิจารณาจิต ผู้ปฏิบัติก็จะติดอยู่ในจุดนั้น แล้วหาทางหลุดพ้นไม่เจอ

    การพิจารณาจิตเป็นทางหลุดพ้นสำหรับธรรมชั้นสูง ส่วนธรรมชั้นต่ำ ชั้นกลาง เป็นอีกเรื่องหนึ่ง โปรดอย่านำมาคละเคล้ากัน จะเกิดความสงสัย หาที่ยึดไม่ได้ เลยจะเสียหลักที่ควรจะได้จากธรรมที่ท่านอธิบายให้ฟัง จะทำให้ใจสงบสุขได้แล้วเป็นถูกต้อง

    บัว

    ธัมมะในลิขิต หลวงตาบัว ฉบับที่ 57

    วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ 14 พฤศจิกายน 2509

    คำว่า ความสงบสุขมีหลายชั้น แม้ใจจะยังเป็นอวิชชาอยู่ แต่ใจหาความสงบสุขเป็นเรือนพักได้ ก็จัดว่ามีที่พึ่ง เช่นเดียวกับการเดินทางยังไม่ถึงที่พัก แต่มีอาหารและที่พักในระหว่างทาง ก็ยังจัดว่าดีกว่าการไม่มี เมื่อยังไม่ถึงที่อยู่ตราบใด จำต้องอาศัยทั้งอาหารและที่พักอยู่ตราบนั้น จิตก็เช่นเดียวกัน โปรดทำความเข้าใจกับธรรมที่แสดงให้ฟังด้วยดี จะไม่เป็นกังวลใจ แต่การทำลายอวิชชานั้นเทียบเหมือนผู้เดินทาง ถึงที่แล้วย่อมปล่อยวางหนทางที่เดินไปเอง เช่นเดียวกับขั้นบันไดจนถึงห้องเรียนแล้ว มือย่อมปล่อยบันไดทันทีฉะนั้น

    บัว



    ที่มา http://www.bkkonline.com/scripts/it/list.asp?page=2


    _Love+U_​
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 14 มิถุนายน 2009
  9. k.kwan

    k.kwan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 พฤศจิกายน 2007
    โพสต์:
    15,900
    ค่าพลัง:
    +7,310
    "ฉะนั้นผู้ปฏิบัติธรรมถึงจะมีความรู้แตกฉานในอรรถธรรม และมีความทรงจำได้มากมายเพียงใดก็ตาม แต่ถ้าเป็นคนขาดสติสัมปชัญญะในคราวใดขณะใดแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะตั้งตนให้เป็นคนดีงามและสำเร็จประโยชน์สุขแห่งตนได้"

    [​IMG][​IMG][​IMG]

    ความทรงจำ เป็นสติปัญญาทางโลก มีมากก็ฉลาดในทางโลกมาก
    สติสัมปชัญญะ เป็นสติปัญญาทางธรรม มีมากก็ฉลาดในทางธรรมมาก

    เราเข้าใจว่าเป็นแบบนี้ ก็ไม่รู้ว่าเข้าใจถูกรึป่าวนะ [​IMG]
     
  10. wisarn

    wisarn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    741
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +2,505
    บันทึกธรรมของท่านอาจารย์ที่แสดง
    ณ วัดอโศการาม
    เมื่อวันที่ ๒๐–๒๑ ธันวาคม ๒๕๐๒
    (แม่ชีมธุรปาณิกา บันทึก)

    ๒๐ ธันวาคม ๒๕๐๒

    ๑. ผู้ปฏิบัติธรรมต้องทำดุจผ้าขี้ริ้วซึ่งไม่มีราคา ใครจะเช็ดเท้าหรือเหยียบย่ำไปด้วยดินโคลนของโสโครกหรือสะอาดอันใด ก็ไม่มีความรังเกียจหรือยินดียินร้าย ดังเช่นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ซึ่งทรงลดทิฐิมานะของพระองค์ในการเป็นพระราชโอรสของกษัตริย์ขัตติยราชชาติ สกุล ลงมาเป็นนักบวชอย่างคนธรรมดาสามัญ ถือบิณฑบาตเที่ยวเดินไปตามหมู่บ้านชนบทน้อยใหญ่ โดยมิได้ทรงคำนึงว่าอาหารที่ได้มานั้นจะเป็นของดีเลวหยาบหรือประณีตประการใด พระองค์ก็ทรงรับไว้และบริโภคได้ทั้งสิ้น ฉันใดก็ดี ผู้ปฏิบัติทั้งหลายก็ควรจะต้องดำเนินตามรอยพระบาทของพระองค์ พยายามปลดปล่อยละวางทิฐิมานะ ถือตัวถือตน ความโอ้อวดในคุณธรรม ความรู้ความฉลาดและชาติสกุลของตน ๆ ว่าเราเป็นพระ เป็นเณร เป็นอุบาสิกา เราเป็นคนดี คนวิเศษกว่าคนนั้นคนนี้ เราจะต้องทำตัวให้มีความรู้สึกดุจผ้าขี้ริ้วหรือพรมเช็ดเท้า ยอมรับความดีความชั่วทั้งหลายได้โดยดุษณีภาพ หรือโดยชื่นตาชื่นใจ ถ้าหากเราไม่ยอมลดทิฐิมานะของตนลงต่อเหตุการณ์ของโลกเหล่านี้ได้แล้ว เราก็ไม่สามารถที่จะก้มหัวลงสู่ข้อปฏิบัติได้อย่างเต็มใจ

    ๒. หลักของการปฏิบัติธรรมในเบื้องต้น ก็คือเราจำเป็นต้องศึกษาให้รู้จักถึงการมาและการอยู่และการไปของตัวเราเอง ให้ชัดเจนดีเสียก่อน คือรู้เรื่องสภาวะความเป็นจริงของรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณของเรา ว่ามันเกิดขึ้น ตั้งอยู่และเสื่อมไปอย่างไร รู้ลักษณะที่เป็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา และรู้ในอริยสัจธรรม ในเรื่องของทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ว่าอะไรเป็นทุกข์ เป็นสมุทัย เป็นนิโรธ เป็นมรรค สิ่งเหล่านี้เป็นข้อที่เราควรศึกษา

    ๓. ศีลภายนอกเป็นของที่ทุกคนอาจทำได้ง่าย เพราะเป็นสิ่งที่เกี่ยวด้วยการรักษา กาย วาจา ให้บริสุทธิ์สะอาด แต่ศีลภายในคือความสงบแห่งดวงจิต หรือความปรกติของใจ ซึ่งเรียกว่าศีลธรรมนั้น เป็นของที่ทำกันได้ยาก เพราะเกี่ยวด้วยการรักษาให้บริสุทธิ์สะอาด ไม่เศร้าหมอง ฉะนั้น จึงมีอานิสงส์มาก และควรจะพากันบำเพ็ญไว้ให้มีประจำตัวอยู่ทุกคน ศีลธรรมนี้แหละเป็นสิ่งที่จะนำมา ซึ่งความสุขทั้งชาตินี้และชาติหน้า

    ๒๑ ธันวาคม ๒๕๐๒

    ๔. ผู้ฟังธรรมอย่ามุ่งหวังตั้งใจว่า เราจะมาจำคำเทศน์ให้ได้ไปหมดทุกถ้อยทุกคำ จงตั้งใจจำเก็บเอาไปแต่เพียงหัวข้อสำคัญ ซึ่งเราจะนำไปใช้ประพฤติปฏิบัติให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองดีกว่า เพราะคนที่ทรงจำพระไตรปิฎกได้หมดทั้งแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ แต่ไปเสียท่าเข้าก็ใช้การอะไรมิได้ เช่นคนที่มีสมบัติตั้งล้าน แต่ตนเองเกิดเป็นบ้าวิกลจริตหรือตายไป สมบัติแสนล้านก้อนนั้นก็หาช่วยทำประโยชน์อันใดแก่ตนได้ไม่ ฉะนั้นผู้ปฏิบัติธรรมถึงจะมีความรู้แตกฉานในอรรถธรรม และมีความทรงจำได้มากมายเพียงใดก็ตาม แต่ถ้าเป็นคนขาดสติสัมปชัญญะในคราวใดขณะใดแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะตั้งตนให้เป็นคนดีงามและสำเร็จประโยชน์สุขแห่งตนได้

    ๕. จิตใจถ้ากังวลแม้แต่เพียงนิดเดียว ก็เป็นเหตุให้บรรลุความสำเร็จคือมรรคผลนิพพานไม่ได้ ดังเช่นปิงคิยมานพในโสฬสปัญหา ซึ่งมีความคิดถึงห่วงใยในอาจารย์เดิมของตน อยากจะให้ได้มาฟังธรรมของสมเด็จพระพุทธเจ้าเหมือนอย่างที่ตนได้รับฟังอยู่ใน ขณะนั้นบ้าง ใจที่กังวลในอาจารย์แม้เพียงนิดเดียวเท่านี้ ยังเป็นเหตุให้มานพผู้นั้นไม่สำเร็จในธรรมได้พร้อมกับเพื่อน ๆ ของตนที่เขาได้พากันสำเร็จไปหมดแล้วในครั้งนั้น นี่จึงเป็นข้อควรจำ เป็นคติสำหรับตัวเองในการปฏิบัติจิต หากใจขาดความสงบแม้เพียงเล็กน้อยแล้ว ย่อมไม่สามารถเป็นไปได้เพื่อมรรค ผล นิพพาน

    ๖. พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเราตถาคต นี่หมายความว่า ผู้ใดเห็นธรรมก็คือผู้นั้นเห็นใจ ใจเป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์ ฉะนั้น เมื่อผู้ใดเห็นธรรมก็เท่ากับว่าได้เห็นพระพุทธเจ้า ในความบริสุทธิ์ของตน

    ๗. ความสุขก็ดี ความทุกข์ก็ดี ที่เราได้ผ่านมาแล้ว แต่เกิดมาจนบัดนี้ มีอะไรเก็บขังไว้ได้บ้างไหม ฉะนั้น เราจะไปรำพึงรำพัน หรือคร่ำครวญกับความทุกข์ สุข ดี ชั่ว ต่าง ๆ ที่ผ่านไปแล้วนั้น เพื่อประโยชน์อันใด ควรคิดแต่ประโยชน์ปัจจุบัน คือความดีที่กระทำอยู่ทุกลมหายใจเข้าออกดีกว่า แม้เหตุการณ์ข้างหน้าก็ไม่สมควรไปคำนึงใฝ่ฝันเช่นเดียวกัน

    ๘. ศีลก็ตาม สมาธิก็ตาม หรือปัญญาก็ตาม ก็คือใจของเรานี้สิ่งเดียว เปรียบเหมือนเชือกหนึ่งเส้น จะมีสองเกลียวหรือสามเกลียวก็ตาม ก็ย่อมรวมลงเป็นเชือกเส้นเดียวกันนั่นเอง

    ๙. ไฟเป็นของร้อนโดยธรรมชาติ ถ้าเราไม่เข้าไปใกล้หรือจับมัน เราก็จะไม่รู้สึกร้อนฉันใด ใจของเราถ้าอยู่เฉย ๆ ตามลำพังของมัน ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวข้องพัวพันกับเหตุการณ์ภายนอกทั้งหลายแล้ว เราก็จะไม่มีความทุกข์อันใดเลย ความทุกข์เกิดจากใจของเราเข้าไปยึดถืออารมณ์ภายนอกว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เหตุนั้นเราจึงต้องได้รับความเดือดร้อน

    ๑๐. ใจที่ยังมองไม่เห็นสภาพความจริงของทุกข์ ก็เหมือนกับเราเห็นวัตถุสิ่งใดสิ่งหนึ่งในครั้งแรก เราย่อมจะมองเห็นรูปร่างของมันไม่ชัดเจนดี ต่อเมื่อได้จับต้องวัตถุนั้น ๆ มาวินิจฉัยดูนาน ๆ อย่างใกล้ชิด เราจึงจะมีความรู้ในสิ่งนั้น ๆ และคลายความสนใจในรักชังฉันใด เมื่อได้วินิจฉัยร่างกายของเราดูอย่างจริงจังด้วยสมาธิและปัญญาแล้ว ก็จะเป็นหนทางคลี่คลายจิตใจของเราให้เบื่อหน่ายจืดจางต่อความทุกข์ สุข ดี ชั่วทั้งหลายได้

    ๑๑. ผู้ใดปฏิบัติรักษาศีล ผู้นั้นก็จะเป็นเจ้าของสมบัติคือศีล ผู้ใดปฏิบัติสมาธิ ผู้นั้นก็จะเป็นเจ้าของสมบัติคือสมาธิ ผู้ใดเจริญปัญญา ผู้นั้นก็จะเป็นเจ้าของสมบัติคือปัญญา ต่อจากนี้วิมุตติญาณทัสสนธรรมก็จะต้องตกเป็นสมบัติของผู้นั้นโดยไม่ต้อง สงสัย ฉะนั้นถ้าเราเป็นผู้พิจารณาตัวเราเองอยู่ทุกเวลา ทั้งในกลางวันและกลางคืนแล้ว เราก็ต้องเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งศีลสมบัติ สมาธิสมบัติ และปัญญาสมบัติ แล้วผู้ที่จะวิมุตติจะเป็นใครที่ไหน นอกจากตัวเราเอง


    บันทึกธรรมของท่านอาจารย์ที่แสดง
    ณ วิทยาลัยครูอุดรธานี
    เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๑๒


    ชีวิต เป็นของลึกลับซับซ้อน ยากที่ผู้เป็นเจ้าของจะเข้าใจได้อย่างแจ่มแจ้ง มนุษย์เราจึงไม่สามารถนำชีวิตไปในทางที่ถูกที่ควรได้ง่าย ๆ บางคนได้รับการศึกษาสูง มีความรู้ดี แต่ก็ไม่สามารถดำเนินชีวิตไปอย่างมีความสุขได้ เพราะเขารู้แต่เรื่องภายนอก ไม่รู้สภาพอันวุ่นวายภายในตัวเอง ความรู้ที่เพียรเล่าเรียนศึกษามา แทนที่จะเป็นเครื่องนำทางไปสู่ความสุข จึงกลับเป็นเครื่องสังหารตัวเอง

    คนเราสังหารตัวเองด้วยวิธีต่าง ๆ คือ ปล่อยให้ใจรั่ว ใจที่รั่วก็เปรียบเหมือนภาชนะที่รั่ว เก็บน้ำไม่อยู่ มีแต่จะไหลซึมออกหมด แม้แต่ล้อรถที่รั่ว ก็กลายเป็นของไร้ค่า ถ้าเราไม่ปะรอยรั่วนั้นให้อยู่ก่อน ของที่รั่วจึงสังหารตัวมันเอง โดยทำให้คุณค่าและราคาน้อยลง ใจที่รั่วก็ย่อมสังหารผู้เป็นเจ้าของเอง เพราะใจรั่วเก็บความดีไว้ไม่ได้ หักห้ามไม่อยู่ กระเสือกกระสนเข้าหาความชั่วตลอดเวลา หากเราปล่อยให้รั่วนาน ๆ โดยไม่รีบเยียวยาเสียแต่แรก ใจก็จะแตก คนใจแตกเป็นดังที่พวกเราเห็นกันอยู่แล้ว เราย่อมทราบดีว่าเขามีสภาพอย่างไร ไม่มีใครอยากเป็นคนใจแตก ด้วยเหตุนี้องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงสั่งสอนไว้ว่า นิสมฺม กรณํ เสยฺโย ถอดความเป็นภาษาไทยว่า การใคร่ครวญก่อนแล้วจึงลงมือทำ (อะไร ๆ ก็ตาม) เป็นสิ่งประเสริฐ เพราะการใคร่ครวญว่าดีหรือไม่ดี ควรหรือไม่ควรนั้น เป็นทางป้องกันไม่ให้ใจรั่ว

    ชีวิตคนเราเปรียบเหมือนรถ มีเบรก มีพวงมาลัย และมีคันเร่ง คันเร่งเป็นตัวนำชีวิตให้พุ่งไปข้างหน้า ไม่เกียจคร้านงอมืองอเท้า ให้มีความมานะอดทนขยันในการหาเลี้ยงชีพ คือมีฉันทะ ความพอใจในงานที่กระทำ วิริยะ ความเพียรพยายามทำงานนั้นให้สำเร็จ จิตตะ รู้จักคิดไตร่ตรองกับงานที่กระทำอยู่ วิมังสา รู้จักแก้ปัญหาด้วยปัญญารอบคอบ เบรก เป็นตัวคอยยับยั้งเมื่อจะมีความชั่วเกิดขึ้น เช่นอย่างเมื่อเราหาทรัพย์สินมาได้ แล้วหากใจคิดอยากจะไปเล่นการพนัน ไปเที่ยวกลางคืน ก็ให้มีสติคอยยับยั้งไม่ให้ทำอย่างนั้น เพราะเป็นอบายมุขทางแห่งความเสื่อม พวงมาลัย เป็นตัวคอยนำไปในทางที่ถูก เช่น นำไปคบบัณฑิตแทนไปคบพาล นำไปทำบุญทำกุศลแทนไปเที่ยวโรงหนังโรงละคร นำไปเข้าห้องเรียนแทนไปจับกลุ่มนั่งคุยตามใต้ต้นไม้ อย่างนี้เป็นต้น

    ผู้ประสงค์ความสุขจึงควรรู้จักตัวเอง รู้ว่าภายในตัวเองมีอำนาจลึกลับอะไรบ้าง ที่จะคอยชักจูงชักนำเราไปในทางเสื่อมเสีย และจะแก้อำนาจลึกลับนี้ด้วยอาวุธชนิดใด ผู้ที่รู้จักตัวเองดี ย่อมได้เปรียบผู้ที่ไม่รู้ เพราะเขาจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยความสุข



    จบเล่ม ธรรมคู่แข่งขันฯ (รวมเล่ม)
     
  11. wisarn

    wisarn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    741
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +2,505
    ดันกระทู้
     
  12. เตชพโล

    เตชพโล เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 กุมภาพันธ์ 2010
    โพสต์:
    267
    ค่าพลัง:
    +1,431
    สาธุ...
    ธัมมะของหลวงตาเพื่อสงเคราะห์โลก

    ผมช่วยดันอีกแรง
     

แชร์หน้านี้

Loading...