เรื่องเด่น อริยะสัจจากพระโอษฐ์ ตอน เมื่อประพฤติถูกทางกิริยาที่ไปนิพพาน เบาสบายเหมือนไม้ลอยตามน้ำ

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 7 ธันวาคม 2017.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    อริยะสัจจากพระโอษฐ์ ตอน เมื่อประพฤติถูกทางกิริยาที่ไปนิพพาน เบาสบายเหมือนไม้ลอยตามน้ำ
    24301477_544154129274371_437486405254107104_n.jpg
    ภิกษุ ท. ! พวกเธอได้เห็น ท่อนไม้ใหญ่โน้น ซึ่งลอยมาโดยกระแสแม่น้ำคงคาหรือไม่ ? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ได้เห็นแล้ว พระเจ้าข้า !”ภิกษุ ท. ! ถ้าท่อนไม้นั้น จะไม่เข้าไปติดเสียที่ ฝั่งใน หรือฝั่งนอก, ไม่จมเสียในกลางน้ำ, ไม่ขึ้นไปติดแห้งอยู่บนบก, ไม่ถูกมนุษย์จับไว้, ไม่ถูกอมนุษย์จับไว้, ไม่ถูกเกลียวน้ำวนวนไว้, ไม่ผุเสียเองในภายใน ไซร้, ท่อนไม้ที่กล่าวถึงนี้ จักลอยไหลพุ่งออกไปสู่ทะเล เพราะเหตุว่า ลำแม่น้ำคงคาโน้มน้อมลุ่มลาด เอียงเทไปสู่ทะเล, อุปมานี้ฉันใด ; ภิกษุ ท. ! อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน, แม้พวกเธอทั้งหลาย : ถ้าพวกเธอไม่เข้าไปติดเสียที่ฝั่งใน, ไม่เข้าไปติดเสียที่ฝั่งนอก, ไม่จมเสียในท่ามกลาง, ไม่ติดแห้งอยู่บนบก, ไม่ถูกมนุษย์จับไว้, ไม่ถูกอมนุษย์จับไว้, ไม่ถูกเกลียวน้ำวนวนไว้, ไม่เน่าเสียเองในภายในไซร้, พวกเธอก็จะเลื่อนไหลไปสู่นิพพาน เพราะเหตุว่า สัมมาทิฏฐิ มีธรรมดา ที่โน้มน้อม ลุ่มลาด เอียงเทไปสู่นิพพาน ฯลฯ.
    ภิกษุ ท. ! คำว่า ‘ฝั่งใน’ เป็นชื่อของอายตนะภายใน ๖ อย่าง คำว่า ‘ฝั่งนอก’ เป็นชื่อของอายตนะภายนอก ๖ อย่าง. คำว่า ‘จมเสียในท่ามกลาง’ เป็นชื่อของนันทิราคะ. คำว่า ‘ขึ้นไปติดแห้งอยู่บนบก’ เป็นชื่อของอัส๎มิมานะ (ความสำคัญว่าเรามีเราเป็น). คำว่า ‘ถูกมนุษย์จับไว้’ ได้แก่ภิกษุในกรณีนี้ เป็นผู้ ระคนด้วยคฤหัสถ์ เพลิดเพลินด้วยกัน โศกเศร้าด้วยกัน, มีสุข เมื่อคฤหัสถ์เหล่านั้นมีสุข, เป็นทุกข์ เมื่อคฤหัสถ์เหล่านั้นเป็นทุกข์, ประกอบการงานในกิจการที่บังเกิดขึ้นแก่คฤหัสถ์เหล่านั้นด้วยตน : ภิกษุนี้ เราเรียกว่าผู้ถูกมนุษย์จับไว้. คำว่า ‘ถูกอมนุษย์จับไว้’ ได้แก่ ภิกษุบางรูป ในกรณีนี้ ประพฤติพรหมจรรย์โดยตั้งความปรารถนาเทพนิกายชั้นใดชั้นหนึ่ง ว่า ด้วยศีลนี้ หรือด้วยวัตรนี้หรือว่าด้วยตบะนี้ เราจักได้เป็นเทวดาผู้มีศักดาใหญ่ หรือเป็นเทวดาผู้มีศักดาน้อยอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้ : ภิกษุนี้ เราเรียกว่าผู้ถูกอมนุษย์จับไว้ คำว่า ‘ถูกเกลียวน้ำวนวนไว้’ เป็นชื่อของกามคุณ ๕. ภิกษุเป็นผู้เน่าเสียเองในภายใน คืออย่างไรเล่า ? คือ ภิกษุบางรูปในกรณีนี้ เป็นคนทุศีล มีความเป็นอยู่ลามกไม่สะอาด มีความประพฤติชนิดที่ตนเองนึกแล้วก็กินแหนงตัวเอง มีการกระทำที่ต้องปกปิดซ่อนเร้น ไม่ใช่สมณะก็ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ ไม่ใช่คนประพฤติพรหมจรรย์ก็ปฏิญญาว่าเป็นคนประพฤติพรหมจรรย์ เป็นคนเน่าใน เปียกแฉะมีสัญชาติหมักหมมเหมือนบ่อที่เทขยะมูลฝอย ; ภิกษุนี้ เราเรียกว่า ผู้เน่าเสียเองในภายใน แล.

    ที่มา- สฬา. สํ. ๑๘/๒๒๓-๒๒๔/๓๒๒-๓๒๓.
     

แชร์หน้านี้

Loading...