พุทธานุสสติกรรมฐาน โดยหลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย ชนะ สิริไพโรจน์, 5 สิงหาคม 2016.

  1. ชนะ สิริไพโรจน์

    ชนะ สิริไพโรจน์ ทีมผูัดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 กรกฎาคม 2008
    โพสต์:
    5,891
    กระทู้เรื่องเด่น:
    14
    ค่าพลัง:
    +35,260
    " เอาอย่างนี่นะ ทุกวันถ้าเวลาของเรามีน้อย
    ก็ใช้เวลาก่อนจะหลับเมื่อศีรษะถึงหมอน
    นึกถึงพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งที่เราชอบ
    นี่สำหรับท่านที่ไม่ได้มโนมยิทธินะ พวกที่ได้
    มโนมยิทธินี่เขาได้กำไรมาก

    นึกถึงพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งที่เราชอบ
    คิดว่าองค์นี้คือพระพุทธเจ้าแล้วก็ภาวนาว่า
    " พุท โธ " หายใจเข้านึกว่า " พุท "
    หายใจออกนึกว่า " โธ "สัก ๒ - ๓ ครั้งก็ได้
    ตามความพอใจ มากก็ได้น้อยก็ได้แล้วก็หลับไป
    พอตื่นขึ้นมาใหม่ ๆ ก็นึกถึงพระพุทธรูปองค์นั้นอีก
    แล้วก็ภาวนาว่า" พุท โธ " อีก ทำอย่างนี้ทุกวัน
    จนกระทั่งถึงวันไหนถ้าเราไม่มีโอกาสจะทำ
    วันนั้นรำคาญต้องทำ.....

    วิธีทำก็ไม่ต้องไปนั่งขัดสมาธิก็ได้ กลางวันทั้งวัน
    เราเหนื่อยยากในการงานมากก็นอน เวลาจะนอน
    ก็กราบหมอนสัก ๓ ครั้ง นึกกราบพระพุทธเจ้า
    กราบพระธรรม กราบพระอริยสงส์ หลังจากนั้น
    เมื่อหัวถึงหมอน.....ก็นอนภาวนา " พุท โธ "
    ทำอย่างนี้เพียงแค่ ๒ - ๓ ครั้ง แล้วก็หลับ...

    แล้วตื่นขึ้นมาใหม่เอาอีกแหละ เอาแบบนี้
    จนกระทั่งมีอาการชิน วันไหนถ้าไม่ได้ภาวนา
    " พุท โธ " วันนั้นรำคาญไม่สบายใจ ไม่ได้
    ต้องภาวนา อย่างนี้ถือว่าทรงฌานใน
    " พุทธานุสสติกรรมฐาน " ถ้าอารมณ์ของท่าน
    ทรงฌานใน พุทธานุสสติกรรมฐาน แล้วถึงแม้
    ศีลมันจะขาด มันจะบกพร่องบ้าง ถึงอย่างไรก็ตาม
    ตายแล้วต้องไปสวรรค์แน่นอน เอาแค่สวรรค์ก่อนนะ "

    จาก...หนังสือ โอวาทหลวงพ่อวัดท่าซุง เล่ม ๔ หน้า ๑๓
    โดยหลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดจันทาราม(ท่าซุง)
    ต.น้ำซึม อ.เมือง จ.อุทัยธานี
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 5 สิงหาคม 2016
  2. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,244
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,108
    ค่าพลัง:
    +70,447
    อาศัย พุทธานุสสติ ถึง พระนิพพาน

    "...พุทธานุสสติกรรมฐาน การยอมรับนับถือพระพุทธเจ้า ถ้าบรรดาท่านพุทธบริษัทสามารถทรงกำลังใจได้ ยอมรับนับถือพระพุทธเจ้าด้วยความจริงใจ ความจริงการยอมรับนับถือนี่ต้องปฏิบัติตามกันนะ ข้อนี้บรรดาท่านทั้งหลายผู้รับฟัง จงอย่าลืม การใช้คำว่า เคารพและนับถือ แต่ไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำซึ่งกันและกัน เขาถือว่าโกหกกัน อย่างนี้ฟังง่ายดี..."

    ต่อไปนี้ขอบรรดาท่านทั้งหลาย จงพยายามรวบรวมกำลังใจให้เป็นสมาธิ คำว่า สมาธิ คือ รวบรวมกำลังใจให้อยู่ในจิตที่เป็นกุศลอย่างใดอย่างหนึ่ง เรียกว่า สัมมาสมาธิ สมาธิแบ่งออกเป็น ๒ ประการด้วยกันคือ
    สัมมาสมาธิอย่างหนึ่ง
    มิจฉาสมาธิอย่างหนึ่ง
    สมาธิถ้าพูดกันตามภาษาไทย ก็เรียกว่าการตั้งใจไว้หรือว่าการทรงอารมณ์ไว้ ตั้งใจไว้อย่างใดอย่างหนึ่ง คิดไว้อย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ อย่างนี้เรียกว่า สมาธิ
    ถ้าหากว่าเราคิดในสิ่งที่ชั่วเป็นการประทุษร้ายตนเองและบุคคลอื่น ให้ได้รับความลำบาก อย่างนี้เรียกว่า มิจฉาสมาธิ คิดให้จิตของเรามีความสุขเป็นไปในทำนองคลองธรรม อย่างนี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ อารมณ์จะตั้งอยู่อารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม ถ้าทรงอยู่ในอารมณ์นั้น จะน้อยหรือใช้เวลาได้มากก็ตาม หรือว่าน้อยก็ตาม ก็เรียกว่า สมาธิ
    ในส่วนของสัมมาสมาธินี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแยกไว้ถึง ๔๐ ประการ เราก็ได้เคยพูดถึงอานาปานุสสติกรรมฐานมาแล้ว
    สำหรับวันนี้จะพูดถึง พุทธานุสสติกรรมฐาน พอเป็นที่เข้าใจของท่านบรรดาโดยย่อ
    คำว่า พุทธานุสสติ หมายถึง การนึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ การที่คิดถึงคุณของพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะเราก็พรรณนากันไม่จบ ใคร่ครวญกันไม่จบ
    ตามพระบาลีท่านมีอยู่ว่า ถึงแม้ว่าจะปรากฏ มีพระพุทธเจ้าขึ้นมา ๒ องค์ นั่งถามกันตอบกันถึงความดีของพระพุทธเจ้าที่ทรงอุบัติขึ้นมาแล้วในโลก แม้แต่สิ้นเวลา ๑ กัป ก็ไม่จบความดีของพระพุทธเจ้าได้
    ฉะนั้น ท่านโบราณาจารย์จึงกล่าวไว้ว่า
    "พุทโธ อัปปมาโณ คุณของพระพุทธเจ้านี่หาประมาณมิได้"
    ในเมื่อคุณของพระพุทธเจ้าหาประมาณไม่ได้ เราพิจารณาไม่จบ เราจะพิจารณาว่ายังไงกันดี โบราณาจารย์ที่ประพันธ์ไว้โดยตรงว่า อิติปิ โส ภควา อรหัง สัมมา สัมพุทโธ เป็นต้น ซึ่งแปลเป็นใจความว่า เพราะเหตุนี้ แม้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงบรรลุแล้วโดยชอบ อรหังเป็นพระอรหันต์ อย่างนี้เป็นต้น อย่างนี้เราก็พิจารณาไม่ไหวเหมือนกัน เป็นอันว่า จะกล่าวโดยย่อว่า คุณของพระพุทธเจ้าที่มีต่อเราก็คือว่า
    ๑. สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้พวกเราระงับความชั่วทั้งหมด
    ๒. กุสะลัสสูปะสัมปะทา พระองค์ทรงสงเคราะห์ให้พวกเราปฏิบัติเฉพาะในความดี
    ๓. สะจิตตะปะริโยทะปะนัง พระองค์ทรงสั่งสอนให้ทำจิตใจให้ผ่องใสจากกิเลส



    นี่ โดยย่อพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ สอนให้พวกเราปฏิบัติอยู่ในกฎทั้ง ๓ ประการที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ถ้าจะย่อลงไปอีกทีหนึ่ง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้พวกเราไม่ประมาท ตามปัจฉิมโอวาท ที่องค์สมเด็จพระบรมโลกนาถตรัสเป็นปัจฉิมวาจา วันใกล้จะปรินิพพาน ตรัสแก่พระอานนท์ว่า
    อานันทะ ดูก่อนอานนท์ พระธรรมคำสั่งสอนที่เราสอนพวกเธอนั้น ย่อมรวมอยู่ในความไม่ประมาท แล้วองค์สมเด็จพระบรมโลกนาถ ตรัสว่า อัปปมาเทนะ สัมปาเทถะ ซึ่งแปลเป็นใจความว่า ท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม
    นี่เป็นอันว่า พระพุทธเจ้าสอนให้เราไม่ประมาทในการที่จะละความชั่ว หมายความว่า จงอย่าคิดว่านี่เราไม่ชั่ว พระบาลีที่องค์สมเด็จพระชินศรีสอนไว้บอกว่า อัตตนา โจทยัตตานัง จงเตือนตนด้วยตนเอง นี่ก็หมายถึงว่าพระองค์ไม่ให้เราประมาท จงมองดูความชั่ว มองดูความผิด มองดูความเสียหายของตนเองไว้เป็นปกติ
    ถ้าเรามองความชั่ว มองความเสียหายของตัวไว้แล้ว เราก็มีจะแต่ความดี เราอย่าเป็นคนเข้าข้างตัว เอาพระวินัยมากาง เอาธรรมะมากางเข้าไว้ ดูพระวินัย ดูธรรมะว่าอะไรมันผิดบ้าง แม้แต่นิดหนึ่งก็ต้องตำหนิ เหมือนกับผ้าขาวทั้งผืน มีจุดดำอยู่จุดหนึ่ง ก็ชื่อว่าทำผ้าขาวนั้นให้สิ้นราคา แม้จุดนั้นจะเป็นจุดเล็กเท่ากับปลายปากกาที่จิ้มลงไปก็ตามที เขาก็ถือว่า มีตำหนิ
    นี่เราเป็นสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเราจะพิจารณาหาความดีของพระองค์ก็ต้องหากันตรงนี้ ว่า พระพุทธเจ้าต้องการให้เรามีจิตบริสุทธิ์ ถ้าจิตบริสุทธิ์แล้วไปไหน
    พระพุทธเจ้ากล่าวว่า
    "จิตเต ปาริสุทเธ สุคติ ปาฏิกังขา ถ้าจิตบริสุทธ์แล้วอย่างน้อยเราก็ไปสู่สุคติโลกสวรรค์"

    คำว่า สุคติ นี้ก็ยกยอดไปถึงสวรรค์ก็ได้ พรหมโลกก็ได้ นิพพานก็ได้
    นี่เราก็มานั่งใคร่ครวญความดีของพระพุทธเจ้า นั่งนึกเอาว่า พระพุทธเจ้าจะทรงเป็นพระพุทธเจ้าได้ก็อาศัย ตัดความรัก ตัดความโลภ ตัดความโกรธ ตัดความหลง
       ตัดความรัก พระพุทธเจ้ามีพระชายาอยู่แล้ว มีพระราชโอรถ คือ พระราหุล พระราชโอรถคลอดในวันนั้น พระชายาก็ยังสาว อายุเพียง ๑๖ ปี แต่องค์สมเด็จพระชินศรี เห็นว่าการครองเรือนเป็นทุกข์ จึงแสวงหาความสุข คือ พระโพธิญาณ ด้วยการออกบวช ทรงตัดความรักความอาลัยเสียได้ ออกจากบ้านในเวลากลางคืน

    ตัดความโลภ พระพุทธเจ้าทรงทราบอยู่แล้วว่า อีก ๗ วัน ตำแหน่งพระเจ้าจักรพรรดิราชจะเข้าถึงพระองค์ แต่พระองค์ก็ไม่อาลัยใยดีในความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิราช เพราะการเป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชก็ต้องแก่ ต้องตาย ต้องเดือดร้อนเหมือนกัน

    นี่องค์สมเด็จพระภควันต์ แม้จะเป็นเจ้าโลก ก็วางทิ้งไปเสียไม่ต้องการ อันนี้เราต้องปฏิบัติตาม ใคร่ครวญตามว่ามันไม่ดี พระพุทธเจ้าจึงวาง ถ้าดีแล้วก็ไม่วาง อะไรที่พระพุทธเจ้าวางไว้ และเป็นสิ่งที่เกินวิสัยที่เราจะครองได้เราจะมีได้ แต่ว่าองค์สมเด็จพระชินศรีมีแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้ววางเสีย เราก็ต้องวางตาม เพราะของท่านมากกว่าเรา สูงกว่าเรา หนักกว่าเรา ดีกว่าเรา ที่จะพึงมี ท่านยังวาง ถ้าเรามีดีไม่เท่าท่าน ทำไมเราจึงจะไม่วาง
    ประการต่อมา องค์สมเด็จพระบรมศาสดา ทรงแสวงหาอภิเนษกรมณ์อยู่ในสำนักอาฬารดาบส กับ อุทกดาบสรามบุตร ปฏิบัติในรูปฌานและอรูปฌาน ทั้ง ๒ ประการ จนมีความคล่องแคล่ว มีความชำนาญมาก อาจารย์ยกย่องให้องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นครูสอนแทน แต่พระองค์ก็มาพิจารณาว่า เพียงแค่รูปฌาน และ อรูปฌาน ทั้ง ๒ ประการนี้ ไม่ใช่หนทางบรรลุมรรคผล สมเด็จพระทศพลจึงได้วางเสีย แล้วออกจากสำนักของอาจารย์นั้น แสวงหาความดีต่อไป

    ในด้านของสมาธินี่ องค์สมเด็จพระจอมไตรทรงถึงที่สุดถึงสมาบัติ ๘ ก็ยังเห็นว่าไม่เป็นทางที่สุดของความทุกข์ แต่สมาธินี้ก็ทรงไว้ไม่ทิ้ง หาต่อไปให้เข้าถึงที่สุดของทุกข์ คือ ความไม่เกิด
    ต่อมา องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็พบธรรมะที่ประเสริฐ ที่เรียกกันว่า อริยสัจ คือ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ปฏิปทาเข้าถึงความดับทุกข์ แล้วก็ความดับทุกข์
    ทุกข์ ได้แก่ อาการที่ทนได้ยาก ก็คือ การเกิดขึ้นมาแล้วมันเต็มไปด้วยความทุกข์ นี่ เราพูดกันมานานแล้ว

    เหตุให้เกิดความทุกข์ ก็คือ ตัณหา ความอยากเกินพอดี ความอยากนี่ต้องใช้คำว่า เกินพอดี ร่างกายมันหิวอาหาร ร่างกายมันอยากกินน้ำ ร่างกายมันปวดอุจจาระปัสสาวะ จะต้องไปส้วม ร่างกายต้องการเครื่องนุ่งห่มตามปกติ ร่างกายต้องการบ้านเรือนตามปกติ เป็นไปตามวิสัย อย่างนี้ไม่จัดว่าเป็นตัณหาตามที่พระพุทธเจ้าตรัส เพราะมันเป็นของพอดี พอใช้ที่เราจะพึงใช้ พึงมีตามความจำเป็นของร่างกาย แต่ว่าความตะเกียกตะกายเกินพอดีไม่รู้จักพอ มีแค่นี้พอดับพอดีแล้วยังตะกายมากเกินไปทำให้เกิดความลำบาก มีความอยากไม่รู้จักจบ อยากอย่างนี้เรียกว่า ตัณหา เป็นเหตุให้เกิดทุกข์
    ทางดับตัณหาตัวนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรียกว่า มรรค
    มรรคนี่มี ๘ อย่าง โดยย่นย่อเหลือ ๓ คือ
    ศีล สมาธิ ปัญญา
    ศีล คือ การระงับกายวาจาให้เรียบร้อย ให้ดำรงอยู่ในความดีตามขอบเขต ที่เราเรียกว่า พระวินัย
    สมาธิ แปลว่า มีอารมณ์ตั้งมั่นอยู่ในความดี คือ ทรงศีล ทรงทานอยู่ จิตน้อมอยู่ในอารมณ์ทั้งสองประการอย่างนี้เป็นต้น
    ปัญญา พิจารณาเห็นว่า ธรรมะที่องค์สมเด็จพระทศพล คือ จริยาที่พระองค์ทรงละความรัก ละความโลภ ละความปรารถนาความมักใหญ่ใฝ่สูง ละการเกิด


    นี่องค์สมเด็จพระมหามุนีทรงปฏิบัติถูกแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วจึงได้เป็นพระอรหันต์ นี่เราปฏิบัติพิจารณาตามประวัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พูดไปอีกนานมันก็ไม่จบ
    รวมความว่า วันหนึ่งเราก็นั่งใคร่ครวญถึงความดีของพระพุทธเจ้าตามหนังสือที่มีมา จับใจตรงไหนยึดตรงนั้นเป็นอารมณ์ อย่างนี้ก็ชื่อว่าเป็น พุทธานุสสติ การนึกถึงความดีของพระพุทธเจ้า ถ้าปฏิบัติตามนี้สำหรับพุทธานุสสติ และ ตามคิดแบบนี้จะทรงอารมณ์อยู่ได้แค่อุปจารสมาธิ นี่เป็นแบบหนึ่ง
    และอีกแบบหนึ่ง ไม่ปฏิบัติอย่างนั้น ท่านสอนให้ภาวนาว่า พุทโธ เวลาหายใจเข้านึกว่า พุท เวลาหายใจออกนึกว่า โธ การหายใจกำหนดตามสบาย ๆ เป็นการควบกับอานาปานุสสติกรรมฐาน ทำอารมณ์ใจให้สบาย จิตใจชื่นบาน นึกถึงความดีขององค์สมเด็จพระพิชิตมาร แล้วจับใจว่า พุทโธ พุทโธ ภาวนาไว้

    แล้วขณะใดที่จิตผูกพันว่า พุทโธ หรือ ลมหายใจเข้าออก ขณะนั้นก็ชื่อว่าจิตของเราเป็นสมาธิ การภาวนาแบบนี้สมาธิจะมีอารมณ์สูงเข้าถึงฌานสมาบัติได้
    การพิจารณาว่า พุทโธ ก็จะขอข้ามอารมณ์ต่าง ๆ ไป ถ้ากำลังใจของเราทรงมั่น ถ้าจะมีนิมิตปรากฏขึ้นโดยเฉพาะนิมิตต่าง ๆ ก็คือ ต้องเห็นเป็นพระพุทธรูป หรือว่า เห็นเป็นรูปของพระสงฆ์ แต่มีรัศมีกายผ่องใส อย่างนี้เขาเรียกว่า นิมิตของพุทธานุสสติกรรมฐาน อย่างนี้จับเอาได้
    ถ้านิมิตอย่างนี้ปรากฏขึ้นมาเมื่อไร ในกาลต่อไปข้างหน้า ถ้าเราจะภาวนาว่า พุทโธ ก็ให้จิตน้อมนึกถึงภาพนั้นไว้เป็นปกติ อย่างนี้เรียกว่า เกิดอุคคหนิมิต
    ถ้านิมิตนั้นเปลี่ยนแปลง ทีแรกเราเห็นเป็นพระพุทธรูปดำบ้าง ขาวบ้าง เหลืองบ้าง แต่ไม่แจ่มใส ต่อไปถ้ามีสมาธิ สมาธิสูงขึ้นก็เห็นเป็นพระพุทธรูปใสขึ้น ใหญ่โตขึ้น เปลี่ยนแปลงมีความงดงามกว่า อย่างนี้เรียกว่า อุปจารสมาธิระดับสูง นี่จิตนึกถึงภาพนะ ภาพปรากฏชัดภายในใจ ไม่ใช่ไปนั่งหาภาพที่จะมาปรากฏใหม่
    ต่อไปเมื่อจิตนึกถึงภาพขององค์สมเด็จพระจอมไตร เกิดมีรัศมีกาย มีอารมณ์ผ่องใสแทนที่จะเป็นสีเหลือง หรือ สีเขียว สีดำ สีแดง อะไรก็ตาม สีนั้นเปลี่ยนไปทีละน้อยจากเหลืองเข้มเป็นเหลืองอ่อน ๆ มีความใส ต่อไปก็เป็นแก้ว แก้วใสเป็นประกายพรึกเต็มดวง หรือคล้ายกับกระจกเงาที่สะท้อนแสงพระอาทิตย์ มีความชุ่มชื่น จะนึกให้ใหญ่ก็ได้ จะนึกให้เล็กก็ได้ อย่างนี้ เรียกว่าเป็น ปฏิภาคนิมิต นั่นระดับฌาน
    ถ้าจิตตับอยู่แค่นี้จิตใจของเราชื่นบาน จิตจะทรงฌานไปด้วยอำนาจพุทธานุสสติกรรมฐาน จะมีอารมณ์เป็นสุขตลอดกาล แล้วเมื่อได้ภาพอย่างนี้ จงอย่าคลายภาพนี้ทิ้งไป ให้ดำรงภาพนี้เข้าไว้
    ขณะใดจิตยังนึกเห็น ไม่ใช่เห็นเฉย ๆ นึกเห็น เห็นภาพอยู่ตราบใด ขณะนั้นเรียกว่า จิตทรงสมาธิ จิตของท่านจะมีแต่ความสุข
    ถ้าหากว่าทำจิตได้ถึงระดับนี้แล้ว ปรากฏว่า ปัญญาก็จะเกิด คำว่า อริยสัจ ก็จะปรากฏขึ้นแก่ใจของบรรดาท่านทั้งหลาย ความรู้เท่าของคำว่า การเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นทุกข์ อย่างนี้มันจะเกิดขึ้นแก่ใจเอง ความเบื่อหน่ายในการเกิดก็จะปรากฏ


    ธรรมใดที่องค์สมเด็จพระบรมสุคตศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนเราไว้บอกว่า นี่เป็นอธรรมเป็นความไม่ดี จิตใจของเราจะเห็นน้อมไปตามกระแสพระสัทธรรมขององค์สมเด็จพระชินศรี ด้วยอำนาจของปัญญาอย่างแจ่มใส
    ธรรมใดที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาบอกควรประพฤติปฏิบัติ ควรทำให้เกิดมีขึ้น เพราะธรรมนั้นจะสร้างความชุ่มชื่น คือ ความสุขให้เกิดขึ้นกับใจ


    ใจ คือ ปัญญาของเรา ก็จะเห็นธรรมนั้นได้แบบผ่องใสไม่เคลือบแคลง เกิดเป็นคุณประโยชน์



    การเจริญพุทธานุสสติกรรมฐาน พระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า เป็นกรรมฐานที่สามารถสร้างความดีให้เข้าถึงซึ่งพระนิพพานได้ง่าย


    สำหรับ พุทธานุสสติกรรมฐานโดยย่อ ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ต่อแต่นี้ไป ขอทุกท่านตั้งกายให้ตรง ดำรงสติให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ใช้คำภาวนาว่า พุทโธ เวลาหายใจเข้านึกว่า พุท เวลาหายใจออกนึกว่า โธ จนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา

    ................สวัสดี..............


    ( แกะ่จากเทปเสียงหลวงพ่อพระราชพรหมยาน )
     
  3. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,244
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,108
    ค่าพลัง:
    +70,447
    16299224_1855061544733753_1520994452185322100_n.jpg
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  4. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,244
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,108
    ค่าพลัง:
    +70,447
    [​IMG]
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

แชร์หน้านี้

Loading...